- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยเจ้าไตรจักร | ยิ่งหลงรักรูปเสน่ห์ในเลขา |
ถึงยามหลับทับไว้ริมไสยา | ครั้นเวลาฟื้นองค์ก็ทรงชม |
โฉมแฉล้มแก้มคางสำอางเอี่ยม | ประโลมเลียมลืมสุรางค์นางสนม |
ทุกคืนค่ำรำลึกนึกนิยม | จะใคร่ชมเชยประโลมโฉมวัณฬา |
ยามเสวยเคยอร่อยก็ถอยรส | ไหนจะอดบรรทมชมเลขา |
กระสันโศกโรครักหนักอุรา | พระพักตรามัวหมองละอองนวล |
ห้ามมิให้ใครเข้ามาเฝ้าแหน | อยู่แต่แท่นที่ทองประคองสงวน |
เสน่หาอาลัยให้รัญจวน | ดังประชวรโรคามากว่าเดือน ฯ |
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์ | นางกษัตริย์เศร้าใจใครจะเหมือน |
ด้วยเห็นองค์ทรงธรรม์เธอฟั่นเฟือน | พระพักตร์เฝื่อนฝ้าคล้ำน่ารำคาญ |
ห้ามมิให้ใครเฝ้าเข้าไสยาสน์ | สถิตอาสน์เอองค์น่าสงสาร |
คิดจะใคร่ไปเฝ้าฟังอาการ | ค่อยแหวกม่านเมียงมองเข้าห้องใน |
เห็นทรงธรรม์บรรทมชมแต่รูป | ประโลมลูบลืมองค์ด้วยหลงใหล |
นางพรายพริ้มยิ้มแย้มกระแอมไอ | พระอภัยพับหนีตะลีตะลาน |
เอาแอบองค์ทรงคลุมหุ้มกระดาษ | สุดสวาทวันทาไม่ว่าขาน |
ทำทูลถามความว่าพระอาการ | ร้อนรำคาญขัดขวางเป็นอย่างไร |
พระฟังคำทำครางเหมือนอย่างเจ็บ | ให้เหนื่อยเหน็บลุกนั่งยังไม่ไหว |
เห็นนางยิ้มพริ้มพรายอายพระทัย | ทำจับไข้รีบรูดวิสูตรบัง ฯ |
๏ นางนบนอบมอบเมียงอยู่เคียงอาสน์ | ลักกระดาษดูได้ดังใจหวัง |
ยิ่งแลเล็งเพ่งพิศยิ่งคิดชัง | พระคลุ้มคลั่งผอมซูบเพราะรูปนี้ |
จะเอาไว้ไยอีกฉีกกระดาษ | ไม่ยักขาดแต่สักนิดด้วยฤทธิ์ผี |
นางสุดแสนแค้นใจเอาไม้ตี | รูปนารีร้องกรีดนางหวีดวาง |
พระเหลียวเห็นเป็นโมโหพาโลว่า | แค้นหนักหนานอกรีตมากีดขวาง |
เข้าชิงรูปลูบแลดูแผลพลาง | ยังกระจ่างแจ่มดีไม่มีช้ำ |
กลับเข้าที่คลี่วางไว้ข้างแท่น | เฝ้าหวงแหนชมชิมไม่อิ่มหนำ |
จะเคลิ้มองค์หลงงึมเสียงพึมพำ | พิไรร่ำรับขวัญจำนรรจา |
นางโฉมยงองค์สั่นพระขวัญหาย | เห็นรูปกายร้องดังก็กังขา |
จะทูลถามขามขยาดพระอาชญา | จึงกลับมาห้องนอกบอกกำนัล |
พระภูวไนยได้กระดาษที่วาดรูป | ประโลมลูบหลงใหลเหมือนใฝ่ฝัน |
ทีนี้เจ้าเข้าไปด้วยได้ช่วยกัน | ลักมาฟันเผาไฟเสียให้ยับ |
แล้วพาเหล่าสาวสุรางค์ค่อยย่างย่อง | เข้าในห้องเห็นพระบาทไสยาสน์หลับ |
นางนบนอบหมอบเมียงเคียงคำนับ | ค่อยขยับหยิบกระดาษรูปวาดมา |
ชวนกันฉีกเท่าไรก็ไม่ขาด | แค้นทายาดหยิกทึ้งด้วยหึงสา |
เอาเผาไฟในเตาต้มน้ำชา | ปีศาจกล้ากลับลุกขึ้นคลุกคลี |
ขู่ตะคอกหลอกเหล่าสาวสนม | บ้างหลบล้มเกลือกกลิ้งบ้างวิ่งหนี |
ต่างแลเห็นเป็นรูปเข้าทุบตี | ฝูงนารีบ้างก็ร้องบ้างป้องกัน |
บ้างผลักไพล่ไล่ทุบกันตุบตับ | เปรียบเหมือนหลับหลงเพ้อละเมอฝัน |
พระอภัยไสยาสน์อาสน์สุวรรณ | เสียงสนั่นแซ่ซ้องมามองเมียง |
เห็นผลักพลิกขยิกขยี้ตีกระดาษ | วุ่นวิวาทวาทาบ้างท้าเถียง |
ยิ่งคลั่งคลุ้มกลุ้มใจไม่ไล่เลียง | ฉวยไม้เมียงเข้ามาใกล้แล้วไล่ตี |
ลงไม้เรียวเขวียวขวับไม่ยับยั้ง | ถูกไหล่หลังเหล่าสุดาพากันหนี |
พระแปลกพักตร์อัคเรศร่วมชีวี | เที่ยวไล่ตีต้อนพัลวันไป |
แล้วกลับมาหากระดาษที่วาดรูป | ประโลมจูบพักตร์น้องให้ผ่องใส |
เข้าสู่ที่คลี่กระดาษรูปวาดไว้ | ให้คลั่งไคล้เคลิ้มอารมณ์ไม่สมประดี ฯ |
๏ สงสารองค์นงลักษณ์อัคเรศ | ชลเนตรแนวนองให้หมองศรี |
ให้สาวใช้ไปเชิญพระชนนี | มาถึงที่ปรางค์มาศปราสาทชัย |
จึงทูลความตามกระดาษที่วาดรูป | พระโลมลูบลืมองค์ด้วยหลงใหล |
ลูกหลากนักลักเอามาเผาไฟ | มันไม่ไหม้กลับลุกขึ้นคลุกคลี |
ข้ากับเหล่าสาวสรรค์ชวนกันสู้ | ปล้ำกันอยู่ผลักไสมันไม่หนี |
พระโกรธาคว้าไม้มาไล่ตี | แล้วเข้าที่มิได้ออกข้างนอกเลย ฯ |
๏ พระมารดรข้อนทรวงเสียงผางผาง | กันแสงพลางตรงมาหาลูกเขย |
เห็นคว้ารูปลูบต้องประคองเชย | เอะกรรมเอ๋ยกรรมกรรรมทำกระไร |
ขึ้นแท่นรัตน์ตรัสถามว่าทรามสวาท | ได้กระดาษเลขามาแต่ไหน |
