- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
๏ จะกลับกล่าวชาวบ้านด่านสมุทร | เป็นที่สุดนับถือพระฤๅษี |
นางโฉมยงนงลักษณ์อัคนี | ขึ้นอยู่ที่ป้อมปืนทุกคืนวัน |
ทั้งพี่เลี้ยงเคียงอาสน์ต่างคาดว่า | นายด่านกล้าขึ้นไปถึงไอศวรรย์ |
เห็นทีท้าวเจ้าพาราจะฆ่าฟัน | เมื่อวันนั้นนึกจะห้ามก็ขามใจ |
แม่ก็รู้อยู่ทำไมจึงไม่ห้าม | หรือต้องตามกลศึกนึกไฉน |
นางยิ้มพลางทางว่าเห็นไม่เป็นไร | ปล่อยขึ้นไปได้ทีดีข้างเรา |
ถึงเจ้าเมืองเคืองขัดจะตัดหัว | ตายแต่ตัวนายกองกรรมของเขา |
ฝ่ายพวกพ้องต้องโทษทั้งโคตรเค้า | จะช่วยเรารบรุดจนสุดมือ |
ได้รายทางวางคนทำกลศึก | ฉันตรองตรึกเห็นกระนี้ไม่ดีหรือ |
แม้รบเราเผาเมืองให้เลื่องลือ | ทั้งฝีมือความคิดวิทยา |
อันนายด่านฉันให้ไปมิได้ห้าม | ด้วยจับยามเห็นว่ายังไม่สังขาร์ |
ให้หนังสือถือไปมาลัยมาลา | ใช้ปัญญาดูสักครั้งจะอย่างไร |
พี่เลี้ยงฟังบังคมชมฉลาด | แม่คิดคาดเหลือดีจะมีไหน |
ต่างจับยามตามตำราประสาใจ | เห็นจะได้คืนกลับไม่อับจน |
ต่างเตรียมศึกฝึกเหล่าพวกชาวบ้าน | ให้รอนราญรุกรบถึงหลบฝน |
ฝ่ายโฉมยงนงเยาว์เสาวคนธ์ | ขึ้นอยู่บนป้อมชั้นเชิงบรรพต ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายด่านถึงบ้านไหน | เกลี้ยกล่อมได้เพื่อนสนิทคิดขบถ |
เป็นหลายร้อยพลอยสมัครด้วยรักยศ | ล้วนคนคดเขาไม่เอาเข้าบาญชี |
ไปตามทางกลางถนนคนทั้งหลาย | ไม่ใกล้กรายเกลียดกลัวเอาตัวหนี |
พวกนายด่านพาลทะนงด้วยธงมี | ทำท่วงทีเป็นสุภาตุลาการ |
ถึงบ้านไหนได้คำนับธงรับสั่ง | เรียกเอาทั้งเหล้าข้าวของคาวหวาน |
ข่มเหงเล่นเป็นโสดด้วยโปรดปราน | จะไปด่านคิดสู้กับภูมินทร์ |
ชาวบ้านเมืองเคืองแค้นแสนสาหัส | โกรธกษัตริย์กระซิบว่านินทาสิ้น |
ทำธงให้อ้ายขบถคดแผ่นดิน | มาขู่กินเล่นสนุกปรับทุกข์กัน |
นายด่านได้ไพร่พลมาอลหม่าน | เข้าถึงด่านดังหนึ่งมาถึงสวรรค์ |
พวกลูกเต้าบ่าวไพร่ดีใจครัน | มาพร้อมกันอยู่ที่พระอัคนี |
นายด่านกราบราบเรียบพับเพียบพลอด | ครั้งนี้รอดเพราะหนังสือพระฤๅษี |
แล้วเล่าความตามท้าวเจ้าบูรี | ให้ฆ่าตีตอบโต้โมโหฮึก |
กำลังโกรธโปรดปรานประทานยศ | ให้เป็นขบถคิดอ่านทำการศึก |
ตีตราธงส่งให้เหมือนใจนึก | เหลือรำลึกถึงคุณพระมุนี |
ช่างฉลาดคาดแน่เหมือนแลเห็น | หรือพระเป็นเทวดาในราศี |
โปรดประหารผลาญท้าวเจ้าบุรี | ขึ้นนั่งที่แทนกษัตริย์ขัตติยา ฯ |
๏ พระดาบสอดยิ้มพริ้มพระโอษฐ์ | ภิปรายโปรดว่าเราขาดปรารถนา |
ไม่นิยมสมบัติกษัตรา | หมายโสดาแดนสวรรค์ชั้นวิมาน |
แต่เมื่อเป็นเช่นนี้จะมิช่วย | สงสารด้วยศิษย์หาโยธาหาญ |
ถ้าเขารบเราก่อนจึงรอนราญ | อันเมืองด่านแดนเดินเนินบรรพต |
จงหัดให้ไพร่พลรู้กลรบ | ที่หลีกหลบไล่ล้อมพร้อมกันหมด |
เดินกระบวนส่วนเดียวไม่เลี้ยวลด | ชื่อว่าทศโยธาแสนยากร |
เป็นสิบกองต้องหัดให้ผลัดเปลี่ยน | กระหวัดเวียนวกหลังเหมือนสั่งสอน |
สำคัญกลองฆ้องขานเข้าราญรอน | ให้พลผ่อนผลัดรบบรรจบกัน ฯ |
๏ นายด่านฟังดังหนึ่งได้ชัยชนะ | สาธุสะศึกเสือเหลือขยัน |
ไม่กลัวใครได้ครูจะสู้กัน | ไล่ห้ำหั่นกินดิบในพริบตา |
แล้วสั่งให้ไปจัดหัดทหาร | ให้ชำนาญหนีไล่เลี้ยวซ้ายขวา |
ได้หลายหมื่นล้วนทมิฬสิ้นโยธา | ทั้งพลการะเวกนั้นด้วยพันร้อย |
แบ่งพวกหญิงชาญธนูอยู่กำกับ | ทั้งสิบทัพคุมไพร่คอยใช้สอย |
เห็นแทงฟันมันไม่ม้วยจึงช่วยพลอย | ยิงให้ลอยข้ามทัพพออัปรีย์ |
เป็นสิบหมู่รู้กันสำคัญฆ้อง | ให้ตีกลองว่องไวทีไล่หนี |
สงบให้เขามารบราวี | จึงตามตีติดพันเหมือนสัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายราหูผู้รับสั่งที่ตั้งทัพ | มิได้กลับด้วยยังไม่ได้ให้หา |
พอรู้ข่าวท้าวปล่อยคนโทษมา | ทั้งมีตราสั่งกำชับให้จับเป็น |
เห็นวิปริตผิดอย่างแต่ปางก่อน | ราษฎรจะได้ทุกข์เกิดยุคเข็ญ |
มิควรทำลำบากให้ยากเย็น | แต่จำเป็นก็จะต้องฉลองคุณ |
จึงสั่งฝ่ายนายรองทั้งกองทัพ | ให้กำกับกันแต่พื้นพวกหมื่นขุน |
จะปีนเข้าเผาเมืองให้ชุลมุน | ทั้งทัพหนุนหน้าหลังประดังกัน |
นายกองรับกลับออกมาบอกไพร่ | เตรียมเชื้อไฟดินดำกำมะถัน |
ทั้งสายโซ่โยทะกาผ้าน้ำมัน | บ้างทำบันไดปีนตีนกำแพง |
ส่วนราหูผู้ชำนาญในการรบ | แต่งตัวครบเครื่องยุทธ์อาวุธแฝง |
ถือโลหะจรีเหมือนตรีแทง | คันทองแดงสี่ศอกเม็ดดอกบัว |
กิเลนขี่มีเกราะโลหะหุ้ม | หมวกโหม่งครุ่มครอบสวมใส่กรวมหัว |
มันยักคิ้วหลิ่วตาดูน่ากลัว | ตัวเหมือนตัวพยัคฆาหน้าเหมือนคน |
แล้วตีฆ้องกลองศึกพิลึกลั่น | ธงสำคัญโบกคว้างมากลางหน |
ต่างโห่ร้องซ้องเสียงสำเนียงพล | ขับกันกล่นเกลื่อนมาล้อมป้อมปราการ |
แล้วหยุดทัพยับยั้งสั่งให้บ่าว | ร้องว่าชาวทะเลเดรฉาน |
เป็นขบถคดโกงพระโองการ | จะรอนราญเร่งออกมาอย่าช้าที |
แม้นิ่งอยู่กูจะเข้าไปเอาโทษ | ให้สิ้นโคตรคนถือพระฤๅษี |
ใครนับถือซื่อต่อเจ้าธรณี | มาภักดีจะโปรดที่โทษกรณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพลบนเชิงเทินเนินหอรบ | ไม่หลีกหลบต้านศึกเหมือนฝึกสอน |
เหวยราหูผู้เฒ่าเจ้านคร | เมื่อคราวก่อนก็อุบายปดนายกู |
ให้ออกไปใส่กรงส่งเมืองหลวง | ทำล่อลวงเลี้ยวลดไม่อดสู |
ยังมีหน้ามาอีกเล่าเฒ่าหัวงู | แล้วนายกูจะไปจับมาสับฟัน ฯ |
๏ ราหูฟังคั่งแค้นขับทหาร | เข้าหักด่านเข่นฆ่าให้อาสัญ |
พลางตีฆ้องกลองรบสมทบกัน | โห่สนั่นครั่นครื้นยิงปืนไฟ |
บ้างโยนโซ่โยถกาขาเกี่ยวติด | ไต่ประชิดแทงฟันเสียงหวั่นไหว |
ชาวด่านเอาเสาทิ้งกลิ้งลงไป | ถูกนายไพร่เจ็บป่วยบ้างม้วยมรณ์ |
ที่เหลือตายนายขับขึ้นรับรบ | จุดเพลิงคบขว้างทิ้งบ้างยิงศร |
ชาวด่านแทงแพลงพลาดสาดน้ำร้อน | ต่างแทรกซ่อนรอนรันประจัญบาน ฯ |
