- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
๏ จะกล่าวถึงอนุชานิทราสนิท | พระอาทิตย์ยอแสงแฝงพฤกษา |
น้ำค้างพรมลมพัดกระพือมา | เสนาะเสียงสกุณาสนั่นไพร |
ทะเลลึกเลื่อนลั่นสนั่นคลื่น | ผวาตื่นหวาดหวั่นฤทัยไหว |
ไม่เห็นพี่ที่พุ่มพฤกษาไทร | ประหลาดใจปลุกพราหมณ์ทั้งสามนาย |
พระเชษฐาข้าไปข้างไหนเล่า | เมื่อกี้เป่าปี่เล่นไม่เห็นหาย |
ที่ก็เตียนเลี่ยนลาดล้วนหาดทราย | จะแฝงกายที่ไหนก็ไม่มี |
สามมาณพนิ่งคิดผิดประหลาด | หรือภูวนาถนึกอางขนางหนี |
จะทอดทิ้งน้องไว้ก็ใช่ที | เหตุจะมีสักสิ่งนึกกริ่งใจ |
แล้วพากันย่างย่องมองเขม้น | ก็พอเห็นรอยเท้าที่ยาวใหญ่ |
มายั้งหยุดสุดสิ้นเพียงต้นไทร | แล้วกลับไปหายลงในคงคา |
อันรอยนี้มิใช่รอยมนุษย์ | ต่างวิมุติหมางจิตคิดกังขา |
หรือยักษีผีเสื้อแกล้งมารยา | มาลักพาภูวไนยเอาไปกิน |
ศรีสุวรรณเห็นจริงก็ใจหาย | ระทวยกายลงกับท่าชลาสินธุ์ |
พระเนตรนองนัยนาดั่งวาริน | กันแสงสิ้นเสือกซบสลบไป ฯ |
๏ ทั้งสามพราหมณ์เข้าประคองพระน้องนาถ | เห็นอนาถนิ่งแน่เข้าแก้ไข |
ร้องเรียกพลางทางแสนสงสารใจ | ก็ร่ำไรเรียกหน่อกษัตรา ฯ |
๏ ศรีสุวรรณฟื้นองค์ดำรงนั่ง | สุชลหลั่งคลอเนตรถึงเชษฐา |
โอ้สงสารป่านฉะนี้พระพี่ยา | ไปลับตาตายเป็นไม่เห็นกัน |
เป็นเพื่อนสุขทุกข์โศกวิโยคยาก | ตั้งแต่จากกรุงไกรไอศวรรย์ |
ระหกระเหินเดินป่าพนาวัน | กินเผือกมันต่างข้าวทุกเช้าเย็น |
อยู่ด้วยกันหลัดหลัดมาพลัดพราก | แต่แสนยากแล้วมิหนำมาซ้ำเข็ญ |
นึกนึกแล้วก็น่าน้ำตากระเด็น | จะอยู่เป็นคนไปทำไมมี |
สะอื้นอ้อนข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | วรพักตร์ผุดผ่องก็หมองศรี |
กันแสงทรงโศกศัลย์พันทวี | อยู่กับที่หาดทรายชายคงคา ฯ |
๏ ทั้งสามพราหมณ์เข้าประคองแล้วร้องไห้ | น้ำตาไหลพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
ต่างนบนอบปลอบหน่อกษัตรา | อย่าโศกาตรอมนักจงหักใจ |
อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก | สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย |
ซึ่งเกิดเหตุเชษฐาเธอหายไป | ก็ยังไม่รู้เห็นว่าเป็นตาย |
ควรจะคิดติดตามแสวงหา | แล่นนาวาไปในวนชลสาย |
แม้นพระพี่มิม้วยชีวาวาย | ก็ดีร้ายจะได้พบประสบกัน |
ข้าทั้งสามก็จะตามเสด็จด้วย | ผิดชอบช่วยไปกว่าจะอาสัญ |
จงดับทรงโศกาอย่าจาบัลย์ | จะเนิ่นวันเสียเปล่าไม่เข้ายา ฯ |
๏ พระฟังสามพราหมณ์ปลอบก็ชอบจิต | แสนสนิทยิ่งกว่าญาติวงศา |
ค่อยมีแรงแข็งขืนกลืนน้ำตา | จึงบัญชาชมพราหมณ์ทั้งสามคน |
ถึงมาตรแม้นเป็นเพื่อนก็เหมือนพี่ | ด้วยน้องนี้ก็ยังเยาว์เฉาฉงน |
พี่ช่วยคิดติดตามเมื่อยามจน | พระคุณล้นล้ำลบภพไตร |
