๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช |
ด้วยสามารถมีตราพระราหู |
เมื่อศึกเข้าเผาวังพังประตู |
นางไปอยู่เขาพยนต์พ้นอัคคี |
คอยแลดูหมู่ทหารผลาญข้าศึก |
พลผลึกล้มตายกระจายหนี |
ยิ่งชื่นชมสมคะเนนางเทวี |
ได้ยินปี่เป่าเพราะเสนาะใน |
สำเนียงดังวังเวงเพลงสังวาส |
ดูวินาศนอนซบสลบไสล |
ยังแต่นางพลางสลดระทดใจ |
จะเรียกใครก็ไม่ตื่นไม่ฟื้นกาย |
นางโฉมยงองค์สั่นให้หวั่นหวาด |
กัมปนาทนึกพรั่นพระขวัญหาย |
คิดสังเกตเหตุผลกลอุบาย |
เห็นดีร้ายพระอภัยใจฉกรรจ์ |
เขาระบือลือเล่าว่าเป่าปี่ |
ให้ไพรีนิทราดังอาสัญ |
จึงจับท้าวเจ้าละมานผลาญชีวัน |
เห็นแม่นมั่นเหมือนกระนี้ไม่มีใคร |
โอ้เคราะห์กรรมซ้ำร้ายอายอดสู |
เป็นสุดรู้สุดฤทธิ์คิดไฉน |
แล้วนึกแค้นแม้นปะพระอภัย |
จะชิงชัยแก้แค้นแทนบิดา |
คิดจะใคร่ไปดูให้รู้แน่ |
จะอยู่แต่ลำพังกระมังหนา |
ได้รบสู้ดูฝีมือให้ลือชา |
เมื่อกรรมมาถึงกายก็วายปราณ |
แล้วโฉมยงลงจากรถที่นั่ง |
ขึ้นทรงหลังม้าต้นพหลหาญ |
เดชะตราม้าไม่หลับกลับทะยาน |
นางควบผ่านมาทางข้างกำแพง |
เห็นพวกพลคนหลับระดับดาษ |
ดูเกลื่อนกลาดกลืนกลั้นทรงกันแสง |
แสนเสียดายนายไพร่ได้ใช้แรง |
มาพลาดแพลงเพลี่ยงพลั้งเสียครั้งนี้ |
แล้วเลี้ยวด้อมอ้อมมาเห็นข้าศึก |
พลผลึกหลับสลบเหมือนศพผี |
เห็นรถทรงองค์พระอภัยมณี |
นั่งเป่าปี่เปล่าเปลี่ยวอยู่เดียวดาย |
จึงเอื้อนองค์ทรงคันเกาทัณฑ์ไว้ |
เห็นยังไกลกลัวจะพลาดที่มาดหมาย |
ขับม้าทรงลงริมฝั่งกำบังกาย |
เข้าทางท้ายรถอ้อมด้อมออกมา |
พอเห็นองค์ทรงลั่นเกาทัณฑ์แผลง |
ถูกปี่แพลงพลายพลัดพระหัตถา |
ซ้ำอีกลูกถูกเกราะกษัตรา |
แล้วขับม้าชักทวนเข้าสวนแทง ฯ |
๏ พระอภัยใจกล้าเห็นข้าศึก |
ลุกสะอึกองอาจฟาดพระแสง |
นางแทงอีกหลีกเลี่ยงก็เพลี่ยงแพลง |
พระต่อแย้งยกปืนขึ้นยืนยิง |
ถูกปากม้าพาโลดกระโดดดีด |
นางร้องหวีดเต็มเสียงสำเนียงหญิง |
ครั้นรู้สึกนึกอายในใจจริง |
นางควบมิ่งม้ากลับไปทัพชัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ |
ให้คิดขัดเคืองแค้นแสนสงสัย |
นางคนนี้ดีทายาดบังอาจใจ |
อยู่ที่ไหนหนอจึงแกล้งแปลงเป็นชาย |
หรือลูกสาวเจ้าลังกามีตราแก้ว |
จึงกล้าแกล้วแคล้วคลาดประมาทหมาย |
จะตามติดคิดล้างให้วางวาย |
พลางแต่งกายกุมกระบี่เหน็บปี่ทรง |
เสด็จจากรถาปลุกม้าต้น |
ขึ้นนั่งบนอานหลังดังประสงค์ |
ออกควบตามทรามวัยเหมือนใจจง |
เที่ยววกวงเวียนรอบขอบกำแพง |
เห็นคล้ายคล้ายพรายพร่างไปข้างหน้า |
ด้วยดวงตราแก้วสว่างกระจ่างแสง |
สกัดกั้นทันนางที่กลางแปลง |
นางพลิ้วแผลงเกาทัณฑ์ประจัญบาน |
พระหลบเลี่ยงเพลี่ยงผิดประชิดไล่ |
นางฟาดไฟกรดพรายกระจายผลาญ |
ถูกกายกรร้อนรนพระทนทาน |
โถมทะยานฉวยพลาดนางฟาดฟัน |
พระรับรองป้องปัดสกัดจับ |
นางกลอกกลับเลี้ยวลัดสะบัดผัน |
จนอาวุธหลุดพระกรอ่อนด้วยกัน |
นางกระสันสายตราคอยราวี ฯ |
๏ พระอภัยได้แส้ตีสินธพ |
คอยรับรบกันตราของมารศรี |
แต่เรียงรอล่อลวงดูท่วงที |
มาถึงที่แจ้งกระจ่างสว่างไฟ |
พระเห็นพักตร์ลักษณาวัณฬาน้อย |
ดูแช่มช้อยชื่นจิตพิสมัย |
ยิ่งเพ่งพิศฤทธิ์สุคนธ์เข้าดลใจ |
จึงปราศรัยส่งภาษากับนารี |
พระน้องหรือชื่อละเวงวัณฬาราช |
อย่าหวั่นหวาดวิญญาณ์มารศรี |
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที |
ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา |
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร |
มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา |
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา |
เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวจริงจริง |
จงแจ้งความตามในน้ำใจพี่ |
ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง |
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง |
สมรมิ่งแม่วัณฬาจงปรานี ฯ |
๏ นางฟังคำร่ำว่าก็น่ารัก |
ไม่รอพักตร์แลพบก็หลบหนี |
ด้วยความหลังคั่งแค้นแสนทวี |
เธอฆ่าพี่ฆ่าพ่อให้มรณา |
แต่ครั้งนี้มีอุบายให้ตายจิต |
ก็สุดคิดขัดสนจนหนักหนา |
จะรบรับสัประยุทธ์สุดปัญญา |
จึงทำกล้าแกล้งถามตามทำนอง |
ท่านนี้หรือชื่ออภัยจะใคร่รู้ |
ที่ชิงคู่ไปชมประสมสอง |
พระเชษฐาปรานีเหมือนพี่น้อง |
ยังขัดข้องคิดทำลายให้วายชนม์ |
แล้วมิหนำซ้ำตามข้ามสมุทร |
มายงยุทธ์กับผู้หญิงถึงสิงหล |
ครั้นหักโหมโจมจับไม่อับจน |
กลับแต่งกลเกี้ยวพานด้วยมารยา |
อันเยี่ยงอย่างข้างชมพูต่อสู้รบ |
หรือจึงคบคิดรักกันหนักหนา |
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเมืองลังกา |
จะเมตตาเพราะมีไมตรีกัน |
ประการหนึ่งซึ่งกษัตริย์กำจัดทัพ |
แม้นคนหลับแล้วไม่ฆ่าให้อาสัญ |
ย่อมรบสู้ดูดีตีประจัญ |
เออเช่นนั้นหรือจะลือว่าชื่อชาย |
นี่พระองค์ทรงศักดิ์รักแต่ทรัพย์ |
ทำให้หลับแล้วก็ริบให้ฉิบหาย |
จะผูกมิตรชิดเชื้อก็เหลืออาย |
ถึงวอดวายไว้ชื่อให้ลือชา ฯ |
๏ พระฟังคำน้ำเสียงสำเนียงสนอง |
ช่างพร่ำพร้องไพเราะเพราะหนักหนา |
จึงตรัสตอบปลอบประโลมโฉมวัณฬา |
อย่าโกรธาเลยจะเล่าให้เข้าใจ |
ซึ่งพี่ชายสายสวาทขาดชีวิต |
พี่ยังคิดทุกเวลาน้ำตาไหล |
เพราะสิ้นบุญหุนหันจึงบรรลัย |
พลไพร่ก็ย่อมรู้อยู่ด้วยกัน |
ไม่พอที่ศรีสวัสดิ์จะขัดข้อง |
ให้ยกกองทัพไปถึงไอศวรรย์ |
จะนิ่งไว้ไม่เห็นจริงทุกสิ่งอัน |
จึงหมายมั่นจะมาเล่าให้เข้าใจ |
