- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
๏ จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง | ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา |
องค์อภัยมณีศรีโสภา | ตกยากอยู่คูหามาช้านาน |
กับด้วยนางอสุรีนีรมิต | เป็นคู่ชิดเชยชมสมสมาน |
ต้องรักใคร่ไปตามยามกันดาร | จนนางมารมีบุตรบุรุษชาย |
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนองค์พระทรงเดช | แต่ดวงเนตรแดงดูดังสุริย์ฉาย |
ทรงกำลังดังพระยาคชาพลาย | มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา |
พระบิตุรงค์ทรงศักดิ์ก็รักใคร่ | ด้วยเนื้อไขมิได้คิดริษยา |
เฝ้าเลี้ยงลูกผูกเปลแล้วเห่ช้า | จนใหญ่กล้าอายุได้แปดปี |
จึงให้นามตามอย่างข้างมนุษย์ | ชื่อสินสมุทรกุมารชาญชัยศรี |
ธำมรงค์ทรงมาค่าบุรี | พระภูมีถอดผูกให้ลูกยา |
เจียระบาดคาดองค์ก็ทรงเปลื้อง | ให้เป็นเครื่องนุ่งห่มโอรสา |
สอนให้เจ้าเป่าปี่มีวิชา | เพลงสาตราสารพัดหัดชำนาญ |
วันหนึ่งนางอสุรีผีเสื้อน้ำ | ออกจากถ้ำเที่ยวหาภักษาหาร |
จับกระโห้โลมากุมภาพาล | กินสำราญรื่นเริงบันเทิงใจ ฯ |
๏ ฝ่ายกุมารสินสมุทรสุดสวาท | ไม่ห่างบาทบิดาอัชฌาสัย |
ความรักพ่อยิ่งกว่าแม่มาแต่ไร | ด้วยมิได้ขู่เข็ญเช่นมารดา |
เห็นทรงธรรม์บรรทมสนิทนิ่ง | หนีไปวิ่งเล่นอยู่ในคูหา |
โลดลำพองลองเชิงละเลิงมา | เห็นแผ่นผาพิงผนิดปิดหนทาง |
หนักหรือเบาเยาว์อยู่ไม่รู้จัก | เข้าลองผลักด้วยกำลังก็พังผาง |
เห็นหาดทรายพรายงามเป็นเงินราง | ทะเลกว้างข้างขวาล้วนป่าดง |
ไม่เคยเห็นเป็นน่าสนุกสนาน | พระกุมารเพลินจิตพิศวง |
ออกวิ่งเต้นเล่นทรายสบายองค์ | แล้วโดดลงเล่นมหาชลาลัย |
ด้วยหน่อนาถชาติเชื้อผีเสื้อสมุทร | ดำไม่ผุดเลยทั้งวันก็กลั้นได้ |
ยิ่งถูกน้ำกำลังยิ่งเกรียงไกร | เที่ยวเลี้ยวไล่ขี่ปลาในสาชล |
ระลอกซัดพลัดเข้าในปากฉลาม | ลอดออกตามซีกเหงือกเสือกสลน |
เห็นฝูงเงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล | คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา |
ครั้นถามไถ่ไม่พูดก็โผนจับ | ดูกลอกกลับกลางน้ำปล้ำมัจฉา |
ครั้นจับได้ให้ระแวงแคลงวิญญาณ์ | เช่นนี้ปลาหรืออะไรจะใคร่รู้ |
ฉุดกระชากลากหางขึ้นกลางหาด | แลประหลาดลักษณามีตาหู |
จะเอาไปให้พระบิดาดู | แล้วลากลู่เข้าในถ้ำด้วยกำลัง |
ถึงหุบห้องร้องบอกบิตุเรศ | พระลืมเนตรเหลียวหาทั้งหน้าหลัง |
เห็นลูกลากเงือกน้ำแต่ลำพัง | จากบัลลังก์มาห้ามแล้วถามไป |
เมื่อกี้เห็นเล่นอยู่ในคูหา | เงือกนี้เจ้าเอามาแต่ข้างไหน |
พระลูกเล่าตามจริงทุกสิ่งไป | พระตกใจจึงว่าด้วยปรานี |
แม้นแม่เจ้าเขารู้ว่าแรงนัก | กลัวจะลักลอบพาบิดาหนี |
จะโกรธเกรี้ยวเคี้ยวเล่นเป็นธุลี | ไม่พอที่ชีวันจะบรรลัย ฯ |
๏ สินสมุทรกุมารชาญฉลาด | ฟังพระบาทบิตุรงค์ให้สงสัย |
จึงทูลถามความจริงด้วยกริ่งใจ | เหตุไฉนจึงจะเป็นไปเช่นนั้น ฯ |
๏ พระฟังคำน้ำเนตรลงพรากพราก | คิดถึงยากยามวิโยคยิ่งโศกศัลย์ |
แถลงเล่าลูกยาสารพัน | จนพากันมาบรรทมที่ร่มไทร |
แม่ของเจ้าเขาเป็นเชื้อผีเสื้อสมุทร | ขึ้นไปฉุดฉวยบิดาลงมาได้ |
จึงกำเนิดเกิดกายสายสุดใจ | จนเจ้าได้แปดปีเข้านี่แล้ว |
ไปเปิดประตูคูหาถ้าเขาเห็น | ตายหรือเป็นว่าไม่ถูกเลยลูกแก้ว |
แม้นสินสมุทรสุดสวาทพ่อคลาดแคล้ว | ไม่รอดแล้วบิตุรงค์ก็คงตาย ฯ |
๏ พระโอรสรู้แจ้งไม่แคลงจิต | รำคาญคิดเสียใจมิใคร่หาย |
ด้วยแม่กลับอัปลักษณ์เป็นยักษ์ร้าย | ก็ฟูมฟายชลนาโศกาลัย ฯ |
๏ ฝ่ายเงือกน้ำนอนกลิ้งนิ่งสดับ | กิตติศัพท์สองแจ้งแถลงไข |
รู้ภาษามนุษย์แน่ในใจ | จะกราบไหว้วอนว่าให้ปรานี |
ค่อนเขยื้อนเลื่อนลุกขึ้นทั้งเจ็บ | ยังมึนเหน็บน้อมประณตบทศรี |
พระผ่านเกล้าเจ้าฟ้าในธาตรี | ข้าขอชีวิตไว้อย่าให้ตาย |
พระราชบุตรฉุดลากลำบากเหลือ | ดังหนังเนื้อนี้จะแยกแตกสลาย |
ทั้งลูกเต้าเผ่าพงศ์ก็พลัดพราย | ยังแต่กายเกือบจะดิ้นสิ้นชีวัน |
พระองค์เล่าเขาก็พาเอามาไว้ | เศร้าพระทัยทุกข์ตรอมเหมือนหม่อมฉัน |
