- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
๏ จะกล่าวองค์อุศเรนเจนสมุทร | ราชบุตรเจ้าพาราภาษาสิงหล |
คุมกำปั่นพันลำเที่ยวแล่นชล | ตามตำบลเกาะแก่งทุกแขวงแคว |
ไม่พบท้าวเจ้ากรุงผลึกราช | ค่อยอ้อมหาดตะวันตกวกแฉว |
แต่ดิ้นโดยโหยไห้อาลัยแล | ตามกระแสสายสมุทรสุดสายตา |
ถึงสามเดือนเคลื่อนคลาดประหลาดเหลือ | หรือเสียเรือพระที่นั่งกระมังหนา |
นึกสงสัยไต่ถามพวกโหรา | เขาทูลว่าโฉมฉายไม่วายวาง |
ยิ่งวิตกอกตรมระทมทุกข์ | ไม่มีสุขสารพัดจะขัดขวาง |
ทุกคืนค่ำรำลึกนึกถึงนาง | มาเริศร้างค้างงานการวิวาห์ |
พี่ติดตามทรามสวาทก็คลาดแคล้ว | ไม่พบแก้วนัยน์เนตรของเชษฐา |
มาแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าเศร้าวิญญาณ์ | เห็นแต่ฟ้ากับน้ำทุกค่ำคืน |
ทั้งกำปั่นบรรดาโยธาหาญ | อลหม่านแล่นหลามมาตามคลื่น |
พอแสงทองส่องสว่างนภางค์พื้น | ต่างยิงปืนรับกันเป็นสัญญา |
ครั้นเกือบใกล้เขามหิงขสิงขร | ชโลทรซึ้งซึกลึกนักหนา |
เห็นเขาใหญ่ในทะเลเหมือนเมฆา | ร่มรุกขาชื่นชุ่มชอุ่มใบ |
อุศเรนทรงส่องกล้องสว่าง | ดูไปทางโขดเขินเนินไศล |
เห็นริ้วริ้วทิวธงอยู่ไรไร | จึงบอกให้ยืนดูทุกผู้คน |
บ้างลุกขึ้นยืนมองบ้างป้องหน้า | ยังไกลตาเต็มพิศคิดฉงน |
อุศเรนเห็นทีจะมีคน | แวะขึ้นค้นดูให้สิ้นที่กินใจ |
จึงสั่งให้นายท้ายบ่ายกำปั่น | หมายสำคัญทิวธงด้วยสงสัย |
พวกฝรั่งหยั่งน้ำร่ำเข้าไป | ทั้งนายไพร่พร้อมมาในสาคร ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยวิไลลักษณ์ | ซึ่งสำนักอยู่มหิงขสิงขร |
กับคนร้อยคอยท่าเภตราจร | เป็นทุกข์ร้อนร่ำมาถึงห้าเดือน |
ได้แต่กินเผือกมันพรรณผลไม้ | แสนลำบากยากไร้ใครจะเหมือน |
คิดบ่นจำธรรมขันธ์ไม่ฟั่นเฟือน | อุตส่าห์เตือนกันให้ภาวนามนต์ |
พระโศกศัลย์รันทดสลดจิต | ด้วยสุดคิดสารพัดจะขัดสน |
ทั้งลูกน้อยพลอยหายในสายชล | จะอับจนหรือจะรอดตลอดไป |
โอ้ลูกเอ๋ยเคยอยู่เป็นคู่ยาก | มาพลัดพรากมิได้เห็นว่าเป็นไฉน |
ยิ่งรำลึกตรึกตรายิ่งอาลัย | พระชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย |
แล้วคิดถึงสุมาลีศรีสวัสดิ์ | ระลอกซัดสูญไปน่าใจหาย |
อันท้าวไทไหนจะรอดคงวอดวาย | อันจะว่ายสายสมุทรสุดกำลัง |
โอ้ตัวเราเล่ามาค้างอยู่กลางเกาะ | นี่เนื้อเคราะห์กรรมสร้างแต่ปางหลัง |
มิได้คืนนัคเรศนิเวศน์วัง | โอ้แสนสังเวชใจกระไรเลย |
เมื่อครั้งหนีผีเสื้อเหลือลำบาก | มาซ้ำจากลูกยานิจจาเอ๋ย |
ทั้งเก้าปีมิได้มีความเสบย | ผู้ใดเลยที่จะเป็นเหมือนเช่นเรา |
แต่แสนยากแล้วมิหนำมาซ้ำแยก | ทั้งเรือแตกต้องมาอยู่บนภูเขา |
แสนวิโยคโศกศัลย์ไม่บรรเทา | กำสรดเศร้าโศกาทุกราตรี |
เมื่อวันนั้นบรรดาแขกฝรั่ง | อยู่พร้อมพรั่งนั่งประณตบทศรี |
พอแลเห็นเภตราในวารี | พยุตีตัดทางมากลางชล |
ชี้พระหัตถ์ตรัสบอกบ่าวทั้งนั้น | โน่นกำปั่นแล่นสลับมาสับสน |
มีธงเทียวเขียวเหลืองแลชอบกล | พวกไพร่พลดูพลางไม่วางตา |
บ้างก็ว่ามากมายเห็นหลายร้อย | ยังแล่นลอยไรไรไกลนักหนา |
บ้างบนเจ้าอ่าวทะเลเทวดา | ขอให้มาถึงเราที่เขานี้ |
แม้นโดยสารได้สมอารมณ์หมาย | จะถวายเป็ดไก่กับบายศรี |
พระโฉมยงลงมาหน้าคิรี | กับโยธียืนท่าเภตราจร ฯ |
