- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
๏ จะกล่าวพระมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงฝรั่งอยู่สั่งสอน |
ครองเมืองกำพลเพชรเขตนคร | แต่งเรือจรเจ็ดลำเป็นกำลัง |
ไปสืบเรื่องเมืองลังกากลับมาแจ้ง | ทูลแถลงเล่าตามเนื้อความหลัง |
พระปิตุราชมาตุรงค์ดำรงวัง | ไปบวชทั้งสามองค์ทรงศรัทธา |
สุดสาครนงเยาว์เสาวคนธ์ | ภิเษกสองครองสิงหลภาษา |
แล้วได้ข่าวเจ้าวลายุดานุชา | หน่อนราครองบุรินทร์เมืองสินชัย |
วายุพัฒน์นัดดานราราช | เป็นอุปราชเมืองเซ็นเป็นเขยไข |
พระหัสกันผ่านพาราสุลาลัย | ฝรั่งใหญ่ไพร่พลคณนา |
พระทราบสิ้นยินดีเป็นที่สุด | ด้วยพระนุชน้องนาถมีวาสนา |
บาทหลวงฉุนหุนหันด่าวัณฬา | มันชั่วช้าโฉดเฉาช่างเมามัว |
ทำเสียชาติศาสนาข้างฝาหรั่ง | ไปบวชนั่งฉอเลาะปะเหลาะผัว |
ไม่ฝังปลูกลูกหลานวงศ์วานตัว | มันชาติชั่วจริงเจียววะอีละเวง |
ให้ศัตรูดูถูกทำลูกเต้า | ยอมให้เขาชาวผลึกฮึกข่มเหง |
ส่วนพวกพ้องของผัวมันกลัวเกรง | จริงนะเองอีวัณฬามันบ้ากาม |
ให้เรือใช้ไปนัดน้องกับสองหลาน | เกณฑ์ทหารพร้อมพรั่งมาทั้งสาม |
จะกำจัดสัตว์บาปคิดปราบปราม | ทำสงครามครั้งนี้ให้มีชัย |
เอ็งต่อลำกำปั่นสักพันหนึ่ง | เกณฑ์อากึ่งตั้งทำริมน้ำไหล |
ยาวสามเส้นเช่นกันหมดกำหนดไว้ | เกณฑ์พวกไพร่ลงประจำลำละพัน |
เป็นทหารล้านถ้วนกระบวนทัพ | เรือสำหรับใช้แต่งให้แข็งขัน |
น้องนัดดามาพร้อมรวมรอมกัน | แก้แค้นมันไม่ได้มิใช่ชาย |
อี่แม่เลี้ยงเอี้ยงดูคนผู้เฒ่า | เคยเป็นเจ้าชาวกำพลคนทั้งหลาย |
ปลอมไปด้วยช่วยว่าเสนานาย | ถือกฎหมายอาชญาเฆี่ยนฆ่าตี |
พวกเสนาข้าเฝ้าคนเฒ่าแก่ | ให้ดูแลอยู่บำรุงชาวกรุงศรี |
เร่งคิดอ่านการใหญ่เห็นได้ที | เคราะห์เองคลายหลายปีจะดีครัน ฯ |
๏ พระมังคลาฝาหรั่งฟังบาทหลวง | สั่งกระทรวงเสนาปรีชาขยัน |
ให้เร่งรัดจัดแจงบอกแบ่งปัน | ต่อกำปั่นพันลำรีบทำการ |
ด้วยเมืองเพชรกำพลผู้คนมาก | บ้างฉุดลากถากฟันบ้างขันกว้าน |
แต่เดือนห้ามาเดือนเจ็ดสำเร็จการ | เกณฑ์ทหารลงประจำทุกลำเรือ |
ทั้งปืนผาอาวุธเครื่องยุทธ์ครบ | พลรบเริงราญทหารเสือ |
หินสำหรับอับเฉาทั้งข้าวเกลือ | แจกหมวกเสื้อไพร่ขุนนางต่างต่างกัน |
ลำที่นั่งเหรายาวห้าเส้น | สลักเป็นเกล็ดกระหนกแผ่นผกผัน |
ล้วนหุ้มทองรองเรืองเครื่องสุบรรณ | เป็นช่องชั้นบัลลังก์ล้วนฝังพลอย |
เอาเข้มขาบทาบเป็นใบใส่สลับ | ระยางระยับแย่งย้ายล้วนสายสร้อย |
พร้อมสะพรั่งทั้งพันเป็นหลั่นลอย | ต่างเตรียมคอยหน่อนาถจะยาตรา ฯ |
๏ พระมังคลาอ่าองค์สรงสนาน | พนักงานคอยถวายเครื่องซ้ายขวา |
ทรงสำอางอย่างฝรั่งเมืองลังกา | นางพระยายิ้มย่องประคองเคียง |
ฝูงนารีที่จะไปให้ใช้สอย | ทั้งใหญ่น้อยสาวแก่เซ็งแซ่เสียง |
เชิญเครื่องอ่านพานเครื่องหอมอยู่พร้อมเพรียง | แล้วแม่เลี้ยงนำหน้ามังคลาตาม |
เสด็จออกนอกวังขุนนางกราบ | ถือหอกดาบตามเสด็จไม่เข็ดขาม |
ลงที่นั่งเสนาสง่างาม | ให้โห่สามลาลั่นสนั่นดัง |
ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องยกกองทัพ | ดูคั่งคับโยธาทั้งหน้าหลัง |
ออกมหาสาชลในวนวัง | ต้นหนตั้งเข็มหมายฝ่ายอุดร |
เดินกำปั่นพันลำในน้ำเขียว | เป็นเกลียวเกลียวคลื่นกลิ้งเท่าสิงขร |
