- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมณฑาสวรรค์ | สถิตที่แท่นสุวรรณบรรจถรณ์ |
แต่ธิดาสามีจากนคร | เป็นทุกข์ร้อนโศกซ้ำระกำกรอม |
เสวยยาอย่างไรก็ไม่หาย | ถึงปีปลายโศกรูปจนซูบผอม |
ชันษาห้าสิบสามยังงามพร้อม | เหมือนแก่หง่อมเต็มประดาด้วยอาดูร |
พอได้ข่าวราวกับว่าได้ยาทิพย์ | มายกหยิบโรคร้ายให้หายสูญ |
ทรงภูษาพาพระวงศ์พงศ์ประยูร | มาพร้อมมูลคอยท่าอยู่หน้าแพ |
ฝ่ายสุรางค์นางสนมที่ตรมจิต | สำคัญคิดว่าเสด็จมาด้วยแน่ |
บ้างผัดหน้าทาขมิ้นร่ำกลิ่นแพร | ลงมาแพนั่งพับเพียบดูเรียบเรียง |
เหล่าเสนาสามนต์คนทั้งหลาย | ทั้งหญิงชายสาวแก่ออกแซ่เสียง |
มาคอยรับคับคั่งนั่งเคียงเคียง | ดูพร้อมเพรียงไพร่ฟ้าเสนาใน ฯ |
๏ ส่วนสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์ | นางกษัตริย์เศร้าหมองไม่ผ่องใส |
เผยพระแกลแลดูปราสาทชัย | จะขาดใจเสียด้วยคิดถึงบิดา |
พระชลนัยน์ไหลหลั่งนั่งสะอื้น | อุตส่าห์ขืนใจชวนโอรสา |
ทั้งอรุณรัศมีศรีโสภา | ให้สองราสรงสนานสำราญใจ |
แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองจำรัส | เพชรรัตน์พรายพร่างสว่างไสว |
นางทรงแต่งภูษาผ้าสไบ | ชวนสาวใช้พรั่งพร้อมล้อมลีลา |
เห็นองค์พระอภัยมณีศรีสุวรรณ | อยู่พร้อมกันเก๋งใหญ่ใจประหม่า |
ประณตนั่งบังคมก้มพักตรา | พระอนุชาไหว้นางอย่างทุกที |
นางรับหัตถ์ตรัสสนองพระน้องนาถ | ขอลาบาทบงกชบทศรี |
ไปในวังบังคมพระชนนี | ต่อพรุ่งนี้จึงจะพากันมาเชิญ |
อันคุณของสององค์พระทรงเดช | ดังบิตุเรศรักบุตรสุดสรรเสริญ |
ทั้งอุตส่าห์มาส่งจงเจริญ | อย่าเพ่อเหินห่างให้อาลัยลาน |
สักเดือนหนึ่งจึงค่อยกลับไปนคเรศ | จงโปรดเกศน้องรักพักทหาร |
ศรีสุวรรณกลั้นยิ้มเอื้อนโองการ | กระหม่อมฉานดอกนะจะทูลลา |
นางเข้าใจไม่ตอบคำพระน้อง | ทูลสนองบทเรศพระเชษฐา |
สินสมุทรแม่อรุณจะทูลลา | จะเมตตาหรือจะไม่ให้ไปตาม |
๏ พระอภัยได้ฟังนั่งชม้าย | เห็นนางอายอางขนางระคางขาม |
จึงตรัสตอบปลอบประโลมนางโฉมงาม | ใครห้ามปรามเมื่อไรเล่าเยาวมาลย์ |
ถึงมาดแม้นแค้นขัดตัดผู้ใหญ่ | จะจงใจช่วยปลูกแต่ลูกหลาน |
อันตัวพี่นี้จะเกณฑ์เข้าเวรงาน | หรือจะหาญหักบาญชีเป็นชีเว ฯ |
๏ นางกลั้นยิ้มพริ้มพรายภิปรายสนอง | มิใช่น้องนี้จะแกล้งมาแสร้งเส |
เมื่อแรกมาท่าทางกลางทะเล | เหมือนอยู่เคหาไกลมิได้มา |
จะจากเรือเผื่อองค์พระทรงฤทธิ์ | จะเคืองจิตเจียมตัวกลัวหนักหนา |
คาดพระทัยไม่ถูกจึงทูลลา | พระเมตตาเหมือนกระนี้น้องดีใจ |
ซึ่งจะอยู่บูรีจงตรีตรึก | ฉวยเกิดศึกทรงฤทธิ์จะคิดไฉน |
อุศเรนเป็นกันเองไม่เกรงใจ | หรือจะให้พึ่งพาบารมี |
แล้วทูลลาพาลูกกับหลานเลี้ยง | ประคองเคียงซ้ายขวามารศรี |
ลงเรือน้อยลอยแล่นเข้าธานี | ประทับที่ตำหนักแพแลชำเลือง |
เห็นพระวงศ์พงศาคณาสนม | ต่างระทมทุกข์ตรอมจนผอมเหลือง |
ฝืนดำรงองค์นางค่อยย่างเยื้อง | มาเฝ้าเยื้องบาทยุคลพระชนนี |
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราก | คิดถึงยากยามเข็ญปิ้มเป็นผี |
สะอื้นอั้นกันแสงไม่สมประดี | วิสัญญีภาพนิ่งไม่ติงกาย |
พระมารดรกรกอดพระลูกรัก | เห็นซบพักตร์นิ่งไปก็ใจหาย |
สะอื้นร่ำน้ำพระเนตรลงพรั่งพราย | เป็นไรสายสวาทไม่ไหวกายา |
เออผิดแล้วแก้วตาของแม่เอ๋ย | นี่ทรามเชยสิ้นชีวังกระมังหนา |
สะอื้นแอบแนบชิดพระธิดา | นางพระยานิ่งซบสลบไป |
ฝ่ายแสนสาวชาวแม่ต่างแซ่ซ้อง | ประคองร้องกรีดกราดเสียงหวาดไหว |
บ้างนวดเคล้นเส้นพระศอสองอรไท | ก็กลับได้สมประดีค่อยมีมา ฯ |
๏ นางมณฑาว่าแต่พรากไปจากแม่ | เฝ้าตั้งแต่คอยคอยละห้อยหา |
สายสุดใจได้คืนมาพารา | พระบิดาไปอยู่หนตำบลใด ฯ |
๏ ส่วนสุวรรณมาลีศรีสมร | สะอื้นอ้อนทูลแจ้งแถลงไข |
เหมือนเรื่องหลังครั้งไปปะพระอภัย | แล้วใช้ใบกลับมาในวาริน |
พอเรือแตกแยกย้ายในสายสมุทร | พระราชบุตรแบกว่ายแหวกสายสินธุ์ |
แล้วกุมารผลาญโจรใจทมิฬ | ไปบุรินทร์รมจักรนัครา |
จึงยกทัพกลับเที่ยวเลี้ยวตลบ | มาพานพบอุศเรนตระเวนหา |
เข้ารบรับจับได้ไว้ชีวา | แล้วกลับมารบแตกแยกกันไป |
บัดนี้สองกษัตราก็มาส่ง | แต่พระองค์ยังอยู่ลำกำปั่นใหญ่ |
นางทูลตามความยากลำบากใจ | แล้วสอนให้ลูกหลานกราบมารดา ฯ |
๏ นางกษัตริย์ตรัสเรียกเจ้าพี่น้อง | เคียงประคองข้างกายทั้งซ้ายขวา |
