- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
๏ จะกลับกล่าวเจ้าเมืองสำปันหนา | แขกชวาล้ำเลิศประเสริฐศรี |
เจ้าพาราอายุสามสิบปี | ชื่อชวีรายาขอบตาแดง |
คล้ายทับทิมริมแววแก้วตานั้น | กลมเป็นมันดำดีเป็นสีแสง |
แต่ฟันเหลืองเรืองรองเป็นทองแดง | ใครทิ่มแทงมิได้ลงคงกระพัน |
มเหสีมีนามตามภาษา | ชื่อบุหงาโชติช่วงดวงบุหลัน |
มีบุตรีสีเนื้อดังเจือจันทน์ | อายุนั้นได้สิบสี่ปีมะแม |
ดูคมขำสำอางเหมือนอย่างหุ่น | พึ่งแรกรุ่นผ่องพ่วงดั่งดวงแข |
คล้ายมารดาสารพันไม่ผันแปร | ชื่อดวงแขรัศมีศรีโสภา |
ดังดวงจิตปิตุเรศเกศกษัตริย์ | ท้าวเธอจัดนักสนมทั้งซ้ายขวา |
เป็นพี่เลี้ยงเคียงพระราชธิดา | ล้วนลักขณาผ่องศรีฉวีนวล |
อันพาราผาสุกสนุกสนาน | แต่ล้วนบ้านเศรษฐีมีเรือกสวน |
ทั้งทรัพย์สินบริบูรณ์ประมูลมวล | ขายแต่ล้วนเพชรพลอยตั้งร้อยพัน |
มีเรือไฟใหญ่น้อยสักร้อยเศษ | เที่ยวแล่นหวังฟังเหตุทุกเขตขัณฑ์ |
กำปั่นรบทอดท่าไว้ห้าพัน | ได้ป้องกันศัตรูหมู่ปัจจา |
ทหารรบลงประจำลำละร้อย | เครื่องใช้สอยนับหมื่นล้วนปืนผา |
ทั้งเสน่าหลาวโล่โตมรา | พร้อมสาตรามีประจำทุกลำเรือ |
นายทหารเหน็บกริชฤทธิรุทร | ใส่หมวกครุฑอย่างฝรั่งเกราะหนังเสือ |
อาญาสิทธิ์คิดอ่านในการเรือ | ทั้งใต้เหนือคอยระวังให้นั่งยาม |
พวกที่มาค้าขายหลายภาษา | จะไปมาแล้วก็กักให้ซักถาม |
แม้นรู้เรื่องราวชี้คดีความ | ไม่ห้ามปรามปล่อยให้ไปสบาย ฯ |
๏ จะกล่าวลำกำปั่นที่แตกทัพ | ออกแล่นลับเร็วรี่เที่ยวหนีหาย |
สลาตันตีพัดกระจัดกระจาย | เที่ยวเรี่ยรายหลีกหลบไม่พบกัน |
พวกล้าต้าต้นหนพลไพร่ | บนเป็ดไก่สิ่งละคู่กับหมูหัน |
ขอเชิญเจ้าอ่าวทะเลทั้งเทวัญ | ช่วยป้องกันโภยภัยอย่าให้พาน |
พวกลางคนจะบนเมียไม่เสียของ | ไปร่วมห้องเขาคงให้กินไข่หวาน |
จะไปนั่งเสียของไม่ต้องการ | เขาขี้คร้านต้มแกงแรงสินบน ฯ |
๏ พอขาดคำลมเรื่อยมาเฉื่อยฉิว | ติดใบปลิวคว้างคว้างมากลางหน |
สิ้นเสบียงเลี้ยงเหล้าพวกชาวพล | แต่เวียนวนแล่นมาในสาคร |
ถึงสามเดือนเคลื่อนคล้อยแค่ลอยล่อง | ไปตามร่องคลื่นกลิ้งเท่าสิงขร |
ข้ามมหาสาคโรชโลทร | ใกล้นครปากอ่าวเมืองเจ้านาย |
เที่ยวสืบเสาะเกาะแก่งทุกแห่งห้อง | ที่ในท้องวังวนชลสาย |
ไม่ได้ความถามข่าวถึงเจ้านาย | ฝ่ายนายท้ายแล่นเข้าออกบุรี |
พวกชาวเพชรกำพลมากล่นเกลื่อน | ถามถึงเพื่อนพวกเหล่าชาวกรุงศรี |
เมื่อไรเจ้าเราจะมาถึงธานี | ท่านช่วยชี้แจงเล่าให้เข้าใจ |
พวกกำปั่นนั้นว่าเมื่อล่าทัพ | แตกแตนยับเหลือล้นทนไม่ไหว |
