- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
๏ อันบทเบื้องเรื่องมนุษย์ขอหยุดไว้ | จะกล่าวไปถึงสุพรรณมัจฉา |
ที่เกาะแก้วพิสดารชานคงคา | นางรักษาศีลมั่นถือขันตี |
สละละโทโสแลโมหะ | ตามคำพระอาจารย์ท่านฤๅษี |
ถึงเจ็ดวันท่านครูพระมูนี | มายังที่เชิงเขาริมเสาธง |
สอนศีลห้ามัจฉามิได้ขาด | ให้โอวาทเทศนาอานิสงส์ |
นางตั้งจิตฟังธรรมดั่งจำนง | จบแล้วลงสู่ท่าสมาทาน |
เดชะบุญหนุนนำนางทำไว้ | เป็นนิสัยที่จะสิ้นจากถิ่นฐาน |
ด้วยอำนาจภาวนาสมาทาน | จะพ้นเพศดิรัจฉานสำราญรมย์ |
นางระลึกนึกคะนึงถึงความยาก | เหลือลำบากเวรสร้างปางปฐม |
มีคู่ครองต้องร้างไปห่างชม | เพราะนิยมการกิเลสผิดเพศพันธุ์ |
คือกองกรรมทำไว้จึ่งให้ผล | ได้ทุกข์ทนแสนวิโยคเศร้าโศกศัลย์ |
นี่หากได้พึ่งพักพระนักธรรม์ | ช่วยป้องกันศัตรูหมู่อรินทร์ |
พระแจ้งเหตุเทศนาให้ผาสุก | บรรเทาทุกข์ภาวนารักษาศีล |
ท่านสั่งสอนทุกเวลาเป็นอาจิณ | ให้ถือศีลไว้มั่นกันอบาย |
ตั้งแต่ฟังคำสิทธาค่อยผาสุก | บรรเทาทุกข์กังวลไม่ขวนขวาย |
สิ้นอาลัยในชีวิตคิดความตาย | อันร่างกายก็จะจมถมสุธา |
นางจงจิตอธิษฐานการกุศล | แม้นวายชนม์อย่าอุบัติเป็นมัจฉา |
ขอให้เกิดเป็นมนุษย์สุดโสภา | พูนวาสนาจนกระทั่งฝั่งนิพพาน |
แต่ตรองตรึกนึกข้างทางกุศล | เมื่อจะพ้นจากทะเลเดรัจฉาน |
เพราะกุศลหนหลังนางนงคราญ | มัฆวานร้อนรนดลพระทัย |
แท่นบรรจถรณ์อ่อนละมุนอุ่นสะอาด | กัมปนาทแข็งกระด้างระคางไหว |
จึ่งสอดส่องทิพเนตรสังเกตไป | ตลอดไตรโลกาทั่วฟ้าดิน |
เห็นมัจฉาภาวนาสติตั้ง | ที่ริมฝั่งคงคาชลาสินธุ์ |
รูปเป็นนางหางเป็นปลาอยู่วาริน | นิสงส์ศีลดลพระทัยให้เมตตา |
จำจะไปตัดหางปลาศรัทธามาก | ประหลาดหลากกว่าสัตว์หมู่มัจฉา |
ให้เป็นคนพ้นลำบากจากคงคา | ตัดหางปลาเสียให้หมดจะงดงาม |
ทรงดำริตริเสร็จเสด็จเหาะ | ลงที่เกาะพระสิทธาบัญชาถาม |
ผู้เป็นเจ้าทรงพรตช่างงดงาม | สละกามสัลเลขวิเวกใจ |
ที่คูหานารีสตรีนั้น | เป็นพงศ์พันธุ์เงือกปลามาแต่ไหน |
สมาทานถือศีลกินแต่ไคล | สำรวมใจกัลยาโยมปรานี |
จะตัดหางเป็นนางมนุษยชาติ | สงเคราะห์นาฏมัจฉามารศรี |
ให้เป็นคนพ้นจังหวัดในนที | พระมุนีจะโปรดปรานประการใด ฯ |
๏ พระนักสิทธ์พิศดูก็รู้สิ้น | ว่าองค์อินทร์มั่นคงไม่สงสัย |
ถวายพระพรขุกขักกระอักกระไอ | ขอบพระทัยบพิตรอิศรา |
รูปตรองการมานานหลายปีแล้ว | ไม่ผ่องแผ้วสมมาดปรารถนา |
จะทำเองเกรงกิจเป็นสิทธา | มันสีกาแสนยากลำบากใจ |
ด้วยลูกผัวเขาฝากเป็นรากเหง้า | ต้องว่ากล่าวตามประสาอัชฌาสัย |
สอนให้บ่นภาวนารักษาใจ | พอคุ้มภัยผีเสื้อเหลือรำคาญ |
เชิญบพิตรโปรดช่วยมันด้วยเถิด | ประดักประเดิดเวทนาน่าสงสาร |
เป็นธุระจอมจักรมัฆวาน | มันเหมือนหลานสิทธิ์ขาดอาตมา ฯ |
๏ ท้าวโกสีย์ฟังคดีพระดาบส | เธอทราบหมดแต่หลังไม่กังขา |
ประนมหัตถ์มัสการพระสิทธา | อาราธนาครรไลไปกับโยม |
พระทรงศีลยินดีเป็นที่สุด | ลงจากกุฏิ์หามัจฉาวราโฉม |
นำอินทรามาสถิตแท่นเสาโคม | ร้องเรียกโยมมัจฉาขึ้นมาพลัน ฯ |
๏ ฝ่ายมัจฉานารีศรีสวัสดิ์ | นางทราบชัดว่ามุนีขมีขมัน |
ออกจากถ้ำอำไพวิไลวรรณ | เห็นนักธรรม์อยู่บนแท่นแผ่นศิลา |
ค่อยเสือกกายขึ้นบนชายศิลาลาด | แล้วกราบบาททรงธรรม์ด้วยหรรษา |
เห็นเป็นสองกับใครที่ไหนมา | นางคอยฟังกิจจาไม่พาที |
พระนักสิทธ์อิดเอื้อนเยื้อนปราศรัย | เองไหว้ไทอิศโรท้าวโกสีย์ |
เสด็จมาพอจำเพาะเคราะห์มึงดี | พระโยคีแจ้งกระจ่างให้นางฟัง |
นางมัจฉานารีศรีสมร | ประนมกรนึกสมอารมณ์หวัง |
ด้วยอดสูอยู่นานการรุงรัง | จะขึ้นฝั่งก็ไม่ได้มาหลายปี |
แล้วกราบองค์สหัสนัยน์เจ้าไตรภพ | เอาเศียรซบบาทมูลทูลเกศี |
พระคุณล้ำดินฟ้าได้ปรานี | ช่วยข้านี้ให้เป็นคนได้พ้นภัย ฯ |
๏ ป่างองค์ท้าวมัฆวานพิมานสวรรค์ | ชักพระขรรค์วัชรินทร์แผ่นดินไหว |
เงื้อพระแสงแกว่งวาวราวกับไฟ | นางตกใจพระสิทธาได้ปรานี |
ขอพระคุณกรุณาเมตตาช่วย | นางคว้าฉวยกอดบาทพระฤๅษี |
พระนักสิทธ์คิดสงสารหลานเต็มที | ตั้งสติไว้ให้ดีจงหลับตา |
ไม่เจ็บปวดกวดขันที่ฟันฟาด | อย่าหวั่นหวาดกูไม่หลอกมึงดอกหวา |
อุตส่าห์ทนจะได้พ้นจากคงคา | ลูกเองมาจะได้ไปด้วยกัน ฯ |
๏ นางมัจฉาฟังวาจาพระดาบส | พลางกระถดผินหลังเอาหางหัน |
แล้วหลับตามัธยัสถ์นิ่งกัดฟัน | ในทรวงสั่นขวัญหนีดั่งตีปลา |
มัฆวานทรงขยับจับพระขรรค์ | เข้าฟาดฟันบั่นหางนางมัจฉา |
ขาดเป็นสินดิ้นสลบซบพักตรา | อยู่บนแท่นแผ่นผาคูหาบรรพ์ |
พระนักสิทธ์คิดสงสารหลานสลบ | เธอปรารภกลัวชีวาจะอาสัญ |
แกลุกขึ้นชุลมุนดูวุ่นครัน | พระนักธรรม์ทูลไทไปทันที |
ช่วยสงเคราะห์ให้มันฟื้นคืนสลบ | พระจอมภพรับคำพระฤๅษี |
ลุกจากแท่นแผ่นผาด้วยปรานี | เอาวารีทิพรสชโลมพรม |
