- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
๏ ขอกล่าวกลับจับเรื่องสังฆราช | สิ้นอำนาจว้าเหว่ระเหระหน |
จะข้ามฝั่งไปยังเพชรกำพล | คิดผ่อนปรนจะมารับทัพลังกา |
จึ่งเรียกพระมังคลาสานุศิษย์ | มาช่วยคิดตรองตรึกได้ปรึกษา |
เรียกคนใช้ให้หยิบขวดสุรา | ยกออกมากินเข้าไปพอใจคลาย |
เรือก็ล่องแล่นมาในสาคเรศ | ล่วงประเทศเดือนกระจ่างสว่างฉาย |
ตามละเมาะเกาะเคียงกันเรียงราย | ลมก็ชายพัดจัดถนัดใบ |
แต่แล่นมากว่าเดือนไม่เคลื่อนคลาด | ล่องลีลาศในมหาชลาไหล |
พอจวนแจ้งสุริโยอโณทัย | พยุใหญ่เกิดกล้าสลาตัน |
เป็นลมหวนป่วนปั่นสนั่นก้อง | คลื่นในท้องทะเลป่วนซัดหวนหัน |
มืดพยับอับสีรวีวรรณ | ตีกำปั่นแทบจะจมด้วยลมแดง |
ฝนก็ตกโปรยปรายพระพายพัด | คลื่นก็จัดฟ้าแลบวะแวบแสง |
คนในเรือหนีเข้าร่มล้มตะแคง | กำปั่นแพลงแทบจะคว่ำเป็นน้ำนอง |
บาทหลวงงกตกประหม่าจนขาสั่น | เดินงกงันเซซุนให้ขุ่นหมอง |
แหงนดูเมฆตั้งดำเป็นน้ำนอง | ฟ้าก็ร้องครางครึมกระหึมครวญ |
เรือสะบัดปัดปั่นให้หันเห | ท้องทะเลคลื่นระดมทั้งลมหวน |
ตีเสาหน้าหักผางเสียงครางครวญ | พายุป่วนหอบปัดซัดออกไป |
พวกต้นหนคนท้ายที่หมายทิศ | ทั้งมืดมิดไม่รู้แห่งตำแหน่งไหน |
เรือที่ตามมาก็ซัดพลัดกันไป | พยุใหญ่ก็ไม่ซาถึงห้าคืน |
เหลือสังเกตเขตแขวงตำแหน่งไหน | ไม่แจ้งในมรรคาเหลือฝ่าฝืน |
ไม่เห็นแสงตะวันเดือนเหมือนกลางคืน | เสียงแต่คลื่นกึกก้องท้องชลา |
พวกต้นหนบนบานแล้วกรานกราบ | ศิโรราบขอชีวิตทุกทิศา |
เทพเจ้าในทะเลทั้งเทวา | ช่วยรักษาคุ้มกันอันตราย |
กลับไปถึงถิ่นฐานบ้านของข้า | จะจัดหาไก่แกะชำแหละถวาย |
ทั้งเหล้าข้าวเครื่องคั่วเนื้อวัวควาย | ขอให้หายคลื่นคลั่งในวังวน ฯ |
๏ พอครบถ้วนเจ็ดทิวาค่อยซาหาย | เห็นสุริย์ฉายแจ่มฟ้าเวหาหน |
เห็นเกาะใหญ่โตขวางอยู่กลางชล | เป็นน้ำวนเรือกำปั่นหันเข้าไป |
พวกต้นหนคนงานคลานจากห้อง | เสียงแซ่ซ้องเรียกกันอยู่หวั่นไหว |
บาทหลวงลุกจากที่ค่อยดีใจ | กับหน่อไทมังคลาลุกมาพลัน |
เอาแผนที่คลี่ดูไม่รู้จัก | เห็นไกลนักผิดสังเกตทุกเขตขัณฑ์ |
เหลือประมาณการวิถีที่สำคัญ | บนเขานั้นนกกาไม่หากิน |
บังเกิดหนาวเขานั่นเป็นควันหมอก | ที่ตามซอกภูเขามีเสาหิน |
เป็นเงาช่วงร่วงดำเหมือนน้ำนิล | มีแท่นหินขาวสว่างกระจ่างตา ฯ |
๏ สักครู่หนึ่งเสียงก้องเหมือนกลองศึก | ดังพิลึกเสียงตลอดถึงยอดผา |
แล้วสีเหมือนอย่างรุ้งพุ่งลงมา | ดังเหมือนฟ้าลั่นเปรี้ยงเสียงคำรน |
