- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
๏ จะกล่าวหน่อบพิตรอดิศร | สุดสาครตามติดกนิษฐา |
จนล่วงเข้าอ่าวสินธุ์ถิ่นนาคา | เห็นภูผาวุ้งเวิ้งเชิงคิริน |
ดูโพลงพลุ่งรุ่งโรจน์โชติสว่าง | อยู่ท่ามกลางเกลียวมหาชลาสินธุ์ |
จะแลซ้ายฝ่ายขวาล้วนนาคิน | ขึ้นไล่กินกุ้งปลาในสาชล |
รู้ทำนองปล่องนาคจึงบากข้าม | ตัดไปตามคลื่นทะเลระเหระหน |
พอเห็นลำสำเภาที่เสาวคนธ์ | ทำด้วยมนต์หมายว่าเภตราทรง |
ขับมังกรถอนถีบเร็วรีบไล่ | เห็นไรไรไม่รู้ถึงตะลึงหลง |
เลี้ยวละเมาะเกาะเกียนวกเวียนวง | จนสุริยงเย็นรอนอ่อนกำลัง |
เห็นลิบลิบถีบถลาข้างหน้าลับ | ครั้นเหลียวกลับแลเขม้นเห็นข้างหลัง |
เอะผิดทีผีหลอกดอกกระมัง | ให้หลงตั้งติดตามถึงสามวัน |
จึงลงเลขเสกเป่าไม้เท้าทิพย์ | ชื่อมนต์นิพพารนาแก้อาถรรพณ์ |
ชี้สำเภาเป่าไปเป็นไฟกัลป์ | สำเภานั้นหายวับไปกับตา ฯ |
๏ พอแลเห็นเป็นชะวากที่ปากอ่าว | มีเกาะยาวใหญ่ขวางอยู่ข้างหน้า |
ควันโขมงสงสัยในวิญญาณ์ | จึงขับม้าขึ้นละเมาะเกาะค้างคาว |
เห็นโรงใหญ่ไปดูพบผู้เฒ่า | นั่งชันเข่าเหลาตอกผมหงอกขาว |
เป็นชายอยู่ผู้เดียวหญิงเกรียวกราว | ล้วนสาวสาวน้อยน้อยสักร้อยคน |
บ้างนั่งเรียงเคียงรอบริมขอบแคร่ | พระแลแลหลากจิตคิดฉงน |
ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าผัวตามัวมน | มองเห็นคนขับเมียไปเสียไกล |
แลดูม้าน่ากลัวก้มหัวกราบ | จะใคร่ทราบซักถามตามสงสัย |
จะมาหาข้าหรือจะธุระอะไร | จงโปรดให้แจ้งจิตในกิจจา ฯ |
๏ หน่อกษัตริย์ตรัสถามตามสุภาพ | อย่ากรานกราบเลยธุระจะมาหา |
แล้วลงนั่งยังชะง่อนก้อนศิลา | ร้องเรียกมาซักถามตามพระทัย |
แน่ท่านครูผู้เฒ่าจงเล่าเรื่อง | อยู่บ้านเมืองแห่งหนตำบลไหน |
เกิดวิบัติขัดขวางเป็นอย่างไร | มาอยู่ในเกาะแก่งตำแหน่งนี้ ฯ |
๏ ฝ่ายผู้เฒ่าเล่าความไปตามซื่อ | ข้าเจ้าหรือชาวพาราสาวัตถี |
เมื่อหนุ่มนั้นภรรยาข้าไม่มี | เกี้ยวสตรีโกรธาเที่ยวด่าทอ |
จนขอสู่ผู้ใหญ่ยกให้พร้อม | ยังไม่ยอมเป็นเมียต้องเสียหอ |
อายมนุษย์สุดกำลังไม่รั้งรอ | จะผูกคอเสียให้ตายวายชีวา |
ขึ้นไปบนต้นกระแมงลายแทงผุด | จึงทราบสุดซึ่งเล่ห์เสนหา |
กลับไปเที่ยวเกี้ยวสาวชาวพารา | พอปะตาต้องจิตสนิทใน |
ประการหนึ่งคลึงเคล้าเย้ายั่วหญิง | ให้หลงลิงโลดจิตพิสมัย |
ถึงแม่พ่อก็ให้ลืมด้วยปลื้มใจ | เหตุด้วยได้แยบคายในลายแทง |
ถึงแก่เฒ่าสาวรักอักนิษฐ์ | พอใจชิดชวนแนบนั่งแอบแฝง |
รู้ถึงท้าวเจ้าเมืองคิดเคืองแคลง | จึงกลับแกล้งแสร้งว่าเป็นกาลี |
ด้วยแก่เฒ่าเคล้าเคลียมีเมียสาว | มาปล่อยอ่าวพาราสาวัตถี |
จึงสิงสู่อยู่เกาะละเมาะนี้ | พวกนารีทั้งนั้นเป็นภรรยา |
ขอถามพระจะไปไหนอยากใคร่ทราบ | แสนสุภาพน่ารักนั้นหนักหนา |
พระตรองตรึกนึกจะใคร่ได้วิชา | ให้น้องยายอมบ้างเหมือนอย่างใจ |
จึงเล่าความตามเรื่องที่เคืองข้อง | มาตามน้องมิได้แจ้งตำแหน่งไหน |
ท่านตาครูรู้เล่ห์เสน่ห์ใน | ช่วยสอนให้แยบคายตามลายแทง |
ถ้าสมหวังดังคำที่ร่ำกล่าว | ให้ได้สาวประดิพัทธ์ไม่ขัดแข็ง |
จะแทนบุญคุณบ้างอย่าคลางแคลง | ช่วยจัดแจงเภตราออกมารับ ฯ |
๏ ฝ่ายตาครูรู้ว่าเป็นกษัตริย์ | ไม่ขืนขัดไขความตามตำรับ |
