๏ สงสารสุดสาครยังอ่อนศักดิ์ |
ชีเปลือยผลักตกอยู่ในคูหา |
เดชะมนต์ทนคงทรงวิชา |
ไม่มรณานิ่งซบสลบไป |
ได้สามคืนชื่นฉ่ำด้วยน้ำหิน |
ในดวงวิญญาณ์แย้มค่อยแจ่มใส |
ระริกริกพลิกองค์ทรงฤทัย |
ในดวงใจเจ็บช้ำแทบทำลาย |
นิ่งรำลึกตรึกภาวนาเวท |
ศักดาเดชร้าวฉานบันดาลหาย |
แต่หิวโหยโดยอดระทดกาย |
จะปีนป่ายไปไม่ได้ดังใจจง |
จึงคิดว่าตาเฒ่านี้เจ้าเล่ห์ |
เราซวนเซเสียเชิงละเลิงหลง |
โอ้น่าที่ชีวิตจะปลิดปลง |
ไหนจะคงคืนรอดตลอดไป |
กุมาราอาดูรพูนเทวษ |
ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล |
สะอื้นร่ำพร่ำว่าประสาใจ |
ไหนจะได้พบปะพระบิดร |
โอ้เจ้าตาอาจารย์ของหลานเอ๋ย |
พระองค์เคยค่ำเช้าเฝ้าสั่งสอน |
มาครั้งนี้ชีวาตม์จะขาดรอน |
พระอาจารย์มารดรไม่เห็นใจ |
เมื่อต่อตีผีดิบสักสิบโกฏิ์ |
พระมาโปรดหลานรักไม่ตักษัย |
โอ้ครั้งนี้มิรู้ด้วยอยู่ไกล |
ไม่มีใครบอกเล่าพระเจ้าตา |
สงสารแต่แม่เงือกของลูกน้อย |
จะหลงคอยคิดถึงคะนึงหา |
ลูกอยากนมสมเด็จพระมารดา |
แม้นได้มากล้ำกลืนจะชื่นใจ |
โอ้แม่คุณทูลกระหม่อมถนอมลูก |
ไม่ต้องถูกหนักหนาอัชฌาสัย |
ได้สามปีชีวันจะบรรลัย |
มิทันได้แทนคุณกรุณา |
สะอื้นร่ำน้ำพระเนตรลงพรากพราก |
ด้วยอดอยากนมแม่ชะแง้หา |
เสียงม้าร้องก้องกรรณหวั่นวิญญาณ์ |
พี่ม้าขาฉันขึ้นไปไม่ได้แล้ว |
ไปบอกตามาช่วยฉันด้วยเถิด |
เหมือนพี่เกิดร่วมท้องกับน้องแก้ว |
ร้องเรียกร่ำน้ำพระเนตรลงนองแนว |
สลบแล้วคืนเล่าเฝ้าโศกา ฯ |
๏ บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว |
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา |
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา |
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต |
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ |
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด |
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด |
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน |
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน |
บิดามารดารักมักเป็นผล |
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน |
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา |
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ |
