- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยวิไลลักษณ์ | อยู่สำนักเนินสิงคุตรกุฏิฤๅษี |
เจริญผลบรรพชิตกิจโยคี | ทั้งสองชีเชี่ยวชาญการบำเพ็ญ |
ไม่โลภหลงปลงในธรรมกรรมฐาน | หมายวิมานแสนสุขสิ้นยุคเข็ญ |
มัธยัสถ์ตัดสวาทขาดกระเด็น | ลงตรองเห็นแก่นสารการต้องตาย |
เพราะตัณหาพาตนให้ทนทุกข์ | ไม่มีสุขอวิชชาพาฉิบหาย |
เป็นเชื้อไฟไม่ชั่วตัวอบาย | ให้วุ่นวายโลภหลงเที่ยววงวน |
ต้องรบพุ่งยุ่งยิ่งชิงสมบัติ | ทั่วจังหวัดเขตแคว้นแดนสิงหล |
เพราะโลกีย์นี้มันชั่วพามัวมน | ให้เสียผลเสียประโยชน์โพธิญาณ |
คิดก็เป็นอนิจจังน่าสังเวช | กองกิเลสนี้หนอเรามันเผาผลาญ |
แต่พลัดพรากจากพงศ์จากวงศ์วาน | ทรมานกายาในสามัญ |
พระเห็นภัยในอดีตเอาจิตตั้ง | เห็นทุกขังเดือดร้อนควรผ่อนผัน |
ทรงกสิณอภิญญาณสำราญครัน | เอาจิตหมั่นปลงธรรมสำมดึงส์ |
สมประโยชน์หวังโปรดหลวงชีสอง | ให้ผุดผ่องลุล่วงการหวงหึง |
จะได้ผลขนสัตว์ที่รัดรึง | ให้ลุถึงทางสวรรค์ชั้นวิมาน |
พลางเสด็จออกนอกกุฎีที่สำนัก | มาหยุดพักที่ศาลาหน้าวิหาร |
ทั้งสองนางต่างประณตบทมาลย์ | แล้วกราบกรานคอยรับสั่งฟังคดี ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | ตรัสประภาษโดยจริตกิจฤๅษี |
ภิปรายปราศรัยน้องสองนารี | ค่อยเปรมปรีดิ์อยู่หรือน้องทั้งสองนาง ฯ |
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีหลวงชีสนอง | หม่อมฉันสองตั้งใจมิได้หมาง |
ถือโอวาทมาดหมายจนวายวาง | ตามหนทางนฤพานการบำเพ็ญ |
พระตรัสว่าสาธุจงลุล่วง | ให้พ้นห่วงตัณหาทันตาเห็น |
แล้วเทศนาปราศรัยให้ใจเย็น | จงละเว้นโทโสอย่าโกรธา |
อันโลภหลงจงเห็นว่าเป็นโทษ | ไม่ประโยชน์อย่าหวังใช่ฝั่งฝา |
การโลกีย์สี่ประการเป็นมารยา | คือรูปรสพจนาเครื่องบำเรอ |
อันบทเบื้องเรื่องสัมผัสเหมือนมัดผูก | เข้ากระดูกแล้วมันทำเสียหยำเหยอ |
จงหักจิตคิดสละอย่าทะเยอ | ที่เปรมเปรอปฏิพัทธ์จงตัดใจ |
เอาดวงจิตคิดในพระไตรลักษณ์ | จะประจักษ์หักห้ามความสงสัย |
อันขันตีมีกำหนดให้อดใจ | จงตั้งในยุติธรรมคงสำราญ |
ได้ตัดห่วงบ่วงใยในมนุษย์ | จะบริสุทธิ์เห็นภัยในสงสาร |
อุเบกขาตั้งมั่นในสันดาน | หวังนิพพานเบื้องหน้าให้ถาวร |
พอจบคำที่พระร่ำเทศนา | ให้สีกาชีจำเอาคำสอน |
ทั้งสองนางต่างยินดีชุลีกร | รับสุนทรพระมุนีด้วยปรีชา |
มัธยัสถ์ครัดเคร่งข้างปรนนิบัติ | ค่อยคิดตัดโลโภแลโมหา |
เกิดความสุขขึ้นทุกวันเห็นทันตา | ต่างเปรมปราโมทย์สำราญบานกมล ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมุนีฤๅษีสิทธ์ | ครั้นเสร็จกิจเทศนาสถาผล |
พอเย็นพยับอับแสงสุริยน | พื้นอำพนแจ่มฟ้าดาราราย |
จันทร์กระจ่างกลางนภาเวหาห้อง | สว่างท้องป่าชัฏจำรัสฉาย |
พระเสด็จเข้ากุฎีที่สบาย | สำรวมกายทางกสิณอภิญญาณ |
หวนรำลึกนึกถึงอาจารย์เฒ่า | จะโศกเศร้าแก่ชราน่าสงสาร |
หรือล่วงลับดับขันธสันดาน | ทั้งเยาวมาลย์มัจฉาสีกาโยม |
จะอยู่ดีมีสุขหรือทุกข์ร้อน | เมื่อวันจรจากนางสำอางโฉม |
ได้ฝากฝังครูเฒ่าช่วยเล้าโลม | จนนางโยมคลอดบุตรสุดอาลัย |
สิบเก้าปีนี้แล้วแต่แคล้วคลาด | แสนอนาถนึกน่าเลือดตาไหล |
จนลูกมีหลานน้อยกลอยฤทัย | ยังมิได้เห็นหน้ามัจฉาเลย |
จำจะไปเยี่ยมเยือนเจ้าเพื่อนยาก | คุณเขามากนักหนานิจจาเอ๋ย |
ได้รอดตายวายชีวามาหลงเลย | จะเฉยเมยเสียไม่ไปก็ไม่ดี |
พระตริพลางทางเข้าสมาธิ | ตั้งสติระลึกไปในวิถี |
เอาจิตตั้งทางกสิณให้อินทรีย์ | ลอยขึ้นที่นภางค์กลางอัมพร |
หมายเกาะแก้วพิสดารข้างด้านใต้ | ตลอดไปจนมหิงขสิงขร |
ตามมหาสาคโรชโลธร | พระเสด็จจรทางกสิณอภิญญาณ |
ไม่ช้าพลันบรรลุถึงเกาะแก้ว | วิเวกแว่วเสียงดังระฆังขาน |
