- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
๏ ฝ่ายคนใช้ขึ้นไปแจ้งแถลงเล่า | ตามเรื่องราวที่ได้ไปสืบไต่ถาม |
บาทหลวงได้รู้แจ้งแสดงความ | ก็สมตามคิดไว้เห็นได้การ |
แล้วอ้ายแขกพ่อตามันมาด้วย | จะได้ช่วยการศึกให้ฮึกหาญ |
แล้วสั่งให้ต้นหนพวกคนงาน | ให้ตั้งกว้านถอนสมอขันช่อใบ |
ออกกำปั่นแต่บรรดาโยธาทัพ | ออกคั่งคับตามกันเสียงหวั่นไหว |
พอลมคล่องต้องสายระบายใบ | ก็แล่นไปจากเกาะจำเพาะทาง |
ข้างสมุทรรุดผ่านชลาสินธุ์ | ลมก็กินใบจัดไม่ขัดขวาง |
พอวันครึ่งถึงเขตประเทศทาง | ถนนขวางชายฝั่งเกาะลังกา |
เห็นกำปั่นจอดรายชายสมุทร | แกให้หยุดชักธงส่งภาษา |
ว่ามาดีด้วยกันอย่าฉันทา | เรือชวาชักรับคำนับกัน ฯ |
๏ บาทหลวงยิ้มอิ่มเอมเปรมในจิต | ว่ากูคิดครั้งนี้ดีขยัน |
จะได้ช่วยรุกรบสมทบกัน | เอาให้มันลือกูผู้อาจารย์ |
ขอเดชะพระเยซูมาชูช่วย | ให้รื่นรวยในสมบัติพัสถาน |
พอเรือใกล้ถึงกันมิทันนาน | พวกทหารเทวสินธุ์นรินทร |
จึ่งร้องว่าเรือใครที่ไหนเล่า | อย่าเคียงเข้าชายตลิ่งริมสิงขร |
จงหยุดยั้งฟังเราว่าอย่าอาวรณ์ | คิดผันผ่อนหลีกไปให้ไกลกัน |
บาทหลวงฟังร้องว่าใช่ข้าศึก | จงตรองตรึกบอกนายให้ผายผัน |
อันเรือกูผู้เป็นพระมาปะกัน | อย่าดุดันดอกไม่ใช่พวกไพรี |
คือองค์พระสังฆราชผู้ปราดเปรื่อง | ได้แจ้งเรื่องมรรคาเกาะกาหวี |
ตั้งแต่กูจากมาสิบห้าปี | ก็ยินดีจะได้พบประสบกัน ฯ |
๏ พวกชวามลายูครั้นรู้จัก | มาถามทักเชิญให้แกผายผัน |
บ้างเข้าไปทูลองค์พระทรงธรรม์ | ว่าตัวท่านบาทหลวงแกล่วงมา |
ให้กราบทูลมุลิกาฝ่าพระบาท | พระหน่อนาถทรงยศโอรสา |
สามพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา | กับท้าวชวาอิ่มเอมเกษมทรวง |
เสด็จออกจากแท่นระบายท้ายบาหลี | ด้วยยินดีจะได้ปะพระบาทหลวง |
จึงตรัสกับพวกพหลคนทั้งปวง | เอาเรือช่วงไปรับมาเภตราเรา |
พวกเรือใช้ไปรับสังฆราช | พอภาณุมาศเย็นพลับลงลับเขา |
บาทหลวงสั่งแต่บรรดาโยธาเรา | ให้อยู่เฝ้าคอยประจำทุกลำเรือ |
กูจะไปกับเขาหาท้าวแขก | เอาเรือแยกถอยไปไว้ข้างฝ่ายเหนือ |
แกสั่งเสร็จรีบตรงไปลงเรือ | แล่นไปเหนือน้ำพลันด้วยทันที |
ถึงประทับเข้าที่ลำกำปั่นใหญ่ | ฝ่ายท้าวไทรายาชวาฉวี |
กับสามองค์พงศ์กษัตริย์สวัสดี | ก็เปรมปรีดิ์มาคำนับรับขึ้นไป |
เชิญให้นั่งยังที่เก้าอี้อาสน์ | สังฆราชโอภาพลางปราศรัย |
อ้ายเหล่านี้รูปร่างช่างกระไร | ทั้งโตใหญ่รุ่นแรกจนแปลกตา |
ช่างเหมือนพ่อหนออ้ายหนูกูดูคล้าย | ประพิมพ์ประพายรูปจริตไม่ผิดหวา |
ทั้งเนื้อตัวหัวหูดูนัยน์ตา | เหมือนมังคลาจิ้มลิ้มดั่งพิมพ์เดียว |
แล้วไต่ถามท้าวรายาชวาแขก | เมื่อเริ่มแรกมากี่ลำจากน้ำเขียว |
ค่อยมีสุขทุกสิ่งจริงจริงเจียว | หรือเปล่าเปลี่ยววิญญาณ์เอกากาย |