พลางกอดจูบลูบหลังกุมารา | ได้ตามมาทำคุณเพราะบุญเคย |
โอ้สงสารท้าวไทใครจะช่วย | เห็นมอดม้วยมรณานิจจาเอ๋ย |
สิ้นพระชนม์จนพระศพไม่พบเลย | เวราเคยทำไว้ให้ไกลกัน |
เจ้าประคุณทูลกระหม่อมของเมียแก้ว | เห็นม้วยแล้วเดือนเก้ามาเข้าฝัน |
ผิดพระรูปซูบผอมลงครันครัน | เพราะทรงธรรม์ทุกข์ยากลำบากกาย |
นางครวญคร่ำร่ำสะอึกสะอื้นอ้อน | พระกรข้อนพระอุราเกศาสยาย |
ทั้งแสนสาวท้าวนางท่านขรัวนาย | ต่างฟูมฟายชลนาโศกาลัย |
ครั้นโศกสร่างนางกษัตริย์ตรัสประภาษ | แก่องค์ราชธิดาอัชฌาสัย |
จะพาวงศ์พงศาเสนาใน | ไปเชิญองค์พระอภัยมาพารา |
แม่จะมอบขอบเขตประเทศสถาน | เชิญพระผ่านไอศวรรย์ให้หรรษา |
ดำรัสพลางนางสั่งขุนเสนา | จงตรวจตราเรือที่นั่งทั้งดั้งกัน |
กับคู่แห่แตรสังข์ให้เสร็จสรรพ | จะไปรับพระอภัยมาไอศวรรย์ |
กรมวังทั้งตำรวจราชมัล | แต่งสุวรรณปรางค์มาศดาดเพดาน |
ดูซ่อมแปลงแต่งถนนฉนวนน้ำ | ช่วยกันทำแผ้วกวาดราชฐาน |
แล้วชวนราชธิดายุพาพาล | พากุมารมาปราสาทในราชวัง ฯ |
๏ ฝ่ายเสนามาเกณฑ์เวรสมทบ | ต่างเตรียมครบเครื่องแห่ทั้งแตรสังข์ |
บ้างยกเรือสุวรรณใส่บัลลังก์ | พระที่นั่งศรีอเนกเอกชัย |
คนประจำลำเรือใส่เสื้อหมวก | เป็นพวกพวกธงทิวปลิวไสว |
บ้างตีฆ้องร้องเรียกกันเพรียกไป | มาเตรียมไว้พร้อมหน้าในสาคร ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมณฑาสวรรค์ | กับสุวรรณมาลีศรีสมร |
สถิตแท่นแว่นฟ้าสถาพร | ครั้นทินกรไตรตรัสจำรัสเรือง |
พาพี่น้องสององค์สรงสนาน | สุคนธ์ธารขัดสีฉวีเหลือง |
สำอางองค์ทรงภูษาล้วนค่าเมือง | ประดับเครื่องเนาวรัตน์ชัชวาล |
แล้วชวนวงศ์พงศาคณาญาติ | สาวสุรางค์นางนาฏในราชฐาน |
มาลงเรือพระที่นั่งทั้งกุมาร | เหล่าทหารขานโห่เป็นโกลา |
ออกจากแพแซ่สำเนียงเสียงสนั่น | ถึงกำปั่นทอดท้ายทั้งซ้ายขวา |
ทั้งสองนางย่างเยื้องขึ้นเภตรา | พร้อมบรรดาสาวสนมกรมใน ฯ |
๏ สินสมุทรนำนางต่างตำรวจ | เอาไม้หวดพลรบหลบไสว |
ถึงเก๋งท้ายฝ่ายสองพระภูวไนย | องค์พระอภัยมณีศรีสุวรรณ |
เห็นนงคราญมารดาออกมารับ | น้อมคำนับโฉมฉายเชิญผายผัน |
ขึ้นบัลลังก์นั่งแท่นที่ต้นจันทน์ | อภิวันท์คอยระวังฟังสุนทร ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ชนนีนาถ | เห็นสองราชบพิตรอดิศร |
ขนงเนตรเกศกรรณพระกายกร | สำอางอ่อนเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพราย |
พระพี่ขาวราวกับเพชรไพฑูรย์เทียบ | พระน้องเปรียบบุษยรัตน์จำรัสฉาย |
โฉมแฉล้มแย้มยิ้มก็พริ้มพราย | เหมือนละม้ายรูปจริตไม่ผิดกัน |
นางยินดีที่จะได้ไว้เป็นเขย | จนหลงเลยลืมวิโยคที่โศกศัลย์ |
จึงยกย่องสององค์พระทรงธรรม์ | ช่วยป้องกันน้องยามาธานี |
พระคุณล้ำโลกาสุธาวาส | เชิญพระบาทบงกชบทศรี |
เป็นปิ่นเกล้าชาวประชาทั้งธานี | จะพึ่งพาบารมีพระสืบไป ฯ |
๏ พระโฉมยงทรงสดับอภิวาท | เชิงฉลาดยิ้มย่องสนองไข |
พระมารดาปรานีมีอาลัย | พระคุณใหญ่หลวงล้นพ้นประมาณ |
แต่ข้านี้มิได้ทำซึ่งความชอบ | ไม่ควรมอบสมบัติพัสถาน |
ด้วยเดิมข้ามาอยู่เกาะแก้วพิสดาร | ได้โดยสารพระบิดามาธานี |
จนเรือแตกแยกไปได้มาปะ | โดยสารพระธิดามารศรี |
อันคุณของน้องสุวรรณมาลี | ก็ยังมีอยู่กับข้าสัจจาจริง |
ด้วยกำปั่นบรรดาโยธาหาญ | ของกุมารกับของแม่น้องหญิง |
อันตัวข้ามาถึงได้พึ่งพิง | เป็นความจริงลูกนี้จนพระชนนี |
ถึงรบรับทัพลังกาข้ามาด้วย | มิได้ช่วยพระธิดามารศรี |
จนมีผิดติดพันทุกวันนี้ | พระบุตรีกริ้วโกรธเป็นโทษทัณฑ์ |
ขอพระองค์ทรงถามทรามสงวน | ลูกไม่ควรที่จะได้ไอศวรรย์ |
เป็นผู้น้อยพลอยอาสามากระนั้น | ถึงเขตคันแล้วก็ข้าขอลาไป ฯ |
๏ นางยิ้มเยื้อนเอื้อนอรรถตรัสสนอง | เหมือนหนึ่งน้องนางผิดคิดไฉน |
ช่วยสอนสั่งบ้างเถิดอย่าถือใจ | น้องจะได้พึ่งพาบารมี |
อนึ่งแม่แก่เกือบจะมอดม้วย | พ่ออยู่ด้วยจะได้ฝากซึ่งซากผี |
อย่าห่างเหินเชิญสำราญผ่านบุรี | เป็นโมลีโลกาให้ถาวร |
แม่อุตส่าห์มารับจงยับยั้ง | ไปอยู่วังให้สุโขสโมสร |
แล้วเตือนราชธิดาพะงางอน | ไม่ว่าวอนเชษฐาน่ารำคาญ ฯ |
๏ ส่วนสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์ | สุดจะขัดมารดาจึงว่าขาน |
ถวายเมืองเครื่องของไม่ต้องการ | จะไปผ่านเมืองสวรรค์ชั้นโสฬส |
