- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | แกนั่งง่วงตรองตรึกพลางปรึกษา |
ท้าวโกสัยดูฉบับตำหรับตำรา | กับเสนาพวกฝรั่งฟังอาการ |
ใครจะเห็นแยบคายอุบายมั่ง | จะขอฟังวาจาเร่งว่าขาน |
ดูปัญญามาประจบคิดรบราญ | จะทัดทานอย่างไรในกระบวน |
พวกเสนาฝรั่งฟังแกถาม | ก็ว่าตามแต่ผู้ใหญ่จะไต่สวน |
ข้าพเจ้าที่จะให้ไปใคร่ครวญ | โดยกระบวนในตำราที่หารือ |
คิดไม่เห็นเป็นแต่คนสำหรับใช้ | ด้วยอยู่ใต้บังคับเคยนับถือ |
แล้วแต่ท่านสารพัดจะหัดปรือ | ให้ขุดรืออย่างไรจะไปตาม |
บาทหลวงว่าใครจะรู้เหมือนกูเล่า | ก็เห็นเปล่าจริงหนอแต่ล่อถาม |
ไม่เห็นใครรู้หลักประจักษ์ความ | ยิ่งชักถามก็ยิ่งเคอะเซอะทุกคน |
เฮ้อนี่แน่แยบคายอุบายนี้ | เห็นจะดีคิดเห็นจะเป็นผล |
เราคิดทำโคมไฟใส่ไกกล | ปล่อยไปบนเวหาสักห้าพัน |
เอาดินดำทำไส้กับไฟกรด | พอเชื้อหมดถึงดินดำกำมะถัน |
ถัาพลัดตกลงที่ไหนเป็นไฟกัลป์ | ถึงสามวันจึงจะดับระงับเปลว |
ถูกตึกกว้านร้านโรงก็โพลงพลุ่ง | เป็นเปลวฟุ้งคงถูกกระดูกเหลว |
ปัญญากูคิดไว้มิใช่เลว | เหมือนตกเหวขึ้นได้ดั่งใจปอง |
ท้าวโกสัยกับขุนนางข้างฝรั่ง | ที่นั่งฟังพร้อมกันสักพันสอง |
สรรเสริญปัญญาดั่งทาทอง | พอหายหมองสุกเปล่งดั่งเพ็งจันทร์ |
มิเสียทีที่เป็นปราชญ์ฉลาดเลิศ | แสนประเสริฐใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
ทั้งจะสมปรารถนาสารพัน | ยืนพร้อมกันแล้วคำนับพลางจับมือ |
๏ บาทหลวงค่อยบางเบาบรรเทาทุกข์ | บังเกิดสุขเห็นผลคนนับถือ |
เพราะความคิดของตนคนจึ่งลือ | มันนับถือตัวกูผู้อาจารย์ |
ที่ทุกข์ร้อนอ่อนใจหายเป็นปลิด | เห็นสมคิดปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
ค่อยกินอยู่หลับนอนผ่อนสำราญ | แล้วคิดการปรุงยาหาน้ำมัน |
ประสมดินปืนไว้จะใส่เชื้อ | เอากรดเจือลงในน้ำกำมะถัน |
แล้วผูกเป็นโคมผ้าขึ้นห้าพัน | เอาดินคั่นไว้ข้างล่างวางตะเกียง |
แล้วทำไกใส่ลิ้นเมื่อลมหวน | จะได้ครวญครางเพราะเสนาะเสียง |
ให้จัดแจงแต่งเสร็จสำเร็จเรียง | เป็นคู่เคียงใส่ยาทั้งห้าพัน |
อันปัญญาฝรั่งสังฆราช | แกฉลาดยิ่งบุรุษสุดขยัน |
เกณฑ์พหลพลรบไว้ครบครัน | ทั้งปืนสั้นปืนยาวทั้งง้าวทวน |
สำหรับเข้าแหกค่ายจัดไว้พร้อม | จะคอยอ้อมรบระดมเมื่อลมหวน |
สั่งให้พวกเกณฑ์หัดจัดกระบวน | ไว้ให้ถ้วนตามบังคับทุกทัพชัย |
แม้ฤกษ์ดีวันไรจะได้ยก | ไปข้างบกริมท่าชลาไหล |
อ้ายพวกม้นก็จะแตกแยกกันไป | เราแหกค่ายพลอยประสมระดมยิง |
แล้วสั่งให้เลี้ยงดูหมู่ทหาร | ทั้งคาวหวานเหล้าส้มขนมผิง |
อีกเป็ดไก่เนื้อแพะแกะกระทิง | ของย่างปิ้งต่างต่างวางในจาน |
บนโต๊ะใหญ่หลายอย่างข้างละแถว | สำเร็จแล้วรายเรียงเลี้ยงทหาร |
ให้กินอยู่หลับนอนผ่อนสำราญ | เหล่าทหารกองหนุนทั้งขุนพล ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | ไปแอบหาดเกาะท้ายปลายสิงหล |
ค่อยเป็นสุขทุกอาณาประชาชน | ไม่ร้อนรนอยู่สบายมาหลายวัน |
แต่ภิรมย์ชมสมรเสมอทิพย์ | อันลอยลิบเปรียบเหมือนผ่านวิมานสวรรค์ |
ไม่จากห้องไสยาสน์อาสน์สุวรรณ | ถนอมขวัญบุษบงอนงค์นาง |
