- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
๏ จะกล่าวข้างเรื่องราวท้าวโกสัย | ให้แค้นใจสังฆราชไม่ปรารถนา |
จะอยู่กับเขาไยมิใช่ข้า | ให้มันด่าข่มขี่ตีประจาน |
ว่าจะหนีไปพาราหาลูกเขย | เรียกคนเคยเข้ามาแล้วว่าขาน |
จงไปนัดพวกเราเล่าอาการ | อย่าเนิ่นนานบอกให้ทั่วทุกตัวคน |
ค่ำวันนี้กูจะหนีเข้าไปด่าน | จงเตรียมการไว้ให้ทั่วตัวพหล |
เอาเรือบดลดลงไว้ในสายชล | อย่าให้คนอื้ออึงคะนึงไป |
ครั้นสั่งเสร็จเดินเหย่าเข้าในห้อง | เก็บข้าวของตามประสาอัชฌาสัย |
แต่บรรดาพวกพหลสกลไกร | ของท้าวไทเตรียมทั่วทุกตัวคน |
พอสองยามเมฆอับพยับฟ้า | พระจันทรามืดมัวทั่วเวหน |
ท้าวโกสัยจัดแจงแปลงสกนธ์ | เหมือนพวกพลรีบตรงไปลงเรือ |
กับพหลพลไพร่ก็หลายร้อย | ค่อยล่องลอยรีบไปทอดจอดข้างเหนือ |
พากันขึ้นบกได้เสือกไสเรือ | เดินไปเหนือด่านท่าชายสาคร |
เข้าประตูเดินไปหานายด่าน | แจ้งอาการให้เสมียนเขียนอักษร |
ว่าตัวเราคนสนิทเป็นบิดร | ของบังอรบุษบงอนงค์นาง |
ขุนด่านแจ้งเรียกหาพวกม้าใช้ | ให้รีบไปเร็วรัดอย่าขัดขวาง |
เอาหนังสือบอกไปให้ขุนนาง | ตามเยี่ยงอย่างทูลบพิตรอิศรา |
พวกม้าใช้รีบไปถึงนิเวศน์ | แล้วแจ้งเหตุให้ฟังที่กังขา |
ขุนเสนีรับสารอ่านสารา | แล้วจึ่งว่าคอยเราจะเข้าทูล ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | พร้อมอำมาตย์เฝ้าพระปิ่นบดินทร์สูร |
ขุนเสนีกราบก้มบังคมทูล | แล้วประมูลคลี่หนังสือที่ถือมา |
อ่านถวายในอักษรท้าวโกสัย | ให้ภูวไนยทราบความตามเลขา |
ว่าบาทหลวงคิดการเป็นมารยา | จะปรารถนาบุษบงอนงค์นาง |
ให้แก่ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ยกโยธีหมายกำจัดที่ขัดขวาง |
ข้าสืบรู้แยบคายมันหลายทาง | อย่าได้วางใจมันเป็นมั่นคง |
จงชวนกันหนีมาบรรดาแขก | มันทำแหลกเกือบกระจุยเป็นผุยผง |
ขอเชิญทราบในลิขิตดั่งจิตจง | พอจบลงที่ในเรื่องเคืองพระทัย |
แล้วพระองค์เอื้อนอรรถตรัสบังคับ | เร่งไปรับอิศโรท้าวโกสัย |
อย่าให้ทันรุ่งแจ้งแสงอุทัย | เชิญมาในเวียงวังจึ่งบังควร |
เอารถรัตน์จัดไปให้สมยศ | พร้อมกันหมดโดยทำนองประคองสงวน |
แล้วให้จัดเก๋งข้างในดูให้ควร | เวลาจวนแล้วให้พักตำหนักจันทร์ ฯ |
๏ พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์เคืองขุ่นให้หุนหัน |
เป็นไรมีที่จะเป็นได้เล่นกัน | เราก็ชั้นเชิงชายใช่สตรี |
เข้าในปรางค์ทางแถลงแจ้งรหัส | แล้วก็ตรัสกับพระมิ่งมเหสี |
ว่าน้อยหรือบาทหลวงทำท่วงที | คิดจะตีเมืองเราเอาเจ้าไป |
ยกให้ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ไม่คิดที่ก่อนมาอัชฌาสัย |
จะยากแค้นแสนเข็ญเป็นอย่างไร | ได้เจ็บใจแล้วไม่กลัวถึงตัวตาย |
ก็รู้อยู่ว่าแกคิดริษยา | พากันมาหมายจะริบให้ฉิบหาย |
ไม่รู้ในแยบยลกลอุบาย | เราคิดหมายว่าเป็นครูไม่หลู่คุณ |
แต่เขาก่อแล้วต้องสานเป็นการแม่น | จะตอบแทนกว่าจะสิ้นดินกระสุน |
มิใช่เราเกเรเนรคุณ | แกทำวุ่นหมายมาจะฆ่าฟัน |
บิดาเจ้าเล่าก็หนีมาอยู่ด่าน | จึงแจ้งการใจจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
พี่สั่งให้ไปคำนับรับมาพลัน | อย่าให้ทันแจ่มแจ้งแสงอุทัย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมเหสี | อัญชลีทูลความตามสงสัย |
บังเกิดเหตุเภทพาลสถานใด | ไม่ขอไกลบาทาฝ่าละออง |
ถึงเป็นหญิงสิ่งซึ่งกลศึก | ได้ตรองตรึกอาจารย์เฒ่าเล่าสนอง |
แม้นเป็นศึกขออาสาฝ่าละออง | มิให้ข้องเคืองขัดหัทยา |
พระปลอบพลางทางว่านิจจาน้อง | ยังไม่ต้องถึงมิตรขนิษฐา |
พลางเล้าโลมโฉมสมรเหมือนก่อนมา | ให้นิทราบนพระแท่นแสนสำราญ ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่ไปรับท้าวโกสัย | รีบลงไปเร็วพลันดั่งบรรหาร |
ถึงแล้วทูลท้าวพลันมิทันนาน | มีโองการเชิญท่านไทไปบุรินทร์ |
อย่าให้ทันสุริยาภาณุมาศ | พวกอำมาตย์ชื่นชมสมถวิล |
ท้าวโกสัยขึ้นรถาไปธานินทร์ | ออกจากถิ่นเมืองด่านชานนคร |
สารถีตีม้าอาชาชาติ | ล่วงลีลาศมาตามทางหว่างสิงขร |
ทั้งเกณฑ์แห่เป็นขนัดอัสดร | ให้รีบร้อนไปกระทั่งถึงวังใน |
ให้ประทับรถาหน้าตำหนัก | แล้วหยุดพักเก๋งทองอันผ่องใส |
ครั้นรุ่งรางสว่างแสงอโณทัย | สกุไณโกกิลาพากันบิน |
ดุเหว่าแว่วแจ้วเจื้อยระเรื่อยร้อง | ประสานซ้องส่งเสียงสำเนียงถวิล |
ป่างพระจอมอิศราเจ้าธานินทร์ | ธิบดินทร์สระสรงคงคาลัย |
เสด็จออกนอกปรางค์พลางลีลาศ | ยุรยาตรออกมาเฝ้าท้าวโกสัย |
