- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
๏ ฝ่ายบาทหลวงกลับไปให้ระทด | เศร้าสลดดังใครเอาภูเขาถม |
เพราะเมียศิษย์เจ็บไข้ใจระบม | ในอารมณ์แกสิมุ่งกรุงลังกา |
หมายจะไปแก้แค้นคิดแทนทด | ได้ไว้ยศแผ่ไปในทิศา |
มาเกิดเรื่องป่วยไข้ให้ระอา | อ้ายมังคลาไหนจะไปให้ไกลเมีย |
กำลังหลงงงงวยด้วยอีสาว | เปรียบเหมือนกาวแน่นหนาประดาเสีย |
แล้วป่วยไข้ไหนจะร้างจะห่างเมีย | ดูมันเคลียคลอกันทุกวันคืน |
ทั้งพ่อตาแม่ยายมันให้ยศ | มอบให้หมดทั้งพาราไม่ฝ่าฝืน |
มันปลื้มเปรมเกษมสันต์ทุกวันคืน | ไหนจะฟื้นกลับหลังไปลังกา |
จำจะคิดถ่ายเทด้วยเล่ห์หลอก | ขู่ตะคอกเข้าไปให้มาหา |
จึงจะคิดผ่อนผันด้วยปัญญา | ให้เหมือนปลาติดลอบค่อยปลอบโยน |
ทั้งอ้ายท้าวอิศโรเจ้าโกสัย | คิดเอาไปช่วยเต้นเหมือนเล่นโขน |
ไปตีชิงสิงหลอย่างพลโจร | กรูกันโผนขึ้นบนบกยกเข้าตี |
แกตรองตรึกนึกเห็นเหมือนเล่นเบี้ย | ถึงจะเสียสักเท่าไหร่กูไม่หนี |
คงจะคิดแก้ตัวถั่วเป็นที | แทงให้มีกำไรไว้ฝีมือ |
ธรรมดาค้าขายหมายเอามาก | สู้เหนื่อยยากหากำไรมิใช่หรือ |
เปรียบเหมือนคนขายดีมีฝีมือ | เอาให้ลือความเพียรดั่งเรียนมนต์ |
แกตรองพลางเรียกเสมียนเขียนอักษร | เป็นการร้อนโดยความตามนุสนธิ์ |
ด้วยถ้อยคำหารือรื้อกังวล | ใช้ให้คนถือไปแจ้งแห่งคดี ฯ |
๏ พวกคนใช้นำไปถึงนิเวศน์ | แล้วแจ้งเหตุนายประตูบูรีศรี |
ให้บอกท่านกรมท่าเสนาบดี | ว่าบัดนี้เราถือหนังสือมา ฯ |
๏ พวกหมื่นขุนมุลนายรับไปบอก | ขุนนางออกมากำกับรับเลขา |
รีบเอาไปถวายพระมังคลา | เธอออกมารับหนังสือถือเข้าไป ฯ |
๏ แล้วคลี่สารอ่านดูครูบาทหลวง | สำนวนลวงแกมาแกล้งแถลงไข |
เป็นใจความถามซักด้วยหนักใจ | ที่เรื่องไข้เรื่องเจ็บที่เหน็บชา |
ค่อยเสื่อมคลายหายแล้วหรือยังเจ็บ | หรือเมื่อยเหน็บเป็นไฉนอย่างไรหวา |
แม้นค่อยคลายหายป่วยด้วยโรคา | เร่งออกมาคิคอ่านการณรงค์ |
จะได้ไปลังกาอาณาเขต | ถิ่นประเทศดั่งนิยมสมประสงค์ |
จะนิ่งอยู่กับเมียเหมือนเหี้ยดง | ไม่พะวงสงครามมาถามกู ฯ |
๏ พอจบเรื่องเบื้องหลังในหนังสือ | พระยิ่งรื้อทุกข์ร้อนจนอ่อนหู |
ครั้นจะมิออกไปได้เป็นครู | ก็จะจู้จี้ไปให้รำคาญ |
จึงเรียกนุชบุษบงอนงค์นาฏ | มาร่วมอาสน์เอื้อนสุนทรด้วยอ่อนหวาน |
พี่จะต้องออกไปหาพระอาจารย์ | ความรำคาญด้วยจะไปไกลยุพิน |
พี่ออกไปไม่ช้าจะลากลับ | พระกำชับน้องนุชสุดถวิล |
แล้วจากปรางค์พระธิดายุพาพิน | แสนถวิลเทวษหวังเป็นกังวล |
นางทูลองค์ภูวเรศพระเชษฐา | ถ้าอยู่ช้าน้องเห็นไม่เป็นผล |
แม้นเสร็จสิ้นสมหมายวายกังวล | ภูวดลกลับมายังธานี ฯ |
๏ พระโฉมยงลงจากที่นั่งรัตน์ | หน่อกษัตริย์ออกจากบุรีศรี |
เสด็จไปถึงด่านชานบุรี | ขึ้นนั่งที่ตึกขวางกลางนคร |
บาทหลวงเห็นมังคลาจึงปราศรัย | เมียเจ็บไข้เบาทรวงดวงสมร |
หรือว่าค่อยเหือดหายวายอาวรณ์ | เองจึงจรออกมาได้ทั้งไพร่นาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลาปรีชาฉลาด | เล่าให้บาทหลวงฟังยังไม่หาย |
เวลาเย็นเจ็บไข้ไม่สบาย | ต้องวุ่นวายนั่งระวังเป็นกังวล |
แต่เจ้าคุณให้หาต้องมาก่อน | ว่าการร้อนจะใคร่แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
กลัวจะเคืองเรื่องหลังเป็นกังวล | ด้วยเป็นคนบอบบางไม่วางใจ |
เวลาจวนสนธยาขอลากลับ | ไปกำกับหยูกยาอัชฌาสัย |
ลำพังหมอนุชนางไม่วางใจ | ทั้งท้าวไทพ่อตาเธอปรารมภ์ ฯ |
๏ บาทหลวงว่าชะเจ้าคนปรนนิบัติ | จะต้องจัดหยูกยาหาขนม |
ไว้ป้อนเมียหนุนหลังระวังลม | มึงนิยมหม่อมเมียจะเสียการ |
ไม่คิดเอาบ้านเมืองค่อยเปลื้องปลด | พวกขบถวงศ์ญาติจึงอาจหาญ |
ไม่คิดตัดศัตรูพวกหมู่มาร | ที่ไหนการศาสนาจะถาวร |
พระเยซูผู้เป็นเจ้าจะแช่งชัก | ให้มึงหนักใจยิ่งกว่าสิงขร |
วันจะสิ้นกัปกัลป์พุทธันดร | ให้ทูตต้อนลงนรกหกคะเมน |
จมลงไปใต้เถรเทวทัต | แล้วจะมัดมึงใส่ไม้กางเขน |
เพราะจิตไม่แน่นอนมักอ่อนเอน | เปรียบเหมือนเลนปักไม้มันไม่ตรง ฯ |
๏ พระมังคลาว่าเจ้าคุณยังวุ่นนัก | อย่าแช่งชักให้กระจุยเป็นผุยผง |
ขอผัดไว้แต่พอไข้บรรเทาลง | ก็จะคงคิดไปในลังกา |
บาทหลวงด่าว่ามึงเหมือนอึ่งอ่าง | ยานแต่คางขึ้นเสียงเถียงกูหวา |
แม้นมึงพูดไม่เหมือนคำที่ร่ำมา | จะให้ว่าโดยการสถานใด |
สักกี่วันเล่าคุณจอมหม่อมจะหาย | จะผันผายออกมาที่อาศัย |
มาคิดอ่านการทัพไปดับไฟ | ที่เกิดในลังกาให้ถาวร ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ฟังพระบาทหลวงคิดดั่งพิษศร |
มาเสียบทรวงอาตมาให้อาวรณ์ | ทั้งแสนร้อนในอุราให้อาดูร |
