- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
๏ จะขอกลับจับความถึงสามทัพ | ที่ตั้งรับล้อมปราการชานกรุงศรี |
เห็นสี่ทัพยับย่อยป่นเต็มที | จึงต้องรีรอฟังกำลังพล |
ดูทหารชาญณรงค์เคยยงยุทธ์ | ก็สิ้นสุดเกิดวิบัติทั้งขัดสน |
บ้างเจ็บปวดวุ่นวายลงหลายคน | แต่ล้วนพลเคยชำนาญการสงคราม |
ครั้นจะชักชวนกันทั้งสามค่าย | ก็อายใจหลายเพลงนึกเกรงขาม |
ฉวยใครพานางไปได้เสียดายงาม | จะมีความอดสูใช่งูดิน |
เราก็เสือเชื้อชาติเจ้าชู้เก่า | จะรบเร้าเอาให้สมอารมณ์ถวิล |
แม้นตีได้เขตแคว้นทั้งแดนดิน | เหมือนทรงศิลป์มาบำราบปราบกุมภัณฑ์ |
ทหารดีมีฤทธิ์ประสิทธิ์ประสาท | ทั้งอำมาตย์เรี่ยวแรงแข็งขยัน |
จะไปเชิญโฉมสีดาวิลาวัณย์ | ในสวนขวัญสักเมื่อไรคงได้มา |
แต่ไม่ต้องด้วยบทจึงงดไว้ | สู้ข้ามไปผลาญโคตรท้าวยักษา |
ต่อเสร็จศึกรับอนงค์องค์สีดา | มาพาราสมประสงค์จำนงปอง |
อันเรื่องราวเล่าก็มีเป็นที่อ้าง | ต้องเอาอย่างแบบบุราณท่านสนอง |
ลงเอนเอกเขนกนึกแต่ตรึกตรอง | แต่จะลองสนทนาทำหารือ |
เขาจะว่าอย่างไรจะใคร่รู้ | ฟังกระทู้เขาจะไปอย่างไรหรือ |
เมื่อแรกเริ่มยกมาได้หารือ | เป็นคู่มือคู่คิดพร้อมจิตใจ |
แล้วสั่งพวกคนสนิทที่ชิดเชื้อ | นำเอาเนื้อความไปแจ้งแถลงไข |
ว่าเราเชิญพระสหายผู้ร่วมใจ | เสร็จมาได้สนทนาปรึกษาการ |
เสนารับอภิวันท์แล้วผันผาย | ทั้งสองนายเรียกบ่าวเหล่าทหาร |
พอสมควรด่วนไปมิได้นาน | แล้วแจ้งการนายประตูให้รู้ความ |
ว่าไทท้าวเจ้าเรารับสั่งใช้ | มาเฝ้าองค์ภูวไนยชาญสนาม |
นายประตูรู้แจ้งแห่งเนื้อความ | เขาบอกนามท้าวไทรีบไปพลัน |
เรียนกับท่านผู้ใหญ่ในค่ายหลวง | ตามกระทรวงเร็วร้อนรีบผ่อนผัน |
เสนารับกลับไปบังคมคัล | ทูลให้ท่านท้าวทราบแล้วกราบกราน |
เธอแจ้งเรื่องสั่งให้ออกไปรับ | เสนากลับมาเรียกพหลทหาร |
รีบมารับเข้าไปมิได้นาน | ต่างกราบกรานทูลแถลงแจ้งคดี |
สองท้าวทราบแต่งองค์สรงสนาน | สั่งทหารกัณฐัศว์ทั้งหัตถี |
พร้อมสะพรั่งทั้งพหลแลมนตรี | จรลีมาทรงรถบทจร |
สารถีตีม้าให้คลาเคลื่อน | ลีลาศเลื่อนพลแห่แลสลอน |
ออกจากค่ายเร่งพหลพลนิกร | แล้วรีบจรมาถึงพลันด้วยทันที ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทได้เห็นสองสหาย | รีบผันผายเชิญไปถึงในที่ |
แต่งไว้รับเชิญให้นั่งต่างยินดี | สั่งเสนียกเครื่องเนื่องกันมา |
ทั้งกับแกล้มชัยบานเค็มหวานพร้อม | ประณตน้อมตั้งรายทั้งซ้ายขวา |
