- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
๏ ฝ่ายบาทหลวงง่วงเหงากอดเข่าคิด | อยู่พร้อมพรั่งทั้งลูกศิษย์นางกฤษณา |
มีผู้รู้อยู่ที่วังเมืองลังกา | จะต้องล่าเลิกทัพถอยกลับไป |
นางพระยาว่าคนกำพลเพชร | เมืองร้อยเอ็ดเห็นหาเข้ากับเราไม่ |
ทั้งองค์ท้าวเจ้าเมืองต่างเคืองใจ | แม้นกลับไปไพรีจะบีฑา |
ด้วยพระขรรค์นั้นก็หายรู้พรายแพร่ง | มันจะแข็งเมืองคิดริษยา |
จะลามล่วงจ้วงจาบทำหยาบช้า | จะเงยหน้าดูมนุษย์ก็สุดอาย ฯ |
๏ บาทหลวงว่าถ้าไม่ไปให้ไกลเล่า | พวกพลเราเหล่านี้จะหนีหาย |
ขัดเสบียงเลี้ยงพหลพลนิกาย | จะไปฝ่ายหรดีวิถีทาง |
มีข้าวปลานาเกลือทั้งเหนือใต้ | จะอาศัยได้ถนัดไม่ขัดขวาง |
ต่างยินยอมพร้อมพรั่งกันทั้งนาง | เวลากลางคืนจะล่าโยธาไป ฯ |
๏ ฝ่ายศรีสุวรรณครั้นรู้ว่าศึกล่าทัพ | ปรึกษากับนัดดาเสนาใหญ่ |
ทัพสมทบรบพุ่งกับกรุงไกร | ก็เพราะไอ้มังคลากับอาจารย์ |
เหมือนต้นไม้ไม่กำจัดตัดต้นราก | จะเป็นมากมายยิ่งแตกกิ่งก้าน |
ออกสกัดจัดทัพจับตัวการ | เหมือนตัดถ่านเถ้าเรื้อสิ้นเชื้อไฟ ฯ |
๏ ฝ่ายพงศ์เผ่าเฝ้าฟังรับสั่งสิ้น | สมถวิลยินดีจะมีไหน |
ต่างเร่งรัดจัดพลสกลไกร | ทั้งนายไพร่พร้อมเสร็จทั้งเจ็ดทัพ |
มีปืนผาอาวุธเครื่องยุทธ์ครบ | ถ้วนเรือรบใหญ่น้อยลอยสลัย |
ทั้งซ้ายขวาหน้าหลังออกคั่งคับ | พอพวกทัพมังคลาเลิกล่าพล |
พวกเรือตามหลามไล่เล่นใบสล้าง | สกัดทางขวางทัพอยู่สับสน |
ต่างรบรับคับคั่งในวังวน | พวกไพร่พลพุ่งฟาดด้วยสาตรา |
พอเรือห่างวางปืนเสียงครืนครั่น | ถูกคนธรรพ์ทั้งฝรั่งสิ้นสังขาร์ |
เสียงตูมตึงกึงกังไม่รั้งรา | พวกมังคลาล่าหลบหลีกรบรับ |
บ้างเรือแตกแยกย้ายลงว่ายน้ำ | บ้างแทงซ้ำขว้างเขวี้ยงด้วยเสียงลับ |
พวกพี่น้องร้องตะโกนเชือกโยนรับ | ดูกลอกกลับกลางคืนทั้งคลื่นโคลง |
วายุพัฒน์รัดเร่งเรือเร็วไล่ | เที่ยวฟันไฟไหม้กำปั่นควันโขมง |
ลามไปไหม้ใบเพลาเสากระโดง | เปลวพลุ่งโพลงพลามไหม้เรือใกล้เคียง |
จนสว่างบ้างก็หลบบ้างรบไล่ | ดูขวักไขว่ใบขาวแล่นก้าวเฉียง |
บ้างหลบปืนยืนยอบบ้างหมอบเมียง | เรือไล่เลี่ยงเลี้ยวลัดสกัดกัน |
แต่เรือล่มจมตายเสียหลายร้อย | พวกหนีน้อยลอยเร่ระเหหัน |
รบรุ่งค่ำร่ำมาถึงห้าวัน | สลาตันตั้งแดงดั่งแสงเพลิง |
พายุพัดพลัดพรายกระจายออก | ตามละลอกมาลิบลิบรีบล่องเหลิง |
จนดึกดื่นคลื่นซัดกระจัดกระเจิง | แล่นเตลิดเปิดเปิงเซอะเซิงไป |