แต่ทะเลลึกกว้างถึงอย่างนี้ | ไม่รู้ที่จะตามติดไปทิศไหน |
จะผ่อนปรนบนบานประการใด | จึงจะได้แจ้งจิตในกิจจา ฯ |
๏ เจ้าสานนคนฉลาดเฉลยตอบ | พ่อคิดชอบอย่างนี้ดีหนักหนา |
พี่ได้ครูรู้เรียนตำรามา | จะจับยามสามตาให้แน่นอน |
แล้วนับนิ้วนิ่งนั่งตั้งสติ | ตามลัทธิเรียนรู้ที่ครูสอน |
ทั้งลมจันทกาลาพยากรณ์ | เห็นแน่นอนแม่นยำแล้วทำนาย |
อย่าครวญคร่ำรำพึงถึงพระพี่ | มีสตรีพาไปดังใจหมาย |
เขาอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่สบาย | พอเคราะห์คลายเห็นจะพบประสบกัน |
อยู่ข้างทิศอาคเนย์ทะเลลึก | พระอย่านึกแหนงว่าจะอาสัญ |
เรารีบเร่งออกเรือเผื่อจะทัน | แล้วพากันลงมาเภตรากล |
ถอนสมอช่อใบขึ้นใส่เสา | จัดให้เจ้าโมราเป็นต้นหน |
หน่อกษัตริย์สองพราหมณ์เป็นสามคน | ขึ้นนั่งบนบาหลีด้วยปรีดา |
พอสิ้นแสงสุริยันจันทร์กระจ่าง | ส่องสว่างกลางทะเลพระเวหา |
ต้องพระพายชายพัดกระพือพา | สำเภาหญ้าฝ่าคลื่นมากลางชล |
พระเล็งแลตามกระแสชลาสินธุ์ | สิขรินเกาะแก่งทุกแห่งหน |
ละลิบลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน | เห็นแต่ชลกับมัจฉาดาราพราย |
เวลาค่ำน้ำเค็มก็พร่างพร่าง | แวมสว่างวาบวับระยับฉาย |
เสมอเม็ดเพชรรัตน์โมราราย | แจ่มกระจายพรายพร่างกลางชลา |
พระเอนองค์ลงบนแท่นท้ายบาหลี | แสนทวีพูนเทวษถึงเชษฐา |
จนเดือนดับลับลงในคงคา | สุริยาพุ่งพ้นชลธาร ฯ |
๏ สำเภาน้อยลอยลำครรไลล่อง | ขึ้นฟูฟ่องระลอกกระฉอกฉาน |
พระชมหมู่มัจฉากุมภาพาล | ขึ้นผุดพล่านตามหลังมาพรั่งพรู |
ฉนากฉลามตามคลื่นอยู่คลาคล่ำ | ทั้งช้างน้ำโลมาแลราหู |
มังกรเกี่ยวเลี้ยวล่องท้องสินธู | เป็นคู่คู่เคียงมาในวารี |
คิดคะนึงถึงองค์พระเชษฐา | ถ้าแม้นมาด้วยน้องเป็นสองศรี |
จะชวนชมฝูงสัตว์ในนัทที | โอ้ยามนี้น้องมาดูแต่ผู้เดียว |
จะเหลียวซ้ายแลขวาก็ว้าเหว่ | ท้องทะเลลึกล้ำล้วนน้ำเขียว |
คลื่นระลอกกลอกกลิ้งเป็นเกลียวเกลียว | ทางก็เปลี่ยวใจก็เปล่าเศร้าฤทัย |
ยิ่งโศกแสนอาดรูพูนเทวษ | ชลเนตรหล่อหลั่งละลุมไหล |
เจ้าพราหมณ์น้อยคอยปลอบประโลมใจ | แล้วชวนให้ชมละเมาะทุกเกาะเกียน |
แลสลับซับซ้อนสิงขรเขา | เป็นเหล่าเหล่าหลายหลากดังฉากเขียน |
ที่เชิงชั้นรุกขชาติสะอาดเตียน | พิศเพี้ยนสีเคลือบเมื่อเหลือบแล |
พระชม้อยค่อยเพลินเจริญจิต | นิ่งพินิจเขาไม้ในกระแส |
เห็นเงือกงามพราหมณ์ชี้ว่านี่แน | พ่อจงแลดูนางกลางชลา |
มีเผ้าผมนมเนื้อเนตรขนง | ทั้งรูปทรงน่ารักเป็นนักหนา |
เสียแต่เพียงพื้นล่างเป็นหางปลา | กับพูดจานั้นไม่เป็นเหมือนเช่นเรา |
พระแย้มยิ้มพริ้มพรายภิปรายซัก | ใจพี่รักจะใครได้หรือไม่เล่า |