สามกษัตริย์เสวยพลางทางสนทนา | ต่างปรึกษาการสงครามตามอุบาย |
ใครจะคิดกลไกอย่างไรมั่ง | จะได้ฟังการสงครามสามสหาย |
ด้วยต่างคนจะชิงชู้หาอุบาย | ซ่อนแยบคายความในไม่ไขจริง |
แต่วาจาปราศรัยใจไม่ตั้ง | เปรียบเหมือนดั่งมดท้าวเจ้าผีสิง |
อันชาติชายแล้วตะกลามเป็นความจริง | เรื่องผู้หญิงมันหนักหนาถึงฆ่าฟัน |
อย่าว่าแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์ | พวกแก่วัดเล่าก็หนักมักกะสัน |
เหมือนอย่างกุ้งก้ามกรามตะกลามครัน | ไม่เคยฉันเมถุนมักวุ่นวาย |
ทั้งสามท้าวเจ้าชู้รู้น้ำจิต | ต่างก็คิดจะใคร่ได้ดั่งใจหมาย |
ต่างก็พูดแสร้งเสเพทุบาย | เป็นแยบคายอ้อมค้อมไม่ยอมตัว |
ล้วนเสือเฒ่าเจ้าความคิดบิดตะกูด | แต่ปากพูดกรุ้มกริ่มทั้งยิ้มหัว |
นึกหมายใจว่าจะได้เป็นของตัว | แต่ล้วนมัวหลงงามทั้งสามชาย |
แต่ล้วนพวกดึงดื้อถือทิษฐิ | ต่างตรองตริหวังว่าสมอารมณ์หมาย |
แม้นมิได้อนงค์ก็คงอาย | จะมาหมายนั่งงมประสมมือ |
นี่นางเดียวจะมารบสมทบเข้า | แม้นได้เจ้าเยาวมิ่งมาจริงหรือ |
ก็คงจะวุ่นวายเมื่อปลายมือ | ต่างแย่งยื้อกันเปล่าไม่เข้าการ |
เขาก็เขาเราก็เราเจ้าความคิด | สู้ป้องปิดความในไม่ไขขาน |
สนทนาปราศรัยไปตามการ | เสร็จสำราญเลี้ยงลากันคลาไคล ฯ |
๏ จะกล่าวในพารามหากษัตริย์ | ยังข้องขัดเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
ด้วยข้าศึกยังไม่สิ้นเหมือนริ้นไร | ฝ่ายท้าวไทเจ้าพาราตรัสหารือ |
กับสองหน่อนฤบาลชาญสนาม | การสงครามจะชิงชัยอย่างไรหรือ |
ราษฎรร้อนใจดั่งไฟฮือ | มันเล่าลือต่างต่างไม่สร่างกลัว |
ไม่เป็นอันทำกินสิ้นสติ | พ่อตรองตริอนุกูลเถิดทูนหัว |
อันข้าศึกมักกะสันยังพันพัว | มันพวกวัวเสือทับคงรับมือ |
คิดกำจัดสัตว์บาปที่หยาบช้า | ให้อัปราชัยไปไม่ได้หรือ |
พ่อจัดคนปล้นค่ายไล่กระพือ | ที่ฝีมือกล้าหาญชาญณรงค์ |
พระหน่อไทได้สดับอภิวาท | ขอรองบาทภูวไนยดั่งในประสงค์ |
ลูกอาสากว่าชีวิตจะปลิดปลง | อย่าได้ทรงพระวิตกสะทกสะท้าน |
มิให้ร้อนถึงอาณาประชาราษฎร์ | ข้าพระบาทกับท่านครูหมู่ทหาร |
ขอกำจัดเหล่าร้ายให้วายปราณ | มิให้นานเนิ่นช้าถึงห้าวัน |
พระทรงฟังสังรเสริญเจริญยศ | ดั่งได้ผ่านโสฬสเกษมสันต์ |
เสด็จขึ้นปรางค์มาศปราสาทสุวรรณ | จรจรัลเข้าในที่ไสยา |
ฝ่ายโฉมยงองค์พระปิ่นนรินทร์รัตน์ | มาปรัศว์ที่พักตำหนักขวา |