แกจะพรากไปให้จากสมรมิตร | ดั่งชีวิตแทบจะขาดสวาทสูญ |
เสียดายมิตรคิดขึ้นมาให้อาดูร | พระเพิ่มพูนร้อนรักให้หนักทรวง |
จึงวอนว่าเจ้าประคุณการุญรัก | ก็ประจักษ์แจ้งใจเป็นใหญ่หลวง |
ขอลาไปแต่พอไข้บรรเทาทรวง | ไม่หนักหน่วงเนิ่นช้าจะมาพลัน ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเอาสัญญาว่าให้แน่ | กูจะแก้ทุกข์ร้อนจะผ่อนผัน |
จงไปเถิดกลับมาในห้าวัน | กูผ่อนผันให้ไปหารักษาเมีย |
แม้นช้าไปกูจะให้พระเป็นเจ้า | ให้เธอเอาไฟนรกเผาอกเสีย |
เพราะมึงละศาสนามาหลงเมีย | เฝ้าเคล้าเคลียคลึงรสจนหมดแรง |
เสียทีกูชูชุบอุปถัมภ์ | ลืมถ้อยคำสั่งสอนมานอนแฝง |
จะสวดให้พระเป็นเจ้าเอาเหล็กแดง | ที่มีแสงรุ่งโรจน์โชตินา |
ไปประหารผลาญมึงอย่าพึงนึก | จะจารึกว่าทำลายศาสนา |
จะตีกลองฆ้องระฆังตั้งสัญญา | ให้พวกฝาหรั่งแช่งทุกแห่งไป ฯ |
๏ พระมังคลาลาลุกออกจากตึก | อนาถนึกที่ในจิตคิดสงสัย |
ตั้งแต่แกฝึกสอนแต่ก่อนไร | ดูก็ไม่เห็นจริงสักสิ่งเดียว |
มีแต่ต้องอัปราแก่ข้าศึก | ยิ่งตรองตรึกหมกหมุ่นยิ่งฉุนเฉียว |
แต่จนใจแกเป็นครูอยู่ผู้เดียว | จะเลี่ยงเลี้ยวหลีกไปก็ไม่ดี |
มาขึ้นรถกลับหลังเข้าวังราช | พระหน่อนาถขุ่นข้องให้หมองศรี |
พอพลบค่ำคล้ำฟ้าในราตรี | พระภูมีเยื้องย่างเข้าปรางค์ทอง |
ประทมหงายก่ายนลาฏอนาถนึก | ยิ่งตรองตรึกทุกข์ทนยิ่งหม่นหมอง |
เหมือนโกมุทบุษบามณฑาทอง | มาถูกต้องแสงสีรวีวร |
เรณูนวลอวลอบตลบกลิ่น | ก็สุดสิ้นเสาวรสหมดเกสร |
ลงอ่อนพับอยู่กับแท่นแสนอาวรณ์ | สายสมรเคียงข้างแล้วนางทูล |
เป็นไฉนไม่ตรัสหรือขัดข้อง | นางฉลองพระปิ่นบดินทร์สูร |
ขอทราบเรื่องเคืองเข็ญที่เป็นมูล | นางกราบทูลภัสดาแล้วจาบัลย์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | แสนสวาทนุชน้องประคองขวัญ |
แถลงเล่าความจริงทุกสิ่งอัน | พระโศกศัลย์แสนสลดระทดทรวง |
อาจารย์เราแกแช่งว่าแกล้งบิด | พี่สุดคิดสุดอาลัยเป็นใหญ่หลวง |
จะจำพรากจากสมรให้ร้อนทรวง | สุดจะหน่วงเนิ่นนานรำคาญจริง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | อภิวาทวอนว่าประสาหญิง |
น้องจะขอพยายามเป็นความจริง | ด้วยพระมิ่งเสด็จไหนจะไปตาม |
เป็นความสัตย์วัฒนาของข้าบาท | จนสิ้นชาติเหมือนจิตไม่คิดขาม |
ถึงยากเย็นเข็ญใจจะไปตาม | พยายามกว่าชีวิตจะปลิดปลง ฯ |
๏ พระรับขวัญขวัญเจ้าเยาวลักษณ์ | เชิญน้องรักไปได้ชมสมประสงค์ |
พลางคลึงเคล้าเย้ายวนชวนอนงค์ | เข้าที่สรงสาครขจรขจาย |
น้ำกุหลาบอาบอบตลบกลิ่น | หอมประทิ่นบุษบงประจงถวาย |
พระเสร็จสรงทรงเครื่องแล้วเยื้องกราย | เธอผันผายชวนนางพลางประโลม |
พระตรัสพลางทางว่านิจจาเจ้า | มาไปเฝ้าบิตุรงค์ของทรงโฉม |
ทูลแถลงแห่งยุคที่ทุกข์โทม | ช่วยเล้าโลมอาจารย์พอนานวัน |
นางสนองสามีเป็นที่ชื่น | ให้เริงรื่นปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
พระจูงมิตรกนิษฐาวิลาวัณย์ | เฝ้าทรงธรรม์บิตุรงค์ของนงเยาว์ ฯ |
๏ ป่างพระปิ่นอิศโรท้าวโกสัย | พลางถามไต่ปลอบประโลมโฉมเฉลา |
ทั้งเขยขวัญร่วมจิตชีวิตเรา | ขึ้นมาเฝ้าบิตุรงค์จงแจ้งการ ฯ |
๏ ป่างพระจอมมังคลานราราช | อภิวาทท้าวไทแล้วไขขาน |
ทูลคดีชี้แจงให้แจ้งการ | ว่าอาจารย์แกจะให้ไปลังกา |
ก็หนักหน่วงห่วงนุชสุดวิตก | ให้หนักอกลูกรักเป็นนักหนา |
ขอพระองค์ทรงธรรม์กรุณา | จงโปรดปรานีด้วยช่วยห้ามปราม |
อาจารย์เจ้าแกเหลือเหมือนเสือโคร่ง | จะชักโยงไปให้ยากบุกขวากหนาม |
แทบจะตายวายชีวงทำสงคราม | ก็เพราะตามใจท่านแทบบรรลัย |
ขอพระองค์จงโปรดปรานีบ้าง | ช่วยคัดง้างโดยความตามนิสัย |
เผื่อแกจะยำเยงเกรงพระทัย | โดยที่ในบาทาฝ่าธุลี ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราพ่อตาสนอง | อย่าเคืองข้องเลยจะแต่งอักษรศรี |
ไปว่าขานการประสงค์ที่ตรงดี | อย่าราคีไปเลยพ่อจะต่อตรอง |
แต่ตัวเจ้ากับเมียไปเสียก่อน | ค่อยโอนอ่อนเอาใจอย่าให้หมอง |
แล้วจะให้สาราไปว่าลอง | มิปรองดองพ่อจะไปดังใจจง ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | อภิวาทออกไปตามความประสงค์ |
ไปขึ้นรถกับนุชบุษบง | เสด็จตรงไปถึงด่านชานบุรินทร์ |
พร้อมพหลพลรบสมทบแห่ | ก็เซ็งแซ่ไปที่ท่าชลาสินธุ์ |
บาทหลวงเห็นศิษย์มาถึงธานินทร์ | แกแสนยินดียิ่งวิ่งลงมา |
รับทั้งสองหน่อไทไปบนตึก | เพราะสมนึกจริงจังไม่กังขา |
แล้วปราศรัยไต่ถามตามกิจจา | ที่โรคาหายดีมีกำลัง |
กูทุกข์ร้อนนอนนั่งตั้งวิตก | เองหายหกสมจิตกูคิดหวัง |
จะได้ไปสิงหลในวนวัง | คิดแต่งตั้งศาสนาให้ถาวร |
เองจะได้ครองลังกาอาณาเขต | ถิ่นประเทศเรืองฤทธิ์อดิศร |