เจ้าพราหมณ์แกล้งตอบความเป็นสำเนา | แม้นได้เปล่าจะคำนับรับประทาน |
พลางสำรวลชวนชื่นด้วยเชิงฉลาด | พระหน่อนาถปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
กำหนดนับวันมาก็ช้านาน | ไม่พานพบเชษฐาเหมือนอารมณ์ ฯ |
๏ เป็นบุพเพสันนิวาสพาสนา | กษัตราจะได้คู่ที่สู่สม |
สำเภาน้อยลอยแล่นมาตามลม | ลุอุดมรมจักรนครา |
ที่ตรงหน้าธานีนั้นมีเกาะ | เรือจำเพาะเข้าออกตามซอกผา |
เห็นหอคอยลอยลิ่วตรงทิวตา | ก็รู้ว่าปากน้ำเป็นสำคัญ |
พระปรึกษาว่ากับพราหมณ์ทั้งสามพี่ | นครนี้น้องเห็นจะคับขัน |
จึงระวังตั้งกองอยู่ป้องกัน | จะเป็นจันตประเทศหรือท้าวไท ฯ |
๏ ได้ฟังถามพราหมณ์ทูลสนองตอบ | อันเขตขอบเห็นเป็นทีบุรีใหญ่ |
เราแวะเข้าดูเล่นก็เป็นไร | เผื่อจะได้ข่าวที่พระพี่ยา |
แต่เรือเราเผาเสียจึงจะได้ | อย่าให้ใครเห็นอย่างว่าฟางหญ้า |
พ่อแต่งองค์มาตามพราหมณ์พฤฒา | จะได้พากันเที่ยวดูพระบูรี |
เห็นพร้อมกันหันลำสำเภาล่อง | เข้าตามช่องหว่างเชิงคิรีศรี |
ชาวด่านเห็นนาวาเข้าธานี | ก็ขึ้นตีกลองดังให้รั้งรอ |
เจ้าพราหมณ์ปลดลดใบทั้งท้ายหน้า | เข้าถึงท่าเรือจอดทอดสมอ |
พระแต่งองค์เป็นพราหมณ์งามลออ | เอาเพลิงจ่อจุดเผาสำเภายนต์ |
เพลิงสว่างกลางวันเป็นควันกลุ้ม | ชาวด่านรุมกันมาดับอยู่สับสน |
ก็ขึ้นฝั่งวารีทั้งสี่คน | สำเภายนต์โทรมลงในคงคา ฯ |
๏ ฝ่ายนายหมวดตรวจตรารักษาด่าน | แสนสงสารพราหมณ์น้อยเป็นนักหนา |
จึงร้องเรียกมานั่งยังศาลา | แล้วพูดจาปราศรัยเป็นไมตรี |
เจ้าเชื้อพราหมณ์พรหเมศประเทศไหน | จึงใช้ใบนาวามาถึงนี่ |
พอเรือจอดมอดม้วยด้วยอัคคี | สินค้ามีในสำเภาสักเท่าไร |
น่าประหลาดหลากจิตคิดฉงน | แต่สี่คนก็ช่างมาเภตราได้ |
ขอถามเจ้าเผ่าพราหมณ์นี้นามใด | ดูรูปร่างช่างกระไรล้วนงามงาม ฯ |
๏ เจ้าสานนคนฉลาดเฉลยถ้อย | ให้เรียบร้อยตอบคำที่ร่ำถาม |
อันพวกเราเผ่าปราณสังวาลนาม | อยู่บ้านคามวาสีล้วนพี่น้อง |
เราชื่อว่าสานนเป็นคนใหญ่ | ถัดนั้นไปเจ้าวิเชียรเป็นที่สอง |
คนนั้นชื่อโมรานุชารอง | ที่สุดท้องคนนี้ศรีสุวรรณ |
เรียนเป็นแพทย์วิทยารักษาโรค | จะดับโศกสังเวชทุกเขตขัณฑ์ |
ประสงค์สิ่งสรรพยาจึงพากัน | มาเลือกสรรสืบเสาะตามเกาะเกียน |
ได้สำเร็จเสร็จสรรพจะกลับบ้าน | พอลมพานพาพัดฉวัดเฉวียน |
ทั้งต้นหนคนท้ายก็ตายเตียน | สำเภาเจียนอับปางลงกลางชล |
จะไปทางทิศไหนก็ไม่รู้ | เที่ยวแล่นอยู่กลางทะเลระเหระหน |
มาถึงบ้านท่านนี้เห็นมีคน | ต้องไฟไหม้ไต้ลนเหลือแต่กาย |
เคราะห์ข้าเจ้าคราวนี้ใครจะเห็น | เผอิญเป็นคิดไปแล้วใจหาย |
อันเมืองนี้นามใดไฉนนาย | จงขยายเรื่องเล่าให้เข้าใจ ฯ |
๏ นายด่านนั่งฟังคำที่ร่ำว่า | เสน่หาลุ่มหลงไม่สงสัย |
จึงบอกความตามจริงทุกสิ่งไป | นี่กรุงไกรรมจักรนครา |
