- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
๓. ตอนออกบวช
สุนทรภู่ตั้งแต่เยาว์มา ยังไม่ได้บวชจนตลอดรัชกาลที่ ๒ พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ออกบวช เหตุที่จะบวชนั้นเล่ากันมาว่า เพราะหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญาด้วยเห็นว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองแต่รัชกาลก่อน แต่ข้อนี้เมื่อพิเคราะห์ดูตามคำที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า
“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า | พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี | ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว |
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง | แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว |
แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว | ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ |
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ | ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย” |
คำของสุนทรภู่ที่กล่าวตรงนี้ ดูประหนึ่งว่า ถึงรัชกาลที่ ๓ ถูกถอดจากที่ขุนสุนทรโวหารน่าจะเป็นเช่นนั้นจริง คนทั้งหลายจึงได้เรียกกันว่า “สุนทรภู่” เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้ต้องถูกถอดจากบรรดาศักดิ์แล้วจึงออกบวช[๑] ถ้าเวลาบวชยังเป็นขุนนาง คงจะได้รับพระราชูปถัมภ์ ไหนจะอนาถาดังปรากฏในเรื่องประวัติ อีกประการหนึ่งในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวแต่งจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีแต่งกลอนเพลงยาวกลบทเป็นต้น พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสาะหากวีที่ชำนาญกลอนแม้จนมหาดเล็กเลวก็ได้มีชื่อแต่งถวาย สุนทรภู่เป็นกวีคนสำคัญมาแต่ก่อน เหตุใดจึงมิได้ปรากฏชื่อว่าแต่งจารึกอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวนั้น ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่า คงเป็นผู้ต้องตำหนิติโทษ ทรงรังเกียจในรัชกาลที่ ๓ เห็นสมกับความที่กล่าวในกลอน จึงเข้าใจว่าถูกถอด[๒]
ความจริงในเรื่องที่สุนทรภู่ออกบวช เห็นจะเป็นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือเพราะยังไม่ได้บวชตามประเพณีนิยมประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสุนทรภู่วิวาทกับญาติ เข้ากับใครไม่ติด มีภรรยาก็อยู่ด้วยกันไม่ยืด เป็นคนตัวคนเดียวอยู่แต่กับบุตรมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ข้อนี้สังเกตได้ด้วยในนิราศของสุนทรภู่เมื่อกล่าวถึงญาติเมื่อใด คงเป็นคำโกรธแค้นว่าพึ่งพาไม่ได้ กล่าวถึงภรรยาและคู่รักก็มักปรากฏว่าอยู่ด้วยกันไม่ยืด ครั้นเมื่อมาถูกถอดในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดและท่านใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง สุนทรภู่ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาว[๓] ว่า
“สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร | ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม” ดังนี้ |
สุนทรภู่ตกยากสิ้นคิดจึงออกบวช ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพพระสงฆ์มาก ถ้าบวชเป็นพระใครจะอุปถัมภ์ก็เห็นจะไม่ทรงติเตียน ความที่สุนทรภู่คาดนี้ก็มีมูล ด้วยปรากฏในเพลงยาวนั้นว่าเมื่อสุนทรภู่บวชแล้ว พอถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง (คือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าปิ๋วพระโอรสพระองค์น้อย เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๑ ปีพระองค์หนึ่ง ๘ ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลก่อน แล้วทรงส่งเสียอุปการะต่อมาในชั้นนั้น มีคำสุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในเพลงยาว[๔] ว่า
“เคยฉันของสองพระองค์ส่งถวาย | มิได้วายเว้นหน้าท่านข้าหลวง” ดังนี้ |