เจ้ารบพุ่งมุ่งหมายทำร้ายพี่ |
จึงเป่าปี่ห้ามทัพให้หลับใหล |
รักษาตัวกลัวชีวันจะบรรลัย |
โดยวิสัยสงครามตามโบราณ |
ประเดี๋ยวนี้พี่ได้พบประสบน้อง |
อย่าขุ่นข้องขาดรักหักประหาร |
จงเคลื่อนคลายหายเหือดที่เดือดดาล |
เชิญแม่ผ่านพาราให้ถาวร |
อันผู้คนพลไพร่จะให้ตื่น |
ขอกลับคืนคงถวายสายสมร |
เป็นเสร็จศึกตรึกตรองครองนคร |
อย่าให้ร้อนไปถึงท้าวทุกด้าวแดน |
ด้วยฝรั่งลังกาอาณาเขต |
ล้ำประเทศถิ่นอื่นสักหมื่นแสน |
แม้นเมืองไหนไม่นอบนบจะรบแทน |
เป็นทองแผ่นเดียวกันจนวันตาย ฯ |
๏ นางฟังตรัสมธุรสพจนารถ |
เสียวสวาทหวานหูไม่รู้หาย |
จึงกล่าวแกล้งแสร้งเสเททุบาย |
พระพี่ชายช่างพลอดทอดอาลัย |
กระนี้หรือลูกสาวเจ้าผลึก |
จะมินึกรักพระองค์จนหลงใหล |
อย่าลดเลี้ยวเกี้ยวพานรำคาญใจ |
ถ้าแม้นไม่มุ่งหมายทำร้ายกัน |
จงแก้ไขไพร่พลให้คนตื่น |
แล้วกลับคืนข้ามไปอยู่ไอศวรรย์ |
จะเห็นจริงสิ่งสวัสดิ์เป็นสัตย์ธรรม์ |
อย่ารำพันพูดเปล่าไม่เข้าการ |
อันผู้หญิงสิงหลนี้คนซื่อ |
จะนับถือแต่ที่แน่นเป็นแก่นสาร |
แม้นกลับกลายหลายคำแล้วรำคาญ |
ไม่ขอพานพบกันจนวันตาย ฯ |
๏ พระฟังนางช่างฉลาดประภาษพ้อ |
ทั้งลวงล่อสิ้นลมคมใจหาย |
จึงว่าพี่นี้ซื่อเป็นชื่อชาย |
ไม่กลับกลายแกล้งลวงแม่ดวงใจ |
จะสัญญาว่าขานประการใด |
พี่จะให้ความสัตย์ไม่ขัดน้อง |
แล้วจะให้ไพร่พลคนทั้งหลาย |
รู้สึกกายเห็นเรานั่งอยู่ทั้งสอง |
ใครเกะกะจะได้ห้ามตามทำนอง |
ให้ปรองดองดีกันจนวันตาย ฯ |
๏ นางฟังคำทำว่าน่าบัดสี |
พูดเช่นนี้เจ็บใจมิใคร่หาย |
จะให้หญิงวิ่งไปอยู่กับผู้ชาย |
ช่างเปรียบปรายปรึกษาไม่ปรานี |
หรือเชื่อจิตคิดว่าจะชนะศึก |
อย่าเพ่อนึกก่อนว่าหญิงจะวิ่งหนี |
แม้นซื่อตรงจงใจเป็นไมตรี |
ให้โยธีตื่นก่อนได้ผ่อนปรน |
พระเป็นเจ้าชาวผลึกย่อมกึกก้อง |
ข้างฝ่ายน้องก็เป็นเจ้าชาวสิงหล |
จะผูกมิตรคิดประกอบให้ชอบกล |
ถึงไพร่พลใหญ่น้อยคงพลอยตาม |
ได้ลือชาปรากฏเป็นยศศักดิ์ |
ให้สมรักราบเตียนที่เสี้ยนหนาม |
แม้นไม่เชื่อเมื่อพระองค์จะสงคราม |
เร่งติดตามโจมจับจะรับรบ |
แม้นเมตตาอาลัยให้ไพร่ตื่น |
จะได้คืนคุมกันเข้าบรรจบ |
แล้วเป่ามนต์ดลสำทับขับสินธพ |
เลี้ยวตลบลัดแลงเข้าแฝงไฟ ฯ |
๏ พระแลตามหวามวับเมื่อลับเนตร |
ด้วยพระเวทหวังจิตพิสมัย |
จะตามโลมโฉมละเวงก็เกรงใจ |
จะผันแปรแก้ไขฉันใดดี |
แล้วนึกได้ในวิชาพฤฒาเฒ่า |
จะลองเป่าปี่ประโลมนางโฉมศรี |
ให้งามสรรพกลับมาได้พาที |
แล้วทรงปี่เป่าเกี้ยวประเดี๋ยวใจ |
ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย |
จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน |
แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย |
แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย |
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด |
จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย |
ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล |
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด |
เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวน |
วิเวกแว่วแจ้วในใจรัญจวน |
เป็นความชวนประโลมโฉมวัณฬา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงฟังเพลงปี่ |
ให้รอรีรวนเรเสนหา |
คิดกำหนัดอัดอั้นหวั่นวิญญาณ์ |
นึกนึกน่าจะใคร่ปะพระอภัย |
เธอพูดดีปี่ฟังดังเสนาะ |
จะฉอเลาะลูบต้องทำนองไหน |
แม้ถนอมกล่อมกลอกเหมือนดอกไม้ |
จะชื่นใจน้องยาทุกราตรี |
ยิ่งกลับฟังวังเวงเพลงสังวาส |
ยิ่งหวั่นหวาดวิญญาณ์มารศรี |
ตะลึงลืมปลื้มอารมณ์ไม่สมประดี |
ด้วยเพลงปี่เป่าเชิญให้เพลินใจ |
จนลืมองค์หลงรักชักสินธพ |
กลับมาพบพิศวงด้วยหลงใหล |
พระเห็นนางวางปี่ด้วยดีใจ |
เข้าเคียงใกล้กล่าวประโลมโฉมวัณฬา |
ขอเชิญนุชสุดสวาทไปราชรถ |
อย่าระทดท้อจิตกนิษฐา |
นางรู้สึกนึกพรั่นหวั่นวิญญาณ์ |
กลับชักม้าควบขับไปลับองค์ |
อ้อมออกทางข้างเขาให้เศร้าจิต |
แล้วหยุดคิดแค้นใจด้วยใหลหลง |
อันลมปี่นี้ละลวยให้งวยงง |
สุดจะทรงวิญญาณ์รักษาตัว |
ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง |
ฉวยพลั้งเพลี่ยงเพลงปี่ต้องมีผัว |
จะพลอยพาหน้าน้องให้หมองมัว |
เหมือนหญิงชั่วชายเกี้ยวประเดี๋ยวใจ |
เหลือลำบากยากเย็นด้วยเป็นหญิง |
จำจะทิ้งกองทัพที่หลับใหล |
ไปลังกาอย่าให้มีราคีภัย |
แล้วจะได้แต่งทหารมาราญรอน |
ดำริพลางนางขยับจับพระแสง |
สะพายแล่งลูกเกาทัณฑ์ถือคันศร |
เหน็บกระบี่มีหอกซัดข้างอัสดร |
แล้วหยุดหย่อนยืนดูหมู่โยธา |
ไม่ไหวติงนิ่งหลับระงับเงียบ |
ยิ่งเย็นเยียบเยือกจิตกนิษฐา |
สุดจะช่วยด้วยทัพอัปรา |
ชลนานองเนตรสังเวชใจ |
จะอยู่นานการด่วนจวนจะรุ่ง |
เขม้นมุ่งมรรคาพฤกษาไสว |
ควบอาชาผ่าตรงเข้าพงไพร |
สังเกตใจจำทางไปกลางคืน |
สันโดษเดี่ยวเปลี่ยวเปล่าเศร้าสลด |
ระทวยทดทุกข์ร้อนถอนสะอื้น |
แต่การทัพขับขันสู้กลั้นกลืน |
อุตส่าห์ขืนขับม้ารีบคลาไคล ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษณ์ |
กำเริบรักร้อนจิตคิดสงสัย |
เมื่อเป่าปี่เยาวมาลย์มาเหมือนใจ |
ครั้นหยุดปี่หนีไปไม่ได้การ |
เที่ยวควบม้าหาจบไม่พบปะ |
สุดที่จะติดตามความสงสาร |
เสนหาอาวรณ์ร้อนรำคาญ |
เยาวมาลย์แม่จะแฝงไปแห่งไร |
หรือหยุดปี่ดีร้ายจะคลายรัก |
เสียดายนักนึกน่าน้ำตาไหล |