เชิญเข้ามาปรางค์มาศปราสาทชัย | ต่างปราศรัยสนทนาปรึกษากัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุษบงอนงค์นาฏ | มากราบบาทบิตุรงค์พงศ์อสัญ |
แล้วก็ตรัสสนทนาปรึกษากัน | ต่างรำพันทุกข์ยากเมื่อจากเมือง |
บาทหลวงทำป่นปี้ทั้งตีตบ | ไม่น่าคบน่าค้าอ้ายตาเหลือง |
ดูจริตผิดชนคนทั้งเมือง | คิดแต่เรื่องทุจริตเป็นจิตพาล ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงกำพลเพชร | ครั้นทราบเสร็จเคืองพระทัยหลายสถาน |
ปรึกษาท้าวโกสัยเห็นไม่นาน | คงเกิดการรบกันเป็นมั่นคง |
แล้วสั่งนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ให้จัดราชนารีที่ประสงค์ |
ไปให้ท้าวเธอใช้ดั่งใจจง | ร้อยอนงค์ปรนนิบัติกษัตรา |
ครั้งสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ออกอำมาตย์เฝ้ารายทั้งซ้ายขวา |
แล้วตรัสเรียกอาจารย์คลานเข้ามา | จึงปรึกษาเรื่องงานการสงคราม ฯ |
๏ พราหมณ์สุทัตฟังตรัสแล้วดูสอบ | ตามระบอบในตำราภาษาสยาม |
พิเคราะห์ดูลัคน์จันทร์ทั้งวันยาม | เห็นต้องตามบทบังคับสำหรับครู |
คงจะเป็นศึกใหญ่มิใช่น้อย | จะติดต้อยราญรอนจนอ่อนหู |
จะมีผู้อุปถัมภ์ช่วยค้ำชู | ตาแกรู้เสร็จสรรพแล้วกราบทูล |
ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงภพ | จะต้องรบวุ่นไปทั้งไอศูรย์ |
ต่อเมื่อไรเผ่าพงศ์วงศ์ประยูร | มาประมูลจึ่งจะคลายวายอาวรณ์ |
ด้วยหลักเมืองร้ายอยู่ราหูทับ | ต้องตำรับตกทวารอาจารย์สอน |
ข้าคูณหารในตำราพยากรณ์ | พระเสาร์จรมาเป็นที่มักมีภัย |
ข้างต้นร้ายปลายดีมักมียศ | ให้ปรากฏดังอาจารย์ท่านขานไข |
ขอจงทราบบาทบงสุ์พระทรงชัย | ตามที่ในแบบฉบับอย่างกราบทูล ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลาปรีชาฉลาด | ให้หมายบาดบอกกันไปทั้งไอศูรย์ |
ให้หาคนมีวิชามาประมูล | ให้ไพบูลย์ในจังหวัดปัถพิน |
ทั้งคงทนมนต์เวทวิเศษขลัง | เอามาตั้งเป็นขุนนางอย่างถวิล |
ทั้งเมียลูกปลูกฝังให้นั่งกิน | ตั้งบ้านถิ่นฐานชลาริมสาคร |
จัดพหลพลไพร่ไปไว้ด้วย | จะได้ช่วยคุ้มขังช่วยสั่งสอน |
แล้วให้จ่ายกัณฐัศว์อัสดร | ได้ฝึกสอนให้ชำนาญการณรงค์ |
แล้วสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขุนอำมาตย์จัดตามความประสงค์ |
พระเสด็จเข้าวังดังจำนง | แล้วเลยตรงเข้าไปเฝ้าท้าวพ่อตา |
แถลงข้อราชกิจผิดแลชอบ | ตามระบบกลศึกได้ปรึกษา |
พอได้ช่วยตรึกตรองสองปัญญา | พระมังคลาก็ค่อยคลายวายอาวรณ์ ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | แกอิ่มทรวงเห็นความตามอักษร |
พอรุ่งเช้าคิดจะไปในนคร | ให้อาวรณ์แค้นคั่งมังคลา |
มันรักเมียยิ่งกว่ากูผู้เป็นพระ | กูจำจะแก้แค้นให้แสนสา |
พออุทัยรุ่งรางสว่างตา | แกลุกมาจากห้องตรองจะไป |
พอต้นหลพลไพร่ในกำปั่น | มาพร้อมกันบอกแจ้งแถลงไข |
ว่าท้าวแขกอยู่เมื่อกี้ก็หนีไป | ทั้งบ่าวไพร่เจ็บป่วยไปด้วยกัน |
ถ้าจะติดตามไปเห็นไม่พ้น | คงไปวนอยู่ในป่าพนาสัณฑ์ |
บาทหลวงว่ากูไม่กลัวช่างหัวมัน | จะด้นดั้นไปไหนมิใช่การ |
เลี้ยงมันไว้ไม่เห็นเป็นประโยชน์ | อ้ายคนโฉดตาเหลืองเปลืองข้าวสาร |
เอาไปทัพทีไรไม่ได้การ | อยู่ไปนานเปลืองไก่ให้มันกิน |
ทั้งแพะแกะโคกระบือหือไม่ขึ้น | ยัดเป็นพื้นตามสบายไม่วายถวิล |
บ่นถึงเมียทุกทิวาเป็นอาจิณ | กูก็สิ้นห่วงใยอย่าไปตาม |
จงกลับไปเภตราอย่าเป็นทุกข์ | ไปนั่งลุกตามเพลงอย่าเกรงขาม |
อันตัวกูจะอุตส่าห์พยายาม | แม้นสมความคิดไว้คงได้ดี |
แกสั่งเสร็จกลับเข้าไปที่ในห้อง | กินข้าวของอยู่ที่ในท้ายบาหลี |
แล้วใส่เสื้อแพรบางที่อย่างดี | กังเกงสีตากุ้งดูรุงรัง |
แล้วบอกท้าวเจ้าพาราปตาหวี | เองอยู่นี่กูจะไปดั่งใจหวัง |
ให้พวกที่จะไประไวระวัง | เข้ามาสั่งเสร็จสมอารมณ์ปอง |
แกออกจากห้องหับจับกระบี่ | ลงเรือสีพร้อมพหลพลทั้งผอง |
ตีกระเชียงเข้าไปดั่งใจปอง | เข้าในคลองด่านไปไม่ต้องเดิน |
ไปจอดท่าหน้าเมืองปากน้ำแล้ว | แกผ่องแผ้วราวกับนกวิหคเหิน |
นึกนิยมสมคิดพาจิตเพลิน | แล้วก็เดินเข้าในบ้านท่านพระยา |
แกจึงสั่งคนใช้ให้ไปบอก | นายมึงออกมาเดี๋ยวนี้ทีเถิดหวา |
ว่าอาจารย์เจ้านิเวศน์เกศประชา | จะให้พาเข้าไปในบุรินทร์ ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าพระยาออกมารับ | แล้วคำนับเชิญขึ้นไปดั่งใจถวิล |
บนหอนั่งข้างหน้าศาลาดิน | พร้อมกันสิ้นแต่บรรดามาด้วยกัน |
เชิญบาทหลวงให้นั่งยังเก้าอี้ | จัดบุหรี่น้ำชามาให้ฉัน |
แล้วปราศรัยไต่ถามเนื้อความพลัน | ว่าตัวท่านนี้มีการสถานใด |
บาทหลวงว่ากูมานี้มีธุระ | จะไปปะมังคลาได้ปราศรัย |
