- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
๏ อันบทเบื้องเรื่องนี้ยกไว้ก่อน | จะขอย้อนกล่าวข้างแขกแปลกภาษา |
ท้าวกุลามาลีศรีโสภา | รักธิดาจอมนรินทร์เมืองสินชัย |
จึ่งเล้าโลมเอาใจพระสังฆราช | อภิวาทพูดจาอัชฌาสัย |
ตั้งแต่มาอยู่ก็นานรำคาญใจ | อยากได้โฉมยงอนงค์นาง |
เจ้าคุณจงกรุณาว่ากับเขา | ช่วยโลมเล้าเป่าปัดที่ขัดขวาง |
แม้นนานไปยาวยืดจะจืดจาง | ฉวยว่าค้างอายเขาชาวบุรินทร์ ฯ |
๏ บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยการสู่ขอ | จะต้องล่อเอาด้วยลมสมถวิล |
ถ้าแม้นฉวยพลาดท่าเป็นราคิน | พากันดิ้นเจียวหนาหวาอ้ายบ้ากาม |
จำจะต้องคิดเป็นกลข้างมนต์เวท | ใช้ของวิเศษเสียแต่แรกเหมือนแบกหาม |
แล้วจึ่งค่อยตรองหาพยายาม | คงสมความคิดดอกหวาไม่ช้านาน |
เวลาค่ำแกก็ทำทางเสน่ห์ | อุปเท่ห์ที่จะใช้หลายสถาน |
แล้วเอาดอกรักมาไม่ช้านาน | น้ำมันว่านทาเข้าแล้วเป่ามนต์ |
ดอกไม้หายกลายเป็นแมลงทับ | เขียวระยับทองพรายในลายขน |
แล้วปล่อยไปที่ในวังกำลังมนต์ | ไปบินวนอยู่ริมนางในปรางค์ชัย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ธิดาพระยาหญิง | สมรมิ่งยินดีจะมีไหน |
จึ่งตรัสเรียกสาวสรรค์กำนัลใน | มาไวไวช่วยจับแมงทับทอง |
ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงอยู่เคียงอาสน์ | เอาผ้าฟาดจับได้มิให้หมอง |
ถวายองค์อรไทดั่งใจปอง | นางประคองจับใส่ไว้ในกรง |
พอถูกตัวพิษยาอีตาเฒ่า | เข้าจับเอาดวงจิตพิศวง |
ทั้งพี่เลี้ยงสี่นางสำอางองค์ | พิศวงแมลงทับจับหัวใจ |
ฝ่ายอนงค์องค์ธิดาพระยาหญิง | สมรมิ่งดวงจิตหวิดหวิดไหว |
ให้บังเกิดราคร้อนอ่อนฤทัย | คิดจะใคร่หาคู่มาสู่ปรางค์ |
ไม่เป็นอันสรงเสวยเลยไม่ตรัส | จิตประหวัดตรึกตรองให้หมองหมาง |
เลยบรรทมหลับไปที่ในปรางค์ | พระนุชนางฝันเห็นว่าเป็นงู |
มารัดรึงถึงอุราแล้วอ้าปาก | สำรอกรากพิษใส่ไว้ในหู |
พระกายนางสั่นรัวกลัวแต่งู | ต่อเป็นครู่แล้วก็ฟื้นตื่นบรรทม |
พอรุ่งรางสร่างแสงแจ้งกระจ่าง | พระนุชนางพลิกหาคว้าสนม |
นางพี่เลี้ยงเคียงที่แท่นบรรทม | ต่างปรารมภ์ทูลถามดูตามแคลง ฯ |
๏ ฝ่ายพุ่มพวงดวงประไพสายสมร | มีสุนทรบอกกล่าวเล่าแถลง |
น้องฝันว่างูพิษฤทธิแรง | มันมาแกล้งรวบรัดอัดอุรา |
แล้วพ่นพิษกรอกใส่ลงในหู | อันพิษงูแล่นกระทั่งทั่วมังสา |
น้องฟื้นตื่นจากในที่ไสยา | ในอุรานึกว่าตายประลัยลม |
นางพี่เลี้ยงแจ้งความตามนิมิต | อสรพิษจะได้คู่มาสู่สม |
จึ่งแจ้งว่าฝันอย่างนี้ดีอุดม | จะได้ชมสิ่งของที่ต้องการ |
พระเทพินยินคำพี่เลี้ยงฉลอง | โดยทำนองปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
นางจึ่งมีมธุรสพจมาน | ก่อรำคาญใจน้องให้หมองมน ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | เวลาล่วงเย็นพลับลับเวหน |
เข้าในห้องตรองตำราหาข้างมนต์ | จะทำกลการเสน่ห์เพทุบาย |
จึ่งเรียกท้าวเจ้าพาราปตาหวี | เข้ามาชี้ทางมนต์ให้ขวนขวาย |
ทั้งยาแฝดแปดอย่างข้างอุบาย | เอาให้ตายราบกูผู้อาจารย์ |
แล้วให้เรียนอาคมประสมจิต | ผู้หญิงติดใจรักสมัครสมาน |
เองอุตส่าห์เล่าไว้ให้ชำนาญ | คงได้การมั่นคงอย่าสงกา |
ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ก็ยินดีเรียนมนต์ดลคาถา |
ไม่ใคร่จะจำได้ในตำรา | บาทหลวงด่างึมงำร่ำพิไร |
ว่ามึงนี้ชาติโง่อ้ายโคถึก | ไม่ตรองตรึกพูดมากถลากไถล |
เองมันโง่เต็มประดาว่าอย่างไร | จึ่งจะได้เขามาอยู่เป็นคู่ครอง ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | ให้แค้นขัดใจตัวให้มัวหมอง |
จะเล่าเรียนไม่ใคร่ได้ดั่งใจปอง | มันให้ข้องเคืองขัดอัดอารมณ์ |
บาทหลวงว่าหน้าตาก็แช่มช้อย | แต่โง่น้อยไปหรือหวาด่าขรม |
คนเช่นเองมันไม่น่าสมาคม | โง่ไม่สมกันกับตัวชั่วจริงจริง |