ถึงกระนั้นกรุณาเมตตาน้อง | อย่าเพ้อฟ้องถมทับให้อัปยศ |
เป็นสตรีนี้จะงอนจนอ่อนชด | ถึงงอนรถก็ไม่สู้ภูวไนย |
แล้วแกล้งวานหลานเลี้ยงกับลูกน้อย | ช่วยวอนหน่อยเถิดแม่อ้อนวอนไม่ไหว |
อรุณน้อยพลอยว่าประสาใจ | เสด็จไปหน่อยเถิดคะพระบิตุลา ฯ |
๏ นางสาวสวรรค์กลั้นยิ้มขยดหนี | พระชนนีรับขวัญด้วยหรรษา |
พระยิ้มเยื้อนเอื้อนตรัสกับนัดดา | แม่ว่าป้าแม่เสียบ้างเถิดอย่างนั้น |
ให้เคลื่อนคลายหายโทษที่โกรธขึ้ง | แล้วลุงจึงจะเข้าไปไอศวรรย์ |
อรุณรับกลับหน้ามาว่าพลัน | อย่าโกรธท่านเลยนะจ๋าป้าฉันดี |
นางอายจิตปิดโอษฐ์อรุณน้อย | แล้วค่อยค่อยว่าอย่าว่าน่าบัดสี |
นางรู้เท่าเข้าใจอยู่ในที | พระชนนีแย้มสรวลชวนลีลา |
มาลงเรือพระที่นั่งตั้งตาริ้ว | เป็นแถวทิวธงรายทั้งซ้ายขวา |
เสียงสังข์แตรแห่โห่เป็นโกลา | ให้เคลื่อนคลาครื้นลั่นสนั่นดัง |
พิณพาทย์ฆ้องกลองประโคมเสียงโครมครื้น | ระดะดื่นดาษดาทั้งหน้าหลัง |
ถึงแพจอดทอดท่าตรงหน้าวัง | พร้อมสะพรั่งนักสนมกรมใน |
พระมารดาพาเดินดำเนินนาด | มาปราสาทเนาวรัตน์จำรัสไข |
จึงมอบราชสมบัติทั้งฉัตรชัย | ให้อยู่ในปราสาททองอันรองเรือง |
แล้วเลือกเหล่าสาวสุรางค์นางน้อยน้อย | ที่เรียบร้อยรุ่นราวทั้งขาวเหลือง |
เป็นโมงยามปรนนิบัติไม่ขัดเคือง | ทั้งงานเครื่องงานกลางสำอางตา |
ศรีสุวรรณนั้นอยู่เป็นเพื่อนสถาน | ช่วยว่าการนคเรศพระเชษฐา |
นางอรุณรัศมีกับพี่ยา | อยู่กับป้าที่สถานพระมารดร ฯ |
๏ พระอภัยได้เสวยเศวตฉัตร | พูนสวัสดิ์สว่างจิตอดิศร |
แต่ยังไม่ได้ภิเษกสยุมพร | ให้อาวรณ์ถวิลหาสุมาลี |
เชยสุรางค์นางอื่นพอชื่นจิต | แล้วกลับคิดถึงสุดามารศรี |
ถวิลหวังฟังยุบลพระชนนี | ก็ยังมิโปรดประทานรำคาญใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุตรีศรีสวัสดิ์ | คิดจะผัดผ่อนหาอัชฌาสัย |
อยู่อย่างนี้มิได้พ้นพระอภัย | จะแก้ไขขัดขวางให้ห่างกัน |
เอาการบุญทูลลารักษากิจ | โปรดพระบิดาให้ไปสวรรค์ |
นางนิ่งนึกตรึกความเห็นงามครัน | อภิวันท์ชนนีชลีลา |
ด้วยบนตัวกลัวกรรมจำจะบวช | ถือศีลสวดมนต์อยู่ที่ภูผา |
สนองคุณทูลกระหม่อมจอมประชา | ตามประสานารีเป็นชีไพร ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์ทรงสดับ | เห็นความลับแกล้งถามตามสงสัย |
จะบวชตัวผัวจะอยู่กับผู้ใด | เมื่อจะใกล้แต่งงานการวิวาห์ |
ขึ้นเดือนสี่นี้จะสั่งตั้งอภิเษก | เป็นองค์เอกอัคเรศพระเชษฐา |
ถ้าตัวเปล่าเล่าก็ตามแต่ศรัทธา | นี่เดือนหน้าก็จะอยู่กับคู่ครอง ฯ |
๏ นางคำนับอภิวันท์รำพันพลอด | ลูกได้รอดก็เพราะบุญหนุนสนอง |
จึงศรัทธาอาลัยในใจปอง | อุตส่าห์ครองตัวมาถึงธานี |
อยู่กำปั่นนั้นเธอเฝ้าแต่เข้าหา | ยังอุตส่าห์มิให้พบเที่ยวหลบหนี |
แม้นหมายมาดปรารถนาตรงสามี | ป่านฉะนี้ก็เป็นเมียเธอเสียแล้ว |
เดี๋ยวนี้เล่าสาวสนมเป็นไหนไหน | เห็นจะไม่พันผูกถึงลูกแก้ว |
จงทรงพระอนุญาตอย่าคลาดแล้ว | จงผ่องแผ้วภิญโญโมทนา ฯ |
๏ นางกษัตริย์อัดอั้นให้ตันจิต | สุดจะคิดขัดคำจึงร่ำว่า |
วิสัยวงศ์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา | ย่อมตรึกตราจะบำรุงซึ่งกรุงไกร |
เดี๋ยวนี้เล่าชาวลังกาเป็นข้าศึก | ช่างไม่ตรึกตรองหาที่อาศัย |
จะบวชเรียนเพียรผัดตัดอาลัย | ข้าเบื่อใจไม่รู้ที่จะเจรจา |
อันลูกเต้าเผ่าพงศ์เราปลงจิต | ให้เป็นสิทธิ์พระอภัยจงไปหา |
เธอยอมใจไม่ห้ามตามอัชฌา | อย่ามาลาข้าเลยเจ้าไม่เข้าใจ ฯ |
๏ นางกราบกรานมารดรอ่อนศิโรตม์ | สมประโยชน์ยินดีจะมีไหน |
มาสั่งเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน | จัดดอกไม้ธูปเทียนเจียนประจง |
แล้วนุ่งห่มโขมพัตถ์กระหวัดพับ | เครื่องประดับขาวล้วนนวลหง |
ชวนกุมารหลานสาวเหล่าอนงค์ | มาเฝ้าองค์พระอภัยที่ไพชยนต์ |
ประณตนั่งตั้งธูปเทียนบุปผา | แล้ววันทาทูลถวายฝ่ายกุศล |
ข้าขอบังคมลาฝ่ายุคล | ด้วยได้บนตัวมาในวารี |
จะไปบวชตรวจน้ำให้บิตุเรศ | อยู่ขอบเขตเขารุ้งริมกรุงศรี |
พระโฉมยงจงสำราญผ่านบุรี | ให้เป็นที่พึ่งพาประชากร ฯ |
๏ พระอภัยได้ยินสิ้นสติ | เหลือลัทธิที่จะห้ามปรามสมร |
ด้วยบนกายหมายประโยชน์โปรดบิดร | ให้คิดอ่อนอกใจอาลัยแล |
ไม่เหมือนคิดผิดคาดประหลาดหนอ | เห็นรอมร่อหรือมาร้างให้ห่างแห |
