- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
๏ จะกล่าวข้างลังกาอาณาจักร | ประเสริฐศักดิ์ขัตติยามหาศาล |
สถิตแท่นเนาวรัตน์ชัชวาล | แสนสำราญสุขสวัสดิ์กำจัดภัย |
บริบูรณ์พูนสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | ประชาชนเปรมปรีดิ์จะมีไหน |
ทั้งลูกค้ามาขายสบายใจ | ของสิ่งใดมีมาทุกธานี ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | ผ่านสมบัติเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
เมื่อวันนั้นไสยาในราตรี | บนแท่นที่เศวตฉัตรจำรัสพราย |
เทพเจ้าเข้าสังหรณ์สุบินนิมิต | ว่าอาทิตย์ส่องสว่างกระจ่างฉาย |
เห็นนงคราญมารดาเอกากาย | ออกมาว่ายอยู่ตามวนชลธาร |
พระฟื้นองค์รู้ว่าทรงสุบินนิมิต | แล้วหวนคิดถึงมารดาน่าสงสาร |
จะได้ความยากแค้นแสนกันดาร | ทรมานอยู่ในอู่แต่ผู้เดียว |
พระคิดไปใจหายไม่วายเทวษ | ชลเนตรตกไหลพระทัยเสียว |
เหมือนเราไม่กตัญญูให้อยู่เดียว | จะเปล่าเปลี่ยววิญญาณ์เอกากาย |
พอรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | ภาณุมาศไตรตรัสจำรัสฉาย |
เข้าที่ทรงภูษิตวิจิตรพราย | ทั้งสองสายสมรพร้อมน้อมประนม |
พระตรัสเล่าราวเรื่องสุบินนิมิต | เป็นสุดคิดดั่งทะเลมาเทถม |
ในอุราร้อนเริงทั้งเพลิงรม | ให้เกรียมกรมพี่จะลาเจ้าคลาไคล |
ทั้งสองนางพลางทูลฉลองถาม | เป็นใจความมิได้แจ้งแถลงไข |
จะเสด็จเรือกำปั่นหรือฉันใด | น้องจะได้ตามติดไม่คิดกาย |
พระตรัสว่าอย่าไปไม่ได้นุช | หนทางสุดแสนลำบากยากใจหาย |
ไปกำปั่นพันลำคงทำลาย | อยู่ในสายสาคโรชโลธร |
อาศัยม้าจึ่งได้มาถึงที่นี่ | อันถิ่นที่เหลือกันดารชานสิงขร |
ข้ามมหาสาคโรชโลธร | หนทางจรแต่พี่มาก็กว่าปี |
พระว่าพลางทางเสด็จออกข้างหน้า | พวกเสนาน้อมประณตบทศรี |
พระผู้ผ่านสวรรยาเจ้าธานี | สั่งมนตรีท่านอยู่หลังระวังภัย |
อันตัวเราเล่าจะลาไปเกาะแก้ว | ตามธารแถวในมหาชลาไหล |
ด้วยมีความร้อนทรวงในดวงใจ | จะต้องไปในเวลารุ่งราตรี |
พระตรัสพลางทางสั่งให้เทียมรถ | เราจะบทจรไปในวิถี |
มีเมืองด่านธารท่าชายวารี | ประเดี๋ยวนี้เร็วราอย่าช้าการ |
ขุนเสนีที่กำกับสำหรับรถ | มาสั่งหมดถ้วนทั่วตัวทหาร |
ให้เทียมรถพระที่นั่งอลังการ | อาชาชาญผูกใส่เร่งไคลคลา |
เข้าในวังพรั่งพร้อมคอยจอมจักร | มาพร้อมพรักไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
พอพระจอมนครินทร์ปิ่นประชา | เสด็จมาทรงรถบทจร |
กระบวนแห่นำริ้วเป็นทิวแถว | ขับรถแก้วรีบไปชายสิงขร |
ถึงธารท่าหน้าด่านชานสาคร | พระเสร็จจรลงไปชายคงคา |
บริกรรมมนตราของดาบส | น้อมประณตนึกถึงปู่ที่ภูผา |
พลางอ่านเวทเคยสำเหนียกเรียกอาชา | ถ้วนสามคราม้าแว่วแจ้วสำเนียง |
ไปหากินไกลกันถึงพันโยชน์ | พอแว่วโสดเผ่นร้องกึกก้องเสียง |
จึงมาบนสมุทรไทใกล้สำเนียง | มันจำเสียงได้แน่ไม่แชเชือน |
รีบมายังฝั่งมหาลังกาเกาะ | ตรงจำเพาะรู้กระไรใครจะเหมือน |
ลงคุกเท้าเข้าไปชิดไม่บิดเบือน | พระจึงเอื้อนโอภาม้ามังกร |
ว่าตัวน้องนี้จะไปในกระสินธุ์ | ประเทศถิ่นทางมหิงขสิงขร |
โดยวิถีมรคาในสาคร | ไปสิงขรเกาะแก้วพิสดาร ฯ |
๏ ฝ่ายอาชารู้ภาษาพูดไม่ออก | ทำตากลอกร้องมาเหมือนขาขาน |
พระลูบหลังมิ่งม้าอาชาชาญ | ไปถิ่นฐานก่อนเถิดหนาพี่พาชี |
พอรุ่งเช้าแล้วจึงมาคอยท่าน้อง | ไปหาของกินพลางทางวิถี |
ม้าก็กลับโดดไปในนที | พระภูมีกลับหลังยังนคร |
เข้านิเวศน์เวียงชัยไม่เป็นสุข | ยิ่งแสนทุกข์โตราวเท่าสิงขร |
พลางสั่งสองกัลยาพะงางอน | ด้วยอาวรณ์เรื่องรักหนักอุรา |
แต่ลูกเต้าเล่าก็ยังกำลังอ่อน | จงฝึกสอนตรองตรึกให้ศึกษา |
การรบพุ่งเล่าก็น้องสองสุดา | จงอุตส่าห์สอนเขาให้เล่าเรียน |
พี่จะไปไม่ช้าเพราะม้าแก้ว | อันธารแถวม้าพินิจสถิตเสถียร |
เพราะเคยไปไม่หลงไม่วงเวียน | ทุกเกาะเกียนรู้แห่งตำแหน่งทาง |
พระเล้าโลมโฉมยงอนงค์นาฏ | แล้วไสยาสน์โหยไห้พระทัยหมาง |
คิดถึงท่านมารดาโศกาพลาง | ไม่เว้นว่างชลนาให้อาดูร |
พอรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | อาชาชาติรีบเข้าไปถึงไอศูรย์ |
พระสุริยงไตรตรัสจรัสจรูญ | ขึ้นไพบูลย์ส่องสว่างกระจ่างตา |
พระพลิกฟื้นตื่นจากที่ไสยาสน์ | อนงค์นาฏหมอบรายทั้งซ้ายขวา |
พระแต่งองค์สรงเสวยโภชนา | สั่งสุดาสองอนงค์องค์บังอร |