แต่จนใจว่ามึงได้มาป็นศิษย์ | จึ่งต้องติดแก้ไขให้ได้หญิง |
ชาติอ้ายคนทีหลังอยากเหมือนทากปลิง | จะสอนสิ่งอันใดมันไม่เอา |
แกด่าพลางทางลุกเข้าในห้อง | หยิบเอาทองออกมาปรุฉลุเฉลา |
เป็นดอกไม้ติดกิ่งให้พริ้งเพรา | แล้วเสกเป่าหลายอย่างทางเมตตา ฯ |
๏ ฝ่ายระเด่นดวงประไพวิไลสมร | ให้รุมร้อนในเล่ห์เสน่หา |
เรียกพี่เลี้ยงสาวสรรค์กัลยา | ให้เข้ามาขับกล่อมถนอมนวล ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราเมืองกาศึก | หวนรำลึกถึงท่านครูอยู่ที่สวน |
หลายเวลามิได้ไปให้รัญจวน | ท้าวเธอชวนพวกสุรางค์นางกำนัล |
แล้วให้จัดผลผลาสุธาโภชน์ | ที่เอมโอชสารพัดเร่งจัดสรร |
ใส่ถาดทองรองเรืองเครื่องสุวรรณ | สำเร็จพลันไปหาท่านอาจารย์ |
บาทหลวงเฒ่าลุกไปปราศรัยสนอง | สมที่ตรองตรึกไว้หลายสถาน |
ท้าวสินชัยวันทาพระอาจารย์ | แสดงการที่ได้เพียรเรียนวิชา |
ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | มาถึงที่แล้วประนมก้มเกศา |
สนองอรรถมธุรสพจนา | เจ้าพารารักใคร่เป็นไมตรี |
มาอยู่ในนคเรศเขตสถาน | ค่อยสำราญปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
หรือโรคภัยสิ่งใดมายายี | ต่อเดือนสีจึ่งค่อยจรอย่าร้อนรน |
ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | ประสานหัตถ์ทูลแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
มีความสุขแสนสบายทั้งไพร่พล | ไม่ขัดสนได้พึ่งพาบารมี ฯ |
๏ บาทหลวงลุกเข้าไปที่ในห้อง | หยิบเอาของกับตำราห่อผ้าสี |
ทั้งดอกไม้ทำด้วยทองเป็นของดี | เอามาที่ท้าวไทแล้วให้ปัน |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่ท้าวเจ้าพิภพ | อย่าปรารภเป็นความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จะต้องประสงค์วิชาสารพัน | ไม่หวงกันจะให้สมอารมณ์ปอง |
ท้าวสินชัยรับดอกไม้ของสังฆราช | งามประหลาดเหลือดีไม่มีสอง |
ได้รสยาทาไว้ในที่ทอง | กลิ่นละอองหอมรับจับหัวใจ |
ยาอ้นนี้มีมาแต่ครั้งก่อน | แกคิดต้อนพวกกษัตริย์แทบตักษัย |
แต่บรรดาเชื้อวงศ์องค์อภัย | หลงเข้าไปติดขังอยู่ลังกา |
ฝ่ายท้าวไทให้รักบาทหลวงเฒ่า | กับไทท้าวปตาหวีนี้หนักหนา |
ยิงกว่าญาติผูกพันแต่นั้นมา | เธอจึ่งว่าขอบใจในเจ้าคุณ |
จะประสงค์สิ่งไรฉันไม่ขัด | สารพัดขาดเหลือจะเกื้อหนุน |
ฉันขอบใจใต้เท้าเจ้าประคุณ | ได้พึ่งบุญพากเพียรเรียนวิชา |
พูดกันเสร็จแล้วคำนับกลับปราสาท | กำนัลนาฏตามไปทั้งซ้ายขวา |
ขึ้นนั่งแท่นแสนสบายได้ตำรา | ท้าวเธอปราโมทย์กระหยิมอิ่มพระทัย |
แล้วตรัสเรียกมเหสีมานี่เจ้า | อาจารย์เราใจดีจะมีไหน |
ให้ของดีเป่าปัดกำจัดภัย | คือดอกไม้ทำด้วยทองเป็นของดี |
แล้วหยิบส่งให้นางพลางประภาษ | แก่นุชนาฏองค์มิ่งมเหสี |
นางคำนับรับมาไม่ช้าที | กลิ่นมาลีหอมหวนรัญจวนใจ |
ให้ฉุนรักสังฆราชพระบาทหลวง | เพราะดอกดวงไม้ทองอันผ่องใส |
กลิ่นเข้าวับจับจ้วงเอาดวงใจ | ให้หอมในนาสาดั่งทาจันทน์ |
ระเหยหวนชวนชื่นระรื่นรส | ก็ปรากฏจับใจให้กระสัน |
แต่ดมกลิ่นอื่นอื่นสักหมื่นพัน | ไม่เทียมทันกลิ่นอายดอกไม้ทอง |
จะว่าข้างสังฆราชแกมาดหมาย | อ้ายนี่ตายราบกูผู้เจ้าของ |
จึ่งว่ากับท้าวไทสมใจปอง | คงได้ของดีแล้วไม่แคล้วเลย ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลียินดีสุด | อยากได้นุชมาไว้เรียงเคียงเขนย |
ฟังอาจารย์ท่านขยายภิปรายเปรย | ค่อยเสบยบางเบาบรรเทาทรวง |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | จงโปรดเกล้าเชิญเข้าไปในวังหลวง |
แม้นได้ช่องจะได้ลองขอพุ่มพวง | ตามกระทรวงวงศ์กษัตริย์ขัตติยา ฯ |
๏ บาทหลวงแกจึ่งด่าอ้ายตาเหลือง | พอไฟเรืองก็จะไปใครเขาหา |
ให้เองตั้งหม้อข้าวเองเผาปลา | มันพูดจาเอาแต่ได้ข้างใช้ครู |