๏ ฝ่ายนงลักษณ์อัคนีอยู่ที่ป้อม | เห็นทัพล้อมพร้อมพรักเข้าหักหาญ |
ได้ท่วงทีตีฆ้องก้องกังวาน | ทหารขานโห่รับทั้งทัพชัย |
เปิดประตูตรูตรงออกยงยุทธ์ | อุตลุดไล่ฟันเสียงหวั่นไหว |
ทั้งสิบทัพนับหมื่นยิงปืนไฟ | ถูกนายไพร่ตายล้มไม่สมประดี |
พวกราหูสู้รบบ้างหลบเลี่ยง | ไม่พร้อมเพรียงพลัดพรายกระจายหนี |
พวกชาวด่านรานรุกเข้าคลุกคลี | ผลาญโยธีกองทัพลงนับพัน |
แต่เสนาราหูยังสู้รบ | เลี้ยวตลบหลีกลัดสกัดกั้น |
ขับกิเลนเผ่นโผนโจนประจัญ | ไล่แทงฟันหันคว้างอยู่กลางพล |
พวกด่านห้อมล้อมรุมกลุ้มสกัด | ต่างพุ่งซัดศัสตราดังห่าฝน |
ถูกราหูสู้ดำรงด้วยคงทน | ถึงอับจนคนเดียวสิ้นเรี่ยวแรง ฯ |
๏ ฝ่ายนายด่านชาญสมุทรขี่อูฐรบ | เลี้ยวตลบไล่ทหารชาญกำแหง |
เห็นราหูจู่โจมโถมเข้าแทง | ราหูแรงน้อยรบหลบไม่ทัน |
ถูกหอกหกตกกิเลนลุกเผ่นโผน | นายด่านโจนจับมัดรัดกระสัน |
ทหารแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน | นายด่านฟันไพร่นายล้มตายยับ |
พวกโยธาราหูไม่สู้รบ | ลงนอบนบนั่งไหว้ยอมให้จับ |
พระอัคนีตีกลองเรียกกองทัพ | ต่างคืนกลับเกลื่อนมาหน้าปราการ ฯ |
๏ นายด่านพาราหูคนผู้เฒ่า | มาหมอบเฝ้าที่ตรงป้อมพร้อมทหาร |
นางเห็นหน้าราหูคนบุราณ | คิดสงสารคนแก่ให้แก้มัด |
เห็นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยเหน็บยังเจ็บปวด | ให้หมอนวดหลายคนปรนนิบัติ |
ทั้งเอมโอชโภชนาสารพัด | มาตั้งจัดแจงให้เป็นไมตรี |
แล้วตรัสว่าราหูเป็นผู้เฒ่า | อันตัวเรานี้ถือเป็นฤๅษี |
คิดประโยชน์โปรดสัตว์ในปถพี | ไม่ฆ่าตีหญิงชายให้วายชนม์ |
เราหมายมาว่าจะชมโรมวิสัย | ด้วยจงใจเจตนาสถาผล |
เจ้าเมืองใหญ่ใช้ท่านมาไล่ฆ่าคน | จึงจำจนจำสู้ให้รู้ฤทธิ์ |
เราจับได้ให้สงสารท่านราหู | อย่าไปอยู่แปดปนกับคนผิด |
จะยกโทษโปรดให้ไว้ชีวิต | จะสัตย์ซื่อหรือจะคิดเบือนบิดไป ฯ |
๏ ราหูฟังสั่งสอนสุนทรปลอบ | พลอยเห็นชอบเชิงความตามวิสัย |
สารภาพกราบฤๅษีด้วยดีใจ | พระคุณใครไม่เหมือนคุณพระมุนี |
มารบรับจับได้ไว้ชีวิต | จะขอคิดนับถือพระฤๅษี |
อยู่เป็นข้ากว่าจะตายวายชีวี | พระมุนีอย่าได้แหนงแคลงพระทัย |
อันองค์ท้าวเจ้าวาหุโลมราช | จะสิ้นวาสนาคิดผิดวิสัย |
ให้ธานีมีศึกไม่ตรึกไตร | จะพาไพร่พลตายวายชีวัน ฯ |
๏ พระอัคนีปรีชาว่าราหู | ท่านย่อมรู้ความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
อันชิงชัยได้ชนะจะละกัน | ชื่อว่าจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย |
ท่านไปด้วยช่วยกำกับเป็นทัพหน้า | ปราบบรรดาเมืองทมิฬสิ้นทั้งหลาย |
พวกกองทัพจับได้ทั้งไพร่นาย | ยังมากมายมอบให้ท่านใช้การ ฯ |
๏ ราหูฟังบังคมประนมสนอง | จะเป็นกองทัพหน้าไปว่าขาน |
แม้เมืองไหนไม่อ่อนจะรอนราญ | สังหารผลาญชีวันให้บรรลัย |
แล้วทูลลาพาบ่าวมาเข้าค่าย | ทั้งไพร่นายยินดีจะมีไหน |
ทุกหมู่หมวดตรวจพลสกลไกร | ยังอยู่ได้ห้าหมื่นพื้นฉกรรจ์ |
ทั้งเกวียนม้าลาที่เคยขี่ขับ | เตรียมสำหรับรับนายจะผายผัน |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องกลองสำคัญ | โห่สนั่นลั่นเลื่อนยกเคลื่อนคลา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีกับพี่เลี้ยง | จัดพร้อมเพรียงไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
คอยอยู่หลังนั่งคะเนดูเวลา | ให้ทัพหน้าเดินไปก่อนได้ค่อนวัน |
พอแดดร่มลมตกยกทหาร | ออกจากด่านเดินพหลพลขันธ์ |
ต่างขานฆ้องกองทัพรับโห่กัน | นายด่านนั้นนำหน้าพลากร |
นางโฉมยงทรงสิงห์กั้นกลิ้งกลด | เผ่นพยศเยื้องไหล่เยี่ยงไกรสร |
ประโคมฆ้องกลองแห่ทั้งแตรงอน | อ้อมสิงขรขึ้นทางไปหว่างเนิน |
พวกขอเฝ้าเหล่าสี่พระพี่เลี้ยง | ประคองเคียงข้างนางไม่ห่างเหิน |
ต้นยางยูงสูงสล้างริมทางเดิน | ต่างมุ่งเมินเดินชมพนมไพร |
พฤกษาออกดอกดวงเป็นพวงห้อย | ระย้าย้อยช้อยชดสดไสว |
พวกผู้หญิงชิงช่วงพวงดอกไม้ | ต่างเด็ดได้ไปถวายพระอัคนี |
ริมเชิงเขาสาวหยุดพุทธชาด | เดียรดาษดอกประดับสลับสี |
รสสุคนธ์มณฑาสารภี | มะลุลีลั่นทมน่าชมเชย |
สองข้างทางนางแย้มแกมกุหลาบ | แก้วอังกาบพุดพะยอมหอมระเหย |
นางชมชื่นรื่นร่มลมรำเพย | คิดถึงเคยคราวครั้งไปลังกา |
เคยพร้อมพรั่งทั้งสองพระน้องพี่ | ได้ชวนชี้ชมไม้ไพรพฤกษา |
มาห่างแหแต่นี้พระพี่ยา | ไม่เห็นหน้าน้องแล้วจะแคล้วกัน |
ยิ่งตรึกตราอาลัยจะใคร่กลับ | แต่ล่าทัพอับอายจำผายผัน |
พระพักตร์เศร้าเปล่าใจในไพรวัน | สู้อัดอั้นกลั้นสะอื้นฝืนฤทัย |
รีบเดินทางกลางวันได้พันเส้น | ครั้นจวนเย็นทำพลับพลาหยุดอาศัย |
ครั้นเช้าตามทัพหน้าเคลื่อนคลาไคล | ตลอดไปตามทางหว่างคีรี ฯ |
๏ ฝ่ายราหูผู้เฒ่าเข้าแดนด่าน | ห้ามชาวบ้านน้อยใหญ่มิให้หนี |
เที่ยวบอกเล่าเจ้าเมืองเอกโทตรี | ว่ามุนีมีบุญกรุณา |
เมืองเล็กน้อยพลอยเห็นเช่นราหู | ไม่รบสู้สาพิภักดิ์ด้วยหนักหนา |
คอยรับทัพคับคั่งตั้งบูชา | ล่วงด่านมาห้าชั้นไม่อันตราย ฯ |
๏ จะกล่าวเรื่องเมืองด่านทหารเอก | ชื่อตรีเมฆคุมทมิฬสิ้นทั้งหลาย |
ครั้นรู้ว่าราหูคบผู้ร้าย | ชวนหญิงชายภักดีด้วยชีไพร |
จะยกมาชวนเราให้เข้าด้วย | จำต้องช่วยเจ้าปราบราบให้ได้ |
จึงรีบรัดจัดพลสกลไกร | ทั้งนายไพร่พร้อมหน้าถืออาวุธ |
แล้วยกออกนอกด่านด้วยหาญฮึก | จะปราบศึกเสี้ยนแผ่นดินให้สิ้นสุด |
ทั้งสี่หมื่นพื้นทหารชำนาญยุทธ์ | ไม่ยั้งหยุดยกเดินขึ้นเนินทราย |
พอพบกับทัพหน้าพวกราหู | ต่างรอดูท่วงทีไม่หนีหาย |
บ้างแกว่งกลอกหอกดาบปลาบประกาย | นายต่อนายออกหน้าร้องพาที |
ตรีเมฆว่าราหูเป็นผู้เฒ่า | ไยไปเข้านับถือพระฤๅษี |
เสียแรงท้าวเจ้าจังหวัดปถพี | ประทานที่บ้านเมืองแลเครื่องยศ |
ให้ยกทัพนับแสนไปแดนด่าน | สังหารผลาญผู้ผิดคิดขบถ |