ทุกคืนค่ำร่ำมาในสาคร | หนทางจรเจ็ดเดือนไม่เคลื่อนคลา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระวลายุดาน้อง | แต่ตรึกตรองถึงสมเด็จพระเชษฐา |
ถึงเดือนเจ็ดจะเสด็จยกพลมา | จึงปรึกษาเจนธนูคู่ชีวี |
พวกเรือใช้ไปลังกากลับมาเล่า | ว่าพระเจ้าลุงถือเป็นฤๅษี |
ป้าทั้งสองครองพรตดาวบสินี | ประเดี๋ยวนี้พลัดพรายสูญหายไป |
พระเชษฐาว่าให้ยกไปช่วย | จะไปด้วยเขาหรือจิตคิดไฉน |
เจนธนูรู้หัวร่อตอบหน่อไท | ถึงพระอภัยไม่อยู่ในบูรี |
รำภายุพานางสุลารักษาอยู่ | จะรบสู้มารดาน่าบัดสี |
แต่ครั้งนี้มิไปเห็นไม่ดี | จะเสียพี่พวกพ้องจะต้องไป |
แต่ตั้งทัพยับยั้งหยุดสังเกต | ว่าพระเชษฐานั้นจะทำไฉน |
เขาชนะจะบำรุงซึ่งกรุงไกร | ถ้าแพ้ไปเราก็มาเสียธานี ฯ |
๏ พระวลายุดาฟังว่าชอบ | จึงนบนอบสรรเสริญเจริญศรี |
จะยกไปให้เขาเห็นพอเป็นที | ท่านจงอยู่บูรีให้ปรีดา |
แล้วตรัสสั่งทั้งสี่เสนีใหญ่ | เกณฑ์นายไพร่ห้าสิบหมื่นพร้อมปืนผา |
ทั้งข้าวน้ำลำเลียงเลี้ยงโยธา | เรือรบห้าร้อยถ้วนกระบวนทัพ |
แล้วแต่งองค์ลงที่นั่งนาคราช | เรือพิฆาตคู่แข่งแซงสลับ |
ได้ฤกษ์ดีดีห้องโห่ร้องรับ | แล้วยกทัพเรือมาในวารี ฯ |
๏ ฝ่ายหน่อนาถนัดดาวายุพัฒน์ | ตั้งกองหัดฝึกทหารชาญชัยศรี |
พอพวกอามาแถลงแจ้งคดี | ให้ไปด้วยช่วยตีเมืองลังกา |
จึงบอกครูสุริยันว่าฉันนึก | จะทำศึกสมมาดปรารถนา |
จะเสี่ยงบุญทูลขอพลพ่อตา | ไปลังกาแก้มือไว้ชื่อชาย ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ถือศีลซื่อสัตย์ | จึ่งทานทัดหน่อนาถเหมือนมาดหมาย |
ผลาญแม่พ่อทรชนไม่พ้นอาย | ถึงตัวตายแล้วชื่อคงลือชา |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าโมโหทำโอหัง | สอนให้มังคลาคิดผิดหนักหนา |
เจ้าก็จงสงสารกับมารดา | เสียลังกาก็เหมือนสูญประยูรวงศ์ |
ถึงไปด้วยช่วยสมทบอย่ารบพุ่ง | ถ้าได้กรุงสมจิตคิดประสงค์ |
อย่าสังหารผลาญเหล่าพวกเผ่าพงศ์ | รับแต่องค์มารดามาธานี |
ฝ่ายพ่อเจ้าเขาบำรุงกรุงผลึก | จะทำศึกกันไปอีกจงหลีกหนี |
ช่วยแม่พ่อต่อไปจะได้ดี | อย่าถือที่ทรยศไม่งดงาม ฯ |
๏ วายุพัฒน์ตรัสตอบว่าชอบอยู่ | เดิมไม่รู้บุญบาปจึ่งหยาบหยาม |
เชิญไปด้วยช่วยแนะนำจะทำตาม | ให้ได้ความชอบชิดข้างบิตุรงค์ |
แล้วเข้าเฝ้าท้าวทมิฬกบิลราช | อภิวาททูลความตามประสงค์ |
เดี๋ยวนี้อาข้าพเจ้ากับเผ่าพงศ์ | รณรงค์รบพุ่งซึ่งกรุงไกร |
ขอทูลลาฝ่าพระบาทปิตุเรศ | ไปดับเหตุห้ามปรามตามวิสัย |
แม้นมิฟังยังวิวาทขาดอาลัย | จะชิงชัยช่วยปราบที่หยาบคาย ฯ |
๏ ท้าวกบิลยินเล่าตบเพลาผาง | เจ้าเป็นกลางอย่างนี้ดีใจหาย |
มิพลไพร่ไปน้อยพ่อพลอยอาย | ทังจะขายหน้าเมียจะเสียยศ |
ในเมืองเราเล่าทหารนับล้านโกฏิ์ | ทั้งคนโทษถอดเอาไปใช้ให้หมด |
ไม่ห้ามปรามตามประสงค์องค์โอรส | ให้ลือชาปรากฏยศไกร |
พระนบนอบตอบรสพจนารถ | คุณพระบาทบิดาจะหาไหน |
ด้วยเดชะพระเดชปกเกศไป | คงมิให้ได้อายขายบาทา |
แล้วลาออกนอกวังขึ้นนั่งอาสน์ | สั่งอำมาตย์มุลนายทั้งซ้ายขวา |
ให้เร่งรัดจัดแจงแต่งนาวา | เรือสักห้าร้อยสำหรับอยู่กับโรง |
เอาออกอู่ดูทำที่ชำรุด | ให้ผ่องผุดยุทธนาเห็นอ่าโถง |
ให้เปลี่ยนไม้ใบเพลาเสากระโดง | สายระโยงระยางเสือกเชือกน้ำมัน |