เองจงพากูไปเฝ้าเจ้ากรุงไกร | เข้าข้างในนคเรศนิเวศน์วัง ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าพระยาหาเสมียน | ให้เร่งเขียนบอกไปดั่งใจหวัง |
แล้วเรียกพวกม้าใช้ให้ไปวัง | พลางส่งหนังสือให้รีบไคลคลา ฯ |
๏ ฝ่ายม้าใช้เข้าไปถึงนิเวศน์ | แล้วแจ้งเหตุให้ถวายลายเลขา |
ขุนเสนีคลี่สารอ่านสารา | แล้วก็พากันเข้าไปในพระโรง ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ออกอำมาตย์บนบัลลังก์ที่นั่งโถง |
ปรึกษาการเวียงชัยในพระโรง | ให้ชักโยงคนดีมีกำลัง |
มาเลี้ยงไว้เป็นทหารชำนาญรบ | ได้สมทบโดยประสงค์จำนงหวัง |
แม้นเกิดศึกก็จะได้ใช้กำลัง | แล้วแต่งตั้งเป็นพระยารักษาองค์ |
ฝ่ายเสนีที่สำหรับรับใบบอก | พลางคลี่ออกอ่านความตามประสงค์ |
ทูลแถลงแจ้งถวายให้พระองค์ | ท้าวเธอทรงทราบคดีที่มีมา |
เมืองปากน้ำบอกมาว่าสังฆราช | แกองอาจหยาบคายร้ายนักหนา |
สั่งให้พวกปากน้ำนำเข้ามา | ในพาราจะเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ตรัสประภาษสั่งพหลพลขันธ์ |
จงกำกับเร่งไปรับเข้ามาพลัน | จะดูชั้นเชิงจะมาว่ากระไร |
ก็รู้อยู่ว่าจะเบียนเป็นเสี้ยนหนาม | ถึงดับความก็ไม่อาจจะหวาดไหว |
สัญชาติโกงโฉงเฉงไม่เกรงใจ | บุราณให้ตรองความดูตามควร |
พระจึงสั่งเสนีที่เปรื่องปราด | ไปแผ้วกวาดจัดไว้ที่ในสวน |
การที่จะรบสู้ดูพอควร | ตามกระบวนเกียรติยศพองดงาม |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จขึ้นจากอาสน์ | ยุรยาตรเข้าข้างในมิได้ขาม |
แล้วตรองตรึกการณรงค์จะสงคราม | คงลุกลามมั่นคงอย่าสงกา ฯ |
๏จะกล่าวฝ่ายคนใช้ที่ไปรับ | เร่งกำชับพวกไพร่ทั้งซ้ายขวา |
ถึงปากน้ำก็พอค่ำสนธยา | พวกเสนาหยุดพหลพลนิกาย |
แล้วไปเรียนกับพระยารักษาด่าน | มีโองการรับสั่งว่าเวลาสาย |
ให้รับไปในวังดั่งภิปราย | ทั้งไพร่นายเกณฑ์ระดมให้สมควร |
จัดให้งามตามยศพระสังฆราช | อย่าให้ขาดแห่ไปพักตำหนักสวน |
พวกปากน้ำได้ฟังสั่งกระบวน | ให้ครบถ้วนมิให้ขาดราชการ |
แล้วจัดแจงเลี้ยงดูผู้รับสั่ง | ยกมาตั้งเหล้าข้าวทั้งคาวหวาน |
ให้หลับนอนแต่หัวค่ำพอสำราญ | ทั้งทหารโยธาพลากร |
จึงจัดแจงแต่งโต๊ะสำรับใหญ่ | ทั้งเป็ดไก่วางเรียงเคียงสลอน |
อีกเนื้อโคผัดคั่วหัวสุกร | ทั้งส้อมช้อนมีดสำหรับเชือดกับกิน |
น้ำองุ่นรินใส่ในถ้วยแก้ว | เรียงเป็นแถวแต่งตั้งดังถวิล |
ทั้งลูกไม้จานรองล้วนของกิน | จัดไว้สิ้นตั้งรอบนหอกลาง |
แล้วเชื้อเชิญสังฆราชพระบาทหลวง | ตามกระทรวงสารพัดไม่ขัดขวาง |
ขึ้นเก้าอี้พูดกันฉันไปพลาง | ตามเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเมืองลังกา |
มีผู้คนปรนนิบัติไม่ขัดสน | พร้อมอยู่บนหอหมดไว้ยศถา |
บาทหลวงเฒ่านั่งยิ้มอิ่มสุรา | กินข้าวปลาเสร็จสมอารมณ์ปอง |
แล้วลุกจากเก้าอี้ไปที่พัก | มาพร้อมพรักคนที่มาห้าสิบสอง |
บาทหลวงเอนกายอิงแล้วนิ่งตรอง | จะหาช่องแยกครัวอ้ายผัวเมีย |
ไม่เป็นอันหลับนอนอาวรณ์หวัง | ให้แค้นคั่งมังคลาประดาเสีย |
คงจะคิดโลมเล้าเอาอีเมีย | ไปให้เสียกับอ้ายแขกแหกเอาเมือง |
จำจะหลอกให้มันไปในกำปั่น | คิดผ่อนผันทรมาให้ตาเหลือง |
แล้วจะคิดจัดพลเข้าปล้นเมือง | ให้สมเรื่องที่มันทำกูช้ำใจ ฯ |
๏ พอเรื่อแรงแสงทองส่องอากาศ | ภาณุมาศแย้มเยี่ยมเห่ลียมไศล |
สกุณากาโกกิลาไพร | ส่งเสียงใสแซ่ซ้องก้องกังวาน |
ไก่กระชั้นขันเสียงสำเนียงแจ้ว | กระเหว่าแว่วร้องจำเรียงเสียงประสาน |
พระสุริย์แสงแจ้งจำรัสชัชวาล | พวกทหารเตรียมพลสกลไกร |
เอารถรัตน์อัสดรกุญชรชาติ | มายืนกลาดเกณฑ์แห่แลไสว |
ทั้งธงเทียวเขียวขำดูอำไพ | มาพร้อมไว้ตามรับสั่งตั้งกระบวน |
บาทหลวงเฒ่าพลิกฟื้นตื่นขึ้นแล้ว | จิตผ่องแผ้วอิ่มเอมเกษมสรวล |
กินเอมโอชโภชนาเวลาควร | ก็เดินด่วนไปขึ้นรถบทจร |
พวกพหลพลแห่แตรฝรั่ง | เดินคับคั่งรายเรียงเคียงสลอน |
ทั้งดาบดั้งเสโล่แลโตมร | บทจรจากด่านชานบุรินทร์ |
เดินพหลพลสะพรั่งเข้าวังหลวง | ตามกระทรวงโดยนิยมสมถวิล |
หยุดประทับที่พลับพลาหน้าบุรินทร์ | พร้อมกันสิ้นบอกเข้าไปข้างในพลัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลาปรีชาฉลาด | ก็ยุรยาตรนาดกรายรีบผายผัน |
เสร็จมารับตาเฒ่าเข้าไปพลัน | ในสวนขวัญให้ขึ้นพักตำหนักทอง |
แกคำนับจับหัตถ์ตรัสปราศรัย | พูดเอาใจจะให้ชิดสนิทสนอง |
เพราะมารยาคิดไว้ในใจปอง | แกตรึกตรองแต่จะลวงดูท่วงที |
พระมังคลาพูดจามิให้พลาด | กลัวตาบาทหลวงไกจะใส่สี |
อันแยบยลกลไกใช่พอดี | ทั้งจู้จี้เต็มเบื่อเหลือระอา |
