- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
๏ จะกล่าวกลับจับเรื่องเมืองผลึก | ยังว่างศึกสงัดเหตุทุกเขตขัณฑ์ |
พระอภัยได้สำราญมานานครัน | กับสุวรรณมาลีนิฤมล |
ตั้งแต่ใช้ให้พระน้องกับหน่อนาถ | ไปเฝ้าบาทบิตุเรศฟังเหตุผล |
เป็นปีหนึ่งจึงได้แจ้งแห่งยุบล | ด้วยสานนพราหมณ์ถือหนังสือมา |
ว่าพระน้องกับสองโอรสราช | บังคมบาทบทเรศพระเชษฐา |
ด้วยไปถึงซึ่งจังหวัดกรุงรัตนา | พระพาราผาสุกสนุกสบาย |
แต่พระชนกชนนีโมลีโลก | ชราโรคเรื้อรังยังไม่หาย |
ต้องคอยฟังรั้งรออยู่พอคลาย | จะถวายบังคมกลับกองทัพมา |
พระทราบเรื่องเปลื้องทรวงที่ห่วงหลัง | ด้วยพร้อมพรั่งเผ่าพงศ์พระวงศา |
จึงปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงการ์ | ประทานสานนพราหมณ์ด้วยความรัก |
ทั้งพวกไพร่ได้บำเหน็จแล้วเสร็จสรรพ | ทูลลากลับล่องลมไปรมจักร |
พระโฉมยงองค์อภัยวิไลลักษณ์ | บำรุงรักราษฎรไม่ร้อนรน |
แล้วรางวัลบรรดาสานุศิษย์ | ซึ่งตามติดปรนนิบัติเมื่อขัดสน |
ล้วนจีนจามพราหมณ์แขกฝรั่งปน | ทั้งร้อยคนคู่ยากลำบากมา |
ประทานเมียสาวสาวขาวน้อยน้อย | ถ้วนทั้งร้อยรูปงามตามภาษา |
กับกำปั่นบรรทุกเกลือข้าวปลา | ทั้งเงินห้าร้อยทั่วทุกตัวคน |
ให้ไปอยู่บูรีรอบขอบประเทศ | คอยแจ้งเหตุตื้นลึกศึกสิงหล |
ให้มีไพร่ไว้สำหรับอยู่กับตน | ทั้งร้อยคนคนละร้อยไม่น้อยใจ ฯ |
๏ ฝ่ายจีนจามพราหมณ์ฝรั่งแขกอังกฤษ | สุจริตรักพระองค์ไม่สงสัย |
ได้กำปั่นภรรยาทั้งข้าไท | เหมือนเกิดใหม่มั่งมียินดีนัก |
ต่างทูลว่าถ้าแม้นเมืองผลึก | ต้องทำศึกกับลังกาอาณาจักร |
จะเจ็บแค้นแทนพระคุณการุญรัก | สาพิภักดิ์ต่อเจ้ากินข้าวเกลือ |
แล้วทูลลาพาอนงค์ลงกำปั่น | อยู่ห้องกั้นเก๋งท้ายสบายเหลือ |
ทั้งไพร่พลคนใช้ที่ในเรือ | มีห้องนอนหมอนเสื่อสบายใจ |
พอลมดีคลี่ใบขึ้นใส่รอก | ต่างแล่นออกอ่าวมหาชลาไหล |
ด้วยเจนทางกลางคงคาเคยมาไป | ต่างใช้ใบแยกย้ายไปรายเรียง |
พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก | ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง |
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเซียง | เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา |
ข้างพวกแขกแยกเยื้องเข้าเมืองเทศ | อรุมเขตคุ้งสุหรัดปัตหนา |
ไปปะหังปังกะเราะเกาะชวา | มะละกากะเลหวังตรังกะนู |
วิลันดามาแหลมโล้บ้านข้าม | เข้าคุ้งฉลามแหลมเงาะเกาะราหู |
อัดแจจามข้ามหน้ามลายู | พวกญวนอยู่เวียดนามก็ข้ามไป |
ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี | เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย |
กบิลพัสดุ์โรมพัฒน์ถัดถัดไป | เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์ |
ข้างพวกไทยได้ลมก็แล่นรี่ | เข้ากรุงศรีอยุธยาภาษาสยาม |
พม่ามอญย้อนเข้าอ่าวพุกาม | ฝรั่งข้ามฟากเข้าอ่าวเยียระมัน |
ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส | เมืองมะงาดมะงาดามะงาศวรรย์ |
ข้ามเกาะเชามาลีกปิตัน | หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว |
ที่จากบ้านนานเหลือพวกเรือแตก | จนเมียแปลกผัวรักไม่ทักผัว |
ที่ถึงค่ำร่ำเรียกอยู่ริมรั้ว | ก็กลับกลัวว่าปีศาจไม่อาจรับ |
ที่เรือเสียเมียหมายตายเป็นผี | จนเขามีผัวใหม่พอได้กลับ |
ทั้งสองข้างต่างกระดากปากงับงับ | บ้างร้องฟ้องต้องปรับจับชู้เมีย |
ที่เมียมีขี้หึงพอถึงรั้ว | ก็แคลงผัวมิอยากเชื่อว่าเรือเสีย |
รู้ว่าพามาใหม่เหมือนไฟเลีย | ต้องปลอบเมียแทบทั่วทุกตัวคน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษณ์ | ปล่อยคนรักรายแฝงทุกแห่งหน |
แม้นฝรั่งลังกามาประจญ | จะซ้อนกลการศึกให้ลึกซึ้ง |
แล้วพระองค์ทรงสำราญผ่านสมบัติ | แต่นางกษัตริย์มเหสีนั้นขี้หึง |
เห็นโปรดใครใหญ่ขึ้นก็มึนตึง | จึงทรงครรภ์ไม่ทันถึงในครึ่งปี |
ครั้นคลอดราชธิดาเป็นฝาแฝด | ดังทองแปดนพคุณจรูญศรี |
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนกันสิ้นทั้งอินทรีย์ | พระอัยกีรักใคร่กระไรเลย |
เห็นหลานมากอยากเลี้ยงเข้าเคียงข้าง | พระทัยนางนึกนิยมชมลูกเขย |
แล้วว่าดีมีถมดอกนมเนย | ขอให้เคยคู่แฝดสักแปดคราว |
แล้วเลือกสรรบรรดานางข้าหลวง | ดูงามท่วงทีละมุนพึ่งรุ่นสาว |
ให้เห่เรื่อยเฉื่อยฉ่ำทุกค่ำเช้า | สำเนียงราวเรไรในไพรวัน |
ทั้งพี่เลี้ยงนางนมล้วนสมศักดิ์ | บำรุงรักตื่นหลับเฝ้ารับขวัญ |
พระอู่ทองสองอู่เป็นคู่กัน | ทุกคืนวันเวียนระวังเป็นกังวล ฯ |
๏ จะกลับกล่าวเจ้าลังกาอาณาเขต | ปิ่นประเทศแว่นแคว้นแดนสิงหล |
แต่ลูกยามาแถลงแจ้งยุบล | ว่าเสียพลพ่ายแพ้จะแก้อาย |