ในห้องท้ายบาหลีที่สถิต | สำราญจิตโดยถนัดไม่ขัดขวาง |
ดั่งเครื่องทิพย์หยิบส่งประจงวาง | ไม่รู้จางที่ในรสเหมือนอดออม |
พระจุมพิตชิดชื่นระรื่นกลิ่น | สมถวิลมิรู้จางห่างถนอม |
เหมือนแมลงผึ้งคลึงเกสรเฝ้าวอนตอม | แนบถนอมกลั้วกลิ่นไม่สิ้นเชิง |
พายุหวนป่วนปั่นสนั่นก้อง | ฝนคะนองฟ้าเจือจนเหลือเหลิง |
สุนีบาดฟาดสายกระจายเปิง | กำปั่นเหลิงลอยชิดขึ้นติดเลน |
สุริยาอัสดงจะลงลับ | เมฆขึ้นจับฟ้าแดงดั่งแสงเสน |
ทั้งเนมินอิสินธรอ่อนระเนน | จนสุริเยนทร์เลี้ยวลับบรรพตา ฯ |
๏ สองภิรมย์สมสนิทพิศวาส | ไม่ห่างบาทบทเรศพระเชษฐา |
พระจันทรจรกระจ่างกลางนภา | ดวงดาราส่องสว่างกลางโพยม |
พระเสร็จจากแท่นสุวรรณบรรจถรณ์ | พลางกุมกรกัลยาสุดาโฉม |
ให้ดูดาวพราวพร่างกลางโพยม | เหมือนแสงโคมสุกใสในอัมพร |
โน่นดาวไถใกล้เคียงกับดาวเต่า | เป็นเหล่าเหล่ารายระดับสลับสลอน |
นี่แน่ดาวกัณฐัศว์อัสดร | ดาวมังกรเหรากุมภาพาล |
ที่ตรงหน้าพาชีดาวลูกไก่ | เห็นไรไรรูปทรงเหมือนธงฉาน |
โน่นดาวข่างกลางพื้นโพยมมาน | ทิศอีสานดาวสำเภามีเสาใบ |
ถัดไปนั่นดาวโลงมีกาจับ | ในตำหรับทายที่คัมภีร์ไสย |
แม้กาจับหลายตัวมักกลัวไป | ทายว่าไข้ย่อมมีมาบีฑา |
โน่นดาวหางขึ้นอยู่ข้างทิศพายัพ | มักเกิดทัพรบพุ่งยุ่งนักหนา |
พวกโหรดูรู้ฉบับตำหรับตำรา | จึงทายว่าหางหัวชั่วแลดี |
พระจันทร์ตรงส่งกลดดูโชติช่วง | กระจ่างดวงแจ่มจำรัสรัศมี |
จับผิวพักตร์กัลยานางนารี | นวลฉวีปลั่งเปล่งดั่งเพ็งจันทร์ |
พระเชยปรางพลางประโลมโฉมสมร | ราวกับจรจากสถานพิมานสวรรค์ |
ครูบาทหลวงแกจะพรากให้จากกัน | สารพันที่จะทำให้ช้ำใจ |
ถึงเป็นตายก็ไม่วายเสน่ห์น้อง | จะจากห้องบุษบงอย่าสงสัย |
พลางรับขวัญกัลยาสุมาลัย | พระเคล้นไคล้เคล้าพุ่มปทุมทอง |
บุษบงนงเยาว์เสาวรส | จงปรากฏเถิดอุบลอย่าหม่นหมอง |
เหมือนดวงจันทร์ขวัญจิตอย่าคิดปอง | ไม่เป็นสองดวงดอกพี่บอกจริง |
ดังดวงจิตเชษฐาเจ้าอย่าแหนง | ไม่พรายแพร่งเป็นสองดอกน้องหญิง |
สุดาเดือนเหมือนประสงค์ที่ตรงจริง | สมรมิ่งเหมือนเดือนเสมอดวง ฯ |
๏ นางบังคมก้มเศียรลงกราบบาท | พจนารถทูลความไม่ห้ามหวง |
ถึงจะมีแสนสุรางค์นางทั้งปวง | ไม่เคียดขึ้งหึงหวงให้ล่วงเกิน |
เป็นความสัตย์ปฏิญาณสาบานถวาย | ไม่วุ่นวายให้พระหมางระคางเขิน |
ถึงนางใดจะมาทำให้ก้ำเกิน | จะสู้เมินมิให้เคืองในเรื่องราว |
พระรับขวัญขวัญตานิจจาน้อง | มิให้ต้องเคืองขุ่นถึงวุ่นฉาว |
อันหญิงอื่นหมื่นแสนในแดนดาว | อย่ามากล่าวเลยในใจไม่นิยม |
นอกจากนุชพี่ไม่สุจริตรัก | ถึงใครชักให้ไปชิดสนิทสนม |
ไม่ขอคบขอคิดจิตนิยม | อย่าปรารมภ์เลยสมรกรประคอง |
นางคำนับรับรสพจนารถ | ไม่ห่างบาททรงฤทธิ์สนิทสนอง |
จนเดือนเที่ยงเสียงโกกิลาคะนอง | กระเรียนร้องที่บนเกาะเสนาะดัง |
จังหรีดร้องลองไนเรไรเรื่อย | สำเนียงเฉื่อยเหมือนดนตรีดีดสีสังข์ |
ดุเหว่าแว่วแจ้วเจื้อยระเรื่อยดัง | วิเวกวังเวงรื่นชื่นกมล |
พระพายพัดรวยรินกลิ่นเกสร | ละอองอ่อนซาบเย็นทุกเส้นขน |
น้ำค้างย้อยพรอยพรายดังสายชล | พระขึ้นบนบาหลีที่ไสยา |