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา |
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา |
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี |
จงคิดตามไปเอาไม้เท้าเถิด |
จะประเสริฐสมรักเป็นศักดิ์ศรี |
พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี |
รูปโยคีหายวับไปกับตา ฯ |
๏ สงสารหน่อบพิตรอดิศร |
สุดสาครเหลียวแลชะแง้หา |
ไม่เห็นปู่อยู่เดียวเปลี่ยววิญญาณ์ |
นึกน้ำตาซกซกตกกระเซ็น |
ด้วยกำลังยังเยาว์ยิ่งเศร้าสร้อย |
ให้ละห้อยหาแม่ไม่แลเห็น |
แล้วเหลียวดูสุริยันตะวันเย็น |
จะจำเป็นจำไปเพราะไม่เคย |
จึงเหลียวหาม้านิลสินธพ |
เห็นเซาซบโศกานิจจาเอ๋ย |
ตรงมาหาม้าแลชะแง้เงย |
เอาคางเกยกับพระบาทเพียงขาดใจ |
นาสิกสูบจูบจรดรู้รสกลิ่น |
แล้วแลบลิ้นเลียลามตามวิสัย |
พระหน่อน้อยค่อยจูงพยุงไป |
เก็บลูกไม้ม่วงปรางข้างคีรินทร์ |
เสวยพลางทางป้อนมังกรม้า |
ทั้งอาชาชื่นชมสมถวิล |
แล้วแล่นลงคงคาเที่ยวหากิน |
หน่อนรินทร์แรงรื่นค่อยชื่นใจ |
เก็บทับทิมริมกุฎีตาชีปลูก |
แต่ล้วนลูกดกห้อยย้อยไสว |
บ้างแตกร้าวราวกับเพชรเห็นเม็ดใน |
มะเฟืองไฟตูมตาดดาษดา |
เก็บเสวยเลยชมพนมมาศ |
ศิลาลาดแลเวิ้งล้วนเพิงผา |
มีโกรกกรวยห้วยละหานสำราญตา |
ดูน้ำน่าอาบกินก็ยินดี |
จึงปลดเปลื้องเครื่องครองลงกองไว้ |
แล้วลงในบ่อชำระสระเกศี |
สะอางองค์สรงทิพวารี |
ผิวฉวีผุดผ่องละอองวรรณ |
ค่อยเปรมปรีดิ์ลีลาศขึ้นจากสระ |
มาทรงพระภูษาจุฑากระสัน |
จงจำนองครองเครื่องเข้าครบครัน |
แล้วผูกพันโพกชฎาน่าเอ็นดู |
ครั้นสรรพเสร็จเด็ดดอกกุหลาบซ้อน |
เชยเกสรโสมนัสแล้วทัดหู |
เรียกอาชาม้าต้นด้วยมนต์ครู |
อาชารู้รีบมาหากุมาร |
สุดสาครวอนว่ากับม้าแก้ว |
รู้แห่งแล้วทางประเทศเขตสถาน |
จงพาไปให้พบอ้ายคนพาล |
ได้คิดอ่านคืนไม้เท้ามันเอาไป |
ขึ้นหลังม้าผ่าโผนโจนจากเกาะ |
ราวกับเหาะเหินลิ่วปลิวไสว |
ดูลับลิบรีบเร็วไรไรไป |
จนอุทัยลับลงในคงคา |
จันทร์กระจ่างกลางโพยมดังโคมแก้ว |
สว่างแถวท้องทะเลพระเวหา |
สุดสาครนอนเอกเขนกมา |
ดูดาราเดือนสว่างน้ำค้างพรม |
พอลมรื่นคลื่นสงัดกำดัดดึก |
หวนรำลึกถึงเจ้าตาที่อาศรม |
เคยนั่งแท่นแผ่นผาที่ท่าลม |
ชวนหลานชมเดือนหงายสบายใจ |
โอ้สงสารมารดานิจจาเอ๋ย |
ได้ชมเชยลูกยาอัชฌาสัย |
น้ำนมแม่แต่ละข้างช่างกระไร |
ลูกเคยได้รับประทานทั้งหวานมัน |
