- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | ค่อยสร่างทรวงซึมเซาเมานักหนา |
หวนรำลึกตรึกตรองมองตำรา | จะยาตรากรีทัพไปรับรอง |
จนดึกดื่นคืนยังรุ่งมิได้หลับ | ให้กระสับกระส่ายจิตคิดหม่นหมอง |
เกือบจะรุ่งฟ้าแดงไขแสงทอง | สกุณร้องก้องโกกิลาบิน |
ไก่กระชั้นขันเอกวิเวกแว่ว | เสียงเจื้อยแจ้วกลางป่าพนาสัณฑ์ |
ฝูงวิหคนกกาถลาบิน | ออกจากถิ่นรังเร่พเนจร |
แสงหิรัญเรืองรองขึ้นส่องฟ้า | พระสุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมสิงขร |
พวกพหลพลิกฟื้นบ้างตื่นนอน | ยกหาบคอนหุงข้าวบ้างเผาปลา ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงง่วงเหงาบนเก้าอี้ | สกุณีเพรียกพร้องก้องเวหา |
พอหายเศร้าเบาบางสร่างอุรา | เรียกมังคลาสานุศิษย์คิดรำพึง |
เห็นเงียบไปมิได้ขานนานนักหนา | ลุกออกมาด่าโป้งเสียงโผงผึง |
นอนกระไรไม่รู้สึกนึกรำพึง | มันเมาถึงขนาดจริงจึ่งนิ่งไป |
พลางลุกเดินมาดูประตูปิด | เห็นลิขิตปิดประตูดูสงสัย |
ประหลาดจิตผิดแล้วหวาไปหาไฟ | มาส่องใกล้อ่านดูจึ่งรู้ความ ฯ |
๏ หนังสือพระมังคลานราราช | เป็นเชื้อชาติอังกฤษให้คิดขาม |
อาจารย์แช่งร่ำไรเป็นใจความ | ก็ครั่นคร้ามกลัวจะตายวายพระชนม์ |
อยู่ไม่ได้ใจคอให้ท้อแท้ | ถึงจะแก้เล่าก็เห็นไม่เป็นผล |
ทั้งกลัวพระวิญญาณเหลือทานทน | ต้องดั้นด้นไปแต่ตัวเพราะกลัวภัย |
อันลังกาธานินทร์เป็นถิ่นฐาน | เชิญอาจารย์คิดความตามวิสัย |
ไม่จงรักหนักหน่วงเป็นห่วงใย | ตามแต่ใจฝ่ายท้าวเจ้าประคุณ |
ทั้งเสนีมีถ้วนกระบวนรบ | ผู้สมทบขาดเหลือคอยเกื้อหนุน |
ข้าพเจ้าถูกแช่งแห่งเจ้าคุณ | อยู่จะวุ่นวายใจไม่สบาย |
เพราะคบหญิงไม่ดีจึ่งมิโทษ | เสียประโยชน์ชั่วช้าพาฉิบหาย |
พาให้เสื่อมมนตราวิชาคลาย | ต้องผันผายไปให้พ้นคนไม่ดี ฯ |
๏ พอจบเรื่องแกยิ่งเคืองโทโสพลุ่ง | มาเกิดยุ่งเจ็บจิตดั่งพิษฝี |
น้อยหรือกูเมตตาทั้งปรานี | ไม่พอที่มันจะทำให้ช้ำใจ |
แล้วลงจากตึกใหญ่พลางให้หา | พวกเสนาจงเรียกท้าวโกสัย |
มาหากูเร็วพลันด้วยทันใด | จงเร่งไปเดี๋ยวนี้มีกังวล |
ขุนนางรับบัญชาเรียกม้าใช้ | รีบลงไปเล่าแถลงแห่งนุสนธิ์ |
พวกม้าใช้รีบรัดไปบัดดล | นำยุบลลงไปท่าชลาพลัน |
ทูลท่านท้าวโกสัยว่าให้หา | พระสังฆราชาร้อนให้ผ่อนผัน |
