- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
๏ จะกล่าวข้างห้ากษัตริย์จัดพหล | ให้พวกพลเกณฑ์หัดถึงนัดหมาย |
เตรียมเรือรบลอยเคียงกันเรียงราย | ไว้แต่บ่ายให้เสร็จสำเร็จการ |
พอสองยามจะเข้าตีพวกเรือแขก | สั่งให้แยกเหล่าพหลพลทหาร |
เป็นสามทัพรับประดาหน้ากระดาน | เข้าต่อต้านไพรีให้มีชัย |
สินสมุทรรับรองเป็นกองขัน | มีสำคัญธงแดงสุกแสงใส |
สุดสาครรายเรียงเคียงกันไป | ปักธงชัยเขียวงามอร่ามเรือง |
แต่ทัพอาจะเข้ากลางอย่างประสงค์ | จะปักธงตามที่ล้วนสีเหลือง |
เจ้ากฤษณาตรีพลำธงนามเมือง | ให้เอาเครื่องธงดำตามตำรา |
เป็นทัพหนุนคอยเติมเพิ่มพหล | เร่งจัดพลเขนทองกองอาสา |
พระจัดเสร็จพร้อมกระบวนจวนเวลา | จะยาตราให้พระครูดูฤกษ์บน ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | อาทิตย์ล่วงลับฟ้าเวหาหน |
ให้ยกพวกเสนีทั้งรี้พล | จะเข้าปล้นเมืองให้ได้ดั่งใจตรอง |
ให้ยกแผงที่สำหรับจะรับรบ | ทั้งไต้คบเสร็จถ้วนกระบวนของ |
กับอาวุธที่สำหรับจะรับรอง | ยกเป็นกองกองละหมื่นพื้นฉกรรจ์ |
ท้าวกุลามาลีขี่สินธพ | ทหารรบที่สำหรับเป็นทัพขันธ์ |
บาทหลวงขึ้นรถฝรั่งต้องหลังพลัน | แต่ห้ามกันอย่าให้อึงคะนึงไป |
สั่งพหลพลแขกให้แยกย้าย | เข้าเรียงรายโอบอ้อมล้อมไสว |
เมื่อยั้งหยุดอย่าเพ่อจุดทั้งฟืนไฟ | จงเงียบไว้ทุกกองสำรองเพลิง |
ต่อเมื่อใดในเมืองออกยงยุทธ์ | จึ่งค่อยจุดไฟเชื้อให้เหลือเหลิง |
แล้วโห่ร้องพร้อมหน้าให้ร่าเริง | ตีให้เปิงอย่าได้ยั้งพังประตู ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในพาราเวลาพลบ | เตรียมไต้คบปืนใหญ่ใส่ดินหู |
ลากมาไว้สำรองช่องประตู | ฝ่ายท่านครูผู้เฒ่าเข้าพิธี |
ก็รู้แจ้งในตำราว่าข้าศึก | จะหาญฮึกชิงชัยในวิถี |
เป็นทัพใหญ่กล้าแข็งแรงราวี | แต่จะมีทัพกระหนาบช่วยปราบปราม |
ในเวลาเจ็ดทุ่มจะรุมรบ | จะต้องคบเพลิงใหญ่ในสนาม |
แกรู้แจ้งในวิถีพิธีพราหมณ์ | ให้หาน้ำไว้ทุกคนบนเชิงเทิน |
ใส่ตุ่มไหไว้ให้มีทั้งสี่ด้าน | ฉวยเกิดการไฟลุกจะฉุกเฉิน |
จะได้ดับรับไว้ในเชิงเทิน | อย่าละเมินบอกให้ทั่วทุกตัวคน |
ครั้นจัดเสร็จได้ฤกษ์ให้เลิกโห่ | สำเนียงโกลาก้องห้องเวหน |
เปิดประตูรีบเดินดำเนินพล | จอมสากลมังคลาทรงม้านิล |
ยกพหลพลทัพออกคับคั่ง | ทั้งโล่ดั้งหอกคู่ธนูศิลป์ |
พลปืนลูกพลุประจุดิน | พวกทมิฬจัตุรงค์คงกระพัน |
เดินกระบวนออกมาตั้งยังสนาม | ท่านครูพราหมณ์กำกับเป็นทัพขันธ์ |
ท้าวโกสัยยกหลามมาตามกัน | เสียงสนั่นแต่ล้วนพลทั้งมนตรี |
บาทหลวงเห็นพลทัพมาคับคั่ง | เร่งประดังกันเข้ารบอย่าหลบหนี |
ให้ทหารโยธาออกราวี | ปะทะตีต้านหน้าดาประดัง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | ไล่พิฆาตพลรบตลบหลัง |
ต้อนพหลมนตรีตีประดัง | ดูคับคั่งแน่นหนาพลากร |