อันพระองค์ผู้ดำรงอาณาราษฎร์ | นามพระบาทท้าวทศวงศา |
มีโฉมยงองค์ราชธิดา | ชื่อนางแก้วเกษราวิลาวัณย์ |
ด้วยเนื้อนางอย่างกลิ่นสุคนธ์รื่น | เป็นที่ชื่นชมโฉมประโลมขวัญ |
เมื่อเดือนสี่ปีก่อนนั้นโสกันต์ | เดี๋ยวนี้นั้นชันษาสิบห้าปี |
พระรูปโฉมก็ประโลมลานสวาท | ดูผุดผาดพึ่งรุ่นเจริญศรี |
กรุงกษัตริย์ขัตติยาทุกธานี | มาขอสู่ภูมีไม่ให้ใคร |
เมื่อปีกลายฝ่ายท้าวอุเทนราช | เป็นเชื้อชาติชาวชวาภาษาไสย |
อานุภาพปราบทั่วทุกกรุงไกร | เป็นเมืองใหญ่กว่ากษัตริย์ขัตติย์วงศ์ |
ให้ทูตามาสนองละอองบาท | จะขอราชธิดาโดยประสงค์ |
แม้นไม่ให้จะประจญรณรงค์ | กับผู้พงศ์จักรพรรดิขัตติยา |
ข้างเจ้านายฝ่ายเรามิได้ให้ | ว่าท้าวไทเป็นนอกพระศาสนา |
แล้วกริ่งเกรงไพรีจะบีฑา | จึงเกณฑ์มาตั้งกองอยู่ป้องกัน |
ไปปีหน้าถ้าย่างเข้าเดือนยี่ | เห็นจะมีการทัพถึงคับขัน |
แสนสงสารเจ้าพราหมณ์นี้ครามครัน | จะผายผันไปบ้านประการใด |
จงประทับยับยั้งอยู่ที่นี่ | ถ้าแม้นมีเภตรามาแต่ไหน |
ข้าจะช่วยออกปากฝากเขาไป | คงมิให้อดอยากลำบากกาย ฯ |
๏ เจ้าพราหมณ์ตอบชอบคำเป็นที่ยิ่ง | ไม่มีสิ่งใดให้เหมือนใจหมาย |
แม้นเอ็นดูก็จะอยู่สำนักนาย | ตัวไม่ตายก็ไม่ลืมพระคุณเลย |
แต่มาถึงกรุงไกรจะใคร่เห็น | พาไปเล่นสักเวลาเถิดน้าเอ๋ย |
สนุกสนานปานใดฉันไม่เคย | พอชมเชยเสียสักหน่อยจึงค่อยมา ฯ |
๏ ส่วนนายด่านได้ฟังนั่งหัวเราะ | ช่างพูดเพราะน่ารักเป็นนักหนา |
จะพาไปให้เห็นพระพารา | แล้วหยิบย่ามใส่บ่าละล้าละลัง |
ออกนำหน้าพาพราหมณ์ไปตามถนน | ถึงตำบลกรุงไกรดังใจหวัง |
เที่ยวเลียบรอบขอบเขตนิเวศน์วัง | แล้วสอนสั่งห้ามปรามเจ้าพราหมณ์พลัน |
เห็นผู้หญิงริงเรือที่เนื้อเหลือง | อย่ายักเยื้องเกี้ยวพานนะหลานขวัญ |
ล้วนนางในไม่ชั่วตัวสำคัญ | จะเสียสันเสียเปล่าไม่เข้าการ ฯ |
๏ พราหมณ์หัวเราะรับคำที่ร่ำสั่ง | พลางชมวังนิเวศน์ประเทศสถาน |
งามปราสาทผาดเยี่ยมโพยมมาน | ชัชวาลแก้วเก้าวะวาวตา |
มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน | ทั้งผู้คนคึกคักกันนักหนา |
มีโรงรถคชไกรไอยรา | สนามหน้าจักรวรรดิที่หัดพล |
ที่ท้ายวังตั้งล้วนแต่ตึกกว้าน | บ้างนั่งร้านสองแถวแนวถนน |
นายด่านพาผ่าตลาดต้องหลีกคน | ประชาชนซื้อหาพูดจากัน |
พวกสาวแก่แลเห็นเจ้าพราหมณ์น้อย | ดูแช่มช้อยน่าชมทั้งคมสัน |
งามจริตกิริยาสารพัน | ต่างชิงกันร้องเรียกออกเพรียกไป |
เจ้าพราหมณ์ขามานั่งที่นี่ก่อน | แดดยังร้อนจะรีบไปข้างไหน |
พระแย้มยิ้มพริ้มพรายละอายใจ | นางแม่ค้าอาลัยประโลมลาน |
ส่วนนายกองปากน้ำที่นำหน้า | ฟังแม่ค้าร้องทักเห็นรักหลาน |
