- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศตามวารินกระสินธุ์สาย |
อัศวราชอาจหาญทะยานกาย | มาตามสายสาคโรอโนมาน |
ชมละเมาะเกาะแก่งทุกแห่งหน | ในสาชลคลื่นซัดเสียงฉัดฉาน |
ฝูงปลาร้ายว่ายวนตามชลธาร | เหลือประมาณมากมายมีหลายพันธุ์ |
มาเดือนครึ่งถึงละเมาะที่เกาะขวาง | ดูใหญ่กว้างแลไปดั่งไพรสัณฑ์ |
มีกำแพงล้อมรอบเป็นขอบคัน | สารพันตึกรามงามวิไล |
ด้วยอำนาจยักขินีมันนีมิต | เข้าดลจิตคนหลงไม่สงสัย |
ให้เห็นเป็นถิ่นฐานสำราญใจ | แวะเข้าไปจับกินสิ้นเภตรา |
ฉีกขาแข้งแย่งชิงกันสูบเลือด | เอามีดเชือดกินเล่นเป็นภักษา |
ต่อนานนานเรือซัดพลัดเข้ามา | มันมารยาทำอุบายให้ตายใจ |
มันลงมาเดินไขว่อยู่ชายหาด | ใครขัดขาดข้าวปลามันหาให้ |
แม้นหลงอยู่ผู้นั้นก็บรรลัย | มันลอบไปหักหางเสือให้เรือโคลง |
แล้วลงน้ำดำเข้าไปไชกำปั่น | พอเรือนั้นจมโลดกระโดดโหยง |
ปีนขึ้นได้ไล่ตีหักซี่โครง | วิ่งตะโกรงลากขึ้นฝั่งไม่รั้งรอ |
แม้นเรือซัดพลัดไปมิได้กลับ | มันหลอกจับกินทั้งเรือไม่เหลือหลอ |
อ้ายพวกเปรตเศษยักษ์คอยหักคอ | มิให้หลอเหลือไปได้สักคน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศแถวทางมากลางหน |
เกือบจะถึงยักขินีที่ตำบล | เห็นผู้คนไรไรยังไกลตา |
อัสดรถอนถีบแล้วรีบรัด | ใกล้จังหวัดเกาะขวางกลางมหา |
ยักขินีดีใจเห็นใกล้มา | คนกับม้ามาให้กินต่างยินดี |
แล้วกวักมือพูดจาประสาแขก | บ้างร้องแรกว่าจะไปในวิถี |
จงหยุดก่อนอย่าเพิ่งไปภัยจะมี | ยักขีนีมันลงมาจับปลาวาฬ |
เราเอนดูท่านดอกจะบอกให้ | มันลงไล่จับมัจฉาเป็นอาหาร |
สักครู่ใหญ่จึงค่อยไปให้สำราญ | ไม่ต้องการจะให้เกิดจลาจล ฯ |
๏ ฝ่ายสุดสาครอาวรณ์หวัง | อาจารย์สั่งกับแขกกล่าวเล่านุสนธิ์ |
ก็ต้องกันกับท่านแจ้งแห่งยุบล | นี่เมืองคนเขามาว่าด้วยปรานี |
จำจะแวะเข้าไปถามได้ความถ้อย | จึ่งจะค่อยรีบไปในวิถี |
ดูบ้านเมืองเขามาตั้งฝั่งนที | เห็นจะมีไทท้าวเจ้านคร |
พระตรึกพลางทางชักม้าที่นั่ง | ขึ้นบนฝั่งชายชลาหน้าสิงขร |
ชมประเทศเขตแคว้นแดนนคร | พระภูธรตรงเข้าไปในศาลา |
ยักขินีผีเปรตเหล่าเพศแขก | ทำให้แปลกนั่งลงส่งภาษา |
แล้วไต่ถามตามกลมารยา | ไปไหนมาแจ้งข้อข้าขอฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์พงศ์กษัตริย์ไม่สงสัย | จึ่งเล่าไปโดยประสงค์จำนงหวัง |
เรามาจากนักสิทธ์ไม่ปิดบัง | ให้มันฟังแต่ต้นไปจนปลาย |
ยักขินีดีใจเห็นได้ช่อง | ตะโกนก้องเรียกกันให้ผันผาย |
หวังจะจับกินให้งามตามสบาย | อ้ายตัวนายถือพร้ามาหน้าพล |
พวกบ่าวไพร่ถือไม้เหน็บพร้าโต้ | แล้วร้องโห่ขู่คำรามขึ้นสามหน |
กรูกันเข้าล้อมแน่นสักแสนคน | พวกไพร่พลแลบลิ้นบ้างปลิ้นตา |
น้ำลายไหลหมายจะกินให้สิ้นซาก | กำลังอยากโลดเต้นเผ่นถลา |
กูนี้คือยักขินีมีศักดา | จะกินม้ากินคนหลงหนทาง |
แม้นรักตัวกลัวตายจงส่งม้า | ให้กูฆ่ากินเล่นอย่าขัดขวาง |
ขืนดื้อดึงจะถึงชีวาวาง | ทั้งคนม้ากูจะล้างไม่ฟังความ ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ไม่ขยาดเกรงฤทธิ์ไม่คิดขาม |
จึ่งว่าเหวยยักขินีผีตะกลาม | มึงลวนลามหลอกกูไม่รู้กล |
ทำพูดจาปรานีแล้วชี้บอก | มึงเคยหลอกกินใครได้กี่หน |
ยักขินีกู่ก้องร้องคำรน | กูกินคนในเภตราเสียกว่าพัน |
ม้ากับมึงหน่อยหนอไม่พอเคี้ยว | อย่าบิดเบี้ยวยอกย้อนพูดผ่อนผัน |
เหวยอ้ายพวกเสนาเอาพร้าฟัน | ทั้งขามันขาม้าคร่าเอาตัว |
ยักขินีชี้มือแล้วชักพร้า | วิงถลาหลอนหลอกบ้างกลอกหัว |
อ้ายนายใหญ่โลดเต้นทำเล่นตัว | ทั้งกลอกหัวแลบลิ้นแล้วปลิ้นตา |
ฝ่ายอัสดรเผ่นผงาดแล้วฟาดหาง | สะบัดย่างเผ่นโผนโจนถลา |
พงศ์กษัตริย์แกว่งไม้เท้าของเจ้าตา | เสียงโกลากึกก้องท้องทะเล |
ยักขินีมิอาจจะเข้าใกล้ | ร้อนเหมือนไฟวิ่งป่วนอยู่หวนเห |
ม้าก็ขบกัดกลมสมคะเน | บ้างวิ่งเซม้าสกัดพระฟาดฟัน |
เลือดกระจายตายกลาดลงดาษดื่น | อ้ายยักษ์ตื่นเต็มที่ไม่มีขวัญ |
ขินีนายร้องตลาดไล่ฟาดฟัน | พลขันธ์กลับหน้าเข้าราวี |
อ้ายตัวนายร่ายมนต์เป็นฝนคลุ้ม | มืดชอุ่มอับไปในวิถี |
ไม่เห็นหนสนธยาเหมือนราตรี | ยักขินีมันขยับจะจับตัว |
บ้างถาโถมโจมโจนโผนทะลึ่ง | อึงคะนึงหลอนหลอกบ้างกลอกหัว |
ทั้งแลบลิ้นปลิ้นตาให้น่ากลัว | ที่เต้นรัวนึกหมายน้ำลายพรู ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | เอาดาบกวัดแกว่งลั่นสนั่นหู |
เป็นเปลวไฟไล่สกัดพวกศัตรู | ลุกวามวู่เห็นตลอดยอดคิรินทร์ |
ยักขินีมิอาจจะเข้าใกล้ | เห็นเปลวไฟหลากจิตคิดถวิล |
ให้ร้อนแรงแสงกล้าติดกายิน | ยักษ์ทมิฬอ่านมนต์เป็นฝนมา |
หน่อกษัตริย์มัสการอาจารย์เฒ่า | แล้วเสกเป่าโองการอ่านคาถา |
ประเดี๋ยวใจเป็นลมระดมมา | หอบเอาฟ้าฝนไปมิได้นาน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ไล่พิฆาตเข่นฆ่าโยธาหาญ |
ยักขินีหนีร่นไม่ทนทาน | แล้วกราบกรานขอชีวาอย่าฆ่าตี |
ได้ผิดพลั้งครั้งนี้ถึงชีวิต | พระทรงฤทธิ์งดโทษโปรดเกศี |
ขอเป็นข้ากว่าจะตายวายชีวี | พระภูมีไปไหนจะไปตาม |
ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงอาณาเขต | คิดสังเวชในพระทัยจึงไต่ถาม |
ว่าฮ้าเฮ้ยยักขินีผีตะกลาม | มึงหยาบหยามชั่วช้าหลอกฆ่าคน |
ตั้งแต่นี้อย่ากระทำซึ่งความชั่ว | เพราะไม่กลัวบาปใหญ่มาให้ผล |
กูงดโทษโปรดไว้ทั้งไพร่พล | เอากุศลเบื้องหน้าไม่ฆ่าฟัน |
ยักขินีนายใหญ่ลงไหว้กราบ | ศิโรราบรับจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ได้กระทำชั่วช้าสารพัน | ให้ทรงธรรม์เคืองขัดหัทยา |