จึงว่าพี่นี้ชะรอยบุญน้อยแท้ | จะตั้งแต่ตรอมตรมระทมทวี |
ถึงพาราว่าจะสมอารมณ์คิด | หรือดวงจิตจะมาอางขนางหนี |
เมื่อโฉมยงทรงพรตดาบสินี | ก็ตัวพี่นี้จะอยู่กับผู้ใด ฯ |
๏ นางฟังคำทำเหมือนจะเยื้อนยิ้ม | ประไพพริ้มพจนาอัชฌาสัย |
อยู่พร้อมพรักนักสนมกรมใน | พลไพร่นับแสนทั้งแดนดิน |
ทั้งแสนสาวชาวแม่ออกแซ่ซ้อง | แต่ตัวน้องดอกจะลารักษาศีล |
ไม่ไกลใกล้ไปมาริมธานินทร์ | ใช่จะสิ้นคืนวันดังบัญชา |
บวชใช้บนพ้นแล้วไม่แคล้วคลาด | คงรองบาทบทเรศพระเชษฐา |
แต่เรือแตกแยกทางกลางคงคา | ยังกลับมาพานพบประสบกัน |
พระก็ทราบบาปบุญทั้งคุณโทษ | เหมือนหนึ่งโปรดน้องให้ไปสวรรค์ |
อันข้าบาทมาตุรงค์ทั้งพงศ์พันธุ์ | ก็หมายมั่นพึ่งพาบารมี ฯ |
พระฟังนางทางเปรียบประเทียบถ้อย | ล้วนเรียบร้อยรื้อว่ามารศรี |
อันตัวพี่ฝีปากไม่อยากดี | จะพาทีห้ามปรามก็ขามใจ |
แต่จะถามตามจริงสักสิ่งหนึ่ง | จะถือโทษโกรธขึ้งไปถึงไหน |
หากจะว่าถ้าพี่มิให้ไป | จะขืนใจหรือสมรจะผ่อนตาม |
นางนบนอบตอบว่าถ้าเช่นนั้น | กระหม่อมฉันก็ต้องสนองถาม |
ว่าเกี่ยวข้องน้องไฉนในใจความ | จึงห้ามปรามโปรดเล่าให้เข้าใจ |
พระยิ้มพลางทางสนองว่าน้องรัก | ที่รมจักรเจ้าไปเล่าบอกเขาไฉน |
นางว่าเล่าเขาก็จริงทุกสิ่งไป | แต่จริงใจนั้นจริงยิ่งกว่าคำ |
นี่แน่น้องต้องอย่างว่าช้างล้ม | ย่อมนิยมจะเอางาราคาขำ |
คนเจรจามาเล่าเขาก็จำ | เอาถ้อยคำแม่รู้อยู่ด้วยกัน |
นิจจาพระจะมานึกทึกเอาว่า | นึกก็น่าใคร่หัวเราะเพราะเคราะห์ฉัน |
ก็เป็นไรไม่เอาคำที่รำพัน | จะหวงกันกายาไว้ว่าไร |
พระว่าคำสำหรับกับรูปร่าง | ใช่อยู่ต่างกายามาแต่ไหน |
ธรรมดาว่าคำของผู้ใด | ก็ย่อมได้ตัวคนนั้นเหมือนสัญญา |
นางยิ้มพลางทางตอบว่าชอบอยู่ | ใครเป็นผู้เล่าเหตุพระเชษฐา |
ไยมิเอาคนนั้นมาบัญชา | เมื่อน้องว่าให้พระฟังเมื่อครั้งไร |
จะทำบุญทูลถวายฝ่ายกุศล | มิผ่อนปรนเปรียบเปรยเฉลยไข |
พระก็ทราบบาปกรรมน้ำพระทัย | จะห้ามได้เจียวหรือองค์พระทรงยศ |
พระว่าพี่นี้ก็จะอนุญาต | แต่จะปรารถนาคำเป็นกำหนด |
อันข้อที่จะลารักษาพรต | จะได้จดจำไว้ในอุรา |
นางแกล้งว่าน่ารำคาญด้วยผ่านเกล้า | มีแต่เซ้าซี้ซักเสียหนักหนา |
ฉวยบวชไปไม่ถึงวันที่สัญญา | เป็นวาจากรรมเปล่าไม่เข้าการ |
แม้นน้องมิทำวลด้วยบนไว้ | ก็ไม่ไปจากเขตนิเวศน์สถาน |
นางกล่าวแกล้งแสร้งไว้อาลัยลาน | พระสงสารแสนสะอื้นกลืนน้ำตา |
แล้วอวยพรพูนสวัสดิ์มธุรส | เจริญพรตพรหมจรรย์ให้หรรษา |
หยิบพานทองรองเครื่องที่ทูลลา | ขอสมาเสร็จส่งให้นงเยาว์ |
แล้วว่าที่ศีขรินทร์นั้นถิ่นฐาน | มีกุฎีวิหารหรือโฉมเฉลา |
นางนบนอบตอบความตามสำเนา | เป็นกุฏิ์เปล่าก่อไว้แต่ไรมา |
สำหรับกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ออกทรงพรต | ยังพร้อมหมดมีอยู่ที่ภูผา |
พรุ่งนี้เช้าเกล้ากระหม่อมจะทูลลา | พระตรัสว่าพี่จะช่วยไปอวยชัย ฯ |
๏ นางรับคำบังคมบรมนาถ | ลาลีลาศกลับมาที่อาศัย |
จึงถามเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน | ใครจะไปบวชบ้างเหมือนอย่างเรา |
สาวสุรางค์ต่างตามเสด็จหมด | รักษาพรตอดอารมณ์ได้ชมเขา |
อรุณน้อยพลอยคำนับลงกับเพลา | ฉันจะเอาบุญบ้างเป็นนางชี |
สินสมุทรว่ากระนั้นฉันจะบวช | จะได้สวดมนต์กับน้องเป็นสองศรี |
นางรับคำสำรวลชวนพาที | ทำบาญชีฉีกผ้าขาวให้สาวใช้ |
ที่ของนางอย่างเอกเศวตพัสตร์ | ให้เย็บตัดแต้มทองล้วนผ่องใส |
ต่างหนังเสือเผื่อสองพระหน่อไท | เป็นไตรไตรเตรียมการใส่พานทอง |
สาวสุรางค์ต่างคนก็เขียนผ้า | เอาน้ำยาลงจิ้มแล้วยิ้มย่อง |
เหมือนหนังสือเรื่อเหลืองเป็นเครื่องครอง | จนย่ำฆ้องเคาะระฆังยังนั่งเล็ม |
บ้างเก็บพุทธรักษาหามะกล่ำ | ทำประคำน้อยน้อยร้อยด้วยเข็ม |
บ้างขาดสายหลายใบยังไม่เต็ม | เที่ยวเก็บเล็มเลือกหาในราตรี ฯ |
๏ ครั้นรุ่งรางนางกษัตริย์สรงสนาน | กับกุมารพี่น้องทั้งสองศรี |
น้ำกุหลาบอาบสิ้นทั้งอินทรีย์ | ขัดฉวีวรรณเปล่งดังเพ็งจันทร์ |
นุ่งภูษาค่าเมืองเรืองจำรัส | คาดเข็มขัดรัดพระองค์ทรงกระสัน |
ทรงสร้อยนวมสวมประสานสังวาลวรรณ | ทองกรกัญจน์จุกงามอร่ามเรือง |
ฝ่ายพระน้องสององค์ทรงกรอบพักตร์ | เยาวลักษณ์ทรงมงกุฎบุษย์น้ำเหลือง |
ธำมรงค์ลงยาล้วนค่าเมือง | อร่ามเรืองนิ้วพระหัตถ์จำรัสพลอย |