ต้องถนอมกล่อมใจมิให้ขัด | แต่ความสัตย์ไม่ประจบไม่คบหา |
พระสั่งพวกคนใช้ให้ไคลคลา | ไปจัดหาโต๊ะใหญ่ที่ในวัง |
มาเลี้ยงดูสังฆราชพระบาทหลวง | ตามกระทรวงเร่งไปดั่งใจหวัง |
พลางยกของมาใส่ระไวระวัง | ที่โต๊ะตั้งเป็นระเบียบดูเรียบเรียง |
แล้วเชิญบาทหลวงเฒ่าขึ้นเก้าอี้ | ให้ดีดสีขับขานประสานเสียง |
พระมังคลาฝาหรั่งขึ้นนั่งเคียง | พูดกันเสียงพึมพำตามทำนอง |
บาทหลวงกินหมูไก่ทั้งไข่ต้ม | เอาน้ำส้มรดใส่ลงในของ |
อร่อยรสเป็ดไก่สมใจปอง | ถูกทำนองอย่างฝรั่งข้างลังกา |
แกชอบปากกินได้มิใช่น้อย | คล่องคอหอยคว้าใหญ่ใส่หนักหนา |
พลางสำรวลสรวลสันต์จำนรรจา | กินข้าวปลาอิ่มหนำพอสำราญ |
แล้วเสแสร้งแกล้งว่ากูมานี่ | ท้าวกุลามาลีมันว่าขาน |
อยากจะใคร่ร่วมพงศ์เป็นวงศ์วาน | จะช่วยการคิดไปตีบุรีคืน |
เมืองลังกาที่ประสงค์ให้จงได้ | เองจะใช้สารพัดไม่ขัดขืน |
มันพูดจาน่าฟังเห็นยั่งยืน | คบเป็นพื้นไว้จะได้ไปลังกา |
เองลงไปกำปันสักวันหนึ่ง | ที่รำพึงนำไว้ได้ปรึกษา |
มันก็เป็นคนดีมีปัญญา | ดีดอกหวาพันผูกลูกผู้ชาย |
พระมังคลาว่าเจ้าคุณการุญสนอง | ขอตรึกตรองสักเจ็ดวันจะผันผาย |
ข้าพเจ้าพึ่งมายั้งพอตั้งกาย | ยังไม่วายอาวรณ์ที่ร้อนทรวง |
ตั้งเสบียงอาหารก็พานขัด | จะรีบรัดยกไปเป็นใหญ่หลวง |
ยังจะต้องจัดพหลพลทั้งปวง | ต่อเรือช่วงเรือใช้จะได้จร ฯ |
๏ บาทหลวงว่าเองอย่าได้วิตก | อ้ายแขกยกมาคั่งคับสลับสลอน |
เองรีบไปคิดการที่ราญรอน | อย่านิ่งนอนกอดเมียจะเสียความ |
แกจึ่งว่าตัวกูอยู่ไม่ได้ | จะรีบไปบอกอ้ายแขกช่วยแบกหาม |
ได้ปรึกษาการณรงค์ข้างสงคราม | เองรีบตามกูลงไปในเภตรา |
แกสั่งเสร็จคำนับแล้วจับหัตถ์ | หน่อกษัตริย์ด้วยพลันต่างหรรษา |
แล้วจึ่งว่าสุริยนจะสนธยา | กูจะลามึงไปที่ในเรือ |
แล้วลงจากตำหนักคนพรักพร้อม | คอยแห่ห้อมตามถนนดูล้นเหลือ |
บาทหลวงขึ้นรถใหญ่รีบไปเรือ | ทหารเสือแจวไวไปทะเล |
ครั้นถึงลำกำปั่นใหญ่ไพร่ทั้งนั้น | มาพร้อมกันต่างชวนกันสรวลเส |
บาทหลวงคิดจิตนิยมสมคะเน | กูถ่ายเทเห็นจะได้ดั่งใจปอง ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวแขกลุกมารับคำนับถาม | ว่าสมความไหมเจ้าคุณการุญสนอง |
ได้ขอสู่เขาหรือไม่ดั่งใจปอง | จะปรองดองอย่างไรเป็นไมตรี |
บาทหลวงเฒ่าเจ้ามารยาจึ่งว่าขาน | เขามีการเรื่องทุกข์ไม่สุขี |
ต้องพลัดพรากจากลังกาเสียธานี | แม้นใครตีคืนได้จะให้นาง |
บุษบงโฉมตรูผู้น้องสาว | อันเรื่องราวพูดไว้มิให้หมาง |
กูก็ว่าแยบยลเป็นหนทาง | เขาไม่วางใจเองยังเกรงกลัว |
แม้นตีได้ลังกาอาณาจักร | คงสมัครได้เสียเป็นเมียผัว |
แม้นได้สมปรารถนาเองอย่ากลัว | คงได้ตัวสาวสรรค์กัลยา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าพาราพระยาแขก | มันช่างแบกโง่ใหญ่ไว้นักหนา |
ไม่รู้ในเล่ห์กลคนมารยา | ทั้งถูกยาอีตาเฒ่าเอาจนงง |
แล้วว่ากับสังฆราชพระบาทหลวง | การทั้งปวงจะให้สมอารมณ์ประสงค์ |
แต่ขอให้ได้นุชบุษบง | จะให้ลงโคลนน้ำจะทำตาม |
พูดกันเสร็จต่างเข้าไปอยู่ในห้อง | ลงนอนตรองคนละแยกคิดแบกหาม |
อีตาเฒ่าทรนงจะสงคราม | พยายามหมายล้างมังคลา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ตรองแต่ที่เมามันข้างตัณหา |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มกลัดอัดอุรา | เพราะราคาขึ้นขม่อมต้องยอมตัว |
เปรียบเหมือนทาสตาเฒ่าอ้ายเจ้าเล่ห์ | มันถ่ายเทไกล่เกลี่ยชักเมียผัว |
หลอกข้างนี้ปดข้างนั้นให้พันพัว | มันจะยั่วการศึกให้ครึกโครม ฯ |
๏ จะกล่าวข้างมังคลานราราช | แค้นสังฆราชในพระทัยดังไฟโหม |
รู้มารยาตาเฒ่ามาเล้าโลม | ให้แสนโทมนัสใจไม่สบาย |
จึงปรึกษาหารือพราหมณ์สุทัต | พลางแจ้งอรรถบอกกล่าวเล่าขยาย |
ตั้งแต่แรกอนุสนธิ์ไปจนปลาย | ตามอุบายแกมากล่าวแต่เช้าวาน |
พราหมณ์สุทัตทราบอรรถจึงทูลตอบ | โดยระบอบกลไกหลายสถาน |
แม้นนิ่งช้าข้าเห็นไม่เป็นการ | อันช้างสารเสียงามักกล้าชน |
จำจะต้องป้องกันด่านปากน้ำ | เกณฑ์กันทำป้อมรายชายถนน |
ให้มั่นคงเรียบร้อยคอยประจญ | จะได้ขนปืนใหญ่ไปรายเรียง |
ซึ่งเขาเชิญเสด็จไปในกำปั่น | จะป้องกันพูดยากเป็นปากเสียง |
ฉวยเสียทีการอุบายพูดไล่เลียง | มันพร้อมเพรียงจะเข้ากลุ้มตะลุมบอน |
ผิดก็สู้กันป่นอยู่บนบก | ไม่วิตกเรียนรู้ตามครูสอน |
เมื่อจะพูดกับเราให้เขาจร | มานครปากน้ำที่สำคัญ |
พลับพลาสีอยู่ที่จะรับแขก | ตั้งแต่แรกมีสำหรับที่คับขัน |
ถึงจะเกิดชิงชัยทำไมกัน | ที่ข้อนั้นพร้อมกันทั่วอย่ากลัวเกรง ฯ |