ก็ห่วงบุตรอุศเรนพระลูกรัก | พระชงฆ์หักหมอแก้พอแผลหาย |
แล้วรื้อกลับจับไข้มิใคร่คลาย | ศึกจึงวายเว้นช้าถึงห้าปี |
ให้พอประทังยังชั่วตั้งตัวได้ | หมายจะไปทำศึกไม่นึกหนี |
ให้เกณฑ์คนพลเมืองเอกโทตรี | บรรดามีมาระดมเข้าสมทบ |
แต่ทัพหน้าห้าแสนถือแหลนหลาว | ทั้งปืนยาวปืนสั้นเข้าบรรจบ |
ยังปีกป้องกองหลวงควงเข้างบ | ทหารรบห้าหมื่นพื้นฉกรรจ์ |
ทั้งกองหลังรั้งท้ายก็หลายแสน | ล้วนปืนแม่นมีแรงแข็งขยัน |
มารวมรอมพร้อมหมดกำหนดวัน | ใครไม่ทันโทษาถึงผ่าทรวง |
ราชบุตรอุศเรนเป็นทัพหน้า | เจ้าลังกากำกับเป็นทัพหลวง |
มาถึงทั่วหัวเมืองสิ้นทั้งปวง | ตามกระทรวงศึกกษัตริย์ปราบดัสกร |
แล้วเดินบกยกมาลงท่าข้าม | ถนนพระรามเรือแพแซ่สลอน |
ยั้งหยุดจัดหัดทหารให้ราญรอน | ข่าวขจรทั่วทั้งเกาะลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายทหารพระอภัยเป็นไส้ศึก | ที่ตื้นลึกลอบถามตามภาษา |
ครั้นรู้แจ้งแต่ให้เรือใช้มา | แจ้งกิจจาเจ้านายได้ถ่ายเท ฯ |
๏ พระอภัยได้ความให้ขามศึก | อุตส่าห์ตรึกตรองอุบายเป็นหลายเล่ห์ |
จะรบพุ่งกรุงไกรใกล้ทะเล | ให้ว้าเหว่วิญญาณ์เอกากาย |
เป็นห่วงหลังระวังหน้าหนักหนานัก | พระน้องรักลูกน้อยก็คอยหาย |
ยิ่งตรองตรึกนึกไปไม่สบาย | จึงภิปรายปรึกษานางวาลี |
ศึกมายั้งตั้งกระบวนจะจวนข้าม | มาสงครามรบพุ่งถึงกรุงศรี |
จะจัดแจงแต่งทหารออกต้านตี | หรือจะหนีนางเห็นเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ส่วนวาลีปรีชาปัญญาหญิง | เป็นยอดยิ่งยิ้มย่องสนองไข |
จะฟันแทงแย้งยิงออกชิงชัย | สงสารไพร่ก็จะม้วยลงด้วยกัน |
แม้นลวงล่อพอให้ได้ชัยชนะ | ก็เห็นจะทำได้ใจหม่อมฉัน |
ขอพระองค์จงเป็นกองออกป้องกัน | คุมกำปั่นแปดร้อยคอยระวัง |
แม้นสงครามตามตีจงหนีหลบ | ไปวันหนึ่งจึงค่อยทบตลบหลัง |
มาปากอ่าวก้าวสกัดตัดกำลัง | ให้พร้อมพรั่งทั้งทัพรบสมทบกัน |
ข้าจะรับจับท้าวเจ้าสิงหล | ด้วยเล่ห์กลโอนอ่อนคิดผ่อนผัน |
นางทูลความตามปัญญาสารพัน | ทั้งสุวรรณมาลีเห็นดีจริง |
จึงทูลว่าข้าจะรับเป็นทัพซ้ำ | ช่วยเผาลำนาวาประสาหญิง |
พระทรงฟังนั่งเอกเขนกอิง | เห็นดียิ่งเจียวปัญญานางวาลี |
ทั้งโฉมยงนงลักษณ์อัคเรศ | รู้ไตรเพทพอใจรบไม่หลบหนี |
เคยรบเรือเชื่อถือฝีมือดี | พระเปรมปรีดิ์ปรึกษาเสนาใน |
ให้เตรียมรับทัพลังกาพวกข้าศึก | ที่ตื้นลึกเล่าแจ้งแถลงไข |
เห็นสมคะเนเสนีก็ดีใจ | ไปเตรียมไว้พร้อมพรั่งคอยฟังความ ฯ |
๏ ฝ่ายลังกาฝรั่งอยู่หลังถนน | พอพักพลฝึกทหารชาญสนาม |
ออกจากฝั่งวังวนถนนพระราม | แล้วยกข้ามฟากมาสิบห้าคืน |
ถึงเขตคุ้งกรุงผลึกนึกประหลาด | ไม่เห็นลาดตระเวนแขวงมาแข็งขืน |
เข้าปากน้ำสำคัญให้ลั่นปืน | เสียงปึงปังดังครื้นทั้งธรณี |
พอเช้าตรู่ดูเรือเหนือปากอ่าว | ออกแล่นก้าวคลาดเคลื่อนเหมือนจะหนี |
จึงสั่งบุตรอุศเรนเจนวารี | ให้ตามตีต้อนตัดสกัดทาง |
ฝ่ายทัพหน้าห้าแสนเรือพันสอง | ออกลอยล่องแล่นไล่ใบสล้าง |
ได้ครึ่งวันทันทัพที่ท่ามกลาง | เข้ารบพลางแล่นหนียิ่งตีตาม ฯ |
๏ ฝ่ายทัพหลวงล่วงเข้าอ่าวปากน้ำ | พอพบลำเรือครัวจับตัวถาม |
ตะคอกขู่ผู้เฒ่าจึงเล่าความ | ว่าสงครามข้ามอ่าวมาคราวนี้ |
จะสังหารผลาญอาณาประชาราษฎร์ | ให้วินาศนองเนืองไปเมืองผี |
พอเดือนเที่ยงเสียงปืนเมื่อคืนนี้ | ชาวบุรีหนีพลัดกระจัดกระจาย |
พระอภัยได้กำปั่นสักพันถ้วน | บรรทุกล้วนเงินทองของทั้งหลาย |
แล้วจุดเผาข้าวปลาพาหญิงชาย | หนีไปฝ่ายทะเลลมยมนา |
ที่เหลืออยู่บูรีก็หนีเร้น | มิให้เห็นเนื้อตัวกลัวหนักหนา |
เดี๋ยวนี้ไฟไหม้เผาฉางข้าวปลา | ชาวพาราร้องอึงคะนึงไป |
ข้าเจ้านี้มีเรือเกลือข้าวสาร | พาลูกหลานจะไปหาที่อาศัย |
ไม่สู้รบหลบตัวด้วยกลัวภัย | จงโปรดไว้ชีวาอย่าฆ่าฟัน |
สมเด็จท้าวเจ้าลังกาอาณาเขต | ได้ทราบเหตุเห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จึงว่าทัพอุศเรนเห็นจะทัน | ด้วยติดพันพอเขม้นเห็นไรไร |
ให้ทัพหลังตั้งปิดอยู่ปากอ่าว | คอยสืบข่าวทัพหน้าว่าถึงไหน |
ถ้าหนักแน่นแล่นหนุนเนื่องกันไป | เราทัพใหญ่จะเข้าอยู่ในบูรี |
ได้เกลี้ยกล่อมล้อมอาณาประชาราษฎร์ | ที่ขยาดยกอพยพหนี |
พอเรียบราบปราบปรามสามราตรี | จึงตามตีทัพเรือก็เหลือทัน |
แล้วเตือนไพร่ให้รีบเรือที่นั่ง | ทั้งหน้าหลังหลามแม่น้ำล้วนกำปั่น |
เห็นเมืองไหม้ไฟกลุ้มชอุ่มควัน | เห็นสำคัญคิดว่าจริงไม่กริ่งใจ |
ให้จอดฝั่งพรั่งพร้อมทหารรบ | พอจวนพลบไฟฟางสว่างไสว |
ให้แยกกองป้องกันชาวกรุงไกร | อย่าให้ใครหนีออกนอกกำแพง |
พอมืดมนพลทัพก็ยับยั้ง | อยู่บนฝั่งฟากบุรินทร์ไม่กินแหนง |
