- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยมณีนาถ | พร้อมพระญาติตรองตรึกว่างศึกเสือ |
สมประสงค์วงศ์วานในว่านเครือ | แต่ล้วนเชื้อสายกษัตริย์ขัตติยา |
สินสมุทรสุดสาครบวรนาถ | เชิญพระบาทบิตุรงค์เผ่าพงศา |
ให้เสด็จกลับหลังเข้าลังกา | ทั้งเสนานักพรตหมดทุกองค์ |
สั่งพหลพลทหารโห่เตรียมรถ | มาพร้อมหมดสมหวังดั่งประสงค์ |
พวกเกณฑ์แห่แออัดจัตุรงค์ | ทั้งทวนธงเขียวแดงแย่งมังกร |
อภิรุมชุมสายรายสลับ | แลระยับฉัตรเรียงเคียงสลอน |
เครื่องอาวุธเสโล่แลโตมร | ธนูศรดาบดั้งตั้งกระบวน |
เชิญเสด็จสามกษัตริย์ขึ้นรถา | เสวกาแห่แหนเข้าแดนสวน |
เจ็ดกษัตริย์พร้อมพรักแล้วชักชวน | ตามกระบวนพระมุนินทร์ปิ่นประชา ฯ |
๏ ชมวิหคนกไม้ในวิถี | จำปาจำปีขึ้นชิดต้นกฤษณา |
ทั้งกาหลงชงโคโยทะกา | มะลิลามะลิวัลย์พันประยงคุ์ |
อังกาบแก้วสายหยุดพุทธชาด | ระดาดาษดอกระย้ามหาหงส์ |
ยี่สุ่นแซมแกมปนต้นประยงคุ์ | ประดู่ดงดอกเหลืองเนื่องกันไป |
ฝูงกาลิงจับกิ่งอุโลกร้อง | นกยูงทองจับยอดยางไสว |
กาสักจับยืนพลอดบนยอดไทร | นกเขาไฟจับแฟบยืนแอบตัว |
สาลิกาจับนิ่งบนกิ่งแก้ว | เสียงเจื้อยแจ้วคลอเคลียทั้งเมียผัว |
เห็นคนมาบินว่อนเที่ยวซ่อนตัว | เพราะความกลัวหนีไปเสียไกลรัง |
นกขมิ้นจับแมงเม่าพลางเคล้าคู่ | ซังแชวอยู่พูดพลอดยอดมะสัง |
กาเรียนดงส่งเสียงสำเนียงดัง | บนยอตตรังแซ่ซ้องก้องกังวาน |
โพระดกจับไม้มะเดื่อปล้อง | กระทุ้งทองจับกระถินกินอาหาร |
ฝูงกระทาจับกระทิงไม่นิ่งนาน | ร้องประสานควักข้าวตากไปฝากตา ฯ |
๏ เจ็ดกษัตริย์ทอดทัศนานก | ฝูงวิหคหลายอย่างต่างภาษา |
จัตุบาทดาษดื่นพื้นสุธา | ฝูงเลียงผาเม่นหมีชะนีไพร |
ละมั่งระมาดผาดเผ่นเล่นบนโขด | เสือกระโดดจับฟัดจนตัดษัย |
ฝูงโคถึกมฤคาพากันไป | เที่ยวในไพรพงกว้างทางอรัญ |
ทั้งลิงค่างช้างเถื่อนวิ่งเกลื่อนกลุ้ม | แอบสุมทุมชายป่าพนาสัณฑ์ |
ทั้งฟานแฟนแล่นเรียงไปเคียงกัน | ชะมดฉมันกวางทรายกระต่ายดง |
ฝูงแรดร้ายควายเปลี่ยวเที่ยวเลี้ยวลัด | ในป่าชัฏพุ่มไม้ไพรระหง |
ทั้งฝูงฬากาสรในดอนดง | ตุ่นกระจงจามรีมีบนเนิน |
เจ็ดกษัตริย์ทัศนาในป่าไม้ | ยกพลไปตามลำเนาภูเขาเขิน |
ระยะย่างทางไปพอใจเพลิน | รีบดำเนินพลไปใกล้ลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาวาโหมที่อยู่ด่าน | เมืองป่าตาลพร้อมพรักคอยรักษา |
ครั้นรู้ข่าวเจ้านายเสด็จมา | ก็ปรีดาต้อนรับกองทัพพลัน |
เอาสิ่งของกองรายถวายเสร็จ | เชิญเสด็จทรงเดชเข้าเขตขัณฑ์ |
เจ็ดกษัตริย์สุริย์วงศ์เผ่าพงพันธุ์ | ทั้งนักธรรม์เสวกาพลากร |
พระอภัยมุนีฤๅษีสาม | เสด็จตามมรรคาหน้าสิงขร |
หยุดประทับรถาพลากร | เจ้านครนคราเมืองป่าตาล |
เจ็ดกษัตริย์ขึ้นประทับบนตึกใหญ่ | พลไพร่พวกพหลพลทหาร |
เข้ายับยั้งนั่งนอนผ่อนสำราญ | เสพอาหารถ้วนทั่วทุกตัวตน |
พระอภัยมุนีหลวงชีสอง | เสวยของโอชาผลาผล |
เจ็ดกษัตริย์ขัตติยาเจ้าสากล | ให้ตรวจพลล้อมรอบขอบกำแพง |