นางมัจฉาหางปลาก็หายสูญ | บริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม |
ทั้งวงพักตร์ลักขณาก็น่าชม | ดูขำคมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ |
นางฟื้นกายชายตาเห็นดาบส | กับทรงยศสหัสนัยน์ชาญชัยศรี |
นางถวายวันทนาฝ่าธุลี | รำพันคุณมุนีกับอินทรา |
ฝ่ายองค์ท้าวสหัสนัยน์เจ้าไตรภพ | สมปรารภตัดหางนางมัจฉา |
แล้วลาองค์ทรงศีลอภิญญา | เสด็จคืนฟากฟ้าดาวดึงส์ ฯ |
๏ พระโยคีปรีดาทางว่าขาน | บุญของหลานสิ้นเคราะห์จำเพาะถึง |
จึ่งร้อนอาสน์เทวราชเจ้าไตรตรึงส์ | กุศลซึ่งอุตส่าห์ภาวนา |
ด้วยเองมั่นขันตีเป็นที่ตั้ง | แต่หนหลังส่งสร้างนางมัจฉา |
อย่าสงสัยในพระสรณา | ได้กลับมาเป็นมนุษย์สุดสมบูรณ์ |
พระโยคีแจ้งเหตุเทศนา | นางมัจฉาดับโศกค่อยเสื่อมสูญ |
สิ้นห่วงใยในขันธ์อันจำรูญ | นางเพิ่มพูนฟังธรรมท่านรำพัน |
ตามบาลีชี้แจงให้แจ้งเรื่อง | ในบทเบื้องข้อคำธรรมขันธ์ |
พอจบเสร็จนางคำรพอภิวันท์ | พระนักธรรม์สัพพีแล้วภิปราย |
ว่าฮ้าเฮ้ยเองจะอยู่ในอู่อ่าว | จนแก่เฒ่านั้นไม่ได้ดั่งใจหมาย |
เป็นเขตวัดขัดขวางด้วยร่างกาย | เพราะกลับกลายเป็นสตรีบริบูรณ์ |
ต้องไปอยู่แว่นแคว้นแดนจังหวัด | พ้นเพศสัตว์แล้วนางด้วยหางสูญ |
ทั้งอาการพร้อมที่บริบูรณ์ | หาประยูรลูกเต้าของเจ้ามี ฯ |
๏ นางเงือกน้ำคำรพอภิวาท | หมายพึ่งบาทพระมุนินทร์ปิ่นฤๅษี |
ใช่สาวแส้แก่แล้วคุณพระมุนี | ขออยู่ที่วนวังฝั่งชลา |
พระโยคีมีจิตคิดสงสาร | จึ่งว่าหลานอยู่ไม่ได้ในคูหา |
เมื่อแรกเริ่มเดิมกำเนิดเกิดเป็นปลา | อยู่ในวารีได้เล็มไคลกิน |
เดี๋ยวนี้กลับเป็นคนต้องขวนขวาย | จากหาดทรายพ้นท่าชลาสินธุ์ |
เองจะขืนไปอยู่อู่วาริน | พรายจะกินมิได้เหลือเป็นเหยื่อปลา |
แล้วร้องเรียกศิษย์หาให้มาช่วย | เอ็นดูด้วยปลูกกระท่อมล้อมเฝืองฝา |
ที่เงื้อมเขาเหล่านี้ให้สีกา | พอแน่นหนาคุ้มกันอันตราย |
พวกศิษย์หาพากันไปตัดไม้ | มาทำใส่เสร็จพลันไม่ทันสาย |
พระนิ่งนั่งเอกเขนกแล้วเสกทราย | ให้ศิษย์ปรายโปรยรอบตามขอบคัน |
แล้วเรียกนางมัจฉาให้มาอยู่ | อย่าไปอู่เหมือนแต่ก่อนจงผ่อนผัน |
จึ่งสั่งให้ศิษย์หาที่มานั้น | เอาเผือกมันผลไม้มาให้นาง |
เองหัดกินของป่าโอชารส | ลูกไม้สดสารพัดไม่ขัดขวาง |
ค่อยและลิ้มชิมผลมะม่วงปราง | ใจสว่างจะได้ภาวนาไป |
พระโยคีลีลากลับมากุฏิ์ | เข้ายั้งหยุดอยู่สักครู่ดูนิสัย |
พอพลบค่ำจึ่งจะนำเอาข่าวไป | ยังกรุงไกรบอกบุตรสุดสาคร |
ให้มารับมารดาได้ผาสุก | บรรเทาทุกข์ภิญโญสโมสร |
ได้สิ้นห่วงบ่วงใยให้มันจร | ไปนครชื่นชมภิรมยา |
พอเย็นย่ำคล้ำฟ้าเวหาหน | พื้นอำพนแผ้วสว่างกลางเวหา |
พระนักสิทธ์จิตระงับนั่งหลับตา | ภาวนาทางกสิณส่งอินทรีย์ |
ลอยขึ้นไปในนภางค์กลางอากาศ | เมฆเป็นอาสน์เลื่อนไปในวิถี |
พอสองทุ่มถึงลังกาไม่ช้าที | ชาวบุรีตื่นกันดูเป็นหมู่มุง |
เห็นพรอยพรายหลายอย่างต่างต่างสี | เหมือนมณีวาวแววกับแก้วหุง |
ได้ยินเสียงเป็นระฆังไปทั้งกรุง | คนสะดุ้งใจกลัวหนังหัวพอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | นึกอนาถเสียงระฆังดังสยอง |
ลุกจากแท่นไสยาสน์อาสน์จำลอง | ออกยังท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล |
เห็นสีแสงแดงเขียวบนเวหา | พื้นนภาเลื่อมลายสายประสาน |
พระเยื้องย่างทางออกนอกทวาร | แจ้งอาการคิดเห็นเป็นมงคล |
พระจึ่งสั่งเสนาบรรดาเฝ้า | ให้จัดเอาเครื่องบูชาสถาผล |
ขึ้นวางเรียงเตียงมณีที่มณฑล | ภูวดลเธอบูชาไม่ช้าที ฯ |
๏ พระนักธรรม์ท่านอยู่บนเวหา | เลื่อนลีลาอยู่ที่กลางหว่างวิถี |
ก้อนเมฆลอยย้อยต่ำลงทุกที | จนถึงที่แท่นทองอันรองเรือง |
สุดสาครเห็นองค์พระทรงพรต | ดูงามงดผิวผ่องละอองเหลือง |
เชิญสถิตแท่นไพฑูรย์จำรูญเรือง | ลงกราบเบื้องบาทบงสุ์พระทรงญาณ |
แล้วน้อมกายไต่ถามตามถวิล | พระทรงศีลจากกุฎามาหาหลาน |
ประสงค์สิ่งใดเจ้าข้าพระอาจารย์ | จงโปรดปรานเล่าไปเถิดอัยกา ฯ |
๏ พระโยคีมีศีลได้ยินถาม | เธอแจ้งความบทเบื้องเรื่องมัจฉา |
ออเงือกน้ำนงคราญผู้มารดา | กลับเพศมาเป็นมนุษย์ผุดผ่องพรรณ |
กูทำที่ให้อยู่พ้นอู่อ่าว | จึงมาเล่าบอกให้เองเร่งผายผัน |
ไปรับแม่ให้ประเวศน์ขอบเขตคัน | ได้เห็นกันทุกเวลาบูชาคุณ |
แต่ก่อนมันอยู่ได้วิสัยสัตว์ | ไม่ข้องขัดขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน |
สอนให้ถือกรรมฐานเป็นการบุญ | กุศลหนุนสิ้นกรรมที่ทำมา |
สหัสนัยน์เธอให้กลายจากเพศสัตว์ | ต้องพิกัดบทเบื้องเรื่องสิกขา |
อยู่ไม่ได้ในจังหวัดเขตวัดวา | การนินทาคนสงสัยดูไม่ดี ฯ |
๏ สุดสาครดีใจดั่งได้ลาภ | บังคมกราบบาทบงสุ์องค์ฤๅษี |