ปืนจังก้าหน้าท้ายปืนรายกราบ | ศรกำซาบดาบหอกซัดล้วนจัดสรร |
แล้วเกณฑ์พลคนประจำลำละพัน | ล้วนฉกรรจ์เก่งกาจชาติทมิฬ |
ที่นั่งทรงธงทองกั้นห้องท้าย | ฝาพระฉายลายเลิศล้วนเฉิดฉิน |
พระที่นั่งหลังคารูปพานรินทร์ | ท้าวกบิลเคยทรงตามคงคา |
เลือกต้นหนคนรู้ล้วนผู้ใหญ่ | ที่ดีได้ให้เป็นนายหลายภาษา |
ยี่สิบลำนำทางกลางคงคา | อังกฤษฝาหรั่งพราหมณ์แขกจามเจ๊ก |
อ้ายยักษาหน้าหมีลงที่นั่ง | ใส่เสื้อทั้งหมวกทองกระบองเหล็ก |
ให้หมอบเมียงเคียงอาสน์มหาดเล็ก | หนุ่มหนุ่มเด็กเชิญพระแสงแต่งตัวงาม |
ได้ฤกษ์ดีตีเมืองเสียงก้องกึก | ทหารฮึกโห่แห่เล็งแลหลาม |
เป็นคู่เรียงเคียงแข่งบ้างแซงตาม | ออกอ่าวข้ามเข็มตั้งตรงลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์หัสกันครั้นได้แจ้ง | ด้วยว่าแต่งเรือใช้ให้ไปหา |
คิดจะใคร่ไปด้วยได้ช่วยอา | จึงปรึกษาสุบันเขคะเนการ |
จะเกณฑ์ไพร่ไปสมทบช่วยรบพุ่ง | คืนเอากรุงลังกามหาสถาน |
ได้แก้แค้นแทนที่จับให้อัประมาณ | ฝ่ายอาจารย์จึ่งว่าคิดนั้นผิดนัก |
เจ้าเป็นบุตรสุดสาครบิดรเจ้า | เดี๋ยวนี้เล่าครองลังกาอาณาจักร |
ชอบเขาด้วยช่วยบิดาสามิภักดิ์ | จะคิดหักหาญพ่อเหมือนทรชน |
พระมังคลาฝาหรั่งเชื่อสังฆราช | จึ่งเสียญาติยากเย็นไม่เป็นผล |
อันแม่พ่อก็รักลูกนั้นทุกคน | เป็นกังวลบ่นบ้าพะว้าพะวัง |
ถึงลูกเป็นใบ้บ้านัยน์ตาบอด | ก็ไม่ทอดทิ้งลูกช่วยปลูกฝัง |
แต่ลูกร้ายคล้ายกับเสือเหลือกำลัง | ไม่ฟังสั่งสอนแสนแค้นรำคาญ |
อันลูกดีที่สมัครรักแม่พ่อ | จึ่งได้มรดกตกถึงเหลนหลาน |
จงอุตส่าห์พยายามตามบุราณ | อย่าคบพาลผ่าเหล่าเสียเผ่าพันธุ์ ฯ |
๏ พระฟังคำร่ำว่าสารภาพ | กลัวเกรงกราบเห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
แต่หลังคิดผิดพลั้งสิ้นทั้งนั้น | พลางก้มกันแสงสะอื้นกลืนน้ำตา |
แล้วตอบว่าข้านี้เสียทีเกิด | หลงละเมิดเมามัวชั่วนักหนา |
จะอยู่ไปไม่สิ้นคนนินทา | จะขอฆ่าตัวตายด้วยอายใจ |
สุบันเยเพทุบายภิปรายปลอบ | อันผิดชอบชั่วดีเป็นวิสัย |
ถึงทำผิดคิดเห็นจะเป็นไร | ทำชอบให้หายผิดอย่าคิดตาย |
ถึงม้วยแล้วแคล้วคลาดแต่ชาตินี้ | อันชั่วดีมีอยู่ไม่รู้หาย |
อันช้างงาสามารถเหมือนชาติชาย | ถึงตัวตายไว้ชื่อให้ลือดี |
ไม่ยกไปไม่งามเป็นความชั่ว | ไปแก้ตัวเสียให้เลิศประเสริฐศรี |
ให้เห็นว่ามากำราบปราบไพรี | ได้พบพี่พบอาพูดจากัน |
ช่วยห้ามปรามตามธรรมเนียมดูเหลี่ยมเล่ห์ | แม่โว้เว้เนรคุณทำหุนหัน |
จึงตัวเจ้าเข้าไปหามารดานั้น | ตามพงศ์พันธุ์พวกบิดาให้ถาวร ฯ |
๏ พระหัสกันอัญชุลีเห็นดีพร้อม | ประณตน้อมยอมฟังที่สั่งสอน |
แล้วลามาหาพระน้องตระกองกร | พลางอ้อนวอนเวชายันจำนรรจา |
พี่ธุระจะไปห้ามปราบปรามญาติ | เกิดวิวาทว้าวุ่นขุ่นหนักหนา |
จะยืมพลคนของพ่อกับเภตรา | ไปลังกาพระน้องสักสองปี |
จะเชิญครูอยู่ด้วยช่วยพระน้อง | จงปกป้องครองเมืองให้เรืองศรี |
เสร็จธุระจะมาถึงธานี | ไม่ช้าทีหนีน้องอย่าหมองใจ |
เวชายันวันทาคารวะ | ตามแต่พระจะประสงค์จำนงไฉน |
น้องนึกหวังดั่งบิดาด้วยอาลัย | จะขอไปตามเสด็จจนเสร็จการ |
พระสวมสอดกอดตระกองพระน้องรัก | ยังเยาว์นักเหนื่อยองค์น่าสงสาร |