เชิงสัมผัสสตรีที่ลี้ลับ | สังเกตจับจิกเล็บที่เทพจร |
จะปลาบปลื้มลืมหลงปลงสวาท | อย่าให้คลาดเคลื่อนจำเหมือนคำสอน |
รู้จับแน่แก่สาวย่อมหาวนอน | สุดสาครขอประสิทธิ์สมคิดไว้ |
แล้วถามว่าตาครูอยู่ที่นี่ | เห็นเภตรามาทางนี้บ้างหรือไฉน |
เฒ่าชราว่าเขม้นเห็นไรไร | เขาแล่นไปแต่เดือนสี่เมื่อปีกลาย |
ออกน้ำเขียวฝ่าคลื่นขึ้นข้างเหนือ | ใหญ่กว่าเรือไปมาเที่ยวค้าขาย |
สังเกตแดนแผนที่บุรีราย | จะเข้าฝ่ายฝั่งพาราวาหุโลม |
แล้วจับยามตามไปจะได้ปะ | สงสารพระผอมซูบเสียรูปโฉม |
ช่างเดินทางกลางคลื่นครึกครื้นโครม | ต้องทุกข์โทมนัสสาน่าปรานี ฯ |
๏ พระฟังคำร่ำเล่าสำเภาใหญ่ | จะตามไปเพื่อจะพบประสบศรี |
จึงบัญชาว่าท่านครูอยู่จงดี | ธุระมีจะขอลาท่านคลาไคล |
แล้วขึ้นนั่งหลังมังกรรีบถอนโถม | โจนกระโจมลงมหาชลาไหล |
ออกน้ำลึกครึกครื้นตามคลื่นไป | กำหนดในทิศทางข้างอุดร ฯ |
๏ สิบห้าวันครั้นเย็นแลเห็นด่าน | มีปราการก่อป้อมคร่อมสิงขร |
สำเภาจอดทอดท่าริมสาคร | เห็นแน่นอนนางจะมาเภตรานี้ |
เมื่อแรกทำจำได้ทั้งใบเสา | ผิดสำเภาชาวเมืองมีเครื่องสี่ |
ขับม้าทรงตรงมาพอราตรี | ก็ถึงที่ฝั่งทะเลขึ้นเภตรา |
เห็นคนอยู่รู้จักจึงทักถาม | ถึงเรื่องความตามติดกนิษฐา |
เขาทูลความตามเรื่องจากเมืองมา | จนชิงชัยได้พาราวาหุโลม ฯ |
๏ พระฟังคำร่ำแถลงแจ้งประจักษ์ | เหมือนพบพักตร์เสาวคนธ์วิมลโฉม |
เป็นฤๅษีพี่จะได้ไปเป็นโยม | ปลอบประโลมลองวิชาของตาครู |
แม้สมนึกสึกชีเหมือนอิเหนา | ไม่ปลอดเปล่าเปลื้องปลดที่อดสู |
จะบวชตามทรามวัยลอบไปดู | มิให้ผู้อื่นแจ้งจะแพร่งพราย |
จึงแปลงองค์ทรงนุ่งหนังเสือเหลือง | ประดับเครื่องครองเลิศล้วนเฉิดฉาย |
พอรุ่งแจ้งแสงตะวันพรรณราย | จึงสั่งนายพวกที่เฝ้าสำเภาทรง |
ให้จ้างเขาชาวด่านบ้านปากน้ำ | ได้คนนำทางตามความประสงค์ |
ถือไม้เท้าดาวบสจรดประจง | ไปขึ้นทรงนั่งหลังม้ามังกร |
กับผู้นำตำบลหนทางนั้น | ต่างผายผันพาเดินเนินสิงขร |
เข้าแดนด่านบ้านป่าพนาดร | ประทับร้อนแรมทางมากลางไพร ฯ |
๏ จะกล่าวพระอัคนีนารีราช | แต่อาพาธพักตร์หมองไม่ผ่องใส |
ให้โหยหิวหวิววับลมจับใจ | สะอึกไอไห้สะอื้นทุกคืนวัน |
เสวยยาสารพัดจัดถวาย | ไม่เหือดหายคลายโรคที่โศกศัลย์ |
พี่เลี้ยงน้อมพร้อมหน้าปรึกษากัน | ด้วยพระชันษายี่สิบห้าปี |
เป็นคราวเคราะห์เพราะว่าพระราหู | มาสมสู่สุริยาในราศรี |
อังคารถึงซึ่งพฤหัสบดี | ตกต้องที่ช้างฉัททันต์อันตราย |
จงสึกหาลาพรตให้ปลดเปลื้อง | ได้แต่งเครื่องพลีกรรมทำถวาย |
จะเชือดแพะแกะสะเดาะพระเคราะห์ร้าย | ให้เคลื่อนคลายหายโศกสิ้นโรคภัย ฯ |
๏ นางเชื่อคำตำราจึงลาพรต | ทรงเครื่องยศอย่างพราหมณ์ตามวิสัย |
ตั้งบวงสรวงดวงชาตาสุราลัย | ให้เชือดแพะแกะไก่ไหว้เทวัญ |
ค่อยฟื้นองค์สรงเสวยนมเนยหอม | หายผ่ายผอมผิวฉวีเป็นสีสัน |
พี่เลี้ยงเหล่าสาวสุรางค์นางกำนัล | คอยป้องกันห้ามมิให้ใครเข้ามา ฯ |
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลสมร | คิดจะจรจากนิเวศน์หนีเชษฐา |
คืนวันนั้นครั้นสามยามเวลา | เคลิ้มนิทราม่อยลงทรงสุบิน |
ว่าองค์พระอนันตนาคราช | เผ่นผงาดมาทางลำแม่น้ำสินธุ์ |