บ้างยิงปืนครื้นครั่นควันตลบ | ต่างสมทบทวยหาญชาญสมร |
ทั้งสองข้างต่างกลุ้มตะลุมบอน | บ้างฟันฟอนกันตายลงหลายพัน |
บาทหลวงแกก็ให้จุดไฟแผง | สว่างแดงขับพหลพลขันธ์ |
เอาหม้อดินโยนเข้าไปไหม้เป็นควัน | ทั้งน้ำมันลุกโพลงติดโรงใน |
พวกพหลบนเชิงเทินช่วยกันดับ | เปลวไฟวับร้อนรนทนไม่ไหว |
พลางขนน้ำคอยสาดรดราดไป | คนข้างในช่วยกันดับแต่รับรอง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายห้ากษัตริย์ที่นัดหมาย | ต่างแล่นรายเรียงกันผันผยอง |
บ้างยิงปืนเร่งทัพเข้ารับรอง | สนั่นก้องเสียงโห่เป็นโกลา |
พวกเรือแขกคนผู้อยู่ข้างน้อย | ครั้นจะถอยเรือก็แล่นมาแน่นหนา |
ก็จำใจจำสู้ดูเวลา | ฝ่ายเสนาที่สำหรับกำกับพล |
ให้คนใช้รีบไปบอกบาทหลวง | อย่าเหนี่ยวหน่วงเร่งไปแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ศึกมาติดธารท่าในสาชล | ว่าผู้คนรับรองเหลือป้องกัน |
ทหารรีบไปบอกกับสังฆราช | แกหวั่นหวาดเต็มทีไม่มีขวัญ |
ความตกใจแทบจะดิ้นสิ้นชีวัน | แล้วก็หันไปบอกเล่าท้าวกุลา |
เร่งถอยทัพเถิดหวาช้าไม่ได้ | เกิดศึกใหญ่ติดพันกันหนักหนา |
แล้วแกสั่งเสนีผู้ปรีชา | ให้ถอยล่ารีบตรงไปลงเรือ ฯ |
๏ ฝ่ายสังฆราชกับพระยาปตาหวี | ต่างถอยหนีรีบลงไปข้างฝ่ายเหนือ |
ต่างคนต่างบุกพงไปลงเรือ | เล่นเอาเหงื่อท่วมกายแทบวายปราณ |
แต่ชะตาคนทั้งสองยังไม่ดับ | จะได้กลับมาทำศึกด้วยฮึกหาญ |
พลางลงเรือจัดพหลคนชำนาญ | ออกต่อต้านทัพไทยแกไล่พล |
ทั้งสองข้างต่างยิงปืนสนั่น | พิลึกลั่นก้องฟ้าเวหาหน |
ฝ่ายพวกช้างทัพบกเร่งยกพล | เข้าตีปล้นทัพแขกแตกกระจาย |
พวกเสนาแต่บรรดาอาสาศึก | ก็โห่ฮึกเร่งกันรีบผันผาย |
ตะลุมบอนฟอนฟันเหยียบกันตาย | เสนานายพวกแขกแตกกระจุย |
เห็นพวกกันออกมาเข้าหาบ้าง | ที่ถอยหลังเลียบตลิ่งวิ่งออกฉุย |
บ้างโดดน้ำลงไปว่ายตะกายตะกุย | เอามือพุ้ยน้ำว่ายต่ายขึ้นเรือ |
พวกชาวเมืองจับได้ก็หลายร้อย | ที่แตกถอยหนีไปข้างฝ่ายเหนือ |
พระมังคลาตีประดังกระทั่งเรือ | ข้างค่ายเหนือแตกยับอัปรา ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายพระนรินทร์สินสมุทร | ถืออาวุธเร่งพหลพลอาสา |
เห็นบาทหลวงยืนกำกับขับโยธา | จึงร้องว่าจับให้ได้อย่าไว้มัน |
อ้ายนี่ตัวก่อศึกให้ฮึกโหม | ตีกระโจมเร่งจับพวกทัพขันธ์ |
จงรีบเรือเข้าไปอย่าไว้มัน | เอาให้ทันเดี๋ยวนี้ตีประดัง |
ทหารโจนโยนโซ่เอาขอสับ | พวกแขกรับโยนไฟดั่งใจหวัง |
ทนคาบชุดจุดผึงเสียงตึงตัง | ทหารตั้งโห่เร้าจะเอาชัย ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นสินสมุทรหยุดชะงัก | แกรู้จักมั่นคงไม่สงสัย |
เอะเหตุผลกลศึกดูตรึกไตร | แต่ก่อนไรราวีต้องหนีมา |
เหตุไฉนมันจึ่งรู้ว่าอยู่นี่ | ยกมาตีรบพุ่งยุ่งหนักหนา |
ไหนจะรู้ว่ากูกับมังคลา | เกิดเข่นฆ่ารบพุ่งกันรุงรัง |