ครั้นเสร็จสรรพกับสองดรุณราช | สนมนาฏนางในเคยใช้สอย |
ที่นุ่งขาวห่มขาวนั้นราวร้อย | ล้วนน้อยน้อยน่ารักลักขณา |
จากบัลลังก์พรั่งพร้อมล้อมลีลาศ | มาปราสาททรงเดชพระเชษฐา |
เห็นพร้อมพรั่งทั้งพระอนุชา | นางทูลลาทั้งพี่น้องสองกุมาร ฯ |
๏ พระอภัยใจคอให้ท้อแท้ | ชำเลืองแลดูพระนุชสุดสงสาร |
ศรีสุวรรณแย้มเยื้อนเอื้อนโองการ | ร้องเรียกหลานลูกยามาพาที |
พระเจ้าป้าลาบวชเพราะบนไว้ | ไม่อาลัยปรางค์มาศปราสาทศรี |
ก็พี่น้องหมองใจกับใครมี | จึงจะหนีบวชบ้างเป็นอย่างไร |
นางขวยเขินเมินหน้าไม่ว่าขาน | แต่กุมารพี่น้องสนองไข |
หม่อมฉันรักพระเจ้าป้ากว่าใครใคร | จะไปไหนไปด้วยได้ช่วยกัน |
พระยิ้มพลางทางว่าพระป้าบวช | มีแต่สวดมนต์เย็นเพลก็ฉัน |
พระเจ้าลุงจะเป็นไข้ไปทุกวัน | ไม่ผ่อนผันช่วยบ้างหรืออย่างไร |
อรุณน้อยทูลว่าถ้าฉันบวช | แล้วจะกรวดน้ำถวายให้หายไข้ |
ต่างสำรวลส่วนสุดาจะลาไป | พระอภัยพักตร์เศร้าเปล่าอุรา |
ถอนสะอื้นฝืนชวนพระน้องนาฏ | จากปราสาทนำนางไปข้างหน้า |
พวกขอเฝ้าเหล่าอำมาตย์มาตยา | มาพร้อมหน้ากราบก้มบังคมคัล ฯ |
๏ ทั้งสององค์ทรงที่นั่งยานุมาศ | พระหน่อนาถทรงเสลี่ยงเคียงเคียงคั่น |
นางโฉมยงทรงวอจรจรัล | ฝูงกำนัลพรั่งพร้อมล้อมลีลา |
ตำรวจเวรเกณฑ์แห่ทั้งดาบหอก | อยู่ริ้วนอกเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
เสียงเซ็งแซ่แออัดรัถยา | ออกนำหน้าด่วนเดินบนเนินดิน |
ร่มระรื่นพื้นไม้ใบชอุ่ม | สระประทุมดาษดาพฤกษาสินธุ์ |
พระพายพาสาโรชมารินริน | ระรื่นกลิ่นหอมหวนรัญจวนใจ |
แล้วเข้าป่ามาลีมีต่างต่าง | สองข้างทางดอกดวงพวงไสว |
พิกุลแก้วแถวกระทุ่มชอุ่มใบ | มะเฟืองไฟตูมตาดดาษเดียร |
ถึงธารถ้ำลำเนาภูเขารุ้ง | ดูเรืองรุ่งราวกับลายระบายเขียน |
บ้างเขียวขาววาวแววแก้ววิเชียร | ตะโล่งเลี่ยนเลื่องเหลืองเรืองระยับ |
กุฏิ์น้อยน้อยร้อยเศษสังเกตนับ | เครื่องสำหรับกุฎีก็มีพร้อม |
ต้นไม้ดอกออกลูกปลูกริมกุฏิ์ | ต้นสายหยุดพุดลำดวนให้หวลหอม |
ที่กุฏิ์ใหญ่ไทรเรียงเคียงพะยอม | ทอดกิ่งค้อมข้ามหลังคาดูน่าชม |
สองกษัตริย์ทัศนารุกขาเขา | มาตามเงาเงื้อมผาริมอาศรม |
ทั้งห้าองค์ลงเดินเนินจงกรม | ระรื่นร่มรุกขาน่าสำราญ ฯ |
๏ ถึงที่สุดกุฏิ์ใหญ่ยอดบรรพต | รูปดาบสปั้นไว้ในวิหาร |
พระหยุดยั้งนั่งที่ศิลาลาน | นางชวนหลานลูกยาอุ้มผ้าไตร |
เข้าในกุฏิ์จุดธูปเทียนประณต | พรดาบสบรเมศตามเพศไสย |
ต่างตั้งสัตย์ตัดบ่วงไม่ห่วงใย | แล้วครองไตรบริบูรณ์มุ่นชฎา |
ประณตนั่งตั้งนโมได้สามจบ | ขอเคารพรับบัญญัติซึ่งสิกขา |
ว่าดังดังตั้งต้นแต่ปาณา | ถึงอิมาทะสะเสร็จสำเร็จการ |
บรรดาเหล่าสาวสุรางค์อยู่ข้างหลัง | ประณตนั่งแน่นมาหน้าวิหาร |
คอยว่าตามสามกษัตริย์นมัสการ | สมาทานถือพรตดาบสนี ฯ |
๏ นางโฉมยงทรงประคำปทัมราช | ชวนหน่อนาถนัดดาลาฤๅษี |
แล้วพาเหล่าสาวสุรางค์ล้วนนางชี | มากุฎีหลังใต้ต้นไทรทอง |
สถิตแท่นแผ่นผาที่หน้าฉาน | พระกุมารเคียงนั่งอยู่ทั้งสอง |
ตั้งมหาวาหุดีอัคคีกอง | ตามทำนองนักพรตดาบสนี |
ตามบรรดาสานุศิษย์ทั้งร้อยเศษ | อยู่กุฏิ์รอบขอบเขตคิรีศรี |
ล้วนเคร่งครัดมัสการกองอัคคี | ตามวิธีไสยศาสตร์ไม่คลาดคลาย ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษณ์ | ชวนน้องรักศรีสุวรรณแล้วผันผาย |
เดินมาทางนางชีกุฎีราย | เที่ยวถวายธูปเทียนเวียนลงมา |
ศรีสุวรรณนั้นเด็ดดอกรักไว้ | เที่ยวเลือกให้ดาบสที่หมดหน้า |
นางฤๅษีหนีองค์พระอนุชา | ตลอดมาจนถึงกุฏิ์พระบุตรี |
นางกษัตริย์ตรัสเชิญพระภูวนาถ | ให้นั่งอาสน์เอกเอี่ยมเทียมฤๅษี |
กระซิบสอนนัดดากุมารี | ไปพาทีทักทายถวายพร |
สองกษัตริย์ตรัสโมทนาสนอง | เอาเทียนทองมาถวายสายสมร |
แล้วว่าขอปวารณาสถาวร | อนุสรณ์สิทธิ์ขาดเป็นญาติโยม |
บวชแต่สักสามวันเท่านั้นเถิด | อย่าให้เกิดโรคซูบเสียรูปโฉม |
ถ้าถือเคร่งเร่งรุดมักทรุดโทรม | เอ็นดูโยมบ้างเถิดคุณพระมุนี ฯ |
๏ นางนิ่งนั่งฟังคำพระร่ำสอน | ถวายพระพรตามจริตกิจฤๅษี |
ตามแต่บุญวาสนาบารมี | มิรู้ที่รูปจะว่าล่วงหน้าไป |
พระอนุชาว่าจิตฉันคิดคาด | เป็นสังฆราชมั่นคงไม่สงสัย |
อันเขารุ้งกรุงผลึกน้องนึกไว้ | เห็นจะไม่ขาดคนริมหนทาง |
นางฟังคำทำขึงแล้วจึงว่า | ตามศรัทธาสารพัดไม่ขัดขวาง |