เหตุไฉนใจจิตจึงคิดคด | ทรยศยกมาจะราวี ฯ |
๏ ฝ่ายราหูผู้เฒ่าจึงเล่าเรื่อง | เดิมคิดเคืองคนนับถือพระฤๅษี |
เรายกไปให้ทหารเข้าต้านตี | จนเสียทีชีวันจะบรรลัย |
พระฤๅษีมีคุณการุญโปรด | ไม่ถือโทษเมตตาอัชฌาสัย |
ให้กลับมาว่ากล่าวทูลท้าวไท | มิให้ไพร่พลเมืองเคืองรำคาญ |
ด้วยฤๅษีประโยชน์จะโปรดสัตว์ | ไม่นิยมสมบัติพัสถาน |
เรานำหน้ามาแถลงให้แจ้งการณ์ | จะรุกรานท่านผู้ใดก็ไม่มี |
ท่านเลิกทัพขับไพร่ไปเสียเถิด | อย่าให้เกิดรบพุ่งเอากรุงศรี |
ช่วยทูลท้าวเจ้าจังหวัดปถพี | ให้ภักดีดาบสทรงพรตธรรม์ |
จะก่อศึกฮึกหาญเป็นการชั่ว | จะร้อนทั่วทุกประเทศทั้งเขตขัณฑ์ |
ท่านกับเราเล่าก็มีไมตรีกัน | จงผ่อนผันพอให้ควรอย่าลวนลาม ฯ |
๏ ตรีเมฆว่าราหูคบผู้ร้าย | คิดอุบายเบียดเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
เป็นข้าครอกนอกเจ้าข้าวนอกชาม | ช่วยติดตามรบราญด่านเข้ามา |
ตัวเองนี้เราเห็นเป็นคนคด | ทรยศต่อแผ่นดินสิ้นขายหน้า |
ไม่คิดคุณทูลกระหม่อมชุบย้อมมา | ซ้ำอาสานำขบถมาปดเรา |
เร่งถอยทัพกลับไปเสียให้พ้น | ไม่คบคนหือรือโหดพวกโฉดเฉา |
มิฟังว่าราหูอย่าดูเบา | จะตัดเอาศีรษะเสียบประจาน ฯ |
๏ ราหูว่าฉาฉีอ้ายตรีเมฆ | กลับโหยกเหยกก่อศึกพูดฮึกหาญ |
จะทำให้ไพร่เมืองเคืองรำคาญ | กูจะผลาญเสียให้ตายวายชีวี |
ขับกิเลนเผ่นโผนกระโจนจับ | ตรีเมฆขับแรดรบไม่หลบหนี |
ต่างรับรองป้องกันประจัญตี | ปะทะทีฟันแทงต่อแย้งยุทธ์ |
เหล่าทหารต่อทหารรุกราญรบ | ไม่หลีกหลบกลอกกลับสัประยุทธ์ |
ต่างพุ่งซัดศัสตราแกว่งอาวุธ | อุตลุดตะลุมบอนไล่ฟอนฟัน |
ทั้งสองฝ่ายนายไพร่ต่างไวว่อง | ต่างรับรองเรี่ยวแรงล้วนแข็งขัน |
พอนายด่านชานชลายกมาทัน | โห่สนั่นหนุนกลุ้มเข้ารุมรบ |
บ้างโอบอ้อมล้อมหลังไล่สังหาร | พวกพลด่านตายยับซ้อนซับศพ |
ทั้งสองทัพขับโยธีตีสมทบ | ตรีเมฆหลบหลีกล่าเข้าป่ารัง |
ราหูไล่นายด่านเข้าต้านหน้า | พวกโยธาหุ้มห้อมล้อมหน้าหลัง |
ตรีเมฆรับสัประยุทธ์สุดกำลัง | ตกจากหลังแรดล้มไม่สมประดี |
ทหารรุมกลุ้มกลัดจับมัดมั่น | ไล่ฆ่าฟันไพร่นายพลัดพรายหนี |
พอทัพหลังทั้งองค์พระอัคนี | มาถึงที่รบทัพตั้งพลับพลา ฯ |
๏ ฝ่ายสองทัพจับได้ไพร่ชาวด่าน | มาประมาณสามหมื่นล้วนปืนผา |
ราหูให้ไพร่มัดตรีเมฆมา | หมอบตรงหน้าเฝ้าพระอัคนี |
แล้วทูลความตามพบได้รบสู้ | นี่ตัวผู้รั้งด่านชานกรุงศรี |
นางทรงฟังสั่งว่าอย่าฆ่าตี | ให้แก้ตรีเมฆออกแล้วบอกความ |
เราถือศิลจินตนารักษากิจ | มิได้คิดการบาปที่หยาบหยาม |
เจ้าของท่านไม่ควรทำลวนลาม | นายด่านห้ามก็ไม่ฟังอหังการ์ |
ไม่ทำบุญฉุนเฉียวซ้ำเกรี้ยวโกรธ | จะฆ่าโคตรญาติวงศ์เผ่าพงศา |
จึงจำช่วยด้วยสมเพชเวทนา | หมายจะมาว่ากล่าวกับท้าวไท |
ให้ถือธรรมจำศิลสิ้นมานะ | แล้วเราจะขึ้นไปชมโรมวิสัย |
ท่านซื่อตรงจงบำรุงเจ้ากรุงไกร | ให้อยู่ในศีลสัตย์สวัสดี ฯ |
๏ ตรีเมฆนั่งฟังตรัสมธุรส | น้อมประณตนับถือพระฤๅษี |
ท่านคิดชอบขอบคุณพระมุนี | ขอเป็นที่พึ่งให้พ้นภัยพาล |
จะไปด้วยช่วยส่งถึงเมืองหลวง | คนทั้งปวงปะข้าจะว่าขาน |
ให้เปิดด่านชั้นเจ็ดสำเร็จการ | ได้พบพานพูดกับท้าวเจ้าแผ่นดิน |
ให้ท้าวหายร้ายดุด้วยสุภาพ | ไม่ทำบาปหยาบช้ารักษาศิล |
ได้เย็นใจไพร่ฟ้าเห็นอาจิณ | จะเพิ่มภิญโญยศปรากฏไป |
ขอพระองค์จงพาโยธาหาญ | เข้าในด่านอย่าแคลงแหนงไฉน |
แล้วนำหน้าพาพลสกลไกร | เข้าอยู่ในด่านสิ้นดังจินดา |
แล้วเร่งใช้ให้บ่าวไปป่าวร้อง | ชาวบ้านช่องหญิงชายทั้งซ้ายขวา |
แต่งสำรับกับข้าวทั้งเหล้ายา | เลี้ยงบรรดาพลพรรคพระอัคนี |
แล้วบอกเล่าเหล่าทมิฬสิ้นทั้งนั้น | ให้พร้อมกันนับถือพระฤๅษี |
ครั้นรุ่งเช้าเข้ามาว่าข้านี้ | ขอเป็นที่ทัพหน้าล่วงคลาไคล |
ไปบอกเล่าเจ้านครเขื่อนเพลิงนั้น | ให้ด่านชั้นเจ็ดแจ้งแถลงไข |
เปิดทางทัพรับพระองค์ให้ตรงไป | เห็นจะได้ด้วยเป็นมิตรสนิทกัน ฯ |
๏ พระอัคนีดีใจมิได้ห้าม | สุดแต่ความคิดนายเร่งผายผัน |
ตรีเมฆลาพาทหารขาวด่านนั้น | หมื่นห้าพันเข้าประจำนำลีลา |
ตรีเมฆนั่งหลังแรดผาดแผดร้อง | พาพวกพ้องพลเดินบนเนินผา |
แล้วองค์พระอัคนีผู้ปรีชา | ตรัสสั่งราหูให้ยกไปตาม |
ตะวันบ่ายนายทหารด่านปากน้ำ | ยกทัพนำหน้าเสด็จไม่เข็ดขาม |
ทั้งทัพหลังทัพหลวงล่วงสามยาม | จึงยกตามสามทัพกำกับไป ฯ |
๏ จะกล่าวความนามพระกาลชาญสมร | เจ้านครเขื่อนเพลิงเชิงไศล |
คุมทหารด่านสำคัญอยู่ชั้นใน | ให้ม้าใช้สืบเรื่องหัวเมืองราย |
รู้ข่าวว่าราหูกับตรีเมฆ | คิดโหยกเหยกคบขบถจึงจดหมาย |
เป็นความเมืองเรื่องราวทูลเจ้านาย | แล้วแจกจ่ายเสื้อหมวกให้พวกพล |
ทั้งปืนผาอาวุธเครื่องยุทธ์ครบ | จะคอยรบทัพศึกเตรียมฝึกฝน |
ตระเวนระวังนั่งทางทุกตำบล | แล้วขับพลขึ้นประจำป้อมกำแพง |
ให้ลงขวากลากปืนเข้าจุกช่อง | ทุกหมวดกองเกณฑ์กันล้วนขันแข็ง |
หอรบรายค่ายป้อมให้ซ่อมแปลง | รีบจัดแจงอาวุธยุทธนา ฯ |
๏ ฝ่ายตรีเมฆเสนีที่ไปก่อน | ถึงนครเขื่อนเพลิงริมเชิงผา |
เห็นพวกพลล้นหลามตามเสมา | เดินตรวจตราเตรียมการจะราญรอน |
จึงรอรั้งตั้งค่ายอยู่ชายทุ่ง | พอย่ำรุ่งเรียกเสมียนเขียนอักษร |
ให้บ่าวไปในเมืองแจ้งเรื่องร้อน | เจ้านครรับอ่านดูสารพลัน ฯ |
๏ หนังสือนี้ตรีเมฆเจ้าเมืองด่าน | ขอแจ้งการณ์เวียงชัยไอศวรรย์ |
อย่าโมโหโกรธาคิดฆ่าฟัน | จงอดกลั้นตรองความให้งามดี |
เร่งถือธรรมจำศิลสิ้นโทโส | ได้ภิญโญยศบำรุงชาวกรุงศรี |
เดิมราหูผู้เฒ่ากับเรานี้ | ออกต้านตีแตกทัพได้อับอาย |
เธอจับได้ไม่สังหารผลาญชีวิต | จึงเห็นฤทธิ์ว่าฤๅษีดีใจหาย |
ใครรบสู้ผู้นั้นจะอันตราย | คนทั้งหลายเลื่อมใสพร้อมใจกัน |
จงรู้เถิดเปิดด่านให้ท่านด้วย | จะได้ช่วยโปรดให้ไปสวรรค์ |
เราบอกความตามจริงทุกสิ่งอัน | แม้ป้องกันกีดฤๅษีจะมีภัย ฯ |