ถึงสามเดือนเคลื่อนคลายฝ่ายฝรั่ง | แล่นเข้าลังกาตรงไม่หลงใหล |
ได้พวกพลคนธรรพ์เหลือบรรลัย | ที่ช่วยได้ไม่ตายเหลือหลายพัน |
กราบทูลพระอนุชานราราช | โปรดประภาษชมทหารท่านหลานขวัญ |
เงินเหรียญให้ไพร่พลคนละพัน | ตัวนายนั้นคนละหมื่นต่างชื่นบาน |
ทั้งเสื้อผ้าสารพัดมาจัดแจก | ตามแผนกไพร่นายฝ่ายทหาร |
ให้ทำป้อมซ่อมแปลงแต่งปราการ | ที่รอยขวานคนธรรพ์ฟันเป็นรอย ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงมังคลาพระยาแม่ | เสียทีแพ้ศึกเศร้าง่วงเหงาหงอย |
ไม่หลอเหลือเรือใช้เรื่องใหญ่น้อย | เที่ยวแล่นลอยลำเดียวเปล่าเปลี่ยวใจ |
คนในเรือเหลือน้อยสักร้อยเศษ | ไม่รู้เหตุเขตแขวงตำแหน่งไหน |
จะนั่งนอนถอนสะอื้นฝืนฤทัย | เป็นไข้ใจไม่มีสุขทุกข์รันทด |
มาทำศึกนึกว่าสมอารมณ์หมาย | ก็ซ้ำร้ายกลายกลับอัปยศ |
เสียประยูรสูญบุรินทร์สิ้นพระยศ | ยิ่งง่วงเหงาเศร้ากำสรดสลดทรวง |
โอ้ครั้งนี้วิบัติมาขัดขวาง | มาอ้างว้างกลางท้องทะเลหลวง |
โอ้อกใครในแผ่นดินสิ้นทั้งปวง | ไม่เหมือนทรวงเราที่รับแต่อับปาง |
จนชั้นแต่แม่พ่อก็วิบัติ | แม่ก็ขัดเคืองข้องพ่อหมองหมาง |
เฝ้าทำทุกข์ขุกเข็ญไม่เป็นกลาง | ต้องเริศร้างพ่อแม่มาแต่ตัว |
ได้แม่เลี้ยงเอี้ยงดูเป็นผู้เฒ่า | แม่เลี้ยงเล่าเฝ้าแต่ใช้ให้เป็นผัว |
ว่าแก่เฒ่าเล่ามาท้องให้หมองมัว | ไม่มีดีมีแต่ชั่วเข้าพัวพัน |
จึ่งปรึกษาฝรั่งสังฆราช | เหลือประหลาดหลากในน้ำใจฉัน |
จนแก่ออกนอกบาญชียังมีครรภ์ | จะซุ่มซ่อนผ่อนผันประการใด |
ครูหัวเราะเพราะว่าเองมันเร่งนัก | ไม่รั้งรักรอราอัชฌาสัย |
กำลังหนุ่มสุ่มตรังลำพังใจ | จนมีท้องต้องไส้ไม่ไว้มือ |
จนครรภ์แก่แลเห็นมันเป็นโป่ง | เหมือนควันโขมงแล้วจะปิดมันมิดหรือ |
ไม่ช้ำชอกดอกที่คำเขาร่ำลือ | อย่าไปถือดีชั่วช่างหัวมัน |
อันติฉินนินทาพระอาทิตย์ | ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ส่องสิ้นดินสวรรค์ |
ยังไม่พ้นคนนินทาสารพัน | เปรียบเหมือนควันมันก็หายละลายไป |
เหมือนต่อตีมิชนะถึงจะแพ้ | อย่าย่นย่อท้อแท้คิดแก้ไข |
ค่อยว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมใจ | ตามวิสัยสั่งสอนแต่ก่อนมา ฯ |
๏ ฝ่ายยายแก่แม่เฒ่าโศกเศร้าหมอง | อยู่ในห้องท้ายกำปั่นที่กั้นฝา |
ครั้นกำหนดทศมาสไม่คลาดคลา | ในอุราร้อนรุ่มดั่งสุมไฟ |
อุทรเคลื่อนเลื่อนลดระทดท้อ | ไม่มีหมอตำแยจะแก้ไข |
ให้เร้ารวดปวดป่วนรำจวนใจ | เรียกสาวใช้ช่วยด้วยจะม้วยมรณ์ |
