- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
๏ จะกล่าวถึงเงือกน้อยกลอยสวาท | ซึ่งรองบาทพระอภัยเมื่อไกลสถาน |
อยู่วนวังหลังเกาะแก้วพิสดาร | ประมาณกาลสิบเดือนไม่เคลื่อนคลา |
ให้เจ็บครรภ์ปั่นป่วนจะจวนคลอด | ระทวยทอดลงกับแท่นที่แผ่นผา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา | ไม่เห็นหน้าผู้ใดที่ไหนเลย |
โอ้องค์พระอภัยก็ไปลับ | ไม่เห็นกลับคืนมานิจจาเอ๋ย |
จะคลอดบุตรสุดใจเมียไม่เคย | ที่ไหนเลยจะตลอดรอดชีวา |
นางครวญคร่ำร่ำไรไห้ละห้อย | น้ำตาย้อยพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
ให้กลุ้มกลัดอัดอั้นหวั่นวิญญาณ์ | ด้วยเป็นปลาแปลกนางอย่างมนุษย์ |
สงสารนางครางครวญให้ป่วนปวด | ยิ่งเร้ารวดร้อนใจดังไฟจุด |
สะอื้นอ้อนอ่อนระทวยแทบม้วยมุด | หากบุญบุตรบันดาลช่วยมารดา |
ให้นึกคำพระอภัยเมื่อไปจาก | ว่าจะฝากโยคีมีคาถา |
นางตรึกตรองร้องร่ำทั้งน้ำตา | คุณเจ้าขาไม่มาช่วยฉันด้วยเลย |
โอ้ครั้งนี้ชีวิตจะปลิดปลด | พระดาบสเอาบุญเถิดคุณเอ๋ย |
นางครวญคร่ำร่ำไรด้วยไม่เคย | สลบเลยลืมกายดังวายปราณ ฯ |
๏ ฝายโยคีมีพรตปรากฏกล้า | นั่งรักษาทางธรรมกรรมฐาน |
แสนสว่างทางกสิณอภิญญาณ | พระอาจารย์แจ้งจบทั้งภพไตร |
เมื่อเงือกน้ำร่ำเรียกก็รู้เหตุ | นิ่งสังเกตว่าสีกามาแต่ไหน |
พลางหัวร่ออ้อเมียพระอภัย | เขาฝากไว้วันจะลาไปธานี |
มันเจ็บท้องร้องอึงจะออกลูก | จะต้องถูกได้หรือเป็นฤๅษี |
แล้วงกเงิ่นเดินมาในราตรี | ไหนอยู่ที่ไหนหวาสีกาสีแก |
เอาโคมส่องมองเขม้นเห็นนางเงือก | สลบเสือกอยู่ที่ทรายชายกระแส |
เป่ามหาอาคมให้ลมแปร | ที่ท้อแท้ค่อยประทังกำลังนาง |
เห็นโยคีดีใจจึงไหว้กราบ | สมาบาปช่วยวิบัติที่ขัดขวาง |
ความเจ็บปวดรวดเร้าไม่เบาบาง | นางครางพลางพลิกกายฟายน้ำตา ฯ |
๏ พระดาบสอดปากมิอยากได้ | ใครใช้ให้มึงรักกันหนักหนา |
ส่วนลูกไม่ใคร่ออกสิบอกตา | สมน้ำหน้าปวดท้องร้องเบยเบย |
แล้วจับยามสามตาตำราปลอด | จวนจะคลอดแล้วละหวาสีกาเอ๋ย |
กูถูกต้องท้องไส้ไม่ได้เลย | ยังไม่เคยพบเห็นเหมือนเช่นนี้ |
แล้วหลีกไปให้ห่างเสียข้างเขา | ช่วยเสกเป่าป้องปัดกำจัดผี |
เดชะฤทธิ์อิศโรพระโยคี | มิได้มีเภทภัยสิ่งไรพาน |
ทั้งเทวาอารักษ์ที่ในเกาะ | ระเห็จเหาะลงมาสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ช่วยแก้ไขได้เวลากฤดาการ | คลอดกุมารเป็นมนุษย์บุรุษชาย |
เนตรขนงวงนลาฏไม่คลาดเคลื่อน | ละม้ายเหมือนพระอภัยนั้นใจหาย |
มีกำลังนั่งคลานทะยานกาย | เข้ากอดก่ายมารดรไม่อ่อนแอ |
นางกอดบุตรสุดใจมิได้อิ่ม | พ่อเนื้อนิ่มแนบข้างไม่ห่างแห |
แข็งฤทัยใจคอหายท้อแท้ | ลงชุ่มแช่ชลธารสำราญใจ |
พระหน่อนาถชาติเงือกชอบเลือกน้ำ | เที่ยวผุดดำตามประสาอัชฌาสัย |
นางแม่เมียงเคียงข้างไม่ห่างไกล | แล้วอุ้มไปนั่งแท่นแผ่นศิลา ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีนิ่งนั่งได้ฟังเสียง | จึงมองเมียงมาชะโงกริมโกรกผา |
เห็นกุมารคลานได้มิใช่ปลา | หัวร่อร่าร้องไม่เป็นไรแล้ว |
เข้าอุ้มชูดูหลานสงสารนัก | ไม่รู้จักเจรจาตาแจ๋วแหวว |
แต่ลักษณะจะฉลาดไม่คลาดแคล้ว | ดูผ่องแผ้วเหมือนพ่อหนอสีกา ฯ |
๏ นางเงือกน้ำคำรพอภิวาท | ข้าเป็นชาติเชื้อสัตว์เหมือนมัจฉา |
จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมนุษย์สุดปัญญา | ขอฝากฝ่าบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ |
ช่วยเลี้ยงดูกุมารเหมือนหลานเถิด | เสียแรงเกิดกายมาจะอาสัญ |
อันข้านี้วิสัยอยู่ไกลกัน | เช้ากลางวันเย็นลงจะส่งนม ฯ |
๏ พระโยคีมีจิตคิดสงสาร | ด้วยเหมือนหลานลูกศิษย์สนิทสนม |
จึงว่ากูผู้สถิตในกิจกรม | ไม่มีสมบัติอะไรที่ไหนเลย |
จะเย็บฟูกผูกเปลเห่อ้ายหนู | ก็ไม่รู้สีสาสีกาเอ๋ย |
ต้องกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไปทั้งไม่เคย | จะเฉยเมยเสียมิช่วยจะม้วยมุด |
ฤกษ์วันนี้ตรีจันทร์เป็นวันโชค | ต้องโฉลกลัคนามหาอุด |
จะให้นามตามอย่างข้างมนุษย์ | ให้ชื่อสุดสาครอวยพรชัย ฯ |
๏ นางกราบกรานท่านสิทธาว่าสาธุ | ให้อายุยืนยงอสงไขย |
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์กำจัดภัย | แล้วอุ้มให้กินนมนั่งชมเชย |