เป็นรูปเทพารักษ์ลักษมี | ยืนอยู่ที่แท่นศิลาน่าฉงน |
แล้วว่าเรือของใครอยู่ในวน | มาแต่หนแห่งประเทศเกินเขตแดน |
จงรีบไปเสียอย่าอยู่ฤดูนี้ | เป็นถิ่นที่ภูตพรายมันหลายแสน |
อยู่ไม่ได้ใช่ประเทศพ้นเขตแดน | เป็นแว่นแคว้นที่สำนักยักขินี ฯ |
๏ บาทหลวงฟังเทวดารักษาเกาะ | มาสงเคราะห์บอกแจ้งแห่งวิถี |
ยืนเปิดหมวกคำนับพลันด้วยทันที | แล้วถามที่แถวทางกลางสินธู |
แล้วเล่าเรื่องเมืองลังกาอาณาเขต | ให้ทราบเหตุเสียคนรจนาอ่อนหู |
แต่ยกไปกำจัดพวกศัตรู | เสียคนผู้แตกทัพมายับเยิน |
จะกลับหลังไปยังถิ่นประเทศ | มาเกิดเหตุฝนตกระหกระเหิน |
พยุพัดซัดมาถึงหน้าเนิน | เกิดฉุกเฉินไม่รู้แห่งตำแหน่งทาง |
ขอท่านจงกรุณาเมตตาด้วย | จงชี้ช่วยเป่าปัดที่ขัดขวาง |
พอจะได้รู้แจ้งแห่งหนทาง | ในระหว่างแถวถิ่นบุรินทร์ใด ฯ |
๏ ฝ่ายองค์เทพารักษ์ลักษมี | อันอยู่ที่เกาะกาวินกระสินธุ์ใส |
จึ่งว่าเขตมนุษย์สุดจะไกล | ทะเลใหญ่ต่อกันสีทันดร |
เป็นเขตครุฑพวกมนุษย์มาไม่ถึง | หนทางกึ่งกับมหิงคสิงขร |
อันฝูงสัตว์มัจฉาในสาคร | ฤทธิรอนร้ายกาจชาตินาคา |
จงกลับหลังทางนี้จะชี้ให้ | จงเร่งไปเสียให้พ้นวนมัจฉา |
ซึ่งเรือติดก็เพราะฤทธิ์ฝูงนาคา | เราเมตตาจะช่วยส่งให้คงคืน |
พ้นขึ้นได้เร่งไปข้างทักษิณ | จะพบถิ่นนครารีบฝ่าฝืน |
แต่ลมหวนป่วนปั่นทุกวันคืน | ตีเป็นคลื่นลั่นดังก้องกังวาน |
อันเมืองนั้นเรียกว่าโรมวิสัย | ทั้งกว้างใหญ่เติบโตรโหฐาน |
รู้ไตรเพทวิทยาวิชาการ | มีอาจารย์ผูกหญ้าผ้าพยนต์ |
ท่านจะไปให้สมอารมณ์คิด | เราประสิทธิ์วัฒนาสถาผล |
พอขาดคำเห็นสว่างอยู่กลางวน | เป็นน้ำล้นหนุนกำปั่นมาทันที |
หลุดจากแก่งแสงสว่างกระจ่างหาย | พระพายชายพัดส่งตรงวิถี |
ไปทักษิณถิ่นประเทศเขตบุรี | ลมก็ตีเรือแล่นแสนสบาย ฯ |
๏ สิบห้าวันบรรลุถึงขอบเขต | ถิ่นประเทศนคราเวลาสาย |
ให้ลดใบทอดท่าหน้าหาดทราย | จอดอยู่ท้ายเมืองดูเห็นผู้คน |
ออกเที่ยวหาปลาหอยบ้างลอยช้อน | เดินฉะอ้อนตามระหว่างทางถนน |
บ้างเก็บผักหักฟืนพื้นคนจน | ตามถนนหน้าเมืองเนื่องกันไป |
บาทหลวงสั่งพวกชวากะลาสี | ไปดูทีพูดจาอัชฌาสัย |
สืบให้รู้เรื่องราวพวกชาวใน | จงรีบไปดูประเทศเขตบุรี |
พวกคนใช้ไปตามบาทหลวงสั่ง | เดินไปยังแถวทางกลางวิถี |
เข้าพูดจาปราศรัยเป็นไมตรี | ชาวบุรีรู้ว่าแขกแปลกขึ้นมา |
จึงซักไซ้ไต่ถามไปตามเรื่อง | อันชาวเมืองพูดได้หลายภาษา |
ฝรั่งแขกจีนจามพราหมณ์ลังกา | ฟังภาษารู้ทุกคำด้วยชำนาญ |