ทั้งลูกคลื่นถูกลมระดมไป | กำปั่นใหญ่มิได้แจ้งตำแหน่งความ ฯ |
๏ พวกเสนาข้าเฝ้าเศร้าสลด | ทรวงระทดถอนใจใหญ่แล้วไต่ถาม |
ทูลกระหม่อมจอมณรงค์เมื่อสงคราม | เองได้ความว่าจะรอดหรือวอดวาย |
พวกคนธรรพ์นั้นว่าลมระดมพัด | คลื่นก็ซัดลมแดงแรงใจหาย |
ทั้งเรือรับเรือหนุนเกิดวุ่นวาย | แตกกระจายเสียทีรบไม่พบกัน |
พวกเสนาข้าทูลละอองบาท | ปรึกษาราชการร้อนคิดผ่อนผัน |
ให้หาโหรมาทำนายทายลัคน์จันทร์ | พระเคราะห์นั้นเธอจะร้ายถึงวายวาง |
หรือจะไม่ดับสูญประยูรยศ | จงกำหนดให้ถนัดอย่าขัดขวาง |
จะได้คิดข้อความไปตามนาง | โดยทิศทางเขตแขวงตำแหน่งใด ฯ |
๏ โหรรับนับโฉลกเปกโปกเปาะ | ถูกจำเพาะพระเสาร์เข้าทึ้งไส้ |
ชะตานางกลางคอดตลอดไป | แล้วขับไล่อินทภาษบาทจันทร์ |
ราหูเกาะเคราะห์ร้ายเพราะชายหนุ่ม | อังคารกุมลัคนาถึงอาสัญ |
ไปทางทิศหรดีที่สำคัญ | จะพบพันธุ์หน่อเนื้อในเชื้อนาง ฯ |
๏ เสนาใหญ่สั่งเวรเกณฑ์กำปั่น | เร่งให้ทันเร็วรัดอย่าขัดขวาง |
สักสิบลำทำใบสายระยาง | จัดขุนนางอาสาจามตามบาญชี |
เป็นนายเรือเกลือข้าวเอาบรรทุก | ของดิบสุกเลี้ยงชวากะลาสี |
ทั้งล้าต้าต้นหนล้วนคนดี | พวกที่มีกตัญญูรู้พระคุณ |
เจ้าข้าวแดงแกงร้อนอย่านอนเปล่า | ไปตามเจ้าขาดเหลือได้เกื้อหนุน |
อุตส่าห์ติดตามไปคงให้คุณ | เดชะบุญจะได้มาพาราเรา ฯ |
๏ พวกพหลพลรบลงเรือพร้อม | ชักใบอ้อมโอบใส่บนปลายเสา |
รอกสลักจักรไกผูกไม้เพลา | ติดกับเสาสายกระสันพันระยาง |
ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องล่องจากอ่าว | ออกแล่นก้าวเลี้ยวลัดไม่ขัดขวาง |
ไปตามทิศหรดีวิถีทาง | ใบสล้างตามกันออกสันดอน |
พระพายส่งตรงไปมิได้หยุด | ออกแล่นรุดไปตามทางหว่างสิงขร |
ไม่หยุดยั้งรั้งราพลากร | ต่างรีบร้อนสืบข่าวทุกอ่าวไป |
เมืองจีนจามพราหมณ์แขกเที่ยวแยกย้าย | เรือค้าขายแวะถามตามสงสัย |
เพราะว่าเป็นการร้อนไม่นอนใจ | ทั้งเหนือใต้สืบเสาะตามเกาะเกียน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงชี้แผนที่เขียน |
ให้ตรองตรึกปรึกษาตำราเรียน | ค่อยพากเพียรฝึกฝนกลอุบาย |
ทั้งกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงบุตรสุดสวาท | สามหน่อนาถน้ำเนื้อในเชื้อสาย |
ค่อยจำเริญรุ่นตามกันสามชาย | ดูคล้ายคล้ายจิ้มลิ้มดังพิมพ์เดียว ฯ |
๏ บาทหลวงว่าน่าหัวร่อพ่ออ้ายหนู | เป็นม่ายชู้ม่ายเมียเสียประเดี๋ยว |
ต้องเลี้ยงดูลูกกำพร้าจนหน้าเซียว | เองจะเกี้ยวใครได้เขาไม่ยอม |
เพราะลูกเต้ารุงรังชังน้ำหน้า | เขาย่อมว่ากลิ่นตัวเหมือนหัวหอม |