กับพระน้องสององค์ทรงศักดา | เชิญท่านอาจารย์เฒ่ามาเล่าความ ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหเมศรู้เหตุสิ้น | สมถวิลจะล้างศึกไม่นึกขาม |
แกจึ่งว่าอย่าต้องพยายาม | จะทำตามวิทยามหามนต์ |
อย่าให้ต้องรบสู้เป็นคู่เคี่ยว | เวลาเดียวเอาให้ยับวิ่งสับสน |
แต่จะต้องมั่วสุมประชุมพล | ให้ขึ้นบนหอรบถือคบเพลิง |
จะเรียกไฟให้เกิดขึ้นกลางหน | แล้วไล่พลดีให้เปิดเตลิดเหลิง |
ต้อนพวกเราเผาค่อยใส่ให้เปิง | มันเสียเชิงจับกุมตะลุมบอน |
ไปทูลท้าวเจ้าบุรินทร์ให้สิ้นทุกข์ | ขอดับยุคให้ภิญโญสโมสร |
สองกษัตริย์ยินดีชุลีกร | แต่นิ่งนอนสนทนากับอาจารย์ |
จนเดือนเที่ยงเสียงนกวิหคร้อง | ประสานซ้องครื้นเครงวังเวงหวาน |
ต่างระงับหลับนอนผ่อนสำราญ | ฝ่ายอาจารย์ตรึกตรองของสำคัญ |
พอรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | ภาณุมาศเรื่อแรงส่งแสงฉัน |
ฬระจอมวังออกยังพระโรงครัน | ขึ้นสุวรรณแท่นทองจำลองลาย |
ประโคมแตรแซ่เสียงสำเนียงแจ้ว | ทั้งปี่แก้วครื้นโครมประโคมถวาย |
พร้อมเสนาเฝ้าเคียงกันเรียงราย | กราบถวายบังคมตามกันสามที |
สองพระหน่อนฤบาลชาญสนาม | พาท่านพราหมณ์ไปประณตบทศรี |
พระปราศรัยไปพลันด้วยทันที | โดยคดีสงครามตามทำนอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมธิบดินทร์นรินทร์รัตน์ | ประนมหัตถ์แล้วประมูลทูลฉลอง |
ทานอาจารย์ขออาสาฝ่าละออง | มิให้ต้องวุ่นวายกับไพร่พล |
ขอให้ปลูกหอรบจงครบเครื่อง | ที่นอกเมืองชายป่าพนาสณฑ์ |
กับธงแพรต่างสีใส่ที่บน | หม้อน้ำมนต์ของหวานการบูชา |
กับเพดานม่านกั้นทั้งสี่ทิศ | ครอบสำริดสำหรับศาลอ่านคาถา |
พระทรงฟังยินดีทั้งปรีดา | จึงชงคาสั่งเสนีทั้งสี่นาย |
อาจารย์เฒ่าท่านจะเอาสิ่งใดบ้าง | อย่าขัดขวางหาให้สมอารมณ์หมาย |
รีบไปทำตามสั่งทั้งสี่นาย | เร่งจับจ่ายของข้าวขนเอาไป |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จยุรยาตร | ขุนอำมารย์เร่งกันเสียงหวั่นไหว |
สองกษัตริย์บังคมลาพากันไป | เสนาใหญ่พร้อมพรั่งทั้งอาจารย์ |
ปลูกหอรบครบเครื่องพิชัยยุทธ์ | ปักอาวุธสารวัตรจัดทหาร |
ถือธงเทียวเขียวดำประจำการ | เครื่องสักการบัดพลีพลีกรรม |
คาดเพดานศาลตั้งทั้งแปดทิศ | ผูกม่านปิดรจนาเลขาขำ |
ทั้งหอรบครบถ้วนกระบวนทำ | ตั้งหม้อน้ำเครื่องบวงสรวงเทวา ฯ |
๏ การสำเร็จเสร็จสรรพกลับมาเฝ้า | ต่างก้มเกล้าทูลพลันด้วยหรรษา |
พระทราบสิ้นยินดีทั้งปรีดา | ว่าเวลาพรุ่งนี้เช้าเราจะไป |