สอนอะไรก็ไม่จำอ้ายซำเสือก | ดีแต่เกลือกกลิ้งนอนจนอ่อนหู |
จะต้องการสิ่งไรมาใช้กู | การเมียชู้ลูกเต้าไม่เข้าใจ |
แต่ขอสู่กูพอจะรู้บ้าง | พูดเป็นทางตามประสาอัชฌาสัย |
การเช่นนี้ไม่กังวลไม่สนใจ | เองให้ไปก็ต้องลองดูที |
พลางจัดแจงแต่งตัวเหมือนขรัวแก่ | ใส่เสื้อแพรดอกทองละอองศรี |
หมวกประดับจินดาราคามี | ล้วนของดีอย่างฝรั่งข้างลังกา |
แล้วเรียกคนปรนนิบัติพลางจัดของ | เครื่องเงินทองสารพัดแกจัดหา |
ทั้งกระบี่ฝักทองของลงยา | แกได้มาแต่สิงหลเพราะสนใจ |
แล้วเยื้องย่างไปทางถนนหลวง | ศิษย์ทั้งปวงกับพวกล่ามตามไสว |
ถือข้าวของไปพลันด้วยทันใจ | ตรงเข้าไปในนิเวศน์เขตบุรินทร์ |
พอไทท้าวเจ้าพิภพจบจังหวัด | ออกแท่นรัตน์สมจิตคิดถวิล |
ตรงเข้าไปถึงท้าวเจ้าแผ่นดิน | ท่านท้าวสินชัยมารับประคับประคอง |
เชิญให้นั่งบนเก้าอี้ยินดีเหลือ | ราวกะเชื้อวงศ์อันดีไม่มีสอง |
คำนับน้อมยอมเป็นศิษย์ดั่งจิตปอง | ไม่ขัดข้องปรีดาในอาจารย์ |
บาทหลวงเฒ่าเอากระบี่ที่แกถือ | วางในมือเจ้าประเทศเขตไพศาล |
ประสิทธิ์เวทกล่าวรสพจมาน | ว่าอาจารย์ขอให้ท้าวเจ้าบุรินทร์ |
สำหรับถือออกศึกอย่านึกพรั่น | คนหมื่นพันสู้ได้ดั่งใจถวิล |
เก็บเอาไว้ใช้เถิดท้าวเจ้าบุรินทร์ | จะเพิ่มภิญโญยศปรากฏนาม ฯ |
๏ ท้าวสินชัยได้กระบี่ยินดีนัก | เป็นที่รักยำเยงทั้งเกรงขาม |
ทั้งขึ้นชื่อลือยศปรากฏนาม | ไม่มีความกินแหนงแคลงพระทัย |
แล้วเชิญองค์ท่านครูผู้วิเศษ | เข้านิเวศน์เรือนทองอันผ่องใส |
เชิญให้กินเครื่องหวานสำราญใจ | ทั้งลูกไม้เอมโอชโภชนา |
ท้าวเสวยเนยนมขนมหวาน | กับอาจารย์พูดกันต่างหรรษา |
ฝ่ายตาเฒ่ากล่าวรสพจนา | ว่าดูราไทท้าวเจ้านคร |
ท่านชุบเลี้ยงตัวข้าเป็นผาสุก | ไม่มีทุกข์ภิญโญสโมสร |
ได้เลื่องชื่อลือไปกระจายจร | ทั้งนครแดนด้าวเพราะท้าวไท |
ประเดี๋ยวนี้เจ้าพาราปตาหวี | อยากเป็นที่พึ่งพักจนตักษัย |
จะขอเป็นเกือกทองฉลองไป | ท่านจงได้โปรดเกล้าแก่ท้าวเธอ |
จะขออนงค์นงลักษณ์อัคเรศ | แม้นโปรดเกศอนุกูลอย่างทูลเสนอ |
ถ้าโปรดปรานในประยูรสกูลเธอ | จะเปรมเปรอประดิพัทธ์สวัสดี ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นพิภพ | เธอปรารภเราก็รักเป็นศักดิ์ศรี |
ถ้าแม้นฉวยได้เสียเมียเขามี | จะเป็นที่อัปยศไม่งดงาม |
แล้วจึงว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | อันเมียเขามีหรือไม่ขอไต่ถาม |
ฉวยไปเป็นน้อยเขาเล่าสิงาม | จะเกิดความขุ่นข้องให้หมองมัว ฯ |
๏ บาทหลวงว่าข้าแต่ท้าวเจ้าพิภพ | อย่าปรารภมิให้เสียการเมียผัว |
ที่จะเป็นเหมือนเช่นว่าท่านอย่ากลัว | เขาก็ตัวเปล่าดอกไม่หลอกลวง |
แต่ไปอยู่กับอาจารย์นานหนักหนา | ไม่เห็นว่าเมียมีเป็นที่หวง |
จึงพาพวกเหล่าพหลคนทั้งปวง | เที่ยวแล่นล่วงเรือมาในสาคร |
เขาก็เป็นคนดีอารีรัก | เห็นสมศักดิ์สมศรีบุตรีสมร |
ข้าจึงได้มาขอมาง้องอน | ตามภูธรจะเมตตาโปรดปราน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราเมืองกาศึก | ขอตรองตรึกจะปรึกษามเหสี |
อีกสามวันเชิญท่านมาอย่าช้าที | การอันนี้สุดแท้แต่แม่เรือน ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเสาวนาแล้วลากลับ | ท่านคำนับรักใคร่ใครจะเหมือน |
เธอหยั่งจิตลงเป็นแท้ไม่แชเชือน | ไม่บิดเบือนสิ่งไรคงให้ปัน |
แต่ธรรมดาว่าขานการอย่างนี้ | ต้องเอาที่กตัญญูเพราะคู่ขัน |
เปรียบเหมือนคนชัดว่าวคราวพนัน | ต้องดูชั้นเชิงจะคว้าคอยท่าลม ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่ากลับมาหน้าเป็นเหม | แสนเกษมอยู่ในใจคงได้สม |
เดชะเวทวิทยาทั้งอาคม | คงจะสมที่คะเนเหมือนเทครัว |
แกจึ่งเล่าแก่พระยาปตาหวี | เคราะห์เองดีค้าตะเภาเป็นเจ้าสัว |