ไปจับอ้ายพี่ยาสุดสาคร | เข้าราญรอนชิงเอาของเราคืน |
จับอ้ายพวกเผ่าพงศ์วงศ์ขบถ | มาให้หมดทุกตำแหน่งใครแข็งขืน |
ฆ่าให้หมดจนกระทั่งรู้นั่งยืน | ใครจะฝ่าฝืนมาเองอย่าฟัง |
อันสิงหลนครามาแต่ก่อน | ของมารดรลุงตามาแต่หลัง |
แม้นมิยอมโดยดีก็มิฟัง | กูจะตั้งรบมันจนบรรลัย ฯ |
๏ พระมังคลาว่าเจ้าคุณอย่าหุนหัน | แต่เสียชั้นเชิงมาเลือดตาไหล |
ก็หลายครั้งตั้งแต่อัปราชัย | จงตรึกไตรตามระบอบให้ชอบกล ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแสนพิโรธ | กำลังโกรธเช่นเขาเล่าท้าวสิงหล |
ลุกขึ้นยืนชี้หน้าด่าออกลน | ชะเจ้าคนเปรื่องปราดฉลาดดี |
มาสอนกูจะให้อยู่ในโอวาท | กูใช่ทาสใช่ข้าใช่ทาสี |
มาสอนสั่งตั้งกระทู้เจ้าผู้ดี | พาเอาอีเมียมาทำหน้าบาน |
มิหมายใจหรือว่ากูรู้ไม่เท่า | หรือจะเอาเมียรักมาหักหาญ |
ให้กูเกรงบารมีมาชี้การ | ได้ว่าขานตัวกูดูทำนอง |
จะให้กูผู้อาจารย์ลงกรานกราบ | ศิโรราบคอยประมูลทูลฉลอง |
ตามพระราชบัญชาฝ่าละออง | อย่าให้ต้องเสด็จไปไกลหม่อมเมีย |
อันถ้อยคำที่มึงว่าอย่าพึงคิด | เหมือนยาพิษไม่นิยมจะถ่มเสีย |
นี่ปัญญาคุณจอมนางหม่อมเมีย | ชักให้เสียทีแท้นางแม่แรง |
มึงหลงเมียเห็นจะเสียพระศาสนา | แต่บรรดาคนทั้งสิ้นจะกินแหนง |
มึงอย่าพักมารยาทำตาแดง | กูจะแช่งให้มันงอถึงพ่อตา |
มึงมิไปหรือจะได้ให้ฝรั่ง | ตีระฆังแช่งชักให้หนักหนา |
ทราบถึงพระเยซูผู้ศักดา | จะลงมาทำโทษเพราะโกรธมึง |
แกชี้หน้าด่าผางอยู่กลางตึก | โมโหฮึกเต็มประดาตาถลึง |
ตวาดก้องร้องเปรี้ยงเสียงออกอึง | ถ้าแม้นมึงจะมิไปก็ไม่ฟัง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายไทท้าวเจ้าพิภพ | คิดปรารภร้อนในพระทัยหวัง |
นั่งคอยบุตรเกินเวลาไม่มาวัง | เธอจึงสั่งเสนีทั้งสี่นาย |
ให้เตรียมราชรถาฝากระจก | บุษบกเวชยันต์เจ็ดชั้นฉาย |
จะไปตามโฉมยงพงศ์นารายณ์ | ที่เมืองท้ายชานชลาริมสาคร ฯ |
๏ ขุนนางพร้อมน้อมคำนับรับบรรหาร | มาเตรียมการแตรสังข์นั่งสลอน |
ป่างพระปิ่นนคเรศเขตนคร | เสด็จจรขึ้นบัลลังก์ทรง |
เคลื่อนพหลพลไกรไปถึงด่าน | เข้าทวารเวียงชัยครรไลหงส์ |
บาทหลวงเห็นเจ้าบุรินทร์ปิ่นอนงค์ | แกเดินตรงลงมาเชิญดำเนินไป |
บนตึกกลางสร้างใหม่ที่ในด่าน | เมืองปราการริมชลาพลางปราศรัย |
แล้วแถลงแจ้งเรื่องที่เคืองใจ | ให้ท้าวไทเธอฟังที่กังวล |
บัดนี้เราผู้อาจารย์คิดอ่านให้ | จะพาไปช่วงชิงเอาสิงหล |
อันนิเวศน์เขตแคว้นแดนมณฑล | เป็นของตนมาแต่เดิมได้เพิ่มพูน |
ประจามิตรคิดเข้าเอานิเวศน์ | ชิงประเทศโภไคยมไหสูรย์ |
มันกลับยกเรื่องราวเป็นเค้ามูล | ดั่งข้าทูลจอมนรินทร์ปิ่นประชา ฯ |
๏ ป่างพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ตรัสเอาใจสังฆราชปรารถนา |
จะมิให้ชิงชังมังคลา | ค่อยพูดจาวิงวอนให้อ่อนใจ |
เจ้าคุณอย่าปรารมภ์โทมนัส | ฉันจะจัดแจงส่งอย่าสงสัย |
ให้พร้อมพรั่งทั้งพหลสกลไกร | จะได้ไปคั่งคับเป็นทัพเรือ |
ข้าพเจ้าเล่าไซร้จะไปด้วย | จะได้ช่วยชิงชัยเป็นฝ่ายเหนือ |
เจ้าคุณเป็นแม่ทัพกำกับเรือ | แม้นขาดเหลืออย่างไรในสงคราม ฯ |
๏ บาทหลวงหายโกรธาว่าเช่นนั้น | เราคิดกันล้วนผู้ใหญ่ค่อยไต่ถาม |
หัวร่อเร่อเออท้าวเธอเห็นความ | ควรจะตามกันทุกสิ่งไม่กริ่งใจ |
นี่มันพูดตัดประโยชน์จึงโกรธแค้น | เรานี้แสนเวทนาน้ำตาไหล |
มันพูดจาอวดดีจะมิไป | จึงขัดใจแช่งด่าไม่ปรานี |
จะเกาะเมียเสียไม่รู้ทำหูหนวก | มันชาติพวกอ้ายขี้ข้ากะลาสี |
แม้นไม่เกรงไทท้าวเจ้าบุรี | จะฆ่าตีให้มันตายวายชีวง |
นี่จนใจเพราะมันไปเป็นเขยท้าว | กลัวจะร้าวรานจิตคิดประสงค์ |
หมายจะสืบในประยูรตระกูลวงศ์ | เป็นเผ่าพงศ์เชื้อกษัตริย์ขัตติยา |
หาไม่จะทารกรรมให้หนำจิต | ให้สิ้นฤทธิ์ที่มันหลงลงผวา |
พลางสั่งพวกกปิตันวิลันดา | แต่งเภตราไว้ให้เสร็จในเจ็ดวัน |
จึงว่ากับมังคลาสานุศิษย์ | กลับไปคิดการร้อนเร่งผ่อนผัน |
ให้เสร็จสรรพกลับมาในห้าวัน | จะได้ทันลมว่าวคราวฤดู |
เชิญเถิดท้าวเจ้าพาราพ่อตาเขย | อย่าช้าเลยให้เหมือนหินถูกดินหู |
ช่วยกันยกศาสนาเหมือนตราชู | จะได้ดูหน้าคนพวกมลทิน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราก็ลากลับ | มาพร้อมกับเขยบุตรสุดถวิล |
พากันรีบกลับมาถึงธานินทร์ | พร้อมกันสิ้นยับยั้งยังพระโรง |
ท้าวตรัสกับเขยขวัญอย่าหวั่นหวาด | สังฆราชโกรธาด่าออกโผง |
จำจะไปอย่าให้ไกว่าเราโกง | จะชักโยงหาความตามแต่บุญ |
พ่อจะไปด้วยเจ้าอย่าเร่าร้อน | คิดผันผ่อนขาดเหลือได้เกื้อหนุน |