ล้วนชาววังยังไม่เคยมีลูกเต้า | ต่างเคียงเข้านวดฟั้นบนบรรจถรณ์ |
กำลังคลื่นครื้นเครงโคลงเคลงคลอน | พะงับพะง่อนอ่อนองค์ไม่ทรงกาย |
กุมารดิ้นผินสะดุ้งพยุงท้อง | ปากก็ร้องกรีดกรีดหวีดหวีดหวาย |
ให้ตึงเศียรเวียนหน้าแก้วตาพราย | ร้องไม่วายเสียงนางครางฮือฮือ |
พระมังคลาว่ากับครูอดสูสุด | ร้องไม่หยุดเจ็บไข้น้อยไปหรือ |
จะทำให้ไพร่เมืองมันเลื่องลือ | เสียงอึงอื้อคือจะพาขายหน้าเรา |
คุณโปรดด้วยช่วยห้ามปรามเสียมั่ง | อย่าให้ดังวุ่นวายจะอายเขา |
ช่วยแก้ไขให้นางค่อยบางเบา | จะปัดเป่าป้องกันทำฉันใด ฯ |
๏ บาทหลวงฟังนั่งหัวร่อพ่ออีหนู | กูไม่รู้ดูแลเหลือแก้ไข |
จะวิบัติขัดขวางเป็นอย่างไร | ไม่เข้าใจไม่ได้เคยเลยสักที |
เองก็ไม่ไปช่วยเขาด้วยมั่ง | เข้าไปนั่งอยู่กับยายท้ายบาหลี |
ถึงคราวออกบอกเพื่อนบ้านการเช่นนี้ | กูหน่ายหนีขี้เกียจทั้งเกลียดชัง |
แต่พวกพ้องของเองเห็นเปนสนุก | กูนี้เห็นเป็นว่ายุคทุกขัง |
พระมังคลาหน้าเก้อกะเบ้อกะบัง | ตะลึงนั่งฟังนางร้องครางครวญ |
เมื่อคลอดลูกถูกคลื่นเสียงครื้นครึก | สะท้านสะทึกสินธุพยุหวน |
พอแสงทองส่องฟ้าเวลาจวน | ให้ปวดป่วนเหมือนชีวิตจะปลิดปลง |
เผอิญให้ไปออกที่นอกฝา | ที่ดาดฟ้ากว้างขวางอย่างประสงค์ |
ถึงยามปลอดคลอดตามกันสามองค์ | ออกก่อนตรงวิ่งไปอยู่บูรพา |
ออกที่สองน้องชายไปฝ่ายใต้ | ที่สามไปปัศจิมทิศา |
ล้วนชายเฉิดเลิดลักษณ์ผ่องพักตรา | เหมือนมังคลารูปงามทั้งสามองค์ |
พวกพ้องนางต่างประคองพระหน่อนาถ | วางบนถาดทองคำหลั่งน้ำสรง |
มีเบาะทองรองรับสำหรับทรง | ทั้งนางนาฏมาตุรงค์สรงน้ำร้อน |
นางค่อมเค้าเถ้าแก่มาแซ่ซ้อง | เคียงประคองขึ้นสุวรรณบรรจถรณ์ |
ถาดถ่านไฟให้ท่านยายผิงกายกร | กินยาร้อนผ่อนสบายคลายอินทรีย์ |
ครั้นโศกสร่างนางพระยาเห็นหน้าบุตร | บริสุทธิ์ผุดผ่องละอองศรี |
ผิวเนื้อน้ำกัมพลเหมือนชนนี | ทรงอินทรีย์ผิวผิดกับบิดา |
กันแสงพลางนางร่ำว่ากรรมแล้ว | เกิดลูกแล้วแคล้วคลาดวาสนา |
พ่อเจ้าอายฝ่ายแม่แก่ชรา | จะรักษาสามบุตรเห็นสุดจน ฯ |
๏ ชนนีมีเต้าแต่สองเต้า | น้ำนมเล่าก็ไม่คัดติดขัดสน |
พ่ออ้าปากอยากกินเฝ้าดิ้นรน | เจ้าสามคนเช่นนี้มีแต่ตัว |
เมื่อสาวแส้แม่จะใคร่ให้กำเนิด | พ่อไม่เกิดสืบตระกูลพ่อทูนหัว |
เมื่อแก่เฒ่าเข้าท้องให้หมองมัว | จะครองตัวอยู่ก็อายจะวายปราณ ฯ |
๏ เจ้าอยู่ไปใครจะเลี้ยงเจ้าเพียงแม่ | จะร้องแซ่แลหาน่าสงสาร |