คงจะสมปรารถนาเองอย่ากลัว | คงได้ตัวอีลูกสาวของท้าวไท |
เขาพูดจาปรานีเหมือนทีญาติ | ว่าสมชาติสมเชื้อในเนื้อไข |
กูบอกว่าเมียไม่มีก็ดีใจ | เขาคงให้มึงเป็นแท้ไม่แง่งอน |
ท้าวกุลามาลียินดีสุด | ดั่งได้นุชดวงประไพวิไลสมร |
มาร่วมแท่นแสนสบายวายอาวรณ์ | จึงยอกรกราบก้มบังคมคัล |
ว่าเจ้าคุณกรุณาในครานี้ | เหมือนช่วยชี้ช่องให้ไปสวรรค์ |
พระคุณล้ำโลกาในสามัญ | โปรดให้ฉันพบเป็ดสักเจ็ดตัว ฯ |
๏ บาทหลวงว่าอ้ายกากจีบปากพูด | นั่งแต่ดูดขี้ฟันกูคันหัว |
จะเล่าเรียนทางไหนไม่ได้ตัว | มุดแต่หัวกินปลาอ้ายบ้ากาม |
จะเล่าเรียนความเพียรก็น้อยนัก | ไม่รู้จักสิ่งอันใดอ้ายซำสาม |
นี่หากกูดอกหนาหวาพยายาม | จึงสมความที่ประสงค์เจ้าหงส์ทอง |
ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | ประสานหัตถ์คิดถึงคุณการุญสนอง |
อันครั้งนี้เห็นจะสมอารมณ์ปอง | คงได้ครองขนิษฐากุมารี ฯ |
๏ จะกล่าวข้างไทท้าวเจ้านิเวศน์ | ครั้นแจ้งเหตุตรัสเรียกมเหสี |
แถลงความตามข้อคดีมี | ว่าบัดนี้อาจารย์เจ้าแกเข้ามา |
ขอนงนุชบุตรีศรีสวัสดิ์ | ให้กษัตริย์ปตาหวีมียศถา |
เจ้าจะเห็นเป็นอย่างไรใจสุดา | ไปปรึกษาลูกเต้าเขาเสียดี |
แม้นมิยอมพร้อมใจไม่สมัคร | เราจะหักหาญให้จะหน่ายหนี |
เจ้าจงไปไต่ถามให้งามดี | แม้นบุตรีชอบใจจะให้ปัน ฯ |
๏ ฝ่ายอนงค์องค์นางมเหสี | อัญชลีนาดกรายเสร็จผายผัน |
เข้าในห้องทองไสยาสน์อาสน์สุวรรณ | พร้อมกำนัลพี่เลี้ยงหมอบเรียงราย ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุตรีมาลีสมร | เห็นมารดรจรจรัลเสร็จผันผาย |
นางคำรพนบนอบพลางยอบกาย | น้อมถวายอภิวาทน์บาทบงสุ์ |
พระชนนีปรีดาแล้วปราศรัย | ว่าท้าวไทใช้มาถามตามประสงค์ |
พระอาจารย์ทรงฤทธิ์บิตุรงค์ | มาขอองค์เจ้าให้ท้าวเจ้าบุรินทร์ |
เมืองพาราปตาหวีที่มาอยู่ | ให้ครองคู่โดยประสงค์จำนงถวิล |
รับสั่งใช้ให้แม่มาหายุพิน | เจ้าจะจินตนาการสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พะงาสุดาสมร | นางบังอรทูลมารดาอัชฌาสัย |
สุดแท้แต่บิตุรงค์พระทรงชัย | ลูกมิให้เคืองขัดอัธยา ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์ทรงสดับ | แล้วลากลับไปประนมก้มเกศา |
ทูลแถลงแจ้งกิจแห่งธิดา | ให้พระสามีฟังเรื่องบังอร |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นพิภพ | ได้ฟังจบแสนสุโขสโมสร |
จึงว่ากับนงคราญผู้มารดร | ควรผันผ่อนบุตรีให้มีเรือน ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | แกอิ่มทรวงอิ่มใจใครจะเหมือน |
ถึงวันนัดท้าวไทจะไปเตือน | จะบิดเบือนเป็นไฉนจะไปฟัง |
พลางแต่งตัวเรียกพระยาปตาหวี | เจ้าผู้ดีเก่ามาไปดั่งใจหวัง |
พลางเรียกหาคนใช้จะไปวัง | มาพร้อมพรั่งจากที่แล้วลีลา |
กับไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | จรลีตามกันด้วยหรรษา |
เข้าในวังดั่งถวิลจินตนา | พอเวลาท้าวออกนั่งบัลลังก์ทอง |
บาทหลวงเฒ่าเข้าในพระโรงรัตน์ | ท้าวเธอตรัสเชิญเข้าไปปราศรัยสนอง |
ให้นั่งบนแท่นที่เก้าอี้ทอง | โดยทำนองรักใคร่เป็นไมตรี |
แล้วโอภาปราศรัยกับไทท้าว | เจ้าแดนด้าวพาราปตาหวี |
กับอาจารย์ตามถวิลด้วยยินดี | ท้าวมาลีคำนับอภิวันท์ |
แล้วเชิญชวนเข้าไปในปราสาท | สถิตอาสน์แล้วคำรพเชิญขบฉัน |
เครื่องลูกไม้หลายอย่างต่างต่างกัน | ของหวานมันเอมโอชโภชนา |
ทั้งสามองค์ทรงนั่งบนเก้าอี้ | ต่างยินดีเสวยพลันด้วยหรรษา |
บาทหลวงเฒ่าฉันพลางทางพูดจา | ภิปรายปราศรัยท้าวเจ้านคร |
อันเรื่องราวที่มากล่าวสถาผล | การมงคลในบุตรีศรีสมร |
ขอทราบความตามประสงค์องค์บังอร | จะผันผ่อนโปรดปรานสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราเมืองกาศึก | ว่าตรองตรึกโดยปัญญาอัชฌาสัย |
ก็เห็นควรตามทำนองปรองดองใจ | คงจะให้มีคู่อยู่ด้วยกัน |