ก็ควรจะสังหารผลาญชีวิต | พระทรงฤทธิ์งดโทษโปรดเกศา |
ไม่มีของฉลองคุณมุลิกา | ขอเป็นข้าบาทบงสุ์พระทรงชัย |
กว่าจะสิ้นชีวังดับสังขาร | พระภูบาลจะประสงค์ที่ตรงไหน |
จะอาสากว่าชีวันจะบรรลัย | จงทราบใต้บาทาฝ่าละออง |
แม้นข้าศึกฮึกหาญมาต้านต่อ | ข้าจะขอแทนพระคุณการุญสนอง |
มิให้เคืองบาทาฝ่าละออง | จะขอรองมุลิกากว่าจะตาย |
แม้นเกิดศึกจงรำลึกถึงตัวข้า | จะอาสาไปให้สมอารมณ์หมาย |
ไม่ถอยหลังศัตรูจะสู้ตาย | เหมือนมุ่งหมายคำมั่นดั่งสัญญา |
ต้องประสงค์วันไรจะไปเฝ้า | ข้าพเจ้าหูเป็นผีดีหนักหนา |
ถึงใครพูดติฉินการนินทา | ก็มาปรากฏรู้เพราะหูไว ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | จะลีลาศข้ามมหาชลาไหล |
ยักขินีชี้เชิญเสด็จไป | ให้ชมในเงื้อมชะง่อนก้อนศิลา |
แล้วพาพระภูวไนยไปท้ายเขา | เนินลำเนาช่องชะวากที่ปากผา |
ชะงักชะง่อนก้อนหินล้วนศิลา | พระขึ้นนั่งหลังพระยาม้ามังกร |
เสด็จไปตามลำเนาภูเขาเขิน | เลียบดำเนินเชิงผาหน้าสิงขร |
ชะง้ำชะโงกโกรกกรอกเป็นซอกซอน | ที่น้ำชอนไหลฉ่ำลงลำธาร |
ในเพิงผาน่าดูเป็นพู่ห้อย | ศิลาย้อยดูเหมือนอย่างช่างประสาน |
สลับสีที่ขาวเหมือนร้าวราน | ในลำธารก้อนโตโตล้วนโมรา |
ที่สีแดงราวกะแสงปากนกแก้ว | ดูพรายแพรวหลายหลากมากหนักหนา |
ที่สีเหลืองเล่ห์รงค์ประจงทา | เหมือนน้ำยาเขียวลายอยู่พรายพรอย |
ที่ม่วงอ่อนซ้อนแก่แลเป็นรุ้ง | สีตากุ้งมีร่องเป็นฟองฝอย |
ที่ดำอ่อนซ้อนแก่แลเป็นรอย | ก้อนน้อยน้อยสีแปลกเข้าแทรกแซม |
ที่เขิงเขาแก้วเก็จเพชรน้ำค้าง | ขาวสล้างแลตลอดล้วนยอดแหลม |
ไม่มีสีอื่นปนระคนแกม | ราวกะแซมสอดซ้อนก้อนมณี |
เรื่องชมนมชมไม้ก็หลายหลาก | ว่ามามากระยะทางกลางวิถี |
ชมโมราประการังยังไม่มี | จึงได้ชี้ขึ้นแสดงแจงให้ฟัง |
ครั้นจะว่าให้มันยาวราวกับปด | ขอตัดบทยกเอาไว้ต่อภายหลัง |
พระชมเกาะเสร็จสรรพจะกลับวัง | สถิตหลังอาชาม้ามังกร |
ยักขินีตามลงมาส่งเสด็จ | พระก็เสร็จเรื่อยมาข้างหว่างสิงขร |
ลงมหาสาคโรชโลธร | ก็รีบจรมาในน้ำทุกค่ำคืน |
เกือบจะถึงพาราการะเวก | มหาเมฆตั้งมาไม่ฝ่าฝืน |
พระสุริยาตกต่ำลงค่ำคืน | เสียงลมคลื่นดังก้องท้องชลา |
ศศิธรจรแจ่มกระจ่างเมฆ | อดิเรกแสงดาววาวเวหา |
ถึงเกาะที่ชีเปลือยเมื่อแรกมา | พระรั้งราอัสดรขึ้นชายเนิน |
จะใคร่ดูว่ามันอยู่หรือตายแล้ว | พระขึ้นแนวลำเนาภูเขาเขิน |
เห็นอ้ายเฒ่าลงมากรายอยู่ชายเนิน | ดูงกเงิ่นเต็มประดานัยน์ตาลอย |
ลงมายืนจองคร่องมือป้องหน้า | จับแมงดามองดูเก็บปูหอย |
มีศิษย์เถรโสมมนั่งต้มกลอย | ทำตาปรอยกรุ่มกริ่มยิ้มละไม ฯ |
๏ ฝ่ายอ้ายเฒ่าจัญไรครั้นได้หอย | เดินกรองกรอยกลับมาที่อาศัย |
วางหอยแครงแมงดาแล้วว่าไป | ต้มไวไวเถิดหวาอย่าช้าที |
ครั้นสุกเสร็จกินพลางนั่งหัวร่อ | พูดกันจ้อผมสยายคล้ายกับผี |
ถือว่าบวชได้บุญเหมือนมุนี | นอนอยู่ที่เพิงผาคูหาบรรพ์ |
พวกสำเภาเลากาไปค้าขาย | แวะถวายข้าวของกองให้ฉัน |
คนนับถือลือชาสารพัน | ไปให้มันดูแลว่าแน่นอน |
อ้ายชีเปลือยนึกว่ากูผู้วิเศษ | สำแดงเดชตั้งเป็นครูอยู่สิงขร |
ค่ำวันนั้นลงเอกเขนกนอน | ยอดสิงขรเดือนหงายสบายใจ |
ให้อ้ายศิษย์นวดฟั้นคั้นหัวเข่า | แล้วก็เล่าเพัอพล่ามตามวิสัย |
อ้ายที่ตรงปากช่องมันกองไฟ | คนมาไปจะได้รู้ว่าครูมี ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | เสด็จลีลาศตามทางหว่างวิถี |
เห็นอ้ายเฒ่านอนหงายสบายดี | พระภูมีร้องถามตามสงกา |
อ้อท่านครูอยู่เป็นสุขไม่ทุกข์ร้อน | ทั้งผ้าผ่อนไม่ต้องการนานหนักหนา |
สุขเกษมเอมโอชโภชนา | เชิญพระอาจารย์เจ้าจงเล่าไป |
อ้ายชีเปลือยลุกขึ้นนั่งได้ฟังถาม | ก็เล่าความพูดมากถลากไถล |
กล่าวมุสาเพ้อพล่ามตามแต่ใจ | นั่งพิไรอวดรู้ทางดูแล |
อันตัวข้านี้หรือคืออรหันต์ | ไม่หวงกันก่งคอพูดตอแหล |
อันทรัพย์สินสิ่งไรไม่ขอแล | ทั้งผ้าแพรสิ่งไรไม่ต้องการ |
ถือสันโดษหวังจะโปรดคนทั้งหลาย | ให้สบายผาสุกสนุกสนาน |
คนตกแต่งร่างกายแม้นวายปราณ | ก็สาธารณ์เน่าจมถมสุธา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ฟังเจ้าปราชญ์แจ้งเหตุเทศนา |
จึ่งว่าเฮ้ยตาเฒ่าเจ้ามารยา | ช่างพูดจาหมดจดแกล้งปดเรา |
จะบอกเวทวิทยาพาไปนั่ง | ที่ต้นรังปากปล่องริมช่องเขา |
แล้วผลักลงเหวผาจับม้าเรา | กับไม้เท้าหนีเข้าไปในนคร |
อ้ายชีเปลือยนึกขึ้นได้ตกใจวับ | ราวจะดับชีวังถึงสังหรณ์ |
จับเอามือลูกศิษย์คิดจะจร | หนีซอกซอนไปให้พ้นแต่จนใจ |
ด้วยเห็นม้าตัวนี้มันดีสุด | จะหนีรุดไปจริงวิ่งไม่ไหว |
ทำโอนอ่อนงอนง้อขออภัย | แต่อกใจสั่นรัวกลัวจะตาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อสุริย์วงศ์พงศ์กษัตริย์ | จึงเอื้อนอรรถพาทีอย่าหนีหาย |
เราไม่ทำให้ชีวันเป็นอันตราย | อย่าวุ่นวายเลยอีตาไม่ฆ่าฟัน |
อ้ายชีเปลือยไม่ไว้ใจร้องไห้โร่ | เสียงโฮโฮตาหูดูมันขัน |
อ้ายพวกศิษย์มิได้พูดดูดขี้ฟัน | พัลวันปล้ำเจ้าครูผู้อาจารย์ |
จนหอบรวนป่วนปั่นตัวสั่นงก | กลิ้งพลัดตกเพิงผาตรงหน้าฉาน |
อ้ายหนุ่มล้มอ้ายแก่ลุกลงคลุกคลาน | พระอาจารย์เต็มหอบหมอบกระแต |
อ้ายลูกศิษย์ก็ไม่วางง้างเอาขา | เจ้าครูด่าก็ไม่วางไม่ห่างแห |
อ้ายหนุ่มดิ้นดุกดุกร้องตุกแก | ตับใครแก่มันจะกินอย่าดิ้นไป |
อ้ายครูฟังศิษย์ร้องสยองหัว | แก่แต่ตัวตับกูอ่อนนอนไถล |
กำลังกลัวพูดพร่ำร่ำพิไร | จะหนีไปเห็นไม่พ้นจนปัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ก็ลีลาศลงจากชะวากผา |