๏ พระกาลฟังคั่งแค้นแสนพิโรธ | สู้อดโกรธรักษาอัชฌาสัย |
จึงเสแสร้งแกล้งตอบว่าขอบใจ | ที่ชวนชักรักใคร่จะให้ดี |
ทั้งบอกกล่าวราวเรื่องให้รู้เหตุ | ผู้วิเศษจะบำรุงเจ้ากรุงศรี |
แม้จริงจังดังว่าอย่าช้าที | บอกให้ตรีเมฆมาพูดจากัน ฯ |
๏ ฝ่ายผู้ถือหนังสือลับกลับมาค่าย | บอกความนายตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ตรีเมฆฟังนั่งรำพึงอยู่ครึ่งวัน | คิดพรั่นพรั่นเพื่อนเราจะเผาเรือน |
แม้มิไปไม่ดีเหมือนขี้ขลาด | ไม่องอาจอายใจใครจะเหมือน |
พอพระกาลให้ม้าใช้ออกไปเตือน | ไม่บิดเบือนบอกว่าเราจะเข้าไป |
เรียกบ่าวตามสามคนเข้าเมืองด่าน | ฝ่ายพระกาลยินดีจะมีไหน |
จับเสนีตรีเมฆลงเหล็กไว้ | แล้วคุกคามถามไต่จงให้การ |
ตัวเป็นข้าฝ่าพระบาทบดินทร์สูร | ได้เพิ่มพูนยศศักดิ์อัครฐาน |
เคยถือน้ำทำสัตย์ปฏิญาณ | กินเมืองด่านแดนประเทศเขตนคร |
เหตุไฉนใจคอจึงทรยศ | เป็นขบถบพิตรอดิสร |
มาชวนเราเข้าด้วยให้ม้วยมรณ์ | ทำยอกย้อนอย่างนั้นด้วยอันใด |
เคยเป็นมิตรคิดว่าดีดูตรีเมฆ | มาโหยกเหยกอย่างนี้ผิดวิสัย |
จะต้องเอาเข้ากรงบอกส่งไป | จะว่าไรเร่งว่าอย่าช้าที ฯ |
๏ ตรีเมฆฟังคั่งแค้นแหงนหัวร่อ | กูไม่ง้อขอชีวิตไม่คิดหนี |
นึกว่าเพื่อนเหมือนเขาว่าเพราะปรานี | มึงกลับตีเอาเรือไม่เชื่อฟัง |
ถึงกูตายภายหน้ากรรมมาถึง | พวกของมึงจึงจะตายเมื่อภายหลัง |
กูซื่อตรงหลงประมาทจึงพลาดพลั้ง | มึงระวังหัวเถิดวะอ้ายพระกาล ฯ |
๏ เจ้าเมืองฟังสั่งให้ใส่กรงไว้ | แต่บ่าวไพร่ปล่อยออกไปบอกทหาร |
ว่านายผิดคิดร้ายจะวายปราณ | พวกชาวด่านเป็นแต่ไพร่มิได้คิด |
พากันมาหาเราไม่เอาโทษ | จะช่วยโปรดผ่อนปรนให้พ้นผิด |
ให้จงรักภักดีเจ้าชีวิต | อย่าควรคิดขัดขวางเหมือนอย่างนาย ฯ |
๏ ฝ่ายโยธีตรีเมฆสักหมื่นเศษ | ครั้นรู้เหตุย่อท้อใจคอหาย |
แต่นายกองร้องห้ามตามอุบาย | เขาลวงนายเราเข้าไปจับใส่กรง |
เราเข้าหาน่าที่จะมีผิด | มันคงคิดจับกุมอย่าลุ่มหลง |
รักษาค่ายไว้ด้วยกันให้มั่นคง | เมื่อมันส่งเมืองหลวงจึงช่วงชิง |
ช่วยแก้แค้นแทนนายเหมือนหมายมาด | เราล้วนชาติชายใช่น้ำใจหญิง |
ทั้งพวกไพร่ใหญ่น้อยพลอยเห็นจริง | หวังจะชิงนายด่านคอยราญรอน ฯ |
๏ ฝ่ายราหูผู้กำกับอยู่ทัพหน้า | ยกโยธามาตามทางหว่างสิงขร |
พอแดดลบหลบสิ้นแสงทินกร | ใกล้นครเขื่อนเพลิงเชิงคิรี |
จึงหยุดทัพยับยั้งอยู่หลังเขา | คอยจับชาวเมืองข้างทางวิถี |
ให้ม้าใช้ไปที่ค่ายฟังร้ายดี | พอพวกตรีเมฆมาบอกว่านาย |
เขาจับได้ใส่กรงเหล็กขังไว้ | จะส่งไปให้เสมียนเขียนจดหมาย |
ราหูฟังสั่งความตามอุบาย | ไปอยู่ค่ายคอยดูชาวบูรี |
แม้พระกาลเกณฑ์ทหารออกห้อมล้อม | อุส่าห์พร้อมใจรบอย่าหลบหนี |
แล้วพวกพ้องกองเราจะเข้าตี | ชิงบุรีเห็นจะเสร็จสำเร็จการ |
ปลัดทัพรับลากลับมาค่าย | บอกอุบายถ้วนทั่วตัวทหาร |
ต่างดีใจไม่นอนจะรอนราญ | แม้ชาวด่านมาจับจะรับรบ ฯ |
๏ ฝ่ายพระกาลหาญศึกนั่งปรึกษา | กับบรรดาขุนนางผู้รู้ขนบ |
พวกโยธีตรีเมฆไม่นอบนบ | เห็นจะรบรอราอยู่ท่าทัพ |
ถ้าพวกพ้องของมันนั้นมามาก | จะทำยากจริงเจียวต้องเคี่ยวขับ |
อยู่แต่ไพร่ไม่ยอมน้อมคำนับ | ไปล้อมจับตัวมันเสียวันนี้ |
พวกนายรองกองทะลวงหลวงปลัด | จงรีบรัดเรียกกันขมันขมี |
พอคุมคนพรักพร้อมออกล้อมตี | เป็นพลสี่กองรบสมทบกัน ฯ |
๏ ฝ่ายนายรองกองทะลวงหลวงปลัด | รับคำจัดพวกพหลพลขันธ์ |
ถืออาวุธจุดคบมีครบครัน | แล้วชวนกันยกออกนอกกำแพง |
เข้าโอบอ้อมล้อมรอบริมขอบค่าย | จุดคบรายเรียงสว่างกระจ่างแสง |
บ้างถอนขวากลากเหนี่ยวด้วยเรี่ยวแรง | ชาวด่านแย้งยิงปืนเสียงครื้นครึก |
ทั้งสี่ทัพขับระดมเข้าสมทบ | เร่งให้รบตีกลองเสียงก้องกึก |
โห่สนั่นลั่นเลื่อนสะเทื้อนสะทึก | กำดัดดึกครึกครื้นด้วยปืนรบ ฯ |
๏ ฝ่ายราหูรู้ว่าคนออกปล้นค่าย | ขับไพร่นายหนุนกันแล้วบรรจบ |
เข้าล้อมหลังชาวบุรีตีกระทบ | ฟันจนศพซ้อนซับลงทับกัน |
พวกนายรองกองทะลวงหลวงปลัด | แตกกระจัดกระจายเวียนวิ่งเหียนหัน |
พวกโยธีตรีเมฆหมื่นสี่พัน | ออกไล่ฟันไพร่นายวอดวายวาง |
พลบุรีสี่หมื่นตายดื่นดาษ | กลิ้งเกลื่อนกลาดกลางทุ่งจนรุ่งสาง |
บ้างหลบลี้หนีจนวนอยู่กลาง | บ้างเจ็บบ้างตายล้มไม่สมประดี ฯ |
๏ ฝ่ายพระกาลหาญเหี้ยมยืนเยี่ยมป้อม | เห็นศึกล้อมเหล่าทหารลนลานหนี |
เร่งยกทัพขับออกนอกบุรี | ตัวขึ้นขี่โลโตไล่โยธา |
รุมระดมสมทบรบราหู | เป็นหมวดหมู่มากมายทั้งซ้ายขวา |
พอแดดสายนายด่านชานชลา | ยกโยธามาสำทับช่วยรับรบ |
ทัพราหูอยู่กลางข้างนายด่าน | ล้อมพระกาลไว้อีกไม่หลีกหลบ |
เป็นห้าทัพขับโยธีตีกระทบ | ต่างรุกรบรับกันประจัญบาน |
พอทัพพระอัคนีกับพี่เลี้ยง | ได้ยินเสียงแซ่เซงเร่งทหาร |
แซงสกัดลัดทางข้างพระกาล | ผลาญชาวด่านตายกลาดดาษดา ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพ้องของฤๅษีทั้งยี่สิบ | คอยซุบซิบอยู่ในด่านนานหนักหนา |
ขึ้นปลอมดูผู้คนบนเสมา | เห็นโยธาทัพพระอัคนี |
จึงช่วยกันฟันคนอลหม่าน | เปิดทวารออกไปรับทัพฤๅษี |
พวกพลล้อมพร้อมพรูเข้าบูรี | ไล่ฆ่าตีรี้พลบนกำแพง |
พวกอยู่ป้อมล้อมวงโดดลงวิ่ง | ตกใจจริงทิ้งอาวุธลงมุดแฝง |
ฝ่ายพระกาลราญรอนจนอ่อนแรง | เห็นทัพแซงเกรียวกรูเข้าบูรี |
จะถอยกลับทัพฤๅษีสกัดไว้ | ทั้งพวกไพร่พลตายพลัดพรายหนี |
เห็นศึกเสือเหลือจะสู้พวกมุนี | จริงของตรีเมฆบอกไม่หลอกลวง |
จึงขับโลโตวิ่งทิ้งทหาร | ไม่เข้าด่านแยกเยื้องไปเมืองหลวง |
ที่เหลือตายนายรองกองทะลวง | ต่างเสียท่วงทีทัพอัปรา |
ทิ้งอาวุธทรุดหมอบนบนอบน้อม | ต่างร้องยอมสาพิภักดิ์ด้วยหนักหนา |
พระอัคนีมีจิตคิดเมตตา | เรียกโยธาถอยกลับทั้งทัพชัย |
ต่างล้าเลื่อยเหนื่อยหนักเข้าพักผ่อน | อยู่นครเขื่อนเพลิงเชิงไศล |