ทั้งอาเขยเคยประจญเป็นคนพาล | จะเกิดการโกลาที่ธานี |
อยู่บำรุงกรุงไกรมไหสวรรย์ | ฝากแม่วันชายามารศรี |
อย่าข้องขัดหัทยาเป็นนารี | จงปรานีพี่น้องปกครองกัน ฯ |
๏ พระน้องฟังบังคมประนมหัตถ์ | สุดจะขัดตัดรอนต้องผ่อนผัน |
จึงว่าพระจะเสด็จจรจรัล | ข้าหมายมั่นนึกไว้จะไปตาม |
ถึงยากเย็นเป็นไฉนก็ไม่คิด | กว่าชีวิตจะวายวางกลางสนาม |
ไม่ไกลองค์คงอุตส่าห์พยายาม | นี่พระห้ามเสียแล้วน้องต้องจนใจ |
การบำรุงกรุงไกรไว้ธุระ | หม่อมฉันจะดูแลคิดแก้ไข |
มิให้เกิดเภทพาลประการใด | กว่าองค์พระภูวไนยจะกลับมา ฯ |
๏ พระว่าพ่อหน่อเนื้อเป็นเชื้อชาติ | ประชาราษฎร์นั้นก็รักพ่อหนักหนา |
เป็นเจ้าของครองสมบัติขัตติยา | อยู่รักษาธานีไม่มีภัย |
พระปลอบโยนโอนอ่อนสั่งสอนน้อง | แล้วออกท้องพระโรงรัตน์จำรัสไข |
เห็นพร้อมพรั่งสั่งมหาเสนาใน | เราจะไปลังกาอย่าช้าการ |
จัดเภตราห้าร้อยลำสำหรับรบ | บรรทุกครบเครื่องสาตรากระยาหาร |
คนประจำลำละพันประจัญบาน | เร่งจัดการให้สำเร็จในเจ็ดวัน |
ครั้นสั่งเสร็จเสด็จกลับผู้รับสั่ง | ไม่รอรั้งรีบรัดเร่งจัดสรร |
เรือสำหรับทัพรบมีครบครัน | โซมน้ำมันใหม่เอี่ยมตระเตรียมการ |
ลำที่นั่งหลังคาฝากระจก | กระหนาบกระหนกนกคาบเขียนภาพหาญ |
คชสีห์ที่เหมือนเป็นเผ่นทะยาน | เกณฑ์ทหารลงประจำลำละพัน |
ครั้นพร้อมพรั่งตั้งกระบวนพยุหทัพ | สลอนสลับสล้างลำล้วนกำปั่น |
นาคกระหนาบสามเกลียวเลี้ยวเกี่ยวกัน | ครูสุบันเยเทียบให้เรียบร้อย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อวรนาถสวาทหวัง | จะจากวังสุลาลัยให้ละห้อย |
เหมือนอาลัยในสองพี่น้องน้อย | ประคองค่อยรับขวัญวันชายา |
แม่อยู่วังฟังคำพี่ร่ำสอน | จงผันผ่อนพึ่งเดชพระเชษฐา |
อย่าดึ้อดึงขึงขัดพระอัชฌา | แม่อุตส่าห์ขึ้นเฝ้าทุกเช้าเย็น |
อันคนอื่นหมื่นแสนไม่เแม้นเหมือน | พระพี่เพื่อนเจ็บไข้จะได้เห็น |
อย่าละเมินเหินห่างอย่าว่างเว้น | อย่าหลงเล่นตุ๊กตาเลยหนาน้อง |
พลางอุ้มแอบแนบชิดจุมพิตพักตร์ | นางนั่งตักหน่อนาถฉลาดฉลอง |
พระสอนใครให้อยู่วังหรือสั่งลอง | ชะน้อยน้องน่าอยู่ในบูรี |
พระไปไหนไปด้วยจนม้วยมอด | จะเกาะกอดองค์ไว้มิให้หนี |
ถ้าแม้นพระไม่ให้ไปดีดี | ให้ฟ้าผี่เถิดไม่ให้ลงไปเรือ |
หรือไปวังลังกาจะหาคู่ | พระไม่รู้จักหรือฉันชื่อเสือ |
ถึงนางฟ้ามาสนิทมาชิดเชื้อ | มิฉีกเนื้อเสียก็ดูเถิดพูคะ |
พระเป็นพี่ดีฉันน้องของเจ้าพี่ | มเหสีก็กล้ามาเถิดหนะ |
ไม่ว่าเล่นเห็นนิ่งนิ่งจริงจริงจ๊ะ | ที่จะละเชิงลานั่นอย่าแคลง |
แม้นไม่ให้ไปจริงจะทิ้งน้อง | ฉันจะต้องเชิญพระองค์ทรงพระแสง |
ตัดศีรษะฉะเชือดให้เลือดแดง | สิ้นเรี่ยวแรงแล้วเมื่อไรจึ่งไคลคลา ฯ |
๏ พระหัวร่ออ่อเช่นนี้ดอกขี้หึง | พี่ก็พึ่งรู้ฤทธิ์กนิษฐา |
เออนี่แน่แม่วันชายา | ฉันจะว่าให้แม่เห็นแม่เป็นน้อง |
จะหึงพี่มิให้เชยไม่เคยเห็น | มิใช่เช่นกับเขาเป็นเจ้าของ |
หากว่าพี่มีชู้มีคู่ครอง | แม่มิต้องไหว้เขาหรือถืออย่างไร |
นางทูลถามห้ามหรือไม่ให้หึงพี่ | เยี่ยงอย่างห้ามปรามนี้อยู่ที่ไหน |
หรือบาปกรรมธรรมดาใครว่าไว้ | น้องไม่ให้หึงพี่ช่วยชี้มา ฯ |
๏ หัสกันตันใจเห็นไม่ปล่อย | ประคองค่อยเชยชิดกนิษฐา |
จะขืนไปในทะเลลงเภตรา | เวทนาพระน้องจะหมองมอม |