พระอภัยนั้นมิใคร่จะไกลนาง | แต่ระคางครหาเป็นราคี |
จึงอำลาดาบสโอรสหลาน | มาเกณฑ์การให้รักษามารศรี |
ทั้งไพร่นายรายรอบขอบคีรี | มิให้มีเภทภัยสิ่งใดพาน |
แล้วชวนพระอนุชากับข้าเฝ้า | กลับคืนเข้าพระนิเวศน์เขตสถาน |
จึงออกท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล | ดำรัสการกับมหาเสนาใน |
อุศเรนเห็นจะกลับมาทำศึก | เหมือนเรานึกมั่นคงอย่าสงสัย |
เร่งตั้งป้อมซ่อมแปลงกำแพงไว้ | เกณฑ์พวกไพร่พลหัดให้จัดเจน |
ทั้งม้ารถคชสารทหารรบ | ให้รู้ครบท่าทางทั้งดั้งเขน |
ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือเร่งกะเกณฑ์ | ออกตระเวนแว่นแคว้นแดนบุรี |
ให้อาลักษณ์แต่งทำคำรับสั่ง | ไปปิดทั้งประตูบูรีศรี |
แล้วบอกไปให้เมืองเอกโทตรี | ว่าใครมีวิทยาวิชาการ |
ทั้งล่องหนทนคงเข้ายงยุทธ์ | เพลงอาวุธเข้มแข็งกำแหงหาญ |
รู้ตำราฟ้าดินสิ้นชำนาญ | ประกอบการกลศึกที่ลึกลับ |
ให้มาเป็นข้าเฝ้าเราจะเลี้ยง | ให้ชื่อเสียงรุ่งเรืองเครื่องประดับ |
ต่างเห็นชอบนอบนบเคารพรับ | เสด็จกลับเข้าปราสาทราชวัง ฯ |
๏ ฝ่ายเสนามาทำทุกตำแหน่ง | อาลักษณ์แต่งเรื่องความตามรับสั่ง |
เขียนลิขิตปิดทวารทุกบานบัง | แจกไปทั้งหัวเมืองตามเรื่องความ |
บ้างก่อป้อมซ่อมแปลงกำแพงใหญ่ | บ้างฝึกไพร่หัดลองที่ท้องสนาม |
กองตระเวนเกณฑ์นาวาอาสาจาม | เที่ยวตรวจตามอ่าวสมุทรจนสุดแดน ฯ |
๏ ฝ่ายฝูงคนชนบททุกบ้านช่อง | ย่อมเนืองนองนับโอดเป็นโกฏิ์แสน |
ทั้งขอบคันจันต์ประเทศทุกเขตแคว้น | อเนกแน่นใต้เหนือเหลือประมาณ |
รู้รับสั่งหนังสือที่ลือเล่า | ว่าผ่านเกล้าเกลี้ยกล่อมซ้อมทหาร |
ต่างเหิมฮึกศึกษาวิชาการ | จะคิดอ่านเอาเจียดเกียรติยศ |
บรรดาคนทนคงณรงค์รบ | รู้หลีกหลบล่องหนมนต์สะกด |
มาขอเข้าเกลี้ยกล่อมน้อมประณต | กระทำทดลองได้ให้รางวัล |
ทั้งเสื้อผ้าสารพัดเบี้ยหวัดแจก | ตามแผนกพวกพ้องเป็นกองขัน |
ล้วนคนดีมีวิชาสารพัน | มาทุกวันมิได้วายถวายตัว ฯ |
๏ อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง | อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว |
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว | รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล |
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น | หน้านั้นเป็นรอยฝีมีแต่แผล |
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ | ได้พึ่งแต่ตายายอยู่ปลายนา |
เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า | แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา |
เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา | นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ |
รู้ฤกษ์พาฟ้าดินสำแดงเหตุ | ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ไสย |
ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ | มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์ |
ถึงหน้านาฟ้าฝนจะชุกแล้ง | ช่วยบอกแจ้งตายายให้ย้ายที่ |
จนได้ผลคนลือนางวาลี | เป็นหมอดีดูแลแน่สุดใจ |
ใครไปมาหาของกำนัลฝาก | พอเลี้ยงปากตามประสาอัชฌาสัย |
ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจ | จะใคร่ได้ผัวดีที่มีบุญ |
ทั้งทรวดทรงองค์เอวให้อ้อนแอ้น | เป็นหนุ่มแน่นน่าจูบเหมือนรูปหุ่น |
แม้นผัวไพร่ไม่เลยแล้วพ่อคุณ | แต่คร่ำครุ่นครวญหาทุกราตรี |
พอรู้ข่าวเจ้าเมืองผลึกใหม่ | พระอภัยพูนสวัสดิ์รัศมี |
งามประโลมโฉมเฉิดเลิศโลกีย์ | นางวาลีลุ่มหลงปลงฤทัย |
ครั้นรู้ว่าหาทหารชำนาญศึก | ก็สมนึกยินดีจะมีไหน |
อันสงครามความรู้เราเรียนไว้ | จะเข้าไปเป็นห้ามพระทรามเชย |
แต่พระนุชบุตรีจะอภิเษก | ถ้าหาไม่ก็เป็นเอกเจียวอกเอ๋ย |
ยิ่งคิดไปใจปลื้มไม่ลืมเลย | ลุกขึ้นเผยฝาแฝงเห็นแสงทอง |
ลงอาบน้ำซ้ำเอาผ้าเมล็ดงาถู | แล้วแลดูเนื้อตัวยังมัวหมอง |
มาผัดหน้าทาขมิ้นดินสอพอง | ให้กลบร่องรอยฝีไม่มีรอย |
แล้วเปิดกลี่หวีผมให้คมสัน | ติดน้ำมันตำราใหญ่ตั้งใจสอย |
นุ่งสุหรัดจัดกลีบจีบตะบอย | ให้เรียบร้อยแลราวกับชาววัง |
แล้วก็ห่มชมพูมีพู่ติด | เห็นมิดชิดชื่นชมด้วยสมหวัง |
มาสู่ห้องสองเฒ่าเล่าให้ฟัง | ฉันลาไปในวังถวายตัว |
