- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
ของ
ธนิต อยู่โพธิ์
ตาม “ประวัติสุนทรภู่” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ ทรงกล่าวถึงท่านสุนทรภู่ เมื่อรับราชการอยู่ในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรง “นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ที่ใต้ท่าช้าง และมีตำแหน่งเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาส ก็โปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่งเป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาพระทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน”
ตรงนี้แสดงว่า ท่านขุนสุนทรโวหารได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและทรงปรึกษาเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนเนือง ๆ และเมื่อทรงพระราชนิพนธ์ติดขัด ก็คงจะโปรดให้ท่านขุนสุนทรโวหารต่อกลอนเป็นบางคราว จึงเป็นทางให้ท่านขุนได้อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทยิ่งขึ้น และคงจะมีบางครั้งที่ท่านขุนสุนทรโวหารคงจะยึดมั่นในความคิดเห็นของตนโดยไม่ยอมผ่อนปรน ตามวิสัยของกวีหรือศิลปินทั้งหลาย ซึ่งบางทีความคิดเห็นนั้นก็อยู่แต่ในวงแคบและมืดทาง แต่ท่านเจ้าของก็ยังดันทุรังดื้อด้านกราบทูลโต้แย้งเข้าไป หรือพูดอย่างธรรมดาสามัญก็คือ กราบทูลโต้แย้งขัดคอไม่ชอบด้วยเหตุผลและกาลเทศะ จนเป็นเหตุให้ทรงกริ้วหลายครั้งหลายหน บางคราวก็พอจะโปรดประทานได้ แต่ก็คงจะมีบางครั้งที่จำต้องทรงดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเพื่อปราบพยศเสียบ้าง และทางที่จะทรงปราบพยศอย่างหนึ่ง ก็คือโปรดให้นำตัวไปจำขังในบางคราว และท่านขุนสุนทรโวหารก็คงจะถูกเข้าโดยวิธีนี้หลายครั้ง เช่นเดียวกับที่เล่าถึงศรีปราชญ์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีเรื่องเล่ากันมาเกี่ยวกับชีวิตราชการของท่านสุนทรภู่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้เอาตัวไปคุมขังหรือจำคุกไว้เป็นครั้งคราว แต่คราวใดโปรดให้นำตัวท่านสุนทรภู่ไปจำขัง ก็มักมีเรื่องเล่าถึงอัจฉริยะทางต่อกลอนพระราชนิพนธ์ติดตามมา เช่นเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งได้โปรดให้นำตัวสุนทรภู่ไปจำขังไว้ เห็นจะเป็นตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ระยะนั้นกำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก เรื่องสังข์ทอง เล่ากันมาว่า ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทโลมระทว่างเจ้าเงาะกับนางรจนา เมื่อแรกมาอยู่กระท่อมปลายนา เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทโลมของเจ้าเงาะ มักทรงเป็นกลอนคำด้วย ครั้นทรงพระราชนิพนธ์บท
โอโล้ม
๏ แสนเอยแสนแขนง | น้อยหรือแกล้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า |
ติเล็กติน้อยคอยนินทา | ค่อนว่าพิไรไค้แคะ |
พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง | มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ |
เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ |
ครั้นทรงพระราชนิพนธ์มาถึงตรงนี้ ก็ทรงคิดคำและกลอนสัมผัสให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยไม่ได้ หรือจะทรงนึกถึงขุนสุนทรโวหารขึ้นมาด้วยพระราชหฤทัยเมตตาปรานีก็ไม่ทราบ ได้โปรดให้มหาดเล็กที่เคยทรงใช้สอยในเรื่องบทกลอน ไปถามขุนสุนทรโวหารในที่คุมขัง ทั้งโปรดมีพระราชกระแสรับสั่งไปด้วยว่า “ถ้าต่อได้จะให้ออกจากที่คุมขัง” มหาดเล็กผู้นั้นคงจะสนิทสนมชอบพอกับท่านขุนสุนทรโวหาร (อาจเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็กเพื่อนของสุนทรภู่ก็ได้) จึงรีบไปด้วยอารามดีใจ และบอกกับท่านขุนเป็นทำนองว่า “นี่ท่านขุน ในหลวงท่านทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทองค้างไว้ มีพระราชกระแสรับสั่งมาให้ท่านขุนแต่งต่อ ถ้าแต่งต่อได้จะโปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษ ออกจากที่คุมขัง” ท่านขุนจึงถามว่า ทรงพระราชนิพนธ์ค้างไว้ว่าอย่างไร มหาดเล็กผู้นั้นก็ว่าทวนกลอนพระราชนิพนธ์ดังกล่าวข้างต้นให้ฟังและยํ้าว่า ถ้าแต่งต่อได้จะโปรดให้พ้นโทษ ท่านขุนสุนทรโวหารจึงเอ่ยขึ้นว่า “แฮะ แฮะ ว่าเล่นหรือว่าจริง” มหาดเล็กผู้นั้นก็ยํ้ากับท่านขุนสุนทรโวหารว่า “จริงจิ๊ง มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ถ้าต่อได้ จะโปรดให้พ้นโทษจริงๆ” แล้วเตือนให้ท่านขุนสุนทรโวหารแต่งต่อกลอนพระราชนิพนธ์ ท่านขุนก็ว่า ก็แต่งต่อถวายแล้วยังไงล่ะ ว่า “แฮะ แฮะ ว่าเล่นหรือว่าจริง มหาดเล็กผู้นั้นก็ลองทบทวนคำกลอนพระราชนิพนธ์ดูใหม่ว่า
๏ แสนเอยแสนแขนง | น้อยหรือแกล้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า |
ติเล็กติน้อยคอยนินทา | ค่อนว่าพิไรไค้แคะ |
พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเกี่ยงสักสิ่ง | ยันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ |
เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ | แฮะแฮะว่าเล่นหรือว่าจริง |
ก็ได้ความและสัมผัสกันดี จึงรีบกลับเข้าไปกราบทูล ก็โปรดและทรงพระราชนิพนธ์ต่อจนจบบทและกระแสความว่า
อย่าประมาทรูปพี่เห็นขี้เหร่ | ไม่ว่าเล่นเป็นเสน่ห์ชอบใจหญิง |
ชาวรั้วชาววังไม่ชังชิง | อุตส่าห์ทิ้งมาลัยมาให้เงาะ |
ใช่ว่าจะแสร้งแกล้งอวดตัว | นานไปพี่กลัวจะชมเปาะ |
ว่าพลางเย้ายวนชวนหัวเราะ | แกล้งปะเหลาะปะแหละและเลียม |
นี่แน่น้องผินหน้ามาข้างนี้ | ไม่พอที่จะระคายอายเหนียม |
ดูดู๋ขืนยังนั่งเอี้ยมเฟี้ยม | ใจคอเหี้ยมเกรียมหนักหนานัก |
มาเถิดเจ้าเข้าไปเสียในมุ้ง | กลางนากลางทุ่งยุงมันหนัก |
อย่าทำบิดตะกูดพูดเยื้องยัก | แสนงอนค้อนควักไปทีเดียว |
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ท่านสุนทรภู่พ้นโทษ กลับเข้าราชการเข้าเฝ้าใกล้ชิดเช่นเดิม เล่ากันมาดังนี้เรื่องหนึ่ง
กล่าวกันมาอีกเรื่องหนึ่งว่า ในรัชกาลที่ ๒ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อยู่ในรัชกาลนั้น ตอนแรกๆ ก็ทรงโปรดปรานชอบพอสนิทสนมกับท่านสุนทรภู่มาก ในฐานะทรงเป็นกวีที่ทรงปรึกษาด้วยกัน เล่ากันว่า วันหนึ่งขณะที่บรรดาข้าราชการมารอเฝ้าคอยเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทอดพระเนตรเห็นสิงโตหินที่เพิ่งนำมาตั้งใหม่ ประดับอยู่หน้าพระที่นั่ง จึงทรงเริ่มคำกลอนนำขึ้นว่า
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ | - โตติ้งสิงห์ตั้งเหมือนดั่งเป็น |
สุนทรภู่ | - ดูผงกผกเผ่นไม่ผันผยอง |
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ | - มาแต่ไหนใหม่ตัวนี้มีทำนอง |
สุนทรภู่ | - เสือกไม่ไปไสไม่คล่องมาแต่จีน |
แล้วต่างก็เป็นที่รื่นรมย์สนุกสนานไปด้วยกัน[๑]
ครั้นเสด็จออก ต่างก็พากันเข้าเฝ้า แต่ก็เป็นดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อคุ้นเคยกันหนักเข้า ท่านสุนทรภู่ก็คงจะเลยธงไปตามวิสัยของศิลปินที่แก่วิชา จึงเกิดเรื่องขัดแย้งถึงกับกล้าแก้คำกลอนพระนิพนธ์ ซึ่งกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ทรงแต่งถวายหน้าพระที่นั่ง เช่น แก้กลอนตอนนางบุษบาเล่นธารในเรื่องอิเหนา และตอนท้าวสามนต์จะให้ ๗ ธิดาเลือกคู่ในเรื่องสังข์ทอง ตอนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาเล่าไว้แล้วในประวัติสุนทรภู่ จึงเป็นเหตุให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงขัดเคืองแต่นั้นมา