๏ พวกลำทรงองค์อุศเรนราช | มาถึงหาดเห็นคนบนสิงขร |
ทอดสมอรอราในสาคร | พลนิกรพร้อมกันทั้งพันลำ |
เสด็จเข้าที่สรงแล้วทรงเครื่อง | อร่ามเรืองล้วนจินดาเลขาขำ |
ใส่หมวกดำเสื้อดำกางเกงดำ | แล้วลงลำเรือใช้กับไพร่พล |
พวกโยธีตีกรรเชียงเข้าเคียงเขา | ทหารเอาถ่อรับอยู่สับสน |
ฝ่ายว่าองค์อุศเรนเจนประจญ | จึงพาพลยุรยาตรขึ้นหาดทราย |
พอเห็นองค์พระอภัยวิไลโฉม | งามประโลมแลเลิศดูเฉิดฉาย |
อร่ามเรืองเครื่องประดับสำหรับกาย | เห็นดีร้ายกษัตรามาแต่ไกล |
จึงตรัสถามตามภาษาฝรั่ง | ว่าท่านทั้งนี้พากันมาแต่ไหน |
เกิดวิบัติขัดขวางเป็นอย่างไร | จึงอยู่ในเกาะขวางกลางคงคา ฯ |
๏ พระอภัยได้สดับสุนทรถาม | จึงตอบตามคำฝรั่งไม่กังขา |
อันตัวเราเจ้าบุรีรัตนา | ผีเสื้อพาลงไว้ในสาคร |
แล้วเล่าความตามหนีนางผีเสื้อ | จนเสียเรือขึ้นอาศัยในสิงขร |
อันท้าวไทธิดาพะงางอน | พลนิกรสาวสนมกรมใน |
ระลอกซัดพลัดพรายต้องว่ายน้ำ | ด้วยมืดค่ำมิได้เห็นว่าเป็นไฉน |
ทั้งบุตราข้านี้ก็หายไป | ยังมิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย |
ท่านทั้งนี้มีธุระอย่างไรเล่า | คุมสำเภาพลเรือมาเหลือหลาย |
เราทั้งนี้ชีวิตจะวอดวาย | ท่านผู้นายเภตราจงปรานี |
ขอโดยสารท่านพอเข้าถึงฝั่ง | จะเซซังหมายมุ่งไปกรุงศรี |
อันพวกข้าถ้าการของท่านมี | ก็ตามทีแต่จะใช้ได้เมตตา ฯ |
๏ อุศเรนรู้แจ้งไม่แคลงจิต | เสียดายมิตรแทบชีวังจะสังขาร์ |
ทรุดพระองค์ลงที่แท่นแผ่นศิลา | ชลนาหลั่งไหลพิไรครวญ |
โอ้สุวรรณมาลีของพี่เอ๋ย | บุญไม่เคยคู่ครองประคองสงวน |
จะจัดแจงแต่งงานเป็นการจวน | เออก็ควรแล้วหรือนางมาวางวาย |
เสียแรงคิดติดตามทรามสวาท | ที่มุ่งมาดมิได้สมอารมณ์หมาย |
จะกลับไปลังกาก็ท่าอาย | จะตามตายเสียให้พ้นคนนินทา |
ยิ่งโศกศัลย์กันแสงแสนเทวษ | ชลเนตรพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
จนลมจับวับวาบในวิญญาณ์ | พระพักตราเศร้าซบสลบไป ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาฝรั่งอยู่พรั่งพร้อม | เข้าห้อมล้อมเซ็งแซ่แล้วแก้ไข |
เคียงประคองร้องเรียกน้ำดอกไม้ | มาลูบไล้สารพางค์ให้ห่างคลาย |
หอมระรื่นฟื้นองค์ดำรงนั่ง | หมอฝรั่งรินยามาถวาย |
ที่ร้อนเล่าเศร้าสร้อยค่อยสบาย | คิดเสียดายพระธิดายิ่งอาวรณ์ |
จึงเชิญองค์พระอภัยให้มานั่ง | ร่วมบัลลังก์เหลี่ยมผาหน้าสิงขร |
ต่างปราศรัยไต่ถามนามกร | ทั้งบิดรมารดานามธานี |
แล้วเล่าเรื่องเมืองผลึกราชฐาน | จะจัดแจงแต่งงานภิเษกศรี |
พอโฉมฉายหายมาในวารี | ฉันจึงกรีพลตามมาสามเดือน |
พึ่งได้ความทรามสวาทเห็นคลาดแคล้ว | เสียดายแก้วกลอยใจใครจะเหมือน |
การไม่ควรปรวนแปรมาแชเชือน | ต้องคลาดเคลื่อนเสนหาให้อาลัย |
ขอถามเมื่อเรือแตกต้องแยกย้าย | นางโฉมฉายพระเห็นเป็นไฉน |
จะล้มตายวายวางหรืออย่างไร | หรือจะไม่มรณาในสาคร ฯ |
๏ พระอภัยได้แจ้งแถลงเล่า | รู้ว่าเขาจะเป็นคู่สู่สมร |
พยายามตามหาด้วยอาวรณ์ | เป็นทุกข์ร้อนรักนางถึงอย่างนี้ |
น่าสงสารการชายตายเพราะหญิง | ไม่ควรชิงพระธิดามารศรี |
จะผูกพันกันไว้เป็นไมตรี | จึงพาทีมิให้หมางระคางคำ |
เมื่อข้าโดยสารมาเป็นดาบส | รักษาพรตบ่นภาวนาร่ำ |
