- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | เมื่อไสยาสน์ยามวิโยคให้โศกศัลย์ |
เรียกยุพาผกาสุลาลีวัน | มาเคียงบรรจถรณ์บรรทมแล้วชมเชย |
สงสารเจ้าเศร้าสร้อยมาพลอยยาก | ปราศจากหมอนฟูกแล้วลูกเอ๋ย |
มิเคยยากกรากกรำก็จำเคย | มาชมเชยน้ำค้างอยู่กลางไพร |
เจ้าขวัญอ่อนนอนเรียงอยู่เคียงแม่ | ไม่ห่างแหงามสรรพจงหลับใหล |
แม่นี้ไม่ไสยาสน์ประหลาดใจ | ด้วยป่าใหญ่เย็นเยียบเงียบสำเนียง |
แต่โพล้เพล้เรไรก็ไม่ร้อง | ไม่แซ่ซ้องเสียงสัตว์สงัดเสียง |
ทั้งเนื้อนกวิหคเงียบเซียบสำเนียง | เห็นผิดเยี่ยงอย่างป่าพนาลัย ฯ |
๏ ฝ่ายนารีพี่น้องสองสุภาพ | ต่างก้มกราบบาทาอัชฌาสัย |
จึงทูลความตามรู้อยู่ในใจ | นี่มาในแนวป่าชื่อกาลวัน |
ตำแหน่งนี้มีเจ้าป่าเทพารักษ์ | สิทธิศักดิ์รักษาพนาสัณฑ์ |
เข้าสิงสู่อยู่ในถ้ำกลำพัน | แสนฉกรรจ์กินสัตว์ในปัถพี |
ผู้ใดมาอารักษ์ลักสะกด | กินเสียหมดมิให้พบทั้งศพผี |
จึงเยือกเย็นเว้นว่างหนทางนี้ | มิได้มีผู้ใดเดินไปมา |
แต่ทางตรงลงทุ่งกรุงสิงหล | ไม่แวะวนเวียนวงตรงหนักหนา |
แม้วันนี้มีภัยสิ่งไรมา | จึงทรงตราแก้วกันอันตราย ฯ |
๏ นางทราบความหวามไหวฤทัยหวาด | กัมปนาทนึกพรั่นพระขวัญหาย |
จึงว่าเจ้าเล่าก็รู้อยู่ว่าร้าย | ไม่กลัวตายหรือมาค้างอยู่อย่างนี้ |
อันใจแม่แต่ยังเยาว์คุ้มเท่าใหญ่ | เผอิญให้พรั่นตัวนึกกลัวผี |
ถึงรบราฆ่าฟันทุกวันนี้ | ก็สุดที่กลัวแกล้งทำแข็งใจ |
เจ้าเรียนรู้อยู่กับท่านอาจารย์เฒ่า | ท่านบอกเล่าลึกซึ้งไปถึงไหน |
จะต่อตีผีสางทำอย่างไร | จงบอกให้แจ้งจิตในกิจจา ฯ |
๏ ทั้งสองนางต่างคำนับอภิวาท | อันพระบาทบาลีดีหนักหนา |
รู้วิสัยไตรเพทเลศวิชา | เหมือนเห็นฟ้าดินจบทั้งภพไตร |
แม้นประมาณการอันใดก็ไม่ผิด | รักษากิจกรุณาอัชฌาสัย |
พอตาหูรู้เห็นเป็นอย่างไร | ในดวงใจคิดเสร็จสำเร็จการ |
ซึ่งให้ข้าพาพระองค์มาตรงนี้ | เหตุด้วยผีร้ายแรงกำแหงหาญ |
ขอบุญญาอานุภาพช่วยปราบมาร | ให้สำราญรัถยาประชาชน |
อันดวงตราราหูคู่กษัตริย์ | คุ้มจังหวัดแว่นแคว้นแดนสิงหล |
ถึงผีสางปะรางควานไม่ทานทน | ย่อมแพ้ผลวาสนาบารมี |
ขอพระองค์ทรงคิดพิษฐาน | ตามโบราณท่านบำรุงซึ่งกรุงศรี |
เดชะผลปรนนิบัติปัถพี | คงปราบผีพ่ายแพ้นั้นแน่นัก |
อันหนึ่งครูผู้เฒ่าเล่าก็ว่า | เกณฑ์ลังกายังไม่สูญประยูรศักดิ์ |
แล้วทายว่าข้าศึกที่ฮึกฮัก | จะกลับรักร่วมจังหวัดปัถพี ฯ |
๏ นางทราบคำทำนายนึกอายจิต | ช่างบอกศิษย์สารพัดจะบัดสี |
จึงเสแสร้งแกล้งว่าพระบาลี | ท่านเหลือดีดูแลแน่สุดใจ |
เธอบอกเจ้าแต่เท่านั้นหรือยังอีก | อย่าเลี่ยงหลีกเจ้าจงแจ้งแถลงไข |
หรือท่านว่าข้ากับพระอภัย | คงจะได้สมสู่เป็นคู่กัน |
ทั้งสองนางต่างว่าข้าพเจ้า | ได้ยินเท่านั้นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ซึ่งจะได้หรือมิได้อย่างไรนั้น | กระหม่อมฉันมิได้ซักให้ทักทาย ฯ |
๏ นางฟังความยามดึกนึกวิตก | สะอื้นอกอาลัยพระทัยหาย |
คิดถึงพระอภัยแล้วให้อาย | ช่างเคราะห์ร้ายนี่ไฉนกระไรเลย |
เมื่อต่างชาติศาสนาเป็นข้าศึก | สุดจะนึกร่วมเรียงเคียงเขนย |
ขอสู้ตายชายอื่นไม่ชื่นเชย | จนล่วงเลยสู่สวรรคครรไล |
นางนึกนึกแล้วสะอึกสะอื้นอ้อน | ด้วยอาวรณ์หวังจิตพิสมัย |
จนลืมองค์หลงตะลึงคะนึงใน | ถอนฤทัยทุกข์รักหนักอุรา |
ระทวยองค์ลงบนอาสน์ราชรถ | โศรกกำสรดเศร้าสร้อยละห้อยหา |
ส่วนนารีพี่น้องสองสุดา | ต่างวันทาโฉมตรูช่วยอยู่งาน |
ด้วยรู้กลปรนนิบัติกษัตริย์พร้อม | ทั้งขับกล่อมกล่าวกลอนก็อ่อนหวาน |
ศิโรราบกราบประณตบทมาลย์ | ขอประทานโทษาฝ่าธุลี |
จะขับกล่อมจอมสุรางค์สำอางโฉม | ต่างประโคมค่อนรุ่งในกรุงศรี |
แล้วกรายกรีดดีดกลเป็นดนตรี | ประสานสีซอดังเสียงวังเวง |
พี่สาวร้องน้องรับทั้งขับกล่อม | เสียงพร้อมพร้อมไพเราะล้วนเหมาะเหม็ง |
กล่าวประโลมโฉมยงองค์ละเวง | ด้วยกาพย์เพลงพลอดคิดประดิษฐ์กลอน ฯ |
๏ โอ้พระจันทร์วันเพ็งไม่เปล่งเปลื้อง | สลดเหลืองแลเยี่ยมเหลี่ยมสิงขร |
ดูว้าเหว่เอกาอนาทร | เที่ยวเร่ร่อนทรงรถมิลดเลี้ยว |
สุริยันดั้นเมฆวิเวกลิบ | แสงระยิบลับเงาภูเขาเขียว |
สงสารนกตกอยู่แต่ผู้เดียว | ให้เปล่าเปลี่ยวหวั่นหวาดอนาถใจ |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมจะห่มเสื้อ | พออุ่นเนื้อนอนสนิทพิสมัย |
ถึงลมว่าวหนาวยิ่งจะผิงไฟ | แต่หนาวใจจำกลั้นทุกวันคืน |