ขอพระองค์จงโปรดแก้โทษทัณฑ์ | ช่วยผ่อนผันให้ตลอดรอดชีวา |
ซึ่งปากถ้ำทำลายลงเสียหมด | ให้โอรสยกตั้งบังคูหา |
ข้าเห็นอย่างนางมารจะนานมา | จะอาสาเกลี่ยทรายเสียให้ดี |
หนึ่งพวกพ้องของข้าคณาญาติ | ขอรองบาทบงกชบทศรี |
แม้นประสงค์สิ่งไรในนที | ที่สิ่งมีจะเอามาสารพัน ฯ |
๏ พระฟังเงือกพูดได้ให้สงสาร | จึงว่าท่านคิดนี้ดีขยัน |
รู้เจรจาสารพัดน่าอัศจรรย์ | อยู่พูดกันอีกสักหน่อยจึงค่อยไป |
เราตรองตรึกนึกจะหนีนางผีเสื้อ | แต่ใต้เหนือไม่รู้แห่งตำแหน่งไหน |
ท่านเจนทางกลางทะเลคะเนใจ | ทำกระไรจึงจะพ้นทรมาน ฯ |
๏ ฝ่ายเงือกน้ำคำนับอภิวาท | ข้าพระบาททราบสิ้นทุกถิ่นฐาน |
อันน้ำนี้มีนามตามบุราณ | อโนมานเคียงกันสีทันดร |
เป็นเขตแคว้นแดนที่นางผีเสื้อ | ข้างฝ่ายเหนือถึงมหิงษะสิงขร |
ข้างทิศใต้ไปจนเกาะแก้วมังกร | หนทางจรเจ็ดเดือนไม่เคลื่อนคลา |
ไปกลางย่านบ้านเรือนหามีไม่ | สมุทรไทซึ้งซึกลึกหนักหนา |
แต่สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา | เขาแล่นมามีบ้างอยู่ลางปี |
ถ้าเสียเรือเหลือคนแล้วนางเงือก | ขึ้นมาเลือกเอาไปชมประสมศรี |
เหมือนพวกพ้องของข้ารู้พาที | ด้วยเดิมทีปู่ย่าเป็นมนุษย์ |
อายุข้าห้าร้อยแปดสิบเศษ | จึงแจ้งเหตุแถวทางกลางสมุทร |
แม้นจะหนีผีเสื้อด้วยแรงรุทร | เห็นไม่สุดสิ้นแดนด้วยแสนไกล |
แต่โยคีมีมนต์อยู่ตนหนึ่ง | อายุถึงพันเศษถือเพทไสย |
อยู่เกาะแก้วพิสดารสำราญใจ | กินลูกไม้เผือกมันพรรณผลา |
พวกเรือแตกแขกฝรั่งแลอังกฤษ | ขึ้นเป็นศิษย์อยู่สำนักนั้นหนักหนา |
ด้วยโยคีมีมนต์ดลวิชา | ปราบบรรดาภูตพรายไม่กรายไป |
แม้นพระองค์ทรงฤทธิ์จะคิดหนี | ถึงโยคีเข้าสำนักไม่ตักษัย |
เผื่อสำเภาเขาซัดพลัดเข้าไป | ก็จะได้โดยสารไปบ้านเมือง |
แต่ทางไกลไม่น้อยถึงร้อยโยชน์ | ล้วนเขาโขดคีรีรัตน์ขนัดเนื่อง |
กลางคงคาสารพัดจะขัดเคือง | จงทราบเบื้องบงกชบทมาลย์ |
แม้นกำลังดังข้าจะพาหนี | เจ็ดราตรีเจียวจึงจะถึงสถาน |
อสุรีมีกำลังดังปลาวาฬ | ตามประมาณสามวันจะทันตัว |
ถ้าแก้ไขให้นางไปค้างป่า | ได้ล่วงหน้าไปเสียบ้างจะยังชั่ว |
จะอาสาพาไปมิได้กลัว | ชีวิตตัวบรรลัยไม่เสียดาย |
แต่พระองค์ทรงคิดให้รอบคอบ | ถ้าเห็นชอบท่วงทีจะหนีหาย |
จึงโปรดใช้ให้องค์พระลูกชาย | ไปหาดทรายหาข้าจะมาฟัง ฯ |
๏ พระแจ้งความตามคำเงือกน้ำเล่า | ค่อยบรรเทาทุกข์สมอารมณ์หวัง |
จึงว่าพี่มีคุณน้องสักครั้ง | ให้ได้ดังถ้อยคำที่รำพัน |
ซึ่งลูกรักหักหาญให้ท่านโกรธ | จงงดโทษทำคุณอย่างหุนหัน |
ช่วยไปปิดปากถ้ำที่สำคัญ | จวนสายัณห์ยักษ์มาจะว่าเรา |
จึงบัญชาว่าเจ้าสินสมุทร | ไปช่วยฉุดศิลาใหญ่ขึ้นให้เขา |
ขอสมาตาปู่อย่าดูเบา | ช่วยอุ้มเอาแกออกไปให้สบาย |
กับลูกน้อยค่อยพยุงจูงเงือกน้ำ | มาปากถ้ำแลเห็นวนชลสาย |
หวนรำลึกตรึกตรองถึงน้องชาย | พระฟูมฟายชลนาด้วยอาลัย |
แล้วให้ลูกเลิกศิลาเข้ามาปิด | เห็นมิดชิดมั่นคงไม่สงสัย |
พระกลับมาตาเงือกเสือกลงไป | ลงที่ในวังวนชลธาร ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อเมื่อขึ้นจากฝั่งน้ำ | จะมาถ้ำเที่ยวหาพฤกษาหาร |
เก็บลูกไม้ใส่ห่อเห็นพอการ | ทั้งเปรี้ยวหวานสารพัดแล้วลัดมา |
เห็นหินปิดเปิดประตูคูหากว้าง | นิมิตอย่างนางมนุษย์เสนหา |
วรพักตร์นารีศรีโสภา | ลีลามาเข้าในห้องเห็นสององค์ |
วางลูกไม้ในห่อให้ลูกผัว | ท้องของตัวเต็มท้องไม่ต้องประสงค์ |
พระทรงเลือกลูกมะซางปรางมะยง | ประทานองค์โอรสสู้อดออม |
ครั้นพลบค่ำทำรักนางยักษ์ร้าย | ประคองกายกอดแอบแนบถนอม |
ชื่นแต่หน้าอารมณ์นั้นกรมกรอม | แต่คิดอ่านหว่านล้อมจะล่อลวง |
ไม่เห็นช่องตรองตรึกนึกวิตก | ทุกข์ในอกนั้นสักเท่าภูเขาหลวง |
พระกอดลูกน้อยประทับไว้กับทรวง | ให้เหงาง่วงงีบหลับระงับไป ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อเมื่อจะจากพรากลูกผัว | แต่พลิกตัวกลิ้งกลับไม่หลับใหล |
ให้หมกมุ่นขุ่นคล้ำในน้ำใจ | จนเสียงไก่แก้วขันสนั่นเนิน |
พอม่อยหลับกลับจิตนิมิตฝัน | ว่าเทวัญอยู่ที่เกาะนั้นเหาะเหิน |
มาสังหารผลาญถ้ำระยำเยิน | แกว่งพะเนินทุบนางแทบวางวาย |