เข้ารัดนางกลางคืนจะกลืนกิน | ร้องจนสิ้นเสียงสะดุ้งพอรุ่งราง |
รู้ตำราว่างูคือบุรุษ | ยิ่งแสนสุดตรึกตรองคิดหมองหมาง |
ตรัสเรียกสี่พี่เลี้ยงมาเคียงนาง | ไม่อำพรางทางเล่าให้เข้าใจ |
ประหลาดสุดภุชงค์ตรงมารัด | จะเป็นศัตรูตรึกนึกไฉน |
จะว่าพี่ที่เป็นคู่ก็อยู่ไกล | แล้วใจไม่ยินดีจึงหนีตัว |
ถึงพบพานฉันจะตัดจะขัดข้อง | ขอเป็นน้องเป็นพี่ไม่มีผัว |
แต่กริ่งใจในฝันเห็นพันพัว | นาคนั้นกลัวว่าจะได้แก่ไพรี ฯ |
๏ พี่เลี้ยงช่วยอวยพรสมรมิ่ง | จะใหญ่ยิ่งยศถามารศรี |
อันศึกเสือเหนือใต้เห็นไม่มี | เพราะพระพี่ผูกพระทัยอยู่ในน้อง |
จึงฝันเห็นเป็นคู่ที่ชูชื่น | ใช่ผู้อื่นจะระคนอย่าหม่นหมอง |
นางขวยเขินเมินนึกนิ่งตรึกตรอง | อยู่ในห้องให้รัญจวนปั่นป่วนใจ ฯ |
๏ จะกล่าวสุดสาครหยุดหย่อนบ้าง | ผู้นำทางร่ำเดินเนินไศล |
ยี่สิบวันครั้นรุ่งถึงกรุงไกร | จึงปล่อยให้ม้ามังกรผ่อนกำลัง |
สั่งผู้นำตำบลสองคนนั้น | ให้พากันกลับไปเหมือนใจหวัง |
แต่พระองค์ตรงมาถึงหน้าวัง | เข้าหยุดยั้งนั่งหน้าศาลาลัย |
พอขอเฝ้าเยาวมาลย์มาพานพบ | เข้านอบนบยินดีจะมีไหน |
พระรู้จักทักถามถึงทรามวัย | เขาทูลให้แจ้งจิตไม่ปิดบัง |
อันฤๅษีที่เป็นหมอพวกขอเฝ้า | เคยเดินเข้าออกได้เหมือนใจหวัง |
เชิญพระองค์ตรงไปเข้าในวัง | อย่าให้ทั้งปวงแจ้งจะแพร่งพราย ฯ |
๏ พระชื่นชอบตอบคำให้นำหน้า | ขอเฝ้าพามาปราสาทเหมือนมาดหมาย |
เห็นฤๅษีพี่เลี้ยงอยู่เรียงราย | แกล้งเมียงม่ายมิให้รู้ว่าผู้ใด |
ครั้นเห็นเมินเดินด้อมแอบอ้อมเสา | ค่อยแฝงเงาม่านทองที่สองไข |
เห็นน้องนอนซ่อนหน้านึกอาลัย | เข้านั่งใกล้แกล้งประคองลองตำรา |
นางซาบเสียวเหลียวดูรู้ว่าพี่ | ไม่หน่ายหนีนึกสมเพชพระเชษฐา |
พระแอบอุ้มจุมพิตวนิดา | พี่อุส่าห์ติดตามด้วยความรัก |
พลางรับขวัญมั่นหมายว่าตายราบ | นางก้มกราบซบทับลงกับตัก |
พระลูบโลมโฉมเฉลาเยาวลักษณ์ | นางแกล้งผลักพลางว่าไม่ปรานี |
พอมาถึงคลึงเคล้าเฝ้าเย้ายั่ว | ไม่เกรงกลัวบาปหรือเป็นฤๅษี |
พระปลอบนางข้างนอกดอกเป็นชี | แต่ใจพี่เป็นคฤหัสถ์อยู่อัตรา |
พลางปลดเปลื้องเครื่องครองออกกองไว้ | เครื่องทรงในนั้นเป็นพราหมณ์งามหนักหนา |
กอดประทับรับขวัญจำนรรจา | อย่าหน่วงช้าทารกรรมให้ช้ำใจ |
อันตัวพี่นี้เหมือนแมงภู่ผึ้ง | มาพบซึ่งเสาวรสอันสดใส |
สุดจะห้ามความรักหักฤทัย | พลางลูบไล้โลมน้องประคองเชย |
ถนอมแนบแอบชิดจุมพิตพักตร์ | ภิรมย์รักร่วมเรียงเคียงเขนย |
นางเบือนหนีนี่อะไรฉันไม่เคย | พระก่ายเกยกอดประทับไว้กับทรวง |
พอสบเชิงเริงรื่นชูชื่นแช่ม | ต่างยิ้มแย้มหย่อนตามไม่ห้ามหวง |
มณฑาทิพย์กลีบหุ้มเป็นพุ่มพวง | ขยายดวงเด่นกระจ่างเมื่อกลางวัน |
เกษมสุขทุกสถานพิมานทิพย์ | เห็นลิบลิบลอยสล้างกลางสวรรค์ |
พวกรำเต้นเล่นงานค้างการนั้น | กลับประชันโรงรำตามลำพัง |
เหมือนราตรีมีโขนละครหุ่น | กลางวันวุ่นวิ่งเต้นกลับเล่นหนัง |
ตะโพนฆ้องกลองตีไม่มีดัง | เหมือนสองสังวาสสวาทไม่คลาดคลา |
พระคลึงเคล้าเย้ายวนให้ป่วนปลื้ม | นางหลับลืมหลงเล่ห์เสนหา |
พระเอนแอบแนบชิดวนิดา | อุ่นอุราพลอยหลับระงับไป ฯ |