ถนอมแนบแอบนุชสุดที่ชื่น | สำราญรื่นรับขวัญต่างหรรษา |
ค่อยคลายทุกข์สุขเกษมเปรมอุรา | สองไสยาร่วมพระแท่นแสนสบาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | ค่อยสร่างทรวงคิดสมอารมณ์หมาย |
จึ่งสั่งท้าวโกสัยทั้งไพร่นาย | พลนิกายรวมรอมให้พร้อมกัน |
ค่ำวันนี้มีฤกษ์จะยกทัพ | จงกำชับพวกพหลพลขันธ์ |
จะปล่อยโคมจักรไกไฟน้ำมัน | เอาให้ทันฤกษ์พาเวลาดี |
ท้าวโกสัยกำกับเป็นทัพหน้า | ให้ผูกม้าเครื่องทองละอองศรี |
อานฝรั่งลงยาราชาวดี | ใส่เสื้อสีดำขลับระยับพลาย |
ถือกระบี่ฝักทองประดับเพชร | แต่ละเม็ดแจ่มจัดจำรัสฉาย |
ใส่หมวกฝังทับทิมดูพริ้มพราย | สังวาลสายมรกตดูงดงาม |
เหน็บปืนสั้นสองข้างอย่างฝรั่ง | พร้อมสะพรั่งพลไกรในสนาม |
บาทหลวงใส่เครื่องมณีล้วนสีคราม | ใส่หมวกสามยอดสลับประดับนิล |
เสียบขนนกวายุภักษ์ปักข้างขวา | เหมือนมาลาเจ้าฝรั่งดังถวิล |
ถือกระบี่ที่ท้าวเจ้าบุรินทร์ | มาพร้อมสิ้นพลหมื่นพื้นฉกรรจ์ |
แกขึ้นรถกำกับเป็นทัพหลวง | ทุกกระทรวงเร่งรัดให้จัดสรรค์ |
เครื่องอาวุธยุทธนาสารพัน | ทั้งปืนสั้นปืนยาวแลง้าวทวน |
ได้ฤกษ์ดีสี่ทุ่มจึงจะยก | กระบวนบกโดยระบอบคอยสอบสวน |
แกบังคับยับยั้งตั้งกระบวน | เลือกแต่ล้วนโยธีมีฝีมือ |
เป็นทัพหน้ากล้าหาญในการรบ | ได้สมทบยงยุทธ์อาวุธถือ |
ปืนคาบชุดนกสับสำหรับมือ | แจกให้ถือถ้วนทั่วทุกตัวคน |
พอสุริยงลงลับพยับฟ้า | ดวงดาราแจ่มกระจ่างกลางเวหน |
บาทหลวงส่องกล้องคู่ดูฤกษ์บน | พร้อมพหลพลยุทธ์ให้จุดไฟ |
พอมีลมริ้วริ้วมาฉิวเฉื่อย | ปล่อยโคมเรื่อยเพลิงกระจ่างสว่างไสว |
ต้องลิ้นขลุ่ยเสียงเพราะเสนาะใน | ลอยขึ้นไปในห้องท้องคัคนานต์ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายด่านเมืองปากน้ำ | ครั้นพลบค่ำสิ้นแสงพระสุริย์ฉาน |
ให้ตีฆ้องกองไฟไวปราการ | ทหารขานยามให้ระไวระวัง |
พวกพหลพลรบสมทบทัพ | ดูคั่งคับดาษดาทั้งหน้าหลัง |
พร้อมกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงวัง | มาเฝ้าบังคมคัลอัญชลี |
สามพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | ให้โอวาทโดยจริตกิจฤๅษี |
จงยับยั้งตั้งมั่นในขันตี | เพราะเป็นที่ทางประโยชน์โพธิญาณ |
อย่าโลภหลงปลงในพระไตรลักษณ์ | จงประจักษ์ที่ตั้งแห่งสังขาร |
เป็นอนิจจังยังขันธสันดาน | ให้สาธารณ์มิได้ตั้งอยู่ยั่งยืน |
เป็นเครื่องจมถมแผ่นสุธาวาส | เพราะเป็นชาติชราไม่ฝ่าฝืน |
อนัตตาสูญลับไม่กลับคืน | อย่าชมชื่นร่างกายหมายว่าดี |
กองกิเลสผูกพันนั่นคือห่วง | จงหลีกล่วงหนีทุกข์ให้สุขี |
พระอภัยเทศนาตามบาลี | อยู่ในที่พลับพลาหน้าเชิงเทิน |
พอสี่ทุ่มเห็นสว่างกลางอากาศ | เสียงประหลาดดูเหมือนนกวิหคเหิน |
ประสานซ้องก้องดังยังฟังเพลิน | เลียงกริ่งเกริ่นบนเวหานภาลัย |
พวกพลแหงนดูฟ้าบนอากาศ | เห็นโคมดาษแจ่มกระจ่างสว่างไสว |
ดาษดาน่าอนาถประหลาดใจ | ทั้งแสงไฟส่องสว่างดั่งกลางวัน |
พวกเสนาเข้าไปทูลมูลเหตุ | ว่าอาเพศมาในทางกลางสวรรค์ |
ปางพระจอมโมลีศรีสุวรรณ | กับพงศ์พันธุ์วงศาเสนานาย |
พระมุนินทร์ปิ่นฤๅษีหลวงชีสอง | ลุกจากห้องจรจรัลรีบผันผาย |
