- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
๏ ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีสุวรรณ | อยู่พร้อมกันที่ลำกำปั่นใหญ่ |
ฟังสำเนียงเสียงปี่พระอภัย | ก็จำได้ด้วยเคยฟังแต่หลังมา |
ทั้งถ้อยคำร่ำเรียกสำเหนียกแน่ | เห็นเที่ยงแท้ภูวไนยให้ไปหา |
สินสมุทรสุดคิดถึงบิดา | จึงทูลว่าปี่นี้ไม่มีใคร |
คือทรงฤทธิ์บิตุรงค์ของลูกรัก | เห็นแน่นักพระองค์อย่าสงสัย |
ข้าจะขอทูลลาอาสาไป | แล้วจะได้รับมาเภตราเรา ฯ |
๏ สองกษัตริย์ตรัสว่าอย่าว้าวุ่น | เขามีคุณพระบิดามากับเขา |
ควรจะไปไต่ถามตามสำเนา | จะด้นเดาดื้อไปนั้นไม่ดี |
พวกฝรั่งลังกาจะว่าได้ | ต้องขัดข้องหมองใจไม่พอที่ |
ฉวยขุกเข็ญเป็นศึกจะเสียที | ด้วยพระพี่มิได้รู้อยู่ด้วยมัน |
อาจะไปให้พบภูวเรศ | ถ้าแจ้งเหตุทุกข์ร้อนจะผ่อนผัน |
พ่ออย่าไปใจเด็กยังดุดัน | อยู่กับน้องป้องกันพระชนนี |
สินสมุทรห้ามว่าอย่าเสด็จ | เหมือนขามเข็ดของ้อไม่พอที่ |
หลานจะไปไต่ถามแต่โดยดี | ถ้าย้ำยีจึงจักสู้ดูฝีมือ |
พระไปเรือเมื่อไรจะไปถึง | จะเหมือนหนึ่งฉันลงน้ำดำไปหรือ |
แม้นพบปะพระบิดาจะหารือ | ไม่ดึงดื้อดอกพระองค์อย่าสงกา |
แล้วจัดแจงแต่งเครื่องสำหรับยุทธ์ | เหน็บอาวุธคู่กายทั้งซ้ายขวา |
กระโดดโผนโจนลงในคงคา | แผลงศักดาดำดึ่งตะบึงไป ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์อรุณรัศมี | คิดว่าพี่ตกน้ำร่ำร้องไห้ |
พระเจ้าป้ามาช่วยด้วยไวไว | พระพี่ไม่ผุดรอดจะวอดวาย |
ทั้งสององค์ทรงพระสรวลทั้งโศกเศร้า | นางเคียงเข้าเล้าโลมนางโฉมฉาย |
พระพี่ดำน้ำไปดอกไม่ตาย | อย่าวุ่นวายเลยมานั่งคอยฟังความ |
ศรีสุวรรณนั้นไม่ไว้ใจฝรั่ง | จึงตรัสสั่งนายทหารชาญสนาม |
เร่งเตรียมเรือเพื่อสำหรับรับสงคราม | ไว้สักสามสิบลำประจำการ |
ออกแล่นลอยคอยดูอยู่ห่างห่าง | ถ้าขัดขวางก็จะได้แก้ไขหลาน |
อังกุหร่าบังคมค่อยก้มคลาน | มาเตรียมการพร้อมพรั่งระวังภัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบดินทร์สินสมุทร | ดำมาผุดกลางมหาชลาไหล |
แลเห็นลำกำปั่นเป็นหลั่นไป | ไม่มีใครดูแลแต่สักคน |
แต่เสียงปี่ที่เป่ายังไม่หยุด | สินสมุทรเพ่งพิศคิดฉงน |
ค่อยแฝงกายว่ายมาในสาชล | ปีนขึ้นบนกำปั่นไม่ครั่นคร้าม |
เห็นพวกพลกรนหลับระดับดาด | ดูเกลื่อนกลาดกลางเรืออยู่เหลือหลาม |
ที่ตื่นอยู่รู้จักล้วนจีนจาม | จึงโดดข้ามคนเหล่านั้นมาทันที |
เห็นบิตุรงค์ทรงนั่งบัลลังก์อาสน์ | เข้ากอดบาทบงกชบทศรี |
ไม่ทันถามความโศกแสนทวี | ทรงโศกีกลิ้งเกลือกลงเสือกกาย ฯ |
๏ จอมกษัตริย์ทัศนาเห็นลูกแก้ว | เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ให้ใจหาย |
พระชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย | ประคองกายกอดแอบไว้แนบองค์ |
สงสารบุตรสุดจะขืนสะอื้นอั้น | ยังมิทันไต่ถามตามประสงค์ |
สุดกำลังจะประทังดำรงองค์ | กันแสงทรงโศกซบสลบไป ฯ |
๏ แขกฝรั่งทั้งนั้นก็ขวัญหาย | เห็นเจ้านายนิ่งแน่เข้าแก้ไข |
ไม่ฟื้นองค์สงสารแสนอาลัย | ต่างร้องไห้วุ่นวายฟายน้ำตา ฯ |
๏ อุศเรนรู้สึกนึกอนาถ | เห็นประหลาดลูกเล็กเด็กนักหนา |
จึงถามพวกพระอภัยว่าใครมา | เขาทูลว่าพระโอรสยศไกร |
จึงเรียกไพร่ในเรือให้รู้สึก | อึกทึกในกำปั่นอยู่หวั่นไหว |
ช่วยนวดฟั้นคั้นองค์พระอภัย | ก็กลับได้สติฟื้นเหมือนตื่นนอน |
ลืมพระเนตรเห็นบุตรกับอุศเรน | หัศเกนพวกฝรั่งนั่งสลอน |
สินสมุทรอภิวาทบาทบิดร | สะอื้นอ้อนทูลถามตามสงกา |
เมื่อพลัดพรากยากเย็นเป็นไฉน | ลูกมิได้รู้ความเที่ยวตามหา |
ไฉนองค์ทรงฤทธิ์พระบิดา | จึงได้มาเรือฝรั่งเป็นอย่างไร ฯ |
๏ พระฟังคำน้ำพระเนตรลงพรากพราก | จะออกปากปิ้มว่าเลือดตาไหล |
จึงเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป | จนถึงได้โดยสารมาพานพบ |
อันพ่อนี้วิตกอกจะแยก | ด้วยเรือแตกตายเป็นไม่เห็นศพ |
แล้วตรัสถามลูกยาด้วยปรารภ | นี่พ่อพบผู้ใดจึงได้มา ฯ |
๏ สินสมุทรได้ฟังรับสั่งถาม | จึงตอบตามคำแขกแปลกภาษา |
เมื่อเรือแตกแหลกไปในคงคา | ลมก็กล้ากลางคืนเพราะคลื่นตี |
แม่ผีเสื้อเหลือใจไล่สกัด | ลูกจึงพลัดไปกับเหล่านางสาวศรี |
ได้พบแต่แม่สุวรรณมาลี | ก็แบกหนีไปในน้ำแต่ลำพัง |
ถึงเจ็ดวันบรรลุถึงเกาะใหญ่ | เข้าอาศัยแต่พอชื่นได้คืนหลัง |
พอพบพวกโจรเรือหลงเชื่อฟัง | จะเข้าฝั่งชลธารโดยสารมัน |
มันคิดคดลดเลี้ยวเกี้ยวพระแม่ | ลูกจึงแก้แค้นฆ่าให้อาสัญ |
ที่เหลือตายนายไพร่พร้อมใจกัน | ยกกำปั่นใหญ่ให้ได้ไคลคลา |
เที่ยวไต่ถามตามองค์พระทรงเดช | ทุกประเทศทางทะเลเที่ยวเร่หา |
จนไปถึงรมจักรนัครา | พบพระอาถามทักรู้จักกัน |
จึงเกณฑ์คนพลรบสมทบทัพ | เดี๋ยวนี้อามากับกระหม่อมฉัน |
พอเสียงปี่ที่เป่าเป็นสำคัญ | ก็หมายมั่นว่าพระองค์ไม่สงกา |
ลูกรำลึกตรึกถึงพระผ่านเกล้า | จึงดื้อเดาโดดน้ำดำมาหา |
เชิญเสด็จภูวไนยไปเภตรา | พระเจ้าอาก็ละห้อยคอยพระองค์ ฯ |
๏ พระรู้ว่าอนุชามาด้วยบุตร | ยิ่งแสนสุดชื่นชมสมประสงค์ |
จึงตรัสบอกอุศเรนเจนณรงค์ | นี่แหละองค์สินสมุทรบุตรข้าน้อย |
เมื่อเรือแตกแบกนางมากลางน้ำ | จึงได้กำปั่นใหญ่ไว้ใช้สอย |
กับเรือน้องของข้ามาห้าร้อย | เที่ยวแล่นลอยล่องหาในสาคร |
เดชะบุญคุณพระมาปะพบ | ไม่ต้องรบชิงช่วงดวงสมร |
คงได้คู่สู่สมสยมพร | อย่าทุกข์ร้อนเลยพระองค์จงสำราญ |
เชิญไปลำกำปั่นของลูกรัก | ให้พบพักตร์วรนุชสุดสงสาร |