โอ้จากมาน่าเสียดายเมื่อภายหลัง |
จะย้อยพรั่งฟูมนองทั้งสองถัน |
ลูกยิ่งอยากมากมายเสียดายครัน |
สะอื้นอั้นอดนมกรมฤทัย ฯ |
๏ ฝ่ายม้ามิ่งวิ่งว่ายไปปลายคลื่น |
เปรียบเหมือนพื้นดินนั่งหลังไม่ไหว |
ด้วยรักใคร่ได้นายสบายใจ |
จนอุทัยแจ่มฟ้าถึงธานี |
ขึ้นตลิ่งหญิงชายทั้งหลายเห็น |
คิดว่าเป็นลูกหลานท่านฤๅษี |
ด้วยจำแน่แต่ม้าของตาชี |
ชาวบุรีเรียกกันดูพระกุมาร |
บ้างก็ว่าน่ารักพระนักสิทธ์ |
กะจิริดรูปงามทรามสงสาร |
บ้างว่าไปไหนมาพระอาจารย์ |
มาตามท่านผู้เฒ่าหรือเจ้าคุณ |
ฤๅษีสุดสาครบวรนาถ |
ตรัสประภาษหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
พระตอบความตามเขาทักรักการุญ |
ฉันแบ่งบุญให้ทั่วทุกตัวคน |
ประเดี่ยวนี้ชีเปลือยอยู่ไหนเล่า |
จงบอกข่าวให้ฉันแจ้งรู้แห่งหน |
ชาวพาราว่าพระปิ่นแผ่นดินดล |
ให้นิมนต์เข้าไปอยู่ในวัง ฯ |
๏ หน่อนรินทร์ยินดีเป็นที่สุด |
ไม่ยั้งหยุดรีบไปเหมือนใจหวัง |
ถึงศาลาหน้าพระลานทวารวัง |
เห็นคนนั่งยืนหลามจึงถามไป |
นี่แน่ขาน้าปู่อยู่ที่นี่ |
เห็นตาชีเปลือยมาอยู่หาไหน |
เขาบอกว่าอาจารย์อันชาญชัย |
ท่านเจ็บไข้อยู่ที่ทิมริมพระลาน |
สุดสาครวอนว่าช่วยพาฉัน |
ไปถึงท่านหน่อยเถิดจ๋าเมตตาหลาน |
พวกขุนนางต่างเอ็นดูพระกุมาร |
จึงว่าท่านลงเดินดำเนินไป |
ในวังเวียงเยี่ยงอย่างไปข้างหน้า |
อ้ายม้าลาอย่างนี้ขี่ไม่ได้ |
หน่อกษัตริย์ตรัสตอบว่าขอบใจ |
สอนอย่างไรฉันจะทำไม่ก้ำเกิน |
พระว่าพลางทางลงจากหลังม้า |
ดังสิทธาเทพบุตรสุดสรรเสริญ |
ส่วนเสนีปรีชาก็พาเดิน |
นาดดำเนินตรงไปเข้าในวัง |
ถึงทิมที่ชีเปลือยก็บอกแจ้ง |
ที่กั้นแผงสองข้างมีอ่างถัง |
พระหน่อน้อยค่อยแฝงร่มแผงบัง |
ขยับยั้งหยุดมองแล้วย่องมา |
เห็นตาเฒ่าเจ้าเล่ห์นอนหลับนิ่ง |
ไม้เท้าพิงพาดวางไว้ข้างฝา |
พระฉวยได้ไม้แกว่งแผลงศักดา |
แล้วร้องว่าเหวยอ้ายใจฉกรรจ์ |
มึงลวงถามความรู้กูก็บอก |
มึงกลับกลอกแกล้งจะฆ่าให้อาสัญ |
ผลักลงไปในถ้ำทำเช่นนั้น |
คนเหมือนกันช่างไม่คิดอนิจจา |
แล้วมิหนำซ้ำเอาไม้เท้าด้วย |
ไม่เขินขวยขากทุดอ้ายมุสา |
แม้มิคิดนิดหนึ่งด้วยเวรา |
กูจะฆ่าเสียให้ตายวายชีวี ฯ |
๏ ฝ่ายชีแก่แลเห็นหน่อกษัตริย์ |
ถ้าแม้นปัถพีแยกจะแทรกหนี |
ดูแผงกันกั้นห้องเห็นช่องมี |
ได้ท่วงทีลุกทะลึ่งขึ้นตึงตัง |
เอาหัวมุดผลุดออกข้างนอกได้ |
