- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง | เมื่อเสียท่วงทีทัพไม่หลับใหล |
นำมังคลาพาตรงเข้าพงไพร | ค่ำมืดไม่เห็นหนตำบลทาง |
เที่ยวบุกป่าฝ่าหนามลงข้ามห้วย | เป็นตรอกตรวยโตรกชะง่อนสิงขรขวาง |
ถึงเขามฤคดึกดื่นหยุดยืนคราง | พอแลเห็นเป็นสว่างข้างบรรพต |
เหมือนโคมใหญ่ไฟเดินบนเนินเขา | คิดว่าเข้าเขตตำบลชนบท |
เขม้นดูอยู่ประเดี๋ยวเดินเลี้ยวลด | ลับบรรพตแล้วสว่างรางรางมา |
จะปีนขึ้นไปไต่ถามเมื่อยามดึก | เห็นเหวลึกแลเวิ้งกระเพิงผา |
พอโคมใกล้ไฟสว่างกระจ่างตา | พระมังคลาเห็นคนบนคีรี |
จะขึ้นไปไม่ถึงจึ่งร้องถาม | ตำแหน่งนามแนวป่าพนาศรี |
ทั้งบาทหลวงลวงล่อขออัคคี | ใคร่เห็นหน้าพาทีไต่ถามความ ฯ |
๏ ยุเรเด่นเป็นผู้รู้วิเศษ | คิดสมเพชมังคลาที่มาถาม |
จึงว่าท่านผ่านพาราสง่างาม | ไม่ถือตามเยี่ยงอย่างในทางธรรม์ |
ครั้นผู้รู้อยู่ด้วยได้ช่วยสอน | ไม่หยุดหย่อนยังจะฆ่าให้อาสัญ |
หูก็ชั่วตัวก็ชาติฉกาจฉกรรจ์ | ใจก็ฟั่นเฟือนคลั่งไม่ฟังดี |
เขายุมั่งทั้งเขายอสู้พ่อแม่ | ก็พ่ายแพ้พากันด้นซุกซนหนี |
อย่าเดาเดินเกินไปทางไม่มี | ไปทางปีมะโรงวันจันทวา |
ฝ่ายบาทหลวงล่วงรู้ผู้วิเศษ | แกล้งบอกเหตุให้เราคิดปริศนา |
มะโรงงูอยู่ข้างใต้ไปคงคา | จันทวาว่าจะปะกษัตรี |
จึ่งพาพระมังคลาเจ้าฝาหรั่ง | กลับย้อนหลังมาหนทางหว่างวิถี |
เป็นทางใหญ่ไปทักษิณค่อยยินดี | เหมือนผู้วิเศษแจ้งแสดงทาง |
พอเดือนขึ้นชื่นใจแกได้เห็น | หนทางเป็นป่าชัฏไม่ขัดขวาง |
รีบเดินดุ่มพลุ่มพล่ามไปตามทาง | พอสว่างเวลารุ่งราตรี |
ขึ้นไปส่องกล้องดูบนภูเขา | รู้ว่าเข้าแขวงเขตเมืองเศรษฐี |
จึ่งบอกพระมังคลาเจ้าธานี | บ้านนี้มีแต่แม่ม่ายผัววายวาง |
ชื่อนางเซียมวิไลจะไปหา | ได้พึ่งพาสารพัดไม่ขัดขวาง |
เอ็งคอยกูอยู่ที่โขดโบสถ์วัดร้าง | แล้วลงทางอ้อมมาตามหน้าเนิน ฯ |
๏ ด้วยรู้หลักนักปราชญ์เป็นบาทหลวง | คนทั้งปวงฝ่ายฝรั่งสังรเสริญ |
เมียเศรษฐีดีใจปราศรัยเชิญ | บาทหลวงเดินขึ้นบันไดมิได้ยั้ง |
นั่งเก้าอี้ที่กลางตึกกว้างใหญ่ | นางเซียมวิไลไหว้แล้วถามเนื้อความหลัง |
เจ้าคุณมาว่ากรุงไรเล่าให้ฟัง | ไม่เห็นทั้งศิษย์หามาแต่องค์ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง | ไม่ล่อลวงเล่าความตามประสงค์ |
ประดักประเดิดเกิดการราญณรงค์ | ต้องช่วยองค์มังคลาเจ้าธานี |
ด้วยทัพแตกแยกย้ายพลัดพรายหมด | เที่ยวเลี้ยวลดหลงทางกลางวิถี |
เจ้าช่วยเจ้าชาวฝรั่งไว้ครั้งนี้ | อย่าให้มีอันตรายถึงวายปราณ ฯ |
๏ นางเซียมวิไลได้ฟังพระสังฆราช | เสียดายชาติเชื้อวงศ์นึกสงสาร |
จึงตอบว่าถ้าพระเห็นจะเป็นการ | จะให้ฉานช่วยนั้นทำฉันใด |
จะทำตามความสั่งพระสังฆราช | เฉลียวฉลาดแล้วแต่จะแก้ไข |
บาทหลวงว่ามาเดี๋ยวนี้ไม่มีใคร | ขออาศัยสักสี่ห้าทิวาวัน |
แล้วจะไปไกล่เกลี่ยเที่ยวเกลี้ยกล่อม | ได้รวมรอมพร้อมพหลพลขันธ์ |
คิดแยบยลกลอุบายให้หลายชั้น | ไม่ละกันแก้เผ็ดให้เข็ดมือ |
นางแม่ม่ายหมายจะใคร่ได้ความชอบ | เห็นเธอรอบรู้เหลือก็เชื่อถือ |
เคยคิดอ่านการศึกเคยฝึกปรือ | เขาออกชื่อลือทั้งเมืองลังกา |