ประภาษพลางทางสุนทรสอนกุมาร | ให้กราบกรานอุศเรนเจนณรงค์ ฯ |
๏ ฝ่ายลูกท้าวเจ้าลังกาหน้าเป็นเหม | แสนเกษมสมจิตคิดประสงค์ |
เรียกกุมารหลานเลี้ยงมาเคียงองค์ | พ่อแสนทรงฤทธิ์เลิศประเสริฐชาย |
ช่วยชีวิตขนิษฐาของอาไว้ | ให้คืนได้ดวงสวาทเหมือนมาดหมาย |
ไม่ลืมคุณหลานขวัญจนวันตาย | พลางแนบกายกอดจูบลูบกุมาร |
เอาเครื่องทรงสำอางอย่างกษัตริย์ | เพชรรัตน์รจนามุกดาหาร |
ทั้งเพชรนิลจินดามาประทาน | พระกุมารเมินหน้าแล้วว่าพลัน |
อย่าว่าแต่แก้วแหวนแสนสมบัติ | ถึงจะจัดเอาอะไรมาให้ฉัน |
ไม่มุ่งมาดปรารถนาสารพัน | ข้ารักแต่แม่สุวรรณมาลี ฯ |
๏ พระอภัยสุริย์วงศ์ทรงพระสรวล | แกล้งเสชวนอุศเรนอันเรืองศรี |
อย่าตอบถ้อยถือความเลยตามที | เชิญภูมีมาไปหาสุดาดวง ฯ |
๏ อุศเรนฟังว่าค่อยผาสุก | เหมือนทิ้งทุกข์สักเท่าภูเขาหลวง |
สั่งล้าต้าต้นหนคนทั้งปวง | ตามกระทรวงซ้ายขวาสิบห้าลำ |
ทั้งลำทรงธงทองเป็นสองแถว | เลิศแล้วลายหลังคาเลขาขำ |
หัศเกนเจนปืนยืนประจำ | เข้าเคียงลำกำปั่นใหญ่ดังใจจง |
อุศเรนรื่นเริงบันเทิงจิต | เข้าสถิตเตียงทองที่ห้องสรง |
ไขสุหร่ายปรายละอองมาต้ององค์ | แล้วสอดทรงสนับเพลาเนาวรัตน์ |
ฉลององค์ทรงสวมกรวมสลับ | ดุมประดับแต่ล้วนเพชรเจ็ดกะรัต |
ปั้นเหน่งเนื่องเฟื่องกระหนกกระหนาบรัด | แล้วทรงทัดพระมหามาลาระบาย |
แซมดอกไม้ไหวสว่างหางการเวก | เป็นอย่างเอกอวดผู้หญิงหยิ่งใจหาย |
ธำมรงค์ทรงหัตถ์จำรัสพราย | พระกรซ้ายเกี้ยวผ้าเช็ดหน้ากรอง |
สอดเสน่าเหน็บตรีกระบี่ถือ | สนับมือสอดใส่ไว้ทั้งสอง |
ส่านจุหรี่สีกุหร่าคั่นหน้าทอง | สอดฉลองพระบาทเพชรเสด็จมา |
ทหารปืนถือปืนยืนสองข้าง | ตามเยี่ยงอย่างยศศักดิ์คอยรักษา |
แล้วเชิญพระอภัยให้ไคลคลา | มาเภตราลำใหญ่ดังใจปอง ฯ |
๏ ศรีสุวรรณนั้นมารับคำนับพี่ | แต่สุวรรณมาลีหนีเข้าห้อง |
พระอภัยพี่ยาน้ำตานอง | ขึ้นแท่นทองที่นั่งทั้งอุศเรน |
เหล่าโยธีศรีสุวรรณกับสินสมุทร | ถืออาวุธพร้อมพรั่งทั้งดั้งเขน |
พลฝรั่งลังกาพวกหัศเกน | ล้วนจัดเจนประจุปืนยืนระวัง ฯ |
๏ ศรีสุวรรณอัญชลีพระพี่เจ้า | กำสรดเศร้าโศกคิดถึงความหลัง |
จะกลั้นกลืนขืนใจก็ไม่ฟัง | พระชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย |
พลางประณตบทเรศพระเชษฐา | น้องนึกว่าสิ้นบุญจะสูญหาย |
เที่ยวติดตามถามข่าวก็เปล่าดาย | หากหลานชายชี้แจงจึงแจ้งใจ |
แล้วทูลถึงสามพราหมณ์ตามมาด้วย | เป็นเพื่อนม้วยมรณาจะหาไหน |
พลางตรัสเรียกลูกน้อยกลอยฤทัย | ไปกราบไหว้ให้ชิดพระบิตุลา ฯ |
๏ สงสารองค์พระอภัยวิไลโฉม | ลูบประโลมหลานน้อยละห้อยหา |
อุ้มขึ้นวางกลางตักพิศพักตรา | พระชลนานองเนตรสังเวชใจ |