ดูท่านครูผู้จะปราบกำราบศึก | ขอสมนึกดับเข็ญให้เย็นใส |
พระจึ่งสั่งมาตยาเสนาใน | ทั้งนายไพร่เตรียมอาวุธยุทธนา |
ครั้นสั่งเสร็จแล้วเสด็จยุรยาตร | ขุนอำมาตย์เตรียมพหลพลอาสา |
ทั้งรถรัตน์จัตุรงค์อลงการ์ | เครื่องสาตราทวนธงอลงกรณ์ |
บ้างจัดแจงแต่งพลับพลาที่หนาป้อม | ทหารพร้อมดั้งดาบกำซาบศร |
ปืนน้อยใหญ่เสโล่แลโตมร | ผูกกุญชรพระที่นั่งทั้งดั้งกัน |
มาเตรียมคอยท่านท้าวแต่เช้าตรู่ | พร้อมทุกหมู่เสร็จสรรพกองทัพขัน |
พอรุ่งรางสร่างสีรวีวรรณ | พระทรงธรรม์พลิกฟื้นตื่นบรรทม |
พนักงานเครื่องอานสำรับพร้อม | ประณตน้อมล้วนสุรางค์นางสนม |
พวกอยู่งานพัชนีพัดวีลม | ทุกหมู่กรมสาวสุรางค์พวกนางใน |
พระสระสรงทรงเครื่องพิชัยยุทธ์ | เหน็บอาวุธเนาวรัตน์จำรัสไข |
ทรงพระมาลาเบี่ยงคู่เวียงชัย | เสด็จไปพระโรงรัตน์ชัชวาล |
พร้อมเสนาข้าทูลละอองบาท | พระยุรยาตรตรงมายังหน้าฉาน |
ทรงพระยาม้าที่นั่งอลังการ | ขุนทหารโห่เร้าจะเอาชัย |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องกลองสนั่น | ประโคมลั่นสังข์แตรแซ่ไสว |
มโหระทึกกึกก้องแซ่ซ้องไป | พลไกรเดินกระบวนถือทวนธง |
ออกประตูบูรพาระดาดาษ | ล่วงลีลาศชายป่าพนาระหง |
ถึงสำนักพักพวกจัตุรงค์ | เสด็จตรงขึ้นประทับบนพลับพลา |
สองกษัตริย์นฤบาลชาญสมร | บทจรมาประนมก้มเกศา |
กับท่านครูผู้ประสิทธิ์วิทยา | พร้อมเสนากราบก้มบังคมคัล |
เธอปราศรัยไต่ถามตามระบอบ | พระชื่นชอบอิ่มเอมเกษมสันต์ |
ท่านนิกรมพรหเมศทูลเหตุพลัน | ในค่ำวันนี้จะให้พวกไพรี |
แตกไปทั้งสามค่ายมิให้เหลือ | ให้เหมือนเสือล้างป่าพากันหนี |
แล้วค่อยเร่งรุมจับทับทวี | ระดมตีตัดทางไปกลางไพร |
แกทูลเสร็จรีบมาหน้าหอรบ | ตรวจเครื่องครบพร้อมเสร็จข้างเพทไสย |
ตั้งบัดพลีบำบวงสรวงพระไพร | ทั้งเทพไทแปดทิศวิสสุกรรม |
ทั้งอิศวรภูวไนยเจ้าไกรลาส | ขอโอกาสมาช่วยชุบอุปถัมภ์ |
แล้วเสกน้ำแปดหม้อบริกรรม | พวกประจำยกธงอลงกรณ์ |
พอบ่ายแสงสุริยาฟ้าสลัว | เป็นหมอกมัวเกิดพระพายชายสิงขร |
ให้ข้าศึกง่วงเหงาทั้งหาวนอน | พลนิกรเป็นทั่วทุกตัวคน |
พวกข้างนี้มีน้ำที่ทำไว้ | เอาลูบไล้ถ้วนทั่วตัวพหล |
ต่างหายหนาวถ้วนทั่วทุกตัวคน | กินน้ำมนต์ล้างหน้าพาสบาย |
พอสุริยงลงลับพยับฟ้า | พระจันทราแจ่มกระจ่างสว่างฉาย |
ท่านนิกรพรหมเข้านั่งกำบังกาย | จุดเทียนรายบริกรรมตามตำรา |
เอาจิตตั้งทางกสิณแผ่นดินไหว | บังเกิดไฟแจ่มกระจ่างกลางเวหา |