๏ ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงแว่วเสียงตรัส | กลับสงัดเงียบระงับหรือหลับใหล |
ค่อยแหวกม่านคลานแลอยู่แต่ไกล | เห็นเนาในแท่นทองทั้งสององค์ |
นึกเอะใจใครหนอนอนคลอเคล้า | พลางเคียงเข้าพินิจพิศวง |
สังเกตจำสำคัญได้มั่นคง | รู้ว่าองค์เชษฐาสุดสาคร |
มาเมื่อไรได้เสร็จสำเร็จคิด | ถนอมสนิทแนบทรวงดวงสมร |
เดิมพระน้องข้องขัดถึงตัดรอน | กลับโอนอ่อนอัศจรรย์ไม่ทันรู้ |
น่าหัวเราะเพราะหนีอภิเษก | มาลอยเมฆเหมือนเขาว่าน่าอดสู |
นางถอยกลับลับม่านขี้คร้านดู | ทำไม่รู้เสียเถิดหนอหัวร่อกัน |
บ้างค่อยว่าตาขยิบซุบซิบพูด | เทวทูตท่านมาเตือนจึงเฟือนฝัน |
นึกว่าใครไหนจะคิดมาติดพัน | มิรู้ว่าพระอนันตนาคา |
บ้างพลอยว่าสาแก่จิตที่บิดพลิ้ว | เดี๋ยวนี้หิวเห็นจะรักเธอหนักหนา |
จะคอยดูอยู่เมื่อตื่นฟื้นกายา | จะพูดจาว่ากระไรจะใคร่ฟัง |
บ้างค่อยว่าน่าสงสัยหรือไม่รู้ | เธอจะจู่มาเมื่อหลับลอบลับหลัง |
บ้างค่อนว่าถ้ากระนั้นก็น่าชัง | ดูเหมือนดังดินอิฐใช่จิตใจ |
จนผู้ชายก่ายกอดสอดสัมผัส | ยังไม่ฟัดไม่ครือหรือไฉน |
ต่างหัวร่อต่อกระซิกขิกขิกไป | ด้วยยินดีที่จะได้ไปพารา ฯ |
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลโฉม | ปลื้มประโลมหลับเนตรแนบเชษฐา |
ครั้นเต็มตื่นฟื้นกายอายวิญญาณ์ | กลับซบหน้านึกแน่นแค้นใจตัว |
แต่เดิมทีหนีหายไม่หมายคบ | เธอมาพบหรือเผอิญกลับเพลินผัว |
ผิดวิสัยใจเรามาเมามัว | เหมือนหญิงชั่วชายเกี้ยวประเดี๋ยวใจ |
วิบากกรรมจำจนให้อ้นอั้น | สุดจะผันสุดจะแปรสุดแก้ไข |
สุดจะอายขายหน้าพวกข้าไท | น่าน้อยใจใจเอ๋ยไม่เคยคิด |
จะใคร่ล้วงดวงใจออกให้เห็น | ว่ามันเป็นอย่างไรหนอในจิต |
จึงริรักมักง่ายให้ชายชิด | ช่างไม่คิดเกรงกลัวมืดมัวเมา |
เมื่อหลบลี้วิวาห์เมืองการะเวก | มาภิเษกเสียตัวกับผัวเขา |
ชะน่าแค้นแม้นมิใช่จิตใจเรา | จะใคร่เอาเกลือทาให้สาใจ |
ลงจากแท่นแค้นสี่พระพี่เลี้ยง | เรียกมาเคียงค่อนว่าไม่ปราศรัย |
นั่งอยู่นี่พี่ยามาเมื่อไร | ไม่บอกให้แจ้งจิตแกล้งปิดบัง |
เป็นลมจับหลับอยู่ไม่รู้แจ้ง | นี่เนื้อแกล้งจะให้อายเมื่อภายหลัง |
ให้นอนเคียงเรียงกันบนบัลลังก์ | เห็นงามทั้งห้าไร่จะได้ดู |
คิดว่าดีพี่เลี้ยงก็เพียงพี่ | ทีนี้ดีแตกหมดน่าอดสู |
แกล้งรู้เห็นเป็นใจทำไม่รู้ | ให้จู่ลู่ลามลวนไม่ควรเป็น ฯ |
๏ พี่เลี้ยงฟังนั่งตะลึงแล้วจึงว่า | นี่เธอมาแต่เมื่อไรก็ไม่เห็น |
ดู๋อยู่อยู่จู่จรมาซ่อนเร้น | ควรจะเป็นโทษทั่วทุกตัวคน |
บ้างบ่นว่ามาตรงตรงก็คงปะ | ชะรอยพระลอดช่องเช่นล่องหน |
บ้างบ่นว่าข้าเห็นทีจะมีมนต์ | จึงบังตนเข้ามาได้ในไสยา ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อวรนาถไสยาสน์ตื่น | ยังหอมรื่นรสกุหลาบอาบนาสา |
สำอางองค์ทรงศักดิ์สรงพักตรา | พอเห็นหน้าพี่เลี้ยงหมอบเมียงมอง |
จึงแกล้งตรัสตัดพ้อเออออหม่อม | ฉลาดพร้อมพูดเพราะเสนาะสนอง |
เจ้าเป็นที่พี่เลี้ยงเคียงประคอง | พาพระน้องหนีมาจากธานี |
ช่างแนะนำทำศึกที่ฝึกสอน | เที่ยวราญรอนรบพุ่งทุกกรุงศรี |
ไม่ห้ามปรามตามลำพังทำดังนี้ | เจ้าเห็นดีแล้วสิหนอไม่รอรา |
พระบิตุราชมาตุรงค์ทรงกำสรด | ทุกข์ระทดทั้งพระวงศ์เผ่าพงศา |