มีหมากพลูบุหรี่อยู่ที่ร้าน | ตานายด่านแวะขอห่อเอาไป |
แล้วเหลียวหน้ามาถามเจ้าพราหมณ์น้อย | กินกล้วยอ้อยบ้างหรือพ่อจะขอให้ |
พระขวยเขินเมินเลยทำเฉยไป | เจ้าพราหมณ์ใหญ่เคียงคลอจรลี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสาวใช้ในนิเวศน์ | เป็นวิเสทพระธิดามารศรี |
ชื่อกระจงพงศ์ไพร่กระฎุมพี | ยังไม่มีลูกผัวตัวคนเดียว |
ออกตลาดนาดกรายเที่ยวจ่ายของ | ทำยิ้มย่องยักเยื้องชำเลืองเหลียว |
เห็นคนดูเจ้าพราหมณ์ตามกันเกรียว | ทำลดเลี้ยวเล็งแลอยู่แต่ไกล |
เห็นโฉมงามพราหมณ์น้อยกลอยสวาท | ใจจะขาดลงด้วยคิดพิสมัย |
ทิ้งกระบุงตะกร้าไม่อาลัย | ได้ดอกไม้วิ่งตามเจ้าพราหมณ์มา |
สู้แทรกเสียดเบียดคนเข้าจนชิด | ดัดจริตนั่งไหว้ให้บุปผา |
พระขวยเขินเมินพักตร์ไม่พูดจา | คนเขาฮาโห่ลั่นสนั่นไป |
อีกระจงหลงลืมละอายเหนียม | ทำและเลียมรอเรียงเข้าเคียงไหล่ |
เห็นพราหมณ์ไม่เกี้ยวพานรำคาญใจ | ใครเฮฮาด่าให้ด้วยโกรธา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงท่านยายนายวิเสท | ครั้นสุริเยศบ่ายคล้อยก็คอยหา |
อีกระจงเป็นกระไรมิใคร่มา | จึงสั่งข้าคนใช้ให้ไปตาม |
นางทาสามาถึงท้องตลาด | เห็นกระจาดทิ้งไว้เที่ยวไต่ถาม |
เขาบอกว่าข้าเห็นไปตามพราหมณ์ | ก็รีบตามติดพันไปทันตัว |
เห็นเดินตามพราหมณ์น้อยทำลอยหน้า | นายทาสาเข้าขยิกจิกเอาหัว |
พาเข้าไปให้ท่านยายเป็นนายครัว | แกเห็นตัวจับไม้เข้าไล่ตี |
แล้วว่าเอาข้าวของไปไหนเสีย | กระบุงเบี้ยหมดมาน่าบัดสี |
หรือเที่ยวสู่ชู้ผัวของมึงมี | หรือเจ้าหนี้ยื้อแย่งจงแจ้งความ ฯ |
๏ อีกระจงหลงใหลไม่ได้สิบ | ทำอุบอิบกล่าวเท็จไม่เข็ดขาม |
ข้านี้ได้เสียตัวมีผัวพราหมณ์ | รูปเธองามตะละหุ่นเจียวคุณยาย |
ให้คำมั่นสัญญามาเมื่อกี้ | ว่าจะตีจานทองของถวาย |
พรุ่งนี้นัดให้ฉันพามาหานาย | พอคุณยายใช้ให้เขาไปเอาตัว ฯ |
๏ นายวิเสทซ้ำด่าอีหน้าด้าน | ยังให้การชมงามเจ้าพราหมณ์ผัว |
ทรลักษณ์รักเขาจนเมามัว | จะคิดกลัวเกรงใครก็ไม่มี |
กูจะไปแจ้งคดีพระพี่เลี้ยง | ให้ไล่เลียงเฆี่ยนส่งไปโรงสี |
ยิ่งโกรธาด่าทอแล้วจรลี | มาถึงสี่พี่เลี้ยงพระธิดา |
จึงแจ้งความตามอีกระจงเล่า | มันชมเจ้าชู้พราหมณ์งามนักหนา |
เห็นผูกพันฟั่นเฝือเหลือตำรา | จะด่าว่าสักเท่าไรก็ไม่กลัว ฯ |
๏ พระพี่เลี้ยงได้ฟังนั่งหัวร่อ | มันยกยอกันว่าเหมาะเพราะเป็นผัว |
จะให้พวกขอเฝ้าไปเอาตัว | ดีหรือชั่วก็คงเห็นว่าเช่นไร |
ปรึกษาพลางทางลงจากตำหนัก | มาถามซักอีกระจงเห็นหลงใหล |
จึงสั่งให้พวกข้างหน้าพาออกไป | มันว่าชู้อยู่ที่ไหนเอาตัวมา |
พวกขอเฝ้าเข้าจูงอีทาสี | มาถึงที่ท้องตลาดเที่ยวแลหา |
เห็นเจ้าพราหมณ์ตามกันจรัลคลา | อีทาสาจึงเข้าชี้ว่านี่แน |
