- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยมณีนาถ | กับองค์ราชกุมารชาญสนาม |
หัดภาษาฝรั่งทั้งจีนจาม | ราวกับล่ามพูดคล่องทั้งสององค์ |
เมื่อวันหนึ่งถึงยามเข้าไสยาสน์ | นึกอนาถนิ่งคิดพิศวง |
ด้วยพลัดพรากจากตระกูลประยูรวงศ์ | มาเปลี่ยวองค์อ้างว้างอยู่กลางทะเล |
จะเหลียวซ้ายแลขวาอนาโถ | หัวอกโอ้อับจนระหนระเห |
จะโดยสารก็ไม่สมอารมณ์คะเน | ให้ว้าเหว่หวั่นหวั่นทุกวันคืน |
คิดรำพึงถึงธรรมพระกรรมฐาน | เป็นอาการถ่ายโทษที่โหดหืน |
เกิดแล้วตายวายวางไม่ยั่งยืน | จะม้วยคืนวันไรก็ไม่รู้ |
เราเกิดมาอาภัพอัปภาคย์ | ต้องพลัดพรากจากนครจนอ่อนหู |
จะถือคำธรรมขันธ์สัพพัญญู | ให้ค้ำชูชาติหน้าอย่าเช่นนี้ |
นึกศรัทธากล้าหาญสำราญจิต | จนอาทิตย์อุทัยไขรัศมี |
ชวนลูกยามายังท่านโยคี | อัญชลีเล่าความตามคำนึง |
จะขอบวชบรรพชารักษากิจ | อยู่เป็นศิษย์ในสำนักสักพักพึ่ง |
พอสมสร้างทางธรรมสำมะดึงส์ | ให้ลุถึงพระนิพพานสำราญใจ ฯ |
๏ พระโยคีมีศีลได้ยินว่า | หัวเราะร่ารื้อถามตามสงสัย |
สินสมุทรบุตรบวชด้วยหรือไร | แล้วอย่าไปโลดเต้นเล่นคะนอง ฯ |
๏ กุมารว่าข้าจะบวชกับบิตุเรศ | เรียนไตรเพทถือศีลไม่กินของ |
พระทรงธรรม์กรุณาให้คากรอง | ทั้งสองครองครบสิ้นด้วยยินดี |
ผูกชฎาอาภรณ์โพกกระหวัด | ประคำซัดสวมมือเหมือนฤๅษี |
มานั่งเรียงเคียงกันอัญชลี | พระโยคีขัดสมาธิบนอาสน์รัตน์ |
แล้วอวยชัยให้ศีลห้าสถาผล | ตั้งแต่ต้นปาณาไม่ฆ่าสัตว์ |
ครั้นจบศีลสิกขาสารพัด | หมั่นนมัสการเพลิงตะเกิงกอง ฯ |
๏ สองสิทธาสาธุลุแก่ศีล | สำเร็จสิ้นแล้วก็ลามาทั้งสอง |
มัธยัสถ์ครัดเคร่งไม่ขาดครอง | ตามทำนองสิทธาบูชาเพลิง ฯ |
๏ กล่าวถึงลำสำเภาท้าวสิลราช | พระพายกราดพาระเหิดเตลิดเหลิง |
ต้องลมใหญ่ใบฉีกเป็นปีกเปิง | ลอยละเลิงแล่นมาสิบห้าคืน |
ถึงช่องกว้างหว่างเขาเหล่าละเมาะ | แลเห็นเกาะหนึ่งไกลใหญ่ทะมื่น |
รุกขาเขาเขียวชอุ่มเป็นพุ่มยืน | ที่ภูมิพื้นแผ่นผาโอฬารึก |
จึงทรงส่องกล้องแก้วแววสว่าง | เห็นสล้างสลับแลล้วนแต่ตึก |
เพ่งพินิจคิดประหลาดอนาถนึก | แล้วรำลึกความหลังได้ดังใจ |
เทวดาว่าจะพบผู้วิเศษ | สบสังเกตเขานี้ไม่มีไหน |
จึงสั่งให้นายท้ายบ่ายเข้าไป | ประทับใกล้เงื้อมผาหน้าคิรี |
แล้วตรัสใช้ให้ขุนหมื่นขึ้นบนเขา | ดูกุฏิ์เปล่าอยู่ดอกหรือมีฤๅษี |
ถ้าพบองค์จงแถลงแจ้งคดี | ว่าเรานี้จะไปหาพระอาจารย์ ฯ |
๏ ผู้รับสั่งบังคมบรมนาถ | ขึ้นทางหาดหุบผาด้วยกล้าหาญ |
มองเห็นคนบนศาลาที่หน้าชาน | มากประมาณร้อยเศษหลายเพศพรรณ |
พระโยคีมีสองเจ้าเณรหนึ่ง | หลงตะลึงแลชมล้วนคมสัน |
จึงเข้าไปใกล้ศาลาเห็นหน้ากัน | คนทั้งนั้นถามไถ่ไปไหนมา |