รีบขึ้นไปยังเขาเจ้าประจัน | จงเร็วพลันโดยบัญชาอย่าช้าที ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้ฟังพระสังฆราช | ผู้สิทธิ์ขาดเร่งรัดตัดวิถี |
รีบขึ้นบกวกมาไม่ช้าที | ขึ้นพาชีรีบไปดั่งใจจง |
ครั้นถึงเขาเจ้าประจันมิทันช้า | ลงจากม้ารีบไปฟังดั่งประสงค์ |
บาทหลวงเรียกขึ้นไปดั่งใจจง | แกพาตรงขึ้นตึกเหมือนนึกปอง |
แล้วให้นั่งยังที่เก้าอี้ใหญ่ | พลางปราศรัยโดยจิตสนิทสนอง |
ว่าลูกเขยเองไปไหนดั่งใจปอง | หรือปรองดองพากันไปอยู่ในเรือ |
จงบอกกูไปแต่จริงอย่านิ่งเฉย | การไม่เคยทำวลก็ล้นเหลือ |
หรือเองพาไปไว้ที่ในเรือ | กูไม่เชื่อใครดอกบอกจริงจริง ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้ฟังสังฆราช | แกเกรี้ยวกราดเต็มที่ดั่งผีสิง |
เราก็บอกเนื้อความไปตามจริง | แกก็ยิ่งขู่ตะคอกว่าหลอกลวง |
เป็นจนจิตด้วยว่าศิษย์เป็นเขยขวัญ | หาไม่จะดันเอากับปราชญ์ตาบาทหลวง |
บอกกันโดยสัตย์ธรรม์มันว่าลวง | เราจะหวงกันไว้ทำไมมี |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | จะมาเฝ้าสงสัยอย่างใช้ผี |
จะซ่อนเหน็บเก็บไว้ทำไมมี | ไม่พอที่จะพะวงคิดสงกา |
เมื่อเจ้าคุณให้ไปรับเป็นทัพหนุน | ก็ไปวุ่นจัดทหารการอาสา |
คอยเสียงปืนครื้นครั่นดั่งสัญญา | เตรียมเภตราคอยประจญรณรงค์ |
บาทหลวงว่าถ้าเองไม่รู้เห็น | สาบานเป็นหรือไม่อย่าใหลหลง |
เอาให้กูนับถือว่าซื่อตรง | จะได้ปลงอารมณ์ไม่ซมซาน |
ท้าวโกสัยได้สดับรับว่าได้ | แกจึ่งให้สบถทศฐาน |
แม้นมึงไม่รู้จริงอย่านิ่งนาน | เร่งสาบานไปสิหวาว่าให้ดัง |
ถ้าแม้นมึงเป็นใจกับอ้ายเขย | ให้หนีเลยลับไวเหมือนใจหวัง |
ให้ตามึงบอดมิดเหมือนติดตัง | ทั้งไม้กังเขนขึงตรึงต้นคอ |
ให้องค์พระเยซูผู้เป็นเจ้า | เอาไม้เท้ามาขยี้ตีหัวขอ |
ทั้งเชือกหนังมามัดรัดเอาคอ | ให้ตกหม้อแกงตายวายชีวี |
จงว่าตามกูไปอย่าได้นิ่ง | ให้เห็นจริงเหมือนกูว่าอีตาผี |
ท้าวโกสัยว่าพลันไปทันที | ไปตามที่เรื่องราวแกกล่าวพลัน ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นจริงแจ้งไม่แคลงจิต | สุจริตแท้จริงทุกสิ่งสรรพ์ |
สบถได้เหมือนอย่างว่าสารพัน | จริงของมันมั่นคงปลงอารมณ์ |
แกจึ่งว่าฮ้าเฮ้ยท้าวโกสัย | กูเจ็บใจควรหรือศิษย์สนิทสนม |
มันทำให้เคืองขัดตัดอารมณ์ | ต้องเตรียมตรมใจกูผู้อาจารย์ |