จึงจัดแจงแต่งตึกตุ้งเตียงตั้ง | ลับแลบังฉากฉายลายเลขา |
แล้วไปเชิญเสด็จพระมังคลา | ลอบเข้ามายามดึกอยู่ตึกกลาง |
แล้วจัดแจงแต่งตั้งโต๊ะถวาย | นางแม่ม่ายปรนนิบัติไม่ขัดขวาง |
มีลูกสาวขาวสลวยสวยสำอาง | อายุนางได้สิบห้าชื่อยาใจ |
ให้ใช้สอยคอยระวังตั้งพระศรี | ช่วยพัดวีกิริยาอัชฌาสัย |
บาทหลวงมือถือกล้องจ้องจุดไฟ | เคลิ้มหลับไปไม่ทันได้ฉันยา ฯ |
๏ แต่องค์เจ้าชาวฝรั่งกำลังรุ่น | เห็นสาวเสียวเฉียวฉุนเสนหา |
ทำเหมือนเมื่อยเหนื่อยใจพลิกไปมา | เรียกนางยาใจเจ้าเยาวมาลย์ |
พี่เจ็บป่วยช่วยนวดหน่อยเถิดเจ้า | นางคุกเข่าคำนับรับบรรหาร |
ขึ้นบนเตียงเคียงองค์แล้วนงคราญ | ช่วยอยู่งานนวดฟั้นให้บรรทม ฯ |
๏ พระมังคลาปราศรัยยาใจเอ๋ย | เป็นบุญเคยเชยชิดสนิทสนม |
พี่แสนโศกโรคช้ำระกำกรม | ได้เชยชมโฉมนางค่อยสร่างใจ |
แม้นเหมือนนึกศึกเสร็จสำเร็จแล้ว | ไม่ลืมแก้วกลอยจิตพิสมัย |
จะรับเจ้าเข้าไปเลี้ยงไว้เวียงชัย | นะยาใจเจ้าอย่าหมองละอองนวล |
พลางสวมสอดกอดเกยชมเชยโฉม | ปลอบประโลมลูบต้องของสงวน |
นางถอยถดลดเลื่อนเบือนกระบวน | ฉันไม่ควรเคียงคู่อดสูใจ |
จะขอเป็นเช่นข้าฝ่าพระบาท | อย่ามุ่งมาดหมายคิดพิสมัย |
พลางเบือนบิดปิดป้องทำนองใน | พระเคล้นไคล้คลึงเคล้าเยาวมาลย์ |
ถนอมนวลชวนชิดจุมพิตพักตร์ | ร่วมภิรมย์สมรักสมัครสมาน |
อัศจรรย์นั้นก็ไม่ใคร่ได้การ | เหมือนตำนานนางกระตั้วไม่กลัวตาย |
จะแทงกระบือถือหอกทำกลอกกลับ | เขย่งขยับขยั้นเขยื้อนไม่เหมือนหมาย |
ได้ทีแทงแกล้งกระทุ้งถูกพุงควาย | ทะลักทลายเลือดนองในท้องนา ฯ |
๏ เมื่อสองสมชมชิดสนิทเสน่ห์ | ไม่ขัดขวางห่างเหเสนหา |
นางอิงแอบแนบนั่งพระมังคลา | ประโลมยาใจหลับอยู่กับเตียง |
พอล่วงสามยามดึกตึกฝรั่ง | เคาะระฆังหง่างเหง่งวังเวงเสียง |
บาทหลวงตื่นฟื้นนั่งตั้งตะเกียง | สูบกล้องเอียงเอนเอกเขนกนึก |
คิดคะนึงถึงตำหรับฉบับแบบ | จะแฝงแอบแยบยลกลศึก |
ดูเขตแดนแผนที่มีจารึก | แล้วนิ่งตรึกตรองความตามกำลัง |
คิดขึ้นได้ในตำราม้ากินสวน | เห็นจะควรทำได้เหมือนใจหวัง |
ตราราหูอยู่กับเราเขาคงฟัง | นับถือทั้งจังหวัดปัถพี |
จึงเรียกนางเซียมวีไลมาในตึก | บอกตื้นลึกเล่าเหตุเมียเศรษฐี |
ช่วยคิดให้ได้กำลังในครั้งนี้ | จะได้มีความชอบประกอบไว้ |
คำบุราณท่านว่าผู้รู้แต่งเพชร | ให้แจ่มเม็ดเก็จกะรัตสิ้นปัดไถม |
เนื้อผ่องแผ้วแล้วจะขายจำหน่ายไป | ได้กำไรร้อยส่วนก็ควรทำ |
หนึ่งผู้รู้ผู้มีชื่อคือกษัตริย์ | เมื่อเศร้าหมองข้องขัดช่วยอุปถัมภ์ |
ให้กลับฟื้นขึ้นเช่นพลอยเหมือนถ้อยคำ | เป็นคุณล้ำเหลือล้นคณนา |
ครั้งนี้เล่าเจ้าเมืองมาเคืองขุ่น | เจ้ากับบุตรอุดหนุนคุณหนักหนา |
จะขอลำกำปั่นจงกรุณา | ให้มังคลาไปสักลำเป็นกำลัง |
กับบ่าวไพร่ใช้สอยสักร้อยหนึ่ง | เงินทองซึ่งจะได้ใช้เหมือนใจหวัง |
เมืองน้อยใหญ่ใต้เหนือเคยเชื่อฟัง | คงจะตั้งตัวได้ดั่งใจนึก ฯ |
๏ นางคิดเห็นเป็นชอบตอบสนอง | อันเงินทองของฉันมีอยู่มิตรึก |
พระคิดอ่านการทำเหลือล้ำลึก | คงสมนึกเหมือนหนึ่งคาดไม่คลาดคลาย |
ลำกำปั่นนั้นก็มีแล้วดีฉัน | จะจัดสรรให้ได้สมอารมณ์หมาย |