จะเล่าความตามยากเมื่อจากน้อง | ก็ขัดข้องเขาจะแจ้งแถลงไข |
จึงว่าพี่นี้ก็แสนสลดใจ | หมายว่าไม่พบญาติแล้วชาตินี้ |
หากกุศลหนหลังเราทั้งสอง | ได้พบน้องนัดดามารศรี |
ยังทุกข์หนึ่งถึงชนกชนนี | จะร้ายดีมิได้รู้ถึงหูเลย |
พระร่ำพลางต่างองค์ทรงกันแสง | โอ้เสียแรงเกิดมานิจจาเอ๋ย |
ไม่เคยยากกรากกรำต้องจำเคย | เมื่อไรเลยจะพร้อมวงศ์พงศ์ประยูร |
พระพี่น้องสององค์สะอื้นไห้ | ด้วยอาลัยไกลญาติเพียงขาดสูญ |
ทั้งลูกน้อยนัดดาก็อาดูร | ต่างเพิ่มพูนโศกเศร้าไม่เบาบาง ฯ |
๏ อุศเรนร่ำปลอบให้ชอบจิต | เห็นวายคิดขุ่นข้องที่หมองหมาง |
จึงปราศรัยไต่ถามเนื้อความพลาง | เดี๋ยวนี้นางนุชน้องอยู่ห้องใด |
พระโปรดด้วยช่วยบอกโฉมเฉลา | ให้นงเยาว์รู้แจ้งแถลงไข |
ว่าพระชนนีนาถจะขาดใจ | กันแสงไห้โหยหาไม่ราวัน |
จึงใช้ข้าพยายามตามแสวง | พระก็แจ้งความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ช่วยเล้าโลมโฉมสุดาวิลาวัณย์ | อย่าให้ขวัญเนตรหมางระคางใจ ฯ |
๏ สินสมุทรสุดเคืองชำเลืองค้อน | แกล้งตัดรอนขวางความตามวิสัย |
รำคาญหูจู้จี้นี่กระไร | เขาร้องไห้ไม่ทันหายวายน้ำตา |
ขืนจะเฝ้าเร้ารบพบผู้หญิง | ขันจริงจริงใจฝรั่งชังหนักหนา |
มิใช่การภารธุระพระบิดา | แม่ของข้าข้าไม่ให้ใครไปเลย ฯ |
๏ พระอภัยได้ฟังสินสมุทร | จึงว่าสุดเสนหาบิดาเอ๋ย |
อย่าว้าวุ่นหุนหันเช่นนั้นเลย | เหมือนทรามเชยช่วยธุระพระบิดา |
อันองค์อุศเรนนี้อารีนัก | เธอผูกรักซื่อตรงเหมือนวงศา |
พ่อโดยสารท่านก็รับลงเรือมา | จึงเห็นหน้าลูกน้อยกลอยฤทัย |
ช่วยบอกความตามแต่แม่ของเจ้า | น้ำใจเขาจะคิดเห็นเป็นไฉน |
เธอเป็นคู่สู่ขออรไท | มิใช่ใครนอกนั้นจะกั้นกาง ฯ |
๏ สินสมุทรสุดแค้นให้แน่นจิต | ทั้งสุดคิดสารพัดจะขัดขวาง |
ลงจากแท่นแค้นใจร้องไห้พลาง | มาหานางนั่งสะอื้นกลืนน้ำตา ฯ |
๏ นางสวมสอดกอดองค์โอรสไว้ | แล้วถามไต่ลูกน้อยละห้อยหา |
เมื่อตะกี้ที่เขาตามบิดามา | เขาพูดจาว่ากระไรไปหรือยัง ฯ |
๏ สินสมุทรพูดจาประสาซื่อ | นั่นแลคือตัวความมาตามหลัง |
พระรักเขาชาวลังกาหรือว่าชัง | อย่าปิดบังบอกความลูกตามจริง |
เดี๋ยวนี้เล่าเขาจะรับไปอภิเษก | เป็นองค์เอกอิศราพระยาหญิง |
เห็นรูปร่างข้างเขาก็เพราพริ้ง | จะต้องทิ้งลูกเสียแท้แล้วแม่คุณ ฯ |
๏ นางแกล้งว่าน่าเบื่อเหลือแล้วเจ้า | อะไรเฝ้าโกรธเกรี้ยวทำเฉียวฉุน |
ถึงสู่ขอก็มิใช่ได้เคยคุ้น | จะมาวุ่นว่าขานรำคาญใจ |
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าจะให้แม่ไปหรือ | กลัวฝีมือเขากระมังนั่งร้องไห้ |
พระบิดาว่าขานประการใด | อย่าร่ำไรเลยช่วยแปลให้แม่ฟัง ฯ |
๏ กุมารว่าพระแม่ไม่เห็นจิต | ปัจจามิตรมากน้อยไม่ถอยหลัง |