เหม็นสาบหนอพ่อลูกอ่อนพวกหนอนตอม | เขาไม่ยอมเอ็งดอกบอกจริงจริง ฯ |
๏ พระมังคลาว่าเจ้าคุณอย่าดูถูก | ถึงมีลูกก็ทำไมใจผู้หญิง |
เป็นด้วยชายเชิงฉลาดพูดพาดพิง | เล่นเอาหญิงอ่อนละมุนเหมือนวุ้นลาย |
แต่ยายแก่แม่ม่ายยังตายราบ | ต้องลอกคราบยอมเป็นเมียเหมือนเบี้ยหงาย |
ไม่ทันถึงครึ่งวันครั้งท่านยาย | อันเชื้อชายนี้ไม่เบานะเจ้าคุณ |
พลางพูดจาจ๋อแจ๋พอแก้ทุกข์ | ความสนุกนั้นไม่ถึงสักกึ่งหุน |
สัพยอกศิษย์หาเพราะการุญ | คิดอุดหนุนสอนวิชาสารพัน |
ให้เล่าเรียนเพียรต่อทั้งพ่อลูก | เหมือนส้มสูกแทรกเจือเหลือขยัน |
ผู้ใดกินกลืนซ่านทั้งหวานมัน | ไว้แก้กันตัวเจ้าเมื่อคราวจน |
อันวิชาเรียนร่ำเหมือนน้ำอ้อย | มันอร่อยซาบซุ่มทุกขุมขน |
จะได้คิดมั่วสุมประชุมพล | ต่อเรือกลจักรไกไว้สำรอง ฯ |
๏ ขอกล่าวกลับจับความเรือตามหา | เข้าแดนชวาเห็นละเมาะเกาะทั้งสอง |
ชะวุ้งชะวากปากน้ำเหมือนลำคลอง | เขม้นมองไรไรยังไกลตา |
กัปตันเห็นไม่ถนัดให้วัดแดด | เอาแว่นแฝดส่องสว่างกลางเวหา |
เขม้นหมายฉายแสงพระสุริยา | พลิกตำราแผนที่ออกคลี่ดู |
นี่ปากน้ำสำปันหนาพาราแขก | ภาษาแปลกพวกทมิฬไม่กินหมู |
บอกต้นหนคนเราแวะเข้าดู | เพื่อจะรู้เรื่องราวที่ข่าวนาย |
เห็นพร้อมจิตคิดให้จอดทอดเสมอ | พอเรือรอเรียงกันแล้วผันผาย |
ลงเรือบดปลดกระเชียงออกเรียงราย | ทั้งบ่าวนายตีเข้าอ่าวบุรี |
ถึงด่านกลางทางแวะเข้าไต่ถาม | นายด่านห้ามอย่าเพ่อไปในกรุงศรี |
เป็นลูกค้ามาขายหรือไพรี | เล่าคดีให้กระจ่างอย่าพรางกัน ฯ |
๏ นายเรือบอกออกความที่ถามซัก | ให้ประจักษ์แจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
เราอยู่กำพลเพชรขอบเขตคัน | ตัวเรานั้นอยากจะเฝ้าเจ้านคร |
ขุนด่านฟังสั่งเสมียนให้เขียนบอก | จำลองลอกข้อความนำอักษร |
ไปกราบทูลท่านท้าวเจ้านคร | จะผันผ่อนโปรดปรานประการใด |
พวกสำหรับรับถือหนังสือบอก | ลงเรือออกจากท่าชลาไหล |
เร่งฝีพายหมายมุ่งเข้ากรุงไกร | ถึงแล้วไปบอกขุนนางจางวางเวร ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพารามหากษัตริย์ | สรงสหัสธาราทาพิมเสน |
นางถวายอยู่งานพัดจัดเป็นเวร | แต่ล้วนเกณฑ์หม่อมห้ามทั้งงามงอน |
ทรงภูษาค่าเมืองเรืองจำรัส | ปั้นเหน่งเม็ดเพชรรัตน์ประภัสสร |
ฉลององค์พื้นแดงแย่งมังกร | เจียระบาดตาดซ้อนลายสุวรรณ |
เหน็บพระแสงกริชกุดั่นกัลเม็ด | ประดับเพชรพลอยพรายสายกระสัน |
โพกพระเศียรส่านแดงแย่งเครือวัลย์ | เช็ดหน้าพันผูกพระศอจรลี |
ออกพระโรงรจนาฝากระจก | บุษบกอย่างเทศวิเศษศรี |
พร้อมขุนนางทุกตำแหน่งแจ้งคดี | พลางก็คลี่ใบบอกนั้นออกทูล ฯ |