ทางก็ไกลไปลำบากยากเต็มที | พระมุนีเธอจึงว่าอย่าปรารมภ์ |
เร่งจัดแจงแต่งลำกำปั่นใหญ่ | กูจะไปด้วยสิวะเร่งสะสม |
ช่วยคุ้มกันอันตรายมิให้จม | อย่าปรารมภ์ไปเลยหลานการจะจร ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงมไหสวรรย์ | เกษมสันต์ชื่นจิตอดิศร |
พระจึ่งกราบบาทาแล้วว่าวอน | นิมนต์จรเข้าไปในบุรินทร์ |
พระสิทธาว่ากูใช่คนบ้าน | ในถิ่นฐานอยู่ไม่ได้ดั่งใจถวิล |
ต้องไปพักอยู่ที่ศีขริน | ให้พ้นถิ่นขอบเขตนิเวศน์วัง |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทเชิญไปดั่งใจหวัง |
ที่เขาใหญ่ใกล้เขตนิเวศน์วัง | เป็นป่ารังร่มรื่นพื้นศิลา |
มีกุฎีที่หน้าแผ่นผาเผิน | อยู่บนเนินเขาใหญ่ไพรพฤกษา |
เรียกเขาขวางทางรุ้งกรุงลังกา | พระสิทธาไปพลันด้วยทันที |
สุดสาครให้คนปรนนิบัติ | สารพัดโดยจริตกิจฤๅษี |
ทั้งฟืนไฟจุดไว้หน้ากุฎี | ด้วยเป็นที่ก่อนเก่าคราวบุราณ |
พระโยคีเข้าสำนักพักในกุฏิ์ | พอยั้งหยุดนั่งธรรมกรรมฐาน |
เหล่าพวกคนปรนนิบัติพัดอาจารย์ | เธอสำราญม่อยหลับระงับกาย |
ข้างในวังลังกาอาณาจักร | เสียงคึกคักเรียกกันให้ผันผาย |
รีบไปลงเรือใหญ่ทั้งไพร่นาย | ให้จับจ่ายเครื่องเสบียงไปเลี้ยงคน ฯ |
๏ ฝ่ายพระปิ่นลังกามหาสถาน | จัดแจงการพร้อมพรั่งทั้งพหล |
จัตุรงค์เสนาพลาพล | พอสุริยนรุ่งแจ้งแสงอุทัย |
พระสั่งสอนมเหสีผู้มีศักดิ์ | อันร่วมรักร่วมจิตพิสมัย |
จงจัดแจงภูษาผ้าสไบ | จะเอาไปเภตราอย่าช้าที |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จขึ้นทรงรถ | ไปประณตอภิวันท์ท่านฤๅษี |
ที่เขาใหญ่ชายป่าพนาลี | ให้มุนีขบฉันพรรณผลา |
พระโยคีมีญาณว่าหลานรัก | อย่าช้านักรีบไปไวไวหวา |
กูมาอยู่แว่นแคว้นแดนลังกา | สองทิวาร้อนใจไม่สบาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทพระอารย์ให้ผันผาย |
ข้าจัดแจงแต่งพหลพลนิกาย | ทั้งไพร่นายลงเภตราแต่ราตรี |
พระนักสิทธ์ขบฉันพรรณพฤกษา | สรงธาราตามจริตกิจฤๅษี |
จับไม้เท้าก้าวออกนอกกุฎี | เรียกเมฆีลงมารับด้วยฉับพลัน |
ฝ่ายกษัตริย์เจ้าพาราลังกาทวีป | เธอเร่งรีบคลาไคลถึงไอศวรรย์ |
เสด็จเลยลงที่นั่งบัลลังก์พลัน | พระนักธรรม์ลอยมาอยู่หน้าวัง |
พวกต้นหนคนชวากะลาสี | เสียงอึงมี่คลี่ใบดั่งใจหวัง |
แล่นออกจากปากน้ำด้วยกำลัง | พระนักสิทธ์จิตตั้งในทางญาณ |
เกิดเป็นลมอุตรานาวาเรื่อย | แล่นฉ่ำเฉื่อยเร็วรัดฉัดฉัดฉาน |
ราวกับเหาะเหินไปได้สำราญ | บนคัคนานต์เร็วรี่ต่างปรีดา |
วิถีทางสิบเดือนไม่เคลื่อนคลาด | ด้วยอำนาจพระโยคีมีคาถา |
ไปวันครึ่งถึงเกาะเหมือนเหาะมา | พระสิทธาลอยลงตรงกุฎี |
พวกศิษย์หามาพร้อมน้อมประณต | หน้าบรรพตอภิวันท์ท่านฤๅษี |
ยกผลไม้นานาบรรดามี | มาวางที่โรงฉันหน้าศาลา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | เสด็จขึ้นหาดทรายพลันด้วยหรรษา |
ไปยังกุฏิ์พระมุนีค่อยลีลา | พร้อมเสนากับพหลพลนิกร |
ไปอภิวาทบาทบงสุ์พระทรงพรต | น้อมประณตคับคั่งนั่งสลอน |
พระจอมวงศ์ทรงภุชสุดสาคร | จะใคร่เห็นมารดรร้อนฤทัย ฯ |
๏ พระโยคีมีจิตคิดสงสาร | อย่านั่งนานมาไปท่าชลาไหล |
แต่พวกพลที่ขึ้นมาอย่าเพ่อไป | ไม่ไว้ใจเห็นจะกลัวตัวไม่เคย |
เองกับกูผู้เป็นเจ้าสำนัก | ได้พึ่งพักสั่งสอนสุนทรเฉลย |
ด้วยเป็นคนการุญมันคุ้นเคย | ว่าแล้วเลยลงมาถึงหน้าเนิน |
สุดสาครตามติดกับศิษย์หา | พระสิทธาถือไม้เท้าเดินก้าวเหิน |
ค่อยจดจ้องย่องมาถึงหน้าเนิน | แล้วร้องเกริ่นเรียกมัจฉามาแต่ไกล |
อีสีกาออกมาจากห้องหับ | ลูกมารับแล้วหวาแกปราศรัย |
นางแว่วเสียงพระมุนีพลางดีใจ | ลุกคลาไคลออกมาหน้าคิรี |
แล้วกราบกรานท่านครูผู้สั่งสอน | สุดสาครเข้าประณตบทศรี |
เชิญมารดรคลาไคลไปบุรี | นางเปรมปรีดิ์สวมสอดกอดลูกชาย |
กำสรดโศกแสนวิโยคเมื่อยามยาก | ด้วยจะจากที่ไปจิตใจหาย |
เคยฟังธรรมกรรมฐานสำราญกาย | นางฟูมฟายชลนาให้อาวรณ์ |
พระโยคีมีจิตคิดสังเวช | แกแจ้งเหตุให้ฟังแล้วสั่งสอน |
ใช่วิสัยของสีกาอยู่ป่าดอน | จงรีบจรไปกับลูกอย่าผูกพัน |
ซึ่งตัวกูผู้คนชราร่าง | มันก็ย่างถึงกัปจะดับขันธ์ |
อายุกูนี้หนาก็กว่าพัน | จะดับขันธ์ลงเมื่อไรไม่จีรัง |
แล้วเทศนาว่าไปในกองทุกข์ | เหมือนไฟลุกรุ่มร้อนอาวรณ์หวัง |
แม้นโลภหลงเข้าเมื่อไรก็ไม่ฟัง | มันก็บังเกิดทุกข์เข้าคลุกคลี |
นี่แลตัวทุกขสัตว์สันทัดเที่ยง | คิดหลีกเลี่ยงความทุกข์ให้สุขี |
เอาปัญญาหยั่งลงให้จงดี | คงจะมีความสุขทุกทิวา |
อนิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยง | เหมือนคู่เคียงรักกันก็หรรษา |
แล้วเริศร้างห่างไปเสียไกลตา | เฮ้ยสีกาเองจงจำไว้รำพึง |
นี่ก็ตัวอนิจจังเป็นอย่างนี้ | ต้องจากที่โหยไห้อาลัยถึง |