ทอดพระเนตรเหตุผลฟังต้นปลาย | เห็นแยบคายประจามิตรจะคิดกล ฯ |
๏ ฝ่ายครูพักตร์จักราพฤฒาเฒ่า | จึงก้มเกล้าทูลแถลงแจ้งนุสนธิ์ |
คงจะเป็นการร้ายอุบายกล | จงเตรียมพลออกไปค่ายระไวระวัง |
อย่าไว้ใจในการกลศึก | จะโหมฮึกอ้อมทบตลบหลัง |
เห็นผิดอย่างทางบนพ้นกำลัง | จะยับยั้งข้าเห็นไม่เป็นการ ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสปรึกษาบรรดาหลาน |
ให้ยกพวกพลไกรอันชัยชาญ | ออกจากด่านไปค่ายชายทะเล |
พร้อมพหลพลทัพสำหรับรบ | เร่งสมทบไปให้ทันอย่าหันเห |
รีบยกไปค่ายตั้งฝั่งทะเล | ฝรั่งเฮฮาล้อมเข้าพร้อมเพรียง |
บาทหลวงเร่งรถกำกับเป็นทัพหลวง | ทุกกระทรวงโห่ลั่นสนั่นเสียง |
พอโคมกรดตกลงส่งสำเนียง | เสียงเปรี้ยงเปรี้ยงดินดังเสียงดังตึง |
ถูกพหลพลไพร่ตายออกกลาด | กระทบฉาดแตกดังเสียงผางผึง |
ถูกโรงร้านเป็นไฟไหม้ตะบึง | คนหนีอึงแตกเข้าย่านชานบุรินทร์ |
หกกษัตริย์ถอยทัพกลับเข้าด่าน | ฝรั่งหาญเหิมจิตคิดถวิล |
แหกเข้าค่ายชายชลาหน้าบุรินทร์ | พร้อมกันสิ้นเข้าค้นเที่ยววนวง |
ที่หนีไปไม่พ้นจนความคิด | พวกอังกฤษเที่ยววนจับคนหลง |
มาซักความถามไต่ดังใจจง | แล้วก็ลงทัณฑกรรมให้จำตาย |
เอาเชือกมัดรัดคอแขวนหอรบ | ประจานศพข้าศึกเหมือนนึกหมาย |
บาทหลวงสมความแค้นแสนสบาย | เพราะแยบคายกลศึกดูตรึกตรอง |
ค่ำพรุ่งนี้กูจะตีเอาเมืองด่าน | จงเตรียมการแอบเอาทั้งข้าวของ |
เข้าตั้งมั่นอยู่ในค่ายดั่งใจปอง | แกคิดตรองหลายอย่างทางอุบาย ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในพาราเวลาศึก | อึกทึกต้อนกันให้ผันผาย |
ครั้นรุ่งรางต่างคนกระวนกระวาย | ทั้งไพร่นายหมู่หมวดให้ตรวจพล |
ส่วนพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ให้เร่งรัดโยธาโกลาหล |
ลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมจงพร้อมคน | เกณฑ์กันขนก้อนดินทั้งศิลา |
ให้ตักน้ำใส่ถังขึ้นตั้งไว้ | คอยดับไฟสารพัดเร่งจัดหา |
พระสั่งให้ครูพักตร์จักรา | เชิญท่านอาจารย์ช่วยด้วยสักคราว |
ตามตำราไสยเวทข้างเพทไสย | เป็นศึกใหญ่อย่าให้ขุ่นถึงวุ่นฉาว |
จงช่วยกันแว่นแคว้นทั้งแดนดาว | ที่เรื่องราวแก้กันอันตราย |
การที่จะรบรากับข้าศึก | เราจะตรึกตรองไว้ดั่งใจหมาย |
ท่านจงช่วยข้างมนต์กลอุบาย | คิดยักย้ายตามแต่ท่านจะกันภัย ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ชำนาญในการเวท | โลกเชษฐ์เป็นอาจารย์แกขานไข |
ได้ร่ำเรียนเขียนอ่านชำนาญใจ | จึงทูลไทธิบดินทร์ปิ่นนคร |
ขออาสาแก้ไขในพระเวท | โดยสังเกตที่ได้รู้ตามครูสอน |
จะอ่านมนตํให้พระพายขจายจร | พัดเอาก้อนเพลิงไปไกลบุรินทร์ |
แล้วปลูกศาลบูชาเทพารักษ์ | อันสิทธิศักดิ์ในมหาชลสินธุ์ |
จะป้องกันพวกศัตรูหมู่อรินทร์ | รักษาถิ่นนคเรศนิเวศน์วัง |
ขึ้นนั่งอาสน์ราธนาเทพารักษ์ | สิทธิศักดิ์มาประชุมช่วยคุ้มขัง |
อย่าให้เกิดอันตรายวายชีวัง | แกจึงตั้งอธิษฐานการบูชา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | พอลับดวงสุริยนบนเวหา |
จึงจัดแจงไฟกรดให้บดยา | น้ำมันทาโคมลิ้นใส่ดินปืน |