ขอให้แม่แลดูรูปผู้ใด | พระอภัยรู้สึกให้นึกอาย |
ทำยิ้มย่องป้องปิดแล้วอิดเอื้อน | ต่อตรัสเตือนหลายคำจำถวาย |
แล้วทูลว่านารีดีหรือร้าย | ไม่ทราบฝ่ายข้าเฝ้าเขาเอามา |
ว่าของท้าวเจ้าละมานหม่อมฉานเห็น | ก็ดูเล่นตามสบายลายเลขา |
อีสาวสาวเหล่ากำนัลกัลยา | มันเป็นบ้าไปอย่างไรก็ไม่รู้ |
มาอื้ออึงหึงกระดาษวิวาทวุ่น | ชุลมุนด้วยกันหมดไม่อดสู |
เข้าฉุดคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู | ลูกหนวกหูไล่ตีจึงหนีไป ฯ |
๏ นางฟังคำทำตรัสว่าบัดสี | รูปเช่นนี้ก็จะหึงไปถึงไหน |
แล้วว่าพ่อก็อย่าเอาเข้ามาไว้ | จะกระไรอยู่กระมังระวังองค์ |
ด้วยรูปนี้มีมาแต่ข้าศึก | อย่าได้นึกรักใคร่จะใหลหลง |
เดี๋ยวนี้พ่อก็ยังซูบทั้งรูปทรง | รักษาองค์เสียให้หายสบายใจ |
นี่แม่ขอพ่อเถิดรูปกระดาษ | จงไสยาสน์อยู่ในห้องให้ผ่องใส |
ประภาษพลางนางพระยาลุกคลาไคล | เสด็จไปห้องนอกบอกธิดา |
พระเหือดหายคลายคลั่งลงบ้างแล้ว | พาลูกแก้วกลอยใจเข้าไปหา |
ถึงกลัดกลุ้มคลุ้มคลั่งไม่ฟังยา | ได้เห็นหน้าลูกน้อยก็ค่อยคลาย |
แล้วส่งรูปเลขาให้จ่าโขลน | เอาไปโยนเสียที่วนชลสาย |
นางรอรั้งฟังเงียบเซียบสบาย | จึงผันผายพาสุรางค์ไปปรางค์ทรอง ฯ |
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีนารีราช | เห็นภูวนาถเคลื่อนคลายค่อยวายหมอง |
จูงธิดานารีทั้งพี่น้อง | เข้าในห้องพระบรรทมค่อยก้มคลาน |
จอมกษัตริย์ตรัสเรียกพระลูกรัก | มานั่งตักข้างละองค์ด้วยสงสาร |
แม่ไปไหนไม่มาหาพ่อช้านาน | นางกราบกรานตรงพระเพลาแล้วเล่าความ |
ฉันเกล้าจุกตุ๊กตาจะมาถวาย | มันหนีหายก็ต้องไปเที่ยวไต่ถาม |
ทั้งน้องน้อยพลอยว่าตุ๊กตางาม | ยังอยู่สามตัววางไว้ข้างเตียง |
พระกอดจูบลูบหลังแล้วฟังพลอด | ช่างฉอดฉอดฉอเลาะเสนาะเสียง |
อุ้มบุตรีพี่น้องประคองเคียง | พิศเพียงพิมพ์เดียวแล้วเหลียวมา |
แกล้งตรัสบอกหยอกมิ่งมเหสี | ไหนน้องพี่นี่ยังคิดกังขา |
นางแย้มยิ้มพริ้มพรายอายวิญญาณ์ | พระตรัสว่าวันนี้ฤกษ์ดีครัน |
จะตั้งนามตามวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ศรีสวัสดิ์จงขยับมารับขวัญ |
ให้บุตรีพี่ชื่อสร้อยสุวรรณ | น้องชื่อจันทร์สุดากุมารี |
นางคำนับรับรสพจนารถ | แล้วสอนราชธิดามารศรี |
ให้รับสั่งบังคมก้มโมลี | พระบุตรีรับพลอดฉอดสำเนียง |
สร้อยสุวรรณนั้นว่าชื่อฉันเพราะกว่า | น้องก็ว่าของฉันเพราะทะเลาะเถียง |
ต่างทูลความถามไถ่เฝ้าไล่เลียง | ว่าชื่อเสียงใครจะเพราะเสนาะดี |
พระอภัยใจสบายค่อยคลายคลั่ง | ว่าเพราะทั้งพี่น้องทั้งสองศรี |
นางทูลลาว่าจะไปอวดอัยกี | อัญชลีแล้วก็พากันคลาไคล ฯ |
๏ พอพลบค่ำย่ำฆ้องกลองกระหึ่ม | ประโคมครึ้มครื้นครั่นสนั่นไหว |
นางสำหรับขับร้องทำนองใน | ก็ท้าทับขับไม้มโหรี |
บรรทมฟังวังเวงด้วยเพลงกล่อม | ประสานซ้อมสังคีตทั้งดีดสี |
จวนจะหลับกลับเห็นรูปนารี | อยู่ริมที่ไสยาสน์ประหลาดใจ |
ประโลมลูบรูปวาดปีศาจซ้ำ | ให้จิตคล่ำเคลิ้มองค์กลับหลงใหล |
แนบถนอมหอมชื่นรื่นฤทัย | เฝ้าลูบไล้รับขวัญจำนรรจา |
เจ้ากับพี่นี้กุศลแต่หนหลัง | เห็นจริงจังเจียวนะแม่แน่หนักหนา |
ถึงพรากไปไว้ที่อื่นคงคืนมา | เหมือนเขาว่าคู่แล้วไม่แคล้วเลย |
ประภาษพลางทางตระโบมประโลมลูบ | ถนอมรูปร่วมเรียงเคียงเขนย |
จนแสงทองส่องสว่างน้ำค้างเชย | ลมรำเพยพัดพาสุมามาลย์ |
มารื่นรื่นชื่นจิตสนิทหลับ | ระทวยทับรูปทรงน่าสงสาร |
จนรุ่งเช้าสาวสรรค์พนักงาน | ตั้งเครื่องอานแอบดูพระภูวไนย |
เห็นสวมสอดกอดกระดาษที่วาดรูป | ต่างก็ลูบอกว่าน่าสงสัย |
เมื่อทิ้งขว้างกลางน้ำทำกระไร | จึงมาได้หรือกระดาษปีศาจมี |
ปรึกษาพลางทางรีบไปปรางค์รัตน์ | ทูลรหัสเหตุพระมเหสี |
นางตกใจให้เชิญพระชนนี | มาพร้อมที่ปรางค์รัตน์กษัตรา |
มองเขม้นเห็นกระดาษประหลาดจิต | เป็นสุดคิดแค้นคั่งนั่งปรึกษา |
ฝ่ายองค์พระอภัยตื่นไสยา | เห็นมารดาเดือดดาลรำคาญใจ |