พวกวาโหมเกณฑ์ไพร่ให้รายรอบ | ตามเขตขอบไฟสว่างกระจ่างแสง |
แล้วเกณฑ์พวกสารวัตรคอยจัดแจง | ตามตำแหน่งนายหมวดให้ตรวจตรา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมุนินทร์ปิ่นฤๅษี | ประทับที่ป่าตาลริมชานผา |
บนเก๋งใหญ่ในประเทศเขตลังกา | ภาวนาทางธรรมสำมดึงส์ |
มัธยัสถ์ตัดห่วงบ่วงสงสาร | หมายนิพพานลุล่วงไม่หวงหึง |
หวังประโยชน์ทางธรรมสำมดึงส์ | กว่าจะถึงพระนิพพานเหมือนการตรอง |
ให้โอวาทแต่บรรดาที่มาด้วย | พระหวังช่วยเหล่าคนที่หม่นหมอง |
เทศนาสากลให้คนตรอง | โดยทำนองนักพรตให้อดใจ |
แล้วดำริติเตียนกองกิเลส | แม้นใครเจตนานักมักหลงใหล |
ไม่เป็นอันนั่งนอนมักร้อนใจ | จะพาให้ทุกข์ขังไม่ยั่งยืน |
ทุจริตจิตชั่วอ้ายตัวโลภ | หลงละโมบเรี่ยวแรงต้องแข็งขืน |
เกิดทิษฐิที่ในจิตดั่งพิษปืน | ต้องแข็งขืนมานะในอารมณ์ |
คืนฉันทากล้านักมักให้ชั่ว | ต้องหมองมัวหวานหายกลายเป็นขม |
ผู้ที่จะเข้ามาสมาคม | ไม่นิยมรักกันเพราะฉันทา ฯ |
๏ พระปิ่นเกศเทศนาคาถาจบ | พอค่ำพลบผายผันต่างหรรษา |
บางหลับนอนผ่อนสบายคลายอุรา | ที่เมื่อยมาค่อยเป็นสุขที่ทุกข์ทน |
ต่อรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | จึ่งจะยาตราทัพขับพหล |
ประเวศวังลังกาพลาพล | โดยตำบลรัถยาจากป่าตาล |
จันทร์กระจ่างกลางฟ้าเวหาห้อง | สกุณร้องไก่กระชันขันประสาน |
โกกิลาการ้องก้องกังวาน | พระพายพานพัดพาสุมาลัย |
ระรื่นรินกลิ่นกุหลาบอังกาบแก้ว | ทั้งนมแมวคัดเค้าขาวไสว |
มะลิวัลย์จันทน์อบตลบไป | สุมาลัยเกสรขจรจาย |
กำดัดดึกเย็นเยียบเงียบสงัด | สำเนียงสัตว์ร้องขานประสานถวาย |
จังหรีดร้องกิ่งไทรเรไรราย | ราวกับสายซอสีปี่ชวา |
เจ็ดกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงสดับ | สำเนียงจับโสตสิ้นถวิลหา |
ที่มีคู่อยู่ยังเมืองลังกา | ที่พาราอยู่ไกลพระทัยครวญ |
อยากจะใคร่ไปยลวิมลสมร | แสนอาวรณ์ดิ้นโดยเฝ้าโหยหวน |
ป่านนี้มิตรกนิษฐ์น้อยจะคอยครวญ | ใครจะชวนให้เจ้าชื่นเมื่อตื่นนอน |
แสนวิตกอกเอ๋ยมาช่วยศึก | อนาถนึกพากันทิ้งมิ่งสมร |
มากรากกรำจำร้างห่างที่นอน | แสนอาวรณ์เหมือนกันหมดต้องอดโซ |
เพราะบาทหลวงเจ้ากรรมมันทำวุ่น | จึงเคืองขุ่นพากันมาอนาโถ |
จะตัดรักหักอาลัยเห็นใหญ่โต | หัวอกโอ้แสนช้ำระกำทรวง |
เจ็ดกษัตริย์อัดอั้นเหมือนกันหมด | โศกกำสรดร้อนพระทัยเป็นใหญ่หลวง |
อนาถนอนกรประทับกับพระทรวง | ให้เหงาง่วงร้อนรักหนักอุรา |
โอ้พระจันทร์อันสว่างกลางเวหน | นำนิพนธ์ไปถึงมิตรกนิษฐา |
ช่วยแจ้งโศกโรครักหนักอุรา | ถึงสุดาดวงเดือนเพื่อนที่นอน ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โทมนัสหวนคะนึงถึงสมร |
แต่ขืนแข็งแสร้งตรัสเหมือนตัดรอน | ว่าดูก่อนลูกหลานการกังวล |
ประเวณีมีทั่วทุกตัวสัตว์ | แม้นจะตัดญาติเห็นไม่เป็นผล |
บังเกิดมีทุกข์ร้อนต้องผ่อนปรน | กว่าจะพ้นความเข็ญค่อยเย็นใจ |