เหล่าฤๅษีรี้พลสกลไกร | สำราญใจสรวลเสเสียงเฮฮา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีถอดตรีเมฆ | ตั้งเป็นเอกอำมาตย์อาจอาสา |
แล้วเลี้ยงดูหมู่พหลพลโยธา | อยู่พาราเขื่อนเพลิงเริงสำราญ ฯ |
๏ จะกลับกล่าวท้าววาหุโลมราช | สถิตอาสน์ออกเสนาแน่นหน้าฉาน |
พอรู้ข่าวราวเรื่องเมืองพระกาล | ว่าเสียด่านทั้งหกก็ตกใจ |
จึงตรัสว่าข้าศึกมันฮึกหาญ | เพราะพวกด่านแดนมหาชลาไหล |
ลวงเกลี้ยกล่อมพร้อมเพรียงชาวเวียงชัย | กูจะไปรบเองไม่เกรงกลัว |
น้อยหรือหวาชะล่าใจอ้ายตรีเมฆ | มันโหยกเหยกสาหัสจะตัดหัว |
ทั้งฤๅษีที่โกหกพูดยกตัว | กูไม่กลัวดอกจะจับมาสับฟัน |
อ้ายพวกด่านบ้านนอกมันหลอกเจ้า | ทั้งโคตรเค้าเข่นฆ่าให้อาสัญ |
พระเคืองขัดตรัสด่าสารพัน | ยังมิทันขาดคำเธอสำลัก |
พอพระกาลด่านในหนีไปถึง | เสียงกริ้วอึงอึกทึกใจตึกตัก |
จะผ่อนตัวกลัวว่าจะช้านัก | อุส่าห์หักใจคอไม่รอรั้ง |
คลานเข้ามาหน้าฉานก้มกรานกราบ | สารภาพทูลตามเนื้อความหลัง |
ได้รบทัพสัประยุทธ์สุดกำลัง | สงครามครั้งนี้ล้นพ้นประมาณ |
ด้วยมากมายหลายทัพดูนับแสน | มาเนืองแน่นหนุนหนักเข้าหักหาญ |
ทั้งราหูจู่โจมมาโรมราญ | จึงเสียด่านเมืองหลวงเสียท่วงที |
พระเดือดด่าราหูตรีเมฆด้วย | น้อยหรือช่วยกันรบคบฤๅษี |
คงเห็นกันมันกับกูได้ดูดี | เหวยมนตรีเร่งรัดไปจัดทัพ |
ทั้งหน้าหลังตั้งกองสักสองแสน | ให้ทันแค้นกูจะไปล้อมไล่จับ |
อำมาตย์หมอบนอบนบเคารพรับ | ไปจัดทัพทวยหาญชำนาญรบ |
เป็นเกียกกายซ้ายขวากองหน้าหลัง | ถือดาบดั้งโล่เขนล้วนเจนจบ |
ทั้งปีกป้องกองตระเวนเกณฑ์สมทบ | ถือเครื่องรบครบทั่วทุกตัวคน |
บ้างขี่ม้าลีลาชุมพาแพะ | ขี่กวางแกะเลียงผาโกลาหล |
ตั้งกระบวนถ้วนหน้าตรวจตราพล | ผูกเสือต้นลายเหลืองเรืองระยับ |
มีเบาะอานผ่านอกผ้าปกข้าง | แก้วกระจ่างแจ่มเม็ดเพชรประดับ |
มาเรียงเรียบเทียบเกยเคยประทับ | ต่างเตรียมรับสรรพเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าวาหุโลมราช | ยุรยาตรอ่าองค์สรงสนาน |
ประดับเครื่องเรืองจำรัสชัชวาล | เกราะประสานสร้อยกระสันกันอาวุธ |
แล้วเหน็บตรีมีฝักสะพักศร | คทาธรถือสำหรับสัประยุทธ์ |
กริชทองแดงแฝงองค์เครื่องยงยุทธ์ | มายั้งหยุดยืนดูหมู่โยธา |
เห็นพร้อมพรั่งคั่งคับขับทหาร | ให้พระกาลกำกับกองทัพหน้า |
พระทรงนั่งหลังพยัคฆ์อันศักดา | ให้เคลื่อนคลาพลออกนอกบุรี |
ทหารโห่โกลาทั้งหน้าหลัง | ดูคับคั่งเกลื่อนกลางทางวิถี |
อึกทึกกึกก้องฆ้องกลองตี | ทั้งผงคลีคลุ้มฟ้านภาดล ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีอยู่ที่ด่าน | ปรนทหารเหิมฮึกแล้วฝึกฝน |
ทั้งไล่หนีทีโถมโจมประจญ | ให้รู้กลการณรงค์ในสงคราม |
เรียกราหูผู้เฒ่าเข้ามาสั่ง | ตรีเมฆทั้งนายด่านชาญสนาม |
บอกนายรองกองร้อยให้รู้ความ | เป็นคนสามสิบกองคอยป้องกัน |
จนล่วงหน้าพากันไปแม้ใครรบ | เลี้ยวตลบล้อมทัพให้ขับขัน |
คอยวงเวียนเปลี่ยนผลัดสกัดฟัน | ชื่อกลกันโขลงช้างจับกลางแปลง |
พวกนายทัพรับว่าสาธุสะ | คงชนะข้าศึกไม่นึกแหนง |
แล้วทูลลาพากันออกนอกกำแพง | ต่างจัดแจงพร้อมพลสกลไกร |
พวกปากน้ำนำหน้าโยธาหาญ | โห่สะท้านสะเทื้อนลั่นเสียงหวั่นไหว |
แล้วเสนีตรีเมฆยกหนุนไป | กำหนดไกลร้อยเส้นพอเห็นกัน |
แล้วราหูผู้กำกับกองทัพหลัง | พร้อมสะพรั่งไพร่นายยกผายผัน |
แล้วทัพพระอัคนีนารีนั้น | คุมฉกรรจ์สี่หมื่นเสียงครื้นครึก |
รีบยกตามสามทัพคนคับคั่ง | ประโคมสังข์แตรกลองเสียงก้องกึก |
โห่สนั่นครั่นครึ้มกระหึมฮึก | สะเทื้อนสะทึกทั่วป่าพนาดร ฯ |
๏ ฝ่ายกองหน้าวาหุโลมรีบกองทัพ | พอพบกับนายด่านชาญสมร |
พระกาลขับทัพทหารเข้าราญรอน | นายด่านต้อนพลขันธ์ประจัญรับ |
พวกฤๅษีทีรบรู้หลบเลี่ยง | เห็นพลาดเพลี่ยงผลุนฟาดเสียงฉาดฉับ |
พวกวาหุโลมล้มตายไพร่นายยับ | พระกาลขับโลโตต้อนโยธี |
ถือทวนแกว่งแทงทหารชาวด่านโดด | เลี่ยงหลีกโลดหลบผิดศิษย์ฤๅษี |
ยิ่งเดือดใจไล่รุกเข้าคลุกคลี | นายด่านขี่อูฐขับเข้ารับรบ |
ถือหอกแกว่งแทงพระกาลถูกซานทรุด | ทิ้งทวนหลุดสุดกำลังกลับหลังหลบ |
เหล่าทหารด่านกลุ้มเข้ารุมรบ | ตีกระทบพระกาลไม่ทานทน |
ทั้งไพร่นายตายยับลงนับหมื่น | เหลือตายตื่นแตกทัพวิ่งสับสน |
เจ้าวาหุโลมโถมไล่พวกไพร่พล | ขับเสือต้นเผ่นโผนโจนทะยาน |
เสียงโฮกปีบถีบถลาเหลือกตาเขียว | ยืนแยกเขี้ยวขวางหน้าโยธาหาญ |
พวกโยธีรี้พลหลีกลนลาน | เห็นนายด่านปากน้ำด่าสำทับ |
กูเลี้ยงมึงถึงขนาดอ้ายชาติข้า | ทำมารยาย้อนยอกคิดกลอกกลับ |
ให้ฤๅษีที่มึงคบช่วยรบรับ | มาสู้กับกูเดี๋ยวนี้ดูฝีมือ ฯ |
๏ นายด่านตอบยอบตัวทำหัวเราะ | เป็นเหตุเพราะภูวไนยหาไม่หรือ |
ให้รบพุ่งฟุ้งเฟื่องจนเลื่องลือ | ครั้นสุดซื่อสิจะล้างให้วางวาย |
จึงอุส่าห์มาตามความรับสั่ง | ลองกำลังภูวนาถเหมือนมาดหมาย |
มิคิดบุญคุณท้าวว่าเจ้านาย | พระจะวายชีวาเวลานี้ |
จะตอบแรนแทนคุณทูลกระหม่อม | จงนบน้อมนับถือพระฤๅษี |
ทรงศีลธรรม์กรุณาทั่วธานี | จะได้มีเกียรติยศปรากฏไป |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองแลเครื่องยศ | พระดาบสไม่จำนงอย่าสงสัย |
จะสั่งสอนผ่อนปรนให้พ้นภัย | ตั้งพระทัยทำบุญกับมุนี ฯ |
๏ พระโกรธกริ้วนิ่วหน้าด่านายด่าน | อ้ายเดรฉานชาติโกหกยกฤๅษี |
มึงจองหองลองกับกูดูเดี๋ยวนี้ | แม้มึงดีให้เป็นเจ้าชาวพารา |
แล้วขับเสือเงื้อกระบองร้องตวาด | เข้าตีพลาดพลิ้วกายทั้งซ้ายขวา |
นายด่านหันกันกระบองป้องปัดมา | แกล้งล่อล่าลวงให้เธอไล่ตาม |
พอเธอห่างพรั่งพร้อมเข้าล้อมหุ้ม | เป็นศึกรุมรอบข้างกลางสนาม |
ต้องด้วยกลรณรงค์ในสงคราม | แยกเป็นสามสิบกองคอยป้องกัน |
สกัดตีรี้พลอลหม่าน | สังหาญผลาญโยธาให้อาสัญ |