เห็นกุฎีที่สำนักพระอาจารย์ | ดูสำราญท่าทางเหมือนอย่างเคย |
เมื่อครั้งหนีผีเสื้อท่านเกื้อหนุน | ได้พึ่งบุญอยู่จนได้ไปเป็นเขย |
เมืองผลึกนึกถึงคุณได้คุ้นเคย | ได้ไปเชยก็เพราะคุณพระมุนี |
ครั้นถึงหมอบยอบองค์ลงอภิวาท | มุนีนาถโดยจริตกิจฤๅษี |
ฝ่ายพระจอมอิศโรท่านโยคี | เห็นมุนีมาคำรพอภิวันท์ |
เอามือป้องมองดูไม่รู้จัก | จึ่งถามทักมาแต่ไหนจนไก่ขัน |
เป็นนักสิทธ์ถือกิจพรหมจรรย์ | เที่ยวด้นดั้นมาทำไมในกลางคืน |
มีธุระสิ่งใดอย่างไรหนอ | จงแจ้งข้อตามอรรถอย่าขัดขืน |
จะต้องการสิ่งไรในกลางคืน | จนดึกดื่นบอกเราให้เข้าใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมุนีฤๅษีสิทธ์ | เฉลยกิจจาแจ้งแถลงไข |
ข้าพเจ้านี้หรือชื่ออภัย | เล่าพิไรให้เธอฟังแต่หลังมา |
พระโยคีนิ่งตรึกนึกขึ้นได้ | อ้ออภัยมณีหรือถือสิกขา |
ละสมบัติพัสถานการพารา | เองบวชมาได้กี่ปีหรือหนีเมีย |
หรือเกิดเข็ญเป็นอย่างไรไม่เป็นสุข | จึงทิ้งทุกข์ปล่อยปละสละเสีย |
หรือเห็นภัยในคฤหัสถ์ตัดลูกเมีย | ออกบวชเสียใครอยู่หลังช่างหัวมัน |
พระอภัยกราบก้มประนมสนอง | ไม่ขัดข้องข้อใดในใจฉัน |
คิดเห็นภัยในกิเลสสังเวชครัน | มารุมรันรึงรัดสัตว์ทั้งปวง |
จึงสละละสมบัติพัสถาน | ไม่ต้องการเขตแดนสิ้นแหนหวง |
คิดผ่อนตัดเยื่อใยที่ในทรวง | หมายลุล่วงหาประโยชน์จะโปรดชน ฯ |
๏ พระโยคีปรีดาสาธุสะ | เองสละสังเวชแจ้งเหตุผล |
โมทนาสาธุสะไม่ปะปน | หวังกุศลภิญโญมโหฬาร |
นี่เองมาอย่างไรไฉนเล่า | เอาสำเภาเภตรามาหรือหลาน |
หนทางไกลเหลือล้นพ้นประมาณ | หรือเดินสารผู้ใดจึ่งได้มา |
พระอภัยมุนินทร์ปิ่นกษัตริย์ | จึ่งแจ้งอรรถให้เธอฟังที่กังขา |
ฉันมาโดยทางกสิณตั้งจินดา | เมื่อหลานมาแต่หัวค่ำพอย่ำยาม |
พระโยคีมีญาณว่าหลานแก้ว | ประเสริฐแล้วอุตสาห์เพียรตัดเสี้ยนหนาม |
สมประโยชน์แล้วอุตส่าห์พยายาม | จะมีความสุขใจในนิพพาน |
แล้วชวนเชิญพระอภัยเข้าในกุฏิ์ | จงยั้งหยุดเจริญธรรมกรรมฐาน |
ไม่ห่วงใยคล้ายกับกูอยู่สำราญ | หมายนิพพานภาคหน้าให้ถาวร ฯ |
๏ ฝ่ายเจ้าพวกเรือแตกแขกฝรั่ง | มานั่งฟังถ้อยคำที่ร่ำสอน |
ทั้งปรนนิบัติพัดวีชุลีกร | ต้มน้ำร้อนน้ำชาสารพัน |
ถวายพระมุนีฤๅษีสิทธ์ | ตั้งให้ชิดแล้วคำรพเชิญขบฉัน |
ทั้งเภสัชเพลาสารพัน | ฤๅษีฉันเสร็จสรรพระงับกาย |
ศศิธรจรดับลาลับเมฆ | อดิเรกสุริยงส่งแสงฉาย |
ดารากรอ่อนอับระยับพราย | สกุณร่ายร้องก้องซ้องสำเนียง |
ไก่กระชั้นขันขานประสานเสนาะ | ที่บนเกาะเจื้อยเจกวิเวกเสียง |
โกกิลากาแกแซ่สำเนียง | ดุเหว่าเรียงร้องเร่งพระสุริยน |
แสงหิร้ญเรืองรอบริมขอบฟ้า | พระสุริยาขึ้นสว่างกลางเวหน |
ฝูงนกหกผกผินแล้วบินบน | จากรังตนร่อนร้องก้องกังวาน |
กะเรียนดงส่งเสียงสำเนียงแจ้ว | ดั่งปี่แก้วจำเรียงเสียงประสาน |
วิหคหงส์จับเนินเหินทะยาน | ไปสมานบุษบงเที่ยววงวน |
พระฤๅษีพลิกฟื้นตื่นไสยาสน์ | ภาณุมาศส่องสว่างกลางเวหน |
ออกจากกุฏิ์เดินตรงไปสรงชล | แล้วขึ้นบนเชิงผาศิลาลัย |
พวกศิษย์หาพากันไปที่ในป่า | เที่ยวเสาะหาเลียบเดินเนินไสล |
สอยมะม่วงพวงสุกลูกลำไย | มะเฟืองมะไฟผลผลาทั้งหว้าดง |
ขนุนขนันจันทน์อินผลลิ้นจี่ | เก็บแต่ที่สิ่งของต้องประสงค์ |
แล้วเดินตัดลัดมาจากป่าดง | ถวายองค์สองมุนีด้วยปรีดา |
พระนักธรรม์ฉันเสร็จสำเร็จกิจ | อวยอุทิศอานิสงส์ทรงยถา |
แล้วสัพพีให้สุขังมังคลา | พากันมายั้งหยุดอยู่กุฎี |
พระอภัยไต่ถามถึงมัจฉา | ยังสุขาปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
หรือทุกข์โศกโรคภัยสิ่งไรมี | ไปอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ฯ |