ขุนหมื่นบอกออกความตามรับสั่ง | แล้วมานั่งกราบพระองค์ทรงสิกขา |
ว่าบัดนี้กรุงกษัตริย์ขัตติยา | จะขึ้นมาจบพระหัตถ์นมัสการ ฯ |
๏ พระโยคีดีใจให้อนุญาต | ตามแต่ราชศรัทธาไม่ว่าขาน |
ขุนหมื่นลามาประณตบทมาลย์ | ทูลพระผ่านโภคาสารพัน ฯ |
๏ จอมกษัตริย์ตรัสสั่งคนทั้งหลาย | ทั้งไพร่นายต้นหนคนขยัน |
เราจะพากันขึ้นไปไหว้นักธรรม์ | จงเร่งกั้นฉนวนน้ำทำสะพาน |
ขุนนางรับขับคนขึ้นบนเขา | บ้างตัดเสาผ่าเรือกบ้างเสือกสาน |
ฉนวนนั้นกั้นขึ้นมาถึงหน้าพระลาน | ปักสะพานลงในน้ำถึงสำเภา |
กรุงกษัตริย์ตรัสชวนพระลูกน้อย | ประคองค่อยเล้าโลมโฉมเฉลา |
ทั้งสุรางค์นางสนมล้วนซมเซา | ทั้งผมเผ้ารื้อรกด้วยอกตรอม |
ฝืนอารมณ์นุ่งห่มพอสมโศก | เหมือนรื้อโรครูปกายยังผ่ายผอม |
ขึ้นจากเรือพระที่นั่งสะพรั่งพร้อม | ตามพระจอมกษัตราพาดำเนิน |
ไปตามทางหว่างสวนฉนวนกั้น | ถึงเชิงชั้นแผ่นผาศิลาเผิน |
ดูกุฎีที่ศาลาก็น่าเพลิน | ควรเจริญอิริยารักษาพรต |
พระชมพลางทางพาธิดาราช | กำนัลนาฏแวดล้อมมาพร้อมหมด |
เห็นโยคีที่บัลลังก์นั่งประณต | แล้วทรงยศตรัสถามตามบุราณ |
ผู้เป็นเจ้าสามองค์ทรงสิกขา | ดูโสภารูปทรงส่งสัณฐาน |
แต่องค์นั้นฉันดูเป็นกุมาร | มาอยู่นานหรือพึ่งมารักษาพรต |
หนึ่งลูกไม้ในเกาะพอเสาะฉัน | หรือกลางวันวายฤดูก็สู้อด |
ทั้งสัตว์ร้ายสายชลบนบรรพต | มาบีฑาปรากฏบ้างหรือไร ฯ |
๏ พระทรงศีลภิญโญสโมสร | ถวายพรพูดจาอัชฌาสัย |
อาตมาผาสุกไม่ทุกข์ภัย | แต่บวชได้พรรษาก็กว่าพัน |
อันพวงผลผลาสารพัด | ไม่ขาดขัดที่ในเกาะพอเสาะฉัน |
เดชะฤทธิ์กิจกรมพรหมจรรย์ | สารพันโพยภัยมิได้พาน |
แต่โยคีนี่เธอพึ่งบวชใหม่ | ชื่ออภัยพงศ์กษัตริย์พลัดถิ่นฐาน |
แล้วเล่าความตามเรื่องเคืองรำคาญ | นั่นกุมารสินสมุทรบุตรพระอภัย |
แล้วว่ารูปขอถามความบพิตร | ท้าวสถิตนัคเรศประเทศไหน |
มีธุระพะพานประการใด | จึงมาในทะเลลมยมนา ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสแจ้งแถลงเล่า | โยมเป็นเจ้าเมืองผลึกนึกหรรษา |
พาโฉมยงองค์ราชธิดา | ชมชลาลมพัดกระจัดกระจาย |
จึงหลงทางกลางทะเลเที่ยวเร่ร่อน | จะคืนนครก็ไม่ได้ดังใจหมาย |
พระเล่าความตามแต่ต้นไปจนปลาย | เจียนจะตายเสียเพราะคลื่นไม่คืนเป็น |
แล้วตรัสว่าพระอภัยผู้เป็นเจ้า | ทุกข์ก็เท่าโยมทุกข์เพราะยุคเข็ญ |
จากสมบัติพลัดพรากได้ยากเย็น | โยมมาเห็นก็ให้คิดอนิจจัง |
จะขอถามความพระผู้เป็นเจ้า | นิมนต์เล่าเหตุผลแต่หนหลัง |
ไยจึงพรากจากเขตนิเวศน์วัง | โยมยังฟังไม่กระจ่างในทางความ ฯ |
๏ พระอภัยภูมีมุนีน้อย | สดับถ้อยกรุงกษัตริย์ที่ตรัสถาม |
ชำเลืองดูพระธิดาพะงางาม | แล้วเล่าความตามเรื่องเคืองรำคาญ |
พระบิดาข้าชื่อท้าวสุทัศน์ | ผ่านสมบัติรัตนามหาสถาน |