บ้างสูบฝิ่นกินเหล้าหุงข้าวแกง | ขุนนางแต่งโต๊ะเลี้ยงกันเรียงราย ฯ |
๏ ส่วนสุวรรณมาลีศรีสมร | เป็นทัพซ่อนซุ่มสมอารมณ์หมาย |
จึงขับไพร่ให้ล้อมเลียบหาดทราย | แล้วตัดสายสมอใหญ่จุดไฟโพลง |
ผลักกำปั่นหันกลับทับปะทะ | ล้วนเกะกะปะกันควันโขมง |
นางวาลีที่อยู่ห้องท้องพระโรง | เห็นเพลิงโพลงพลอยให้ปืนใหญ่ยิง |
แล้วยกออกนอกกำแพงไล่แทงทัพ | มิทันรับรบสู้เสียรู้หญิง |
บ้างล้มตายนายไพร่ตกใจจริง | กระเจิงวิ่งเวียนวนด้วยจนใจ |
จะลงเรือเชื้อเพลิงก็โพลงผลาญ | เหล่าทหารเห็นไม่มีที่อาศัย |
บ้างลงน้ำดำดั้นจนบรรลัย | ชาวเมืองไล่จับกุมตะลุมบอน |
ส่วนสุวรรณมาลีตีสกัด | ให้แตกตัดขึ้นตลิ่งข้างสิงขร |
ด้วยมากมายหลายแสนแน่นนคร | จึงตีต้อนแต่พอให้ไพร่พลัดพราย |
หมายว่ารุ่งพรุ่งนี้จึงตีทัพ | เที่ยวตามจับก็จะได้ดังใจหมาย |
ชาวผลึกฮึกใจทั้งไพร่นาย | เที่ยวฟันตายดุเดือดลุยเลือดแดง ฯ |
๏ สงสารท้าวเจ้าลังกาชราร่าง | ขี่ขุนนางนายทหารชาญกำแหง |
ขึ้นตลิ่งวิ่งเลี้ยวด้วยเรี่ยวแรง | ใครกีดขวางทางแทงตะลุยมา |
ฝ่ายปลัดหัศเกนกุเวนระเวก | ทหารเอกสี่นายทั้งซ้ายขวา |
ไม่ขึ้นบกวกลงข้างคงคา | ทัพนางวาลีลัดสกัดกัน |
เข้าเกลื่อนกลุ้มรุมจับก็กลับรบ | ตีตลบเลี้ยวเวียนเที่ยวเหียนหัน |
พอทัพหลังลังกาเข้ามาทัน | ต้องขยั้นหยุดแลอยู่แต่ไกล |
ด้วยกลางคืนครื้นครึกเสียงกึกก้อง | ทั้งพวกพ้องไม่รู้ว่าอยู่ไหน |
แต่โห่ร้องก้องลั่นสนั่นไป | หมายจะให้เพื่อนรู้เร่งสู้รบ ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพลบนตลิ่งวิ่งลงน้ำ | ชาวเมืองซ้ำแทงทับไม่นับศพ |
ด้วยเหตุเหล่าชาวบุรีนั้นมีคบ | จึงพรักพร้อมล้อมตลบสมทบกัน |
แต่สุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์ | ให้เกณฑ์หัดเขนทองกับกองขัน |
เที่ยวเก็บเรือเหลือเผาที่เหล่านั้น | ได้กำปั่นหลายร้อยรีบถอยมา |
เอาปืนใหญ่ใส่ลำละร้อยบอก | ให้ยกออกโอบฝั่งไปข้างหน้า |
เข้ารบรับทัพหลังชาวลังกา | แต่เวลายังดึกเสียงครึกครื้น |
ฝ่ายเสนาวาลีนารีห้าม | ก็ติดตามฆ่าแขกวิ่งแตกตื่น |
กำปั่นรับกับกำปั่นต่างลั่นปืน | สะเทื้อนสะทึกครึกครื้นในราตรี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยเจ้าไอศวรรย์ | คุมกำปั่นแปดร้อยทำถอยหนี |
ค่อยรบล่อรอมาในราตรี | เห็นทัพตีต้านรุดไม่หยุดยั้ง |
ให้กองร้อยลอยรอล่อให้ไล่ | แต่ทัพใหญ่ย้อนทบตลบหลัง |
มาปากอ่าวเช้าตรู่ดูประดัง | เห็นเรือลังกาลอยจะถอยทัพ |
เร่งระดมสมทบเข้ารบพุ่ง | ช่วยชาวกรุงกลุ้มกลัดสกัดจับ |
ลังกาแตกแยกย้ายล้มตายยับ | อยู่กลางทัพเรือกระหนาบลงกราบกราน |
ทิ้งศัสตราอาวุธลงทรุดนั่ง | ยังสู้มั่งอยู่แต่ฝ่ายนายทหาร |
คนหนึ่งดำล่ำเหลือดังเสือทะยาน | ทั้งถือขวานสองมือดูดื้อดึง |
โดดขึ้นลำกำปั่นเพื่อนกันได้ | จะเข้าไปช่วยเจ้าเข้าไม่ถึง |
พอทัพบกยกออกมาอึงคะนึง | เสียงหึ่งหึ่งโห่ร้องก้องกังวาน |
องค์พระมเหสีนั้นขี่รถ | กั้นพระกลดแปลงกายเป็นนายทหาร |
นางวาลีขี่ม้ามีเบาะอาน | คนละด้านเดินรบบรรจบกัน |
พอเห็นแขกแบกเจ้าลังกาวิ่ง | เลียบตลิ่งจะลงลำเรือกำปั่น |
นางวาลีฝีมือแม่นเกาทัณฑ์ | เขย่งยันยิงท้าวเจ้าลังกา |
ทั้งสามลูกถูกเกราะกะเทาะทะลุ | ลูกหนึ่งปรุปักแน่นที่แขนขวา |
พอทหารขวานสองมือดื้อเข้ามา | ยกใส่บ่าแบกพระองค์วิ่งลงเรือ |
แล้วรีบฝ่าพาเจ้าออกอ่าวได้ | กับนายไพร่ทัพหลังที่ยังเหลือ |
สงสารท้าวเจ้าลังกาชราเรื้อ | ลงถึงเรือรู้ว่าถูกลูกเกาทัณฑ์ |
พอถอนหลุดสุดแสบให้แปลบปลาบ | โลหิตอาบอังสาแทบอาสัญ |
ที่ปากแผลแก้เอาผ้าเช็ดหน้าพัน | รีบกำปั่นข้ามฝั่งไปลังกา ฯ |
๏ พระอภัยได้ของพวกกองทัพ | เครื่องสำหรับรบพื้นแต่ปืนผา |
ทั้งหมวกเสื้อเหลือล้นคณนา | ของโยธาทิ้งกลาดที่หาดทราย |
ให้ร้องป่าวชาวเมืองมาเก็บของ | ตามจะต้องการในน้ำใจหมาย |
ทั้งได้คนพลเรือที่เหลือตาย | ก็มากมายหมื่นแสนแน่นนคร |
จึงให้พระมเหสีวาลีห้าม | อยู่ปราบปรามพลศึกคิดฝึกสอน |
ส่วนพระองค์ลงที่นั่งเรือมังกร | ให้ตีต้อนฆ้องเตือนแล้วเคลื่อนทัพ |
ออกกำปั่นพันร้อยลอยสล้าง | คอยปิดทางทัพหน้าเมื่อขากลับ |
กองละร้อยลอยกระบวนจะสวนรับ | รุมกันจับอุศเรนเจนณรงค์ ฯ |
๏ ฝ่ายลูกท้าวเจ้าลังกากองหน้านั้น | ตามกำปั่นไปด้วยเชิงละเลิงหลง |
เมื่อเสียทัพอับปางเป็นลางลง | เผอิญธงชัยปักนั้นหักทบ |
ทั้งทัพหนีทีจะยกกลับวกหลัง | จึงรอรั้งเรียกทัพกลับตลบ |
ให้กองร้อยลอยล่อมาพอพลบ | ก็พอพบทัพพระอภัยมณี |
ด้วยมืดค่ำสำคัญว่าทัพหลวง | ก็ล่องล่วงเลียบคุ้งเข้ากรุงศรี |
พอลำทรงตรงเข้าอ่าวชาวบุรี | ต่างก็ตีฆ้องโห่เป็นโกลา |
แล้วลอบลอยปล่อยปืนเสียงครื้นครึก | ถูกข้าศึกไพร่นายตายหนักหนา |