โอ้เกิดมาอาภัพอัปภาค | จะจำจากมารดานิจจาเอ๋ย |
อย่าเศร้าสร้อยน้อยใจอาลัยเลย | บุญแม่เคยครองเลี้ยงเจ้าเพียงนั้น |
ไปชาติหน้ามาเกิดกับอกแม่ | อย่าห่างแหเสน่หาจนอาสัญ |
ในชาตินี้วิบากจะจากกัน | เพราะต่างพันธุ์ผิดเพศสังเวชใจ |
สะอื้นพลางนางแลดูลูกรัก | สงสารนักนึกน่าน้ำตาไหล |
จึงหยิบของสองสิ่งซึ่งซ่อนไว้ | เป็นของพระอภัยให้โอรส |
ทำขวัญลูกผูกธำมรงค์รัตน์ | ไว้กับหัตถ์เบื้องขวาให้ปรากฏ |
กุณฑลทองขององค์พระทรงยศ | ให้ดาบสเก็บไว้ให้กุมาร |
แล้วเรียกบุตรสุดสาครของแม่ | เฝ้าแลแลมารดาน่าสงสาร |
ให้กินนมชมชูพระกุมาร | แล้วให้คลานขึ้นบนเพลาพระเจ้าตา |
พระสอดกรช้อนอุ้มว่านุ่มนิ่ม | ดูจิ้มลิ้มลูกพ่อเจียวหนอหวา |
ไปด้วยกูอยู่ด้วยกันที่ศาลา | แล้วอุ้มพามากุฎีพระชีไพร |
จึงเสี่ยงสัตย์อัธิษฐานการกุศล | เดชะผลเมตตาได้อาศัย |
จะเลี้ยงดูกุมารแม้นนานไป | เขาจะได้สืบกษัตริย์ขัตติยา |
จงมีเมาะเบาะฟูกเครื่องลูกอ่อน | ทั้งเปลนอนหน่อนาถตามวาสนา |
พอขาดคำรำพันจำนรรจา | ก็มีมาเหมือนหนึ่งในน้ำใจนึก |
จึงวางองค์ลงบนเปลแล้วเห่ช้า | ทำขนมแชงม้าเวลาดึก |
โอระเห่เอระโห่โอระหึก | อึกทึกทั้งศาลาจนราตรี |
ถึงดึกดื่นตื่นนอนป้อนกล้วยน้ำ | กุมารกล้ำกลืนกินจนสิ้นหวี |
ทั้งฟูกเมาะเบาะหมอนอ่อนอินทรีย์ | พระโยคีคอยระวังเป็นกังวล |
ครั้นรุ่งอุ้มดุ่มเดินไปเนินเขา | ให้ดื่มเต้ากษิราสี่ห้าหน |
เป็นแถวเทือกเงือกบุรุษมนุษย์ปน | แรงกว่าคนเมืองเราชาวบุรี |
ได้สิบเดือนเหมือนได้สักสิบขวบ | ดูขาวอวบอ้วนท้วนเป็นนวลฉวี |
ออกวิ่งเต้นเล่นได้ไกลกุฎี | เที่ยวไล่ขี่วัวควายสบายใจ |
แล้วลงน้ำปล้ำปลาโกลาหล | ดาบสบ่นปากเปียกเรียกไม่ไหว |
สอนให้หลานอ่านเขียนร่ำเรียนไป | แล้วก็ให้วิทยาวิชาการ |
รู้ล่องหนทนคงเข้ายงยุทธ์ | เหมือนสินสมุทรพี่ยาทั้งกล้าหาญ |
ได้เห็นแต่แม่มัจฉากับอาจารย์ | จนอายุกุมารได้สามปี ฯ |
๏ อยู่วันหนึ่งถึงเวลาสิทธาเฒ่า | สำรวมเข้านั่งฌานกุมารหนี |
ลงเล่นน้ำปล้ำปลาในวารี | แล้วขึ้นขี่ขับขวางไปกลางชล |
พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย | แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน |
หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรน | กายพิกลกำยำดูดำนิล |
กุมาราถาโถมเข้าโจมจับ | มังกรรับรบประจัญไม่ผันผิน |
เข้าคาบคอหน่อกษัตริย์จะกัดกิน | กุมารดิ้นโดดขึ้นนั่งหลังอาชา |
ม้าสะบัดพลัดหลุดยังยุดหาง | ดูกลิ้งกลางเกลียวคลื่นลื่นถลา |
ตลบเลี้ยวเรียวแรงแผลงศักดา | เสียงชลาเลื่อนลั่นสนั่นดัง |
จนค่ำพลบรบรุดไม่หยุดหย่อน | สุดสาครภาวนาคาถาขลัง |
ถึงสินธพขบขย้ำด้วยกำลัง | ไม่เข้าหนังแน่นเหนียวคงเขี้ยวงา |
แต่มืดมัวกลับปู่ไม่อยู่รบ | แฉลบหลบขึ้นตลิ่งวิ่งถลา |
ถึงโยคีดีใจไหว้วันทา | บอกเจ้าตาตามจริงทุกสิ่งอัน |
ไปเที่ยวเล่นเห็นอ้ายอะไรมิรู้ | ดำทั้งตัวหัวหูมันดูขัน |
ข้าเข้าจับกลับขบต้องรบกัน | แต่กลางวันจนเดี๋ยวนี้ฉันหนีมา ฯ |
๏ พระทรงศิลป์ยินสุดสาครบอก | นึกไม่ออกอะไรกัดหรือมัจฉา |
จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา | ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน |
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ | ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน |
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์ | พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน |
จึงนึกว่าม้านี้มันมีฤทธิ์ | จำจะคิดจับไว้ให้พระหลาน |
ได้ตามติดบิตุรงค์พบวงศ์วาน | สิทธาจารย์ดีใจจึงไขความ |
ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย | เป็นกะเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม |
จับไว้ขี่มีสง่ากล้าสงคราม | จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน |
แล้วบอกมนต์กลเล่ห์กระเท่ห์ให้ | จะจับได้ด้วยพระเวทวิเศษขยัน |
สุดสาครนอนบ่นมนต์สำคัญ | ได้แม่นมั่นเหมือนหนึ่งจิตไม่ผิดเพี้ยน |
จึงลงหวายสายเอกเสกประทับ | ไว้สำหรับผูกรั้งเช่นบังเหียน |
แล้วนอนบ่นมนต์เก่าที่เล่าเรียน | จนสิ้นเทียนเคลิ้มหลับระงับไป |