ด้วยเริศร้างค้างงานการวิวาห์ | เพราะตัวพาพระบุตรีหนีนคร |
เจ้าเป็นที่พี่เลี้ยงรู้เยี่ยงอย่าง | จึงได้วางพระทัยให้สั่งสอน |
ถึงพระน้องข้องขัดให้ตัดรอน | ควรผันผ่อนเพ็ดทูลมูลิกา |
นี่กลับเห็นเป็นดีพาหนีหาย | โทษถึงตายหรือไม่เล่าหม่อมเจ้าขา |
ซึ่งทั้งปวงล่วงพระราชอาชญา | ให้เรามาตัดศีรษะเสียบประจาน |
จะรับองค์นงนุชสุดสวาท | กลับไปราชนิเวศน์เขตสถาน |
เร่งรู้ความตามโทษที่โปรดปราน | จงให้การแก้ผิดที่ติดพัน ฯ |
๏ พี่เลี้ยงนางต่างว่าข้าพเจ้า | มีโทษเท่าดินฟ้าควรอาสัญ |
ถ้าลงพระอาญาให้ฆ่าฟัน | สุดจะผันผ่อนตนให้พ้นตาย |
ได้ทูลห้ามสามครั้งไม่ฟังห้าม | ต้องติดตามทรามสวาทเหมือนมาดหมาย |
สืบสนองรองบาทไม่คลาดคลาย | แม้เจ้านายไปถึงไหนก็ไม่ทิ้ง |
ด้วยเป็นข้าสาพิภักดิ์ถึงจักม้วย | สู้ตายด้วยพระธิดาประสาหญิง |
ไม่แกล้งว่าสารพัดเป็นสัตย์จริง | สุดจะทิ้งเจ้าพระคุณกรุณา ฯ |
๏ พระฟังคำทำเป็นเคืองชำเลืองค้อน | ที่โทษกรณ์ก็รู้จักว่าหนักหนา |
จะหยุดยั้งรั้งพระราชอาญา | ให้คิดหาความชอบปลอบพระน้อง |
ให้เจ้านายหายดื้อได้หรือไม่ | ไปกรุงไกรแล้วก็จะทูลฉลอง |
ให้พ้นโทษโปรดปรานกินพานทอง | จงตรึกตรองเกรงพระราชอาชญา ฯ |
๏ ทั้งสี่นางต่างรู้ว่าขู่หยอก | จึงว่านอกจากสมเด็จพระเชษฐา |
สุดจะฝืนขืนขัดพระอัชฌา | เสด็จมาแล้วก็เห็นจะเป็นการ ฯ |
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์รู้กลพี่ | ทำห้ามสี่กัลยาอย่าว่าขาน |
ช่วยกันหาฝรั่งมาตั้งพาน | ติดบนท่านผู้รับสั่งจึงบังควร |
พระชื่นชอบตอบว่าลูกฝรั่ง | พี่นี้ชังกลิ่นฉุนให้หุนหวน |
ถ้าแม้บนผลมะปรางสำอางนวล | จะสงวนเชยชื่นทุกคืนวัน |
จะละวางบ้างอยู่ไม่ขู่เข็ญ | มิให้เป็นโทษกรณ์ช่วยผ่อนผัน |
มิตามคำสำรองของกำนัล | ได้เกาะกันวันนี้ไม่มีรอ ฯ |
๏ นางว่าชะพระพี่ผู้รับสั่ง | ได้ขึ้นซังครั้งนี้แล้วสิหนอ |
อย่าเพ่อนึกฮึกฮักมิยักง้อ | ไม่รักขอโทษตัวไม่กลัวตาย |
มีรับสั่งอย่างไรแล้วไม่ขัด | เชิญช่วยตัดเอาศีรษะไปถวาย |
พระตอบว่าสรรพางค์รูปร่างกาย | มิสูญหายเสียหรือเจ้าเยาวมาลย์ |
จริงนะน้องจะต้องตามความรับสั่ง | พาไปทั้งรูปทรงส่งสัณฐาน |
พลางอิงแอบแนบองค์อุ้มนงคราญ | ขึ้นแท่นรัตน์ชัชวาลรูดม่านบัง |
พี่เลี้ยงออกนอกห้องสองกษัตริย์ | โสมนัสนงนุชนั่งจุดหลัง |
อยู่ปรางค์ทองห้องสุวรรณร่วมบัลลังก์ | ตามลำพังพิศวาสไม่คลาดคลา |
นางโฉมยงหลงละเลิงด้วยเชิงชื่น | พระหลงรื่นรสสุคนธ์ปนบุปผา |
นางลืมวงศ์พงศ์พันธุ์สวรรยา | พระลืมลาลีวันกำนัลใน |
ต่างบันเทิงเริงรื่นชุ่มชื่นแช่ม | ทั้งขึ้นแรมร่วมจิตพิสมัย |
ไม่เริศร้างห่างเหินเพลิดเพลินใจ | กำหนดได้หลายเดือนไม่เคลื่อนคลาย ฯ |
๏ อยู่วันหนึ่งจึงองค์นางนงลักษณ์ | คิดอายพักตร์พวกทมิฬสิ้นทั้งหลาย |
แม้มีผู้รู้แจ้งจะแพร่งพราย | ทั้งระคายคิดถึงองค์จะทรงครรภ์ |
จึงแจ้งเหตุเชษฐาเมื่อมารบ | ได้สมทบพวกพหลพลขันธ์ |
จะจัดแจงแต่งตั้งให้รางวัล | เหมือนผูกพันมั่นไว้ด้วยไมตรี |
มีธุระก็จะได้ใช้ทหาร | ช่วยรอนราญรบพุ่งกันกรุงศรี |
แต่ตัวน้องนี้จะต้องเป็นมุนี | ออกนั่งแท่นที่สุวรรณพรรณราย |
เสร็จธุระจะได้ไปเสียให้ลับ | จึงสึกกลับแปลงนามให้ความหาย |