แล้วอารักษ์ควักล้วงเอาดวงเนตร | สำแดงเดชเหาะกลับไปลับหาย |
ทั้งกายสั่นพรั่นตัวด้วยกลัวตาย | พอฟื้นกายก็พอแจ้งแสงตะวัน |
จึงก้มกราบบาทบงสุ์พระทรงศักดิ์ | แล้วนางยักษ์เล่าตามเนื้อความฝัน |
ไม่เคยเห็นเป็นวิบัติอัศจรรย์ | เชิญทรงธรรม์ช่วยทำนายร้ายหรือดี ฯ |
๏ พระฟังนางพลางนึกคะนึงหมาย | ซึ่งฝันร้ายก็เพราะจิตเราคิดหนี |
เห็นจะไปได้ตลอดรอดชีวี | แต่นางผีเสื้อนั้นจะอันตราย |
พอได้ช่องลองลวงดูตามเล่ห์ | สมคะเนจะได้ไปดังใจหมาย |
จึงกล่าวแกล้งแสร้งเสเพทุบาย | เจ้าฝันร้ายนักน้องต้องตำรา |
อันเทวัญนั้นคือมัจจุราช | จะหมายมาดเอาชีวิตริษยา |
แล้วเสแสร้งแกล้งทำบีบน้ำตา | อนิจจาใจหายเจียวสายใจ |
แม้สิ้นสูญบุญนางในปางนี้ | ไม่มีที่พึ่งพาจะอาศัย |
จะกอดศพซบหน้าโศกาลัย | ระกำใจกว่าจะม้วยไปด้วยกัน |
นึกจะใคร่สะเดาะพระเคราะห์เจ้า | พอบรรเทาโทษาที่อาสัญ |
เหมือนงอนง้อขอชีวิตแก่เทวัญ | กลัวแต่ขวัญเนตรพี่จะมิทำ ฯ |
๏ นางผีเสื้อเชื่อถือรื้อประณต | พระทรงยศจงช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ตามตำราสารพัดไม่ขัดคำ | ช่วยแนะนำอนุกูลอย่าสูญใจ ฯ |
๏ พระฟังคำสำราญสำเร็จคิด | จึงว่าผิดสายสมรหาสอนไม่ |
ตำรานั้นแต่ครั้งตั้งเมรุไกร | ว่าถ้าใครฝันร้ายจะวายปราณ |
ให้ไปอยู่ผู้เดียวที่ตีนเขา | แล้วอดข้าวอดปลากระยาหาร |
ถ้วนสามคืนสามวันจะบันดาล | ให้สำราญรอดตายสบายใจ ฯ |
๏ ฝ่ายว่านางผีเสื้อก็เชื่อถือ | คิดว่าซื่อสุจริตพิสมัย |
จึงตอบว่าถ้ากระนั้นฉันจะไป | อยู่เขาใหญ่ในป่าพนาวัน |
พระโฉมยงจงอยู่ในคูหา | เลี้ยงรักษาลูกน้อยคอยหม่อมฉัน |
จะอดใจให้เหมือนคำที่รำพัน | ถ้วนสามวันก็จะมาอย่าอาวรณ์ |
แล้ววันทาลาองค์พระทรงโฉม | ปลอบประโลมลูกแก้วแล้วสั่งสอน |
อย่าแข็งนักรักตัวกลัวบิดร | แม้นไม่นอนมารดาจะมาตี ฯ |
๏ สินสมุทรสุดแสนสงสารแม่ | ด้วยรู้แน่ว่าบิดาจะพาหนี |
ให้ห่วงหลังกังวลด้วยชนนี | เจ้าโศกีกราบก้มบังคมคัล |
บิดาดูรู้แจ้งจึงแกล้งห้าม | จะวอนตามเขาไปไยในไพรสัณฑ์ |
อยู่เป่าปี่ตีเกราะเสนาะครัน | แล้วรับขวัญลูกน้อยกลอยฤทัย ฯ |
๏ นางผีเสื้อเมื่อแรกก็แปลกจิต | ครั้นทรงฤทธิ์ปลอบลูกชายหายสงสัย |
จึงรีบออกนอกคูหาแล้วคลาไคล | ไปเขาใหญ่ในป่าพนาวัน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม | ปลอบประโลมลูกชายจะผายผัน |
จึงหยิบปี่ที่เป่าเมื่อคราวนั้น | เอาผ้าพันผูกดีแล้วลีลา |
ให้ลูกรักผลักแผ่นศิลาล้ม | สมอารมณ์รีบออกนอกคูหา |
เลียบลีลาศหาดทรายชายคงคา | แลชลาล้วนคลื่นเสียงครื้นโครม ฯ |
๏ ฝ่ายเงือกน้ำสำหรับทะเลลึก | ไม่วายนึกถึงองค์พระทรงโฉม |
พอแจ่มแจ้งแสงทองผ่องโพยม | ปลอบประโลมลูกเมียเข้าเคลียคลอ |
จะไปลอยคอยองค์ทรงสวัสดิ์ | ให้สมนัดซึ่งสัญญาเธอมาหนอ |
แล้วออกจากวนวังไม่รั้งรอ | ค่อยเคลื่อนคลายว่ายคลอกันไคลคลา |
พอเห็นองค์ทรงยศโอรสราช | อยู่ชายหาดพร้อมกันก็หรรษา |
จึงชวนลูกสาวนั้นกับภรรยา | คลานขึ้นมาชายฝั่งแล้วบังคม ฯ |
๏ พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย | ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม |
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนคำคม | ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง |
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด | ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง |
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง | แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป |
จึงตรัสว่าตาเงือกมาคอยรับ | ช่างสมกับวาจาจะหาไหน |
เราล่อลวงนางผีเสื้อก็เชื่อใจ | เดี๋ยวนี้ไปแรมทางกลางอรัญ |
ช่วยเมตตาพาตรงไปส่งที่ | พระโยคีมีเวทวิเศษขยัน |
กลางคงคาปลาร้ายก็หลายพรรณ | จะป้องกันภัยพาลประการใด ฯ |
๏ เงือกผู้เฒ่าเคารพอภิวาท | ขอรองบาทบริรักษ์จนตักษัย |
เสด็จขึ้นทรงบ่าจะพาไป | พระหน่อไทให้ขี่ภริยา |
อันอำนาจชาติเชื้อผีเสื้อน้ำ | ปลาไม่กล้ำกรายกลัวทั่วทิศา |