ไม่มีเหล่าเผ่าพงศ์ไร้วงศ์วาน | จะทรมานนานช้าอยู่ว่าไร |
เจ้ามอดม้วยด้วยกับแม่อย่าแหห่าง | ตายเสียกลางพระมหาชลาไหล |
พลางสวมสอดกอดลูกผูกอาลัย | สะอื้นไห้ฮักฮักซบพักตรา ฯ |
๏ แล้วกลับฟื้นขึ้นนั่งหยุดยั้งคิด | เพ่งพินิจลูกน้อยละห้อยหา |
ลูกดูแม่แม่ก็แลดูลูกยา | โอ้นึกน่าใจหายเสียดายนัก |
ไม่ทันถึงครึ่งเดือนเหมือนจะรู้ | เห็นหน้าแม่แลดูเหมือนรู้จัก |
เขม้นหมายพรายพริ้มยิ้มพะยัก | ทำมือขวักไขว่หาคว้าตะกาย |
อนิจจาอ้าปากอยากนมแม่ | นางแลแลแล้วร้องไห้จิตใจหาย |
โอ้ไหนไหนไม่รอดคงวอดวาย | พากันตายเสียรู้แล้วเถิดแก้วตา ฯ |
๏ สงสารลูกผูกเรียงส่งเสียงร้อง | นางเผยช่องแกลชายดูซ้ายขวา |
จะอุ้มลูกโจนลงในคงคา | แลเขม้นเห็นหน้านึกอาลัย |
แต่โศกาอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล |
ประคองบุตรสุดสวาทเพียงขาดใจ | สลบไปแล้วก็คืนกลับฟื้นกาย |
จนดึกดื่นคลื่นเรียบเงียบสงัด | น้ำค้างหยัดย้อยเย็นเดือนเด่นหงาย |
ค่อยสอดกรช้อนฟูกอุ้มลูกชาย | ไม่ห่างกายกอดแอบแนบอุรา ฯ |
๏ แล้วเดินออกนอกห้องค่อยย่องย่าง | พวกท้าวนางตามออกมานอกฝา |
แล้วทูลถามตามระแคงแคลงวิญญาณ์ | แม่อุ้มโอรสามาว่าไร |
นางเหลียวหลังยั้งยืนสะอื้นอั้น | สุดจะกลั้นกันแสงแถลงไข |
เราถึงที่ชีวันจะบรรลัย | เหมือนอกใจนี้จะแตกแหลกทำลาย |
ไม่มีนมสมเพชสังเวชบุตร | ร้องจนสุดสิ้นสำเนียงจนเสียงหาย |
ได้ทำชั่วตัวข้าขอลาตาย | เจ้าขรัวนายอยู่จงดีอย่ามีภัย ฯ |
๏ ขอฝากเหล่าสาวสรรค์ทั้งนั้นด้วย | เอ็นดูด้วยช่วยปกครองให้ผ่องใส |
แล้วอัดอั้นกลั้นสะอื้นฝืนพระทัย | ท้าวนางใจหายวาบกราบบาทา |
แม่เจ้าคุณอุ่นเกล้าทุกเช้าค่ำ | เปรียบเหมือนน้ำในสมุทรสุดจะหา |
ซึ่งยากจนผลกรรมได้ทำมา | แม่อุตส่าห์ฝ่าฝืนขืนพระทัย |
อันชั่วดีที่มนุษย์ไม่ยุติ | จงดำริตริความตามวิสัย |
จะตัดชาติขาดชีวิตนั้นผิดไป | พ่อหน่อไทน้อยน้อยจะพลอยตาย |
นางว่าเราเฒ่าแก่แต่จะม้วย | สุดจะช่วยปลูกฝังท่านทั้งหลาย |
เป็นมนุษย์สุดจะรับที่อับอาย | แม้นตัวตายแล้วก็พ้นทรมาน ฯ |
๏ แต่วอนว่าอาลัยจนใกล้สว่าง | เห็นท้าวนางก้มหน้าร่ำว่าขาน |
ค่อยดำรงองค์นางย่างทะยาน | กอดกุมารโจรลงในคงคา |
ท้าวนางเห็นเผ่นโผนตะโกนก้อง | ตีอกร้องเรียกช่วยด้วยเจ้าขา |
พระแม่โจนน้ำตายวายชีวา | ร้องโวยวายฟายน้ำตาต่างอาลัย ฯ |
๏ พอสว่างต่างตื่นยืนสะพรั่ง | ทั้งพระมังคลาถามตามสงสัย |
ทราบว่านางโจนลงคงคาลัย | ตกพระทัยไห้สะอื้นกลืนน้ำตา |