๏ ในสาราข้าพเจ้าพวกชาวด่าน | ขอกราบกรานภูวไนยมไหสูรย์ |
มีกำปั่นยาวใหญ่อันไพบูลย์ | ทั้งทูตทูลสารามาด้วยกัน |
เป็นข้าเฝ้าเจ้าเมืองกำพลเพชร | ขุนนางเจ็ดจะเข้าไปไอศวรรย์ |
เฝ้าพระองค์พงศ์สวัสดิ์ทรงสัตย์ธรรม์ | ถวายบรรณาการแจ้งบ้านเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าชวารายานั้น | เกษมสันต์ฟังเสนาะเพราะหูเหือง |
มีบัญชาให้ไปหาพวกแขกเมือง | ได้รู้เรื่องราชการสถานใด |
เร่งจัดแจงแต่งเรือไปรับสาร | จะว่าขานงอนง้อที่ข้อไหน |
พอสั่งเสร็จพระเสด็จเข้าวังใน | พวกคนใช้สารวัดไปจัดการ |
ที่นั่งหงส์ลงไปรับเรือคับคั่ง | ประโคมสังข์แตรแซ่ประสาน |
มีธงริ้วทิวรายหลายประการ | ไปถึงด่านปากน้ำพอค่ำคืน |
แจ้งรับสั่งกับขุนด่านเป็นการโปรด | สมประโยชน์เสวกาไม่ฝ่าฝืน |
แล้วรีบลงหงส์ที่นั่งในกลางคืน | เสียงครึกครื้นอัดแอแซ่สำเนียง |
พวกเสนาที่เป็นนายฝ่ายทหาร | กับนายด่านเร่งกันสนั่นเสียง |
เรือรูปสัตว์เสือหมีตีกระเชียง | แล้วพายเรียงรีบมุ่งเข้ากรุงไกร ฯ |
๏ พอเช้าตรู่สุริยาภาณุมาศ | ก็โอภาสรุ่งสางสว่างไข |
ประทับท่าหน้าแพแลวิไล | แล้วก็ให้ตั้งกระบวนจวนเวลา |
เอารถรัดจัดแจงแต่งมารับ | เครื่องสำหรับแห่แหนดูแน่นหนา |
ฉัตรกระชิงกลิ้งกลดรจนา | กระบวนม้ากระบวนธงตรงเข้าเมือง |
ขุนนางทูตขี่รถกั้นกลดระย้า | เทียมด้วยม้าพาชีล้วนสีเหลือง |
ประโคมแตรแห่แหนมาแน่นเนือง | พร้อมทั้งเครื่องทวนธงอลงกรณ์ |
ถึงประตูบูรีที่ประทับ | มีผู้รับบรรณาการสารอักษร |
แล้วนำแขกเมืองไปในนคร | ให้เร่งจรเข้าไปเฝ้าเจ้าบุรินทร์ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าชวาอาณาจักร | บำรุงรักราษฎรอาวรณ์ถวิล |
พระเดชาอานุภาพปราบทมิฬ | ครองบุรินทร์เปรมปราสถาวร |
พอสามโมงนาฬิกากับห้าบาท | ก็ยุรยาตรจากสุวรรณบรรจถรณ์ |
เสด็จออกพระโรงคัลอันบวร | พร้อมนิกรพวกอำมาตย์มาตยา |
เธอไต่ถามความเมืองใครเคืองขัด | จะได้ตัดสินสุดไม่มุสา |
ใครร้อนรนหม่นหมองร้องฎีกา | พวกประชามีบ้างหรืออย่างไร ฯ |
๏ พวกเสนาทูลสนองละอองบาท | การวิวาทข่มขี่หามีไม่ |
ราษฎรเป็นสุขไม่ทุกข์ภัย | ไม่มีใครฟ้องร้องต้องคดี |
แต่ขุนนางข้างเมืองกำพลเพชร | มาพร้อมเสร็จว่าจะเฝ้าเจ้ากรุงศรี |
จะขอเป็นเกือกทองรองธุลี | นำสารศรีมาสนองรองบาทา ฯ |
๏ ท้าวเธอฟังสั่งให้อาลักษณ์อ่าน | ในเรื่องสารของขุนนางต่างภาษา |
กราบบังคมสมเด็จกรุงชวา | ขอพึ่งพาบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ |
ซึ่งองค์ท้าวรามเดชเกศกษัตริย์ | ผ่านสมบัติกรุงไกรไอศวรรย์ |