วิ่งหลงใหลแลเตลิดระเสิดระสัง |
พวกหมอฉวยถ้วยยาละล้าละลัง |
ออกวิ่งมั่งเสียงอึงคะนึงไป |
ฝ่ายเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร |
อลหม่านไม่รู้ว่ามาแต่ไหน |
เสียงอื้ออึงตึงตังทั้งวังใน |
ร้องเรียกไพร่เอะอะเกะกะกัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุริโยไทยอยู่ในที่ |
เสียงเสนีคึกคักชักพระขรรค์ |
ออกข้างหน้าข้าเฝ้าอยู่เหล่านั้น |
พัลวันวิ่งบอบหอบหายใจ |
พระตรัสว่าอะไรจึงออกอึงมี่ |
ก็ไม่มีใครเห็นว่าเป็นไฉน |
จึงทูลรุกคุกคักกระอักกระไอ |
ภูวไนยขึ้นเสียงสำเนียงดัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอดิศร |
สุดสาครได้สมอารมณ์หวัง |
ถือไม้เท้าก้าวย่างมากลางวัง |
เห็นคนนั่งแซ่ซ้องจึงร้องไป |
เรามาเอาไม้เท้าของเราดอก |
จะกลับออกไปมหาชลาไหล |
ไม่ทำร้ายชายหญิงอย่ากริ่งใจ |
แล้วจ้องไม้เท้าเดินดำเนินมา |
ธิบดินทร์ผินพระพักตร์เห็นนักสิทธ์ |
กะจิริดน่ารักเป็นหนักหนา |
จึงตรัสใช้ให้อำมาตย์ไปราธนา |
นิมนต์มาพระโรงรัตน์ชัชวาล |
แล้วนิมนต์ให้ขึ้นนั่งบัลลังก์แก้ว |
ชลีแล้วตรัสถามตามสงสาร |
เจ้าประคุณกี่พรรษาพระอาจารย์ |
สถิตสถานถิ่นที่บุรีใด |
เป็นพงศ์เผ่าท้าวพระยาหรือพาณิช |
กะจิริดรู้ศรัทธาจะหาไหน |
พระมุนีมีนามกรใด |
ธุระไรหรือจึงมาถึงธานี ฯ |
๏ พระหน่อไทได้ฟังรับสั่งถาม |
จึงตอบความตามจริตกิจฤๅษี |
อาตมาอายุได้สามปี |
พระชนนีชื่อมัจฉาวิลาวัลย์ |
พระบิตุรงค์องค์อภัยมณีนาถ |
โอรสราชรัตนามหาศวรรย์ |
เมื่อตัวข้ามากำเนิดเกิดในครรภ์ |
พระจากกันจากเกาะแก้วพิสดาร |
ครั้นคลอดข้าดาบสท่านรักใคร่ |
ช่วยเลี้ยงไว้พันผูกเหมือนลูกหลาน |
ช่วยสอนฝึกศึกษาวิชาการ |
แล้วให้ฉานชื่อว่าสุดสาคร |
ครั้นอำลาดาบสจึงบอกให้ |
ประทานไม้เท้าทรงลงอักษร |
ได้ปราบผีขี่พระยาม้ามังกร |
จึงลาจรจากท่านมารดามา |
ถึงกุฎีชีเปลือยพอเหนื่อยพัก |
แวะสำนักนึกว่าซื่อถือสิกขา |
มันนั่งหน่วงลวงหลอกบอกวิชา |
แกล้งลวงข้าขึ้นบนช่องริมปล่องเปลว |
สอนให้นั่งตั้งอารมณ์ประนมหัตถ์ |
มันผลักพลัดผลุงลงไปตรงเหว |
ถูกหินผาหักพังทั้งองค์เอว |
เจียนจะเหลวแหลกลงผงคลี |
มันจึงได้ไม้กับม้าแล้วพาเที่ยว |
เวลาเดียวสินธพก็หลบหนี |
กลับไปหาข้าคืนพื้นชีวี |
จึงได้ขี่ม้ามาเอาไม้เท้าคืน |
มันเห็นข้าหน้าเก้อทำเพ้อพก |
ออกวิ่งวกเวียนวนจนคนตื่น |