ถึงจะอยู่จะไปก็ไม่ห้าม | มันลวนลามเกเรเดรฉาน |
เสียแรงกูผู้รักษาพยาบาล | ไม่เป็นการจริงละเหวยลูกเขยมึง |
อันลังกาครานี้ทีจะได้ | อ้ายพวกไทยอ่อนหูกูรู้ถึง |
เหมือนลูกไก่อยู่ในมือไม่ดื้อดึง | การก็พึ่งจะสำเร็จได้เจ็ดวัน |
มันกลัวจะต้องรบหลบไปเสีย | พาเอาเมียไปเสียก่อนคิดผ่อนผัน |
กูก็ไม่งอนง้อคิดรอมัน | เองช่วยกันตีได้เป็นไรมี |
กูจะให้ครองกรุงให้ฟุ้งเฟื่อง | เป็นเจ้าเมืองมอบสมบัติกษัตริย์ศรี |
จงเร่งกลับไปเภตราอย่าช้าที | พอราตรีกูจะรบจุดคบเพลิง |
คอยฟังเสียงปืนใหญ่ไล่พหล | จงจัดพลเพิ่มเจือให้เหลือเหลิง |
ข้างด้านน้ำเองเข้าแหกให้แตกเปิง | ดูชั้นเชิงพอเป็นทีตีเข้าไป |
ข้างฝ่ายกูก็จะกรูกันขึ้นบก | อย่าวิตกเลยออเจ้าท้าวโกสัย |
เอากำปั่นพันลำตีร่ำไป | ทั้งปืนใหญ่ปืนน้อยคอยระดม |
ขึ้นบกได้ไฟจุดอย่าหยุดยั้ง | ตีประดังยกกันรุมเข้าทุ่มถม |
มันคงได้ลังกาอย่าปรารมภ์ | จะได้ชมบุญมึงให้ถึงลือ ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้ฟังสังฆราช | แกองอาจการทัพน่านับถือ |
เหตุไฉนมังคลาระอามือ | ไม่นับถือครูบาดูน่าชัง |
แต่นิ่งไว้ในจิตเพราะคิดเชื่อ | ลาไปเรือรีบไปเหมือนใจหวัง |
จัดเรือรบพันร้อยลอยประดัง | จะคอยฟังเสียงปืนยืนประดา ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชชาติอังกฤษ | เห็นสมคิดสารพันก็หรรษา |
พอสุริยงลงลับบรรพตา | เรียกเสนานายหมวดให้ตรวจพล |
พร้อมสะพรั่งตั้งตามพิชัยยุทธ์ | กระบวนครุฑเร่งรัดจัดพหล |
เป็นปีกขวาปีกซ้ายระบายพล | เป็นทัพปล้นทัพหนุนพร้อมมุลนาย |
ครั้นฤกษ์ดีคลี่คลายขยายทัพ | ออกคั่งคับเร่งกันให้ผันผาย |
พวกฝรั่งทั้งมหาเสนานาย | ก็ผันผายจากเขาเจ้าประจัน |
บาทหลวงขึ้นรถระย้าฝากระจก | เป็นทัพบกนำพหลพลขันธ์ |
เหน็บกระบี่ทีท่าสง่าครัน | ถือปืนสั้นหกกระสุนหนุนกระบวน |
สารถีตีม้าอาชาชาติ | เผ่นผงาดวิ่งกลมดั่งลมหวน |
เดินในดงวงอ้อมพร้อมกระบวน | ทั้งพลทวนเกาทัณฑ์เป็นหลั่นไป |
ปืนนกสับคาบศิลาระดาดาด | ดูเกลื่อนกลาดเร่งกันเสียงหวั่นไหว |
ทั้งปืนล้อลากเรียงเคียงกันไป | พวกคบไฟสำหรับเข้าเผาบุรินทร์ |
บาทหลวงแสนแค้นจิตคิดระทด | มันคิดคดทำได้ดั่งใจถวิล |
แม้นสมหวังได้ลังกาในธานินทร์ | เป็นที่ถิ่นสุขเกษมเปรมอุรา |