ทำผินหลังบังกระดาษอนาถนิ่ง | กลัวจะชิงฉีกมิตรพิสมัย |
พระมารดรวอนว่าด้วยอาลัย | นี่รูปใหม่หรือเก่าพ่อเฝ้าเชย |
รูปไม่ดีผีสิงทิ้งเสียเถิด | จะก่อเกิดความวุ่นพ่อคุณเอ๋ย |
ฟังแม่ว่าเถิดอย่าได้เอาไว้เลย | พ่อควรเชยสาวสนมกรมใน |
นางพระยาว่าวอนพระนอนนิ่ง | นางก็ยิ่งวอนว่าน้ำตาไหล |
พระฮึดฮัดตรัสว่าระอาใจ | เฝ้าแคะไค้ค่อนว่าดูน่าชัง |
ทั้งผู้ดีขี้ข้าขึ้นมาแซ่ | เฝ้าโหมแห่หึงสาเหมือนบ้าหลัง |
พระเคืองขับกลับรูดวิสูตรบัง | ให้คลุ้มคลั่งเคลิ้มอารมณ์ไม่สมประดี ฯ |
๏ พระมารดรถอนฤทัยไห้สะอื้น | สุดจะกลืนกลั้นน้ำตามารศรี |
ทั้งโฉมยงองค์สุวรรณมาลี | พระหัตถ์ตีทรวงซ้ำร่ำพิไร |
โอ้พระร่มโพธิ์ทองของน้องแก้ว | หลงเสียแล้วกรรมเอ๋ยกรรมจะทำไฉน |
พระมารดาว่าพ่อคุณเคยอุ่นใจ | เหมือนฉัตรชัยช่วยบำรุงให้รุ่งเรือง |
มาเกิดเป็นเช่นนี้วิปริต | เหมือนมืดมิดแหล่งหล้าฟ้าจะเหลือง |
แม้ข้าศึกฮึกอึงมาถึงเมือง | เมื่อแค้นเคืองขุ่นเข็ญจะเห็นใคร |
นางครวญคร่ำกำสรดสลดจิต | โอ้สุดคิดสุดที่แม่จะแก้ไข |
ทั้งห้ามแหนแสนสนมกรมใน | ต่างร้องไห้ไม่วายฟายน้ำตา ฯ |
๏ ครั้นสว่างนางให้หาโหราราช | ทั้งอำมาตย์เมืองผลึกมาปรึกษา |
เป็นเหตุใหญ่ไพรีจะมีมา | เสวกาจะคิดอ่านประการใด |
พวกเสนาต่างคนคิดอ้นอั้น | สติตันตกประหม่าน้ำตาไหล |
ต่างทูลความตามแคลงไม่แจ้งใจ | แล้วสั่งให้โหรชำระดูพระเคราะห์ |
พฤฒาเฒ่าเอาประดิทินออกคลี่ | ตั้งเดือนปีลงเลขโปกเปกเปาะ |
ราหูเสาร์เข้ารวบจวบจำเพาะ | เป็นพระเคราะห์คราวร้ายจึงทายทูล |
ต้องตำราว่าผีไพรีร้าย | ทำวุ่นวายหวังจะให้เสียไอศูรย์ |
แต่ไม่ม้วยด้วยพระวงศ์พงศ์ประยูร | จะเพิ่มพูนผ่อนปรนให้พ้นภัย ฯ |
๏ นางพระยาว่ากระนั้นในวันนี้ | จะลงผีไต่ถามตามสงสัย |
ให้หาท้าวเจ้าสิงที่จริงใจ | มาข้างในแต่งตั้งเครื่องสังเวย |
ทั้งเป็ดไก่บายศรีอาหนีเหล้า | เทพเจ้าจงเจริญเชิญเสวย |
อีท้าวแมนแสนกลเป็นคนเคย | ร้องสังเวยไหว้ผีให้ตีโทน |
ทำถือเทียนเวียนหันสั่นสะเทิ้ม | ระริกเริ้มรัวเต้นดังเล่นโขน |
ลูกสมุนหมุนหน้าทับรับตะโพน | ท่านยายโยนเหล้าเข้มเข้าเต็มตึง |
ทั้งกรีดกรายย้ายอย่างย่างสะบัด | ขึ้นเตียงขัดสมาธิ์นั่งทำตั้งขึง |
คนสำหรับนับถือก็อื้ออึง | ท่านอยู่ถึงถิ่นฐานโรงศาลใด |
อีท้าวแมนแสนรู้ว่ากูนี้ | มิใช่ผีโป่งป่ามาแต่ไหน |
คือองค์ท้าวจ้าวนครแต่ก่อนไร | พระอภัยไม่มาง้อกูพ่อตา |
จึงแค้นนักจักทำให้หนำจิต | เอาชีวิตเสียเดี๋ยวนี้แล้วสิหนา |
ทำตึงตังดังจะเอาซึ่งชีวา | นางพระยาตกใจกระไรเลย |
นึกว่าจริงวิ่งมาหายายท้าว | ว่าพ่อเจ้าจงการุญพ่อคุณเอ๋ย |
อย่าถือโทษพระอภัยเธอไม่เคย | เลี้ยงลูกเขยไว้เถิดท้าวเจ้าประคุณ |
อีท้าวแมนแสนฉลาดตวาดว่า | ยายอย่ามาหน่วงเหนี่ยวจะเฉียวฉุน |
แม้งอนง้อขอชีวาจะการุญ | เร่งบนหุ่นโขนละครทั้งมอญรำ |
สักเจ็ดวันนั้นและยายจะหายแค้น | ถ้ามาตรแม้นมิบนอยู่จนค่ำ |
จะหักคอมรณาทารกรรม | พอสิ้นคำทำล้มไม่สมประดี |
นางพระยาว่าพุคะจะถวาย | ขอให้หายเถิดจะให้ทั้งบายศรี |
แล้วตรัสสั่งทั้งสองเสนาบดี | จัดเสนีนายด่านชำนาญเรือ |
ไปเชิญพระอนุชาหาโอรส | มาทั้งหมดเมืองผลึกเป็นศึกเสือ |
ทั้งโหรดูภูวนาถว่าชาติเชื้อ | จะก่อเกื้อแก้หายไม่วายปราณ ฯ |
๏ เสนาในได้สดับคำรับสั่ง | ออกจากวังเรียกเสมียนมาเขียนสาร |
ให้เสนีที่ฉลาดรู้ราชการ | คุมทหารเภตราไปห้าลำ |
พอลมดีคลี่ใบทั้งใหญ่น้อย | ออกแล่นลอยตามคลื่นทุกคืนค่ำ |
ต่อน้ำหมดอดนักแวะตักน้ำ | แล้วแล่นร่ำรีบไปจนไกลครัน ฯ |
๏ จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก | เสวยเสวกฉัตรชัยไอศวรรย์ |
เมื่อปีสุดสาครจรมานั้น | พระนางจันทวดีมีโอรส |
พระบิตุราชมาตุรงค์วงศ์กษัตริย์ | โสมนัสเฝ้าถนอมอยู่พร้อมหมด |
สาวสุรางค์นางสนมล้วนสมยศ | เลี้ยงโอรสค่อยเจริญมาเนิ่นนาน |
ได้สิบขวบอวบอ้วนเป็นนวลเปล่ง | ดังเดือนเพ็งผิวพรรณในสัณฐาน |