๏ พระทรงฟังสังรเสริญแสนฉลาด | สมเป็นปราชญ์ฟังเพราะล้วนเหมาะเหมง |
ท่านช่วยคิดแก้ความไปตามเพลง | อย่าได้เกรงกีดขวางทุกอย่างไป |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จยุรยาตร | จากปรางค์มาศไปเฝ้าท้าวโกสัย |
ปรึกษาการต่างต่างทุกอย่างไป | ตามที่ในสังฆราชพูดพาดพิง |
ท้าวโกสัยว่าไม่ใช่หรือพ่อเอ๋ย | เพราะมันเคยข่มขี่ดั่งผีสิง |
คงจะทำหลายเล่ห์ประเวประวิง | แม้นเรานิ่งไว้ในใจมันใส่งอม |
เหมือนแก้วเก่าร้าวแยกแตกสลาย | จะขวนขวายต่อติดสนิทสนอม |
คงจะเป็นริ้วร่องให้หมองมอม | ถึงจะยอมให้มันใช้เห็นไม่ฟัง |
พระมังคลาว่าจริงเหมือนท้าวตรัส | แกเสียสัตย์ดูหน้าเหมือนบ้าหลัง |
คิดให้ทำป้อมค่ายระไวระวัง | มันคงตั้งรบรุกถึงคลุกคลี ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายพราหมณ์สุทัดจัดพหล | ระดมคนไปทำการชานกรุงศรี |
ป้อมปีกกาสารพันกันไพรี | แล้วให้ตีเหล็กใหญ่เอาใส่แกน |
เร่งกันทำกำกับคนนับหมื่น | เจาะช่องปืนไว้สำหรับนับได้แสน |
ตั้งค่ายคูหลายชั้นกันเขตแดน | ปืนหามแล่นปืนใหญ่จัดไว้วาง |
แล้วสำเร็จเสร็จการด่านปากน้ำ | คนประจำฝึกหัดไว้ขัดขวาง |
ตั้งตึกใหญ่ใส่อาหารไว้ย่านกลาง | เมื่อขัดขวางเครื่องเสบียงได้เลี้ยงพล |
แล้วสำเร็จเสร็จสรรพตามรับสั่ง | กลับมาวังทูลแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
พระทราบเสร็จราชการบานกมล | เหมือนสายชลดับร้อนค่อยผ่อนคลาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | แกร้อนทรวงคอยหาไม่เห็นหาย |
อ้ายมังคลาทีจะรู้ในอูบาย | อันแยบคายที่กูคิดจึงบิดเบือน |
ชะรอยอ้ายพ่อตาไปว่ากล่าว | อันเรื่องราวคิดไว้เห็นไม่เหมือน |
จำจะมีจดหมายให้ไปเตือน | แม้นแชเชือนก็คงเห็นได้เล่นกัน |
แกจึงเขียนหนังสือสองฉบับ | ตราประทับให้เข้าไปไอศวรรย์ |
ส่งให้พวกคนใช้รีบไปพลัน | ตามกูบัญชาสั่งอย่ารั้งรา |
พวกคนใช้รีบไปถึงเมืองด่าน | แล้วส่งสารบอกแจ้งแห่งเลขา |
พวกชาวด่านรับสารไปพารา | ทูลกิจจาแก่พระองค์ดำรงวัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลาหน่อกษัตริย์ | ออกแท่นรัตน์ธิบดินทร์ถวิลหวัง |
ถามเรื่องการเวียงชัยระไวระวัง | แล้วตรัสสั่งสนทนากับอาจารย์ ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่รับอักษรศรี | ทูลคดีท้าวไทเขาให้สาร |
กับหนังสืออักขราพระอาจารย์ | แล้วก็อ่านเรื่องราวกล่าวสารา |
ในลิขิตสังฆราชผู้ปราดเปรื่อง | อันรู้เรื่องชี้ขาดในศาสนา |
มาถึงศิษย์ร่วมชีวังมังคลา | ด้วยคอยหามาก็หายไปหลายเดือน |
การที่พูดกันไว้ก็ได้เสร็จ | คงสำเร็จโดยประสงค์จำนงเหมือน |
เราก็รับแม่นแท้ไม่แชเชือน | คงเป็นเพื่อนทำศึกดั่งตรึกตรอง |
จงลงไปกำปั่นสักวันหนึ่ง | จะได้พึ่งพัวพันกันทั้งสอง |
คงจะสมใจจิตอย่าคิดตรอง | การเศร้าหมองจะได้คลายวายคะนึง |
แล้วคลี่สารเจ้าพาราปตาหวี | ขอเป็นที่รักใคร่อาลัยถึง |
เจริญราชไมตรีที่คะนึง | ด้วยรำพึงอยากประสบพบพระองค์ |
พอได้เป็นเกียรติยศปรากฏไว้ | เชิญภูวไนยโปรดให้สมอารมณ์ประสงค์ |
ข้าขอเป็นเกือกทองฉลององค์ | ได้ดำรงไมตรีที่เจริญ ฯ |
๏ พอจบสารฝ่ายพระผ่านกำพลเพชร | ครั้นทราบเสร็จมันมาตั้งสังรเสริญ |
พูดยกยอล่อให้น้ำใจเพลิน | มันจะเชิญเอาไปทำให้หนำใจ |
ก็รู้อยู่ว่าปัญญาตาบาทหลวง | คิดล่อลวงมิได้ตรงอย่าสงสัย |
จึงตรัสสั่งกรมท่าเสนาใน | เร่งแก้ไขแต่งตอบให้ชอบกล ฯ |
๏ เสนีรับโองการเขียนสารตอบ | โดยระบอบเรื่องความตามนุสนธิ์ |
แล้วสั่งให้เสนีทั้งสี่คน | นำยุบลราชการใส่พานทอง |
แล้วแห่แหนลงไปในกำปั่น | ส่งให้ท่านบาทหลวงเฒ่ากับข้าวของ |
ทั้งลูกไม้ของประหลาดใส่ถาดทอง | กับสิ่งของเอมโอชโภชนา ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าออกมารับจับหนังสือ | ดูลายมือคลี่สารอ่านเลขา |
ในสารศรีเจ้าจังหวัดกษัตรา | พระมังคลาขอคำนับกับอาจารย์ |
ซึ่งมิได้ลงมาช้าอยู่นั้น | ด้วยป่วยครั่นตัวไปหลายสถาน |
แต่พอหายจะลงมาหาอาจารย์ | จงทราบสารเถิดเจ้าคุณอย่าวุ่นวาย |
พอจบเรื่องแกนึกเคืองแต่ในจิต | อ้ายนี่คิดเห็นจะรู้ที่กูหมาย |
มันจึ่งบอกเจ็บไข้ไม่สบาย | รู้อุบายจริงแล้วหนอเพราะพ่อตา |
แล้วจึงอ่านสารตอบพระยาแขก | ว่าเมื่อแรกท้าวไทขึ้นไปหา |
ก็ขอบใจไมตรีที่ท่านมา | เหมือนญาติกานับเนื้อดั่งเชื้อวงศ์ |
ซึ่งจะออกณรงค์ด้วยช่วยดับศึก | ก็สมนึกแสนยินดีที่ประสงค์ |
ไม่เดียดฉันท์รักกันเหมือนญาติวงศ์ | จะซื่อตรงต่อกันจนบรรลัย |
แต่ครั้งนี้มิได้ไปในกำปั่น | เพราะโรคันดอกพระองค์อย่าสงสัย |
