คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก

เมื่อหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ยังมีชื่อว่า หอพระสมุดสำหรับพระนคร และดำเนินงานโดยคณะกรรมการ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเวลานั้นทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นสภานายกคณะกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้ชำระหนังสือคำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี (ภาคต้นตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๖๔) ของท่านสุนทรภู่ขึ้นไว้ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้โปรดให้ตีพิมพ์เพื่อทรงแจกเป็นมิตรพลีในงานเฉลิมพระชันษาครบ ๓ รอบ ใน พ.ศ.๒๔๖๘ แต่ทิวงคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ห้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคพระราชทรัพย์ให้พิมพ์พระราชทานจัดเป็นเล่ม ๑ กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้พิมพ์ตอนต่อเป็นเล่ม ๒ ทั้งสองเล่มนี้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาฏ ได้โปรดให้พิมพ์เป็นเล่ม ๓ ในงานสิ้นพระชนม์ครบรอบปีสมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ในการชำระและจัดพิมพ์คำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณีทั้งสามเล่มนั้น แบ่งตามความที่จบลงเป็นตอนๆ มิได้แบ่งตามเล่มสมุดไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกคณะกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้ประทานอธิบายไว้ในคำนำของคำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณีเล่ม ๓ ในครั้งนั้นว่า

“กรรมการหอพระสมุดฯ ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านหนังสือกลอนเรื่องพระอภัยมณีทราบ ว่าหนังสือพระอภัยมณีฉบับหอพระสมุดฯ นี้พิมพ์โดยถือเอาประโยชน์ในทางวรรณคดีเป็นสำคัญ หนังสือกลอนเรื่องพระอภัยมณีตามฉบับที่ได้พิมพ์มาแต่ก่อน เป็นหนังสือ ๑๐๔ เล่มสมุดไทย (บางชุดมี ๙๙ เล่มสมุดไทย) มีคำกล่าวกันสืบมาว่า เดิมสุนทรภู่ตั้งใจจะแต่งให้หมดเรื่องเพียงพระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงออกบวชที่เมืองลังกา เป็นหนังสือ ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้สุนทรภู่คิดแต่งต่อไปอีก มิให้จบเสียเพียงนั้น สุนทรภู่พึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอยู่ ไม่กล้าขัดก็จำใจต้องแต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อไป แต่ตอนที่ต่อนี้สุนทรภู่แต่งเองบ้าง วานผู้อื่นซึ่งเป็นศิษย์หาให้แต่งบ้าง มิได้ตั้งใจจะแต่งโดยประณีตเหมือนตอนก่อน กรรมการหอพระสมุดฯ พิจารณาดูหนังสือพระอภัยมณี ก็เห็นว่าจะจริงดังคำที่กล่าวกันมา พิเคราะห์ดูเค้าเรื่องและสำนวน เห็นได้ว่า สุนทรภู่ตั้งใจจะให้สิ้นเรื่องเพียงพระอภัยมณีออกบวช เรื่องต่อนั้นมาดูเป็นซังตายแต่งขึ้น คล้ายๆ กับเรื่องที่เขาแต่งทำหนังฉายภาพยนต์ออกเล่นเป็นตอนๆ สำนวนกลอนก็มีทั้งของสุนทรภู่และของผู้อื่น สลับซับซ้อนปะปนกัน ไม่เป็นสาระในทางวรรณคดี ด้วยเหตุนี้ กรรมการจึงชำระและพิมพ์หนังสือกลอนเรื่องพระอภัยมณีเพียงเท่าที่สุนทรภู่เจตนา จะให้สิ้นเรื่อง

คำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี ที่หอพระสมุดสำหรับพระนครได้ชำระและจัดพิมพ์ทั้งสามเล่มดังกล่าวนั้น รวมเป็นหนังสือ ๒๕,๐๙๘ คำกลอน ต่อมาก็ได้มีผู้ขออนุญาตนำไปพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายอีกหลายครั้ง และในครั้งหลังๆ นี้ สำนักพิมพ์ต่างๆ นิยมแบ่งพิมพ์เป็น ๒ เล่ม คือเล่มหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๓๕ เล่มสองเริ่มแต่ตอนที่ ๓๖ ถึงตอนที่ ๖๔ ซึ่งจบลงด้วยคำกลอนเล่าเรื่องพระอภัยมณี นางสุวรรณมาลี และนางละเวงวัณหาไปบวชอยู่ ณ เขาสิงคุตร ว่า