พวกขอเฝ้าเข้าล้อมเจ้าพราหมณ์น้อย | แล้วกล่าวถ้อยไต่ถามตามกระแส |
นี่หรือเหล่าเจ้าชู้ไม่ดูแล | ทำกอแกก่นแต่เที่ยวเกี้ยวชาววัง |
ถึงกระไรได้ชมก็สมหน้า | นี่คบค้าเป็นเมียจะเสียหลัง |
ท่านให้หาเร็วเถิดพ่ออย่ารอรั้ง | คุณในวังออกมาอยู่ประตูกลาง ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าชาวด่านได้ยินว่า | แกโกรธาฮึดฮัดเข้าขัดขวาง |
เมื่อหลานข้ามาเที่ยวเล่นตามทาง | ได้เกี้ยวนางชาววังเมื่อครั้งไร |
อีคนนี้ฝีปากมันจัดจ้าน | มาเกี้ยวพานหลานข้าหาว่าไม่ |
มิใช่ชาวบ้านนอกมาหลอกใคร | ผิดก็ใส่กันกับเจ้าจนเย็บตา ฯ |
๏ ขอเฝ้าว่าตานี่โมโหร้าย | จะเอาหวายลงหลังกระมังหนา |
ท่านทั้งสี่พี่เลี้ยงพระธิดา | จะให้หาเข้าไปถามตามทำนอง |
แล้วปลอบว่ามาไปเถิดเจ้าพราหมณ์ | อย่าพูดตามตาคนนั้นมันจองหอง |
แล้วพาเข้าวังในดังใจปอง | ส่วนนายกองปากน้ำก็ตามมา |
ถึงประตูหูช้างข้างฉนวน | เห็นแต่ล้วนหม่อมหม่อมอยู่พร้อมหน้า |
จึงเข้าไปเล่าแถลงแจ้งกิจจา | ได้ตัวมาแล้วจะโปรดประการใด ฯ |
๏ ฝ่ายทั้งสี่พี่เลี้ยงเมียงชม้อย | เห็นพราหมณ์น้อยโสภาจะหาไหน |
ดูผิวเหลืองเรืองรองทองอุไร | งามวิไลแลเล่ห์เทวดา |
ขนงเนตรเกศกรรณแลกรแก้ม | แลแฉล้มน่ารักเป็นนักหนา |
พิศวงหลงลืมกะพริบตา | เสน่หาปั่นป่วนรัญจวนใจ |
ต่างว่างามเหลืองามพ่อพราหมณ์น้อย | ช่างเลื่อนลอยล่องฟ้ามาแต่ไหน |
หรือหน่อจักรพัตราพาราไกล | ธุระอะไรหนอจึงมาถึงธานี |
อีคนใช้ใส่ความว่าเป็นชู้ | ไม่ควรคู่คบหากับทาสี |
เว้นแต่องค์นงนุชพระบุตรี | เห็นเต็มดีดุจแก้วแกมสุวรรณ |
จำจะลวงหน่วงหนักไว้สักหน่อย | ให้พราหมณ์น้อยไปสำนักอยู่สวนขวัญ |
ดำริพลางทางสั่งขอเฝ้าพลัน | เห็นไม่ทันจะปรึกษาเวลาจวน |
จะให้อยู่ที่นี่ก็มิได้ | ไปส่งให้สองเฒ่าที่เฝ้าสวน |
แล้วจะถามความข้อต่อสำนวน | สั่งแล้วชวนกันเข้าไปเสียในวัง |
ขอเฝ้าว่ามาไปเถิดพ่อเอ๋ย | ถ้าละเลยแล้วเห็นจะเล่นหลัง |
ฝ่ายเจ้าพราหมณ์ตามใจมิให้ชัง | พลางร่ำสั่งนายด่านด้วยมารยา |
จงไปบ้านท่านเถิดให้ผาสุก | ฉันพ้นทุกข์แล้วเมื่อไรจะไปหา |
นายด่านฟังคลั่งคลอหล่อน้ำตา | แล้วว่าน้านี้ไม่ทิ้งอย่ากริ่งใจ |
จะไปจัดข้าวปลากระยาหาร | มาส่งหลานสี่คนให้จนได้ |
แล้วเดินพลางบ่นพลางตามทางไป | คนอะไรอย่างนี้ไม่มีอาย |
ทำปล่อยม้าอุปการเที่ยวพาลเขา | เห็นโง่เง่าแล้วจะจับไปปรับหมาย |
ถ้าทุบตีหลานกูจะสู้ตาย | วิ่งถวายฎีกาได้ว่ากัน ฯ |
๏ ฝ่ายขอเฝ้าพาพราหมณ์มาตามถนน | ถึงตำบลสองเฒ่าเฝ้าสวนขวัญ |
จึงบอกแจ้งกิจจาสารพัน | เอาพราหมณ์นั้นมอบให้แล้วไคลคลา |
ฝ่ายสองเฒ่าทรพลก็บ่นพร่ำ | เราจะทำกระไรดีกระนี้หนา |
เขาหนุ่มหนุ่มเราผู้คุมคนชรา | คงหนีหน้าแล้วจะไล่ที่ไหนทัน |