แม้นโปรดปรานหลานสมอารมณ์นึก | จะตั้งตึกแทนคุณแม่ทูนหัว |
เฒ่าทั้งสองป้องหน้าด้วยตามัว | เห็นแต่งตัวเต็มดีสีชมพู |
หัวร่อร่าว่าอุแหม่เจ้าแม่เอ๋ย | กระไรเลยเหลือดีเหมือนอีหนู |
ถวายตัวเป็นอะไรจะใคร่รู้ | ไม่พิศดูรูปร่างหรืออย่างไร ฯ |
๏ นางบอกว่าข้าจะไปเป็นหม่อมห้าม | คงสมความปรารถนาอย่าสงสัย |
ทั้งเมียผัวหัวร่ององอไป | ร้องเรียกให้เพื่อนบ้านช่วยวานแล |
หลานข้าเจ้าเขาจะไปเป็นหม่อมห้าม | มันเหลืองามอยู่เพียงนี้แล้วอีแม่ |
กูเห็นการท่านจะเอาไว้เป่าแตร | ไฉนแน่กระนี้มาข้าขอฟัง ฯ |
๏ นางขัดใจไม่พูดแล้วผันผาย | คนทั้งหลายนึกว่าเป็นบ้าหลัง |
ที่รู้จักทักปรอให้รอรั้ง | ไม่หยุดยั้งย่างเยื้องชำเลืองไป |
ตามถนนคนเห็นไม่เว้นถาม | แม่นี้งามสุดอย่างไปข้างไหน |
นางวาลีมิได้พูดด้วยผู้ใด | ตรงเข้าในเมืองมาหน้าพระโรง |
พวกขุนนางต่างพินิจสะกิดเพื่อน | อีนั่นเหมือนตอตะโกทำโอ่โถง |
บ้างก็ว่าหน้าเง้าแต่เขาโง้ง | ตะติ๋งโหน่งนั่งเล่นก็เป็นไร |
นางรู้ว่าข้าเฝ้าเข้าไปนั่ง | กรมวังถามว่ามาแต่ไหน |
นางแจ้งความตามจริงทุกสิ่งไป | ข้าจงใจจะมาเฝ้าเจ้าแผ่นดิน |
ขุนเสนาว่าธุระสิ่งไรเจ้า | นางก็เล่าตามจิตคิดถวิล |
เขาลือข่าวฉาวไปข้าได้ยิน | ว่าพระปิ่นโลกาประชาชน |
ให้หาผู้รู้วิชาข้างรบพุ่ง | จะกันกรุงเตรียมศึกให้ฝึกฝน |
ข้าเจ้าดีมีวิชายิ่งกว่าคน | รู้ผ่อนปรนปราบศึกได้ลึกซึ้ง |
ท่านโปรดด้วยช่วยทูลให้ทราบเหตุ | แม้นโปรดเกศก็จะเฝ้าเข้าให้ถึง |
เสนานั่งฟังนางต่างตะลึง | แล้วก็จึงซักถามดูตามแคลง |
ซึ่งวิชาว่าดีไม่มีคู่ | อย่างไรอยู่ยังไม่สิ้นที่กินแหนง |
เป็นเวทมนตร์ทนตีหรือมีแรง | หรือฟันแทงไม่เข้าจงเล่าความ |
นางฟังคำทำหัวเราะเยาะอำมาตย์ | ว่าท่านทาสปัญญาอย่ามาถาม |
วิสัยคนทนคงเข้าสงคราม | เป็นแต่ความรู้ไพร่เขาใช้แรง |
อันวิชาข้านี้ดีกว่านั้น | ของสำคัญใครเขาจะเล่าแถลง |
แม้นพระองค์ทรงศักดิ์จักแสดง | มิควรแพร่งพรายให้ไพร่ไพร่ฟัง ฯ |
๏ พวกเสนาว่าทหารใช่การหญิง | จะมาชิงอาสาเหมือนบ้าหลัง |
มิพรายแพร่งแจ้งจิตทำปิดบัง | จะพาเข้าเฝ้ายังไม่ควรการ |
นางตอบคำอำมาตย์ด้วยอาจจิต | ท่านนี้ติดแต่จะโง่ด้วยโวหาร |
อันสงครามตามบทพระอัยการ | ใครผิดผลาญชีวันให้บรรลัย |
ใครทำชอบกอบให้เป็นใหญ่ยิ่ง | ถึงชายหญิงก็ไม่ว่าหามิได้ |
ว่าใช่การท่านเห็นเป็นอย่างไร | หรือหญิงไปฆ่าชายไม่วายวาง |
ดีหรือบ้าตาดูให้รู้แน่ | เมื่อมีแต่ปากนิดก็กีดขวาง |
จะอาสาพากันพูดกั้นกาง | ทำให้ค้างแล้วข้าจะลาไป |
พวกเสนาว่าหยอกเล่นดอกเจ้า | จะพาเฝ้าเดี๋ยวนี้หนีไปไหน |
แล้วซักถามนามนางกระจ่างใจ | พาเข้าไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
๏ จึงทูลความตามนางอ้างอาสา | อวดวิชายวดยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
พระทรงฟังสั่งให้พาเข้ามาพลัน | เห็นผิวพรรณพักตรานางวาลี |
เหมือนคุลาหน้าตุเหมือนปรุหนัง | แลดูดังตะไคร่น้ำดำหมิดหมี |
แต่กิริยามารยาทประหลาดดี | เห็นจะมีความรู้อยู่ในใจ |
จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐโปรดประภาษ | เจ้าเป็นปราชญ์ปรีชาจะหาไหน |
จะอยู่ด้วยช่วยบำรุงซึ่งกรุงไกร | เราขอบใจจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม์ |
แต่วิชาวาลีมีไฉน | อย่าถือใจแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จะรอนราญการณรงค์คงกระพัน | จะรับรองป้องกันประการใด ฯ |
๏ นางวาลีปรีชาวันทาแถลง | อันเรี่ยวแรงวิ่งเต้นเห็นไม่ไหว |
แม้นผ่านเกล้าเอาแต่ที่ให้มีชัย | เห็นจะได้ดังประสงค์พระทรงธรรม์ |
พระฟังคำร่ำว่าค่อยน่ารัก | ล้วนแหลมหลักลิ้นลมคมขยัน |
จึงตรัสว่าถ้าจะให้มีชัยนั้น | จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด |
นางนบนอบตอบสนองต้องทำเนียบ | ภิปรายเปรียบด้วยปัญญาอัชฌาสัย |
ศึกไม่มีที่จะว่าล่วงหน้าไป | ก็ยังไม่ต้องตำราวิชาการ |
แม้นเมื่อไรไพรีมีมาบ้าง | ดูกำลังข้าศึกซึ่งฮึกหาญ |
จึงปราบปรามตามกระบวนพอควรการ | จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย |
พระยินคำล้ำลึกนึกสรรเสริญ | ฉลาดเกินรูปร่างช่างเฉลย |
จึงแสร้งซักยักย้ายภิปรายเปรย | ว่าไม่เคยนั้นก็ควรของนวลนาง |
แต่หากว่าข้าศึกมาสิบแสน | ถึงด้าวแดนดูถนัดไม่ขัดขวาง |