๏ พระโยคีมีรสพจนารถ | อยู่ที่หาดห้องผาเคยอาศัย |
เมื่อคลอดบุตรสุดสาครกูอ่อนใจ | กลัวจะไม่รอดแล้ววะเดชะบุญ |
พอออกแล้วมันก็ให้กูไปเลี้ยง | กูก็เสี่ยงบุญเจือช่วยเกื้อหนุน |
ไม่เจ็บไข้เลยนะวะเดชะบุญ | แต่กูวุ่นพยายามถึงสามปี |
เดี๋ยวนี้มันเป็นกระไรหวาอ้ายหนู | หรือไปอยู่ไหนเล่าเจ้าฤๅษี |
เองเล่าเรื่องเบื้องหลังให้ฟังที | เมื่อครั้งปีถูกเสน่ห์ทั้งเล่ห์กล |
กูก็ไปดับเข็ญให้เป็นสุข | มันเกิดยุคยุ่งยิ่งในสิงหล |
หรือยังตั้งรบรุกทุกตำบล | พวกไพร่พลในนครร้อนหรือเย็น ฯ |
๏ พระอภัยได้ฟังอาจารย์ถาม | ยกเอาความรบรุกครั้งยุคเข็ญ |
แต่เดี๋ยวนี้วายร้อนค่อยผ่อนเย็น | เพราะบุตรเป็นจอมเจ้าชาวลังกา |
คือเจ้าสุดสาครบวรนาถ | ให้สิทธิ์ขาดครองวังเป็นฝั่งฝา |
แถลงเล่าพระมุนีผู้ปรีชา | ให้พระอาจารย์ฟังดั่งภิปราย |
แล้วลาพระมุนีไปที่อู่ | นางเงือกอยู่วังวนชลสาย |
สถิตแท่นแผ่นผาศิลาลาย | แล้วเรียกสายสวาทพลางเหมือนอย่างเคย |
โอ้มัจฉานารีศรีสมร | ตัวพี่จรกลับมาแล้วน้องแก้วเอ๋ย |
สิบเก้าปีมิได้พบประสบเลย | อย่าเฉยเมยเชือนช้าให้อาวรณ์ ฯ |
๏ นางเงือกน้ำจำเสียงสำเนียงแว่ว | จะเจื้อยแจ้วจับทรวงดวงสมร |
เหมือนเสียงองค์ภูวไนยให้อาวรณ์ | ก็รีบจรแหวกว่ายจากสายชล |
เห็นทรงฤทธิ์จิตปลี้มลืมความทุกข์ | เกษมสุขชื่นชุ่มทุกขุมขน |
นางเสือกขึ้นหาดทรายริมสายชล | พลางน้อมตนอภิวาทบาทมูล |
กันแสงไห้ใจเพียงจะขาดวับ | สลบหลับเหมือนชีวาตม์จะขาดสูญ |
พระอภัยเห็นหน้ายิ่งอาดูร | ให้เพิ่มพูนโทมนัสอัดอุรา |
จะดับโศกก็ไม่หยุดสุดจะกลั้น | ให้อัดอั้นซบนิ่งเอนอิงผา |
มิทันกล่าวมธุรสพจนา | ก็ถึงภาวสัญญีนิ่งไม่ติงกาย |
จนสายแสงสุริยาเวลาฉัน | พระนักธรรม์คอยหาไม่เห็นหาย |
ถือไม้เท้างกเงิ่นเดินวุ่นวาย | ไปหาดทรายปากอ่าวริมเสาโคม |
พอเห็นพระอภัยวิไลลักษณ์ | ลงซบพักตร์อยู่ริมนางสำอางโฉม |
เอะมาตายเล่นเปล่าเปล่าริมเสาโคม | ทั้งอีโยมเงือกน้อยก็พลอยตาย |
แกวิตกอกตันเอะวันนี้ | ต้องเผาผีหรืออะไรจิตใจหาย |
อนิจจังอนิจจาน่าเสียดาย | แกฟูมฟายชลนาให้อาวรณ์ |
จึ่งเดินไปใกล้ศพแล้วทรุดนั่ง | ข้างฟากฝั่งชายตลิ่งริมสิงขร |
เอามือจับต้องดูพระภูธร | ยังอุ่นอ่อนเออเห็นไม่เป็นไร |
จำจะเข้ากสิณดูให้รู้แน่ | จะตายแท้หรือว่าซบสลบไสล |
จึ่งหลับตาลงพลันด้วยทันใด | ก็แจ้งในทางกสิณอภิญญาณ |
ว่ายังไม่วางวับถึงดับจิต | ด้วยชีวิตมันก็ยังไม่สังขาร |
วาโยธาตุอัดอั้นในสันดาน | เพราะเกิดการโทมนัสวิบัติเป็น |
ว่าจะต้องแก้ไขให้มันฟื้น | แต่พอชื่นจิตระงับช่วยดับเข็ญ |
แล้วกลับไปกุฏิ์ตาหาน้ำเย็น | ตักมาเป็นโอใหญ่แล้วร่ายมนต์ |
แล้วจึงเรียกศิษย์หามาไปด้วย | จะได้ช่วยกันสิหวาหากุศล |
ให้ศิษย์ยกโอใหญ่ใส่น้ำมนต์ | ไปตามก้นแกวิตกเดินงกงัน |
พอถึงท้ายชายหาดนั่งหอบฮัก | แก่หยุดพักบริกรรมธรรมขันธ์ |
แล้วพรมพรำน้ำไปดั่งใจพลัน | พระนักธรรม์พลิกฟื้นชื่นอุรา |
ด้วยเดชะพระมุนีแกวิเศษ | เรื่องพระเวทด้วยมนต์ดลคาถา |
แล้วเรียกศิษย์เอาสิวะประสีกา | แกภาวนาช่วยชีวิตจิตอาวรณ์ |
พอพวกศิษย์ประน้ำได้สัมผัส | พระพายพัดต้องกายสายสมร |
นางพลิกฟื้นสมประดีชุลีกร | เห็นภูธรกับโยคีค่อยมีแรง |
ประณตนอบยอบกายแล้วไหว้กราบ | ศิโรราบลงพลันก้มกันแสง |
พระโยคีจึ่งเอาธรรมออกสำแดง | แล้วชี้แจงเทศนาตามบาลี |
หวังจะให้เสื่อมสว่างทางวิตก | ที่ในอกนางมัจฉามารศรี |
ธรรมดาฝูงสัตว์ในปัถพี | ก็ย่อมมีทุกข์เข็ญไม่เว้นตัว |
มนุษย์สัตว์ในจังหวัดชมพูภพ | ย่อมปรารภพลัดพรากจากลูกผัว |
เกิดมาในสามัญย่อมพันพัว | ดีแลชั่วต้องเป็นคู่อยู่ด้วยกัน |
อันสุขทุกข์เวทนาสีกาเอ๋ย | การชมเชยมันไม่แน่ย่อมแปรผัน |