อยู่ที่นี่มีผู้รู้ระคาย | จะได้อายอัประมานรำคาญใจ ฯ |
๏ พระยิ้มพลางทางว่าจะลาบวช | ฉันมิชวดอยู่หรือกรรมจะทำไฉน |
นางว่าเบื่อเหลือแล้วคะภูวไนย | ฉันมิใช่ชาติฝรั่งลิ้นลังกา |
พระสวมสอดกอดประคองว่าน้องรัก | บวชแต่สักสองวันเท่านั้นหนา |
พลางแย้มสรวลชวนชิดวนิดา | จนหลับใหลไสยาในราตรี ฯ |
๏ ครั้นรุ่งแสงสุริยงนางทรงพรต | น้อมประณตศีลถือเป็นฤๅษี |
ข้าหลวงล้อมพร้อมตามพระมุนี | ออกนั่งที่แท่นรัตน์ชัชวาล |
พร้อมเสนาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | อภิวาทดาษดาแน่นหน้าฉาน |
พระอัคนีศรีสวัสดิ์ดำรัสการ | ตามโบราณมอบสมบัติสวัสดี |
ให้โอรสยศยงองค์วาโหม | ครองพาราวาหุโลมเฉลิมศรี |
นางธิดาชันษาสิบห้าปี | ให้เป็นที่อัคเรศเกศกำนัล |
อันนายด่านชานชลาซึ่งสามารถ | เป็นอุปราชราชวังนรังสรรค์ |
ฝ่ายราหูผู้เป็นเจ้าเมืองตะวัน | ตรีเมฆนั้นเป็นมหาเสนาบดี |
ฝ่ายพระกาลด่านในให้ไปอยู่ | คงเป็นผู้รั้งด่านชานกรุงศรี |
ที่นอกนั้นบรรดาช่วยราวี | ให้แทนตรีเมฆราหูเป็นผู้รั้ง |
ทั้งบุตรชายนายด่านประทานยศ | เช่นโอรสรักเหมือนลูกช่วยปลูกฝัง |
อายุได้สิบปีมีกำลัง | เป็นผู้รั้งเมืองด่านชานชลา |
ทั้งเงินทองของประทานทหารรบ | ได้ถ้วนครบไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ต่างเริงรื่นชื่นชมบังคมลา | ไปรักษาแดนด่านสำราญใจ ฯ |
๏ พระอัคนีปรีชาสั่งวาโหม | จงอยู่โสมนัสสาอัชฌาสัย |
อุปถัมภ์บำรุงชาวกรุงไกร | ตั้งอยู่ในยุติธรรมอย่าลำเอียง |
ปรึกษาความตามบทในกฎหมาย | อย่ากลับกลายว่ากล่าวให้ก้าวเฉียง |
ผู้ดีใดมีวิชาเอามาเลี้ยง | จึงต้องเยี่ยงอย่างกษัตริย์ขัตติยา |
คิดกำจัดศัตรูโจรผู้ร้าย | ให้หญิงชายชื่นจิตทุกทิศา |
มีโทษกรณ์ผ่อนผันกรุณา | ให้เย็นใจไพร่ฟ้าประชาชน |
หนึ่งม้ารถคชสารทหารรบ | ให้รู้จบเจนศึกเฝ้าฝึกฝน |
แม้มีผู้ยุยงอย่าหลงกล | อย่าคบคนสอพลอทรลักษณ์ |
ใครข้องขัดทัดทานอย่าหาญฮึก | ค่อยตรองตรึกชอบผิดคิดหน่วงหนัก |
แม้มีผู้รู้มาสาพิภักดิ์ | ให้ยศศักดิ์สมควรอย่าชวนชัง |
จงฟังคำร่ำว่ารักษาศิล | จะเพิ่มภิญโญไปเหมือนใจหวัง |
รูปขอลาวาโหมโยมชาววัง | กลับไปยังฝั่งทะเลลงเภตรา |
เที่ยวหลีกบ่วงห่วงสัตว์ตัดสงสาร | ไปวิมานเมืองสวรรค์ให้หรรษา |
วาโหมฟังหลั่งหล่อคลอน้ำตา | ด้วยความอาลัยในพระอัคนี ฯ |
๏ จึงทูลว่าข้าคิดเหมือนบิตุเรศ | เคยฟังเทศน์ถือศิลพระชินศรี |
พระจะไปไกลวังเสียครั้งนี้ | ไม่มีที่อุปถัมภ์ก็จำจน |
ด้วยฝ่ายพระประโยชน์เที่ยวโปรดสัตว์ | สุดจะขัดทัดทานการกุศล |
แม้สบายภายหลังสิ้นกังวล | ขอนิมนต์กลับมายังธานี ฯ |
๏ พระรับคำอำลากลับมาห้อง | พร้อมพวกพ้องพหลพลฤๅษี |
พอโพล้เพล้เวลาจวนราตรี | ชวนพระพี่รีบออกนอกนคร |
พระทรงเดชเชษฐาทรงม้ามิ่ง | นางทรงสิงห์ตามเดินเนินสิงขร |
น้ำค้างย้อยพรอยพรำแต่อัมพร | เข้าดงดอนแดนป่าพนาลัย |
พวกขอเฝ้าสาวศรีเหล่าพี่เลี้ยง | ส่งโคมเคียงข้างทางสว่างไสว |
ประทับค้างตามทางมากลางไพร | ถึงบ้านไหนรับเลี้ยงพร้อมเพรียงกัน |
ด้วยนับถือฤๅษีเป็นที่ยิ่ง | ทั้งชายหญิงอยากจะใคร่ไปสวรรค์ |
แต่แรมทางกลางย่านสำราญครัน | ถึงเขตคันด่านสมุทรที่หยุดยั้ง |