ท้าวชวาว่าเมื่อมาจากถิ่นฐาน | ก็สำราญโดยนิยมพอสมหมาย |
ทั้งทุกข์โศกโรคภัยไม่ใกล้กราย | มาสบายมีลาภกำราบไทย |
ปะปีศาจท้าวละมานนั้นหาญฮึก | ทำพิลึกโกลาสุธาไหว |
แต่งเครื่องเซ่นตามระบอบที่ชอบใจ | มันบอกให้จินดาค่าบุรินทร์ |
ให้พวกเราไปเจาะจำเพาะหลุด | เกาะก็ทรุดไหวขย้อนทุกก้อนหิน |
ถึงมืดมัวทั่วจังหวัดปัถพิน | ก็เห็นสิ้นใสสว่างดั่งกลางวัน |
คุ้มศัตรูหมู่สัตว์ไม่ทำร้าย | แสนสบายปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
แล้วจึ่งหยิบจินดาออกมาพลัน | ส่งให้ท่านสังฆราชฉลาดดู ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเจ้าเล่ห์อยากจะได้ | จึ่งปราศรัยวิงวอนให้อ่อนหู |
เองเอาไว้ไม่ดีมีศัตรู | เอาให้กูเก็บไว้จึงได้การ |
อยู่กับเองไม่ดีจะมีโทษ | เสียประโยชน์มากมายหลายสถาน |
แต่ของเกิดในสิงหลไม่ทนทาน | ยังเกิดการให้วิบัติกำจัดไกล |
ตกไปอยู่พาราการะเวก | เป็นของเอกแดงก่ำทั้งน้ำใส |
ยังมีผู้รู้หลักลักเอาไป | จนต้องให้พ่อมึงคิดไปติดตาม |
จนเกิดรบเกิดพุ่งกันยุ่งยิ่ง | เพราะของสิ่งนี้มันยากเป็นขวากหนาม |
จงให้กูเก็บไว้เถิดไม่เกิดความ | จึ่งต้องตามเยี่ยงอย่างทางบุราณ ฯ |
๏ ฝ่ายเทวสินธุ์ยินคำที่ร่ำกล่าว | ปรึกษาท้าวรายาเหมือนว่าขาน |
บาทหลวงพูดเพทุบายหลายประการ | จะคิดอ่านเอามาครองเป็นของตัว |
แล้วจึ่งว่าฮ้าเฮ้ยออท้าวแขก | เป็นของแปลกมึงจะใส่ไว้ในหัว |
แม้นมีทรัพย์รับรองก็หมองมัว | จะดีชั่วยังไม่แจ้งแห่งตระกูล |
จำจะต้องลองดูเมื่อสู้ศึก | แม้นสมนึกก็จะได้ทั้งไอศูรย์ |
จึงเสแสรังแกล้งกล่าวเป็นเค้ามูล | ให้เพิ่มพูนทางอุบายให้ตายใจ |
แล้วจึ่งว่าฮ้าเฮ้ยเทวสินธุ์ | หน่อนรินทร์มังคลาอัชฌาสัย |
เองจงแต่งหนังสือให้ถือไป | บอกกับอ้ายมังคลาอย่าช้าที |
ว่าตัวกูผู้เป็นพระสังฆราช | ให้วิวาทรบพุ่งชาวกรุงศรี |
ก็กลับมาถึงพลันด้วยทันที | พร้อมกันที่ฝั่งชลามาประชุม |
จะคิดอ่านการรบสมทบทัพ | มาตั้งรับตามทำนองคิดซ่องสุม |
ดึกสงัดจะเข้าไปในชุมนุม | ได้ประชุมคิดอ่านการสงคราม |
สามกษัตริย์ให้เสมียนเขียนอักษร | คำสุนทรเข้าประมูลให้ทูลถาม |
ครั้นเสร็จสรรพส่งให้ไปเป็นใจความ | สั่งให้ล่ามรีบไปดั่งใจปอง |
ครั้นถึงองค์มังคลานราราช | บังคมบาทแล้วประมูลทูลฉลอง |
ถวายสารโดยกิจดั่งจิตปอง | พระรับรองทรงอ่านสารแสดง ฯ |
๏ หนังสือพระเทวสินธุ์นรินทร์ราช | บังคมบาทขอประมูลทูลแถลง |
ให้ทราบซึ่งข้อคดีที่ชี้แจง | ดั่งแสดงโดยฉบับมากราบทูล |
ว่าสังฆราชแม่ทัพกลับมาแล้ว | จงผ่องแผ้วตรึกไตรเอาไอศูรย์ |
จะพากันขึ้นไปเฝ้าแจ้งเค้ามูล | เหมือนอย่างทูลจะโปรดปรานสถานใด ฯ |
๏ พอจบสารพระจึ่งว่ากับข้าเฝ้า | ท่านจงเอาราชสารไปขานไข |
แก่บุตราอาจารย์อันชาญชัย | เราจะไปเภตราปรึกษาการ |