สายระยางกางไกใส่ไว้พร้อม | สั่งให้ล้อมนคราใครฝ่าฝืน |
ตีให้แตกแหกให้พังในกลางคืน | ระดมปืนใหญ่ยิงชิงเอาเมือง |
เฮ้ยออท้าวโกสัยไปกำกับ | เป็นแม่ทัพเข่นฆ่าให้ตาเหลือง |
กูคิดอ่านตอบแทนที่แค้นเคือง | จะเอาเมืองด่านให้ได้ดั่งใจปอง |
พอโคมตกไฟติดคิดเข้าปล้น | จับเอาคนป่วยเจ็บเก็บเอาของ |
พวกที่รบรบไปดั่งใจปอง | จัดสำรองเหล้ายาหาไปกิน |
จงเตรียมรถผูกม้าที่กล้าศึก | เวลาดึกจึงจะไปดั่งใจถวิล |
กรูกันเข้าโอบอ้อมล้อมบุรินทร์ | ทั้งลูกดินปืนตับสำหรับมือ |
พอแปดทุ่มลมอับพยับฝน | แกเรียกคนพลรบจุดคบถือ |
พวกจุดโคมพร้อมพรั่งนั่งกระพือ | พอพร้อมมือปล่อยขึ้นโพยมมาน |
บอกให้ยกพวกพหลพลรบ | เร่งสมทบนายไพร่ฝ่ายทหาร |
กรูกันเข้าโอบอ้อมล้อมปราการ | เหล่าทหารพวกฝรั่งออกตั้งราย |
โคมก็ลอยดาษดาบนอากาศ | แสงโอภาสบนนภางค์สว่างฉาย |
เสียงวังเวงเพลงเพราะเสนาะพราย | คนทั้งหลายวิ่งดูเป็นหมู่ไป ฯ |
๏ จะกล่าวถึงจักราพฤฒาเฒ่า | กำลังเข้าบัดพลีพิธีไสย |
เป็นลมหวนป่วนปั่นสนั่นไป | พยุใหญ่พัดมาในทะเล |
หอบเอาโคมกรดไปในอากาศ | พยุกราดปั่นป่วนให้หวนเห |
ไปตกลงโผงผางกลางทะเล | ฝนก็เทตกลงกลาดดาษดา |
สุนีบาตฟาดเปรี้ยงเสียงกระหึ่ม | ท้องฟ้าครึ้มคล้ำมัวทั่วทิศา |
ฝนก็ตกท่วมนองท้องสุธา | ฝ่ายพวกฝาหรั่งหนาวทั้งหาวนอน |
บาทหลวงนั่งคางสั่นอยู่ในรถ | ให้ถอยถดกองทัพสลับสลอน |
ไปตากฝนทนหนาวทั้งหาวนอน | จนผ้าผ่อนเปียกฉ่ำเป็นน้ำไป ฯ |
๏ บาทหลวงกลับเข้าค่ายให้วิตก | ระกำอกดังใครเชือดให้เลือดไหล |
อยู่ในค่ายชายทะเลว้าเหว่ใจ | ช่างกระไรฝนแกล้งเหมือนแช่งกัน |
ถ้าฝนหายกูจะกลับเข้ารับรบ | ตีตลบเอาให้ได้ไอศวรรย์ |
จนเกือบใกล้รังสีรวีวรรณ | ที่ฟ้าลั่นก็ค่อยเบาบรรเทาคลาย |
ทั้งฝนปรายน้อยเม็ดท้องฟ้าขาว | ทั้งเดือนดาวแจ่มกระจ่างสว่างฉาย |
แสงอาทิตย์สางสางสว่างพราย | แกสั่งนายขุนหมวดให้ตรวจพล |
จะยกเข้าตีด่านเป็นการร้อน | อย่าหลับนอนบอกให้ทั่วตัวพหล |
เอารถเหล็กสำหรับรบสมทบพล | จะเข้าปล้นปากน้ำที่สำคัญ ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาฝรั่งมาสั่งทั่ว | ให้เตรียมตัวทั้งพหลพลขันธ์ |
พอรุ่งแจ้งสุริย์ฉายพรายพรรณ | พลขันธ์พร้อมถ้วนกระบวนแซง |
บาทหลวงขึ้นนั่งรถมีสารถี | ให้คลายคลี่พวกทหารชาญกำแหง |
ท้าวโกสัยขับม้าดูร่าแรง | ใส่เสื้อแดงคล้ายกับท้าวเจ้าลงกา |
ให้ตีกลองเป่าแตรแซ่สนั่น | พลขันธ์เดินรายทั้งซ้ายขวา |
ยกเข้าล้อมป้อมปราการชานชลา | พวกโยธากึกก้องร้องตะโกน |
เอาธงปักชักปันยืนสะพรั่ง | ดูเหมือนอย่างชาติเช่นเขาเล่นโขน |
บ้างโลดเต้นลำพองทำนองโจร | ที่โลดโผนแกว่งหลาวทั้งง้าวทวน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในพาราเห็นข้าศึก | อึกทึกวิ่งกลมดังลมหวน |
บ้างขึ้นป้อมพร้อมพรั่งตั้งกระบวน | เอาง้าวทวนคอยพุ่งกันกรุงไกร |
บ้างคั่วทรายคอยสาดออกกลาดกลุ้ม | บ้างยืนกุมแหลนหลาวยาวไสว |
บ้างยัดปืนคาบชุดบ้างจุดไฟ | พลไพร่พร้อมพหลบนเชิงเทิน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมุนีฤๅษีสิทธ์ | พระอภัยคิดวิตกระหกเหิน |