ค่อยอยู่เถิดพี่จะลาสุดาขนิษฐ์ | สำเร็จกิจจะกลับมาหาสมร |
ต้องจำเป็นจำพรากไปจากจร | อย่าอาวรณ์ไปเลยน้องสองสุดา |
ทั้งสองนางกราบก้มบังคมบาท | แต่ไม่อาจทูลทัดขัดหนักหนา |
นัยน์เนตรคลอคลองนองน้ำตา | ต่างก้มหน้านิ่งนึกพลางตรึกตรอง |
เสาวคนธ์มณฑาสุลาลี | มเหสีหมอบเฝ้าแต่เศร้าหมอง |
พระทรงหยิบเครื่องเคราไม้เท้าทอง | ออกจากห้องปรางค์มาศปราสาทชัย |
เสด็จยังข้างหน้าเสนาพร้อม | ประณตน้อมหมอบเรียงเคียงไสว |
ฝ่ายอาชาม้าที่นั่งเพราะตั้งใจ | ตรงเข้าไปถึงที่เฝ้าเจ้าบุรินทร์ |
เธอเห็นม้ามาในไอศวรรย์ | พระทรงธรรม์ชื่นชมสมถวิล |
พลางลูบหลังอาชาพระยานิล | แสนถวิลถึงมารดาให้อาวรณ์ |
พระตรัสสั่งเสวกาพฤฒามาตย์ | ให้โอวาทจงจำเอาคำสอน |
ช่วยปกป้องเวียงชัยในนคร | แม้นเดือดร้อนจงไปเฝ้าพระเจ้าอา |
แล้วจงไปทูลองค์พระทรงภุช | ที่สิงคุตรเนินพนมร่มรุกขา |
ว่าตัวเราเล่าถวายบังคมลา | ไปเกาะแก้วรัถยาเยี่ยมอาจารย์ |
กับองค์พระชนนีที่เกิดเกล้า | เหมือนอย่างเราสั่งไว้ทูลไขขาน |
พระสั่งเสร็จทรงพระยาอาชาชาญ | จากสถานรีบไปในวารี |
พระหัตถ์ทรงไม้เท้าของดาวบส | แล้วประณตน้อมประนมก้มเกศี |
อธิษฐานนึกถึงคุณพระมุนี | ฝ่ายพาชีวิ่งวางผางผางไป |
ชมละเมาะเกาะเกียนเหมือนเขียนวาด | งามประหลาดเขียวแดงสุกแสงใส |
บางปริปริ่มอยู่ในน้ำเห็นรำไร | ที่สูงใหญ่พุ่งพ้นชลธาร |
เป็นโตรกตรอกซอกผาศิลาย้อย | เหมือนภู่ห้อยใหญ่โตรโหฐาน |
ชะงักชะง่อนก้อนผาน่าสำราญ | ชลธารล้อมรอบเป็นขอบคัน |
มีไม้งอกดอกต้นผลระย้า | สกุณาโบยบินแล้วผินผัน |
ทั้งลิงค่างหว่างไศลวิ่งไล่กัน | เลียงผาผันเดินตลอดยอดคิรี |
ที่ชายหาดปูหอยลอยสะพรั่ง | ทั้งกุ้งกั้งตัวลายมีหลายสี |
ฝูงกริวกราวเต่าตามกันงามดี | ชายวารีฝูงกระว่ายปะปน |
ฝูงแมงดาดาดาษว่ายกลาดกลุ้ม | เป็นกลุ่มกลุ่มกลิ้งเกลือกเสลือกสลน |
จระเข้เหราในสาชล | เที่ยวว่ายวนเกลื่อนกลาดริมหาดทราย |
ฝูงเงือกงูดูราวบ้างขาวเขียว | ว่ายตามเกลียววังวนชลสาย |
ฝูงมังกรคาบแก้วดูแพรวพราย | ขึ้นเรียงรายฟาดหางกลางสินธู |
เหล่าช้างน้ำน่ากลัวหัวเป็นช้าง | แต่มีหางเหมือนปลามีงาหู |
ฝูงม้าน้ำเต้นสล้างกลางสินธู | มีเท้าคู่เบื้องล่างเป็นหางปลา |
อันฝูงสัตว์นานามัจฉาชาติ | ล้วนร้ายกาจต่างต่างกลางมหา |
สาคเรศวังวนชลธา | จะพรรณนามากมายมีหลายพรรณ |
เรื่องชมนกชมปลามาก็มาก | จะซ้ำซากบทกลอนขอผ่อนผัน |
ยกเสียบ้างทางจะไปยังไกลครัน | ถึงเขตคันเกาะแก่งตำแหน่งใด |
แล้วก็หยุดให้พระยาม้าที่นั่ง | เสร็จขึ้นฝั่งเขาเขินเนินไศล |
ให้อาชาหาอาหารสำราญใจ | เสด็จไปสอยมะม่วงพวงพวา |
ทั้งปริงปรางลางสาดประหลาดรส | ล้วนสุกสดเสวยพลันด้วยหรรษา |
ครั้นเสร็จสรรพกลับมานั่งฝั่งชลา | พออาชาอิ่มกลับมารับองค์ |
พระสถิตหลังมหาวลาหก | ม้าก็ผกโผนไปดั่งใจประสงค์ |
วิ่งบนน้ำตามทางระวางตรง | ไม่เวียนวงรีบมาในวาริน |
ถึงสาชลวนวังที่เวิ้งกุ้ง | ระลอกพลุ่งดูเป็นพรายในกระสินธุ์ |
สะเทือนถึงสุธาท้องวาริน | กระทบหินดูเป็นเหวคล้ายเปลวไฟ |
บ้างพุ่งพ้นวนเวียนเป็นหว่างเวิ้ง | เพราะน้ำเจิ่งดูกระจ่างสว่างไสว |
เป็นเกลียวกลอกแลกลาดตามหาดไป | มโนมัยโดดข้ามไปตามวน |
ฝูงสัตว์ร้ายในมหาชลาสินธุ์ | พอได้กลิ่นว่ายเตร่ระเหระหน |
กลัวอาชาม้ามังกรหนีซ่อนซน | เที่ยวเวียนวนหลีกไปในคงคา ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศไปในทางกลางมหา |
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงพระสุริยา | แกว่งคทาธรสว่างเหมือนกลางวัน |
เห็นแถวทางกลางมหามหรรณพ | ดั่งไต้คบแจ่มแจ้งส่องแสงฉัน |
ม้าก็เห็นหนทางดั่งกลางวัน | รีบผายผันมาในน้ำทุกค่ำคืน |
เห็นละเมาะเกาะแก่งตำแหน่งไหน | แวะอาศัยทุกทิวาไม่ฝ่าฝืน |
เสวยผลอินจันทน์ทุกวันคืน | พอชุ่มชื่นในอุราประสาจน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางมัจฉามารดาท้าว | อยู่ในอ่าวเขตวัดไม่ขัดสน |
จำเริญศีลภาวนาประสาตน | อยู่ในวนวังเวิ้งเชิงคิรี |
ถึงเจ็ดวันท่ายโยคีมุนีเฒ่า | มาที่อ่าวโดยเมตตามารศรี |
เคาะระฆังดังสนั่นขึ้นทันที | ฝ่ายนารีนางมัจฉาแหวกวาริน |
มานบนอบยอบกายไหว้ดาบส | พระทรงพรตปราศรัยแล้วให้ศีล |
เทศนาสอนสั่งนางยุพิน | ให้ถือศีลภาวนาสมาทาน |
แล้วจึงว่าฮ้าเฮ้ยอีเงือกน้ำ | อุตส่าห์จำไว้ให้แม่นคือแก่นสาร |