ดึกสงัดจัดเรือเข้ามารับ | แล้วจะกลับคืนมาเหมือนว่าขาน |
เสนารับกลับไปมิได้นาน | เข้าแจ้งการกับท่านครูให้รู้ความ |
บาทหลวงว่ากูวิตกจำปกปิด | จะได้คิดรบรับทัพสยาม |
แกสั่งให้ไปคอยแต่สองยาม | จงปราบปรามข้าไทยอย่าให้อึง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | คะเนคาดเภตราคงมาถึง |
จึ่งจัดแจงแต่งองค์ทรงรำพึง | ไม่อื้ออึงออกจากค่ายชายทะเล |
จึ่งเชิญท้าวโกสัยให้ไปด้วย | จะได้ช่วยผ่อนผันคิดหันเห |
ทั้งสององค์ลงไปชายทะเล | พอเห็นเภตราทอดมาจอดคอย |
พระเยื้องย่างพลางเสด็จลงเรือช่วง | ให้รีบล่วงเร็วไวคนใช้สอย |
ตีกรรเชียงลงให้หนักครูจักคอย | ก็ล่องลอยถึงกำปั่นมิทันนาน |
บาทหลวงเดินมารับจับพระหัตถ์ | หน่อกษัตริย์คำนับรับประสาน |
มาพร้อมพรั่งทั้งสามพระกุมาร | ท่านอาจารย์สองท้าวเจ้าพ่อตา |
ต่างคำนับนอบน้อมหร้อมสะพรั่ง | ยกโต๊ะตั้งเลี้ยงกันต่างหรรษา |
ครั้นสรรพเสร็จเจ็ดคนสนทนา | ต่างปรึกษาที่ในการจะราญรอน ฯ |
๏ บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยทั้งสองท้าว | เองก็เจ้าจักรพาลชาญสมร |
จะมาช่วยเขยขวัญคิดราญรอน | ตีนครลังกาพาราคืน |
เองคิดเห็นเปนไฉนอย่างไรมั่ง | จะขอฟังลิ้นลมไม่ข่มขืน |
ดูปัญญาว่าให้ฟังใครยั่งยืน | เอาเป็นพื้นแบบฉบับตำหรับครู |
แน่ออเจ้าท้าวรายาเป็นผู้ใหญ่ | จงตรองไปให้มันสิ้นเหมือนดินหู |
กลศึกมากมายหลายประตู | เองก็รู้สารพัดได้หัดมา |
จะเห็นช่องเห็นคูประตูไหน | จงว่าไปเองอย่านิ่งจริงจริงหวา |
จะคิดเห็นเป็นอย่างไรใจของตา | ตามปัญญาตื้นลึกช่วยตรึกตรอง |
ท้าวรายาว่าเจ้าคุณสิเป็นใหญ่ | ตามแต่ใช้ฉันเหมือนศิษย์สนิทสนอง |
ไม่ขัดเคืองคุณบังคับจะรับรอง | ตามทำนองมิได้ขัดอัธยา |
บาทหลวงฟังสังรเสริญเจริญยศ | จะปรากฏทั่วไปในทิศา |
มิเสียทีที่เองเป็นพ่อตา | ทั้งพูดจาพอฟังเหมือนอย่างใจ |
แกจดหมายถ้อยคำเป็นความชอบ | ตามระบอบที่แสดงแถลงไข |
ได้เห็นกันยามนี้กูดีใจ | ออโกสัยนี้หนอก็พ่อตา |
อันการศึกครั้งนี้ก็ที่สุด | จะช่วยบุตรเขยได้อย่างไรหวา |
เองจะคิดผ่อนผันด้วยปัญญา | จะตรึกตราเป็นไฉนจึ่งได้การ ฯ |
๏ ท้าวโกสัยสุริย์วงศ์ดำรงยศ | น้อมประณตสังฆราชด้วยอาจหาญ |
ว่าข้าแต่บาทบงสุ์องค์อาจารย์ | จะให้สารไปให้ทั่วทุกตัวคน |
แต่บรรดาที่สมัครเพื่อนรักใคร่ | จะบอกให้มาประจบรบสิงหล |
อีกหัวเมืองน้อยใหญ่และไพร่พล | ช่วยประจญรบรับกองทัพไทย ฯ |
๏ บาทหลวงยิ้มอิ่มเอมเกษมสันต์ | เออเช่นนั้นดีเหลือนับเนื้อไข |
มิเสียทีดีแล้วหวาว่าไปไย | กูชอบใจที่มึงว่าก็น่าฟัง |
เขาย่อมว่าเห็นกันเมื่อยามยาก | จะฝังฝากรักใคร่กันภายหลัง |
สำเร็จศึกได้ลังกาเหมือนวาจัง | กูจะตั้งศาสนาให้ถาวร |
แล้วว่ากับมังคลาสานุศิษย์ | ช่วยกันคิดตั้งค่ายชายสิงขร |