ว่าแล้วลามานั่งที่เก้าอี้ลาย | ร้องเรียกนายรองมาค่อยพาที |
ให้แต่งลำกำปั่นรำพันสั่ง | ต้นหนทั้งล้าต้ากะลาสี |
ใส่ข้าวปลาสารพัดจัดให้ดี | เงินสักสี่พันชั่งใส่ถังไป |
นายรองรับกลับออกมาบอกบ่าว | ไปปากอ่าวแต่งลำกำปั่นใหญ่ |
ใส่ข้าวน้ำลำเลียงพร้อมเพรียงไว้ | ทั้งต้นหนคนใช้เคยไปมา ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อวรนาถกับบาทหลวง | ค่อยสร่างทรวงสมมาดปรารถนา |
ทั้งสองนางต่างไปส่งลงนาวา | พระจดหมายใส่ศิลาจารึกไว้ |
ความชอบของสองนางเป็นอย่างยิ่ง | เขียนแล้วทิ้งไว้ที่ท่าชลาไหล |
พอฤกษ์ดีมีลมมาสมใจ | ใช้ใบไปไกลฝั่งฟากลังกา |
บาทหลวงนั่งตั้งเข็มออกเล็มแล่น | ไปตามแผนที่ทางต่างภาษา |
แล้วพระฝรั่งทั้งพระมังคลา | อยู่ท้ายบาหลีตามความสบาย ฯ |
๏ จะกล่าวผู้รู้ซึ่งพาวลานั้น | กับวายุพัฒน์หัสกันลอบผันผาย |
ได้พึ่งพามาเมื่อคราวเป็นเจ้านาย | ต่างเลี้ยวลัดพลัดพรายแยกย้ายไป |
เจนธนูผู้พาวลานั้น | เดินสารกำปั่นอังกฤษไปทิศใต้ |
ถึงเขตพราหมณ์นามบุรินทร์เมืองสินชัย | ขึ้นอาศัยวัดพราหมณ์อยู่ตามจน |
อันเจนธนูรู้เวทวิเศษขลัง | รู้กำลังลมคล่องรู้ล่องหน |
รับจ้างเขาเช้าเย็นเที่ยวเล่นกล | ได้เลี้ยงตนปรนนิบัติกษัตรา |
สุริยันนั้นก็พาวายุพัฒน์ | ไปทางปัศจิมทิศถิ่นมิจฉา |
ขึ้นเมืองเซ็นเป็นคู่ชังกับลังกา | มีวิชาบังเหลื่อมหลบเลื่อมไป |
กับลูกศิษย์คิดเช่าตึกเขาอยู่ | ทำหมอดูรู้วิธีคัมภีร์ไสย |
ทายผู้ใดไม่ผิดเขาติดใจ | ได้เงินใช้ซื้อเสบียงพอเลี้ยงกัน |
สุบันเยเร่เที่ยวลดเลี้ยวลัด | พาพระหัสกันไปในไพรสัณฑ์ |
ขึ้นฝ่ายเหนือไปกับเรือกปิตัน | ถึงเขตขัณฑ์แขกทมิฬเมืองอินทรา |
เช่าตึกที่ยิหว่านอยู่บ้านแขก | ด้วยแต่แรกรุ่นมาอยู่รู้ภาษา |
เคยเที่ยวมากพากเพียรเรียนวิชา | บังนิทราปรากฏได้ทดลอง |
ทำหมอยาผ่าฝีหุงสีผึ้ง | ใครมาถึงชายหญิงให้สิ่งของ |
ใครเจ็บมาหาไปให้เงินทอง | อยู่แต่สองคนกับพระหัสกัน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาเจ้าฝาหรั่ง | เสียเวียงวังวิโยคเศร้าโศกศัลย์ |
สิ้นห้ามแหนแสนสุรางค์นางกำนัล | ทุกคืนวันว้าเหว่อยู่เอกา |
กำปั่นใช้ใบเปลี่ยวลำเดี่ยวโดด | ให้ลิงโลดเหลียวแลชะแง้หา |
คิดคะนึงถึงพระน้องสองนัดดา | อยู่ไกลตาตายเป็นไม่เห็นกัน |
ใคร่แจ้งความถามฝรั่งพระสังฆราช | พระน้องนาถนัดดาจะอาสัญ |
หรือจะต้องจองจำทำโทษทัณฑ์ | จะพบกันหรือจะสูญตระกูลไป |
บาทหลวงนับจับยามบอกความว่า | มีผู้พาผันแปรช่วยแก้ไข |
ยังอยู่ดีชีวันไม่บรรลัย | คงจะได้พบกันเป็นมั่นคง |
พระนิ่งนั่งฟังครูเคยดูแน่ | ตะลึงแลลานจิตพิศวง |
ถึงเคราะห์ร้ายพรายน้ำขึ้นลำทรง | พอพลบลงลมกล้าสลาตัน |
เสียงตึงตึงฮึงฮือกระพือพัด | หางเสือสะบัดพลัดเพล่เรือเหหัน |
ใบฉลีกฉีกขาดคลื่นฟาดฟัน | โยนกำปั่นโงงเงงโคลงเคลงคลอน |
เสียงลมลั่นครั่นครึกจนดึกดื่น | ทะมื่นทื่นคลื่นกลิ้งเท่าสิงขร |
เรือก็โผนโยนโขยกกระโดกกระดอน | คนขึ้นนอนเปลแกว่งพลิกแพลงโยน |
ยิ่งดึกดื่นคลื่นลมระดมหนัก | หางเสือหักกรอบกระเด็นเรือเผ่นโผน |