ไม่เที่ยงแท้แน่นอนให้ร้อนรึง | เร่งรำพึงไว้ให้มั่นในสันดาน |
จงหักห้ามความโทมนัสสา | เอาปัญญาหยั่งลงในสงสาร |
ให้เห็นทางไตรลักษณ์มรรคญาณ | ตัดรำคาญผ่อนผันด้วยปัญญา |
ยึดเอาธรรมกรรมฐานการกุศล | คงให้ผลดับทุกข์เป็นสุขา |
แล้วแก้ไขในทางอนัตตา | ออกพรรณนาให้สว่างกระจ่างใจ |
เหมือนก้อนเมฆตั้งมาในอากาศ | แล้วเคลื่อนคลาดไปอยู่หนตำบลไหน |
เหมือนของข้าวเอาโยนในกองไฟ | เพลิงก็ไหม้มอดม้วยด้วยกำลัง |
นี่แลตัวอนัตตาว่าพอเห็น | ควรที่เป็นสูญลับไม่กลับหลัง |
เรียกว่าเป็นอนัตตาเหมือนวาจัง | เองจงฟังกูว่าอย่าอาวรณ์ ฯ |
๏ พอจบธรรมกรรมฐานเทศนา | นางมัจฉานั่งจำเอาคำสอน |
แล้วก้มกราบโยคีชุลีกร | ค่อยวายร้อนความวิตกในอกใจ |
นางตั้งสัจอธิษฐานการกุศล | จงให้ผลยืนยงอสงไขย |
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด | ขอให้ได้ภาวนาสมาทาน |
จนลุล่วงห้วงมหามหรรณพ | ได้คำรพทางธรรมกรรมฐาน |
กว่าจะถึงมรรคผลจนนิพพาน | ให้สำราญพร้อมมูลประยูรวงศ์ |
พอจบคำอธิษฐานการอุทิศ | สำเร็จกิจแผ่ผลาอานิสงส์ |
ถึงบิดรมารดาศานุวงศ์ | โดยจำนงเจตนาของข้าไป |
แล้วกราบกรานท่านโยคีมุนีนาถ | อันเปรมปราชญ์สมถวิลสิ้นสงสัย |
พระทรงพรตพจนาจงคลาไคล | พากันไปกุฎีเถิดสีกา |
แล้วลุกจากเชิงผาศิลาลาด | พระหน่อนาถเชิญสุพรรณมัจฉา |
ให้บทจรเลียบชะง่อนศิลามา | ตามสิทธามาหยุดยังกุฎี |
พระทรงธรรม์กรุณาแล้วว่าขาน | ไปถิ่นฐานสิ้นทุกข์เป็นสุขี |
กูจะช่วยส่งให้ไปบุรี | มิให้มีภยันอันตราย |
แล้วลงยันต์กันผีพวกปีศาจ | ด้วยกระดาษส่งให้ดั่งใจหมาย |
ปิดหัวเรือเหมือนอาถรรพณ์กันภูตพราย | ที่ในสายสาชลตามวนวัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | บังคมบาทนักสิทธ์ดังจิตหวัง |
ฝ่ายนงคราญมารดาละล้าละลัง | ถวายบังคมลาพระอาจารย์ |
[๑]กันแสงพลางทางลุกขึ้นลีลาศ | พระหน่อนาถเสวกามาข้างหลัง |
พระนักพรตจดไม้เท้าก้าวเก้กัง | ลงมายังที่ทอดจอดเภตรา |
ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์ลงกำปั่น | พร้อมด้วยกันกับองค์โอรสา |
พระโยคีมีรสพจนา | ว่าเวลาจวนค่ำย่ำระฆัง |
จึงค่อยไปในมหาชลาสินธุ์ | นั่นแลสิ้นโพยภัยสมใจหวัง |
กูจะไปส่งด้วยช่วยระวัง | เธอไปสั่งเสร็จสรรพกลับกุฎี ฯ |
๏ ฝ่ายนงคราญมารดาค่อยผาสุก | บรรเทาทุกข์อยู่สบายท้ายบาหลี |
สุดสาครปรนนิบัตินั่งพัดวี | นางเปรมปรีดิ์ใสสุดด้วยบุตรา |
ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | ขึ้นนั่งอาสน์สำราญจิตกับศิษย์หา |
ระงับกายพอสบายได้เวลา | พระสิทธาเข้ากสิณอภิญญาณ |
พอเวลาสายัณห์เย็นพยับ | อาทิตย์ลับเขาไม้ในไพรสาณฑ์ |
เมฆก็เลื่อนลงจากคัคนานต์ | อำนาจฌานพระโยคีมีกำลัง |
มาเป็นอาสน์รับองค์พระทรงศีล | แกก้าวขึ้นเมฆินดั่งใจหวัง |
เป็นลมเรื่อยเฉื่อยโชยโดยกำลัง | พัดไปยังเภตราสุดสาคร |
เสียงระฆังดังก้องท้องอากาศ | ขุนอำมาตย์ทูลบพิตรอดิศร |
ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นนคร | สั่งให้ถอนสมอเลื่อนเคลื่อนเภตรา |
แล้วชักใบใส่รอกให้ออกแล่น | สังเกตแผนที่ทางกลางมหา |
ลมก็จัดพัดเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยมา | จะเอาม้าควบไล่ก็ไม่ทัน |
ด้วยอำนาจโยคีผู้มีเดช | คุ้มภัยเภทพวกยักษ์มักกะสัน |
ถึงผีพรายร้ายกาจชาติกุมภัณฑ์ | ตามไม่ทันเรือไปในนที |
จันทร์กระจ่างกลางฟ้าเวหาหน | ฟื้นอำพนใสสว่างทางวิถี |
ไม่ขัดขวางกลางทะเลตามเมฆี | พระมุนีคุ้มกันอันตราย |
จากเกาะแก้วพิสดารไม่นานช้า | ถึงลังกาไม่ทันตะวันสาย |
นางมัจฉามาเรือกับลูกชาย | แสนสบายชื่นบานสำราญรมย์ ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีมีญาณว่าหลานแก้ว | ถึงถิ่นแล้วตาจะลาไปอาศรม |
สองแม่ลูกหมอบราบกราบบังคม | พระบรมมุนีชุลีกร |
พระนักธรรม์ผันพักตร์ไปทักษิณ | อาสน์เมฆินพาข้ามตามสิงขร |
พอเย็นย่ำยอแสงทินกร | ถึงสิงขรเกาะแก้วพิสดาร ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์สุดสาครบวรนาถ | เชิญพระมาตุรงค์ไปในสถาน |
มเหสีโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | มากราบกรานชนนีต่างดีใจ |
นางมัจฉาว่าแม่ทั้งสองเอ๋ย | กุศลเคยได้มาเห็นเป็นนิสัย |
แม่หมายจิตว่าชีวิตจะบรรลัย | อยู่ที่ในวังวนชลธี |
เพราะกุศลผลเห็นเป็นทิษฐะ | แต่ไหว้พระถือศีลพระชินศรี |
ฟังเทศน์ธรรม์ท่านเจ้าคุณพระมุนี | สามสิบปีแม่สดับเพศกลับกลาย |
จึ่งได้มาเห็นหน้าแม่ทั้งสอง | บุญสนองส่งให้เหมือนใจหมาย |
ใช่ชาติเชื้อเนื้อทองเป็นของกลาย | อย่าวุ่นวายเลี้ยงไว้พอได้บุญ |
นึกว่าเหมือนคนแก่คนแม่ม่าย | แม้นเจ็บไข้ขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน |
ไม่แง่งอนวอนว่าจงการุญ | เอาแต่บุญกว่าจะตายวายชีวัง ฯ |
๏ ทั้งสองนางพลางว่าอย่าวิตก | ขอหยิบยกไว้ให้สมอารมณ์หวัง |
ลูกไม่หลู่รู้คุณการุณัง | เป็นที่ตั้งที่บูชาอย่าอาวรณ์ |
นางฟังสองนารีสุณิสา | กล่าววาจาพริ้งพร้องสองสมร |
ปลื้มปรีดาปราศรัยแล้วให้พร | จงถาวรอย่ารู้มีราคีพาน |
ทั้งสองนางพลางก้มบังคมบาท | มาตุราชจงรักสมัครสมาน |
ตามวิสัยโลกธรรมค่อยสำราญ | ฝ่ายพระผ่านนครินทร์ปิ่นลังกา |
จะออกไปเฝ้ามุนินทร์พระปิ่นเกศ | ไปทูลเหตุแม่สุพรรณมัจฉา |
ครั้นจะให้ไปเฝ้าเล่าพึ่งมา | ในดงป่าเป็นอย่างไรยังไม่เคย |
ดำริพลางทางสั่งให้เตรียมรถ | มาพร้อมหมดโดยรับสั่งดั่งเฉลย |
พระทรงเครื่องเรืองรองล้วนของเคย | ลงจากเกยทรงรถบทจร |
สารถีขับพระยาอาชาชาติ | ล่วงลีลาศรีบเดินเนินสิงขร |
ไม่หยุดยั้งรั้งราพลากร | ถึงดงดอนสิงคุตรหน้ากุฎี |
ลงจากรถบทจรเข้าโรงฉัน | พอทรงธรรม์พระมุนินทร์ปิ่นฤๅษี |
เสด็จออกนอกคันธกุฎี | สองนางชีเล่าก็พากันมาพลัน |
กับฤๅษีศิษย์หาก็มาพร้อม | ประณตน้อมจะฟังคำธรรมขันธ์ |
พระทรงศีลยุรยาตรขึ้นอาสน์พลัน | แล้วเทศน์ธรรม์ชี้แจงแสดงความ |
ในบรมัตถ์คัดข้อมาสอนสั่ง | ผู้ใดฟังสงสัยจงไต่ถาม |
เราจะได้ชี้แจงให้แจ้งความ | จงทำตามบาลีพระวินัย |
พวกนักสิทธ์นั่งตรับสดับโสต | พระเทศน์โปรดจบลงไม่สงสัย |
ฝ่ายพระองค์ทรงศีลปิ่นอภัย | ชำเลืองไปเห็นบุตรสุดสาคร |
พระปราศรัยให้หามาข้างนี้ | พลางพาทีไต่ถามตามนุสร |
มีธุระอย่างไรหนาสุดสาคร | ดูรีบจนมาจงกล่าวเล่าคดี ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอิศเรศ | ก็ทูลเหตุเรื่องมารดามารศรี |
ตั้งแต่ต้นจนพามาธานี | ถวายองค์พระมุนีให้แจ้งความ |
พระทรงศีลยินดีเป็นที่ยิ่ง | ประหลาดจริงผิดนักพลางซักถาม |
ของอย่างนี้ไม่มีใครกล่าวความ | ตั้งแต่ตามก่อนเก่าคราวบุราณ |
คิดก็เห็นเป็นอัศจรรย์แท้ | แต่การแน่นึกมาน่าสงสาร |
เธอจึ่งสั่งเสนีปรีชาชาญ | อย่าเนิ่นนานเราจะไปในพารา |
สุมาลีชีละเวงวัณฬาราช | บังคมบาทพระมุนินทร์ปิ่นมหา |
ขอตามเสด็จทรงธรรม์กรุณา | ไม่รู้จักพี่มัจฉาเหมือนอาลัย |
พระทรงพรตสั่งรถให้สองนาฏ | จะยุรยาตรไปลังกาที่อาศัย |
ขุนเสนามาเทียบซึ่งรถชัย | ชักมาไว้หน้าบรรณศาลา |
ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | ยุรยาตรมาทรงซึ่งรถา |
สองดาบสินีต่างลีลา | มาทรงราชรถาทั้งสององค์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ตามพระบาทสิทธาเข้าป่าระหง |
สถิตในรถสุวรรณอันบรรจง | จัตุรงค์แลหลามตามกันมา |
ข้ามลำเนาเขาไม้ไพรระหง | พอสุริยงเย็นพยับลับภูผา |
ให้จุดคบเรียงกันเป็นหลั่นมา | ตามมรคาแสงสว่างดั่งกลางวัน |
เรไรหริ่งกิ่งไทรลองไนร้อง | ประสานซ้องแซ่ไปทั้งไพรสัณฑ์ |
จังหรีดเรื่อยเจื้อยแจ้วแนวอรัญ | จักระจั่นร้องจ้าบนหน้าเนิน |
จันทร์กระจ่างกลางฟ้าเวหาห้อง | แสงสาดส่องตามลำเนาภูเขาเขิน |
น้ำค้างย้อยพรอยพร่างตามทางเดิน | บนแนวเนินหอมบุปผาสุมาลัย |
มะลุลีมะลิวันพันคัดเค้า | แลดูขาวขึ้นเรียงเคียงไสว |
พระพายพัดกลิ่นหวนรัญจวนใจ | ดอกไม้ไพรอาบอบตลบดง |
สุมาลีคลี่คลายขยายเสา | วรสเร้าริมผาป่าระหง |
เสียงหึ่งหึ่งผึ้งร้องก้องในดง | ให้รีบรัดจัตุรงค์มาริมทาง |
ออกชะวากปากป่าเวลาดึก | เสียงครื้นครึกมาถึงกรุงพอรุ่งสาง |
พวกเสนาข้าเฝ้าเหล่าขุนนาง | จัดแจงของต่างต่างวางบูชา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมจิตมั่นใจในสิกขา |
ชักประคำร่ำบ่นภาวนา | พอรถาเข้าประทับลำดับกัน |
พระนักพรตลดองค์ลงจากรถ | พร้อมกันหมดสามพระองค์ทรงผายผัน |
ขึ้นสถิตเก๋งใหญ่ใต้ต้นจันทน์ | พร้อมด้วยกันนักพรตดาบสินี |
ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ตามบิตุราชมาตุรงค์องค์ฤๅษี |
มาถึงวังลังกาไม่ช้าที | จรลีขึ้นปราสาทราชวัง |
ไปเชิญองค์ชนนีให้ลีลาศ | เฝ้าพระบาทภูวไนยดั่งใจหวัง |
นางมัจฉาอรไทครั้นได้ฟัง | สมที่หวังใคร่เห็นองค์พระทรงญาณ |
ชวนนงเยาว์เสาวคนธ์ศรีสะใภ้ | พาแม่ไปเฝ้ามุนินทร์ที่ถิ่นฐาน |
ฝ่ายเสาวคนธ์มณฑายุพาพาล | เชิญให้มารดาไปดั่งใจจง |
ถึงเก๋งทองสองนางพลางอภิวาท | มุนีนาถเพ่งพินิจพิศวง |
ทั้งร่างกายไม่ผิดจริตทรง | จึงเอื้อนโองการถามนางทรามวัย |
เมื่อแรกเริ่มเดิมจะกลับเป็นมนุษย์ | เป็นที่สุดจิตพะวงที่ตรงไหน |
รักษาธรรมกรรมฐานประการใด | จงขานไขแจ้งข้อจะขอฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายมัจฉานารีศรีสวัสดิ์ | สนองอรรถเบื้องต้นแต่หนหลัง |
ถวายองค์พระนักสิทธ์ไม่ปิดบัง | แล้วกราบยังบาทาฝ่าธุลี |
กันแสงพลางทางทูลถึงความยาก | แต่ตรำตรากเล็มไคลในวิถี |
ได้พึ่งพาเจ้าประคุณพระมุนี | ท่านช่วยชี้ทางสวรรค์ทุกวันไป |