ข้างแถบเขาเจ้าประจันที่นั้นดอน | แล้วสิงขรล้อมรอบเป็นขอบคัน |
เมื่อครั้งโน้นแตกเขาเพราะเป่าปี่ | จึงเสียทัพแตกยับทั้งทัพขัน |
เพราะผู้คนหลับใหลไปด้วยกัน | ไม่เป็นอันรบพุ่งจนรุ่งราง |
แต่ครั้งนี้ที่นั้นกูมั่นหมาย | เห็นสบายสารพัดไม่ขัดขวาง |
แล้วข้าวปลาสาลีในที่ทาง | ก็กว้างขวางก่อนเก่าราวกับทำ |
แม้นจะออกไปข้างขวาถึงหน้าเกาะ | ทางจำเพาะตรงไปเมืองไหหลำ |
ที่ท่าทอดจอดกำปั่นกว่าพันลำ | เราคิดทำเอาให้ได้ตั้งค่ายคู |
ไว้รับรองป้องกันที่ปากช่อง | ไม่พักต้องซื้อหาทั้งปลาหมู |
หอหากินได้สบายหลายประตู | แต่เช้าตรู่รีบเข้าไปเห็นได้การ |
คิดรวมรอมพร้อมเสร็จพอเจ็ดทุ่ม | ให้ประชุมไพร่นายฝ่ายทหาร |
จะรีบยกขึ้นไปให้ได้การ | ชิงเอาด่านท้ายเขาเจ้าประจัน |
หอสามยามรีบตามให้ถึงฝั่ง | ไปพร้อมทั้งพวกพหลพลขันธ์ |
ทุกหมู่หมวดตรวจไพร่ไปให้ทัน | ตามกูบัญชาสั่งอย่างคดี |
แม้นกองไหนไม่ทันอย่างบังคับ | ผู้ตรวจจับขังไว้อย่าให้หนี |
เอาตัวส่งไปพลันด้วยทันที | แทงบาญชีบอกขาดราชการ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวอิศโรเมืองโกสัย | จึงจัดให้พวกพหลพลทหาร |
เอาเรือไปห้าลำประจำการ | แล้วเขียนสารส่งให้เร่งไปมา |
บอกให้ทั่วทุกทิศมิตรสหาย | เชิญผันผายการด่วนจวนนักหนา |
ให้เร่งรีบยกพลพหลมา | ที่ลังกาช่วยศึกอย่างตรึกตรอง |
พอเช้าตรู่รีบไปอย่าได้หยุด | จงเร่งรุดไปให้ทันผันผยอง |
เป็นการด่วนเร่งไปดั่งใจปอง | ขุนนางรองลงไปเห็นนายเรือ |
บาทหลวงจึ่งชวนกษัตริย์ว่าบัดนี้ | ฤกษ์ก็ดีลมส่งตรงไปเหนือ |
เร่งขันช่อชักใบที่ในเรือ | แล่นไปเหนือน้ำมาถึงท่าพลัน |
พร้อมพหลพลถ้วนกระบวนทัพ | ขึ้นไปยับยั้งอยู่ก่อนค่อยผ่อนผัน |
จะถอยทัพกลับไปเขาเจ้าประจัน | อย่าให้ทันรุ่งรางสว่างตา |
แกชวนพระมังคลานราราช | กับสามนาถหน่อไทไวไวหวา |
ทั่งสองท้าวเจ้าประเทศเขตชวา | ให้ไคลคลารีบเดินดำเนินพล ฯ |
๏ พระมังคลาพามิ่งมเหสี | แล้วจรลีขึ้นรถาพาพหล |
กับสามหน่อนฤเบศเกศสกล | ทรงม้าต้นตามกันเป็นหลั่นไป |
บาทหลวงขึ้นรถฝรั่งไปข้างหน้า | ท้าวรายาอิศโรท้าวโกสัย |
ทั้งสององค์ทรงรถาเร่งคลาไคล | อาชาไนยชักรถบทจร |
จันทร์กระจ่างกลางเวหาเวลาดึก | แลพิลึกแสงระยับจับสิงขร |
น้ำค้างพรมลมระบายกระจายจร | หอมเกสรเสาวคนธ์ริมหนทาง |
ดอกคัดเค้าสายหยุดพุทธชาติ | ระดาดาษราวกับไม้ในกระถาง |
พิกุลแก้วแถวทับทิมริมหนทาง | ต้นสล้างดอกผลหล่นกระจาย |
กรรณิการ์กาหลงประยงค์แย้ม | มะสังแซมโศกพะยอมหอมไม่หาย |
กระทุ่มกระถินกลิ่นเกสรขจรจาย | ประยงค์รายช่อระย้าบนหน้าเนิน |
กระต่ายกระเต็นเล่นโลดกระโดดโผน | บ้างวิ่งโจนตามลำเนาภูเขาเขิน |
เสือคะนองร้องร้ายริมชายเนิน | กระทิงเดินหากินในถิ่นไพร |