ทั้งเสาใบไพล่เพลี่ยงเอนเอียงโอน | พยุโยนยามดึกเสียงครึกครื้น |
พวกไพร่พลบนลำล้มคว่ำหงาย | หมายว่าตายหลับตาไม่ฝ่าฝืน |
ไปแต่ลำกำปั่นหลายวันคืน | คนได้กลืนแต่ข้าวตังประทังทน |
ถึงสามเดือนเคลื่อนคล้อยลมค่อยสร่าง | ดูอ้างว้างกลางทะเลระเหระหน |
คลื่นส่งเข้าอ่าวเพชรเมืองกำพล | เป็นเขตคนพ้นถิ่นแผ่นดินแดง |
วิสัยเขาชาวบุรินทร์ไม่กินสัตว์ | กินสารพัดผลผลาล้วนกล้าแข็ง |
เมืองนั้นตั้งฝั่งน้ำก่อกำแพง | เรือนตึกแต่งตั้งรอบข้างขอบริม |
ภูมิ์ประเทศเพชรนิลนากทองเกิด | เหล็กก็เลิศเหลือดีไม่มีสนิม |
ชาวบุรีสีเหมือนกับเม็ดทับทิม | อยู่ทิศใต้ไปถึงริมหิมพานต์ |
พอเรือพลัดซัดเข้าปากอ่าวใหญ่ | ขึ้นอาศัยอยู่กินตั้งถิ่นฐาน |
อังกฤษฝรั่งทั้งแขกแตกวงศ์วาน | สืบลูกหลานหลายแสนอยู่แน่นนันต์ |
อันองค์ท้าวเจ้าเมืองเรืองพระยศ | มีเหล็กกรดแดงก่ำทำพระขรรค์ |
ฟันที่ไหนไฟโพลงโขมงควัน | ทุกเขตขัณฑ์ขามขยาดฤทธิ์สาตรา |
อันพระองค์ทรงนามรามเดช | อัคเรศร่วมจิตชื่อกฤษณา |
อายุท้าวเก้าสิบเก้าเฒ่าชรา | นางพระยาแปดสิบพอดิบพอดี |
ด้วยเมืองกำพลเพชรเพศพิสัย | จำเพาะให้คู่ครองกันสองศรี |
แต่เป็นคู่อยู่มากว่าห้าสิบปี | มิได้มีหน่อนาถราชธิดา ฯ |
๏ ฝ่ายเรือพระมังคลามาถึงฝั่ง | พวกฝรั่งลงมาถามตามภาษา |
ครั้นรู้ว่าฝรั่งเมืองลังกา | ต่างพูดจาปราศรัยเป็นไมตรี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระสังฆราชผู้บาทหลวง | รู้ดูดวงทวาทศราศี |
เคยแจ้งเรื่องเมืองกำพลค้นคัมภีร์ | ได้แผนที่คลี่ดูก็รู้ความ |
เจ้าเมืองนี้มีพระขรรค์นั้นเป็นกรด | จึงปรากฏทศทิศต่างคิดขาม |
แต่นิ่งนึกตรึกตรองสักสองยาม | เห็นดาวอร่ามรายเร่ขึ้นเมฆิน |
ดูดวงดาวเจ้าเมืองเรืองริบหรี่ | ตกริมที่เธอสำนักทิศทักษิณ |
จับยามดูรู้ว่าดาวเจ้าแผ่นดิน | จะสูญสิ้นชันษาในห้าวัน |
แล้วดูดาวเจ้าเกาะลังกาทวีป | ดังประทีปรัศมีเป็นสีสัน |
แม้นได้กำพลเพชรเป็นเขตคัน | ก็เหมือนกันกับลังกาอยู่ฝ่ามือ |
แม้นท้าวตายฝ่ายพระมเหสี | จะแทนที่บังคับคนนับถือ |
จะรบหญิงชิงเมืองให้เลื่องลือ | เห็นเหลือมือจะไม่ได้ดังใจปอง |
ถึงสาวแก่แต่สตรีเป็นวีสัย | ถ้าแม้นม่ายมีผัวคงมัวหมอง |
แม้นรักใคร่ได้เป็นชู้เป็นคู่ครอง | คงได้ของอื่นสิ้นเหมือนกินทิพ |
แต่มังคลาอายุได้สิบเก้า | ฝ่ายอีเฒ่าแก่แรดได้แปดสิบ |
เปรียบเหมือนอย่างห่างแหแลลิบลิบ | แต่ว่าหยิบไม่เป็นผงคงเป็นการ |
ด้วยสามัญตัณหามันตาบอด | เป็นอย่างยอดอยู่เพียงรักสมัครสมาน |
คนแก่มักรักหนุ่มตุ่มน้ำตาล | มันคงหวานเฉื่อยชิมไม่อิ่มใจ |
จึ่งปลุกพระมังคลาสานุศิษย์ | เข้านั่งชิดชี้แจงแถลงไข |
เจ้าเมืองนี้ชีวันจะบรรลัย | เมียจะได้ครองเมืองรุ่งเรืองยศ |
เองเกี้ยวพาราสีเอาอีเฒ่า | เถิดจะเอาอะไรคงได้หมด |
เหมือนขยำน้ำตาลให้ทานมด | มันไม่อดได้ดอกวะคงจะรวย ฯ |
๏ พระมังคลาน่าเกลียดรังเกียจจิต | จะเชยชิดแก่เกินให้เขินขวย |
ไม่ชอบในใจเธอไม่เอออวย | บาทหลวงช่วยสั่งสอนให้อ่อนใจ |
เราเสียทัพยับย่อยต้องน้อยหน้า | ไม่มีสุขทุกเวลาน้ำตาไหล |
เสียเวียงวังลังกาเสียข้าไท | ต้องต่ำไร้ไม่มีที่พึ่งพา |