ด้วยกลิ่นอายคล้ายท่านผู้มารดา | เมื่อจับข้าข้าจึงอ่อนหย่อนกำลัง |
สัตว์ในน้ำจำแพ้แก่ผีเสื้อ | เปรียบเหมือนเนื้อเห็นพยัคฆ์ให้ชักหลัง |
อย่าเกรงภัยในชลที่วนวัง | ขึ้นนั่งยังบ่าข้าจะพาไป ฯ |
๏ พงศ์กษัตริย์ตรัสชวนสินสมุทร | สอนให้บุตรขอสมาอัชฌาสัย |
พระทรงบ่าเงือกน้ำงามวิไล | พระหน่อไทยขอสมาขึ้นบ่านาง |
เงือกประคองสององค์ลงจากฝั่ง | มีกำลังลีลาศค่อยวาดหาง |
ค่อยฟูฟ่องล่องน้ำไปท่ามกลาง | ลูกสาวนางเงือกงามตามลีลา ฯ |
๏ พระโฉมยงองค์อภัยมณีนาถ | เพลินประพาสพิศดูหมู่มัจฉา |
เหล่าฉลามล้วนฉลามตามกันมา | ค่อยเคลื่อนคลาคล้ายคล้ายในสายชล |
ฉนากอยู่คู่ฉนากไม่จากคู่ | ขึ้นฟ่องฟูพ่นฟองละอองฝน |
ฝูงพิมพาพาฝูงเข้าแฝงวน | บ้างผุดพ่นฟองน้ำบ้างดำจร |
กระโห้เรียงเคียงกระโห้ขึ้นโบกหาง | ลอยสล้างกลางกระแสแลสลอน |
มังกรเกี่ยวเลี้ยวลอดกอดมังกร | ประชุมซ่อนแฝงชลขึ้นวนเวียน |
ฝูงม้าน้ำทำท่าเหมือนม้าเผ่น | ขึ้นลอยเล่นเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน |
ตะเพียนทองล่องน้ำนำตะเพียน | ดาษเดียรดูเพลินจนเกินมา |
เห็นละเมาะเกาะเขาเขียวชอุ่ม | โขดตะคุ่มเคียงเคียงเรียงรุกขา |
จะเหลียวซ้ายสายสมุทรสุดสายตา | จะแลขวาควันคลุ้มกลุ้มโพยม |
จะเหลียวดูสุริย์แสงเข้าแฝงเมฆ | ให้วิเวกหวาดองค์พระทรงโฉม |
ฟังสำเนียงเสียงคลื่นดังครื้นโครม | ยิ่งทุกข์โทมนัสในฤทัยทวี |
พอเย็นย่ำค่ำพลบลงโพล้เพล้ | ท้องทะเลมืดมัวทั่ววิถี |
พระห้ามเงือกสองราด้วยปรานี | ประเดี๋ยวนี้ลมกล้าสลาตัน |
เห็นละเมาะเกาะใหญ่ที่ไหนกว้าง | หยุดเสียบ้างให้สบายจึงผายผัน |
เราหนีนางมาได้ก็ไกลครัน | ต่อกลางวันจึงค่อยไปให้สำราญ ฯ |
๏ ตาเงือกน้ำซ้ำสอนพระทรงศักดิ์ | ยังใกล้นักอย่าประมาททำอาจหาญ |
นางรู้ความตามมาไม่ช้านาน | จะพบพานพากันตายวายชีวัน |
อันตาข้าถ้าค่ำเห็นสว่าง | ทั้งเดินทางเรี่ยวแรงแข็งขยัน |
ถ้าแดดกล้าตามัวเป็นหมอกควัน | จะผายผันล่วงทางไปกลางคืน |
แล้วว่ายแหวกแบกองค์พงศ์กษัตริย์ | พลางสะบัดโบกหางไปกลางคลื่น |
สลาตันลั่นพิลึกเสียงครึกครื้น | จนดึกดื่นรีบรุดไม่หยุดเลย |
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเกาะเสาะลูกไม้ | พระลูกให้บิตุรงค์ทรงเสวย |
เงือกก็หาอาหารกินตามเคย | แล้วรีบเลยล่วงไปในคงคา ฯ |
๏ ฝ่ายนางผีเสื้อสมุทรที่สุดโง่ | ไปนั่งโซเซาอยู่ริมภูผา |
ขอชีวิตพิษฐานตามตำรา | ต้องอดปลาอดนอนอ่อนกำลัง |
ได้สามวันรันทดสลดจิต | เจียนชีวิตจะเด็ดดับไม่กลับหลัง |
อุตส่าห์ยืนฝืนใจให้ประทัง | ค่อยเซซังซวนทรงไม่ตรงตัว |
เห็นลูกไม้ในป่าคว้าเข้าปาก | กำลังอยากยืนขยอกจนกลอกหัว |
ที่มืดหน้าตาลายค่อยหายมัว | คิดถึงผัวเหยาะย่างมากลางไพร |
ถึงประตูคูหาเห็นเปิดอยู่ | เอ๊ะอกกูเกิดเข็ญเป็นไฉน |
เข้าในห้องมองเขม้นไม่เห็นใคร | ยิ่งตกใจเพียงจะดิ้นสิ้นชีวี |
แลดูปี่ที่เป่าเล่าก็หาย | นางยักษ์ร้ายรู้ว่าพากันหนี |
เสียน้ำใจในอารมณ์ไม่สมประดี | สองมือตีอกตูมฟูมน้ำตา |
ลงกลิ้งเกลือกเสือกกายร้องไห้โร่ | เสียงโฮโฮดังก้องห้องคูหา |
พระรูปหล่อพ่อคุณของเมียอา | ควรหรือมาทิ้งขว้างหมองหมางเมีย |
ทั้งลูกน้อยกลอยใจไปด้วยเล่า | เหมือนควักเอาดวงใจน้องไปเสีย |
น้องร้อนรุ่มกลุ้มใจดังไฟเลีย | ทูนหัวเมียช่างไม่ไว้อาลัยเลย |
ถึงแปดปีนี่แล้วไม่แคล้วคลาด | เคยร่วมอาสน์อกอุ่นพ่อคุณเอ๋ย |
ตั้งแต่นี้น้องจะได้ผู้ใดเชย | เหมือนพระเคยคู่เคียงเมื่อเที่ยงคืน |
เสียแรงรักหนักหนาอุตส่าห์ถนอม | สู้อดออมสารพัดไม่ขัดขืน |
ช่างกระไรใจจืดไม่ยืดยืน | นางสะอื้นอ้าปากจนรากเรอ |
ด้วยแรงน้อยถอยทบสลบหลับ | แล้วก็กลับพลิกฟื้นตื่นเผยอ |
ร้องเรียกลูกผัวเฟือนเหมือนละเมอ | ไม่เห็นเธอทอดกายดังวายปราณ |
ระกำอกหมกมุ่นหุนพิโรธ | กำลังโกรธกลับแรงกำแหงหาญ |
ประหลาดใจใครหนอมาก่อการ | ช่างคิดอ่านเอาคู่ของกูไป |
ศิลานี้ที่มนุษย์จะเปิดนั้น | สักหมื่นพันก็ไม่อาจจะหวาดไหว |
ยักขินีผีสางหรืออย่างไร | มาพาไปไม่เกรงข่มเหงกู |
พลางรำพึงถึงจะไปไม่ไกลนัก | จะตามหักคอกินเหมือนชิ้นหมู |