ไปถึงวังลังกาถ้าเสร็จศึก | คงสมนึกมั่นคงอย่าสงสัย |
เหมือนคำอาว่าวอนอย่าอ่อนใจ | คงจะได้คืนหลังไปวังเวียง |
แต่เจ้าสุดสาครเขานอนหลับ | พอทัพกลับไปถึงถิ่นก็สิ้นเสียง |
ไม่ต้องวิ่งสับสนขนเสบียง | จะฟังเสียงเห็นไม่ได้คงไสยา |
หกกษัตริย์สรวลสันต์พอกันทุกข์ | ค่อยสนุกเอะอะเสียงจ๊ะจ๋า |
ฟังรับสั่งปิ่นเกล้าพระเจ้าอา | สนทนากันไปพอใจคลาย |
พอเดือนเที่ยงเสียงนกวิหคร้อง | ประสานซ้องจวนอุทัยจะใกล้ฉาย |
ไก่กระชั้นขันเกริ่นบนเนินทราย | ดาวประกายพฤกษ์เผ่นขึ้นเด่นตรง |
กระเหว่าดงส่งเสียงสำเนียงแจ้ว | วิเวกแว่วก้องในไพรระหง |
ดึกสงัดสัตว์ป่าคณาดง | ต่างก็ส่งเสียงร้องก้องกังวาน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายหมวดตรวจพหล | เอารถต้นมาประทับกับทหาร |
ที่นั่งทองรองเรืองจัดเครื่องอาน | พนักงานทุกตำแหน่งแต่งกระบวน |
พลโล่โตมรศรกำซาบ | ทั้งดั้งดาบตั้งรายอยู่ชายสวน |
จวนจะรุ่งสุริย์ฉายรายกระบวน | ทั้งธงทวนฉัตรชั้นกรรภิรมย์ |
เครื่องจามรทอนตะวันเป็นหลั่นลด | ทั้งกลิ้งกลดราเชนทร์เกณฑ์สนม |
พอแสงทองส่องสว่างน้ำค้างพรม | ตื่นประทมพร้อมพระวงศ์ต่างสรงชล |
เต้าสุหร่ายสายรินกลิ่นกุหลาบ | ละอองอาบโปรยปรอยตั้งฝอยฝน |
พนักงานคลานถวายสายสุคนธ์ | จรุงปนเครื่องอำพันจันทนา ฯ |
๏ ครั้นเสร็จสรงทรงเครื่องเรืองจรัส | เนาวรัตน์ฉลององค์ทรงภูษา |
ปางพระจอมมุนินทร์ปิ่นประชา | ทรงชฎากลีบกระหวัดจัดประจง |
ดาบสินีชีสองครองภูษิต | สำรวมกิจยุรย่างดังนางหงส์ |
พระดาบสเสด็จตามกันสามองค์ | พร้อมพระวงศ์สิบกษัตริย์รับจัดแจง |
สามพระองค์ทรงรถมีกลดกั้น | เป็นหลั่นหลั่นพอสว่างกระจ่างแสง |
พวกเสนาพร้อมถ้วนกระบวนแซง | ครบตำแหน่งตามข้างอย่างโบราณ |
พวกฤๅษีเสวกามาข้างหลัง | เดินสะพรั่งเสนาโยธาหาญ |
เจ็ดกษัตริย์ทรงม้าอาชาชาญ | แสนสำราญรีบเดินดำเนินพล |
เดินกระบวนทวนธงตรงเข้าป่า | ชมรุกขาเขาไม้ไพรระหง |
กระทุ่มกระถินอินจันทน์ต้นคันทรง | ประดู่ดงกร่างไกรไทรพุ่มเรียง |
มะตูมแต้วแก้วเกดพิกุลค้อม | พะยุงพะยอมขวิดขวาดมะหาดเหียง |
โศกมะสังยางสะคร้อสมอเรียง | ตะเคียนเคียงซึกสนต้นพะวา |
ชมวิหกนกไม้ก็หลายอย่าง | มีต่างต่างหลายหลากมากนักหนา |
จะรำพันฝูงสัตว์ที่วัฒนา | ยุติกาแต่พอควรจะด่วนไป ฯ |
๏ ป่างพระจอมมุนินทร์ปิ่นฤๅษี | สุวรรณมาลีวัณฬาอัชฌาสัย |
ถือเอาเพศขันตีเป็นชีไพร | ฉันลูกไม้เผือกมันพรรณผลา |
ถือบำเพ็งเคร่งครัดหวังตัดเชื้อ | ไม่เอื้อเฟื้อสุริย์วงศ์เผ่าพงศา |
ดำเนินพลมากระทั่งถึงลังกา | พอเวลาบ่ายสีรวีวรรณ ฯ |
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลฉวี | สุลาลีวายวิโยคที่โศกศัลย์ |
พลางชวนพวกสาวสุรางค์นางกำนัล | มาพร้อมกันรีบออกไปนอกวัง |
รับเสด็จพระมุนินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ขึ้นปรางค์รัตน์โดยในพระทัยหวัง |