เผื่อยกไปชัยชนะเดชะบุญ | จะให้วุ่นวายไปทำไมมี ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | พจนารถทูลท้าวเจ้ากรุงศรี |
ลูกจะขอพึ่งพาบารมี | พอเป็นที่ฉัตรชั้นได้กันภัย |
จะเสด็จไปด้วยได้ช่วยศึก | แต่ตื้นลึกพระไม่แจ้งแถลงไข |
ขอทูลความตามจริงทุกสิ่งไป | ให้ท้าวไททราบยุบลแต่ต้นมา |
ที่รบราฆ่าฟันกันทั้งนี้ | เล่าก็มิใช่ศัตรูหมู่มิจฉา |
คือวงศ์ญาติเหล่ากอต่อกันมา | ทั้งพี่อาหลานน้องพวกพ้องกัน |
ถึงเหตุผลต้นเดิมแต่เริ่มแรก | จะต้องแตกพลัดพรายไอศวรรย์ |
ก็เพราะท่านบาทหลวงแกหวงกัน | ไปคืนพันธุ์โคตรเพชรแก้วเก็จมา |
จากกรุงไกรสวรรยาการะเวก | ว่าของเอกในสิงหลภาษา |
แล้วใช้ให้ไปจับกษัตริย์มา | ขังไว้ท่าเมืองใหม่ชายทะเล |
ทราบไปถึงบิตุรงค์พงศ์กษัตริย์ | เกิดวิบัติรบพุ่งกันยุ่งเก๋ |
จึงต้องหนีมาในทางกลางทะเล | เที่ยวเตร็ดเตร่ไปทุกเมืองเพราะเคืองใจ |
เอาความหลังทั้งนั้นแถลงเล่า | ให้ไทท้าวเธอแจ้งแถลงไข |
แต่รบราฆ่าฟันกันบรรลัย | ปราชัยเขาทุกครั้งไม่ตั้งตัว |
แกยังคิดจะให้ไปเพราะใจโลภ | จะอ้อมโอบจับกษัตริย์มาตัดหัว |
ไปรบเขาคราวไรเขาไม่กลัว | เป็นแต่ตัวย่อยยับอัปรา |
เทพารักษ์ลักษมีมาชี้ห้าม | แกกล่าวความว่าท่านคิดริษยา |
แม้นใครห้ามว่าไม่ให้ไปลังกา | ก็โกรธาเคืองเข็ญไม่เห็นจริง ฯ |
๏ ท้าวโกสัยสุริย์วงศ์ทรงสดับ | ให้คั่งคับในพระทัยดั่งไฟผิง |
จึ่งว่ากับเขยขวัญเช่นนั้นจริง | ก็ต้องนิ่งตามใจไกเป็นครู |
ครั้นมิไปก็จะแช่งว่าแกล้งบิด | เจ้าเป็นศิษย์มาแต่ก่อนต้องอ่อนหู |
ต้องจำเป็นจำใจไปกับครู | จะนิ่งอยู่แกคงทำให้ช้ำใจ |
ด้วยเป็นคนตับโตโมโหมาก | ไม่สมอยากก็จะด่าไม่ปราศรัย |
จะว่าเมียยุยงไม่ปลงใจ | แกจะไว้ความชั่วให้มัวมน |
ถึงตัวพ่อก็จะไปมิให้ว่า | ใช้ปัญญาแอบแฝงทุกแห่งหน |
อันเกิดมาเป็นมนุษย์ปุถุชน | ก็ต้องทนเหนื่อยยากลำบากกาย |
ไปลองดูอีกครั้งอย่างแกกล่าว | แม้นเรื่องราวมิได้สมอารมณ์หมาย |
จงกลับมาหยุดหย่อนผ่อนสบาย | ดูแยบคายสารพัดตัดสำนวน ฯ |
๏ พระมังคลาว่าตามแต่บิตุเรศ | จะโปรดเกศโดยระบอบคิดสอบสวน |
แต่จะคิดข้อคัดตัดสำนวน | สิ้นกระบวนสักเท่าไรก็ไม่ยอม |
ก็สุดแท้แต่พระองค์ผู้ทรงภพ | จะปรารภใคร่ครวญควรถนอม |
ที่จะให้แกลงที่ตรงยอม | ต่อให้จอมจักรพรรดิกษัตรา |
มาห้ามปรามยามนี้แกมิเชื่อ | บอกว่าเสือแกก็คงลงไปหา |
จะห้ามปรามว่ามิให้ไปลังกา | ใครอย่าว่าหมื่นแสนทั้งแดนดิน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | จึ่งกล่าวไขข้อความตามถวิล |
จงไปเถิดแก้วตาอย่าราคิน | ให้แกสิ้นพูดจาด่าประจาน |
แล้วตรัสสั่งเสวกาพฤฒามาตย์ | ให้หมายบาดเภตราโยธาหาญ |
ทุกตำแหน่งแจ้งข้อราชการ | พนักงานกราบก้มบังคมคัล |
มาจัดแจงแต่งกำปั่นสุวรรณมาศ | เอาใบดาดตบแต่งล้วนแกล้งสรร |
สายระยางใหญ่น้อยสร้อยสุวรรณ | แต่งกำปั่นลำทรงอลงกรณ์ |
ทั้งเรือรบเรือไล่เตรียมไว้พร้อม | บ้างซักซ้อมพวกทหารชาญสมร |
ให้ถอยออกจากคูอู่นคร | เป็นการร้อนถอยออกนอกบุรินทร์ |
ไปเตรียมคอยรับเสด็จถึงเจ็ดร้อย | เครื่องใช้สอยดั้งดาบปืนคาบหิน |
ของเสบียงไปทัพสำหรับกิน | ก็จัดสิ้นพร้อมเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ป่างพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | เสร็จเข้าในปรางค์มาศราชฐาน |
จึงตรัสสั่งพวกเจ้าจอมหม่อมอยู่งาน | จัดเครื่องอานตามเสด็จในเจ็ดวัน |
ให้พร้อมพรั่งนางเหล่าพวกสาวใช้ | กำนัลในเร่งรัดไปจัดสรร |
ทุกตำแหน่งแต่งตบให้ครบครัน | พวกทรงธรรม์เข้าในที่ไสยา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | กับนุชนาฏร่วมจิตกนิษฐา |
เข้าปรางค์มาศราชวังอลังการ์ | ภิปรายปราศรัยนางพลางสุนทร |
เจ้าพุ่มพวงดวงจิตชีวิตพี่ | อันคราวนี้จะต้องไปไกลสมร |
เพราะอาจารย์ท่านจะพรากให้จากจร | ไปนครสิงหลพี่จนใจ |
ฝ่ายทรงฤทธิ์บิตุรงค์ก็ทรงเห็น | พี่แค้นเข็ญนึกน่าเลือดตาไหล |
ก็จำเป็นจำลาเจ้าคลาไคล | สักเมื่อไรจะได้กลับเห็นนับปี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ให้หวั่นหวาดวิญญาณ์มารศรี |
ทูลฉลองรองบาทาพระสามี | ว่าน้องนี้มิขออยู่จะสู้ตาม |
ถึงยากเย็นเป็นตายวายชีวาตม์ | ไม่ห่างบาททรงฤทธิ์ไม่คิดขาม |
ขอสนองรองบาทาพยายาม | ให้สมความจงรักที่ภักดี ฯ |
๏ พระปลอบพลางทางประโลมโฉมสมร | อย่าทุกข์ร้อนในอุรามารศรี |
จะพาไปในทะเลนะเทวี | ถ้าฉวยมีการศึกนึกรำคาญ |
จะลำบากยากเย็นด้วยเป็นหญิง | พี่เกรงกริ่งตรองไปหลายสถาน |
แม้นไปเที่ยวเล่นสนุกสุขสำราญ | ไม่ทัดทานห้ามปรามตามแต่ใจ |