นายด่านกลับทัพประจบรบประจัญ | ตัวนายนั้นล้อมท้าวเจ้าบุรี |
พระเห็นหน้าราหูว่าอุเหม่ | อ้ายโว้เว้กลับไปถือพวกฤๅษี |
ราหูว่าข้าพเจ้าเข้าด้วยนี้ | เพราะเสียทีเธอไม่ล้างให้วางวาย |
จึงทราบว่าดาบสละยศศักดิ์ | มิใคร่รักเงินทองของทั้งหลาย |
จะไปชมโรมวิสัยให้สบาย | จึงมุ่งหมายจะมาเฝ้าทูลท้าวไท |
ที่นับถือฤๅษีผู้มีพรต | ไม่คิดคดต่อพระองค์อย่าสงสัย |
ขืนรบสู้บูรีจะมีภัย | ทั้งนายไพร่ใหญ่น้อยจะพลอยตาย ฯ |
๏ พระเดือดด่าราหูอ้ายงูเฒ่า | กลับหลอกเจ้าจองหองนี่ใจหาย |
อันคนดีที่เขารักเจ้านาย | ถึงวอดวายไว้ชื่อให้ลือชา |
มึงนี้หมายขายเจ้าเอาประโยชน์ | หือรือโหดฮึกฮักขึ้นหนักหนา |
มาล่อลวงล่วงพระราชอาชญา | จะเข่นฆ่าเสียให้ตายวายชีวี |
พลางขับเสือเงื้อง่าคทาโถม | เข้ารุกโรมราหูก็สู้หนี |
แกล้งรบรับขับทหารเข้าต้านตี | พอพบตรีเมฆมาขวางหน้าไว้ |
แกล้งร้องว่าฝ่าพระบาทประมาทนัก | เมื่อคนรักหรือพระองค์มาสงสัย |
พระฤๅษีนี้ประเสริฐเลิศไกร | ตั้งพระทัยทำบุญกรุณา |
ไม่ชื่นชมสมบัติพัสถาน | จะโปรดปรานไปสวรรค์ให้หรรษา |
ขอพระองค์จงเป็นมิตรกับสิทธา | จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย |
เดี๋ยวนี้เล่าเขาก็ล้อมไว้พร้อมพรั่ง | เหมือนเสือขังกรงสิ้นดิ้นไม่ไหว |
มิโอนอ่อนผ่อนปรนให้พ้นภัย | จะเสียไพร่เสียองค์พระทรงยศ ฯ |
๏ พระชี้หน้าว่าอุเหม่อ้ายตรีเมฆ | พลอยโหยกเหยกเอกกะระอ้ายขบถ |
กลับมาขู่กูให้ยอมน้อมประณต | มึงเหลือคดควรทำลายให้วายปราณ |
พลางโถมตีตรีเมฆก็ไม่ต้อง | คอยปัดป้องปิดทางขวางทหาร |
เจ้าพาราวาหุโลมไล่โรมราญ | จะออกด้านไหนก็ไปมิใคร่พ้น |
ดูโยธามาด้วยก็ม้วยมอด | ที่ยังรอดรวนเรระเหระหน |
ศึกสมทบรบรับถึงอับจน | เที่ยวหันเหียนเวียนวนอยู่หว่างกลาง |
จนค่ำพลบคบล้อมอยู่พร้อมพรั่ง | ข้างหน้าหลังไล่สกัดให้ขัดขวาง |
ออกด้านไหนไพร่นายยิ่งวายวาง | ด้วยเพลิงแดงแสงสว่างดังกลางวัน |
พระอัคนีมีจิตคิดสงสาร | ให้ทหารเรียกพหลพลขันธ์ |
ใครออกมาหาเราเข้าด้วยกัน | ไม่ทำอันตรายสบายดี ฯ |
๏ ฝ่ายพวกไพร่ได้สดับไม่รับรบ | ออกนอบนบนับถือพระฤๅษี |
ต่างเรียกเพื่อนเกลื่อนมาในราตรี | ที่ต่อตีตัวนายก็วายปราณ ฯ |
๏ เจ้าพาราวาหุโลมเหงื่อโซมเสื้อ | เที่ยวขับเสืออยู่แต่องค์น่าสงสาร |
จนรุ่งเช้าท้าวไปปะกับพระกาล | หาทหารนายไพร่ก็ไม่มี |
แต่พวกล้อมพร้อมพรั่งดูคั่งคับ | เห็นกองทัพแลพบแต่ศพผี |
ถามพระกาลท่านกับเราอยู่เท่านี้ | จะต่อตีต้านทานประการใด ฯ |
๏ พระกาลฟังบังคมบรมนาถ | ขอรองบาทบริรักษ์จนตักษัย |
เชิญพระองค์ทรงศักดิ์รบหักไป | ถึงกรุงไกรเตรียมทัพกลับมารบ |
จะขับเคี่ยวเดี๋ยวนี้แม้มิถอย | เหมือนน้ำน้อยดับไฟไม่สงบ |
ด้วยข้าศึกฝึกฝนพลสมทบ | จึงรุมรบครั้งนี้ได้มีชัย ฯ |
๏ พระฟังคำรำพึงแล้วจึงตอบ | ท่านว่าชอบชี้ทางสว่างไสว |
แต่หยุดพักสักหน่อยจึงค่อยไป | เดี๋ยวนี้ให้หิวโหยโรยกำลัง |
ทอดพระองค์ลงจากหลังพยัคฆ์ | เข้าหยุดพักพุ่มไม้เหมือนใจหวัง |
พระกาลนั้นกตัญญูดูระวัง | อุส่าห์นั่งนวดพัดกษัตรา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีที่ตีทัพ | ขึ้นหยุดยับยั้งอยู่บนภูผา |
ครั้นอุทัยไตรตรัดทัศนา | เห็นโยธาทัพล้อมอยู่พร้อมกัน |
แต่พลท้าวเจ้าวาหุโลมราช | ตายเกลื่อนกลาดกลางป่าพนาสัณฑ์ |
พอเสนีตรีเมฆราหูนั้น | มาพร้อมกันกับนายด่านชานชลา |
ทูลว่าท้าวเจ้าบุรินทร์สิ้นทหาร | กับพระกาลเข้าอาศัยใต้พฤกษา |
แม้เห็นพระจะโมโหผินโผมา | คอยรักษาพระองค์ให้จงดี ฯ |
๏ พระยิ้มเยื้อนเอื้อนอรรถตรัสประภาษ | เราคิดคาดใจท้าวเจ้ากรุงศรี |
จะใส่ปีกหลีกพหลพลโยธี | ไปบุรีคิดการมาราญรอน |
ให้ปีกป้องกองตระเวนพวกเกณฑ์หัด | ไปสกัดตามทางหว่างสิงขร |
เมื่อเหนื่อยหนักจักลงในดงดอน | จึงไล่ต้อนตีตะพัดจับมัดมา |
กองตระเวนเจนทางต่างรับสั่ง | ยกไปตั้งซุ่มอยู่ริมภูผา |
พระอัคนีตีฆ้องกลองสัญญา | ให้โยธารบพุ่งเจ้ากรุงไกร |
ฝ่ายทัพล้อมพร้อมพรั่งก็ตั้งโห่ | สำเนียงโกลาลั่นสนั่นไหว |
บ้างก็พุ่งศัสตรายิงมาไป | ไล่เข้าใกล้กลัวสง่าจะฆ่าฟัน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าวาหุโลมราช | กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์มักกะสัน |
จะหักทัพกับพระกาลชาญฉกรรจ์ | ใส่ปีกขันควงทองทั้งสองกร |
แล้วจัดแจงแต่งองค์ขึ้นทรงพยัคฆ์ | สอดสะพักสะพายแล่งพระแสงศร |
ท้าวนำหน้าพาพระกาลออกราญรอน | คทาธรถือเงื้อขับเสือทะยาน |
โขยกปีบถีบกระโชกแล้วโฮกขบ | สองมือตบตีนฟัดประหัตประหาร |
พระได้ทีรี้พลหลบลนลาน | ทั้งพระกาลกุมทวนคอยสวนแทง |
พวกทัพล้อมห้อมหุ้มเข้ากลุ้มกลัด | รบสกัดกั้นหน้าล้วนกล้าแข็ง |
ต่างตีรันฟันฟาดพลิกพลาดแพลง | ทั้งกองแซงเข้าสมทบช่วยรบรับ |
เจ้าพาราวาหุโลมเข้าโหมหัก | จนหอบฮักเหงื่อโซมแทบลมจับ |
ทั้งซ้ายขวาหน้าหลังดูคั่งคับ | ต้องหันรับรบขวางอยู่กลางพล |
จนอาวุธหลุดพระหัตถ์แล้วลัดหลีก | กระพือปีกบินเร่ขึ้นเวหน |
ถีบถลาถาโถมพโยมบน | พวกไพร่พลพากันตามออกหลามไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระกาลราญรอนจนอ่อนจิต | เป็นสุดฤทธิ์รบต้านทานไม่ไหว |
ถลาล้มลมจับวับหัวใจ | ตรีเมฆให้ไพร่รัดผูกมัดมา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าบุรินทร์รีบบินหนี | ไปถึงที่ทางเดินบนเนินผา |
ให้เหนื่อยอ่อนร่อนลงริมหิมวา | สิ้นศัสตราอาวุธสุดกำลัง |
พวกทัพซุ่มรุมกันแทงฟันฟาด | พอล้มพลาดจับได้มัดไพล่หลัง |
ต่างโห่ร้องก้องเสียงสำเนียงดัง | พาไปยังที่อยู่พระมุนี |
พอพร้อมทั้งพระกาลทหารเอก | ที่ตรีเมฆมัดเข้ามาหน้าฤๅษี |
พระนักสิทธ์พิศดูท้าวเจ้าบูรี | เห็นท่วงทีถือตัวไม่กลัวตาย |