โมโหหุนผลุนออกนอกประตู | เที่ยวตามดูรอยลงในคงคา |
กระโดดโครมโถมว่ายสายสมุทร | อุตลุดดำด้นเที่ยวค้นหา |
ไม่เห็นผัวคว้าไปได้แต่ปลา | ควักลูกตาสูบเลือดด้วยเดือดดาล |
ค่อยมีแรงแผลงฤทธิ์คำรนร้อง | ตะโกนก้องเรียกหาโยธาหาญ |
ฝ่ายปีศาจราชทูตภูตพรายพาล | อลหม่านขึ้นมาหาในสาชล |
อสุรีผีเสื้อจึงซักถาม | มึงอยู่ตามเขตแขวงทุกแห่งหน |
เห็นมนุษย์นวลละอองทั้งสองคน | มาในวนวังบ้างหรืออย่างไร ฯ |
๏ ผ่ายพวกผีที่อยู่ทิศทักษิณ | ครั้นได้ยินจึงแจ้งแถลงไข |
เห็นเงือกพามนุษย์รีบรุดไป | ข้างทิศใต้แต่เมื่อคืนวานซืนนี้ |
ข้านึกร้ายหมายจะตามก็ขามเด็ก | ด้วยลูกเล็กเหลือตัวไม่กลัวผี |
เห็นจะไปได้ครันจนวันนี้ | ด้วยท่วงทีรีบร้อนไม่นอนใจ ฯ |
๏ นางผีเสื้อเหลือโกรธโลดทะลึ่ง | โตดังหนึ่งยุคุนธร์ขุนไศล |
ลุยทะเลโครมครามตามออกไป | สมุทรไทแทบจะล่มถล่มทลาย |
เหล่าละเมาะเกาะขวางหนทางยักษ์ | ภูเขาหักหินหลุดทรุดสลาย |
เสียงครึกครื้นคลื่นคลุ้มขึ้นกลุ้มกาย | ผีเสื้อร้ายรีบรุดไม่หยุดยืน ฯ |
๏ ฝ่ายพระอภัยมณีซึ่งหนียักษ์ | กับลูกรักเงือกน้ำไปตามคลื่น |
บรรลุทางกลางชลาได้ห้าคืน | เห็นทะมื่นมาข้างหลังดังสะเทือน |
จึงถามเงือกว่าไฉนจึงไหวหวั่น | สลาตันลมใหญ่ก็ไม่เหมือน |
ไม่เห็นแสงสุริยันตะวันเดือน | เป็นคลื่นเคลื่อนคลอนลั่นสนั่นดัง ฯ |
๏ ฝ่ายเงือกน้ำสำเหนียกแน่ในจิต | คือว่าฤทธิ์ยักษ์ร้ายมาภายหลัง |
ด้วยเดชนางยักษ์ขินีมีกำลัง | ชีวิตครั้งนี้เห็นไม่เป็นตน |
จึงทูลองค์พระอภัยว่าใช่อื่น | เสียงครึกครื้นมารนางมากลางหน |
คงทันกันวันนี้หนีไม่พ้น | เห็นสุดจนจำม้วยลงด้วยกัน ฯ |
๏ พระอภัยใจหายไม่วายเหลียว | ให้เปล่าเปลี่ยวนัยนาเพียงอาสัญ |
แต่มานะกษัตริย์สู้กัดฟัน | อุตส่าห์กลั้นกลืนน้ำตาแล้วพาที |
จะไปไหนไม่พ้นผีเสื้อน้ำ | วิบากกรรมก็จะสู้อยู่เป็นผี |
ท่านส่งเราเข้าที่เกาะละเมาะนี้ | แล้วรีบหนีไปในน้ำแต่ลำพัง |
แล้วว่าแก่สินสมุทรสุดที่รัก | แม้นนางยักษ์จะมารับจงกลับหลัง |
อันตัวพ่อขอตายวายชีวัง | กันแสงสั่งลูกยาด้วยอาลัย ฯ |
๏ สินสมุทรมิได้กลัวกลับหัวร่อ | ลูกไม่ขอจากพระองค์อย่าสงสัย |
แม้มารดามาตามจะห้ามไว้ | พระรีบไปก่อนข้าอย่าปรารมภ์ |
ลูกจะค่อยลอยตามแต่ห่างห่าง | อยู่ต้นทางจะได้พบประสบสม |
แล้วเผ่นโผนโจนลงทะเลลม | พระปรารมภ์เรียกไว้ก็ไม่ฟัง |
เที่ยวดำด้นค้นหามัจฉาใหญ่ | พอจับได้ปลาอินทรีขึ้นขี่หลัง |
เสียงโผงผางกลางน้ำแต่ลำพัง | ค่อยลอยรั้งรอมาในวาริน ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อสมุทรไม่หยุดหย่อน | ครั้นลุยอ่อนอุตส่าห์ว่ายสายกระสินธุ์ |
กำลังน้อยถอยถดด้วยอดกิน | เจียนจะสิ้นชีวาในสาคร |
ได้สามวันทันผัวกับลูกน้อย | เห็นเลื่อนลอยลิบลิบยิ่งถีบถอน |
กระโจมโจนโผนโผชโลทร | คลื่นกระฉ่อนฉาดฉานสะท้านมา ฯ |
๏ ฝ่ายเงือกน้ำกำลังก็สิ้นสุด | ครั้นจะหยุดยักษ์ไล่ใกล้นักหนา |
เรียกลูกสาวคราวนี้พ่อจะมรณา | เจ้าช่วยพาภูวไนยไปให้พ้น |
นางเงือกน้อยสร้อยเศร้าเข้ามาผลัด | แบกกษัตริย์ว่ายเสือกเสลือกสลน |
กำลังสาวคราวด่วนด้วยจวนจน | ออกกลางชลโบกหางผางผางไป ฯ |
๏ สินสมุทรหยุดอยู่ดูนางยักษ์ | เห็นผิดพักตร์มารดาน่าสงสัย |
ด้วยเห็นแม่แต่รูปนิมิตไว้ | สงสัยใจออกขวางกลางคงคา |
แล้วร้องถามตามประสาเป็นทารก | นี่สัตว์บกหรือสัตว์น้ำดำนักหนา |
โจนกระโจมโครมครามตามเรามา | จะเล่นข้าท่าไรจะใคร่รู้ ฯ |
๏ ฝ่ายนางอสุรีผีเสื้อน้ำ | ได้ยินคำโอรสนึกอดสู |
เป็นห่วงผัวมัวแลชะแง้ดู | ไม่เห็นอยู่ด้วยกันนี่ฉันใด |
หรือจวนตัวกลัวเมียไปเสียก่อน | หรือซุ่มซ่อนอยู่เกาะละเมาะไหน |
จำจะปลอบโดยดีแม้นมิไป | จึงจะได้จับกุมตะลุมบอน |
จึงตอบโต้โป้ปดโอรสราช | มิใช่ชาติยักษ์มารชาญสมร |
เจ้าแปลกหรือคือนี่แลมารดร | เมื่อนั่งนอนอยู่ในถ้ำไม่จำแลง |
ออกเดินทางอย่างนี้ต้องนิมิต | รูปจึงผิดไปกว่าเก่าเจ้าจึงแหนง |
ไม่ปิดงำอำพรางอย่าคลางแคลง | แม่แกล้งแปลงตัวตามเจ้างามมา |
ไหนพ่อเจ้าเล่าแม่ไม่แลเห็น | อย่างหลงเล่นจงไปอยู่ในคูหา |