เหลียวไปดูนึกสมเพชเวทนา | มันพูดจาไม่เป็นส่ำกลัวความตาย |
พระจึ่งขึ้นอาชาม้าที่นั่ง | เลียบลงยังวังวนชลสาย |
กระจ่างแจ้งแสงจันทร์จำรัสพราย | ดารารายพื้นนภางค์ดั่งกลางวัน |
ลมพระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน | หอมเกสรแก้วผกามณฑาสวรรค์ |
ระรวยรื่นชื่นอารมณ์พลางชมจันทร์ | ถวิลวันจากน้องสองสุดา |
โอ้ปานนี้แก้วพี่จะครวญคร่ำ | พิไรร่ำโหยหวนรัญจวนหา |
เคยถนอมจอมขวัญสองกัลยา | มานิราร้างไปไกลบังอร |
แจ้วแจ้วแว่วเสียงจังหรีดเรื่อย | เสียงฉ่ำเฉื่อยชายตลิ่งริมสิงขร |
เหมือนเสียงสองขนิษฐาพะงางอน | เจ้าวิงวอนวัจนาสารพัน |
หริ่งหริ่งเรไรลองในร้อง | ประสานซ้องจับใจทั้งไก่ขัน |
ยิ่งโหยหวนครวญหาสุดาจันทร์ | ให้หวั่นหวั่นวิญญาณ์ในสาคร |
แหงนดูเดือนเหมือนวงนลาฏนุช | บริสุทธิ์แสงเดือนเหมือนสมร |
น้ำค้างพรมลมพระพายกระจายจร | เหมือนสมรปรุงปนสุคนธา |
มาตั้งไว้ให้พี่เมื่อโสรจสรง | ชโลมองค์หอมรื่นชื่นนาสา |
เมื่อยามไร้มิได้กลิ่นสุคนธา | ต้องนิราร้างรสหมดทั้งปวง |
พระคิดไปใจอ่อนถอนสะอื้น | ในเที่ยงคืนเห็นแต่เงาภูเขาหลวง |
เมื่อไรจะถึงแก้วตาสุดาดวง | ได้เบาทรวงที่พี่แสนอาดูรโดย |
ต้องกรากกรำร่ำมาในสาคเรศ | แสนเทวษตั้งแต่ไปไม่วายโหย |
ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยซ้ำระกำโกย | พอลมโชยมาต่อยชื้นฟื้นอารมณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายอ้ายเฒ่าชีเปลือยที่เมื่อยเหน็บ | บรรเทาเจ็บเดินฉุดพูดขรม |
อวดลูกศิษย์โฮกฮากปากเป็นปม | นึกนิยมว่าวิเศษเพศของตัว |
ใครจะมาฆ่าตีกูมิได้ | ให้อ่อนใจขนพองสยองหัว |
ดีกว่านี้สักเท่าไรกูไม่กลัว | มันเมามัวอยู่ไม่ได้ก็ไปเอง |
ด้วยอำนาจของกูผู้วิเศษ | สำแดงเดชใครไม่รุมมาคุมเหง |
แต่พอมันเห็นตัวก็กลัวเกรง | แต่ตัวเองนี้ไม่จำเอาคำครู |
กลัวเขางกตกใจไปเปล่าเปล่า | อ้ายขี้เค้าแลดูหน้าทำตาหู |
มึงไม่เชื่อวิทยาวิชาครู | แต่หอยปูกูยังจับเสียหงับเดียว |
อ้ายลูกศิษย์มันจึ่งว่าถ้าเช่นนั้น | ข้าเห็นท่านร้องไห้ไม่วายเหลียว |
เห็นทำก้นมุดมิดบิดเป็นเกลียว | ทั้งหน้าเซียวตัวสั่นพรั่นจริงจริง |
กูร้องไห้ใช่จะกลัวเมื่อไรหวา | เป็นธรรมดาแม่มดเมื่อผีสิง |
กูแกล้งหลอกมันดอกหวาอย่าประวิง | ความรู้ยิ่งอยู่กับตัวกลัวมันไย |
กูยอกย้อนซ่อนเงื่อนดอกอ้ายกาก | อย่าพูดมากตาหูไปอยู่ไหน |
เมื่อกูพูดไยมิฟังอ้ายจังไร | กูแก้ไขหมดจดทั้งงดงาม |
ดีแต่นั่งลอยหน้ากินปลาหอย | ทุดอ้ายถ่อยเต็มระยำอ้ายซำสาม |
ราวกะกูผู้เฒ่านี้เบาความ | ไม่งุ่มง่ามดอกหนาหวาวิชามี |
ฝ่ายอ้ายเฒ่าปากหนวดอวดลูกศิษย์ | กูแผลงฤทธิ์ขึ้นจริงจริงยิ่งกว่าผี |
แต่กูไม่นุ่งผ้าทั้งตาปี | กูก็ดีหวังประโยชน์ได้โปรดคน |
อ้ายศิษย์ยกมือว่าสาธุสะ | ท่านเป็นพระหรือเป็นเปรตแจ้งเหตุผล |
เป็นชีเปลือยอย่างนี้ผีหรือคน | ได้กุศลอย่างไรจงไขความ |
อ้ายตาเฒ่าเอาเรื่องข้างโกหก | กันนรกเสียได้อย่าไต่ถาม |
แม้นมึงอยู่นานไปคงได้ความ | พยายามต้มปูสู่กันกิน |
ต่อนานไปจึงจะได้แจ้งประจักษ์ | ในสำนักกูดอกหวาอย่าถวิล |
จึ่งจะบอกฤกษ์พาฟ้าแลดิน | ให้รู้สิ้นฟากฝั่งทั้งชมพู |
ไปสวรรค์ทันตามึงอย่าพรั่น | คงเห็นชั้นเชิงชานวิมานอยู่ |
เองอุตส่าห์จดจำคำของกู | ปิดประตูเมืองนรกไม่ตกเลย |
เจ้าลูกศิษย์กราบงามไหว้สามท่า | ชะช่างว่าบาปบุญพ่อคุณเอ๋ย |
มันซึมซาบเข้าในปอดว่าลอดเลย | ยังไม่เคยได้ฟังตั้งแต่มา |
สาธุสะพระครูเอ็นดูด้วย | จงชี้ช่วยทางสวรรค์ให้หรรษา |
ฝ่ายอ้ายเฒ่าอาจารย์เจ้ามารยา | มันพรรณนาหลอกไปพอได้การ ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | กับกัณฐัศว์ถึงเขตประเทศสถาน |
พอรุ่งรางสร่างสีรวีวาร | พักอยู่ด่านเมืองปากน้ำที่สำคัญ |
ขุนเสนีที่รักษาเมืองสมุทร | มาเฝ้าบุตรเขยท้าวเจ้าไอศวรรย์ |
อภิวาทบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ | แล้วเรียกกันให้เข้าไปในนคร |
ทูลพระจอมขัตติยาการะเวก | อดิเรกเรืองฤทธิ์อดิศร |
พวกม้าใช้เข้าไปในนคร | พระภูธรออกนั่งยังพระโรง |
สถิตแท่นอดิเรกเศวกฉัตร | เนาวรัตน์บัลลังก์ที่นั่งโถง |
ขุนเสนีคลานเข้าไปในพระโรง | พอสองโมงม้าใช้เข้าไปทูล |
ว่าพระสุดสาครบวรนาถ | เสด็จลีลาศมาเฝ้าปิ่นบดินทร์สูร |
ประทับอยู่เมืองชลาข้ามาทูล | นเรนทร์สูรจงทราบพระบาทา ฯ |
๏ ป่างพระจอมนคเรศเกศกษัตริย์ | โสมนัสสั่งพลันด้วยหรรษา |
รีบไปรับจอมกษัตริย์ขัตติยา | เหวยเสนาลงไปด่านชานบุรี |
จัดกระบวนแหนแห่เครื่องแตรสังข์ | ให้พร้อมพรั่งสังคีตทั้งดีดสี |
ไปรับองค์เขยมาในธานี | ทั้งมนตรีเสนาพากันจร |
หัสไชยไปกำกับรับพระพี่ | ได้เป็นที่ภิญโญสโมสร |
นานหนักหนาพึ่งจะมาสู่นคร | เจ้ารีบจรลงไปเชิญดำเนินมา |
กระบวนแห่แออัดจัดกันเสร็จ | ไปเชิญเสร็จโดยพลันด้วยหรรษา |
ฝ่ายพระจอมนคเรศเกศลังกา | ขุนเสนาก็เสด็จเข้าเขตคัน ฯ |
๏ สมเด็จท้าวเจ้าพาราการะเวก | กับองค์เอกกัลยามณฑาสวรรค์ |
มาคอยรับกษัตริย์เขยเลยจรัล | ทั้งสร้อยสุวรรณจันทร์สุดาลีลาจร |
มาพร้อมพรั่งทั้งพระองค์แลพงศา | ต่างวันทาพร้อมพรั่งนั่งสลอน |
ฝ่ายพระมิ่งมงกุฎสุดสาคร | ชุลีกรสองท้าวเจ้าบุรินทร์ ฯ |
๏ กษัตริย์สุรีโยไทยปราศรัยเขย | ภิปรายเปรยถามไปพระทัยถวิล |
พ่อไปไหนหรือว่ามาจากธานินทร์ | เป็นสุขสิ้นด้วยกันหรือฉันใด ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาททูลแจ้งแถลงไข |