อุศเรนเห็นผิดทัพบิดา | จะกลับลำเขาก็ล้อมไว้พร้อมเพรียง |
มานะหนักชักใบขึ้นใส่รอก | จะกลับออกปากอ่าวแล่นก้าวเฉียง |
พวกชาวเมืองเยื้องยิงปืนใหญ่เรียง | ลูกส้มเกลี้ยงวับผึงเสียงตึงตัง |
ถูกท้ายแตกแยกโย้ราโทหัก | ทะลุทะลักล่มคว่ำบ้างน้ำขัง |
จะปิดแผลแก้ไขก็ไม่ฟัง | ลำที่นั่งอุศเรนได้เอนเอียง |
ดังอู้อู้ครู่หนึ่งท่วมถึงท้าย | คนลงว่ายน้ำเรียกกันเพรียกเสียง |
พอลำพระอภัยเข้าไปเคียง | จำสำเนียงอุศเรนได้เจนใจ |
ดังอู้อู้ครู่หนึ่งท่วมถึงท้าย | คนลงว่ายน้ำเรียกกันเพรียกเสียง |
พอลำพระอภัยเข้าไปเคียง | จำสำเนียงอุศเรนได้เจนใจ |
จึงให้คนบนเรือลงไปรับ | อุ้มประคับประคองพาขึ้นมาได้ |
อุศเรนเอนซบสลบไป | พระอภัยเข้าประคองนองน้ำตา |
พอรุ่งแจ้งแสงตะวันกำปั่นรบ | ต่างหลีกหลบแล่นไขว่เที่ยวไล่หา |
พระอภัยให้ยิงปืนสัญญา | หยุดโยธาถอยทัพกลับเข้าเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายพวกเรือเหลือแตกต้องแยกย้าย | ที่ไม่ตายรอดบ้างก็คางเหลือง |
ต่างหลบลี้หนีล่องไปนองเนือง | กลัวชาวเมืองผลึกนึกขนพอง |
พระอภัยใจดีเป็นที่สุด | เมื่อจับอุศเรนได้มิให้หมอง |
ให้เชิญองค์ทรงเสลี่ยงเคียงประคอง | หามมาท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล |
ทั้งทอดที่มีแท่นแสนสะอาด | ให้ไสยาสน์เอนองค์ด้วยสงสาร |
พวกมดหมอก็ให้มาพยาบาล | เอาเครื่องอานพร้อมเพรียงตั้งเรียงราย ฯ |
๏ สงสารสุดอุศเรนเมื่อรู้สึก | ทรวงสะทึกแทบจะแยกแตกสลาย |
พอเห็นองค์พระอภัยยิ่งให้อาย | จะใคร่ตายเสียให้พ้นก็จนใจ |
คลำพระแสงแฝงองค์ที่ทรงเหน็บ | เขาก็เก็บเสียเมื่อพบสลบไสล |
ให้อัดอั้นตันตึงตะลึงตะไล | พระอภัยพิศดูก็รู้ที |
จึงสุนทรอ่อนหวานชาญฉลาด | เราเหมือนญาติกันดอกน้องอย่างหมองศรี |
เมื่อแรกเริ่มเดิมก็ได้เป็นไมตรี | เจ้ากับพี่เล่าก็รักกันหนักครัน |
มาขัดข้องหมองหมางเพราะนางหนึ่ง | จนได้ถึงรบสู้เป็นคู่ขัน |
อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน | ก็หมายมั่นจะใคร่ได้ชัยชนะ |
ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้ | หวังจะได้สนทนาวิสาสะ |
ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ | แล้วก็จะรักกันจนวันตาย |
ทั้งกำปั่นบรรดาโยธาทัพ | จะคืนกลับให้ไปเหมือนใจหมาย |
ทั้งสองข้างอยู่ตามความสบาย | เชิญภิปรายโปรดตรัสสัตย์สัญญา ฯ |
๏ อุศเรนเอนเอกเขนกสนอง | ตามทำนององอาจไม่ปรารถนา |
เราก็รู้ว่าท่านเจ้ามารยา | ที่เรามาหมายเชือดเอาเลือดเนื้อ |
ไม่สมนึกศึกพลั้งลงครั้งนี้ | จะกลับดีด้วยศัตรูอดสูเหลือ |
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ | ไม่เอื้อเฟื้อฝากตัวไม่กลัวตาย |
จงห้ำหั่นบั่นเกล้าเราเสียเถิด | จะไปเกิดมาใหม่เหมือนใจหมาย |
แกล้งจ้วงจาบหยาบช้าพูดท้าทาย | จะใคร่ตายเสียให้ลับอัประมาณ ฯ |
๏ พระอภัยใจอ่อนเฝ้าวอนว่า | ด้วยปรีชาเชิงชักสมัครสมาน |
มิปรองดองน้องหมายจะวายปราณ | พี่สงสารสุดจะทำให้จำตาย |
จะขอถามตามในน้ำใจเจ้า | จะให้เราทำไฉนดังใจหมาย |
ที่โกรธขึ้งจึงจะเบาบรรเทาคลาย | แม้นไม่ตายแต่พองามจะตามใจ ฯ |
๏ ฝ่ายลูกท้าวเจ้าลังกาพยาบาท | จึงว่ามาตรแม้นเราตีบุรีได้ |
จะจับตัวผัวเมียมามัดไว้ | แล้วจะให้แล่เนื้อเอาเกลือทา |
กับเปลี่ยนหัวผัวเมียเสียสำเร็จ | จึงจะเสร็จสมมาดปรารถนา |
พระอภัยได้ยินผินพักตรา | เกินศรัทธาที่จะให้เหมือนใจคิด |
จึงว่าเจ้าเล่าก็ยังกำลังแค้น | จะทดแทนทำสงครามก็ตามจิต |
จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต | ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ |
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า | แทนที่เรามาเรือเจ้าเกื้อหนุน |
พระน้องจงสรงเสวยเหมือนเคยคุ้น | พระการุญร่ำว่าด้วยอาลัย ฯ |
๏ ฝ่ายวาลีปรีชาปัญญาแหลม | คนสอดแนมเข้าไปแจ้งแถลงไข |
ว่าพระจะส่งองค์อุศเรนไป | จึงตรึกไตรตรองความตามปัญญา |
พระผ่านเกล้าเรานี้อารีเหลือ | เหมือนดูถูกลูกเสือเบื่อนักหนา |
พระทัยซื่อถือว่าคุณเขามีมา | ถึงจะว่าเห็นไม่ฟังกำลังเรา |
ทั้งองค์พระมเหสีก็มิห้าม | เพราะมีความการุญคิดคุณเขา |
ด้วยเป็นมิตรบิตุรงค์ของนงเยาว์ | เว้นแต่เราจะต้องทำแต่ลำพัง |
ประเวณีตีงูให้หลังหัก | มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง |
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง | เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย |
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า | ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย |
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย | จะทำภายหลังยากลำบากครัน |
จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ | ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ |
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ | นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการ |
จึงกลับแกล้งแต่งกายเป็นนายทัพ | เหน็บกริชคร่ำด้ามประดับสำหรับทหาร |
ถือธนูดูทีตะลีตะลาน | มากราบกรานทูลพระอภัยมณี |
ว่าองค์ท้าวเจ้าเกาะลังกานั้น | ถูกเกาทัณฑ์สามดอกแล้วออกหนี |
คงบรรลัยไม่ข้ามสามราตรี | ขอตามตีให้กระทั่งเมืองลังกา |
พระทรงฟังสั่งว่าอย่าเพ่อยก | ยังวิตกอยู่ด้วยรักกันนักหนา |
สงสารสุดอุศเรนพระน้องยา | จะรบราฆ่าฟันกันไปไย |
นางวาลีปรีชาปัญญาเย้ย | ทำเงยเงยเหมือนจะดูว่าอยู่ไหน |
แล้วทำว่าถ้าจะโปรดยกโทษไว้ | ก็ปล่อยให้ไปรักษาบิดาเธอ ฯ |
๏ ฝ่ายลูกท้าวเจ้าสิงหลอยู่บนแท่น | ให้แสนแค้นคำพร้องสนองเสนอ |
แต่ฮึดฮัดกัดฟันคันคะเยอ | ยิ่งหาวเรอโรครุมกลุ้มอุรา |
ด้วยตัวเราเขาจับมาอัปยศ | ทั้งเสียยศเสียศักดิ์เสียนักหนา |
แล้วมิหนำซ้ำสมเด็จพระบิดา | แก่ชราก็มาถูกลูกเกาทัณฑ์ |
แสนระกำช้ำอกเหมือนตกเหว | อีหญิงเลวแลเหมือนเงาะมาเยาะหยัน |
ยิ่งคิดคิดพิษลมระดมกัน | สะอื้นอั้นอกแยกแตกทำลาย |
ชักชะงากรากเลือดเป็นลิ่มลิ่ม | ถึงปัจฉิมชีวาตม์ก็ขาดหาย |
เป็นวันพุธอุศเรนถึงเวรตาย | ปีศาจร้ายร้องก้องท้องพระโรง |
แล้ววิ่งเข้าชาวที่ยืนชี้นิ้ว | เหมือนเล่นงิ้วเต้นโลดกระโดดโหยง |
พวกขอเฝ้าเข้ายุดฉุดชะโลง | ปีศาจโหงฮึดฮาดประกาศร้อง |
ไม่รู้หรือคืออุศเรนราช | พยาบาทอีผู้หญิงหยิ่งจองหอง |
แล้วดิ้นโดดโลดโผนโจนคะนอง | ไล่ทุบถองวาลีวิ่งหนีทัน |
พอผีออกกลอกหัวจับตัวถาม | ไม่ได้ความฟั่นเฟือนดูเหมือนฝัน |
พระอภัยให้ขุนนางช่างสุวรรณ | ระดมกันพร้อมพรั่งที่วังใน |
ทำโกศทองรองศพมณฑปประดับ | เครื่องสำหรับราชวัติฉัตรไสว |
ทั้งพวกพ้องกองทัพที่จับไว้ | ก็โปรดให้แห่เจ้าไปด้าวแดน |
ลงกำปั่นบรรดาโยธาหาญ | มากประมาณเบ็ดเสร็จสักเจ็ดแสน |
ต่างไหว้กราบหลาบหมดไม่ทดแทน | ตั้งแห่แหนศพเจ้าออกอ่าวไป ฯ |
๏ ฝ่ายวาลีผีทับกลับมาตึก | ไม่รู้สึกงวยงงให้หลงใหล |
กายระรัวกลัวฝรั่งให้คลั่งไคล้ | พระอภัยเสด็จมาพยาบาล |
ทั้งมดหมอก็เข้าล้อมอยู่พร้อมพรั่ง | จะแก้คลั่งยังไม่หายหลายขนาน |
บ้างเสียผีพลีบัตรปัดรางควาน | ปรายข้าวสารกรากกรากไม่อยากคลาย |
ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมเหสี | เห็นวาลีล้มไข้พระทัยหาย |
เคียงประคองร้องเรียกอยู่ริมกาย | พลางฟูมฟายชลนาด้วยอาวรณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายวาลีปีศาจเข้ากราดเกรี้ยว | มันยุดเหนี่ยวหน้าหลังนั่งสลอน |
สะดุ้งดิ้นสิ้นแรงตะแคงนอน | สะอื้นอ้อนอ่อนอารมณ์ค่อยสมประดี |
แลเห็นองค์พระอภัยวิไลลักษณ์ | ทั้งองค์อัครชายามารศรี |
มาพร้อมพรั่งทั้งสิ้นความยินดี | ค่อยพาทีทูลลาน้ำตานอง |
ชันษาข้าบาทนี้ขาดแล้ว | จะคลาดแคล้วมิได้อยู่ชูฉลอง |
ขอดับสูญทูลลาฝ่าละออง | กษัตริย์สองพระองค์อยู่จงดี |
ซึ่งผิดพลั้งตั้งแต่มาเป็นข้าบาท | อย่ากริ้วกราดโปรดเกล้าช่วยเผาผี |
พอขาดคำร่ำว่านางวาลี | ร้องหวีดทีเดียวดิ้นก็สิ้นใจ ฯ |
๏ สงสารพระมเหสีมีความรัก | สะอื้นฮักเห็นกระดิกริกริกไหว |
จะตกหมอนกรรองประคองไว้ | ร่ำพิไรขอขมานางวาลี |
ได้โกรธขึ้งหึงหวงในดวงจิต | อย่าผูกคิดพ้นทุกข์เป็นสุขี |
นิจจาเอ๋ยเคยอยู่คู่ชีวี | ออกต่อตีตามผู้หญิงไม่ทิ้งกัน |
ตั้งแต่นี้มีทุกข์ถึงยุคเข็ญ | ไม่แลเห็นผู้ใดทั้งไอศวรรย์ |
จะวายเว้นเป็นคนอื่นทุกคืนวัน | จนสิ้นกัลป์สิ้นกัปไม่กลับมา |
แม้นวาลีมีทุกข์ไปทางอื่น | ถึงทางหมื่นแสนไกลจะไปหา |
นี่ขัดสนจนใจไปป่าช้า | อนิจจาใจหายเสียดายนัก |
น่าเอ็นดูรู้ดีอารีอารอบ | ทำความชอบช่วยพยุงให้สูงศักดิ์ |
มาบรรลัยไปยังกำลังรัก | สงสารนักนางพร่ำร่ำโศกี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยอาลัยเหลือ | มิใช่เชื้อชายซัดสลัดหนี |
เหมือนคู่สร้างเห็นหน้านางวาลี | ให้ปรานีนึกถึงมาสาพิภักดิ์ |
ลดพระองค์ลงขมาข้างขวาศพ | ได้พานพบพิสมัยใจสมัคร |
ถึงรูปชั่วยั่วเยาะก็เพราะรัก | เป็นคำหนักนิดหน่อยอย่าน้อยใจ |
นิจจาเอ๋ยเคยขับให้จับจิต | ช่างประดิษฐ์ดัดแปลงกระแสงใส |
เสนาะคำพร่ำพร้องทำนองใน | ได้ชื่นใจไสยาในราตรี |
เคยเมียงหมอบลอบลักดูพักตร์พบ | ก็เลี่ยงหลบเอียงอายชม้ายหนี |
แต่นี้ไปไม่เห็นหน้านางวาลี | จงดูพี่เสียยังแล้วจะแคล้วน้อง |
แม้นกำเนิดเกิดไหนขอให้ปะ | ได้เป็นพระมเหสีในที่สอง |
