คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)

หนังสือเรื่องพระอภัยมณีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสภานายกคณะกรรมการหอสมุดสำหรับพระนคร ได้ทรงชำระหนังสือคำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้โปรดให้ตีพิมพ์เพื่อจะทรงแจกเป็นมิตรพลีในงานเฉลิมพระชันษาครบ ๓ รอบ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ แต่ทิวงคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าควรจะพิมพ์ให้สำเร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคพระราชทรัพย์ให้พิมพ์พระราชทานเป็นเล่มที่ ๑ กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้พิมพ์ตอนต่อจากเล่มที่ ๑ เป็นเล่มที่ ๒ ทั้งสองเล่มนี้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ได้โปรดให้พิมพ์เล่มที่ ๓ ในงานสิ้นพระชนม์ครบรอบปีสมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา ศิรินภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ในการชำระและจัดพิมพ์คำกลอนสุภาพทั้งสามเล่มนั้น แบ่งตามความที่จบลงเป็นตอนๆ มิได้แบ่งตามเล่มสมุดไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานคำอธิบายไว้ว่า

“กรรมการหอพระสมุดฯ ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านหนังสือกลอนเรื่องพระอภัยมณีทราบว่า หนังสือพระอภัยมณีฉบับหอพระสมุด ฯ นี้ พิมพ์โดยสื่อเอาประโยชน์ในทางวรรณคดีเป็นสำคัญ หนังสือกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตามฉบับที่ได้พิมพ์มาแต่ก่อน เป็นหนังสือ ๑๐๔ เล่มสมุดไทย (บางชุดมี ๙๙ เล่มสมุดไทย) มีคำกล่าวกันสืบมาว่า เดิมสุนทรภู่ตั้งใจจะแต่งให้หมดเรื่องเพียงพระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงออกบวชที่เมืองลังกา เป็นหนังสือ ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้สุนทรภู่คิดแต่งต่อไปอีกมิให้จบเสียเพียงนั้น สุนทรภู่พึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอยู่ ไม่กล้าขัด ก็จำใจต้องแต่งเรื่อง พระอภัยมณีต่อไป แต่ตอนที่ต่อนี้สุนทรภู่แต่งเองบ้าง วานผู้อื่นซึ่งเป็นศิษย์หาให้แต่งบ้าง มิได้ตั้งใจจะแต่งโดยประณีตเหมือนตอนก่อน กรรมการหอพระสมุดฯ พิจารณาดูหนังสือพระอภัยมณีก็เห็นว่าจะจริงดังคำที่กล่าวกันมา พิเคราะห์ดูเค้าเรื่องและสำนวน เห็นได้ว่าสุนทรภู่ตั้งใจจะให้สิ้นเรื่องเพียงพระอภัยมณีออกบวช เรื่องต่อนั้นมาดูเป็นซังตายแต่งขึ้นคล้ายกับเรื่องที่เขาแต่งทำหนังฉายภาพยนตร์ออกเล่นเป็นตอนๆ สำนวนกลอนก็มีทั้งของสุนทรภู่และของผู้อื่นสลับซับซ้อนปะปนกัน ไม่เป็นสาระทางวรรณคดี ด้วยเหตุนี้ กรรมการจึงชำระและพิมพ์หนังสือกลอนเรื่องพระอภัยมณีเพียงเท่าที่สุนทรภู่เจตนาจะให้สิ้นเรื่อง”

คำกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณีที่หอพระสมุดสำหรับพระนครได้ชำระและจัดพิมพ์ทั้งสามเล่มดังกล่าวนั้น รวมเป็นหนังสือ ๒๕,๐๙๘ คำกลอน ต่อมาได้มีผู้ขออนุญาตนำไปพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายอีกหลายครั้ง และในครั้งหลังๆ นี้ สำนักพิมพ์ต่างๆ นิยมแบ่งพิมพ์เป็น ๒ เล่ม คือ เล่มที่ ๑ เริ่มตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๓๕ เล่มที่ ๒ เริ่มตั้งแต่ตอนที่ ๓๖ ถึงตอนที่ ๖๔ ซึ่งจบลงด้วยคำกลอนเล่าเรื่องพระอภัยมณี นางสุวรรณมาลี และนางละเวงวัณฬาไปบวชอยู่ ณ เขาสิงคุตร ว่า

พระอภัยไปตั้งหลังบรรพต รักษาพรตพรหมจรรย์ด้วยพรรษา
รำภาสะหรีลีวันยุพาผกา คุมโยธาฝรั่งอยู่ทั้งพัน
เก็บส้มสูกลูกไม้เผือกมันมั่ง ถวายทั้งสามองค์ให้ทรงฉัน
เป็นป่ากว้างทางเดินเนินอรัญ ไปสามวันจึงถึงวังเมืองลังกา
สินสมุทรไปบำรุงกรุงผลึก ไปปราบศึกสืบวงศ์เผ่าพงศา
สุดสาครเสาวคนธ์สุมณฑา ครองลังกาผาสุกสนุกสบาย
พวกทมิฬกินปักษาชื่อวาโหม ไปพาราวาหุโรมส่งโสมถวาย
ทหารใหญ่อ้ายย่องตอดนั้นวอดวาย นางสุนีหนีกายสูญหายไป

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ขออนุญาตนำประวัติของสุนทรภู่ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มารวมพิมพ์ไว้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือเรื่องพระอภัยมณีคงจะอำนวยประโยชน์แก่ นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจในวรรณคดีโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๒๖ มกราคม ๒๕๔๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