ต่างแลรอบขอบเรือเผื่อจะผุด | หมายว่าสุดสิ้นชีวังดับสังขาร์ |
พอหน่อนาถราชบุตรผุดขึ้นมา | หัวเราะร่าเรียงตามกันสามคน |
กระทุ่มน้ำดำเล่นไม่เห็นแม่ | ตะลึงแลหลากจิตพิศวง |
หรือตัวตายพรายน้ำขึ้นดำรง | สิงรูปทรงสรวลสันต์จำนรรจา |
เกิดไม่ถึงกึ่งเดือนเหมือนผู้ใหญ่ | ต่างสงสัยให้สยองพองเกศา |
ว่ายตรงมาหน้าที่นั่งพระมังคลา | ภิปรายปราศรัยถามสามกุมาร |
นี่แม่เจ้าเขาไปข้างไหนเล่า | จึงตัวเจ้าขึ้นมาว่ายสายสนาน |
ฝ่ายหน่อน้อยลอยน้ำแสนสำราญ | ถามว่าท่านหรือชื่อพระมังคลา |
เป็นบิตุรงค์ทรงลำเรือกำปั่น | มารับขวัญฉันจะได้ขึ้นไปหา |
พระมารดรจรจากไปฟากฟ้า | หรือบิดาว่าไม่รับจะกลับไป ฯ |
๏ พระฟังบุตรสุดสวาทประหลาดจิต | กระจิหริดรู้ถามตามสงสัย |
เพ่งพิศพักตร์ลักขณานึกอาลัย | จึงลงไปในล่องบดพจนา |
เจ้าจงมาหาพ่ออย่าท้อถอย | พ่อจะคอยรับขวัญให้หรรษา |
ได้ฟังความสามองค์ว่ายตรงมา | พระมังคลาค่อยค่อยช้อนกรประคอง |
อุ้มสามองค์ตรงขึ้นลำเรือกำปั่น | แล้วรับขวัญขวัญเจ้าอย่าเศร้าหมอง |
พวกแก่สาวชาวแม่มาแซ่ซ้อง | พาเข้าห้องท้ายที่นั่งบัลลังก์รัตน์ |
จึ่งแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองอร่าม | ให้ทั้งสามตามองค์พงศ์กษัตริย์ |
พลางกอดจูบลูบชมโสมนัส | แล้วเอื้อนอรรถตรัสถามทั้งสามองค์ |
แม่ของเจ้าเขาจะมาหรือหาไม่ | จงเล่าให้แจ้งความตามประสงค์ |
กุมาราว่าพระบาทมาตุรงค์ | ไปกับองค์อัยกีอยู่วิมาน |
ท่านสั่งว่าข้านี้ชื่อเทวสินธุ์ | เทพจินดาน้องรองหม่อมฉาน |
พระอนุชาราเมศมีเหตุการณ์ | ให้เรียกท่านมารดานาควรรณ |
พระทราบความนามนาคนางฝากบุตร | มิเป็นภุชงค์ก็ได้ไปสวรรค์ |
จึงถอดธำมรงค์ร้อยสายสร้อยพัน | ผูกทำขวัญให้ทั้งสามตามโบราณ ฯ |
๏ อันพระหน่อวรนาถธาตุกระสินธุ์ | มิได้กินโภชนากระยาหาร |
ในเรื่องราวกล่าวความตามนิทาน | สามกุมารกินแต่น้ำเป็นกำลัง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาอุตส่าห์สอน | พ่อลูกอ่อนเลี้ยงลูกจะปลูกฝัง |
ประคองคลอหน่อน้อยคอยระวัง | จะนอนนั่งแนบข้างไม่ห่างกาย |
อยู่กำปั่นนั้นก็ลอยคลาดคล้อยเคลื่อน | ไปสามเดือนเฟื่อนถิ่นกระสินธุ์สาย |
สิ้นเสบียงเลี้ยงคนกระวนกระวาย | ทั้งไพร่นายนิ่งนอนทอดถอนใจ |
พระเทวสินธุ์ยินเขาว่าอดอาหาร | คิดสงสารชายหญิงนิ่งไม่ได้ |
ตักน้ำเค็มเต็มถังมาตั้งไว้ | บอกนายไพร่ให้ไปกินสิ้นด้วยกัน |