ให้รูปงามทรามสงวนนวลละออง | อย่าให้ต้องอดสูกับผู้ใด |
จงพ้นทุกข์สุโขอโหสิ | ไปจุติตามประสาอัชฌาสัย |
พระครวญคร่ำร่ำว่าด้วยอาลัย | พระชลนัยน์ผอยเผาะเหยาะเหยาะย้อย |
ด้วยอาลัยในที่วาลีห้าม | ถึงมิงามก็แต่งอนเหมือนช้อนหอย |
พระทรงศักดิ์รักใคร่มิได้น้อย | จึงเศร้าสร้อยโศกาถึงวาลี |
แล้วพระองค์ทรงสั่งให้ตั้งแต่ง | ศพตำแหน่งน้องพระมเหสี |
มีโขนหนังตั้งสมโภชโปรดเต็มที | แล้วให้มีมวยผู้หญิงทั้งทิ้งทาน |
ให้ทำบุญมุนีฤๅษีสิทธ์ | ตามจริตไสยศาสตร์ในราชฐาน |
ถึงเจ็ดวันครั้นเสร็จสำเร็จการ | โปรดประทานเพลิงศพเป็นจบความ ฯ |
๏ ของดเรื่องเมืองผลึกด้วยศึกว่าง | แต่กีดขวางยังไม่เตียนที่เสี้ยนหนาม |
จะกลับกล่าวเจ้าลังกาล่าสงคราม | ถึงท่าข้ามเขตฝั่งข้างลังกา |
ให้หยุดทัพยับยั้งอยู่หลังถนน | คอยรับพลแตกกลับคอยทัพหน้า |
แต่ท้าวถูกลูกกำซาบซึ่งอาบยา | พระพาหาแข็งขึงให้ตึงตาย |
กำเริบฤทธิ์พิษสงลงกระดูก | จะปิดหยูกยาอย่างไรก็ไม่หาย |
ให้ขบปวดรวดเร้าทุกเพรางาย | กระสับกระส่ายสู้ทรงดำรงแรง |
ให้เคลิ้มเห็นเป็นว่าอุศเรนราช | มาริมอาสน์อภิวันท์แล้วกันแสง |
เห็นทรวงแยกแตกกลางเป็นลางแรง | แล้วคลางแคลงกลับกลายเคลิ้มหายไป |
พอโยธาพาศพมณฑปประดับ | มาถึงทัพทูลแจ้งแถลงไข |
ทราบว่าบุตรสุดสิ้นชีวาลัย | สลดใจเจียนว่าเลือดตากระเด็น |
ให้ปลดเปลื้องเครื่องมณฑปดูศพสด | ปรอทรดรอบกายให้หายเหม็น |
แต่อกแตกแปลกซูบกว่ารูปเป็น | พระแลเห็นใจหายเจียนตายตาม |
ประคองบุตรอุศเรนไว้ริมตัก | โอ้ลูกรักวายวางลงกลางสนาม |
เพราะประมาทอาจหาญการสงคราม | มาติดตามแตกทัพถึงอับจน |
โอ้น้อยจิตบิดาก็มาด้วย | หรือไม่ช่วยลูกรักได้สักหน |
ถึงตัวถูกลูกธนูก็สู้ทน | พอข้ามพ้นภัยมารักษากาย |
แต่ตัวเจ้าเขาจับให้ลับเนตร | สุดสังเกตกลศึกลึกใจหาย |
แล้วมิหนำซ้ำเกณฑ์อ้ายเดนตาย | เอาศพสายสวาทมามารยาครัน |
ชิชะพระอภัยกระไรหนอ | ทั้งหลอกล่อลามเลยมาเย้ยหยัน |
ยิ่งแค้นคั่งสั่งมาลีกปิตัน | ของของมันสารพัดเครื่องฉัตรธง |
ทั้งโกศทองรองศพมณฑปใส่ | รักษาไว้ท่าข้ามตามประสงค์ |
จะจับตัวพระอภัยสับใส่ลง | ข้ามไปส่งเสียเหมือนกันให้มันอาย |
พระสั่งพลางทางแลดูลูกรัก | สงสารนักนึกไปก็ใจหาย |
เมื่อยามเป็นเห็นหน้าพาสบาย | เห็นเจ้าตายใจพ่อระท้อเย็น |
โอ้แต่นี้มีแต่จะแลลับ | มิได้กลับทวนทบมาพบเห็น |
เปรียบเหมือนพ่อข้อแขนขาดกระเด็น | จะรอดเป็นชีวีอยู่กี่วัน |
เมื่อดวงใจไปจากอุระแล้ว | ไม่คลาดแคล้วกายาคงอาสัญ |
สิ้นชีวิตบิตุรงค์สิ้นพงศ์พันธุ์ | ใครจะกันเขตแคว้นแดนลังกา |
ยังแต่น้องของเจ้าเป็นสาวรุ่น | แม้นสิ้นบุญบิตุเรศกับเชษฐา |
จะเปล่าเปลี่ยวเดียวดิ้นกินน้ำตา | โอนึกน่าหนักทรวงเป็นห่วงใย |
หวังจะปลูกลูกรักทั้งชายหญิง | ให้ยอดยิ่งญาติกาได้อาศัย |
ไม่สมคิดบิตุราชจะขาดใจ | เหลืออาลัยลูกยาธิดาดวง |
เสียดายศักดิ์รักตระกูลพูนเทวษ | น้ำพระเนตรมิรู้สิ้นรินรินร่วง |
เหมือนอกเจ็บเหน็บเข็มไว้เต็มทรวง | โอ้บาทหลวงพระไม่ช่วยฉันด้วยเลย |
ระทวยทอดกอดศพซบสะอื้น | ไม่พลิกฟื้นวรองค์สรงเสวย |
พอสายัณห์จันทร์กระจ่างน้ำค้างเชย | ท้าวก็เลยล่วงสวรรคครรไล ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งทั้งหลายเสียดายเจ้า | ต่างสร้อยเศร้าซบหน้าน้ำตาไหล |
พอเช้าตรู่รู้อึงคะนึงไป | เสียงร้องไห้แซ่ซ้องทั้งกองทัพ |
พวกเสนาว่าโอ้พระทูลกระหม่อม | นิพพานพร้อมเพราะสิ้นแผ่นดินกลับ |
เหมือนจันทราภาณุมาศลีลาศลับ | เหมือนสิ้นกัปสิ้นกัลป์พุทธันดร |
สิ้นแผ่นดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร | ทั้งสิ้นสุดพระสุเมรุเกณฑ์สิงขร |
เหมือนแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ฉัตรนคร | ราษฎรร้อนทั่วทุกตัวคน |
โอ้พระองค์ทรงทวีปประทีปแก้ว | จะลับแล้วหล้าแหล่งทุกแห่งหน |
นิเวศน์วังลังกาประชาชน | จะร้อนรนเรรวนรัญจวนใจ |
ต่างครวญคร่ำรำลึกสะอึกสะอื้น | ดังเสียงคลื่นครึมมหาชลาไหล |
จนรุ่งเช้าเหงาเงียบระเยียบใจ | เสนาในพร้อมหน้าปรึกษากัน |
นางละเวงวัณฬาธิดาท้าว | ก็รุ่นสาวควรจะได้ไอศวรรย์ |
สืบกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ตามพงศ์พันธุ์ | เห็นพร้อมกันถ้วนทั่วตัวขุนนาง |
จึงจัดแจงแต่งมณฑปใส่ศพเจ้า | ล้วนเครื่องขาวโขมพัตถ์ตามขัดขวาง |
ใส่รถทองสองรถพระกลดกาง | พวกขุนนางพร้อมเพรียงอยู่เคียงรถ |
ทหารแห่แตรสังข์ทั้งหลังหน้า | ให้โยธาทุกพวกถอดหมวกหมด |
ตามภาษาฝรั่งตั้งประณต | แล้วแห่รถศพมาถึงธานี |
เข้าในวังยั้งหยุดอยู่ข้างหน้า | ให้กราบทูลพระธิดามารศรี |