แต่แค้นจิตพระบิดานี้น่าชัง | รักฝรั่งนี่กระไรจะให้คืน |
ให้ลูกยามาถามความพระแม่ | ว่าตามแต่ประดิพัทธไม่ขัดขืน |
พระมารดาอย่าฟังจงยั่งยืน | ว่าไม่คืนไปลังกาจะว่าไร |
ถึงฝรั่งคั่งแค้นแม้นจะรบ | ไม่หลีกหลบเลยพระองค์อย่างสงสัย |
จะสังหารผลาญชีวันให้บรรลัย | ว่าแต่ใจของพระแม่จะแชเชือน ฯ |
๏ นางฟังความยามวิโยคยิ่งโศกซ้ำ | ให้แค้นคำพระอภัยใครจะเหมือน |
เสียแรงหวังตั้งจิตไม่บิดเบือน | มาแชเชือนเสียไม่รับให้อับอาย |
แต่แรกเล่าเขาว่าผัวเป็นชั่วช้า | จะเอาหน้าไว้ที่ไหนน่าใจหาย |
มิขออยู่สู้สิ้นชีวาวาย | พลางฟูมฟายชลนาแล้วพาที |
กรรมของแม่แน่แล้วลูกแก้วเอ๋ย | ไม่ควรเลยสารพัดจะบัดสี |
เขาเลื่องลืออื้ออึงถึงเพียงนี้ | ตายเสียดีกว่าอยู่รับอัประมาน |
ช่างกระไรใจคอพระพ่อเจ้า | พูดกับเราไว้แต่ก่อนล้วนอ่อนหวาน |
เป็นน่าแค้นแสนเสียดายสายสังวาล | จะให้ทานเสียก็ดีไม่มีภัย |
แล้วนางถอดธำมรงค์ของทรงยศ | ให้โอรสร่ำว่าน้ำตาไหล |
แหวนนี้เจ้าเอามาแต่ผู้ใด | เอาไว้ให้ท่านเถิดพ่อจะขอลา |
อัปยศอดสูอยู่ไม่รอด | จะม้วยมอดเสียมิให้ใครเห็นหน้า |
แล้วชักกริชคิดจะตายวายชีวา | พระลูกยาแย่งยุดนางฉุดชิง ฯ |
๏ กุมาราว่าดูเอาเจ้าแม่เอ๋ย | กระไรเลยใจจิตผิดผู้หญิง |
ฉวยกระชากจากนางแล้วขว้างทิ้ง | แค้นจริงจริงใจคอใช่พอดี |
พระบิดาให้ถามดูตามซื่อ | ควรแล้วหรือแม่จะตายให้อายผี |
ถึงมาดแม้นแค้นบิดาไม่ปรานี | ลูกยังมีแม่ก็ไม่อาลัยเลย ฯ |
๏ นางกอดบุตรสุดขืนสะอื้นไห้ | เหลืออาลัยแล้วพ่อคุณของแม่เอ๋ย |
เหมือนหญิงร้ายชายชังไม่หวังเชย | จะแหงนเงยดูมนุษย์ก็สุดอาย |
ถึงม้วยแล้วแก้วตาอย่าปรารภ | จะขอพบสุดสวาทเหมือนมาดหมาย |
ขอให้พ่อก่อเกิดกับร่างกาย | ได้กินสายกษิรามารดาเดียว |
เจ้ารักแม่แม่ก็รู้อยู่ว่ารัก | มิใช่จักลืมคุณทำฉุนเฉียว |
แต่เหลืออายหลายสิ่งจริงจริงเจียว | เป็นหญิงเดียวชายสองต้องหมองมัว |
เมื่อแรกเราเล่าบอกเขาออกอื้อ | อ้างเอาชื่อพระบิดาว่าเป็นผัว |
ครั้นคู่เก่าเขามารับก็กลับกลัว | แกล้งออกตัวให้มาถามว่าตามใจ |
จึงเจ็บจิตคิดแค้นแม้นจะอยู่ | ก็อดสูเสียสัตย์ต้องตัดษัย |
กันแสงพลางทางสะอื้นขืนอาลัย | พระชลนัยน์ไหลซาบอาบพักตรา ฯ |
๏ สินสมุทรสุดแสนสงสารแม่ | อุตส่าห์แก้แทนบิดรชะอ้อนว่า |
ที่จริงจิตบิตุเรศของลูกยา | ไม่รู้ว่าเราจะอ้างเอาอย่างนั้น |
จึงให้ถามตามซื่ออย่างถือโทษ | ถึงจะโกรธก็แต่ว่าอุตส่าห์กลั้น |
เขาไปแล้วลูกจะว่าสารพัน | แม่เชื่อฉันเถิดนะจ๋าอย่าเพ่อตาย |
แหวนวงนี้ที่ท่านวานฉันมาให้ | จงเก็บไว้ต่อว่าอย่าให้หาย |
ถ้าทีนี้มิรับยังกลับกลาย | จะทวงสายสังวาลเก่าของเรามา |
ถึงงอนง้อก็ฉันไม่พันผูก | อยู่แม่ลูกตามที่ประสีประสา |