ทั้งลมแดงแสงแดดจะแผดเผา | จะโศกเศร้าเสียรูปซีดซูบผอม |
ยุงก็กินริ้นก็ไต่ไรก็ตอม | จะหายหอมมอมแมมทั้งแก้มคาง |
หนทางไปไกลนักประดักประเดิด | ขืนไปเถิดแก้มจะก่ำดั่งน้ำฝาง |
แม่เอาไพลไปด้วยนะอย่าละวาง | ไปทาคางข้างนอกแก้ชอกช้ำ |
นางว่าจ๊ะจะถวายไม่วายเสวย | เชิญชิดเชยชมชิมให้อิ่มหนำ |
เพราะเป็นน้องต้องยากลำบากกรรม | ถึงชอกช้ำช่างเถิดจ๊ะฉันจะไป ฯ |
๏ พระยิ้มพลางทางว่าเวลาฤกษ์ | เสียงเอิกเกริกอยู่แล้วห้ามปรามไม่ไหว |
วางเถิดจ๊ะจะพาให้สาใจ | แล้วออกไปสั่งสุรางค์นางน้อยน้อย |
กับทั้งสี่พี่เลี้ยงตามเยี่ยงอย่าง | ไปกับนางทางไกลได้ใช้สอย |
จวนเวลาข้าเฝ้าเขาจะคอย | ชวนน้องน้อยสรงชลสุคนธา |
พระทรงเครื่องเรืองรองส่องพระฉาย | สุดสบายสำอางสางเกศา |
กนิษฐ์น้อยช้อยพระหัตถ์ผัดพักตรา | สั่งเทวานางสวรรค์ชั้นโสฬส |
แล้วโฉมงามตามเต้นเชิญพระแสง | เถ้าแก่แซงสองฝ่ายถวายพระกลด |
นางเกณฑ์หามตามส่องสองทรงยศ | เสด็จบทจรมายืนหน้าแพ |
แล้วลงลำกำปั่นสุวรรณฉาย | ดาริ้วรายเรียงสล้างกลางกระแส |
ประโคมฆ้องกลองดังเป่าสังข์แตร | ทหารแห่โห่ครื้นยิงปืนตึง |
เสียงตูมตามสามหนยกพลออก | ปากอ่าวนอกน้อยใหญ่คลี่ใบขึง |
บ้างโบกธงส่งฉาวเกรียวกราวอึง | พอลมตึงคลี่ใบเคลื่อนไคลคลา |
ทั้งสามเมืองเนื่องไปค่อยใกล้เขต | สามเดือนเศษถึงสิงหลภาษา |
เข้าทิศใต้ฝ่ายฝั่งข้างลังกา | ทั้งวลาวายุพัฒน์หัสกัน |
ต่างเปรมปรีดิ์ดีใจปราศรัยถาม | ต่างเล่าความตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
แต่มังคลามาไกลยังไม่ทัน | พระหัสกันนั้นจึงว่าด้วยอาลัย |
จะทำศึกนึกดูอดสูสุด | เหมือนมนุษย์ทุจริตผิดวิสัย |
แม้นจะทำตามจิตที่คิดไว้ | เสียผู้ใหญ่ญาติวงศ์พงศ์ประยูร |
เหมือนต่อสู้ปู่ย่าฆ่าพ่อแม่ | จะมีแต่ติฉินไม่สิ้นสูญ |
ทั้งสององค์ทรงพระอนุกูล | ช่วยเพ็ดทูลทัดทั้งพระมังคลา |
ให้ทรงคิดผิดชอบด้วยรอบรู้ | จะรบสู้สุริย์วงศ์เผ่าพงศา |
พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะนินทา | หรือเชษฐาอาจะเห็นเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ฝ่ายวลาวายุพัฒน์ต่างตรัสตอบ | พ่อว่าชอบเชิงความตามวิสัย |
แต่ก่อนเราเบาจิตทำผิดไป | เสียผู้ใหญ่ญาติวงศ์เสียพงศ์พันธุ์ |
เพราะพระมังคลาพาให้ยาก | ต้องพลัดพรากพาราแทบอาสัญ |
เธอมาถึงจึงค่อยห้ามปรามด้วยกัน | คิดผ่อนผันพูดจาดูท่าทาง |
กลัวแต่พระสังฆราชจะกราดกริ้ว | ว่าบิดพลิ้วทานทัดเป็นขัดขวาง |
ไม่เห็นรักจักระแวงแคลงระคาง | จะทำอย่างไรเราอย่าเบาความ ฯ |
๏ วายุพัฒน์ตัดสินเหมือนสินสมุทร | แม้นไม่หยุดยับยั้งเราทั้งสาม |
จะขืดขาดญาติวงศ์ทำสงคราม | ก็อย่าตามเธอจะทำกระไรใคร |
แต่ก่อนมาพาชั่วให้มัวหมอง | ต้องจำจองเจียนจักถึงตักษัย |
หากหลบลี้หนีทันไม่บรรลัย | เธอก็ไม่ช่วยแก้มาแต่เธอ |
เพราะคิดถึงจึงจะห้ามปรามทั้งนี้ | ด้วยจงรักภักดีไม่มีเสมอ |
แม้นเคืองขุ่นหุนหันสมันเกลอ | เธอก็เธอเราก็เราจะเอากัน ฯ |
๏ ทั้งสององค์ทรงพระสรวลว่าควรอยู่ | คอยฟังเธอดูก่อนค่อยผ่อนผัน |
แต่เรามาถ้ารู้เหตุถึงเขตคัน | คนทั้งนั้นมันจะตื่นกันครื้นครึก |
พระแม่เราเฝ้ารักษาลังกาอยู่ | ย่ากับปู่ป้าลุงไปกรุงผลึก |