ข้าอยู่ท้ายฝ่ายนางอยู่กลางลำ | สุดจะกำหนดการด้วยย่านไกล |
อันพวกเหล่าโหราเหมือนตาโลก | รู้โฉลกเลขผาภาษาไสย |
จงหาหมอดูแลให้แน่ใจ | เผื่อจะได้ข่าวองค์อนงค์นาง ฯ |
๏ อุศเรนฟังแถลงไม่แคลงจิต | สุจริตรักใคร่มิให้หมาง |
จึงดำรัสตรัสถามโหราพลาง | จงดูนางเห็นจะรอดหรือวอดวาย ฯ |
๏ โหรารับจับยามตามโฉลก | อุษาโยคยามจันทร์เจ็ดชั้นฉาย |
ลงเลขลับขับไล่ยังไม่ตาย | จึงทูลทายว่าข้าเห็นไม่เป็นไร |
พระบุตรีมีผู้จะชูช่วย | ไม่มอดม้วยมรณาอย่าสงสัย |
อยู่ทางทิศอิสานสำราญใจ | แม้นตามไปก็จะพบประสบกัน ฯ |
๏ อุศเรนฟังทายค่อยคลายจิต | จึงว่าผิดก็จะฆ่าให้อาสัญ |
แม้นตามไปได้นางจะรางวัล | แล้วพูดกันกับพระอภัยมณี |
เชิญพระองค์ลงร่วมเรือกับข้า | เที่ยวติดตามพระธิดามารศรี |
พระแก่วันชันษากว่าข้านี้ | นึกว่าพี่น้องกันไม่ฉันทา |
แล้วแย้มสรวลชวนเดินดำเนินนาด | ยุรยาตรจากแท่นที่แผ่นผา |
ทั้งสององค์ลงนั่งยังนาวา | จะเคลื่อนคลาเรือติดเห็นผิดใจ ฯ |
๏ อุศเรนเกณฑ์ไพร่ให้ลงลาก | ฉุดกระชากเชือกขาดไม่หวาดไหว |
เหตุทั้งนี้ผีเสื้อที่บรรลัย | บันดาลให้เรือตึงดังตรึงตรา |
สองกษัตริย์ตรัสถามความผู้เฒ่า | ไยเรือเราจึงมาติดผิดนักหนา |
ตาพราหมณ์ครูรู้ความตามตำรา | จึงทูลว่าผีเสื้อยุดเรือไว้ |
ขอพระองค์จงเสด็จขึ้นบนฝั่ง | กลับไปสั่งสารยักษ์ที่ตักษัย |
ให้ใจนางอสุรินทร์สิ้นอาลัย | ก็จะได้ไปสบายหายสำราญ ฯ |
๏ พระอภัยสุริย์วงศ์ทรงสดับ | พระทัยกลับคิดได้ให้สงสาร |
จึงชวนลูกเจ้าลังกาปรีชาชาญ | กับทหารยุรยาตรขึ้นหาดทราย |
ถึงศพที่ผีเสื้อกลายเป็นหิน | ไม่สุดสิ้นอาลัยให้ใจหาย |
เข้านั่งเรียงเคียงข้างดูร่างกาย | พระฟูมฟายชลนาโศกาลัย |
โอ้น้องเอ๋ยเคยอยู่เป็นคู่ชื่น | สำราญชื่นชูจิตพิสมัย |
เจ้าสิ้นบุญสูญแล้วแคล้วกันไป | พี่จำไกลกลอยสวาทในชาตินี้ |
อย่าน้อยจิตคิดทำให้ลำบาก | ขอลาซากศพน้องอย่าหมองศรี |
พี่ตกยากอยู่ด้วยเจ้าถึงเก้าปี | ช่วยส่งพี่เสียให้พ้นทนทรมาน |
อนึ่งไปขอให้พบสินสมุทร | จะพาบุตรไปประเทศเขตสถาน |
อันบุญพี่ที่ได้บวชบำเพ็ญทาน | สร้างสมภารภาวนามาทุกวัน |
พี่แบ่งให้นฤมลเจ้าพ้นทุกข์ | เกิดสมสุขสู่สถานพิมานสวรรค์ |
จะเกิดไหนขอให้อยู่เป็นคู่กัน | จนถึงวันนฤพานสำราญใจ |
พระร่ำพลางทางพินิจคิดสังเวช | น้ำพระเนตรผ้อยผ้อยละห้อยไห้ |
ระทวยทอดกอดศพสลบไป | เหมือนหลับใหลลืมกายดังวายปราณ ฯ |
๏ อุศเรนเห็นนิ่งวิ่งเข้ารับ | ค่อยประคับประคององค์ด้วยสงสาร |
เรียกฝรั่งพรั่งพรูมาอยู่งาน | บ้างเชิญพานสุคนธามาชโลม |
น้ำดอกไม้ใสสดรสระรื่น | ค่อยพลิกฟื้นวรองค์พระทรงโฉม |
พอบ่ายเบี่ยงเสียงคลื่นออกครื้นโครม | ยิ่งทุกข์โทมนัสใจจะไกลนาง ฯ |
๏ อุศเรนร่ำปลอบให้ชอบชื่น | จงคิดขืนแข็งใจพระไว้บ้าง |
อันศพซากรากษสที่วายวาง | ต้องอยู่กลางแดดฝนทนทรมาน |
เราทำโรงร่มไว้พอให้มิด | จะได้คิดตามบุตรสุดสงสาร |
แล้วสั่งให้ไพร่พลพวกคนงาน | ขึ้นทำการก่อผนังแลหลังคา |
ไม่ทันค่ำสำเร็จเป็นโรงใหญ่ | ด้วยพวกไพร่พร้อมพรักกันนักหนา |
พระอภัยกับฝรั่งชาวลังกา | ก็เลยลาซากผีเสื้อลงเรือน้อย |
ไม่ขัดข้องล่องน้ำถึงกำปั่น | ปืนสำคัญยิงรับให้กลับถอย |
ทั้งพันลำกำปั่นเป็นหลั่นลอย | พอบ่ายคล้อยเรียบรื่นทั้งคลื่นคลาย |