ถึงมันจะมาบระจบไม่คบไว้ | ก็เห็นใจจริงจังสิ้นกังขา |
อ้ายนี่ถูกถ้อยคำอย่างตำรา | เขาว่าปลาแรงเพราะหางอย่างทำนอง |
เป็นเหตุผลด้วยอีเมียจึ่งเสียท่า | มันชักพาหมกมุ่นให้ขุ่นหมอง |
แล้วหวนห้ามความหลังตั้งแต่ตรอง | มาในท้องแถวทางกลางอรัญ |
ให้เร่งรถรีบมาเวลาค่ำ | จวนจะย่ำยามชัยพอไก่ขัน |
ถึงลำเนาเขาเขินเนินอรัญ | หยุดพร้อมกันแต่บรรดาเสนานาย ฯ |
๏ บาทหลวงนั่งตั้งสง่าบนหน้ารถ | มาพร้อมหมดยืนคำนับรับกฎหมาย |
จะคอยฟังสั่งงานการอุบาย | ทั้งไพร่นายข้างฝรั่งอย่างแต่เดิม ฯ |
๏ ฝ่ายตัวท่านสังฆราชพระบาทหลวง | พร้อมกระทรวงสมนึกให้ฮึกเหิม |
จึงว่าเฮ้ยคนงานทหารเดิม | คิดเพิ่มเติมกองแซงแต่งกระบวน |
เอาไฟจุดป่าไม้ไพรระหง | แล้วก็ตรงวิ่งกลมดั่งลมหวน |
เร่งประจุปืนหินดินชนวน | ให้พร้อมถ้วนปืนหลักยักกะตรา |
พอจุดเพลิงเริงแรงแสงสว่าง | ออกจากทางยิงพื้นแต่ปืนผา |
ตรงเข้าไปเมืองด่านชานชลา | เอาโยธาเรียงล้อมป้อมกำแพง |
อย่าให้มันรู้ตัวทั่วจังหวัด | เอาคบมัดให้สว่างกระจ่างแสง |
โยนหม้อดินเข้าไปในกำแพง | ทหารแซงพร้อมกันฟันประตู |
ทั้งปืนใหญ่เร่งลากจุกปากช่อง | ไปคอยมองทุกกระบอกกรอกดินหู |
ทั้งสกัดตัดทางหว่างประตู | จัดเอาผู้กล้าหาญการณรงค์ |
ครั้นสั่งเสร็จรีบทัพขับพหล | กระบวนพลลัดในไพรระหง |
ถึงทางแยกมรรคาปากป่าดง | เป็นชายพงออกทุ่งหลังกรุงไกร ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายทัพหน้าพวกวาโหม | วาหุโลมคอยอยู่ทางหว่างไศล |
เข้าซุ่มซ่อนนอนนั่งระวังภัย | ทั้งนายไพร่พร้อมพรั่งบ้างนั่งยาม |
เห็นทัพบกยกมาเวลาดึก | เสียงครื้นครึกผู้คนออกล้นหลาม |
ให้แอบแฝงหลีกไปไม่ไอจาม | จะฟังความซุ่มรายทั้งไพร่พล |
แล้วสั่งให้ขุนนางใส่หางปีก | จงบินหลีกรีบไปในสิงหล |
นำเอาข่าวไปแถลงแจ้งยุบล | เตรียมพหลรับรองไว้ป้องกัน |
แต่ทัพเรานี้จะเข้าคอยตัดหลัง | จะรอรั้งอยู่ในป่าพนาสัณฑ์ |
แล้วจึงค่อยรุกรบประจบกัน | รับให้ทันเร็วราอย่าช้าที |
ครั้นสั่งเสร็จขุนนางสอดหางปีก | ก็บินหลีกรีบไปในวิถี |
ทั้งสองนายรีบมาไม่ช้าที | เข้าบุรีเมืองด่านชานนคร |
รีบไปเฝ้าเจ้าบุรินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ตามรหัสเหตุทหารชาญสมร |
คอยรับสั่งฟังกระแสให้แน่นอน | พระภูธรจะโองการสถานใด ฯ |