จะโลมเล้าเป่าอีกให้อ่อนใจ |
แม้นมาใกล้เหมือนเมื่อกี้แล้วมิฟัง |
พลางบรรเลงเพลงปี่ระรี่เรื่อย |
จนเหน็ดเหนื่อยในอารมณ์ไม่สมหวัง |
พระศอแสบแหบเครือเหลือกำลัง |
จึงหยุดยั้งยืนรำพึงคะนึงใน |
ทีปี่เราเป่าอีกจะหลีกเลี่ยง |
หรือฟังเสียงหลับซบสลบไสล |
หรือนิ่มน้องหมองหมางระคางใจ |
ว่าพี่ไม่ปลุกทัพให้กลับมา |
ยิ่งครวญคร่ำรำลึกยิ่งนึกรัก |
ละล่ำละลักเหลียวแลชะแง้หา |
ที่รอนราญการศึกไม่ตรึกตรา |
ด้วยเหตุว่าเวทมนตร์เข้าดลใจ |
จึงคิดว่าอย่าเลยจะปลุกทัพ |
ให้งามสรรพสิ้นพะวงที่สงสัย |
เป็นสำเร็จเสร็จศึกเหมือนนึกไว้ |
เห็นจะได้เชยชมโฉมวัณฬา |
ดำริพลางทางลงแล้วทรงปี่ |
เรียกโยธีไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ให้วาบแว่วแก้วหูรู้วิญญาณ์ |
ต่างลืมตาตกใจทั้งไพร่นาย |
ลุกขึ้นวิ่งทิ้งเครื่องสรรพาวุธ |
อุตลุดล้มคว่ำคะมำหงาย |
เสียงครึกครื้นตื่นพลัดกระจัดกระจาย |
ต่างวุ่นวายวิ่งพัลวันไป ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งทั้งแขกแตกเข้าป่า |
ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลไหน |
พวกผลึกครึกครื้นตื่นตกใจ |
ทั้งนายไพร่พรูลงข้างคงคา |
พออุทัยไขแสงแจ้งกระจ่าง |
แจ่มสว่างกลางทะเลพระเวหา |
ทั้งไพร่นายฝ่ายฝรั่งเมืองลังกา |
ต่างแตกล่าเลี้ยวลัดเที่ยวพลัดพราย |
พวกเสนาหาไพร่ก็ไม่พร้อม |
จะรวมรอมกันไม่ได้ดังใจหมาย |
ต่างติดตามถามข่าวถึงเจ้านาย |
เที่ยวแยกย้ายย้อนหลังไปลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยเจ้าไตรจักร |
ไม่พร้อมพรักไพร่พลเข้าค้นหา |
ที่ไพร่หายนายหมวดเที่ยวตรวจตรา |
พบบรรดาหมื่นขุนทั้งมุลนาย |
บ้างติดกลบนหอรบพบในป้อม |
ที่รถคร่อมครอบไว้น่าใจหาย |
ช่วยแก้ไขให้สลักหักทลาย |
ทั้งไพร่นายออกมาได้ดังใจปอง |
ไปพร้อมพรั่งฝั่งสมุทรหยุดประทับ |
อยู่คั่งคับคอยฟังรับสั่งสนอง |
ทั้งทัพเรือเหลือตายอยู่หลายกอง |
ได้ข้าวของแขกฝรั่งไว้ทั้งนั้น |
ทั้งปืนผาม้ารถหมดทุกสิ่ง |
ด้วยคนวิ่งไปแต่ตัวกลัวอาสัญ |
สินสมุทรสุดแสนคั่งแค้นครัน |
บังคมคัลพระบิดาแล้วพาที |
พวกทัพแตกแขกฝรั่งกำลังตื่น |
เป็นกลางคืนคงจะพลัดกำจัดหนี |
ไม่ราบเตียนเสี้ยนหนามขอตามตี |
ผลาญชีวีเสียให้ได้ทั้งไพร่นาย ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยถูกไฟกรด |
ทั้งระทดที่ไม่สมอารมณ์หมาย |
จึงห้ามปรามตามเล่ห์เพทุบาย |
อย่าวุ่นวายเลยจะเล่าให้เข้าใจ |
เมื่อเป่าปี่รี้พลผู้คนหลับ |
ยังอยู่แต่แม่ทัพไม่หลับใหล |
มาโต้ตอบลอบยิงเราชิงชัย |
จนต้องไฟกรดทั่วทั้งตัวตน |
ดูนี่แน่ะแผลลอกยังปอกปวด |
ให้เร้ารวดรึงรุมทุกขุมขน |
เหลือกำลังดังหนึ่งกายจะวายชนม์ |
จึงคิดกลแก้ไขเป็นไมตรี |
ข้างฝ่ายเขาเล่าก็ยอมเป็นพร้อมจิต |
มิได้คิดรบพุ่งเอากรุงศรี |
ได้พร้อมพรั่งตั้งสัตย์สวัสดี |
จึงเป่าปี่ปลุกทัพให้กลับฟื้น |
อันฝรั่งทั้งนั้นไม่ทันรู้ |
จึงวิ่งกรูเกรียวแยกกันแตกตื่น |
ซึ่งของเขาเอาไว้จะได้คืน |
ห้ามคนอื่นอย่าให้เอาของเขาไป |
แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนยังอลหม่าน |
นายทหารเห็นจะห้ามปรามไม่ไหว |
แม้รวมรอมพร้อมพลสกลไกร |
เห็นจะได้ทูตามาพาที |
เรารอรั้งฟังดูให้รู้แน่ |
สุดแล้วแต่นางวัณฬามารศรี |
แม้นเสียสัตย์ขัดขวางทางไมตรี |
จึงตามตีให้กระทั่งถึงลังกา ฯ |
๏ ศรีสุวรรณพรั่นจิตผิดสังเกต |
แลชม้ายชายเนตรดูเชษฐา |
เห็นจริตผิดทีกริยา |
จึงแกล้งว่าหวังจะลวงดูท่วงที |
เมื่อตอบคำทำสัตย์ไม่ขัดข้อง |
เหมือนเข้าช่องสมหมายไม่หน่ายหนี |
ไม่ตรองตรึกลึกซึ้งถึงไพรี |
คงเสียทีทางสวาทต้องคลาดคลา ฯ |
๏ พระอภัยใจกระสันยังพันผูก |
เขาเกาถูกเข้าที่คันก็หรรษา |
สำรวลพลางทางสนองพระน้องยา |
ธรรมดามดดำกับน้ำตาล |
ได้เข้าเรียงเคียงใกล้แล้วไม่อด |
คงชิมรสรู้กำพืดว่าจืดหวาน |
อนุชาอย่าประมาทว่าคลาดการ |
ไม่เนิ่นนานนักดอกบอกจริงจริง ฯ |
๏ พระฟังพี่ศรีสุวรรณรำพันว่า |
นางวัณฬาข้านี้เบื่อเห็นเหลือหญิง |
แต่รูปเขียนใครได้ยังไม่ทิ้ง |
ยิ่งรูปจริงแล้วก็เห็นจะเป็นการ |
พลางเหลียวหน้ามาว่ากับสินสมุทร |
เห็นร้ายสุดเสียกว่าเสือเหลือแล้วหลาน |
สินสมุทรสุดแค้นแสนรำคาญ |
จึงว่าวานนี้หม่อมฉันลั่นวาจา |
ว่าขึ้นรบพบผู้หญิงอย่านิ่งไว้ |
สังหารให้ม้วยมุดสุดสังขาร์ |
พระบิตุรงค์ทรงธรรม์ก็สัญญา |
ว่าจะผ่าอกนางให้วางวาย |
เหตุไฉนไม่สังหารผลาญชีวิต |
กลับจะคิดแผ่เผื่อเป็นเชื้อสาย |
ฉวยเสียทีผีผู้หญิงเข้าสิงกาย |
จะมิอายเขาหรือนะพระเจ้าอา ฯ |
๏ พระอภัยได้ยินสินสมุทร |
อดสูสุดแสนสะเทิ้นทำเมินหน้า |
แล้วตอบความตามวิสัยไวปัญญา |
เจ้าช่างว่าเหมือนสตรีไม่มีมือ |
เห็นที่ไหนไล่สังหารผลาญชีวิต |
ราวกับลิดไม้ไหล้จะได้หรือ |
เขาเชี่ยวชาญการศึกได้ฝึกปรือ |
มีฝีมือเหมือนหนึ่งชายเป็นนายทัพ |
ทำเหมือนเจ้าเข้าไปไล่เอาไฟจุด |
แล้วไม่หยุดยั้งคิดจะติดกับ |
อันแยบยลกลศึกย่อมลึกลับ |
แม้นจะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย |
เราชิงชัยไม่ชนะกลัวจะแพ้ |
จึงเกี้ยวแก้การศึกเหมือนนึกหมาย |
ด้วยเสียทีชีวันจะอันตราย |
แต่รอดตายเหมือนกระนี้เป็นดีนัก |
อนึ่งเล่าเราก็ป่วยระทวยจิต |
สุดจะคิดทำการไปหาญหัก |
หยุดพหลพลนิกรได้ผ่อนพัก |
จะได้รักษากายให้หายดี |
จึงขึ้นบกยกขึ้นตั้งอยู่วังใหม่ |
ให้นายไพร่รายรักษาทุกหน้าที่ |
คอยระวังนั่งยามตามอัคคี |