สอพลอพลางทางประนมบังคมลา | ลุกออกมากวักพระหัตถ์ตรัสเรียกน้อง |
แม่อรุณรัศมีมานี่หน่อย | แล้วจึงค่อยกระซิบสั่งกันทั้งสอง |
ไปอยู่เป็นเพื่อนป้าหนาแม่น้อง | จะขัดข้องฆ่าชีวันให้บรรลัย ฯ |
๏ นางอรุณรัศมีฟังพี่เล่า | ว่าแม่เจ้าเอ๋ยกรรมจะทำไฉน |
ลูกตายจริงวิ่งมาหาป้าสะใภ้ | บังคมไหว้วอนถามตามสงกา ฯ |
๏ สินสมุทรออกมานั่งบัลลังก์นอก | แล้วแกล้งบอกตามจิตประดิษฐ์ว่า |
แม่สุวรรณมาลีมิอยากมา | แล้วก็ว่าไม่รู้จักมิพักไป ฯ |
๏ อุศเรนเห็นทำนองจะข้องขัด | ยิ่งกลุ้มกลัดกล่าวแกล้งแถลงไข |
อาบน้ำร้อนก่อนเจ้าข้าเข้าใจ | เมื่อไม่ให้แล้วก็ว่าสารพัน |
บิดาเจ้าเล่าก็รู้อยู่เต็มจิต | มิใช่คิดโหยกเหยกมาเสกสรร |
ได้ขอสู่ผู้ใหญ่ท่านให้ปัน | นางสุวรรณมาลีนี้ของเรา |
จึงต้องตามทรามสงวนนวลหง | ได้รับองค์พระอภัยมาให้เจ้า |
เจ้าชอบแต่คืนองค์นางนงเยาว์ | มาให้เราจึงจะต้องทำนองใน ฯ |
๏ สินสมุทรพูดจาประสาเด็ก | ถึงเราเล็กก็ไม่ส่งอย่าสงสัย |
รับบิดามาก็ช่างใครเป็นไร | หรือข้าใช้สอยเจ้าให้เอามา |
เราตามติดบิตุรงค์ก็คงพบ | ไม่รักคบคนนอกพระศาสนา |
เจ้าเลิกทัพกลับหลังไปลังกา | จะได้หาเมียงามเอาตามใจ |
ที่ตรงนี้มิได้คืนอย่าขืนแค่น | ถึงจะแสนโศกาเลือดตาไหล |
ก็ตายเปล่าเราไม่ยักให้ใครไป | อย่ากวนใจจู้จี้ข้าขี้คร้าน ฯ |
๏ อุศเรนคั่งแค้นแสนพิโรธ | แกล้งกลั้นโกรธตรัสประภาษด้วยอาจหาญ |
ตัวของเจ้าเยาว์ยังกำลังพาล | เหมือนหนึ่งหลานลามลวนไม่ควรเลย |
อันเรากับพระอภัยได้ให้สัตย์ | ไม่ข้องขัดกันทุกสิ่งจริงเจ้าเอ๋ย |
จึงงอนง้อขอกันฉันคุ้นเคย | อย่าเยาะเย้ยเลยเจ้าไม่เข้ายา |
แล้วว่ากับพระอภัยวิไลลักษณ์ | น้องก็รักภูวเรศเหมือนเชษฐา |
พระก็รู้อยู่กับใจแต่ไรมา | จะเมตตาหรืออย่างไรอย่าได้พราง ฯ |
๏ พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด | จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง |
สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง | เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง |
ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์ | พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง |
แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง | จะได้ช่วงชิงให้ไปกระนั้น |
พี่ว่าเขาเขาก็ว่ามากระนี้ | มิใช่พี่นี้จะแกล้งแสร้งเสกสรร |
เพราะเหตุเขารักใคร่อาลัยกัน | ค่อยผ่อนผันพูดจาอย่าราคี |
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท | เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดังราชสีห์ |