๏ ป่างพระองค์ทรงภพจบจังหวัด | โองการตรัสสนทนาแล้วปราศรัย |
ว่าเร่งรีบการร้อนอย่านอนใจ | พระสั่งให้จัดแจงแต่งกระบวน |
แต่บรรดาเตรียมไว้เร่งให้ยก | ไปทางบกตามระบอบคิดสอบสวน |
จงเร่งไปเร็วหนาเวลาจวน | จัดกระบวนบอกให้ทั่วตัวขุนนาง |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จยุรยาตร | พร้อมอำมาตย์นับร้อยไปคอยขวาง |
อ้อมสกัดตัดประชิดคอยปิดทาง | ที่ย่านกลางของนัดดาสุดสาคร |
ทางข้างฝ่ายชายทะเลสินสมุทร | กับราชบุตรพลผลึกเคยฝึกสอน |
ก็รีบยกโยธาพลากร | จากนครเมืองด่านชานชลา |
ไปพร้อมพรั่งตั้งกระบวนพยุหบาตร | แล้วประกาศไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ให้ตั้งค่ายแลกลาดดาษดา | เอาปืนผาจุกช่องกองละพัน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชชาติอังกฤษ | แกตามติดต้อนพหลพลขันธ์ |
ทั้งทัพหน้าทัพหลังประดังกัน | ไม่สำคัญว่าทัพคอยรับรอง |
เร่งพหลพลรบเอาคบจุด | แกว่งอาวุธวิ่งถลันผันผยอง |
สารวัตรนายหมวดตรวจทุกกอง | ออกจากช่องปากดงตรงออกไป |
พอถึงทัพหัสไชยไฟสว่าง | ไหม้ยูงยางแดงป่าพฤกษาไสว |
ให้ยิงปืนเป็นสัญญาก้องป่าไพร | พลไพร่ถึงกันฟันประดา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมรมจักรนัคเรศ | รักษาเขตปากทางอยู่ข้างขวา |
ให้ทหารขานโห่เป็นโกลา | เร่งพระยากัณฐัศว์อัสดร |
เข้ารบรับทัพฝรั่งประดังเสียง | ทหารเคียงคั่งคับสลับสลอน |
ถือแหลนหลาวง้าวโล่แลโตมร | พร้อมนิกรเกียกกายให้รายพล ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชตาบาทหลวง | ครั้นตีล่วงเลยทางมากลางหน |
ไม่ยับยั้งรั้งราพลาพล | หมายจะปล้นให้กระทั่งถึงลังกา |
ระดมปืนครื้นครั่นสนั่นเสียง | ก้องสำเนียงควันกลุ้มคลุ้มเวหา |
น้ำมันไฟไล่สาดดาษดา | ถูกโยธาทัพไทยบ้างไหม้พอง |
ทั้งปวดเจ็บเหน็บชาถึงสาหัส | ยิ่งเป่าปัดแตกซ้ำเป็นน้ำหนอง |
ศรีสุวรรณนั้นชำนาญการกระบอง | คอยปัดป้องไฟน้ำมันพอกันองค์ |
ให้ถอยทัพกลับหลังเข้ายังด่าน | แสนรำคาญที่ในจิตพิศวง |
ทั้งไพร่พลบางเบาบรรเทาลง | จะทำสงครามไปก็ใช่ที |
กลับเข้าด่านชานชลาขึ้นหน้าป้อม | ทหารพร้อมเสนาบดีศรี |
พระให้หาครูพลันมาทันที | แล้วจึงมีสิงหนาทประภาษพลัน |
ว่าดูราข้าแต่อาจารย์เฒ่า | แถลงเล่าความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