ให้แล่นลัดตัดทางข้างอิสาน | เหล่าคนงานกางใบขึ้นใส่สาย |
พร้อมสะพรั่งทั้งพหลพลนิกาย | ดูเรี่ยรายเรียงหลามไปตามทาง ฯ |
๏ ฝ่ายบุตรท้าวเจ้าลังกาอาณาจักร | อารมณ์รักพระอภัยมิให้หมาง |
ให้อยู่ห้องช่องเรือระวางกลาง | มีหน้าต่างเตียงตั้งที่นั่งนอน |
แขกฝรั่งทั้งร้อยพลอยเป็นสุข | บรรเทาทุกข์ภิญโญสโมสร |
ปรนนิบัติกษัตราเฝ้าอาทร | ผลัดกันนอนผลัดกันนั่งระวังภัย |
พอสุริยงลงลับพยับโพยม | เขาจุดโคมสายระยางสว่างไสว |
ฆ้องระฆังหง่างเหง่งวังเวงใจ | พระอภัยเผยแกลแลดูดาว |
เห็นเดือนหงายฉายแสงแจ้งกระจ่าง | ต้องน้ำค้างซัดสาดอนาถหนาว |
น้ำกระเซ็นเป็นฝอยดูพร้อยพราว | อร่ามราวเพชรรัตน์จำรัสราย |
ให้คิดถึงลูกน้อยกลอยสวาท | เคยร่วมอาสน์อกอุ่นมาสูญหาย |
ซึ่งโหราว่านางไม่วางวาย | ก็ดีร้ายลูกยาจะพาไป |
จะถึงฝั่งหรือว่ายังอยู่กลางสมุทร | หรือขึ้นหยุดเกาะแก่งตำแหน่งไหน |
ถ้าพบนางกลางน้ำทำอย่างไร | จึงจะได้นุชน้องเป็นของเรา |
ด้วยว่าองค์อุศเรนมาเป็นมิตร | ครั้นจะคิดขัดไว้เกรงใจเขา |
แต่พี่รู้อยู่ว่าองค์นางนงเยาว์ | รักข้างเราเจ้าจึงได้ให้สังวาล |
พี่ก็ได้ให้ธำมรงค์รัตน์ | สารพัดพูดจาน่าสงสาร |
ยิ่งคิดก็ยิ่งให้อาลัยลาน | ชมสังวาลต่างนางในกลางคืน |
กับทั้งภูษาศรีคลี่ออกห่ม | พอต้องลมรินรินกลิ่นระรื่น |
แสนวิโยคโศกศัลย์ทุกวันคืน | ซบสะอื้นอาลัยไม่ไสยา |
จนยามดึกครึกครื้นเสียงคลื่นซัด | พงศ์กษัตริย์เศร้าสร้อยละห้อยหา |
ชลีหัตถ์อธิษฐานถึงเทวา | ฉ้อกามาเมืองสวรรค์ถึงชั้นพรหม |
แม้นสุวรรณมาลีศรีสมร | แต่ชาติก่อนได้เป็นคู่เคยสู่สม |
อย่าคลายแคล้วแก้วตาเหมือนอารมณ์ | ให้ได้ชมเชยนางเหมือนอย่างเคย |
พระคิดพลางครวญพลางให้วางเวก | เอกเขนกนึกนิ่งอิงเขนย |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย | พระก็เลยหลับไปในไสยา ฯ |
๏ ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริเยนทร์ | อุศเรนใฝ่ฝันกระสันหา |
บรรทมตื่นแต่งองค์สรงพักตรา | แล้วเผยหน้าแกลสุวรรณบัญชร |
เห็นละเมาะเกาะแก่งตำแหน่งไหน | ให้เรือใช้ขึ้นไปค้นบนสิงขร |
ไม่พบนางกลางชลายิ่งอาวรณ์ | เป็นทุกข์ร้อนรำพึงตะลึงแล |
โอ้เมื่อไรพี่จะได้เจ้าดวงจิต | ให้สมคิดเคียงข้างไม่ห่างแห |
จงอิงแอบแนบนั่งตรงหน้าแกล | ชมกระแสสายสมุทรสุดสบาย |
เหล่าละเมาะเกาะเกียนเหมือนเขียนวาด | งามประหลาดแลหลากดังฉากฉาย |
ชะโงกเงื้อมเลื่อมแลลายระบาย | โอ้เสียดายพี่มาดูแต่ผู้เดียว |
อนาถนิ่งอิงเอกเขนกนึก | หวนสะทึกถอนใจอาลัยเหลียว |
เสียงโครมครื้นคลื่นกลิ้งเป็นเกลียวเกลียว | ให้เปล่าเปลี่ยวเห็นแต่ปลาในสาคร |
เป็นคู่คู่งูเงือกขึ้นเกลือกกลอก | ตามระลอกโลดเต้นเห็นสลอน |
ฝูงพิมพาพากันเที่ยวสัญจร | ทั้งเนื้ออ่อนอ่อนกายเที่ยวว่ายวน |
ทั้งโลมาราหูขึ้นฟูฟ่อง | บ้างพ่นฟองฟุ้งฟ้าดังห่าฝน |
จระเข้เหราในสาชล | ดูเกลื่อนกล่นกลางน้ำน่าสำราญ |
โอ้มัจฉานาคียังมีคู่ | แต่ตัวกูเอกาน่าสงสาร |
ยิ่งคิดถึงพระธิดายุพาพาล | โอ้ว่าป่านฉะนี้นางจะอย่างไร |
พวกโหรว่ามีผู้จะชูช่วย | ถ้าฉุกฉวยเพลี่ยงพล้ำจะทำไฉน |
ถึงกระนั้นก็ไม่นิ่งจะชิงชัย | กว่าจะได้แก้วตาสุดาดวง |