ถ้าแม้นค่อยทุเลาบรรเทาใจ | คงจะได้พบกันดั่งสัญญา |
ขอเชิญแจ้งศุภลักษณ์ในอักษร | ไม่เกี่ยงงอนซื่อตรงเหมือนวงศา |
อันสารศรีนี้ถึงท้าวเจ้าพารา | เมืองปตาหวีจงแจ้งอย่างแคลงเลย |
๏ บาทหลวงเจ้ามารยาแกด่าผลุง | พูดออกยุ่งอวดก๋าเจ้าข้าเอ๋ย |
ควักน้ำตาลล่อมดปดจนเลย | กูก็เคยรู้ใจอ้ายไทยแกม |
เป็นไรมีที่ตรงนั้นอย่ามั่นหมาย | ชะเจ้านายมึงเป็นปราชญ์ฉลาดแหลม |
มาหลอกกูผู้อาจารย์เอาหวานแกม | อ้ายแกะแนมไม่รู้สึกสำนึกตัว |
ชะเจ้าปิ่นภูวดลกำพลเพชร | มาไว้เม็ดพูดจามันน่าหัว |
เฮ้ยไปบอกตามกูสั่งระวังตัว | กูไม่กลัวบุญญาบารมี |
ขุนเสนาลากลับจากกำปั่น | แล้วพากันเข้าประณตบทศรี |
ทูลแถลงแจ้งข้อคดีมี | ให้ทราบที่บาทหลวงว่าสารพัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลาปรีชาฉลาด | ตรัสประภาษสั่งพหลพลขันธ์ |
ให้จัดแจงเตรียมตัวไว้ทั่วกัน | ไม่ช้าวันมันคงทำให้รำคาญ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | แกแจ้งเหตุตรองไว้หลายสถาน |
จึงกราบทูลมูลความตามบุราณ | จะต้องราญรบสู้ดูกำลัง |
เขาจะคิดรอนราญสถานไหน | เรามั่นไว้มันอยู่เรือเหมือนเสือขัง |
รบแต่ห่างกันสักหน่อยคอยระวัง | ถ้าแม้นตั้งค่ายคูจะรู้ความ |
พระจอมวงศ์ทรงฟังสั่งประกาศ | ท่านช่วยกวาดเสียให้เตียนที่เสี้ยนหนาม |
การที่จะณรงค์ในสงคราม | แล้วแต่ความคิดท่านจะผันแปร |
อาญาสิทธิ์อยู่กับท่านดังมั่นหมาย | เสนานายใครไม่ฟังยังกระแส |
เอาตามบทอัยการอย่าผันแปร | สุดแล้วแต่ท่านครูผู้อาจารย์ |
ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | เข้าปรางค์มาศรจนามุกดาหาร |
ฝ่ายท่านตาพราหมณ์สุทัตเร่งจัดการ | เตรียมทหารไว้ให้ทั่วทุกตัวคน ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | แกนั่งง่วงคอยสังเกตหาเหตุผล |
คิดจะเข้าตีด่านชานกำพล | ให้ร้อนรนอกใจไม่สบาย |
แกจึ่งเรียกเจ้าพาราปตาหวี | มานั่งที่พูดไปดังใจหมาย |
ได้ช่วยกันปรึกษาหาอุบาย | อันแยบคายเองจะเห็นเป็นอย่างไร |
จะไปตีลังกาเห็นช้านัก | จะร้างรักร้อนจิตพิสมัย |
กูเห็นว่าเรื่องราวจะยาวไป | กูคิดไว้ว่าจะตีบุรีมัน ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราพระยาแขก | มันนั่งแบกโง่ไว้ใจกระสัน |
ด้วยราคารัดรึงให้ตึงตัน | คิดหมายมั่นแต่จะใคร่ได้อนงค์ |
จึงว่ากับสังฆราชพระบาทหลวง | การทั้งปวงไม่ใช่ของต้องประสงค์ |
ขอแต่ให้ได้นุชบุษบง | การประสงค์ของดิฉันเท่านั้นเอง ฯ |
๏ บาทหลวงได้ฟังว่านัยน์ตาเขียว | แกโกรธเกรี้ยวลุกขึ้นโลดกระโดดเหยง |
แล้วชี้หน้าด่าให้มิได้เกรง | อ้ายนักเลงสกปรกโกหกกู |
พูดสบถสาบานให้การไว้ | ชอบแต่ให้แลบลิ้นออกกินหมู |
หมายว่ารักใคร่กันกตัญญู | มิได้รู้กิริยาอ้ายบ้ากาม |
แกเดินด่าเออมันไม่ใช่มนุษย์ | แล้วขากทุดเต็มระยำอ้ายซำสาม |
ท้าวกุลาพาซื่อไม่ถือความ | พยายามแต่จะใคร่ได้อนงค์ |
หัวร่อแหะแคะไค้มิได้โกรธ | ให้ปราโมทย์คลุ้มคลั่งกำลังหลง |
เพราะถูกยาตาเฒ่าเอาจนงง | เล่นเอาหลงเร่อไปไม่ได้การ |
ประเดี๋ยวชักเอากระดาษที่วาดรูป | ออกมาจูบเล่นเป็นสุขสนุกสนาน |
บาทหลวงเฒ่าเข้าห้องคิดตรองการ | จะรอนราญราวีตีกำพล |
จึงให้หาแต่บรรดาขุนนางแขก | มาแย้มแยกเรื่องความตามนุสนธิ์ |
กูจะเข้าราวีตีกำพล | สั่งพหลไว้ให้ทั่วทุกตัวนาย |
จะทำศึกครั้งนี้เป็นที่ยิ่ง | การจะชิงนางในเหมือนใจหมาย |
จงช่วยกันรบสู้อย่าดูดาย | ให้เจ้านายสมประสงค์จำนงปอง |
แกหวนจิตคิดขึ้นได้ว่าอ้ายนี่ | มันถูกผีถูกยาพาให้หมอง |
แม้นมิแก้ไหนจะสมอารมณ์ปอง | จำต้องแก้ไขให้มันคลาย |
แล้วจึงว่าฮาเฮ้ยอ้ายเหล่านี้ | กลับไปที่อยู่ตนเร่งขวนขวาย |
จงจัดแจงเตรียมพหลพลนิกาย | ไว้ทุกนายเรียกเมื่อไรให้ได้การ |
แล้วลุกเดินเลยไปท้ายบาหลี | ขึ้นเก้าอี้ดูตำรายาขนาน |
จำจะแก้อ้ายขี้เค้าจะเอาการ | พอชื่นบานมันจะได้ใช้ไพร่พล |
ซึ่งเอารากกำจายหิงหายป่า | กับแก้วตาฝูงสัตว์แรกปัฏิสนธิ์ |
ทั้งเครื่องหวานมาเป็นเชื้อเจือระคน | แล้วเสกมนต์ลงอักษรให้ถอนยา |
พลางกวนใส่ไว้เสร็จสำเร็จนึก | เวลาดึกเดินเหย่าเข้าไปหา |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าประเทศเขตชวา | ลุกออกมาต้อนรับแล้วจับมือ |
พลางปราศรัยในเล่ห์เสน่หา | แต่พี่มานั่งคอยอยู่น้อยหรือ |
เชิญไปแท่นไสยาจะหารือ | แม่อย่าถือไปด้วยกันเถิดขวัญใจ |
แล้วจูงบาทหลวงเฒ่าเข้าในห้อง | แกจึ่งร้องว่าอ้ายบ้าอ้ายตาใส |
ตัณหาสดหยดย้อยน้อยเมื่อไร | จะทำไมกับกูเป็นครูบา ฯ |