แม้นได้นางอย่างนี้เป็นที่พึ่ง | ก็เหมือนหนึ่งได้แก้วแววเวหา |
ได้กลับไปได้ทั้งเมืองลังกา | ได้แก้หน้าปรากฏยศไกร |
ถึงแก่เฒ่าเล่าก็ดีกว่าอีสาว | ได้ยืดยาวอย่างนี้จะมีไหน |
เหมือนเกลือเค็มเต็มกลืนต้องขืนใจ | มันก็ไม่สึกหรอหัวร่อพลาง ฯ |
๏ พระเห็นควรสรวลสันต์ว่าฉันนี้ | คุณเห็นดีสารพัดไม่ขัดขวาง |
แต่แสนยากหากว่าจะพบปะนาง | จะพูดอย่างไรดีฉันมิเคย |
พระฝรั่งยังไม่รู้เกี้ยวผู้หญิง | จนใจจริงนิ่งเอกเขนกเฉย |
จึงว่ากูครูเฒ่าก็เปล่าเลย | ยังไม่เคยเลยเจียววะมังคลา |
แต่คิดเห็นเป็นเด็กยังเล็กอยู่ | เป็นลูกเลี้ยงเลี่ยงดูไปสู่หา |
ช่วยนวดฟั้นหมั่นดูชายหูตา | ทั้งอุตส่าห์สอพลอเข้าคลอเคลีย |
ถึงแก่เฒ่าเข้าเชิงละเลิงหลง | มันก็คงแย้มยิ้มอะลิ้มเอลี่ย |
เรียกแม่แม่แต่ที่ลับกลับเป็นเมีย | มันไม่เสียได้ดอกเห็นจะเป็นการ |
พลางสำรวลสรวลสันต์รำพันสอน | หายหาวนอนผ่อนทุกข์สนุกสนาน |
ด้วยเคยสนิทศิษย์หากับอาจารย์ | นั่งคิดอ่านจนเวลารุ่งราตรี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้ากรุงบำรุงราษฎร์ | ชะตาขาดขุ่นข้องให้หมองศรี |
พอลุกยืนขึ้นก็ล้มสิ้นสมประดี | ประชวรสี่ห้าวันสวรรคต |
นางพระยาอาดูรพูนเทวษ | เหมือนกรเกศกายหลุดสุดสลด |
ทั้งเสนามาพร้อมน้อมประณต | ต่างกำสรดแซ่เสียงทั้งเวียงวัง |
แล้วเชิญพระศพเข้าไปไว้ในถ้ำ | เหมือนเคยทำเยี่ยงอย่างแต่ปางหลัง |
ครั้นเสร็จกิจปิดถ้ำที่กำบัง | แล้วแต่งตั้งนางพระยาครองธานี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงนงลักษณ์อัคเรศ | อยู่นิเวศน์วังราชปราสาทศรี |
สะอื้นโอ้โศกาทุกราตรี | ถึงสามีมรณาสี่ห้าวัน |
เมื่อผู้ชายหมายคิดพิศวาส | เข้าไสยาสน์หลับสนิทนิมิตฝัน |
ว่านาคาน่ากลัวตัวหนึ่งนั้น | หางยังพันผูกฝั่งข้างลังกา |
เศียรกระหวัดรัดนางในปรางค์มาศ | เลื้อยลีลาศลอยเร่ขึ้นเวหา |
พอรู้สึกนึกดูรู้ตำรา | อันนาคาคนรักประจักษ์ใจ |
เมื่อคราวสาวท้าวไทจะไปหา | ก็ฝันว่างูขบสลบไสล |
นึ่ก็แก่แต่ชีวันจะบรรลัย | จะมีใครเหมือนเมื่อคราวสาวสำรวย |
หรือฝรั่งลังกาจะมามั่ง | คะนึงนั่งนึกสะเทิ้นให้เขินขวย |
แม้นเหมือนครั้งยังหนุ่มกระชุ่มกระชวย | จะเห็นด้วยฝันเห็นเคยเป็นมา |
ถึงเฒ่าแก่แต่ไม่ตายทั้งชายหญิง | ไม่สิ้นสิ่งสังวาสปรารถนา |
ลืมร้องไห้ใคร่ครวญจวนเวลา | ออกนั่งหน้าแท่นสุวรรณบนบัลลังก์ |
นางตรัสถามความอาณาประชาราษฎร์ | ช่วยชี้ขาดขัดขวางเหมือนปางหลัง |
ความแผ่นดินสิ้นข้อยังรอฟัง | ล่ามฝรั่งทูลเรื่องเมืองลังกา |
พระมังคลาอายุได้สิบเก้า | ซึ่งเป็นเจ้าสิงหลภาษา |
เสียบ้านเมืองเคืองขัดพลัดพารา | เหลือแต่ตราราหูคู่นคร |
บาทหลวงพามาถึงกรุงเพราะมุ่งมาด | พึ่งพระบาทบุญฤทธิ์อดิศร |
แม้นข้าศึกฮึกหาญมาราญรอน | จะวายร้อนเพราะพระคุณกรุณา |
แม้นโปรดรับดับเข็ญให้เย็นอก | เหมือนชนกชนนีที่รักษา |
แม้นขัดข้องสองเสด็จไม่เมตตา | จะขอลาไปเสียให้พ้นไพรี ฯ |
๏ นางฟังความหวามไหวฤทัยถวิล | เหมือนสุบินจินตนามารศรี |
มิรับรักผลักไสก็ไม่ดี | ด้วยว่าหนีร้อนจึ่งมาพึ่งเย็น |
จึ่งบัญชาว่าฝรั่งสังฆราช | พาหน่อนาถหนีทุกข์เกิดยุคเข็ญ |