เอาความหลังทั้งมูลนั้นทูลไป | ให้ท้าวไททราบความตามทำนอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงอาณาจักร | ฟังเขยรักเล่าประมูลทูลฉลอง |
พอเสร็จสิ้นเรื่องความตามทำนอง | พระผู้ครองนคเรศนิเวศน์วัง |
ให้จัดแจงแต่งเครื่องสุธาโภชน์ | ล้วนเอมโอชเนยนมให้สมหวัง |
ของคาวหวานผัดยำทำในวัง | เครื่องมังสังเจ๊กแขกแบกเข้าไป |
ทั้งหมูหันไก่พะแนงแกงเกาเหลา | ทั้งหวานคาวยกไปเรียงเคียงไสว |
พวกแสนสาวท้าวนางคุณข้างใน | มารับไปจัดแจงแต่งสำรอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมขัตติยาการะเวก | อดิเรกรังสีไม่มีสอง |
จึ่งชวนเขยเสด็จไปดังใจปอง | เข้าในห้องมนเทียรวิเชียรพราย |
ร่วมเสวยโภชนากระยาหาร | แสนสำราญบนแท่นรัตน์จำรัสฉาย |
นางเสนอบำเรอบาทไม่คลาดคลาย | ประสานสายซอสีรี่จำเรียง |
ตีโทนทับขับร้องประสานขาน | ก้องกังวานพริ้งเพราะเสนาะเสียง |
เรื่องอิเหนาเข้าถ้ำโหยสำเนียง | วิเวกเสียงโอดครวญรัญจวนใจ |
พลางแหบหวนครวญคลอเข้าซอสี | กระจับปี่จำเรียงส่งเสียงใส |
ฆ้องก็ตอดสอดเพลงวังเวงใจ | ฟังวิไลฉิ่งกรับรับในเพลง |
ขลุ่ยระนาดรำมะนาขัดหน้าทับ | ประสานรับไพเราะล้วนเหมาะเหมง |
สามกษัตริย์ทรงฟังให้วังเวง | เสนาะเพลงดนตรีตีประจำ |
ล้วนรุ่นสาวขาวผ่องละอองฉวี | เสียงก็ดีตะละนางสำอางขำ |
เป็นแต่เนื้อสองสีไม่มีดำ | สำหรับทำเมื่อเสวยทุกเวลา ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏอัยกีมาที่เสวย | ชมลูกเขยสรวลสันต์ต่างหรรษา |
กับสะใภ้สร้อยสุวรรณจันทร์สุดา | พระนัดดาเคียงประคองทั้งสององค์ |
ให้กุมารกรานก้มประนมหัตถ์ | จอมกษัตริย์บิตุลาโดยประสงค์ |
เสวยเสร็จเสด็จตามกันสามองค์ | มาเฝ้าองค์ชนนีต่างปรีดิ์เปรม ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ชมหลานราชสิ้นทุกข์สุขเกษม |
ดูหน้าตาจิ้มลิ้มทั้งอิ่มเอม | จงปรีดิ์เปรมวัฒนาสารพัน |
ลุงมานี่มิได้มีของมาให้ | แม้นกลับไปจึงจะหามาทำขวัญ |
เมื่อลุงไปได้ยากลำบากครัน | แวะมาวันทาองค์ดำรงวัง |
ไม่ได้มาเรือแพเหมือนแต่ก่อน | ความทุกข์ร้อนที่ในจิตไม่คิดหวัง |
ลุงไปถึงนคเรศนิเวศน์วัง | จะจัดทั้งของมาอย่าปรารมภ์ |
กับเครื่องเล่นต่างต่างอย่างฝรั่ง | ของในลังกาดีดีก็มีถม |
จะให้เขาเอามาอย่าปรารมภ์ | สองบังคมกราบกรานประสานกร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมลังกามหาสถาน | ครบเจ็ดวารทูลบพิตรอดิศร |
จะลากลับไปนิเวศน์เขตนคร | พระมารดรบิตุรงค์พร้อมวงศ์วาน |
จงอยู่ดีอย่าได้มีซึ่งความทุกข์ | เกษมสุขในสมบัติพัสถาน |
ไปถึงวังลังกาไม่ช้านาน | ไม่มีการศึกทัพจะกลับมา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงการะเวก | อดิเรกเรืองฤทธิ์ทุกทิศา |
พ่อจะให้จัดแจงแต่งเภตรา | ให้ลูกยาไปสบายในนที |
สุดสาครบังคมบรมนาถ | อภิวาทบงกชบทศรี |
จะป่วยการไพร่ฟ้าประชาชี | ไม่พอที่เหนื่อยยากลำบากใจ |
ฉวยขัดลมขัดน้ำก็จำช้า | ลูกไปมาเร็วพลันไม่หวั่นไหว |
แล้วก็ไม่หนักหน่วงเป็นห่วงใย | แม้นรีบไปเบ็ดเสร็จสักเจ็ดวัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงการะเวก | อดิเรกชมเชยลูกเขยขวัญ |
จงไพโรจน์โชติช่วงดั่งดวงจันทร์ | อย่ามีอันตรายมาจงถาวร |
จงเรืองฤทธิ์วิทยาเป็นผาสุก | นิราศทุกข์ภิญโญสโมสร |
แม้นศัตรูหมู่มารมาราญรอน | ให้ม้วยมรณ์แพ้ฤทธิ์คิดระอา |
จงครองวังลังกาให้ปรากฏ | เจริญยศแผ่ไปในทิศา |
ให้เหมือนพรที่ประสิทธิ์ของบิดา | ชันษาพ่อจงยืนกว่าหมื่นปี ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทน้อมประณตบทศรี |
รับเอาพรเจ้าจังหวัดปัถพี | ต่างยินดีพร้อมพระญาติมาตุรงค์ |
ถึงวันเจ็ดพระเสด็จไปส่งเขย | ประทับเกยพร้อมประยูรสกูลหงส์ |
พวกเกณฑ์แห่ตั้งกระบวนแลทวนธง | จัตุรงค์เสนาพลากร |
ทั้งสามองค์ทรงเสลี่ยงเรียงลำดับ | คนคั่งคับสังข์แตรแซ่สลอน |
ทั้งสามองค์ทรงวออรชร | ราษฎรนั่งหลามตามหนทาง |
เดินกระบวนทวนธงตรงไปด่าน | แสนสำราญสารพัดไม่ขัดขวาง |
ตำรวจในไล่คนริมหนทาง | พวกขุนนางตามเสด็จถึงเขตคัน |
เมืองปากน้ำทำของไว้คอยเลี้ยง | ยกมาเรียงรายไว้แต่ไก่ขัน |
หกกษัตริย์ถึงด่านสำราญครัน | จรจรัลขึ้นประทับบนพลับพลา |
พวกเกณฑ์แห่แออัดเขาจัดเลี้ยง | มาพร้อมเพรียงหมดด้วยกันต่างหรรษา |
พอลมชายบ่ายแสงสุริยา | พระสุดสาครประนมเรียกลมปราณ |
แล้วอ่านเวทวิทยาของดาบส | น้อมประณตเป่าไปในทิศาน |
ประเดี๋ยวใจมิ่งม้าอาชาชาญ | โดดทะยานรีบมาในสาคร |
ถึงพาราการะเวกแล้วขึ้นฝัง | ไปหยุดยั้งอยู่ท้ายชายสิงขร |
พระจึ่งเรียกอาชาม้ามังกร | อัสดรเดินมาไม่ช้าที ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทประนมก้มเกศี |
พระปิ่นปกทั้งชนกชนนี | ขอบารมีคุ้มกันอันตราย |
ทั้งสององค์อวยสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | ให้ลาภล้นสมจิตพ่อคิดหมาย |
ครองสมบัติวัฒนาอย่าระคาย | อันตรายอย่าให้มีมาบีฑา ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ประสานหัตถ์บังคมก้มเกศา |
พระหัสไชยกราบบาทกษัตรา | พระพี่ยาไปดีอย่ามีภัย |
สร้อยสุวรรณจันทร์สุดาคลานมากราบ | ศิโรราบบทมาลย์พลางขานไข |
พระพี่ช่วยทูลองค์พระทรงชัย | ทั้งสามไทปิตุราชมาตุรงค์ |
ว่าน้องนี้ขอประนมบังคมบาท | ภูวนาถที่อยู่ในไพรระหง |
มิได้ไปกราบประณตบทบงสุ์ | พระผู้ทรงสิกขาก็ช้านาน ฯ |
๏ ฝ่ายจอมวงศ์องค์สุดสาครพี่ | จรลีจากพลับพลาตรงหน้าฉาน |