๏ท้าวกุลารู้สึกนึกขึ้นได้ | เออผิดไปแล้วท่านอาจารย์ขา |
ได้ผิดพลั้งหวังว่ามิตรองค์ธิดา | ไม่แจ้งว่าท่านครูผู้อาจารย์ |
บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยมึงอย่าวุ่น | ทำเฉียวฉุนให้ตัณหานั้นกล้าหาญ |
เพราะลมราคมากมายหลายประการ | กูสงสารจะช่วยแก้ให้แปรไป |
เอายานัตถุ์ดมพลางพอสร่างโศก | ระงับโรคที่ในจิตหวิดหวิดไหว |
แกหยิบยาที่ประสมให้ดมไป | ออท้าวไทคำนับรับมาดม |
พิษยาแฝดก็ค่อยเบาที่เร่าร้อน | เพราะยาถอนไปชำระที่สะสม |
บรรเทาคลายหายเหี้ยมที่เตรียมตรม | พอขับลมราคร้อนผ่อนสำราญ |
ได้หลับนอนอ่อนใจได้เป็นสุข | บรรเทาทุกข์ค่อยสบายหลายสถาน |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงสีรวีวาร | เสพอาหารเห็นสบายวายอาวรณ์ |
บาทหลวงเห็นค่อยคลายเรียกนายทัพ | มากำชับพวกทหารชาญสมร |
รีบยกไปทอดท่าหน้าสันดอน | พลนิกรขานโห่เป็นโกลา |
พร้อมสะพรั่งตั้งกันเป็นหลั่นลด | ทั้งเรือบดเรือแพนดูแน่นหนา |
บาทหลวงแล่นไปข้างหลังค่อยรั้งรา | พวกโยธาฮึกหาญจะราญรอน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลานราราช | บรมนาถบพิตรอดิศร |
ทราบว่าบาทหลวงมาหน้าสันดอน | ให้อาวรณ์ในพระทัยไปสบาย |
จึ่งปรึกษาว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | บาทหลวงเฒ่ากวนใจไม่รู้หาย |
คงจะเหมือนถ้อยคำท่านทำนาย | จะยักย้ายป้องกันเป็นฉันใด |
พฤฒาเฒ่าเข้าใจที่ในเหตุ | พลางน้อมเกศทูลแจ้งแถลงไข |
ต้องคิดรับกันที่ท่าชลาลัย | ถึงศึกใหญ่เราอยู่บกเหมือนนกบิน |
แต่จะต้องตั้งค่ายตามชายหาด | เอาขวากสาดไปตามท่าชลาสินธุ์ |
เอาแผ่นเหล็กสองชั้นกั้นที่ดิน | แล้วเอาหินตั้งรายชายทะเล |
กองให้หนากว่ากำแพงสักสี่เท่า | ให้คนเข้าบังได้เดินไขว่เขว |
เอาปืนใหญ่จุกช่องมองคะเน | พอเรือเหยิงให้ล่มจมตะแคง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลาเจ้าฝาหรั่ง | จึงตรัสสั่งพวกทหารชาญกำแหง |
ตั้งสมนอกสมในขอใช้แรง | ทุกตำแหน่งอย่าให้ขาดราชการ |
เชิญท่านครูผู้ใหญ่ลงไปด้วย | จะได้ช่วยจัดแจงแต่งทหาร |
จงรีบรัดจัดกันให้ทันการ | แม้นเนิ่นนานพวกศัตรูจะจู่มา |
แล้วตัวเราจงจะไปต่อภายหลัง | เรียกฝรั่งเกณฑ์หัดจัดปืนผา |
ทั้งลูกดินน้อยใหญ่รีบไคลคลา | ตามท่านตาครูไปในกระบวน |
จงตรัสสั่งเสนีปรีชาฉลาด | เร่งหมายบาดพลไพร่รีบไต่สวน |
อย่าให้มันหลบลี้หนีกระบวน | เกณฑ์ให้ถ้วนอย่าให้ขาดราชการ ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | เสร็จนิวัตกลับหลังยังสถาน |
ขุนเสนีทุกตำแหน่งมาแจ้งการ | เกณฑ์ทหารเก่าใหม่ในบาญชี |
ฝ่ายท่านครูผู้ชำนาญในการเวท | ดูสังเกตดินฟ้าในราศี |
ก็รีบรัดพหลแลมนตรี | ลงไปที่ปากน้ำท่าศิลา |
เอาแลงถมระดมคนพลไพร่ | ตั้งเหล็กใหญ่ทำเป็นแกนให้แน่นหนา |
เจาะไว้ช่องปืนใหญ่ชายชลา | ป้อมปีกกาตั้งรายชายสันดอน |
แล้วโรยขวากลากปืนขึ้นไปใส่ | บนป้อมใหญ่ชายตลิ่งริมสิงขร |
ครั้นสำเร็จเสร็จปราการชานนคร | ให้รีบร้อนเข้าไปเฝ้าเจ้าแผ่นดิน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | แกแล่นล่วงมาในท่าชลาสินธุ์ |
ระรี่เรื่อยเฉื่อยมาในวาริน | พร้อมกันสิ้นมิได้แยกแตกกระจาย |
ทั้งเรือรบเรือลำเลียงเคียงสลับ | มาคั่งคับในวารินกระสินธุ์สาย |
บาทหลวงสั่งบรรดาเสนานาย | แม้นถึงท้ายอ่าวจงเงียบเชียบสำเนียง |
จะทอดท่าดาประดังให้พรั่งพร้อม | เอาเรืออ้อมปิดอ่าวแล่นก้าวเฉียง |
เรือลูกค้ามาขายแล่นใกล้เคียง | เก็บเสบียงรีบเอาทั้งข้าวเกลือ |
อีกวันครึ่งมาถึงเมืองปากน้ำ | เอาผ้าดำเขียนลงเป็นธงเสือ |
สั่งให้ปักประจำทุกลำเรือ | ทั้งใต้เหนือจะได้ดูรู้สำคัญ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายเรือตระเวนเจนสมุทร | เที่ยวแล่นรุดรอบนครสิงขรขัณฑ์ |
เห็นเรือรบแล่นหลามมาตามกัน | ดูหลายพันดาษดาในวาริน |
ก็รีบรัดลัดมาเข้าหน้าด่าน | เอาเหตุการณ์บอกพระยาท่ากระสินธุ์ |
ว่าข้าศึกจะมาติดธานินทร์ | แขกทั้งสิ้นเหลือล้นคณนา |
อีกวันหนึ่งคงถึงเมืองปากน้ำ | หลายพันลำดาษดื่นล้วนปืนผา |
ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าเมืองด่านชานชลา | รีบเข้ามาแจ้งคดีเสนีนาย |
ส่วนท่านครูผู้สำเร็จราชกิจ | เขียนลิขิตส่งให้ไปถวาย |
พวกม้าเร็วรีบไปทั้งไพร่นาย | ทูลถวายข้อความตามคดี |
แม้นยังไม่เสด็จออกบอกเถ้าแก่ | ให้ทูลแต่องค์พระมเหสี |
เป็นการร้อนไวไวไปจงดี | พวกพาชีรีบไปในพารา ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่ลงมารักษาด่าน | ให้ทหารปืนใหญ่ทั้งซ้ายขวา |