เวทนากองทัพจะยับเยิน | เกิดเผอิญรบพุ่งกันรุงรัง |
ไมรู้สิ้นรู้สุดมนุษย์เอ๋ย | รบกันเลยร่ำไปเพราะใจหวัง |
จนพวกพลล้มตายวางชีวัง | ก็หลายครั้งหลายหนแต่ต้นมา |
จำจะไปปราบปรามเหมือนห้ามทัพ | ข้อบังคับแจ้งเหตุเทศนา |
พลางชวนดาบสีนีให้ลีลา | ไปพลับพลาบนปราการชานบุรินทร์ |
ดาบสีนีละเวงวัณฬาราช | ก็ยุรยาตรตามองค์พระทรงศีล |
ทั้งสุวรรณมาลีศรียุพิน | พร้อมกันสิ้นสามองค์เสร็จตรงไป |
ขึ้นพลับพลาหน้าเชิงเทินบนเนินป้อม | ทหารพร้อมเซ็งแซ่แลไสว |
พระนักสิทธ์ตรัสว่าอย่าออกไป | ทั้งนายไพร่รอรั้งหยุดฟังความ |
เราจะว่าโดยดีเหมือนที่ปลอบ | ให้ชื่นชอบในน้ำใจจะไต่ถาม |
พอจะไว้เกียรติยศให้งดงาม | ให้ต้องตามความบทเบื้องบุราณ |
สามพระองค์ทรงนั่งบัลลังก์อาสน์ | ตรัสประภาษด้วยสุนทรอันอ่อนหวาน |
ว่านี่แน่พวกฝรั่งอหังการ | มาทรมานไพร่ฟ้าประชาชน |
ต้องรบพุ่งยุ่งยิ่งชิงสมบัติ | นิสัยสัตว์ยากไร้มาหลายหน |
เราเอ็นดูแก่อาณาประชาชน | ต้องรุกร้นฆ่าฟันกันบรรลัย |
อันคนยากกรากกรำมาทำศึก | อึกทึกร้อนรนทนไม่ไหว |
เราผู้เป็นนักพรตถืออดใจ | ไปอยู่ในป่าดงพงอรัญ |
รักษาสัตย์ปฏิญาณการกุศล | ไม่ทำวลกรุงไกรไอศวรรย์ |
อย่ามาต้องรบราถึงฆ่าฟัน | จะแบ่งปันให้สักครึ่งกึ่งบุรินทร์ |
อยู่ด้วยกันโดยดีล้วนพี่น้อง | มาปรองดองเหมือนเราว่าอย่าถวิล |
ช่วยกินคิดปกป้องครองแผ่นดิน | ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฏนาม ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแสนพิโรธ | ให้ฉุนโกรธร้องไปขอไต่ถาม |
นี่แน่เฮ้ยพระอภัยใจตะกลาม | มาหยาบหยามข่มเหงไม่เกรงใจ |
กูก็เป็นฝรั่งในจังหวัด | มาพิกัดพูดไม่เก้อเออไฉน |
อันลังกาธานินทร์ถิ่นของใคร | มาสร้างไว้หรือจะแสร้งมาแบ่งปัน |
กูก็ไม่ง้องอนอย่าค่อนแคะ | พูดเหลาะแหละปั้นเจ๋อละเมอฝัน |
พลางลุกออกจากรถาตาเป็นมัน | แล้วดุดันเกรี้ยวกราดตวาดไป |
พอเหลือบเห็นพระธิดาวัณฬาสมร | แกแคะค่อนด่าว่าไม่ปราศรัย |
พวกอีคนทุจริตเข้ารีตไทย | มาทำให้ศาสนาเป็นสาธารณ์ |
ก็เพราะมึงชั่วช้าสิบ้าผัว | ต้องหมองมัวไปสิ้นทุกถิ่นฐาน |
จนลูกเต้าเผ่าพงศ์ทั้งวงศ์วาน | จนถิ่นฐานแทบชีวิตจะปลิดปลง |
ไปอ่อนคอรอเรียงเคียงหม่อมผัว | ชะไว้ตัวร้อยอย่างเจียวนางหงส์ |
สิบ้ากามปัวเปียจนเสียวงศ์ | จะต้องลงชื่อไว้ในแผ่นดิน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงทรงพรตดาบสสดับ | ให้คั่งคับทรวงในพระทัยถวิล |
แต่ถือพรหมจรรยาเป็นอาจิณ | รักษาศิลไว้มั่นในขันตี |
ต้องอดใจไม่โกรธหวังโปรดสัตว์ | ถึงเคืองขัดก็เพราะถือเป็นฤๅษี |
ต้องอดใจตอบความตามคดี | ท่านอย่ามีความโกรธพิโรธเรา |
จะบาปกรรมข้ามีแก่ตัวท่าน | เป็นมหันต์ใหญ่โตพาโลเขา |
เพราะเกิดความวิหิงสามาด่าเรา | เหมือนก่อนเก่านั้นไม่ได้ภัยจะมี |
เพราะบวชเป็นดาบสหมดทั้งนั้น | ถือพรหมจรรย์สุจริตกิจฤๅษี |
ไม่โลภหลงปลงจิตคิดแต่ดี | เป็นมุนีอยู่ในป่าสมาทาน ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแสนพิโรธ | กำลังโกรธขัดใจหลายสถาน |