แม้นมิพบแก้วตาเที่ยวหาทั่ว | จะบวชตัวเสียให้ขาดเป็นบาทหลวง |
ยิ่งคิดไปให้ระทดสลดทรวง | จนเรือล่วงแล่นมาหลายราตรี ฯ |
๏ จะกล่าวลำกำปั่นสินสมุทร | กับนงนุชนางอรุณรัศมี |
ทั้งโฉมยงองค์สุวรรณมาลี | กษัตริย์ศรีสุวรรณมาในสาคร |
เที่ยวค้นคว้าหาทั่วทุกแก่งเกาะ | เหล่าละเมาะเขาเขินเนินสิงขร |
ไม่พบองค์พระอภัยอาลัยวรณ์ | เป็นทุกข์ร้อนโศกศัลย์ทุกวันวาร |
แต่อรุณรัศมีไม่มีทุกข์ | กับสินสมุทรสุดสุขสนุกสนาน |
ครั้นราตรีพี่น้องสองกุมาร | บรรทมแท่นแสนสำราญด้วยมารดา |
เผยพระแกลแลดูเดือนสว่าง | แจ่มกระจ่างกลางทะเลแลเวหา |
พระชนนีชี้ชวนชมดารา | ให้ลูกยาหลานรักรู้จักไว้ |
ดูโน่นแน่แม่อรุณรัศมี | ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ |
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย | ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน |
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า | ที่ตรงหน้าดาวไถชื่อไรนั่น |
นางบอกว่าดาวธงอยู่ตรงนั้น | ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อดาวโลง |
แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ | จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง |
ดาวดวงลำสำเภามีเสากระโดง | สายระโยงระยางหางเสือยาว |
นั้นแน่แม่ดูดาวจระเข้ | ศีรษะเร่หกหางขึ้นกลางหาว |
ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว | เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี |
โน่นดาวคันชั่งช่วงดวงสว่าง | ที่พร่างพร่างพรายงามดาวหามผี |
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี | เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา |
พระชนนีชี้แจงให้แจ้งจิต | อยู่ตามทิศทั่วไปในเวหา |
ครั้นดึกด่วนชวนสองกุมารา | เข้าห้องในไสยาในราตรี |
ฝ่ายสุรางค์นางสำหรับที่ขับกล่อม | สะพรั่งพร้อมน้อมประณตบทศรี |
บ้างท้าทับขับไม้มโหรี | อยู่ข้างที่แท่นสุวรรณบัลลังก์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมโมลีศรีสุวรรณ | ทรงกำปั่นแล่นล่องเป็นกองหลัง |
ทั้งปีกขวาปีกซ้ายรายระวัง | ดูคับคั่งเรียงมาในสาคร |
ครั้นดาวเดือนเลื่อนลับพยับฟ้า | พระสุริยาเยื้องเยี่ยมเหลี่ยมสิงขร |
พระพายพัดพัดพาเภตราจร | ไม่หยุดหย่อนแล่นหลามตามกันมา |
เช้าชะวากปากน้ำสำปะหลัง | ไม่เข้าฝั่งตัดทางไปข้างขวา |
พอเห็นลำสำเภาชาวลังกา | ดาษดาแลไปยังไกลครัน |
พอกองนำลำทรงสินสมุทร | สั่งให้จุดปืนสัญญาโกลาลั่น |
พวกกองนำลำทรงศรีสุวรรณ | ขึ้นมาทันนัดดาจึงพาที |
เขาแล่นมาถ้าเราแล่นไปมั่ง | จะคับคั่งเคืองใจไม่พอที่ |
ทอดสมอรอเรียงอยู่เพียงนี้ | ดูท่วงทีท่าทางจะอย่างไร |
แล้วยิงปืนปากปลาสัญญาหยุด | อุตลุดหลีกกันเสียงหวั่นไหว |
ทอดสมอรอหมดแล้วลดใบ | กำปั่นใหญ่อยู่กลางขวางคงคา ฯ |
๏ ฝ่ายกองทัพอุศเรนเห็นกำปั่น | มาเรียงรันรายทางอยู่ข้างหน้า |
จึงยิงปืนครื้นครั่นเป็นสัญญา | จะรอราหน้าหลังตั้งกระบวน |
อุศเรนเห็นลำกำปั่นใหญ่ | มีต้นไม้หมากมะพร้าวราวกับสวน |
จะจาบจ้วงล่วงไปก็ไม่ควร | ฉวยการจวนรบรับจะอับจน |
ด้วยอยู่ห่างคลางแคลงไม่แจ้งเหตุ | เห็นผิดเพศพาณิชคิดฉงน |