อย่าให้มีเภทภัยสิ่งใดพาน |
แล้วชวนพระอนุชาโยธาทัพ |
เข้าหยุดยับยั้งอาศัยในสถาน |
หมอพิทักษ์รักษาพยาบาล |
คิดรำคาญด้วยลูกสาวเจ้าลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช |
แสนสามารถมาในไพรพฤกษา |
ครั้นรุ่งรางสว่างแสงพระสุริยา |
นางขับม้ามาในดงแต่องค์เดียว |
จนโพล้เพล้เวลาภาณุมาศ |
ล่วงลีลาศลับเงาภูเขาเขียว |
เสียงเสือสิงห์วิ่งตะเพิ่นกระเจิ่นเจียว |
นางหลีกเลี้ยวหลงทางไปกลางดง |
แต่เดือนหงายฉายแสงแจ้งกระจ่าง |
ดูพรายพร่างพฤกษาป่าระหง |
น้ำค้างโรยโปรยละอองมาต้ององค์ |
นางแสนทรงโศกสลดระทดใจ |
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญผ่านประเทศ |
มาทุเรศแรมเดินเนินไศล |
เคยพร้อมพรักนักสนมกรมใน |
มาเปลี่ยวใจจรทางอยู่หว่างเนิน |
เคยเสวยเนยนมภิรมย์รส |
มาจำอดโอ้อกระหกระเหิน |
ทั้งหิวหอบบอบช้ำระยำเยิน |
หนทางเดินก็ไม่แจ้งว่าแห่งใด |
แสนสงสารพาชีม้าที่นั่ง |
สิ้นกำลังเหงื่อโซมชโลมไหล |
โอ้ครั้งนี้ชีวันจะบรรลัย |
ไหนจะได้กลับหลังไปลังกา |
นางนึกนึกแล้วสะอึกสะอื้นไห้ |
พระชลนัยน์พรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา |
จนเวลาดึกสงัดกำดัดนอน |
ทั้งธารน้ำลำเนาเขาอังกาศ |
ศิลาลาดแลเลื่อมเงื้อมสิงขร |
ลงจากม้าพาเดินดำเนินจร |
ให้อัสดรกินน้ำค่อยสำราญ |
แล้วโฉมยงทรงเสวยสว่างจิต |
รำคาญคิดด้วยว่าม้าอดอาหาร |
แม้นม้าล้มแล้วเหมือนกายเราวายปราณ |
จึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานถึงบุญญา |
เดชะผลปรนนิบัติจังหวัดทวีป |
ช่วยชูชีพชนชาติพระศาสนา |
ตามเยี่ยงอย่างทางธรรม์กรุณา |
พระจุฬาติเวนย่อมเห็นใจ |
แม้ข้านี้มิได้คงดำรงทวีป |
ขอสิ้นชีพเด็ดดับดังหลับใหล |
แม้จะได้ไปบำรุงซึ่งกรุงไกร |
ขออย่าให้ชีวันเป็นอันตราย |
จะปล่อยม้าไปหากินในถิ่นเถื่อน |
ให้มาเหมือนใจจิตที่คิดหมาย |
แล้วปล่อยม้าว่าไปตามความสบาย |
แต่เดียวดายกินหญ้าประสาใจ |
ต่อรุ่งเช้าเจ้าจึงมาถึงที่นี่ |
ค่ำวันนี้เราจะนอนชะง่อนไศล |
พลางลูบหลังสั่งม้าแล้วคลาไคล |
ขึ้นอาศัยสิงขรด้วยอ่อนแรง |
เอาแก้วตราราหูขึ้นชูช่วง |
โชติดังดวงดาวสว่างกระจ่างแสง |
เที่ยวส่องดูภูผาศิลาแลง |
เห็นตำแหน่งหนึ่งเลี่ยนเตียนสบาย |
เหมือนบัลลังก์บังลมร่มน้ำค้าง |
พระนุชนางนึกสมอารมณ์หมาย |
ค่อยเอนองค์ลงบนแท่นศิลาลาย |
ระทวยกายกัมปนาทหวาดวิญญาณ์ |
เย็นยะเยียบเงียบเหงาเศร้าสงัด |
ดึกกำดัดเดือนดับลับเวหา |
ระโหยหิวหวิวไหวเมื่อไสยา |
หอมสุมาลัยรอบขอบคีรี |
เสียงแหร่แหร่แม่ม่ายลองไนร้อง |
ประสานซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี |
สะอื้นอ้อนอ่อนอารมณ์ไม่สมประดี |
ดังดนตรีกล่อมขับให้หลับไป ฯ |
๏ พอเช้าตรู่รู้สึกนึกถึงม้า |
ลงมาหาท่าหินที่สินธุ์ใส |
บ้วนพระโอษฐ์โสรจสรงพักตร์ประไพ |
คิดอาลัยแลหาอาชาทรง |
พอได้ยินดินลั่นเสียงครั่นครื้น |
สะเทื้อนพื้นภูผาป่าระหง |
ประเดี๋ยวหนึ่งตึงสะดุ้งดังผลุงลง |
กลิ้งอยู่ตรงหน้าเท่าน้ำเต้าทอง |
เหลืองอร่ามงามงอมหอมระรื่น |
ดูสดชื่นชูสีไม่มีสอง |
สงสัยนักชักมีดออกกรีดลอง |
ขาดเป็นสองซีกไส้ข้างในแดง |
นางชิมดูรู้ว่าโอชารส |
เหลือกำหนดในมนุษย์สุดแสวง |
ทั้งหอมหวานซ่านเสียวมีเรี่ยวแรง |
ที่ศอแห้งหิวหายสบายบาน |
พอม้ามิ่งวิ่งมาแล้วอ้าปาก |
รู้ว่าอยากยื่นให้ม้าเป็นอาหาร |
ม้าลำพองลองเชิงเริงสำราญ |
นางนั่งฝานชิ้นชิมจนอิ่มใจ |
ยังเหลืออีกซีกเสี้ยวไม่เหี่ยวแห้ง |
ห่อตะแบงมานมั่นไม่หวั่นไหว |
ขึ้นทรงนั่งหลังม้าแล้วคลาไคล |
พอสัตว์ไพรรู้อึงคะนึงมา |
ทั้งเนื้อเบื้อเสือสิงห์กระทิงถึก |
หมู่มฤคแรดควายทั้งซ้ายขวา |
บ้างแลพบหลบตัวด้วยกลัวตรา |
บ้างวิ่งมาวิ่งไปออกไขว่กัน ฯ |
๏ พอเห็นคนบนชะง่อนสิงขรเขา |
ร้องว่าเรารักษาพนาสัณฑ์ |
นางวัณฬามาได้กินดินสำคัญ |
ไม่แบ่งปันให้เราบ้างเป็นอย่างไร |
นางแลดูผู้เฒ่าบนเขาเขียว |
เป็นซีกเสี้ยวแต่ข้างขวาน่าสงสัย |
จึงซักถามตามแคลงไม่แจ้งใจ |
ท่านชื่อไรร้องทักรู้จักเรา |
อันของดีมีรสไม่หมดสิ้น |
จะให้กินได้อยู่ท่านผู้เฒ่า |
แต่พรายแพร่งแจ้งความตามสำเนา |
ก่อนเถิดเราก็จะให้เป็นไรมี ฯ |
๏ ฝ่ายอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตสถาน |
จึงแจ้งการกับวัณฬามารศรี |
ลูกนั้นหรือชื่อว่านมพระธรณี |
ถึงพันปีผุดขึ้นเหมือนปืนดัง |
ฝูงสัตว์ไพรได้ยินทั้งกลิ่นหอม |
มาพรั่งพร้อมเพราะจะกินถวิลหวัง |
ด้วยหวานเย็นเห็นประเสริฐเกิดกำลัง |
กำจัดทั้งโรคาไม่ราคี |
อายุยืนชื่นชุ่มเป็นหนุ่มสาว |
ผิวนั้นราวกับทองละอองศรี |
ถึงแก่เฒ่าเข้าเรือนสามร้อยปี |
ก็ไม่มีมัวหมองละอองนวล |
ทั้งเนื้อหอมกล่อมกลิ่นระรินรื่น |
เป็นที่ชื่นเชยบุรุษสุดสงวน |
เราได้กลิ่นดินถนันให้รัญจวน |
ด้วยธุระพระอิศวรเธอสาปไว้ |
ให้อยู่เฝ้าเขาอังกาศขาดครึ่งซีก |
สุดจะหลีกเลี่ยงกรรมจะทำไฉน |
ต่อได้กินดินถนันเมื่อวันไร |
จึงจะได้เต็มกายสบายบาน ฯ |
๏ นางทราบความตามกรรมที่ร่ำเล่า |
จึงหยิบเอาถันสุธาออกมาฝาน |
วางไว้บนต้นไม้ที่ใกล้ธาร |
แล้วว่าท่านเทวดาได้ปรานี |
ซึ่งธุระพระองค์จำนงนั้น |
ข้าผ่อนผันพ้นทุกข์เป็นสุขี |
ข้าหลงทางกลางป่าพนาลี |
ท่านช่วยชี้มรคาให้คลาไคล ฯ |
๏ ฝ่ายเทวัญครั้นสดับที่กลับถาม |
จึงบอกความเคลือบแฝงแถลงไข |
ซึ่งโฉมยงหลงทางมากลางไพร |
เพราะจะได้พบลาภปราบไพรี |