พัลวันกันเองเสียงเครงครื้น |
รูปจึงยืนอยู่มิได้ทันไคลคลา |
ซึ่งพระองค์สงสัยจึงไต่ถาม |
รูปแจ้งความซื่อสุดไม่มุสา |
เพราะรักใคร่ไม้เท้าจึงเข้ามา |
อย่าเคืองข้ายกโทษจงโปรดปราน ฯ |
๏ พระทรงทราบนามวงศ์พงศ์กษัตริย์ |
สารพัดพูดจาน่าสงสาร |
จึงตรัสว่าน่าแค้นอ้ายคนพาล |
มันคิดอ่านเอาชีวาไม่ปรานี |
มันมาหลอกบอกว่าผีห่าร้าย |
ให้หญิงชายเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
ไม่ฆ่าฟันมันจะเคยเหวยมนตรี |
ไปจับชีเปลือยมาอย่าช้านาน |
เสนาในใหญ่น้อยก็พลอยแค้น |
ต่างลุกแล่นเที่ยวหาตามหน้าฉาน |
เห็นเหนื่อยหมอบหอบโครงโก้งโค้งคลาน |
ดูซมซานซุ่มซ่ามด้วยความกลัว |
พวกข้าเฝ้าเข้ากลุ้มรุมกันฉุด |
แกดิ้นหลุดแพลงพลิกเข้าจิกหัว |
บ้างทึ้งหนวดหวดด้วยไม้เหมือนควายวัว |
ลากเอาตัวเข้ามาหมอบหอบหายใจ |
จอมกษัตริย์ตรัสกริ้วกระทืบบาท |
เหวยอ้ายชาติทุจริตผิดวิสัย |
ลักไม้เท้าเอาอาชาเธอมาไย |
จริงหรือไม่ว่ามาอย่าช้านาน ฯ |
๏ ฝ่ายชีเปลือยเหนื่อยอ่อนลงนอนนิ่ง |
ครั้นรับจริงกลัวจะสั่งให้สังหาร |
แกล้งบิดเบือนเหมือนเป็นไข้ไม่ให้การ |
ทำสะท้านเทิ้มเทิ้มระเริ้มริก |
เขาเตือนตีสีข้างผางถนัด |
ทำจุกอัดอั้นใจไม่กระดิก |
เขาจี้จิ้มทิ่มพุงสะดุ้งพลิก |
หัวเราะริกรื้อกลับนั่งหลับตา |
พระจอมวังคั่งแค้นแสนพิโรธ |
ยิ่งกริ้วโกรธตรัสว่าทุดอ้ายมุสา |
ทำโว้เว้เดรฉานเจ้ามารยา |
เอาไปผ่าอกมันเสียวันนี้ ฯ |
๏ สุดสาครอ่อนจิตคิดสงสาร |
จึงทัดทานทูลท้าวเจ้ากรุงศรี |
ว่าขอโทษโปรดอย่าให้ฆ่าตี |
เหตุทั้งนี้เพราะว่ากรรมกระทำไว้ |
ไม่หุนหันฉันทาพยาบาท |
นึกว่าชาติก่อนกรรมจะทำไฉน |
จะฆ่าฟันมันก็ซ้ำเป็นกรรมไป |
ต้องเวียนว่ายเวทนาอยู่ช้านาน |
รูปบวชกายหมายใจจะได้ตรัส |
ช่วยส่งสัตว์เสียให้พ้นวนสงสาร |
จะเข่นฆ่าตาเฒ่าไม่เข้าการ |
ขอประทานโทษไว้อย่าให้ตาย ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสว่าสาธุสะ |
คารวะหวานหูไม่รู้หาย |
อันโทษมันนั้นก็ถึงที่วางวาย |
จะยกถวายเสียก็ได้เป็นไรมี |
แต่ฉันรักจักใคร่ได้พระดาบส |
เป็นโอรสร่วมบำรุงซึ่งกรุงศรี |
จะโปรดได้หรือไม่เล่าแต่เท่านี้ |
จะปล่อยชีเปลือยให้คุณได้บุญ ฯ |
๏ กุมาราดาบสพจนารท |
แสนฉลาดหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
ซึ่งทรงเดชเจตนาด้วยการุญ |
ขอบพระคุณควรจะคิดเหมือนบิดร |
แม้นไปปะพระผู้บังเกิดเกล้า |