ถวายนามตามชะตาโหราจารย์ | ชื่อกุมารหัสไชยวิไลทรง |
สุดสาครนอนเคียงคอยเลี้ยงน้อง | เหมือนร่วมท้องรักใคร่จนใหลหลง |
ทุกเช้าเย็นเล่นกับน้องทั้งสององค์ | จนค่อยทรงพระเจริญยิ่งเพลินใจ |
มาวันหนึ่งรำพึงถึงบิตุเรศ | ไม่แจ้งเหตุว่าอยู่หนตำบลไหน |
แต่วันลาดาบสกำหนดไว้ | น้อยหรือได้สิบปีเข้านี่แล้ว |
พระบิตุรงค์องค์ไหนยังไม่เห็น | เสียแรงเป็นหน่อเนื้อในเชื้อแถว |
แม้มิตายหมายมาดไม่คลาดแคล้ว | พรุ่งนี้แล้วลูกจะลาบิดาไป |
พระครวญคร่ำรำลึกสะอึกสะอื้น | จนดึกดื่นเดือนลับไม่หลับใหล |
พอรุ่งรางพลางสะท้อนถอนฤทัย | จึ่งปราศรัยสั่งพระน้องสองกุมาร |
เย็นวันนี้พี่จะลาแล้วหนาจ๊ะ | ด้วยธุระร้อนใจดังไฟผลาญ |
เที่ยวตามติดบิตุรงค์หาวงศ์วาน | แม้นพบพานพี่จะมาหาพระน้อง |
แม่นงเยาว์เสาวคนธ์อย่าซนวิ่ง | เป็นผู้หญิงเนื้อตัวจะมัวหมอง |
พระอนุชาอย่าไปเต้นเล่นคะนอง | อยู่ในห้องหัดหนังสืออย่าดื้อดึง |
พลางสวมสอดกอดสองพระน้องแก้ว | แม้ไปแล้วพี่จะนึกรำลึกถึง |
ไม่รู้เรื่องเมืองผลึกยังลึกซึ้ง | เมื่อไรจึงจะได้มาเห็นหน้ากัน |
พระพี่น้องสองกุมารสงสารพี่ | ร้ายหรือดีก็ไม่แจ้งกันแสงศัลย์ |
สะอื้นพลางทางว่าถ้าเช่นนั้น | ไปด้วยกันฉันไม่อยู่ในบูรี |
พระเชษฐาว่าทางกลางสมุทร | ลำบากสุดเสียแล้วน้องจะหมองศรี |
เล่นกับพระอนุชาอยู่ธานี | หน่อยหนึ่งพี่ก็จะมาไม่ช้านาน |
พระพี่น้องร้องไห้จะไปด้วย | เข้าฉุดฉวยเชษฐาน่าสงสาร |
สุดสาครวอนว่าเป็นช้านาน | สองกุมารก็ไม่ฟังเข้ารั้งไว้ |
จะขัดนักจักช้าจึงพาน้อง | ไปเฝ้าสองกษัตริย์อัชฌาสัย |
ศิโรราบกราบบาทเพียงขาดใจ | พลางพิไรร่ำว่าด้วยอาวรณ์ |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณการุญรัก | ถนอมพักตร์ผิดพลั้งช่วยสั่งสอน |
เกษมสุขทุกทิวาเฝ้าอาทร | ยิ่งบิดรมารดาพยาบาล |
แต่ตัวลูกผูกคิดถึงบิตุเรศ | ไม่แจ้งเหตุธานินทร์ถิ่นสถาน |
มาพึ่งบุญมุลิกาอยู่ช้านาน | นึกสงสารพระบิดาเอกากาย |
ลูกขอลาฝ่าละอองสองกษัตริย์ | ไปปฏิบัติบิตุราชเหมือนมาดหมาย |
แม้นลูกนี้ชีวิตมิวอดวาย | จะผันผายกลับมาเหมือนอาลัย ฯ |
๏ สองกษัตริย์อัดอั้นให้ตันจิต | สุดจะคิดขัดข้องทำนองไหน |
เสนหาอาวรณ์ร้อนฤทัย | พระชลนัยน์นองเนตรเวทนา |
จึงว่าพ่อก็ไม่ห้ามจะตามส่ง | ให้พบองค์บิตุราชเหมือนปรารถนา |
จงรอรั้งสั่งเวรเกณฑ์เภตรา | ยกโยธาไปด้วยกันสักพันลำ ฯ |
๏ สุดสาครอ่อนเกล้าลงเคารพ | พระคุณลบเลี้ยงชุบอุปถัมภ์ |
แต่มิควรกวนองค์พระทรงธรรม | แล้วจะลำบากใจแก่ไพร่พล |
จะขอลาฝ่าละอองไปท่องเที่ยว | แต่ผู้เดียวได้แสวงทุกแห่งหน |
พระบิตุรงค์จงสำราญผ่านมณฑล | ให้ไพร่พลบ้านเมืองเรืองสำราญ |
ขอฝากแต่กนิษฐานุชาน้อย | จะเศร้าสร้อยโศกาหาหม่อมฉาน |
ช่วยว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน | อย่ารุกรานรับขวัญจนฉันมา |
พระพี่น้องสององค์ทรงกันแสง | เข้ายุดแย่งหยิกแขนแค้นหนักหนา |
เขาจะได้ไปด้วยไม่ช่วยลา | แล้วโศกากอดไว้ไม่ไกลกาย ฯ |
๏ สองกษัตริย์ทัศนาธิดาบุตร | ยิ่งแสนสุดอาลัยมิใคร่หาย |
เหมือนพี่น้องท้องเดียวเจียวเสียดาย | จึงภิปรายโปรดว่าสุดสาคร |
ถึงลูกรักจักมิให้พ่อไปด้วย | จะขอช่วยแต่งทหารชาญสมร |
ให้ลูกยาพาพหลพลนิกร | เที่ยวสัญจรตามติดพระบิดา |
เพื่อพบกันวันใดจะได้แจ้ง | ว่าพ่อแต่งตามยศโอรสา |
อย่าตัดญาติขาดเด็ดจงเมตตา | ให้บิดาดีใจจึงไกลกัน ฯ |
๏ สุดสาครอ่อนหวานประทานโทษ | ตามจะโปรดชุบย้อมกระหม่อมฉัน |
แล้วปลอบน้องสองราอย่าจาบัลย์ | สองสามวันพี่ยาจะมาวัง |
นางว่าชะพระพี่ช่างขี้ปด | เขารู้หมดมิใช่ว่าเป็นบ้าหลัง |
ไม่ทูลลาพาไปก็ไม่ฟัง | นางเฝ้านั่งบ่นว่าแล้วจาบัลย์ |
สุดสาครอ่อนใจอาลัยน้อง | จึงทูลสองกษัตรานราสรรค์ |
พระน้องรักจักใคร่ไปด้วยกัน | ให้หม่อมฉันทูลลาฝ่าธุลี ฯ |
๏ พระบิตุรงค์สงสารโองการตรัส | พ่อไม่ขัดขุ่นข้องให้หมองศรี |
จะอยู่ไปพ่อไม่ห้ามดอกตามที | สุดแต่พี่กับน้องปรองดองกัน |