นางทูลองค์พงศ์กษัตริย์แม้นขัดข้อง | อันตัวน้องนะพระองค์อย่าสงสัย |
จะผูกศอมรณาไม่อาลัย | นางร่ำไห้โศกาน้ำตานอง ฯ |
๏ ป่างพระมิ่งมังคลานราราช | พลางปลอบนาฏนุชนางอย่าหมางหมอง |
พระรับขวัญเยาวยอดกอดตระกอง | อย่าหม่นหมองไปเลยหนาจะพาจร |
ไม่กลัวยากกรากกรำเหมือนคำเจ้า | อย่าร้อนเร่าที่ในทรวงดวงสมร |
ไปทูลลาชนนีชุลีกร | จะได้จรไปกำปั่นเหมือนสัญญา |
พระจูงนางพลางเข้าปราสาทศรี | พระชนนีเห็นองค์โอรสา |
ทั้งเขยขวัญบุษบงองค์ธิดา | พากันมามีกังวลที่หนใด ฯ |
๏ ทั้งสององค์ทรงสดับนางรับสั่ง | ประณตนั่งทูลกิจจาอัชฌาสัย |
ขอทูลลาฝ่าพระบาทนิราศไป | ยังเวียงชัยสิงหลข้ามวนวัง |
แต่นงนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ขอลาบาทมาตุรงค์จำนงหวัง |
จะไปด้วยห้ามไว้ก็ไม่ฟัง | ให้ฉันบังคมลาฝ่าละออง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ชนนีนาฏ | จึ่งประภาษตอบคำนำสนอง |
สุดแท้แต่ดวงจิตจะคิดตรอง | ที่ตัวน้องมิใช่การของมารดร |
จะอยู่ไปตามใจของโอรส | แม่ยอมหมดผิดพลั้งจงสั่งสอน |
ไม่ธุระปะปังตรงบังอร | เขาจะจรแม่ไม่ห้ามตามแต่ใจ |
ถึงบิตุรงค์เธอก็คงจะไปด้วย | จะได้ช่วยดูแลคิดแก้ไข |
พระมารดาปรานีนางดีใจ | บังคงไหว้ทูลลาทั้งสามี |
พระมารดรอวยชัยให้เป็นสุข | อย่ามีทุกข์เคืองข้องทั้งสองศรี |
พวกศัตรูหมู่ใดเป็นไพรี | จะต่อตีขอให้ยับอัปรา |
พรของแม่จงสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | ให้พระชนม์ยาวยืนหมื่นพรรษา |
ทั้งบุษบงองค์พระมังคลา | เจริญราศีสวัสดิ์กำจัดภัย ฯ |
๏ สองกษัตริย์รับพระพรอ่อนศิโรตม์ | ด้วยปราโมทย์ยินดีจะมีไหน |
แล้วทูลลามายังปราสาทชัย | พออุทัยเกือบจะแจ้งแสงหิรัญ |
พระเอนองค์ลงบนอาสน์อนาถนึก | ยิ่งตรองตรึกคิดมิใคร่จะผายผัน |
แต่จนใจด้วยอาจารย์มานานครัน | จนถึงวันนัดไว้ไม่สบาย |
ครั้นรุ่งเช้าจะต้องไปให้ละห้อย | พระเศร้าสร้อยคิดไปแล้วใจหาย |
สกุณากาเรียกกันเพรียกพราย | พระทัยหายโหยหวนรัญจวนพลาง |
พระปลอบปลุกโฉมฉายสายสวาท | ภาณุมาศพวยพุ่งจะรุ่งสาง |
ลุกขึ้นเถิดโฉมยงอนงค์นาง | จวนสว่างอยู่แล้วมิ่งอย่านิ่งนอน ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ผวาหวาดวรกายสายสมร |
พลางนบนอบสามีชุลีกร | แล้วบังอรทูลกษัตริย์ภัสดา |
ให้สระสรงทรงเครื่องเรืองจำรัส | เนาวรัตน์พลอยพรายทั้งซ้ายขวา |
พระเหน็บกริชฤทธิรงค์ทรงมาลา | เสร็จออกมาจากปราสาทแล้วนาดกราย |
นางโฉมยงทรงเครื่องเรืองอร่าม | เสด็จตามจรจรัลรีบผันผาย |
มาพร้อมที่พระโรงคัลพรรณราย | มาคอยฝ่ายทรงฤทธิ์บิตุรงค์ ฯ |
๏ ป่างพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | เวลาได้ฤกษ์ดีเข้าที่สรง |
น้ำกุหลาบอาบอบตลบองค์ | แล้วสองทรงเครื่องครุฑยุทธนา |
คาดปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรรัตน์ | แจ่มจำรัสแพรวพราววาวเวหา |
ฉลององค์ตาดแดงแย่งนาคา | ทรงมาลาขนวิหคนกอินทรี |
ใส่เกราะนวมสวมกระสันกันอาวุธ | สังวาลบุษย์น้ำทองละอองศรี |
ธำมรงค์ลงยาราชาวดี | ฝังมณีนิลแนมแกมไพฑูรย์ |
เจียระบาดคาดองค์ทรงกระสัน | เหน็บกั้นหยั่นฝังมณีถือตรีศูล |
เสด็จออกพระโรงชัยอันไพบูลย์ | โหราทูลฤกษ์ดีให้คลี่คลาย |
จัตุรงค์โยธาเสนาพร้อม | ประนตน้อมเดินกระบวนถ้วนทั้งหลาย |
พระเสร็จทรงวอสุวรรณพรรณราย | ยกขยายเสด็จออกนอกทวาร |
พระมังคลาพานางสำอางโฉม | พวกประโคมดนตรีตีประสาน |
มาทรงรถพระที่นั่งอลังการ | พวกทหารโห่แห่แซ่สำเนียง |
สารถีตีม้าอาชาชาติ | เผ่นผงาดกำกงก็ส่งเสียง |
พวกที่เชิญเครื่องอานขนานเรียง | เป็นคู่เคียงเดินไปในหนทาง |
จนถึงที่เมืองด่านชานสมุทร | ก็ยั้งหยุดเสร็จพักตำหนักขวาง |
บาทหลวงแกยินดีจัดที่ทาง | รับขุนนางรับเสด็จเข้าเขตคัน |
ลงมาเชิญท้าวไทไปบนตึก | แกสมนึกปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
หัวร่อเร่อเอออึงพูดมึงมัน | ที่ดุดันหายหมดเหมือนมดแดง |
ถูกน้ำตาลหวานคอหัวร่อแหระ | สะกิดแกะพูดจาไม่กล้าแข็ง |
แล้วสั่งพวกเกณฑ์หัดให้จัดแจง | พอบ่ายแสงสุริยาจะคลาไคล |
แล้วว่ากับมังคลาสานุศิษย์ | เอาเมียติดไปหรือหวาพลางปราศรัย |
เป็นเสบียงเลี้ยงตัวไม่กลัวใคร | เป็นวิสัยสามัญตามสัญญา |
แล้วแกเชิญท้าวไทไปกำปั่น | ลำเดียวกันตื้นลึกได้ปรึกษา |
เหมือนชูช่วยปลูกฝังมังคลา | จะได้ผาสุกสบายเมื่อปลายมือ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ในพระทัยภูมินทร์สิ้นนับถือ |
แต่รักเขยจริงหนอต้องอออือ | เห็นฝีมือคนชั่วมันตัวโกง |
ธรรมดาพระฝรั่งมันช่างพูด | บิดตะกูดเหลือใจอ้ายตายโหง |