ข้างมารดาของเขาเล่าก็ว่า | องค์พระอาจารย์มาวอนต้องผ่อนผัน |
จะตัดห่วงบ่วงใยจะให้ปัน | เสียให้ทันตาเห็นดั่งเจรจา |
ตามกุศลผลบุญเขาทั้งสอง | เป็นคู่ครองปรากฏด้วยยศถา |
อันที่เรื่องจะทำงานการวิวาห์ | สุดแต่อาจารย์เจ้าเอาที่ดี |
ได้ฤกษ์พาวันไรในตำหรับ | ขอคำนับท่านช่วยคิดตามดิถี |
จะได้จัดราชฐานการพิธี | เครื่องพลีเทวาให้ถาวร |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าตำราจึ่งว่าขาน | มงคลการก็ได้รู้ตามครูสอน |
ในเดือนยี่ปีระกาจะถาวร | ด้วยทินกรจรดลฝนไม่มี |
ขึ้นสี่ค่ำวันจันทร์นั้นเป็นฤกษ์ | จะเอิกเกริกเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
ข้างฝรั่งแต่งตั้งการพิธี | เป็นวันดีคิดอ่านการมงคล |
ท้าวจะชอบหรือไม่ชอบจงสอบสวน | แม้นเห็นควรแล้วจึงแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ท้าวสินชัยตอบความตามยุบล | ฉันเป็นคนสัตย์ซื่อถืออาจารย์ |
เจ้าคุณเห็นว่าดีเป็นที่พึ่ง | ก็สมซึ่งความรักสมัครสมาน |
ในเมืองนี้ใครจะดีกว่าอาจารย์ | อันการงานแล้วแต่ท้าวเจ้าประคุณ |
พูดกันพลางต่างเลี้ยงกันอิ่มหนำ | ท้าวรับคำขาดเหลือจะเกื้อหนุน |
ข้างเพศแขกนั้นไม่ต้องถึงกองทุน | เรียกกินบุญเลี้ยงกันเท่านั้นเอง ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่ากับพระยาปตาหวี | กลับมาที่อยู่ก่อนลงนอนเขลง |
แล้วปรึกษาพยายามกันตามเพลง | ของที่เองจัดมาบรรดามี |
คือเงินเหรียญหลายถังก็ยังอยู่ | ขนมาดูให้เข้าไปในกรุงศรี |
ช่วยเขาทำในงานการพิธี | อย่าให้มีรังเกียจว่าเบียดเบียน |
แล้วจึงเรียกคนใช้ไปกำปั่น | จงช่วยกันทุกคนขนเงินเหรียญ |
เร่งจัดแจงเอาใส่ลงในเกวียน | จงผลัดเปลี่ยนกันรักษาเอามาวัง |
พระสังฆราชแกให้หานางข้าหลวง | ตามกระทรวงมาไวไวดั่งใจหวัง |
แล้วมอบเงินให้เขาไปที่ในวัง | ทั้งสองถังรีบเอาไปในบุรินทร์ |
ถวายแก่นางพระยามารดาด้วย | ของนี้ช่วยตามในใจถวิล |
ได้จับจ่ายซื้อหาในธานินทร์ | กว่าจะสิ้นการวิวาห์สถาพร |
พวกสาวใช้รับไปถึงปราสาท | แล้วทูลนาฏนางพระยาสุดาสมร |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นนคร | เสด็จจรออกที่นั่งอลังการ |
ขุนนางพร้อมน้อมประณตบทเรศ | พระทรงเดชปราศรัยแล้วไขขาน |
ว่าเดือนยี่สี่ค่ำจะทำงาน | มงคลการอภิเษกเอกอนงค์ |
กับพระยาปตาหวีผู้มียศ | ให้ปรากฏสืบประยูรสกูลหงส์ |
เร่งจัดแจงแต่งที่นั่งบัลลังก์ทรง | ให้สององค์ร่วมสถานการวิวาห์ |
โต๊ะหะยีมีอยู่สักกี่หมวด | หามาสวดเลี้ยงกันให้หรรษา |
มีการเล่นเต้นรำตามตำรา | เครื่องวิวาห์จัดแจงแต่งให้ควร |
เสนารับจับจ่ายรีบหมายบาด | ตามข้อราชกิจไปแล้วใส่สวน |
เร่งกันทำโรงร้านเป็นการจวน | ให้สมควรยศท้าวเจ้าชวา |
ครั้นแล้วเสร็จถึงกำหนดแจกกฎหมาย | เสนานายมาประนมก้มเกศา |
ทูลไทท้าวเจ้านิเวศน์เกศประชา | เครื่องวิวาห์แล้วเสร็จสำเร็จการ |
ท้าวสินชัยได้สดับจึ่งรับสั่ง | ให้แต่งตั้งการข้างในอันไพศาล |
วันพรุ่งนี้สี่ค่ำจะทำการ | เชิญอาจารย์ให้เข้ามาในธานี |
ตำมะหงงถือรับสั่งไปยังสถาน | แล้วแจ้งการว่าท้าวไทในกรุงศรี |
ให้นิมนต์เข้าไปในบุรี | วันพรุ่งนี้จะสนานการมงคล ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเข้าใจที่ในกิจ | บอกกับศิษย์ให้รู้แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ให้จัดแจงแต่งกายาทาสุคนธ์ | เจือเวทมนตร์ทางเสน่ห์เทน้ำมัน |
ออกจากขวดกวดเกล้าทาเผ้าผม | ใครเห็นชมรักใคร่ใจกระสัน |
พอรุ่งเช้าพากันไปข้างในพลัน | ท่านท้าวนั้นเห็นว่าพระอาจารย์ |
กับพระยาปตาหวีให้มีจิต | รักสนิทเชิญเข้าไปในสถาน |
ให้นั่งเหนือแท่นรัตน์ชัชวาล | กับอาจารย์ไต่ถามกันตามเคย |
ธรรมดาข้างแขกแปลกภาษา | ต้องเอาผ้าขาวไปส่งให้เขย |