จึงถามว่ามาแต่หนตำบลไหน | ธุระอะไรออเจ้าจงเล่าขาน |
หรือมาเที่ยวหาของที่ต้องการ | หรือพลัดบ้านเมืองมาเที่ยวหากิน ฯ |
๏ พวกแขกว่าข้าเจ้ามาค้าขาย | เกิดลมร้ายในมหาชลาสินธุ์ |
เรือก็ซัดพลัดมาถึงธานินทร์ | สังเกตถิ่นไม่ถนัดเที่ยวซัดเซ |
แต่นายใหญ่อยู่ในเรือกำปั่น | จะผ่อนผันหลงทางมาห่างเห |
ไม่รู้แห่งแถวทางกลางทะเล | เหลือคะเนไม่รู้แห่งตำแหน่งจร |
ขอลาท่านกลับไปบอกนายข้า | ให้ขึ้นมาหาผู้รู้เป็นครูสอน |
ได้กลับหลังไปยังฝั่งนคร | เป็นการร้อนจะรีบลาท่านคลาไคล |
กะลาสีกลับหลังยังกำปั่น | เอาความนั้นเล่าแจ้งแถลงไข |
บาทหลวงฟังถ้วนถี่แกดีใจ | รีบขึ้นไปจะได้เพียรเรียนวิชา |
จึงชวนพระมังคลาสานุศิษย์ | เห็นสมคิดตรองไว้ไปสิหวา |
แกแต่งตัวรีบไปในพารา | พระมังคลาแขกล่ามตามอาจารย์ |
บาทหลวงให้คนนำไปสำนัก | ที่รู้จักกันมาแล้วว่าขาน |
จงช่วยนำเราไปหาท่านอาจารย์ | พอแจ้งการให้ท่านทายร้ายหรือดี |
แล้วหยิบเงินเหรียญกองให้สองร้อย | ไว้ใช้สอยตามสบายอย่าหน่ายหนี |
จงรู้จักกันไว้เป็นไมตรี | พอเป็นที่สำนักช่วยชักพา |
พวกชาวเมืองดีใจครั้นได้ทรัพย์ | แล้วคำนับนั่งลงส่งภาษา |
ว่าขอบใจที่ท่านกรุณา | มาจะพาไปตำแหน่งแห่งอาจารย์ |
พลางลุกออกนำไปในประเทศ | เข้าขอบเขตพาราแล้วว่าขาน |
ท่านจงดูหนังสือชื่ออาจารย์ | มีหลายบ้านบอกวิชาสารพัน |
ถ้าต้องการบ้านไหนจะไปหา | แจ้งกิจจาเขาเสียก่อนจึ่งผ่อนผัน |
จะเข้าออกเล่าก็ยากลำบากครัน | ครบเจ็ดวันนายหมวดเขาตรวจคน |
แล้วนำหน้าพาเดินไปตามย่าน | มีโรงร้านแถวทิมริมถนน |
บ้านเศรษฐีมีมากไม่ยากจน | ทุกตำบลมั่งคั่งทั้งบุรินทร์ |
บาทหลวงเดินดูไปในจังหวัด | สารพัดน่าชมสมถวิล |
ถึงบ้านผู้รู้วิชาฟ้าแลดิน | มีเสาหินปักอยู่นอกบอกวิชา ฯ |
๏ ถัดนั้นไปแจ้งในหนังสือกล่าว | บอกเรื่องราวจักรไกหลายภาษา |
ใครจะมาพากเพียรเรียนวิชา | ทำเภตราใช้ไฟในไกกล ฯ |
๏ อีกบ้านหนึ่งบอกวิชาสารพัด | ผูกรูปสัตว์ใช้ไปในเวหน |
ที่เขาเรียกกันว่าผ้าพยนต์ | ทำด้วยมนต์ลงอักษรซ่อนอยู่ใน |
บาทหลวงดูรู้แจ้งแห่งหนังสือ | จารึกชื่อผู้วิเศษข้างเพทไสย |
แล้วบอกกับผู้พาจงคลาไคล | เราขอบใจแล้วจะเพียรเรียนวิชา |
ผู้ที่นำรับคำตาบาทหลวง | ก็เดินล่วงเข้าไปในเคหา |
จึงบอกกับคนใช้ให้ไคลคลา | เราจะมาอภิวันท์ท่านอาจารย์ |
พวกคนใช้ไต่ถามได้ความถ้อย | แล้วจึ่งค่อยเข้าไปในสถาน |
แจ้งคดีกับท่านครูผู้อาจารย์ | ให้ทราบการที่เขาบอกออกเนื้อความ ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหมพักตร์ลุกจากห้อง | ค่อยย่างย่องออกมาใกล้ปราศรัยถาม |