เป็นควันพลุ่งรุ่งโรจน์โชตินา | พื้นสุธาร้อนแรงแสงอัคคี |
พวกสามค่ายเห็นไฟผิดประหลาด | ในอากาศเล่าก็แดงเป็นแสงสี |
ไหม้พฤกษาป่าดงในพงพี | พวกโยธีหาน้ำไว้สำรอง |
สักครู่หนึ่งเป็นพายุระบุระบัด | กระพือพัดลูกไฟไหม้ข้าวของ |
ติดเสาค่ายไหม้ยับทุกทัพกอง | ทหารร้องเร่งรับให้ดับไฟ |
บ้างตักน้ำโลดโผนเอาโคลนสาด | ด้วยอำนาจเพลิงตำหรับดับไม่ไหว |
ถึงจะขนน้ำท่ามาเท่าไร | ไม่ล้างไฟธาตุกสิณอภิญญาณ |
ยิ่งถูกน้ำก็ยิ่งซ้ำประเทืองแสง | ลุกเรืองแรงลามไปไหม้ประหาร |
เว้นแต่อาโปกสิณอภิญญาณ | จึงล้างผลาญกันได้ดั่งใจจง |
ทั้งสามทัพดับไฟมิได้หยุด | อุตลุดแตกกระจุยเป็นผุยผง |
ทั้งสามท้าวถอยล่าเข้าป่าดง | เพลิงก็ตรงตามไหม้ไล่กระพือ |
ต่างก็ขนมิ่งม้าอาชาชาติ | กลัวอำนาจไฟจริงต้องวิ่งตื๋อ |
สองหน่อไทให้คนดีมีฝีมือ | แต่ล้วนถืออาวุธยุทธนา |
กองละพันกลั่นกล้าอาสาศึก | เวลาดึกแยกไปทั้งซ้ายขวา |
ถือเสน่าหลาวโล่โตมรา | เข้าในป่าดงชัฏสกัดทาง |
ที่พวกทัพแตกพ่ายไปทางนั้น | พลฉกรรจ์รีบรัดสกัดขวาง |
โห่สนั่นครั่นครื้นยิงปืนพลาง | สองข้างทางหลังหน้าดาประดัง |
ทั้งสามทัพขับทหารออกด้านหน้า | ชาวเมืองฆ่ามิได้เหลือดั่งเสือขัง |
ที่ไม่สู้งอนง้อขอชีวัง | พวกทัพหลังจับกุมตะลุมบอน |
ทั้งสามท้าวเสียทีตีสมทบ | ไม่สู้รบลอดไปทางหว่างสิงขร |
ลงจากม้าวิ่งวงตามดงดอน | พลนิกรติดมาสิบห้าคน |
ค่อยดั้นดัดลัดทางมากลางป่า | พวกเสนานายทัพวิ่งสับสน |
ถูกอาวุธล้มตายทั้งไพร่พล | ที่วิ่งวนจับได้ก็หลายพัน |
ที่เข้าหาโดยดีก็มีมาก | ที่ลำบากป่วยไข้ในไพรสัณฑ์ |
จนจวนรุ่งรังสีรวีวรรณ | เที่ยวบุกบั่นหานายไม่ได้ตัว |
จนเดือนดับลับเงาภูเขาขุน | เกือบอรุณสุริยาฟ้าสลัว |
พระสั่งว่าพลไพร่ที่ได้ตัว | ทั้งครอบครัวจำส่งรีบลงไป |
แต่ตัวเราพี่น้องทั้งสองนี้ | จะตามตีจับส่งให้จงได้ |
พระสั่งพลางทางชักมโมมัย | รีบตามไปในป่าพนาวัน ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นพิภพ | เธอปรารภร้อนพระทัยรีบผายผัน |
เสด็จลงจากมหาพลับพลาพลัน | ไปหาท่านพรหเมศฟังเหตุการณ์ |
ฝ่ายท่านครูผู้ชำนาญการกสิณ | แกแจ้งสิ้นลุกออกมานอกศาล |
เจริญอาโปกสิณอภิญญาณ | ให้บันดาลวลาหกตกกระจาย |
เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสุนีสนั่นก้อง | ฟ้าก็ร้องแสงปลาบวะวาบสาย |
เป็นฝนฟุ้งหยาดอุทกตกกระจาย | พระพายชายเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น |