เจ้าพราหมณ์ยิ้มพริ้มพรายธิบายบอก | ไม่หนีดอกยายตาอย่าโศกศัลย์ |
ข้อคดีมีอยู่จะสู้กัน | อันโทษทัณฑ์สิ่งใดก็ไม่มี |
ยายกับตาว่าเชื่ออย่างไรได้ | ที่ไหนใครจะรับว่าข้าจะหนี |
ยังมิได้จองจำค่ำวันนี้ | เข้าอยู่ที่ในกระท่อมให้พร้อมเพรียง |
เจ้าพราหมณ์เดินดีใจเข้าในห้อง | ทั้งพี่น้องนั่งหัวร่อไม่ต่อเถียง |
เฒ่าชรามานอนที่ระเบียง | คอยฟังเสียงเกรียบกรุกลุกขึ้นมอง ฯ |
๏ สงสารหน่อสุริย์วงศ์พงศ์กษัตริย์ | โทมนัสหม่นไหม้ฤทัยหมอง |
ด้วยไม่เคยเชยชู้รู้ทำนอง | เฝ้าตรึกตรองตรมจิตคิดรำคาญ |
จึงปรึกษาว่าแก่พราหมณ์ทั้งสามพี่ | ไม่พอที่น้อยหน้าเขาว่าขาน |
พวกขอเฝ้าชาววังมันจังฑาล | จะใคร่ผลาญชีวันให้บรรลัย |
แต่พี่นิ่งเสียแล้วน้องก็ต้องนิ่ง | แค้นผู้หญิงมันยังกลับบังคับได้ |
ทั้งสามพี่นี้เห็นเป็นอย่างไร | จึงนิ่งให้มันว่าเป็นน่าชัง ฯ |
๏ พราหมณ์หัวร่อพ่อลืมเสียแล้วหรือ | เขาบอกชื่อเสียงให้เหมือนใจหวัง |
อันองค์ราชบุตรีที่ในวัง | ทุกวันยังมิได้มีราคีพาน |
พ่อโฉมงามยามนี้ก็แรกรุ่น | ผลบุญช่วยชักสมัครสมาน |
ถึงขอเฝ้าเขาไปจับให้อัประมาณ | พี่ก็เห็นเป็นตะพานมาชอบกล |
เมื่อพบกันวันนี้นางพี่เลี้ยง | เห็นมองเมียงตามาสี่ห้าหน |
ซึ่งให้คุมไว้ที่นี่ทั้งสี่คน | พี่นี้เห็นเป็นกลมารยา |
ถ้าแม้นเหมือนหมายมุ่งก็พรุ่งนี้ | ร้ายหรือดีจะได้ฟังไม่กังขา |
พ่อจงดับโทโสอย่าโกรธา | รู้ถึงแก้วเกษราจะน้อยใจ |
ทำนองเขาชาววังมักตั้งปึ่ง | แต่ไม่ถึงเดือนดอกจะบอกให้ |
ซึ่งพี่เลี้ยงพระธิดาจะว่าไร | พี่จะใคร่รับรองลองคารม ฯ |
๏ พระฟังพราหมณ์สามนายยิ่งอายนัก | ไม่รู้จักรักร่วมภิรมย์สม |
จึงว่าถึงนางฟ้ามาให้ชม | ไม่นิยมเลยพี่เป็นความจริง |
ใจน้องหวังฟังเหตุพระเชษฐา | ใช่จะมาท่องเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง |
พี่รักเขาชาววังยังประวิง | ก็อ้อยอิ่งไปเถิดน้องไม่ต้องการ ฯ |
๏ พราหมณ์หัวร่อพ่ออย่าประมาทหมิ่น | อันรูปกลิ่นรสเสียงสำเนียงหวาน |
กับสัมผัสสตรีฤดีดาล | เห็นวิมานลิบลิบไม่พริบตา |
พลางหัวเราะเยาะหยอกหน่อกษัตริย์ | โสมนัสสรวลสันต์ด้วยหรรษา |
เสียงซุบซิบกันไปไม่ไสยา | ยายกับตาผัวเมียคอยเงี่ยฟัง |
เสียงหัวร่อต่อระริกดังคิกคัก | คิดว่าลักนินทาว่าลับหลัง |
หุนพิโรธโกรธขึ้งเสียงตึงตัง | น้อยหรือยังพึมพำอยู่ทำไม |
หรือจะคิดคัดฝาพากันหนี | จนป่านนี้แล้วยังไม่หลับใหล |
จะให้จำขื่อคาก็ว่าไป | คนอะไรชาติชั่วไม่กลัวนาย |
หน่อกษัตริย์กับสามเจ้าพราหมณ์น้อย | ไม่ตอบถ้อยทุ่มเถียงทำเสียงหาย |
นอนอยู่เหนือเสื่อลาดขาดระคาย | จนเคลิ้มกายหลับไปในไสยา ฯ |