จงรีบลัดตัดทางไปข้างเขา |
จะพบชาวบ้านป่าพนาสี |
ทั้งจะปะพระปี่โปบาลีดี |
จงพาทีไต่ถามตามสงกา |
พอเสร็จคำสำแดงแผลงอำนาจ |
ต้อนตวาดเสือสิงห์มหิงสา |
แล้วกลับกลายหายวับไปลับตา |
ถันสุธาที่ถวายก็หายไป ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางวัณฬาพระยาหญิง |
จึงลาสิงขรเจ้าเขาไศล |
รีบขยับขับม้าให้คลาไคล |
สังเกตใจจำทางหว่างคิริน |
รุกขาครึ้มงึ้มเงียบเซียบสงัด |
ละเลาะลัดเลียบธารละหานหิน |
หอมบุปผาสารพันทั้งจันทน์อิน |
อินทนิลนางแย้มแกมสุกรม |
เห็นสายหยุดพุดพะยอมนางน้อมกิ่ง |
วิสัยหญิงอยากได้เด็ดใส่ผม |
ถึงยากเย็นเห็นดอกไม้จะใคร่ชม |
ชื่นอารมณ์เรี่ยทางไปกลางดง |
สันโดษเดี่ยวเหลียวแลเห็นแต่นก |
ฝูงวิหคเหมราพระยาหงส์ |
ที่หุบเขาเหล่าฝูงนกยูงลง |
ฟ้อนเป็นวงเวียนรายชม้ายเมียง |
เค้าโมงมองพร้องเพรียกร้องเรียกคู่ |
กระลุมพูโพระดกโฮกปกเสียง |
ซังแซวแจ้วแก้วพลอดฉอดสำเนียง |
นางนวลเคียงคู่นางไม่ห่างกัน |
กินปลีเปล้าเขาไฟฝูงไก่ป่า |
เสียงโกญจาแจ้วแจ้วไก่แก้วขัน |
นกขุนทองปองไล่เบญจวรรณ |
ตามเพศพันธุ์ภาษาบรรดามี |
ขมิ้นอ่อนนอนรายบนปลายเปล้า |
เป็นคู่เคล้าคลึงคลอลออศรี |
นกกระตั้วตัวขาวราวสำลี |
นางโนรีแดงฉาดสะอาดตา |
พินิจพลางนางรำพึงถึงนิเวศน์ |
อยู่ขอบเขตเคยรักเลี้ยงปักษา |
ให้จับคอนนอนเล่นเจรจา |
ถึงเวลาแสบท้องเคยร้องวอน |
โอ้จากนกตกมาอยู่ป่าสูง |
ฟังแต่ฝูงนกเถื่อนไม่เหมือนสอน |
สงสารโอ้โนรีอยู่ที่คอน |
เคยชูช้อนชื่นอารมณ์ได้ชมเชย |
เคยชมสวนล้วนแต่สรรทุกพรรณไม้ |
มาชมไพรพฤกษานิจจาเอ๋ย |
มิเคยยากกรากกรำก็จำเคย |
เมื่อไรเลยจะได้คืนมาชื่นใจ |
รัญจวนจิตคิดแค้นแสนเทวษ |
น้ำพระเนตรนองตกซกซกไหล |
รีบขับม้ามาตามทางที่กลางไพร |
อนาถใจเดินโขดสันโดษเดียว ฯ |
๏ จะกลับกล่าวชาวบ้านสิกคารนำ |
แปลเป็นคำไทยเล่าว่าเขาเขียว |
ด้วยเขตคันบรรพตนั้นลดเลี้ยว |
หนทางเปลี่ยวเดินออกตามซอกเนิน |
มีนักปราชญ์บาทหลวงเป็นหลักบ้าน |
ปรีชาชาญชาวอรัญสรรเสริญ |
สร้างตึกใหญ่ไว้ที่ข้างหนทางเดิน |
ได้เจริญรักษาตามบาลี |
อันลูกเต้าชาวป่าเอามาฝาก |
ประมาณมากเหมือนคณะพระฤๅษี |
เรียนวิชาไตรดาโหราคี |
ตามบาลีเพศฝรั่งชาวลังกา |
คนทั้งนั้นวันอาทิตย์เป็นอิสระ |
มาไหว้พระพร้อมกันด้วยหรรษา |
ทำบุญบวชสวดมนต์สนทนา |
บาทหลวงขึ้นมานั่งบัลลังก์พรต |
ให้จุดโคมโยมญาติมากลาดเกลื่อน |
ดูดาวเดือนเต็มวงขึ้นทรงกลด |
เห็นดาวดวงเจ้าลังกาพิลาลด |
สีสลดดูสลัวมัวมอซอ |
แล้วดูดาวเจ้าเมืองผลึกราช |
เข้าร่วมธาตุวิสัยไฉนหนอ |
เพ่งพินิจคิดแคลงตะแคงคอ |
พลางหัวร่อรู้ความตามตำรา |
พวกฝรั่งทั้งนั้นชวนกันถาม |
จึงแจ้งความจริงจิตกับศิษย์หา |
เราดูดวงเจ้าประเทศเขตลังกา |
ไม่มีข้าคนเที่ยวอยู่เดียวดาย |
อันดวงดาวเจ้าผลึกเป็นศึกสู้ |
กลับร่วมรู้รักกันขันใจหาย |
ส่วนพวกไพร่ใหญ่น้อยจะพลอยตาย |
แต่ตัวนายนั้นจะอยู่เป็นคู่เคียง |
พอขาดคำร่ำว่าฝูงกาตื่น |
ในกลางคืนบอกข่าวกระส่าวเสียง |
ทั้งอูฐลาม้าร้องซ้องสำเนียง |
เห็นผิดเยี่ยงอย่างแต่ก่อนร่อนชะไร |
จึงจับยามตามตำราภาษาสัตว์ |
ด้วยเจนจัดแจ้งเหตุข้างเพทไสย |
จึงบอกเล่าชาวป่าพนาลัย |
หวังจะให้แจ้งจิตในกิจจา |
ซึ่งสัตว์ร้องต้องยามตามตำรับ |
มันคอยรับเจ้าแผ่นดินถวิลหา |
พรุ่งนี้เย็นเห็นลูกสาวเจ้าลังกา |
จะเข้ามาบ้านนี้เพราะมิตาย |
ในตำราว่าโจรตามมาด้วย |
ท่านจงช่วยป้องกันให้ผันผาย |
ได้อาศัยในแผ่นดินทำกินสบาย |
ทั้งหญิงชายฉลองคุณอย่าสูญใจ |
แต่เรานี้มิให้พบจะหลบหน้า |
ผู้ใดอย่าบอกแจ้งแถลงไข |
ใครรักยศอตสาห์ตามนางทรามวัย |
คงจะได้สมหมายเมื่อปลายมือ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งทั้งปวงบาทหลวงบอก |
ต่างก็ออกปากรับด้วยนับถือ |
ด้วยชาวบ้านการศึกได้ฝึกปรือ |
มีฝีมือถือตัวไม่กลัวใคร |
ทั้งอยากเห็นเช่นเขาว่ามหากษัตริย์ |
จะเหยาะหยัดอย่างเยี่ยงสักเพียงไหน |
ต่างปรึกษาพาทีด้วยดีใจ |
จนจวนใกล้สนธยากลับมาเรือน |
ครั้นรุ่งเช้าชาวบ้านสำราญรื่น |
บ้างแบกปืนดาบหอกเที่ยวบอกเพื่อน |
มารวมรอมพร้อมพรักไม่ตักเตือน |
ดูกลาดเกลื่อนอยู่ที่หน้าศาลาลัย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาสมร |
อ้อมสิงขรเขาเขินเนินไศล |
ไม่รั้งรอพอบ่ายถึงชายไพร |
เห็นควันไฟขึ้นโขมงในพงพี |
มีรอยคนปนเกวียนเดีษรดาษ |
ดูเกลื่อนกลาดกลางทางหว่างวิถี |
คิดสำคัญมั่นคงว่าตรงนี้ |
เห็นจะมีบ้านช่องจึงกองไฟ |
ด้วยเย็นค่ำจำจะเข้าหาชาวป่า |
ได้พูดจาไต่ถามตามสงสัย |
ดำริพลางนางพระยาขับม้าไป |
จนจวนใกล้ได้ยินเสียงค่อยเมียงมอง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายโจรสามสิบห้า |
กับกะลาสีฉกรรจ์สามพันสอง |
เที่ยวตีปล้นชนบทเอาเงินทอง |
มาถึงหนองน้ำพักสำนักพล |
ให้ฆ่าแพะแกะไก่กินแกล้มเหล้า |
กำลังเมาเฮฮาโกลาหล |
เอาดาบหอกออกประกวดบ้างอวดตน |
พอเห็นคนขี่ม้าสง่างาม |
ใส่หมวกเสื้อเครือกระหนกเนาวรัตน์ |
แจ่มจำรัสรัศมีศรีสยาม |
ทั้งตราแก้วแพรวพราวดูวาววาม |
แลอร่ามรุ่งเรืองทั้งเครื่องม้า |
เห็นมั่งมีดีใจให้ไพร่ล้อม |
มันหุ้มห้อมเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
อ้ายนายใหญ่ไต่ถามตามสงกา |
ตัวนี้มาแต่สถานบ้านเมืองใด ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช |
พระนุชนาฏนึกพรั่นให้หวั่นไหว |