เป็นอนิจจังทั้งปวงอย่าหวงกัน | เหมือนหนึ่งขันธ์ทั้งห้าย่อมสาธารณ์ |
เครื่องเน่าจมถมแผ่นดินหินชาติ | พวกนักปราชญ์มิได้หลงในสงสาร |
เห็นร่างกายเกิดมาย่อมสาธารณ์ | เหมืองโรงร้านแต่พอยั้งกำลังกาย |
อันตัณหากล้าหาญคือการโลภ | แม้นละโมบแก่กล้าพาฉิบหาย |
ใครลุ่มหลงปลงใจไม่สบาย | มันวุ่นวายการชั่วให้มัวมอม |
จงหักใจเสียบ้างหวาสีกาเงือก | เองกลิ้งเกลือกหนักไปจนผ่ายผอม |
ให้กายต้องเจ็บจุกเป็นทุกข์ตรอม | จงอดออมเสียกูเห็นจะเป็นการ |
อันเปรี้ยวเค็มเต็มอุราสีกาเอ๋ย | เองก็เคยพัวพันทั้งมันหวาน |
คิดตัดรอนผ่อนผันในสันดาน | หวังนิพพานภาคหน้าให้ถาวร |
นางมัจฉาสาธุสะพระได้โปรด | ที่คุณโทษกรุณังช่วยสั่งสอน |
ขอถือศีลภาวนาให้ถาวร | ถึงม้วยมรณ์จะได้สุขพ้นทุกข์ภัย ฯ |
๏ พระโยคีมีจิตคิดสังเวช | จึงแจ้งเหตุจะให้เห็นเป็นนิสัย |
ยกเอาศิลมาแสดงให้แจ้งใจ | ว่าที่ในองค์ห้าสมาทาน |
บทปาณาห้ามว่าอย่าฆ่าสัตว์ | พระบัญญัติไว้ในธรรมกรรมฐาน |
อย่าได้คิดทำร้ายให้วายปราณ | ในสันดานตั้งจิตคิดเมตตา |
ทั้งอายุก็จะยืนได้หมื่นกัป | จงสดับจำไว้ในใจหวา |
คิดตัดรอนผ่อนผันด้วยปัญญา | ตามกูว่าถือให้มั่นคือขันตี |
ถ้าเองถือไว้ไม่มั่นขันจะแตก | เอ็งจะแบกหรือจะหามถามฤๅษี |
ผัวของเองนั่งตงุ่นเป็นมุนี | ให้ช่วยชี้ทางสวรรค์ชั้นวิมาน |
กูจะให้แต่ศีลเหมือนกินข้าว | หากกับเอาที่ออผัวคือตัวหวาน |
อทินนาทานาว่าพิสดาร | อย่าคิดอ่านลักฉกจะตกลง |
ในนรกหมกไหม้ไฟจะเผา | ให้กายเราไหม้กระจุยเป็นผุยผง |
เพราะความสัตย์มิได้ถือให้ซื่อตรง | ดับจิตลงจะไปตกนรกนาน |
บทกาเมสุมิจฉาหนาออเงือก | เหมือนตกเมือกจมลงในสงสาร |
กองกิเลสมันย่อมทำให้รำคาญ | จงคิดอ่านตัดรอนไปนอนตรอง |
อันเปรี้ยวหวานจืดเค็มเองเต็มอก | อย่ามุ่นหมกให้มันวุ่นจะขุ่นหมอง |
อันฉันทาคติเร่งตริตรอง | จงตัดช่องผ่อนผันให้บรรเทา |
นี่แหละตัวกาเมสุมิจฉา | จะพรรณนามาไปเหมือนไฟเผา |
ว่าแต่พอให้เองเห็นเป็นสำเนา | จงถือเอาไว้เถิดหวาสมาทาน |
บทมุสาวาทาว่าสับปลับ | พระบังคับเทศน์ไว้หลายสถาน |
อย่าเสียดส่อตอแหลนางแหพาน | ที่ในการโป้ปดจงอดออม |
สัพลาวาจามุสาวาท | ศีลจะขาดอดใจใฝ่ถนอม |
สุจริตจิตผ่องไม่หมองมอม | จงอดออมไว้ให้มั่นในสันดาน |
จะผาสุกทุกทิวาสีกาเอ๋ย | คงได้เชยชมสวรรค์โดยสัณฐาน |
พอดับจิตคงจะได้ไปวิมาน | จะสำราญด้วยสุรางค์นางบำเรอ |
ศีลสุราว่าเหล้ามันเมาเปรอะ | พูดเลอะเทอะไปยังค่ำพย่ำเผยอ |
เที่ยวฉกชิงวิ่งวุ่นหมุนกระเชอ | ให้เปรมเปรออยู่ในจิตคิดทะนง |
เที่ยวตีรันฟันแทงสำแดงโทษ | ไม่ประโยชน์อันธพาลสันดานหลง |
ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตถึงปลิดปลง | ไปตกลงในอบายทำลายลาญ |
ตัวเจ้ากรรมมิได้หยอกกรอกน้ำกรด | แล้วเทรดกายยับสับประหาร |
ก็เพราะโทษเมากล้าสุราบาน | พวกคนพาลย่อมกระทำไม่ยำเกรง |
ที่คนดีมีจิตคิดสละ | ถือศีลพระมิได้โกงทำโฉงเฉง |
ไม่กระทำความชั่วคิดกลัวเกรง | การนักเลงมัวเมาบรรเทาคลาย |
สละสลัดปัดไปเสียให้พ้น | ตัดกังวลเพราะเห็นชั่วถ่อยร้อยประตู |
ไม่กินอยู่รู้ว่าบาปนี้หยาบคาย | เรื่องเมามายชั่วถ่อยร้อยประตู |
หมดคำรบจบศีลสิ้นทั้งห้า | เฮ้ยสีกาจำใส่ใจอย่าไขหู |
ถือให้มั่นแม่นยำเหมือนคำกู | แม้นเองรู้รักษาศีลจะภิญโญ |
ทั้งคุ้มกันอันตรายเหมือนหมายมาด | จะเคลื่อนคลาดดับร้อนผ่อนโทโส |
การกุศลอบรมเหมือนร่มโพธิ์ | สมมโนรถจริงอย่างกริ่งใจ ฯ |
๏ นางมัจฉาสาธุขอลุล่วง | จะตัดห่วงโยนเสียตามแม่น้ำไหล |
พระคุณช่วยชี้ทางสว่างใจ | ขอให้ได้สมประโยชน์พระโปรดปราน |
จะถือศีลภาวนาหาความชอบ | ตามระบอบพระสิทธาเหมือนว่าขาน |