พอเช้าตรู่รู้สึกให้นึกแค้น | ฉวยเชือกแล่นลงมหาชลาไหล |
ขึ้นขี่ปลาพาว่ายคล้ายคล้ายไป | ถึงคลื่นใหญ่มองเขม้นเห็นสินธพ |
กระโดดโครมโถมถึงเข้าทึ้งหนวด | มังกรหวดหางกระหวัดทั้งกัดขบ |
พอหลุดมือรื้อกลับเข้ารับรบ | โจนประจบจับหนวดกระหมวดรั้ง |
เอาวงหวายสายสิญจน์สวมศีรษะ | ด้วยเดชะพระเวทวิเศษขลัง |
ม้ามังกรอ่อนดิ้นสิ้นกำลัง | ขึ้นนั่งหลังแล้วกุมารก็อ่านมนต์ |
ได้เจ็ดคาบปราบม้าสวาหะ | แล้วเป่าลงตรงศีรษะสิ้นหกหน |
อาชาชื่นฟื้นกายไม่วายชนม์ | ให้รักคนที่ขึ้นขี่ดังชีวา |
ขยับซ้ายย้ายตามด้วยความรัก | หรือจะชักย้ายทางไปข้างขวา |
คอยตามไปไม่ขัดหัทยา | กุมารารู้ทีก็ดีใจ |
ขี่ขยับขับขึ้นบนเกาะแก้ว | ยิ่งคล่องแคล่วควบกระโดดโขดไศล |
เที่ยวเลียบรอบขอบเกาะเหมือนเหาะไป | ประเดี๋ยวใจถึงศาลาพระอาจารย์ |
เห็นครูอิงพิงหมอนนั่งถอนหนวด | แกล้งควบอวดอัยกาตรงหน้าฉาน |
ทรามคะนองลองเชิงเริงสำราญ | พระอาจารย์นั่งหัวร่อพ่อนี่นา |
อย่าควบนักชักวงมาตรงนี้ | จะดูศีรษะมันขันหนักหนา |
กุมารลงทรงจูงอาชามา | ถึงตรงหน้านอบนบอภิวันท์ |
พระนักสิทธ์พิศดูเป็นครู่พัก | หัวร่อคักรูปร่างมันช่างขัน |
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพรรณ | กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร |
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้ | มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดระฉาน |
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน | ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน |
เจ้าได้ม้าพาหนะตัวนี้ไว้ | จะพ้นภัยภิญโญสโมสร |
ให้ชื่อว่าม้านิลมังกร | จงถาวรพูนสวัสดิ์แก่นัดดา |
ปล่อยให้เล่นเป็นสุขอย่าผูกถือ | ร้องเรียกชื่อแล้วก็คงตรงมาหา |
พลางเรียกหลานขึ้นมานั่งยังศาลา | พระสิทธาพรายแพร่งให้แจ้งการ |
บิดาเจ้าเหล่ากอหน่อกษัตริย์ | บุรีรัตนพลัดพรากจากสถาน |
มาถึงกูอยู่ศาลานี่ช้านาน | พึ่งโดยสารไปบุรีเมื่อปีจอ |
ประเดี๋ยวนี้ปีชวดฉศกแล้ว | เกิดหลานแก้วสามปีเข้านี่หนอ |
แล้วบอกความนามกรทั้งเหล่ากอ | แต่ชื่อพ่อชื่อพระอภัยมณี |
เจ้าจงคิดติดตามไต่ถามหา | พบบิดาได้บำรุงซึ่งกรุงศรี |
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์ปัถพี | อยู่ที่นี่นิ่งเปล่าไม่เข้าการ ฯ |
๏ หน่อนรินทร์ยินคดีพระชีเล่า | กำสรดเศร้าโศกาน่าสงสาร |
คิดถึงพ่อท้อใจอาลัยลาน | พระพลัดบ้านเมืองมาเอกากาย |
ไปสำเภาเล่าจะดีหรือมีเหตุ | แสนสมเพชภูวไนยนึกใจหาย |
เป็นลูกท่านทิ้งบิดาก็น่าอาย | ถึงเป็นตายฉันจะลาเจ้าตาตาม |
พระบิดรอยู่ตำบลแห่งหนไหน | คงจะไปตามเสด็จไปเข็ดขาม |
แต่โปรดเกล้าเล่าแถลงให้แจ้งความ | จะให้ตามตั้งจิตไปทิศใด ฯ |
๏ พระดาบสอุตส่าห์ปลอบว่าชอบอยู่ | กตัญญูยอดดีจะมีไหน |
แต่แถวทางกลางย่านที่หลานไป | ไกลกว่าไกลกลัวจะหลงเที่ยววงวน |
พระอภัยไปบำรุงกรุงผลึก | จะทำศึกชิงผู้หญิงกับสิงหล |
ตรงมือชี้นี่นะจำเอาตำบล | เป็นมณฑลทิศพายัพอยู่ลับลิบ |
อันพ่อเจ้าเขาไม่แก่ไม่หนุ่มนัก | อายุสักยี่สิบเก้าเข้าสามสิบ |
พระบอกพลางทางประทานไม้เท้าทิพย์ | ไปทางนี้ผีดิบมันดุดัน |
สำหรับมือถือไว้อย่าให้ห่าง | เปรียบเหมือนอย่างศรแผลงพระแสงขรรค์ |
ทั้งแคล้วคลาดสาตราสารพัน | ประกอบกันผีสางปะรางควาน |
อันปิ่นทองของพระอภัยให้ | ช่วยแซมใส่เกศีเมาลีหลาน |
บิดาเจ้าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน | ใครพบพานจะได้เห็นเป็นสำคัญ |
แล้วจัดแจงแต่งนุ่งหนังเสือให้ | ครบเครื่องไตรครองประทานพระหลานขวัญ |
ผูกชฎาหนังรัดสะพัดพัน | ฝนแก่นจันทน์เจิมมหาอุณาโลม |
นั่งคำนับพับเพียบดูเรียบร้อย | เหมือนเณรน้อยน่าจูบเจียวรูปโฉม |
แล้วว่าเชิญเดินไปหาสีกาโยม | ประเล้าประโลมอำลาเขาคลาไคล |
โอ้เอ็นดูมุนีฤๅษีน้อย | ให้ละห้อยโหยหาน้ำตาไหล |
เข้ากราบเท้าเจ้าตาด้วยอาลัย | หลานจะไปกังวลด้วยชนนี |
พระเจ้าปู่ดูแลแม่ฉันด้วย | จะเจ็บป่วยเป็นตายอย่าหน่ายหนี |
ฉันไปปะพระบิดาไม่ช้าที | ถ้าอยู่ดีแล้วจะลามาหาคุณ |
ฉวยขัดข้องต้องอยู่นานสงสารแม่ | ผู้เดียวแท้สิ้นสุดที่อุดหนุน |