พระตรัสพลางทางหาเสนาผู้ใหญ่ | มาสั่งให้จัดพหลพลขันธ์ |
สักห้าหมื่นปืนรบให้ครบครัน | ลงกำปั่นร้อยลำประจำการ |
ที่นั่งรองของเรายาวสามเส้น | เอาแต่งเป็นลำทรงใส่ธงฉาน |
เลือกล้าต้าต้นหนทั้งคนงาน | ที่ชำนาญนาวาในสาคร |
เสนาในได้สดับคำรับสั่ง | มาเตรียมพรั่งพร้อมทัพสลับสลอน |
ลำที่นั่งบังห้องช่องบัญชร | มีบรรจถรณ์แท่นตั้งล้วนฝังพลอย |
ทั้งธงทองรองเรืองเครื่องประดับ | เชือกสำหรับรอกใบของใช้สอย |
มาทอดท่าหน้าวังถ้วนทั้งร้อย | ต่างเตรียมคอยพระโอรสยศไกร ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมจันทวดีนารีราช | แสนสวาทลูกน้อยละห้อยไห้ |
จะจากวังทั้งสามตามกันไป | เป็นจนใจที่จะขัดจะทัดทาน |
จัดสุรางค์นางสนมพี่เลี้ยงพร้อม | ทั้งคนกล่อมกล่าวเกลี้ยงล้วนเสียงหวาน |
เจ้าขรัวยายนายสำหรับบังคับการ | ตรวจเครื่องอานพร้อมเพรียงจนเสียงเครือ |
เร่งให้คนขนส่งลงกำปั่น | ทั้งกำนัลน้อยใหญ่ดีใจเหลือ |
พอรุ่งรางต่างคนมาลงเรือ | มีหมอนเสื่อสารพัดจัดประจง ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอดิศร | สุดสาครชวนพระน้องเข้าห้องสรง |
สีสุคนธ์ปนทองละอององค์ | ต่างสอดทรงเครื่องประดับดูวับวาม |
แล้วลีลามายังห้องสองกษัตริย์ | ชลีหัตถ์พร้อมพรั่งกันทั้งสาม |
นางไว้จุกลูกน้อยน้อยคอยติดตาม | ล้วนงามงามน่ารักลักษณา ฯ |
๏ พระบิตุราชมาตุรงค์องค์กษัตริย์ | สู้อั้นอัดอดรักไว้หนักหนา |
กลัวเป็นลางต่างสะอื้นกลืนน้ำตา | ทั้งบิดามารดรอวยพรชัย |
จงไปดีมาดีศรีสวัสดิ์ | อย่าเคืองขัดขุ่นข้องให้ผ่องใส |
ได้พบปะพระบิดาดังอาลัย | อรินทร์ภัยคลาดแคล้วอย่าแผ้วพาน |
ทั้งสามองค์ทรงสดับอภิวาท | ประยูรญาติใหญ่น้อยพลอยสงสาร |
พระบิตุราชมาตุรงค์ทั้งวงศ์วาน | พากุมารมาส่งลงนาวา |
พร้อมสะพรั่งทั้งร้อยลอยสล้าง | มีขุนนางลำละนายรายรักษา |
เสียงทหารขานโห่ก้องโกลา | ปืนสัญญายิงลั่นสนั่นดัง |
ออกกำปั่นลั่นฆ้องกลองกระหึ่ม | ประโคมครึ้มครื้นแซ่ทั้งแตรสังข์ |
ออกจากท่าสาคเรศนิเวศน์วัง | ลำที่นั่งลอยเลื่อนค่อยเคลื่อนคลาย |
สองกษัตริย์ทัศนานาวาคล้อย | หวนละห้อยโหยไห้พระทัยหาย |
ทั้งแสนสาวท้าวนางท่านขรัวนาย | ต่างฟูมฟายชลนาด้วยอาลัย |
ยิ่งแลลับวับจิตคิดวิตก | ระกำอกอุตส่าห์ขืนสะอื้นไห้ |
กษัตราพาสนมกรมใน | กลับไปไพชยนต์สุวรรณพรรณราย ฯ |
๏ สงสารหน่อบพิตรอดิศร | สุดสาครเสาวคนธ์วิมลฉาย |
ทั้งหน่อกษัตริย์หัสไชยใจสบาย | อยู่ห้องท้ายกำปั่นเผยบัญชร |
บริกรรมสำเหนียกร้องเรียกม้า | ด้วยมนตราดลจิตนักสิทธ์สอน |
จึงดลใจให้พระยาม้ามังกร | ทุรนร้อนรีบมาหากุมาร |
เผ่นขึ้นลำกำปั่นสุวรรณรัตน์ | ไม่ดีดกัดเสนาโยธาหาญ |
มาเฟี้ยมฟุบยุบยอบเหมือนหมอบกราน | พระกุมารออกมาหาอาชาไนย |
แล้วลูบหลังสั่งว่าเวลาค่ำ | ขึ้นนอนลำกำปั่นน้องให้ผ่องใส |
แต่กลางวันนั้นไม่ห้ามตามแต่ไป | แล้วก็ให้ของกินด้วยยินดี ฯ |
๏ พอออกจากปากน้ำพระกำหนด | เหมือนดาบสบอกทางกลางวิถี |
หมายพายัพรับโห่ทั้งโยธี | พอลมดีใช้ใบไรไรมา |
ทั้งร้อยลำกำปั่นเป็นหลั่นแล่น | ตั้งแห่แหนเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
นางสาวสาวเหล่ากำนัลกัลยา | ออกเยี่ยมหน้านั่งสลอนข้างตอนท้าย |
เห็นกว้างขวางว่างโว้งละโล่งลิ่ว | เห็นหวิวหวิวหวั่นหวั่นมิ่งขวัญหาย |
เกาะกระพุ่มคุ่มเคียงเรียงเรียงราย | จะเหลียวซ้ายแลขวาก็น่ากลัว |
กลางอากาศกลาดกลุ้มชอุ่มเมฆ | แลวิเวกเวหาฟ้าสลัว |
เสียงครึกครื้นคลื่นระลอกเป็นหมอกมัว | ระวังตัวต่างภาวนาดัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบรเมศร์เกศกษัตริย์ | โสมนัสในอารมณ์ด้วยสมหวัง |
ขึ้นบาหลีที่สุวรรณเหนือบัลลังก์ | พระน้องนั่งแนบข้างไม่ห่างกัน |
ลมเย็นเย็นเห็นมัจฉาขึ้นคลาคล่ำ | บ้างผุดดำดูชวนกันสรวลสันต์ |
เฝ้าทับยีพี่ยาถามสารพัน | ว่ายโน่นนั่นปลาอะไรใหญ่เต็มที |