ทั้งพงศ์เผ่าภิญโญสโมสร |
จะกลับมาสาพิภักดิ์พระภูธร |
ให้ถาวรจนชีวันจะบรรลัย ฯ |
๏ พระฟังตอบชอบชื่นระรื่นจิต |
สุจริตรักเหลือเหมือนเนื้อไข |
จึงตรัสว่าถ้ากระนั้นอย่างพรั่นใจ |
โยมจะไปด้วยเจ้าคุณพระมุนี |
แต่จงรอพอให้ได้สืบสวน |
จะทบทวนถามข่าวชาวกรุงศรี |
ใครรู้เรื่องเมืองพระอภัยมณี |
แจ้งคดีจะได้หาบรรณาการ |
ไปงอนง้อขอองค์พระนักสิทธ์ |
ตามจริตที่โยมรักสมัครสมาน |
จงอยู่วังนั่งนอนผ่อนสำราญ |
พอให้ฉานสมใจจึงไคลคลา ฯ |
๏ ส่วนหน่อไทได้สดับรับพระโอษฐ์ |
ซึ่งทรงโปรดปรานีดีหนักหนา |
ตามพระทัยไม่ขัดหัทยา |
แต่เกรงว่าม้ามังกรจะร้อนรน |
จะต้องให้ไปชลาแล้วมามั่ง |
ขอโปรดสั่งเสียให้แจ้งทุกแห่งหน |
ใครเข้าจับขับขี่ซุกซี้ซุกซน |
จะกินคนเคยตัวไม่กลัวใคร ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ตรัสรับกำชับสั่ง |
เสนานั่งพร้อมหน้าอัชฌาสัย |
อย่าฆ่าตีชีเปลือยจงปล่อยไป |
แล้วบอกให้กันรู้ทั้งบูรี |
ว่าม้าร้ายชายหญิงอย่าทิ้งขว้าง |
แม้นเดินทางพานพบให้หลบหนี |
อำมาตย์รับอภิวันท์อัญชลี |
แล้วไล่ชีเปลือยออกไปนอกวัง |
กุมารามาริมพระโรงรัตน์ |
กวักพระหัตถ์เรียกม้าวิชาขลัง |
มังกรโผนโจนข้ามกำแพงบัง |
เข้าในวังวิ่งมาหากุมาร |
พระสั่งม้าว่าน้องต้องอยู่นี่ |
ด้วยภูมีชวนไว้ในราชฐาน |
พี่ไปเล่นเย็นแล้วมาหน้าพระลาน |
ให้พบพานกันทุกวันเหมือนสัญญา |
ม้ามังกรอ่อนซบเคารพรับ |
กระโดดกลับข้ามกำแพงแรงหนักหนา |
ลำพองโผนโจนลงในคงคา |
เที่ยวกินปลากินน้ำเล่นสำราญ ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์ทัศนาเห็นปรากฏ |
รักดาบสเหมือนหนึ่งบุตรสุดสงสาร |
มาจับหัตถ์ตรัสสมาพระอาจารย์ |
ขอให้ฉานอุ้มเข้าไปที่ในวัง |
แล้วอุ้มแอบแนบข้างมาปรางค์มาศ |
พร้อมพระญาติวงศาทั้งหน้าหลัง |
ค่อยวางองค์ลงบนราชบัลลังก์ |
มุนีนั่งเอี้ยมเฟี้ยมเสงี่ยมใจ ฯ |
๏ จอมกษัตริย์ตรัสบอกมเหสี |
โอรสมีมาเหมือนจิตพิสมัย |
แล้วเล่าความตามธุระที่จะไป |
ให้พบปะพระอภัยผู้บิดา |
จะได้ขอหน่อนาถให้ขาดเด็ด |
คงสำเร็จมุ่งมาดปรารถนา |
นางคำนับรับรสพจนา |
แล้วคลานมาหมอบเรียงเคียงบัลลังก์ |
พินิจดูมุนีฤๅษีน้อย |
ช่างแช่มช้อยชื่นในฤทัยหวัง |
สมเป็นหน่อสุริย์วงศ์ดำรงวัง |
เหมือนเดือนปลั่งเปล่งฟ้านภาลัย ฯ |
๏ นางคำนับรับขวัญสรรเสริญ |
แสนเจริญรู้สิกขาจะหาไหน |