เห็นจะรู้ว่าอยู่กำพลเพชร | จึงลอดเล็ดมาทำร้ายเมื่อภายหลัง |
ไหนจะมาช่วยกันดันทุรัง | มันชิงชังกันสาหัสเป็นศัตรู |
แต่เรานี้ต้องรับทัพกระหนาบ | จะคิดปราบราญรอนเห็นอ่อนหู |
แต่จำเป็นจำต้องป้องศัตรู | คงจะสู้กับมันจนบรรลัย |
ครั้นจะหนีไม่มีที่จะออก | เหมือนหนามยอกคงต้องเชือดจนเลือดไหล |
แล้วจึงร้องคุกคามคำรามไป | ว่าเหตุไรเองจึ่งมาไล่ราวี |
จนเขาไม่สู้รบเที่ยวหลบหลีก | ยังกางปีกตามประจญอ้ายคนผี |
มาชนรังแล้วอย่าหวังจะได้ดี | กูจะตีมึงให้ยับดั่งสับปลา |
ยังมิหนำตามมาเที่ยวหาเหตุ | เองจะเจตนาไว้อย่างไรหวา |
อันทวีปเวียงวังเมืองลังกา | หรือเห็นว่าน้อยนักจึงชักชวน |
ญาติวงศ์พงศามาหาอีก | จะหักปีกมึงให้จมดั่งลมหวน |
แล้วให้โยนก้อนหินดินชนวน | ทั้งหลาวทวนพุ่งไปไฟน้ำมัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนครินทร์สินสมุทร | กับพระสุดสาครรับเป็นทัพขัน |
ให้ทหารดับไฟไหม้เป็นควัน | แล้วเร่งกันเรียงหน้าดาประดัง |
ยิงปืนใหญ่ไล่เรือกำปั่นรบ | เร่งสมทบกันเข้ามาทั้งหน้าหลัง |
บ้างก็ยิงเรือแขกจนแตกพัง | ดาประดังรบรับทั้งดับเพลิง |
ปืนมณฑกนกสับทั้งคาบชุด | อุตลุดตีให้เปิดเตลิดเหลิง |
บาทหลวงเห็นปลั้วเปลี้ยจะเสียเชิง | ดูแรงเริงกองทัพเหลือรับรอง |
เห็นจะยับทัพกระหนาบปราบไม่หยุด | แกถอยรุดให้กำปั่นผันผยอง |
เห็นพวกแขกล้มตายลงก่ายกอง | จะตรึกตรองท่าไรจนใจครัน |
แต่แข็งขืนยืนร้องว่าให้รับ | เอาปืนตับยิงต้องค่อยผ่อนผัน |
เหลียวไปดูบนตลิ่งยิ่งเป็นควัน | จะป้องกันเต็มประดาพลางหารือ |
ท้าวกุลามาลีไม่มีขวัญ | พูดเสียงสนั่นต่างต่างลงครางหือ |
เสียสติอารมณ์ประนมมือ | เสียงเอออือสุดแต่ท้าวเจ้าประคุณ ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าร้องตวาดชาติอ้ายแขก | อกจะแตกเกือบจะสิ้นดินกระสุน |
จะคิดการเป่าปัดขัดเจ้าคุณ | รบกันวุ่นขึ้นมาดาประดัง |
ท้าวเจ้าคุณก็ยังมีแต่ชีวิต | มันสุดคิดแล้วก็คงจะลงถัง |
เรียกกันมาว่ากระไรจะใคร่ฟัง | ยังมานั่งหน้าจ้อยถอยออกไป |
นี่หรือชายชาติกษัตริย์อ้ายกัดแพะ | ทั้งไก่แกะเองสิคว้าไม่ปราศรัย |
ดีแต่กินกับเจ้าชู้แล้วหูไว | อ้ายจัญไรคนโง่เหมือนโคควาย |
แกด่าพลางทางเร่งกระบวนทัพ | เอาปืนตับยิงไปดั่งใจหมาย |
เดินกำกับพวกพหลพลนิกาย | ทั้งไพร่นายอย่าประมาทประกาศกัน |
เร่งคิดอ่านกว้านสมออย่ารอรั้ง | พอกำลังที่จะสู้เป็นคู่ขัน |
ฉวยเลียทีคลื่นระลอกออกไม่ทัน | จะพากันแตกตายวายชีวง |
แม้นพลาดพลั้งอย่างไรเอาไฟจุด | แล้วรีบรุดออกให้ได้ดั่งใจประสงค์ |
แล้วให้ยกค่ายวิหลั่นเป็นมั่นคง | ตั้งให้ตรงพอประทังบังลูกปืน ฯ |
๏ จะกล่าวข้างทัพไทยไล่ประชิด | สำแดงฤทธิ์ตรงเข้ามาไม่ฝ่าฝืน |