เห็นจะเป็นโจรร้ายในสายชล | มาเที่ยวปล้นนาวาพวกพาณิช |
จึงตรัสสั่งเรือใช้ให้ไปถาม | ให้ได้ความเรือฝรั่งหรืออังกฤษ |
หรือกษัตริย์ขัตติยาวราฤทธิ์ | ให้แจ้งจิตแล้วจะได้เป็นไมตรี ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งลังกากองทหาร | รับโองการน้อมประณตบทศรี |
ลงเรือเร็วรีบมาในวารี | มาถึงที่ทัพใหญ่ดังใจจง |
จึงแจ้งความตามภาษาลังกาพูด | เราเป็นทูตจะมาถามตามประสงค์ |
นี่นายเรือเชื้อกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ | หรือเผ่าพงศ์พาณิชอย่าปิดความ ฯ |
๏ ฝ่ายเรือรบเรียงกันอยู่ชั้นนอก | ครั้นจะบอกออกไปเองก็เกรงขาม |
จำจะกราบทูลแถลงให้แจ้งความ | แล้วพาเข้าเฝ้าตามจะโปรดปราน ฯ |
๏ สินสมุทรทรงนั่งบัลลังก์อาสน์ | ตรัสประภาษพูดจาด้วยกล้าหาญ |
ใครใช้มาว่ากระไรจงให้การ | นายของท่านให้มาถามนั้นนามใด ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งลังกาที่มาเฝ้า | จึงก้มเกล้าทูลแจ้งแถลงไข |
องค์พระราชโอรสยศไกร | ขอท้าวไทที่เป็นเจ้าชาวลังกา |
ทรงพระนามอุศเรนเกณฑ์ทหาร | มาแต่งงานมิ่งมิตรขนิษฐา |
ข้างเจ้ากรุงผลึกรัตน์กษัตรา | กับธิดาโฉมฉายนั้นหายไป |
จึงเที่ยวตามข้ามมหามหรณพ | พอมาพบพวกพระองค์ก็สงสัย |
ให้รอรั้งยั้งหยุดอยู่แต่ไกล | จึงใช้ให้ข้ามาถามตามสงกา ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอิศเรศ | ได้แจ้งเหตุหนหลังไม่กังขา |
ด้วยเดิมรู้อยู่ว่าลูกเจ้าลังกา | เขาจะมาแต่งงานกับมารดร |
แม้นละไว้ไม่สังหารผลาญชีวิต | มันจะคิดชิงช่วงดวงสมร |
จะห้ำหั่นบั่นเสียให้ม้วยมรณ์ | พบบิดรก็จะได้ให้มารดา |
ด้วยใจเด็กเดือดดาลทะยานจิต | กำเริบฤทธิ์หาญฮึกไม่ปรึกษา |
จึงว่าเหวยอ้ายฝรั่งชาวลังกา | เที่ยวหลับตาตามเปล่าไม่เข้าการ |
อันท้าวไทอัยกากรุงผลึก | มิได้นึกผูกรักสมัครสมาน |
จึงยกราชธิดายุพาพาล | มาประทานให้แก่บิตุเรศเรา |
เดี๋ยวนี้มารดากูก็อยู่นี่ | อันชาตินี้เจ้านายมึงหมายเปล่า |
จงไปบอกเถิดว่าองค์นางนงเยาว์ | อยู่ที่เราแล้วอย่าคิดไปติดตาม |
แม้นรักตัวกลัวตายเสียดายศักดิ์ | อย่าฮึกฮักจ้วงจาบทำหยาบหยาม |
กลับลังกาหาเมียที่งามงาม | จะมีความสุขสบายไม่วายปราณ |
กูนี้หรือชื่อว่าสินสมุทร | มิ่งมงกุฎกษัตรามหาศาล |
ไปบอกเล่าเจ้ามึงให้แจ้งการ | จงคิดอ่านเลิกทัพกลับธานี ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งฟังว่าเห็นกล้าเหลือ | บังคมลามาเรือแล้วรีบหนี |
แค้นอารมณ์ลมไม่ใคร่จะมี | ให้พลตีกรรเชียงฝืนคลื่นออกไป ฯ |
๏ สินสมุทรวิ่งมาหาแม่เลี้ยง | เข้านั่งเคียงเล่าแจ้งแถลงไข |
เหมือนวาจาท้าทายหมายชิงชัย | นางตกใจจึงว่าฉาวแล้วคราวนี้ |
เมื่อปกปิดมิให้ผู้ใดแจ้ง | มาพรายแพร่งเสียเพราะพ่อไม่พอที่ |
จะนิ่งไว้ในอุราว่าไม่ดี | ความเช่นนี้หรือไปเล่าให้เขาฟัง |
เขารู้แน่ว่าแม่ยังเป็นสาว | จะว่ากล่าวลวนลามถึงความหลัง |
ถ้าทราบถึงพระเจ้าอาก็น่าชัง | ด้วยปิดบังมิได้บอกออกให้รู้ |
ถึงกระไรให้พบกับบิตุเรศ | พระโปรดเกศก็จะได้ไม่อดสู |
นี่พ่อมาบอกให้อ้ายศัตรู | มันล่วงรู้ความลับน่าอับอาย |
อนึ่งเล่าเขาก็คงจะคุมแค้น | มาทดแทนทำศึกเหมือนนึกหมาย |