เห็นแต่ปู่อยู่ใกล้น้ำใจบุญ | จงการุญอย่าให้มีราคีพาน ฯ |
๏ พระฟังคำร่ำสั่งก็สังเวช | น้ำพระเนตรหลั่งลงน่าสงสาร |
ด้วยเคยเห็นเอ็นดูพระกุมาร | สิทธาจารย์จึงว่าเจ้าอย่าเศร้าใจ |
ที่มารดาตาจะรับช่วยดับเข็ญ | ให้อยู่เย็นตามประสาอัชฌาสัย |
จงหักจิตปลิดปละสละไป | อย่าห่วงใยโยมอยู่กับปู่แล้ว |
พลางอำนวยอวยพรถาวรสวัสดิ์ | จงกำจัดภัยพาลเถิดหลานแก้ว |
ใครปองร้ายหมายมาดจงคลาดแคล้ว | ให้ผ่องแผ้วภิญโญเดโชชัย ฯ |
๏ กุมารสุดสาครยอกรกราบ | น้ำตาอาบอุตส่าห์ฝืนสะอื้นไห้ |
ถือไม้เท้าก้าวมาศาลาลัย | สู้แข็งใจจูงพระยาอาชาเดิน |
มาเงื้อมเขาเสาโคมเห็นโยมตื่น | ถอนสะอื้นอ้างว้างจะห่างเหิน |
นางเห็นลูกผูกชฎาพาเจริญ | สำรวมเดินดังมหาสิทธาจารย์ |
ความดีใจไหว้ว่าพระดาบส | ช่างสร้างพรตงดงามทรามสงสาร |
จะเปลื้องปลดอดนมเป็นสมภาร | เจียวหรือฉานโมทนาสถาวร ฯ |
๏ มุนีน้อยค่อยนั่งจะสั่งแม่ | แต่แลแลแล้วก็ขืนสะอื้นอ้อน |
จะออกคำอำลาให้อาวรณ์ | สะท้อนถอนฤทัยมิใคร่ลา |
แล้วว่าฉันบรรพชามาวันนี้ | ให้กุศลชนนีจงหนักหนา |
วันหนึ่งปู่ผู้เฒ่าเล่าลูกยา | ว่าบิดาตกยากมาจากเมือง |
พลอยสำเภาเขาไปจะได้สุข | หรือเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่รู้เรื่อง |
มรคาสารพัดจะขัดเคือง | จะถึงเมืองเหมือนหมายหรือวายชนม์ |
ลูกจะมาลาตามไปถามข่าว | พอให้ท้าวเธอรู้จักเสียสักหน |
ถ้าเฉินฉุกทุกข์ทับถึงอับจน | จะสู้ทนยากแค้นแทนบิดา |
ชนนีดีฉันฝากกับปู่แล้ว | จงผ่องแผ้วพักอยู่ในคูหา |
อย่าถือโทษโปรดให้ลูกไคลคลา | ตามศรัทธาที่ฉันคิดถึงบิดร ฯ |
๏ นางเงือกน้ำกำสรดสลดจิต | สุดจะคิดคับทรวงดวงสมร |
จะทานทัดขัดไว้มิให้จร | สุดสาครของแม่จะแดดาล |
นางดูหน้าอาลัยใจจะขาด | ดังฟ้าฟาดทรวงแยกให้แตกฉาน |
สะอื้นอั้นตันใจอาลัยลาน | แสนสงสารโศกาแล้วว่าพลาง |
โอ้ทูนหัวตัวแม่นี้ไม่ห้าม | สุดแต่ตามใจปองอย่าหมองหมาง |
แต่ปรานีที่ไม่แจ้งรู้แห่งทาง | จะอ้างว้างวิญญาณ์ในวารี |
เคยกินนมชมชื่นระรื่นรส | พ่อจะอดนมหมองละอองศรี |
ทั้งย่อมเยาว์เบาความได้สามปี | เล็กเท่านี้นี่จะไปกระไรเลย |
ต้องลมแดดแผดเผาจะเศร้าสร้อย | ทั้งกล้วยอ้อยพ่อจะได้ไหนเสวย |
กันดารแดนแสนไกลพ่อไม่เคย | จะหลงเลยลดเลี้ยวอยู่เดียวโดย |
แสนสงสารมารดาอุตส่าห์ถนอม | จะซูบผอมเผือดผิวจะหิวโหย |
เหมือนดอกไม้ไกลต้นจะหล่นโรย | น้ำค้างโปรยปรายต้องจะหมองมัว |
แม้นล้าเลื่อยเมื่อยเหน็บจะเจ็บป่วย | ใครจะช่วยอนุกูลพ่อทูนหัว |
ทั้งผีสางกลางชลาล้วนน่ากลัว | จะจับตัวฉีกเนื้อเป็นเหยื่อกิน |
สารพัดมัจฉาก็กล้าหาญ | ในกลางย่านยมนาชลาสินธุ์ |
ทั้งครุฑาวายุภัสนกหัสดิน | เที่ยวโบยบินบนอากาศไม่ขาดวัน |
เห็นเดินหนคนเดียวจะเฉี่ยวฉาบ | พิฆาตคาบเข่นฆ่าให้อาสัญ |
น่าใจหายตายเป็นไม่เห็นกัน | แม่พรั่นพรั่นเพราะว่าเจ้ายังเยาว์นัก |
ถึงสิบรู้บูราณท่านเฉลย | ไม่เหมือนเคยฝึกสอนด้วยอ่อนศักดิ์ |
อย่าจู่ลู่ดูถูกนะลูกรัก | จงคิดหนักหน่วงใจดูให้ดี ฯ |
๏ สุดสาครวอนว่าอย่าปรารภ | ถึงพานพบผีสางกลางวิถี |
ไม้เท้าของป้องกันของฉันมี | ทั้งม้าขี่เขี้ยวเพชรเกล็ดเป็นนิล |
อนึ่งเล่าเจ้าตาวิชาขลัง | ได้สอนสั่งเสร็จสมอารมณ์ถวิล |
อย่าหวาดหวั่นพรั่นใจที่ไพริน | ถึงของกินก็พอเสาะตามเกาะเกียน |
ที่พ่ออยู่ปู่ชี้วิถีแล้ว | ประเทศแถวทางทิศสถิตเสถียร |
จำสำคัญมั่นคงไม่วงเวียน | จะพากเพียรพยายามไปตามบุญ |
ถึงยังเด็กเหล็กเพชรไม่เข็ดขอน | จะเจาะชอนเชิงลำเนาภูเขาขุน |
จะลำบากยากแค้นเพราะแทนคุณ | ก็ได้บุญเบื้องหน้าขอลาไป ฯ |
๏ นางรู้ว่าอาจารย์บอกหลานน้อย | ที่เศร้าสร้อยสร่างเสื่อมเพราะเลื่อมใส |
ฤๅษีช่วยด้วยแล้วเห็นไม่เป็นไร | ค่อยวางใจจึงว่าแม่ก็แก่กาย |
พ่อไปปะพระบิดาแล้วอย่ากลับ | จงอยู่กับภูวนาถเหมือนมาดหมาย |
แม้นลูกยาผาสุกสนุกสบาย | ถึงแม่ตายเสียก็ไม่อาลัยตัว |
ถ้าเที่ยวไปไม่พบตลบหลัง | มาเหมือนสั่งอย่าให้สูญนะทูนหัว |
แม่อยู่นี่มิเป็นไรดอกไม่กลัว | จะฝากตัวดาบสจนปลดปลง |
พ่อไปถึงจึงทูลมูลเหตุ | ให้ทรงเดชทราบความตามประสงค์ |
ว่าชาตินี้มิได้ปะกับพระองค์ | ขอดำรงรองบาททุกชาติไป |