ทหารพวกเกณฑ์หัดบ้างยัดปืน | เสียงครั้นครื้นกึกก้องท้องทะเล ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ให้เร่งรัดตีกระชั้นอย่าหันเห |
เห็นลมส่งคลื่นระดมสมคะเน | แม้นเรือเหยิงกระหน่ำร่ำเข้าไป ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | คิดจะหนีบอกอาจารย์แล้วขานไข |
ว่าเจ้าคุณกรุณาคิดล่าไป | ให้พ้นภัยรอดชีวาอย่าช้าเลย ฯ |
๏ บาทหลวงแกร้องแรกอ้ายแขกตี้ | จะออกที่ข้างไหนเล่าเจ้าแม่เอ๋ย |
แต่แรกมึงพูดจาว่าข้าเคย | ตีเชลยมิใช่น้อยนับร้อยพัน |
กูก็คิดว่ามึงกล้าอ้ายหมาเหมี่ยว | แกเข่นเขี้ยวตาแดงพูดแข็งขัน |
โดยมานะด่าว่าสารพัน | ในใจนั้นเล่าก็กลัวขนหัวพอง |
แต่น้ำใจโกรธาด่าสำทับ | กูกินตับเสียดอกหวาอย่าจองหอง |
อ้ายขี้ขลาดชาติวัวหนังหัวพอง | มึงจะต้องให้มัดแกกัดฟัน ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีเหมือนผีเข้า | นั่งกอดเข่าร้อนใจดังใฝ่ฝัน |
ทั้งอ้ายเฒ่ามันด่าสารพัน | ไม่มีขวัญอยู่กับตัวเพราะกลัวตาย |
ต้องทนให้อ้ายเฒ่ามันด่าแช่ง | ไม่รู้แห่งรู้หนจะขวนขวาย |
ด้วยน้ำจิตสั่นรัวกลัวจะตาย | แล้วกราบไหว้เจ้าประคุณกรุณา ฯ |
๏ บาทหลวงว่าแต่เจ้าคุณยังวุ่นวิ่ง | ราวกันลิงรบสู้ดูเถิดหวา |
ใครเก่งเหล็กเก่งไหลใช้ปัญญา | จะได้มาช่วยฝ่าเท้าเมื่อคราวจน |
มึงนี้ชาติชายกระเบนสตรีแท้ | จะสู้แต่พวกผู้หญิงในสิงหล |
ก็ไม่ได้จริงหนาหวาเข้าตาจน | อย่ามาบ่นร่ำไรกูไม่ฟัง |
เสียงปืนผาข้าศึกออกกึกก้อง | จะมาร้องเอาแต่ในน้ำใจหวัง |
ใครเขาไม่กลัวตายวายชีวัง | จึงต้องตั้งรบรับทัพฉกรรจ์ |
รักชีวิตอยู่แต่เจ้าคนเหล่านี้ | มันใช่ผีใช่ยักษ์มักกะสัน |
ก็จำเป็นจำสู้อยู่ด้วยกัน | แต่เองนั้นกลัวตายคิดถ่ายเท |
เฮ้ยนี้แน่ตัวกูอยู่เป็นพระ | ไม่คิดจะยักย้ายทำไพล่เผล |
ถึงเป็นตายเรือล่มจมทะเล | ไม่สมคะเนไว้ชื่อให้ลือชา |
กระบี่คมของกูอยู่ในฝัก | ไม่อยากชักให้ใครเห็นเช่นดอกหวา |
จะเป็นตายไม่เสียดายแก่ชีวา | เมื่อกรรมมาถึงกายก็วายปราณ ฯ |
๏ ท้าวกุลาว่าทำไมกับใต้เท้า | ข้าพเจ้ากลัวไปหลายสถาน |
แม้นตัวตายใครจะครองศฤงคาร | มิสาธารณ์เป็นของเขาหรือเจ้าคุณ |
บาทหลวงว่าอ้ายแขกตี้นี่ขี้ขลาด | น้ำใจชาติติดไพร่อ้ายสถุล |
เสียแรงบอกของดีไม่มีคุณ | มันก็วุ่นแต่ตัณหาอ้ายบ้ากาม |
ประเดี๋ยวนี้กลัวตายขายน้ำหน้า | ช่างชั่วช้าเต็มระยำอ้ายซำสาม |
แกด่าพลางเห็นไฟติดไหม้ลาม | ลุกไปตามเชือกเสาทั้งเพลาใบ |
บาทหลวงสั่งนายทหารท่านแม่ทัพ | บ้างยิงรับดูเป็นควันเสียงหวั่นไหว |
ฝ่ายพระจอมสินสมุทรวุฒิไกร | จึงสั่งให้เสนีผู้ปรีชา |
เร่งสมทบรบให้ได้ในวันนี้ | เอาเรือตีเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
จับให้ได้อ้ายเฒ่าเจ้ามารยา | อย่าเพ่อฆ่าให้มันตายวายชีวง |
อ้ายนี้ตัวก่อศึกมาลึกซึ้ง | รู้ไม่ถึงมารยามันพาหลง |