แล้วลงจากหอรบพบกษัตริย์ | เจ้าจังหวัดถามเรื่องที่เคืองเข็ญ |
จะอย่างไรในสงครามเมื่อยามเย็น | ท่านได้เห็นเป็นไฉนจงไขความ ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหมประมูลทูลฉลอง | ข้าขอรองบาทบงสุ์ที่ทรงถาม |
สองกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงพระนาม | เสด็จตามตีต้อนในดอนดง |
แต่ข้าศึกแตกพ่ายกระจายหนี | ในยามนี้ว่าอยู่ในไพรระหง |
ข้าพระบาททูลความไปตามตรง | แล้วแต่ทรงเห็นอย่างไรคงได้การ |
ท้าวกัมพลดีพระทัยให้ผูกม้า | ขุนเสนาเรียกพหลพลทหาร |
นำกระบวนทวนธงเข้าดงดาน | พระภูบาลขึ้นพระยาอาชาไนย |
เดินพหลพลทัพไม่ยับยั้ง | เข้าดงรังแรมป่าพฤกษาไสว |
จนแจ่มแจ้งแสงสุริโยทัย | เห็นสามค่ายไฟเผาเถ้าเป็นกอง |
สมกับท่านผู้วิเศษชี้เหตุผล | แจ้งยุบลบอกกล่าวเล่าสนอง |
พระชื่นชมสมประสงค์จำนงปอง | พอปะกองทัพกลับมาฉับพลัน |
คุมพหลพลเชลยมานับแสน | จวนเข้าแดนกรุงไกรไอศวรรย์ |
พระตรัสสั่งม้าใช้ให้ไปพลัน | ว่าทัพขันของใครที่ไหนมา |
เสนีรับขับม้าออกมาถาม | ครั้นแจ้งความว่าพวกกันต่างหรรษา |
เอาเนื้อความมาประมูลทูลกิจจา | เจ้าพาราดีพระทัยใครจะปาน |
แล้วสั่งว่ารีบไปอย่าได้ช้า | ขุนเสนากับพหลพลทหาร |
ไปมอบให้ท่านครูผู้อาจารย์ | เธอสั่งการแล้วก็ตรงเข้าดงดอน |
เร่งพหลพลไพร่มิได้หยุด | ให้รีบรุดลัดเดินเนินสิงขร |
โห่สนั่นลั่นป่าพนาดอน | พลนิกรแสนยาดาประดัง |
จัตุบททวิบาทประลาตหนี | กลัวโยธีวิ่งเตลิดระเสิดระสัง |
เที่ยวแอบเร้นพุ่มพฤกษาในป่ารัง | พลสะพรั่งเดินดั้นอรัญวา |
ไปจนทันสองพระหน่อวรนาถ | จึ่งประกาศไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ให้หยุดยั้งทั้งพหลพลโยธา | หน่อนรารีบมาเฝ้าเล่าคดี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสามท้าวแต่เช้าตรู่ | หนีไปอยู่ปากทางหว่างวิถี |
ริมหาดทรายชายทะเลกับเสนี | ปล่อยพาชีเสียไปนั่งริมฝั่งชล |
แล้วยกหัตถ์มัสการเทพารักษ์ | เจ้าสำนักเกาะแก่งทุกแห่งหน |
ให้มีเรือแล่นมาในสาชล | ขอบวงบนเทพไทได้เอ็นดู |
แม้นสมหวังอย่างคิดชีวิตรอด | ไม่วายวอดแล้วจะไหว้ถวายหมู |
จะตั้งศาลเครื่องพล่าทั้งปลาปู | สิ่งละคู่จะถวายให้สังเวย |
จะมีละครเจ้าบุญยังเหมือนดังว่า | ขอเทวาช่วยการุญพระคุณเอ๋ย |
แม้นรอดตายไปเจ้าคะไม่ละเลย | มิได้เชยนางแก้วก็แล้วไป |
ทั้งสามท้าวเจ่าจุกนั่งทุกข์ร้อน | ทั้งอดนอนอดกินสิ้นสงสัย |