พระบอกน้องสองราประสาเด็ก | นี่ปลาเล็กดอกนะจ๊ะมารศรี |
ว่ายข้างนอกดอกมันเท่าเขาคีรี | ว่ายเหล่านี้ซิวซ่าปลาเล็กน้อย |
แล้วชวนดูหมู่สัตว์ปฏิสนธิ์ | หัวเป็นคนข้างท้ายกลายเป็นหอย |
เที่ยวเก็บกินดินสลุตขึ้นผุดลอย | พระน้องน้อยชมเพลินเจริญใจ |
บ้างมีหางอย่างปลาหน้าเหมือนเงาะ | ต่างหัวเราะร้องว่าปลาไปไหน |
มันพูดอย่างข้างเราไม่เข้าใจ | พระหน่อไททิ้งอาหารให้ทานกิน |
มีต่างต่างบ้างพิกลก้นเป็นสาย | ขึ้นเรียงรายกลางมหาชลาสินธุ์ |
มีแต่กายสายหยั่งกระทั่งดิน | เที่ยวจับกินกุ้งปลาในสาชล |
เห็นกำปั่นมันร้องออกก้องเสียง | ให้แล่นเลี่ยงหลีกทางไปกลางหน |
จะถูกสายตายสิ้นมันดิ้นรน | เสียงเหมือนคนแต่ข้างเราไม่เข้าใจ |
พระพี่น้องสององค์ทรงพระสรวล | ต่างชี้ชวนชมปลาชลาไหล |
ทั้งเสนีรี้พลสกลไกร | สำราญใจจรมาสิบห้าวัน ฯ |
๏ ถึงละเมาะเกาะกาวินถิ่นผีเสื้อ | ต่างทอดเรือเรียงเรียงเคียงเคียงคั่น |
ขึ้นตักน้ำลำเลียงพร้อมเพรียงกัน | ผีเสื้อมันได้กลิ่นก็บินมา |
เสียงคึกคึกครึกครื้นเป็นหมื่นแสน | เท่าลำแพนแผ่ปีกหลีกถลา |
ลงโฉบได้ไพร่พลบนเภตรา | กระพือพาขึ้นละเมาะเกาะกาวิน |
ที่เหลืออยู่สู้รบไม่หลบหลีก | มันมาอีกอัดแอกระแสสินธุ์ |
เปรียบเหมือนเหยี่ยวเฉี่ยวปลาแล้วพาบิน | หน่อนรินทร์กับพระน้องอยู่ห้องใน |
เสียงว้าวุ่นผลุนออกมานอกห้อง | มันโฉบสองอนุชาพาไปได้ |
สุดสาครร้อนอกตกพระทัย | ฉวยได้ไม้เท้าโลดกระโดดมา |
ขึ้นขี่หลังมังกรก็ถอนถีบ | ลงน้ำรีบตามติดขนิษฐา |
ไล่ผีเสื้อเงื้อไม้เท้าของเจ้าตา | ร้องเหวยว่าสักเท่าไรก็ไม่วาง |
มันกลับกลุ้มรุมจับพระรับรบ | ทั้งม้าขบโขกกัดสะบัดหาง |
ทั้งตัวปีกฉีกตายมันวายวาง | พระสู้พลางภาวนามหามนต์ |
หวดไม้เท้าดาบสดังกรดกริช | พอถูกนิดกายขาดกลาดกลางหน |
ผีเสื้อร้ายวายปราณไม่ทานทน | ต่างทิ้งคนเสียสิ้นแล้วบินไป |
พระอุ้มน้องสององค์ขึ้นทรงม้า | พวกโยธาว่ายคล่ำในน้ำไหล |
ต่างขึ้นลำกำปั่นไม่บรรลัย | ทั้งนายไพร่พร้อมสิ้นก็ยินดี ฯ |
๏ ถอนสมอช่อใบขึ้นใส่รอก | จะรีบออกนาวาพากันหนี |
พออากาศฟาดเปรี้ยงเสียงสุนี | เห็นคนดีถือขวานผ่านหน้าเรือ |
แล้วร้องว่าอย่าเพ่อไปจะได้ลาภ | ช่วยกันปราบอสุรีพวกผีเสื้อ |
มันหยาบคายร้ายกาจเป็นชาติเชื้อ | กินชาวเรือค้าขายมาหลายพัน |
เทพไทใช้เรามาเผาผลาญ | ผีเสื้อพาลพวกยักษ์มักกะสัน |
อ้ายนายใหญ่ในน้ำตัวสำคัญ | มันป้องกันพวกพลด้วยมนตรา |
มิให้เราเข้าไปถึงในถ้ำ | ต้องคอยทำร้ายอยู่นอกคูหา |
ท่านช่วยล่อแต่พอให้มันไล่มา | เราจะฆ่าตัวนายให้วายชนม์ |
จึงคว้าแก้วแววตาทั้งขวาซ้าย | ไปกันกายสารพัดไม่ขัดสน |
บังเกิดแรงแข็งณรงค์ทั้งคงทน | ถ้าจับคนเข้าก็อ่อนหย่อนกำลัง ฯ |
๏ หน่อกษัตริย์ตรัสว่าถ้าเช่นนั้น | จะล่อมันมาให้ได้ดังใจหวัง |
แล้วปราศรัยให้พระน้องเข้าห้องบัง | กำชับสั่งพลไกรทั้งไพร่นาย |
ถ้าที่นี้ผีเสื้อมาเรืออีก | อย่าเลี่ยงหลีกรบพุ่งเหมือนมุ่งหมาย |
แล้วแต่งองค์ทรงเกาทัณฑ์คันเขาควาย | สะพักสายทรงพระยาม้ามังกร |
สมคะเนเทวดาพาขึ้นเกาะ | ข้ามละเมาะเขาเขินเนินสิงขร |
ถึงปากถ้ำอำลาสุดสาคร | ขึ้นแฝงนั่งบังชะง่อนก้อนศิลา |
พระหน่อนาถอาจองตรงเข้าถ้ำ | พิลึกล้ำแลเวิ้งเป็นเพิงผา |
เห็นผีเสื้อเหลือใหญ่เท่าไอยรา | ก็รู้ว่าตัวนายนอนร่ายมนต์ |
จึงเอี้ยวองค์ทรงลั่นเกาทัณฑ์ขวับ | ถูกขมับไม่ระคายเท่าปลายขน |
ซ้ำอีกทีผีเสื้อเห็นเหลือทน | ลืมร่ายมนต์โมโหให้โกรธา |
คำรนร้องก้องกึกสะอึกไล่ | พระหน่อไทหนีออกนอกคูหา |
ผีเสื้อร้ายหมายจะกินบินออกมา | ฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงเปรี้ยงสำเนียงดัง |
ถูกผีเสื้อเนื้อตัวทั้งหัวขาด | พระหน่อนาถชื่นชมด้วยสมหวัง |
เข้าควักแก้วแววตาละล้าละลัง | ได้มาทั้งสองข้างสว่างวาว |
เป็นแสงรุ้งพลุ่งพรายประกายแก้ว | ดูวาวแววกลมเกลียวบ้างเขียวขาว |
พิศเพ่งเปล่งปลั่งดูดังดาว | สมที่ท้าวเทวาเธอว่าดี |