เดิมไม่เชื่อเมื่อแสบท้องลองกินน้ำ | ค่อยมีกำลังแรงเข้มแข็งขัน |
ใครปรารถนาอาหารเปรี้ยวหวานมัน | กินน้ำนั้นนึกได้ดั่งใจจง |
เห็นดีจริงหญิงชายทั้งนายไพร่ | ต่างกราบไหว้ชื่นชมสมประสงค์ |
ต่างอวยชัยให้กุมารสำราญองค์ | ได้สืบวงศ์พงศ์กษัตริย์สวัสดี ฯ |
๏ พอจวนเย็นเห็นเขตประเทศฐาน | แต่โบราณเรียกว่าเกาะกาหวี |
อันผู้คนพลไพร่นั้นไม่มี | เหตุด้วยผีห่ากินสิ้นทั้งเมือง |
แต่ตึกกว้านบ้านเรือนดูเกลื่อนกลาด | ปรางค์ปราสาทสูงเงื้อมดูเลื่อมเหลือง |
รัศมีสีทองสุกรองเรือง | ใครเข้าเมืองนั้นตายสูญหายไป |
แต่ลำที่นั่งพระมังคลาข้าวปลาสิ้น | เห็นบ้านถิ่นยินดีจะมีไหน |
จะเข้าฝั่งหยั่งน้ำร่ำเข้าไป | พอจอดได้ใกล้สุธารุ่งราตรี |
ด้วยเดชะพระหน่อไม่ต่อฤทธิ์ | กายสิทธิ์สิงหนาทปีศาจหนี |
คนที่ไปในเภตราขึ้นธานี | จึ่งไม่มีเภทภัยสิ่งใดพาล ฯ |
๏ พระมังคลาพาพลขึ้นบนฝั่ง | พวกหญิงทั้งชายสิ้นชมถิ่นฐาน |
พร้อมไพร่นายฝ่ายอำมาตย์ราชการ | แบกกุมารทั้งสามตามบิดา |
แลพิลึกตึกกว้านทั้งบ้านถิ่น | ทำด้วยหินสิ้นทั้งเมืองเป็นเฝืองฝา |
สะพรั่งต้นผลไม้ที่ไร่นา | ต้นข้าวกล้าสาลียังมีพรรณ |
ด้วยออกรวงร่วงหล่นครั้นฝนแล้ง | ก็เหี่ยวแห้งไปจนฝนวสันต์ |
กลับแตกกอต่อใบต้นไม้นั้น | ก็เหมือนกันพรรณพืชจึงยืดยาว |
ทุกบ้านช่องทองเงินเพชรนิลนาก | ยังมีมากเสียแต่เครื่องทองเหลืองขาว |
เหมือนดินดิบหยิบเข้าเป็นเถ้าพราว | ด้วยเรื่องราวคราวปฐมบุรมบุราณ |
กำแพงหินศิลาดูหนาแน่น | ติดเป็นแผ่นเดียวสิ้นทุกถิ่นฐาน |
นิเวศน์วังดั่งสวรรค์ชั้นวิมาน | ล้วนตึกกระดานลานเลี่ยนเตียนสบาย |
เดิมเป็นหินศิลานานมาแล้ว | ดูเป็นแก้วแววเวียนวิเชียรฉาย |
ปราสาททองช่องชั้นพรรณราย | จำหลักลายพรายพร่างกระจ่างตา |
ทั้งคลังเงินคลังทองมูลนองมาก | เพชรนิลนากเนาวรัตน์เครื่องวัตถา |
ทั้งแก้วแหวนแสนสมบัติกษัตรา | พระมังคลาแลเพลินเที่ยวเดินชม |
มีรูปทองห้องกลางในปรางค์รัตน์ | รูปกษัตริย์สืบสร้างในปางปฐม |
พระพักตร์เหมือนเยื้อนยิ้มอิ่มอุดม | รูปสุรางค์นางสนมประนมกร |
ฝาผนังทั้งแท่นหินแผ่นใหญ่ | จารึกไว้ลายลักษณ์พระอักษร |
ว่าองค์ท้าวเจ้าประเทศเขตนคร | นรินทรทรงนามพระรามวงศ์ |
ลงมาจากฟากฟ้าสุธาวาส | ดนัยนาถหน่อไทครรไลหงส์ |
แผ่นสุธากาหวีนี้พระองค์ | ก็ได้ทรงสร้างศีลขันธ์ในสันดาน |
ให้มนุษย์ปุถุชนคนทั้งหลาย | ทั้งหญิงชายสุขสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ที่ยากเย็นเข็ญใจพระให้ทาน | ให้สำราญราษฎรไม่ร้อนรน |