ลากขึ้นป้อมพร้อมพรั่งปืนจังกา | คาบศิลาทองปรายไว้หลายพัน |
ฝ่ายท่านครูผู้วิเศษแจ้งเหตุผล | ทำมงคลเสกด้ายสายกระสัน |
ทั้งแคล้วคลาดเข้าณรงค์คงกระพัน | ให้แจกกันแต่บรรดาพลากร ฯ |
๏ ฝ่ายม้าใช้ไปถึงนิเวศน์วัง | เห็นพร้อมพรั่งเหล่าทหารชาญสมร |
ตรงเข้าไปหาเสนีชุลีกร | เป็นการร้อนช้าไม่ได้เร่งไปทูล |
ว่าข้าศึกมาประชิดติดปากน้ำ | ท่านเร่งนำเข้าไปเฝ้าเจ้าไอศูรย์ |
ยังไม่ออกบอกให้ข้างในทูล | เป็นเค้ามูลศึกมาถึงธานี |
รีบเข้าไปในวังสั่งท่านท้าว | แจ้งเรื่องราวราชการกับสารศรี |
เจ้าขรัวนายไปพลันด้วยทันที | นำคดีทูลองค์พระทรงวัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | ตรัสประภาษเกิดศึกเหมือนนึกหวัง |
เสด็จจากแท่นสุวรรณบัลลังก์ | ออกมายังที่นั่งโถงพระโรงคัล |
สถิตแท่นวินิจฉัยอันไพโรจน์ | จึงเอื้อนโอษฐ์ไปแจ้งเหตุทุกเขตขัณฑ์ |
แต่บรรดาเมืองขึ้นทั้งหมื่นพัน | ให้พากันมาบำราบปราบอรินทร์ |
แล้วเอื้อนอรรถตรัสสั่งท้าวโกสัย | ท่านอยู่ในเวียงวังดั่งถวิล |
คอยจับจ่ายเครื่องเสบียงเลี้ยงกันกิน | ทั้งลูกดินอาวุธยุทธนา |
ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขุนอำมาตย์พลนิกายทั้งซ้ายขวา |
ตั้งกระบวนทวนธงอลงการ์ | ทั้งปืนผาเสโล่แลโตมร |
พลดาบดาบสายสะพายแล่ง | พลหอกหอกแซงเคียงสลอน |
พลง้าวง้าวรายล้วนปลายงอน | เหล่านิกรเสนากล้าเกาทัณฑ์ |
พลโล่ถือโล่มือกุมดาบ | ศรกำซาบลูกทองแดงดูแข็งขัน |
เครื่องอาวุธยุทธนาสารพัน | พลขันธ์พร้อมถ้วนกระบวนแซง |
รถที่นั่งอย่างใหม่ลายกุดั่น | เป็นเครือวัลย์ฝังพลอยพรายพรอยแสง |
บัลลังก์ทองรองมุกดาลงยาแดง | เป็นใบแพลงพลิ้วพลิกนกจิกพลอย |
บุษบกกระจกบังฝังสายลั่น | เป็นนาคพันห้อยพู่ดูเป็นฝอย |
ทั้งดุมวงกงสลับประดับพลอย | ดูเรียบร้อยเทียบประทับไว้กับเกย |
เทียบพระยาม้ามิ่งมงคลรัตน์ | ทั้งเหยาะหยัดพริ้งเพริศดูเปิดเผย |
สารถีที่สำหรับกำกับเกย | ดาบที่เคยกุมประทับไว้กับกร ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงกำพลเพชร | แต่งองค์เสร็จดำเนินไปดั่งไกรสร |
ทรงพระแสงฝักลงยาค่านคร | เสด็จจรเกยชลาหน้าพระลาน |
โหราเฒ่าคอยทำนายถวายฤกษ์ | พอเมฆเบิกเป่าสังข์ระฆังขาน |
ลั่นฆ้องชัยเสียงซ้องก้องกังวาน | โห่ประสานสังข์แตรแซ่สำเนียง |
พระทรงนั่งอลังกตบนรถแก้ว | ดูพรายแพรวก้องกังวานประสานเสียง |
ยิงปืนใหญ่กึกก้องซ้องสำเนียง | ทั้งจำเรียงดนตรีปี่ชวา |
เดินกระบวนทวนธงตรงไปด่าน | หมู่ทหารเดินปนพลอาสา |
ยกไปตามครุฑนามตามตำรา | พอถึงท่าเมืองปากน้ำพอย่ำเย็น ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | แกแล่นล่วงคุ้งแควพอแลเห็น |
ถึงชะวากปากน้ำพอย่ำเย็น | เดือนก็เด่นแสงสว่างกลางอัมพร |
ทั้งเรือรบเรียงรายใบสล้าง | ให้ทอดขวางปิดทางข้างสิงขร |
ทิ้งสมอรอราหน้าสันดอน | พลนิกรคับคั่งตั้งกระบวน |
ค่ายวิหลั่นกันลูกปืนยกขึ้นตั้ง | ทหารนั่งคอยระดมเมื่อลมหวน |
เอาปืนใหญ่ไว้ตรงกลางรางชนวน | จัดไว้ถ้วนเครื่องอาวุธยุทธนา |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าพาราปตาหวี | สั่งเสนีไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
เวลาดึกจะตีด่านชานชลา | พวกเสนาสั่งให้ทั่วทุกตัวคน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลาพฤฒาเฒ่า | เข้ามาเฝ้าทูลแถลงแจ้งนุสนธิ์ |
เชิญเสด็จไปพลับพลาริมสาชล | พร้อมพหลแลหลามตามกันไป |
ขึ้นประทับพลับพลาที่หน้าด่าน | พวกทหารแห่ห้อมล้อมไสว |
พราหมณ์สุทัตจัดพหลพลไกร | ให้ขึ้นไปหอรบสมทบพล |
ประจุปืนน้อยใหญ่ใส่ดินหู | ทุกช่องคูตามตำแหน่งทุกแห่งหน |
ฝ่ายท่านครูผู้เฒ่าเข้ามณฑล | แล้วห้ามคนที่ในค่ายอย่าได้อึง |
ทั้งปืนใหญ่ให้เงียบเซียบสงัด | ในจังหวัดพวกศัตรูจะรู้ถึง |
เสร็จสั่งความพราหมณ์เข้านั่งตั้งรำพึง | หน่วงไปถึงทางกสิณอภิญญาณ |
เสกใบไม้ให้เป็นต่อห่อผ้าขาว | เวลาเช้าจะปล่อยไปไล่สังหาร |
เสกไม้เท้าเป็นเหรากุมภาพาล | จะประหารสักเท่าไรก็ไม่ตาย |
พอเดือนเที่ยงเสร็จพิธีมาที่เฝ้า | แถลงเล่าการประมูลทูลถวาย |
พระทรงฟังสั่งมหาเสนานาย | ท่านทั้งหลายจงกำชับอย่าหลับนอน |
ด้วยข้าศึกฮึกฮักมาหนักแน่น | เตรียมโล่แพนหอกคู่ธนูศร |
แม้นสู้ถึงอาวุธสั้นได้ราญรอน | ไว้แซกซ้อนปืนนกสับคาบศิลา |
จงจัดสรรกันให้ถ้วนกระบวนรบ | ใครหลีกหลบเอาชีวังถึงสังขาร์ |
ตามกฎหมายพระนครแต่ก่อนมา | ท่านพฤฒากับเสนีได้ชี้แจง ฯ |