แล้วแลดูผู้นั้นครั้นไม่เห็น | ขับม้าเผ่นโผนผาดดังราชสีห์ |
ลงลำเนาเขาเขินเนินคิรี | ข้ามนทีถึงกำปั่นไม่ทันเย็น |
จึงแจ้งความตามล้วงได้ดวงเนตร | ของวิเศษชูให้นายแลไพร่เห็น |
ดูเปล่งปลั่งดังดาวราวกับเป็น | ต่างเขม้นหมอบก้มชมกุมาร |
พระยื่นแก้วแววตามหายักษ์ | ให้น้องรักสององค์ด้วยสงสาร |
กายสิทธิ์ฤทธิรณทั้งทนทาน | สองกุมารอัญชลีด้วยดีใจ |
ต่างรับแก้วแววเนตรจากเชษฐา | ชมจินดาแพรวพร่างสว่างไสว |
พระอนุชาว่ามณีดีอย่างไร | ฉันจะใคร่ดูเล่นให้เห็นฤทธิ์ |
ออกจากห้องลองยกครกเหล็กใหญ่ | เอาขึ้นได้ดูไม่ยากแต่สักนิด |
ต่างเริงรื่นชื่นชมด้วยสมคิด | มานั่งชิดเชษฐาแล้วพาที |
ฉันข้อแข็งแรงเรี่ยวขึ้นเจียวจ๊ะ | ทีนี้ปะข้าศึกไม่นึกหนี |
ถึงสูงกว่าห้าศอกจะออกตี | อวดพระพี่พูดจาประสาใจ |
แล้วเชษฐาหาขุนนางช่างฉลาด | มาคิดคาดเพชรรัตน์จำรัสไข |
ทำสายสร้อยร้อยกรองทองอุไร | ผูกหัตถ์ให้นุชน้องสองกุมาร ฯ |
๏ แล้วออกลำกำปั่นเป็นหลั่นแล่น | ไปพ้นแดนเกาะกาวินถิ่นสถาน |
สังเกตทิศสิทธาบัญชาการ | มาประมาณสามเดือนไม่เคลื่อนคลา |
เข้าเขตแคว้นแดนเมืองผลึกราช | เห็นเรือลาดตระเวนรายทั้งซ้ายขวา |
ให้ตีฆ้องร้องถามตามสงกา | ชาวพารารับฆ้องแล้วร้องไป |
เราพวกพ้องกองตระเวนเมืองผลึก | นี่ข้าศึกหรือนาวามาแต่ไหน |
สมคะเนเสนีก็ดีใจ | จึงสั่งให้ทอดสมอลงรอรา |
แล้วบอกเหล่าชาวผลึกใช่ศึกเสือ | พระหน่อเนื้อทรงยศโอรสา |
จะมาเฝ้าเจ้าชีวิตพระบิดา | แวะเข้ามาเถิดจะเล่าให้เข้าใจ |
กองตระเวนเจนจิตคิดสังเกต | รู้ว่าเพศพงศ์พราหมณ์ตามวิสัย |
เป็นโอรสยศยงพระองค์ใด | จำจะไปเฝ้าฟังรับสั่งความ |
จึงขึ้นลำกำปั่นสุวรรณรัตน์ | หน่อกษัตริย์ทรงทักแล้วซักถาม |
ถึงพงศ์เผ่าเหล่ากอพระหน่อนาม | ก็ได้ความเที่ยงแท้แน่พระทัย |
แล้วว่าเราเยาว์อยู่ไม่รู้จัก | จึงนับศักดิ์สุริย์วงศ์ด้วยสงสัย |
ท่านชี้แจงแจ้งสิ้นไม่กินใจ | จะขอไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
๏ กองตระเวนเจนจัดจึงขัดขวาง | อันเยี่ยงอย่างกรุงไกรมไหศวรรย์ |
ถึงหน่อเนื้อเชื้อวงศ์เป็นพงศ์พันธุ์ | อยู่ไกลกันก็ต้องห้ามตามทำนอง |
จะนำข่าวราวความไปตามเรื่อง | ให้ทราบเบื้องบาทมูลทูลฉลอง |
แม้นภูวไนยให้หาฝ่าละออง | จึงยกกองทัพเข้าไปในนคร |
แล้วทูลลามาเกณฑ์ตระเวนด่าน | เรือทหารห้าร้อยลอยสลอน |
ให้ประจำกำกับอย่างหลับนอน | แล้วรีบร้อนเร็วมาถึงธานี ฯ |
๏ จึงแจ้งการท่านมหาเสนาผู้ใหญ่ | พาเข้าไปทูลพระมเหสี |
ฝ่ายโฉมยงองค์สุวรรณมาลี | ไม่ทราบที่เท็จจริงยังกริ่งใจ |
จะทูลความยามคลั่งกำลังเคลิ้ม | เนื้อความเดิมเห็นพระองค์จะหลงใหล |
จึงตรองตรึกปรึกษาเสนาใน | จะรับให้มาดีหรือมิควร |
ขุนนางพร้อมน้อมประณตว่ากฎหมาย | แม้นเจ้านายเสียจริตเห็นผิดผวน |
ครั้นจะกราบทูลความตามประชวร | ก็ไม่ควรขอให้ทัพเธอยับยั้ง |
อยู่ท่าพระอนุชาถ้ามาถึง | นั่นแหละจึงจะได้ถามเนื้อความหลัง |
กลศึกลึกเหลือจะเชื่อฟัง | ข้าคิดยังเคลือบแคลงระแวงความ |
นางกษัตริย์ตรัสตอบว่าชอบอยู่ | ด้วยศัตรูเบียดเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
จะไล่ขับกลับไปก็ไม่งาม | ฉวยเป็นความสุจริตจะผิดนัก |
เสนาในไปให้ถึงจึงจะชอบ | ช่วยโต้ตอบตามโบราณอย่าหาญหัก |
แม้นโอรสอุตส่าห์มาสาพิภักดิ์ | ให้ลูกรักอยู่ที่ด่านชานนคร ฯ |
๏ เสนารับอภิวันท์แล้วผันผาย | ไปด้วยนายแดนด่านชาญสมร |
ขึ้นลำทรงองค์พระหน่อบดินทร | สุดสาครเรียกหามาข้างนี้ |
เสนาในไปประณตโอรสราช | เห็นผุดผาดผิวผ่องละอองศรี |
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนพระอภัยมณี | ความยินดีเห็นจริงไม่กริ่งใจ |
จึงทูลความตามองค์พระทรงศักดิ์ | ประชวรหนักลืมองค์ให้หลงใหล |
ทั้งห้ามแหนแสนสนมกรมใน | นั่งร้องไห้ไม่วายฟายน้ำตา |
แต่ธานีมีศึกนึกวิตก | จึงต้องปกปิดความห้ามหนักหนา |
ให้เรือใช้ไปเชิญพระอนุชา | ไม่เห็นมาช้านานจนป่านนี้ |