๏ ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงในวังราช | แสนสวาทพราหมณ์น้อยละห้อยหา |
ครั้นสิ้นแสงสุริยนสนธยา | มาเฝ้าแก้วเกษราอยู่พร้อมกัน |
แล้วทูลเชิญโฉมยงสรงเสวย | เหมือนอย่างเคยขับกล่อมถนอมขวัญ |
ต่างเพ่งพิศพระธิดาวิลาวัณย์ | สารพันไม่มีราคีพาน |
คิดถึงงามพราหมณ์น้อยก็น่ารัก | ประไพพักตร์เคียงคู่ด้วยสุริย์ฉาน |
ทั้งสี่นางต่างคะนึงตะลึงลาน | ที่อยู่งานถือพัดก็พลัดมือ |
บ้างพลั้งว่าถ้าได้กับเจ้าพราหมณ์ | งามต่องามชมเล่นเห็นแล้วหรือ |
ทั้งสามนางต่างสดับรับว่าอือ | แล้วกลับรื้อได้คิดสะกิดกัน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมแก้วเกษราธิดาราช | ฟังประหลาดหลากจิตคิดกระสัน |
จึงว่าพี่นี้ผิดกว่าทุกวัน | อะไรนั่นน่าชมสมกับพราหมณ์ |
ประภาวดีพี่เลี้ยงฉลาดแก้ | ไม่ดอกแม่มิใช่การวานอย่าถาม |
เมื่อคืนนี้พี่ฝันสักสามยาม | ว่าเจ้าพราหมณ์หนุ่มน้อยคนหนึ่งมา |
ดูรูปร่างรุ่นราวคราวพระน้อง | ผิวผุดผ่องน่ารักเป็นนักหนา |
บุรุษใดในภพโลกา | ที่จะหาเปรียบได้นั้นไม่มี |
พอเสียงฆ้องย่ำรุ่งสะดุ้งตื่น | กับคนอื่นไม่กล้าบอกออกบัดสี |
จึงแก้ฝันแม่อุบลจงกลนี | เขาว่าดีอยู่แล้วก็แล้วกัน ฯ |
๏ พระธิดาว่าฉันมิอยากเชื่อ | นี่และเนื้อใส่ไคล้ว่าใฝ่ฝัน |
เมื่อตะกี้พี่พูดไม่เช่นนั้น | หรือสำคัญข้อผิดจึงปิดบัง ฯ |
๏ จงกลนีพี่เลี้ยงฉลาดเฉลย | ไม่ลวงเลยพี่จะเล่าเนื้อความหวัง |
แม่ประภาแก้ฝันให้ฉันฟัง | ว่าเจ้าพราหมณ์งามดังเทวดา |
เมื่อตะกี้พี่ชมโฉมพระน้อง | นวลละอองน่ารักนั้นนักหนา |
คิดถึงพราหมณ์ความฝันแม่ประภา | จึงแกล้งว่าเย้ยเยาะหัวเราะกัน |
ว่าได้พราหมณ์ความฝันนั้นหนอเจ้า | เป็นขอเฝ้าน้องแก้วแล้วขยัน |
เมื่อตะกี้พี่พูดก็เช่นนั้น | ไม่เสกสรรป้องปิดสักนิดเดียว ฯ |
๏ พระเทพินยินคำเห็นล้ำลึก | ฤทัยนึกเคืองขุ่นให้ฉุนเฉียว |
จึงว่าน้อยไปหรือพี่เช่นนี้เจียว | มาแก้เกี้ยวซักซ้อมสมยอมกัน |
ถึงจีนจามพราหมณ์แขกที่แปลกชาติ | พี่สวาทแล้วมาเปรียบประเทียบฉัน |
แกล้งลวงเล่นเห็นรู้ไม่เท่าทัน | แต่เช่นนั้นแล้วอย่านึกคะนึงปอง |
อันชาตินี้นี่แน่ะพี่อย่าพักหมาย | ไม่เคยชายเชยชมประสมสอง |
ถึงมาตรแม้นมังสาจะทาทอง | ก็ไม่ปองปรารถนาอย่าพาที ฯ |
๏ ทั้งสี่นางต่างคนเห็นเคืองขัด | ชุลีหัตถ์ปลอบประโลมนางโฉมศรี |
แม่เหมือนจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี | จรลีอยู่พื้นโพยมมาน |
อันชาติชายเหมือนกระต่ายที่ต่ำชาติ | สุดจะมาดที่จะมุ่งหมายสมาน |
พี่พูดเล่นเป็นแต่คำให้สำราญ | ขอประทานโทษเถิดพระเทพี |
แล้วสี่นางต่างคนเข้าขับกล่อม | เคียงถนอมนุชนางอยู่ข้างที่ |
บ้างร้องรับขับไม้มโหรี | บ้างดีดสีส่งเสียงสำเนียงครวญ ฯ |