แต่จากอกหกวันแล้วขวัญตา | ขอมารดาอุ้มหน่อยเถิดกลอยใจ ฯ |
๏ สินสมุทรฟังเสียงสำเนียงแน่ | รู้ว่าแม่มั่นคงไม่สงสัย |
ดูรูปร่างอย่างเปรตสมเพชใจ | ช่างกระไรราศีไม่มีงาม |
กระนี้หรือพระบิดามิน่าหนี | ทั้งท่วงทีไม่สุภาพทำหยาบหยาม |
จำจะบอกหลอกลวงหน่วงเนื้อความ | อย่าให้ตามเข้าไปชิดพระบิดา |
จึงเสแสร้งแกล้งว่าข้าไม่เชื่อ | จะฉีกเนื้อกินเล่นเป็นภักษา |
ถ้าเป็นแม่แน่กระนั้นจงกรุณา | อย่างตามมามุ่งหมายให้วายปราณ |
ด้วยองค์พระชนนีเป็นผีเสื้อ | อันชาติเชื้ออยู่ถ้ำลำละหาน |
พระบิดรร้อนรนทนทรมาน | เคยอยู่บ้านเมืองมนุษย์สุดสบาย |
คิดถึงวงศ์พงศาคณาญาติ | จึงสามารถมานี่ไม่หนีหาย |
เห็นมารดรซ่อนตัวด้วยกลัวตาย | ลูกจึงว่ายน้ำอยู่แต่ผู้เดียว |
ประทานโทษโปรดปล่อยไปหน่อยเถิด | ที่ละเมิดแม่คุณอย่าฉุนเฉียว |
ลูกขอลาฝ่าธุลีสักปีเดียว | ไปท่องเที่ยวหาประเทศเขตนคร |
แม้พบอาย่าปู่อยู่เป็นสุข | บรรเทาทุกข์ภิญโญสโมสร |
จึงจะชวนบิตุเรศเสด็จจร | มาสถานมารดรไม่นอนใจ ฯ |
๏ อสุรีผีเสื้อไม่เชื่อถ้อย | นึกว่าน้อยหรือตอแหลมาแก้ไข |
แกล้งดับเดือดเงือดงดอดฤทัย | ทำปราศรัยเสียงหวานด้วยมารยา |
ถ้าแม้นแม่แต่แรกรู้กระนี้ | ชนนีก็จะได้ไม่เที่ยวหา |
นี่นึกแหนงแคลงความจึงตามมา | ไม่โกรธาทูนหัวอย่ากลัวเลย |
จะไปไหนไม่ห้ามจะตามส่ง | ไหนทรงฤทธิ์บิตุรงค์เล่าลูกเอ๋ย |
แม่ขอพบพูดจาประสาเคย | แล้วทรามเชยจึงค่อยพาบิดาไป ฯ |
๏ สินสมุทรสุดฉลาดไม่อาจบอก | ยังซ้ำหลอกลวงแม่พูดแก้ไข |
มิใช่การมารดาจะคลาไคล | ขอเชิญไปอยู่ในถ้ำให้สำราญ |
ซึ่งจะให้ไปบอกออกมาหา | บิดาข้าขี้ขลาดไม่อาจหาญ |
พระแม่อย่าทารกรรมให้รำคาญ | ไม่ช้านานบิตุรงค์คงจะมา ฯ |
๏ อสุรีผีเสื้อเหลือจะอด | แค้นโอรสราวกับไฟไหม้มังสา |
ช่างหลอกหลอนผ่อนผันจำนรรจา | แม้นจะว่าโดยดีเห็นมิฟัง |
จะจับไว้ให้พาไปหาพ่อ | แล้วหักคอเสียให้ตายเมื่อภายหลัง |
โกรธตวาดผาดเสียงสำเนียงดัง | น้อยหรือยังโหยกเหยกเด็กเกเร |
ช่างว่ากล่าวราวกับกูไม่รู้เท่า | มาพูดเอาเปรียบผู้ใหญ่ทำไพล่เผล |
เอาบิดรซ่อนไว้ในทะเล | ทำโว้เว้ว่ากล่าวให้ยาวความ |
ยิ่งปลอบโยนโอนอ่อนยิ่งหลอนหลอก | แม้นไม่บอกโดยดีจะตีถาม |
พลางโผโผนโจนโจมเสียงโครมคราม | เข้าไล่ตามคลุกคลีตีไปพลาง |
สินสมุทรผุดออกนอกรักแร้ | แล้วล่อแม่ตบหัตถ์ผัดผางผาง |
แกล้งหลบลี้หนีวนไปต้นทาง | หมายให้ห่างพระบิดาได้คลาไคล |
นางผีเสื้อเหลือแค้นแสนสาหัส | แต่ฉวยพลัดแพลงคลื่นลื่นไถล |
อุตลุดผุดดำปล้ำกันไป | เหมือนเล่นไล่ตามละเมาะทุกเกาะเกียน |
ถึงเขาใหญ่ในน้ำง้ำชะเงื่อม | พระหลบเลื่อมเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน |
เข้าหาดทรายชายตื้นขึ้นบนเตียน | เที่ยววิ่งเวียนวนรอบขอบคิรี |
เห็นมารดาล่าลับแล้วยับยั้ง | แกล้งถอยหลังลงน้ำแล้วดำหนี |
ไม่พ่นผุดรุดไปในนที | ตั้งภักดีตามติดพระบิดร ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อเมื่อลูกลอบลงน้ำ | พอจวนค่ำคิดว่าวิ่งขึ้นสิงขร |
ด้วยใจนางคิดว่าพาบิดร | มาซุ่มซ่อนอยู่ที่นี่จึงหนีมา |
เที่ยวแลรอบขอบเขาเงาชะงุ้ม | ยิ่งมืดคลุ้มก็ยิ่งคลั่งตั้งแต่หา |
เสียงคลื่นโครมโถมตะครุบก้อนศิลา | จนหน้าตาแตกยับลงสับเงา |
แล้วลุกขึ้นยืนชะโงกโยกสิงขร | จนโคลงคลอนเคลื่อนดังทั้งภูเขา |
ยิ่งมืดค่ำสำเหนียกร้องเรียกเดา | ไม่พ้นเราเร่งมาหาโดยดี |
เห็นไม่ขานมารร้ายทลายซ้ำ | เขาระยำย่อยยับดังสับสี |
ไม่พบเห็นเป็นเพลาเข้าราตรี | อสุรีเหลือแค้นแน่นอุรา |
ช่างชาติชั่วหัวกระดูกลูกตอแหล | ลวงให้แม่หลงกลเที่ยวค้นหา |
เออกระนั้นมันจึงทบตลบมา | ให้บิดาเลยไปเสียไกลแล้ว |
ดำริพลางนางมารอ่านพระเวท | ให้สองเนตรโชติช่วงดังดวงแก้ว |
แลเขม้นเห็นไปไวแววแวว | อยู่โน่นแล้วลุยตามโครมครามไป ฯ |
๏ หน่อนรินทร์สินสมุทรไม่หยุดยั้ง | รีบมาทั้งคืนค่ำในน้ำไหล |
จนแจ่มแจ้งสุริโยอโณทัย | เห็นเงือกใหญ่ยายตายังล้านัก |
จึงว่ารีบถีบถอนไปก่อนท่าน | โน่นนางมารหนุนไล่มาใกล้หนัก |
แล้วว่ายรอคลอไปพอได้พัก | พอนางยักษ์ทันโถมกระโจมมา |