สังเกตดูรู้ว่าโจรสัญจรไพร |
มันล้อมไล่หมายจะจับถึงอับจน |
จำจะบอกออกความนามกษัตริย์ |
เจ้าจังหวัดแว่นแคว้นแดนสิงหล |
มันอาศัยในแผ่นดินสิ้นทุกคน |
ถึงอับจนก็ไม่ควรจะลวนลาม |
ดำริพลางนางกษัตริย์ตรัสประภาษ |
ท่านเชื้อชาติชาวไพรมาไต่ถาม |
อันตัวเราเจ้าลังกาล่าสงคราม |
หลงมาตามทางเถื่อนให้เฟือนใจ |
ท่านเอ็นดูรู้แห่งจงแจ้งจิต |
อย่าคบคิดเคลือบแคลงแหนงไฉน |
ช่วยนำเราเข้าไปเพียงพระเวียงชัย |
จะตั้งให้เป็นขุนนางได้รางวัล ฯ |
๏ อ้ายโจรแจ้งแกล้งว่าประสาดื้อ |
เรานี้คือเจ้าป่าพนาสัณฑ์ |
ไม่รักศักดิ์รักยศอย่าปดกัน |
จะหมายมั่นเอาแต่ของที่ต้องการ |
จงปลดเปลื้องเครื่องประดับกับทั้งม้า |
มาให้เราเจ้าป่าพนาสาณฑ์ |
จะปล่อยไปไม่ทำลายให้วายปราณ |
อย่าอ่อนหวานว่ากล่าวให้ยาวความ |
จะลวงล่อพอให้ไปจะได้จับ |
บีบขมับเฆี่ยนขู่กระทู้ถาม |
เรารู้เท่าเข้าใจไม่ไปตาม |
จงปลดเปลื้องเครื่องอร่ามมาเร็วไว ฯ |
๏ นางฟังคำจำวอนด้วยอ่อนหวาน |
น้องว่าขานตามตรงอย่าสงสัย |
ซึ่งทำผิดกิจการแต่ก่อนไร |
ถ้าแม้นได้ความชอบก็ตอบแทน |
อันต้นร้ายปลายดีไม่มีโทษ |
เป็นประโยชน์ยาวยืนอยู่หมื่นแสน |
จะเที่ยวปล้นคนกินเหมือนสิ้นแกน |
ถึงมาตรแม้นมีทรัพย์ก็อับอาย |
อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง |
ชื่อก็ยังยืนอยู่ไม่รู้หาย |
แม้นสังหารผลาญเราเป็นเจ้านาย |
ตัวจะตายไม่ทันข้ามสามเวลา ฯ |
๏ ฝ่ายโจรไพรใจพาลชาญฉกาจ |
หมิ่นประมาทตอบความตามภาษา |
แต่ขุนนางยังเบียนชาวพารา |
จะมาว่าแต่เราเป็นชาวดง |
พวกชาวเราเอาหวาอย่าให้เหลือ |
ทั้งหมวกเสื้อสิ่งของต้องประสงค์ |
ส่วนว่าพวกไพร่ฮึกนึกทะนง |
ต่างกรูตรงเกรียวกลุ้มเข้ารุมกัน ฯ |
๏ นางกษัตริย์กวัดแกว่งพระแสงสู้ |
ถูกต้องหมู่โจรป่าแทบอาสัญ |
ลงรวนเรเหหันพัลวัน |
นางซ้ำฟันฟาดตายกระจายไป |
แล้วเลี้ยวกลับขับม้าจะล่าหนี |
มันตามตีติดพันเสียงหวั่นไหว |
นางสู้พลางหนีพลางมากลางไพร |
พวกโจรไล่หลามทางมากลางแปลง |
อ้ายตัวนายหลายคนขึ้นขี่ม้า |
บ้างขี่ลาอูฐอาจชาติกำแหง |
ถือหอกง้าวหลาวทวนเข้าสวนแทง |
ก็พลาดแพลงเพลี่ยงผิดด้วยฤทธิ์ตรา |
พอออกห่างนางลั่นเกาทัณฑ์ถูก |
ตรงจมูกแม่นหมายทั้งซ้ายขวา |
ลูกละคนหล่นตายวายชีวา |
จนเวลาแดดดับพยับไพร |
โจรมันไล่หลามทางมาข้างหลัง |
เหลือกำลังที่จะด้นไปหนไหน |
ลูกเกาทัณฑ์นั้นก็หมดสลดใจ |
มันล้อมไล่เลี้ยวลัดสกัดทาง |
นางแกว่งหอกกลอกกลับคอยรับรบ |
ทั้งม้าขบโขกดีดคนกีดขวาง |
จะหักไปไม่พ้นวนอยู่กลาง |
ดังหนึ่งนางโฉมฉายจะวายปราณ |
พอเห็นคนกล่นเกลื่อนมากลางป่า |
ขี่ม้าลาไล่ตวาดดูอาจหาญ |
บ้างร้องด่าว่าอ้ายน้ำใจพาล |
มาล้อมท่านเจ้าสุธาไว้ว่าไร |
แล้วรบรุกบุกบั่นเข้าฟันฟาด |
โจรวินาศหนีกระจายทั้งนายไพร่ |
แล้วกลับมาหานางที่กลางไพร |
ต่างกราบไหว้พระองค์ทรงพิภพ |
เสด็จไปให้สำราญผ่านสมบัติ |
คิดกำจัดเจ้าผลึกให้ศึกสงบ |
ซึ่งโจรไพรไล่จับจะรับรบ |
แล้วนอบนบคอยสดับรับบัญชา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช |
ฟังประหลาดหลากจิตคิดกังขา |
จึงปราศรัยไต่ถามตามสงกา |
ท่านนี้มาแต่ไหนใครเป็นนาย |
ช่วยรบตีโจรป่าจนล่าหนี |
เรายินดีนับเนื้อดังเชื้อสาย |
เหตุไฉนได้รู้จักมาทักทาย |
ท่านทั้งหลายหลักแหล่งอยู่แห่งใด ฯ |
๏ ฝ่ายผู้เฒ่าชาวป่าสิกคารนำ |
แกล้งกล่าวคำเคลือบแฝงแถลงไข |
ข้าพเจ้าชาวป่าพนาลัย |
แต่ล้วนในพวกพ้องพี่น้องกัน |
ได้ทราบว่าฝ่าธุลีเสียทีทัพ |
โจรจะจับเข่นฆ่าให้อาสัญ |
ข้าอาศัยในแผ่นดินสิ้นทั้งนั้น |
คิดกตัญญูมาช่วยราวี |
ให้พระองค์คงเสวยเศวตฉัตร |
ด้วยซื่อสัตย์มิได้รักด้วยศักดิ์ศรี |
สิ้นธุระแล้วพระองค์ไปจงดี |
จวนราตรีแล้วข้าขอลาไป ฯ |
๏ นางฟังคำจำจนให้อ้นอั้น |
จึงผ่อนผันพจนาอัชฌาสัย |
เราไม่แจ้งแห่งทางที่กลางไพร |
จะขอไปอยู่ที่บ้านท่านสักวัน |
เอ็นดูด้วยช่วยไว้ให้ตลอด |
จะได้รอดกลับไปที่ไอศวรรย์ |
ถ้าทิ้งไว้เราไม่แจ้งแห่งสำคัญ |
สุดจะผันผินหน้าไปหาใคร ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าทูลตอบให้ชอบโสต |
ซึ่งทรงโปรดปรึกษาจะอาศัย |
ข้าทั้งนี้มิได้ห้ามตามพระทัย |
ด้วยอยู่ในแว่นแคว้นแดนพระองค์ |
ทุกถิ่นฐานบ้านช่องของพระแม่ |
สุดแล้วแต่ต้องธุระพระประสงค์ |
จะต้องเชิญเดินพาเข้าป่าดง |
ขอพระองค์อดโทษได้โปรดปราน ฯ |
๏ นางฟังคำรำลึกนึกสรรเสริญ |
ฉลาดเกินวาจาที่ว่าขาน |
จึงชื่นชอบตอบความตามโบราณ |
ให้ชาวบ้านนำหน้ารีบคลาไคล |
ถึงปากทางหว่างเนินเพลินประพาส |
เห็นอาวาสวัดวาที่อาศัย |
กุฎีตั้งอาศรมรื่นร่มไทร |
ศาลาลัยแสนสะอาดด้วยกวาดเตียน |
ตึกน้อยน้อยห้อยระฆังน่าฟังเล่น |
ดูเหมือนเช่นฉากฉายระบายเขียน |
มีเสาหงส์ธงลมใส่โคมเวียน |
ดาษเดียรด้วยบุปผาสารพัน |
จึงหยุดม้าปราศรัยผู้ใหญ่บ้าน |
นี่วัดท่านองค์ใดอยู่ไพรสัณฑ์ |
จะอาศัยในสำนักนี้สักวัน |
จะมีอันตรายบ้างหรืออย่างไร |
ชาวบ้านว่าอาวาสพระบาทหลวง |
คนทั้งปวงไปมาได้อาศัย |
แต่องค์ท่านจะกังวลไปหนใด |
ยังมิได้แจ้งจิตในกิจจา ฯ |
๏ นางทรงฟังสั่งเหล่าพวกชาวบ้าน |
จงสำราญเรียนท่านให้หรรษา |
พรุ่งนี้เช้าเราเชิญท่านเดินมา |
พอพูดจาแจ้งทางที่กลางไพร |
ชาวบ้านรับอภิวันท์แล้วผันผาย |
ด้วยเป็นชายโฉมยงจะสงสัย |
รักษาตัวกลัวอาญาต้องคลาไคล |
หมายจะให้เมียมาพยาบาล ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงลงจากม้าที่นั่ง |