จะเลื่องลืออื้ออึงอึกทึก | ว่าข้าศึกยกมารบธานี |
คิดจะใคร่ให้คนถือหนังสือลับ | ไปคำนับพระยุพาสุลาศรี |
ให้ทราบความสามพระชนนี | ว่ามาดีมิได้หมายทำร้ายแรง |
ต่างเห็นชอบลอบทำคำหนังสือ | จัดคนถือสาราปากกล้าแข็ง |
แต่ล้วนพราหมณ์สามนายแต่งกายแปลง | ลงเรือน้อยค่อยแฝงลัดแลงมา ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพ้องกองตระเวนเห็นเรือรบ | มาสมทบทอดอยู่ดูหนักหนา |
จึงร้องถามตามแคลงแจ้งกิจจา | ว่าพระวลายุพัฒน์หัสกัน |
จึงแล่นรีบสิบคืนลมคลื่นส่ง | ถึงกรุงตรงขึ้นลังกามหาสวรรย์ |
ทูลรำพายุพาสุลาลีวัน | วลายุพัฒน์หัสกันกำปั่นมา |
พอผู้ถือหนังสือลับเขาจับได้ | มาส่งให้ไต่ถามตามภาษา |
ทั้งสามนายถวายสารอ่านสารา | ว่าพระวลาเจ้าบุรินทร์เมืองสินชัย |
วายุพัฒน์นัดดาวราราช | เป็นอุปราชเมืองเซ็นได้เป็นใหญ่ |
พระหัสกันผ่านพาราสุลาลัย | สามกรุงไกรกราบประณตบทมาลย์ |
ได้ทราบความสามพระองค์ซึ่งทรงพรต | เป็นดาบสสร้างสมพรหมวิหาร |
พระปิตุราชมาตุรงค์พระวงศ์วาน | อยู่สำราญทั่วทั้งเมืองลังกา |
คิดคะนึงถึงพระคุณการุญรัก | ให้ยศศักดิ์สืบวงศ์เผ่าพงศา |
เพราะเบาความตามพระมังคลา | ให้บิดามารดาร้อนรำคาญ |
จึงหลบลี้หนีตัวกลัวพระเดช | ไปอยู่ประเทศธานินทร์เป็นถิ่นฐาน |
อันองค์พระมังคลาปรีชาชาญ | ไปสำราญผ่านประเทศเพชรกำพล |
ให้เรือใช้ไปสัญญาว่าเดือนเจ็ด | จะเสด็จมาประเทศเขตสิงหล |
ข้าทั้งสามตามมาในสาชล | ยังพักพลคอยฟังพระมังคลา |
เมื่อมาถึงจึ่งจะเชิญให้พระศพ | มาภักดีด้วยพระบาทนาถนาถา |
แม้นมิฟังทั้งพระน้องสองนัดดา | จะอาสารบพุ่งกันกรุงไกร ฯ |
๏ ฝ่ายสามนางต่างฟังจบหนังสือ | ไม่เชื่อถือทุจริตผิดวิสัย |
มันลวงล่อพ่อแม่ทำแต่ใจ | เอาบ่าวไปตัดหัวแทนตัวมัน |
ฝ่ายผู้ถือหนังสือฟังสั่งให้ฆ่า | ทำมารยายิ้มหัวเราะเย้ยเยาะหยัน |
ไม่ถามไต่ไล่เลียงให้เที่ยงธรรม์ | เอาไปฟันเสียเถิดไม่พอใจดู ฯ |
๏ ส่วนสามนางต่างคิดผิดประหลาด | มันองอาจทายทายอายอดสู |
จึงเรียกมาหน้าที่นั่งตั้งกระทู้ | มึงร่วมรู้ผู้ถือหนังสือมา |
ล่อลวงกูรู้เท่าอ้ายเจ้าเล่ห์ | ทำโว้เว้วิปริตผิดหนักหนา |
จึงสั่งให้ไปประหารผลาญชีวา | มึงกลับท้าทายนั้นด้วยอันใด ฯ |
๏ ฝ่ายสามนายชายฉลาดองอาจถาม | ท่านเห็นความลวงล่อด้วยข้อไหน |
ไม่ไล่เลียงเที่ยงแท้ให้แน่ใจ | เห็นทำได้แล้วก็ทำแต่ลำพัง |
จึ่งหัวเราะเยาะนายเป็นชายเฉา | ใช้ให้เขามาหาที่บ้าหลัง |
แม้นถามทักจับได้บอกออกให้ฟัง | นี่สิสั่งให้ไปฆ่าเข้าตาจน ฯ |
๏ ทั้งสามนางต่างว่ากูเป็นผู้หญิง | ได้เคยชิงชังชายมาหลายหน |
รู้อุบายถ่ายเทด้วยเล่ห์กล | ทำแยบยลอย่างมึงถือหนังสือมา |
แม้นจริงจังหวังสมัครรักแม่พ่อ | จะผันผ่อนงอนง้อขอโทษา |
ไม่ควรใช้ให้ทูตมาพูดจา | จะต้องมาพรั่งพร้อมนอบน้อมนบ |
นี่โกหกยกทัพมานับแสน | เพราะคุมแค้นคิดกันเข้าบรรจบ |
ทั้งปืนผาอาวุธเครื่องยุทธ์ครบ | แม้นไม่รบเอาสาตรามาทำไม ฯ |
๏ ฝ่ายสามทูตพูดแก้ว่าแม่เจ้า | เนื้อความเท่านี้พระองค์มาสงสัย |
นี่แน่แม่แต่ขุนนางเดินทางไกล | ยังเกณฑ์ไพร่คนตามให้งามยศ |
อันเจ้าบ้านผ่านเมืองมีเครื่องรบ | ตามขนบธรรมเนียมเตรียมมาหมด |
ทั้งสามหน่อวรนาถราชโอรส | ทรงพระยศยกมาในสาคร |