ขอให้ฉันลุล่วงพ้นบ่วงมาร | อธิษฐานขอให้สมอารมณ์ปอง |
นางตั้งจิตลงในพระไตรลักษณ์ | เห็นประจักษ์ความชั่วที่มัวหมอง |
เหมือนวารินไหลรี่ย่อมมีฟอง | กระทบต้องลมหนักมักกระจาย |
เหมือนสังขารเกิดมาในสารภพ | ย่อมทวงทบร้าวแยกแตกสลาย |
นางคิดเห็นเช่นกับท่านบรรยาย | ดูร่างกายของตัวทั่วสกนธ์ |
พระอภัยได้ฟังเกิดสังเวช | อาจารย์เทศน์แจ้งประจักษ์ทางมรรคผล |
จึงตรัสกับโฉมศรีนีฤมล | แม้นเป็นคนพี่จะพาแก้วตาไป |
อยู่สิงคุตรกุฎีเป็นชีสาม | พยายามสอนน้องให้ผ่องใส |
บำเพ็ญเพียรเรียนธรรมให้ร่ำไป | นี่จนใจนิ่มเนื้อเป็นเชื้อปลา |
พี่แบ่งบุญบรรพชิตให้มิตรมิ่ง | ขอสมสิ่งซึ่งเจ้ามาดปรารถนา |
อันชาตินี้มีกรรมจำนิรา | จากมัจฉาไปอยู่ที่ศีขริน |
บำเพ็ญเพียรเรียนธรรมกรรมฐาน | หวังนิพพานเหมือนหนึ่งจิตคิดถวิล |
ค่อยอยู่เถิดแก้วตาอย่าราคิน | จงถือศีลไว้ให้มั่นกันอบาย |
ต่อช้าช้าพี่จะมาอย่าปรารภ | คงได้พบเห็นกันเหมือนมั่นหมาย |
นางมัจฉานบนอบแล้วยอบกาย | พลางถวายอภิวันท์จำนรรจา |
ว่าพระคุณทูนกระหม่อมจอมฤๅษี | ขอบารมีแหวกใส่ในเกศา |
น้องเห็นแล้วว่าพระองค์ทรงเมตตา | อุตส่าห์มายากแค้นในแดนดง |
พระอภัยมุนินทร์ปิ่นฤๅษี | ฟังคดีทรามสงวนนวลหง |
จึ่งว่าพี่ละสมบัติญาติวงศ์ | จึ่งออกทรงบรรพชิตถือกิจกรม |
เวลานี้พี่จะลาสุดากนิษฐ์ | ไปสถิตยังศาลาพระอาศรม |
ปรนนิบัติตามวิสัยในจงกรม | โดยอารมณ์อยู่ในบรรณศาลา |
นางเงือกน้ำคำรพอภิวาทน์ | ค่อยเคลื่อนคลาดไปอยู่ยังคูหา |
จำเริญศีลพยายามตามศรัทธา | ค่อยเป็นผาสุกสบายวายอาวรณ์ |
พระนักสิทธ์สองรากลับมากุฏิ์ | แล้วยั้งหยุดภิญโญสโมสร |
ระงับกายเอนเอกเขนกนอน | พอพักผ่อนดวงใจให้สบาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนารีหลวงชีสอง | อยู่กุฏิ์ทองที่กษัตริย์จัดถวาย |
เจริญเรียนในกิจจิตสบาย | สุริย์ฉายจวนจะแจ้งแสงหิรัญ |
กาดุเหว่าเร่าร้องซ้องประสาน | ก้องกังวานในป่าพนาสัณฑ์ |
สกุณินบินเหินเนินอรัญ | ไก่ก็ขันเจื้อยเจกวิเวกดง |
พระสุริยาภาณุมาศลีลาศเลื่อน | ค่อยคลาเคลื่อนขอบฟ้าป่าระหง |
กระจ่างแจ้งแสงสว่างในกลางดง | สองพระองค์เสด็จออกนอกกุฎี |
มาคอยเฝ้าพระมุนินทร์นรินทร์รัตน์ | เคยปรนนิบัติตามกิจศิษย์ฤๅษี |
ถวายน้ำกับสีฟันอัญชลี | ทั้งสองชีพากันมาศาลาลัย |
คอยจนสายบ่ายแสงพระสุริยง | ไม่เห็นองค์พระนักสิทธ์คิดสงสัย |
ดาบสินีชีสองมองแต่ไกล | ไม่เห็นในกุฎีที่ประทม |
ดูทวารบานปิดผิดประหลาด | ทั้งสองนาฏชวนกันไปในอาศรม |
ไม่เห็นองค์พงศ์กษัตริย์อัดอารมณ์ | ให้เตรียมตรมทรวงหมองทั้งสองชี |
จึ่งกลับมาหาอำมาตย์แจ้งราชกิจ | ว่าทรงฤทธิ์พระมุนินทร์ปิ่นฤๅษี |
เธอหายไปไม่รู้ว่าร้ายดี | พวกมนตรีเร่งเข้าไปในลังกา |
ไปทูลสุดสาครบวรนาถ | กับพวกญาติรู้ความได้ตามหา |
จงรีบไปโดยด่วนจวนเวลา | ให้ออกมาจะได้เล่าให้เข้าใจ |
อำมาตย์พร้อมน้อมประณตบทศรี | ขึ้นพาชีเร่งกันเสียงหวั่นไหว |
พลางขับอัศวราให้คลาไคล | แล้วรีบไปจนกระทั่งถึงลังกา |
เล่าแถลงแจ้งการท่านผู้ใหญ่ | รับสั่งใช้ให้มาทูลวุ่นนักหนา |
พระจอมวงศ์องค์มุนินทร์ปิ่นประชา | เธอไสยาหายไปให้มาทูล |
ขุนนางใหญ่แจ้งกิจจาพาเข้าเฝ้า | พระจอมเจ้านครินทร์บดินทร์สูร |
คอยอยู่พระโรงคัลอันจำรูญ | มาพร้อมมูลพวกอำมาตย์มาตยา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ภาณุมาศแจ่มกระจ่างกลางเวหา |
เข้าที่สรงทรงเครื่องสุคนธา | ทรงภูษาแย่งกระหนกวิหคบิน |
ฉลององค์มงกุฎเพชรประดับ | ทับทรวงทับเพราเพริศดูเฉิดฉิน |
สะอิ้งพรายสายฝรั่งฝังด้วยนิล | แก้วโกมินพาหุรัดจรัสเรือง |