ถ้าแม้นเองดับขันธสันดาน | อันวิมานคงจะได้เหมือนใจจง ฯ |
๏ นางเงือกน้ำคำรพอภิวาท | นุชนาฏจำได้ไม่ใหลหลง |
รักษาศีลสุจริตเอาจิตปลง | ไม่เวียนวงเหมือนแต่หลังเพราะฟังธรรม ฯ |
๏ พระโยคีมีจิตคิดสังเวช | กูมาเทศน์เหมือนช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ครั้นจบเสร็จไปสำนักชักประคำ | เสียงงึมงำอยู่ในกุฏิ์พลางจุดไฟ |
ฝ่ายมัจฉานารีไปที่อยู่ | ในแอ่งคู่ธารท่าชลาไหล |
จำเริญศีลเป็นสุขไปทุกข์ภัย | กินแต่ไคลพอเป็นยาในวาริน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศในมหาชลาสินธุ์ |
กับทั้งอัศวราพระยานิล | เกือบถึงถิ่นเกาะแก้วแถวอรัญ ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏมัจฉานิทราสนิท | เกิดนิมิตยามสามในความฝัน |
ว่าได้เห็นดวงแก้วอันแพรวพรรณ | ดั่งสุริย์ฉันส่องสว่างกระจ่างตา |
นางพลิกฟื้นตื่นแลไม่เห็นแก้ว | พอเสียงแจ้วสกุณินบินถลา |
ทั้งกาแกแซ่ซ้องก้องโกญจา | พระสุริยาเยื้องเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ |
นางพลิกฟื้นตื่นอนาถประหลาดจิต | เกิดนิมิตดีหรือร้ายยังไม่เห็น |
วันนี้ครบเจ็ดทิวาเวลาเย็น | พระผู้เป็นเจ้าคงมาไม่ช้านาน |
จำจะต้องขึ้นไปอยู่ปากอู่อ่าว | ผู้เป็นเจ้าคงจะมาเหมือนว่าขาน |
จะได้ฟังเทศนาสมาทาน | ถามอาจารย์เรื่องฝันให้ท่านทาย |
พลางออกจากที่สำนักมาพักอยู่ | คอยพระผู้ทรงธรรม์เหมือนมั่นหมาย |
ขึ้นเกยหาดลาดเลี่ยนเตียนสบาย | พระพายชายพัดชวยมารวยริน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายทรงญาณอาจารย์เฒ่า | ดัดหัวเข่าจะไปท่าชลาสินธุ์ |
ถือไม้เท้าจดจ้องย่องลงดิน | จิตถวิลถึงมัจฉาในสาคร |
ครบเจ็ดวันมีประโยชน์หวังโปรดสัตว์ | อีเงือกวัดเคยมาฟังคำสั่งสอน |
แกเดินพลางค่อยค่อยย่างบทจร | ถึงสาครชายชลาหน้าคิรินทร์ |
พวกจีนจามพราหมณ์แขกที่เป็นศิษย์ | เดินตามติดลงไปชายกระสินธุ์ |
พระโยคีแลไปในวาริน | เห็นเทพินนางมัจฉาขึ้นมาคอย |
เอะวันนี้อีเงือกกูมาอยู่ก่อน | จะทุกข์ร้อนหรือกระไรจะใช้สอย |
กูสักสิ่งจริงหนาหวามันมาคอย | ทำตาปรอยดูอนาถประหลาดใจ |
แกร้องว่าฮ้าเฮ้ยสีกาเงือก | มากลิ้งเกลือกร้อนเย็นเป็นไฉน |
ถัดขึ้นมาบอกเล่าให้เข้าใจ | นิ่งอยู่ไยบอกกับกูให้รู้ความ ฯ |
๏ ฝ่ายมัจฉานารีศรีสวัสดิ์ | ได้ฟังอรรถพระมุนีฤๅษีถาม |
ประณตนอบยอบกายขยายความ | เล่าไปตามเรื่องฝันบรรยาย |
ให้พระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | เธอทราบบาทโดยประสงค์จำนงหมาย |
ขอพระคุณหนุนนำช่วยทำนาย | จะดีร้ายอย่างไรในตำรา ฯ |
๏ พระโยคีมีญาณจึ่งขานไข | ฝันอย่างไรเล่าให้กูรู้สิหวา |
นางเงือกน้ำจึ่งแถลงแจ้งกิจจา | ฉันฝันว่าดวงมณีมีสีแดง |
เกิดขึ้นในคูหาจินดารัตน์ | แจ่มจำรัสไพบูลย์จำรูญแสง |
เหมือนกับดวงพระอาทิตย์ฤทธิแรง | พอรุ่งแจ้งก็พอฟื้นตื่นขึ้นพลัน ฯ |
๏ พระโยคีจึ่งทำนายทายนิมิต | ว่าเองคิดถึงอะไรจึงใฝ่ฝัน |
นางนบนอบตอบตามแกถามพลัน | เมื่อคืนนั้นคิดถึงบุตรสุดสาคร |
พระโยคีปรีชาหลับตานิ่ง | ก็แจ้งจริงเทพเจ้าเข้าสังหรณ์ |
พออึดใจลืมตาผวากร | มีสุนทรชี้แจงให้แจ้งใจ |
แกจึ่งว่าฮ้าเฮ้ยไม่ช้านัก | อ้ายลูกรักร่วมชีวิตพิสมัย |
คงจะมามั่นคงเหมือนจงใจ | จึงฝันไปจิตมนุษย์ปุถุชน ฯ |
๏ โฉมมัจฉานารียินดีสุด | อนงค์นุชแจ้งใจไม่ฉงน |
เพราะเห็นอิทธิฤทธิ์เดชทางเวทมนตร์ | ที่ทุกข์ทนดีใจใครจะปาน |
พลางนบนอบตอบองค์พระทรงฤทธิ์ | ที่ร้อนจิตค่อยสบายหลายสถาน |
ด้วยได้ฟังพระแสดงให้แจ้งการ | ค่อยชื่นบานสิ้นทุกข์เป็นสุขใจ |
แล้วโยคีแจ้งเหตุเทศนา | ให้มัจฉาฟังธรรมตามนิสัย |
เหมือนแต่หลังนางสดับให้จับใจ | กำหนดไว้ในขันธสันดาน |
พระนักสิทธ์ลุกขึ้นพลันเดินงันงก | ค่อยย่างยกโดยจำนงปลงสังขาร |
อนิจจังร่างกายเกือบวายปราณ | ไม่ช้านานยังอยู่หน่อยสักร้อยปี |
พอถึงกุฏิ์หยุดนั่งตะบันหมาก | เอาใส่ปากแลไปในวิถี |
เห็นเมฆตั้งข้างทิศหรดี | ฝนจะมีตกมากลำบากครัน |
ในเดือนนี้มิใช่ฤดูฝน | มามืดมนดูละม้ายคล้ายวสันต์ |
แกจึ่งเรียกศิษย์หาขึ้นมาพลัน | จงพากันเข้าไปในศาลา |
ฝนจะตกมากมายมิได้หยุด | จะหนาวสุดใหญ่ยิ่งจริงจริงหวา |
ตั้งฟืนไฟกองไว้ที่ศาลา | จะได้พากันผิงอย่านิ่งนาน |
พวกจีนจามพราหมณ์แขกไปแบกไม้ | มากองไว้ที่ศาลาตามว่าขาน |
พอพลบค่ำย่ำระฆังกังสดาล | พระอาจารย์สวดมนต์บนกุฎี |