แต่จนใจสุดจะแก้ที่แผลโกง | ก็ต้องโคลงตามไปเหมือนไก่ชน ฯ |
๏ พอบ่ายแสงสุริยาเวลาฤกษ์ | เอิกเกริกนาวาโกลาหล |
พร้อมสะพรั่งนั่งไสวทั้งไพร่พล | ดูเกลื่อนกล่นในกำปั่นเป็นหลั่นเลา |
บาทหลวงเชิญภูวไนยไปกำปั่น | ให้ผายผันลงลำเรือสามเสา |
แกนำหน้าพาองค์นางนงเยาว์ | กับทั้งท้าวโกสัยลงไปเรือ |
พระมังคลาสานุศิษย์สนิทสนอง | ให้อยู่ห้องใหญ่ท้ายข้างฝ่ายเหนือ |
ท้าวโกสัยห้องขวางในกลางเรือ | ทหารเสือโห่เร้าจะเอาชัย |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องกลองสนั่น | ออกกำปั่นแล่นเรียงเคียงไสว |
พวกต้นหนชักสายระบายใบ | แล่นออกไปตามทันพ้นสันดอน |
บาทหลวงนั่งตั้งเข็มให้เต็มแล่น | ไปตามแผนที่ทางหว่างสิงขร |
พวกนารีชมปลาในสาคร | กับบังอรบุษบงอนงค์นาง |
พระมังคลาสามีชี้พระหัตถ์ | ให้ศรีสวัสดิ์ชมละเมาะมีเกาะขวาง |
เหมือนฉากชั้นกั้นช่องที่ห้องปรางค์ | ไม้ต่างต่างเขียวชอุ่มเป็นพุ่มพวง |
ปักษาจับจิกผลที่บนยอด | แล้วก็พลอดจับเจ่าบนเขาหลวง |
พระชี้ชวนกัลยาสุดาดวง | ให้พุ่มพวงชมปลาในวาริน |
ฝูงฉลามตามกันว่ายฟันคลื่น | ดูดาษดื่นล้วนฉลามตามกระสินธุ์ |
ฝูงพิมพาพาพวกเที่ยวหากิน | บ้างโดดดิ้นว่ายวงในคงคา |
ฝูงฉลามปากมันเป็นฟันเลื่อย | ดูยาวเฟื้อยฟาดฟันฝูงมัจฉา |
ตะเพียนทองท่องท้องชโลธา | ฝูงเหราราหูดูพิกล |
เหล่าโลมาปลาวาฬขนานคู่ | เป็นหมู่หมู่ว่ายสล้างมากลางหน |
ทั้งเงือกน้ำหางเหมือนปลาหน้าเหมือนคน | นิรมลทูลถามตามสงกา |
นี่เป็นสัตว์อย่างไรคล้ายมนุษย์ | ดูผ่องผุดรูปจริตผิดมัจฉา |
ไม่เคยเห็นเช่นนี้พระพื่ยา | พระโปรดปรานีเล่าให้เข้าใจ |
พงศ์กษัตริย์ตรัสชี้นี่แน่เจ้า | พี่จะเล่าให้น้องแจ้งแถลงไข |
เขาเรียกเงือกอยู่มหาชลาลัย | ท่านผู้ใหญ่เล่าเรื่องเบื้องโบราณ |
ว่ามนุษย์ไปสัมผัสกับมัจฉา | เกิดบุตรมามันจึงกลายหลายสถาน |
เหมือนพ่อบ้างแม่บ้างอย่างตำนาน | เรื่องนิทานที่ท่านกล่าวเล่าให้ฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | อภิวาททราบเรื่องที่เบื้องหลัง |
พระชี้แจงแถลงไขนางได้ฟัง | สมเหมือนดั่งเธอเล่าให้เข้าใจ ฯ |
๏ เรือก็แล่นเลยมาในสาคเรศ | จนสุริเยศลับเงาเขาไศล |
น้ำค้างพรมลมพาสุมาลัย | กลิ่นดอกไม้รินละเมาะตามเกาะเกียน |
จันทร์กระจ่างกลางฟ้าเวหาหน | พื้นอำพนนภางค์เหมือนอย่างเขียน |
ชมดาราในอากาศดาษเดียร | พิศเพี้ยนเพชรพลอยนับร้อยพัน |
โน่นแน่เจ้าดาวลูกไก่ผู้ใหญ่กล่าว | เรียกว่าดาวธงชัยในสวรรค์ |
โหราเรียกกฤติกาโดยสามัญ | แต่ดาวนั้นฤกษ์สามตามคัมภีร์ |
ถัดไปโน่นดาวม้าอาชาชาติ | เผ่นผงาดอยู่ในกลางหว่างราศี |
จมูกม้าโหราว่าโรหิณี | คือฤกษ์สี่กล่าวมาตำราครู |
ข้างหางม้าตำราเรียกดาวไถ | ถัดลงไปข้างขวาหนาแม่หนู |
จงจำไว้ในตำหรับฉบับครู | จะได้ดูเดินตรงไม่หลงทาง |
พระยกหัตถ์ตรัสชี้นี่แน่เจ้า | เขาเรียกดาวกุมภีล์ที่เม็ดหาง |
ผู้ใหญ่ว่ายอดเจดีย์มีอยู่กลาง | ที่ในหว่างดาวดึงส์กึ่งพระเมรุ |
โน่นดาวข่างหว่างดาวสำเภาใหญ่ | เขากล่าวไว้ว่าตำรามหาเถร |
ท่านทำนายทายทักประจักษ์เจน | จึงตั้งเกณฑ์ฤกษ์พาตำราดาว |
พวกพาณิชไปมาเที่ยวค้าขาย | ท่านทำนายของบนฟ้าเวหาหาว |
ด้วยรู้แจ้งแห่งเหตุสังเกตดาว | ไว้เรื่องราวตำราพยากรณ์ ฯ |
๏ จะพรรณนาเรื่องดาวก็ยาวยืด | ความก็จืดจางไปในอักษร |
นักขัตฤกษ์ยังไม่หมดในบทกลอน | จะชี้สอนให้รู้เป็นครูบา |
ก็มากมายดาราบนอากาศ | สายสวาทมิ่งมิตรกนิษฐา |
จะทรงไตรได้หรือถือตำรา | พี่พรรณนาแต่พอเจ้าได้เข้าใจ |
พระว่าพลางทางชวนอนงค์นาฏ | เข้าไสยาสน์แท่นทองอันผ่องใส |
สนิทสนอมกล่อมกลมภิรมย์ใน | กำปั่นใหญ่ท้ายบาหลีค่อยปรีดา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงอสุรีผีเสื้อน้ำ | อยู่ประจำแถวทางกลางมหา |
สมุทรไทไกลแคว้นแดนลังกา | อสุราเที่ยวท่องเที่ยวล่องลอย |
กินมัจฉาปลาใหญ่ในสมุทร | รูปเหมือนครุฑเบื้องหางเหมือนอย่างหอย |
ใครฆ่าฟันมันไม่ตายเที่ยวว่ายลอย | ผลุดเข้าหอยฝาปิดสนิทดี |
มันจะจมน้ำดำไปได้ยังค่ำ | อยู่ในถ้ำที่สำนักของยักษี |
ถือกระบองแกว่งกวัดในนที | เป็นอัคคีลุกไปในสายชล |
นามกรชื่อมหากาลวาต | ภูติปีศาจเกาะแก่งทุกแห่งหน |
กลัวอำนาจอาจหาญไม่ทานทน | ทุกตำบลขยาดฤทธิ์คิดระอา |
เมื่อแรกเริ่มเดิมทีมันอยู่เขา | ไปลักเอาก้อนนิลในหินผา |
ทราบถึงองค์ทรงฤทธิ์พระอิศรา | สาบลงมาอยู่ในวนชลธาร |
ให้มีหางอย่างหอยลอยกระสินธุ์ | กว่าจะสิ้นกัปกัลป์ในสัณฐาน |
จนเกิดไฟประลัยทั่วทั้งจักรวาล | จึงเผาผลาญให้สิ้นในดินดอน ฯ |