ทรงทองกรลายกุดั่นกัลเม็ด | ฝังด้ายเพชรเพราพลามล้วนน้ำเหลือง |
ธำมรงค์ไพฑูรย์จำรูญเรือง | สะอิ้งเฟื่องเพชรประดับดูวับวาว |
เจียระบาดตาดปักเครื่องฝรั่ง | ชายแครงฝังมุกดาลงยาขาว |
เหน็บพระแสงกัลเม็ดล้วนเพชรพราว | จอมสาวสาวเชิญเครื่องเดินเยื้องกราย |
ตามพระจอมนครินทร์ปิ่นสิงหล | ออกไพชยนต์เนาวรัตน์จำรัสฉาย |
สถิตแท่นฉัตรสุวรรณพรรณราย | เสนานายกราบก้มบังคมคัล ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ตรัสว่าราชการในไอศวรรย์ |
ขุนนางพร้อมน้อมนบอภิวันท์ | บังคมคัลทูลท้าวเจ้านคร |
ว่าพระจอมมุนินทร์ปิ่นนักสิทธ์ | เสร็จสถิตในกุฎีที่สิงขร |
เวลาค่ำย่ำแสงทินกร | พระภูธรหายไปในไสยา |
ทั้งสองดาบสินีมีรับสั่ง | ให้ค้นทั้งป่าดงพงพฤกษา |
ไม่พบองค์ทรงศีลปิ่นประชา | ให้เร่งมาทูลฉลองสองพระองค์ |
เชิญเสด็จเสร็จไปเนินสิงคุตร | ให้รีบรุดเร่งไปไพรระหง |
กับเสนาอำมาตย์พระญาติวงศ์ | ได้ตามองค์พระมุนินทร์ปิ่นประชา |
พระทรงฟังดั่งพระกาฬมาผลาญโลก | ยิ่งแสนโศกดั่งชีวังจะสังขาร์ |
แล้วตรัสสั่งเสนีผู้ปรีชา | จอมนรากลับหลังเข้าวังใน |
แจ้งคดีเสาวคนธ์วิมลสมร | พระภูธรที่เขาเขินเนินไศล |
อยู่ในกุฏิ์สุดสบายแล้วหายไป | เสนาในมาแถลงแจ้งคดี |
พระมารดรร้อนพระทัยดังไฟเผา | จึงให้เหล่าเสนาบดีศรี |
ให้เราทั้งสองไปในคิรี | เจ้ากับพี่จงมาไปในไพรวัน |
นางเสาวคนธ์นิ่งอึ้งตะลึงคิด | ให้หวั่นจิตแล้วก็ทรงกันแสงศัลย์ |
เอะมังคลามาลักพระทรงธรรม์ | จากพระคันธกุฎีที่ทำนอง |
เพราะพวกเราได้ลังกาอาณาเขต | จึงเกิดเหตุทำวุ่นให้ขุ่นหมอง |
จึงทูลกับภัสดาน้ำตานอง | จะตรึกตรองอยู่ไยเร่งไคลคลา ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่จัดกระบวนทัพ | มาคอยรับเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
บ้างผูกช้างดั้งกันเป็นหลั่นมา | ทั้งรถาพร้อมพรั่งตั้งกระบวน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นสิงหล | ทั้งเสาวคนธ์โฉมงามทรามสงวน |
เสร็จทรงเครื่องรบครบกระบวน | แล้วตรัสชวนสาวสุรางค์นางกำนัล |
เสด็จออกนอกวังสะพรั่งพร้อม | ฝ่ายพระจอมกรุงไกรไอศวรรย์ |
คอยฤกษ์ดีที่จะจรจากเขตคัน | โหรานั้นนับยามตามตำรา |
พอสี่โมงแปดบาทให้ฆาตฆ้อง | ประโคมกลองยิงพื้นแต่ปืนผา |
ทั้งกาหลดนตรีปี่ชวา | พระทรงนั่งหลังพระยาม้ามังกร |
เสาวคนธ์โฉมยงขึ้นทรงสิงห์ | กลดกรรชิงรายเรียงเคียงสลอน |
ให้โบกธงสามชายกรีดกรายกร | โห่สะท้อนสามลาเข้าป่าดง |
อภิรุมชุมสายรายระยับ | ดูคั่งคับเดินในไพรระหง |
พวกเจ้าจอมพร้อมกันหมดขึ้นรถทรง | เหล่าอนงค์สาวใช้ขึ้นท้ายเกริน |
พวกท้าวนางต่างขึ้นรถประเทียบ | เป็นระเบียบเข้าดงทั้งหงส์เหิน |
พลช้างไสช้างให้ย่างเดิน | ยกดำเนินแสนยาพลากร |
พลม้าถือทวนกระบวนรบ | วิ่งตลบว่องไวทั้งไกรสร |
พวกที่ถือเสโล่แลโตมร | สลับสลอนดั้งดาบปราบปัจจา ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครบวรนาถ | ไม่ประพาสนกไม้ไพรพฤกษา |
รีบเดินทัพขับพยุหยาตรา | ไม่ประทับพลับพลาในป่าดอน |
ให้รีบเร่งเร็วไปในไพรสณฑ์ | ดำเนินพลตามทางหว่างสิงขร |
มิได้พักโยธาพลากร | แต่รีบร้อนจนกระทั่งยังกุฎี |
ให้กองทัพยับยั้งอย่ชายป่า | แต่บรรดาพวกเหล่านางสาวศรี |
ลงจากรถเดินไปไพร่ผู้ดี | มาหยุดที่นงเยาว์เสาวคนธ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ลงกัณฐัศว์เยื้องย่างทางถนน |
กับยุพยงนงเยาว์เสาวคนธ์ | จรดลรีบไปในศาลา |
ศิโรราบกราบกรานนางดาบส | น้อมประณตสองพระองค์ทรงสิกขา |
ฝ่ายสองนางพลางเห็นโอรสมา | ทรงโศกาแล้วแจ้งแสดงความ |
ว่าพระจอมธิบดินทร์มุนินทร์นาถ | เสด็จไสยาสน์หายไปได้ถึงสาม |