แล้วเงือกน้ำอำนวยอวยสวัสดิ์ | อย่าเคืองขัดขุ่นข้องให้ผ่องใส |
ให้พบปะพระบิดาดังอาลัย | อรินทร์ภัยคลาดแคล้วอย่าแผ้วพาน ฯ |
๏ ฤๅษีสุดสาครรับพรแม่ | จะห่างแหหวนจิตคิดสงสาร |
จึงสั่งซ้ำร่ำว่าไม่ช้านาน | สำเร็จการก็จะมาหามารดร |
แล้วลานางย่างเยื้องชำเลืองเหลียว | ให้เปล่าเปลี่ยวเสียวทรวงสะท้อนถอน |
ขึ้นทรงนั่งหลังพระยาม้ามังกร | แล้วหยุดหย่อนยืนยั้งเหลียวหลังแล |
เห็นศาลาอาลัยเพียงใจขาด | จะนิราศแรมร้างไปห่างแห |
สะอื้นไห้ใจคอให้ท้อแท้ | คิดถึงแม่ถึงตายิ่งอาลัย |
ชุลีกรวอนว่าเทพารักษ์ | ซึ่งสำนักเนินผาชลาไหล |
ช่วยคุ้มครองป้องปัดกำจัดภัย | เทพไททิพโสตจงโปรดปราน |
แล้วแลเล็งเพ่งพิศทิศพายัพ | ขยับขับม้าก้าวดูห้าวหาญ |
อัสดรถอนถีบสุธาธาร | ควบทะยานเหยียบน้ำไม่ซ้ำรอย |
ดูลิ่วลิ่วปลิวต่ายไปตามคลื่น | เหมือนเดินพื้นแผ่นตลิ่งวิ่งหยอยหยอย |
ยิ่งลมกล้าม้าโลดกระโดดลอย | พระหน่อน้อยนั่งชมยมนา |
ดูกว้างขวางว้างโว้งละโล่งลิ่ว | เห็นริ้วริ้วเรี่ยรายทั้งซ้ายขวา |
ล้วนละเมาะเกาะใหญ่แต่ไกลตา | อุปมาเหมือนหนึ่งแหนแลลิบลิบ ฯ |
๏ ถึงเมืองล่มจมสมุทรมนุษย์ม้วย | ประกอบด้วยยักขินีพวกผีดิบ |
เห็นมนุษย์สุดอยากปากยิบยิบ | เสียงซุบซิบเสแสร้งจำแลงกาย |
เป็นถิ่นฐานบ้านเมืองเรืองอร่าม | ทั้งตึกรามเรือนเรือดูเหลือหลาย |
ตลาดน้ำเรือสัญจรเที่ยวคอนพาย | บ้างร้องขายข้าวของที่ต้องการ |
สุดสาครอ่อนแอครั้นแลเห็น | คิดว่าเป็นปัถพินที่ถิ่นฐาน |
ทั้งแลเห็นเต้นรำน่าสำราญ | เขาเรียกขานขับม้าเข้าธานี |
เข้าประตูดูกำแพงตะแคงคว่ำ | อยู่ในน้ำเก่าแก่เห็นแต่ผี |
เป็นเงาเงาเข้ากลุ้มรุมราวี | กุมารตีด้วยไม้เท้าพระเจ้าตา |
ถูกเนื้อตัวหัวขาดลงกลาดเกลื่อน | ยังพวกเพื่อนคึกคักมาหนักหนา |
บ้างอยากกินลิ้นแลบแปลบแปลบมา | กุมารกล้ากลอกกลับเข้ารับรบ |
ม้ามังกรถอนถีบกีบสะบัด | เอาหางรัดราวกับนาคทั้งปากขบ |
สังหารผีรี้พลอยู่จนพลบ | เห็นเพลิงคบล้อมรอบขอบกำแพง |
พวกผีดิบสิบโกฏิ์มันโลดไล่ | จะเข้าใกล้กลัวมนต์ขนแสยง |
แต่หลอนหลอกออกอัดสกัดสแกง | ด้วยมันแกล้งจะให้วนอยู่จนตาย |
กุมาราม้าทรงเฝ้าหลงรบ | เที่ยวตลบไล่ผีไม่หนีหาย |
ถึงเจ็ดวันมันไม่แตกไม่แยกย้าย | จนม้าว่ายน้ำเวียนจะเจียนจม |
ทั้งตัวสุดสาครก็อ่อนจิต | รำลึกคิดถึงเจ้าตาที่อาศรม |
พอเสียงดังหงั่งหง่างมากลางลม | ปีศาจจมหายวับไปลับตา |
เห็นโยคีขี่เมฆมาเสกเวท | จึงอาเพศพวกผีหนีคาถา |
ขึ้นหยุดยั้งนั่งบนใบเสมา | ไหว้เจ้าตาทูลถามดูตามแคลง |
มาถึงนี่ผีพร้อมเข้าล้อมหลาน | คิดว่าบ้านถิ่นประเทศเป็นเขตแขวง |
เข้าหักหาญราญรอนจนอ่อนแรง | นี่กำแพงเมืองตั้งแต่ครั้งไร ฯ |
๏ โยคีครูผู้เฒ่าจึงเล่าเรื่อง | นี่คือเมืองท้าวปักกาภาษาไสย |
เพราะพรากพระโคดมจึงจมไป | เห็นแต่ใบเสมาอยู่ช้านาน |
เมื่อแรกล่มสมเพชพวกมนุษย์ | มาม้วยมุดมรณาหนักหนาหลาน |
พลไพร่ไม่น้อยสักร้อยล้าน | อดอาหารหิวตายจึงร้ายแรง |
แม้นเรือซัดพลัดเข้ามาเหล่านี้ | เป็นเหยื่อผีพวกมันล้วนขันแข็ง |
อย่ารั้งรอบังอาจจะพลาดแพลง | ออกกำแพงไปเสียเจียวประเดี๋ยวนี้ |
ไปข้างหน้าถ้าพบมันรบอีก | จงเลี่ยงหลีกเลยไปในวิถี |
มันเข้าใกล้ไม้ถือที่มือตี | พระมุนีแนะอุบายแล้วหายไป ฯ |
๏ สงสารหน่อบพิตรอิศเรศ | ได้ทราบเหตุครูแจ้งแถลงไข |
พอลับหน้าดาบสสลดใจ | ลงจากใบเสมาขึ้นพาชี |
มังกรกลายว่ายน้ำเหมือนเดินบก | พอเดือนตกตัดทางกลางวิถี |
เหมือนสำเภาเขาแล่นเมื่อลมดี | เรื่อยเรื่อยรี่เร็วมาในสาคร |
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเกาะขึ้นเสาะหา | ผลผลาปรางปริงริมสิงขร |
กำดัดแดดแผดหนักก็พักนอน | ม้ามังกรกินปลาประสาใจ |
ครั้นฟื้นองค์ทรงนิลสินธพ | มาไม่พบเกาะแก่งตำแหน่งไหน |
สันโดษเดียวเปลี่ยวกายคล้ายคล้ายไป | กำหนดได้เดือนเศษถึงเขตคน ฯ |
๏ จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ | อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน |
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์ | ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา |
ไม่นุ่งห่มสมเพชเหมือนเปรตเปล่า | เป็นคนเจ้าเล่ห์สุดแสนมุสา |