ทิวงคตหมดวงศ์หมดพงศ์พันธุ์ | จึงยกท่านมเหสีมีตระกูล |
ขึ้นเสวยสวรรยาราชาภิเษก | มอบเศวตฉัตรชัยทั้งไอศูรย์ |
มีหน่อท้าวเจ้าพารานั้นมาทูล | ว่าพลัดประยูรพงศ์เผ่าเป็นเจ้านาย |
ชื่อพระมังคลานราราช | นางมอบราชสมบัติเหมือนมาดหมาย |
เลี้ยงเป็นบุตรสุดสวาทไม่คลาดคลาย | ไร้สืบสายสุริย์วงศ์เป็นพงศ์พันธุ์ |
อยู่ได้ห้าปีครึ่งถึงเดือนหก | พากันยกพวกพหลพลขันธ์ |
เกณฑ์ทหารชาญณรงค์คงกระพัน | ลงกำปั่นพากันหายไปหลายปี |
ให้ข้าพเจ้าอยู่รักษาอาณาเขต | แม้นเกิดเหตุเป็นไฉนในกรุงศรี |
ใช้เรือให้ไปตามถึงสามปี | มิได้มีร่องรอยแต่คอยฟัง |
แม้นมิพบเจ้านายเหมือนหมายมุ่ง | ขอขึ้นกรุงสำปันหนาเหมือนข้าหวัง |
เป็นเจ้านายหมายจิตไม่ปิดบัง | จะขอตั้งสัจจาเหมือนมาทูล ฯ |
๏ พระทรงฟังสังเวชเสนานัก | อาณาจักรแผ่นดินจะสิ้นสูญ |
ถ้าแม้นเราจะสละไม่อนุกูล | ก็จะสูญซึ่งสมบัติกษัตรา |
จำจะช่วยติดตามข้ามสมุทร | กว่าจะสุดเขตแขวงทุกแห่งหา |
แม้นได้เชื้อเนื้อหน่อกษัตรา | คืนพาราไว้ก็เห็นจะเป็นคุณ |
จึ่งดำรัสตรัสว่าอย่าเป็นทุกข์ | แม้นเกิดยุคล้ำเหลือจะเกื้อหนุน |
เราขอบจิตคิดถึงจะพึ่งบุญ | อย่าเพ่อวุ่นวายไปภัยจะมี |
แม้นตามไปไม่พบนางกฤษณา | จึงค่อยหาผู้บำรุงซึ่งกรุงศรี |
เราขอคิดติดตามอีกสามปี | ถ้าแม้นมิพบปะจึงจะครอง |
จะจัดลำกำปั่นไฟให้ไปด้วย | จะได้ช่วยเสาะหาท่านอย่าหมอง |
คงจะได้สมนึกท่านตรึกตรอง | อยู่สักสองสามเวลาจึงคลาไคล ฯ |
๏ ครั้นสั่งเสร็จท้าวเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์เนาวรัตน์จำรัสไข |
ฝ่ายเสนาข้าเฝ้าของท้าวไท | รีบออกไปสั่งงานจัดการเรือ |
ไปหาลำกำปั่นเข้าบรรจบ | ทหารรบรวมไปทั้งใต้เหนือ |
จ่ายเสบียงเลี้ยงบ่าวทั้งข้าวเกลือ | ใช้ในเรือกลไฟให้หลายพัน ฯ |
๏ ถึงสี่ค่ำกำหนดประณตน้อม | ทูลลาจอมกรุงไกรไอศวรรย์ |
พวกขุนนางที่จะไปให้รางวัล | ทั้งแพรพรรณเสื้อหมวกพวกทูลลา |
เสด็จขึ้นพากันตรงลงกำปั่น | พลขันธ์ไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ลงเรือไฟใช้จักรอันศักดา | แล่นออกมาจากบุรีพอสี่โมง |
ถึงปากอ่าวเช้าตรู่จะดูฤกษ์ | เอิกเกริกเร่งไฟใส่โขมง |
กำปั่นใบใส่เพลาเสากระโดง | สายระโยงระยางขึงให้ตึงดี |
พอได้ฤกษ์เลิกโห่ขึ้นสามหน | ยิงปืนกลทองปรายท้ายบาหลี |
นายท้ายนั่งตั้งเข็มไว้เต็มดี | ดูแผนที่ไปพลางในกลางชล |
กัปตันส่องกล้องแก้วแววสว่าง | ดูทิศทางเกาะแก่งทุกแห่งหน |
ไปเดือนครึ่งถึงประเทศเขตตำบล | ชื่อเกาะถนนนาคินเป็นดินดาน |