พวกศิษย์หามาคอยปรนนิบัติ | บ้างนั่งพัดหาไฟเอาไม้สี |
จุดตะเกียงขึ้นไปไว้ในกุฎี | บ้างกวาดที่ต้มน้ำชาไว้ท่าครู |
แล้วจัดผลพฤกษาเอามาบ้าง | พร้อมสะพรั่งเสร็จสรรพนั่งตรับหู |
ฝ่ายนักสิทธ์ผู้ประเสริฐเปิดประตู | ออกมาสู่โรงฉันมิทันนาน |
พวกศิษย์ทายกผลาผลไม้ | ประเคนให้ครูฉันเครื่องมันหวาน |
พระทรงศีลฉันเสร็จสำเร็จการ | ท่านอาจารย์กลับมาหน้ากุฎี |
ลงเอนอิงพิงหมอนสอนพวกศิษย์ | ให้ตั้งจิตเล่าบ่นมนต์ฤๅษี |
พระนักธรรมกรุณาด้วยปรานี | อุตส่าห์ชี้แจงให้จำของสำคัญ |
พอเดือนแจ้งแสงสว่างกลางอากาศ | เสียงหวั่นหวาดสกุณินโผผินผัน |
พายุพยับมืดมิดปิดพระจันทร์ | สุนีลั่นเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงคำรน |
มหาเมฆมืดมิดทุกทิศา | พื้นสุธาเยือกเย็นเกิดเป็นฝน |
ทั้งลูกเห็บตกกระจายตามสายชล | เป็นน้ำฝนเย็นวาบจับหัวใจ |
แขกฝรั่งทั้งหลายตะพายย่าม | เดินรุ่มร่ามไปศาลาที่อาศัย |
บ้างหาชุดจุดอัคคีบ้างสีไฟ | กองขึ้นในศาลาหน้ากุฎี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสุดสาครบวรนาถ | ล่วงลีลาศมาในทางกลางวิถี |
พอพลบค่ำสนธยาเข้าราตรี | พระภูมีกับพระยาม้ามังกร |
เข้าหยุดยั้งอยู่ที่ปากชะวากผา | พระสุริยาเย็นพยับลับสิงขร |
ต่อเดือนเด่นเห็นแสงศศิธร | จึงจะจรไปในทางกลางสินธู |
พระเอนอิงพิงผาศิลาลาด | อาชาชาติยืนหยัดสะบัดหู |
สะบัดย่างกางขาแหงนหน้าดู | เหมือนจะรู้ฤกษ์บนฝนจะมา |
เข้าคลอเคลียเลียบาทจอมกษัตริย์ | เหมือนบอกอรรถที่ในทางกลางมหา |
พอหายเลื่อยเหนื่อยใจจะไคลคลา | ขึ้นหลังม้ากวัดแกว่งพระแสงทรง |
อาชาไนยไม่ลงไปจากหาด | พระประหลาดหลากจิตพิศวง |
เหตุไฉนมิ่งม้าอาชาทรง | จึ่งไม่ลงจากหาดประหลาดใจ |
พระนึกพลางทางลงเสียจากหลัง | ไปหยุดนั่งเชิงผาที่อาศัย |
อัสดรรีบจรเข้าร่มไทร | ประเดี๋ยวใจเป็นพยับอับโพยม |
พิรุณโรยโปรยปรายเป็นสายสาด | สุนีฟาดก้องกึกเสียงฮึกโหม |
สลาตันตีคลื่นดังครื้นโครม | พื้นโพยมฝนคร่ำเป็นน้ำนอง |
ฟ้าก็แปลบแวบสว่างกลางอากาศ | ฝนก็สาดทั่วไปหมดสยดสยอง |
ที่บนเกาะน้ำไหลกระจายฟอง | ฟ้าก็ร้องครางครึมกระหึ่มครวญ |
ยะเยือกเย็นเส้นหญ้ารุกขาเขา | อนาถหนาวบังร่มเป็นลมหวน |
ได้ยินแต่ผีสางร้องครางครวญ | ทั้งโหยหวนเพิกเสียงสำเนียงดัง |
พระจึ่งแกว่งไม้เท้าของดาวบส | เห็นบรรพตช่องชะวากเหมือนปากถัง |
เป็นว้างเวิ้งเชิงผาศิลาบัง | เป็นที่นั่งแก้หนาวเมื่อคราวจน |
พระตรัสเรียกมิ่งม้าพากันเข้า | ไปนั่งเจ่าบังลมพอร่มฝน |
ประเดี๋ยวใจในถ้ำเสียงคำรน | ที่มืดมนดูค่อยสร่างสว่างตา ฯ |
๏ ฝ่ายมหิงขสิงขรรักษาเกาะ | เสียงกระเดาะปากอยู่ในภูผา |
แล้วบันดาลปากปล่องช่องศิลา | ไห้ภูผากว้างใหญ่มีไฟกอง |
แล้วสำแดงร่างกายถือไม้เท้า | ทรงเครื่องขาวสดใสมิได้หมอง |
มายืนอยู่ข้างในริมไฟกอง | แล้วก็ร้องถามไปดั่งใจจง |
ว่าท่านหรือคือเจ้าลังกาทวีป | อย่าเพ่อรีบเร็วไปจะใหลหลง |
ถึงม้าเดินน้ำได้ดั่งใจจง | แม้นฝนลงถูกฤดูถึงรู้ทาง |
ถ้าขืนไปในวิถีคงมีเหตุ | ในประเทศแถวนี้ล้วนผีสาง |
อันฝนตกอย่างนี้วิถีทาง | ผิดเยี่ยงอย่างคงจะไพล่ไปในวน |
ถึงกำลังวังชาม้าตัวนี้ | แม้นฤทธิ์มีเหาะได้ในเวหน |
ถึงกระนั้นก็จะหลงเที่ยววงวน | ทั้งลมบนอากาศจะกราดเอา ฯ |
๏ สุดสาครกราบก้มประนมหัตถ์ | ก็รู้ชัดว่าเทวารักษาเขา |
เธอปรานีชี้แจงแจ้งลำเนา | แม้นโดยเดาดื้อไปไม่เป็นการ |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่เทพารักษ์ | ซึ่งสำนักอยู่ในเขตประเทศสถาน |
ท่านโปรดบอกออกความตามบุราณ | แล้วก้มกรานถามไต่ในใจความ ฯ |
๏ ฝ่ายมหิงขสิงขรเทวฤทธิ์ | เธอแจ้งจิตสารพัดกษัตริย์ถาม |
จึงแถลงแจ้งไปที่ในความ | สิ่งใดตามต้องฤดูก็อยู่ดี |
อันฝนตกครั้งนี้ฝูงปีศาจ | มันร้ายกาจที่ในทางกลางวิถี |
ถ้าแม้นจะขืนไปภัยจะมี | เราปรานีจึ่งมาห้ามความเมตตา |
ต่อสามวันนั่นแหละฝนจึงจะหาย | ปีศาจร้ายหย่อนฤทธิ์ทุกทิศา |
จงหยุดยั้งทั้งนิลอาชา | อันน้ำหญ้าเหล่านี้พอมีกิน |
เอาคุ้มได้แต่จำเพาะที่เกาะนี้ | ไปพ้นนี่ช่วยไม่ได้เหมือนใจถวิล |
ถึงมืดมนอยู่ในที่ศีขริน | ในหุบหินเราจะให้มีไฟกอง |
อันผลาผลไม้ในจังหวัด | พอแก้ขัดตามจนอย่าหม่นหมอง |
พอพ้นสามวันไปดั่งใจปอง | จึ่งจะผ่องแผ้วสว่างเห็นทางเดิน |