ครบเจ็ดวันแจ้งเหตุเทศนา | พระสิทธาชี้แจงแถลงไข |
สอนให้ตัดอาวรณ์เรื่องร้อนใจ | แล้วกลับไปอยู่ในถ้ำค่อยสำราญ |
จึ่งตั้งจิตอธิษฐานการกุศล | แม้นสิ้นชนม์อย่าให้เกิดเป็นเดรัจฉาน |
ได้ตั้งสัตย์วัจนามาช้านาน | ปลงสังขารเช้าเย็นไม่เว้นวาย |
ด้วยอำนาจภาวนารักษาศีล | อมรินทร์เทวัญจึ่งผันผาย |
มาโปรดเกศตัดหางสำอางกาย | รูปจึงกลายมาเป็นคนพ้นคงคา |
แล้วพระคุณมุนีผู้วิเศษ | มาแจ้งเหตุลูกรักเสน่หา |
ให้ไปรับข้าบาทนี้คลาดคลา | จึ่งได้มาพ้นภัยอยู่ในวัง |
๏ พระมุนีปรีดาว่าสาธุ | กุศลลุดั่งจิตเจ้าคิดหวัง |
ด้วยอำนาจศีลสัตย์วัจนัง | แต่หนหลังเสริมส่งให้นงคราญ |
อย่าลืมหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล | เป็นอาจิณทางธรรมพระกรรมฐาน |
ครั้นทำลายวายขันธสันดาน | พระนิพพานพ้นห่วงบ่วงรุงรัง ฯ |
๏ สองนางชีปรีดาต่างปราศรัย | อยากจะใคร่พบพี่เป็นที่หวัง |
พระสิทธามากล่าวเล่าให้ฟัง | พึ่งสมหวังเห็นพี่น้องดีใจ |
โฉมมัจฉาฟังคำค่อยฉ่ำชื่น | ทุกค่ำคืนฉันก็คิดพิสมัย |
พระคุณล้ำดินฟ้าสุราลัย | ทั้งรักใคร่ในบุตรสุดสาคร |
ได้อุปถัมภ์ค้ำจุนเพราะบุญแม่ | ประเสริฐแท้ได้เป็นสุขสโมสร |
ขอพึ่งพากว่าชีวาจะม้วยมรณ์ | นางวิงวอนวัจนาล้วนน่าฟัง |
สองนางชีมีจิตคิดสงสาร | เหมือนวงศ์วานชื่นชมอารมณ์หวัง |
จึงว่าน้องนี้มิได้อยู่ในวัง | สละทั้งถิ่นฐานการบ้านเรือน |
มอบให้บุตรสุดสาครบวรนาถ | เป็นสิทธิ์ขาดรักใคร่ใครจะเหมือน |
แต่บุตรน้องกอแกทำแชเชือน | ทำเลื่อนเปื้อนเห็นใจไม่ได้การ ฯ |
๏ ฝ่ายมัจฉานารีศรีสวัสดิ์ | ทูลกษัตริย์วิงวอนด้วยอ่อนหวาน |
ข้าขอบวชชีเป็นเช่นนงคราญ | สมาทานปรนนิบัติตามศรัทธา |
พระอภัยมุนินทร์ปิ่นฤๅษี | จึ่งพาทีแจ้งอรรถแก่มัจฉา |
ว่าแรกเริ่มกำเนิดเกิดเป็นปลา | ที่จะมาบวชอนงค์เป็นหลงชี |
ขัดเสียแล้วจริงนะพระก็ห้าม | อันเรื่องความนี้หนามารศรี |
พระภควันต์บรรพชาในนาคี | สิกขามีห้ามไว้ไม่ได้การ |
ถึงกลับเพศเป็นมนุษย์ต้องหยุดยั้ง | กำเนิดยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน |
ถ้าดับชาติจากขันธสันดาน | สมาทานจึ่งจะได้ในศีลา ฯ |
๏ นางเงือกน้ำกำสรดสลดจิต | ไม่สมคิดที่ตรงมาดปรารถนา |
จึ่งกราบบาททรงฤทธิ์พระสิทธา | ขอรักษาศีลไว้ดังใจปอง |
พระมุนีปรีชารับว่าได้ | เป็นนิสัยของตัวอย่ามัวหมอง |
แต่เพียงนี้คงจะสมอารมณ์ปอง | ไม่ขัดข้องต้องดีถูกที่งาม |
พระอภัยมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมจิตมัธยัสถ์แล้วตรัสถาม |
ว่าดูรามัจฉาผู้โฉมงาม | จะทำตามได้หรือไม่ในใจตน |
นางมัจฉาคำนับรับว่าได้ | พระจึ่งให้ศีลพลางทางนุสนธิ์ |
ว่าปาณาสารพัดสัตว์มีชนม์ | เป็นตัวตนห้ามว่าอย่าฆ่าตี |
อทินนาทานาว่าด้วยทรัพย์ | อย่าสับปลับฉกลักเสียศักดิ์ศรี |
อันกาเมสุมิจฉามีสามี | อย่ายินดีกับผู้อื่นชื่นอารมณ์ |
พึงละเว้นอย่าให้เป็นน้ำใจสอง | จะมัวหมองราครุมเข้าทุ่มถม |
ต้องขาดจากศีลไปไม่อุดม | จะลงจมในอบายเมื่อตายไป |
บทมุสาว่าไว้ผู้ได้รับ | อย่าสับปลับลมปากถลากไถล |
พูดโกหกงุ่มง่ามตามแต่ใจ | จะขาดในองค์ศีลไม่ภิญโญ |
บทสุราว่าเหล้าของเมาเบื่อ | มักจานเจือที่ในตัวยั่วโทโส |
ให้ปากโป้งโฉงเฉงเก่งโกโร | พาให้โซย่อยยับอัปรา |
แม้นดับขันธ์วันใดต้องไปสู่ | ทุคติมีผู้ทำโทษา |
ได้ความทุกข์เหลือล้นพ้นปัญญา | เพราะเวราให้ผลคนเมรัย ฯ |
๏ พอจบศีลแจ้งเหตุเทศนา | อนิจจาทุกขังดั่งนิสัย |
เหมือนกงเกวียนกำเกวียนต้องเวียนไป | กว่าจะได้มรรคผลจนนิพพาน |
สุขกะทุกข์ปลุกปล้ำทำให้สัตว์ | ต้องว่ายวัฏเวียนวงในสงสาร |
แต่เวียนตายเวียนเกิดกำเนิดนาน | โดยประมาณแสนกัปจึ่งดับไป |
แม้นกุศลผลผลาอานิสงส์ | จะนำส่งนำสนองให้ผ่องใส |
แม้นกรรมหนุนขุ่นข้องให้หมองใจ | ก็ต้องไปสู่อบายไม่วายตรอม |
พระแจ้งเหตุเทศนาว่าแต่ย่อ | ให้แต่พอเข้าใจไถนถนอม |
พอดับโศกในอารมณ์ที่ตรมตรอม | นางเงือกน้อมนอบนบอภิวันท์ |
เมื่อจบธรรมกรรมฐานสำราญจิต | พระนักสิทธ์สั่งสอนให้ผ่อนผัน |
อุตส่าห์เพียงภาวนารักษาธรรม์ | ถือให้มั่นผลจะมีกับสีกา |
นางคำนับรับรสพจนารถ | บังคมบาทพระมุนินทร์ปิ่นมหา |
จะถือธรรมกรรมฐานการศรัทธา | เป็นอัตรายึดมั่นในสันดาน |
บังคมกราบพระมุนินทร์ไปถิ่นที่ | ค่อยเปรมปรีดิ์เห็นลงในสงสาร |
อันร่างกายเห็นไม่จิรังการ | เหมือนโรงร้านอาศัยใช่ของตน |
นางเล็งเห็นเป็นแท้แน่ในจิต | ตั้งอุทิศศีลทานการกุศล |
ทุกเย็นเช้าเล่าพร่ำคำสวดมนต์ | อยู่ที่บนปรางค์มาศปราสาทชัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | จะลีลาศกลับลำเนาเขาไศล |
มาพักอยู่สามทิวาจะลาไป | พระสั่งให้เทียบรถบทจร |