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที | ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน |
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา | เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน |
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล | พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศ |
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้ | คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด |
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ | จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม ฯ |
๏ สินสมุทรสุดจะคิดถึงบิตุเรศ | ไม่สังเกตกลศึกให้นึกขาม |
ศรีสุวรรณครั้นเห็นหลานจะเบาความ | จึงตอบตามถ้อยคำพอนำทาง |
จะถือโทษโกรธไปก็ไม่ชอบ | ถึงจะมอบให้ก็คงจะขัดขวาง |
ด้วยหญิงชายอายจิตคิดระคาง | ที่ไหนนางจะยอมไปเหมือนใจจง |
ถ้าแม้นพี่น้องนางมาด้วย | จะได้ช่วยฝากฝังดังประสงค์ |
นี่ใจนางก็ไม่วางในพระองค์ | จะมาลงเอาหลานฉันอย่างไร |
แม้นโฉมยงปลงใจจะไปด้วย | ที่ตรงหลานฉันจะช่วยพูดแก้ไข |
แต่ใจนางนฤมลนั้นจนใจ | จะว่าใครขัดข้องก็ตรองดู ฯ |
๏ อุศเรนเจนจัดจึงตรัสตอบ | พระว่าชอบหญิงกับชายอายอดสู |
แต่เข้าหอพ่อแม่ให้เลี้ยงดู | คงเป็นคู่แล้วยังไม่ใคร่จะยอม |
อันนางนี้ที่จะให้ว่าไปด้วย | ก็เขินขวยเพราะไม่เคยเชยถนอม |
ถ้าแม้นให้ไปประโลมค่อยโน้มน้อม | ก็คงยอมพระก็รู้อยู่แก่ใจ ฯ |
๏ ศรีสุวรรณชั้นเชิงฉลาดแหลม | จึงเยื้อนแย้มยิ้มย่องสนองไข |
จะโลมเล้าเยาวมาลย์ประการใด | ตามแต่ใจจะถนัดไม่ขัดกัน |
แม้นโฉมยงปลงใจจะไปด้วย | จะได้ช่วยกันไปส่งลงกำปั่น |
นี่แหละงามตามตรงเหมือนพงศ์พันธุ์ | จะให้ฉันช่วยฉุดนั้นสุดใจ ฯ |
๏ อุศเรนฟังคำทำหัวเราะ | พระพูดเพราะพร่ำว่าอัชฌาสัย |
แต่เช่นนั้นนั่นก็เหมือนไม่ให้ไป | พูดทำไมว่าจะช่วยให้ป่วยการ |
อันนารีนี้เป็นของต้องประสงค์ | หรือพระองค์เจตนาเร่งว่าขาน |
จงโปรดว่ามาให้เสร็จสำเร็จการ | อย่าหน่วงนานน้องจะได้ครรไลลา ฯ |
๏ ศรีสุวรรณกับพระพี่มีคำตอบ | จึงว่าคิดผิดระบอบเป็นนักหนา |
ถึงจะบอกออกเหมือนท่านจำนรรจา | ใครจะมาว่ากับใครอย่างไรมี |
นี่รักกันฉันจึงว่าประสาซื่อ | ควรแล้วหรือพูดรังเกียจมาเสียดสี |
เมื่อนึกแหนงแคลงความก็ตามที | ฉันกับพี่ก็มิใช่ว่าได้นาง |
สินสมุทรนั้นแหละเขาเป็นเจ้าของ | ตามทำนองแต่ถนัดไม่ขัดขวาง |
แล้วแสแสร้งแกล้งพูดกับพี่พลาง | เมื่อความอย่างนี้จะโกรธโทษเอาใคร |
ซึ่งคุณเขาเอามาด้วยก็ช่วยว่า | จนลูกยาอนุญาตประสาทให้ |
เมื่อใจเขาเจ้าตัวไม่ยอมไป | ก็จนใจอยู่ด้วยกันเท่านั้นเอง ฯ |