พระอภัยไปตั้งหลังบรรพต รักษาพรตพรหมจรรย์ด้วยพรรษา
รำภาสะหรีลีวันยุพาผกา คุมโยธาฝรั่งอยู่ทั้งพัน
เก็บส้มสูกลูกไม้เผือกมันมั่ง ถวายทั้งสามองค์ให้ทรงฉัน
เป็นป่ากว้างทางเดินเนินอรัญ ไปสามวันจึงถึงวังเมืองลังกา
สินสมุทรไปบำรุงกรุงผลึก ไปปราบศึกสืบวงศ์เผ่าพงศา
สุดสาครเสาวคนธ์สุมณฑา ครองลังกาผาสุกสนุกสบาย
พวกทมิฬกินปักษาชื่อวาโหม ไปพาราวาหุโรมส่งโสมถวาย
ทหารใหญ่อ้ายย่องตอดนั้นวอดวาย นางสุนีหนีกายสูญหายไป ฯ

แต่เป็นที่ทราบกันดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่คิดแต่งต่อไปอีก มิให้จบเสียเพียงนี้ ซึ่งตอนที่มีรับสั่งให้แต่งต่อนั้น จะแต่งต่อตั้งแต่ตรงไหนไม่อาจทราบได้ แต่มีตอนที่หอพระสมุดสำหรับพระนครมิได้ชำระและมิได้จัดให้พิมพ์ไว้ และเคยมีผู้จัดพิมพ์ไว้แบบชุด “เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ” ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว มีทั้งตอนหลังที่ดำเนินเรื่องต่อจากฉบับที่หอพระสมุดฯ ชำระไว้เกือบอีกเท่าตัว กล่าวคือเป็นหนังสืออีก ๒๓,๕๘๘ คำกลอน หรืออีก ๔๕ เล่มสมุดไทย ตามฉบับที่ชำระเพิ่มเติมใหม่นี้ เริ่มเป็นตอนที่ ๖๕ ให้ชื่อตอนว่า “พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร เริ่มด้วยคำกลอนว่า

ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง เมื่อเสียท่วงทีทัพไม่หลับใหล
นำมังคลาพาตรงเข้าพงไพร คํ่ามืดไม่เห็นหนตำบลทาง

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านกลอนเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังนี้ตลอดแล้ว ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับกรรมการหอพระสมุดฯ ในข้อที่ว่า ตอนหลังนี้ ท่านสุนทรภู่มิได้ตั้งใจแต่งโดยประณีตเหมือนตอนก่อน ทั้งนี้ก็คงจะเนื่องจากที่กล่าวกันมาว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่แต่งถวายเดือนละ ๑ เล่มสมุดไทย ถ้าท่านสุนทรภู่ได้แต่งถวายเริ่มไปแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ (หรือที่ชำระใหม่จัดเป็นตอนที่ ๖๕) จริง เมื่อคิดเฉลี่ยตามจำนวนเล่มสมุดไทย ที่ว่าท่านสุนทรภู่แต่งถวายเดือนละเล่ม รวม ๔๕ เล่ม ก็จะต้องใช้เวลาแต่งถึง ๔๕ เดือน หรือคิดเป็นปี ก็เป็นเวลา ๓ ปี กับ ๙ เดือน ร่วม ๔ ปีเข้าไป เวลานั้นท่านสุนทรภู่ยังบวชเป็นพระภิกษุ แล้วต่อมาท่านย้ายมาจำพรรษาอยู่ในวัดเทพธิดาราม ซึ่งเป็นวัดที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงสร้างตามที่สอบสวนกันไว้ ทราบได้ว่า พระภิกษุสุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ในวัดเทพธิดารามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๘๓ และอยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๓๘๕ รวมเวลาราว ๓ ปี อย่างที่ท่านบอกไว้ในคำกลอน “รำพันพิลาป” ว่า “เคยโสมนัสในอารามสามวสา” น่าจะเป็นว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรง มีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่แต่งถวายมาก่อนที่ท่านจะย้ายมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดารามแล้ว