แม้มีคู่ชูชิดสนิทนุ่ม | เหมือนห่อหุ้มผ้าทิพย์สักสิบผืน |
หอมบุปผามาลัยไม่ยั่งยืน | ไม่ชูชื่นเช่นรสพจมาน |
มณฑาทิพย์กลีบกลิ่นประทิ่นหอม | จะอ่อนน้อมโน้มลงน่าสงสาร |
สาโรชรื่นชื่นแช่มจะแย้มบาน | ผกาก้านเกสรขจรโรย |
ภุมรินบินเลยไปเชยอื่น | มิมาชื่นเชยชวนให้หวนโหย |
น้ำค้างพรมลมโยกมาโบกโบย | จะร่วงโรยแรมเหมือนดังเดือนเอย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงฟังเพลงขับ | ระทวยทับองค์แอบแนบเขนย |
เสนาะคำทำเนียบช่างเปรียบเปรย | นางชมเชยชื่นจิตเหมือนธิดา |
แล้วเชือดชิ้นดินถนันรางวัลให้ | ทั้งสองได้รับประทานหวานหนักหนา |
ผิวฉวีสีสันแต่นั้นมา | จึงโสภาผ่องผุดเพียงบุตรี |
พอเดือนเที่ยงเสียงสัตว์สงัดเงียบ | เย็นยะเยียบปานว่าป่าช้าผี |
นางกษัตริย์ตรัสปรึกษาสองนารี | เห็นแม่นมั่นวันนี้จะมีภัย |
แม่จะขับอภิวาท์สุรารักษ์ | ซึ่งสำนักเขาเขินเนินไศล |
ให้คุ้มครองป้องปัดขจัดภัย | ตามวิสัยสัตยากฤดาการ |
แล้วไขกลดนตรีทรงตีกรับ | ประดิษฐ์ประดับขับเพลงวังเวงหวาน |
ขอเดชะปรเมสุเวตาล | จงทราบสารสารพัดซึ่งสัจจา |
จะบำรุงกรุงไกรให้เป็นสุข | มาได้ทุกข์แทบชีวังจะสังขาร์ |
ขอคุณพระปรเมเทวดา | เสด็จมาคุ้มครองช่วยป้องกัน |
ประจามิตรคิดร้ายให้วายวอด | ได้ตลอดกลับไปถึงไอศวรรย์ |
จะสังเวยเนยนมทั้งน้ำจัณฑ์ | ทุกเทวัญวานช่วยข้าด้วยเอย |
พวกไพร่พร้อมล้อมนั่งได้ฟังเสียง | ต่างเอนเอียงอ่อนพับลงหลับเฉย |
ทั้งสองนางต่างบังคมเฝ้าชมเชย | จนหลับเลยลืมองค์ทั้งนงเยาว์ ฯ |
๏ จะกลับกล่าวชาวบ้านด่านสิงหล | มันเป็นคนขี้อายผู้ชายเขลา |
ชื่อย่องตอดยอดเบอะซมเซอะเซา | แต่เป็นเหล่าลูกเศรษฐีมีเงินตรา |
ครั้นแม่พ่อขอเมียมายกให้ | มันก็ไม่เคียงคู่เข้าสู่หา |
ยามกลางวันนั้นจะชมภิรมยา | ก็อายหน้านางผู้หญิงจริงจริงเจียว |
กลางคืนนั้นมันว่ามืดไม่เห็นหน | เป็นจำจนอัดอั้นกระสันเสียว |
แต่กลิ้งกลับสับสนอยู่คนเดียว | วันหนึ่งเฉียวฉุนชื่นจะขืนเมีย |
ไม่เล้าโลมโจมทับจับสลัด | เสียงอึดอัดจะเอาผ้าพันตาเสีย |
จนหายใจไม่พอเข้าคลอเคลีย | อีนางเมียมันตะกายเอาหลายที |
ทั้งถีบถูกลูกตาข้างขวาบอด | อ้ายย่องตอดเต็มโกรธกระโดดหนี |
เสียดายนักควักออกมาว่าตานี้ | เป็นของดีกว่าอื่นเอากลืนไว้ |
แล้วนึกอายชายหญิงวิ่งเข้าป่า | ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลไหน |
มาถึงถ้ำกลำพันมันเข้าไป | ปีศาจให้ความรู้อยู่ด้วยกัน |
เที่ยวกินเนื้อเสือสีห์เหมือนผีดิบ | ตาไม่พริบเปรียบเหมือนยักษ์มักกะสัน |
สัตว์จึงสิ้นถิ่นป่ากาลวัน | คืนวันนั้นอ้ายย่องตอดดอดออกมา |
เห็นกองไฟไม่เห็นคนด้วยจนจิต | เทวฤทธิ์สิทธิศักดิ์ช่วยรักษา |
พอแสบท้องมองเขม้นเห็นอาชา | โถมถลาฟาดฟัดแล้วกัดกิน |
ที่เหลือนั้นมันเอาไปให้กับผี | กินพาชีชักรถเสียหมดสิ้น |
ยังเที่ยวค้นจนรอบขอบคิริน | ด้วยได้กลิ่นเหมือนมนุษย์สุดเสียดาย |
เทวดาอาเพศให้พบรถ | เสกสะกดก้าวย่องค่อยมองหมาย |
นางไม่หลับกลับตื่นฟื้นพระกาย | เห็นคลับคล้ายคลับคลาเข้ามามอง |
ขยับตราราหูคู่พระหัตถ์ | สะกิดตรัสปลุกสั่งนางทั้งสอง |
ไม่เขยื้อนเหมือนหนึ่งผีทั้งพี่น้อง | เหตุด้วยต้องมนต์สะกดหมดทุกคน |
แต่โฉมยงองค์เดียวให้เปลี่ยวจิต | มันคว้าหวิดหวีดร้องสยองขน |
เห็นปีนป่ายท้ายรถเหลืออดทน | ถึงอับจนโจนลงวิ่งวงเวียน |
อ้ายย่องตอดลอดลัดสกัดจับ | นางเลี้ยวลับหลีกลัดฉวัดเฉวียน |
เอาดาบแกว่งแสงสว่างเหมือนอย่างเทียน | จนจวนเจียนถึงฟาดปราดประกาย |
ถูกตรงหัวขมองอ้ายย่องตอด | ปวดตลอดลำหูไม่รู้หาย |
หกล้มลงนิ่งสลบเหมือนศพตาย | มนต์ก็คลายคนฟื้นตื่นตกใจ |
เห็นนางตีผีกลิ้งวิ่งเข้าช่วย | บ้างฉุดฉวยเชือกกระหวัดวัดไว้ได้ |
ทั้งสองนางต่างตามนางทรามวัย | มากราบไหว้ทูลถามตามสงกา ฯ |
๏ โฉมเฉลาเล่าเรื่องให้รู้แจ้ง | พอส่งแสงสูรย์สว่างกลางเวหา |
ต่างพิศดูผู้ตายคล้ายคุลา | มีแต่ตาข้างเดียวดูเขี้ยวโง้ง |
ทั้งหน้าลายรายเรี่ยรอยเมียข่วน | ผมแต่ล้วนผีผูกจมูกโด่ง |
ใบไม้นุ่งรุงรังสันหลังโกง | ดังผีโป่งปากเหม็นเช่นกุมภา |
พอพูดกันมันฟื้นยืนสลัด | เชือกที่มัดหลุดโลดโดดถลา |
นางตีซ้ำหนำจิตด้วยฤทธิ์ตรา | อุปมาเหมือนจะดิ้นสิ้นชีวิต |
เห็นโฉมยงทรงตราพระราหู | สังเกตดูดังนารายณ์กายสิทธิ์ |
ด้วยเดชาการุญบุญฤทธิ์ | มันกลัวผิดเข็ดหลาบลงกราบกราน |
นางกษัตริย์ตรัสถามตามสงสัย | มึงชื่อไรร้ายกาจมาอาจหาญ |