เจ้าเมืองทำตำหนักไว้พรักพร้อม | ทั้งกระท่อมน้อยน้อยสักร้อยหลัง |
ให้ศิษย์หาหลับนอนผ่อนกำลัง | อยู่ริมฝั่งหาดทรายสบายใจ ฯ |
๏ พระอัคนีมิได้ลาสิกขาบท | ดูทรงยศพี่ยาจะว่าไฉน |
อยู่ตำหนักชักประคำนั้นร่ำไป | เรียกมาลามาลัยไว้ใช้การ |
พวกขอเฝ้าสาวสรรค์พากันสึก | ต่างสมนึกแสนสุขสนุกสนาน |
แต่องค์สุดสาครร้อนรำคาญ | ด้วยเยาวมาลย์มารยาไม่ลาพรต |
อยู่กุฎีที่พระน้องมีห้องกั้น | ทุกคืนวันวอนว่าพระดาบส |
นางผ่อนผัดขัดข้องก็ต้องงด | สู้ออมอดอกใจดังไฟลาม |
คิดจะทำตามตำรับให้กลับสึก | แล้วตรองตรึกเกรงบาปไม่หยาบหยาม |
แต่พากเพียรเวียนวอนไม่อ่อนตาม | จนถึงสามเดือนแล้วไม่แผ้วพาน |
เวลานั้นหันหุนให้ฉุนแค้น | ขึ้นนั่งแท่นเทียมสิทธาแล้วว่าขาน |
นี่แน่ะคะพระบรมสมภาร | บวชมานานยิ่งนิ่งก็ยิ่งลวง |
จะบวชไปให้เป็นขรัวใช่ตัวเปล่า | เป็นเมียเขาเจ้าของยังครองหวง |
เหมือนเป็นหนี้มิใช่น้อยเขาคอยทวง | จะลุล่วงไปได้หรือขืนดื้อดึง |
เร่งสึกหาลาศีลเสียเถิดคะ | ไม่ลดละแล้วจริงจริงอย่านิ่งขึง |
มิฟังคำทำดื้อได้อื้ออึง | ไปฟ้องถึงไหนก็ไปเถิดไม่กลัว |
พระบิตุราชมาตุรงค์ก็ปลงให้ | แล้วก็ได้เป็นพี่เป็นที่ผัว |
ขืนผ่อนผัดขัดข้องให้หมองมัว | เดี๋ยวนี้ตัวเปล่าหรือถืออย่างไร ฯ |
๏ นางฟังคำทำเป็นขึงแล้วจึงว่า | เมื่อศรัทธายังไม่เสื่อมที่เลื่อมใส |
ไม่สึกหาฆ่าฟันเป็นฉันใด | ตามพระทัยเถิดไม่ขัดพระอัชฌา |
ด้วยชาตินี้มีกรรมจึงลำบาก | ต้องพลัดพรากสุริย์วงศ์เผ่าพงศา |
จะถือศิลภิญโญโมทนา | ไปชาติหน้าจะได้สุขไม่ทุกข์ทน |
ถึงจะเชือดเลือดเนื้อเมื่อมิโปรด | ไม่ขึ้งโกรธดอกจะใคร่ได้กุศล |
จะสู้ซื่อถือศิลไม่ดิ้นรน | อุส่าห์ทนจนถึงกายจะวายปราณ ฯ |
๏ พระว่าชะจะนิ่งจริงหรือน้อง | จะได้ลองชมศรัทธาที่กล้าหาญ |
จะแล่เถือเนื้อน้องไม่ต้องการ | โปรดประทานแต่ที่เคยได้เชยชิด |
จะกอดจูบลูบต้องที่ของรัก | อย่าพลิกผลักมือนะจ๊ะพระนักสิทธ์ |
ช่วยเอียงแก้มแย้มเยื้อนให้เหมือนคิด | พลางเข้าชิดโฉมฉายยิ่งอายใจ |
จึงว่าพระจะข่มเหงไม่เกรงบาป | ทำหยามหยาบหยอกฤๅษีผิดวิสัย |
พระชื่นชวนสรวลสันต์นั่นเป็นไร | ปากว่าได้ใจเบือนไม่เหมือนคำ |
อย่าขัดเขาเจ้าของไม่ต้องที่ | สึกดีดีเถิดนะน้องไม่ต้องปล้ำ |
ขืนหน่วงหนักชักช้าทารกรรม | แก้มจะช้ำเสียเปล่าเปล่าไม่เข้าการ ฯ |
๏ นางเสแสร้งแกล้งว่าพระเป็นคฤหัสถ์ | จะมาตัดกิจกรมพรหมวิหาร |
แม้เลือดเนื้อเถือได้ควรให้ทาน | นี่เป็นการบาปกรรมที่สำคัญ |
จึงหลีกตัวกลัวพระพี่จะมีโทษ | ด้วยประโยชน์อยากจะใคร่ไปสวรรค์ |
จะจับต้องกองไฟประลัยกัลป์ | ครั้นจะผันผ่อนให้ก็ไม่ควร |
พระมิใช่ไม่เคยเชยชมน้อง | เคยถูกต้องชิดเชื้อเนื้อสงวน |
นี่บาปกรรมจำห้ามขืนลามลวน | พระเห็นควรหรือไฉนจะใคร่ฟัง ฯ |
๏ พระยิ้มพลางทางว่าสิกขาบท | พี่รู้หมดมิใช่ว่าเป็นบ้าหลัง |
แม้รักใคร่ใจจริงไม่ชิงชัง | จะจับมั่งก็ไม่บาปไม่หยาบคาย |
แม้ฤๅษีมีผัวหนีตัวบวช | ให้ผัวชวดรักใคร่บาปใจหาย |
ไม่สึกหาถ้าแม้คู่ข้างผู้ชาย | เขากอดก่ายกรรมอยู่กับมุนี |
จริงจริงนะจะต้องปล้ำอย่าทำดื้อ | พี่เคยถือศีลห้าก่อนมารศรี |