จะช่วยรับดับร้อนอย่าซ่อนเร้น | นึกเหมือนเช่นเป็นตระกูลประยูรวงศ์ |
ด้วยตกยากบากหน้าจะมาพึ่ง | ให้สมซึ่งสุจริตคิดประสงค์ |
ให้หายเหนื่อยเมื่อยล้าจึงพาองค์ | ผู้ดำรงนครามาพาที |
เสนารับสรรพเสร็จเสด็จกลับ | เข้าห้องหับแกลทองให้หมองศรี |
ยามรำลึกตรึกตราถึงสามี | ก็โศกีกำสรดสลดใจ |
ครั้นรำพึงถึงฝันกระสันสวาท | จะเหมือนคาดหรือจะผิดคิดสงสัย |
ด้วยเฒ่าแก่แม่ม่ายแล้วภายใน | มักเหมือนไกกลฝรั่งกำบังตา ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง | เห็นได้ท่วงทีจะได้เข้าไปหา |
ไม่หลับนอนสอนสั่งพระมังคลา | ให้เอาตราไปถวายธิบายวอน |
บอกเสน่ห์เล่ห์กลทั้งมนตร์เวท | ประสมเนตรผูกจิตประสิทธิ์สอน |
หน่อนรินทร์ยินดีชุลีกร | เหมือนไก่อ่อนจะไปสู้ไอ้อูโต |
ขอสมมาดปรารถนาสาธุสะ | ด้วยเดชะพระมหายะวาโห |
ได้บ้านเมืองเรืองฤทธิ์อิศโร | จะเชือดโคควายบูชาสิบห้าวัน |
พอเช้าสายฝ่ายพระหน่อวรนาถ | ขึ้นนั่งอาสน์อ่าองค์สรงน้ำกลั่น |
ทรงสุคนธ์ปนทองคำเจืออำพัน | กระแจะจันทน์น้ำกุหลาบรินอาบองค์ |
ตั้งคันฉ่องส่องพระหัตถ์ผัดนลาฏ | เป็นนวลเนื้อเชื้อชาติราชหงส์ |
สวมสนับจับกระหวัดจัดประจง | แล้วสอดทรงเสื้อสุวรรณพรรณราย |
สวมพระมาลาสลับประดับเพชร | แต่ละเม็ดเก็จกะรัตจำรัสฉาย |
ใส่เกือกเพชรเก็จแก้วแพรวพรอยพราย | กระสันสายรัดองค์อลงการ์ |
ครั้นเสร็จสรรพกับทั้งฝรั่งล่าม | กับบ่าวตามถือกล้องพานรองสลา |
ผ่ายพระองค์ทรงประคองหีบรองตรา | กับดอกไม้ใช้ปัญญามณฑาทอง |
แต่ดอกเดียวเจียวจะได้ไปถวาย | ให้คิดเห็นเป็นอุบายไม่หมายสอง |
ไปหน้าวังทั้งล่ามตามทำนอง | ทูลฉลองนางพระยาให้มารับ |
ขึ้นเฝ้าองค์นงคราญที่ชานพัก | อยู่พร้อมพรักสาวแส้เถ้าแก่กำกับ |
พระมังคลาฝรั่งนั่งคำนับ | นางต้อนรับเรียกให้นั่งบัลลังก์ทอง |
ดูเหมือนหุ่นรุ่นหนุ่มกะนุ่มกะนิ่ม | นั่งแย้มยิ้มอิ่มเอี่ยมไม่เทียมสอง |
พระเห็นเฒ่าเจ้าเมืองชำเลืองลอง | พอเนตรต้องเนตรนางชายหางตา |
พลางยิ้มเยื้อนเอื้อนอ่อนวอนว่าขาน | เสียถิ่นฐานสุริย์วงศ์เผ่าพงศา |
มาเฝ้าพระชนนีมีแต่ตรา | กับมณฑาดอกเดียวด้วยเปลี่ยวใจ |
ขอถวายหมายมาดว่าชาตินี้ | พระเป็นที่พึ่งพักจนตักษัย |
พลางนบนอบยอบองค์ตรงเข้าไป | ชูดอกไม้ยื่นถวายชายชำเลือง ฯ |
๏ นางแม่รับกับพระหัตถ์แล้วตรัสว่า | ดอกมณฑากลีบแซมแฉล้มเหลือง |
ให้พ่อได้ไอศูรย์จำรูญเรือง | อย่าขัดเคืองเบื้องหน้าจงถาวร |
พระคำนับรับสั่งนั่งท้าวแขน | อยู่ริมแท่นที่สุวรรณบรรจถรณ์ |
ดูงามคมสมคนแก่ไม่แง่งอน | สงสารอ่อนหล่อนคนซื่อไม่ถือยศ |
น่าเอ็นดูอยู่กับแม่แน่แล้วหนา | ได้เห็นหน้ากว่าชีวิตจะปลิดปลด |
จะถนอมกล่อมเกลี้ยงเพียงโอรส | อย่าระทดทุกข์ใจเวียนไปมา |
แล้วสั่งเหล่าเถ้าแก่หลวงแม่เจ้า | อ่อนจะเข้าเมื่อไรไปมาหา |
อย่าห้ามปรามตามถนัดตามอัชฌา | แล้วว่าตราราหูคู่แผ่นดิน |
เอามาให้ไม่ควรสงวนไว้ | จะได้ใช้สอยสมอารมณ์ถวิล |
พระคงได้ไปลังกาครองธานินทร์ | บุญไม่สิ้นดอกอย่าได้เสียใจเลย |
แล้วสั่งให้ไปจัดสุพรรณภาชน์ | มะตูมมะตาดผลไม้มาให้เสวย |