ข้ากับน้องต้องไปเรียนวิชาการ | ตำบลบ้านจันทคามพราหมณ์พฤฒา |
รูปเรียนกลดนตรีคือปี่เป่า | พระน้องเจ้าเรียนกระบองคล่องนักหนา |
อยู่ปีครึ่งจึงจากอาจารย์มา | เที่ยวลีลาเลียบเดินตามเนินทราย |
เห็นร่มไทรใกล้ฝั่งเข้ายั้งหยุด | พบบุรุษหนุ่มพราหมณ์สามสหาย |
ชวนพูดเล่นเจรจาประสาสบาย | อยู่ที่ชายทะเลลมใต้ร่มไทร |
สามมาณพรบเร้าให้เป่าปี่ | อยากฟังฝีปากเล่นจะเป็นไฉน |
ครั้นรูปเป่าเข้าก็หลับระงับไป | ไม่แจ้งใจว่าไพรีจะมีมา |
พอนางผีเสื้อสมุทรมาฉุดลาก | ต้องกรำกรากตรอมอยู่ในคูหา |
เอาความหลังทั้งนั้นมาพรรณนา | จนหนีมาพึ่งบุญพระมุนี ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสว่าน่าหัวร่อ | เออก็พอที่หรือพระฤๅษี |
วิชาอื่นดื่นไปว่าไม่ดี | เรียนแต่ปี่ไปเที่ยวเป่าให้เขาฟัง |
เดี๋ยวนี้ปี่มีอยู่หรือไม่เล่า | นิมนต์เป่าให้โยมชมคารมมั่ง |
ทั้งพวกเหล่าสาวสุรางค์นางชาววัง | จะได้ฟังไพเราะเพราะโยคี ฯ |
๏ พระอภัยได้ฟังนั่งชม้อย | นางน้อยน้อยแลสบหลบฤๅษี |
พอเนตรสบเนตรนุชพระบุตรี | แกล้งพาทีทำเป็นว่าน่าเสียดาย |
ถ้าพบเข้าคราวครั้งยังไม่บวช | ไม่พูดอวดปากเปล่าจะเป่าถวาย |
นี่ครองศีลสิกขารักษากาย | เกรงอบายเบื้องหน้าอนาคต |
แม้นท้าวไทจะใคร่ฟังหวังถวิล | ว่าให้สินสมุทรลาสิกขาบท |
เป่าถวายคล้ายครูพอรู้รส | กลัวทรงยศจะบรรทมไม่สมประดี ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์สรวลสันต์ว่าฉันชอบ | แล้วตรัสปลอบสินสมุทรบุตรฤๅษี |
ช่างสมใจได้วิชาบิดาดี | ช่วยเป่าปี่ให้ฉันฟังบ้างเป็นไร |
จะบูชาผ้าต้นกำพลรัต | โขมพัตถ์ลายทองอันผ่องใส |
สร้อยเสมาปะวะหล่ำแลกำไล | โยมจะให้งามงามตามจำนง ฯ |
๏ สินสมุทรมุนีฤๅษีเล็ก | ประสาเด็กดูของที่ต้องประสงค์ |
แล้วตอบว่าฉันจะใคร่ได้เครื่องทรง | เหมือนที่องค์พระธิดาสารพัน ฯ |
๏ องค์ท่านท้าวสาวสุรางค์ต่างหัวร่อ | ฤๅษีพ่อก็สำรวลพลอยสรวลสันต์ |
นางโฉมฉายอายองค์พระทรงธรรม์ | ทำเมียงหันเมินยิ้มอยู่พริ้มพราย ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสว่าอย่าปรารภ | มีอยู่ครบเครื่องกษัตริย์จะจัดถวาย |
จะขอฟังปี่ให้ใจสบาย | ถึงหลับตายไปสักวันไม่พรั่นใจ ฯ |
๏ กุมาราลาลุกลงจากแท่น | ออกโลดแล่นมากุฎีที่อาศัย |
จึงลาศีลทรงภูษาผ้าสไบ | ถือปี่ไปยังศาลาหน้าคิรี |
ประณตนั่งบังคมบรมนาถ | อยู่ริมอาสน์อัยกาตาฤๅษี |
ภาวนาอาคมให้ลมดี | แล้วเป่าปี่แปลงเพลงวังเวงใจ |
ทำแหบหวนครวญว่าสาลิกาแก้ว | ค่ำลงแล้วขวัญอ่อนจะนอนไหน |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร | จะหนาวใจสาลิกาทุกราตรี ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ฟังปี่ให้วิเวก | เอกเขนกนั่งหาวทั้งสาวศรี |