แต่พวกเราเจียนจะขาดญาติวงศ์ | เพราะว่าหลงกับเจ้าครูผู้อาจารย์ |
จนเสียท่าแทบชีวาจะมอดม้วย | ไปอยู่ด้วยอ้ายเกเรเดรฉาน |
แล้วมันกลับมาตอแยเป็นแหพาน | จนเกิดการชุลมุนวุ่นถึงเรา |
เหวยเสนีตีประทับจับให้ได้ | เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปทั้งไฟเผา |
แม้นเข้าใกล้ได้ทีเร่งตีเอา | ทหารเราแต่บรรดาโยธาไทย |
พอยัดปืนยืนสะพรั่งแล้วตั้งโห่ | สำเนียงโกลาลั่นสนั่นไหว |
บังเกิดลมสีแดงดั่งแสงไฟ | พายุใหญ่ป่วนก้องท้องทะเล |
ตีกำปั่นหันเหียนเจียนจะคว่ำ | ระลอกซ้ำโยนปั่นให้หันเห |
ทั้งหัวท้ายหันหวนอยู่รวนเร | ท้องทะเลมืดคลุ้มชอุ่มควัน |
ชะนีร้องก้องคำรนฝนก็ดก | พวกบนบกวิ่งเวียนอยู่เหียนหัน |
บังเกิดลมเป็นลมบ้าสลาตัน | เสียงครื้นครั่นกึกก้องท้องอัมพร |
พวกโยธาถอยล่าเข้าหาร่ม | ถูกทั้งลมทั้งฝนคนสยอน |
ต้องกลับพวกเสนาพลากร | เข้านครเมืองด่านชานบุรี ฯ |
๏ จะกล่าวข้างกำปั่นก็หันเห | ท้องทะเลมืดมัวทั่ววิถี |
ไม่เห็นหนเหนือใต้ในนที | ลมก็ตีแตกไปไม่ได้ทาง |
ทั้งเรือแขกเรือไทยเพลาใบหัก | ไม่รู้จักโดนกันตรงเสียงโผงผาง |
บ้างกราบแตกแยกยับเจียนอับปาง | ตีไปทางทักษิณสิ้นกองเรือ |
แล้วกลับหวนป่วนปั่นแตกกันออก | คลื่นระลอกตีพวกไทยไปฝ่ายเหนือ |
แต่พวกแขกลมปัดพัดเอาเรือ | ไม่ขึ้นเหนือลงข้างใต้ย้ายกันไป |
เพราะกุศลคนทั้งสองยังไม่ม้วย | เทพเข้าช่วยจะได้หาที่อาศัย |
จึงบันดาลวายุพัดให้ปัดไป | พายุใหญ่มิได้ซาถึงห้าวัน |
ทั้งฝนฟ้าก็คะนองร้องไม่หยุด | คนแทบสุดชีวาเจียนอาสัญ |
ได้กินแต่ข้าวตากลำบากครัน | กับน้ำมันเนยถั่วพอกลั้วคอ |
แต่ไม่เห็นหนทางกลางวิถี | จะร้ายดีอย่างไรไฉนหนอ |
แต่บาทหลวงแกเคยอยู่นั่งชูคอ | แต่ตัวงอยืดไม่ได้หายใจรวน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ลงเต็มทีเสียน้ำใจอาลัยหวน |
ไม่เคยยากกรากกรำยิ่งคร่ำครวญ | ละห้อยหวนดั่งชีวิตจะปลิดปลง |
ไหนจะอดข้าวปลากระยาหาร | ทั้งรำคาญที่ไม่สมอารมณ์ประสงค์ |
บังเกิดลมอาเจียนให้เวียนวง | จะนั่งตรงเรือก็แคลงดั่งแกว่งไกว |
บาทหลวงหยิบข้าวตากใส่ปากป้อน | อย่าใจอ่อนคิดให้มากถลากไถล |
คิดถึงพระเยซูของกูไป | ท่านจะได้ช่วยเราเมื่อคราวจน |
จงแข็งใจคำนับคือกราบไหว้ | จะพ้นภัยในจังหวัดที่ขัดสน |
คงจะไม่อับปางในกลางชล | แม้นคิดวนเวียนไปไม่เป็นการ ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ไม่ยินดีเสียใจหลายสถาน |
พามาได้ยากแค้นแสนกันดาร | เพราะอาจารย์เสียทีทั้งรี้พล |
แต่ไม่ออกปากว่าน้ำตาหยด | แสนระทดเหื่อชุ่มทุกขุมขน |
ลมก็ซัดเรือไปเข้าในวน | พายุฝนก็ค่อยเบาบรรเทาคลาย |
แต่ยังมืดมัวมนบนอากาศ | ภาณุมาศมิได้สร่างกระจ่างฉาย |