วันนี้แล้วแก้วตาพยายาม | คิดติดตามภูไนยให้ได้คืน |
หรือจะเป็นมังคลามันมาลัก | เอาทรงศักดิ์ไปแล้วหนาไม่ฝ่าฝืน |
จะแก้แค้นเอาพาราลังกาคืน | ในภูมิพื้นนั่งยามทั้งตามไฟ |
เห็นจะเป็นคนดีมีความรู้ | พิเคราะห์ดูเห็นจะแน่เร่งแก้ไข |
กระนี้แน่แล้วหนาคงพาไป | จะใกล้ไกลนคเรศประเทศทาง |
สุดสาครบังคมประนมสนอง | ทูลฉลองนางกษัตริย์ไม่ขัดขวาง |
จะขอให้โหรดูพอรู้ทาง | พอได้วางใจคิดไปติดตาม |
พลางตรัสเรียกโลกนิติ์สิทธิเวท | เป็นศิษย์ท่านโลกเชษฐ์มาไต่ถาม |
ให้คูณหารการจะไปให้ได้ความ | ว่าทางตามพระนักสิทธ์ข้างทิศใด ฯ |
๏ ฝ่ายปาโมกข์โลกนิติ์ตั้งดิถี | ตามคัมภีร์ไสยเวทข้างเพทไสย |
พระศุกร์เข้าเสาร์เป็นที่ไม่มีภัย | พุธจรไปเดือนหนึ่งพอถึงจันทร์ |
พฤหัสเล็งลัคนาว่าวิเศษ | จะเรืองเดชยวดยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
ท่านว่าไปทิศอิสานสำราญครัน | บังคมคัลทูลความตามตำรา |
ถึงติดตามข้ามมหามหรณพ | เห็นไม่พบภูวนาถเหมือนปรารถนา |
อันศัตรูหมู่ใดมิได้มา | คิดบีฑาปองร้ายในพระองค์ |
ในตำราว่าไว้คงจะกลับ | อยู่คอยรับดีกว่าไปไพรระหง |
พอรุ่งรางสว่างแสงพระสุริยง | เห็นพระองค์คงจะมาไม่ช้านาน |
ไม่เหมือนคำทำนายแม้นทายผิด | อาญาสิทธิ์ขอพระองค์จงประหาร |
ชีวิตข้าโหราให้วายปราณ | พระผู้ผ่านภพไตรอย่าได้แคลง ฯ |
๏ โฉมวันฬามาลีศรีสวัสดิ์ | นางกษัตริย์โศกศัลย์เฝ้ากันแสง |
ฟังโหรทายค่อยประทังแต่ยังแคลง | ให้ระแวงหวนคิดจิตอาวรณ์ |
แต่โหราการะเวกเขาเอกเหลือ | ทั้งเป็นเชื้อโลกเชษฐ์วิเศษสอน |
รู้ตำรับตำราพยากรณ์ | ดูแน่นอนคราวครั้งแต่หลังมา |
ควรจะต้องยับยั้งฟังดูก่อน | แม้มิจรมาเหมือนยามต้องตามหา |
สุมาลีชีละเวงวัณฬาพะงา | ไม่ไสยาคอยองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำราญกิจอิ่มเอมเกษมสันต์ |
อยู่เกาะแก้วพิสดารสำราญครัน | ครบสามวันแล้วจะลาพระอาจารย์ |
พลางเสด็จไปชายหาดที่เงือกอยู่ | ในอ่าวอู่คลื่นซัดอยู่ฉัดฉาน |
แล้วตรัสเรียกโฉมมัจฉายุพาพาล | เยาวมาลย์จงขึ้นมาจะลาจร |
ฝ่ายเงือกน้ำจำศิลถวิลแว่ว | สำเนียงแจ้วจับทรวงดวงสมร |
แล้วแหวกว่ายสาคโรชโลธร | ประนมกรเสือกเข้ายังฝั่งชลา |
เห็นพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | อภิวาทน์จักรพงศ์ทรงสิกขา |
ถวายบุญพูนสวัสดิ์พระภัสดา | ได้รักษาศีลมั่นทุกวันคืน |
พระมุนีปรีดาว่าสาธุ | ขอให้ลุทางประโยชน์อย่าโหดหืน |
คงจะสมจิตหวังให้ยั่งยืน | ไปในพื้นภาคหน้าอย่าปรารมภ์ |
อันชาตินี้ศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา | จงปรารถนาเถิดอนงค์คงจะสม |
แม้นชาติหน้าถ้าถวิลเป็นอินทร์พรหม | ก็คงสมเจตนาสีกาโยม |
ค่ำวันนี้พี่จะลาสีกาแล้ว | จงผ่องแผ้วเถิดหนานางสำอางโฉม |
จงอยู่เย็นเป็นสุขอย่าทุกข์โทม | เจ้าจงโสมนัสสาในวาริน |
นางเงือกน้ำซ้ำทูลพระนักสิทธ์ | ฉันตั้งจิตเจตนารักษาศีล |
ตัดห่วงใยเสียให้พ้นที่มลทิน | กว่าจะสิ้นชีวิตเหมือนจิตปอง |
ไม่โศกเศร้าเร่าร้อนเหมือนก่อนแล้ว | จะกวาดแผ้วถางชั่วที่มัวหมอง |
ขอทูลลาพระสามิศดังจิตปอง | กลับไปห้องคูหาในวารี |
พลางก้มกราบบาทบงสุ์พระทรงศิล | แหวกวารินไปคูหามารศรี |
ฝ่ายองค์พระภูวไนยอภัยมณี | กลับมาที่ศาลาพระอาจารย์ ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีมีญาณว่าหลานแก้ว | ค่อยผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
เองจะคิดกลับหลังหรือยังนาน | จงแจ้งการโดยจิตที่คิดปอง |
พระอภัยได้สดับอภิวาทน์ | ขอลาบาทเจ้าประคุณการุญสนอง |
พอเที่ยงคืนหลานจะลาฝ่าละออง | ไปโดยท้องนภางค์กลางอัมพร |