มิเกิดครรภ์ฉันนี้บ้างเป็นอย่างไร |
ไปเกิดไกลกลับมาหามารดร |
เครื่องสิกขาดาบสจงปลดเปลื้อง |
ได้ทรงเครื่องเนาวรัตน์ประภัสสร |
ทั้งกษัตริย์ภัสดาช่วยว่าวอน |
สึกเสียก่อนเถิดนะพระมุนี |
แล้วสั่งให้ไปจัดเครื่องประดับ |
หลายสำรับกับผ้าภูษาศรี |
มาเรียงวางข้างองค์พระมุนี |
จินดาดีดูจำรัสชัชวาล |
พระเห็นของสองกษัตริย์จัดมาให้ |
จะใคร่ได้เครื่องทรงน่าสงสาร |
ว่าหม่อมฉันวันจะจากพระอาจารย์ |
ได้ตั้งสัตย์อัธิษฐานต่อเทวา |
มิได้กลับอภิวาทบาทดาบส |
ก็ไม่ปลดปลิดเปลื้องเครื่องสิกขา |
ซึ่งสององค์ทรงพระกรุณา |
จะเมตตาแต่งหม่อมฉันประการใด |
ขอประดับทับนอกหนังเสือเหลือง |
ให้ประเทืองมิได้ขัดอัชฌาสัย |
จะทรงเครื่องเปลื้องหนังเสียทั้งไตร |
เหมือนได้ใหม่ลืมเก่าดังเผ่าพาล ฯ |
๏ สองกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงพระสรวล |
แล้วคิดควรคำว่าน่าสงสาร |
จึงตรัสว่าถ้ามิเปลื้องเครื่องอาจารย์ |
สร้อยสังวาลจงประดับทับกันลง |
แล้วเตือนให้ไหว้ลาสิกขาบท |
ช่วยเปลื้องปลดเครื่องครองเข้าห้องสรง |
ขัดทองคำน้ำกุหลาบให้อาบองค์ |
แล้วท้าวทรงขัดสีฉวีวรรณ |
กระหมวดเกล้าเมาลีเฉลิมพักตร์ |
ด้วยความรักสิ้นรังเกียจไม่เดียดฉันท์ |
นางเทวีสีสุคนธ์ปนสุวรรณ |
ดูผิวพรรณผุดผ่องละอององค์ |
แล้วตามใจให้นุ่งหนังเสือโคร่ง |
ช่วยจีบโจงจัดวางไว้หางหงส์ |
ใส่ห้อยหน้าผ้าทิพย์จีบประจง |
กุมารทรงหนังพยัคฆ์สะพักชาย |
สองกษัตริย์จัดแจงแต่งประดับ |
ใส่สร้อยทับทรวงสังวาลประสานสาย |
คาดปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรเพทาย |
สะอิ้งพรายพลอยวามอร่ามเรือง |
แล้วให้อย่างช่างชฎามาประดับ |
เอาแก้วแกมแซมกับหนังเสือเหลือง |
มงกุฎกลายปลายจีบเป็นกลีบเฟือง |
ประดับเนื่องแนบเสียดกรรเจียกจอน |
พระพาหาพาหุรัดกระจัดแจ่ม |
ล้วนนิลแนมเนาวรัตน์ประภัสสร |
แล้วสวมสร้อยนวมรองทองพระกร |
สลับซ้อนแสงแก้วดูแพรวพราย |
ธำมรงค์วงวาวเขียวขาวเหลือง |
อร่ามเรืองนิ้วพระหัตถ์จำรัสฉาย |
ใส่เกือกทองรองบาทแล้วนาดกราย |
พระผันผายพามานั่งบัลลังก์รัตน์ ฯ |
๏ กุมารหมอบนอบนบอภิวาท |
แทบพระบาทบัวทองสองกษัตริย์ |
ลูกโฉดเขลาเบาจิตเป็นศิษย์วัด |
ไม่สันทัดท่วงทีกิริยา |
ขอชนกชนนีเป็นที่พึ่ง |
ให้เหมือนหนึ่งกำเนิดเกิดเกศา |
ช่วยสั่งสอนผ่อนผันกรุณา |
อย่าโกรธาทอดทิ้งถึงชิงชัง |