พลไพร่ใหญ่น้อยจะพลอยตาย | กว่าจะวายศึกเสือสักเมื่อไร |
อนึ่งพระองค์ทรงฤทธิ์บิตุเรศ | ก็ยังไม่แจ้งเหตุว่าอยู่ไหน |
นี่เนื้อเคราะห์เพราะกรรมกระทำไว้ | เผอิญให้ขัดข้องต้องรำคาญ ฯ |
๏ สินสมุทรนิ่งนั่งฟังแม่เลี้ยง | จึงบ่ายเบี่ยงพูดจาด้วยกล้าหาญ |
เขาจะมาพาพระแม่ไปแต่งงาน | ลูกเดือดดาลจึงได้ว่าให้สาใจ |
พระตรัสเห็นเป็นผิดคิดพิโรธ | ประทานโทษเถิดขอถามตามสงสัย |
ถ้าแม้นเขาชาวลังกาจะพาไป | จะอาลัยลูกรักหรือจักจร |
อันบิดาข้าน้อยนี้ถอยศักดิ์ | ไม่ควรรักร่วมสุวรรณบรรจถรณ์ |
ทั้งลูกเล่าเขาก็ว่าเป็นมารดร | จึงทุกข์ร้อนกลัวจะมีราคีคาว |
ตั้งแต่นี้สืบไปลูกไม่ว่า | จะบอกเขาชาวลังกาว่าเป็นสาว |
ที่นี้คิดผิดพลั้งเสียทั้งคราว | ต้องว่ากล่าวกลัวจะขาดญาติวงศ์ |
อันศึกเสือเหนือใต้ฉันไม่พรั่น | จะห้ำหั่นให้เป็นเบือไม่เหลือหลง |
เมื่อกลับเห็นว่าเป็นศึกนึกทะนง | ก็สุดแท้แต่จะทรงพระเมตตา ฯ |
๏ น้อยไปหรือลมลิ้นพ่อสินสมุทร | เดี๋ยวนี้สุดแสนงอนช่างค่อนว่า |
เฝ้าโกรธขึ้งหึงหวงแทนบิดา | จะหยิกขาเสียให้เขียวประเดี๋ยวนี้ |
ข้าเป็นแต่แม่ของเจ้าต่างหาก | ด้วยหวังใจหมายจะฝากซึ่งซากผี |
ข้าเป็นเมียพระอภัยเมื่อไรมี | อย่าพาทีเก้อเก้อเออไม่อาย |
ผัวข้ามาข้าจะกลับไปกับเขา | จะพาเจ้าไปด้วยกันมาผันผาย |
พระอภัยไพร่ทุพลจนจะตาย | เราฝากกายอยู่กับเขาชาวลังกา ฯ |
๏ สินสมุทรฟังคำทำหัวร่อ | ลูกจะขอพึ่งพระบาทวาสนา |
พยายามตามเสด็จจงเมตตา | พอเป็นข้าช่วงใช้เหมือนใจปอง |
เขาลือว่าฝรั่งช่างฉอเลาะ | ประโลมปอเหลาะเหลือดีไม่มีสอง |
ไปเชยชมสมสู่เป็นคู่ครอง | จะได้น้องอุ้มเล่นเย็นเย็นใจ |
แม่มีผัวกลัวแต่จะลืมลูก | เขาว่าถูกที่ประสงค์มักหลงใหล |
เว้นเสียแต่แม่คุณลูกอุ่นใจ | เห็นจะไม่ผูกพันถึงฟั่นเฟือน ฯ |
๏ นางฉวยฉุดยุดหยิกทั้งสองแก้ม | ช่างเหน็บแหนมนี่กระไรใครจะเหมือน |
เห็นพูดผิดคิดรักช่วยตักเตือน | ยังแชเชือนแก้ไขน่าใคร่ตี |
พลางจูบเกล้าเผ้าผมชมลูกเลี้ยง | ด้วยรักเพียงชีวามารศรี |
แล้วนางนึกตรึกไปเกรงไพรี | กลัวจะมีศึกใหญ่ไม่สบาย |
จึงชวนลูกออกมานั่งบัลลังก์นอก | เป็นที่ออกว่าขานการทั้งหลาย |
พอพระอามาลงเรือหลานชาย | นางโฉมฉายเชิญให้นั่งบัลลังก์รัตน์ |
ศรีสุวรรณอัญชลีพี่สะใภ้ | พระหน่อไทคำนับน้อมจอมกษัตริย์ |
สาวสนมก้มกรานอยู่งานพัด | สามกษัตริย์พูดจาประสาใจ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งลังกามาถึงเจ้า | จึงก้มเกล้าทูลแจ้งแถลงไข |
นายกำปั่นนั้นข้าเห็นว่าเป็นไทย | ไม่โตใหญ่อายุราวสักเก้าปี |
บอกกับข้าว่าชื่อสินสมุทร | ราชบุตรพระธิดามารศรี |
อันโฉมยงองค์สุวรรณมาลี | ประเดี๋ยวนี้อยู่ในเรือใหญ่นั้น |
ว่าเจ้ากรุงผลึกราชประสาทให้ | บิดาได้สู่สมภิรมย์ขวัญ |
ทูลแถลงแจ้งจริงทุกสิ่งอัน | เห็นดุดันเหลือเด็กดังเหล็กเพชร ฯ |
๏ อุศเรนรู้เรื่องให้เคืองขัด | ดังใครตัดเศียรฟาดให้ขาดเด็ด |
เหงื่อชโลมโซมหน้าเอาผ้าเช็ด | จะแก้เผ็ดไพรีไม่หนีเร้น |
มึงเห็นตัวผัวมันหรือไม่เล่า | อำมาตย์ว่าข้าพเจ้ามิได้เห็น |
ยิ่งโกรธาด่าทอคอเป็นเอ็น | จะจับเป็นแล่เนื้อเอาเกลือทา |
แล้วเชิญองค์พระอภัยมณีนาถ | มาร่วมอาสน์เนาวรัตน์ตรัสปรึกษา |