พระลูกหลบพบเงือกจะเสือกหนี | เหยียบขยี้สองแขนแน่นนักหนา |
ตะคอกถามตามโมโหที่โกรธา | ไยมึงพาผัวพรากมาจากกู |
เดี๋ยวนี้องค์พระอภัยอยู่ไหนเล่า | ไม่บอกเราหรือกระไรทำไขหู |
จะควักเอานัยนาออกมาดู | ตะคอกขู่คุกถามคำรามรน ฯ |
๏ ทั้งสองเงือกเสือกกายหมายไม่รอด | ถึงม้วยมอดมิให้แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
จึงกล่าวแกล้งแสร้งเสด้วยเล่ห์กล | เธออยู่บนเขาขวางริมทางมา |
ข้าจะพาไปจับจงกลับหลัง | ให้ได้ดังมุ่งมาดปรารถนา |
ไม่เหมือนคำรำพันที่สัญญา | จงเข่นฆ่าให้เราม้วยไปด้วยกัน ฯ |
๏ อสุรีผีเสื้อก็เชื่อถือ | ยุดเอามือขวาซ้ายให้ผายผัน |
เงือกก็พามาถึงได้ครึ่งวัน | แกล้งรำพันพูดล่อให้ต่อไป |
นางผีเสื้อเบื่อหูรู้เท่าถึง | จึงว่ามึงตอแหลมาแก้ไข |
มาถึงนี่ชี้โน่นเนื่องกันไป | แกล้งจะให้ห่างผัวไม่กลัวกู |
แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน | ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่ |
แล้วกลับตามข้ามทางท้องสินธู | ออกว่ายวู่แหวกน้ำด้วยกำลัง ฯ |
๏ ฝ่ายกุมารสินสมุทรไม่หยุดหย่อน | ตามบิดรทันสมอารมณ์หวัง |
จึงเล่าความตามติดไม่ปิดบัง | พระทรงฟังลูกชายค่อยคลายใจ |
พอเห็นเงาเขาขวางอยู่กลางน้ำ | พิลึกล้ำกว่าคิรีที่ไหนไหน |
จึงถามนางเงือกน้อยกลอยฤทัย | เกาะอะไรแก้วตาตรงหน้าเรา ฯ |
๏ นางเงือกน้ำบอกสำคัญว่านั่นแล้ว | คือเกาะแก้วพิสดารเป็นชานเขา |
พระฟังนางสร่างโศกค่อยบรรเทา | จึงว่าเราเห็นจะรอดไม่วอดวาย |
แล้วพิศดูภูผาศิลาเสื่อม | ชะโงกเงื้อมน้ำวลชลสาย |
แลลิบลิบหลังคาศาลาราย | มีเสาหงส์ธงปลายปลิวระยับ |
พระยินดีชี้บอกสินสมุทร | โน่นแน่กุฏิ์มุงกระเบื้องเหลืองสลับ |
พระหน่อน้อยค่อยเรียงเคียงคำนับ | หมายประทับที่เสาหงส์ตรงเข้ามา ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีที่อยู่บนภูเขา | กับคนเหล่าเหลือตายหลายภาษา |
ทั้งจีนจามพราหมณ์แขกไทยชวา | วิลันดาฝรั่งพรั่งพร้อมกัน |
เป็นร้อยคนปรนนิบัติอยู่เช้าค่ำ | บ้างต้มน้ำเก็บลูกไม้มาให้ฉัน |
เป็นเหล่าล้อมพร้อมหน้าเวลานั้น | บ้างนวดฟั้นปรนนิบัตินั่งพัดวี |
พอบ่ายเบี่ยงเสียงคลื่นดังครื้นครึก | อึกทึกมาข้างหน้าคิรีศรี |
ครั้นดูลมก็ไม่พัดสงัดดี | พระโยคีจับยามตามตำรา |
แล้วบอกศิษย์ซึ่งนั่งอยู่ทั้งหลาย | วันนี้ชายมีศักดิ์จักมาหา |
ผีเสื้อน้ำทำฤทธิ์ติดตามมา | เสียงชลาเลื่อนลั่นสนั่นดัง |
จำจะไปคอยดูอยู่ที่หาด | ช่วยตวาดขู่ขับให้กลับหลัง |
ฉวยไม้เท้าก้าวย่างจากบัลลังก์ | แขกฝรั่งพรั่งพร้อมล้อมลีลา |
ถึงหาดกว้างทางแลกระแสสมุทร | เห็นมนุษย์ไรไรไหลนักหนา |
ผีเสื้อน้ำทำฤทธิ์ติดตามมา | เวทนาแลดูอยู่ทุกคน ฯ |
๏ พระอภัยมณีเห็นผีเสื้อ | ความกลัวเหลือว่ายคว้างอยู่กลางหน |
ยักษ์กระโจมโถมจับแทบอับจน | พอเห็นคนอยู่ที่หาดตวาดครืน |
เข้าถึงที่ผีเสื้อก็ถึงด้วย | กระชั้นฉวยผิดเสือกเกลือกเข้าตื้น |
พอโยคีมีคาถาลงมายืน | ผีเสื้อตื่นตัวสั่นขยั้นยั้ง |
พระอภัยภูมินทร์กับสินสมุทร | ช่วยกันฉุดนางเงือกเสือกเข้าฝั่ง |
แล้วกราบกรานโยคีมีกำลัง | แขกฝรั่งพรั่งพร้อมล้อมพูดจา ฯ |
๏ พระโยคีมีจิตคิดสงสาร | จึงว่าท่านหนีตายหมายมาหา |
เราลงมาคอยช่วยด้วยเมตตา | แต่กิจจาไม่กระจ่างยังคลางแคลง ฯ |
๏ พระอภัยได้สดับสุนทรถาม | จึงยกความก่อนเก่าเล่าแถลง |
จะหนีนางกลางสมุทรก็สุดแรง | รำพันแจ้งความจริงทุกสิ่งไป |
แล้ววอนว่าข้ากับโอรสราช | จะรองบาทประดิพัทธ์จนตัดษัย |
ขอพระองค์ทรงธรรม์ช่วยกันภัย | แต่พอได้หยุดหย่อนผ่อนสบาย ฯ |
๏ พระโยคีมีญาณว่าหลานรัก | จงสำนักอยู่ให้สมอารมณ์หมาย |
อันยักษีผีสางสมุทรพราย | มาถูกทรายชายหาดก็ขาดใจ |
เราลงเลขเสกทำไว้สำเร็จ | ดังเขื่อนเพชรภูตปีศาจไม่อาจใกล้ |
มันอยู่แต่ห่างห่างช่างเป็นไร | ทำไม่ได้นัดดาเจ้าอย่ากลัว ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อเหลือโกรธโลดทะลึ่ง | เสียงโผงผึงเผ่นโผนตะโกนผัว |
เหตุไฉนไปนั่งกำบังตัว | เชิญทูนหัวเยี่ยมหน้ามาหาน้อง |