เป็นยักษีผีสางหรือรางควาน | ที่สถานหลักแหล่งอยู่แห่งใด ฯ |
๏ อ้ายย่องตอดพลอดไม่ใคร่จะชัด | ด้วยลิ้นขัดแข็งกระด้างเหมือนอย่างใบ้ |
เสียงล่อแล่แต่เราพอเข้าใจ | ด้วยมิได้พูดจามาช้านาน |
มันบอกว่าข้าชื่ออ้ายย่องตอด | เที่ยวเล็ดลอดลืมเรือนเพื่อนสถาน |
มาอยู่ถ้ำร่ำเรียนสำเร็จการ | เป็นศิษย์ท่านเทวดาวราฤทธิ์ |
ให้เที่ยวหาสารพัดสัตว์มีเลือด | เอาไปเชือดสูบกินกลิ่นโลหิต |
ข้ากินเนื้อเสือเหลืองเป็นเนืองนิตย์ | ใครฆ่าตีชีวิตไม่วอดวาย |
เว้นแต่ตราราหูสู้ไม่ได้ | ท่านจับไว้วันนี้ไม่หนีหาย |
ได้ลักม้าฆ่ากินเสียสิ้นกาย | ให้โฉมฉายใช้ข้าต่างพาชี |
จะชักรถลดเลี้ยวเที่ยวถึงไหน | จะชักไปเช่นข้ามารศรี |
กว่าจะหาม้าได้ไซร้เทวี | มาอยู่ที่ถ้ำธารสำราญใจ ฯ |
๏ นางโฉมยงทรงฟังให้สังเวช | มันถือเพศผีสางต่างวิสัย |
พลางปรึกษาว่าใครเห็นเป็นอย่างไร | มันจะไปเป็นข้าเหมือนพาชี |
แต่วิสัยใจทมิฬมันกินเลือด | จะดุเดือดดึงดื้อด้วยถือผี |
ประการหนึ่งซึ่งจะพาไปธานี | จะย่ำยีหญิงชายให้วายปราณ ฯ |
๏ ทั้งสองนางต่างรู้เพราะครูสั่ง | จึงว่าครั้งนี้จะได้ใช้ทหาร |
จะหาไหนได้เหมือนมันประจัญบาน | ใครล้างผลาญชีวันไม่บรรลัย |
นี่หากแพ้แต่ตราพระราหู | จึงยอมอยู่ด้วยดีจะมีไหน |
ทั้งธานีมีศึกจงตรึกไตร | จะได้ใช้สังหารผลาญไพริน |
ประการหนึ่งซึ่งมาในป่านี้ | พระบาลีสอนสั่งหวังถวิล |
ว่าโฉมยงนงเยาว์เจ้าแผ่นดิน | พบไพรินร้ายหยาบช่วยปราบปราม |
แม้นละไว้ให้ผีอยู่ที่ถ้ำ | มันจะทำเบียดเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
ให้ชี้นำถ้ำใหญ่ยกไปตาม | ช่วยปราบปรามพวกผีให้หนีไป ฯ |
๏ นางตรัสตอบชอบแล้วลูกแก้วแม่ | เหมือนให้แลเห็นทางสว่างไสว |
ช่างรอบคอบรู้สว่างมาต่างใจ | เหมือนแม่ได้ดวงตาพระบาลี |
แล้วเหลียวมาปราศรัยอ้ายย่องตอด | มึงได้รอดชีวาแล้วอย่าหนี |
ช่วยชักรถอตส่าห์แทนพาชี | พาไปที่ถ้ำอยู่ของครูบา |
แล้วแต่งองค์ทรงสะพายสายกำซาบ | กระบี่ปลาบแปลบวับจับเวหา |
ให้พี่น้องสองนั่งในหลังคา | นางนั่งหน้าเดินรถดูงดงาม |
ทั้งพวกไพร่ใจหาญแกว่งขวานหอก | สะอึกออกนำเสด็จไม่เข็ดขาม |
ล้วนมีครูรู้ชำนาญการสงคราม | บ้างแซงตามซ้ายขวาเป็นตาริ้ว |
อ้ายย่องตอดสอดมือเข้าถือแอก | ออกแต่แรกเร็วกลมดังลมฉิว |
ขึ้นภูเขาเลากามันพาปลิว | ทหารหิวหอบวิ่งไม่ทิ้งนาย |
ถึงปากถ้ำกลำพันเห็นควันพลุ่ง | เป็นฝุ่นฟุ้งพวกผีวิ่งหนีหาย |
เสียงครึกครึ้นตื่นแตกต้องแยกย้าย | ไม่กล้ำกรายกลัวตราบารมี |
พวกโยธาโห่ลั่นสนั่นก้อง | เห็นอ้ายย่องตอดนั่งยังไม่หนี |
บ้างหยอกยุดฉุดมือว่าชื่อดี | พระบุตรีตรัสถามตามสงกา |
พวกมึงไปไหนหมดหรือปดเล่น | ไยไม่เห็นครูมึงอยู่ในคูหา |
อ้ายย่องตอดทอดใจว่าภัยมา | เทวดาโดดหนีไม่มีใคร |
๏ นางฟังคำซ้ำแลเห็นแต่ศพ | ซากสินธพขามังสังยังจำได้ |
กระดูกหนังยังกลิ้งมันทิ้งไว้ | จึงสั่งให้เก็บเข้าเผาอัคคี |
จึงปรึกษาว่าเราเข้ามารบ | ปีศาจหลบหลีกกลัวเอาตัวหนี |
ครั้นว่าไปไกลตาอยู่ธานี | กลัวพวกผีมันจะกลับมาจับคน ฯ |
๏ ยุพาว่าถ้าพระองค์จะทรงปราบ | ให้ราบคาบเขตแคว้นแดนสิงหล |
อันพวกผีมิได้เห็นเป็นสกนธ์ | จะใช้คนสัประยุทธ์สุดทำนอง |
ควรจะหาอารักษ์อันศักดิ์สิทธิ์ | ซึ่งสถิตถ้ำเขาเป็นเจ้าของ |
เข้าโรมรันกันเองคุ้มเกรงครอง | จึงจะต้องตามเล่ห์ประเวณี ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสตอบชอบแล้วลูก | จำจะปลูกศาลสาปไว้ปราบผี |
ด้วยตัวเราเจ้าจังหวัดปัถพี | จะมอบที่แดนไว้ให้พระกาฬ |
แล้วเกณฑ์เหล่าชาวป่าให้หาไม้ | ประเดี๋ยวใจปลูกเสร็จสำเร็จศาล |
เอาผ้ากรองรองทรงของนงคราญ | ทำเป็นม่านมูลี่ที่เทวัญ |
เครื่องบูชาสารพัดให้จัดตั้ง | ขนมปังเป็ดคู่กับหมูหัน |
ทั้งเทียนธูปบุปผาสารพัน | กระแจะจันทน์เจิมเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสว่าเวลานี้ | จะบัตรพลีเทวดารักษาศาล |
ถวายกรฟ้อนรำให้สำราญ | เจ้าตามมารดาฟ้อนจะสอนไว้ |
แล้วจัดแจงแต่งสองพี่น้องน้อย | ใส่เสื้อสร้อยสอดแซมให้แจ่มใส |
นางแต่งองค์ทรงกรองทองประไพ | เสด็จไปหน้าศาลลานชลา |
ให้ไพร่พร้อมล้อมองค์เป็นวงกว้าง | ทั้งสองนางยืนชม้ายทั้งซ้ายขวา |
ประโคมแตรแซ่ซ้องกลองลังกา | นางวัณฬาทอดกรอ่อนระทวย |
แล้วรำร่ายฉายฉะประปรายบาท | กะหวัดวาดไว้จังหวะดูสะสวย |
สองบังอรฟ้อนตามงามระทวย | ดำเนินนวยนาดกายชม้ายเมียง |