ส่วนละเวงวัณฬากุมารี | ทราบว่าพี่กับบิดานิคาลัย |
ตกตะลึงขึงแข็งสิ้นแรงเรี่ยว | ร้องกรีดเดียวดิ้นซบสลบไสล |
พวกพี่เลี้ยงเคียงขนองประคองไว้ | ต่างแก้ไขค่อยฟื้นสะอื้นองค์ |
อุตส่าห์ฝืนขืนอารมณ์ดมโอสถ | ระรื่นรสนาสาด้วยยาผง |
ค่อยมีแรงแข็งขืนยืนดำรง | พร้อมพี่เลี้ยงเคียงองค์ลีลามา |
ถึงเกยทองสองรถเรียงมณฑป | รู้ว่าศพบิตุเรศกับเชษฐา |
ขึ้นบนเกยเผยมณฑปศพบิดา | ยังเต็มหน้าหนวดเคราไม่เน่าพอง |
นางทรุดองค์ลงเคารพอภิวาท | กราบพระบาทบิดาบูชาฉลอง |
สะอื้นร่ำน้ำพระเนตรลงเนืองนอง | พิไรร้องร่ำว่าสารพัน |
ทูลกระหม่อมจอมโลกของลูกเอ๋ย | พระละเลยลูกไว้ไปสวรรค์ |
แล้วมิหนำซ้ำพระพี่สิ้นชีวัน | ลูกจะผันพักตราไปหาใคร |
เหลือลำบากยากเย็นด้วยเป็นหญิง | ยิ่งคิดยิ่งเยือกอุราน้ำตาไหล |
กำพร้าแม่แต่ได้อยู่กับภูวไนย | ไม่เปลี่ยวใจลูกยาเหมือนครานี้ |
โอ้พระองค์ทรงสวัสดิ์ฉัตรทวีป | ดังประทีปแจ่มจำรัสรัศมี |
มาดับวับลับฟ้าทั้งธาตรี | ไม่เห็นพี่พ่อแม่อยู่แต่ตัว |
พระบิดาพาลูกไปด้วยเถิด | จะขอเกิดกับอุระพระอยู่หัว |
เป็นมนุษย์สุดจะอายไม่วายกลัว | จะฆ่าตัวตามติดพระบิตุรงค์ |
แล้วชักตรีที่เหน็บในมือเสื้อ | แต่พอเงื้อพระพี่เลี้ยงร้องเสียงหลง |
เข้าแย่งยุดฉุดชิงนางโฉมยง | กันแสงทรงโศกาแล้วว่าพลาง |
น้อยหรือรุมคุมเหงคะเนงร้าย | เขาจะตายนอกรีดมากีดขวาง |
จะชิงตรีพี่เลี้ยงไม่ละวาง | พวกขุนนางร้องห้ามปรามทุกคน |
อย่าปล่อยนะพระพี่เลี้ยงจงยึดไว้ | ไม่มีใครครองสมบัติจะขัดสน |
แล้วชวนกันอัญชลีนีฤมล | อย่าสิ้นชนม์เชิญบำรุงกรุงลังกา |
อันเยี่ยงอย่างปางก่อนบวรนาถ | เสวยราชย์เรียงกันตามชันษา |
บัดนี้สิ้นปิ่นกษัตริย์ขัตติยา | พระธิดาจงเป็นใหญ่ได้เอ็นดู |
จะได้คิดปิดอุมงค์ปลงพระศพ | เป็นเคารพรับตราพระราหู |
แล้วจึงคิดกิจการผลาญศัตรู | ที่เป็นคู่เคืองแค้นแทนบิดร ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาน้อย | ให้เศร้าสร้อยโศกทรวงดวงสมร |
จึงตรัสตอบขอบคำที่ร่ำวอน | การนครควรคู่กับผู้ชาย |
เราเป็นหญิงยิ่งเป็นเจ้าชาวสิงหล | ทุกตำบลจะบังอาจประมาทหมาย |
จงจัดกันบรรดาเสนานาย | ช่วยสืบสายสมบัติกษัตรา |
อันเรานี้มิขออยู่จะสู้ม้วย | ไปเกิดด้วยบิตุเรศกับเชษฐา |
นางตรัสพลางทางสะอื้นกลืนน้ำตา | พวกเสนาน้อยใหญ่พิไรทูล |
อันคนอื่นพื้นแต่ไพร่มิใช่กษัตริย์ | สุดจะจัดขึ้นเป็นปิ่นบดินทร์สูร |
แม่เป็นหญิงจริงอยู่แลแต่ตระกูล | สืบประยูรปกเกล้าชาวลังกา |
แม้นเมืองน้อยร้อยเอ็ดไม่เข็ดขาม | จะปราบปรามข้าศึกทรงปรึกษา |
ข้าพเจ้าเหล่าอำมาตย์มาตยา | ขออาสาสิ้นชีวิตไม่คิดกาย |
ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู | เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย |
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย | แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง |
ครั้นแดดแข็งแสงขาวดูพราวพร้อย | ครั้นบ่ายคล้อยเคลือบสีมณีเหลือง |
ครั้นค่ำช่วงดวงแดงแสงประเทือง | อร่ามเหลืองรัศมีเหมือนสีไฟ |
แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง | เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน |
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม | ถ้าชิงชัยแคล้วคลาดซึ่งสาตรา |
แต่ครั้งนี้ท้าวมิได้เอาไปศึก | เพราะท้าวนึกห่วงพระแม่แน่นักหนา |
ด้วยเป็นหญิงทิ้งไว้จึงให้ตรา | ไว้รักษาสารพันอันตราย |
จึงธนูผู้หญิงมันยิ่งถูก | ควรพระลูกทดแทนให้แค้นหาย |
หญิงผลึกศึกกล้าเสียกว่าชาย | เชิญพระแม่แก้อายอย่าวายวาง ฯ |
๏ ฝ่ายละเวงวัณฬาลูกฝรั่ง | ครั้นได้ฟังข้าเฝ้าเขาถากถาง |
จึงตรัสตอบขอบคุณพวกขุนนาง | ช่วยคิดล้างไพรินให้สิ้นอาย |
จะถือตราราหูคู่ชีวิต | อาญาสิทธิ์สุดแต่บทตามกฎหมาย |
อนึ่งเราเยาวพาปัญญาคลาย | ท่านทั้งหลายแหลมหลักช่วยตักเตือน |
แต่รีบรัดจัดแจงแต่งพระศพ | ตามขนบมาอย่างไรก็ให้เหมือน |
ฝ่ายข้าเฝ้าเหล่าทหารพลเรือน | ไม่บิดเบือนบังคมชมปัญญา |
พนักงานการสำหรับประดับศพ | ก็แต่งครบเครื่องอร่ามตามภาษา |
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเกาะลังกา | ท้าวพระยาอยู่ปราสาทราชวัง |
ก็ต้องมีที่ตายไว้ท้ายปราสาท | สำหรับบาทหลวงจะได้เอาไปฝัง |
เป็นห้องหับลับลี้ที่กำบัง | ถึงฝรั่งพลเรือนก็เหมือนกัน |
ใครบรรลัยไปบอกพระบาทหลวง | มาควักดวงเนตรให้ไปสวรรค์ |
มีไม้ขวางกางเขนเป็นสำคัญ | ขึ้นแปลธรรม์เทศนาตามบาลี |
ว่าเกิดมาสามัญคนทั้งหลาย | มีร่างกายก็ลำบากคือซากผี |
ครั้นตัวตายภายหลังฝังอินทรีย์ | เอาเท้าชี้ขึ้นนั้นด้วยอันใด |