มีธุระสิ่งไรเจ้าจงเล่าความ | บอกไปตามเรื่องประสงค์ที่จงใจ |
พวกที่มาว่าฝรั่งต่างประเทศ | เสียขอบเขตซัดมาอยู่อาศัย |
อยากจะใคร่เรียนของที่ต้องใจ | ขออาศัยอยู่เป็นศิษย์ไม่บิดเบือน ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูจึงว่าถ้าเช่นนั้น | ไปพากันเข้ามานี่แม้นดีเหมือน |
คำเจ้าว่าจริงแท้ไม่แชเชือน | ให้ได้เหมือนถ้อยคำเจ้ารำพัน |
ผู้ชักพามาเรียกสังฆราช | กับหน่อนาถสองนายให้ผายผัน |
เข้าในตึกทำใหม่ใต้ต้นจันทน์ | เป็นช่องชั้นดูเพลินเจริญตา |
เห็นท่านครูนั่งอยู่บนเก้าอี้ | ดูท่วงทีงดงามตามภาษา |
บาทหลวงเปิดหมวกคำนับกับพฤฒา | ดูกิริยาเห็นวิเศษข้างเวทมนตร์ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูดูหน้าพระฝาหรั่ง | เรียกให้นั่งแล้วจึ่งถามด้วยความฉงน |
ท่านมาหาเรานี้มีกังวล | หรือร้อนรนด้วยมีการสถานใด ฯ |
๏ บาทหลวงว่าข้าพเจ้าก็ซ้ำขัด | เกิดอุบัติหลงมาได้อาศัย |
จะกลับหลังยังนครก็อ่อนใจ | ด้วยมิได้รู้แห่งตำแหน่งทาง |
มาพบท่านผู้ประสิทธิ์ให้คิดรัก | ขอพิงพักปรนนิบัติไม่ขัดขวาง |
เป็นศิษย์หาเรียนรู้ดูหนทาง | สักสองอย่างกับวิชาผ้าพยนต์ ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหมพักตร์จึ่งชักเรื่อง | ว่าบ้านเมืองตั้งกฎหมายมาหลายหน |
ใครจะเรียนวิทยาผ้าพยนต์ | เอายุบลไปทูลท้าวเจ้าบุรินทร์ |
แม้นโปรดให้จึ่งได้มาสั่งสอน | เจ้านครมีรับสั่งดั่งถวิล |
ท่านจงมาไปเฝ้าเจ้าแผ่นดิน | เสียให้สิ้นความผิดไม่ปิดบัง |
แล้วครูเฒ่าเดินหน้าพาบาทหลวง | ครรไลล่วงทางไปดั่งใจหวัง |
จึ่งเข้าในนัคเรศนิเวศน์วัง | ไปยับยั้งคอยเฝ้าเจ้านคร ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าหุโลมโรมวิสัย | ฝรั่งใหญ่มุระหงิดอดิศร |
ถึงเวลาออกพระโรงอลงกรณ์ | ให้ราษฎรเฝ้าแหนแสนสบาย |
มีถ้อยความสารพัดเธอตัดสิน | ให้เพิ่มภิญโญยศตามกฎหมาย |
ไม่เคืองเข็ญเป็นสุขสนุกสบาย | ทั้งหญิงชายชมชื่นทุกคืนวัน ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหมพักตร์อาจารย์เฒ่า | เข้าไปเฝ้าทูลไทเจ้าไอศวรรย์ |
พาบาทหลวงไปประนมบังคมคัล | เจ้าเมืองนั้นปราศรัยเป็นไมตรี ฯ |
๏ บาทหลวงจึ่งหยิบจินดาราคามาก | กับทองนากพลอยเพชรอีกเจ็ดสี |
ออกถวายไทท้าวเจ้าบุรี | ขอเป็นที่พึ่งพาจงการุญ |
อยากจะใคร่เรียนมนต์ดลคาถา | จงโปรดข้าขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน |
แม้นสมซึ่งปรารถนาท่านการุญ | ไม่ลืมคุณแม่นมั่นเหมือนสัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทได้ฟังสังฆราช | อนุญาตสั่งให้ไปศึกษา |
จึ่งเรียกอาจารย์เฒ่าให้เข้ามา | บอกวิชาที่จะทำให้ชำนาญ |
แต่เรื่องแก้วิทยานั้นอย่าให้ | เขามิได้อยู่กินเป็นถิ่นฐาน |
เกลือกจะเป็นแยบยลพวกคนพาล | จะรำคาญขุ่นเคืองแก่เมืองเรา |
ไหนไหนมาอย่าให้เสียท่านเกลี่ยไกล่ | จงบอกให้ตามจำนงค์ประสงค์เขา |
ท้าวแสดงแจ้งความตามสำเนา | แล้วกลับเข้าปรางค์มาศราชวัง ฯ |
๏ ฝ่ายครูเฒ่าเจ้าวิชาพาบาทหลวง | ครรไลล่วงออกมาสมอารมณ์หวัง |
ถึงบ้านถิ่นสิ้นกังขาพะว้าพะวัง | แล้วจึงสั่งบ่าวไพร่ที่ใช้การ |
ไปจัดแจงตึกใหญ่ให้สังฆราช | จงแผ้วกวาดให้อยู่กินเป็นถิ่นฐาน |
ถึงเวลาบอกเวทวิเศษชาญ | ให้ชำนาญเรืองฤทธิ์วิทยา |
ผูกพยนต์กลไกได้หลายสิ่ง | เป็นม้ามิ่งยักย้ายหลายภาษา |
รูปนกหกต่างต่างอย่างตำรา | ทั้งเทวดารูปคนจนสตรี |
เป็นดวงดาวดาราในอากาศ | ของประหลาดเดินได้ในวิถี |
รูปมนุษย์ครุฑาวาสุกรี | ทั้งกุมภีล์เหราสารพัน |
มังคลาสานุศิษย์สมจิตนึก | คิดตรองตรึกอยู่ในใจจะผายผัน |
แล้วจัดของสนองคุณอาจารย์พลัน | สารพันเงินทองเอากองลง |
ใส่เครื่องตาดภาชนะที่ใช้สอย | ไว้เรียบร้อยเสร็จสมอารมณ์ประสงค์ |
ยกออกไปให้ท่านครูผู้ดำรง | แล้วก้มลงคำนับเหมือนกราบกราน ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหมพักตร์จึงซักไซ้ | เอามาให้มากมายหลายสถาน |
เราขอบใจแต่สิ่งของไม่ต้องการ | เป็นอาจารย์บอกกล่าวให้เล่าเรียน |
ไม่ประสงค์จงใจที่ในทรัพย์ | ผิดตำหรับเรื่องราวที่เราเขียน |
ใช่จะขายความรู้แก่ผู้เรียน | เป็นอาเกียรณ์รุงรังไม่บังควร |
ขอแต่จิตสัตย์ซื่อถือให้มั่น | ทุกคืนวันโดยระบอบคิดสอบสวน |
มีความรู้อยู่ในใจจงใคร่ครวญ | ตามกระบวนจึ่งประสิทธิ์วิทยา ฯ |
๏ บาทหลวงฟังสังรเสริญเจริญยศ | จงปรากฏอิทธิฤทธิ์ทุกทิศา |
พระคุณท่านเหลือล้นคณนา | ขอกราบลาไปบุรินทร์ถิ่นนคร |
ได้มาอยู่พึ่งพักท่านรักใคร่ | แต่หนักใจโตยิ่งกว่าสิงขร |
ต้องจำเป็นจำไปไกลนคร | จะขอพรให้ท่านช่วยอำนวยชัย ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์คิดสงสาร | มาอยู่นานจงไปหาที่อาศัย |
ศรีสวัสดิ์วัฒนาจงคลาไคล | ท่านจะไปขอให้สมอารมณ์ปอง |
บาทหลวงรับกราบลามาที่อยู่ | เรียกคนผู้ขึ้นมาบนช่วยขนของ |