แล้วร้องบวงสรวงศาลหวานวิเวก | ทั้งทุ้มเอกอักษรชะอ้อนเสียง |
เครื่องสังเวยเคยถวายไว้รายเรียง | ทั้งหมากเมี่ยงมังสาสุราบาน |
บุปผาพวงจวงจันทน์คันธรส | ทั้งเครื่องสดของเราทั้งคาวหวาน |
ขอศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรงค์องค์พระกาฬ | มาสิงศาลสำหรับช่วยดับร้อน |
อันแว่นแคว้นแดนดินที่ถิ่นร้าย | ขอถวายเทเวศร์เขตสิงขร |
ช่วยคุ้มครองชนชาติราษฎร | ให้ถาวรทั่วทั้งเกาะลังกา |
แล้วฟ้อนรำคำนับอภิวาท | สุราสาดเซ่นถวายทั้งซ้ายขวา |
ให้จุดเทียนเวียนโห่เป็นโลกา | พอเสียงฟ้าฟาดเปรื่องกระเดื่องดัง |
เป็นแสงรุ้งพลุ่งสว่างขึ้นกลางศาล | เห็นพระกาฬกายแดงดังแสงครั่ง |
รับสังเวยเนยนมขนมปัง | ทั้งหน้าหลังลักขณาเหมือนวานร |
ครั้นอิ่มหนำอำนวยอวยสวัสดิ์ | นางกษัตริย์จงสุโขสโมสร |
อันเขตแคว้นแดนป่าพนาดร | จะดับร้อนรับปราบที่หยาบคาย |
ต่อปีหนึ่งจึงมารำเป็นคำนับ | จะคอยรับเครื่องสังเวยเช่นเคยถวาย |
แม้ไม่มาสามัญจะอันตราย | แล้วก็หายสูญวับไปกับตา ฯ |
๏ นางละเวงเกรงกราบไม่หยาบหยาม | ขนานนามตามอยู่ที่ภูผา |
ชื่อพระกาฬศาลเจ้าชาวลังกา | จึงเรียกมาตามกันทุกวันนี้ |
อันนามถ้ำกลำพันอันอุบาทว์ | เกิดปีศาจสาปนามไว้ตามที่ |
ชื่อว่าเขาเจ้ารำประจำปี | ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นโบราณ |
ถึงเดือนห้าฝรั่งสิ้นทั้งหลาย | ไปถวายวันทาบูชาศาล |
บ้างบนบานศาลกล่าวเจ้าพระกาฬ | ช่วยบันดาลดับร้อนให้ผ่อนเย็น ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | ปราบปีศาจสิ้นทุกข์ที่ขุกเข็ญ |
ยังธุระจะประจญกับคนเป็น | เห็นจวนเย็นยกทัพขับโยธา |
เอาเชือกหนังรั้งท้องอ้ายย่องตอด | อย่าให้ลอดลัดไปใต้พฤกษา |
มันวิ่งหนักชักเชือกให้ช้าช้า | พอโยธาทันรถบทจร |
ออกจากดงลงทุ่งกรุงสิงหล | พอพบพลพวกตามหลามสลอน |
นางกษัตริย์ตรัสถามความนคร | แล้วรีบร้อนเข้าเขตนิเวศน์วัง |
หยุดประทับรับขุนนางที่ข้างหน้า | ทั้งพวกล่าทัพกลับมาคับคั่ง |
ขอโทษตัวกลัวตายด้วยพ่ายพัง | เพราะกำลังหลับทั่วทุกตัวคน ฯ |
๏ นางบัญชาว่าเราไม่เอาผิด | ด้วยสุดคิดคั่งคับเข้าสับสน |
เขาจุดเผาเราก่อนเราซ้อนกล | จนขังคนเขาไว้ได้เมื่อไฟฮือ |
พวกเขามีปี่เป่าให้เราหลับ | จึงเสียทัพโทษใครจะได้หรือ |
จงช่วยกันผันแปรคิดแก้มือ | เราไม่ถือโทษาเสนาใน |
แล้วถามข่าวราวเรื่องเมืองผลึก | ทราบว่าศึกยังอยู่วังที่สร้างใหม่ |
ไม่ตามตีนี่เพราะว่าสัญญาไว้ | นางเข้าใจจึงแกล้งทำเป็นกำชับ |
อย่าประมาทราชการท่านทั้งหลาย | ศึกไม่วายแต่ละวันนั้นจะดับ |
เร่งระดมสมทบไว้รบรับ | เร่งกำชับด่านทางอย่าวางใจ |
แล้วเล่าความตามแตกต้องแยกย้าย | คนทั้งหลายเวทนาน้ำตาไหล |
นางเรียกบ่าวชาวป่าด้วยอาลัย | มาโปรดให้เสื้อผ้าสารพัน |
ทั้งเงินทองสองแพนกแจกชาวบ้าน | ทั้งลูกหลานเล็กใหญ่อยู่ไพรสัณฑ์ |
พวกโยธีดีใจได้รางวัล | ต่างพากันกราบก้มบังคมลา |
นางสั่งให้อ้ายย่องตอดอยู่ตึกกว้าง | เกณฑ์ขุนนางกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา |
ให้สูบเลือดเชือดกัดตามอัชฌา | กินอูฐลาควายวัวตัวละมื้อ |
ถ้าหมูแพะแกะเล่าเก้ากะสิบ | มันกินดิบดูเหมือนเช่นเป็นกระสือ |
ฝ่ายทหารการศึกได้ฝึกปรือ | จะแก้มือเมืองผลึกยังตรึกความ ฯ |
๏ พอเสร็จคำร่ำสั่งพระสังฆราช | มานั่งอาสน์เอะตะลึงแล้วจึงถาม |
ไปเสียทัพอัปราล่าสงคราม | ไยงดงามกว่าแต่ก่อนร่อนชะไร |
หรือไปรบพบรักจึงหนักหน่วง | ไม่ล่อลวงล้างศึกนึกไฉน |
ดูผ่องขาวราวกับจิตสนิทใน | หรือกลับใจเลโลเพราะโลกีย์ ฯ |
๏ นางละเวงเกรงกราบไม่หยาบหยาม | แล้วเล่าความตามรบจนหลบหนี |
แต่ไม่บอกออกว่าเธอพาที | กลัวเป็นที่กินแหนงแคลงฤทัย |
เล่าแต่ความตามได้กินดินถนัน | จึงผิวพรรณผุดละอองให้ผ่องใส |
พลางเชือดชิ้นดินถนันออกทันใด | ถวายให้พระฉันแล้ววันทา |
ทำถามลองของนี้กินดีนัก | ไม่รู้จักต้นรากหลากหนักหนา |
บาทหลวงดูรู้ความตามตำรา | จึงบอกว่าของอยู่ในใต้แผ่นดิน |
กำหนดนั้นพันปีผุดทีหนึ่ง | เสียงดังตึงแตกฟุ้งจรุงกลิ่น |
เกิดตรงไหนไอเหงื่อเหมือนเกลือกิน | พื้นแผ่นดินก็เป็นโป่งขึ้นตรงนั้น |
มนุษย์เราชาวเมืองเรียกเกลือโป่ง | เพราะปล่องโปร่งเปลวกลิ่นดินถนัน |
ได้ผลกินกลิ่นเนื้อเหมือนเจือจันทน์ | บอกแล้วฉันชิมหวานสำราญใจ ฯ |
๏ ในขณะพระกำลังยังนั่งพูด | พอมีทูตถือสารมาขานไข |