เรือรบมาห้าร้อยก็น้อยนัก | ไม่สมศักดิ์ทรงฤทธิ์อดิศร |
ผู้ใดเห็นเป็นสง่านรากร | หรือมารดรมาระแวงว่าแต่งทัพ |
แต่องค์พระมังคลานราราช | ยังกริ้วกราดโกรธเกรี้ยวจะเคี่ยวขับ |
สามพระหน่อก็เป็นน้อยมาคอยรับ | หวังจะดับศึกพระมังคลา |
แม้นพระจะมิฟังกำลังห้าม | จะสงครามสามพระองค์คงอาสา |
จึ่งแจ้งความตามหนังสือให้ถือมา | กลับมาฆ่าคนสมัครที่ภักดี |
จึงหัวเราะเพราะคิดนั้นผิดนัก | ไม่สมศักดิ์จักบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ใครอาสาฆ่าตายวายชีวี | ก็จะมีใครเข้ามาสามิภักดิ์ ฯ |
๏ ทั้งสามนางต่างฟังคนทั้งสาม | เห็นต้องความตามกระทรวงคิดหน่วงหนัก |
มันผันแปรแก้หลุดสุดจะซัก | จึงสั่งอัครมหาเสนาใน |
จงบอกกล่าวข่าวเข็ญที่เป็นศึก | ไปเมืองผลึกทูลแจ้งแถลงไข |
ให้คุมตัวผู้ถือหนังสือไว้ | ถ้าแม้นไม่เหมือนว่าจะฆ่าฟัน |
แล้วเกณฑ์ฝรั่งทั้งหลายนายทหาร | ขึ้นปราการกำแพงล้วนแข็งขัน |
ใส่ปืนป้อมล้อมรอบเขตขอบคัน | กะเกณฑ์กันเตรียมการจะราญรอน ฯ |
๏ ฝ่ายเรือใช้ไปเมืองผลึกแล่น | ถึงเขตแดนเดือนหนึ่งเดินเชิญอักษร |
ตรงเข้าเฝ้าเจ้าพาราสุดสาคร | เป็นการร้อนรู้เรื่องเคืองพระทัย |
จึงทูลกล่าวสามพระองค์ซึ่งทรงพรต | พระดาบสมิได้ว่าบัญชาไฉน |
แต่ศรีสุวรรณนั้นว่าจะช้าใย | รีบกลับไปลังกาตรวจตราการ |
อาจะรอพอสำเร็จเสร็จพระศพ | จะสมทบไปด้วยช่วยพระหลาน |
แล้วให้พระกฤษณาปรีชาชาญ | คุมทหารไปด้วยได้ช่วยกัน |
หน่อนรินทร์สินสมุทรสั่งนุชน้อง | เจ้าทั้งสองไปก่อนได้ผ่อนผัน |
พอสำเร็จเสร็จศพสักสองวัน | จะไปด้วยช่วยกันให้ทันการ |
แล้วสั่งเวรเกณฑ์คนพลผลึก | ที่เคยศึกสามารถองอาจหาญ |
ไปด้วยสุดสาครช่วยรอนราญ | แล้วประทานเสื้อหมวกพวกโยธา |
พระหัสไชยใช้เสนาการะเวก | ทหารเอกไปด้วยช่วยเชษฐา |
สุดสาครเสาวคนธ์สุมณฑา | ไปทูลลาพระมุนีที่บัลลังก์ |
แล้วลาอามาลงทรงกำปั่น | เรือทั้งนั้นติดตามมาหลามหลัง |
แต่องค์พระกฤษณาพะว้าพะวัง | แวะไปสั่งสามองค์วงศ์เทวา |
พระพูดพลอดกอดตรีพลำน้อย | เนตรชม้อยเพ่งพิศกนิษฐา |
พอเทพินผินผันจำนรรจา | ฉันจะลาน้องแก้วไปแล้วจ๊ะ |
จะเหินห่างว่างเว้นทุกเย็นเช้า | ให้น้องเอาใจช่วยฉันด้วยหนะ |
นางยอบองค์ลงคำนับรับพุคะ | แต่ฝ่ายพระกฤษณาเหลืออาลัย |
น้ำตาคลอหน่อกษัตริย์สู้อัดอั้น | ยิ่งกลั้นกลั้นกลืนกลืนยิ่งขืนไหล |
จนเสนามาเชิญลุกเดินไป | เอาชายสไบเช็ดพระชลนา |
มาลงลำกำปั่นไม่ทันเพื่อน | ค่อยลอยเลื่อนเหลียวแลชะแง้หา |
ลับเวียงวังทั้งที่รักลับพักตรา | พระกฤษณาอาลัยเสียใจจริง |
จนออกลึกนึกสะท้อนถอนใจใหญ่ | ตัวจะไปใจจะอยู่ที่ผู้หญิง |
จนเป็นลมดมพิมเสนต้องเอนอิง | ให้สวิงสวายวุ่นวายใจ ฯ |
๏ จะกล่าวพระมังคลามาในน้ำ | ทุกคืนค่ำข้ามมหาชลาไหล |
ได้เจ็ดเดือนเหมือนกำหนดไม่ลดใบ | ถึงทิศใต้ฟากฝั่งข้างลังกา |
พบพระน้องสองหลานสำราญจิต | แล้วทรงคิดการศึกนั่งปรึกษา |
บาทหลวงถามสามองค์ด้วยสงกา | เจ้ามาลอยคอยท่าอยู่ช้านาน |
ได้สืบข่าวชาวเมืองรู้เรื่องมั่น | อยู่พร้อมพรั่งหรือว่าไปไกลสถาน |
พระวลาว่าพระองค์กับวงศ์วาน | ไปทำการศพพระอัยกี |
แต่อำมาตย์มาตุรงค์สามองค์นั้น | ตั้งป้องกันเกณฑ์โยธาขึ้นหน้าที่ |