แล้วไปเฝ้าท้าวไทดั่งใจปอง | ทูลฉลองจะขอลาฝ่าธุลี ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราจึ่งปราศรัย | เราขอบใจท่านนักเป็นศักดิ์ศรี |
ประทานของต่างต่างที่อย่างดี | แต่ล้วนมีราคาสารพัน |
บาทหลวงรับของพลางทางคำนับ | แล้วก็กลับจากนิเวศน์ขอบเขตขัณฑ์ |
กับองค์พระมังคลามาด้วยกัน | ลงกำปั่นแล่นมาในสาคร |
ถึงเมืองไหนแวะเข้าเอาหนังสือ | แล้วเขียนชื่อท่านครูผู้จะสอน |
ในเรื่องราวศาสนาให้ถาวร | จะดับร้อนคนหยาบทำบาปกรรม |
จงเร่งมาหาเราในคราวนี้ | จะช่วยชี้ช่วยชุบอุปถัมภ์ |
พระเป็นเจ้าจะมารับที่บาปกรรม | จะได้นำไปสวรรค์เห็นทันตา ฯ |
๏ พวกชาวเมืองเลื่องลือระบือข่าว | มามี่ฉาวรับกระดาษศาสนา |
ไปอ่านเรื่องเมืองสวรรค์เห็นทันตา | เจ้าพาราทราบสิ้นก็ยินดี |
จึ่งว่าเหวยเสนาไปหาสู่ | ท่านผู้รู้เชิญมาบุรีศรี |
จะได้สอนศาสนาในบาลี | ให้กูนี้ถึงสวรรค์ชั้นวิมาน ฯ |
๏ เสวกามาเชิญสังฆราช | ให้ลีลาศเข้าไปในสถาน |
บาทหลวงยิ้มอิ่มใจเห็นได้การ | จะทรมานเอาไว้ใช้ทั้งไพร่พล |
จึ่งขึ้นจากกำปั่นมิทันช้า | ขี่รถาคนตามหลามถนน |
ชาวพารามาดูทุกผู้คน | ตามไปจนนคเรศนิเวศน์วัง ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราออกมารับ | พลางคำนับถึงสมอารมณ์หวัง |
เชิญบาทหลวงให้เข้าไปจนในวัง | จะใคร่ฟังรับทราบที่บาปบุญ |
อีตาเฒ่าเจ้ามารยาจึงว่าขาน | ที่ข้อการเมืองมนุษย์จะอุดหนุน |
จงกลับใจเสียให้ดีจะมีคุณ | ผู้การุญจะรับซึ่งบาปกรรม |
คือองค์พระเยซูผู้เป็นเจ้า | ครูของเราจะช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ไม่ช้านานจะมารับซึ่งบาปกรรม | แล้วจะนำไปสวรรค์ถึงชั้นบน |
ตัวท่านท้าวเจ้าพาราจะปรากฏ | คงเห็นหมดรู้ประจักษ์ในภักษ์ผล |
เหมือนถ้อยคำเราแสดงแจ้งยุบล | เพราะเป็นคนสัตย์ซื่อถือที่ดี |
จงกลับจิตคิดรักพระเป็นเจ้า | ทุกค่ำเช้านึกไว้อย่าหน่ายหนี |
คำที่เราเทศนาในบาลี | ไม่ช้าทีคงจะเห็นดั่งเจรจา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราจึ่งว่าขาน | พระอาจารย์แจ้งเหตุเทศนา |
แต่ยังไม่เห็นตระหนักประจักษ์ตา | แม้นเหมือนว่าแล้วเจ้าคุณฉันอุ่นใจ |
บาทหลวงว่าท่านอย่าวิตกนัก | คงประจักษ์เหมือนเราแจ้งแถลงไข |
จะช่วยทูลพระเป็นเจ้าว่าท้าวไท | เธอกลับใจเชื่อแท้ไม่แปรปรวน ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทได้ฟังสังรเสริญ | แล้วจึงเชิญให้ไปพักตำหนักสวน |
สั่งกับผู้ปรนนิบัติจัดให้ควร | ตามกระบวนเลี้ยงดูผู้อาจารย์ ฯ |
๏ พวกเสนามาทำตามตำแหน่ง | บ้างจัดแจงกับข้าวทั้งคาวหวาน |