ให้วาบวับหลับล้มไม่สมประดี | ทั้งโยคีผู้เฒ่าพลอยหาวนอน |
แกเอนอิงพิงหลับอยู่กับอาสน์ | พวกอมาตย์หลับกลิ้งริมสิงขร |
ทั้งพวกไพร่นายเภตราที่สาคร | ระเนนนอนหลับเรียบเงียบสำเนียง |
ด้วยลมปี่เป่าดังกระทั่งโยชน์ | ได้ทราบโสตสิงสัตว์สงัดเสียง |
ในคงคาปลาร้ายขึ้นว่ายเรียง | ฟังสำเนียงปี่แก้วแจ้วจับใจ ฯ |
๏ ฝ่ายนักสิทธ์บิตุรงค์ทรงสวัสดิ์ | เห็นสองกษัตริย์ไสยาสน์ไม่หวาดไหว |
ทั้งสาวสรรค์กัลยาเสนาใน | ไม่มีใครฟื้นกายดังวายปราณ |
พระเพ่งพิศธิดายุพาพักตร์ | ดูน่ารักรูปทรงส่งสัณฐาน |
ช่างเปล่งปลั่งยังไม่มีราคีพาน | น่าสงสารซบนิ่งไม่ติงกาย |
พระเลื่อนองค์ลงจากบัลลังก์อาสน์ | หวังสวาทว่าจะโลมนางโฉมฉาย |
ครั้นเข้าชิดคิดได้ไม่ใกล้กราย | แต่เดินชายชมนางไม่วางตา |
พระโอษฐ์เอี่ยมเทียมสีลิ้นจี่จิ้ม | เป็นลักยิ้มแย้มหมายทั้งซ้ายขวา |
ขนงเนตรเกศกรกัลยา | ดังเลขาผุดผ่องละอองนวล |
ทำไฉนหนอจะได้ดวงสมร | ร่วมที่นอนแนบน้องประคองสงวน |
แล้วรั้งรักหักใจไม่บังควร | ให้ปั่นป่วนกลับมานั่งข้างหลังครู |
จึงห้ามให้สินสมุทรนั้นหยุดปี่ | พระโยคีรู้สึกนึกอดสู |
จึงว่าปี่ดีจ้านเจียวหลานกู | เล่นเอาปู่ม่อยหลับระงับไป |
แล้วแลดูผู้คนบนสิงขร | ระเนนนอนนิ่งกลาดไม่หวาดไหว |
หัวเราะพลางทางว่าสาแก่ใจ | ช่างหลับใหลล้มกลิ้งทั้งหญิงชาย |
แล้วโยคีตีระฆังดังหง่างเหง่ง | เสียงโก่งเก่งก้องหูไม่รู้หาย |
สองกษัตริย์รู้สึกนึกละอาย | สงสารสายสวาทนั่งบังบิดา |
สาวสุรางค์บ้างก็ยังกำลังหลับ | เขาปลุกกลับกลิ้งหงายน่าขายหน้า |
บ้างละเมอเพ้อเชือนว่าเพื่อนมา | กษัตรากริ้วกราดตวาดไป |
อีเหล่านี้ขี้เซาเบาอยู่หรือ | ฉุดข้อมือให้มันตื่นขึ้นจงได้ |
แล้วเหลียวมาพาทีด้วยชีไพร | เพราะสุดใจเจียวปี่ดีจริงจริง |
ช่างฉ่ำเฉื่อยเจื้อยแจ้วถึงแก้วหู | หลับไม่รู้สึกกายทั้งชายหญิง |
แต่แรกไม่ได้ฟังยังประวิง | ที่นี้จริงของเจ้าคุณพระมุนี |
แล้วจัดได้เครื่องประดับสำรับเก่า | มาให้เจ้าสินสมุทรบุตรฤๅษี |
กุมาราว่าของหมองไม่ดี | โปรดเปลี่ยนที่พระธิดามาประทาน ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสพลางทางพระสรวล | แล้วว่าชวนแลกเขาเอาเถิดหลาน |
พระโยคีผู้เฒ่าว่าเจ้าคลาน | ไปกราบกรานนงลักษณ์ตรงพักตรา |
เป็นลูกเต้าเขาเถิดประเสริฐสุด | อยู่เป็นบุตรดาบสอดนักหนา |
ได้ฟังครูกุมารคลานเข้ามา | ถึงตรงหน้านอบนบอภิวันท์ ฯ |
๏ นางโฉมฉายอายจิตแต่คิดรัก | ผินพระพักตร์คำนับแล้วรับขวัญ |
ค่อยค่อยว่าข้าจะพาไปด้วยกัน | ต่อตะวันลงลับจึงกลับมา ฯ |
๏ สินสมุทรทรุดหมอบตอบสนอง | พระทัยของชนนีดีนักหนา |
ลูกไม่มีที่เห็นเป็นกำพร้า | พระมารดาไปไหนไปด้วยกัน ฯ |