วิสัชนาว่าจะให้ไปสวรรค์ | ว่าเท้านั้นนำเดินดำเนินได้ |
อันอินทรีย์ชีวิตพลอยติดไป | ครั้นเท้าย่างไปทางไหนไปทางนั้น |
จึงฝรั่งฝังผีตีนชี้ฟ้า | ให้บาทาเยื้องย่างไปทางสวรรค์ |
ว่ารูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครัน | ให้สูญลับกัปกัลป์พุทธันดร |
เทศนาหน้าศพจบแล้วสวด | พวกนักบวชบาทหลวงทั้งปวงสอน |
ให้เผ่าพงศ์วงศานรากร | นั้นมานอนคว่ำเรียงเคียงเคียงกัน |
ครั้นสวดจบศพใส่เข้าในถุง | บาทหลวงนุ่งห่มดำนำไปสวรรค์ |
อ่านหนังสือถือเทียนเวียนระวัน | ลูกศิษย์นั้นแบกผีทั้งสี่คน |
ค่อยเดินตามข้ามหลังคนทั้งหลาย | ที่นอนรายเรียงขวางกลางถนน |
บาทหลวงพระประพรำด้วยน้ำมนต์ | ตลอดจนห้องฝังกำบังลับ |
หกศีรษะเอาศพใส่หลุมตรุ | แต่พอจุศพถุงเหมือนปรุงปรับ |
พระบาทบงสุ์ตรงฟ้าศิลาทัพ | เครื่องคำนับนั้นก็ตั้งหลังศิลา |
ให้ลูกหลานว่านเครือแลเชื้อสาย | ได้ถวายข้าวตอกดอกบุปผา |
ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา | เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน |
แล้วกรวดน้ำทำบุญกับบาทหลวง | ตามกระทรวงส่งให้ไปสวรรค์ |
ครั้นสำเร็จเสร็จศพทำครบครัน | มาพร้อมกันบรรดาเสนาใน |
เชิญละเวงวัณฬาธิดาราช | ขึ้นนั่งอาสน์เนาวรัตน์จำรัสไข |
ฝ่ายเสนีที่บำรุงเจ้ากรุงไกร | ถวายไอศวรรยาทั้งธานี |
ทั้งหัศเกนเป็นนายฝ่ายทหาร | ถวายรถคชสารชาญชัยศรี |
แล้วเวียงวังคลังนาบรรดามี | อัญชลีแล้วถวายรายกันไป ฯ |
๏ นางถือตราราหูคู่พระหัตถ์ | เพชรรัตน์รุ้งพร่างสว่างไสว |
ทรงกระบี่มีโกร่งโปร่งเปลวไฟ | จึงปราศรัยเสนาบรรดามี |
เราขอบคุณขุนนางต่างตำแหน่ง | ช่วยตบแต่งให้บำรุงซึ่งกรุงศรี |
อายุเราเล่าพึ่งได้สิบหกปี | เป็นสตรีไม่ชำนาญการสงคราม |
แต่สุดแสนแค้นเคืองเมืองผลึก | จะทำศึกสิ้นชีวิตไม่คิดขาม |
ขอปัญญาข้าเฝ้าอย่าเบาความ | จะปราบปรามเมืองผลึกช่วยตรึกตรา |
ฝ่ายขุนนางต่างคนก็จนจิต | สุดจะคิดการศึกที่ปรึกษา |
จึงทูลความตามธรรมเนียมเจียมปัญญา | ธรรมดาข้าบาทในราชการ |
ก็เรียนรู้อยู่คงเข้ายงยุทธ์ | เพลงอาวุธป้องปัดประหัตประหาร |
กับพิชัยสงครามตามโบราณ | ไม่ทราบการกลศึกที่ลึกลับ |
สุดแต่องค์นงลักษณ์ศักดิ์กษัตริย์ | จะทรงจัดการสำเร็จให้เสร็จสรรพ |
จะชนะจะแพ้เพราะแม่ทัพ | ที่บังคับคิดอ่านการทั้งปวง |
อันนักปราชญ์ราชครูผู้สำเร็จ | คือสมเด็จสังฆราชพระบาทหลวง |
รู้วิสัยไตรยุคทุกกระทรวง | แล้วก็ล่วงรู้ประมาณการสงคราม |
ทั้งดินฟ้าอาเพศเหตุวิบัติ | แม้นกษัตริย์สงสัยได้ไต่ถาม |
เป็นที่ครูสุริย์วงศ์ทรงพระนาม | ได้ปราบปรามบ้านเมืองเรืองเจริญ ฯ |
๏ ฝ่ายละเวงวัณฬาสุดาสดับ | กิตติศัพท์ซึ่งรำพันสรรเสริญ |
จึงสั่งเสนาในให้ไปเชิญ | บาทหลวงเดินเข้ามานั่งบัลลังก์รัตน์ |
นางโฉมยงทรงรินสุราถวาย | เสนานายหลายคนปรนนิบัติ |
เครื่องน้ำชามาตั้งบ้างนั่งพัด | บ้างหยิบยัดยากล้องจ้องประเคน |
นางละเวงวัณฬาอัชฌาฉลาด | คำนับบาทหลวงต่างไม้กางเขน |
แล้วเล่าเรื่องเมืองผลึกทำศึกเจน | อุศเรนบิตุราชไปพลาดพลั้ง |
เสียพระชนม์คนตายก็หลายแสน | จะแก้แค้นคิดหมายไม่วายหวัง |
ขอพึ่งบุญคนช่วยด้วยสักครั้ง | ช่วยโปรดสั่งสอนให้เหมือนใจนึก ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง | ฉลาดล่วงคาดการประมาณศึก |
หัวร่อร่าว่าเป็นกรรมที่ล้ำลึก | เมืองผลึกดีแต่สู้กับผู้ชาย |
แผ่นดินนี้สีกามหากษัตริย์ | เห็นจะตัดศึกได้ดังใจหมาย |
ยิ่งเป็นหญิงยิ่งจะได้ด้วยง่ายดาย | ถ้าเป็นชายก็จะแพ้แก่ศัตรู |
จะต้องตรองตรึกตราวิชาหญิง | สละทิ้งเสียทั้งตราพระราหู |
แม้นคิดเห็นเช่นเราสั่งทั้งชมพู | ไม่หาญสู้ศึกโยมพระโฉมงาม ฯ |
๏ นางละเวงเกรงฉลาดพระบาทหลวง | ไม่ทราบทรวงสงสัยจึงไต่ถาม |
ข้าพเจ้าเยาวพาปัญญาทราม | ช่วยแนะความเหตุผลในกลการ |
พระหัวเราะเคาะกล้องจะลองจิต | บอกเป็นปริศนาว่าวิตถาร |
กลก็การการก็กลกลปนการ | เร่งคิดอ่านองค์ละเวงอย่าเกรงเลย |
แล้วลุกลาคลาไคลกลับไปกุฏิ์ | นิมนต์หยุดก็ยิ่งเดินทำเมินเฉย |
นางคิดคำทำเนียบที่เปรียบเปรย | ยังไม่เคยแก้กลก็จนใจ |
ให้ทิ้งตราราหูรู้อย่างหญิง | จะให้ยิ่งยังไม่เห็นว่าเป็นไฉน |
ไม่พูดจาว่าขานประการใด | กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา ฯ |
๏ แต่นั้นมาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | พยาบาทเมืองผลึกจึงปรึกษา |
แม้นโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาพะงา | ออกนั่งว่าราชกิจที่ติดพัน |
จะให้ผู้เฒ่าเฝ้าห้องร้องว่าศึก | เมืองผลึกยิงบิดาท่าอาสัญ |
เหมือนเตือนเจ้าเช้าเย็นไม่เว้นวัน | ด้วยผูกพันพยาบาทดังชาติทมิฬ ฯ |