๏ จะกล่าวลำกำปั่นทั้งพันเศษ | เคยสังเกตแถวทางหว่างสิงขร |
ได้ลมเรื่อยเฉื่อยมาในสาคร | ตั้งแต่จรนับมาสิบห้าวัน |
ยังอีกครึ่งจะถึงลังกาทวีป | บาทหลวงรีบพลไกรให้ผายผัน |
สั่งล้าต้าต้นหนคนสำคัญ | นายกำปั่นบรรดามาในเรือ |
ให้ใส่เสาเพลาใบขึ้นให้พร้อม | อย่าแล่นอ้อมตัดไปทางข้างฝ่ายเหนือ |
เห็นลมจัดปัดไปข้างท้ายเรือ | ตีหางเสือแรงจัดพัทยา |
กำปั่นแล่นเร็วร่าดังม้าห้อ | ตามกันสอแคล่วคล่องว่องนักหนา |
สังฆราชอิ่มใจในอุรา | หมายลังกาสิงหลไม่พ้นกู |
จึงเชิญองค์อิศโรท้าวโกสัย | มานั่งใกล้พูดเพรื่อจนเบื่อหู |
อวดฉลาดร่ำไรเหมือนไก่อู | ยกคอชูหวังจะชนเพราะคนโกง |
พูดคนเดียวเคี้ยวฟันคันศีรษะ | เสียงเอะอะกูมึงอยู่ผึงโผง |
เรียกเอาเหล้ามารินกินอีกโพง | พูดตะโกรงชุลมุนออกวุ่นวาย |
ฟังไม่ทันชั้นเชิงแกมันคล่อง | ทั้งขึ้นล่องลิ้นลมคมใจหาย |
เหมือนเสือเฒ่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย | แกยักย้ายว่องไวไล่ไม่ทัน |
ท้าวโกสัยไม่ชำนาญในการพูด | บิดตะกูดตัดรอนข้างผ่อนผัน |
จะตอบต่อข้อไรก็ไม่ทัน | ในเชิงชั้นเกเรเพทุบาย |
เรือก็แล่นเร็วรัดไม่ขัดสน | มาถึงวนกุมภัณฑ์ตะวันสาย |
เป็นคลื่นคลั่งทั้งระลอกออกกระจาย | ลมพระพายก็ไม่พัดสงัดดี |
พวกล้าต้าต้นหนคนทั้งหลาย | ก็วุ่นวายตัวสั่นมิ่งขวัญหนี |
เรือกำปั่นหันหวนป่วนนที | เสียงอึงมี่เดินคล่ำทุกลำเรือ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงอสุรีผีเสื้อสมุทร | แกว่งอาวุธไล่ขยับจับหางเสือ |
ฉุดกระชากหมายจะคว่ำเอาลำเรือ | แล้วเงือดเงื้อกระบองใหญ่เป็นไฟโพลง |
แหงนชะแง้แลเห็นคนบนกำปั่น | พลางกัดฟันเต้นโลดกระโดดโหยง |
น้ำลายไหลไล่คว้านัยน์ตาโพลง | จับเรือโคลงกลอกหัวตัวเป็นเกลียว |
บาทหลวงวิ่งพัลวันหันเข้าห้อง | ดะโกนร้องเรียกพระยาจนตาเขียว |
สิ้นสติเต็มทีเช่นนี้เจียว | จะเลี่ยงเลี้ยวไปข้างไหนก็ไม่ทัน |
แกเรียกพระมังคลาสานุศิษย์ | เอาหนังปิดกูลงไว้เอาไม้ขัน |
กับถังน้ำดำมิดเร่งคิดกัน | ตัวแกสั่นรัวรัวเพราะกลัวตาย ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | กษัตริย์ชาติเชื้อตระกูลไม่สูญหาย |
คิดขึ้นได้ด้วยปัญญาปรีชาชาญ | ถึงจะตายชาติกษัตริย์ต้องกัดฟัน |
ผิดก็สู้ดูสักทีมีชนะ | ที่จะละให้อายยักษ์มักกะสัน |
มากินเล่นเป็นอาหารสำราญครัน | ต้องผ่อนผันรบสู้ดูสักที |
จึงว่ากับบังอรสมรมิตร | พี่จะคิดต่อสู้ดูยักษี |
พลางแต่งองค์ทรงกริชอันฤทธี | อัญชลีกราบกรานคุณมารดร |
แล้วทรงตราราหูคู่กษัตริย์ | จูงพระหัตถ์บุษบงองค์สมร |
มาประณตบทบงสุ์องค์บิดร | ฝากบังอรไว้กับท้าวเจ้าพ่อตา ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นมังคลาพาสมร | เอ็งจะจรหนีไปข้างไหนหวา |
เอาตัวรอดคนเดียวเปลี่ยววิญญาณ์ | ทิ้งพ่อตาอาจารย์สถานใด |
พระมังคลาว่าเจ้าคุณอย่าวุ่นนัก | จะดูยักษ์มันจะมาข้างท่าไหน |
แกจึ่งว่าเร่งมาให้เร็วไว | จึ่งจะได้ลงถังระวังตัว ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | ก็ยุรยาตรเยื้องย่างไปข้างหัว |
ขึ้นยืนให้ยักษ์เขม้นพอเห็นตัว | แลไปทั่วขอบฟ้าในสาคร |
เห็นยักษ์ร้ายจับท้ายกำปั่นไว้ | แล้วแกว่งไฟโตยิ่งกว่าสิงขร |
พระโยนตราราหูคู่นคร | ฤทธิรอนลุกแดงดังแสงไฟ |
ประกายพุ่งรุ่งโรจน์ดูโชติช่วง | เป็นรุ้งร่วงในมหาชลาไหล |
อสุรินทร์นึกแหนงให้แคลงใจ | จึ่งแลไปเห็นคนอยู่บนเรือ |
ทะลึ่งโลดโดดโผนจะโจนจับ | ร้องสำทับปีบเปรี้ยงเป็นเสียงเสือ |
แล้ววางท้ายว่ายมาข้างหน้าเรือ | แล้วผีเสื้อปีนจะฉวยด้วยกำลัง |
พระฟาดด้วยดวงตราพระราหู | เป็นไฟวูไหม้ชิดติดผิวหนัง |
แล้วก็ให้แรงน้อยถอยกำลัง | จึงหยุดยั้งอ่านเวทวิเศษมนต์ |
รูปที่กลายหายร้อนแต่อ่อนเปลี้ย | จะไกล่เกลี้ยไต่ถามตามนุสนธิ์ |
จึงว่าเหวยอ้ายมนุษย์ปุถุชน | เองอยู่หนแห่งไรจงให้การ |
เอาพวกพ้องเรือแพมาแออัด | กูแค้นขัดเคืองใจหลายสถาน |
ไม่รู้หรือถิ่นกูอยู่มานาน | เปรียบเหมือนศาลเทวาจะมาไป |
ไม่บอกกล่าวให้รู้มาดูหมิ่น | จะเคี้ยวกินให้เป็นผงอย่าสงสัย |
แล้วถาโถมโจมลากกระชากใบ | หวังจะให้เรือจมล่มลงพลัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลาปรีชาฉลาด | เอาตราฟาดถูกอ้ายยักษ์มักกะสัน |
ถลาล้มจมสมุทรผลุดขึ้นพลัน | ด้วยกุมภัณฑ์โลดโผนโจนทะยาน |
กำลังเจ็บกริ้วกราดตวาดร้อง | สำเนียงก้องโกญจนาทด้วยอาจหาญ |
ไม่เกรงกูผู้เป็นเจ้าชโลธาร | มาข้ามด่านแล้วข่มเหงไม่เกรงใจ |
มนุษย์น้อยเหมือนกับหอยอยู่ริมหาด | จะจับฟาดหักขาไม่ปราศรัย |