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต เมื่อแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เฉลิมพระนามต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านขุนสุนทรโวหารอาลักษณ์ก็ถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ และถูกปลดออกจากราชการ คนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า สุนทรภู่ และท่านสุนทรภู่มีความหวาดกลัวต่อพระราชอาชญา จึงออกบวชเป็นพระภิกษุในปีวอก ซึ่งเป็นปีสวรรคตนั้นเอง ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพพระภิกษุสงฆ์มาก แม้กระนั้นก็คงจะยังเกรงกลัวราชภัยอยู่ พระภิกษุสุนทรภู่จึงหลบไปอยู่เสียตามหัวบ้านหัวเมืองต่างๆ เห็นจะราว ๒-๓ ปี เช่นที่กล่าวไว้ในคำกลอน “รำพันพิลาป” ว่า
แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ | บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา |
เหมือนลอยล่องท้องชเลอยู่เอกา | เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล |
ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร | แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส |
เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกแขวงแคว | ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาล |
ทางบกเรือเหนือใต้เที่ยวไปทั่ว | จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน |
เมืองพริบพรีที่เขาทำรองนํ้าตาล | รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม |
ไปราชพรีมีแต่พาลจังฑาลพระ | เหมือนไปปะบรเห็ดเหลือเข็ดขบ |
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม | ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว |
และยังกล่าวว่าเร่ร่อนไปตามหัวบ้านหัวเมืองอื่นๆ อีก คงจะคะเนว่า พอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลืมๆ แล้ว ท่านสุนทรภู่ก็กลับ ดูเหมือนจะมาอยู่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ ก่อน แต่แม้กระนั้นก็คงจะไม่สู้มีเจ้านายองค์ใดกล้าทรงอุปการะ แม้แต่เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเคยเป็นศิษย์มาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ก็เกรงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่กล้าทรงอุปถัมภ์ เมื่อท่านสุนทรภู่แต่ง “เพลงยาวถวายโอวาท” แก่เจ้าฟ้ากลาง คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระอนุชาของเจ้าฟ้าอาภรณ์ จึงแต่งกลอนกระแหนะกระแหน แทรกฝากไว้ในเพลงยาวนั้นว่า
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร | ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม |
เข้าใจว่า ท่านสุนทรภู่คงจะขาดผู้อุปการะที่เป็นหลักเป็นแหล่ง จึงเริ่มแต่งกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณีขึ้นในระยะนี้ ดังที่ข้าพเจ้าได้เปรียบเทียบบุคคลและเหตุการณ์ไว้ในเรื่อง “ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี ที่พิมพ์ไว้ในเบื้องต้นของคำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี เล่ม ๔
ในคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีนั้น มีถ้อยคำเป็นสุภาษิตอยู่คำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำของฤๅษีเกาะแก้วพิสดารสอนสุดสาคร ตอนตกเหวว่า