กับน้ำหอมที่ระคนปนกับเนย | ส่งให้เขยหยดทาในฝ่ามือ |
เปรียบเหมือนให้อยู่เย็นให้เป็นสุข | นิราศทุกข์ยังตำหรับเคยนับถือ |
ข้างฝ่ายเขยก็ต้องก้มประนมมือ | ข้างแขกถือว่ามีชัยในพ่อตา |
ครั้นแล้วเสร็จพาเข้าไปข้างในม่าน | ฝ่ายเยาวมาลย์แต่งองค์ทรงภูษา |
นุ่งผ้ายกหกศอกเดินออกมา | พระมารดาจูงมือให้ถือพาน |
พวงอุบะตันหยงมาส่งให้ | แล้วก็ไปนั่งเรียงเคียงขนาน |
พวกโต๊ะสวดต่างต่างอย่างบุราณ | ว่าเป็นการบุญแท้ไม่แปรปรวน |
ทั้งสองข้างต่างดูรู้ประจักษ์ | กำเริบรักกรุ้มกริ่มพลางยิ้มสรวล |
รู้ถนัดอัชฌาสัยในกระบวน | เวลาควรสวดจบครบตำรา |
ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นนิเวศน์ | ทอดพระเนตรเขยขวัญนึกหรรษา |
ข้างฝ่ายองค์นงคราญผู้มารดา | จูงธิดากลับหลังเข้าวังใน |
ข้างฝ่ายท้าวเจ้าพ่อตาพาลูกเขย | ลีลาเลยออกมาแล้วปราศรัย |
กับบาทหลวงพร้อมกันด้วยทันใด | เสร็จนั่งในชานพักตำหนักทอง |
พวกชาววังตั้งเครื่องบนโต๊ะใหญ่ | ทั้งเป็ดไก่ต่างต่างข้างละสอง |
ข้าวกระหรี่มัสมั่นใส่จานทอง | ล้วนแต่ของเอมโอชโภชนา |
เอาตั้งเทียบเรียบเรียงบนโต๊ะเสร็จ | เชิญเสด็จเสวยพลันด้วยหรรษา |
พวกสาวสาวนารีศรีโสภา | ตีรำมะนาขับร้องฉลองงาน |
ตามภาษาเพศแขกแยกกันร้อง | ประสานซ้องฉิ่งกรับต่างขับขาน |
เรื่องอิเหนาเข้าถ้ำแสนสำราญ | ซ้องประสานเหนาะแหนะเหมือนแพะครวญ |
๏ บาทหลวงฟังนั่งอยู่นานรำคาญหู | กินเลี้ยงดูลามาพักตำหนักสวน |
ท้าวกุลาราคร้อนลงนอนครวญ | ให้อักอ่วนอยู่ในใจไม่เสบย ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นกิริยาว่าอ้ายกาก | มันช่างอยากยิ่งกว่าข้าวนะเจ้าเอ๋ย |
ท้าวกุลานึกอายด้วยไม่เคย | ก็นิ่งเลยไม่พูดจากับอาจารย์ |
ฝ่ายท่านท้าวสินชัยในนิเวศน์ | ภูวเรศสั่งเสนาปรีชาหาญ |
ให้จัดรถพระที่นั่งอลังการ | เอาผ้าม่านเทียมประจำเป็นสำคัญ |
ไปรับท้าวเจ้าพาราปตาหวี | มาในที่ปรางค์ชัยไอศวรรย์ |
กับองค์พระอาจารย์การสำคัญ | จรจร้ลเข้ามาอย่าช้าที |
ตำมะหงงคำนับขับรถา | ไปวันทาน้อมประณตบทศรี |
ว่าท้าวไทเชิญให้ไปในบุรี | ประเดี๋ยวนี้โชคชัยได้เวลา |
บาทหลวงเฒ่าเข้าไปที่ในห้อง | จัดเอาของเครื่องต่างต่างอย่างภาษา |
ข้างฝรั่งอย่างดีมีราคา | เป็นต้นว่าสายสร้อยเครื่องห้อยมวย |
ตุ้มหูเพชรเจ็ดกะรัตแกจัดไว้ | ทั้งเครื่องใส่ต่างต่างที่อย่างสวย |
อีกปิ่นเพชรลายจำหลักได้ปักมวย | ของที่สวยอย่างฝรั่งข้างลังกา |
ใส่หีบปัดจัดใส่มาในรถ | พร้อมกันหมดขึ้นราชรถา |
สารถีคำนับขับอาชา | ให้เคลื่อนคลารถที่นั่งอลังกรณ์ |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าพาราปตาหวี | ต่างยินดีจะไปหาสุดาสมร |
ถึงประทับทวาราพากันจร | เข้านครขึ้นมนเทียรวิเชียรพราย ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราออกมารับ | แล้วคำนับพระอาจารย์เชิญผันผาย |
เข้าไปที่ตำหนักจันทน์พรรณราย | ท้าวภิปรายสั่งสุรางค์นางกำนัล |
ให้ไปเรียกบุตรีนารีราช | สนมนาฏพวกข้างในรีบผายผัน |
ทูลแถลงแจ้งกิจจาสารพัน | พระนุชนั้นกับมารดารีบคลาไคล |
เฝ้าพระองค์ทรงฤทธิ์บิตุราช | ท้าวประภาษพจนาอัชฌาสัย |
จงคำนับพระอาจารย์อันชาญชัย | นางก็ไปกราบก้มประนมกร |
บาทหลวงเฒ่าจัดของออกกองไว้ | แล้วส่งให้พระบุตรีศรีสมร |
นางคำนับรับมาส่งองค์มารดร | ชุลีกรวันทาพระอาจารย์ |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราเมืองกาคึก | เห็นสมนึกในพระทัยหลายสถาน |
พระบุตรีได้ของขวัญท่านอาจารย์ | เธอเบิกบานชื่นชมสมพระทัย |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | พระคุณเท่าเทียมฟ้าจะหาไหน |
ท่านเมตตาการุญฉันอุ่นใจ | ขอยกไว้เป็นครูที่บูชา |