เป็นข้อความตามธุระพระอภัย | แต่ไม่ให้สารสำคัญนั้นเข้ามา |
นางรู้แจ้งแกล้งสั่งให้ยั้งหยุด | บาทหลวงสุดสงสัยจึงให้หา |
ต้องตามคำนำทูตเข้าวันทา | แล้วเปิดตรากล่องลานออกอ่านความ ฯ |
๏ ในสาราว่าพระองค์ทรงสวัสดิ์ | สืบกษัตริย์ศาสนาภาษาสยาม |
มาหยุดยั้งฝั่งสมุทรหยุดสงคราม | เพราะมีความเสน่หาให้อาวรณ์ |
คิดถึงวันสัญญาเวลาดึก | มิได้นึกแหนงหน่ายสายสมร |
เจ้าลับเนตรเชษฐานิราจร | ถึงยามนอนนึกสะอื้นทุกคืนวัน |
คิดถึงคำร่ำว่าต้องหย่าทัพ | ไม่ลืมรับขวัญน้องประคองขวัญ |
มิรู้สิ้นกลิ่นเนื้อเหมือนเจือจันทน์ | สารพันพิศวาสเพียงบาดตา |
ถึงอยู่ไกลใจนึกรำลึกถึง | เปรียบเหมือนหนึ่งแนบชิดขนิษฐา |
แม้นตัวตายหมายจะฝังไว้ลังกา | แม่วัณฬาละฉันให้รัญจวน |
หรือลืมคำทำสัตย์มธุรส | เกินกำหนดนึกคอยละห้อยหวน |
จะหน่ายแหนงแคลงใจก็ไม่ควร | หรือประชวรจะมาพยาบาล |
ขอขึ้นบกยกตามทรามสวาท | พอชมราชนิเวศน์เขตสถาน |
จะทำสัตย์มธุรสพจมาน | ตามโบราณร่วมจังหวัดปัถพี |
ไม่รบพุ่งมุ่งหมายทำลายล้าง | จะสืบสร้างเสนหามารศรี |
แม่เหมือนเพชรเม็ดเท่าเขาคิรี | แม้นไม่มีเรือนทองก็หมองนวล |
ถึงมียศงดงามแต่ยามตื่น | ไม่แช่มชื่นเช่นเจ้าของครองสงวน |
งามละม่อมจอมขวัญอย่ารัญจวน | จงคิดควรคำสารที่อ่านเอย ฯ |
๏ นางฟังความหวามไหวฤทัยหวั่น | ให้อ้นอั้นอายเอกเขนกเฉย |
บาทหลวงว่าข้าคิดไม่ผิดเลย | แต่พอเอ่ยออกก็เป็นเห็นไรฟัน |
จะคิดรักกันอย่างไรเจ้าไม่บอก | ทำย้อนยอกเกกมะเหรกพูดเสกสรร |
มาปดเล่นเป็นสนุกทุกคืนวัน | เมื่อรักกันแล้วก็นางมาพรางพระ ฯ |
๏ ยุพยงทรงฟังพระสังฆราช | เชิงฉลาดไหว้ว่าสาธุสะ |
อันทำศึกนึกจะได้ชัยชนะ | มิใช่จะจงใจเป็นไมตรี |
แต่จวนตัวกลัวกำลังจะพลั้งเพลี่ยง | จึงหลีกเลี่ยงลวงล่อแต่พอหนี |
ประการหนึ่งซึ่งมีหูอยู่อย่างนี้ | จะหนีปี่เห็นไม่ได้จนใจจริง ฯ |
๏ บาทหลวงว่าข้าไม่บอกไว้ดอกหรือ | สัญชาติชื่อว่าผู้ชายตายเพราะหญิง |
จนของ้อของอนถึงวอนวิง | ราวกับวิ่งเข้าวานสังหารกาย |
แม้มิรักหนักหน่วงทำลวงล่อ | ขึ้นขี่คอเล่นก็ได้ดังใจหมาย |
รูปก็รู้อยู่วิสัยใจผู้ชาย | มันหลงตายติดกับเหมือนหลับตา |
อันลมปี่ดีแต่เพราะเสนาะหู | ที่จะสู้ลมปากยากหนักหนา |
แต่ความรักมักจะออกกระบอกตา | จะเป็นข้าพวกเขาชาวชมพู |
แล้วลุกเดินเมินหน้าออกมาวัด | นางกษัตริย์แสนสลดนึกอดสู |
จึงแกล้งว่าข้าเฝ้าเล่าก็รู้ | เรารบสู้เสียทีจึงหนีมา |
อันแยบยลกลศึกย่อมลึกซึ้ง | คิดไม่ถึงท่านว่ารักเขาหนักหนา |
เป็นพระเจ้าเราไม่ขัดอัธยา | จะตรึกตราตอบความตามทำนอง |
จงเลี้ยงดูผู้ถือหนังสือสาร | ให้ทหารคุมขังไว้ทั้งผอง |
แล้วนางพานารีทั้งพี่น้อง | เข้าสู่ห้องมนเทียรวิเชียรพราย ฯ |
๏ ระทวยองค์ลงบนแท่นแสนระทด | โศกกำสรดทรวงกรมไม่สมหมาย |
จำจะคิดปิดความตามอุบาย | ให้หญิงชายเชื่อสิ้นไม่กินใจ |
แล้วโฉมยงทรงประดิษฐ์คิดอักษร | เป็นกาพย์กลอนกล่าวแกล้งแถลงไข |
ลงแผ่นทองกล่องปิดผนิดไว้ | ครั้นเช้าให้หาทูตมาพูดจา |
หนังสือตอบมอบหมายว่านายท่าน | ซึ่งแต่งสารแสนเสนาะเพราะหนักหนา |
แม้เหมือนคำรำพันซึ่งสัญญา | จะเห็นว่ารักใคร่เป็นไมตรี ฯ |
๏ ฝ่ายทูตจำคำนับแล้วรับสาร | ต่างก้มกรานกราบลามารศรี |
เรียกบ่าวออกนอกประตูพระบูรี | ตามวิถีทางมาได้ห้าวัน |
ถึงกองทัพยับยั้งอยู่วังใหม่ | ตรงเข้าไปหน้าที่นั่งนรังสรรค์ |
ถวายสารกรานก้มบังคมคัล | แล้วรำพันทูลความตามกิจจา ฯ |
๏ พระอภัยให้อ่านสารอักษร | ว่าอวยพรภูวเรศพระเชษฐา |
เมื่อแรกองค์ทรงธรรม์ได้สัญญา | ว่าจะฆ่าลูกเมียไม่เสียดาย |
ทั้งมิให้พี่น้องมาข้องกีด | จะเข้ารีตร่วมจิตที่คิดหมาย |
เหตุไฉนไม่ล้างให้วางวาย | มากลับกลายกล่าวความเอาตามใจ |
แม้มิจริงสิ่งสัตย์สะบัดสบถ | ไม่ละลดเลยพระองค์อย่าสงสัย |
จะสู้รบขบฟันจนบรรลัย | ไม่ขอไปเป็นข้านางมาลี |
แม้พระองค์ทรงสัตย์สันทัดเที่ยง | จะโลมเลี้ยงแล้วไม่อางขนางหนี |
ให้เห็นจริงสิ่งสัตย์สวัสดี | ไม่มีที่กีดขวางเหมือนอย่างนั้น |
จะได้ไปคำนับอภิวาท | เชิญพระบาทบรเมศวร์มาเขตขัณฑ์ |
เป็นปิ่นเกล้าสาวสุรางค์นางกำนัล | ล้วนเลือกสรรสาพิภักดิ์พนักงาน |
จะงามหน้าพาน้องให้ผ่องแผ้ว | เหมือนฉัตรแก้วกั้นเกศประเทศสถาน |
ทุกค่ำเช้าเฝ้าประณตบทมาลย์ | คอยอยู่งานนวดฟั้นให้บรรทม |
ถ้าเมตตาสารพัดไม่ขัดข้อง | เสน่ห์น้องนึกไว้ให้ได้สม |