เรือค่อยหยุดแคลงหน่อยค่อยสบาย | ที่หนาวกายก็ค่อยเบาบรรเทาลง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายท่านครูผู้วิเศษ | เป็นพราหมณ์เทศเที่ยวอยู่ในไพรระหง |
ปรากฏนามพราหมณ์คาวุตภุชพงศ์ | เป็นเชื้อวงศ์รามราชชาติตระกูล |
กินว่านยาอายุวัฒนะ | ไม่ธุระโภไคยทั้งไอศูรย์ |
สลัดสละละเพศกิเลสมูล | ทั้งประยูรวงศาไม่อาลัย |
มีศิษย์หาแต่บรรดาที่เป็นปราชญ์ | เฉลียวฉลาดการเวทข้างเพทไสย |
สิบสี่คนด้นเดินในเนินไพร | กินลูกไม้เผือกมันพรรณผลา |
ถือขันตีอดใจไว้เป็นนิจ | สุจริตยอดมนุษย์ไม่มุสา |
ทั้งโรคภัยมิได้มีมาบีฑา | อายุห้าร้อยปีดีทุกคน |
ดูเหมือนหนุ่มชุ่มชื่นจะยืนนั่ง | ทั้งกำลังเดินจัดไม่ขัดสน |
ถึงสัตว์สีห์มิได้กลัวทั่วทุกคน | ด้วยเวทมนตร์สารพันมั่นในใจ |
ตามท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | แต่ถือเพศอย่างพราหมณ์ตามวิสัย |
เที่ยวไปทุกเกาะแก่งทุกแห่งไป | ตามวิสัยจิตหวังทางเมตตา |
หวังประโยชน์โปรดคนที่เรือแตก | ไปช่วยแบกป้องปัดฝูงมัจฉา |
อันสัตว์ร้ายในกระสินธุ์ถิ่นชลา | กลัวฤทธาผู้วิเศษด้วยเวทมนตร์ |
เมื่อวันนั้นท่านครูมาอยู่เกาะ | นั่งพิเคราะห์ดินฟ้าโกลาหล |
เห็นมืดมัวทั่วพื้นภูวดล | บังเกิดฝนลมกล้าฟ้าคะนอง |
ก็รู้สิ้นพิภพจบสถาน | ว่าอาจารย์พระฝรั่งแขกทั้งผอง |
ไปเสียทัพอัปรามาทั้งกอง | พายุต้องตกในวนชลธี |
จำจะช่วยอย่าให้ม้วยชีวาวาตม์ | ให้เคลื่อนคลาดจะได้ไปในวิถี |
เขาก็เป็นนักปราชญ์ฉลาดดี | แต่ตกที่ขัดสนในวนวัง |
พลางบอกกับศิษย์หาที่มาด้วย | จะไปช่วยกันประชุมช่วยคุ้มขัง |
ให้ได้ไปปลดปลอดรอดชีวัง | ไปช่วยนั่งภาวนาสมาทาน |
พอลมหยุดคลื่นซาท้องฟ้าสาง | ค่อยสว่างอาทิตย์แดงส่งแสงฉาน |
ที่พยับอับพื้นโพยมมาน | ก็บันดาลเสื่อมหายในนที |
พวกพหลพลไพร่ในกำปั่น | เห็นสุริยันแจ่มกระจ่างสว่างศรี |
ต่างคนต่างหิวหอบบอบเต็มที | ลุกจากที่ไม่ใคร่ได้ใจระทวย |
บาทหลวงแกลืมตาเห็นฟ้าขาว | ค่อยวายหนาวแต่ในใจให้ระหวย |
ผงกหัวขึ้นได้หายใจรวย | อ่อนระทวยไปทั้งกายแทบวายปราณ |
ถึงห้าวันห้าคืนกลืนแต่น้ำ | ลมมันร่ำเอาเพราะอดรสอาหาร |
แต่ทำใจแข็งขืนพอชื่นบาน | นอนให้การเสียงออกเจ้าเรียกหาคน |
ให้หุงข้าวเผาปลาเร่งฆ่าไก่ | ปิ้งมาให้สารพัดอย่าขัดสน |
พวกคนครัวไปหามาบัดดล | แล้วก็ขนข้าวมาวางข้างแกนอน |
เผยลุกเรียกหาพระยาแขก | อย่าตื่นแตกนิ่งอยู่กูจะสอน |
ลุกขึ้นกินข้าวปลาอย่าอาวรณ์ | จะให้จรกลับพาราไปหาเมีย ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีค่อยมีจิต | คะนึงคิดก็ค่อยวายที่ใจเสีย |
พลางลืมตาหน้าตึงคิดถึงเมีย | ที่ละเหี่ยหิวละห้อยค่อยประทัง |
อุตส่าห์ลุกขึ้นมากินอาหาร | กับอาจารย์ค่อยสบายที่วายหวัง |
บาทหลวงเฒ่าค่อยดำรงทรงกำลัง | ถอยมานั่งจับเจ่าเห็นเขาราย |
แล้วยกกล้องส่องดูรู้ว่าเกาะ | เห็นละเมาะเรียงกันเป็นชั้นฉาย |