นิจจาเอ๋ยเคยอยู่เป็นคู่ชื่น | ทุกวันคืนค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง |
จนมีลูกปลูกเลี้ยงเคียงประครอง | มิให้ข้องเคืองขัดพระอัชฌา |
อยู่ดีดีหนีเมียมาเสียได้ | เสียน้ำใจน้องรักเป็นนักหนา |
จึงอุตส่าห์พยายามสู้ตามมา | ขอเป็นข้าบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ |
พระเสด็จไปไหนจะไปด้วย | เป็นเพื่อนม้วยภัสดาจนอาสัญ |
ประทานโทษโปรดเลี้ยงแต่เพียงนั้น | อย่าบากบั่นความรักน้องนักเลย ฯ |
๏ พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น | อุตส่าห์ฝืนพักตร์ว่านิจจาเอ๋ย |
แม่ผีเสื้อเมื่อไม่เห็นในใจเลย | พี่ไม่เคยอยู่ในถ้ำให้รำคาญ |
คิดถึงน้องสองชนกที่ปกเกล้า | จะสร้อยเศร้าโศกาน่าสงสาร |
ด้วยพลัดพรากจากมาเป็นช้านาน | ไม่แจ้งการว่าข้างหลังเป็นอย่างไร |
จึงจำร้างห่างห้องให้น้องโกรธ | จงงดโทษพี่ยาอัชฌาสัย |
แม้นไปได้ก็จะพาแก้วตาไป | นี่จนใจเสียด้วยนางต่างกระกูล |
พี่มนุษย์สุดสวาทเป็นชาติยักษ์ | จงคิดหักความสวาทให้ขาดสูญ |
กลับไปอยู่คูหาอย่าอาดูร | จงเพิ่มพูนภาวนารักษาธรรม์ |
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตพิษฐาน | หมายวิมานเมืองแมนแดนสวรรค์ |
จะเกิดไหนขอให้พบประสบกัน | อย่าโศกศัลย์แคล้วคลาดเหมือนชาตินี้ |
พี่ขอบุตรสุดใจเอาไปด้วย | เป็นเพื่อนม้วยเหมือนสุดามารศรี |
ขอลาแก้วแววตาไปธานี | อย่าราคีขุ่นข้องให้หมองมัว ฯ |
๏ ผีเสื้อน้ำซ้ำวอนด้วยอ่อนหวาน | ไม่โปรดปรานอนุกูลเลยทูนหัว |
ถ้าทิ้งไว้ไหนน้องจะครองตัว | ทั้งจากผัวจากบุตรสุดอาลัย |
มิขออยู่สู้ตายวายชีวิต | ไม่เห็นจิตน้องรักจะตักษัย |
เชิญพระองค์ลงมาชลาลัย | เมียจะให้มนต์เวทวิเศษครัน |
แล้วร้องเรียกลูกยามาด้วยพ่อ | แม่จะขออำลาเจ้าอาสัญ |
อย่าสงสัยใจจริงทุกสิ่งอัน | ไม่รำพันพูดลวงเจ้าดวงใจ ฯ |
๏ สินสมุทรสุดแสนสงสารแม่ | ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล |
จึงกราบกรานมารดาแล้วว่าไป | จะเข้าใกล้ทูนหัวลูกกลัวนัก |
เมื่อวานนี้ตีข้าน้อยไปหรือ | ระบมมือเหมือนกระดูกลูกจะหัก |
ซึ่งรักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก | มิใช่จักลืมคุณกรุณา |
ถึงตัวไปใจลูกยังผูกคิด | พอปลดปลิดเปลื้องธุระจะมาหา |
อย่ากริ้วโกรธโปรดปรานเถิดมารดา | ไปไสยาอยู่ในถ้ำให้สำราญ ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีมียศพจนารถ | ให้โอวาทนางยักษ์ไม่หักหาญ |
จงตัดบ่วงห่วงใยอาลัยลาน | อย่าปองผลาญลูกผัวของตัวเลย |
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมทำให้วุ่น | จึงสิ้นบุญวาสนาสีกาเอ๋ย |
เห็นมิได้ไปอยู่เป็นคู่เชย | ด้วยสองเคยปลูกเลี้ยงกันเพียงนั้น |
อย่าควรคิดติดตามด้วยความโกรธ | จะเป็นโทษกับสีกาเมื่ออาสัญ |
จงยับยั้งฟังคำรูปรำพัน | ไปสวรรค์นฤพานสำราญใจ ฯ |
๏ นางผีเสื้อเหลือโกรธพิโรธร้อง | มาตั้งซ่องศีลจะมีอยู่ที่ไหน |
ช่างเฉโกโยคีหนีเขาใช้ | ไม่อยู่ในศีลสัตย์มาตัดรอน |
เขาว่ากันผัวเมียกับแม่ลูก | ยื่นจมูกเข้ามาบ้างช่วยสั่งสอน |
แม้นคบคู่กูไว้มิให้นอน | จะรานรอญรบเร้าเฝ้าตอแย |
แล้วชี้หน้าด่าอึงหึงนางเงือก | ทำซบเสือกสอพลออีตอแหล |
เห็นผัวรักยักคอทำท้อแท้ | พ่อกับแม่มึงเข้าไปอยู่ในท้อง |
ทำปั้นเจ๋อเย่อหยิ่งมาชิงผัว | ระวังตัวมึงให้ดีอีจองหอง |
พลางเข่นเขี้ยวเคี้ยวกรามคำรามร้อง | เสียงกึกก้องโกลาลูกตาโพลง ฯ |
๏ พระโยคีชี้หน้าว่าอุเหม่ | ยังโว้เว้วุ่นวายอีตายโหง |
เพราะหวงผัวมัวเมาเฝ้าตะโกรง | ว่ากูโกงมึงก็ตกนรกเอง |
อียักษาตาโตโมโหมาก | รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหมง |
นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง | ผัวของเองเขาระอาไม่น่าชม |
จึงหนีมาอาศัยกูให้อยู่ | มิใช่กูรู้เห็นเท่าเส้นผม |
มาตีชาว่ากูผิดในกิจกรม | จะให้สมน้ำหน้าสาแก่ใจ |
แล้วเสกทรายปรายขว้างมากลางคลื่น | ดังลูกปืนยิงยักษ์ให้ตักษัย |
ผีเสื้อกลัวตัวสั่นเพียงบรรลัย | ก็หลบไปตามวนชลธาร ฯ |