เจ็ดกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงวัง | มาคับคั่งวงศาพลากร |
ทั้งฤๅษีเสนาพวกข้าเฝ้า | ผู้เป็นเจ้าคับคั่งนั่งสลอน |
ให้เลี้ยงดูหมู่พหลพลนิกร | ราษฎรอิ่มเอมเกษมใจ ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาททูลแจ้งแถลงไข |
แต่พระองค์ทรงสิกขาด้วยอาลัย | ขอเชิญไทธิบดินทร์ปิ่นประชา |
พวกพระวงศ์พงศ์เผ่าเหล่าพระญาติ | ขอโอวาทจะได้จำคำสิกขา |
จำเริญเรียนเพียรไปในศรัทธา | ตามปัญญาจะได้ทราบที่บาปบุญ ฯ |
๏ ป่างพระจอมธิบดินทร์มุนินทร์นาถ | ให้อนุญาตขาดเหลือจะเกื้อหนุน |
ว่าผู้ใดใจศรัทธาจะการุญ | จะอุดหนุนสอนสั่งอย่างบาลี |
ตามวิสัยในจริตกิจดาบส | คงปรากฏวายทุกข์เป็นสุขี |
ตามกุศลผลผลาบารมี | ได้เป็นที่พึ่งพักประจักษ์ความ |
เจ็ดกษัตริย์มัสการแล้วกรานกราบ | ศิโรราบพระมุนินทร์ปิ่นสยาม |
แล้วพระองค์ทรงตรัสตัดเนื้อความ | ไม่ห้ามปรามหลานบุตรสุดแต่ใจ |
เมื่อศรัทธากล้าหาญทิ้งบ้านช่อง | ละพี่น้องภรรยาอัชฌาสัย |
จะตั้งเพียรพยายามก็ตามใจ | หรือจะไม่ศรัทธาก็อย่าทำ |
ไม่ข่มขืนอารมณ์เที่ยวข่มขี่ | ใครรักดีจะช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ไม่ศรัทธาอย่าพ้องเกิดกองกรรม | อย่าควรทำเอาแต่หน้าสมาทาน |
พระดำรัสตรัสความไปตามเหตุ | แล้วก็เทศนาซ้ำบนคำขาน |
แม้นผู้ใดจะประโยชน์โพธิญาณ | หมายนิพพานภาคหน้าให้ถาวร |
ต้องตัดบ่วงห่วงใยไปอยู่ป่า | เสพผลาอยู่ลำเนาเขาสิงขร |
กินเผือกมันพรรณผลาในป่าดอน | เอาสิงขรเป็นเคหาบูชาไฟ ฯ |
๏ พอจบธรรมคำสอนพระนักพรต | สิกขาบทจึ่งค่อยแจ้งแถลงไข |
เจ็ดพระองค์ทรงฟังตั้งพระทัย | แต่ยังไม่อยากบวชสวดสุบิน |
เพราะยังไม่ลุล่วงตัดห่วงได้ | เป็นจนใจแต่ยังคิดจิตถวิล |
จะบวชเรียนเขียนอ่านการแผ่นดิน | ยังไม่สิ้นศึกเสร็จสำเร็จความ |
เจ็ดกษัตริย์ทรงฟังรับสั่งสอน | ชุลีกรนอบนบคำรบสาม |
มิได้ทูลข้อใดในใจความ | จะบวชตามร้อนทรวงยังห่วงเมีย |
แต่บรรดาเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์ | ให้อั้นอัดทรวงจริงต่างนิ่งเสีย |
แม้นได้ช่องคิดจะลาไปหาเมีย | จะบวชเสียก็ต้องอดหมดทุกคน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนคราการะเวก | อดิเรกรุ่งฟ้าเวหาหน |
เสด็จออกพระโรงใหญ่ไพชยนต์ | ภูวดลสั่งมหาเสนานาย |
ให้จัดลำกำปั่นที่สันทัด | จงรีบรัดเร็วไปเหมือนใจหมาย |
เชิญเอาสารไปลังกาสักห้านาย | จงผันผายรีบไปดั่งใจจง |
บอกกษัตริย์หัสไชยว่าให้กลับ | ตามบังคับกูไปอย่าใหลหลง |
ให้ทูลลาบิตุราชมาตุรงค์ | ว่าสององค์สร้อยสุวรรณจันทร์สุดา |
ให้ปั่นป่วนครรภ์แก่เกือบจะคลอด | จะทิ้งทอดสองไว้อย่างไรหนา |
เองรีบไปบอกเล่าให้เขามา | ตามบัญชากูสั่งอย่างคดี |
ขุนเสนาคลาไคลรีบไปบอก | ให้เวรนอกจัดหากะลาสี |
ลงเรือใหญ่ใส่เสบียงเลี้ยงโยธี | ขุนเสนีรับสารใส่พานทอง |
เชิญลงลำกำปั่นมิทันช้า | เสวกาเข้าประมูลทูลฉลอง |
ถวายบังคมลาฝ่าละออง | แล้วรับของเสื้อผ้าทูลลาไป |