เกิดไพฑูรย์อย่างดีสีประหลาด | ใสสะอาดน้ำมณีสีสัณฐาน |
เหลืองเหมือนทองผ่องศรีมีสังวาล | ที่เขียวพานน้ำกลอกขาวหมอกมูล |
ที่สีดำน้ำนิลดีปลาสร้อย | ตำราพลอยเรียกว่าตาอิสูร |
รบพระอินทร์สิ้นชีวงพงศ์ประยูร | อัฐิมูลอยู่ที่เกาะจำเพาะมี ฯ |
๏ พวกเรือแตกแขกฝรั่งมาตั้งบ้าน | ทำตึกร้านเจียระไนมีหลายสี |
ทั้งจีนจามพราหมณ์ต้องซื้อของดี | ไปขายที่มังกะหล่าหากำไร |
พวกกำปั่นนั้นแวะเข้าที่เกาะ | เที่ยวสืบเสาะไต่ถามตามสงสัย |
บ้างซื้อหาอาหารสำราญใจ | ที่เที่ยวไปสืบข่าวเจ้าพารา |
เห็นพราหมณ์เฒ่าเจ้าบ้านนั่งสานพ้อม | เข้าเกลี้ยกล่อมนั่งไหว้แวะไปหา |
ฝ่ายตาพราหมณ์ถามไต่ไปไหนมา | พวกเสนาบอกความไปตามตรง |
ข้าพเจ้าเป็นชาวกำพลเพชร | เที่ยวเตร่เตร็ดวุ่นวายเพราะนายหลง |
ข้ามละเมาะเกาะเกียนแต่เวียนวง | ไม่พบองค์นางพระยาเจ้าธานี |
ท่านพบเห็นเป็นไฉนจงให้ข่าว | ได้เรื่องราวบอกบ้างทางวิถี |
ประเทศทางกลางแถวแนวนที | กำปั่นมีมาบ้างหรืออย่างไร ฯ |
๏ ฝ่ายพราหมณ์เฒ่าเล่าแจ้งแสดงข่าว | เมื่อครั้งคราวปีระกาข้าอาศัย |
มีกำปั่นนั้นมาจอดทอดอยู่ไกล | เห็นยาวใหญ่กว่าแต่หลังได้นั่งมอง |
เรือที่มาค้าขายนั้นไม่เท่า | ออกแล่นก้าวเร็วรี่ไม่มีสอง |
แต่ข้างท้ายลายหงส์มีธงทอง | ไปทางห้องหรดีตรงชี้มือ |
ถูกเหมือนท่านบอกแจ้งแถลงเล่า | ข้าพเจ้าขอรับด้วยนับถือ |
จะตามไปทุกถิ่นให้สิ้นมือ | ตาพราหมณ์ฮือเหมือนข้าเจ้าก็เศร้าใจ |
เดิมถิ่นฐานบ้านอยู่กบิลพัสดุ์ | ปะสลัดตีเรือเหลือวิสัย |
จะสู้เขาเล่าก็น้อยถอยหนีไป | มันก็ไล่ตีชิงยิงด้วยปืน |
พอเรือหันฟันใบเอาไปทิ้ง | เข้าตีชิงเอาต่อหน้าไม่ฝ่าฝืน |
มันโกยเอาสินทรัพย์ไปกับปืน | พอมีคลื่นลมกล้าสลาตัน |
พยุหวนป่วนปั่นหางเสือหัก | มันก็ชักใบเร่ออกเหหัน |
เรือข้าเจ้าซัดมาสิบห้าวัน | แต่พวกกันล้มตายลงหลายคน |
พอเกิดมีลมว่าวเสือกเข้าเกาะ | กำลังเคราะห์ว้าเหว่ระเหระหน |
พวกเหลือตายทั้งข้าเจ้าสิบเก้าคน | แต่อยู่บนเกาะมาสิบห้าปี |
แต่พวกเขาเหล่านั้นสักพันเศษ | ล้วนแขกเทศวิลันดาพาราณสี |
พวกที่อยู่ตึกตั้งเขามั่งมี | เพราะเกาะนี้คุ้มกันอันตราย |
ด้วยไพฑูรย์มูลมองของวิเศษ | ทุกประเทศนับถือได้ซื้อขาย |
เป็นของดีมีคุณไม่วุ่นวาย | เฝ้าเจ้านายเมตตาทุกธานี |
อยู่เรือนใครไพบูลย์พูนสวัสดิ์ | คุ้มอุบัทว์ไภยันทั้งกันผี |
ทั้งโรคันอันตรายไม่ยายี | ผู้ใดมีเก็บไว้ในตระกูล |
จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้หมด | คงปรากฏโภไคยทั้งไอศูรย์ |
เพราะตำราว่าไว้ในไพฑูรย์ | มีสกูลกว่าเพชรเจ็ดประการ |