เกิดบ่อเงินบ่อทองของวิเศษ | ทั่วประเทศเขตแขวงทุกแห่งหน |
ทั้งข้าวปลานาเกลือก็เหลือล้น | มิได้มีที่ว่าจนคนเข็ญใจ |
เหล่าลูกค้าพาณิชทิศประเทศ | ทุกขอบเขตภาษามาอาศัย |
เราอุปถัมภ์บำรุงชาวกรุงไกร | ทั้งน้อยใหญ่ได้เป็นสุขทั่วทุกทิศ |
ถือขันตีวิจารณาอุตสาหะ | เสียสละรักษาวาจาจิต |
ศีลสัจจะการุญสูญชีวิต | ขาดนิมิตเสมอทิพสิบประการ |
จึงเขียนคำกำจัดพวกสัตว์บาป | ประสิทธิ์สาปตราบกลาปาวสาน |
ใครครองเมืองเปลื้องพันธุ์เป็นอันธพาล | ให้ตรธานกาลสัตอปะรา |
คือทุกข์โศกโรคภัยลมไฟน้ำ | โปรดประจำกำราบที่บาปหนา |
ผู้ใดถือซื่อสัตย์ให้วัฒนา | พระมังคลาทราบสิ้นก็ยินดี |
จึ่งปรึกษาสังฆราชพระบาทหลวง | พระคุณล่วงรู้ความตามวิถี |
อันในเมืองเรื่องราวเขากล่าวมี | เป็นถิ่นที่จอมกษัตริย์ถือสัตย์ธรรม์ |
พระคุณเห็นเป็นกระไรไฉนหนอ | จงแจ้งข้อความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ขอทราบเรื่องเมืองนี้ที่สำคัญ | จะผ่อนผันอยู่ได้หรือภัยมี ฯ |
๏ บาทหลวงนับจับยามตามโฉลก | ชัยโชคล้ำเลิศประเสริฐศรี |
ควรจะอยู่ปกป้องครองบูรี | อันถิ่นที่กูก็เห็นจะเป็นการ |
ทั้งข้าวกล้าสาลีมีภักษ์ผล | พอเลี้ยงพลไพร่นายฝ่ายทหาร |
แล้วก็มีเหล็กเพชรเจ็ดประการ | เกิดกับธารท้องทุ่งนอกกรุงไกร |
ทั้งอู่อ่าวเราจะได้ไว้กำปั่น | สักห้าพันก็มิอาจจะหวาดไหว |
ทั้งไม้แก่นแน่นหนาเต็มป่าไม้ | ต่อเรือไฟไว้สำหรับแก้อับจน |
อันลูกเองเล่าก็ดีผีขยาด | กลัวอำนาจเรี่ยวแรงทุกแห่งหน |
ควรจะอยู่มั่วสุมประชุมพล | ทำไกกลแล้วจะได้ไปลังกา |
ตีเอาเมืองให้จงได้ไล่พิฆาต | จับหมู่ญาติแก้แค้นให้แสนสา |
คิดอุบายถ่ายถอนผ่อนปัญญา | พระมังคลากราบก้มประนมกร |
เห็นความจริงสิ่งที่ท่านอาจารย์ว่า | คุณเมตตาการุณังช่วยสั่งสอน |
สมถวิลยินดีชุลีกร | ค่อยวายร้อนที่วิตกในอกใจ |
แล้วเชิญชวนสังฆราชขึ้นอาสน์รัตน์ | ปรนนิบัติตามประสาอัชฌาสัย |
เข้าพักผ่อนนอนนั่งอยู่วังใน | ตามวิสัยขัดสนเหมือนคนโซ |
พวกในลำกำปั่นนั้นก็ขึ้น | อาศัยพื้นดินหญ้าอนาโถ |
เก็บผลไม้ส้มสูกลูกตะโก | ประสาโซกินตามความสบาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเทวารักษาเกาะ | อยู่จำเพาะในวิมานนานใจหาย |
พอเห็นคนพลไกรทั้งไพร่นาย | ก็ผันผายเสด็จออกนอกวิมาน |
สำแดงกายปรากฏด้วยทศพิธ | อิทธิฤทธิ์บังแสงพระสุริย์ฉาน |
เป็นหมอกมัวทั่วทั้งจักรวาล | อนธกาลเสียงดังทั้งนคร |