ลงกำปั่นฤกษ์ดีให้ตีฆ้อง | ออกแล่นล่องตามมหาชลาไหล |
กะลาสีคลี่สายระบายใบ | ออกแล่นไปเข็มตั้งฝั่งลังกา |
สองเดือนครึ่งถึงอ่าวเมืองสิงหล | ประชาชนไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ลงเรือช่วงล่วงเข้าในลังกา | แวะเข้าหาขุนด่านชานนคร |
แจ้งคดีสาราเมืองการะเวก | เสนาเอกเชิญพานสารอักษร |
พวกขุนด่านพาไปในนคร | แจ้งอักษรกรมท่าศาลากลาง |
ขุนนางรับผู้ถือหนังสือสาร | กับขุนด่านรีบรัดไม่ขัดขวาง |
เอาสารใส่เสลี่ยงงามาตามทาง | พระกลดกางกั้นไปจนในวัง |
ถึงพระโรงรจนามุกดาหาร | ก็เชิญพานคลานเข้าไปดั่งใจหวัง |
ปางพระศรีสุวรรณวงศ์ดำรงวัง | เสด็จออกนั่งแท่นแก้วอันแพรวพราย |
พร้อมพระวงศ์พงศาเสนาสนอง | ทูลละอองธุลีบาทเหมือนมาดหมาย |
พระทรงศิลผินพักตร์มาทักทาย | เสนานายผู้ถือหนังสือมา |
แต่นครนคราการะเวก | อำมาตย์เอกทูลถวายลายเลขา |
พระตรัสสั่งพระศรีผู้ปรีชา | คลี่สาราอ่านถวายเป็นใจความ ฯ |
๏ ศุภลักษณ์อักขราเมืองการะเวก | เสวยเศวกฉัตรชัยในสนาม |
ถึงพระปิ่นลังกาสง่างาม | เพราะมีความวิตกในอกใจ |
ด้วยพระสุณิสาสองสมร | ตั้งอุทรเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
ครรภ์ก็แก่สองบังอรร้อนพระทัย | ขอหัสไชยสามีให้ลีลา |
ด้วยสององค์บังอรอาวรณ์หวัง | ให้กลับหลังไปพิทักษ์อยู่รักษา |
พระลูกน้อยสร้อยสุวรรณจันทร์สุดา | ด้วยครรภาเกือบจะคลอดยอดบังอร ฯ |
๏ พอจบสารเจ้าพาราการะเวก | เสนาเอกกราบบพิตรอดิศร |
หัสไชยได้ฟังสองบังอร | อุราร้อนราวกับไฟประลัยลาญ |
พระพักตร์เศร้าเหงาหงิมไม่ยิ้มแย้ม | เหมือนเดือนแจ่มเมฆตั้งบังประหาร |
ก็อับแสงไม่จำรัสชัชวาล | เหมือนบัวบานต้องอาทิตย์ก็อิดโรย |
จึ่งกราบทูลพระเจ้าอาขอลากลับ | อันการทัพก็ค่อยสร่างสว่างโหย |
ด้วยพระน้องสองมิตรจะอิดโรย | เห็นจะโกยกองเศร้าทุกเช้าเย็น ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์ทรงสดับ | พระทัยวับเอะของเราเล่าก็เห็น |
เกือบจะคลอดลูกเต้าปะคราวเป็น | จะร้อนเย็นหรืออย่างไรความไกลตา |
จึงว่ากับหัสไชยไปสิหลาน | ข้อรำคาญอยู่ด้วยมิตรกนิษฐา |
ถึงตัวเจ้าก็วิตกเหมือนอกอา | นางรำภาเล่าก็ท้องจะต้องไป |
แม้นช้าอยู่ดูเหมือนเราทิ้งขว้าง | จะอ้างว้างวิญญาณ์เลือดตาไหล |
วิสัยหญิงจริงนะหลานแม้นนานไป | จะเห็นใจเสียเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
จำจะไปทูลลาพระดาบส | คิดเปลื้องปลดไปพาราอากับหลาน |
เจ้าสี่คนเขาไม่ไปก็ใช่การ | เราอาหลานมาไปเฝ้าเล่าคดี |
พลางชวนพระหัสไชยเข้าไปเฝ้า | แล้วก้มเกล้าทูลความตามสารศรี |
เมืองการะเวกเวียงชัยให้มนตรี | นำคดีสร้อยสุวรรณจันทร์สุดา |
ว่าโฉมยงทรงครรภ์เกือบประสูติ | ให้พวกทูตมาแสดงแจ้งเลขา |
ทูลพระจอมนครินทร์ปิ่นประชา | ขอทูลลาองค์กษัตริย์หัสไชย ฯ |
๏ ป่างพระจอมธิบดินทร์มุนินทร์นาถ | ตรัสประภาษชี้แจงแถลงไข |