ที่วังเวิ้งเชิงผาศิลาลาย | ดูคล้ายคล้ายหรุบหรู่เหมือนผู้คน |
แล้วแลไปในมหาชลาสินธุ์ | เห็นวารินสีผิดคิดฉงน |
เอะมาตกขุมขังในวังวน | คงสิ้นชนม์สิ้นเชื้อทั้งเรือแพ |
แกตกใจหายวับแทบดับจิต | เห็นสุดฤทธิ์สุดรู้ดูแฉว |
ไม่เห็นสิ่งที่จะกันจะผันแปร | คงตายแน่ละวะกูทั้งผู้คน |
แกจึ่งหาแต่บรรดาแขกฝรั่ง | มาพร้อมพรั่งแล้วแถลงแจ้งนุสนธิ์ |
ว่าเรือเราตกกระทั่งถึงวังวน | เห็นสุดจนปัญญาในสาคร |
ที่ตำราว่าสาชลในวนนี้ | ถึงร้อยปีลมจึงฉุดได้หลุดถอน |
ในตำราเรียกว่าอ่าวมังกร | จะชักถอนไปให้หลุดสุดปัญญา |
พวกพหลพลคนที่นั่งอยู่ทั้งนี้ | ใครจะมีเวทมนตร์ดลคาถา |
ช่วยเรียกลมเรียกน้ำตามตำรา | แต่ตัวข้าคิดไม่เห็นจะเป็นตาย |
แต่ไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ขวัญไม่ดีดูไปแล้วใจหาย |
ทั้งพวกพลเสนาบรรดานาย | ต่างวุ่นวายง่วงเหงาเศร้าหัวใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพราหมณ์ที่มาพฤฒาเฒ่า | กับพวกเหล่าศิษย์หาอยู่อาศัย |
บนเพิงผาหน้าเกาะเดินเสาะไป | เห็นไรไรเหมือนกำปั่นสักพันลำ |
เอะตกวนคนจะตายวายชีวิต | เมตตาจิตต้องช่วยชุบอุปถัมภ์ |
จึงบอกศิษย์หาว่าเราจำ | จะไปทำให้เป็นลมระดมมา |
พัดกำปั่นขึ้นให้พ้นจากวนนี้ | ก็จะมีส่วนกุศลคนนักหนา |
พลางชวนกันดั้นเดินดำเนินมา | เลียบไปหน้าหาดทรายชายทะเล |
แล้วร้องว่าฮ้าเฮ้ยพวกกำปั่น | จะพากันไปข้างไหนแล่นไพล่เผล |
จนตกวนนี้แหละชื่อสะดือทะเล | จะถ่ายเทคิดอ่านสถานใด |
ต่อร้อยปีจึ่งจะมีพายุใหญ่ | หอบขึ้นได้จากวนชลใส |
มาตกอยู่เห็นชีวันจะบรรลัย | จงแก้ไขเสียให้พ้นจากวนวัง |
บาทหลวงเฒ่าเสาวนาคนมาบอก | ดั่งเอาหอกแทงใจไม่วายหวัง |
จึ่งร้องไปด้วยสำเนียงเสียงอันดัง | โปรดสักครั่งขอชีวงให้คงคืน |
ฝ่ายพราหมณ์เฒ่าเหล่าศิษย์คิดสังเวช | สำแดงเดชเดินคงคาไม่ฝ่าฝืน |
ถึงกำปั่นพราหมณ์คาวุตก็หยุดยืน | คนทั้งหมื่นกราบกรานอาจารย์พราหมณ์ ฯ |
๏ บาทหลวงเชิญให้ขึ้นไปในกำปั่น | ท่านพราหมณ์นั้นก็ขึ้นไปแล้วไต่ถาม |
ว่าเหตุผลเป็นไฉนจงไขความ | ท่านก็นามเชื้อปราชญ์ฉลาดดี |
สารพัดรู้สิ้นการดินฟ้า | ไยจึ่งมาตกวนจนวิถี |
บาทหลวงจึ่งเล่าแถลงแจ้งคดี | แล้วจึ่งมีวาจาขอการุญ |
ช่วยให้พ้นวนวังเหมือนดังหมาย | พอรอดตายคนในเรือช่วยเกื้อหนุน |
พอไปถึงเขตแดนจะแทนคุณ | จงการุญข้าพเจ้าทั้งบ่าวนาย ฯ |
๏ ฝ่ายพราหมณ์เฒ่าเสาวนารับว่าคะ | ข้าเจ้าจะช่วยให้ท่านรีบผันผาย |
อันเรื่องจะสนองคุณอย่าวุ่นวาย | แม้นรอดตายจะไดัครรไลจร |
บาทหลวงฟังพราหมณ์ว่าค่อยผาสุก | เหมือนหยิบทุกข์ขึ้นไปทิ้งบนสิงขร |
ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิรอน | ประนมกรเข้ากสิณอภิญญาณ |
กับพวกศิษย์แต่บรรดาที่มาด้วย | พากันช่วยตั้งจิตอธิษฐาน |