ทำเป็นทีชีเปลือยเฉื่อยเฉื่อยช้า | ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง |
พวกสำเภาเลากาก็พาซื่อ | ชวนกันถือผู้วิเศษทุกเขตแขวง |
คิดว่าขาดปรารถนาศรัทธาแรง | ไม่ตกแต่งตั้งแต่คิดอนิจจัง |
ใครขัดสนบนบานการสำเร็จ | เมื่อแท้เท็จถือว่าวิชาขลัง |
คนมาขอก่อกุฏิ์ให้หยุดยั้ง | นับถือทั้งธรณีเรียกชีเปลือย |
ส่วนชายปลอมพร้อมหมดไม่อดอยาก | มีโยมมากเหมือนหมายสบายเรื่อย |
จนหนวดงอกออกขาวดูยาวเฟื้อย | ทั้งผมเลื้อยลากส้นอยู่คนเดียว ฯ |
๏ กุมาราม้าทรงมาตรงเกาะ | เห็นละเมาะไม้พุ่มชอุ่มเขียว |
ที่เงื้อมเขาเสาหงส์ใส่ธงเทียว | กุฎีเดียวดูหลังคาช่อฟ้าเฟื้อย |
สำคัญว่าดาบสปรากฏกล้า | จะแวะหาให้สบายพอหายเหนื่อย |
จึงขับม้ามากุฎีเห็นชีเปลือย | ยังหลับเรื่อยรูปร่างโคร่งคร่างครัน |
ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ | ประหลาดเหลือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน |
น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน | กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน |
ประหลาดใจไยหนอไม่นุ่งผ้า | จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล |
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน | ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที |
หัวร่อพลางทางคิดผิดประหลาด | หรือปีศาจยมทูตอ้ายภูตผี |
จึงร้องปลุกลุกขึ้นหวาตาคนนี้ | ผ้าไม่มีหรือไม่นุ่งดูรุงรัง ฯ |
๏ ฝ่ายชีเปลือยเมื่อยม่อยไปหน่อยหนึ่ง | ลุกทะลึ่งเหลียวหาข้างหน้าหลัง |
เห็นฤๅษีกะจิริดให้คิดชัง | ขี่ม้ามังกรหางเหมือนอย่างงู |
ให้คิดคร้ามถามว่ามาแต่ไหน | ธุระไรหรือฤๅษีมุนีหนู |
อ้ายที่ขี่นี่อะไรจะใคร่รู้ | เขม้นดูเดือดใจอยู่ในที |
กุมาราว่าท่านบอกเราออกก่อน | ไยมานอนแก้ผ้าน่าบัดสี |
หรือผ้าผ่อนท่อนสไบนั้นไม่มี | ไม่ขูดขี้ฟันบ้างเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ชีเปลือยฟังนั่งขัดสมาธิพับ | แสนสับปลับปลิ้นปลอกบอกนิสัย |
เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย | ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง |
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค | แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง |
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง | จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร |
เราถือศีลจินตนาศิวาโมกข์ | สละโลกรูปนามตามวิสัย |
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด | ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้ |
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ | อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี |
นี่ตัวท่านการธุระอะไรมี | มาเดี๋ยวนี้จะไปหนตำบลใด ฯ |
๏ พระหน่อน้อยพลอยเห็นเหมือนเช่นว่า | โมทนาน้อมองค์ไม่สงสัย |
ลงจากหลังมังกรวอนอภัย | พระอย่าได้ถือโทษจงโปรดปราน |
อันข้านี้ขี่ม้ามาในน้ำ | จะแวะสำนักหาผลาหาร |
แล้วเล่าความตามเรื่องเคืองรำคาญ | จะไปบ้านเมืองคิดถึงบิดา |
ได้ยินเขาเล่าลือบ้างหรือไม่ | พระอภัยบิตุเรศกับเชษฐา |
จงโปรดเกล้าเล่าแถลงแจ้งกิจจา | ให้นัดดาทราบความจะตามไป ฯ |
๏ ส่วนชีเปลือยเฉื่อยช้าหลับตาคิด | มันเรืองฤทธิ์รู้เวทวิเศษไฉน |
จำจะลวงหน่วงถามถึงความใน | เห็นจะได้ดอกเด็กเล็กเท่านี้ |
ถ้าเดินน้ำทำเป็นเช่นอ้ายหนู | จะลือกูเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
ดำริพลางทางลวงดูท่วงที | เป็นไรมีเราก็รู้อยู่แก่ใจ |
แต่แถวทางข้างหน้านั้นปรากฏ | มีน้ำกรดลึกเหลวเป็นเปลวไหล |
ต่อมีมนต์กลเวทวิเศษไป | จึงข้ามได้โดยง่ายไม่วายชนม์ |
นี่ตัวเจ้าเล่าเรียนมาแล้วหรือ | จะดึงดื้อไปแล้วเห็นไม่เป็นผล |
ซึ่งเดินน้ำร่ำมาในสาชล | ด้วยเวทมนตร์เชี่ยวชาญประการใด ฯ |
๏ สุดสาครอ่อนศักดิ์ไม่หนักหน่วง | ถูกลมลวงเล่าแจ้งแถลงไข |
ที่ความรู้ครูสอนแต่ก่อนไร | รำพันให้แจ้งจิตไม่ปิดบัง |
แต่แก้กรดบทนี้ยังมิรู้ | จะขออยู่ศึกษาวิชาขลัง |
เหมือนลูกเต้าเจ้าประคุณการุณัง | จงช่วยสั่งสอนให้ได้ไคลคลา ฯ |