หมดทั้งลำกำปั่นจะบรรลัย | อยู่ที่ในสาชลไม่พ้นมือ ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ตรัสประภาษแก่กุมภัณฑ์กระนั้นหรือ |
มิใช่เรายำเยงเกรงฝีมือ | ท่านอย่าถืออวดอิทธิฤทธิ์ไกร |
ว่าเป็นยักษ์ศักดาอานุภาพ | จะมาปราบปรามกันไม่หวั่นไหว |
กินแต่ปลาในมหาสมุทรไท | ที่จะได้กินมนุษย์อย่าพูดจา |
ถึงเราเด็กเหล็กเพชรไม่เข็ดขาม | ทำสงครามดูสักพักกับยักษา |
แม้นเราตายกุมภัณฑ์อันศักดา | จึ่งค่อยมากินคนที่บนเรือ |
แม้นยังอยู่ก็จะสู้จนสิ้นฤทธิ์ | อย่าควรคิดดูเบาเราก็เสือ |
ใช่จะเกรงกลัวกันใช่ว่านเครือ | ฤทธิ์ผีเสื้อเห็นจะกล้าข้างหาปู ฯ |
๏ อสุรินทร์ยินคำซ้ำพิโรธ | ทะลึ่งโลดฟังเยาะไม่เพราะหู |
กระโดดขึ้นเรือที่นั่งฝรั่งกรู | เอาขวานหมูฟันยักษ์จนหักพัง |
อสุรากล้าแข็งแต่แรงน้อย | กำลังถอยไม่เหมือนจิตที่คิดหวัง |
แกว่งกระบองย่องถอยคอยระวัง | ฝ่ายพระมังคลาราชฟาดด้วยตรา |
ถูกที่อกยักษ์ตกลงในน้ำ | พระตีซ้ำแทบชีวังจะสังขาร์ |
ยักษ์เจ็บปวดยวดยิ่งทิ้งกายา | อสุราจมไปในนที ฯ |
๏ เข้าแฝงกายกลายเป็นหอยแล้วลอยล่อง | ไปตามท้องสมุทรไทในวิถี |
ที่คลื่นคลั่งวังวนชลธี | ก็กลับดีหายไปในทะเล |
ที่กำปั่นหันหกก็เหือดหาย | พวกนายท้ายชักกำปั่นให้หันเห |
พอลมดีแล่นไปในทะเล | เสียงฮาเฮโห่ร้องก้องสำเนียง ฯ |
๏ จะกล่าวถึงบาทหลวงนั่งง่วงหงับ | ตัวสั่นหรับเต็มทีไม่มีเสียง |
ลงครางออดทอดใจใหญ่มุดใต้เตียง | ฟังสำเนียงผู้คนบนเภตรา |
ว่ายักษีผีเสื้อสู้ไม่ได้ | มันหนีไปสูญตัวกลัวนักหนา |
เพราะพระหน่อวรนาถฟาดด้วยตรา | อสุราหนีไปตายหรือเป็น |
บาทหลวงฟังยังไม่ชัดถนัดหู | แกแอบดูตามช่องพอมองเห็น |
พระมังคลามาข้างท้ายพอบ่ายเย็น | แกแลเห็นคลานออกมานอกพลัน |
เรียกกษัตริย์อิศโรท้าวโกสัย | มานั่งใกล้ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ทั้งมังคลาสานุศิษย์มาคิดกัน | ด้วยเป็นวันชนะชัยปราบไพรี |
ท้าวโกสัยสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์ | โองการตรัสอิ่มเอมเกษมศรี |
พลางเชยชมบุญญาบารมี | มิเสียทีอาจองทรงกำลัง |
ควรจะเป็นจักรพรรดิกษัตริย์ชาติ | ทั้งเปรื่องปราดสมในฤทัยหวัง |
หาไม่จะพากันตายวายชีวัง | ด้วยกำลังขุนยักษ์อันศักดา ฯ |
๏ บาทหลวงนึกเคืองคมเขาชมเชย | ภิปรายเปรยสรรเสริญเกินนักหนา |
ทั้งลิ้นลมสอพลอเจ้าพ่อตา | อ้ายมังคลาเห็นจะฮึกไม่นึกเกรง |
ซึ่งตัวกูผู้เป็นสังฆราช | เพราะขี้ขลาดมันจะรุมกันคุมเหง |
จำจะพูดยักย้ายให้หลายเพลง | เอาให้เกรงกูจงได้ในสำนวน |
แล้วเสแสร้งแกล้งว่าประจามิตร | ถึงจะคิดทำร้ายต้องไต่สวน |
ข้าเป่าปัดอยู่ในใจหลายกระบวน | คิดใคร่ครวญที่ในการจะราญรอน |
จึงเข้าอยู่ในห้องช่วยป้องปัด | เสกกำจัดผีเสื้อเหมือนเงื้อศร |
สวดให้พระวิญญาณช่วยราญรอน | มิใช่นอนกลัวยักษ์อย่าพักแคลง ฯ |
๏ ท้าวโกสัยเห็นจริงทุกสิ่งสิ้น | สมถวิลตรองตรึกไม่นึกแหนง |
ฟังลิ้นลมสมแกกล่าวเล่าแสดง | ทั้งชี้แจงก็เห็นจริงทุกสิ่งไป |
อันเรื่องราวแกมันดีข้างฝีปาก | ทั้งพูดมากฟังหลงไม่สงสัย |
เรือก็แล่นลมจัดถนัดใบ | ตามกันไปในระลอกกระฉอกชล ฯ |
๏ พอสุริยงลงลับพยับฟ้า | ดวงดาราแจ่มกระจ่างกลางเวหน |
ต่างก็หากินอยู่ทุกผู้คน | กษัตริย์สนทนาเสร็จเสด็จมา |
เข้าห้องหับที่ประทับเคยสถิต | สำราญจิตสรวลสันต์ค่อยหรรษา |
ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลา | เข้าไสยาห้องท้ายสบายบาน |
ถนอมมิ่งนิรมลขึ้นบนแท่น | เรือก็แล่นมาในทางหว่างอิสาน |
พระเผยแกลแลชมโพยมมาน | ค่อยสำราญรื่นเริงบันเทิงใจ |
จันทร์กระจ่างแจ่มฟ้าเวหาห้อง | จับผิวพักตร์นุชน้องดูผ่องใส |
พระจุมพิตชิดชื่นระรื่นใน | พลางเคล้นไคล้เคล้าพุ่มปทุมทอง |
ค่อยถนอมกล่อมเกลาเสาวรส | บุปผาสดมิได้มีราคีหมอง |
เรณูนวลหวนตลบอบละออง | พลางตระกองกอดขวัญให้บรรทม |
สนิทแนบแอบนางสำอางพักตร์ | ภิรมย์รักเยาวมิตรสนิทสนม |
สุมาลัยได้น้ำค้างลงพร่างพรม | ทั้งต้องลมกลิ่นกล้าผกากาญจน์ |
พิรุณโรยโปรยปรายเป็นสายสาด | สุนีฟาดเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงประหาร |
พยุพยับอับพื้นโพยมมาน | ชลธารเป็นระลอกกระฉอกชล |
ฝูงมัจฉาปลาใหญ่ในสมุทร | บ้างดำผุดกลอกกลับอยู่สับสน |
เหล่าละเมาะเกาะเกียนก็เวียนวน | ทุกตำบลกึกก้องท้องสินธู |
เมขลาล่อแก้วแววสว่าง | อสูรขว้างขวานลั่นสนั่นหู |
ทุกเถื่อนถ้ำต่ำไต้เป็นไฟฟู | มังกรชูแก้วสว่างกลางโพยม ฯ |
๏ สองภิรมย์สมสนิทพิศวาส | ไม่เคลื่อนคลาดจากนางสำอางโฉม |
จนดาวเดือนเลื่อนลับพยับโพยม | พระแสนโสมนัสชื่นทุกคืนวัน ฯ |