ดึกสงัดผีคะนองรองกระหึม | เสียงพึมพำริมทางหว่างไศล |
ทั้งโป่งป่ากู่ก้องคะนองใน | ร่ำพิไรครึมครางพลางตะโกน |
โขมดดงส่งเสียงสำเนียงแจ้ว | วิเวกแว่ววิ่งเต้นบ้างเผ่นโผน |
ที่เนื้อตัวหัวไหม้เป็นไฟโชน | บ้างห้อยโหนกิ่งยางร้องครางครวญ |
จังหรีดหริ่งกิ่งไทรเรไรร้อง | เสียงแซ่ซ้องเย็นใจฤทัยหวน |
ระหริ่งแรแม่ม่ายลองไนครวญ | เวลาจวนแสงทองส่องเมฆา |
กระเรียนร้องก้องดงพลางส่งเสียง | มยูรเรียงขันก้องห้องเวหา |
เสียงดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริยา | สกุณาร้องเรียกกันเพรียกรัง |
ไก่กระชั้นขันเอกวิเวกแว่ว | ดังปี่แก้วดนตรีดีดสีสังข์ |
เสียงหึ่งหึ่งผึ้งรวงเฝ้าหวงรัง | เสนาะดังบินเคล้าเสาวคนธ์ |
ประจุสมัยเกือบจะใกล้อรุณรุ่ง | น้ำค้างฟุ้งเปียกชุ่มทุกขุมขน |
ถึงชะวากปากไพรทั้งไพร่พล | พักพหลที่ในเขาลำเนาเนิน |
พระจันทร์อับลับดวงล่วงลีลาศ | ภาณุมาศส่องฟ้าเวหาเหิน |
ไขแสงทองส่องสว่างกระจ่างเนิน | วิหคเหินบินออกมานอกรัง |
บ้างโผผินบินถลาไปหาเหยื่อ | ทั้งนกเนื้อจากถิ่นถวิลหวัง |
พักพหลพลนิกรอ่อนกำลัง | ให้นอนนั่งกินอยู่ทุกผู้คน |
แล้วให้ยกพลไพร่เข้าในเขา | ตามลำเนาแถวทางมากลางหน |
ถึงตึกตั้งหลังใหญ่มีไกกล | มีถนนแถวทางกลางอรัญ |
แต่คราวครั้งลังกาวัณฬาราช | ล่วงลีลาศจากวังนรังสรรค์ |
มาตั้งวังอยู่ที่เขาเจ้าประจัน | ถัดไปนั่นเขาพยนต์มีหนทาง |
เมื่อคราวครั้งพระอภัยเอาไฟเผา | พากันเข้าอยู่นี่คุ้มผีสาง |
เขาเป่าปี่ไพร่พลตามหนทาง | หลับอยู่กลางเขาเขินเนินคิรี |
แต่แม่มึงถือตราพระราหู | เข้าต่อสู้เขาไม่ได้ต้องไพล่หนี |
จนไปได้อีรำภาสุลาลี | กับทั้งอียุพาชาวป่าดง |
พอได้กินดินถนันเพราะมันหนี | ขึ้นพาชีด้นไปในไพรระหง |
แกเล่าเรื่องมรรคาในป่าดง | ให้พวกวงศ์รู้เรื่องเบื้องบุราณ ฯ |
๏ แล้วพาไปชมเขาลำเนาผา | ล้วนศิลาต่างต่างอย่างประสาน |
บ้างเงื้อมโงกโตรกตรอกเป็นซอกธาร | ห้วยละหานเหวผาคูหาบรรพ์ |
ที่ซับซ้อนก้อนหินกระสินธุ์เซาะ | สีจำเพาะเขียวแดงดั่งแกล้งสรรค์ |
เหมือนระบายหลายอย่างต่างต่างกัน | เป็นหน้าบันเงื้อมผาศิลาแลง |
มีหินย้อยห้อยระย้าดั่งอัจกลับ | ที่ขาววับแลวามอร่ามแสง |
พฤกษาชาติดาษดงประยงคุ์แดง | ทั้งจิกแจงกร่างไกรไทรพะยอม |
ประดู่ดอกออกระย้าผกามาศ | มะตูมมะตาดเกดกระถิ่นส่งกลิ่นหอม |
มะขวาดขวิดติดต้นล้วนผลงอม | ทั้งกิ่งค้อมพอปลิดน่าติดใจ |
ทั้งม่วงปรางรางสาดหล่นกลาดกลุ้ม | กระทิงกระทุ่มกรวยกร่างต้นหางไหล |
เสลาสล้างยางยูงพะยอมไพร | แลไสวสูงสล้างนางตะเคียน |
ระรื่นร่มลมเชยรำเพยพัด | ปักษาสัตว์ต่างต่างเหมือนอย่างเขียน |
กระสาจับกิ่งสนบินวนเวียน | ฝูงกระเรียนจับรังร้องวังเวง |
สาลิกาจับพลอดบนยอดแก้ว | เสียงเจื้อยแจ้วฟังเพราะดูเหมาะเหมง |