มันเอาไฟกรดสาดฉกาจฉกรรจ์ | เป็นน้ำมันไหม้กายเพียงวายปราณ |
ขอท่านครูชูช่วยคนป่วยเจ็บ | ที่เป็นเหน็บร้อนเริงถูกเพลิงผลาญ |
ช่วยแก้ไขพอให้พ้นทนทรมาน | ช่วยคิดการเป่าปัดกำจัดภัย ฯ |
๏ ฝ่ายครูเฒ่าผู้ชำนาญในการเวท | แกรู้เหตุโดยวิธีคัมภีร์ไสย |
อันฝรั่งตั้งสาดน้ำมันไฟ | จะแก้ไขด้วยมนต์ให้ฝนมี |
จึงกราบทูลเจ้าพิภพจบจังหวัด | ขอเป่าปัดที่กำบังตั้งบายศรี |
จะตั้งสรวงสารพัดทำบัดพลี | ให้ฝนมีมาในดึกเหมือนนึกปอง |
พระทรงฟังสั่งว่าถ้าเช่นนั้น | จงผ่อนผันจัดแจงเร่งแต่งของ |
อย่าให้ทันรุ่งแจ้งไขแสงทอง | จงตรึกตรองเสียให้เสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายครูพักตร์จักราพฤฒาเฒ่า | จึงก้มเกล้ารีบรัดมาจัดศาล |
เอาผ้าขาววงลาดดาดเพดาน | ห้อยเป็นม่านตั้งพิธีพลีกรรม์ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายพวกทมิฬกินปักษา | เข้าแอบป่าพุ่มไม้ในไพรสัณฑ์ |
เห็นทัพบกยกไปเป็นหลายพัน | แล้วกลับหันถาโถมเข้าโจมตี |
กำลังไฟไหม้ป่าพวกวาโหม | โจนกระโจมลุยไล่ในวิถี |
ฝรั่งตื่นครื้นวิ่งเป็นสิงคลี | ทมิฬตีแตกตายลงหลายกอง |
ไม่รู้กลวนวิ่งทิ้งอาวุธ | อุตลุดสับสนปล้นเอาของ |
ชิงอาวุธน้อยใหญ่ไว้เป็นกอง | ฝรั่งต้องปืนตายลงหลายพัน |
พวกวาโหมโจมตีไม่หยุดยั้ง | จนกระทั่งทัพใหญ่พอไก่ขัน |
จนเวลายามสามตามประจัญ | ไล่กระชั้นถึงทางหว่างคีริน |
บาทหลวงเห็นทัพหลังมาคั่งคับ | บ้างแตกยับมาในป่าพนาสัณฑ์ |
ให้ตั้งทัพรับรองกองทมิฬ | เอาลูกดินยัดพลุประจุปืน |
น้ำมันไฟไล่สาดเสียงฉาดฉับ | เป็นเพลิงวับไหม้มาไม่ฝ่าฝืน |
ถูกพหลพลทมิฬทั้งดินปืน | เสียงครั่นครื้นโกลาทั้งป่าดง |
น้ำมันไฟไหม้ปีกบ้างหลีกกลับ | แล้วถอยทัพเข้าในไพรระหง |
ถอดปีกหางขว้างไปเสียในดง | เข้าแอบพงลัดแลงเที่ยวแฝงกาย ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายเภตราที่หน้าด่าน | พวกทหารพร้อมพรั่งคนทั้งหลาย |
ได้ยินเสียงปืนใหญ่ทั้งไพร่นาย | เหมือนนัดหมายเร่งพหลพลเภตรา |
ท้าวโกสัยสุริย์วงศ์ทรงพระแสง | ออกกวัดแกว่งต้อนพหลพลอาสา |
ให้เข้าตีเมืองด่านชานชลา | ทั้งกองหน้ากองหนุนหมุนเข้าไป |
ปืนระดมสมทบเข้ารบพุ่ง | เกือบจะรุ่งรางรางสว่างไสว |
ป่างพระจอมสินสมุทรวุฒิไกร | ออกจากค่ายทรงสิงโตให้โห่ดัง |