จะนั่งแนบแอบองค์ให้ทรงชม | พึ่งพระร่มโพธิ์ทองของน้องเอย ฯ |
๏ พระอภัยได้ยินสิ้นสติ | มิได้ปริโอษฐ์เอกเขนกเขนย |
ศรีสุวรรณนั้นว่ารักจักเป็นเตย | คนเขาเคยเข็ดสิ้นลิ้นลังกา |
มะม่วงมันจันทน์อินลูกลิ้นจี่ | จะกินดีกว่าฝรั่งกระมังหนา |
แม้ขืนจิตติดพันนางวัณฬา | จะต้องฆ่าคนตายลงก่ายกัน |
พระเชษฐาว่าเปล่าดอกเจ้าพี่ | ความทั้งนี้นางเอกแกล้งเสกสรร |
กลศึกลึกล้ำล้วนสำคัญ | แม้ไม่ทันตรึกตราจะว่าจริง |
ทั้งแต่งแต้มแนมเหน็บล้วนเล็บเขี้ยว | เราก็เกี้ยวลูกเสือเหลือผู้หญิง |
จะยุดหางร่างกลอนเฝ้าวอนวิง | คงจะกลิ้งลงสักวันหนึ่งมั่นคง ฯ |
๏ ศรีสุวรรณครั้นจะตัดก็ขัดข้อง | ตัวเป็นน้องต้องตอบความไปตามหลง |
อันน้องนี้มิได้คลาดบาทบงสุ์ | ถึงพระองค์จะเชือดเอาเลือดเนื้อ |
จะควักล้วงดวงใจก็ไม่ว่า | จะหลับตาตายก่อนนอนให้เถือ |
ถ้าพระองค์สงสารกับว่านเครือ | อย่าชิดเชื้อช่วงชิงผู้หญิงพาล |
อันพาราฝรั่งทั้งทวีป | จะเร่งรีบรบรับแต่กับหลาน |
มิได้เมืองเคืองขาดราชการ | จึงล้างผลาญชีวันให้บรรลัย |
จะยกทัพนับโกฏิมาเกี้ยวชู้ | ใครจะสู้ส่งลำเลียงเสบียงไหว |
จะอ้อยอิ่งวิงวอนจนอ่อนใจ | เห็นพวกไพร่จะผอมโซเพราะโลกีย์ ฯ |
๏ สินสมุทรพูดจาประสาจิต | แม้ไม่คิดรบพุ่งเอากรุงศรี |
จะบวชเข้าเอาบุญเป็นมุนี | ไปอยู่ที่เกาะแก้วเสียแล้วกัน |
อยู่ที่นี่อีละเวงเก่งกว่าเสือ | จะฉีกเนื้อเลี้ยงชู้เช่นหมูหัน |
แม้นโปรดให้ไปรบจะขบฟัน | เที่ยวห้ำหั่นเสียให้สิ้นลิ้นลังกา ฯ |
๏ พระอภัยไม่พูดกับโอรส | ด้วยทรงยศเธอยังรักเขาหนักหนา |
แต่เกรงน้องข้องขัดหัทยา | จึงแกล้งว่าพี่ก็ไม่อาลัยมัน |
หมายจะล่อพอให้รักไม่พักรบ | ได้พิภพโภไคมไหศวรรย์ |
เมื่อเจ้าเห็นเป็นว่าจะช้าวัน | จะช่วยกันสงครามก็ตามใจ |
พี่จะช่วยกำกับเป็นทัพหลัง | แต่จะสั่งสัญญาอัชฌาสัย |
ถ้าได้ทีตีกระทั่งถึงวังใน | ใครอย่าได้ฆ่าฟันนางวัณฬา |
ด้วยเดิมทีพี่เขากับเรานั้น | เหมือนพงศ์พันธุ์ผูกรักกันหนักหนา |
จะปราบปรามตามทำนองของน้องยา | แต่อย่าฆ่าคิดล้างให้วางวาย ฯ |
๏ ศรีสุวรรณอัญชลียินดีสุด | สินสมุทรกราบก้มด้วยสมหมาย |
ต่างทูลลาพาพราหมณ์ทั้งสามนาย | มาหน้าค่ายคิดกันปันโยธา |
ศรีสุวรรณให้พราหมณ์สามมานพ | เดินบรรจบโจมจับเป็นทัพหน้า |
สินสมุทรยังอ่อนหย่อนปัญญา | คุมโยธาทัพหนุนเป็นขุนพล |
ศรีสุวรรณนั้นกำกับเป็นทัพหลวง | ล้วนรู้ท่วงทีศึกได้ฝึกฝน |
ได้ฤกษ์สมลมตกให้ยกพล | แต่ล้วนคนขี่ม้าถืออาวุธ |
ทั้งสามพราหมณ์สามทัพให้รับโห่ | สำเนียงโร่เรื่อยหูไม่รู้หยุด |
ทั้งทัพหนุนขุนพลรณยุทธ์ | สินสมุทรขี่สิงห์วิ่งทะยาน |
ศรีสุวรรณนั้นทรงรถที่นั่ง | เป็นทัพหลังลมตกยกทหาร |
แต่องค์พระอภัยใจสำราญ | ดึกประมาณสามยามยกตามไป ฯ |
๏ ฝ่ายทัพหน้าสานนให้คนบอก | ชาวบ้านนอกทุกตำแหน่งแถลงไข |
ใครไม่สู้อยู่บ้านสำราญใจ | เรามิได้ย่ำยีอย่าหนีเลย |
แล้วเร่งทัพขับพลอลหม่าน | พวกชาวบ้านหญิงชายสบายเฉย |
ชวนพูดจาการุญเหมือนคุ้นเคย | จนทัพเลยล่วงมาถึงป่าตาล ฯ |
๏ จะกลับกล่าวชาวเมืองที่เลื่องชื่อ | มีฝีมือแม่นยำรู้รำขวาน |
ชื่ออิเรนเจนประจญคนโบราณ | รักษาด่านชั้นนอกเป็นคอกเนิน |
ริมวิถีมีลำแม่น้ำกว้าง | ทั้งสองข้างโขดดอนสิงขรเขิน |
เป็นร่องกลางทางเซาะจำเพาะเดิน | มีเชิงเทินรายรอบขอบบุรี |
ท่านเจ้าเมืองเลื่องชื่อนั้นถือขวาน | เป็นทหารเอกอาจดังราชสีห์ |
มีลูกสาวขาวล้ำดังสำลี | อายุยี่สิบสลวยสวยโสภา |
ไม่มีผัวกลัวที่จะมีลูก | ต้องกินหยูกยาฝาดไม่ปรารถนา |
อยากทำศึกฝึกหัดเพลงศัสตรา | จนปรีชาเชิงรบรู้ครบครัน |
เมื่อคราวศึกลึกซึ้งมาถึงด่าน | กรมการเกณฑ์ตรวจกันกวดขัน |
ฝ่ายอิเรนเกณฑ์ทหารชาญฉกรรจ์ | กปิตันให้ไปตั้งหลังบรรพต |
มูรหุ่มคุมทหารอยู่ชานเขา | แต่ล้วนเหล่าโยธาขี่ม้าหมด |
บังอลูอยู่ลำแม่น้ำคด | คอยกำหนดสงครามทั้งสามทัพ |
ถ้าไพรีตีมาถึงหน้าด่าน | ออกต่อต้านตีตัดสกัดจับ |
พวกเหลือซ้ำสมทบเข้ารบรับ | ให้ย่อยยับอยู่ที่ด่านปราการกัน |
สามขุนนางต่างรับบังคับสั่ง | ยกไปตั้งตามตำแหน่งล้วนแข็งขัน |
กองละหมื่นปืนผาสารพัน | แล้วเกณฑ์กันเตรียมนั่งระวังคอย |
ฝ่ายอิเรนเกณฑ์ปลัดให้จัดทัพ | ไปรบรับลับล่อแต่พอถอย |
พาทหารหนุ่มฉกรรจ์สามพันร้อย | ออกตั้งคอยขับทหารเข้าราญรอน ฯ |
๏ ฝ่ายทัพพราหมณ์สามนายถึงท้ายด่าน | เข้าดงตาลตามทางหว่างสิงขร |
พอพบกับทัพปลัดอัสดร | ให้หยุดหย่อนโยธาแล้วพาที |