นางขืนขึ้งบึ้งหน้าไม่พาที | จะเซ้าซี้สักเท่าไรไม่เจรจา |
พระกอดรัดขัดใจอุ้มใส่ตัก | นางเฉยพักตร์หลับเนตรแกล้งเชษฐา |
พระแนบเน้นเคล้นพุ่มปทุมา | แล้วจูบซ้ายย้ายขวาให้สาใจ |
เสาวคนธ์ทนจูบให้ลูบต้อง | พระจี้ลองร้องกรีดหวีดหวั่นไหว |
ผลักพระหัตถ์บัดสีนี่กระไร | เฝ้าลูบไล้เหลือเบื่อเหลือจะลาม |
แค้นหนักหนาฟ้าผี่เถิดซินะ | ไม่บวชละจะเป็นบาปเพราะหยาบหยาม |
พลางลาพรตปลดเปลื้องทรงเครื่องพราหมณ์ | พระเดินตามเข้าในห้องแนบน้องยา |
สาแก่ใจไยจึงมิดึงดื้อ | ไม่รู้หรือว่าพี่รักนั้นหนักหนา |
สู้ติดตามข้ามทะเลเร่ร่อนมา | กินน้ำตาต่างข้าวทุกเช้าเย็น |
มาพบปะจะได้ชื่นขืนให้ชวด | กลับถือบวชตรวจน้ำแกล้งทำเข็ญ |
เฝ้าห่างเหเรรวนไม่ควรเป็น | ดูเหมือนเช่นมิใช่คู่ไม่รู้รัก |
หรือชิงชังรังเกียจไม่เฉียดชิด | อย่าเกรงจิตจงแถลงแจ้งประจักษ์ |
ต้องง้องอนวอนว่าหนักหนานัก | เสียดายรักที่ได้รักหนักอุรา |
มิคิดถึงทูลกระหม่อมจอมกษัตริย์ | ก็ไม่ขัดขืนจิตกนิษฐา |
จะขอถามตามวิสัยใจสุดา | ซึ่งหนีมาหมายจะไม่ไปบุรี |
หรือกระไรใคร่แจ้งที่แคลงจิต | ใช่จะคิดเคืองข้องให้หมองศรี |
สิ้นอาลัยในชนกชนนี | แล้วหรือพี่จะได้ลาเจ้าคลาไคล ฯ |
๏ เสาวคนธ์อ้นอั้นให้ตันจิต | สุดจะคิดออกช่องทำนองไหน |
จึงว่าเพราะเคราะห์กรรมได้ทำไว้ | จะกลับไปเฝ้าแหนก็แสนอาย |
อันชาตินี้มิขออยู่จะสู้ม้วย | พระพี่ช่วยเอาศีรษะไปถวาย |
จริงจริงนะจะขอลาก้มหน้าตาย | อยู่ก็อายไปก็รับอัประมาน |
นางซบพักตร์ลงบนแท่นแสนระทด | โศกกำสรดเศร้าถวิลถึงถิ่นฐาน |
สุดสาครช้อนโฉมประโลมลาน | แสนสงสารสวมสอดกอดประคอง |
อย่าครวญคร่ำกำสรดสลดนัก | แม่ยอดรักเสาวคนธ์จะหม่นหมอง |
พี่แกล้งว่าเล่นดอกหยอกพระน้อง | อย่าขัดข้องคิดตายวายชีวา |
พระชนกชนนีโมลีโลก | จะซ้ำโศกสิ้นวงศ์เผ่าพงศา |
แม้ศึกเสือเหนือใต้ที่ไหนมา | หรือโรคาเคืองเข็ญไม่เห็นใคร |
หนึ่งพระน้องหมองเศร้าทุกเช้าค่ำ | แม่ไม่รำลึกบ้างหรือถือไฉน |
จะสูญวงศ์พงศาไม่อาลัย | น้อยหรือใจเจ้าจะตายวายชีวี ฯ |
๏ นางฟังว่าอาวรณ์ถอนสะอื้น | อุส่าห์ฝืนพักตร์สนองทั้งหมองศรี |
ซึ่งน้องคิดผิดพลั้งลงครั้งนี้ | ด้วยเดิมทีมิได้ตรึกให้ลึกซึ้ง |
อันพระน้องสองชนกที่ปกเกล้า | ทุกค่ำเช้าเศร้าใจอาลัยถึง |
จะกลับไปใจน้องตรองรำพึง | จะอื้ออึงอดสูไม่รู้วาย |
พระบิตุราชมาตุรงค์พงศ์กษัตริย์ | ยังเคืองขัดแค้นเดือดไม่เหือดหาย |
มีแต่ผิดคิดน่าระอาอาย | นึกระคายขวยเขินสะเทินใจ |
ถ้าหากว่าฝ่าละอองสองกษัตริย์ | เกิดวิบัติแปรปรวนประชวรไข้ |
หรือธานีมีศึกนึกจะไป | ทำชอบให้หายผิดที่ติดพัน ฯ |
๏ พระเชยโฉมโลมเล้าว่าเจ้าพี่ | แม่คิดดีดวงสมรจะผ่อนผัน |
แต่งเรือน้อยคอยเหตุไปเขตคัน | แม้มีอันตรายมาถึงธานี |
ไปช่วยการบ้านเมืองเมื่อเคืองแค้น | พอทดแทนทำผิดที่คิดหนี |
หนอแม่หนอรอรั้งฟังคดี | ต่างเปรมปรีดิ์ปรองดองกันสองรา ฯ |
๏ แล้วองค์สุดสาครบวรนาถ | ออกนั่งอาสน์สั่งช่างทั้งซ้ายขวา |
ต่อเรือใช้ไพร่ประจำลำนาวา | ให้คืนคลาไปนิเวศน์ฟังเหตุการณ์ |
อันเรื่องราวเสาวคนธ์วิมลสมร | สุดสาครคู่รักสมัครสมาน |
คอยฟังข่าวเช้าค่ำค่อยสำราญ | อยู่เมืองด่านชานชลาริมวารี ฯ |