สุนทรภู่เห็นจะบวชเมื่อราวปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙[๕] เวลานั้นอายุได้ ๔๑ ปี แรกบวชอยู่ที่วัดราชบุรณะ[๖] อยู่ได้ ๓ พรรษามีอธิกรณ์เกิดขึ้น (กล่าวกันเป็นความสงสัยว่าจะเป็นด้วยสุนทรภู่ต้องหาว่าเสพสุรา[๗] เพราะวิสัยของสุนทรภู่นั้นเวลาจะแต่งกลอน ถ้ามีฤทธิ์สุราเป็นเชื้ออยู่แล้วแต่งคล่องนัก นัยว่าถ้ามีฤทธิ์สุราพอเหมาะแล้ว อาจจะคิดกลอนทันบอกให้เสมียนเขียนต่อกันถึงสองคน ดังนี้) เพราะอธิกรณ์เกิดขึ้นครั้งนั้น สุนทรภู่ถูกบัพพาชนียกรรมขับไล่ให้ไปเสียจากวัดราชบุรณะ เดิมคิดจะออกไปอยู่เสียตามหัวเมือง จึงเเต่งเพลงยาวทูลลาเจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว ในเพลงยาวนั้น มีคำคร่ำครวญและถวายโอวาท แต่งเพราะดีหลายเเห่ง แห่งหนึ่งว่า
“นิจจาเอ๋ยเคยรองละอองบาท | โปรดประภาษไพเราะเสนาะเสียง |
แสนละม่อมน้อมพระองค์ดำรงเรียง | ดังเดือนเคียงแข่งคู่กับสุริยา |
จงอยู่ดีศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | ให้พระชนม์ยั่งยืนหมื่นพรรษา |
ได้สืบวงศ์พงศ์มกุฎอยุธยา | บำรุงราษฎร์ศาสนาถึงห้าพัน |
เหมือนสององค์ทรงนามพระรามลักษมณ์ | เป็นปิ่นปักปกเกศทุกเขตขัณฑ์ |
ประจามิตรคิดร้ายวายชีวัน | เสวยชั้นฉัตรเฉลิมเป็นเจิมจอม |
จะไปจากฝากสมเด็จพระเชษฐา | จงรักพระอนุชาอุตส่าห์ถนอม |
พระองค์น้อยคอยประณตนิ่งอดออม | ทูลกระหม่อมครอบครองกันสององค์” |
ในคำถวายโอวาทแห่งหนึ่งว่า
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก | แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย |
เเม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะเเคลนคลาย | เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ” |
อีกแห่งหนึ่งว่า
“จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด | ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย |
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด | เพียรจนได้ดังประสงค์แล้วคงดี” |
อีกแห่งหนึ่งว่า
“อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก | แม้ถอยศักสิ้นอำนาจวาสนา |
เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา | แต่วิชาช่วยกายจนวายปราณ” |
สุนทรภู่ออกจากวัดราชบุรณะไปคราวนี้ กลับแต่งนิราศอีกคือ นิราศภูเขาทอง เห็นจะแต่งเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓[๘] เมื่อออกเรือไป กล่าวความถึงเรื่องที่ต้องไปจากวัดราชบุรณะว่า
“โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร | แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น |
หวนรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น | เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง |
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง | ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง |
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง | มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร” |
ในนิราศนี้กล่าวความตอนเมื่อผ่านพระบรมมหาราชวัง ครวญถึงพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าดีนักน่าสงสาร ผู้ที่ได้อ่านมักจำกันได้โดยมากว่า
“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด | คิดถึงบาทบพิตรอดิศร |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร | แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น |
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด | ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ |
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น | ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา |
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย | ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวษา |
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา | ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป |
ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย | แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง |
พระทรงแต่งแปลงบทพจนารถ | เคยรับราชโองการอ่านฉลอง |
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง | มิได้ข้องเคืองขัดพระหัทยา |
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ | ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา |
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา | วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” |
เมื่อถึงเมืองปทุมธานี ครวญอีกแห่งว่า
“สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ | ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย |
แม้กำเนิดเกิดประสบภพใดใด | ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี |
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง | อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี |
เหลืออาลัยใจกรมระทมทวี | ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมา” |
ตอนผ่านหน้าโรงเหล้า สุนทรภู่กล่าวถึงเรื่องเสพสุราก็ว่าดี ว่า
“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง | มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา |
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา | ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย |
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ | พระสรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย |
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย | ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไป” |
สุนทรภู่ไปพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ บุตรชายคนที่ชื่อพัดยังเป็นเด็กไปด้วย แต่ภรรยาเห็นจะร้างกันเสียแต่เมื่อก่อนบวชหมดแล้ว เมื่อสุนทรภู่กล่าวกลอนชมทุ่งในตอนเรือลัดไปทางเชียงรากน้อยกว่า
“ถึงตัวเราเล่าถ้าหากมีโยมหญิง | ไหนจะนิ่งดูดายอายบุปผา |
คงจะใช้ให้ศิษย์ที่ติดมา | อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน |
นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ | ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน” |
เมื่อขึ้นไปถึงกรุงฯ เวลานั้น พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยเป็นพระนายไวยอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นผู้รักษากรุงฯ แต่สุนทรภู่กระดากไม่แวะไปหา กล่าวในนิราศว่า
“มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
จะเเวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย | ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน |
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก | อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล |
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร | จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ” |
จึงเลยขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง แล้วจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ สุนทรภู่ไปกลับใจไม่อยู่หัวเมืองดังความคิดเดิม หวนกลับมากรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดอรุณฯ แต่จะมามีเหตุอันใดเกิดขึ้นอย่างไร สุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯ ไม่ช้าก็ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดา[๙]