จะหักหาญราญรุกเข้าคลุกคลี | เห็นไม่ดีด้วยท่านเป็นมารดา |
ถึงชนะจะเป็นข้อทรยศ | จงเงือดงดการศึกไว้ปรึกษา |
บาทหลวงเอ๊ะเกะกะเจ้าวลา | แต่แรกมาว่ากระไรจึ่งไม่คิด |
ทำซุกซนจนจะขาดจากญาติ | เดี๋ยวนี้สิออกตัวว่ากลัวผิด |
เหมือนหินแตกแหลกระยำใช้สำริด | ต่อไม่ติดจึ่งต้องใส่สุมไฟแรง |
เหลวแล้วหล่อก่อสร้างรูปร่างใหม่ | เห็นจะได้ด้วยกำลังฆ้อนทั่งแข็ง |
ด้วยขัดข้องหมองหมางระคางแคลง | จะช้อมแปลงเห็นไม่หายรอยร้ายราน |
แม้นชิงชัยไว้ชื่อให้ลือเลื่อง | ได้บ้านเมืองหมดสิ้นที่ถิ่นฐาน |
เหมือนหลอมหล่อก็พอเห็นจะเป็นการ | ด้วยคิดอ่านหว่านล้อมให้พร้อมเพรียง ฯ |
๏ พระวลาอาหลานเห็นการวุ่น | กลัวเจ้าคุณสังฆราชไม่อาจเถียง |
บาทหลวงสั่งตั้งพระน้องกองลำเลียง | สองหลานเรียงรายรับข้างทัพเรือ |
พระมังคลาพาพลขึ้นบนฝั่ง | เกณฑ์กันตั้งค่ายรายข้างฝ่ายเหนือ |
ละไว้ช้าถ้าเราขาดข้าวเกลือ | จะเหมือนเสือสิ้นฤทธิ์เร่งคิดการ |
อีกสามวันนั้นหละเราจะเข้ารบ | ให้ทำคบไว้ให้ทั่วตัวทหาร |
กำดัดดึกฮึกโหมเข้าโรมราญ | ปืนปราการรบพุ่งเอากรุงไกร ฯ |
๏ พระมังคลาสานุศิษย์เห็นคิดชอบ | ประณตนอบนึกชนะเห็นจะได้ |
แต่พระน้องสองหลานรำคาญใจ | พากันไปหาท่านครูสุริยัน |
คำนับน้อมพร้อมพรั่งกันทั้งสาม | ต่างเล่าความตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
พระสังฆราชคาดว่าสิบห้าวัน | จะโรมรันรบพุ่งเข้ากรุงไกร ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูรู้รอบเขตขอบแคว้น | ว่าสิบแสนก็จะหักไม่ยักไหว |
ด้วยขลุบคลีมีกลห้ามฝนไฟ | ใครเข้าไปใกล้กรายตายเป็นเบือ |
อันรมจักรนัคราการะเวก | ทหารเอกเมืองผลีกล้วนศึกเสือ |
ซึ่งเกณฑ์ไปให้รับกองทัพเรือ | คอยดูเมื่อลุงอาจะมารบ |
ให้เรือใช้ไปทำรบแล้วหลบถอย | ออกแล่นลอยคอยกันเข้าบรรจบ |
จะเข้าด้วยช่วยระดมอย่าสมทบ | ให้เขารบกันกับพระมังคลา |
คอยดูทีพี่กับอาบิดาเจ้า | รบชนะจะได้เข้าขอโทษา |
แม้นเพลี่ยงเขาเข้าด้วยช่วยบิดา | จะเห็นว่าสามิภักดิ์ประจักษ์ใจ |
ประเพณีมีพ่อเหมือนคอแขน | แขนถ้าแม้นขาดหักไม่ตักษัย |
เสียแม่พ่อคอขาดสิ้นชาติไป | จงตรึกไตรให้งามตามทำนอง |
ทั้งสามองค์ทรงเห็นเหมือนเช่นว่า | ท่านเมตตาปรานีไม่มีสอง |
จะตามคำจำจารึกไว้ตรึกตรอง | แล้วพี่น้องอำลากลับมาเรือ |
ออกกำปั่นพันห้าโยธาทัพ | ตามบังคับขึ้นไปรายอยู่ฝ่ายเหนือ |
เข้ารวมรอมพร้อมจิตด้วยชิดเชื้อ | เพราะปลงเชื่อคำครูให้อุบาย |
แต่งหนังสือชื่อหน่อวรนาถ | ใส่กระดาษเสร็จสมอารมณ์หมาย |
ให้เรือใช้ใหญ่น้อยไปลอยราย | คอยถวายจะได้เห็นเป็นสำคัญ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาพาทหาร | ตัดต้นตาลตั้งรายเป็นค่ายมั่น |
ค่ายละหมื่นปืนรบมีครบครัน | ค่ายปิลันหุ้มหนังระวังการ |
ขุดเป็นรางทางเดินใต้เนินได้ | ถึงปืนใหญ่ยิงลูกไม่ถูกทหาร |
พวกคนแทงแรงเรี่ยวล้วนเชี่ยวชาญ | คงทนทานพราะว่ามือถือเหล็กเป็น |
อันเหล็กเราเข้าไปกรายก็พ่ายแพ้ | เปรียบเหมือนแม่เหล็กล่อแต่พอเห็น |
เข้ารบรับกับเหล็กเพชรเด็ดกระเด็น | อ่อนเหมือนเช่นชิ้นตะกั่วมันกลัวกัน |
จึงพวกเพชรกำพลทนอาวุธ | ฤทธิรุทรเรี่ยวแรงเข้มแข็งขัน |
ขึ้นตั้งค่ายรายรอบเป็นขอบคัน | ตรวจตรากันตีฆ้องเกราะกลองดัง ฯ |