จงคิดอ่านการศึกช่วยตรึกตรา | รู้ตำราตำรับบ้างหรืออย่างไร |
พระอภัยได้ยินว่าสินสมุทร | รู้ว่าบุตรมั่นคงไม่สงสัย |
จะแจ้งความตามจริงก็กริ่งใจ | เกลือกมิใช่ลูกยาก็น่าอาย |
คิดจะใคร่ไปดูให้รู้แน่ | ก็ห่างแหเห็นไม่สมอารมณ์หมาย |
แต่นิ่งนึกตรึกตราหาอุบาย | ได้แยบคายแล้วจึงห้ามตามโบราณ |
เป็นไรมีที่ตรงจะยงยุทธ์ | การบุรุษรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน |
อันแยบยลกลศึกสี่ประการ | เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ |
ประการหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย | หักให้หายเหือดไปเหมือนไฟดับ |
ค่อยคิดอ่านการศึกให้ลึกลับ | แม้นจะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย |
อนึ่งว่าข้าศึกยังฮึกฮัก | จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย |
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย | ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล |
อนึ่งให้รู้รบที่หลบไล่ | ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน |
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน | อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง |
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก | ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง |
ดูท่วงทีกิริยาในท่าทาง | อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี |
อันพวกพ้องของเราที่มาด้วย | ก็จะช่วยสู้รบไม่หลบหนี |
แต่จะขออาสาเวลานี้ | ไปเป่าปี่ห้ามปรามตามวิชา |
ให้อ่อนใจไพร่พลคนทั้งหลาย | จะเรียกนายสลุบใหญ่ให้มาหา |
ได้ไต่ถามความที่พระธิดา | นางจะมาแม่นมั่นหรือฉันใด ฯ |
๏ อุศเรนเห็นจริงทุกสิ่งสิ้น | สมถวิลยินดีจะมีไหน |
ไม่ข้องขัดตรัสตอบว่าขอบใจ | ถ้าแม้นได้เหมือนอย่างนั้นขยันดี |
พอถามไถ่ให้รู้ว่าอยู่แน่ | จะขอแต่พระธิดามารศรี |
เราจะได้ไปลังกาไม่ราวี | เชิญพระพี่ช่วยน้องให้คล่องใจ ฯ |
๏ พระแย้มยิ้มพริ้มพรายภิปรายสั่ง | ให้ฝรั่งหยิบปี่ข้างที่ให้ |
สถิตนั่งเหนือบัลลังก์ลอยวิไล | สำรวมใจจบหัตถ์นมัสการ |
พระเป่าปี่เปิดเสียงสำเนียงเอก | เสนาะดังฟังวิเวกกังวานหวาน |
ละห้อยหวนครวญเพลงบรรเลงลาน | โอ้สงสารสุริย์ฉายจะบ่ายคล้อย |
พี่คลาดแคล้วแก้วตามาว้าเหว่ | ท้องทะเลแลเปล่าให้เศร้าสร้อย |
ป่านนี้น้องสองคนกับลูกน้อย | จะล่องลอยไปอยู่หนตำบลใด |
เรื่อยเรื่อยเฉื่อยวายุพัดแผ้ว | เหมือนเสียงแก้วกลอยจิตพิสมัย |
หอมรวยรวยชวยชื่นรื่นฤทัย | เหมือนใกล้ใกล้เข้ามาแล้วแก้วพี่เอย |
เขาบอกว่ามาในลำเรือกำปั่น | หรือสุวรรณมาลีเจ้าพี่เอ๋ย |
สินสมุทรไม่มาหาบิดาเลย | พ่อจะเชยใครเล่าเจ้าพ่ออา |
แม้นอยู่ลำกำปั่นเหมือนมั่นหมาย | จงแหวกว่ายสายสมุทรผุดมาหา |
แล้วแหบหวนครวญโหยโรยชวา | พระแกล้งว่าไปในเพลงวังเวงใจ ฯ |
๏ อุศเรนนอนหลับกับที่นั่ง | ทหารทั้งกองทัพก็หลับใหล |
แต่พวกพ้องขององค์พระอภัย | เคยเข้าใจจุกหูไม่สู้ฟัง |
ทั้งกองทัพหน่อนรินทร์สินสมุทร | อยู่ไกลสุดร้อยเส้นพอเห็นหลัง |
ฟังเสนาะเพราะเสียงสำเนียงดัง | บ้างหลับบ้างก็ฟังจนจับใจ ฯ |