กระโดดขึ้นหลังพระยาอาชาชาญ | เผ่นทะยานลงไปทางกลางสินธู |
สะบัดย่างมาในกลางกระแสสาย | ต้องพระพายฟาดหางทั้งกางหู |
วิ่งผางผางกลางวารินท้องสินธู | ไม่ทันครูเต้นหยับไปลับตา |
ห้ากษัตริย์สั่งเสร็จเสด็จกลับ | อาทิตย์ลับแสงไปในเวหา |
ถึงนิเวศน์เวียงวังขึ้นปรางค์ปรา | พร้อมคณานางเสนอบำเรอไท ฯ |
๏ จะกล่าวสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศโดยมหาชลาไหล |
พระสุริยงลงลับภพไกร | ก็รีบไปในสมุทรไม่หยุดเลย |
พระจันทรแจ่มกระจ่างนภางค์พื้น | ถอนสะอื้นหนักอุรานิจจาเอ๋ย |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย | หวนระเหยกลิ่นบุปผาผกากาญจน์ |
บนลำเนาเขาเขินเนินไศล | สุมาลัยรื่นรินส่งกลิ่นหวาน |
มะลิวัลย์กรรณิการ์ชบาบาน | พิกุลกาญจน์แก้วสุกรมทั้งยมโดย |
หอมนางแย้มแกมคัดเค้าปนสาวหยุด | ถวิลนุชเหมือนดอกไม้ไม่วายโหย |
บุปผาสดรสรื่นมาชื่นโชย | ระกำโกยกรอมอุราในสาคร |
กำดัดดึกฝูงนกวิหคเหิน | จับบนเนินเกาะเรียงเคียงสลอน |
ส่งสำเนียงเสียงก้องเหมือนร้องวอน | กะเรียนร่อนบินหลงส่งสำเนียง |
ไก่กระชั้นขันเอกวิเวกหวาน | เสียงประสานกาแกเซ็งแซ่เสียง |
หวนคะนึงถึงเขตนิเวศน์เวียง | มาฟังเสียงนกกาน่ารำคาญ |
แม้นเหาะได้พี่จะไปให้ถึงนุช | ไม่หยุดยั้งจะเข้าเขตประเทศสถาน |
ชั้นปรางค์ทองรองเรียงเคียงสำราญ | เรื่องรำคาญก็จะเบาบรรเทาคลาย |
แม้นเหาะได้แล้วไม่อยู่สู้กับโศก | ให้เกิดโรคเศร้าใจมิใคร่หาย |
ไม่มีสุขทุกข์ทนกระวนกระวาย | กายเอยกายไยมาหนาวเมื่อคราวโซ |
ก็ยังไม่แก่ชรานี่หนาร่าง | มาอ้างว้างวิญญาณ์อนาโถ |
สงสารกายกายเอ๋ยไม่เคยโซ | หัวอกโอ้คิดไปให้รัญจวน |
แหงนดูดาวดาวก็เคลื่อนเดือนก็คล้อย | น้ำค้างย้อยลมโชยยิ่งโหยหวน |
จะอาวรณ์ถอนฤทัยให้รัญจวน | คะนึงนวลนุชเจ้าลำเพาพาล |
อัสดรเล่าก็จรไม่ทันอยาก | แสนลำบากทรวงร้อนดั่งศรผลาญ |
เกือบจะรุ่งรังสีรวีวาร | แสนรำคาญในอุราให้อาวรณ์ |
พอแจ่มแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น | ทั้งลมคลื่นกระทบดังฝั่งสิงขร |
ให้อ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร | ทุรนร้อนทรวงเรียมให้เกรียมกรม |
ขอเชิญองค์เทพไทในสิงหล | มาช่วยย่นมรคาพาไปสม |
สองสมรเสมอจิตได้ชิดชม | ขอให้สมปรารถนาอย่าช้าที |
พระครวญคร่ำร่ำไรไม่วายเทวษ | จนสุริเยศแจ้งกระจ่างสว่างศรี |
ยิ่งเศร้าทรวงล่วงมาในวารี | ยิ่งทวีความเทวษไม่วายคลาย ฯ |
๏ จะกล่าวลำกำปั่นโจรสลัด | ก็แล่นดัดข้ามวนชลสาย |
ใบขาวขาวมิใช่น้อยสักร้อยปลาย | ออกแล่นรายเรียงกันเป็นหลั่นมา |
คอยตีเรือเหนือใต้ไล่ตลบ | ทหารรบมีสักหมื่นถือปืนผา |
เป็นชาติแขกมุระหงิดติดชวา | นายเภตราชื่อวะหลำดำทมิฬ |
อ้ายนายรองสองคนเป็นแขกเงาะ | ใส่เสื้อเกราะหน้าหลังฝังด้วยหิน |
พื้นทองแดงเครื่องตะพายสายกระวิน | แต่ล้วนหินสารพันกันสาตรา |
เมื่อวันนั้นน้ำหมดอ้ายนายใหญ่ | มันสั่งให้แวะเกาะขึ้นเสาะหา |
เห็นที่ไหนเร่งทอดจอดเภตรา | ขึ้นไปหาเร็วไวทั้งไพร่นาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศกับอาชาเวลาสาย |
เห็นเกาะขวางทางลาดเป็นหาดทราย | น่าสบายพักม้าให้หากิน |
พระจึ่งชักอัสดรจรขึ้นหาด | เสด็จลีลาศตามสิงขรชะง่อนหิน |
แล้วจึ่งให้อาชาพระยานิล | เที่ยวหากินให้สบายตามชายเนิน |
เสด็จนั่งยั้งหยุดปากคูหา | ชมศิลาหนาแน่นเป็นแผ่นเผิน |
พฤกษาดอกออกระย้าบนหน้าเนิน | ที่โขดเขินอินจันทน์พรรณพวา |
ละมุดม่วงพวงผลหล่นออกกลาด | ระดาดาษใต้ต้นผลพฤกษา |
ตลิงปริงลิงโลดโดดลงมา | วิ่งถลาชิงกันยุ่งล้วนฝูงลิง |
ต้นตาเสือเสือมองจ้องขยับ | หวังจะจับกินเป็นเหยื่อเสือสมิง |
ต้นนมควายควายแฝงเข้าแย่งชิง | ล้วนมหิงส์เดินรายฝูงควายดง |
ต้นมันหมูหมูพากันมากัด | หมูสะบัดวิ่งพรูลูกหมูหลง |
บ้างก็เดินไปเป็นหมู่ล้วนหมูดง | เที่ยววิ่งวงพลัดคู่เป็นหมูโทน |
ต้นหูกวางกวางย่องมองเขม้น | บ้างโลดเต้นต่างต่างฝูงกวางโผน |
ลูกหูกวางกวางชิงวิ่งกระโจน | ลงลุยโคลนวิ่งกรูกินหูกวาง |
ต้นดีหมีหมีจ้องร้องโครกคราก | บ้างอ้าปากแล่นโลดกระโดดผาง |
หมีบ่นพึมงึมงำไปตามทาง | แลสล้างแต่ล้วนหมีวิ่งหนีคน |
อ้อยช้างน้าวช้างเหนี่ยวจนกิ่งหัก | กระชากชักช้างเสือกเสลือกสลน |
ทั้งลูกช้างช้างคะนองร้องคำรน | ฝูงช้างต้นแลสล้างล้วนช้างงา |
พระชมสัตว์จัตุบาทผาดผยอง | โลดลำพองเพลิดเพลินบนเนินผา |
ฝูงชะนีเหนี่ยวไม้โดดไปมา | ห้อยพฤกษาโยนตัวเรียกผัวโวย |
ชาติชะนีนี้หนามันฆ่ามิตร | เพราะสองจิตจิตสองจึ่งต้องโหย |
อมเรศสาบซ้ำระกำโกย | ต้องดิ้นโดยเชยค่างเที่ยวครางครวญ |
เหมือนหญิงกากปากหวานสันดานหยาบ | ไม่กลัวบาปจิตนิยมเหมือนลมหวน |
คล้ายชะนีที่ต้นไม้พิไรครวญ | ต้องรัญจวนโหยหาเรียกสามี ฯ |
๏ จะกล่าวข้างโจรใหญ่ใจฉกาจ | ระดาดาษแล่นมาทางกลางวิถี |
เห็นเกาะใหญ่ชายกระสินธุ์ก็ยินดี | พลางก็ชี้ให้กันดูทุกผู้คน |
จึ่งบ่ายเรือเข้าข้างซ้ายริมชายหาด | ระดาดาษพร้อมพรั่งที่งพหล |
ทอดสมอรอราชายสาชล | แล้วเร่งคนยกเรือน้อยลงลอยเรียง |
อ้ายนายรองสองคนกับพลไพร่ | ให้พายไปโห่ลั่นสนั่นเสียง |
ถึงชายหาดเรือทอดจอดกันเรียง | แบกพะเนียงตุ่มไหเที่ยวไปดู |
พอเห็นม้าหากินบนเนินเขา | มันจึ่งเข้าไปข้างหน้าเห็นตาหู |
เรียกเพื่อนกันเร็วหวาจงมาดู | อ้ายนี่หมูหรือควายเป็นหลายพรรณ |
มีหนวดเขาราวกะกวางหางเป็นตุ่ม | หน้าเป็นปุ่มตัวเป็นเกล็ดเพศมันขัน |
จับไปให้นายเราเอารางวัล | อ้ายนี่ขันพึ่งจะเห็นเป็นอะไร |