ธุระเจ้าเล่าก็ร้อนอย่านอนใจ | จงรีบไปพาราอย่าช้าที |
แล้วพระองค์อวยสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | ให้ผ่องพ้นจากทุกข์เป็นสุขี |
ทิ้งพยาธิโรคาอย่ายายี | จงเปรมปรีดิ์ครองอาณาประชาชน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมโมลีศรีสุวรรณ | ทูลรำพันเล่าแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ว่ารำภาเล่าก็ท้องหมองกมล | ไปอยู่คนเดียวเปล่าเศร้าวิญญาณ์ |
ขอลาไปรมจักรนัคเรศ | นางเทวษโดยดิ้นถวิลหา |
เมื่อคลอดแล้วเสร็จสรรพจะกลับมา | อยู่ลังกาบวชบ้างอย่างพระองค์ ฯ |
๏ ฝ่ายละเวงดาบสอดไม่ได้ | พระห่วงใยอยู่ที่ของต้องประสงค์ |
จะเสด็จกลับมาอยู่ป่าดง | อันไพรพงเงียบเหงาเศร้าอุรา |
เห็นจะตัดห่วงใยไม่ตลอด | จะทิ้งทอดเผ่าพงศ์พระวงศา |
เห็นไม่สมอย่าตรัสวัจนา | มิใช่ว่าบวชตัวเพราะกลัวนาย |
ไปถึงวังนั่งนอนก็เป็นสุข | มิใช่ทุกข์ร้อนรนต้องขวนขวาย |
ใช่ขุ่นข้องหมองหมางระคางคาย | ตามสบายสารพัดไม่ขัดเคือง |
ถึงศรัทธาจริงจังก็ยังขัด | ที่จะตัดญาติวงศ์มาทรงเหลือง |
เห็นเขาไม่ยินยอมพร้อมทั้งเมือง | พระจะเปลื้องปลดปละสละมา |
ไม่เห็นจริงดอกหนาพระอย่าตรัส | คงจะขัดกีดขวางทางสิกขา |
ถึงพระองค์ทรงสวัสดิ์จะศรัทธา | ก็เห็นว่าบ่วงน้อยจะคอยกัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์ทรงสดับ | บทบังคับถูกพระทัยดังใฝ่ฝัน |
แต่ความอายหลายอย่างนางรำพัน | มันให้ตันทรวงต้องนิ่งจริงของนาง |
แต่จำใจจำตอบพระดาบส | น้อมประณตทูลไปมิได้หมาง |
อันตัวน้องก็ศรัทธาหาหนทาง | ไม่กีดขวางที่ตรงเล่ห์ประเวณี |
อันเปรี้ยวหวานจืดเค็มก็เต็มอก | หมายจะยกกองทุกข์เอาสุขี |
ไม่ห่วงใยในสันดานการโลกีย์ | เชิญพระพี่ดูไปแม้นไม่มา |
บรรพชิตให้เหมือนคำน้องดำริ | จึ่งค่อยติโทษน้องให้นักหนา |
ฝ่ายองค์ดาบสินีชีวัณฬา | จึ่งตรัสว่าสาธุสะฉันจะคอย |
ศรีสุวรรณรันทดแล้วพจนารถ | แต่หวั่นหวาดอยู่ด้วยรักพระพักตร์จ๋อย |
แข็งพระทัยตอบสนองไม่ต้องคอย | ไปสักหน่อยก็จะมาเหมือนวาจัง ฯ |
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีว่าดีแท้ | ยังไม่แก่บรรพชาห่วงหน้าหลัง |
เป็นฤๅษีชีป่าก็น่าชัง | หยุดอยู่บ้างเลี้ยงอาณาประชาชน |
พระเชษฐาเล่าก็บวชผนวชแล้ว | เหมือนฉัตรแก้วคงจะได้ฝ่ายกุศล |
อยู่ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชน | ทั้งสิงหลรมจักรนัครา |
พอเป็นที่พึ่งพักสำนักญาติ | จะตัดขาดเช่นสมเด็จพระเชษฐา |
ฉันก็ไม่ห้ามปรามตามศรัทธา | แต่เห็นว่าห่วงใยหลายประการ ฯ |
๏ พระอภัยมุนินทร์ปิ่นฤๅษี | ฟังสองชีพูดจาต่างว่าขาน |
จึงเอื้อนอรรถตรัสไปว่าใช่การ | อันบุญทานน้องเราไม่เข้าใจ |
ตามประสงค์ตรงถนัดอย่าขัดขวาง | ใครกั้นกางเสียกิจผิดวิสัย |
อย่าไปพูดให้เขาตื่นข่มขืนใจ | ผิดวิสัยนักสิทธ์อย่าคิดปอง ฯ |
๏ ศรีสุวรรณนั่งยิ้มอิ่มในจิต | พระนักสิทธ์ตรัสบรรเทาที่เศร้าหมอง |