พลางตรัสสั่งให้ไปหากินอาหาร |
แล้วนงเยาว์เข้าในวัดนมัสการ |
ขึ้นหน้าชานเชิงผาศิลาลาย |
ลีลาศเลี้ยวเที่ยวมาถึงหน้ากุฏิ์ |
เห็นเด็กจุดโคมเวียนวิเชียรฉาย |
ทั้งโคมคั่นชั้นเฉลียงตะเกียงราย |
นางแวดชายชมเพลินเจริญใจ |
ไม่เห็นพระจะเข้าหาเวลาค่ำ |
ก็ผิดธรรมดาหญิงสิ่งสงสัย |
จึงหยุดยั้งนั่งตรงหน้าศาลาลัย |
ประเดี๋ยวใจเด็กมาสี่ห้าคน |
บ้างทักถามตามทำนองบ้างร้องว่า |
นางวัณฬาลูกสาวเจ้าสิงหล |
จะขอเชิญเดินขึ้นนั่งเสียข้างบน |
ที่นี่คนจะได้เดินไปมา ฯ |
๏ นางฟังคำสำคัญให้หวั่นหวาด |
เหลือประหลาดลูกเล็กเด็กหนักหนา |
มารู้จักทักทายอายวิญญาณ์ |
จึงเรียกมาซักถามเป็นความใน |
นางละเวงเองรู้จักตระหนักแน่ |
ได้ดูแลพบเห็นหรือเป็นไฉน |
หรือใครเขาเล่าแถลงให้แจ้งใจ |
เห็นอย่างไรจึงสำคัญว่าวัณฬา |
เด็กคำนับรับสั่งนางกษัตริย์ |
ไม่ออกอรรถอำความตามภาษา |
เดิมนั้นได้รู้แจ้งแห่งกิจจา |
เดี๋ยวนี้ตาแลเขม้นเห็นพระองค์ |
กลัวจะผิดจิตใจไม่ประจักษ์ |
ปากจึงทักถามความตามประสงค์ |
จริงมิจริงสิ่งใดในใจจง |
ต่อพระองค์โปรดแปลจึงแน่นอน |
จึงถามว่าอาจารย์ท่านเข้านอน |
หรือว่าจะจรจากกุฎีไปที่ใด ฯ |
๏ เด็กเด็กว่าบาลีท่านมีธุระ |
ไปเยี่ยมพระอาจารย์ท่านเป็นไข้ |
นางถามว่าท่านจะมาเวลาใด |
เด็กว่าไม่รู้แจ้งแห่งคดี |
นางฟังเล่าเศร้าใจเห็นไม่ปะ |
ชรอยพระพรางแพร่งแกล้งหน่ายหนี |
แต่นิ่งนึกตรึกตราไม่พาที |
พอสตรีเดินกรายมาหลายคน |
ล้วนโคมไต้ไฟกระจ่างสว่างวัด |
ถือเครื่องมัจฉะมังสาผลาผล |
มาพร้อมกันอัญชลีนีรมล |
เชิญขึ้นบนเก๋งเขียนโคมเวียนมี |
แล้วต่างว่าข้าพเจ้าเมียชาวบ้าน |
ขอประทานอยู่รักษามารศรี |
พวกผู้ชายรายรอบขอบคิรี |
มิให้มีเภทภัยสิ่งไรพาน |
แล้วพร้อมพรั่งตั้งโต๊ะแต่งสำรับ |
เป็ดไก่กับแกล้มเหล้าของคาวหวาน |
หญิงน้อยน้อยคอยรินสุราบาน |
ใส่จอกจานจัดถวายสายสุดใจ ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช |
เห็นหญิงชาติชาวป่าอัชฌาสัย |
ได้ระเบียบเรียบร้อยคอยรับใช้ |
เหมือนนางในเวียงวังสิ้นทั้งนั้น |
กุมารีที่รินสุราถวาย |
ล้วนแยบคายหวีผมก็คมสัน |
งามละม่อมพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน |
ดูผิวพรรณผุดผ่องทั้งสองรา |
เสวยพลางนางกษัตริย์ตรัสประภาษ |
เหมือนอย่างญาติหญิงชายทั้งซ้ายขวา |
เราชอบจิตคิดจะถามตามสงกา |
อันชาวป่าย่อมชำนาญแต่การไพร |
นี่สันทัดจัดแจงเครื่องแต่งตั้ง |
รู้รับสั่งสนทนาอัชฌาสัย |
หรือเชื้อวงศ์พงศ์เผ่าเป็นชาวใน |
หรือว่าได้ฝึกสอนแต่ก่อนกาล ฯ |
๏ ฝ่ายหญิงเฒ่าชาวป่าว่าข้าพเจ้า |
มิใช่เหล่าในนิเวศน์เขตสถาน |
เป็นชาวป่าถ้าจะคิดในกิจการ |
ตามโบราณราษฎรซึ่งสอนไว้ |
เผื่อข้าเฝ้าท้าวพระยาบัญชาถาม |
ได้นบนอบตอบความตามนิสัย |
พอพ้นผิดติดตัวด้วยกลัวภัย |
เพราะอยู่ในแดนด้าวท้าวพระยา ฯ |
๏ นางฟังคำน้ำนวลชวนสนอง |
ท่านว่าต้องตามระบอบชอบหนักหนา |
อันชายหญิงสิงหลคณนา |
สุดจะหาให้เหมือนท่านที่บ้านนี้ |
มาพบปะจะใคร่ได้ไปไว้ด้วย |
จะได้ช่วยกันบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ให้ปรากฏยศศักดิ์ด้วยภักดี |
พอเป็นที่ปรึกษาให้ถาวร |
พวกชาวบ้านกรานกราบสุภาพพูด |
ข้าเหมือนอูฐหรือจะไปเป็นไกรสร |
เคยชำนาญการหยาบแต่หาบคอน |
จะผันผ่อนผู้คนนั้นจนใจ |
ซึ่งบัญชาว่าจะชุบอุปถัมภ์ |
พระคุณล้ำโลกาจะหาไหน |
ขอพึ่งแต่แผ่นดินอยู่ถิ่นไพร |
ตามวิสัยสโมสรเหมือนก่อนมา |
แต่ครั้งนี้ศรีสวัสดิ์พลัดนิเวศน์ |
มาทุเรศแรมในไพรพฤกษา |
ทั้งหญิงชายหมายพระแม่เหมือนมารดา |
จะอุตส่าห์ส่งเสด็จจนเสร็จการ |
ให้พระองค์คงคืนเข้าเมืองหลวง |
ข้าทั้งปวงจะขอลามาสถาน |
ซึ่งทูลความตามประโยชน์จงโปรดปราน |
อย่ามีการกินแหนงแคลงพระทัย ฯ |
๏ นางตรัสตอบขอบจิตที่คิดรัก |
ตามสมัครมิได้แคลงแหนงไฉน |
แล้วถามนางข้างบัลลังก์ที่นั่งใช้ |
เจ้าชื่อไรรูปร่างสำอางตา |
ส่วนนารีพี่น้องสองสดับ |
น้อมคำนับทูลความตามภาษา |
ข้าเป็นพี่นี้ชื่อยุพาผกา |
นางสุลาลีวันนั้นเป็นน้อง |
ไม่มีญาติขาดสูญประยูรศักดิ์ |
บาทหลวงรักเลี้ยงไว้มิให้หมอง |
ข้าสิบสี่ปีปลายข้างฝ่ายน้อง |
ได้สิบสองปีเศษสังเกตใจ |
นางกษัตริย์ตรัสว่าน่าสงสาร |
ช่างอ่อนหวานวาจาอัชฌาสัย |
จะขอเจ้าเอาเป็นลูกร่วมฤทัย |
จะยอมไปหรือมิไปอย่าได้พลาง |
ฝ่ายนางสองต่างคำนับอภิวาท |
ข้าพระบาทประดิพัทธ์ไม่ขัดขวาง |
ขอเป็นข้ากว่าชีวาจะวายวาง |
พระแม่นางเมตตาได้ปรานี |
นางตรัสพลางทางเรียกมานั่งใกล้ |
แล้วลูบไล้พี่น้องทั้งสองศรี |
จะคอยท่ากว่าพระจะจรลี |
มากุฎีจะได้ขอต่ออาจารย์ |
แล้วโฉมยงทรงรินสุราให้ |
ตามวิสัยสืบรักสมัครสมาน |
ทั้งพี่น้องคำนับรับประทาน |
ตามโบราณรับรักด้วยภักดี |
จนดึกครันบรรดานางฝรั่ง |
ถวายบังคมลามารศรี |
แต่พี่น้องสองสุดากุมารี |
อยู่พัดวีนวดฟั้นนางวัณฬา ฯ |
๏ ครั้นรุ่งสายนายบ้านชาญฉลาด |
ไปหาบาทหลวงอยู่ที่ภูผา |
แล้วแจ้งความตามลูกสาวเจ้าลังกา |
จะคอยท่าพบพระจึงจะไป |
บาทหลวงฟังสรรเสริญว่าเกินฉลาด |
รู้จักคาดคนดีจะมีไหน |
ซึ่งรอรั้งหวังจะเอาเราไปใช้ |
ทำอย่างไรหนอจะปิดให้มิดความ |
ฝ่ายชาวบ้านว่าเห็นองค์นางนงลักษณ์ |
อยากรู้จักเพราะจะใคร่ได้ไต่ถาม |
พระช่วยสอนรอนราญการสงคราม |
ให้ปราบปรามยุคเข็ญก็เป็นไร ฯ |
๏ บาทหลวงว่าอย่าประมาทชาติกษัตริย์ |
เหลือจำกัดกลความตามวิสัย |