วายุพัฒน์ราชบุตรทรงสินธพ | ไล่ตลบกำกับเป็นทัพหลัง |
อ้ายยักษ์หมีถือกระบองมองระวัง | เดินข้างหลังมิ่งม้าอาชาชาญ |
ใส่เสื้อแดงแต่งตัวหัวเหมือนเงาะ | แล้วใส่เกราะหนังเย็บเอวเหน็บขวาน |
คาดปั้นเหน่งเรือนมณีทองสีลาน | ใส่สังวาลลูกปัดจัดประจง |
มันรักงามกรุ่มกริ่มเดินยิ้มย่อง | ใส่ข้าวของชื่นชมสมประสงค์ |
สะพายย่ามใส่เสบียงเคียงม้าทรง | จัตุรงค์โห่เร้าจะเอาชัย |
ถึงชายหาดดาษดาโยธาทัพ | ออกคั่งคับธงทิวปลิวไสว |
ให้ตั้งที่นาคนามตามกันไป | โดยพิชัยสงครามตามตำรา ฯ |
๏ ฝ่ายทรงฤทธิ์อิศโรท้าวโกสัย | จวนอุทัยจะสร่างกลางเวหา |
สั่งให้ยิงปืนหลักยักกะตรา | พร้อมเภตราตรงเข้าอ่าวบุรินทร์ |
ระดมปืนครื้นครั่นควันโขมง | เสียงผางโผงก้องท่าชลาสินธุ์ |
โจนขึ้นม้ายกพหลพลทมิฬ | พร้อมกันสิ้นแต่บรรดามาในเรือ |
อเนกแน่นแสนยาล้วนกล้าหาญ | บ้างถือขวานตามพวกหมวกหนังสือ |
เป็นทัพหน้ากล้ายกทั้งบกเรือ | ราวกับเสือโลดเต้นเผ่นทะยาน |
กระบวนหลังคั่งคับคนนับแสน | อเนกแน่นถือสาตราล้วนกล้าหาญ |
ยกเข้าตีพร้อมกันมิทันนาน | ประจัญบานรบรับกองทัพไทย |
ยิงสนั่นครั่นครื้นล้วนปืนตับ | เสียงฉาดฉับก้องกังวานสะท้านไหว |
เป็นควันคลุ้มกลุ้มแดงล้วนแสงไฟ | ข้างทัพไทยยิงประดังเสียงตังตึง |
ถูกพหลพลไพร่บ้างตายกลาด | เอาดินสาดควันโขมงเสียงโผงผึง |
ปล่อยปืนใหญ่ไฟฟูมเสียงตูมตึง | อึงคะนึงจนสว่างกระจ่างตา |
บ้างล้มตายก่ายกองทั้งสองข้าง | พวกขุนนางเร่งร้นพลอาสา |
อาวุธสั้นฟันฟาดถึงสาตรา | พิฆาตฆ่ากันตายลงหลายพัน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายจักราพฤฒาเฒ่า | แกเร่งเข้าพิธีขมีขมัน |
ทางกสิณอภิญญาณชำนาญครัน | เสียงฟ้าลั่นครืนครืนพื้นอำพน |
มหาเมฆตั้งมาบนอากาศ | สุนีบาตเปรี้ยงเปรี้ยงเป็นเสียงฝน |
วลาหกตกปรายเป็นสายชล | นภาดลมืดมัวทั่วนภางค์ |
ปัจจุสมัยไก่แก้วจะแจ้วเจื้อย | เรไรเรื่อยท้องทุ่งพอรุ่งสาง |
พิรุณโรยโปรยชื้นพื้นนภางค์ | ทั้งน้ำค้างหยดย้อยลงพรอยพราย |
พวกที่ต้องไฟกรดหมดทั้งนั้น | อันผิวพรรณแสบร้อนก็ผ่อนหาย |
ที่ถูกมากเหลือทนกระวนกระวาย | ออกตากสายฝนเบาบรรเทาลง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนคเรศเกศกษัตริย์ | โองการตรัสชื่นชมสมประสงค์ |
จะคิดการกำราบปราบณรงค์ | เสด็จตรงไปพิธีพลีกรรม |