แล้วท่านท้าวเจ้าพาราพาลูกเขย | เสด็จเลยเข้าไปพลันด้วยหรรษา |
อันเพศแขกแรกจะส่งองค์ธิดา | ข้างพ่อตาต้องจูงไปในที่นอน |
ฝ่ายแม่ยายก็ต้องไปกับลูกสาว | คนละคราวแล้วไปนั่งช่วยสั่งสอน |
ข้างลูกเขยก็คำนับรับศีลพร | เมื่อจะจรให้เขยรับจับเอามือ |
ตามกำหนดบทเบื้องในเมืองนั้น | ทำเหมือนกันโดยตำหรับเคยนับถือ |
ไพร่ผู้ดีต้องบังคับให้จับมือ | เป็นที่ถือตามอย่างทางบุราณ |
แล้วมารดาลากลับเป็นสรรพเสร็จ | นางเสด็จมาปราสาทราชฐาน |
ทั้งสองข้างต่างสำรวลชวนสำราญ | เยาวมาลย์บิดเบือนทำเชือนแช |
เพราะมารยาโฉมฉายทั้งอายเหนียม | ลงฟุบเฟี้ยมอึดอัดขัดกระแส |
ท้าวสวมสอดกอดกระสันนางผันแปร | ชำเลืองแลค้อนควักพะวักพะวน |
ว่าน้องนี้ใช่จะหนีไปไหนเล่า | จงโปรดเกล้าผ่อนพักไว้สักหน |
อย่าหักหาญการประกอบไม่ชอบกล | พอให้พ้นความอายหลายหลายวัน |
ท้าวตอบนางพลางว่านิจจาน้อง | ไม่ปรองดองประดิพัทธ์ใครจัดสรร |
ให้มานั่งอยู่ดั่งนี้สักกี่วัน | กว่าน้องนั้นแม่จะเบาบรรเทาอาย |
พลางประคองต้องเต้าเยาวลักษณ์ | นางพลิกผลักแค้นใจมิใคร่หาย |
ประเวณีหญิงคารมต้องคมคาย | มักวุ่นวายทุกภาษาไม่ว่าใคร |
ถึงจะรักเท่ารักก็มักขัด | สะบิ้งสะบัดตามประสาอัชฌาสัย |
สำนวนเขาเล่าก็มากปากตะไกร | พูดพิไรตั้งกระทู้ไม่รู้จน |
ทางอิงแอบแนบชิดจุมพิตพักตร์ | กำเริบรักร้อนรุมทุกขุมขน |
แต่บิดเบือนเชือนไชในไกกล | ตอบยุบลว่ากล่าวให้ยาวความ |
นี่แนะจอมอิศราปตาหวี | อันน้องนี่ไม่เห็นใจขอไต่ถาม |
แม้นรักจริงสิ่งใดน้องได้ปราม | อย่าลวนลามหนักไปน้องไม่เคย |
จะขืนเฝ้าจุกจิกจะหยิกหัตถ์ | ฉันขอผัดอย่าเพิ่งวุ่นพ่อคุณเอ๋ย |
เวลานี่น้องก็ไม่สบายเลย | แล้วจึ่งเชยใช้ประชดที่อดออม |
ธรรมดาฟ้าดินไม่สิ้นสุด | จงยั้งหยุดไว้คงได้ไถถนอม |
ท้าวจะหักเอาแต่ได้ฉันไม่ยอม | พูดอ้อมค้อมไปแต่ปากอยากแทบตาย |
อันจิตหญิงนี่มันยิ่งกว่าบุรุษ | แต่อายสุดอยู่ในใจมิใคร่ขยาย |
ตีประเมินด้วยวาจาแต่ตาลาย | ทำอุบายแข็งแรงแต่งสำนวน ฯ |
๏ ท้าวกุลาว่าแม่นุชสุดฉลาด | ใครจะอาจมาประคองครองสงวน |
ถูกแต่ชั้นเชิงอุบายหลายกระบวน | ตีสำนวนต่างต่างไม่บางเบา |
พี่ขอไปปะตาปาลาพระนุช | ไปสร้างกุฏิ์อดใจอยู่ชายเขา |
กว่าจะสิ้นชีวงหนานงเยาว์ | ไปอยู่เขาอยู่ไพรเพราะอายคน |
ด้วยมิ่งมิตรคิดขัดตัดสวาท | ต้องนิราศว้าเหว่ระเหระหน |
เพราะเขาไม่กรุณาเข้าตาจน | ดูเหมือนคนดื้อด้านรำคาญใจ |
ท้าวว่าพลางทางลุกลงจากอาสน์ | จะยุรยาตรจากมิตรพิสมัย |
นางฉวยฉุดยุดภูษาแล้วว่าไป | น้อยหรือใจคอท้าวเจ้าบุรินทร์ |
ขอผัดผ่อนงอนง้อแต่พอให้ | บรรเทาใจร้อนอารมณ์ไม่สมถวิล |
ก็กริ้วโกรธโกรธาเป็นราคิน | หรือท้าวสิ้นขาดเด็ดไม่เมตตา |
นางซบพักตร์ลงกับเพลาเฝ้ากันแสง | พระจะแกล้งตัดชีวังให้สังขาร์ |
อันชาตินี้มีกรรมจำนิรา | จะมรณาเสียให้สิ้นมลทินอาย ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | จูงเอาหัตถ์ปลอบประโลมนางโฉมฉาย |
ขึ้นสถิตบนแท่นแสนสบาย | ประคองกายกอดแอบไว้แนบทรวง |
หัตถ์ประทับกับพุ่มปทุมถัน | นางผ่อนผันยอมตามไม่ห้ามหวง |
กำเริบรักร้อนจิตหวิดหวิดทรวง | ลงเหงาง่วงเล่ห์ลิ้นสิ้นกระบวน |
ที่งอนหรับกลับหายกลายเป็นนิ่ง | พลางแอบอิงโดยทำนองประคองสงวน |
ถนอมแนบแอบชิดสนิทนวล | ฤดีป่วนปั่นคะนองทั้งสองรา |
พายุพยับอับพื้นนภากาศ | พิรุณสาดสายชลบนเวหา |
สุนีเปรี้ยงเสียงสนั่นลั่นสุธา | เมขลาล่อแก้วอยู่แววไว |
รามสูรขว้างขวานประหารก้อง | สะเทื้อนท้องโลกาสุธาไหว |
พื้นอากาศดาดแดงดังแสงไฟ | ชลาไหลคลื่นคลั่งในวังวน |
มัจฉาชาติดาษดื่นบ้างตื่นเต้น | มังกรเล่นธาราดั่งห่าฝน |
จระเข้เหราในสาชล | ขึ้นลอยวนฟาดหางกลางสินธู |
ฉนากฉลามว่ายตามกระแสสินธุ์ | กระเบนบินโลมาแลราหู |
นาคราชผาดผยองขึ้นฟองฟู | พระราหูจับจันทร์ไม่ทันกิน |