พยุพยับอับพื้นโพยมหน | เป็นฝอยฝนตกรอบขอบสิงขร |
ฟ้าก็แลบแปลบสว่างกลางนคร | แผ่นดินดอนเลื่อนลั่นสนั่นดัง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ไทยเทวฤทธิ์ประสิทธิ์สุด | ก็ทรงภุชงค์มือนั้นถือสังข์ |
แล้วเคลื่อนคล้อยลอยคว้างอยู่กลางวัง | พระทรงสังข์ของสวรรค์ให้บันลือ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | กับสังฆราชออกมารับด้วยนับถือ |
แล้วนั่งราบกราบก้มประนมมือ | ด้วยสัตย์ซื่อแล้วก็ถามตามทำนอง |
ท่านนี้หรือคือเจ้าเขากาหวี | อันถิ่นที่ดีชั่วหรือมัวหมอง |
เห็นทรัพย์สินมากมายทิ้งก่ายกอง | ไหนเจ้าของมิได้เห็นเช่นทั้งเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ไทเทพเจ้าเขากาหวี | จึ่งเล่าชี้แจงความไปตามเรื่อง |
เมื่อครั้งท่านก่อนเก่าเป็นเจ้าเมือง | ไม่รู้เรื่องทศพิธเป็นจิตพาล |
ทำแต่บาปหยาบช้าอุลามก | สกปรกไปเสียสิ้นทั้งถิ่นฐาน |
จึงบังเกิดโรคันอันธการ | คนประมาณหมื่นแสนในแดนดาว |
จึ่งบังเกิดโรคาเป็นห่าโหง | ทุกเรือนโรงตายกลุ้มทั้งหนุ่มสาว |
เมืองร้อยเอ็ดเขตแคว้นทุกแดนดาว | คิดเป็นเจ้าจอมจังหวัดปัถพี |
มาประชุมไพร่พหลพลทหาร | คิดอ่านการจะบำรุงซึ่งกรุงศรี |
เผอิญเกิดโรคามายายี | จึงไม่มีใครมาสร้างต้องร้างเร |
เพราะเดิมองค์พงศ์กษัตริย์เธอสัตย์ซื่อ | แล้วก็ถือศีลขันธ์ไม่หันเห |
สละละโทโสไม่โลเล | ทุกไทเทวะช่วยอำนวยพร |
ที่ท่านมาอาศัยอยู่ในนี้ | อย่าร่วมที่แท่นรัตน์บรรจถรณ์ |
จงคิดสร้างปรางค์ปราให้ถาวร | นอกนครเวียงวังจึ่งบังควร |
ใครร่วมอาสน์ที่ประเสริฐจะเกิดเหตุ | เพราะอิศเรศอมรินทร์พระอินศวร |
ท่านรักษาพยายามอย่าลามลวน | หาที่ควรสร้างอยู่นอกบูรี |
เหมือนคำเราเจ้าเกาะสงเคราะห์ท่าน | จงคิดการบำรุงซึ่งกรุงศรี |
นั่นแหละจึงจะพิพัฒน์สวัสดี | แล้วจากที่หายวับไปกับตา |
ที่มืดมนอนธการบันดาลหาย | สว่างฉายเห็นทั่วทุกทิศา |
แต่บรรดาคนเข้าไปในพารา | ทั้งมังคลากับท่านครูรู้เหตุการณ์ ฯ |
๏ จึงคิดสร้างเมืองใหม่อยู่ภายนอก | ทางเข้าออกชายทะเลริมเทวฐาน |
ให้ตัดไม้ข่มนามตามบูราณ | แล้วตั้งศาลบัดพลีพิธีกรรม |
จึ่งเชิญไทเทวารักษาเกาะ | ช่วยสงเคราะห์เชิดชูอุปถัมภ์ |
แล้วเอาหินศิลานั้นมาทำ | สกัดซ้ำเจาะปักเป็นหลักเมือง |
ก่อกำแพงเชิงเทินเนินหอรบ | ทวารครบแปดที่ทาสีเหลือง |
ก่อปราสาทราชฐานเป็นบ้านเมือง | สำเร็จเรื่องพาราถึงห้าปี ฯ |