ข้อที่กล่าวกันมาว่า มีรับสั่งให้แต่งถวายเดือนละ ๑ เล่มสมุดไทยนั้น เห็นจะเป็นความจริง เพราะปรากฏว่า คำกลอนที่เขียนลงไว้ในสมุดไทยแต่ละเล่มนั้น นอกจากจะมีจำนวนคำกลอนไม่เท่ากันแล้ว ยังมีจำนวนแตกต่างกันมาก บางเล่มก็มีจำนวนเพียง ๓๔๘ คำกลอนบ้าง ๔๑๐ คำกลอนบ้าง แต่บางเล่มก็มีถึง ๖๓๘ คำกลอนบ้าง ๖๙๒ คำกลอนบ้าง ยิ่งกว่านั้นยังได้พบหลายตอนที่คำกลอนไม่รับและส่งสัมผัสกัน แต่ในการชำระจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ช่วยกันแก้ไขให้รับและส่งสัมผัสกันแล้ว (ถึงกระนั้น กรมศิลปากรได้รวบรวมฉบับพิมพ์ดีดที่มีรอยแก้เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน) ข้อที่มีจำนวนคำกลอนในแต่ละเล่มสมุดไทยแตกต่างกันมากก็ดี และข้อที่มีหลายตอนคำกลอนไม่รับและส่งสัมผัสกันก็ดี เป็นข้อพิสูจน์ความจริงว่า พระภิกษุสุนทรภู่ถูกเร่งรัดให้แต่งถวาย เช่น พอถึงกำหนดที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจะทรงหนังสือพระอภัยมณีเล่มต่อไป ก็คงจะทรงมีรับสั่งใช้นางข้าหลวง หรือทรงมีรับสั่งประจำไว้แก่นางข้าหลวงคนใดคนหนึ่ง พอถึงกำหนดเดือน นางข้าหลวงนั้นก็คงจะมาเรียนเตือนพระภิกษุสุนทรภู่ เป็นทำนองว่า “ท่านคะ เสด็จจะทรงเรื่องพระอภัยมณีเล่มต่อไปค่ะ” หรืออะไรทำนองนี้ แล้วพระภิกษุสุนทรภู่ก็จัดเล่มสมุดไทยที่เขียนกลอนเรื่องพระอภัยมณีไว้เต็มเล่ม บ้าง ไม่เต็มเล่มบ้าง คำกลอนที่รับและส่งยังไม่ลงสัมผัสกันบ้าง เพราะยังไม่มีเวลาจะแต่งให้เต็มเล่มและสอบทานตรวจแก้ ทั้งคงจะอยู่ในระหว่างนึกคิดติดหาคำ แต่เมื่อถูกเร่งรัดก็กระวีกระวาดจัดถวายไป จำนวนคำกลอนในแต่ละเล่มจึงแตกต่างกันมาก และคำกลอนในบางแห่งจึงไม่รับและส่งสัมผัสกัน ซึ่งมีเหลือติดมาให้เราได้อ่านได้พิจารณากันในภายหลังนี้ เข้าใจว่าพระภิกษุสุนทรภู่คงจะถูกเตือนให้ส่งเล่มใหม่อยู่เป็นประจำทุกเดือน ถ้าไม่มีจุดหมายอันใดและไม่มีความชำนาญการแต่งจริงๆ ก็เห็นจะถึงกับเบื่อหน่ายรำคาญใจ จนไม่เป็นอันทำงานอื่น หรือแต่งเรื่องอื่น แต่ก็ปรากฏว่า ท่านสุนทรภู่ยังสามารถแต่งเรื่องอื่นได้อีก เช่น รำพันพิลาป และกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น ที่ทราบกันแน่ว่าท่านแต่งเมื่อจำพรรษาอยู่ในวัดเทพธิดาราม และท่านก็ยังคงจะพยายามแต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายจนจบ แต่จบลงด้วยคำกลอนรวบรัด ดูไม่สมกับเป็นเรื่องใหญ่ คือจบลงด้วย คำกลอนสั้นๆ ว่า

จะว่าข้างลังกามหาสถาน ครั้นเสร็จการยกย่องสนองไข
พงศ์กษัตริย์เสด็จมาทูลลาไป เจ้าเวียงชัยส่งพลันมิทันนาน
นิเวศน์ใครไปถึงเหมือนหนึ่งคิด สำราญจิตปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
ต่างไพบูลย์พูนสวัสดิ์ชัชวาล ทุกสถานนคราสถาพรฯ

ครั้นแล้วพระภิกษุสุนทรภู่ก็ “สิ้นกุศลผลบุญกรุณา จะจำลาเลยลับไปนับนาน” จึงเลยกราบลาอุปสมบทมาครองเพศฆราวาสสืบไป ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ รวมเวลาที่ครองสมณเพศมาราว ๑๘-๑๙ ปี