ฝูงโนรีจับพุมเรียงเสียงวังเวง | ราวกับเพลงซอสีปี่ชวา |
เค้าโมงเมียงจับมองบนกิ่งโมก | ต้นอุโลกนกกะลางร้องครางหา |
นกขมิ้นจับแมงเม่าเขาชวา | ฝูงไก่ฟ้าจับแฟบแล้วแอบตัว |
ชะนีน้อยห้อยโหนบนพฤกษา | เห็นสุริยานึกสำเหนียกร้องเรียกผัว |
เหนี่ยวกิ่งไม้ห้อยโหนแล้วโยนตัว | เห็นคนกลัววิ่งวนเที่ยวซนซอน |
ฝูงมฤคถึกเถื่อนวิ่งเกลื่อนกลุ้ม | แอบสุมทุมวนวิ่งตามสิงขร |
ทั้งเนื้อถึกมฤคาบนป่าดอน | เที่ยวสัญจรหากินบนถิ่นไพร |
ฝูงลิงค่างครางครึ้มกระหึ่มเสียง | พยัคฆ์เมียงจับฟัดจนตัดษัย |
ก็กินเล่นเป็นอาหารสำราญใจ | อยู่ที่ในเขาเขินเนินอรัญ ฯ |
๏ บาทหลวงพาเที่ยวดูในคูหา | แต่บรรดาไพร่นายต่างผายผัน |
เข้าถ้ำเหวห้วยละหานสำราญครัน | ที่น้ำดั้นขึ้นมากลางหว่างคิรี |
กระแสสายปรายปรอยดั่งฝอยฝน | ลมวังวนไหลไปในวิถี |
ที่ปากปล่องช่องคูหาหน้าคีรี | ศิลาสีต่างต่างเหมือนอย่างทำ |
ที่เป็นพูดูย้อยห้อยระย้า | ล้วนศิลาเหมือนระบายเป็นลายขำ |
ที่สีเหลืองเรืองรองดั่งทองคำ | ที่แดงก่ำเขียวม่วงดูร่วงราย |
อันถ้ำเหวเปลวปล่องเป็นช่องเงื้อม | บ้างลายเลื่อมต่างต่างสว่างฉาย |
ครั้นต้องแสงสุริยาศิลาลาย | ตูพรอยพรายพราวพร่างกระจ่างตา |
ที่เชิงเขาข้าวสาลีก็มีมาก | ตามชะวากริมทางที่ข้างผา |
มีลำธารน้ำใสไหลลงมา | ล้วนเต่าปลาปูหอยขึ้นลอยวน |
กระจับจอกดอกเกลื่อนบัวเผื่อนผัน | สัตตบรรณบัวแดงทุกแห่งหน |
แพงพวยทอดยอดสล้างที่กลางวน | กออุบลบานงามอร่ามเรือง |
ที่ชายหาดดาษดาผกามาศ | บุปผชาติบานงามอร่ามเหลือง |
ต้นอังกาบกุหลาบเทศทั้งเกดเมือง | อร่ามเรืองเกสรขจรจาย |
ทั้งชงโคคัดเค้าดอกสาวหยุด | ครั้นสายสุดหมดกลิ่นหอมสิ้นหาย |
โยทะกากาหลงประยงคุ์ราย | ขจรจายราวกับปรุงฟุ้งขจร |
กรรณิการ์การะเกดหอมตลบ | ละอองอบรสรินกลิ่นเกสร |
สุราลัยไขช่ออรชร | หอมขจรที่ในเขาลำเนาเนิน ฯ |
๏ บาทหลวงสั่งแต่บรรดาโยธาหาญ | ให้เตรียมการตามลำเนาภูเขาเขิน |
ตั้งค่ายคูปิดระหว่างหนทางเดิน | ที่หน้าเนินตั้งหอรบประจบกัน |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าตำราขึ้นอาศัย | บนตึกใหญ่วายร้อนคิดผ่อนผัน |
กับมังคลาสานุศิษย์ที่ติดพัน | อยู่ด้วยกันสามโอรสยศยง |
กับสองท้าวพ่อตาที่มาด้วย | เป็นผู้ช่วยตรองความตามประสงค์ |
คิดจะซ้อมพวกทหารชาญณรงค์ | แล้วเขียนธงอาญาสิทธิ์ให้ปิดตรา |
พระราหูคู่นครเหมือนก่อนเก่า | ผิดพวกเราจับมัดตัดเกศา |
ให้ตั้งค่ายรายเรียงเคียงกันมา | ตามเชิงผาล้อมรอบขอบคิริน |
บาทหลวงชมปัญญาว่าเจ้าแขก | เองคิดแยกเหมือนอย่างจิตกูคิดถวิล |
ช่วยตรองการผลาญศัตรูกู้แผ่นดิน | ประเทศถิ่นสิงหลไม่พ้นมือ |
มิเสียที่ดีแล้วหวาที่ตาคิด | มันเหมาะจิตถูกตำหรับกูนับถือ |
อันการงานสารพัดเร่งหัดปรือ | กระนี้หรือน่าชมสมปรองดอง |