มาประทับกับเกยเคยเสด็จ | พร้อมกันเสร็จรถนางชีศรีสมร |
เทียบม้ามิ่งกัณฐัศว์อัสดร | พระภูธรเสด็จจากตำหนักพลัน |
สถิตเกยเลยลงทรงรถา | จากลังกากรุงไกรไอศวรรย์ |
รถนางชีตามเสด็จจากเขตคัน | พร้อมทั้งบรรดาขุนพวกมุลนาย |
ตามพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | พลางขับราชรถพลันรีบผันผาย |
เข้าดงแดนแสนสุขสนุกสบาย | พระพายชายเย็นรื่นชื่นอารมณ์ |
ไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาตามเขา | เนินลำเนาบรรพตาถึงอาศรม |
ประทับรถพระมุนีที่จงกรม | สู่อาศรมหน้าบรรณศาลา ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์สุดสาครบวรนาถ | เสด็จลีลาศกลับวังสั่งมหา |
อำมาตย์แสนเสนีผู้ปรีชา | ให้ไปกรุงรัตนาดั่งใจจง |
แจ้งกับหน่อธิบดินทร์นรินทร์รัตน์ | กับเกศพัฒน์สุณิสาตามประสงค์ |
ให้มาเยี่ยมฝ่าพระบาทมาตุรงค์ | โดยจำนงรีบมาอย่าช้าที |
แล้วไปแจ้งนคราวายุภักษ์ | บอกเกี่ยวดองน้องรักกษัตริย์ศรี |
ให้ภัทวงศ์กับองค์พระบุตรี | มาอัญชุลีอัยยิกามาอยู่วัง |
ขุนเสนีรับโองการคลานจากเฝ้า | มาสั่งเหล่าพลไพร่ดั่งใจหวัง |
ให้ขนของลงเภตราดาประดัง | รีบไปยังจังหวัดรัตนา |
อีกลำหนึ่งไปพาราวายุภักษ์ | กษัตริย์ศักดิ์สูงชาติวาสนา |
ถึงขึ้นเฝ้าเจ้าบุรินทร์ปิ่นประชา | ทูลกิจจาเรื่องรับสั่งดั่งสุนทร ฯ |
๏ ฝ่ายพระปิ่นอิศราวายุภักษ์ | แจ้งประจักษ์เรื่องบพิตรอดิศร |
จึ่งให้หาภัทวงศ์องค์บังอร | พระภูธรแจ้งความตามคดี |
สั่งให้จัดกำปั่นสุวรรณมาศ | จะลีลาศไปประณตบทศรี |
พระเชษฐาพาองค์พระอัยกี | มาอยู่ที่เวียงวังกรุงลังกา |
เสนาพร้อมน้อมคำนับรับบรรหาร | มาสั่งการไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ตามรับสั่งเจ้าบุรินทร์ปิ่นประชา | สั่งศาลาเขียนหมายรายกันไป |
เกณฑ์พหลพลลงเรือกำปั่น | เสียงเรียกกันเซ็งแซ่แลไสว |
เหล่าล้าต้าต้นหนคนจะไป | มาพร้อมในเภตราเสนานาย |
เสร็จแล้วองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | เจ้าจังหวัดจรจรัลรีบผันผาย |
กับโอรสสุณิสาเสนานาย | พอลมชายพัดเฉื่อยระเรื่อยริน |
ออกแล่นล่องตามท้องทะเลใหญ่ | แล้วใช้ใบข้ามมหาชลาสินธุ์ |
ชมฝูงสัตว์มัจฉาในวาริน | ตามแถวถิ่นสาคโรชชโลธร |
ฝูงกุเราล้วนกุเราว่ายเคล้าคู่ | เป็นหมู่หมู่ว่ายเรียงเคียงสลอน |
ปลาพิมพาพาพวกพิมพาจร | ว่ายสลอนเคียงคู่หมู่พิมพา |
ฝูงกระพงล้วนกระพงว่ายวงอยู่ | เป็นหมู่หมู่หลีกลัดล้วนมัจฉา |
ปลาฉลามล้วนฉลามตามกันมา | ฉนากพานางฉนากไม่จากจร |
ฝูงราหูดูละม้ายคล้ายราหู | เป็นหมู่หมู่รายเรียงเคียงสลอน |
ฝูงโลมาล้วนโลมาในสาคร | ไม่จากจรผุดพัลวันไป |
ปลาตะเพียนล้วนตะเพียนเที่ยวเวียนหา | เหล่านางปลาตะเพียนทองล่องไสว |
เหล่าปลาวาฬวาฬวนขึ้นพ่นไพร | ล้วนใหญ่ใหญ่โตล่ำกว่าลำเรือ |
อันฝูงสัตว์ปฏิสนธิ์ก้นเป็นหอย | ตัวลายพร้อยแลละม้ายคล้ายกับเสือ |
หน้าเป็นหมีสีเหมือนครามว่ายตามเรือ | หัวเป็นเนื้อหางเป็นงูดูพิกล |
ซึ่งฝูงสัตว์ในมหาชลาสินธุ์ | ไม่รู้สิ้นเอาชาติปฏิสนธิ์ |
จะพรรณนาในฉแวกระแสชล | เอาปฏิสนธิ์หลายอย่างต่างต่างกัน |
พอสุริยงลงลับพยับฟ้า | พระจันทราแจ่มกระจ่างทางสวรรค์ |
เรือก็แล่นแสนสบายมาหลายวัน | เข้าขอบขัณฑ์ถิ่นประเทศเขตนคร ฯ |
๏ จะกล่าวข้างรัตนาหน่อกษัตริย์ | นรินทร์รัตน์สุริย์วงศ์พระทรงศร |
เสด็จลงเรือที่นั่งอลังกรณ์ | ออกสันดอนใช้ใบไปลังกา |
มาทันกันกับพาราวายุภักษ์ | กษัตริย์ศักดิ์แสนโสมนัสา |
พระถวายอัญชุลีต่างปรีดา | แล้วแล่นมาตามกันมิทันนาน |
บรรลุถึงลังกาอาณาเขต | เสด็จประเวศเข้าไปในสถาน |
เฝ้าพระจอมกษัตราปรีชาชาญ | บนสถานทิพอาสน์ปราสาทชัย |
พระทรงภุชสุดสาครถาวรสวัสดิ์ | โสมนัสเปรมปรีดิ์จะมีไหน |
พาไปเฝ้าชนนีที่ข้างใน | พลางกราบไหว้คำรพอภิวันท์ |
นางโอภาปราศรัยด้วยไทท้าว | ถึงเรื่องราวกรุงไกรไอศวรรย์ |
จอมกษัตริย์สนองอรรถแล้วอภิวันท์ | เกษมสันต์ปรีดาสถาพร |
แล้วปราศรัยศรีสะใภ้กับหลานเขย | นางชมเชยกรตระกองสองสมร |
ฝ่ายพระองค์ทรงภุชสุดสาคร | จะสมโภชมารดรตามบุราณ |
เสด็จออกเสนาพฤฒามาตย์ | ให้หมายบาดการใหญ่อันไพศาล |
ทั้งเครื่องเล่นเต้นรำประจำงาน | ในสถานสารพัดปักฉัตรธง |
แล้วสั่งพวกโหราหาดิถี | วันที่ดีฤกษ์ยามตามประสงค์ |
พฤฒารับจับกระดานคูณหารลง | เอาฤกษ์ธงชัยตั้งกำลังวัน |
ได้ดิถีสี่ค่ำเป็นกำหนด | เฉลิมยศในคัมภีร์ดีขยัน |
จึงกราบทูลแด่องค์พระทรงธรรม์ | ขึ้นสี่ค่ำนามวันพฤหัสบดี |
พระทรงฟังสั่งให้ขุนอาลักษณ์ | เร่งจำหลักแผ่นทองละอองศรี |
จารึกนามมารดาอย่าช้าที | โดยคดีแจ้งความตามกระทรวง |
ให้รู้ทั่วกรุงไกรไอศวรรย์ | พระนามจันทวดีพันปีหลวง |