แต่โฉมยงสงสารโองการตรัส | ให้แก้มัดมิให้ช้ำระส่ำระสาย |
เชิญนั่งแท่นแผ่นผาศิลาลาย | พลางภิปรายปราศรัยเป็นไมตรี |
นี่แท้ท้าวเจ้าเมืองเรืองพระยศ | เราสร้างพรตเพราะว่าถือเป็นฤๅษี |
ไม่นิยมสมบัติในปถพี | มาทั้งนี้นึกจะใคร่ให้ได้บุญ |
เป็นเหตุเพราะเคราะห์กรรมต้องทำศึก | พระไม่นึกหน่วงเหนี่ยวจึงเฉียวฉุน |
เราจับได้ไม่ฆ่าเพราะการุญ | จะทำคุณคืนให้ทั้งไพร่พล |
จะปล่อยให้ไปสำราญผ่านสมบัติ | รักษาสัตย์สืบสร้างทางกุศล |
ถือศีลธรรม์กรุณาประชาชน | จะได้พ้นภัยพาลสำราญใจ ฯ |
๏ ท้าวทมิฬยินคำที่ร่ำโปรด | ค่อยหายโกรธตรึกตราอัชฌาสัย |
จึงเอื้อนอรรถตรัสตอบว่าขอบใจ | แต่เราไม่ขอตัวไม่กลัวตาย |
ด้วยเสียทัพกับท่านรำคาญจิต | อยู่ไปคิดอดสูไม่รู้หาย |
จงฆ่าตีชีวิตให้วอดวาย | จะสู้ตายเสียให้ลับอัประมาน ฯ |
๏ พระอัคนีมีจิตคิดสังเวช | จึงตรัสเทศนาว่าวิตถาร |
ธรรมดาสามัญในสันดาน | คำโบราณว่าไว้แต่ไรมา |
อันต่อตีมีแต่แพ้ชนะ | มิใช่จะเสียชาติวาสนา |
เราจับได้ไม่สังหารผลาญชีวา | ท่านจะมาชิงตายเสียดายนัก |
จงกลับไปให้สำราญผ่านสมบัติ | สืบกษัตริย์สุริย์วงศ์ซึ่งทรงศักดิ์ |
โอรสพระมเหสีเป็นที่รัก | ไม่หน่วงหนักนึกเสียดายจะวายปราณ ฯ |
๏ ท้าวทมิฬยินคำที่ร่ำปลอบ | จึงโต้ตอบตามวิสัยน้ำใจหาญ |
เราก็รู้อยู่บ้างทางโบราณ | เป็นชายชาญชอบแต่ตามจามรี |
สงวนศักดิ์รักยศสู้ปลดปลิด | รักชีวิตเหมือนไม่รักยศศักดิ์ศรี |
ซึ่งร่ำปลอบขอบคุณพระมุนี | เราจะมีหนังสือให้ถือไป |
ให้ลูกยาวาโหมน้อมโน้มจิต | มิให้คิดเคลือบแคลงแหนงไฉน |
พลางฉะเชือดเลือดพระหัตถ์ออกบัดใจ | เขียนสไบบอกบุตรด้วยสุดอาย |
ให้พระกาลท่านจงถือหนังสือนี้ | ไปบุรีแจ้งการท่านทั้งหลาย |
แล้วเอามีดกรีดศอเชือดคอตาย | ระทวยกายอยู่บนแท่นแผ่นศิลา ฯ |
๏ พระอัคนีมีจิตคิดสงสาร | เกณฑ์ทหารไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ทำมณฑปศพท้าวเจ้าพารา | ด้วยดอกดวงพวงผกาสุมาลี |
ผูกเพดานม่านบังที่นั่งสวด | ให้สำรวจตามจริตศิษย์ฤๅษี |
แล้วโฉมยงองค์พระอัคนี | ขึ้นสู่ที่พลับพลาหน้าบรรพต |
ให้พระกาลด่านในไพร่ทั้งหลาย | ที่เหลือตายหลายหมื่นคืนไปหมด |
ต่างรับสั่งพรั่งพร้อมน้อมประณต | จากบรรพตหมายมุ่งไปกรุงไกร ฯ |
๏ สองวันครึ่งถึงเมืองนำเรื่องข่าว | เฝ้าหน่อท้าวทูลแจ้งแถลงไข |
วาโหมอ่านสารศรีที่สไบ | ว่าพ่อไปรบรับอัปรา |
พระฤๅษีมิได้ทำให้จำม้วย | สู้ตายด้วยขายพักตร์นั้นหนักหนา |
หวังจะใคร่ไว้ชื่อให้ลือชา | พระลูกยาจงสำราญผ่านบุรี |
อย่ารบพุ่งมุ่งร้ายเมื่อภายหลัง | จงเชื่อฟังนับถือพระฤๅษี |
อุปถัมภ์ทำบุญกับมุนี | เอาเป็นที่พึ่งพาข้างหน้าไป |
พอจบคำร่ำว่าเจ้าวาโหม | น้ำตาโซมซึมตกซกซกไหล |
เห็นโลหิตบิดายิ่งอาลัย | ยกขึ้นใส่กลางเกล้าเฝ้าโศกา ฯ |
๏ โอ้พระองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | มารีบรัดตัดชาติวาสนา |
เสียแรงลูกผูกยนต์รู้มนตรา | กำบังตาล่องหนทั้งทนคง |
ครั้นศึกมีก็มิให้ลูกไปด้วย | ไม่ได้ช่วยสงครามตามประสงค์ |
จนเสียทีชีวิตพระบิตุรงค์ | มาปลดปลงเปล่าใจกระไรเลย |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณทูลกระหม่อม | เลี้ยงถนอมลูกมานิจจาเอ๋ย |
เคยจูบเกล้าเผ้าผมเคยชมเชย | มาละเลยลูกไว้ให้ได้อาย |
โอ้ม้วยดินสิ้นฟ้ามหรณพ | มิได้พบภูวนาถเหมือนมาดหมาย |
สะอื้นอ้อนอ่อนลงไม่ทรงกาย | เจียนจะวายชีวาด้วยอาลัย ฯ |
๏ ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | ต่างสงสารโศกาน้ำตาไหล |
บ้างนบนอบปลอบโอรสยศไกร | ควรรีบไปให้พบศพพระองค์ |
ได้เชิญมาธานีบุรีรัตน์ | อย่างกษัตริย์สูงชาติราชหงส์ |
พระฟังคำจำฝืนยืนดำรง | ถือผ้าทรงเยื้องย่างเข้าปรางค์ใน |
ทูลยุบลชนนีไม่มีชื่น | สะอึกสะอื้นกันแสงแถลงไข |
นางทรงฟังดังชีวันจะบรรลัย | ดูสไบอ่านจบสลบลง ฯ |
๏ ฝ่ายแสนสาวท้างนางต่างเข้านวด | บ้างรินขวดน้ำดอกไม้ลูบไล้สรง |
เกษรสดรดรื่นค่อยฟื้นองค์ | กันแสงทรงโศกาถึงสามี |
โอ้สงสารผ่านเกล้าเจ้าประคุณ | เคยมีบุญเลี้ยงบำรุงซึ่งกรุงศรี |
มาประมาทพลาดพลั้งลงครั้งนี้ | ถึงชีวีวายวางลงกลางไพร |
พระสุดแสนแค้นเดือดเชือดพระศอ | ไม่รั้งรอเลยหนอกรรมจะทำไฉน |
เป็นสามีที่พึ่งถึงกระไร | ให้เห็นใจเจ้าประคุณกรุณา |
โอ้ทีนี้มีแต่จะแลลับ | เหมือนเดือนดับมืดมิดทุกทิศา |
ทั้งลูกน้อยพลอยซ้ำเป็นกำพร้า | โอ้อุราเหมือนจะต้องพุพองพัง |
เคยพึ่งบุญพูนสวัสดิ์เหมือนฉัตรแก้ว | พระทิ้งเมียเสียแล้วไม่กลับหลัง |
ละลูกรักอัคเรศนิเวศน์วัง | ไม่เหลียวหน้ามาสั่งเมียมั่งเลย |
เคยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงบุตรสุดถนอม | มาสิ้นบุญทูลกระหม่อมของเมียเอ๋ย |
จนสิ้นชาติคลาดเคลื่อนไม่เหมือนเคย | เมื่อไรเลยเมียจะวายฟายน้ำตา |
นางครวญคร่ำร่ำสะอึกสะอื้นไห้ | ชลนัยน์พรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
บรรดาเหล่าสาวสรรค์กัลยา | พลอยโศกาก้องเสียงทั้งเวียงวัง ฯ |
๏ ครั้นสร่างโศกนางกษัตริย์ให้จัดรถ | พร้อมเครื่องยศแหนแห่ทั้งแตรสังข์ |
ใส่โกศรัตน์ชัชวาลมีม่านบัง | ทหารตั้งตาริ้วเป็นทิวไป |
นางพระยาวาโหมขึ้นทรงรถ | โศกกำสรดเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
พร้อมพระวงศ์พงศาเสนาใน | จากกรุงไกรตรงมาพนาดร |
สองวันครึ่งถึงทัพหยุดยับยั้ง | พร้อมสะพรั่งชายหญิงริมสิงขร |
นางพระยาพาโอรสบทจร | กับนิกรกัลยาฝูงนารี |
ไปประทับพลับพลาหน้ามณฑป | ต่างนอบนบนับถือพระฤๅษี |
ผ่ายโฉมยงนงลักษณ์พระอัคนี | เห็นเทวีวาโหมก็โสมนัส |
จึงยิ้มเยื้อนเอื้อนอรรถตรัสประภาษ | ด้วยนางนาฏญาติวงศ์พงศ์กษัตริย์ |