พระโยคีมีฤทธิ์ประสิทธิ์เสก | เป็นก้อนเมฆลอยอยู่กลางหว่างสิงขร |
มีที่นั่งบังสีรวีวร | เหมือนชะง่อนเงื้อมผาคูหาบรรพ์ |
แล้วว่ากับพระอภัยวิไลลักษณ์ | จงหยุดพักให้สบายจึงผายผัน |
ขึ้นหลังเมฆไปเถิดหลานสำราญครัน | ได้ป้องกันลมฝนบนนภา |
พระมุนินทร์ยินดีเป็นที่สุด | เข้าในกุฏิ์สำรวมฌาณการสิกขา |
ระงับกายเอนองค์ลงไสยา | ภาวนาทางกสิณอภิญญาณ |
จนเที่ยงคืนไก่ขันสนั่นเสนาะ | ที่บนเกาะจำเรียงเสียงประสาน |
จึงเสด็จไปลาพระอาจารย์ | พลางก้มกรานอภิวาทน์บาทบงสุ์ |
พระโยคีมีญาณว่าหลานแก้ว | จงผ่องแผ้วสมหวังดั่งประสงค์ |
แล้วออกจากกุฏิ์ใหญ่ดั่งใจจง | แกนำตรงไปที่เขาลำเนาเนิน |
ให้ขึ้นนั่งหลังเมฆแล้วเสกเป่า | เป็นลมว่าวพัดส่งดั่งหงส์เหิน |
พระอภัยนักสิทธ์จิตเจริญ | สรรเสริญคุณครูผู้อาจารย์ |
แล้วถวายวันทาคารวะ | ขอเดชะศรัทธาที่กล้าหาญ |
พลางเจริญทางกสิณอภิญญาณ | หมายสถานสิงคุตรที่กุฎี |
จันทร์กระจ่างทางฟ้าเวหาหน | นภาดลใสสว่างกลางวิถี |
ดารารายพรายพร่างอย่างมณี | จำรัสศรีแจ่มกระจ่างดั่งกลางวัน |
เมฆก็เลื่อนลอยมาในอากาศ | ภาณุมาศเกือบอุทัยเสียงไก่ขัน |
สกุณร้องก้องป่าพนาวัน | พระทรงธรรม์ถึงกุฎีที่สำราญ |
เมฆก็เลื่อนลงมาจากอากาศ | พวกอำมาตย์แต่บรรดาอยู่หน้าฉาน |
เห็นก้อนเมฆเลื่อนลงมาหน้าพระลาน | ต่างเรียกขานกันมาดูทุกผู้คน |
ทราบไปถึงสองชีที่ในกุฏิ์ | กับพระสุดสาครท้าวเจ้าสิงหล |
ทั้งโฉมยงนงเยาว์เสาวคนธ์ | ก็จรดลจากที่ศรีไสยา |
มาพร้อมพรั่งทั้งที่หน้าศาลาใหญ่ | พระอภัยสุริย์วงศ์ทรงสิกขา |
ก็ยุรยาตรจากอาสน์ก้อนเมฆา | ขึ้นศาลาเห็นพระวงศ์พงศ์ประยูร |
กับสองดาบสินีอยู่ที่นั่น | พระทรงธรรม์ปราศรัยเจ้าไอศูรย์ |
สี่กษัตริย์กราบก้มบังคมทูล | ทั้งประยูรเวียงวังในลังกา |
ต่างยินดีที่พระองค์เสด็จกลับ | มาหมอบรับเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
พระจึ่งตรัสเล่าแถลงแจ้งกิจจา | ว่าตัวข้าไปประนมบังคมคัล |
พระนักสิทธ์ผู้ใหญ่ที่ในเกาะ | ท่านสงเคราะห์แต่ก่อนคิดผ่อนผัน |
กับโฉมนางมัจฉาวิลาวัณย์ | อยู่ที่นั่นสามทิวาสองราตรี |
แล้วตรัสกับสุดสาครอาวรณ์หวัง | ค่อยประทังสิ้นทุกข์เป็นสุขี |
ถือโอวาทของคุณพระมุนี | ค่อยเปรมปรีดิ์สุโขมโหฬาร |
แล้วสั่งมาว่าเจ้าอยู่เป็นสุข | บรรเทาทุกข์ได้สมบัติพัสถาน |
แต่เจ้าพรากจากมาก็ช้านาน | ได้แจ้งการก็ค่อยคลายวายอาวรณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นสิงหล | ทราบยุบลทุกข์ทอดฤทัยถอน |
หวนรำลึกนึกถึงพระมารดร | ตั้งแต่จรจากมาก็ช้านาน |
กันแสงพลางทางทูลพระนักสิทธ์ | เป็นสุดคิดสุดอาลัยให้สงสาร |
ทางก็เหลืออยากแค้นแสนกันดาร | มาก็นานไปคงหลงเที่ยววงวน |
พระอภัยได้สดับจึ่งรับสั่ง | ข้าไปยังฟากฟ้าเวหาหน |
เจ้าจะไปทางชลาในสาชล | เห็นไม่พ้นชีวันคงบรรลัย |
แล้วทรงตรัสเทศนาสังสารภพ | อย่าปรารภเพราะว่านางต่างวิสัย |
ถึงเทวัญชั้นฟ้าสุราลัย | ต่างวิสัยแล้วคงพรากต้องจากจร |
เป็นอนิจจังทั้งนั้นทุกวันนี้ | ย่อมเป็นที่ทุกขังจงฟังสอน |
เพราะจำต้องพรากพลัดกำจัดจร | อยู่รอนรอนหลัดหลัดมักพลัดพราย |
อนัตตาสูญเปล่าเหมือนเราท่าน | อยู่ด้วยกันดับจิตชีวิตหาย |
พระยกเอาธรรมขันธ์มาบรรยาย | ให้เคลื่อนคลายโศกาที่อาดูร |
สุดสาครฟังเหตุเทศนา | เอาปัญญาค่อยระงับให้ดับสูญ |
พอจบคำธรรมขันธ์อันจำรูญ | จึ่งกราบทูลลาองค์พระทรงฌาน ฯ |
๏ พระอภัยมุนินทร์ปิ่นกษัตริย์ | อวยสวัสดิ์จงเป็นสุขทั้งลูกหลาน |
อันทุกข์โศกโรคภัยอย่าได้พาน | จงสำราญทั้งอาณาประชาชน |
สุดสาครบังคมบรมนาถ | พร้อมพระญาติกลับหลังยังสิงหล |
ทั้งพวกเหล่าเสวกาประชาชน | ถึงสิงหลแล้วเข้าไปในบุรินทร์ ฯ |