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา | รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี |
ท่านสุนทรภู่เองก็คงจะยึดถือสุภาษิตบทนี้ด้วยเหมือนกัน เมื่อเห็นเจ้านายอื่นๆ ต่างเกรงพระราชบารมีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีองค์ใดกล้าทรงอุปการะ ท่านสุนทรภู่จึงคิดเข้าหาท่านผู้ที่พอจะพึ่งพิงได้ เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเจ้าจอมที่โปรดมากอยู่คนหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาบาง และทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับเจ้าจอมมารดาบาง ๒ องค์ คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ องค์หนึ่ง พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระองค์หนึ่ง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตารักใคร่โปรดปรานพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณประทับอยู่ ณ วังที่พระองค์เองเคยเสด็จประทับอยู่ก่อนเสวยราชสมบัติ คือวังท่าพระทุกวันนี้ ครั้งแรก ท่านสุนทรภู่ได้ไปพึ่งพระบารมีอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในฐานะเป็นกวีและเป็นพระภิกษุด้วยกัน ครั้นต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ทรงผนวช ณ วัดพระเชตุพน ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ คงจะได้ทรงรู้จักมักคุ้นกับท่านสุนทรภู่ ก็ทรงพระปรานี ครั้นเสด็จลาผนวชแล้ว ท่านสุนทรภู่ก็ยังคงพึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ อยู่ต่อมาระยะหนึ่ง และว่าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงชักชวนให้มาอยู่วัดมหาธาตุ เพราะเป็นวัดใกล้วังท่าพระ จะได้ทรงอุปการะได้สะดวก แต่คงจะพึ่งอยู่ไม่ได้นาน พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์เสียเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านสุนทรภู่คงจะย้ายจากวัดมหาธาตุ กลับไปอยู่วัดพระเชตุพนอีก เพราะเมื่อคราวแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าในปี พ.ศ.๒๓๗๙ พึ่งสมมติให้เป็นสามเณรพัดลูกชายแต่ง บอกไว้ว่า
เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร | |
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร | กำจัดจรจากนิเวศน์พระเชตุพน |
ในระยะนี้คงจะได้ติดต่อ หมายพึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเชษฐภคินีร่วมเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่ด้วยแล้ว เมื่อเดินทางไปถึงกรุงเก่า และแวะเข้านมัสการหลวงพ่อพนัญเชิง จึงกล่าวคำอธิษฐานไว้ตอนหนึ่งว่า
อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง | ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย |
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย | นํ้าพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน |
และกล่าวความอีกตอนหนึ่งว่า
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม | ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา |
ท่านสุนทรภู่กลับจากกรุงเก่าคราวนี้แล้ว คงจะได้พึ่งพระบารมีพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สมดังอธิษฐาน ขณะนั้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีพระชนม์ ๒๕ พรรษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี ที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งไว้ ๔๙ เล่มสมุดไทย จบความเพียงพระอภัยมณีออกบวชก็ชอบพระหฤทัย ทรงมีพระประสงค์จะมิให้จบเพียงนั้น จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงต่อไป ด้วยเหตุนี้ ท่านสุนทรภู่จึงต้องคิดแต่งเรื่อง พระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องต่อไปจนเล่มที่ ๙๙ จึงจบ และถ้าเป็นดังนี้ ท่านสุนทรภู่ก็คงจะเริ่มแต่งตอนหลังนี้ถวายตั้งแต่ยังมิได้ย้ายไปจำพรรษาาอยู่วัดเทพธิดาราม เช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำนำของหนังสือนี้