แต่ตาหูดูมันกลอกเหมือนหลอกหลอน | แต่ก่อนก่อนไม่เคยเห็นเป็นไฉน |
อ้ายนายรองเรียกกันมาทันใด | พากันไปหาเถาวัลย์มาพันพัว |
ทำเป็นห่วงบ่วงไว้จะได้ดัก | มันติดกักคอยกรวมสวมเอาหัว |
เห็นจะไม่ร้ายดอกหวาเองอย่ากลัว | จับเอาตัวผูกไว้ใช้จนตาย |
แต่ช้างสารโตใหญ่อยู่ในป่า | ยังจับมาเลี้ยงไว้เอาไปขาย |
ทำไมกับสัตว์โกโรโตเท่าควาย | เอาบ่วงหวายผูกปากลากเอาไป |
พวกสลัดตัดหวายมิทันช้า | แบกเอามาเรียกกันเสียงหวั่นไหว |
อ้ายนายรองร้องร่าช้าอยู่ไย | เร่งเข้าไปเอาเถาวัลย์คอยพันคอ |
อ้ายพวกไพร่รายล้อมเข้าพร้อมพรั่ง | ทำบ่วงตั้งชายตลิ่งบ้างวิ่งสอ |
หักใบไม้มาบังคอยรั้งรอ | ยืนต่อต่อกันอ้อมเข้าล้อมวง |
ป่างฉวยไม้ไล่ต้อนเอาขอนขว้าง | สกัดทางหน้าหลังหวังประสงค์ |
จะให้ติดบ่วงใหญ่ดั่งใจจง | แล้วมันตรงไล่รุกเข้าคลุกคลี |
บ้างก็ถือไม้พลองกระบองสั้น | เข้ากางกั้นหมายใจมิให้หนี |
ม้ากระโชกโขกกัดทั้งฟัดวี | อ้ายโจรตีเตะโผงถูกโครงตาย |
แล้วโดดออกจากมันล้อมเดินอ้อมเขา | อ้ายโจรเฝ้าตามไปดั่งใจหมาย |
หวังจะจับเอาให้ได้ไปให้นาย | อ้ายนี่ร้ายแรงจัดกัดเอาคน |
จับให้ได้เอาไปกรากไว้ปากกำปั่น | สักสองวันดึกดึกค่อยฝึกฝน |
แล้วเดินตามม้าไปทั้งไพร่พล | ขึ้นข้างบนแผ่นผาเลียบหน้าเนิน ฯ |
๏ ฝ่ายอาชามาถึงองค์พงศ์กษัตริย์ | ยืนสะบัดอยู่ที่หน้าแผ่นผาเผิน |
พระจึ่งเรียกอาชามาบนเนิน | อ้ายโจรเดินแลเห็นม้าอาชาชาญ |
เข้าหมอบเรียงเคียงคนที่เชิงเขา | มันเดินเข้าไปหาแล้วว่าขาน |
ข้าแต่เจ้าเผ่าพงศ์เป็นวงศ์วาน | มาอยู่นานหรือที่นี่ช่วยชี้แจง |
สัตว์อะไรที่มันมาอยู่หน้าเจ้า | ช่วยบอกเราให้สิ้นที่กินแหนง |
ข้าไล่จับมันก็กัดไล่วัดแวง | ล้มตะแคงตายไปเป็นหลายคน ฯ |
๏ ฝ่ายพระปิ่นนครามหากษัตริย์ | โองการตรัสชี้แจงแจ้งนุสนธิ์ |
สัตว์ตัวนี้ที่มาอยู่รู้เหมือนคน | เราฝึกฝนใช้มาก็ช้านาน |
อ้ายโจรฟังรู้ว่าเขาเป็นเจ้าของ | จึ่งปรองดองพูดจาแล้วว่าขาน |
นี่แน่นายเลี้ยงไว้ได้ใช้การ | มันชำนาญข้างอะไรหรือไถนา ฯ |
๏ พระนึกยิ้มอยู่ในใจว่าอ้ายนี่ | ไพร่เดิมทีเดรฉานขันหนักหนา |
มันเป็นพวกเผ่าพาลสันดานกา | ฟังพูดจาต่างต่างช่างเป็นไร |
สัญชาติโจรโลนลำพองเป็นของเขา | เหมือนคนเมาพูดมากถลากไถล |
จะไปถือถ้อยคำมันทำไม | สันดานไพร่อออือถือว่าดี |
พระจึ่งว่านาไร่มันไม่รู้ | เราเลี้ยงดูเอามันไว้มิให้หนี |
พอขี่เล่นเที่ยวไปในนที | ของเองมีอยู่บ้างไหมในสำเภา |
อ้ายโจรว่าข้านี้ไม่เคยเห็น | สัตว์นี้เป็นอย่างไรไฉนเจ้า |
หมีหรือหมูดูมันขันไม่บันเบา | ขอให้เราเถิดเป็นไรจะให้นาย |
แม้นข้าได้อ้ายนี่ดีขยัน | จะผูกพันเอาไปเหมือนใจหมาย |
ข้าจะไปยกย่องว่าของนาย | พูดเบี่ยงบ่ายขออะไรจะให้ปัน |
หรือนายชอบผ้าเสื้อที่เรือถม | อย่าปรารมภ์ของข้าดีมีขยัน |
จะไปหาจัดแจงมาแบ่งปัน | ที่ข้อนั้นนายขาอย่าปรารมภ์ |
หรือจะสูบกัญชาแลยาฝิ่น | ก็ได้สิ้นบอกมาซีมีอยู่ถม |
เขาตีเรือได้หนักหนาอย่าปรารมภ์ | คงจะสมปรารถนาไม่ช้าที ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมลังกามหาสวรรค์ | ได้ฟังมันพูดจาน่าบัดสี |
แต่ดูเล่นขันขันขยันดี | พระจึ่งมีสิงหนาทประภาษไป |
อันสัตว์นี้เรียกว่าวลาหก | เราอยากยกให้ปันเหมือนขานไข |
ก็กลัวแต่พวกเจ้าจะเอาไป | มันจะไล่ขบกัดฟัดเอาตาย |
อ้ายโจรว่าถ้านายจับม้าส่ง | ข้าทำวงมาเป็นพวงล้วนบ่วงหวาย |
คงจะจูงเอาไปได้ดอกนาย | ไม่วุ่นวายพวกข้ามาเป็นกอง |
พระตรัสว่ามาซิจะจับให้ | มันดีใจยืนสะพรั่งขึ้นทั้งผอง |
พระจึ่งเรียกอาชาม้าลำพอง | ก็ลุกย่องเดินมาอยู่หน้าเนิน |
พระกระซิบสั่งว่าอย่าเพ่อวุ่น | ทำหันหุนให้วิตกระหกระเหิน |
ไปกับมันไวไวพอให้เพลิน | จากชายเนินแม้นถึงท่าชลาลัย |
จึ่งขบกัดฟัดฟาดให้กลาดเกลื่อน | แล้วจึ่งเลื่อนลงไปท่าชลาไหล |
ขึ้นบนลำกำปั่นอย่าพรั่นใจ | กัดเสียให้ปี้ป่นคนในเรือ |
แล้วโดดน้ำดำไปอย่าได้ช้า | ไปคอยท่าน้องอยู่พลางที่ข้างเหนือ |
มันก็คงจะพลอยต้องถอยเรือ | ไปข้างเหนือทางแท้เป็นแน่นอน |
พระสั่งเสร็จจูงพระยาม้าที่นั่ง | ลงจากหลังเชิงผาหน้าสิงขร |
มาส่งให้อ้ายโจรพเนจร | อัสดรทำดีเหมือนทีกลัว |
มันเอาบ่วงสวมคอหัวร่อร่า | สมปรารถนากรุ่มกริ่มพลางยิ้มหัว |
แล้วร้องว่านายขาท่านอย่ากลัว | จะแกงคั่วย่างไก่มาให้กิน |
แล้วออกเดินจูงม้าล้อมหน้าหลัง | มันนึกหวังสมในใจถวิล |
พลางลงจากเนินผาหน้าคีรินทร์ | พร้อมกันสิ้นตุ่มไหไม่ต้องการ |
ได้อ้ายสัตว์ตัวนี้เป็นที่ชื่น | สำราญรื่นอิ่มเอมเกษมศานต์ |
แม้นไปถึงนายใหญ่คงได้การ | ไม่ช้านานดอกอ้ายเล้าเอารางวัล |
มันอิ่มเอมเปรมปราประสาแขก | บ้างก็แบกบ่วงหวายเดินผายผัน |
กำลังแดดร้อนเหลือเหงื่อเป็นมัน | ต่างเร่งกันให้เดินด้วยเพลินใจ |
มันยินดีที่ยิ่งด้วยมิ่งม้า | รีบลงมาชายวารินกระสินธุ์ใส |
อ้ายนายรองสั่งกันด้วยทันใด | จงรีบไปเร็วหวาอย่าช้าที |
บอกนายใหญ่ว่าได้สัตว์ประหลาด | มาไว้หาดเชิญไปดูหมูหรือหมี |
อ้ายโจรใหญ่รู้แจ้งแห่งคดี | พลางเดินรี่รีบตรงมาลงเรือ |
ให้พวกไพร่ตีกระเชียงเรียงเข้าหาด | เดินพรวดพราดแลขึ้นมาคิดว่าเสือ |
เข้าไปใกล้เห็นขนชุมหนวดคลุมเครือ | ไมใช่เสือแข้งขาเหมือนม้าดง |
แต่มีเกล็ดเหมือนปลาน่าสงสัย | สัตว์อะไรหนอมันเฉิดระเหิดระหง |
ทั้งรูปร่างผมหนวดแลทรวดทรง | สมประสงค์ที่ในใจหลายประการ |
จะเอาไปขายเมืองฝรั่งเศส | มันงามกว่าม้าเทศหลายสถาน |
สักหมื่นเหรียญได้ดอกหวาไม่ช้านาน | คงเป็นการแท้แล้วไม่แคล้วเลย |