เห็นจะได้สมนึกเหมือนตรึกตรอง | หลวงชีสองพูดจาไม่น่าฟัง |
จะชักชวนให้ไปอดเหมือนมดง่าม | วิ่งซุ่มซ่ามสำทับจะจับขัง |
จะบวชเรียนเพียรไปไม่จีรัง | มิใช่ยังเช่นพระพี่เมียมิยอม |
แต่จำใจจำจนเหมือนคนโง่ | ทนโทโสคราวจนเช่นคนผอม |
นึกในจิตเหมือนแต่ก่อนไม่หย่อนยอม | จะอดออมแนมเหน็บให้เจ็บใจ |
นี่เธอเป็นฤๅษีจะมีโทษ | จะถือโกรธใช่กิจผิดวิสัย |
ครั้นจะตอบไปให้มากกระดากใจ | เอาแต่ได้การเราพอเบาทรวง |
แล้วทูลลาพาหัสไชยหลาน | ต่างก็คลานจากที่พักตำหนักหลวง |
มาสั่งพวกไพร่พลคนทั้งปวง | ตามกระทรวงที่จะกลับกองทัพไป |
พวกเสนาข้าเฝ้าเหล่าพหล | ให้จัดพลเรียกกันเสียงหวั่นไหว |
พวกรมจักรนัคราจะคลาไคล | บ้างผูกใบเปลี่ยนเพลาเสากระโดง ฯ |
๏ ฝ่ายเภตราการะเวกอำมาตย์ | ไปเฝ้ากราดเรือบัลลังก์ที่นั่งโถง |
ผูกเชือกเสาเพลาใบชักสายโยง | เสากระโดงเภตราทาน้ำมัน |
ครั้นสำเร็จเสร็จสรรพประทับท่า | พร้อมล้าต้าต้นหนคนขยัน |
มาเตรียมคอยลอยสะพรั่งทั้งดั้งดัน | พร้อมกำปั่นสองพาราจะคลาไคล ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสอำลาอัชฌาสัย |
ทั้งลูกหลานว่านเครือเมื่อจะไป | พระหัสไชยทูลลาสุดสาคร |
กับสินสมุทรภุชพงศ์องค์เชษฐา | ทั้งกัลยาเสาวคนธ์วิมลสมร |
ศิโรราบกราบก้มประนมกร | ต่างอวยพรให้พิพัฒน์สวัสดี |
สินสมุทรสุดคะนองจึ่งร้องว่า | อันพี่ยาตรึกตรองเห็นต้องที่ |
เพราะลูกเมียก็ไม่ท้องถึงสองปี | ต้องอยู่นี่แท้แล้วไม่แคล้วเลย |
ไหนจะได้ไปผลึกเหมือนนึกหมาย | คิดก็อายอนุชาเจ้าข้าเอ๋ย |
เมียจะแสนแค้นใจไม่เสบย | อรุณเอ๋ยม่ายแท้เจ้าแม่คุณ |
ต่างสำรวลสรวลสันต์ด้วยกันหมด | ฟังประชดเปรียบเหมือนถูกลูกกระสุน |
ศรีสุวรรณตรัสห้ามอย่าตามทุน | มันจะวุ่นไปดอกหลานรำคาญใจ |
พระตรัสว่าอาเล่าก็พลอยด้วย | การเจ็บป่วยมันก็เช่นเป็นนิสัย |
เปรียบเหมือนหนึ่งพ่อค้าหากำไร | ผู้ดีไพร่มีอยู่ทุกผู้คน |
ครั้นจะอยู่ตัวเปล่ามันเหงาหงอย | มันจึงคอยวุ่นวายต้องขวายขวน |
ประเวณีมีทั่วทุกตัวคน | ก็ต้องจนใจจริงหญิงกับชาย ฯ |
๏ พระตรัสพลางทางว่าขอลาหลาน | อยู่สำราญเปรื่องปราดเหมือนมาดหมาย |
พระสั่งเสร็จยุรยาตรค่อยนาดกราย | ลาผันผายรีบตรงมาลงเรือ |
ห้ากษัตริย์ตามลงส่งเสด็จ | พอสรรพเสร็จใช้ใบไปฝ่ายเหนือ |
หัสไชยสมประสงค์เสร็จลงเรือ | พร้อมทั้งเชื้อญาติวงศ์พงศ์ประยูร |
มาตามส่งจนลงเรือที่นั่ง | แล้วกลับยังวังเวียงชัยมไหสูรย์ |
พวกกษัตริย์สุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | ต่างเพิ่มพูนอยู่ด้วยมิตรคิดจะไป |
แม้นได้ช่องจะทูลลาไปหาคู่ | จะมาอยู่ใช่กิจผิดวิสัย |
ครั้นจะบวชก็ยังหนุ่มนึกกลุ้มใจ | จำจะไปพาราหายุพิน |
พระวลายุดาวายุพัฒน์ | กับพระหัสกันจิตคิดถวิล |
ปรึกษากันจะทูลลาไปธานินทร์ | พอพระสินสมุทรมาจึ่งว่าพลัน |
พ่อจะพากันไปดั่งใจหวัง | ฉันก็ตั้งจิตไว้จะผายผัน |
เรามาไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | บังคมคัลทูลลาฝ่าละออง |