เอาขึ้นตั้งโต๊ะใหญ่ใส่ในจาน | เครื่องตระการเอมโอชโภชนา |
ทั้งมีดส้อมพร้อมพรั่งเอาวางที่ | ยกเก้าอี้มาตั้งลงข้างขวา |
ทั้งถ้วยแก้วเจียระไนใส่สุรา | เชิญพระอาจารย์กินด้วยยินดี ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงขึ้นไปนั่งตั้งสง่า | รินสุราดื่มจนเมาเหล้าอะหนี |
กินเป็ดไก่หมูหองล้วนของดี | แกเปรมปรีดิ์อยู่ในใจเห็นได้การ |
ให้อ้ายเฒ่าเจ้าพารามันปรากฏ | วิสัยมดมันก็มักรักแต่หวาน |
ความคิดกูรู้ทำเหมือนน้ำตาล | เอาแต่การที่จะใช้เหมือนควายวัว ฯ |
๏ ครั้นอิ่มหนำสำเร็จเสร็จธุระ | ลุกเกะกะกรุ่มกริ่มทั้งยิ้มหัว |
ลงนั่งอิงพิงฝานัยน์ตามัว | แล้วเอนตัวม่อยหลับระงับไป |
จนเที่ยงคืนหายเมาบรรเทาจิต | แกนิ่งคิดหาแผลจะแก้ไข |
จำจะต้องเสกพยนต์เป็นกลไก | ให้ท้าวไทเห็นจริงทุกสิ่งอัน |
แล้วลุกจากที่นอนไปถอนหญ้า | เก็บเอามาผูกไว้พอไก่ขัน |
แล้วเสกเป่าเก้าหนมนต์สำคัญ | ต้นหญ้านั้นสูญหายกลายเป็นคน |
แล้วเป่าลงตรงหัวหยิบตัวขว้าง | ขึ้นไปทางฟากฟ้าเวหาหน |
ด้วยอำนาจกายสิทธิ์ฤทธิรณ | มิให้คนเห็นของที่ต้องการ |
ต่อเมื่อไรเรียกมาจึ่งปรากฏ | เห็นทั่วหมดพูดได้หลายสถาน |
ครั้นรุ่งรางสร่างสีรวีวาร | แกตรองการที่จะไปในบุรินทร์ ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้านครอาวรณ์หวัง | อยากจะฟังผูกจิตคิดถวิล |
จึงออกนั่งเก๋งขวาหน้าบุรินทร์ | มาพร้อมสิ้นทั้งมหาเสนาใน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าจังหวัดจึ่งตรัสสั่ง | ให้ไปยังพระอาจารย์แล้วขานไข |
ว่าเราเชิญให้เข้ามารีบคลาไคล | พามาในนคเรศนิเวศน์วัง ฯ |
๏ เสวกามาถึงจึ่งคำนับ | ท้าวให้รับท่านไปดั่งใจหวัง |
บาทหลวงยิ้มอิ่มใจรีบไปวัง | แล้วขึ้นนั่งคานหามคนตามพรู |
คิดในใจไว้เห็นสมอารมณ์นึก | จะทำศึกลังกากินขาหมู |
คนที่หามเข้าไปยั้งยังประตู | บาทหลวงรู้รีบเดินดำเนินพลัน |
ถึงเก๋งใหญ่ท้าวไทเธอมารับ | แล้วคำนับปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เชิญให้นั่งยังที่เก้าอี้พลัน | บาทหลวงนั่นอิ่มใจใครจะปาน |
แกจึงว่าท้าวไทเจ้าไตรภพ | อย่าปรารภถือให้แม่นเป็นแก่นสาร |
แล้วจึ่งเรียกทูตสวรรค์มิทันนาน | พยนต์ขานลงมาไม่ช้าที |
สำแดงกายมีมือถือตะกร้า | ลอยอยู่หน้าเวียงชัยในวิถี |
แล้วร้องว่าเจ้าจังหวัดปัถพี | ตัวเรานี้จะมารับซึ่งบาปกรรม |
พระเยซูผู้เป็นเจ้าของเรานี้ | รับสั่งชี้ให้มาชุบอุปถัมภ์ |