อันทัพเราชาวผลึกไม่นึกร้าย | ด้วยเจ้านายปรองดองทั้งสองศรี |
จะบำรุงกรุงไกรเป็นไมตรี | ไม่ย่ำยีอย่ามาขวางหนทางเรา ฯ |
๏ ฝ่ายปลัดขัดใจว่าอ้ายเด็ก | ล้วนเล็กเล็กลำตัวเท่าหัวเหา |
กูหัวหงอกหลอกกูไม่ดูเงา | จะเล่นเจ้าเสียให้ยับลงกับมือ |
แม้ไมตรีคงมีให้เบิกด่าน | ราชการแล้วก็กูไม่รู้หรือ |
เหวยพวกเราเอาสิหวาอย่าละมือ | ทหารฮือหวนกลุ้มเข้ารุมรบ |
สามพราหมณ์รับขับไพร่ไล่พิฆาต | เสียงฉะฉาดฉาดฉับกลับตลบ |
เจ้าโมราพาโยธีเขาตีรบ | ฝรั่งหลบหนีน้อยแล้วถอยรั้ง |
ทั้งสามพราหมณ์ตามตีถึงที่ซุ่ม | มันออกรุมรบอ้อมเข้าล้อมหลัง |
บังอลูมุ่งหมายให้พ่ายพัง | สะท้านทั้งสองฝ่ายตายระเนน |
ถึงโจมจับสัประยุทธ์อาวุธสั้น | ต่างแทงฟันพุ่งหอกบ้างกลอกเขน |
พราหมณ์วิเชียรเรียนรู้ธนูเจน | จึงเอี้ยวเอนยิงมาลีกปีตัน |
จำเพาะถูกลูกตาข้างขวาซ้าย | ตกม้าตายแต่ปลัดสกัดกั้น |
ยิงปลัดปัดตบหลบไม่ทัน | ถูกหูหันหกคะเมนถึงเวรตาย ฯ |
๏ เจ้าเมืองเห็นแผ่นขึ้นนั่งบนหลังสิงห์ | ควบเข้าชิงรบไล่ไพร่ทั้งหลาย |
แล้วแกว่งขวานผลาญพหลพลนิกาย | วิเชียรหมายมุ่งเพ่งเขย่งยิง |
มันหลบทันลั่นทีละสี่ลูก | ไม่ยักถูกแต่สักทีทั้งขี่สิงห์ |
คอยคาบคีบหนีบรับเหมือนกับลิง | แล้วกลับวิ่งเหวี่ยงขวานเข้าราญรบ |
ดูเร็วรวดหวดหันเข้าฟันฟาด | แต่ถูกพลาดพราหมณ์วิเชียรเจียนสลบ |
สลัดโผนโจนวิ่งทิ้งสินธพ | ทหารรบรุมจับแทบอับจน |
เจ้าสานนโมราก็ล่าหนี | มันตามตีกลอกกลับอยู่สับสน |
ต้องสู้พลางหนีพลางมากลางพล | พวกพหลพัลวันสนั่นอึง ฯ |
๏ วันนั้นพอหน่อนรินทร์สินสมุทร | ไม่ยั้งหยุดโยธารีบมาถึง |
เห็นทัพสามพราหมณ์แตกวิ่งแหกอึง | พอทันจึงโอบอ้อมเข้าล้อมรบ |
เร่งโยธีตีพลางไปกลางทัพ | แล้วเลี้ยวกลับขวาซ้ายไล่ตลบ |
ฝรั่งรับทัพแขกแตกกระทบ | พอพานพบพวกทัพจับเจ้าพราหมณ์ |
ควบสิงโตโฮโฮกกระโชกไล่ | ชิงมาได้ด้วยกำลังสิ้นทั้งสาม |
อิเรนแรงแกว่งขวานทะยานตาม | กระโจมจามจ้วงฟันประจัญบาน ฯ |
๏ สินสมุทรหยุดพราดฟาดภุขัน | มันหลบทันโถมถลาเข้าคว้าขวาน |
ดูขวักไขว่ไล่โลดโดดทะยาน | สิงโตหาญโฮกฟัดเข้ากัดกัน |
คนต่อคนบนหลังกำลังรบ | สิงโตตบเต้นโลดกระโดดหัน |
วิเชียรพราหมณ์ความแสนแค้นขบฟัน | ยิงเกาทัณฑ์ถูกตาเจ้าธานี |
พลัดตกสิงห์วิ่งโผนโจนขึ้นม้า | มือยังคว้าขวานรบไม่หลบหนี |
เจ้าพราหมณ์พร้อมล้อมหลังประดังตี | มันขว้างตรีหลบได้ไล่ติดพัน ฯ |
๏ ฝ่ายลูกสาวคราวนั้นอยู่หน้าป้อม | เห็นเขาล้อมบิดาจะอาสัญ |
ถอดกระบี่ตีม้าวิ่งมาทัน | เข้าฟาดฟันพลแยกแตกกระจาย |
เจ้าโมราสานนประจญจับ | นางรบรับรื้อไล่ไพร่ทั้งหลาย |
พออิเรนเห็นบุตรสุดเสียดาย | เข้าสู้ชายกลัวจะแพ้เข้าแก้กัน |
พอฝรั่งบังอลูมูรหุ่ม | เข้ารบรุมห้อมนายให้ผายผัน |
เข้าด่านได้ไพร่ตายเสียหลายพัน | แล้วไล่กันขึ้นล้อมป้อมปราการ |
ฝ่ายผู้เฒ่าเจ้าเมืองเคืองจักษุ | แตกประทุหมอทายาสมาน |
ไม่กลัวตายวายชนม์สู้ทนทาน | เที่ยวตรวจการเกณฑ์ทัพไม่หลับนอน ฯ |
๏ ฝ่ายสินสมุทรกับสามเจ้าพราหมณ์พร้อม | เข้าตั้งล้อมเมืองด่านชานสิงขร |
จึงบอกข่าวเล่าการที่ราญรอน | ให้รีบร้อนไปยังพระอนุชา |
พอพลบค่ำย่ำฆ้องทุกกองทัพ | ตรวจกำกับเกณฑ์รายทั้งซ้ายขวา |
บ้างตีเกราะเคาะฆ้องกลองสัญญา | ต่างตรวจตราเตรียมรบไว้ครบครัน ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งทั้งหลายนายทหาร | รักษาด่านเดินตรวจกันกวดขัน |
เห็นเจ้าเมืองเคืองตาปรึกษากัน | ศึกสำคัญควรจะบอกอย่าออกรบ |
แม้โฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | แต่งอำมาตย์หมื่นพันมาบรรจบ |
จึงจัดแจงแต่งกันให้ครันครบ | ออกราญรบรอนราญผลาญไพรี ฯ |
๏ ฝ่ายผู้เฒ่าเจ้าเมืองเคืองตะคอก | อย่าเพ่อบอกเฟื่องฟุ้งถึงกรุงศรี |
เราเป็นชายฝ่ายเจ้าเป็นสตรี | ชีวิตมีมิให้องค์ออกสงคราม |
อายุเราเล่าก็จวนหกสิบห้า | ถึงแม้ว่าวายวางลงกลางสนาม |
สู้บรรลัยไว้ชื่อให้ลือนาม | จะสงครามปล่อยแก่พอแก้อาย |
แม้เราม้วยช่วยตัดศีรษะไว้ | เอาขึ้นไปลังกาวันทาถวาย |
อย่าให้เขาเอาไปทำให้ซ้ำร้าย | เรานึกอายเหลือล้นพ้นประมาณ |
อนึ่งเล่าเขามาล้อมอยู่พร้อมพรั่ง | เปรียบเหมือนดังโรคตัดอัติสาร |
จะวางยาแม้มิหายคงวายปราณ | แม้เสียด่านก็เหมือนดังเสียลังกา |
อันไพรีมีชัยใจประมาท | จะคิดคาดว่าเราแพ้แน่หนักหนา |
คงลืมตัวมัวเมาเลี้ยงเหล้ายา | เกณฑ์โยธาห้าหมื่นคืนวันนี้ |