ไปเยี่ยมเยียนเวียงชัยไอศวรรย์ | พร้อมด้วยกันได้ประมูลทูลฉลอง |
พระก็ชวนกันไปดั่งใจปอง | เฝ้าที่ท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล |
พลางบังคมก้มเศียรลงกราบบาท | พระจอมนาถนักสิทธ์คิดสงสาร |
ทรงปราศรัยทั่วองค์พวกวงศ์วาน | ทั้งลูกหลานที่มาเฝ้าเข้าพระทัย |
เห็นจะมาลาไปยังถิ่นฐาน | จึ่งโองการชี้แจงแถลงไข |
จงร่วมรสรักกันจนบรรลัย | มิใช่ใครแต่ล้วนวงศ์พงศ์ประยูร |
พระสั่งสอนสุริย์วงศ์พงศ์กษัตริย์ | ดำรงรัตน์ราชัยสืบไอศูรย์ |
เมตตาติดตัวไว้ให้เป็นมูล | จงเพิ่มพูนรักกันอย่าฉันทา |
สินสมุทรได้ช่องฉลองอรรถ | พวกกษัตริย์สุริย์วงศ์เผ่าพงศา |
มาช่วยการศึกใหญ่ในลังกา | ขอทูลลากลับไปดั่งใจปอง ฯ |
๏ ป่างพระจอมธิบดินทร์มุนินทร์นาถ | โปรดประภาษพรประสิทธิ์สนิทสนอง |
นึกสิ่งใดขอให้สมอารมณ์ปอง | อย่ารู้ข้องเคืองขัดกำจัดภัย |
สี่กษัตริย์รับรสพจนารถ | แล้วกราบบาทกลับมาที่อาศัย |
มาสั่งพวกเสนาจะคลาไคล | จงเร่งไปจัดกำปั่นให้ทันการ |
พวกพหลพลรบให้ครบถ้วน | ตามกระบวนแต่บรรดาโยธาหาญ |
ครั้นจัดแจงแต่งเสร็จสำเร็จการ | ไปทูลสารโดยคดีทั้งสี่องค์ ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์ขัตติยานราราช | จากปราสาทที่นั่งบัลลังก์หงส์ |
ให้กางใบครบถ้วนปักทวนธง | ตั้งเข็มตรงตามแผนต่างแล่นไป |
สี่กษัตริย์กับบรรดาโยธาหาญ | ออกจากด่านแล่นหลามตามไสว |
พวกต้นหนดูเข็มแล่นเล็มไป | เมืองของใครใครก็เข้าอ่าวบุรินทร์ |
เป็นสิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมในจิต | ด้วยสมคิดชื่นชมสมถวิล |
ที่หนักอกยกวางเสียกลางดิน | เป็นเสร็จสิ้นความเศร้าบรรเทาคลาย |
เข้าเวียงวังตั้งหน้าไปหามิตร | ประคองชิดใช้เนื้อให้เหลือหลาย |
วันจากห้องต้องร้างไปห่างกาย | ต้องคิดรายวันประชดหมดทุกองค์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ครั้นส่งญาติเสร็จสมอารมณ์ประสงค์ |
แล้วเสด็จเข้าวังดั่งจำนง | ขึ้นเฝ้าองค์พระมุนินทร์ปิ่นประชา |
ปรนนิบัติจัดแจงของเสวย | ทั้งนมเนยใส่เครื่องต้นผลพฤกษา |
ถวายสามพระมุนินทร์ปิ่นประชา | ทุกเวลามิได้คลาดบาทยุคล ฯ |
๏ ฝ่ายนักสิทธ์องค์อภัยวิไลลักษณ์ | เข้าหยุดพักยับยั้งวังสิงหล |
ครั้นเสร็จศึกสั่งเสนาพลาพล | จะจรดลไปสิงคุตรอยู่กุฎี |
เสนารีบอภิวาทมาบาดหมาย | ทั่วทุกนายกัณฐัศว์ทั้งหัตถี |
รถที่นั่งทั้งรถดาบสินี | มาเตรียมที่ชานชลาหน้าพระลาน |
พอรุ่งเช้าพระมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำเร็จกิจฉันผลาทั้งอาหาร |
เสด็จออกเกยชลาหน้าพระลาน | กับเยาวมาลย์นักพรตดาบสินี |
เสร็จขึ้นทรงรถาฝากระจก | แล้วให้ยกพลไกรเข้าไพรศรี |
พระดาบสทรงรถแก้วมณี | สารถีขับม้าให้คลาไคล |
เข้าดงดอนสิงขรเขาลำเนาป่า | ร่มรุกขายางยูงสูงไสว |
พวกนักสิทธ์เสวกาก็คลาไคล | ตามภูวไนยไปสิงคุตรอยู่กุฎี ฯ |