ข้าวตอกข้าวเม่าข้าวต้มคลุกนมเนย | พระอิ่มเลยลามาพอสายัณห์ |
ลงเรือใหญ่ไหว้พระบาทหลวงถาม | จึงเล่าความตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ถึงเฒ่าแก่แต่เขาว่าเช่นปลามัน | ดวงตรานั้นไม่เอาไว้กลับให้คืน |
จะเข้านอกออกในมิได้ห้าม | สั่งว่าตามแต่ถนัดไม่ขัดขืน |
แต่ก่อนเกลือเหลือเค็มเห็นเต็มกลืน | จะต้องฝืนใจดื่มไม่ลืมตา ฯ |
๏ พระหัวร่อพ่อเองมีอีผีเสื้อ | ต้องชิดเชื้อเมื่อไปอยู่ในคูหา |
เองจงจำคำไพร่ชาวไร่นา | มันพูดจากันเล่นก็เห็นจริง |
จะดักลอบดักลันจงหมั่นกู้ | จะเกี้ยวชู้ก็อุตสาห์ไปหาหญิง |
แม้นเริศร้างห่างเหประเวประวิง | เหมือนน้ำกลิ้งใบบอนจำสอนใจ ฯ |
๏ ฝ่ายนางแก่แม่ม่ายรักชายหนุ่ม | เหมือนเพลิงรุมกลุ้มจิตพิสมัย |
จนยามดึกนึกคะนึงตะลึงตะไล | ชมดอกไม้มณฑาชื่นอารมณ์ |
ว่าดอกเดียวเจียวมาให้วางในหัตถ์ | เหมือนแกล้งตรัสปริศนาจะมาสม |
จะยอมตัวกลัวแต่พระจะไม่ชม | จะนิยมอย่างแม่ด้วยแก่เกิน |
จะชวนไว้ให้อยู่เช่นชู้ผัว | จะหมองมัวกลัวจะหมางจะห่างเหิน |
เดชะบุญคุณพระอย่าละเมิน | ช่วยชวนเชิญชอบชิดสนิทใน |
นางนิ่งนึกดึกดื่นสะอื้นอั้น | สู้กลืนกลั้นกลิ้งกลับไม่หลับใหล |
จนเช้าสายยายแก่แลอาลัย | สักเมื่อไรหนอจะมาตั้งตาคอย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อวรนาถขยาดหญิง | จนใจจริงจะต้องไปไห้ใช้สอย |
จึ่งแต่งองค์ทรงแฉล้มดูแช่มช้อย | หนุ่มน้อยน้อยน่ารักลักขณา |
เดินเข้าไปในวังหญิงทั้งหลาย | ต่างชม้ายชายชม้อยละห้อยหา |
ที่สาวแส้แลไปปะพอประตา | ทำมารยายิ้มแย้มกระแอมไอ |
พระขึ้นบนมนเทียรวิเชียรรัตน์ | นางกษัตริย์เห็นหน้าตรัสปราศรัย |
พระนบนอบยอบองค์ตรงเข้าไป | หมอบอยู่ให้ใกล้เคียงริมเตียงทอง |
จึงแกล้งว่าถ้าฉันไปไม่ได้เฝ้า | จะแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าให้เศร้าหมอง |
ได้เฝ้าแหนแสนสบายค่อยวายตรอง | จะได้สนองพระคุณคิดอุ่นใจ ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสตอบว่าขอบจิต | แสนสนิทชิดเชื้อเหมือนเนื้อไข |
แม้นไม่มีธุระการอะไร | มาอยู่ในราชฐานกับมารดา |
ด้วยตัวแม่แก่เฒ่าเฝ้าแต่ป่วย | พ่ออยู่ด้วยช่วยพิทักษ์ได้รักษา |
แม่หมายฝากซากผีฝากชีวา | ช่วยมารดาว่าขานการนคร |
พระทูลว่ามาอยู่วังแม้นพลั้งพลาด | ขอพระบาทมาตุรงค์ช่วยทรงสอน |
อย่าปลดเปลื้องเคืองขัดถึงตัดรอน | จนม้วยมรณ์มิให้ขาดราชการ |
นางว่าพ่อก็อุตส่าห์สามิภักดิ์ | จะฝังปลูกลูกรักไม่หักหาญ |
แล้วสั่งเหล่าสาวสรรค์พนักงาน | แต่งเครื่องอานถวายพระมังคลา |
อยู่ในวังดั่งเนื้อหน่อวรนาถ | สุดสวาทขาดจิตนางกฤษณา |
ฝูงค่อมเค้าสาวสรรค์กัลยา | ไม่สงกาว่าจะชิดสนิทใน |
ด้วยหนุ่มแก่แลเห็นคราวเหลนหลาน | ดูเกินการห่างเหินเกินสงสัย |
แต่ฝ่ายชายหมายเอาของที่ต้องใจ | หญิงจะใคร่ได้ผัวจึ่งพัวพัน |
พระมังคลาฝรั่งช่างฉอเลาะ | ประโลมประเหลาะลิ้นลมก็คมสัน |
อยู่ข้างแท่นแสนสบายมาหลายวัน | ค่อยรู้ชั้นเชิงชนเป็นคนเคย |
แต่ฝ่ายข้างนางพระยาชรารัก | เหมือนจั่นดักปักษาเปิดฝาเผย |
ไม่เข้าไปในจั่นไม่ลั่นเลย | ต่อเหยียบเกยไกหับจึ่งจับกาย ฯ |