จะคิดสู้ผู้เดียวแต่ตัวนาง | หรือคิดอย่างไรเล่าให้เข้าใจ |
นางฟังคำซ้ำซักเห็นสบช่อง | จึงยิ้มย่องเคลือบแฝงแถลงไข |
ข้าพเจ้าเล่าเรียนความรู้ไว้ | ไม่ใช้ไพร่พลมากลำบากกาย |
ขอแต่ผู้คู่คิดสักคนหนึ่ง | แต่พอพึ่งพูดได้ดังใจหมาย |
จะผันแปรแก้กันอันตราย | มิให้อายอัปราปัจจามิตร ฯ |
๏ พระทรงฟังยังให้สงสัยนัก | จึงซ้ำซักจะใคร่แจ้งที่แคลงจิต |
จะปรารถนาหาผู้เป็นคู่คิด | คนสนิทไฉนนางอย่าพรางกัน |
นางเกรงบาปกราบกรานประทานโทษ | แม้นมิโปรดโทษาถึงอาสัญ |
จะทูลขอแต่องค์พระทรงธรรม์ | ให้ผ่อนผันตามจิตที่คิดการ |
ไม่ขัดข้องต้องตำราซึ่งข้าทราบ | ก็จะปราบได้สิ้นทุกถิ่นฐาน |
พระแย้มยิ้มพริ้มพักตร์พจมาน | เจ้าว่าขานเข้าแบบเห็นแยบคาย |
จะเลี้ยงไว้ได้เป็นที่ปรึกษา | ช่วยตรึกตราตรองงานการทั้งหลาย |
จะเป็นที่พี่เลี้ยงเจ้าขรัวนาย | หรือรักฝ่ายกรมท่าเสนาใน |
นางนบนอบตอบรสพจนารถ | คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน |
แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด | ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้ |
ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น | จะขอเป็นองค์พระมเหสี |
แม้นโปรดตามความรักจะภักดี | ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป |
พวกขุนนางต่างหัวร่อข้อประสงค์ | ทั้งพระองค์สรวลสันต์ไม่กลั้นได้ |
จึงตรัสว่าวาลีมีแก่ใจ | มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร |
แต่รูปร่างยังกระไรจะใคร่รู้ | พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน |
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร | จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ ฯ |
๏ นางทูลว่าข้าน้อยนี้รูปชั่ว | ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงสัย |
แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ | เหมือนเพชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี |
แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม | ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี |
แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้ | ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น |
จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต | ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
บรรดาผู้รู้วิชาสารพัน | จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี |
แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท | ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี |
ก็ผิดอย่างทางทำเนียบประเวณี | เห็นคนดีจะไม่มาสาพิภักดิ์ |
ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง | เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร |
อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์ | ดีแต่รักรอนราญการโลกีย์ ฯ |
๏ พระฟังนางช่างเปรียบเห็นเฉียบแหลม | จึงยิ้มแย้มยกย่องให้ผ่องศรี |
ซึ่งมุ่งมาดปรารถนาของวาลี | จะเป็นที่อัคเรศเกศสุรางค์ |
แต่ความรู้ผู้ใดยังไม่เห็น | จะเสกเป็นปิ่นกษัตริย์ยังขัดขวาง |
จะเลี้ยงไว้ใช้สอยอยู่พลางพลาง | เป็นเพียงนางพระสนมให้สมรัก |
แล้วสั่งเหล่าเถ้าแก่หลวงแม่เจ้า | ให้รับเข้าวังในไปตำหนัก |
เครื่องสำอางอย่างหม่อมก็พร้อมพรัก | เป็นเอกอัครสนมนายอยู่ฝ่ายใน ฯ |
๏ แต่นั้นมาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | ประชาราษฎร์รู้แจ้งแถลงไข |
ว่าทรงฤทธิ์คิดบำรุงซึ่งกรุงไกร | น้ำพระทัยรักผู้รู้วิชา |
ข้าแผ่นดินยินดีเป็นที่ยิ่ง | ชั้นผู้หญิงก็ยังรักเสียหนักหนา |
เห็นวาลีที่พระองค์ทรงเมตตา | ต่างนึกว่าจะใคร่พบประสบองค์ |
ทั้งห้ามแหนแผ่นดินท้าวสิลราช | แสนสวาทพระอภัยจนใหลหลง |
บ้างอดข้าวเอารูปให้ซูบทรง | ต่างประจงแต่งตัวให้ยั่วยวน |
อุตส่าห์เฝ้าเช้าค่ำคอยสำเหนียก | เมื่อไรจะเรียกร่วมห้องครองสงวน |
พระองค์เก่าเฒ่าแก่ก็แปรปรวน | ไม่หนุ่มนวลเหมือนพระอภัยมณี |
ที่โปรดปรานพาลจะอิ่มก็ยิ้มย่อง | ดังจะล่องลอยฟ้าในราศี |
บ้างเวียนเฝ้าเปล่าว่างอยู่ค้างปี | จนเป็นฝีหัวคว่ำช้ำอุรา ฯ |