แต่โดยวิสัยของกวีและศิลปิน ซึ่งอาจสร้างจินตนาการขึ้นได้โดยไม่จำกัดขอบเขต ท่านสุนทรภู่ก็เช่นเดียวกับศิลปินอื่น คงจะพยายามสร้างจินตนาการผูกเรื่องพรอภัยมณีตอนต่อใหม่ขึ้นมาจนได้ และมีหลายครั้งหลายตอน ที่ผูกโครงเรื่องและสร้างคำกลอนขึ้นมาคล้ายกับจะเคาะแคะกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรืออาจสมมติให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นตัวละครในเรื่องเป็นบางครั้ง และท่านสุนทรภู่ก็อดเสียมิได้ที่จะสร้างความในใจแฝงฝากไว้กับตัวละครบางตัวในเรื่องพระอภัยมณี เช่น ตอนพระมังคลา โอรสพระอภัยมณีกับนางละเวงวัณฬา พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่เมืองสำปันหนา แล้วไปเกิดรักนางดวงแข ธิดาท้าวรายา จึงเขียนสารถึงนางดวงแข (ตอนที่ ๗๗) เป็นกลอนว่า
นางรับสารอ่านกลอนอักษรสนอง | ฉันจำลองลายหัตถ์จัดถวาย |
กระดาษแทนแผ่นสุวรรณพรรณราย | เพราะมุ่งหมายพระธิดายุพาพิน |
แต่เรียมจนเพราะเป็นคนอนาถา | แม้นเมตตาก็จะหายวายถวิล |
เพราะความรักหนักเท่าพระธรณิน | เชิญยุพินทราบคำที่รำพัน |
อันตัวพี่เหมือนกระต่ายมาหมายแข | ตะลึงแลแสงช่วงดวงบุหลัน |
ก็สุดหมายที่จะมาดสวาทจันทร์ | อยู่ถึงชั้นดาวดึงส์เห็นกึ่งเกิน |
เมื่อไรเลยจันทราดวงดารก | จะร่วงตกลงมาบ้างเห็นห่างเหิน |
ขอเสี่ยงบุญหนุนนำให้จำเริญ | เป็นที่เยินยอยศปรากฏไป |
แม้นคู่เคียงเรียงหมอนแต่ก่อนสร้าง | อย่าให้ร้างเชยชิดพิสมัย |
ให้เหมือนพวงปุบผาสุมาลัย | มาสวมใส่หัตถาศิลาลอย |
เชิญพระนุชบุตรีนารีรัก | ช่วยเชิดพักตร์พี่ไว้ได้ใช้สอย |
อย่าบากบั่นผันพักตร์ให้รักลอย | จงตอบถ้อยศุภสารสมานเอย |
คำกลอนดังกล่าวนี้ และมีอีกหลายแห่ง ถ้านำไปเทียบกับคำกลอน หรือเนื้อความในเรื่อง “รำพันพิลาป” ก็ดูจะปรับความเข้ากันได้ว่า จินตนาการของท่านสุนทรภู่เป็นอย่างไร ซ้ำยังนำความในใจมาระบายไว้เป็นนัยๆ ดูประหนึ่งจะหมายถึงใครสักคนหนึ่ง อาจเป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ได้ ในนิราศพระประธมซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เช่นว่า
โอ้บุปผาสารพัดที่กลัดกลีบ | ครั้นรุ่งรีบบานงามไม่ห้ามหวง |
ให้ชื่นชุ่มภุมรินสิ้นทั้งปวง | ได้ซาบทรวงเสาวรสไม่อดออม |
แต่ดอกฟ้าส่าหรีเจ้าพี่เอ๋ย | มิหล่นเลยให้หมู่แมงภู่สนอม |
จะกลัดกลิ่นสิ้นรสพราะมดตอม | จนหายหอมแลกรอกเหมือนดอกกลอย |
และกล่าวต่อไปเมื่อฝานหน้าวัดสักในคลองบางกรวยว่า
ถึงวัดสักเหมือนหนึ่งรักที่ศักดิ์สูง | ยิ่งกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย |
แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อนลอย | จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง |
เรื่องจินตนาการของกวีทำนองนี้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบ ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็น และเมื่อเห็นไปๆ จะถูกหรือผิดไม่ทราบได้ ขอนำจินตนาการบางเรื่องที่สร้างขึ้นในขณะอ่านกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่ว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่แต่งต่อ มากล่าวแต่โดยย่อเพียงเท่านี้.