มันจึงสั่งให้เอาไปในกำปั่น | จงช่วยกันเร็วหวาพาไปเหวย |
เป็นการด่วนจวนแล้ววะอย่าละเลย | ให้มันเคยเรือไว้รีบไปพลัน |
อ้ายนายรองร้องเรียกกันเร็วหวา | ถอยเรือมาเดี๋ยวนี้ขมีขมัน |
แล้วเข้าจับจูงพระยาอาชาพลัน | ม้าก็ผันผกโผนโจนกระโจม |
สะบัดบ่วงห่วงหวายสายก็ขาด | เอาหางฟาดวิ่งร่าเข้าถาโถม |
อ้ายโจรตีด้วยพลองลงสองโครม | ม้าก็โถมโขกสะบัดไล่วัดแวง |
เอาตีนเหยียบปากกัดฟัดกระชาก | เห็นคนมากโดดถลันด้วยขันแข็ง |
เข้าดีดกัดฟัดล้มจมตะแคง | เลือดออกแดงตายกลาดบนหาดทราย |
อ้ายนายใหญ่วิ่งตรงลงเรือน้อย | แล้วให้ถอยรีบไปดั่งใจหมาย |
ขึ้นเรือใหญ่ชุลมุนเสียงวุ่นวาย | ผลุดเข้าท้ายบาหลีไม่มีใจ ฯ |
๏ ฝ่ายอาชารีบโผนโจนลงน้ำ | โดดขึ้นลำเรือจอดทอดไสว |
เข้าโขกกัดฟัดซ้ำทุกลำไป | คนเจ็บไข้ล้มลุกลงคลุกคลาน |
แล้วโดดน้ำดำไปมิได้หยุด | ขึ้นไปผุดเหนือเกาะเสาะอาหาร |
กินแต่พออิ่มหนำค่อยสำราญ | คอยพระผ่านลังกาอยู่หน้าเนิน ฯ |
๏ ฝ่ายอ้ายพวกโจรตายลงหลายสิบ | ออกแล่นลิบไปจากท่าแผ่นผาเผิน |
ไม่รอรั้งรีบไปจนไกลเนิน | ระหกระเหินวุ่นวายมาในเรือ ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | พลางรีบรัดเสด็จไปข้างฝ่ายเหนือ |
พบพระยาม้าต้นขนคลุมเครือ | มาอยู่เหนือเกาะใหญ่ดั่งใจจง |
พอสุริย์ฉายชายแสงลงอ่อนอ่อน | พระก็จรขึ้นหลังดั่งประสงค์ |
จากละเมาะเกาะเกียนไม่เวียนวง | เสด็จตรงข้ามฝั่งไปลังกา |
ลมพระพายชายพัดมาฉิวฉิว | วิเวกหวิวโหยหวนรัญจวนหา |
พระสุริยงลงลับบรรพตา | พระจันทราแจ่มกระจ่างดั่งกลางวัน |
ม้ามังกรถอนถีบด้วยรีบรุด | ไม่ยั้งหยุดมุ่งไปจนไก่ขัน |
จนรุ่งแจ้งแสงสีรรีวรรณ | ถึงเขตคันเวียงวังเกาะลังกา |
ขึ้นชายหาดวิ่งเหย่าเข้าในด่าน | พระชื่นบานจรจรัลด้วยหรรษา |
พวกนายด่านวุ่นวิ่งชิงกันมา | ต่างปรีดาเชิญเสด็จนิเวศน์เวียง |
บางจัดแจงแต่งเครื่องมาพร้อมหมด | ทั้งม้ารถกระบวนแห่เซ็งแซ่เสียง |
เดินกระบวนทวนธงตรงเข้าเวียง | กึกก้องเสียงม้ารถบทจร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมขัตติยามหาสวรรค์ | เข้าวังพลันเสวกามาสลอน |
รับเสด็จไทท้าวเจ้านคร | พระภูธรปราศรัยทั้งไพร่นาย |
ขุนเสนีกราบก้มบังคมบาท | ภูวนาถจรจรัลเสร็จผันผาย |
ขึ้นปราสาทเนาวรัตน์จำรัสพราย | เจ้าขรัวนายแสนสุรางค์ในปรางค์ทอง |
รับเสด็จทูลกระหม่อมจอมพิภพ | แล้วนอบนบคอยฟังรับสั่งสนอง |
มเหสีสองคำนับคอยรับรอง | เฝ้าละอองบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ |
ต่างยินดีปรีดิ์เปรมเกษมสุข | บรรเทาทุกข์เหมือนได้ผ่านวิมานสวรรค์ |
ดูพักตราโชติช่วงดั่งดวงจันทร์ | เหมือนเมื่อวันเพ็ญบูรณ์จำรูญเรือง |
ปราศจากราคีไม่มีเมฆ | อดิเรกผ่องศรีฉวีเหลือง |
เป็นสิ้นทุกข์สุกใสในประเทือง | ทูลถามเรื่องเสด็จไปในนที ฯ |
๏ ป่างพระจอมนคเรศเกศกษัตริย์ | โองการตรัสเล่าพระน้องทั้งสองศรี |
เอาเรื่องหลังมาแถลงแจ้งคดี | ให้สองศรีนาฏอนงค์ได้ทรงฟัง |
ความทุกข์ยากที่ลำบากในกระสินธุ์ | ให้ยุพินทราบตามเนื้อความหลัง |
จนกลับมาถึงประเทศนิเวศน์วัง | ให้สองฟังเสร็จสิ้นนางยินดี ฯ |
๏ ฝ่ายสุรางค์นางในก็เชิญเครื่อง | ถวายเบื้องบงกชบทศรี |
ทั้งเอมโอชโภชนาข้าวสาลี | มเหสีสองนางนั่งบำเรอ |
นางถวายอยู่งานพลางกรานกราบ | ศิโรราบหมอบเรียงเคียงเสนอ |
ประไพพริ้มอิ่มเอมทั้งเปรมเปรอ | คอยบำเรอเฉลิมบาทกษัตรา |
เสวยเสร็จพระเสด็จขึ้นจากอาสน์ | เข้าปราสาทเร็วพลันด้วยหรรษา |
พอพลบค่ำย่ำแสงพระสุริยา | นางสุดาเสนอนาถบาทยุคล |
พระอิงแอบแนบชิดสนิทสนอม | นางโน้มน้อมประดิพัทธ์ไม่ขัดสน |
บำเรอรักรสรื่นชื่นกมล | ถนอมปรนเปรอประชดที่อดออม |
สุมาลีคลี่คลายขยายเสา | วรสเร้าโรยรื้อกระพือหอม |
แมงภู่ผึ้งคลึงเคล้นเฝ้าเฟ้นตอม | ระเหยหอมหวนประทิ่นกลิ่นผกา |
พิรุณโรยโปรยปรายบนสายฝน | ให้มัวมนมืดมิดทุกทิศา |
พายุโยกโบกก้องท้องสุธา | เมขลาโยนแก้วอยู่แววไว |
รามสูรขว้างขวานประหารเปรี้ยง | สำเนียงเพียงโกลาสุธาไหว |
นทีนองท้องมหาสมุทรไท | เป็นคลื่นใหญ่กระทบเขาลำเนาเนิน |
ฝูงมัจฉานาคินทร์ขึ้นดิ้นโดด | ตามเขาโขดฝูงนกวิหคเหิน |
ทั้งเหมหงส์หลงถ้ำเล่นน้ำเพลิน | เที่ยวด้อมเดินเล่นน้ำในลำธาร |
เขาพระเมรุเอนอ่อนชะง่อนชะโงก | เขยื้อนโยกวายุพัดเสียงฉัดฉาน |
ระรื่นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำพอสำราญ | ต่างชื่นบานในอุราที่อาวรณ์ |
ภิรมย์รสปลดเปลื้องที่เรื่องทุกข์ | เกษมสุขภิญโญสโมสร |
จนแจ่มแจ้งแสงสีรวีวร | พระเสร็จจรจากที่ศรีไสยา |
แล้วสระสรงทรงเครื่องเรืองจำรัส | เพชรรัตน์แก้วเก้าวาวเวหา |
ทรงพระแสงเนาวรัตน์อัษฎา | เสด็จออกหน้าพระโรงคัลด้วยทันที |
เถลิงอาสน์เศวตฉัตรประภัสสร | พร้อมนิกรเสนาบดีศรี |
จึงตรัสสั่งพวกพหลแลมนตรี | จะไปที่สิงขรในดอนดง |
จงจัดแจงแต่งรถสุวรรณรัตน์ | เทียมกัณฐัศว์ตัวประเสริฐระเหิดระหง |
จะไปเฝ้านักสิทธ์บิตุรงค์ | โดยจำนงเร่งรัดไปจัดการ |
ขุนเสนาผู้รับสั่งมานั่งหมาย | เลกเกณฑ์จ่ายทุกหมวดตรวจทหาร |
เป็นการด่วนจวนเวลาอย่าช้าการ | พวกทหารพลเรือนอย่าเชือนแช |
พอหมายไปให้มาช้าไม่ได้ | อย่านอนใจโดยรับสั่งอย่างกระแส |
ประเดี๋ยวใจพร้อมพรั่งทั้งสังข์แตร | กระบวนแห่ตั้งริ้วเป็นทิวไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงอาณาจักร | เห็นพร้อมพรักเกณฑ์แห่แลไสว |
พระชวนบุตรสุดที่รักร่วมฤทัย | เสด็จไปทรงรถพระกลดบัง |