แล้วพราหมณ์เฒ่าเอาแหวนออกส่งให้ | เก็บเอาไว้กันตัวชั่วลูกหลาน |
ท่านจะไปในระหว่างทางกันดาร | คุ้มภัยพาลสารพัดพวกศัตรู |
อีกเดือนครึ่งจะถึงเกาะกาหวี | ล้วนแต่มีพวกทมิฬไม่กินหมู |
มันร้ายกาจชาติอุบัทว์เป็นศัตรู | อยู่ประตูเมืองคอยตั้งร้อยพัน |
พวกไปมาค้าขายแม้นใครแวะ | มันจับแทะกินปอดตลอดสัน |
กระดูกกระเดี้ยวเคี้ยวป่นไม่ทนฟัน | กินเสียวันเดียวหมดเพราะอดโซ |
เจ้าจะไปในประเทศเขตสิงขร | อย่าหลับนอนเอกาอนาโถ |
ทั้งสัตว์ร้ายในมหาสาคโร | ตัวโตโตพ่นน้ำเท่าลำตาล ฯ |
๏ พวกกำปั่นฟังท่านพฤฒาเฒ่า | แถลงเล่าถึงทะเลเทวฐาน |
เป็นถิ่นที่ยากแค้นแสนกันดาร | จะประมาณแถวทางกลางทะเล |
ท่านสอนสั่งฟังคำจำเอาไว้ | แล้วกราบไหว้ลงกำปั่นไม่หันเห |
เอาหัวตรงลงไปอาคเนย์ | ค่อยหันเหเข็มต่อหรดี |
บ้างติดใบใช้จักรชักสมอ | ตีม้าฬ่อแล่นไปในวีถี |
ต้นหนนั่งตั้งเข็มไว้เต็มดี | ดูแผนที่ใช้ใบทั้งไกกล |
ออกแล่นกลางทางมหามหรณพ | เรือสมทบแลสล้างมากลางหน |
ฝูงมัจฉาปลาร้ายขึ้นว่ายวน | ในสายชลน้ำแดงดั่งแสงเพลิง ฯ |
๏ ฝูงราหูฟูฟ่องขึ้นล่องเล่น | ฉนากเห็นฟาดเปิดเตลิดเหลิง |
ฉลามไล่ฮุปฟัดกระจัดกระเจิง | โลมาเริงผุดพ้นชลธาร |
ฝูงพิมพาพากันไล่ฟันคลื่น | เพียนทองพื้นเพียนทองซ้องประสาน |
ฝูงเหราร่าเริงละเลิงลาน | พวกปลาวาฬวานว่ายในสายชล |
ฝูงเงือกน้ำดำด้นเที่ยวค้นคู่ | เป็นหมู่หมู่กลอกกลับอยู่สับสน |
มังกรกลาดฟาดหางในกลางวน | เที่ยวดั้นด้นหาเหยื่อเหลือคะนอง |
พวกฝูงปลาหน้าคนขึ้นกล่นเกลื่อน | ว่ายตามเพื่อนพวกกันผันผยอง |
ฝูงม้าน้ำทำท่าม้าลำพอง | เผ่นผยองอย่างพระยาอาชาไนย |
อันสัตว์ร้ายหลายหลากมากนักหนา | จะพรรณาก็มิอาจจะหวาดไหว |
จะจดจำร่ำว่าจะช้าไป | แต่พอได้เรื่องราวดังกล่าวกลอน |
กำปั่นไฟไปถึงเกาะกาหวี | เข้าจอดที่เมืองใหม่ใกล้สิงขร |
ทั้งเรือใบใส่เสบียงเลี้ยงนิกร | เข้าพักผ่อนทอดเรียงเคียงกันไป |
กำหนดครบเดือนครึ่งพอถึงเข้า | เหมือนพราหมณ์เฒ่าชี้แจงแถลงไข |
ดูถิ่นฐานบ้านเมืองติดเนื่องไป | เห็นจะได้สืบสาวถึงเจ้านาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | อยู่กับบาทหลวงอาจารย์นานใจหาย |
เมื่อจะพบไพร่ฟ้าเสนานาย | ค่อยสบายหลับนอนไม่ร้อนรน |
เกิดนิมิตพิสดารว่าดวงแก้ว | สว่างแววอยู่บนฟ้าเวหาหน |
แล้วตกลงตรงหน้าประชาชน | เกิดเป็นฝนสาดรอบขอบคีรินทร์ |
แล้วดวงแก้วแววเวียนวิเชียรช่วง | เป็นรุ้งร่วงอยู่บนแท่นแสนถวิล |
พระฟื้นองค์สรงชลหมดมลทิน | หน่อนรินทร์ทั้งสามตามลีลา |