ผู้รับสั่งจัดงานการทั้งปวง | โดยกระทรวงบาดหมายรายกันไป ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นสิงหล | ขึ้นไพชยนต์ปราสาททองอันผ่องใส |
จึ่งสั่งสองมเหสีที่ข้างใน | จัดสาวใช้รูปร่างสำอางตา |
สำหรับเชิญเครื่องอานพานพระศรี | ไปตั้งที่ปรางค์มาศปราสาทขวา |
สำหรับองค์ชนนีจะลีลา | ไปฟังสวดมนตราหน้าพิธี |
ให้ท้าวนางข้างในไปกำกับ | คนสำหรับสังคีตพวกดีดสี |
จงพร้อมสรรพนางขับมโหรี | ไปเตรียมที่ตามอย่างบนปรางค์ทอง |
ทั้งสองนางพลางสดับรับบรรหาร | มาสั่งการโดยกิจสนิทสนอง |
ทุกตำแหน่งแจ้งความตามทำนอง | จัดแจงของเตรียมตัวทั่วทุกคน |
พวกเสนาแต่บรรดาเจ้าหน้าที่ | เสียงอึงมี่ตกแต่งทุกแห่งหน |
ปลูกโรงโขนโรงหุ่นวุ่นทุกคน | ต่างรีบร้นจัดแจงทุกแห่งไป |
บนปรางค์มาศจัดที่ฤๅษีสวด | ทุกหมู่หมวดเร่งกันเสียงหวั่นไหว |
ตั้งเครื่องอานการพิธีที่ข้างใน | พร้อมบนไพชยนต์รัตน์ชัชวาล ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์สุดสาครถาวรสวัสดิ์ | สั่งให้จัดแจงตั้งบัลลังก์สนาน |
โขมพัตถ์จัดลาดดาดเพดาน | แล้วผูกม่านพื้นขาวดาวกระจาย |
ครั้นสำเร็จเสร็จสั่งขุนอำมาตย์ | ไปเฝ้าบาทพระนักสิทธ์ดั่งจิตหมาย |
กับฤๅษีที่กุฎาเสนานาย | เชิญผันผายตามเสด็จมาเขตคัน |
ตั้งแต่วันสี่ค่ำเป็นกำหนด | พร้อมกันหมดทุกหมวดทั้งสวดฉัน |
พวกเสนากราบก้มบังคมคัล | ก็พากันรีบรุดไปกุฎี |
ถึงก็เข้าเฝ้าองค์พระทรงศีล | ทูลพระปิ่นจักรพงศ์องค์ฤๅษี |
เชิญเสด็จเสร็จไปในบุรี | กับมุนีดาบสหมดทุกองค์ |
พระทราบสิ้นสั่งบรรดาสานุศิษย์ | ไปโดยกิจให้เขาสมอารมณ์ประสงค์ |
ช่วยอวยพรให้ประสิทธิ์ดั่งจิตจง | สมจำนงเสวกามานิมนต์ |
แล้วพระองค์ทรงสั่งสองดาบส | พร้อมกันหมดจะเข้าไปในสิงหล |
วันสี่ค่ำเขาจะให้ไปสวดมนต์ | เป็นวันต้นในงานการพิธี |
แล้วให้จัดรถที่เคยเสด็จ | จงพร้อมเสร็จเทียมม้าสารถี |
กับรถทรงองค์ดาบสินี | มาไว้ที่ศาลาหน้าอาราม |
พวกเสนาสดับเสร็จรับสั่ง | ก็เตรียมทั้งรถใช้ไว้ทั้งสาม |
พวกมุนีนักสิทธ์คอยติดตาม | เวลาสามนาฬิกาจะคลาไคล ฯ |
๏ ฝ่ายข้างวังลังกาอาณาจักร | ก็พร้อมพรักเพรียกกันเสียงหวั่นไหว |
เข้าโรงครัวคั่วผัดจัดกันไป | บ้างเสร็จใส่จานชามเหมือนตามเคย |
พวกโรงเครื่องข้างในสับไก่หมู | เป็นคู่คู่พริ้งเพริศดูเปิดเผย |
มีต้มแกงหลายอย่างต่างต่างเคย | ทั้งนมเนยสารพางค์อย่างดีดี ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายพระองค์ผู้ทรงพรต | กับดาบสที่ถือเป็นฤๅษี |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงหิรัญขึ้นทันที | มาพร้อมที่โรงฉันบรรณศาลา |
เสพย์ผลไม้เผือกมันด้วยกันสิ้น | พระทรงศีลเสวยพลันต่างหรรษา |
สำเร็จกิจจากบรรณศาลา | เสด็จมาทรงรถบทจร |
ทั้งสองนางดาบสขึ้นรถเสร็จ | ตามเสด็จพระมุนีบดีศร |
กับพวกศิษย์เดินไปในดงดอน | เลียบสิงขรแนวป่าพนาลัย |
รถที่นั่งทั้งสามข้ามสิงขร | ชะโงกชะง่อนเนินผาศิลาไศล |
เข้าแดนดงตรงทางมากลางไพร | ถึงเขาใหญ่ปากป่าไม่ช้าที |
เข้าประเทศเขตแคว้นแดนสิงหล | ประชาชนหมอบสะพรั่งทางวิถี |
บ้างก็ตั้งเครื่องบูชาสุมาลี | ประชาชีเปรมปราสถาพร ฯ |
๏ พระมุนินทร์ปิ่นเกล้าเจ้าจังหวัด | บุรีรัตน์ภิญโญสโมสร |
ป่างพระองค์ทรงภุชสุดสาคร | เจ้านครกับพระวงศ์พงศ์ประยูร |
เชิญเสด็จภูวไนยไปปราสาท | กับสองนาฏตามพระปิ่นบดินทร์สูร |
พระนักพรตหมดด้วยกันอันจำรูญ | มาพร้อมมูลทุกหมวดเชิญสวดมนต์ |
ฝ่ายกษัตริย์ขัตติยาเสนาพร้อม | เฝ้าพระจอมเจ้าบุรินทร์ปิ่นสิงหล |
ป่างพระจอมมุนินทร์ปิ่นสกล | ก็สวดมนต์กับฤๅษีที่ในปรางค์ |
ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์กับวงศา | เสด็จมาหน้าชานพักตำหนักขวาง |
ฟังสวดมนต์จนจบคำรพพลาง | อนงค์นางเปรมปราในอารมณ์ |
ครั้นสวดจบครบสิ้นปิ่นกษัตริย์ | ประจงจัดเหมือนอย่างปางปฐม |
ครั้นรุ่งเช้าพระนักธรรม์ฉันอุดม | ทุกหมู่กรมเล่นงานการประชัน |
ครบเครื่องเล่นต่างต่างตามอย่างยศ | ก็ปรากฏในกรุงไกรไอศวรรย์ |
ฝ่ายพระองค์ทรงศักดิ์พระนักธรรม์ | พาแต่บรรดาฤๅษีเสร็จลีลา |
ไปสิงคุตรกุฎีที่สถิต | สำราญจิตมั่นใจในสิกขา |
ตั้งครัดเคร่งบำเพ็งภาวนา | โดยศรัทธาทุกทุกองค์ปลงอารมณ์ |
หมายนิพพานภาวนาให้ผาสุก | คิดดับทุกข์ตัดธุระไม่สะสม |
ยึดเอาทางไตรลักษณ์หักอารมณ์ | ไม่นิยมเห็นแท้แน่ในใจ ฯ |
๏ จะว่าข้างลังกามหาสถาน | ครั้นเสร็จการยกย่องสนองไข |
พงศ์กษัตริย์เสด็จมาทูลลาไป | เจ้าเวียงชัยส่งพลันมิทันนาน |
นิเวศน์ใครไปถึงเหมือนหนึ่งคิด | สำราญจิตปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
ต่างไพบูลย์พูนสวัสดิ์ชัชวาล | ทุกสถานนคราสถาพร ฯ |
เรื่องพระอภัยมณีจบแต่เท่านี้