จึงชี้หน้าว่าอุเหม่อีเหพาน | มาจัดจ้านพูดเล่นเหมือนเป็นนาย |
ชะมึงหรือถือศิลกินขนม | ไม่นิยมดอกหนามึงอย่าหมาย |
อย่าพักพูดเกเรเพทุบาย | อีท้องลายหนังลอกมาหลอกกู |
นางฤๅษีขี้ข้าอีบ้าผัว | ไปเมามัวให้มันสอนจนอ่อนหู |
ยังจะมาตอแหลเล่นแก่กู | ชะนางผู้นักปราชญ์กวาดบันได |
มึงมันล้างศาสนาข้างฝาหรั่ง | จะตกถังเช่นเขาว่าเลือดตาไหล |
ไปถูกหลอกอ้ายเจ้าผัวตัวจัญไร | พระจะให้มึงไปตกนรกนาน |
เพราะมึงล้างศาสนาข้างฝาหรั่ง | คนเขาชังทุกประเทศเขตสถาน |
อย่าพักพูดเกะกะเที่ยวระราน | จนเมืองบ้านเป็นของเขาอีเจ้ากรรม |
ให้พวกพ้องของผัวมามั่วสุม | ตั้งชุมนุมอยู่ในที่แล้วมิหนำ |
ทั้งวัดวาป่นปี้ระยี่ระยำ | แล้วยังทำเจ๋อเจ๊อะสเออะดวง |
ชะน้อยหรืออีละเวงข่มเหงเล่น | กูก็เช่นเชื้อปราชญ์เป็นบาทหลวง |
มาตอแหลยักคอพูดล่อลวง | ทำจาบจ้วงเอากูผู้อาจารย์ |
ทั้งเจ้าผัวพูดจาว่าจะแบ่ง | เอาเมืองแล่งสักครึ่งกึ่งสถาน |
กูก็ไม่งอนง้อมาขอทาน | อันถิ่นฐานใช่ของมันจะปันใคร |
แม้นจะคืนให้กูอย่าอยู่นี่ | กลับไปที่พาราเคยอาศัย |
ทั้งญาติวงศ์พงศาพากันไป | กูมิให้เป็นเชื้อเพราะเหลือทน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์วัณฬาพระดาบส | เธอถืออดใจหมายฝ่ายกุศล |
ฟังถ้อยคำเต็มเบื่อเห็นเหลือทน | แกเป็นคนหยาบคายหลายประการ |
แต่นึกเอาขันตีเป็นที่ตั้ง | จึงหยุดยั้งอดใจหลายสถาน |
แล้วนิ่งนึกตรึกตราอยู่ช้านาน | จะสู้พาลเห็นไม่ได้ที่ในเชิง |
แต่จำเป็นจำว่ากับข้าศึก | อย่าหาญฮึกเพิ่มเชื้อให้เหลือหลง |
แล้วตอบคำจำใจไปในเชิง | เหมือนดับเพลิงหัวลมระดมเอา |
ทั้งครองแครงแย่งยื้อดื้อเข้าปล้ำ | ต้องเอาน้ำสาดไปเพราะไฟเผา |
ถัาแม้นคนไม่ดื้อคงถือเอา | แต่ตาเฒ่านี้แกดึงจนถึงดี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงทรงพรตดาบสสมร | มีสุนทรโดยจริตกิจฤๅษี |
ว่าดูก่อนพระอาจารย์เป็นการดี | ไม่ควรที่โมโหจะโกรธา |
จงยับยั้งฟังก่อนอย่าร้อนเร่า | อันลูกเต้าใช่จะคิดริษยา |
เราก็ยกกรุงไกรในลังกา | ให้สองราลูกหลานผ่านบุรินทร์ |
ก็ไม่อยู่ในสัตย์เพราะครูสอน | ทำให้ร้อนรนไปโดยใจถวิล |
เที่ยวข่มเหงญาติกาทุกธานินทร์ | ไม่รู้สิ้นจิตพาลสันดานดึง |
ก็เพราะใครให้ไปตีเมืองการะเวก | ทำโหยกเหยกโกโรโมโหหึง |
ลูกจึ่งได้เป็นพาลสันดานดึง | ต้องโกรธขึ้งกันไปหมดเพราะคดโกง ฯ |
๏ บาทหลวงฟังนั่งแค้นแหงนดูหน้า | แกร้องด่าขึ้นไปอีตายโหง |
ชะนางพวกฤๅษีอีชีโกง | ใครชักโยงลูกมึงให้ดึงดัน |
พูดตอแหลแก้ตัวให้ผัวรัก | นั่งพยักเผยอหยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
กูสอนสั่งครั้งไรใจของมัน | มาเสกสรรค์ใส่เอากูผู้อาจารย์ |
มึงจะไปตกนรกสักหกหลุม | ที่ไฟสุมร้อนเร่าจะเผาผลาญ |
พระเยซูจะลงโทษไม่โปรดปราน | จะทรมานตัวมึงอย่าพึงแคลง |
หรือจะพึ่งบุญผัวหัวจะขาด | ด้วยอำนาจพวกทหารชาญกำแหง |
รู้สึกตัวชั่วช้ามาสำแดง | ให้เห็นแจ้งแก่ฝรั่งทั้งกระบวน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาสดับ | ให้คั่งคับหมกมุ่นนึกหุนหวน |
เอาขันตีหักห้ามตามกระบวน | จะก่อกวนขุ่นหมองไม่ต้องการ |