เมื่อดีเย็นเช่นมหาชลาลัย |
โกรธเหมือนไฟฟุนฟอนให้ร้อนทรวง |
แล้วเรารู้อยู่ว่านางแต่ปางหลัง |
ถือพระสังฆราชผู้บาทหลวง |
ได้ฝึกสอนรอนราญการทั้งปวง |
จะไปช่วงชิงรู้เหมือนดูเบา |
เมื่อยามดีมิได้พึ่งครั้นถึงยาก |
จะพลอยรากเลือดตายด้วยอายเขา |
ถึงแม้องค์นงลักษณ์จะรักเรา |
พวกคนเก่าเขาคงกันด้วยฉันทา |
หนึ่งอำมาตย์ชาติสอพลอทรลักษณ์ |
เห็นเจ้ารักชวนกันคิดริษยา |
คอยยุยงลงโทษโจทนา |
ไม่รู้ว่าใจนางจะอย่างไร |
แม้โฉมยงทรงสัตย์สันทัดเที่ยง |
ถึงพลาดเพลี่ยงพลั้งแพ้จะแก้ไข |
ด้วยรบพุ่งกรุงผลึกเป็นศึกใน |
เห็นการใหญ่หลวงล้นพ้นกำลัง |
พระสังฆราชมาตรแม้มิรากเลือด |
คงต้องเชือดคอตายเมื่อภายหลัง |
เราเป็นแต่ผู้น้อยจะคอยฟัง |
แต่ว่าครั้งนี้นางมาค้างคอย |
ครั้นมิไปให้พบประสบหน้า |
อยู่เนิ่นช้าโฉมเฉลาจะเศร้าสร้อย |
หนึ่งเสนาข้าไทยทั้งใหญ่น้อย |
เขาจะพลอยโทษว่าช้าเพราะเรา |
ดำริพลางทางออกมานอกถ้ำ |
ให้เด็กนำหน้าเดินลงเนินเขา |
ถึงเก๋งเย็นเห็นองค์นางนงเยาว์ |
แกล้งเรียกเหล่าศิษย์หามาพาที |
พอโฉมยงตรงมารับก็ยับยั้ง |
ขึ้นหยุดนั่งเก๋งกลบนเก้าอี้ |
แกล้งปราศรัยไต่ถามตามคดี |
พระบุตรีมาไยในไพรวัน ฯ |
๏ นางก้มเกล้าเล่าเรื่องเมืองผลึก |
จนทำศึกเสียทัพถึงขับขัน |
แล้วมิหนำซ้ำโจรจะฆ่าฟัน |
เขาช่วยทันจึงได้รอดตลอดมา |
ได้พบปะพระคุณการุญด้วย |
เหมือนชุบช่วยชูชาติพระศาสนา |
ช่วยสั่งสอนผ่อนผันกรุณา |
ให้ปราบข้าศึกได้ดังใจจง ฯ |
๏ ปี่โปเฒ่าเข้าใจมิใช่ชั่ว |
ทำถ่อมตัวตอบความตามประสงค์ |
อันปัญญาข้าพเจ้าเป็นชาวดง |
รู้แต่ทรงสิกขาสมาทาน |
ซึ่งแยบยลกลศึกอันลึกลับ |
ชอบคิดกับข้าเฝ้าเหล่าทหาร |
เคยฝึกหัดลัทธิชำนิชำนาญ |
ย่อมเชี่ยวชาญการสงครามตามกระทรวง |
วิสัยพระเล่าก็พระสังฆราช |
เป็นยอดปราชญ์โปร่งเปรื่องในเมืองหลวง |
เสด็จไปไต่ถามตามกระทรวง |
ก็จะล่วงรู้วิชาสารพัน |
อันรูปนี้มิเคยพบที่รบศึก |
สุดจะฝึกสอนให้เจ้าไอศวรรย์ |
แต่หากว่าถ้าให้มีไมตรีกัน |
พอจะผันผ่อนได้ดังใจปอง ฯ |
๏ นางฟังคำขามเขินสะเทิ้นคิด |
พูดถูกจิตคิดระคายซังตายสนอง |
เมื่อคิดอ่านการศึกด้วยตรึกตรอง |
ทั้งพวกพ้องเสนาพระบาลี |
ให้สร้างเมืองใหม่รบสมทบทัพ |
จนศึกกลับข้ามคุ้งถึงกรุงศรี |
ครั้นต้านต่อล่อลวงได้ท่วงที |
เขาเป่าปี่ห้ามทัพให้หลับไป |
เป็นสุดคิดจิตฉันให้อั้นอ้น |
จะแก้กลการศึกนึกไฉน |
ขอพึ่งพระอนุกูลอย่าสูญใจ |
ช่วยแก้ไขคิดบำรุงกรุงลังกา ฯ |
๏ พระบาลีมีจิตคิดสงสาร |
แจ้งวิจารณ์ทางธรรม์ด้วยหรรษา |
เพราะมีหูอยู่ก็ปี่มีศักดา |
แม้หูหาไม่ปี่ไม่มีฤทธิ์ |
วิสัยคนทนคงเข้ายงยุทธ์ |
ฤทธิรุทรแรงร้ายกายสิทธิ์ |
แม้เพลิงกาฬผลาญแผ่นดินสิ้นชีวิต |
อำนาจฤทธิ์ย่อมแพ้แก่ปัญญา |
เชิญไปฟังสังฆราชพระบาทหลวง |
อย่าเพ่อล่วงความคิดเป็นศิษย์หา |
แม้ศึกเสือเหลือขนาดจึงอาตมา |
จะอาสาหาบหามตามกำลัง |
แต่เดี๋ยวนี้ศรีสวัสดิ์พลัดทหาร |
ไม่แจ้งการดีร้ายข้างภายหลัง |
เสด็จไปให้ถึงเขตนิเวศน์วัง |
อย่ารอรั้งราชการจะนานวัน ฯ |
๏ นางคำนับรับคำแล้วร่ำว่า |
ไปเบื้องหน้าโปรดด้วยจงช่วยฉัน |
จะขอลาฝ่าเท้าพระนักธรรม์ |
ไปเขตคันคิดบำรุงกรุงลังกา |
แต่นารีพี่น้องทั้งสองนี้ |
ดิฉันมีใจรักเป็นหนักหนา |
จะขอเลี้ยงเคียงชิดเหมือนธิดา |
จงโปรดปรานีให้เหมือนใจปอง ฯ |
๏ พระบาลีดีใจให้อนุญาต |
พลางโอวาทฝากฝังนางทั้งสอง |
แล้วก็พานารีทั้งพี่น้อง |
เข้าในห้องให้ตำราวิชาการ |
กลสตรีวิสัยในมนุษย์ |
ให้สิ้นสุดสอนสั่งเหมือนดังหลาน |
แล้วเขียนหนังสือลับพับเหล็กลาน |
กลการลึกล้ำที่สำคัญ |
ให้สองนางพลางว่ารักษาไว้ |
ต่อเมื่อไรรบรับถึงขับขัน |
ดูหนังสือมือเสื้อที่ใส่นั้น |
จึงผ่อนผันคิดความตามอุบาย ฯ |
๏ ทั้งสองนางต่างคำนับรับหนังสือ |
เอาใส่มือเสื้อไว้มิให้หาย |
แล้วก็พามานั่งบัลลังก์ราย |
อวยถวายพี่น้องทั้งสองรา |
แล้วตีกลองร้องเรียกพวกชาวบ้าน |
มากราบกรานเตรียมกายทั้งซ้ายขวา |
กระบวนแห่แลกลาดดาษดา |
ด้วยเหตุว่ารู้ขนบนั้นครบครัน |
รถม้าเทศลังกาฝากระจก |
เทียมม้าหกคู่ชักเหมือนจักรหัน |
ฉัตรระย้าจามรชอนตะวัน |
แต่ล้วนพรรณบุปผาสุมาลี |
เพราะเหตุว่าชาวบ้านนั้นสันทัด |
รู้จักจัดแจงประดับสลับสี |
มาเรียงเรียบเทียบรถริมคิรี |
พระบาลีทูลองค์นางนงลักษณ์ |
พวกชาวป่าเขามารับอยู่สรรพเสร็จ |
เชิญเสด็จกลับรักษาอาณาจักร |
จงเปรมปรีดิ์มีชัยวิไลลักษณ์ |
เป็นปิ่นปักปกเกล้าชาวลังกา ฯ |
๏ นางคำนับรับพรอ่อนศิโรตม์ |
แล้วออกโอษฐ์อวยสวัสดิ์มนัสสา |
ขอเป็นโยมโสมนัสด้วยศรัทธา |
จนชีวาวายวางในทางบุญ |
ขอพระองค์จงสบายอยู่ภายหลัง |
แม้พลาดพลั้งศึกเสือช่วยเกื้อหนุน |
ได้มาถึงพึ่งพาพระการุญ |
ไม่ลืมคุณคุ้มชีวันจนบรรลัย |
แล้วกราบลาพาสองพี่น้องหญิง |
ค่อยเลียบสิงขรเขินเนินไศล |
เห็นรถเรืองเครื่องบุปผาสุมาลัย |
ทั้งชาวไพรพร้อมกันอัญชลี |
นางโฉมยงทรงรถกระจกระจ่าง |
ทั้งสองนางนั่งหน้าเป็นสารถี |
ทหารโห่โกลาพนาลี |
สองนารีขับรถบทจร |
กระบวนแห่แตรสังข์ระฆังฆ้อง |
เสียงกึกก้องกลางทางหว่างสิงขร |
มีธงดำนำหน้าพลากร |
ประทับรอนแรมมาหลายราตรี |
ถึงแดนถ้ำกลำพันตะวันพลบ |
เงียบสงบสงัดป่าพนาสี |
อันเนื้อนกลิงค่างบ่างชะนี |
ไม่เห็นมีเหมือนทุกแห่งให้แคลงใจ |
จึงเอื้อมอรรถตรัสสั่งให้รั้งรถ |
ริมบรรพตเชิงผาพออาศัย |
พวกโยธีตีฆ้องบ้างกองไฟ |
ระวังระไววงเวียนผลัดเปลี่ยนกัน ฯ |