อันตัวเราชาวบุรินทร์กบิลพัสดุ์ | ละสมบัติบวชประโยชน์โพธิญาณ |
ได้บอกกล่าวท้าวไทเธอไม่หยุด | จนสิ้นสุดเสียองค์น่าสงสาร |
ได้สวดทั้งบังสุกุลทำบุญทาน | ช่วยทำการปลูกมณฑปสวมศพไว้ |
วันนี้วงศ์พงศาพวกข้าเฝ้า | มาถึงเรายินดีจะมีไหน |
เชิญขึ้นบนมณฑปชักศพไป | ทำบุญให้ได้สวรรค์ชั้นวิมาน ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสว่าสาธุสะ | นิมนต์พระไปประเทศนิเวศน์สถาน |
ด้วยหน่อท้าวเยาว์อยู่ไม่รู้การ | ถวายท่านพระสิทธาจงการุญ |
ช่วยสั่งสอนอ่อนบ้างเหมือนอย่างบุตร | ด้วยสิ้นสุดญาติเชื้อช่วยเกื้อหนุน |
พลางจูงกรสอนให้ไปไหว้คุณ | นางการุญเรียกมาใกล้ด้วยไมตรี |
แล้วตรัสว่าน่ารักลักขณะ | ควรที่จะบำรุงชาวกรุงศรี |
พลางถามวันชันษาด้วยปรานี | ได้สิบสี่ปีรุ่นสมบูรณ์ครัน |
จึงอวยพรสอนคำพระกรรมฐาน | ให้วงศ์วานวายวิโยคที่โศกศัลย์ |
แล้วพาเหล่าชาววังสิ้นทั้งนั้น | กับเผ่าพันธุ์พงศาเสนาใน |
ขึ้นชั้นบนมณฑปดูศพท้าว | เสียงแสนสาวแซ่ซ้องนั่งร้องไห้ |
มเหสีตีอุราโศกาลัย | ทั้งหน่อไทกราบพระศพซบโศกา |
สงสารนางข้างในใจจะขาด | ยกพระบาทบดินทร์สูรทูลเกศา |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณกรุณา | ครั้งนี้มาปลดปลงอยู่ดงดาน |
เคยพร้อมเหล่าสาวสุรางค์ในปรางค์มาศ | มาจากอาสน์เอองค์น่าสงสาร |
บรรทมที่พระยี่ภู่เคยอยู่งาน | มานิพพานเพิงผาพนาดร |
โอรสาว่าพระคุณการุญเลี้ยง | ให้ชื่อเสียงสารพัดจะตรัสสอน |
มาสิ้นบุญทูลกระหม่อมจอมนคร | จะผันผ่อนผินหน้าไปหาใคร |
พระวงศาว่าทีนี้สิ้นที่พึ่ง | พระเหมือนหนึ่งโพธิ์ทองอันผ่องใส |
จะสูญลับนับปีแต่นี้ไป | ไม่มีใครครอบครองช่วยป้องกัน |
นางห้ามแหนแสนสุรางค์ว่าปางก่อน | เคยดับร้อนร่มเกล้าฝูงสาวสรรค์ |
พระเลี้ยงดูชูชื่นทุกคืนวัน | จะเลยลับกัปกัลป์พุทธันดร |
พวกเสนาว่าพระองค์ดำรงราชย์ | เคยพึ่งบาทบพิตรอดิศร |
เป็นสัตย์ธรรม์กรุณาประชากร | จะกลับร้อนเริงรุมดังสุมไฟ |
ต่างครวญคร่ำรำลึกสะอึกสะอื้น | ดังเสียงคลื่นในมหาชลาไหล |
บ้างเป็นลมล้มกลิ้งนิ่งแน่ไป | ต่างแก้ไขค่อยสว่างสร่างวิญญาณ์ ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสให้เชิญพระศพ | จากมณฑปใส่โกศขึ้นรถา |
มีจามรชอนตะวันเป็นหลั่นมา | มยุราฉัตรพัชนีวี |
โยงผ้าขาวดาวบสขึ้นรถชัก | พิงพนักอ่านหนังสือของฤๅษี |
ออกจากเนินเดินทางหว่างคิรี | พระอัคนีนำหน้าเคลื่อนคลาไคล |
พวกเกณฑ์แห่แตรสังข์ประดังเสียง | ก้องสำเนียงกลองชนะปี่ไฉน |
พระญาติวงศ์พงศาเสนาใน | ต่างร่ำไรเรียงตามกันหลามมา |
พระลูกรักอัคเรศอยู่รถหลัง | พร้อมสะพรั่งไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ครั้นพลบค่ำทำประทับที่พลับพลา | ตลอดมานคเรศนิเวศน์วัง |
แล้วขุดหินศิลาปลูกปราสาท | ประชุมญาติยกศพไปกลบฝัง |
คอยนะบีมีบุญกรุณัง | จะมาสั่งบุญบาปจึงทราบความ ฯ |
๏ แล้วเชิญองค์พระอัคนีศรีสวัสดิ์ | อยู่ปรางค์รัตน์ราบเตียนที่เสี้ยนหนาม |
ทั้งขอเฝ้าเหล่าลูกศิษย์ที่ติดตาม | พลอยได้ความสุขทั่วทุกตัวคน |
อยู่พาราวาหุโลมโยมสาวสาว | ทั้งเย็นเช้าปรนนิบัติไม่ขัดสน |
แต่องค์พระอัคนีมีกังวล | กลัวไม่พ้นเชษฐาสุดสาคร |
ครั้นยามดึกปรึกษาสี่พี่เลี้ยง | ที่อยู่เคียงแท่นสุวรรณบรรจถรณ์ |
จะทำศึกตรึกการเที่ยวราญรอน | น้องนี้อ่อนอกใจมิใคร่วาย |
อันแว่นแคว้นแดนทมิฬถิ่นประเทศ | มีขอบเขตข้างเหนือนั้นเหลือหลาย |
ล้วนถือไสยใจบาปทั้งหยาบคาย | ไม่กลัวตายร้ายกาจชาติทมิฬ |
จะไปชมโรมวิสัยยังไกลอยู่ | ไม่มีผู้ศรัทธารักษาศิล |
จะสมทบรบสู้ทุกบุรินทร์ | กว่าจะสิ้นศึกเสือนั้นเมื่อไร |
แต่เพียงนี้ปีหนึ่งจึงสำเร็จ | น้องคิดเข็ดคนบาปปราบไม่ไหว |
ต้องทำศึกตรึกตราระอาใจ | จะผันแปรแก้ไขอย่างไรดี ฯ |
๏ พี่เลี้ยงตอบปลอบประโลมโฉมเฉลา | พี่แสนเศร้าด้วยพระน้องมัวหมองศรี |
ไม่ทันถึงครึ่งทางสิอย่างนี้ | เป็นทุกข์ที่มรรคาข้างหน้าไป |
แม้นพบเหล่าชาวทมิฬถิ่นประเทศ | ที่ทนคงทรงพระเวทข้างเพทไสย |
ฉวยเสียทีรี้พลสกลไกร | จะบรรลัยแหลกลงเป็นผงคลี |
แม้นมีผู้รู้เห็นว่าเป็นหญิง | มีแต่สิ่งสารพัดจะบัดสี |
ด้วยชิงชัยไม่สันทัดเป็นสตรี | จะเสียทีเสียดายไม่วายคิด |
โบราณว่าสี่ท้าวยังก้าวพลาด | เป็นนักปราชญ์แล้วก็ยังรู้พลั้งผิด |
อันทำศึกเหมือนสู้กับงูพิษ | จงทรงคิดใคร่ครวญให้ควรการ |
กลับไปลำสำเภาเถิดเจ้าพี่ | เที่ยวชมที่ธานินทร์ทุกถิ่นฐาน |
ได้ใช้ใบไปตามความสำราญ | จะพ้นพาลไพรีไม่บีฑา ฯ |
๏ นางฟังสี่พี่เลี้ยงประโลมปลอบ | จึงตรัสตอบว่าจิตกนิษฐา |
จะกลับไปในทะเลลงเภตรา | น้องคิดอายขายหน้ายิ่งกว่ารบ |
ถึงศึกเสือเหลือร้ายข้างภายนอก | ก็ง่ายดอกด้วยว่ามีที่หนีหลบ |
เกรงแต่ที่พี่ยาตามมาพบ | จะต้องรบรักเหลือจะเบื่อใจ ฯ |
๏ พี่เลี้ยงว่าน่าสมเพชพระเชษฐา | จะตรึกตราโกรธขึ้งไปถึงไหน |
แต่ดาบตัดกัทลียังมีใย | หรือตัดใจขาดเด็ดไม่เมตตา |
แสนสงสารปานฉะนี้พระพี่เจ้า | จะโศกเศร้าสืบความเที่ยวตามหา |
จะซูบผอมตรอมตรองถึงน้องยา | เวทนาน่าสงสารรำคาญใจ ฯ |
๏ นางฟังคำรำลึกนึกสังเวช | น้ำพระเนตรคลอคลอชะลอไหล |
ไม่บัญชาว่าขานประการใด | สะอื้นอ้อนถอนฤทัยอาลัยลาน |
คิดถึงครั้งลังกาก็น่าแค้น | คิดถึงแสนซื่อตรงก็สงสาร |
จะไปชมโรมวิสัยเกรงภัยพาล | เหลือรำคาญคิดจะกลับก็อับอาย |
แต่อักอ่วนป่วนใจมิได้ตรัส | ให้อั้นอัดอาดูรไม่สูญหาย |
ทุกค่ำเช้าเศร้าพระทัยไม่สบาย | ระทวยกายกำสรดสู้อดออม |
จนลืมองค์สรงเสวยเลยเป็นโรค | ทุกข์กับโศกซ้ำให้รูปนั้นซูบผอม |
พวกข้าไม่เป็นสุขพลอยทุกข์ตรอม | มาแวดล้อมพร้อมพรั่งฟังอาการ |
นายพระยาวาโหมพลอยโทมนัส | ปรนนิบัติบนปราสาทราชฐาน |
พวกมดหมอก็ให้มาพยาบาล | กำหนดนานหลายเดือนไม่เคลื่อนคลา ฯ |