สามวันนี้ถึงนกวิหคหงส์ | ไม่หาญลงจากถิ่นเที่ยวบินเหิน |
ต้องอาศัยแอบร่มพนมเนิน | ถ้าบินเหินไปคงตายในนที ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทเทพารักษ์ลักษมี |
ขอบพระคุณกรุณาท่านปรานี | มาช่วยชี้อนุสนธิ์ให้พ้นภัย |
ขอตามคำที่นำมาสั่งสอน | ไม่จากจรเขาเขินเนินไศล |
กว่าจะพ้นฝนชุกพ้นทุกข์ภัย | ขออาศัยหยุดยั้งพอบังกาย ฯ |
๏ เทพเจ้ามีจิตคิดสังเวช | สำแดงเดชยืนอยู่นั่นไม่ผันผาย |
จึ่งหยิบเอาแก้วมณีเป็นสีพราย | แสงกระจายเขียวเหลืองดูเรืองรอง |
มาส่งให้แล้วว่าท่านอย่าทุกข์ | แม้นเกิดยุคเกิดภัยมิได้หมอง |
เอาแก้วอมสมจิตที่คิดปอง | ไม่แสบท้องอิ่มใจดั่งได้กิน |
เครื่องอาหารหวานคาวข้าวแลน้ำ | ทั้งมีกำลังกล้าอย่าถวิล |
ไม่ต้องหาอาหารการจะกิน | แม้นอมจินดาไว้อย่าได้แคลง |
ทั้งคงทนแทงฟันนั้นไม่เข้า | ถึงไฟเผาก็ไม่ไหม้อย่าได้แหนง |
พระจึ่งรับดวงมณีที่สีแดง | สว่างแสงโชติช่วงดวงมณี |
แล้วกราบกรานเทวารักษาเกาะ | ท่านสงเคราะห์ชี้แจงแจ้งวิถี |
แล้วก็ให้จินดาเพราะปรานี | พระคุณนี้เหลือล้ำจะรำพัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครจอมกษัตริย์ | ครั้นแจ้งอรรถปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เข้าอยู่ในเพิงผาคูหาพลัน | กับม้านั้นค่อยเป็นสุขคุ้มทุกข์ภัย |
ทั้งบังคมร่มฝนอยู่บนเขา | เทพเจ้าชี้แจงแถลงไข |
แล้วสูญหายกายพลันมิทันใด | แต่กองไฟยังสว่างกระจ่างตา |
ฝนก็ยังตกไปมิได้หยุด | ปลาก็ผุดฟาดหางกลางมหา |
สุนีเปรี้ยงเสียงก้องท้องสุธา | เกิดโกลาหลไปในทะเล |
ถึงสามวันสามคืนเป็นคลื่นคลั่ง | ริมฟากฝั่งพายุป่วนให้หวนเห |
ฟ้าก็ดำคล้ำมัวทั่วทะเล | เหลือคะเนทางท่าในสาคร ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | กับกัณฐัศว์อยู่ที่ผาหน้าสิงขร |
จึ่งหยิบเอาจินดาวราพร | เรียกอัสดรออกมาหน้าคิรินทร์ |
เอาแช่น้ำลงที่ปากชะวากผา | ให้อาชากินพลางอย่างถวิล |
แล้วเสวยกับพระยาอาชานิล | หอมเหมือนกลิ่นเกสรขจรขจาย |
มีกำลังวังชาดั่งอาหาร | แสนสำราญอมอยู่ไม่รู้หาย |
แล้วกลับเข้าเพิงผาศิลาลาย | ค่อยสบายอิ่มเอมเกษมทรวง |
พอครบถ้วนสามทิวาฟ้าค่อยสาง | แจ่มกระจ่างเห็นเงาภูเขาหลวง |
ค่อยสางสางสุริเยนทร์พอเห็นดวง | ที่หนาวทรวงก็ค่อยคลายสบายบาน |
ฝูงวิหคนกกาบรรดาสัตว์ | ก็รีบรัดร่อนราหาอาหาร |
ขึ้นโผผินบินร้องก้องกังวาน | เสียงประสานหันเหียนเที่ยวเวียนวน ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อธิบดินปิ่นกษัตริย์ | โสมนัสโดยนิยมสมประสงค์ |
จึ่งยกกรอภิวันท์ด้วยบรรจง | ขอลาองค์อารักษ์อันศักดา |
พลางออกจากสิงขรชะง่อนเขา | เทพเจ้าซึ่งอยู่ในภูผา |
สำแดงกายจากชะง่อนก้อนศิลา | ถือคทาธรแก้วแสงแวววาว |
ทรงอาภรณ์พรรณรายดูฉายเฉิด | งามประเสริฐรัศมีล้วนสีขาว |
ทั้งรูปทรงร่างกายก็พรายพราว | ราวกะดาวแจ่มกระจ่างกลางอัมพร |
แล้วจึงว่าข้าแต่ท้าวเจ้านิเวศน์ | จงสังเกตเลียบไปชายสิงขร |
ตะวันชายบ่ายแสงทินกร | จึงค่อยจรข้ามมหาชลาลัย |
อันสาชลวนวงที่ตรงนี้ | ปล่องนาคีหลีกให้พ้นชลใส |
แล้วยกมือขึ้นชี้ตรงนี้ไป | จำให้ได้แม่นยำที่สำคัญ |
เรียกว่านาควารินกระสินธุ์สมุทร | จงรีบรุดเร็วร้อนเร่งผ่อนผัน |
วิถีทางยังอีกสักสองวัน | ถึงเขตคันเกาะแก้วแถวนที |
พอบอกเสร็จเทวารักษาเกาะ | ก็เหินเหาะหายไปในวิถี |
สุดสาครขึ้นนั่งหลังพาชี | ม้าก็รี่เร็วไปตามชายเนิน |
ชมวิหคบินเหินอยู่กลางหาว | กระสาสาวส่งเสียงกระสังเหิน |
โกลิลากาแกดุเหว่าเดิน | โมรีเหินฝูงหงส์ร่อนลงธาร |
นกกระเต็นเต้นตามกระตั้วต้อย | ฝูงค้อนหอยเป็นหงส์ลงละหาน |
กระรอกเรียงเคียงกะเรียนนกรังนาน | คับแคขานปนตะขาบฝูงคับคา |
มยุเรศจับร้องรำแพนหาง | กาสล้างบินสลอนว่อนถลา |
เสียงแซ่ซ้องร้องแกล้วนฝูงกา | นกโกญจาจับลอระวังรัง |
พระชมพลางสังเกตประเทศทิศ | ที่เทวฤทธิ์บอกให้ดั่งใจหวัง |
เกือบจะถึงสาชลที่วนวัง | ก็เลียบนั่งลงมหาชลาลัย |
ม้าม้งกรถอนถีบแล้วรีบรุด | ไม่ยั้งหยุดข้ามมหาชลาไหล |
เสียงคลื่นคลั่งวังเวงวิเวกใจ | อาชาไนยรีบรัดในนที |
มิได้หยุดรุดไปในกระสินธุ์ | จนถึงถิ่นเกาะแก้วคิรีศรี |
พอเย็นย่ำสนธยาในราตรี | พระภูมีจูงม้าอาชาไนย |
เข้าหยุดอยู่ที่ศาลาหน้าบรรพต | พระทรงยศพักพาพออาศัย |
กับพระยาม้ามิ่งมโนมัย | เช้าจะได้เข้าหาพระอาจารย์ |