พอทราบว่าฝ่าพระบาทราชโอรส | ยกพวกทศโยธามากรุงศรี |
พระมารดาข้าแผ่นดินก็ยินดี | ให้ข้านี้มาประณตบทมาลย์ |
เชิญประทับยับยั้งยังปากอ่าว | ด้วยได้ข่าวข้าศึกเห็นฮึกหาญ |
ให้พระองค์ทรงฤทธิ์ค่อยคิดการ | รักษาด่านปากน้ำที่สำคัญ |
คลายประชวรควรทูลถวายได้ | จึงจะให้เชิญเสด็จเข้าเขตขัณฑ์ |
อนึ่งเล่าพระเจ้าอานุชานั้น | สองสามวันเห็นจะมาไม่ช้าที ฯ |
๏ สุดสาครร้อนจิตถึงบิตุเรศ | ชลเนตรแนวนองให้หมองศรี |
ถอนสะอื้นฝืนพักตร์ซักเสนี | ประเดี๋ยวนี้ทรงธรรม์ค่อยบรรเทา |
หรือประชวรปรวนแปรกว่าแต่ก่อน | อกเราร้อนราวกับไฟประลัยเผา |
เสนาทูลมูลความตามสำเนา | ค่อยบรรเทาขึ้นด้วยถ่ายหลายเวลา |
พระอาหารวานนี้ก็มีรส | เสวยหมดข้าวสวยสักถ้วยฝา |
เห็นชื่นมื่นฟื้นฟังกำลังยา | พระโรคาคงจะหายเหมือนหมายไว้ ฯ |
๏ พระฟังคำจำจนให้อ้นอั้น | จึงผ่อนผันพูดจาอัชฌาสัย |
เป็นจำเพาะเคราะห์กรรมกระทำไว้ | จึงมิได้รักษาพยาบาล |
ซึ่งองค์พระชนนีมีรับสั่ง | ให้ระวังปากอ่าวด้วยข่าวสาร |
ถ้าข้าศึกฮึกโหมมาโรมราญ | จะต่อต้านตีทัพให้ยับเยิน |
แต่อาการผ่านเกล้าเบาหรือหนัก | ให้ประจักษ์แจ้งบ้างอย่าห่างเหิน |
ขุนเสนาว่าจะไม่ละเมิน | กระนั้นเชิญเข้าด่านชานนคร ฯ |
๏ พระทรงฟังสั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ | ให้ใช้ใบกำปั่นเป็นหลั่นสลอน |
เข้าปากน้ำย่ำเย็นลงรอนรอน | ให้พักผ่อนอยู่ที่ด่านชานบุรี ฯ |
๏ อันเรื่องราวกล่าวความที่ห้ามเฝ้า | ยังมิเข้าไปประณตบทศรี |
พอผู้ถือหนังสือมาถึงธานี | แจ้งคดีด้วยเรื่องเมืองลังกา |
ว่าทัพท้าวเจ้าประเทศทุกเขตแคว้น | มาถึงแดนสิงหลพลหนักหนา |
แต่ละเมืองเรืองเดชเวทวิชา | ชิงอาสารบก่อนไม่หย่อนกัน |
นางละเวงเกรงใจให้อนุญาต | ใครสามารถรบได้ไอศวรรย์ |
จะมอบตราราหูให้ผู้นั้น | จึงชิงกันยกมาทุกธานี |
เมืองมะหุ่งกรุงเตนกุเวนลวาด | เมืองวิลาสวิลยาชวาฉวี |
ถึงเมืองเงาะเกาะวลำสำปะลี | จะชิงตีเมืองผลึกเป็นศึกรุม ฯ |
๏ นางรู้ข่าวราวกับกายวายชีวิต | เป็นสุดฤทธิ์ร้อนฤทัยดังไฟสุม |
พระทูลกระหม่อมจอมวังยังคลั่งคลุ้ม | ใครจะคุ้มครองได้เห็นไม่มี |
พลางเข้าห้องมองดูภูวนาถ | จูบกระดาษซูดซูดพูดกับผี |
เข้าเคียงองค์ทรงธรรม์แล้วอัญชลี | ทรงโศกีกลั้นสะอื้นกลืนน้ำตา |
แล้วทูลความตามฝรั่งบอกหนังสือ | พระอืออือแล้วก็เคลิ้มเหิมหรรษา |
อยู่ดีดีชี้นิ้วกริ้วโกรธา | น้อยหรือมานั่งหึงกระบึงกระบอน |
ทำจ้วงจาบหยาบช้าสารพัด | พระผลักพลัดตกสุวรรณบรรจถรณ์ |
นางสงสารผ่านฟ้ายิ่งอาวรณ์ | พระกรข้อนทรวงซ้ำร่ำพิไร |
โอ้ปิ่นเกล้าเจ้าประคุณของเมียเอ๋ย | ไม่ฟื้นเลยแล้วหรือกรรมจะทำไฉน |
ศึกจะมาธานีไม่มีใคร | ช่วยแก้ไขคิดอ่านการณรงค์ |
โอ้เวียงวังครั้งนี้ไม่มีรอด | จะม้วยมอดเหมือนเขาเบื่อไม่เหลือหลง |
แล้วมิหนำซ้ำสูญประยูรวงศ์ | นางร่ำทรงโศกาถึงธานี |
พระฟังเฟือนเหมือนหนึ่งว่าด่ากระดาษ | ตรัสตวาดว่าอุเหม่มเหสี |
แสนสำออยคอยเฝ้ามาเซ้าซี้ | พูดอย่างนี้อย่างนั้นขยันจริง |
เจ้าคารมลมเติบกำเริบจิต | ดัดจริตเข้ามาด่าว่าผู้หญิง |
พลางแผดเสียงเหวี่ยงเขนยที่เคยอิง | นางหวีดวิ่งหนีมาหน้าพระลาน |
แล้วให้หาข้าเฝ้าเข้ามาสั่ง | สงครามครั้งนี้หนักจะหักหาญ |
เร่งขึ้นป้อมล้อมรอบขอบปราการ | หัดทหารเดินรบบรรจบกัน |
แล้วเกณฑ์ไพร่ไว้ทุกช่องกองละหมื่น | ฉวยค่ำคืนเข้มงวดจะกวดขัน |
ถ้าหนักไหนให้ทหารช่วยด้านนั้น | อย่าคิดครั่นคร้ามใจแก่ไพรี ฯ |
๏ ฝ่ายเวียงวังคลังนาพวกข้าเฝ้า | ต่างก้มเกล้ากราบพระมเหสี |
มาสั่งเวรเกณฑ์ทหารตามบาญชี | ขึ้นนั่งที่เชิงเทินเนินหอรบ |
นายรักษาหน้าด่านทหารเอก | ให้คุมเลกคนละพันเข้าบรรจบ |
ทั้งกองหมื่นพื้นสันทัดจัดสมทบ | บนหอรบรายปืนกองฟืนไฟ |
บ้างเทียบรถคชาผูกม้าช้าง | พวกขุนนางตรวจกันเสียงหวั่นไหว |
จองหง่องหง่องฆ้องกระแตออกแซ่ไป | ต่างเตรียมไว้เสร็จสรรพรับสงคราม ฯ |