เคลื่อนพหลพลทหารแล้วขานโห่ | สำเนียงโกลาแซ่ทั้งแตรสังข์ |
รีบออกจากขอบเขตนิเวศน์วัง | เข้าป่ารังร่มรื่นชื่นสำราญ |
รุกขาเขาเหล่าสัตว์จัตุบาท | บ้างวิ่งกลาดตามตรอกซอกละหาน |
คณานกร่อนร้องก้องกังวาน | เสียงประสานซ้อแซ้ฝูงแกกา |
ทั้งนกไม้ในดงเหมหงส์ห่าน | มีมานานหลายหลากมากนักหนา |
จะร่ำไรไพรวันพรรณนา | ครั้นจะว่าซ้ำซากจะมากมาย |
ขอตัดบทงดไว้ในเรื่องป่า | การที่ว่ามาก็มากฟังหลากหลาย |
มันจะเลอะเปรอะหูไม่สู้สบาย | ข้างเรื่องปลายมันจะจืดไม่ยืดยืน |
ไปถึงที่บริเวณพระดาบส | พร้อมกันหมดพักศาลาไม่ฝ่าฝืน |
รถที่นั่งเรียงรายตามไฟฟืน | เป็นกลางคืนต้องประทับหยุดหลับนอน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษณ์ | เสร็จสำนักกุฎีใหญ่ท้ายสิงขร |
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงพระทินกร | พระจันทร์จรแจ่มหล้านภาลัย |
พลางเสร็จออกนอกกุฏิ์หยุดประทับ | ที่สำหรับเทศนาคนอาศัย |
เคาะระฆังดังลั่นสนั่นไป | พวกชีไพรพร้อมกันมาวันทา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | ตรัสประภาษแจ้งเหตุเทศนา |
แสดงข้อบรมัตถ์อนัตตา | สังขารามันไม่แน่ย่อมแปรปรวน |
ก็สูญเปล่าเราท่านอย่าพันผูก | อันเมียลูกชื่นชมเหมือนลมหวน |
ไม่ยังยืนอยู่แท้ย่อมแปรปรวน | มักทบทวนต่างต่างทั้งร่างกาย |
มันไม่แน่แก่ชราทั้งตาหู | เนื้อหนังยู่เค็มประดาพาฉิบหาย |
ก็ย่อมเปนอนิจจังแก่ร่างกาย | ยังไม่ตายดูสมเพชเวทนา |
จงหยั่งจิตลงที่ในพระไตรลักษณ์ | คงประจักษ์เห็นห่วงบ่วงตัณหา |
เกิดผูกมัดรัดรึงไว้ตรึงตรา | ทรมาสัตว์หลงให้วงเวียน |
จงตั้งจิตคิดหวังในทางพระ | สลัดสละราคาอันพาเหียร |
คิดเป่าปัดตัดราคค่อยพากเพียร | เหมือนกงเกวียนพาหมุนให้วุ่นไป |
คือตัวสังสารวัฏตัดไม่ขาด | ด้วยอำนาจจิตพะวงให้หลงใหล |
อันปัญญาเหมือนพระขรรค์ค่อยฟันไป | กว่าจะได้ทางประโยชน์โพธิญาณ |
พระมุนินทร์แจ้งเหตุเทศนา | ให้ศีลห้าถือเอาธรรมกรรมฐาน |
หวังจะให้ตัดห่วงคือบ่วงมาร | ไปนิพพานเปรมปราสถาวร |
พอจบธรรมคำเทศน์แจ้งเหตุผล | ให้ฝูงชนศิษย์จำเอาคำสอน |
พวกศิษย์พากันไปหลับนอน | พระภูธรเข้าในที่ไสยา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | สถิตอาสน์รถที่นั่งกำบังฝา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงพระสุริยา | สกุณาร้องเรียกกันเพรียกดง |
ไก่กระชั้นขันเจื้อยระเรื่อยเสียง | เสนาะสำเนียงก้องในไพรระหง |
กากะเหว่าเร้าเร่งพระสุริยง | ก็ฟื้นองค์จากรถาไม่ช้านาน |
ชวนพระหน่อนฤบาลชาญสมร | บทจรไปกุฎีที่วิหาร |
สะพรั่งพร้อมเสนีปรีชาชาญ | เครื่องมัสการของฉันทั้งหวานคาว |
ให้ยกไปไว้หน้าพระอาศรม | ทั้งแกงต้มตีตราหุ้มผ้าขาว |
ของต่างต่างเค็มมันเครื่องหวานคาว | ทั้งมะพร้าวน้ำหอมมีพร้อมเพรียง |
ขนเข้าไปไว้ที่หน้าพระอาศรม | เครื่องขนมยกขึ้นวางข้างเฉลียง |
จัดเอาของต่างต่างขึ้นวางเรียง | สำหรับเลี้ยงนักพรตหมดด้วยกัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | เสร็จลีลาศออกมาหน้าโรงฉัน |
เห็นพระสุดสาครจรจรัล | มาอภิวันท์บาทาฝ่าธุลี |
ป่างพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | ตรัสประภาษโดยจริตกิจฤๅษี |
เออเจ้าหายไม่เห็นมาก็กว่าปี | หรือไพรีมีประชิดติดนคร ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงไอศวรรย์ | บังคมคัลทูลนักสิทธ์อดิศร |
ไปเยี่ยมแม่มัจฉาในสาคร | กับภูธรพระโยคีผู้ปรีชา |
แล้วทูลความตามชนนีนาถ | ขอกราบบาทในพระองค์ทรงสิกขา |
ว่าชาตินี้มีกรรมจำนิรา | มิได้มาฉลองคุณพระมุนี |
เพราะเป็นสัตว์มัจฉาใช่มานุษย์ | ไม่บริสุทธ์สารพัดจะบัดสี |
แม้นชาติหน้าขอเป็นข้าฝ่าธุลี | กว่าชีวีจะวอดวายทำลายลาญ |
พระทรงฟังถ้อยคำที่ร่ำสั่ง | ถวิลหวังวรนุชสุดสงสาร |
แม้นไม่ได้มัจฉายุพาพาล | จะวายปราณเสียในคลื่นไม่คืนเป็น |
พระตรัสว่าแม่ของเจ้าคุณเขามาก | เมื่อยามยากเข็ญใจก็ได้เห็น |
สู้อุ้มพาฝ่าคลื่นให้คืนเป็น | มาพบเห็นเจ้าประคุณพระมุนินทร์ |
พระตรัสพลางทางเรียกพระเจ้าหลาน | กุมารคลานเข้าไปดั่งใจถวิล |
บังคมเบื้องบาทบงส์องค์มุนินทร์ | พระทรงศีลอวยชัยพลางให้พร |
จงจำเริญสุขาอย่ามีทุกข์ | ให้ผาสุกภิญโญสโมสร |
จงเรืองสิทธ์ฤทธิไกรขจายขจร | ทั่วนครชนะหมดปรากฏไป |
สุมาลีชีละเวงวัณฬาราช | ทั้งสองนาฏพจนาพลางปราศรัย |
ต่างเชยชมพระเจ้าหลานสำราญใจ | พระหน่อไทกราบก้มประนมกร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมสิขรินมุนินทร์นาถ | ให้โอวาทลูกยานัดดาสมร |
จงสงเคราะห์เหล่าอาณาประชากร | เลี้ยงราษฏรวงศาเสนานาย |
ใครทำชอบตอบแทนให้สมยศ | ได้ปรากฏสืบไปเหมือนใจหมาย |
อุตส่าห์สร้างทางบุญอย่าวุ่นวาย | ทั่งไพร่นายคุ้มขังทั้งแผ่นดิน ฯ |
๏ สุดสาครคำนับรับบรรหาร | พลางกราบกรานจะกลับวังดั่งถวิล |
ศิโรราบกราบอนงค์องค์ยุพิน | ออกจากถิ่นสิงคุตรกับบุตรพลัน |
มาทรงรถบทจรจากอาวาส | ระดาดาษพร้อมพหลพลขันธ์ |
จากประเทศเขตแคว้นแดนอรัญ | สำเนียงลั่นกึกก้องทั้งท้องดง |
ทั้งเสียงพลเสียงรถอัศวราช | ระดาดาษเดินในไพรระหง |
ล้วนเกณฑ์แห่แออัดจัตุรงค์ | ทั้งทวนธงรีบมาในป่าดอน |
ไม่ยับยั้งรั้งราโยธาหาญ | ข้ามห้วยธารเดินทางหว่างสิงขร |
พระเร่งรีบแสนยาพลากร | ไม่แรมร้อนมากระทั่งถึงลังกา |
หยุดประทับคับคั่งกันพรั่งพร้อม | ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นมหา |
เสด็จเข้าเวียงวังทั้งลูกยา | ขึ้นมหาปรางค์มาศปราสาททอง ฯ |