พอลมเรื่อยเฉื่อยชายชลาลัย | เห็นเรือใบแล่นมาในสาคร |
ต่างดีใจไหว้กราบเทพารักษ์ | เจ้าสำนักเกาะขวางกลางสิงขร |
จึ่งเอาผ้ามาโบกริมสาคร | เป็นการร้อนแกว่งไกวอยู่ไปมา ฯ |
๏ พวกพาณิชเห็นสำคัญก็มั่นหมาย | มันดีร้ายพวกเรือแตกแปลกภาษา |
จำจะแล่นเข้าไปชายคงคา | สั่งล้าต้าต้นหนคนสำคัญ |
ให้บ่ายเรือเข้าไปที่ชายตลิ่ง | เห็นคนวิ่งเร็วรี่ขมีขมัน |
ขอเดินสารท่านด้วยช่วยชีวัน | นายกำปั่นถึงท่าให้ซาใบ |
ทอดสมอรอราเอาเรือบด | ช่วยกันลดลงมหาชลาไหล |
สั่งให้พวกกะลาสีตีเข้าไป | แต่พอใกล้ให้ล่ามไปถามพลัน |
พวกเสนาว่าข้าเจ้าสำเภาซัด | ปะสลัดพวกยักษ์มักกะสัน |
มันเก็บเอาเภตราแล้วฆ่าฟัน | คนทั้งนั้นตายยับอยู่กับเรือ |
แต่พวกข้าโดดหนีลงเรือน้อย | คลื่นก็พลอยซัดเข้าฝั่งที่ยังเหลือ |
ทั้งอดข้าวกินแต่หวานพอจานเจือ | ของในเรือเล่าก็จมล่มทลาย |
ท่านเอ็นดูชูช่วยขอเดินสาร | พอถึงบ้านเมืองได้ดั่งใจหมาย |
แม้นมิช่วยชีวงก็คงตาย | จริงหนานายโปรดเกล้าเอาแต่บุญ |
พวกนายรองพาณิชคิดสังเวช | ถึงประเทศขาดเหลือจะเกื้อหนุน |
ก็รับลงเรือมาด้วยการุญ | อย่าว้าวุ่นไปเลยหนาจะพาจร |
ทั้งสามท้าวบ่าวไพร่ลงเรือบด | พูดโป้ปดเอาตัวรอดพอทอดถอน |
แปลงเป็นไพร่ชายชนพเนจร | เหมือนราษฎรนายเรือเป็นเชื้อพราหมณ์ |
พอถึงกำปั่นใหญ่มิได้ช้า | นายเภตรารับขึ้นไปพลางไต่ถาม |
ถึงเรือเสียป่นแหลกกับแขกยาม | เรามีความสงสารท่านทั้งปวง |
จึ่งจัดแจงแบ่งห้องให้อยู่ท้าย | พอสบายเถิดหนาเจ้าเราไม่หวง |
ถึงเวลาหาให้กินสิ้นทั้งปวง | ตามกระทรวงจัดให้ทั้งไพร่นาย |
เรือก็แล่นมาในทางกลางสมุทร | มิได้หยุดตามวารินกระสินธุ์สาย |
ที่ล้าเลื่อยเหนื่อยอ่อนค่อยผ่อนคลาย | ทั้งบ่าวนายก็เป็นสุขทุกเวลา ฯ |
๏ ทั้งสามท้าวเศร้าใจอาลัยถวิล | ไม่รู้สิ้นมุ่งมาดปรารถนา |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มกลัดอัดอุรา | จึงปรึกษากันเบาเบาเมื่อเข้านอน |
เราไปถึงบ้านเมืองค่อยเปลื้องทุกข์ | เกษมสุขภิญโญสโมสร |
ใครจะคิดรบเร้าเอานคร | หรือจะนอนให้สบายเช่นควายโซ |
เล่นแต่หญ้าปากคอกบอกกันมั่ง | แกะข้าวตังก้นครัวมั่วโทโส |
หรือจะคิดการอย่างไรให้ใหญ่โต | หรือเป็นโคเสือทับไม่กลับมา |
ทั้งสามท้าวกล่าวเรื่องต่างเคืองแค้น | ในทรวงแน่นหนักอยู่เท่าภูผา |
หวนมานะอัดอั้นตันอุรา | ต่างก็ว่าตายเสียแล้วก็แล้วไป |
แม้นชีวิตยังอยู่เหมือนงูพิษ | คงจะคิดผันแปรคิดแก้ไข |