๏ นางสาวสาวชาววังนั่งหัวเราะ | รู้ประเหลาะลิ้นลมช่างคมสัน |
กรุงกษัตริย์ตรัสด้วยพระนักธรรม์ | บุญของฉันได้มาหาพระอาจารย์ |
จะใคร่บวชสวดมนต์อยู่จนม้วย | ก็ห่วงด้วยธิดาโยธาทหาร |
ทั้งข้าวปลาสารพันจะกันดาร | ยิ่งอยู่นานยิ่งจะยากลำบากนัก |
ผู้เป็นเจ้าเข้าใจข้างไหนบ้าง | ช่วยแนะทางกรุงไกรให้ประจักษ์ |
จะหยุดยั้งนั่งนอนพอผ่อนพัก | อยู่อีกสักสองทิวาจะลาไป ฯ |
๏ พระโยคีมีศีลได้ยินถาม | พิเคราะห์ตามสังเกตข้างเพทไสย |
รู้ประจักษ์ทักแท้แน่แก่ใจ | เหตุเพราะพระอภัยจะได้เมีย |
อันท้าวไทไพร่พลคนทั้งหลาย | จะวอดวายเวทนาประดาเสีย |
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมมาทำเยีย | จึงไกล่เกลี่ยกล่าวคำเป็นท่ามกลาง |
อันกรุงไกรไปทางทิศอิสาน | แสนกันดารสารพัดจะขัดขวาง |
ซึ่งเสบียงเลี้ยงคนตามหนทาง | จะให้บ้างโยมอย่าได้ปรารมภ์ |
อันเกาะแก้วพิสดารสถานนี้ | โภชนสาลีก็มีถม |
แต่คราวหลังครั้งสมุทรโคดม | มาสร้างสมสิกขาสมาทาน |
เธอทำไร่ไว้ที่ริมภูเขาหลวง | ครั้นแตกรวงออกมาเล่าเป็นข้าวสาร |
ได้สืบพืชยืดอยู่แต่บูราณ | จงคิดอ่านเอาเคียวมาเกี่ยวไป ฯ |
๏ พระจอมวังฟังเล่าว่าข้าวมาก | ความยินลากขากดีจะมีไหน |
น้อมเคารพนบนอบว่าขอบใจ | ข้าขอไปเป็นเสบียงพอเลี้ยงพล |
จะให้เที่ยวเกี่ยวข้าวเช้าพรุ่งนี้ | ให้โยธีทำตะกร้าขึ้นมาขน |
วันนี้เย็นเห็นจะจวนคุณสวดมนต์ | โยมขอลาพาพลไปเภตรา |
พระตรัสชวนบุตรีนั้นลีลาศ | พระหน่อนาถตามติดขนิษฐา |
ทั้งเถ้าแก่แห่ห้อมล้อมลงมา | ถึงเภตรากรุงกษัตริย์จึงจัดการ |
ให้โยธีตีเคียวไปเกี่ยวข้าว | สานกระเช้าให้ทุกคนขนข้าวสาร |
กลางคงคาสารพันจะกันดาร | จงคิดอ่านเอาเสบียงไปเลี้ยงกาย |
เสนาในได้ฟังรับสั่งตรัส | โสมนัสนึกสมอารมณ์หมาย |
ให้พวกบ่าวเหล่าทหารสานกระบาย | ขึ้นหาดทรายสับสนล้วนคนการ ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุตรีศรีสวัสดิ์ | จึงทรงผลัดเครื่องทรงสรงสนาน |
ไม่เรียกเหล่าสาวสรรค์พนักงาน | ชวนกุมารเข้าในห้องไสยา |
ให้นุ่งห่มสมองค์ประจงจัด | คาดเข็มขัดประจำยามงามหนักหนา |
สร้อยสังวาลบานพับประดับประดา | ใส่กรอบหน้าเหน็บเสียดกรรเจียกจอน |
ธำมรงค์ทรงใส่นิ้วพระหัตถ์ | กระจ่างเม็ดเพชรรัตน์ประภัสสร |
ปะวะหล่ำกำไลใส่สวมกร | พอหยุดหย่อนยอบองค์ลงบังคม |
พระบุตรีมีจิตพิศวาส | ให้นั่งอาสน์แนบชิดสนิทสนม |
ดูผิวพักตร์ลักษณาก็น่าชม | เสียแต่ผมหยิกนักเหมือนยักษ์มาร |
แล้วโฉมงามถามหลอกตะคอกเล่น | เจ้าจะเป็นลูกข้าเหมือนว่าขาน |
หรือลวงล่อพอได้สร้อยสังวาล | จงให้การตามจริงอย่านิ่งความ ฯ |
๏ สินสมุทรพูดจาประสาซื่อ | ลูกนี้หรือจะไม่รักอย่าพักถาม |