๏ ส่วนผู้เฒ่าเจ้าอุบายกระต่ายแก่ | รู้กระแสสมมาดปรารถนา |
แม้นลวงได้ไม้เท้าที่ถือมา | จะขี่ม้ามังกรได้ดังใจจง |
จำจะหลอกบอกมนต์กันบนเขา | ให้เรียนเล่าเสียเชิงละเลิงหลง |
ถึงตัวดีมีครูจะอยู่คง | ผลักมันลงที่ในเหวก็เหลวไป |
จึงตอบคำทำทีอารีรัก | ไม่ยากนักดอกจะแจ้งแถลงไข |
จะเรียนร่ำตำราท่านว่าไว้ | ให้ขึ้นไปบอกมนต์กันบนเนิน |
ถ้าแม้นเจ้าเล่าจำได้สำเร็จ | ไม่เหนื่อยเหน็ดนั่งหัวเราะเหมือนเหาะเหิน |
แกล้งพูดล่อพอให้น้ำใจเพลิน | แล้วพาเดินดัดดั้นขึ้นบรรพต |
ถึงปากปล่องช่องเหวเป็นเปลวโปร่ง | ตลอดโล่งลึกล้ำเหลือกำหนด |
บอกให้นั่งตั้งประนมพรหมพรต | วางไม้เท้าดาวบสไว้ริมกาย |
เห็นได้ทีชีเมียงเข้าเคียงข้าง | กระซิบพลางผลัดตกหัวหกหาย |
กระทบหินสิ้นแรงพลิ้วแพลงกาย | ทรวงทลายล้มซบสลบไป ฯ |
๏ ชีเปลือยได้ไม้เท้าของดาวบส | แกถือจดจ้องเดินลงเนินไศล |
ตรงมาหาพาชีด้วยดีใจ | แกเงื้อไม้ม้ากลัวก้มหัวลง |
ขึ้นขี่หลังรั้งสายหวายตะค้า | สงสารม้าร้องเพียงจะเสียงหลง |
แต่ป่วนปั่นหันเหียนวิ่งเวียนวง | ด้วยรักองค์หน่อนาถไม่คลาดคลา |
จนชีเปลือยเหนื่อยแรงแกว่งไม้เท้า | ความกลัวราวกับจะดิ้นสิ้นสังขาร์ |
ต้องตามใจมิได้ขัดหัทยา | ชีชราควบลองดูว่องไว |
จึงขับตรงลงทะเลเที่ยวเร่ร่อน | อัสดรโดดปลิวหวิวหวิวไหว |
พอรู้ทีชีเปลือยไม่เหนื่อยใจ | คิดจะไปเที่ยวตามความสำราญ |
จึงหมายมุ่งกรุงแก้วการะเวก | เป็นเมืองเอกอิศรามหาสถาน |
พวกสำเภาเขาเคยขึ้นบนบาน | จะคิดอ่านอวดวิชาอุตส่าห์ไป ฯ |
๏ จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก | พึ่งอภิเษกแทนกษัตริย์ที่ตัดษัย |
สง่างามนามพระสุริโยไทย | อายุได้ยี่สิบสองขึ้นครองเมือง |
มีโฉมยงองค์มิ่งมเหสี | ชื่อโฉมจันทวดีฉวีเหลือง |
สนมนางอย่างเอกอเนกเนือง | ทั้งงานเครื่องงานกลางสำอางตา |
มีพระราชบุตรีกะจิริด | ประไพพิศเพียงเทพเลขา |
ชื่อนงเยาว์เสาวคนธ์ดังมณฑา | ชันษาสองปีกับสี่เดือน |
น่าเอ็นดูรู้พลอดฉอดฉอดเสียง | เสนาะสำเนียงนารีไม่มีเหมือน |
ทั้งเสนาสามนต์พลเรือน | ประชาราษฎร์กลาดเกลื่อนทั้งกรุงไกร |
อันปิ่นปักนัคราการะเวก | ถืออุเบกขามั่นไม่หวั่นไหว |
พระน้าวโน้มโลมเลี้ยงทั้งเวียงชัย | ไม่มีภัยผาสุกทุกทิวา |
เมื่อวันนั้นบรรทมหลับสนิท | ทรงนิมิตฝันฟื้นตื่นผวา |
พระจำได้ในสุบินจินตนา | ถึงเวลาออกยังห้องท้องพระโรง |
ส่วนเสนาข้ารองละอองบาท | ล้วนเปรื่องปราชญ์ปรีชาดูอ่าโถง |
นุ่งสมปักชักกลีบจับจีบโจง | เข้าพระโรงกราบก้มบังคมคัล |
จึงตรัสบอกโหราพฤฒาเฒ่า | คืนนี้เราหลับไปเมื่อไก่ขัน |
ฝันว่าแร้งแดงทั่วทั้งตัวมัน | แต่ขนนั้นเลี่ยนโล้นดูโกร๋นเกรียน |
มันคาบแก้วแล้วบินกลิ่นตลบ | เหม็นเหมือนศพซากหืนให้คลื่นเหียน |
ครั้นแร้งหายพรายช่วงดวงวิเชียร | สว่างเวียนวงรอบขอบบุรี |
แล้วเคลื่อนคล้อยลอยร่อนเราช้อนได้ | เอาส่งให้แก่ธิดามารศรี |
พอรุ่งตื่นฟื้นกายจะร้ายดี | พระโหรปรีชาดูให้รู้ความ ฯ |
๏ โหรรับสั่งตั้งวันพระชันษา | บอกเวลาคูณครบเคารบสาม |
ได้เศษเสาร์เข้าตติยะยาม | จึงทูลตามไตรเพทสังเกตใจ |
ซึ่งแร้งสาบคาบแก้วมาแล้วหาย | คือคนร้ายรูปจริตผิดวิสัย |
จะนำหน้าพากุมารอันชาญชัย | เข้ามาในนคราไม่ช้านัก |
ซึ่งได้แก้วแล้วประทานธิดาราช | จะสังวาสสืบวงศ์ดำรงศักดิ์ |
มิเหมือนคำทำนายที่ทายทัก | จึงปักหลักลงแล้วเฆี่ยนให้เจียนตาย ฯ |
๏ กษัตริย์สุริโยไทยได้สดับ | ประทานทรัพย์ผ้าเสื้อให้เหลือหลาย |
แล้วคืนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย | แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์ ฯ |
๏ ฝ่ายชีเปลือยเรื่อยมาในสาคเรศ | ถึงขอบเขตขึ้นฝั่งดังประสงค์ |
แกถือหวายสายกระสันไว้มั่นคง | ขับม้าทรงตรงมาท้ายธานี |
ฝ่ายหนุ่มสาวชาวกรุงมุ่งเขม้น | คิดว่าเป็นโปร่งเปรตประเภทผี |
เสียงครึกครื้นตื่นวิ่งเป็นสิงคลี | ชาวบุรีร้องอึงคะนึงไป |
บ้างว่าผีขี่แพะหรือแกะอูฐ | บ้างว่าภูตดอกเช่นนี้ผีที่ไหน |
นางสาวแก่แลดูอดสูใจ | ฮ้ายอะไรอย่างนี้ลูกมิเคย |
เหล่าลูกเล็กเด็กคะนองก็ร้องว่า | ดูคนแก่แก้ผ้าเจ้าข้าเอ๋ย |
ตาชีเปลือยเฉื่อยสบายไม่อายเลย | ทำเฉยเมยเดินมาถึงหน้าวัง |