สองกษัตริย์ตรัสว่าอย่าปรารภ |
ไม่หมายลบล้างลูกจะปลูกฝัง |
แล้วจะมอบขอบเขตนิเวศน์วัง |
ให้เหมือนดังดวงจิตของบิดร |
พระตรัสพลางทางเรียกธิดาราช |
มาร่วมอาสน์เนาวรัตน์แล้วตรัสสอน |
ให้อัญชลีพี่ยาสุดสาคร |
นางโอนอ่อนอภิวันท์จำนรรจา |
พี่จ๋าพี่ที่พระแกลตุ๊กแกร้อง |
ทำบ่วงคล้องมันเสียทีเถิดพี่จ๋า |
กุมารอุ้มจุมพิตพระธิดา |
แล้วว่าอย่ากลัวตุ๊กแกเลยแม่น้อง |
ฉันจะตีที่หลังให้ดังผลุง |
น้องสะดุ้งสรวลสันต์กันทั้งสอง |
น่าสงสารมารดรกรประคอง |
อุ้มให้สองทรามเชยเสวยนม |
สุดสาครนอนทับพระเพลาซ้าย |
แล้วดื่มสายโลหิตสนิทสนม |
จนอิ่มหนำฉ่ำชื่นรื่นอารมณ์ |
นางจูบเกล้าเผ้าผมเฝ้าชมเชย |
ครั้นราตรีสี่กษัตริย์เข้าไสยาสน์ |
สำราญราชร่วมเรียงเคียงเขนย |
ถนอมพักตร์รักใคร่กระไรเลย |
ร่วมเสวยร่วมสรงพระคงคา |
แล้วกรุงกษัตริย์จัดเลือกลูกน้อยน้อย |
ได้ห้าร้อยร่วมวันชันษา |
ล้วนไว้จุกลูกผู้ดีมีปัญญา |
ให้ตามเล่นเป็นข้าสุดสาคร |
ทั้งม้ารถคชสารการกษัตริย์ |
สารพัดการศึกให้ฝึกสอน |
หวังจะให้ใจปลื้มลืมบิดร |
ด้วยภูธรรักสุดเหมือนบุตรา ฯ |
๏ พระหน่อน้อยพลอยเพลินเจริญจิต |
กับน้องหญิงมิ่งมิตรขนิษฐา |
จะไปไหนไปด้วยกันจำนรรจา |
เสียงจ๊ะจ๋าจ้อแจ้ไม่แง่งอน |
หน่อกษัตริย์หัดอะไรก็หัดบ้าง |
เป็นคู่สร้างเรียนรู้ด้วยครูสอน |
กระบวนศึกฝึกฝนชนกุญชร |
ต่างราญรอนเรียนครูให้รู้ครบ |
รำกระบี่ตีกระบองดาบสองข้าง |
ทั้งจักรขว้างโล่เขนให้เจนจบ |
ถึงลางทีพี่น้องเล่นลองรบ |
ตีกระทบแทงฟันประจัญทัพ |
ข้างพวกพ้องน้องสาวพุ่งหลาวแหลน |
ทั้งโล่แพนทวนหอกดูกลอกกลับ |
ข้างพวกพี่ตีตลบเข้ารอรับ |
เอาปากงับแหลมหลาวลูกเกาทัณฑ์ |
ข้างนายทัพขับรถเข้าจดรบ |
พลตลบหลีกลัดดูผัดผัน |
บ้างทิ่มแทงแพลงพลาดบ้างฟาดฟัน |
ไม่ถูกกันแก้ไขไวทุกคน |
จนเจนจำชำนาญในการศึก |
อาจารย์ฝึกพลรบให้หลบฝน |
ทหารเลวเร็วรับกลอกกลับตน |
แต่เม็ดฝนก็ไม่ถูกลูกเล็กเล็ก |
ต่างคล่องแคล่วแกล้วกล้าปรีชาหาญ |
ล้วนกุมารเหมาะเหมาะใส่เกราะเหล็ก |
บ้างไว้จุกลูกขุนนางผูกหางเจ๊ก |
ล้วนแต่เด็กน้อยน้อยห้าร้อยคน |
ด้วยทิศาปาโมกข์เมืองการะเวก |
เป็นองค์เอกอาจรู้หลบสู้ฝน |
สำหรับฝึกศึกกษัตริย์ให้จัดพล |
รู้ผ่อนปรนปราบยุคทุกทุกองค์ |
จึงพาราผาสุกสนุกสนาน |
พระกุมารบันเทิงละเลิงหลง |
ลืมนักสิทธ์บิตุราชมาตุรงค์ |
ใจพะวงอยู่ด้วยเล่นไม่เว้นวัน ฯ |