อยากจะใคร่ได้แม่ที่รูปงาม | พึ่งสมความปรารถนาเวลานี้ |
จะหาไหนได้เหมือนพระรูปโฉม | งามประโลมล้ำฟ้าในราศี |
แม้นหาคู่สู้ได้ฉันให้ตี | จริงนะจ๋าฟ้าผี่เถิดมารดา ฯ |
๏ นางโฉมยงทรงฟังช่างฉอเลาะ | กลั้นหัวเราะรับขวัญด้วยหรรษา |
เออนี่แน่แม่จะถามตามสัจจา | พระมารดารูปราวสักคราวใคร ฯ |
๏ กุมาราว่าที่นี่ไม่มีเท่า | โตกว่าลำสำเภาเป็นไหนไหน |
ชื่อผีเสื้อเนื้อหนังรังขี้ไคล | ทั้งสูงใหญ่เขี้ยวยาวราวสักวา |
ไม่นึกรักสักนิดจึงคิดหนี | แม่เดี๋ยวนี้แลลูกรักเป็นนักหนา |
สมกับองค์ทรงฤทธิ์พระบิดา | ได้งามหน้าลูกแก้วแล้วคราวนี้ ฯ |
๏ นางโฉมงามห้ามสินสมุทรน้อย | พูดค่อยค่อยเขาจะว่าน่าบัดสี |
ไม่รักเรียงเคียงคู่กับภูมี | อย่าพาทีถึงพ่อต่อไปเลย |
แล้วนางพามานั่งบัลลังก์รัตน์ | ให้สาวใช้ไปจัดเครื่องเสวย |
ยกมาตั้งทั้งขนมแลนมเนย | กุมาราว่าไม่เคยกินข้าวปลา |
เคยกินแต่เผือกมันผลไม้ | เช่นนี้ไม่เคยเห็นเหม็นมัจฉา |
ทรามสงวนสรวลสันต์จำนรรจา | ฟังแม่ว่าเถิดพ่อลองสักสองคำ |
แล้วปั้นข้าวเอาสุกรมาป้อนให้ | อร่อยใจจริงเจียวเคี้ยวม่ำม่ำ |
กุ้งกับไข่ไก่พะแนงแกงต้มยำ | กินก็เติบเปิบคำล้วนโตโต |
จนของคาวข้าวสิ้นกินของหวาน | ทั้งอ้อยตาลกล้วยส้มขนมโก๋ |
ครั้นกินอิ่มยิ้มย่องจนท้องโร | ก็พอโพล้เพล้ค่ำย่ำระฆัง |
บังคมพลางทางว่าลูกลาก่อน | พระบิดรจะละห้อยคอยข้างหลัง |
นางฟังคำทำเป็นว่าข้าไม่ฟัง | คอยก็ชั่งเป็นไรไยมิคอย |
แม้นรักแม่แน่นอนจงนอนนี่ | รุ่งพรุ่งนี้จึงขึ้นไปให้ใช้สอย |
ว่ากระไรไม่ว่าอย่าชม้อย | พระหน่อน้อยน้อมคำนับรับบัญชา |
ว่าเช่นนั้นฉันจะอยู่อย่าขู่ฉัน | นางรับขวัญยิ่งรักขึ้นนักหนา |
ชวนสำรวลสรวลสันต์จำนรรจา | จนหลับใหลไสยาในราตรี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม | คิดถึงโยมอยู่ในห้องยิ่งหมองศรี |
ด้วยกุมารไม่มาจนราตรี | เห็นท่วงทีโฉมงามจะห้ามไว้ |
เวียนดูนางกลางวันก็ผันพักตร์ | นี่เห็นรักหรือไม่เห็นเป็นไฉน |
จะผูกมิตรคิดอ่านประการใด | จึงจะได้พระธิดายุพาพาล |
จำจะอ้อนวอนครูท่านผู้เฒ่า | ช่วยออกปากฝากเขาให้โดยสาร |
ได้ร่วมลำสำเภากับเยาวมาลย์ | คงเป็นการสักวันหนึ่งมั่นคง |
ยิ่งปลาบปลื้มลืมภาวนานั่ง | ด้วยใจยังอยู่ข้างหนุ่มให้ลุ่มหลง |
จนรุ่งรางสร่างแสงพระสุริยง | ออกเดินตรงมากุฎีพระชีไพร |
น้อมประณตบทมาลย์อาจารย์เจ้า | เมื่อโศกเศร้าเสาะมาได้อาศัย |
พรุ่งนี้ลำสำเภาเขาจะไป | ช่วยฝากให้นัดดาไปธานี ฯ |
๏ สิทธาเฒ่าเข้าใจทำไขสือ | จะสึกหรือบวชไปให้รู้ที่ |
พอออกปากฝากได้เป็นไรมี | แต่ต้องดีนะอย่าด่วนทำลวนลาม ฯ |
๏ พระนิ่งนั่งฟังครูเห็นรู้เท่า | จึงก้มเกล้ากราบครบคำรบสาม |