พวกที่กลับใจได้ไม่กระทำ | ถือถ้อยคำรักใคร่ในพระองค์ ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทเสนาเห็นปรากฏ | ไม่รู้รสคนมารยาพากันหลง |
ด้วยตั้งใจนับถือว่าซื่อตรง | เพราะจำนงพร้อมใจมิได้แคลง |
บาทหลวงจึ่งเรียกหาเอาผ้ามุ้ง | มาเย็บถุงช่วยกันให้ขันแข็ง |
ใครทำอะไรไว้มีจงชี้แจง | เอาเขียนแจ้งเป็นหนังสือชื่อของตัว |
เจ้าพาราเป็นใหญ่เอาใส่ก่อน | ราษฎรลงทีหลังทั้งเมียผัว |
เรื่องบาปกรรมทำไว้ที่ในตัว | การที่ชั่วบอกเสมียนให้เขียนลง |
ครั้นเสร็จสรรพจับเอาไปใส่ในถุง | คนทั้งกรุงชื่นชมสมประสงค์ |
บาทหลวงเฒ่าสมคิดในจิตจง | เอาผ้าวงผูกไว้มิให้คลาย |
แล้วขว้างไปในนภางค์กลางเวหา | พยนต์หญ้ารับไปดั่งใจหมาย |
แล้วลอยลิ่วปลิววับไปลับกาย | ก็สูญหายในนภางค์กลางโพยม ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าทำอุบายให้ตายจิต | เห็นสมคิดตรองตรึกยิ่งฮึกโหม |
มีวิชาพยายามเหมือนตามโคม | แกแสนโสมนัสจิตที่คิดการ |
แลตลอดลอดไปสมใจนึก | ที่ตรองตรึกไว้ในใจหลายสถาน |
จึ่งว่ากับเจ้าพาราไม่ช้านาน | สิ้นรำคาญข้อหยาบที่บาปกรรม ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าบุรินทร์สิ้นสงสัย | ลงกราบไหว้ว่าท่านชุบอุปถัมภ์ |
ได้สิ้นทุกข์เพราะเจ้าคุณช่วยหนุนนำ | พระคุณล้ำเลิศลบภพไตร |
พวกเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | ลงกราบกรานยินดีจะมีไหน |
ด้วยนับถือซื่อตรงปลงในใจ | ทั้งนายไพร่ทั่วเขตนิเวศน์วัง ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเจ้ามารยาจึงว่าขาน | มาอยู่นานจะลาไปดั่งใจหวัง |
เที่ยวไปในสาชลตามวนวัง | หมายจะตั้งศาสนาให้ถาวร |
แม้นพบปะเมืองใดที่ใจบาป | จะได้ปราบปรามบ้างช่วยสั่งสอน |
ให้ได้ความสุขาสถาพร | ทั่วนครในชมพูให้อยู่เย็น ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์กบิลราช | ว่ากับบาทหลวงอาจารย์จะนานเห็น |
ท่านมาช่วยดับร้อนให้ผ่อนเย็น | ข้าขอเป็นศิษย์หากว่าจะตาย |
จึ่งสั่งพวกเสวกาบรรดาเฝ้า | ไปจัดเอาเครื่องจินดามาถวาย |
บาททลวงว่าจะเอาบุญอย่าวุ่นวาย | ไม่มุ่งหมายทรัพย์สินทั้งจินดา |
แกว่าพลางทางคำนับแล้วจับหัตถ์ | เจ้าจังหวัดเชิญให้นั่งยังรถา |
พวกขุนนางต่างมาส่งลงเภตรา | พระมังคลาลุกมารับคำนับพลัน |
ฝ่ายเสนาที่มาส่งพระบาทหลวง | ทุกกระทรวงบ่าวนายรีบผายผัน |
ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราครั้นสายัณห์ | จรจรัลกลับเข้าไปในบุรินทร์ ฯ |