เมื่อสุนทรภู่ไปอยู่วัดเทพธิดานั้น[๑๐] พระยาธรรมปรีชา (บุญ) บวชอยู่วัดเทพธิดา พระยาธรรมปรีชาเล่าว่า สุนทรภู่แต่งคำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา (ที่พิมพ์ในหนังสือมูลบทบรรพกิจ) เมื่ออยู่ที่วัดเทพธิดาคราวนั้น และมีหนังสือนิราศเมืองสุพรรณอีกเรื่องหนึ่ง[๑๑] สุนทรภู่แต่งเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา นิราศเมืองสุพรรณแปลกที่สุนทรภู่แต่งเป็นโคลง โคลงของสุนทรภู่มีปรากฏอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น ทำนองเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา จะถูกปรามาสว่าแต่งเป็นแต่กลอนเพลงยาว (หรือที่เรียกกันภายหลังมาว่ากลอนสุภาพ) จึงแต่งกาพย์คำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา[๑๒]และแต่งโคลงนิราศเมืองสุพรรณพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า ถ้าจะเเต่งโคลงกาพย์ก็เเต่งได้ แต่ที่แท้นั้นสุนทรภู่รู้ตัวดีทีเดียวว่า ถึงแต่งได้ก็ไม่ถนัดเหมือนกลอนเพลงยาว ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า
“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว | ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว |
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว | เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร” |
สุนทรภู่จึงไม่แต่งโคลงกาพย์เรื่องอื่นอีก ข้อนี้ไม่แต่สุนทรภู่เท่านั้น ถึงสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็รู้พระองค์ว่า ทรงถนัดแต่ลิลิตและโคลงฉันท์ จึงไม่ทรงแต่งหนังสือเป็นกลอนสุภาพเลยสักเรื่องเดียว มีพระนิพนธ์กลอนสุภาพแต่เป็นของทรงแต่งเล่น เช่น เพลงยาวอันปรากฏอยู่ในเรื่องเพลงยาวเจ้าพระนั้น เป็นต้น
เหตุที่สุนทรภู่ไปเมืองสุพรรณคราวที่แต่งนิราศนั้น ความปรากฏในเรื่องนิราศว่าไปหาเเร่ ทำนองจะเล่นแร่แปรธาตุเอง หรือมิฉะนั้นก็ไปหาแร่ให้ผู้อื่นที่เล่นแปรธาตุ เพราะเชื่อกันว่าที่ในเเขวงจังหวัดสุพรรณมีแร่อย่างใดอย่างหนึ่งทรงคุณวิเศษสำหรับใช้แปรธาตุ พวกเล่นแปรธาตุยังเชื่อกันมาจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ไปครั้งนั้นพาบุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน และมีศิษย์ไปด้วยก็หลายคน ลงเรือที่หน้าวัดเทพธิดาผ่านมาทางคลองมหานาค มาถึงวัดสระเกศกล่าวความว่าในเวลานั้นมารดาเพิ่งตาย ศพยังฝังอยู่ที่วัดสระเกศนั้น แล้วล่องเรือไปออกปากคลองโอ่งอ่าง เมื่อไปถึงเมืองสุพรรณ ได้ขึ้นไปทางลำน้ำข้างเหนือเมือง ไปขึ้นเดินบกที่วังหิน เที่ยวหาเเร่แล้วกลับลงเรือที่บ้านทึง ความที่พรรณนาในนิราศ ดูในเขตเเขวงสุพรรณในสมัยนั้นยังเปลี่ยวมาก ทั้งข้างใต้และฝ่ายเหนือเมือง ถึงไปปะเสือใกล้ๆ ลำแม่น้ำ แต่แร่ที่ไปหาจะได้หรือไม่ได้ หาได้กล่าวถึงไม่
เรื่องเมื่อสุนทรภู่บวชเล่ากันมาเป็นเรื่องเกร็ดเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ไปจอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกนั้นว่าคำถวายภัตทานไม่เป็น อาราธนาสุนทรภู่ให้ช่วยสอนให้ว่า เวลานั้นทายกนั่งอยู่บนตลิ่งกับสิ่งของที่เอามาถวาย สุนทรภู่จึงสอนให้ว่าคำถวายภัตทานเป็นกลอนว่า
“อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโถ ส้มโอเเช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ” ดังนี้
เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่รับประกัน แต่ได้ฟังเล่ามาถึงสองแห่งจึงจดไว้ด้วย
เมื่อสุนทรภู่กลับจากเมืองสุพรรณแล้ว ย้ายมาอยู่วัดพระเชตุพนฯ[๑๓] เหตุที่ย้ายมานั้นเล่ากันมาเป็นสองนัย นัยหนึ่งว่ามาพึ่งพระบารมีอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้วยทรงปรานีว่าเป็นกวี อีกนัยหนึ่งว่าเพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมากนัก ทรงพระปรานีชักชวนให้มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ คิดดูบางทีก็จะเป็นความจริงทั้งสองนัย ด้วยพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงผนวชพระเมื่อพ.ศ.๒๓๗๕ เวลานั้นสุนทรภู่บวชได้ราวสัก ๖ พรรษา[๑๔] เจ้านายสมัยนั้นมักโปรดทรงศึกษาการแต่งกลอน อาจจะมีรับสั่งชวนสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ในเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสประทานอนุญาต โดยทรงพระปรานีสุนทรภู่ก็ได้