จะลาศีลสึกไปดูไม่งาม | จะมีความครหาเป็นราคี |
หนึ่งจะไปในทางกลางสมุทร | เป็นที่สุดอยู่เพียงศีลพระชินศรี |
ขอโดยสารท่านทั้งเป็นโยคี | เมื่อบุญมีแล้วก็รอดตลอดไป |
พระโปรดด้วยช่วยดูให้รู้เรื่อง | จะถึงเมืองหรือจะเห็นเป็นไฉน |
จะสมหวังดังจิตที่คิดไว้ | หรือกระไรเจ้าข้าพระอาจารย์ ฯ |
๏ พระโยคีมิใคร่จะให้รู้ | หากเอ็นดูด้วยเป็นศิษย์คิดสงสาร |
จึงบอกไว้ให้เห็นเป็นสะพาน | จะได้การอยู่ก็ที่ตรงสีกา |
อันเดินทางกลางน้ำจะลำบาก | ต้องพลัดพรากยากแค้นถึงแสนสา |
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมกระทำมา | จะได้ผาสุกสบายต่อปลายมือ |
แล้วถามพวกแขกฝรั่งอยู่ทั้งร้อย | ใครจะพลอยไปสำเภาด้วยเขาหรือ |
ตามแต่ใจไม่ว่าจงหารือ | รูปนี้ถือถึงกรรมก็จำตาย ฯ |
๏ แขกฝรั่งพรั่งพร้อมน้อมคำนับ | ขอไปกับพระอภัยเหมือนใจหมาย |
ถึงยากเย็นเป็นข้ากว่าจะตาย | ถ้าเจ้านายไปไหนไปด้วยกัน |
แล้วรับรัดจัดแจงแต่งสำรับ | น้ำผึ้งกับมันเผือกล้วนเลือกสรร |
ทั้งกล้วยอ้อยน้อยหน่าสารพัน | ประเคนสองนักธรรม์ฉันสำราญ ฯ |
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์ | ครั้นจำรัสรุ่งแจ้งแสงสุริย์ฉาน |
บรรทมตื่นฟื้นองค์นางนงคราญ | ชวนกุมารมาสรงพระคงคา |
แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองระยับ | เพชรประดับตะละดาววาวเวหา |
พากุมารคลานเข้าเฝ้าบิดา | กษัตราตรัสทักแล้วซักไซ้ |
นี่แน่เจ้าสินสมุทรบุตรดาบส | อย่าเลี้ยวลดเล่าแจ้งแถลงไข |
โภชนาสาลีอยู่ที่ใด | ช่วยนำไปให้เกี่ยวประเดี๋ยวนี้ ฯ |
๏ กุมารานอบนบอภิวาท | ขอเชิญบาทบงกชบทศรี |
จะนำไปในทางข้างคิรี | ข้าวสาลีเหลือล้นคณนา ฯ |
๏ ธิบดินทร์ยินดีเป็นที่สุด | ไม่ยั้งหยุดแต่งองค์ทรงภูษา |
ชวนสนมกรมในแล้วไคลคลา | พาธิดาลีลาศขึ้นหาดทราย |
สินสมุทรนำเดินเนินบรรพต | แล้วเลี้ยวลดลัดไปดังใจหมาย |
พวกพหลพลไกรทั้งไพร่นาย | แบกกระบายกระบุงตามกันหลามมา |
ถึงที่กว้างหว่างเวิ้งในเชิงเขา | เห็นรวงข้าวขาวค้อมหอมนักหนา |
ไม่เคยเห็นเป็นข้าวสารทั้งลานนา | กษัตราชมเพลินดำเนินพลาง |
ถึงธารน้ำลำเนาภูเขาโขด | มีข้าวโพดข้าวเจ้าแลข้าวฟ่าง |
ทั้งข้าวเหนียวเขียวขาวข้าวหางช้าง | แลต่างต่างตะละไร่สุดสายตา |
พวกผู้หญิงชิงกันเก็บจนเล็บหัก | เข้าข่วนผลักเพื่อนสนิทว่าอิจฉา |
กรุงกษัตริย์ตรัสสั่งพวกเสนา | ให้โยธาเกี่ยวข้าวเอาให้พอ ฯ |
๏ ตำรวจรับขับไพร่ให้เข้าเกี่ยว | บ้างรำเคียวขึ้นหน้าถือพร้าขอ |
เกี่ยวกระหวัดรัดวีสาลีกอ | บ้างแข็งข้อชิงกันเกี่ยวเสียงเกรียวกราว |
เสียงกริบกรวบรวบรัดแล้วมัดฟ่อน | ร้องละครทำเพลงโฉงเฉงฉาว |
ที่ล้าหลังยังห่างย่างยาวยาว | อายสาวสาวฉวยเคียวเกี่ยวไปตาม |