ข้อที่ว่า “ตอนที่ต่อนี้ สุนทรภู่แต่งเองบ้าง วานผู้อื่นซึ่งเป็นศิษย์หาให้แต่งบ้าง. สำนวนกลอนก็มีทั้งของสุนทรภู่และของผู้อื่นสลับซับซ้อนปะปนกัน” ก็ดูจะเป็นความจริง และท่านผู้อ่านจะสังเกตสำนวนกลอนในภาคจบบริบูรณ์ที่กรมศิลปากรชำระเพิ่มเติมขึ้นใหม่ และมอบให้สำนักพิมพ์ก้าวหน้าจัดพิมพ์เพื่อการกุศล นับเป็นเล่ม ๓ และเล่ม ๔ หลายแห่ง โดยเฉพาะในตอนที่ ๘๖ และตอนอื่นๆ ซึ่งดำเนินกลอนและความต่อจากฉบับที่หอพระสมุดสำหรับพระนครได้ชำระและเคยจัดพิมพ์มาหลายครั้งแล้วนั้น

การที่กรมศิลปากรพยายามชำระ และจัดพิมพ์คำกลอนสุภาพ เรื่องพระอภัยมณีภาคจบบริบูรณ์นี้นั้น ตั้งแต่ตอนที่ ๖๕ ถึงตอนที่ ๑๓๒ ก็ด้วยพิจารณาเห็นว่า แม้คำกลอนตอนหลังนี้จะปรากฏไม่ประณีต และมีสำนวนกลอนของผู้อื่นสลับซับซ้อนปะปนกันก็ตาม แต่ก็มีคำกลอนที่ไพเราะเพราะพริ้งอยู่เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะกลอนชมสัตว์จตุบททวิบาท, ชมพฤกษชาตินานาพรรณ, ชมทะเลและสัตว์น้ำ ชมดวงดาวในท้องฟ้า ตลอดจนบทอัศจรรย์ก็สรรค์หาคำมาพรรณนาได้ไพเราะ เช่น ชมชะนี บางทีก็เคาะแคะมาถึงผู้หญิง แม้จะไม่ตรงกับความจริงในวิชาสัตวศาสตร์ แต่ก็เป็นความเชื่อถือกันในสมัยนั้น และว่าไว้น่าฟัง (ตอนที่ ๑๒๐) เช่นว่า

ฝูงชะนีเหนี่ยวไม้โดดไปมา ห้อยพฤกษาโยนตัวเรียกผัวโวย
ชาติชะนีนี้หนามันฆ่ามิตร เพราะสองจิตจิตสองจึงต้องโหย
อำมเรศสาปซ้ำระกำโกย ต้องดินโดยเชยค่างเที่ยวครางครวญ
เหมือนหญิงกากปากหวานสันดานหยาบ ไม่กลัวบาปจิตนิยมเมื่อลมหวน
คล้ายชะนีที่ต้นไม้พิไรครวญ ต้องรัญจวนโหยหาเรียกสามี

เมื่อชมแมงดา บางทีก็กระแหนะกระแหนมาถึงผู้ชายบางพวก (ตอนที่ ๙๐) เช่นว่า

ฝูงแมงดาน่าดูตัวผู้เกาะ เที่ยวว่ายเสาะพาจรจนอ่อนหู
ไปหาเหยื่อเผื่อกันกตัญญู พิเคราะห์คูเหมือนคนจนปัญญา
ตั้งเกียจคร้านมึนตึงพึ่งผู้หญิง ได้แอบอิงพิงปากยากหนักหนา
พวกมนุษย์เมียแช่งเหมือนแมงดา ทำแต่ตาปรอยปรอยคอยจะกิน