๏ ครั้นเพลาราตรีศรีไสยาสน์ | พระหน่อนาถก้มกรานอยู่งานถวาย |
แล้วกล่าวแกล้งแสร้งเสเพทุบาย | เป็นผู้ชายอายเหลือน่าเบื่อใจ |
เป็นสตรีดีมากอยากเป็นหญิง | แล้วแกล้งนิ่งจะให้ถามตามสงสัย |
นางฟังคำล้ำลึกยิ่งตรึกไตร | ไม่แจ้งใจไต่ถามตามสงกา |
ไฉนหนอพ่อจะใคร่ได้เป็นหญิง | อยากเป็นจริงหรือประดิษฐ์ปริศนา |
พระนบนอบตอบรสพจนา | หม่อมฉันว่าหวังจะใคร่ใกล้พระองค์ |
ปรนนิบัติพัดวีบนที่แท่น | จะได้แทนพระคุณตามความประสงค์ |
เป็นผู้ชายหมายพระบาทมาตุรงค์ | ไม่จำนงปลงพระทัยสงสัยชาย |
นางว่าพ่อก็เป็นบุตรสุดสวาท | ควรร่วมอาสน์แอบชิดเหมือนคิดหมาย |
กลัวลูกรักจักรังเกียจจะเกลียดอาย | จึ่งเจียมกายฝ่ายข้างแม่นี้แก่ตัว |
แม้นจริงจังหวังจิตสนิทสนม | มาบรรทมเถิดพ่อคุณพ่อทูนหัว |
อย่าพ้อตัดขัดข้องอย่าหมองมัว | อย่าเกรงกลัวเลยพ่อมาเหมือนอารมณ์ ฯ |
๏ พระแช่มชื่นขึ้นบนแท่นทำแสนรัก | กอดสะพักจุมพิตสนิทสนม |
ฉันดีใจได้มาเรียงเคียงบรรทม | ได้เชยชมชนนีฉันมีบุญ |
ฉันเป็นลูกผูกจิตพิศวาส | อย่ากริ้วกราดโกรธเกรี้ยวอย่าเฉียวฉุน |
ถึงพระแม่แก่เฒ่าเจ้าประคุณ | ยังหอมกรุ่นอุ่นใจกระไรเลย |
นางแม่ม่ายชายต้องประคองกอด | ไม่พูดพลอดท้วงติงทำนิ่งเฉย |
พระหน่อหนุ่มกลุ้มจิตใคร่ชิดเชย | ทำก่ายเกยกอดนางเพียงกลางองค์ |
นางพระยาว่าเห็นใจหรือไม่เล่า | แม่รักเจ้าจึ่งไม่ห้ามตามประสงค์ |
เช่นนี้ใครได้มาปะจึงจะตรง | เขาก็คงว่าเป็นชู้อดสูใจ ฯ |
๏ พระมังคลาว่าพระคุณการุญรัก | เห็นประจักษ์จริงแจ้งไม่แหนงไฉน |
หากว่าลูกถูกต้องทำนองใน | จะตามใจหรือจะโกรธลงโทษทัณฑ์ |
นางแย้มยิ้มพริ้มพรายชม้ายค้อน | ทำนิ่งนอนหลับใหลพอไก่ขัน |
พระรู้กลปรนนิบัติถึงอัศจรรย์ | กระต่ายผันโผนขึ้นนั่งบนหลังช้าง |
เสียงฮูมแปร๋นแปร้นแปร๋แม่ปะแหรก | ไม้ไล่แหลกลุยตะโกรงผึงโผงผาง |
กระต่ายตกผงกผงะไม่ละวาง | ฉวยหางช้างฉุดรั้งขึ้นนั่งท้าย |
เหลือกำลังรั้งฉุดไม่หยุดหย่อน | ขยักขย่อนคลอนแคลนง่อนแง่นหงาย |
พอถูกฝนขนเปียกตะเกียกตะกาย | ตัวกระต่ายตกช้างสว่างวัน |
เหมือนหนุ่มแก่แม่เลี้ยงร่วมเรียงหมอน | พอตื่นนอนนางผู้หญิงรับมิ่งขวัญ |
อันเมืองเพชรกำพลพวกคนธรรพ์ | ก็หมายมั่นพันผูกว่าลูกเลี้ยง |
เห็นเข้านอกออกในนางไม่ถือ | ยิ่งฟุ้งเฟื่องเลื่องลือออกชื่อเสียง |
ต่างชวนชอบนอบน้อมด้วยพร้อมเพรียง | นางแม่เลี้ยงจึ่งปรึกษาเสนาใน |
อันองค์พระมังคลาเจ้าฝาหรั่ง | เสียเวียงวังลังกามาอาศัย |
เป็นลูกเราก็รักรู้จักใจ | จะมอบให้ว่าขานการพารา |
ด้วยตัวเราเฒ่าแก่แต่จะม้วย | เธอได้ช่วยชุบเลี้ยงไม่เดียงสา |
ด้วยซื่อตรงทรงธรรม์ไม่ฉันทา | พวกเสนาใครจะเห็นเป็นอย่างไร |
พวกขุนนางต่างยอมเห็นพร้อมพรั่ง | ควรแต่งตั้งมังคลาอัชฌาสัย |
นางชื่นชมสมประสงค์จำนงใจ | จึ่งสั่งให้โหราหาฤกษ์ดี |
ภิเษกหน่อวรนาถชาติกษัตริย์ | ผ่านสมบัติบำรุงชาวกรุงศรี |
ทรงสัจธรรม์กรุณาประชาชี | ปิ่นโมลีโลกเฉลิมเป็นเจิมจอม |
ก่อตึกใหญ่ให้พระสังฆราช | เป็นเอกบาทหลวงสบายค่อยหายผอม |
แขกฝรั่งอังกฤษเป็นศิษย์พร้อม | ตั้งเกลี้ยกล่อมรอมพลหาคนดี ฯ |