พอพวกศิษย์พระมุนีอยู่ที่นั่น | เหินทรงธรรม์จึงเข้าไปปราศรัยสาร |
ว่าดูราท่านมาแต่ดงดาน | หรือพลัดบ้านหลงป่าพนาราม |
ข้าพิศดูรูปร่างสำอางพักตร์ | เห็นน่ารักงามหนอข้าขอถาม |
หรือเทวาจงแสดงขอแจ้งความ | ปรากฏนามสมญาภาษาไร ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ตรัสประภาษชี้แจงแถลงไข |
แต่ก่อนเก่าเราอยู่นี่มาแต่ไร | แล้วลาไปอยู่ประเทศเขตลังกา |
ถึงยี่สิบเจ็ดปีเข้านี่แล้ว | แต่คลาดแคล้วจากสถานนานหนักหนา |
ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์ตา | ยังค่อยผาสุกสบายหรือวายปราณ |
พวกจีนจามพราหมณ์ฝรั่งทั้งอังกฤษ | บรรดาศิษย์บอกแจ้งแถลงสาร |
ว่าพระองค์ทรงสิกขาปรีชาชาญ | ยังสำราญอยู่แท้แต่ชรา |
แล้วก็จึ่งถามองค์พงศ์กษัตริย์ | อ้ายนี่สัตว์อะไรนั่นขันหนักหนา |
นี่ท่านเอามาแต่ไหนอย่างไรนา | ดูมันน่ากลัวจัดสัตว์อะไร ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | จึงประภาษชี้แจงแถลงไข |
บอกชื่อนามมิ่งม้าอาชาไนย | ให้แจ้งใจโดยประสงค์จำนงปอง ฯ |
๏ ฝ่ายพวกคนบนศาลาหาลูกไม้ | เอามาให้ต่างต่างพลางสนอง |
เชิญนายท่านกินไปดั่งใจปอง | แต่ล้วนของโอชาในป่าดง |
ทั้งน้ำท่าหามาให้ด้วยใจภักดิ์ | เพราะความรักที่ในจิตพิศวง |
ได้แก้หิวเดินทางมากลางดง | เชิญท่านจงกินเล่นพอเย็นใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมลังกามหาสถาน | จึ่งโองการตามประสาอัชฌาสัย |
เสวยผลม่วงปรางมะทรางไทร | มะเฟืองไฟอินจันทน์พรรณพะวา |
แล้วส่งให้มิ่งม้าอาชาชาติ | อัศวราชกินเล่นเป็นภักษา |
พออิ่มหนำสำราญแล้วนิทรา | จนเวลารุ่งแจ้งแสงหิรัญ |
สกุณากาดุเหว่าก็เร่าร้อง | ประสานซ้องสกุไณฝูงไก่ขัน |
พระพลิกฟื้นตื่นจากไสยาสน์พลัน | พอสุริย์ฉันแจ่มกระจ่างกลางอัมพร |
พระลงจากศาลาที่อาศัย | ดำเนินไปกุฎีที่สิงขร |
พระโยคีพลิกฟื้นตื่นจากนอน | ก็ลุกจรออกมาหน้ากุฎี ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทพลางประณตบทศรี |
ฝ่ายท่านเฒ่าอิศโรพระโยคี | แกจึ่งมีวาจาถามมาพลัน |
เฮ้ยประสกเอ๋ยหวามาแต่ไหน | ธุระไรแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
หรือเรือแตกหลงทางกลางอรัญ | บอกไปพลันเถิดเองอย่าเกรงใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทเล่าแจ้งแถลงไข |
ข้าพเจ้าเล่าเป็นบุตรพระอภัย | แต่จากไปมิได้มาก็ช้านาน |
ชื่อว่าสุดสาครบวรนาถ | เป็นเชื้อชาติกษัตรามหาศาล |
เมื่อเกิดได้พึ่งพาพระอาจารย์ | พระทรงญาณเลี้ยงดูจนรู้ความ |
ท่านโยคีลุกยองยองมือป้องหน้า | ควักขี้ตามองดูร่ำแล้วซ้ำถาม |
เองว่าเป็นลูกอภัยไม่ได้ความ | เป็นหน่อหนามพงศ์กษัตริย์ขัตติยา |
อภัยไหนไม่รู้จักเลยประสก | เองหยิบยกเล่าให้ฟังที่กังขา |
ไม่รู้จักกันกับกูแต่อยู่มา | จนชรามิได้เห็นเป็นอย่างไร |
หรือเองมาผิดที่มีสังเกต | ถิ่นประเทศป่าดงมักหลงใหล |
อันชื่อเสียงอย่างนี้ไม่มีใคร | คนกูใช้อยู่นี่ไม่มีเลย ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | จึ่งกราบบาทซ้ำกล่าวเล่าเฉลย |
พระคุณช่างลืมไปกระไรเลย | ฉันก็เคยอยู่ในบรรณศาลา |
ข้าพเจ้าเป็นลูกแม่เงือกน้ำ | อยู่ที่ถ้ำช่องชะวากริมปากผา |
ตรงเสาโคมริมหาดทรายชายคงคา | พระเจ้าตายังได้เล่าให้เข้าใจ |
พระโยคีนิ่งตรึกรำลึกถูก | อ้อเป็นลูกเงือกน้ำกูจำได้ |
จริงแล้วหวาพ่อมึงหรือชื่ออภัย | กูนึกได้แล้วอ้ายหนูเคยอยู่กิน |
อนิจจังสังขารานิจจาเอ๋ย | ช่างหลงเลยลืมไปไม่ถวิล |
แล้วถามว่าเองไปอยู่ในบูรินทร์ | ประเทศถิ่นนคเรศนิเวศน์ใด |
นี่เองมาเดี๋ยวนี้มีธุระ | หรือว่าจะไปหนตำบลไหน |
นี่เองมากำปั่นหรือฉันใด | จงบอกให้ตาฟังที่กังวล ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทเล่าแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ฉันมากับม้ามังกรด้วยร้อนรน | พอได้ยลเยี่ยมคุณพระมุนี |
กับมารดาข้าบาทเหมือนมาดหมาย | จะเป็นตายพอได้พบประสบศรี |
ฉลองคุณมุลิกาฝ่าธุลี | พอเป็นที่อภิวาทบาทยุคล ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศิลมุนินทร์เฒ่า | แกจึ่งเล่าชี้แจงแห่งนุสนธิ์ |
อีเงือกน้ำจำศีลเหมือนอย่างคน | มันก็ปรนนิบัติมั่นถือขันตี |
ดูผ่องใสน้ำนวลอ้วนกว่าเก่า | ไม่แก่เฒ่าก็เพราะศีลพระชินศรี |