ช่วยเจ็บร้อนกับลูกเขยไม่เลยละ | จริงจริงวะขอบคุณการุญสนอง |
แม้นเสร็จศึกนึกไว้ดั่งใจปอง | จะฉลองคุณมึงให้ถึงดี |
ทั้งลูกสาวชาวแม่จะแก้ไข | กูจะให้เป็นพระมเหสี |
ถึงแม้นอ้ายมังคลามิปรานี | กูจะตีด้วยกระบองเหล็กสองตึง |
อย่าปรารมภ์ไปเลยหวาอีตาเฒ่า | แต่ลูกเราให้มันดีอย่าขี้หึง |
เฮ้ยอ้ายท้าวเจ้าโกสัยใจของมึง | จะคิดซึ่งการงานสถานใด |
จะขอชมคมคายเป็นชายชาติ | เปิดฉลาดออกมาแจ้งแถลงไข |
กูจะขอชมปัญญาเร่งว่าไป | ที่จะได้ช่วยเขยอย่าเฉยเชือน |
เร่งคิดอ่านการศึกอย่านึกหมาย | การอุบายตรองไปให้ได้เหมือน |
เองก็เป็นพ่อแม่อย่างแชเชือน | ได้เป็นเพื่อนคิดอ่านการสงคราม ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้ฟังสังฆราช | แกเกรี้ยวกราดซักไซ้พิไรถาม |
จึ่งตอบเรื่องราวไปเป็นใจความ | แล้วว่าตามแต่ละท่านจะบัญชา |
ให้ต่อสู้ผู้ใดมิได้คิด | ถึงชีวิตชีวังจะสังขาร์ |
แต่ขอให้เที่ยงธรรม์ดั่งสัญญา | ไม่พูดจากล่าวคำเป็นสำนวน |
ข้าพเจ้าเล่าก็มาช่วยรบรับ | ในการทัพการค่ายคิดไต่สวน |
มิใช่จะกล่าวคำทำกระบวน | ให้ไปชวนพวกมาช่วยราวี |
แม้นพร้อมกันวันไรจะได้ยก | ไปทัพบกทัพหน้าแม้นล่าหนี |
ให้เจ้าคุณลงลงอาญาถึงฆ่าตี | ตามแต่ที่สานุโทษจะโปรดปราน ฯ |
๏ บาทหลวงฟังยินดีเป็นที่ยิ่ง | มันพูดจริงมั่นแม่นเป็นแก่นสาร |
จึ่งว่าเอ็งกล่าวไว้เห็นได้การ | ควรสมานรักกันจนวันตาย |
มิเสียทีที่เป็นพ่อหวาออท้าว | มึงว่ากล่าวท่วงทีดีใจหาย |
จำจะคิดแยบยลกลอุบาย | จะทำลายล้างทมิฬให้สิ้นปราณ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเรือใช้ที่ไปหา | แต่บรรดาทุกเขตประเทศสถาน |
กับเมืองขึ้นโกสัยอันชัยชาญ | เอาเรื่องสารส่งไปให้แล้วไคลคลา |
ที่ในเรื่อราชการเป็นการร้อน | ทั่วนครแจ้งกิจทุกทิศา |
เร่งจัดแจงกองทัพกับเภตรา | ตามกันมาทุกนครไม่นอนใจ |
เมืองวะหลำสำปาละตะนะตาหนา | ยะระยะลาไกโรโพพิสัย |
เมืองสวิตปัตหราสุราลัย | โรมวิสัยบิตุเกดเจตพัง |
แต่เมืองขึ้นน้อยน้อยสักร้อยเศษ | ต่างประเทศนครินทร์เมืองจีนตั๋ง |
เกณฑ์พหลพลมาดาประดัง | แล่นสะพรั่งเภตราในสาคร ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในลังกาอาณาเขต | ครั้นแจ้งเหตุว่าไปตั้งหว่างสิงขร |
ในวงเขาเจ้าประจันใกล้สันดอน | จะตีต้อนหักเอาเป็นเขาวง |
แล้วจำเพาะเข้าไปได้เป็นช่อง | จะขึ้นล่องเขานั้นชันระหง |
แล้วก็เป็นคูรอบเป็นขอบวง | จะขึ้นลงยากใจหลายประการ ฯ |
๏ ป่างพระศรีสุวรรณวงศ์ดำรงภพ | เธอปรารภปรึกษาบรรดาหลาน |
จะกำจัดศัตรูพวกหมู่พาล | ต้องคิดอ่านล่อลวงดูท่วงที |
ใครจะเห็นเป็นอย่างไรไฉนมั่ง | มันมาตั้งปิดทางหว่างวิถี |
จะตัดรอนศึกใหญ่ฉันใดดี | จึ่งจะมีชัยได้ดั่งใจปอง ฯ |