ที่รู้จักหลักแหล่งก็แจ้งเหตุ | ผู้วิเศษเกาะพนมอาคมขลัง |
อาราธนาว่าเจ้าคุณการุณัง | นิมนต์ยั้งหยุดก่อนผ่อนสบาย |
จึงถามว่ามาประสงค์สิ่งไรบ้าง | จงกระจ่างแจ้งอรรถจะจัดถวาย |
ส่วนตาเฒ่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย | เรามาหมายโปรดสัตว์กำจัดภัย |
ด้วยบัดนี้ผีห่ามันกล้าหาญ | จะเกิดการโกลาโรคาไข้ |
ให้รากท้นคนตายฉิบหายไป | จงบอกให้กันรู้ทุกผู้คน |
แม้นกลัวตายชายหญิงอย่างนิ่งช้า | จงออกมานั่งข้างทางถนน |
กูจึงจะประพรำด้วยน้ำมนต์ | ให้รอดพ้นความตายสบายใจ |
คนทั้งนั้นครั้นได้ยินก็สิ้นเกลียด | อุตส่าห์เบียดเสียดกันเสียงหวั่นไหว |
มานั่งหลามตามทางสล้างไป | ที่เจ็บไข้คนจูงพยุงมา |
ทั้งลูกอ่อนนอนเมาะนางแม่อุ้ม | พวกสาวหนุ่มแน่นถนนคนนักหนา |
ต่างแลดูผู้วิเศษสมเพชตา | บ้างก้มหน้านั่งหัวร่ององอไป |
นางสาวแก่แม่ม่ายใจขี้ขลาด | ร้องกรีดกราดกราบนบนั่งซบไหว้ |
ด้วยกลัวตายหายเกลียดรังเกียจใจ | เสนาในกราบก้มบังคมทูล |
ว่าบัดนี้ชีเปลือยมาโปรดสัตว์ | จะกำจัดโรคร้ายให้หายสูญ |
ขี่อะไรไม่รู้จักศักดิ์ตระกูล | รำพันทูลเขาว่าชีนี้ดีนัก ฯ |
๏ ธิบดินทร์ยินดีเป็นที่ยิ่ง | คิดว่าจริงจะใคร่ดูให้รู้จัก |
จึงตรัสว่าถ้ากระนั้นขยันนัก | ไม่ประจักษ์แจ้งว่าท่านอาจารย์ดี |
จงช่วยเชิญมารักษาประชาราษฎร์ | ให้แคล้วคลาดบาดเจ็บไข้โพยภัยผี |
ทั่วทุกคนจนรอบขอบบุรี | เราจะนีมนต์บ้างเข้าวังใน |
แล้วสั่งเหล่าสาวสุรางค์ต่างคำนับ | ให้คอยรับผู้วิเศษข้างเพทไสย |
จะพรมพรำน้ำมนต์ให้พ้นภัย | พวกข้างในนอบน้อมอยู่พร้อมเพรียง |
บ้างรีบรัดจัดธูปเทียนบุปผา | บ้างห่มผ้าผิวไม้สไบเฉียง |
เครื่องบูชามาตั้งนั่งเรียบเรียง | ขี้ข้าเคียงเข้าไปนั่งข้างหลังนาย ฯ |
๏ ฝ่ายเสนามานิมนต์ผู้วิเศษ | ไปรอบเขตขอบบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย |
ประน้ำมนต์คนทั่วทั้งหญิงชาย | เข้าทางท้ายวังวางมากลางวัง |
หม่อมผู้หญิงชิงกันดูผู้วิเศษ | คิดว่าเปรตตกประหม่าหน้าเป็นหลัง |
ร้องหวาดหวีดกรีดเสียงสำเนียงดัง | นางชาววังวิ่งพัลวันเวียน |
บ้างร้องช่วยด้วยแม่เจ้าคุณเอ๋ย | กระไรเลยเหลือร้ายไม่หายเหียน |
บ้างซ่อนตัวกลัวสุดเที่ยวมุดเมี้ยน | ตกใจเจียนจะเป็นลมไม่สมประดี |
ส่วนตาเฒ่าเจ้าเล่ห์เหมือนเดรฉาน | หน้ามันด้านดื้อได้ไม่บัดสี |
ดูสาวสาวชาวบุรินทร์จนสิ้นดี | มาถึงที่ในวังนั่งยองยอง |
สะกดจิตบิดกายไม่หายเหือด | ดูดังเลือดขึ้นหน้าเกศาสยอง |
อำมาตย์พามาริมพระโรงทอง | เสียงแซ่ซ้องเสนาออกมารับ |
บ้างว่าม้าน่ากลัวหัวเหมือนนาค | บ้างจุปากว่าไม้เท้ายาวจำหนับ |
บ้างบอกความตามรับสั่งนั่งคำนับ | ตรัสให้รับคุณเข้าไปในพระโรง ฯ |
๏ เฒ่ากาลีดีใจลงจากม้า | ฝ่ายอาชาลุกโลดกระโดดโหยง |
ดังลมฉิวปลิวเต้นเผ่นตะโพง | ลงน้ำโพล่งแผลงศักดาไปหานาย |
ส่วนชีเปลือยเมื่อยล้าเห็นม้ากลับ | ลมก็จับล้มกลิ้งนิ่งนอนหงาย |
เสนาในใหญ่น้อยพลอยวุ่นวาย | เข้ารอบกายแก้ไขก็ไม่ฟื้น |
กษัตรามาดูตาครูเฒ่า | เห็นตัวเปล่าเปลือยเลี่ยนให้เหียนหืน |
แต่ทรงเดชเวทนาอุตส่าห์ยืน | เห็นริกริกพลิกฟื้นไม่พูดจา |
จึงให้รับไปไว้ริมทิมโอสถ | ให้หมอมดพร้อมพรักอยู่รักษา |
พระสั่งพลางหมางเมินเกินศรัทธา | ลีลามาปรางค์มาศปราสาทชัย ฯ |
๏ ส่วนเสนีที่ศรัทธากับตาเฒ่า | หามมาเข้าทิมขวาพออาศัย |
หมอรักษายาวางต่างต่างไป | ชีเปลือยได้สมประดีไม่มีสบาย |
เมื่อม้าหนีนี่จะไปข้างไหนรอด | ระทวยทอดทุกข์ซ้ำระส่ำระสาย |
ให้หาวเรอเพ้อพกผงกกาย | เป็นไข้ใจไม่หายอยู่หลายวัน ฯ |
๏ ฝ่ายพาชีหนีได้มาในน้ำ | พอพลบค่ำควบหนักดังจักรผัน |
ทั้งหลังเปล่าเบาแรงยิ่งแข็งครัน | พอไก่ขันขึ้นละเมาะเกาะพนม |
เที่ยวหานายหลายตลบไม่พบเห็น | แล้วโผนเผ่นเข้าไปหาในอาศรม |
ด้วยรักใคร่ใจม้าต้องอารมณ์ | เที่ยวเดินดมกลิ่นรอยร่อยร่อยมา |
ถึงเหวห้องปล่องหินได้กลิ่นหนัก | แจ้งประจักษ์ว่าเจ้าอยู่ในคูหา |
ชะโงกมองร้องเรียกประสาม้า | ไม่เห็นหน้าเจ้านายวุ่นวายใจ |
แต่หันเหียนเวียนมองแล้วร้องเรียก | สุดสำเหนียกมิ่งม้าน้ำตาไหล |
เฝ้านั่งดูคูหาด้วยอาลัย | ไม่ไปไกลปากปล่องนองน้ำตา ฯ |