แล้วได้ฟังเทศนาในบาลี | มันก็มีน้ำใจใสศรัทธา |
ถึงเจ็ดวันขึ้นมาฟังกูสั่งสอน | จงรีบจรลงไปดูริมคูหา |
เองมาไปกับกูดูมารดา | ได้เห็นหน้าแม่ลูกเพราะผูกพัน |
พระโยคีปรีชาคว้าไม้เท้า | ดัดหัวเข่ายืนเซอยู่เหหัน |
ค่อยจดจ้องย่องลงมาจากหน้าบัน | ตัวแกสั่นงกเงิ่นเดินหลังงอ |
สุดสาครตามท่านอาจารย์เฒ่า | อ้ายพวกเหล่าศิษย์หาตามมาสอ |
ถึงศาลาชายฝั่งหยุดรั้งรอ | แกนิ่งพอหายเหนื่อยเมื่อยบั้นเอว |
แล้วให้ศิษย์เคาะระฆังดังสนั่น | ก็ก้องลั่นไปถึงปากชะวากเหว |
เคยสำเหนียกเหมือนร้องเรียกนางมาเร็ว | ออกจากเหวแหวกว่ายชายวาริน |
เห็นโยคีนั่งยองยองมือป้องหน้า | กับศิษย์หานั่งอยู่ท้ายชายกระสินธุ์ |
สุดสาครรีบลงไปชายวาริน | นางผันผินพักตร์มาดูเอะผู้ใด |
ด้วยจากกันนานนักหนาพึ่งมาเห็น | แลเขม้นแล้วพะวงนึกสงสัย |
ดูรูปร่างคล้ายกับบุตรบุรุษใด | เห็นโตใหญ่คิดจะถามนามกร |
ก็กลัวจะผิดไปมิใช่บุตร | นางนิ่งหยุดอยู่ในใจสายสมร |
หน่อกษัตริย์กราบก้มประนมกร | นางมารดรจึ่งถามตามสงกา |
พ่อเป็นบุตรข้านี้หรือมิใช่ | พระหน่อไทรับประนมก้มเกศา |
นางเงือกน้ำวาพุทโธ่แล้วโศกา | เออมารดาแปลกทีเดียวเจียวพ่อคุณ |
ต่างร้องไห้ใจคอเพียงจะขาด | เหมือนฟ้าฟาดฉับเดียวให้เฉียวฉุน |
สลบนิ่งกลิ้งนอนอ่อนละมุน | ที่กลางฝุ่นชายหาดอนาถใจ |
พระโยคีมีจิตคิดสงสาร | เอะเกิดการขุ่นเข็ญเป็นไฉน |
ได้ยินพูดอยู่ทีเดียวประเดี๋ยวใจ | เสียงร้องไห้โฮโฮพาโลตาย |
ทั้งสองคนแม่ลูกลงนอนกลิ้ง | ไม่ไหวติงนิ่งไปแกใจหาย |
ฉวยไม้เท้าก้าวลงไปชายหาดทราย | ศิษย์ทั้งหลายตามหลังอยู่พรั่งพรู |
อนิจจังอนัตตาลงมากลิ้ง | จะตายจริงเจียวหรือหวาหาอ้ายหนู |
นั่งยองยองป้องหน้านัยน์ตาดู | แกเอียงหูฟังสำเนียงเสียงหายใจ |
ก็เงียบอยู่มิได้รู้ว่าสลบ | แกปรารภเวทนาน้ำตาไหล |
แล้วมานึกตรึกตราให้อาลัย | คิดขึ้นได้จำจะดูให้รู้การ |
แล้วตั้งจิตลงวางทางกสิณ | ก็แจ้งสิ้นเห็นชีวังไม่สังขาร |
แล้วจึงซ้ำดูประสมในลมปราณ | ก็แจ้งการว่าไม่ตายวายชีวัง |
จึงบอกศิษย์ไวไวไปสิหวา | ตักน้ำมารดลองสักสองถัง |
คงจะฟื้นสมประดีมีกำลัง | พวกที่นั่งรีบไปที่ในวน |
ได้วารีโยคีอ่านคาถา | ให้ธาราเย็นฉ่ำดังน้ำฝน |
แกจึ่งให้พรมพรำด้วยน้ำมนต์ | ทั่วสกนธ์สองราไม่ช้านาน |
เดชะเวทวิทยาพระดาบส | ระรวยรสเปรียบเหมือนยาแลอาหาร |
ระรินรื่นฟื้นองค์นางนงคราญ | เยาวมาลย์เห็นองค์พระทรงพรต |
ประณตนอบยอบกายลงไหว้กราบ | ษมาบาปพระมุนินทร์ปิ่นดาบส |
ทั้งสุดสาครฟื้นระรื่นรส | แล้วประณตกราบไหว้อัยกา |
พระทรงศิลยินดีเป็นที่สุด | ไม่ม้วยมุดชีวังดับสังขาร |
กูตกใจหมายว่ามึงมรณา | จนน้ำตากูไหลไม่เสบย |
แล้วจึงว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายแม่ลูก | กลั้นน้ำมูกน้ำตาสีกาเอ๋ย |
อย่าร้องไห้ร้องห่มค่อยชมเชย | ให้เสบยบางเบาบรรเทาใจ |
แล้วโยคีแจ้งเหตุเทศนา | ให้สองราสร่างเสื่อมได้เลื่อมใส |
อันทุกขังตั้งแต่เกิดกำเนิดใน | ที่ร้อนใจมีทั่วทุกตัวคน |
เพราะตัณหาสาธารณ์พานให้หลง | มักเวียนวงด้วยกิเลสเกิดเหตุผล |
เพราะราคาพาให้ชั่วต้องมัวมน | ตัดมรรคผลทางประโยชน์โพธิญาณ |
โสมนัสโทมนัสพระตรัสไว้ | จะพาให้เวียนวงในสงสาร |
ก็คือตัวเวทนาย่อมสาธารณ์ | จงคิดอ่านให้มันเบาบรรเทาไป |
อันเกิดมาเป็นมนุษย์แลครุฑนาค | เรื่องพลัดพรากไม่ใคร่เว้นเป็นวิสัย |
อย่าโศกหนักหักห้ามความอาลัย | ให้เห็นในทุกขังคือกังวล |
อนิจจังสังขารมันไม่เที่ยง | คิดหลีกเลี่ยงเสียบ้างหวาหากุศล |
จะได้ชมฉ้อสวรรค์ในชั้นบน | คิดผ่อนปรนด้วยปัญญาหาอุบาย |
อนัตตาฮ้าเฮ้ยอีมัจฉา | เกิดขึ้นมาดับไปน่าใจหาย |
ของที่รักมันก็มักให้กลับกลาย | ถึงร่างกายก็ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน |
ครั้นสิ้นลมหายใจกลายเป็นผี | ย่อมเป็นที่อนัตตาไม่ฝ่าฝืน |
ถึงข้าวของรักใคร่ก็ไม่ยืน | เป็นแต่พื้นเน่าจมถมสุธา ฯ |
๏ สองแม่ลูกได้ฟังท่านสั่งสอน | ในบทกลอนแจ้งเหตุเทศนา |
ก็มีแรงแข็งขืนกลืนน้ำตา | พระสิทธาเธอแสดงแจงให้ฟัง |
ฝ่ายมัจฉานารีศรีสวัสดิ์ | กับกษัตริย์สุดสาครอาวรณ์หวัง |
ที่โศกสร้อยค่อยหย่อนผ่อนประทัง | เพราะได้ฟังเทศนาพระอาจารย์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์เฒ่า | ฉวยไม้เท้าแก้กังพลางสั่งหลาน |
ตาจะไปกุฏิก่อนผ่อนสำราญ | นั่งอยู่นานนักไม่ได้ไม่สบาย |