กลับมาตั้งต่อตีให้มีชัย | เราก็ใช่ชาติผู้หญิงจริงหนาเกลอ |
แต่สตรีเขายังมีอาวุธปาก | ไม่กระดากทิ่มตำกันหยำเหยอ |
เราทั้งสามใช่ผู้หญิงจริงหนาเกลอ | ไม่ละเมอพูดเล่นคงเห็นกัน |
ถึงยากเย็นเป็นตายจะไว้ชื่อ | ให้เล่าลือทุกกรุงไกรไอศวรรย์ |
เราสามคนยากเย็นได้เห็นกัน | คิดผ่อนผันตามอย่างทางบุราณ |
แม้นตีได้ไอศวรรย์เหมราช | สมที่มาดพยายามสามสถาน |
เอาผ่าแล่งแบ่งเป็นส่วนให้ควรการ | คือนงคราญส่วนหนึ่งอย่าพึงแคลง |
ส่วนที่สองของข้าวกับเมืองบ้าน | สองสถานเหมือนอย่างว่าอย่าได้แหนง |
ส่วนที่สามเงินทองของที่แพง | เอาจัดแจงออกเป็นสามตามที่ควร |
แล้วเขียนเป็นอักษรซ้อนผนิด | ให้มิดชิดตามระบอบแล้วสอบสวน |
เราทั้งสามอธิษฐานการที่ควร | แล้วจึงชวนกันจับเหมือนปรับปรุง |
ตามกุศลของใครเหมือนได้ทรัพย์ | ไม่ต้องนับต้องลำบากลากเอาถุง |
ต่างเห็นจริงอย่างตำหรับเหมือนปรับปรุง | ต่างก็มุ่งอยู่ในใจจะได้นาง |
เรือก็แล่นเลยมาในสาคเรศ | พ้นประเทศเหมราพอฟ้าสาง |
ทั้งสามท้าวโหยหวนครวญถึงนาง | เล่าเอากางปีกเปล่าเศร้าหัวใจ ฯ |
๏ จะกลับกล่าวเจ้าบุรินทร์เหมราช | กับหน่อนาถนรินทร์รัตน์จำรัสไข |
ทั้งราเมศสุริย์วงศ์ผู้ทรงชัย | ยกพลไปตามศัตรูหมู่ไพริน |
ออกชะวากปากป่าถึงท่าน้ำ | ทะเลล้ำหาดทรายชายกระสินธุ์ |
ไม่พบปะศัตรูหมู่ไพริน | ก็สุดสิ้นที่จะคิดไปติดตาม |
จึงปรึกษาหน่อนเรศเกศกษัตริย์ | พ้นจังหวัดเขตแคว้นแดนสยาม |
ครั้นจะจัดเรือใบให้ไปตาม | ไม่แจ้งความเหนือใต้อย่างไรเลย |
จงกลับหลังยังกรุงบำรุงถิ่น | กันไพรินดูถูกนะลูกเอ๋ย |
แต่ก่อนไรไพรีไม่มีเลย | จึ่งเพิกเฉยอยู่สบายไม่กังวล |
พระตรัสพลางทางสั่งพยุหทัพ | เราจะกลับเวียงวังสั่งพหล |
จัตุรงคเสนาพลาพล | ภูวดลทรงพระยาอาชาไนย |
สองกษัตริย์จัดพลพหลเสร็จ | ตามเสด็จปิ่นภพสบสมัย |
กระบวนหน้าม้าริ้วเป็นทิวไป | พลไพร่เดินเท้ากุมเกาทัณฑ์ |
ถือปืนตับคาบศิลาพาทหาร | เดินขนานแออัดล้วนจัดสรร |
คชไกรพลายพังทั้งดั้งกัน | โห่สนั่นกลับตรงเข้าดงดอน |
กระบวนแห่แตรสังข์มโหระทึก | เสียงก้องกึกเป็นลำดับสลับสลอน |
อเนกแน่นแสนยาพลากร | ประทับร้อนมาในไพรพนม |
อันเรื่องนกเรื่องไม้ที่ในป่า | ก็ว่ามาแต่ข้างหลังปางประถม |
ขอตัดบทงดเสียบ้างทางจะชม | ยังอยู่ถมไปข้างหน้าอย่าอาวรณ์ |
จัตุบททวิบาทก็มีมาก | ไม่สู้ยากดอกจะใส่ในอักษร |
กระบวนทัพกลับถึงเขตนคร | ราษฎรอิ่มเอมเกษมใจ ฯ |