แล้วร้องว่าอาจารย์ท่านอย่าโกรธ | ไม่ประโยชน์หวงแหนเป็นแก่นสาร |
เราถือสัตย์ในสิกขาสมาทาน | ไม่เป็นการธุระดอกบอกจริงจริง |
อันศฤงคารบ้านเมืองที่เรื่องนั้น | ไม่ผูกพันไปอยู่ป่าประสาหญิง |
สิ้นโลภหลงปลงใจไม่ประวิง | เป็นความจริงที่ในจิตไม่คิดปอง ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแหงนชะแง้ | อีตอแหลทำให้วุ่นจนขุ่นหมอง |
ชะนางพวกถือศีลกินข้าวพอง | หน่อยก็ท้องค้ำหน้าอีบ้ากาม |
นางฤๅษีชีป่าอีบ้าผัว | มันรอดชั่วอย่างไรหนอกูขอถาม |
ไปลอยหน้าอยู่กับเขาเมาตะกลาม | นางหม่อมห้ามไม่หยุดสุดฝีมือ |
เองหรือตัดราคาตัณหาขาด | มึงหรือปราชญ์จะปรับให้นับถือ |
อย่ามาพูดสอพลอให้อออือ | กูไม่ถือถ้อยคำอย่ารำพัน |
พวกอีล้างศาสนาตำราตัด | ต้องกำจัดเสียให้ไกลไอศวรรย์ |
มิให้มึงอยู่ยืดสืบพืชพันธุ์ | ในเขตคันพาราลังกาเดิม |
พวกอีเจ้าราคาตัณหาสด | ให้ขบถข้าศึกพลอยฮึกเหิม |
จนเสียชาติศาสนาพาราเดิม | อย่าพักเหิมไปเลยเองไม่เกรงกลัว |
พากันไปให้พ้นพวกหม่นหมอง | เร่งตรึกตรองไปเสียทั้งเมียผัว |
แต่บรรดาเขยสะใภ้ไปทั้งครัว | หาไม่หัวมึงจะขาดดาษสุธา ฯ |
๏ สินสมุทรได้ฟังสังฆราช | มันองอาจอวดตัวชั่วนักหนา |
ทั้งหยาบคายร้ายกาจอ้ายชาติกา | ช่างพูดจาจองหองจะลองดู |
แล้วร้องว่าฮ้าเฮ้ยตาบาทหลวง | เอ็งจาบจ้วงร้อยท่าด่าฤๅษี |
คนเช่นมึงก็ไพร่ใช่ผู้ดี | มาข่มขี่ในตระกูลประยูรวงศ์ |
เองถือตัวว่าเป็นขรัวข้างฝรั่ง | จะมาตั้งค่อนด่าพระยาหงส์ |
หรือเองเป็นน้ำเนื้อในเชื้อวงศ์ | อย่ามาหลงพูดจาบ้าน้ำลาย |
ถึงองค์ดาบสละเวงวัณฬาราช | ก็สิ้นชาติเชื้ออังกฤษอย่าคิดหมาย |
ไม่นับถือคนขี้ข้าบ้าน้ำลาย | ท่านมุ่งหมายแต่สวรรค์ชั้นวิมาน |
ศาสนาข้างเขาเจ้าเอาไม่ได้ | เขาฟังไปคำที่กล่าวก็ร้าวฉาน |
อย่าแคะแค่นแสนกลพวกคนพาล | ทั้งดื้อด้านอวดอิทธิ์ฤทธิไกร |
เองเป็นคนโลโภโมโหมาก | ดีฝีปากเขาไม่หลงอย่าสงสัย |
นิ่งเสียบ้างเถิดหวาระอาใจ | เอาเก็บไว้หลอกเด็กเจ๊กคนโซ |
อย่าอวดอ้างศาสนาข้างฝาหรั่ง | เขาไม่นั่งคอยหาเยวาโห |
พูดสำแดงแผลงฤทธิ์อิศโร | เองมันโซสิ้นกระบิดเห็นผิดเชิง |
ไหนองค์พระมังคลาสานุศิษย์ | ไปสถิตอยู่ไหนเล่าเป็นว่าวเหลิง |
ไม่มาช่วยครูคิดดูผิดเชิง | หรือแตกเปิงกันไปหมดเพราะคดโกง |
แต่กูฟังวาจาน่าเหียนราก | ก็เพราะปากหยาบคายอ้ายตายโหง |
แลวก็เองมันชำนาญข้างการโกง | มิด่าโผงตามสบายหลายประการ |
แต่องค์พระชนนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมกิจทางธรรมกรรมฐาน |
มึงยังด่าปี้ป่นไม่ทนทาน | เพราะสันดานเองมันชั่วตัวมลทิน ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแสนสาหัส | จะใคร่ตัดหัวให้ได้ดั่งใจถวิล |
แกร้องว่าฮ้าเฮ้ยพวกทมิฬ | กูรู้สิ้นดอกอย่ากล่าวให้ยาวความ |
เอ็งเร่งคิดการณรงค์ไว้ยงยุทธ์ | แม้นมือกุดตีนด้วนเองควรหยาม |
เองอย่าพักอาจองในสงคราม | กูจะตามตีกระทั่งจนลังกา |
พลางเร่งทัพขับพหลพลทหาร | เข้าหักด่านจุดไฟไวไวหวา |
ระดมปืนครื้นครั่นเป็นสัญญา | ให้โยธาพวกฝรั่งพังประตู ฯ |