โดยที่เห็นว่า เรื่องพระอภัยมณีมีคำกลอนไพเราะคมคายเช่นยกมา เป็นตัวอย่างนี้ อยู่เป็นอันมาก และยิ่งเป็นคำร้อยกรองของท่านกวีเอกสุนทรภู่ของเราด้วยแล้ว แม้บางตอนจะเป็นกลอนที่ท่านสุนทรภู่แต่งเองบ้าง วานผู้อื่นซึ่งเป็นศิษย์หาให้ช่วยแต่งบ้าง แต่ท่านสุนทรภู่ก็จะต้องเป็นผู้วางโครงเรื่องและกำหนดตัวละครให้โดยตลอด แสดงว่านอกจากท่านจะเชี่ยวชาญในการแต่งกลอนด้วยตนเองแล้ว ยังถนัดในการวางโครงเรื่องให้คนอื่นมีศิษย์หาเป็นต้น ฝึกหัดช่วยกันแต่งอีกด้วย และแม้ว่าคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังนี้ จะมีสำนวนคนอื่นปะปนอยู่ และไม่ประณีตเหมือนตอนก่อน แต่ก็ยังเป็นเสมือนเพชรเม็ดใหญ่ที่ช่างยังมิได้เจียระไน น่าจะถือได้ว่าเป็นสมบัติอันหาค่ามิได้ ที่ควรช่วยกันหาทางรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของประชาชนชาวไทย ถ้าปล่อยปละละเลยให้กระจัดกระจายสูญหายไปเสียก็เป็นสิ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง จึงพยายามรวบรวมชำระขึ้นไว้ ครั้งแรกได้ให้คัดฉบับเป็นพิมพ์ดีดขึ้นจากหนังสือเรื่องพระอภัยมณี “เล่มสลึงพึงรู้” ก่อน แล้วมอบให้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ สอบทานตรวจแก้เป็นเบื้องต้น โดยสอบกับฉบับสมุดไทยที่มีอยู่บ้างในหอสมุดแห่งชาติเสียครั้งหนึ่งก่อน แล้วข้าพเจ้าตรวจแก้ต่อมา แต่เสียดายที่ฉบับสมุดไทยในหอสมุดฯ มีถึงเล่ม ๖๓ คือเพียงตอนที่ ๘๒ เท่านั้น ต่อจากนั้นต้องแก้ไขผิดถูกโดยพิจารณาวินิจฉัยเรื่องและทำนองกลอนกันเอง โดยพยายามรักษาเชิงกลอนของเดิมไว้ แล้วแบ่งเป็นตอนตามที่เห็นว่าจบกระแสความ ในขณะตีพิมพ์เป็นเล่ม ก็ได้มอบให้นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นผู้รับผิดชอบตรวจแก้โดยตลอด และเห็นว่า เรื่องพระอภัยมณี ที่ท่านกวีเอกของเราผูกโครงเรื่องแต่งขึ้นไว้ ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ (ทั้งตอนที่หอพระสมุดสำหรับพระนครชำระไว้ และตอนที่กรมศิลปากรชำระใหม่) นั้น มีข้อความยืดยาวพิสดารรวมถึง ๔๘,๖๘๖ คำกลอน เรื่องราวก็สลับซับซ้อนมาก เพราะมีตัวละครในเรื่องมากมาย ทั้งตัวละครบางตัวก็มีบทบาทแทรกอยู่ในเรื่องหลายตอน เพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านกำหนดเรื่อง และกำหนดตัวละครได้สะดวกไม่สับสน ข้าพเจ้าจึงขอแรงให้ น.ส.อารี สุทธิเสวันต์ ช่วยอ่านเรื่องและทำแผนผังแสดง วงศ์กษัตริย์ในเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่ ขึ้นและพิมพ์ไว้ในเล่มด้วย

การชำระและจัดพิมพ์ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการรักษาวรรณกรรมอันมีค่ายิ่งไว้เป็นสมบัติส่วนรามของชาติแล้ว ผู้ชำระยังมีความมุ่งมาดปรารถนา ด้วยกุศลเจตนาอันแรงกล้า ที่จะนำรายได้จากการร่วมแรงร่วมใจกันชำระและจัดพิมพ์หนังสือคำกลอนสุภาพ เรื่องพระอภัยมณีภาคจบบริบูรณ์นี้ มอบถวายวัดให้ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัดเทพธิดาราม อุทิศส่วนกุศลถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระองค์ผู้ทรงสร้างพระอาราม และอุทิศส่วนกุศลให้ท่านสุนทรภู่ผู้แต่ง ซึ่งเมื่ออุปสมบทเคยจำพรรษาอยู่ในพระอารามนั้นอีกด้วย อนึ่ง เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินในการอ่าน และทราบเรื่องเบื้องหลังของท่านสุนทรภู่ และเรื่องพระอภัยมณีพอสมควร ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียง “ปกิรณกะประวัติของสุนทรภู่” กับเรื่อง “ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี” แล้วพิมพ์ไว้ในเบื้องต้นของกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี ฉบับชำระเพิ่มเติม เล่ม ๓ และเล่ม ๔ นี้ด้วย

ข้าพเจ้าขอขอบคุณ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ น.ส.อารี สุทธิเสวันต์ และผู้มีส่วนช่วยเหลือในการชำระหนังสือกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี ภาคจบบริบูรณ์ ฉบับกรมศิลปากร ชำระเพิ่มเติม ตลอดจนสำนักพิมพ์ก้าวหน้าไว้ ณ ที่นี้ด้วย

กรมศิลปากร ๑๐ ตุลาคม ๒๕๐๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