แล้วจึงตรัสว่าท่านอาจารย์เฒ่า | จงโปรดเราช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ปราบศัตรูหมู่ร้ายรายประจำ | ท่านจงทำตามกิจวิทยา ฯ |
๏ ฝ่ายครูเฒ่าเจ้าตำราว่าช้าก่อน | จะผันผ่อนดูแผนให้แน่นหนา |
เขาก็เป็นคนดีมีวิชา | ข้างฝ่ายฝาหรั่งกลัวทั่วทุกคน |
ขอตรองตรึกดูตำราวิชาก่อน | คิดผันผ่อนที่ในเรื่องเมืองสิงหล |
ดูชะตาในประเทศเขตมณฑล | ถ้าแม้นพ้นเคราะห์ดีคงมีชัย |
แล้วครูเฒ่าเอาตำราออกมาคลี่ | ในคัมภีร์ยัญเวทข้างเพทไสย |
พิเคราะห์ดูรู้แท้แน่แก่ใจ | จะชิงชัยก็ไม่สมอารมณ์ปอง |
เพราะราหูเล็งลัคน์ชักให้ถอย | กำลังน้อยฝ่ายเรามักเศร้าหมอง |
ต่อเทวดายกไปดั่งใจปอง | อีกสักสองเดือนครึ่งจึ่งจะดี |
แล้วกราบทูลมูลความไปตามเรื่อง | ชะตาเมืองเศร้าหมองไม่ผ่องศรี |
อย่าเพ่อยกโยธาออกราวี | จะเสียทีเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
จงรอรั้งอย่างทูลมูลเหตุ | ขออ่านเวทวิทยาเหมือนว่าขาน |
ให้ฝนตกท่วมนองดั่งท้องธาร | จะบันดาลให้เป็นลมระดมมา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงโลกเฉลิมภพ | ขจรจบนครินทร์ปิ่นมหา |
ได้ทรงฟังครูพักตร์จักรา | พระปรีดาตรัสตอบว่าขอบคุณ |
ตามแต่ท่านจะประกอบให้ชอบจิต | ไปโดยกิจขาดเหลือได้เกี้อหนุน |
ท่านจงเอาธุระเดชะบุญ | จะได้อุ่นอกอาณาประชากร ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายโยธาพวกวาโหม | ไปคอยโจมตัดหลังหว่างสิงขร |
ถูกไฟกรดแล้วพหลพลนิกร | ไปซอกซ่อนชายเขาลำเนาเนิน |
ต้องน้ำฝนโปรยปรายก็หายพิษ | ยิ่งแค้นจิตขึ้นลำเนาภูเขาเขิน |
เก็บก้อนหินศิลาที่หน้าเนิน | ตามแผ่นเผินเอามาไว้ได้ทุกคน |
แล้วก็ทำปีกหางขึ้นอย่างเก่า | ครั้นรุ่งเช้าแฝงไม้ในไพรสณฑ์ |
จึ่งจัดแจงแต่งตัวทั่วทุกคน | ทั่งไพร่พลพร้อมทั่วตัวขุนนาง |
ถือก้อนหินศิลาที่หาไว้ | พลางสอดใส่สารพัดจัดปีกหาง |
แล้วปีนขึ้นยังพื้นนภาพลาง | เอาหินขว้างไปในกองแล้วร้องพลัน |
ว่าฮ้าเฮ้ยพวกฝรั่งอย่านั่งนิ่ง | ลุกขึ้นชิงชัยรับเป็นทัพขัน |
เองก็มีไฟกรดหมดด้วยกัน | แต่กูนั้นมีแต่หินก้อนศิลา |
แล้วโยนลงพร้อมกันสักพันก้อน | ถูกนิกรไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
พลฝรั่งตายกลาดดาษดา | ที่แขนขาหักบ้างยังไม่ตาย ฯ |