ให้เมื่อยขบเต็มประดาทั้งตาหู | มันแฉะอยู่ร่ำไปมิใคร่หาย |
ถือไม้เท้าก้าวเดินจากเนินทราย | ค่อยโยกย้ายเดินดึ่งถึงกุฎี ฯ |
๏ ฝ่ายมัจฉานารีศรีสมร | จึ่งถามลูกสุดสาครจำเริญศรี |
ได้ลูกเมียสารพัดสวัสดี | พอเป็นที่ปลูกฝังอยู่ลังกา |
ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | อภิวาทเล่าพลันด้วยหรรษา |
เอาความหลังทั้งนั้นมาพรรณนา | ให้มารดาแจ้งใจในอารมณ์ |
แม้นไม่มีศึกเสือข้างเหนือใต้ | ลูกไม่ไปจากท่านครูอยู่อาศรม |
จะอยู่กับมารดาเหมือนอารมณ์ | ได้เชยชมชนนีพอปรีดิ์เปรม |
แม่เจ็บไข้ก็จะได้ปรนนิบัติ | มิให้ขัดเคืองใจให้เกษม |
แล้วเป็นห่วงพระมุนีไม่ปรีดิ์เปรม | แม้นสุขเกษมแล้วไม่ไปไกลมารดร |
นี่จนใจใหญ่หลวงสองห่วงแท้ | ทั้งพ่อแม่แยกกันอยู่ทั้งครูสอน |
เป็นธุระที่ในกิจพระบิดร | จึ่งต้องจรกลับไปอยู่คอยดูแล ฯ |
๏ นางมัจฉาว่าจริงแล้วลูกรัก | จงคิดหักใจเสียบ้างต้องห่างแห |
กลับไปวังตั้งอยู่ได้ดูแล | อย่าห่วงแม่เลยพ่อคุณอย่าวุ่นวาย |
แม่เป็นสัตว์มัจฉาใช่มานุษย์ | ไม่บริสุทธิ์เหมือนกับคนไม่ขวนขวาย |
อยู่ที่นี่ก็เป็นสุขสนุกสบาย | กว่าจะตายพึ่งบุญพระมุนี |
แม่ก็ถือศีลมั่นไม่ครั่นคร้าม | พยายามนับถือพระฤๅษี |
พอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าธุลี | ได้เป็นที่มัสการสำราญใจ |
อันตัวแม่นี้ก็เแก่ชราแล้ว | ได้เห็นหน้าลูกแก้วก็ผ่องใส |
พ่อจงกลับถิ่นฐานผ่านเวียงชัย | อย่าห่วงใยแม่นักหักอารมณ์ |
พอสั่งเสร็จนางมัจฉาก็คลาคลาด | ลงจากหาดชายชลาหน้าอาศรม |
ไปสู่ห้องหุบผาหน้าจงกรม | สำราญรมย์ในคูหาสมาทาน ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | ก็ลีลาศไปกุฎีที่วิหาร |
บังคมคัลวันทาพระอาจารย์ | หยุดสำราญอยู่กับคุณพระมุนี |
เวลาเช้าเวียนไปที่ชายหาด | อภิวาทนางมัจฉามารศรี |
จนสำรบครบทิวาเจ็ดราตรี | แล้วลานางชนนีจะไคลคลา |
เจ้าประคุณทูลหัวของลูกรัก | จะไกลพักตร์มารดรจะวอนหา |
สงสารนางพลางฟายฟูมน้ำตา | แล้วกลืนกลั้นชลนาพลางให้พร |
จงเรืองฤทธิ์วิทยาเป็นผาสุก | นิราศทุกข์ภิญโญสโมสร |
ให้ศัตรูแพ้พ่ายกระจายจร | ครองนครศรีสวัสดิ์กำจัดภัย ฯ |
๏ สุดสาครรับพรมารดาแล้ว | ค่อยผ่องแผ้วกลับมาที่อาศัย |
แล้วกราบลาพระอาจารย์ผู้ชาญชัย | จะกลับไปนคเรศนิเวศน์วัง |
พระโยคีมีญาณว่าหลานแก้ว | จะคลาดแคล้วกลับไปดั่งใจหวัง |
ที่กลางย่านยักขินีมีระวัง | อยู่ฟากฝั่งชายชลาข้างขวามือ |
การเวทมนตร์สนธยายอย่าได้ขาด | อย่าประมาทของสำหรับเคยนับถือ |
จงคิดอ่านการประจญแต่ต้นมือ | มันจะรื้อเรียกหาเองอย่าไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครบวรนาถ | บังคมบาทพระสิทธาน้ำตาไหล |
พระโยคีปรีชาปัญญาไว | นึกขึ้นได้ถอนคาเอามาพลัน |
แล้วเสกด้วยมนตรามหาปราบ | กลายเป็นดาบฤทธิแรงแข็งขยัน |
แกหยิบยื่นส่งให้เอาไว้กัน | สารพันใช้ได้ในสงคราม ฯ |
๏ สุดสาครบังคมแล้วก้มกราบ | รับเอาดาบนอบนบเคารพสาม |
ลุกออกจากศาลาพยายาม | เลียบมาตามหาดทรายชายคงคา |
แล้วอ่านมนต์สามคราเรียกม้าต้น | เดชะมนต์ที่สำหรับกับคาถา |
เสียงแจ้งแจ้วแว่วหูอาชาคลา | วิ่งถลาเผ่นโผนโจนทะยาน |
ถึงภูผาหน้ากุฏิ์ก็หยุดอยู่ | มันแสนรู้ที่ในใจหลายสถาน |
มาคุกเข่านบนอบเหมือนหมอบคลาน | อยู่ที่ชานเชิงชลาหน้ากุฎี ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศิลมุนินทร์นาถ | แกลีลาศตามทางหว่างวิถี |
ลงมาส่งนัดดาด้วยปรานี | พระฤๅษีอวยชัยให้จำเริญ |
จงไปดีมาดีอย่ามีทุกข์ | จำเริญสุขอย่าวิตกระหกระเหิน |
ระวังตัวเถิดนะวะอย่าละเมิน | หนทางเดินยากแค้นแสนกันดาร |
แล้วจึงเรียกอาชามาให้ใกล้ | เสกหญ้าให้กินพลางต่างอาหาร |
ม้ามังกรกินหญ้าพระอาจารย์ | ให้เสียวซ่านหนังพองร้องคำรน |
มีกำลังดั่งมิ่งม้าวลาหก | แล้วโผนผกแผดร้องลำพองขน |
สุดสาครโดดขึ้นหลังลงกลางชล | ม้าคำรนเหมือนจะลาพระอาจารย์ |
สุดสาครอภิวันท์ประสานหัตถ์ | ควบกัณฐัศว์ลับเขตประเทศสถาน |
ม้าก็วิ่งไวไวไปมินาน | พระอมแก้วสุริยกานต์วราพร ฯ |
๏ ฝ่ายโยคีเห็นลับก็กลับหลัง | ขึ้นมายังกุฎีหน้าสีขร |
สุริยงลงลับยุคุนธร | แกก็จรขึ้นไปนั่งยังกุฎี |
พวกศิษย์หามานั่งปรนนิบัติ | ไม่ข้องขัดตามจริตกิจฤๅษี |
เป็นผาสุกทุกทิวาประสาชี | อยู่ในที่ถิ่นฐานสำราญกาย ฯ |