ครั้นได้มากลากขนอลหม่าน | ข้างหาคานคอนสาแหรกบ้างแบกหาม |
กลัวจะอดอุตส่าห์พยายาม | บ้างหิ้วตามกันลงไปในสำเภา ฯ |
๏ กุมาราพาท้าวกับสาวสนม | เที่ยวเลียบชมเชิงชะง่อนสิงขรเขา |
เป็นวุ้งเวิ้งเชิงเทินเนินลำเนา | ที่ลางเหล่าเลื่อมเหลืองดูเรืองรอง |
กรุงกษัตริย์ทัศนาพาสนม | เที่ยวเลียบชมเชิงผาคูหาห้อง |
เห็นเหวห้วยกรวยโกรกชะโงกมอง | ดูโปลงปล่องเปลี่ยวปลาบวาบวิญญาณ์ |
นางสาวสาวชาววังไม่เคยเห็น | เที่ยวดูเล่นเลียบเดินตามเนินผา |
ขึ้นเขาเขียวเลี้ยวเลียบศิลามา | ร่มรุกขาเขียวชุ่มชอุ่มใบ |
สารภียี่สุ่นพิกุลเกด | กระถินเทศกระทุ่มดอกออกไสว |
พวกผู้หญิงชิงช่วงดวงดอกไม้ | บ้างชิงได้ดอกประดู่ซ่อนชู้ชม |
บ้างทึ้งเถาสาวหยุดฉุดกระชาก | เก็บบุนนาคนางแย้มมาแซมผม |
บ้างเดินเด็ดดอกกลอยสอยสุกรม | ห่อผ้าห่มเอาไปใส่ใต้ที่นอน |
สินสมุทรหยุดเก็บแก้วกาหลง | ถวายองค์พระบุตรีศรีสมร |
นางเลือกเก็บอังกาบกุหลาบซ้อน | มาแซมจอนทัดหูให้กุมาร |
แล้วเดินตัดลัดมาหน้าอาศรม | ระรื่นร่มรุกขาคณาขนาน |
ขนันขนุนครุนเครือเหลือประมาณ | มะพร้าวตาลตูมตาดดาษดา |
มะเดื่อดูกสุกห่ามอร่ามกิ่ง | บ้างหล่นกลิ้งเกลื่อนอยู่ริมภูผา |
ละมุดม่วงพวงสะพรั่งทั้งพะวา | ดกระย้าอยู่ทุกกิ่งทั้งปริงปราง |
ฝูงวิหคนกกามาไม่ถึง | ด้วยลึกซึ้งสายสมุทรสุดกว้างขวาง |
ไม้จึงงามตามฤดูไม่รู้ร้าง | พระชมพลางเพลิดเพลินดำเนินมา ฯ |
๏ ถึงกุฎีที่อยู่ท่านครูเฒ่า | จึงแวะเข้าอภิวันท์ด้วยหรรษา |
สรรเสริญเจริญฤทธิ์พระสิทธา | คุณช่างมาอยู่ถึงริมหิมพานต์ |
คิรีรอบขอบเขตนิเวศน์วัด | สารพัดภิญโญรโหฐาน |
ได้ยินเขาเล่าอยู่แต่บุราณ | ว่าเกาะแก้วพิสดารสำราญครัน |
บุญนักหนาได้มาเห็นก็เป็นสุข | แสนสนุกดังได้ไปสวรรค์ |
จะหยุดหย่อนผ่อนสบายอยู่หลายวัน | ก็คิดพรั่นไพรีจะบีฑา |
อนึ่งทางกลางสมุทรก็สุดเปลี่ยว | จะต้องเที่ยวไปทุกแห่งแสวงหา |
ซึ่งเป็นตายหมายว่าตามแต่เวรา | โยมขอลาผู้เป็นเจ้าเช้าพรุ่งนี้ ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงพรตพจนารถ | อนุญาตโยมไปให้สุขี |
รูปขอฝากพระอภัยไปบุรี | กับพวกที่ศิษย์นั่งอยู่ทั้งร้อย |
ล้วนล้าต้าต้นหนเป็นคนแข็ง | มีเรี่ยวแรงรับไปได้ใช้สอย |
เมื่อพบพานบ้านเล็กแลเมืองน้อย | จงโปรดปล่อยให้เขาไปดังใจจง ฯ |
๏ จอมนรินทร์ยินดีชลีหัตถ์ | โยมไม่ขัดข้อความตามประสงค์ |
พระอภัยใจมาดเหมือนญาติวงศ์ | นิมนต์ลงไปเภตราเวลาเช้า |
จะกั้นห้องให้สบายข้างฝ่ายพระ | ไว้ธุระโยมจะส่งตรงกับข้าว |
สินสมุทรก็จะได้ไปกับเรา | จะได้เป่าปี่เล่นให้เย็นใจ |
แล้วอำลาดาบสประณตน้อม | ลงจากจอมเขาเขินเนินไศล |
สินสมุทรยุดนางไม่ห่างไกล | กลับลงในเภตราพอสายัณห์ ฯ |