๏ สินสมุทรวุฒิไกรสงสัยนัก | จึงถามซักพวกฝรั่งสิ้นทั้งผอง |
แต่บรรดามาประมูลทูลละออง | ว่าทางช่องเชิงเขาเจ้าประจัน |
จำเพาะไปได้แต่เท่านั้นหรือ | สิ้นฝีมือพลนิกรจะผ่อนผัน |
หรือจะอ้อมไปในทางหว่างอรัญ | หนทางนั้นสักกี่แห่งจงแจ้งความ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งทั้งสิ้นได้ยินตรัส | แจ้งรหัสโดยยังรับสั่งถาม |
จึ่งกราบทูลที่พระองค์ประสงค์ความ | ครั้นเมื่อตามนางพระยาเธอคลาไคล |
ทางเข้าออกนั้นมีอยู่สี่แห่ง | มันจัดแจงปิดทางหว่างไคล |
แล้วตั้งช่องกองตระเวนเกณฑ์กันไป | เอาปืนใหญ่จุกช่องคอยป้องกัน |
แล้วตั้งค่ายรายทางตามหว่างเขา | จะคิดเข้ายากจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
แม้นได้ไปบนทางกลางอรัญ | คิดผ่อนผันข้ามเขาลำเนาเนิน |
นั้นแหละจะเข้าได้ในจังหวัด | ถ้าแม้นตัดลำเนาภูเขาเขิน |
ให้ขาดสิ้นพังตลอดถึงยอดเนิน | เป็นทางเดินเข้าไปเห็นได้การ ฯ |
๏ ป่างพระองค์ผู้ดำรงรมจักร | ทั้งหลานรักมุลนายฝ่ายทหาร |
พร้อมทั้งพวกโหราพฤฒาจารย์ | ปรึกษาการข้างอุบายคิดถ่ายเท |
แล้วถามท่านจักราพฤฒาเฒ่า | ครั้งนี้เราใคร่ครวญจะหวนเห |
สถานใดใจท่านครูดูคะเน | จะถ่ายเทตรองการสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | จึ่งสังเกตโดยวิธีคัมภีร์ไสย |
ทางทิศาปาโมกข์โลกนัย | แล้วทูลไทเจ้าจังหวัดปัถพิน |
พิเคราะห์ดูในตำรามหายุค | จะรบรุกยังสมอารมณ์ถวิล |
จำจะต้องทำวิชากู้ธานินทร์ | ทางกสิณอาโปมโหฬาร |
แล้วจึ่งสั่งพาราพวกวาโหม | ขึ้นโพยมเมฆาเวหาหาญ |
เอาแหลนหลาวง้าวหินบินทะยาน | เข้าต่อต้านรุกรุดยุทธยา |
แต่เดี๋ยวนี้จำเพาะพระเคราะห์ร้าย | จะอุบายไม่สมมาดปรารถนา |
ต่อข้างขึ้นเดินสี่ปีระกา | ให้โหรามาประมวลใคร่ครวญดู ฯ |
๏ ป่างพระจอมธิบดินทร์สินสมุทร | ทั้งพระสุดสาครนึกอ่อนหู |
จึ่งตรัสเรียกโหราบรรดาครู | ให้มาดูทำนายร้ายแลดี |
โหรารับขับไล่ในพระเคราะห์ | เสาร์จำเพาะร่วมจักรราศี |
ถึงจันเทาเข้าร้ายมาหลายปี | ต่อเดือนสี่จึ่งจะคลายในตำรา |
ทั้งราหูอยู่เมษเข้าทับลัคน์ | โหราทักทายวันชันษา |
ต่อพฤหัสถึงธนูดูตำรา | พระศุกร์มาถึงลัคน์จึ่งจักคลาย |
แล้วกราบทูลจอมวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ข้าคิดตัดรอนประมูลทูลถวาย |
ตามตำราพยากรณ์แต่ก่อนทาย | ต่อตกปลายมือดีจะมีชัย ฯ |
๏ เจ็ดกษัตริย์ฟังอรรถโหราแถลง | ประจักษ์แจ้งมั่นคงไม่สงสัย |
จึ่งตรัสสั่งเสวกาพวกข้าไท | เราตรวจไตรเตรียมการจะราญรอน |
แม้นมันยกไพร่พลพหลหาญ | ออกต่อต้านชานชลาหน้าสิงขร |
ดูกำลังโยธาพลากร | จะราญรอนหักหาญเป็นมารยา |
พระสั่งเสร็จแต่บรรดาโยธาทัพ | จะตั้งรับดูฤทธิ์พวกมิจฉา |
คอยป้องกันด่านทางข้างคงคา | เรือไปมาคอยสกัดตัดลำเลียง ฯ |