เมื่อสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ บุตรคนใหญ่ที่ชื่อพัดบวชเป็นสามเณร เห็นจะบวชมาแต่บิดายังอยู่วัดเทพธิดา สุนทรภู่มาอยู่พระเชตุพนฯ แล้วพาเณรพัดกับบุตรคนเล็กที่ชื่อตาบไปพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่อไปคราวนี้ แต่แกล้งแต่งให้เป็นสำนวนเณรพัดว่า
“เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร | |
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา | ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน” |
เมื่อเรือถึงวัดระฆังกล่าวว่า
“ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ | แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร |
ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร | พระด่วนจรสู่สวรรค์ครรไล” |
ความตรงนี้ (และยังมีในนิราศพระประธมประกอบอีกแห่ง๑) บ่งว่า เจ้าครอกข้างในซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังสิ้นชีพก่อนนั้นไม่ช้านัก และได้พระราชทานเพลิงที่วัดระฆัง
เหตุที่สุนทรภู่จะไปกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ว่าได้ลายแทงมาแต่เมืองเหนือ ว่ามียาอายุวัฒนะฝังไว้ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ จึงพยายามไปหายาอายุวัฒนะนั้น เมื่อขึ้นไปถึงกรุงฯ ไปขึ้นบกที่วัดใหญ่ ได้อธิษฐาน ณ ที่นั้น กล่าวในคำอธิษฐานแห่งหนึ่งว่า
“อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง | ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย |
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย | น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน” |
ความที่อธิษฐานนี้ แสดงว่าเวลานั้นสุนทรภู่กำลังหมายจะพึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณดังได้กล่าวมาแล้ว[๑๕] ครั้นออกจากวัดใหญ่เดินบกต่อไปทิศตะวันออกคืนหนึ่งถึงวัดเจ้าฟ้าว่าไปทำวิธีจะขุด ก็เกิดกัมปนาทหวาดไหวด้วยฤทธิ์ปีศาจ ไม่อาจขุดได้ ต้องพากันกลับมาแต่เมื่อขากลับคราวนี้ได้แวะหาพระยาไชยวิชิต (เผือก) กล่าวในนิราศว่า
“จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง | ไม่มีของขบฉันจังหันหุง |
ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง | ท่านบำรุงรักพระไม่ละเมิน |
ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น | ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ |
ทั้งสูงศักดิ์รักใคร่ให้เจริญ | อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร |
ให้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฏ | เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน |
ท่านอารีมีใจอาลัยวรณ์ | ถึงจากจรใจมิตรยังคิดคุณ |
มาทีไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ | สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน |
ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ | สนองคุณเจ้าพระยารักษากรุง” |
ความที่กล่าวตอนนี้แสดงว่า สุนทรภู่เมื่อบวชได้ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง กระดากพระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่เมื่อไปครั้งแรกครั้งเดียว ถึงครั้งหลังๆ ต่อมาแวะไปหา พระยาไชยวิชิตก็ต้อนรับฉันได้ชอบพอคุ้นเคยกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๒
มีคำเล่ากันมาว่า สุนทรภู่เมื่อบวชนั้น ได้ไปอยู่วัดมหาธาตุอีกวัดหนึ่ง ข้อนี้ก็เห็นจะเป็นความจริง คงไปอยู่เมื่อกลับลงมาจากพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ เพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวช เห็นจะทรงชวนให้ไปอยู่ใกล้วังท่าพระอันเป็นที่ประทับ เพื่อจะได้สะดวกแก่การที่ทรงอุปถัมภ์ คือส่งสำรับอาหารเป็นต้น เล่ากันว่าในสมัยนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณโปรดทรงสักวา เวลาไปทรงสักวาที่ใด ให้นิมนต์สุนทรภู่ลงเรือสักวาไปด้วยเสมอ ให้ไปเป็นผู้บอกสักวาทั้งยังเป็นพระ แต่สุนทรภู่คงสึกกลับออกเป็นคฤหัสถ์ในตอนนี้ รวมเวลาที่สุนทรภู่บวชอยู่เห็นจะราว ๗ หรือ ๘ พรรษา[๑๖]