๏ อุศเรนเหลือแค้นแน่นอุระ | ว่าชิชะพูดเพราะช่างเหมาะเหมง |
โดยจะว่าถ้าไม่ใช่คนกันเอง | ก็จะเกรงกันทำไมมิใช่นาย |
ซึ่งวอนว่าพระอภัยให้ช่วยขอ | คิดว่าพ่อลูกกันเหมือนมั่นหมาย |
เมื่อรักหญิงทิ้งสัตย์ตัดผู้ชาย | ไม่เสียดายคำแล้วก็แล้วไป |
แต่หากว่าถ้าฉันกับสินสมุทร | สัประยุทธ์กันก็จิตจะคิดไฉน |
จะช่วยฉันหรือว่าพระจะช่วยใคร | ขอรู้ใจจงแถลงให้แจ้งการณ์ ฯ |
๏ พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น | อุตส่าห์กลืนชลนาน่าสงสาร |
แล้วห้ามปรามตามใจอาลัยลาน | คุณของท่านเลิศลบภพไตร |
แต่สุดที่พี่จะคิดให้มิดมืด | เหมือนใจจืดเจ้าก็คงจะสงสัย |
เพราะลูกเต้าเขาไม่ชั่วไม่กลัวใคร | จึงจนใจจำนิ่งทุกสิ่งอัน |
แม้นรบสู้ผู้ใดก็ไม่ช่วย | จะอยู่ด้วยอนุชาประสาฉัน |
ถ้าลูกยาฆ่าน้องจะป้องกัน | แม้นท่านฟันลูกยาไม่ว่าไร |
เป็นความจริงสิ่งสัตย์บรรทัดเที่ยง | ไม่หลีกเลี่ยงเลยพระองค์อย่างสงสัย |
แต่จะห้ามตามประสายังอาลัย | จะชิงชัยสินสมุทรจงหยุดยั้ง |
เขาเรี่ยวแรงแข็งขันทั้งสันทัด | สารพัดจะศึกษาวิชาขลัง |
ทั้งดุร้ายใจเหมือนเสือเหลือกำลัง | ห้ามไม่ฟังเหมือนทุกคนเป็นจนใจ ฯ |
๏ อุศเรนเจนศึกไม่นึกพรั่น | แกล้งสรวลสันต์เสียดแทงแถลงไข |
พระเชษฐาว่าจริงทุกสิ่งไป | คงจะได้เชยชมสมคะเน |
ฉวยรบพุ่งยุ่งยิ่งชิงไปได้ | ก็อาลัยอยู่ด้วยนางจะห่างเห |
สนิทแนบแยบคายช่างถ่ายเท | เขียนจระเข้ขึ้นไว้หลอกตะคอกคน |
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ | ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน |
ไม่รักวอนงอนง้อทรชน | แล้วพาพลกลับมาเภตราพลัน |
ถึงกองทัพยับยั้งนั่งเก้าอี้ | สั่งให้ตีกลองสัญญาโกลาลั่น |
ร้องเรียกเรือรบฝรั่งมาทั้งนั้น | แล้วแบ่งปันเป็นแผนกแยกนาวา |
กองละร้อยคอยรบสมทบทัพ | เกณฑ์กำกับเกียกกายทั้งซ้ายขวา |
ให้คอยล้อมพร้อมพรั่งดังสัญญา | เห็นลมกล้าได้ทีตีประดัง |
ให้พวกเรือเหนือลมนั้นสมทบ | เข้ารุมรบลำใหญ่เหมือนใจหวัง |
แม้นขึ้นได้ไฟจุดอย่าหยุดยั้ง | แล้วกองหลังหนุนด้วยช่วยให้ทัน |
แม้นพบชายนายทัพจงจับมัด | มันขืนขัดจึงค่อยฆ่าให้อาสัญ |
ถ้าลำไหนได้นางจะรางวัล | ครองประจันตประเทศเขตนคร ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งพรั่งพร้อมต่างน้อมนบ | ลงเรือรบเรียบร้อยลอยสลอน |
ทั้งโยธากล้าหาญคอยราญรอน | ใส่เสื้อซ้อนเกราะกระสันกันศัสตรา |
ทหารปืนยืนมองตามช่องกราบ | ศรกำซาบแทรกรายทั้งซ้ายขวา |
พร้อมทหารขานโห่เป็นโกลา | ธงสัญญาโบกบอกให้ออกเรือ |
กองละร้อยคอยรบไม่หลบหลีก | ซักเป็นปีกกาไปทั้งใต้เหนือ |
บ้างถือชุดจุดไฟไว้เป็นเชื้อ | เข้าล้อมเรือลำใหญ่ระไวระวัง ฯ |