มันยกมาล้าเลื่อยล้วนเหนื่อยอ่อน | คงจะนอนหลับมากเหมือนซากผี |
กำหนดสามยามสงัดกำดัดดี | ให้โยธีแยกยกเป็นหกทัพ |
มูรหุ่มคุมทหารเข้าด้านซ้าย | ข้างขวาฝ่ายบังอลูเข้าจู่จับ |
หัศเกนเจนจบเข้ารบรับ | สมทบกับมะลิปาสารวัด |
อ้ายยันตังอังกฤษลูกศิษย์เอก | ดำดังเมฆแม่นขวานอาจารย์หัด |
ให้ติดตัวอยู่ข้างหลังแล้วสั่งนัด | เราตายตัดเอาศีรษะอย่าละไว้ |
แล้วรอรั้งสั่งบุตรสุดสวาท | อย่าองอาจออกมาอัชฌาสัย |
อยู่ตรวจตราว่าขานการข้างใน | เผื่อพวกไพรีมาได้ราวี |
แม้พ่อตายภายหลังจะสั่งเจ้า | จงไปเฝ้านางวัณฬามารศรี |
สาพิภักดิ์รักกษัตริย์สวัสดี | จะได้มีเกียรติยศปรากฏไป |
นางรำภาสะหรีได้ฟังสอน | กราบบิดรวอนห้ามตามสงสัย |
ท่านป่วยตาอย่าเพ่อวิ่งไปชิงชัย | อิเรนไม่ฟังคำว่าจำเป็น ฯ |
๏ ฝ่ายโยธีศรีสุวรรณมาทันหลาน | ปรึกษาการกลศึกก็นึกเห็น |
อย่าประมาทชาติฝรั่งแม้นยังเป็น | คงเคี่ยวเข็ญคิดอ่านมาราญรอน |
แม้มีศึกดึกดื่นทำตื่นหนี | ให้ศึกตีตามออกนอกสิงขร |
พี่โมราสานนพลนิกร | จงยกย้อนทางมาข้างขวาซ้าย |
พวกทมิฬสินสมุทรจงหยุดยั้ง | อยู่โอบหลังล้อมไว้เหมือนใจหมาย |
ตีตะพัดตัดหัวเอาตัวนาย | แล้วทำลายประตูเข้าบูรี |
ทั้งสี่ทัพรับสั่งไม่พลั้งพลาด | บอกประกาศพลรบอย่าหลบหนี |
ให้ไพร่พร้อมล้อมนั่งสั่งคดี | แกล้งหยุดตีฆ้องกลองรากองไฟ ฯ |
๏ ฝ่ายอิเรนเกณฑ์ทัพไว้คับคั่ง | คอยตรับฟังข้าศึกนึกสงสัย |
เสียงโกร่งเกราะเคาะขานก็หายไป | ทั้งแสงไฟโซมซาบลงครามครัน |
กำดัดดึกนึกว่าโยธาหลับ | ให้กองทัพถือชุดอาวุธสั้น |
เข้าปนปะจะได้เห็นเป็นสำคัญ | ก็พร้อมกันยกออกนอกกำแพง |
แต่เจ้าเมืองเคืองตาอุตส่าห์หลับ | ออกกำกับกองหน้าให้กล้าแข็ง |
ถึงทัพล้อมพร้อมกันไล่ฟันแทง | ถูกขาแข้งแขนคอมรณา |
ที่ไม่หลับจับเครื่องสรรพาวุธ | อุตลุดลุกโลดโดดถลา |
ต่างตามนายหมายมั่นเหมือนสัญญา | พวกโยธาทำแตกแยกกันไป |
ข้างชาวด่านหาญฮึกเห็นศึกหนี | เข้าโจมตีติดพันเสียงหวั่นไหว |
พวกกองทัพรับพลางไปกลางไพร | ถึงทัพใหญ่ได้ทีศรีสุวรรณ ฯ |
๏ สินสมุทรหยุดยกเข้าวกหลัง | สกัดตั้งประตูป่าพนาสัณฑ์ |
วิเชียรขับทัพหลังตั้งประจัญ | ฆ้องสำคัญขานโห่เป็นโกลา |
เจ้าโมราพาทหารเข้าด่านซ้าย | สานนนายอ้อมทางเข้าข้างขวา |
ต่างยิงปืนยืนยันเป็นสัญญา | ขับโยธาแทงฟันประจัญบาน ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งบังอลูมูรหุ่ม | เดิมนั้นคุมทัพแยกก็แตกฉาน |
เข้าสมทบรบมาถึงป่าตาล | พอทหารหุ้มห้อมเข้าล้อมทัพ |
ทั้งอิเรนเห็นผิดคิดสะดุ้ง | พอจวนรุ่งเรียกไพร่จะให้กลับ |
สินสมุทรจุดคบเข้ารบรับ | ทั้งสามทัพได้ทีตีกระทบ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งตั้งมั่นประจัญสู้ | พอเช้าตรู่กราวเกรียวเลี้ยวตลบ |
พิลึกลั่นครั่นครื้นพื้นพิภพ | ด้วยเสียงรบซ้อนซุ่มตะลุมบอน |
พลผลึกฮึกหาญผลาญฝรั่ง | ตายเหมือนดังดินกลิ้งริมสิงขร |
อิเรนแรงแกว่งขวานเข้าราญรอน | จนเหนื่อยอ่อนไม่ระอาอุตส่าห์ทน |
ทั้งตัวถูกลูกธนูดังพู่ห้อย | โลหิตย้อยหยดชุ่มทุกขุมขน |
ออกเอิบอาบซาบเสื้อจนเหลือทน | เห็นไม่พ้นพวกทัพจะจับเป็น |
เรียกอังกฤษศิษย์สั่งให้ตัดหัว | ศีรษะตัวอย่าให้ผู้ใดเห็น |
อ้ายยันตังฟังว่าน้ำตาประเด็น | แต่จำเป็นจำทำด้วยจำใจ |
เฝ้าอิดเอื้อนเตือนหนักชักกระบี่ | ออกตัดศีรษะเชือดจนเลือดไหล |
คลี่เช็ดหน้าผ้าห่อผูกคอไว้ | แล้วคว้าได้ขวานครูเป็นคู่มือ |
เผ่นขึ้นนั่งหลังม้าพาทหาร | มันแกว่งขวานขว้างเหวี่ยงเสียงออกหวือ |
ทะลวงไล่ไพร่แตกวิ่งแหกฮือ | เสียงอึงอื้อออกไปพ้นแต่คนเดียว |
ทหารอื่นฝืนฝ่ามาไม่รอด | มันยืนทอดใจใหญ่ให้เปล่าเปลี่ยว |
แล้วหวนกลับขับพาชีสีกะเลียว | ไม่ลดเลี้ยวเลยกระทั่งถึงลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายพวกทัพจับพลได้ล้นเหลือ | ได้หมวกเสื้อนับหมื่นทั้งปืนผา |
เจ้าสานนคนชำนาญผลาญมาตา | เจ้าโมราฆ่าฝรั่งบังอลู |
เจ้าวิเชียรฆ่ามูรหุ่มตาย | พลทั้งหลายอ่อนจิตไม่คิดสู้ |
พวกผลึกไล่หลังอยู่พรั่งพรู | กระโจมจู่ฟันฆ่าชีวาวาย |
ทั้งสามพราหมณ์ตามมาถึงหน้าด่าน | ให้ประจานศพฝรั่งสิ้นทั้งหลาย |
พวกนายหมวดสั่งพหลพลนิกาย | เอาศพนายเสียบเรียงไว้เคียงกัน |
แล้วร้องเย้ยว่าเหวยอ้ายชาวด่าน | ใครรอนราญกูจะฆ่าให้อาสัญ |
ใครไม่สู้กูจะโปรดซึ่งโทษทัณฑ์ | จงช่วยกันเปิดประตูให้กูไป ฯ |