สองภิรมย์สมสวาทบนอาสน์รัตน์ | นางกษัตริย์ชื่นชมสมถวิล |
ที่งอนแง่แก้ปลดหมดมลทิน | เป็นสุดสิ้นเรื่องคารมที่ข่มชาย |
อัศจรรย์มันบ่อยไม่ถอยรส | ดั่งแป้งสดชื่นอารมณ์เพราะสมหมาย |
แต่คลึงเคล้าเช้าเย็นไม่เว้นวาย | แสนสบายดั่งได้ผ่านวิมานพรหม |
ท้าวกุลาลืมวังแลสังฆราช | พระนุชนาฏลืมสุรางค์นางสนม |
สองพึ่งเคยเชยถนอมกล่อมอารมณ์ | เปรียบเหมือนลมแรงจัดสะบัดใบ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | เวลาล่วงหลายวันจึ่งขานไข |
ว่าแก่ท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นเวียงชัย | เป็นกระไรเขยท้าวเจ้านคร |
ไม่ออกมาหาสู่อยู่ที่ไหน | ท้าวจงให้มาบ้างช่วยสั่งสอน |
ทิ้งสถานบ้านวังทั้งนคร | จะเย็นร้อนมีการสถานใด |
ฉวยเกิดศึกฮึกฮักมาหักหาญ | จะรำคาญขุ่นข้องไม่ผ่องใส |
จำจะต้องผ่อนปรนให้คนไป | ถึงยังไม่บทจรก่อนก็ตาม ฯ |
๏ ท้าวสินชัยได้ฟังสังฆราช | ท่านผู้ปราชญ์ว่าอย่างไรต้องไปถาม |
แกพูดจาถูกบทเห็นงดงาม | ก็ต้องตามคำครูผู้อาจารย์ |
จึงให้คนเข้าไปหาพระยาเขย | เร็วเร็วเหวยเองไปหาแล้วว่าขาน |
ให้ออกมาหาท่านครูผู้อาจารย์ | จะคิดการไปนิเวศน์เขตบุรี |
ผู้รับสั่งรีบไปในนิเวศน์ | แล้วทูลเหตุองค์พระมเหสี |
นางพระยาจรจรัลไปทันที | ถึงปรางค์ศรีเขยขวัญกัลยา |
บอกว่าองค์พระบิดาให้หาเจ้า | ออกไปเฝ้าที่ชานพักตำหนักขวา |
ท้าวกุลามาลีศรีโสภา | แจ้งกิจจาสั่งอนงค์องค์ยุพิน |
พระบิตุเรศเกศเกล้าท้าวให้หา | จะนิ่งช้าอยู่ไม่ได้เหมือนใจถวิล |
แต่พอได้แจ้งความตามระบิล | รับสั่งสิ้นเสร็จสรรพจะกลับมา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงค์องค์ประไพวิไลลักษณ์ | นางนงลักษณ์แต่งองค์ทรงภูษา |
ตามเสด็จจอมกษัตริย์ภัสดา | พากันมาที่เฝ้าท้าวสินชัย |
อันธรรมเนียมข้างแขกเมื่อแรกอยู่ | ผัวไปสู่แห่งหนตำบลไหน |
ต้องติดตามสามีทุกทีไป | กว่าจะได้โดยตำราถึงห้าเดือน |
พ้นกว่านั้นถึงไม่ไปก็ไม่ห้าม | ต้องทำตามเพศพันธุ์นั้นให้เหมือน |
ไพร่ผู้ดีคนจนพลเรือน | ต้องทำเหมือนกันสิ้นไม่นินทา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวบิตุรงค์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสว่าอาจารย์ท่านให้หา |
บาทหลวงเฒ่าจึ่งแถลงแจ้งกิจจา | ว่าเรามาอยู่ก็นานทิ้งบ้านเมือง |
จำจะต้องให้เสนาพากันกลับ | ฉวยเกิดทัพศึกมาตาจะเหลือง |
ต้องให้กลับไปพารารักษาเมือง | แม้นฝืดเคืองจะได้ถือหนังสือมา ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ก็ยินดีตอบไปพลันด้วยหรรษา |
แล้วแต่ท้าวเจ้าคุณกรุณา | บาทหลวงว่าจะไปได้ก็ตาม |
ท้าวสินชัยจึงว่าถ้าเช่นนั้น | ค่อยผ่อนผันประจามิตรคงคิดขาม |
ต่อเดือนสี่ท้าวไทค่อยไปตาม | พ่อขอห้ามไว้สักหน่อยจึ่งค่อยจร |
แต่เจ้าคุณกรุณาอย่างว่าไว้ | อย่าเพ่อไปเชิญอยู่เป็นครูสอน |
ให้ช้าช้าไปสักหน่อยจึงค่อยจร | จะได้สอนไตรเพทข้างเวทมนต์ |
บาทหลวงว่าถ้ากระนั้นอันตัวข้า | จะต้องลาออกไปให้พหล |
จัตุรงค์เสนาพลาพล | ที่คงทนจัดแจงแบ่งให้ไป |
แกว่าพลางทางลามากำปั่น | ลงไปพลันยังท่าชลาไหล |
เอากำปั่นจัดแจงแบ่งกันไป | เสนาในแต่บรรดาที่มาเรือ |
ขนอาหารหวานคาวเอาลงใส่ | ให้ใช้ใบไปยังข้างยังเหนือ |
แต่บรรดาต้นหนคนในเรือ | จัดข้าวเกลือขนใส่ลงให้พอ |
แบ่งกันไปพาราสักห้าร้อย | ออกแล่นลอยนอกสันดอนถอนสมอ |
พอลมดีคลี่ใบมิได้รอ | ออกแล่นคลอเรื่อยตามข้างคงคา |
บาทหลวงจัดเสร็จสรรพกลับไปที่ | วิชามีตรองคิดสอนศิษย์หา |
ฝ่ายไทท้าวเจ้านิเวศน์เกศประชา | กลับเข้ามาขึ้นมนเทียรวิเชียรพราย |
ทั้งลูกเขยลูกสาวเข้าในห้อง | เคียงประคองเมียตนวิมลฉาย |
มันเค็มมันหวานเรื่อยเฉื่อยสบาย | ไม่ห่างสายสวาทชื่นระรื่นทรวง ฯ |