ภาวนานิ่งนั่งในทางฌาน | สำแดงการมัธยัสถ์โดยศรัทธา |
บังเกิดเป็นลมหวนป่วนเป็นคลื่น | นภางค์พื้นมืดมิดทุกทิศา |
เป็นน้ำหนุนพูนพรั่งไหลหลั่งมา | ทั้งเสียงฟ้ากึกก้องร้องคำรน |
เกิดเป็นลมสลาตันให้ปั่นปัด | ระลอกซัดในนทีไม่มีฝน |
หนุนกำปั่นหันเหียนให้เวียนวน | หลุดออกพ้นจากกระสินธุ์ถิ่นมังกร |
ขึ้นฟูฟ่องล่องลอยไปตามคลื่น | นภางค์พื้นแจ่มจำรัสประภัสสร |
ลมก็เรื่อยเฉื่อยสบายกระจายจร | ที่อาวรณ์รอดตายหายรัญจวน |
บาทหลวงเฒ่ากับพระยาปตาหวี | ต่างเปรมปรีดิ์เอมอิ่มพลางยิ้มสรวล |
น้อมคำนับพฤฒาพราหมณ์ตามกระบวน | แล้วเชิญชวนผู้เฒ่ากินข้าวปลา |
ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | จึ่งแจ้งเหตุอาหารขาดไม่ปรารถนา |
ไม่ต้องการเอมโอชโภชนา | เสพย์ผลาผลไม้ในไพรวัน |
พอเป็นยาปรมัตบำบัดโรค | ไม่ทุกข์โศกแก่ใบไม้ในไพรสัณฑ์ |
กินพอเป็นอาหารสำราญครัน | ไม่ผูกพันกินอยู่ทุกผู้คน ฯ |
๏ บาทหลวงฟังวาจาพฤฒาแถลง | ท่านชี้แจงเรื่องราวกล่าวนุสนธิ์ |
น้อมคำนับกราบทั่วทุกตัวคน | ได้รอดพ้นความตายวายชีวัง |
ฝ่ายพฤฒาว่าจะลาท่านก่อนแล้ว | จงผ่องแผัวรีบไปดั่งใจหวัง |
แล้วชี้ทางกลางชลพ้นวนวัง | เอาเข็มตั้งทิศอุดรรีบจรไป |
แล้วลงจากกำปั่นมิทันช้า | เดินคงคาขึ้นไปทางหว่างไศล |
ไม่ถึงครู่ดูตามกันไรไร | ประเดี๋ยวใจหายวับไปลับตัว |
เรือก็แล่นเลยมาในสาคเรศ | พ้นประเทศพอเวลาฟ้าสลัว |
พระสุริยนจวนจะค่ำชอ่ำมัว | ค่อยสิ้นกลัวความตายสบายใจ |
บ้างก็กินข้าวปลากระยาหาร | ค่อยสำราญยิ้มแย้มดูแจ่มใส |
บาทหลวงเฒ่าเข้าในท้ายสบายใจ | กับท้าวไทเจ้าพาราพูดจาพลาง |
ว่าครั้งนี้เสียทีแล้วหนอหวา | เสียโยธาสารพัดจะขัดขวาง |
แต่ชีวิตแทบจะยับเจียนอับปาง | ที่ในกลางสาคโรชโลธร |
ท้าวกุลาว่าเจ้าคุณบุญมาช่วย | จึ่งไม่ม้วยเทพเจ้าเข้าสังหรณ์ |
ให้ท่านพราหมณ์อยู่ในป่าพนาดร | มาช่วยช้อนเภตราออกมาพลัน ฯ |
๏ บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยมึงอย่าพูด | นี่แลทูตพระเยซูอยู่สวรรค์ |
มาโปรดกูดูเอาเถิดประเสริฐครัน | พูดเป็นควันขู่ขับทับทวี |
อันพระกูรู้หรือไม่หวาอ้ายแขก | มาช่วยแบกช่วยหามตามวิถี |
เองจงกลับใจมาเถิดหวาดี | จะได้มีความสุขไม่ทุกข์ทน |
มาเข้ารีตเสียกับกูกินหมูหัน | จะป้องกันเป่าปัดไม่ขัดสน |
พระเป็นเจ้ารักใคร่แล้วไม่จน | คงช่วยขนบาปไปให้สบาย ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ฟังคดีร้อนใจมิใคร่หาย |
จะให้เรากินหมูแล้วสู้ตาย | ถ่มน้ำลายทุดทุดไม่พูดจา |
บาทหลวงเฒ่าแกอุบายเพราะรายอยาก | มาลำบากอยู่กับแขกแปลกภาษา |
อยากกินหมูอยู่ไม่วายหลายเวลา | กินแต่ปลาเนื้อไก่ไม่ได้การ |
เรือก็แล่นเลยมาในสาคเรศ | พ้นภัยเภทค่อยสบายหลายสถาน |
ลมก็เรื่อยเฉื่อยฉ่ำไปสำราญ | สิ้นรำคาญคนระงับได้หลับนอน ฯ |