[๑] เรื่องการถูกถอดออกจากราชการนี้
พ.ณ ประมวญมารค มีความเห็นว่า สุนทรภู่ไม่น่าจะถูกออกจากราชการในรัชกาลที่ ๓ เพราะพระองค์ท่านทรงอนุญาตให้เจ้าฟ้าเล็ก ๆ ที่ประทับในวังหลวงมาเป็นศิษย์สุนทรภู่ ถ้าพระองค์ทรงถอดสุนทรภู่ ก็ไม่น่าจะพระราชทานอนุญาต อีกประการหนึ่ง พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ก็ได้อุปการะเกื้อกูลสุนทรภู่ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๒] มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดให้กวีแต่งบทกลอนจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ คราวนี้สุนทรภู่แอบแต่งล้อเล่นโดยใช้คำผวน มีผู้จำได้เล่ากันมาบทหนึ่งว่า “โรคมากรากโมกต้มกินหาย” – ธนิต อยู่โพธิ์
พ.ณ ประมวญมารค ว่า ที่สุนทรภู่มิได้แต่งเพลงยาวจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ นั้น เมื่อศึกษาประวัติของสุนทรภู่แล้วปรากฏว่า ขณะนั้นสุนทรภู่กำลังบวชอยู่ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะแต่งบทสังวาสถวายได้ น่าจะมิใช่เพราะถูกรัชกาลที่ ๓ ถอดและทรงรังเกียจ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๓] คือเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
[๔] เพลงยาวความนี้ คงจะแต่งถวายเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๓ - ธนิต อยู่โพธิ์
ฉันท์ ขำวิไล ว่าแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ ขณะบวชอยู่วัดราชบุรณะ
พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่ง พ.ศ. ๒๓๗๒ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๕] สุนทรภู่บวชแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ อายุ ๓๘ ปี เพราะบอกไว้ในรำพันพิลาปว่า “แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา” ดูในบันทึก “ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง” ท้ายเรื่องนี้ – ธนิต อยู่โพธิ์
[๖] สุนทรภู่กล่าวไว้ในรำพันพิลาปว่า เมื่อบวชแล้วได้ท่องเที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามหัวเมืองต่างๆ ราว ๒ – ๓ ปี แล้วจึงกลับเข้ามาอยู่วัดราชบุรณะ – ธนิต อยู่โพธิ์
[๗] เห็นจะไม่ใช่เรื่องสุรา เข้าใจว่าเป็นเรื่องรักผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากที่สุนทรภู่พรรณนาไว้บ้างในนิราศภูเขาทองและนิราศสุพรรณคำโคลง – ธนิต อยู่โพธิ์
[๘] เข้าใจว่าแต่งเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ เพราะกล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองนี้ว่า “ถึงเขมาอารามอร่ามทอง เพิ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน” มีประกาศในรัชกาลที่ ๔ ว่า “....ก็ได้ทรงพระศรัทธาเสด็จไปทำมหกรรมการฉลองทรงบำเพ็ญการพระกุศลในที่นั้นเป็นอันมาก ในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)” ดูประวัติวัดเขมาภิรตาราม ฉบับพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๔๗๗ หน้า ๑๒ – ธนิต อยู่โพธิ์
ฉันท์ ขำวิไล มีความเห็นเหมือนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วน พ.ณ ประมวญมารค มีความเห็นเหมือน ธนิต อยู่โพธิ์ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๙] เข้าใจว่าไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ ก่อน แล้วจึงไปอยู่วัดเทพธิดาในภายหลัง เพราะเวลานั้นเทพธิดายังไม่ได้สร้าง ดูบันทึก “ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง” ท้ายเรื่อง – ธนิต อยู่โพธิ์
[๑๐] สุนทรภู่อยู่วัดเทพธิดา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓ – ๒๓๘๕ – ธนิต อยู่โพธิ์
[๑๑] แต่งเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ – ธนิต อยู่โพธิ์
ฉันท์ ขำวิไล ว่าสุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ส่วน พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่ง พ.ศ. ๒๓๗๙ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๑๒] ธนิต อยู่โพธิ์ ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓
ฉันท์ ขำวิไล ว่าแต่งเมื่อบวชจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ สำหรับใช้สอนศิษย์
พ.ณ ประมวญมารค ว่า แต่งในรัชกาลที่ ๓ ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม เหตุที่แต่งเพื่อเตรียมสึกออกไปสอนหนังสือลูกเธอในเจ้าฟ้าน้อย หรือมีผู้ขอร้องให้แต่ง – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๑๓] เข้าใจว่าไปเมืองสุพรรณทีหลังย้ายจากวัดพระเชตุพนฯ ไปอยู่วัดเทพธิดาแล้ว ดูเชิงอรรถข้างต้น – ธนิต อยู่โพธิ์
[๑๔] เวลานี้สุนทรภู่บวชอยู่ ๘-๙ พรรษาแล้ว – ธนิต อยู่โพธิ์
[๑๕] เข้าใจว่าคำกลอนนี้ หมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เพราะปีที่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ น่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์เแล้วราวปีเศษ ดูคำนำนิราศวัดเจ้าฟ้า ฉบับตรวจสอบชำระใหม่ กรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ - ธนิต อยู่โพธิ์
ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า พ.ศ. ๒๓๗๗ ขณะนั้นบวชเป็นภิกษุจำพรรษาที่วัดพระเชตุพน แล้วเดินทางไปหายาอายุวัฒนะ
พ.ณ ประมวญมารค ว่า สุนทรภู่น่าจะเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า เมื่อ.พ.ศ. ๒๓๗๕ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
[๑๖] เข้าใจว่าสุนทรภู่บวชอยู่ราว ๑๘ - ๒๐ พรรษา หรือมิฉะนั้นก็ต้องบวชสองหน ดูบันทึกเรื่อง “ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง” – ธนิต อยู่โพธิ์
เรื่องการบวชและจำพรรษา ณ วัดต่างๆ นี้ มีความเห็นแตกต่างกันหลายอย่าง ดังนี้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในชีวประวัตินี้สรุปได้ว่า สุนทรภู่บวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ แรกบวชอยู่ที่วัดราชบุรณะ เกิดอธิกรณ์แล้วเดินทางไปอยุธยา กลับมาจำพรรษาที่วัดอรุณราชวราราม ย้ายไปวัดเทพธิดาราม แล้วไปสุพรรณบุรี ต่อมาย้ายไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ ไปอยุธยา แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า แล้วย้ายไปจำพรรษาที่ วัดมหาธาตุฯ รวมบวชอยู่ราว ๗ - ๘ พรรษา
ธนิต อยู่โพธิ์ ว่า บวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ บวชแล้วเตร็ดเตร่ไปตามหัวเมืองต่างๆ ๒ – ๓ ปี กลับมาอยู่วัดราชบุรณะ แล้วไปอยุธยา กลับมาจำพรรษาที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาย้ายไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ และวัดเทพธิดารามตามลำดับ รวมบวชราว ๑๘ – ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๘๕) หรืออาจบวช ๒ หน
ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่บวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ แล้วไปจำพรรษาที่เพชรบุรีและจังหวัดอื่นๆ อยู่ที่สุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๓๖๙ พิษณุโลก (พ.ศ. ๒๓๗๐) แล้วมาอยู่ที่วัดราชบุรณะ พ.ศ. ๒๓๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๓ ไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ที่พระนครศรีอยุธยา แล้วไปจำพรรษาที่วัดอรุณราชวราราม มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ พ.ศ. ๒๓๗๕ อยู่วัดมหาธาตุ พ.ศ. ๒๓๗๗ ต้นปี ๒๓๗๘ ลาสิกขาบท รวมบวช ๑๐ พรรษา ต่อมาบวชอีกครั้ง พ.ศ. ๒๓๘๓ จำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม
พ.ณ ประมวญมารค ว่า สุนทรภู่บวชเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด อาจบวชในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๔ บวชแล้วไปเพชรบุรี แล้วกลับมาอยู่วัดราชบุรณะ ปลาย พ.ศ. ๒๓๗๐ พ.ศ. ๒๓๘๒ ไปอยู่วัดเทพธิดาราม ลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ รวมบวช ๑๘ ปี – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