ออกแท่นรัตน์ชัชวาลอย่างฝรั่ง | พร้อมสะพรั่งไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
พอบาทหลวงลุกเดินดำเนินมา | พระมังคลาเชิญให้นั่งบัลลังก์ทอง |
แล้วเล่าตามความฝันอันนิมิต | บาทหลวงคิดเห็นดีไม่มีสอง |
ฝันว่าแก้วรัศมีสีเรืองรอง | คือพวกพ้องเราจะมาถึงธานี |
ซึ่งฝนตกรอบเกาะที่เคราะห์ร้าย | จะสูญหายลาภเลิศประเสริฐศรี |
อันดวงแก้วแววสว่างกระจ่างดี | ตกบนที่แท่นรัตน์ชัชวาล |
คงได้คู่สู่สมภิรมย์รส | จะปรากฏแจ้งสิ้นทุกถิ่นฐาน |
คอยฟังข่าวเขาคงมาไม่ช้านาน | เห็นได้การจริงจังเองฟังดู |
แล้วอวยพรให้สวัสดิ์พิพัฒน์ผล | เป็นมงคลเหมือนกว่าหนาอ้ายหนู |
ชัยชนะสารพัดแก่ศัตรู | ให้มีผู้กรุณาในสามัญ ฯ |
๏ พระมังคลาสาธุขอลุลาภ | แม้นได้ปราบศึกเสือเหลือขยัน |
รับเอาพรพระอาจารย์สำราญครัน | กำหนดวันเดือนปีที่ทำนาย ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายกำปั่นมาบรรจบ | ทั้งเรือรบเรือไฟเหมือนใจหมาย |
พร้อมสะพรั่งทั้งพหลพลนิกาย | ขึ้นหาดทรายเดินมาหน้าบุรี |
เห็นผู้คนในพาราออกหาผัก | จึงร้องทักพวกไพร่ในกรุงศรี |
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที | ชาวบุรีซักถามไปตามแคลง |
มาแต่ไหนนายขาบอกข้ามั่ง | จะขอฟังท่านจงกล่าวเล่าแถลง |
หรือว่าเป็นพวกสลัดเที่ยวลัดแลง | มาแอบแฝงปล้นชิงหรือวิ่งราว ฯ |
๏ พวกกำปั่นนั้นว่าข้าคนซื่อ | มิได้ถือโจรกรรมเที่ยวทำฉาว |
การโกหกฉกชิงหรือวิ่งราว | ท่านอย่ากล่าวหยามหยาบจะบาปกรรม |
เราเป็นพวกคนธรรพ์เหมือนมั่นหมาย | ตามเจ้านายที่ท่านชุบอุปถัมภ์ |
กตัญญูรู้บ้างในทางธรรม | เราอยู่กำพลเพชรเขตนคร ฯ |
๏ พวกชาวเมืองรู้แจ้งไม่แคลงจิต | นั่งพินิจรู้ตลอดแล้วทอดถอน |
คะนึงพลางทางมีสุนทรวอน | ท่านอยู่ก่อนจะไปแจ้งแสดงความ |
แล้วลุกลาพาเพื่อนกันกลับหลัง | เข้าในวังบอกขุนนางต่างไต่ถาม |
ว่าเมืองเราเขาคิดมาติดตาม | ท่านเอาความกราบทูลมูลคดี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | ออกนั่งอาสน์เนาวรัตน์จำรัสศรี |
พร้อมสะพรั่งทั้งพหลแลมนตรี | นำคดีทูลองค์พระทรงธรรม์ |
ว่าข้าเก่าเหล่าเมืองกำพลเพชร | มาเบ็ดเสร็จเจ็ดนายรีบผายผัน |
ทั้งชวามาตามด้วยครามครัน | ถึงพร้อมกันจะมาเฝ้าเจ้าแผ่นดิน ฯ |
๏ พระอิ่มเอมเปรมปราในมาโนช | รับสั่งโปรดชื่นชมสมถวิล |
จงเร่งรีบรับมาในธานินทร์ | ชาวบุรินทร์อุตส่าห์คิดมาติดตาม |
ขุนนางสั่งม้าใช้ให้ไปบอก | เขาอยู่นอกเวียงชัยเร่งไปถาม |
พวกขุนนางต่างแจ้งแห่งเนื้อความ | ก็รีบตามมาเฝ้าถึงเจ้านาย |
ศิโรราบกราบก้มบังคมบาท | กับปนาทนึกไปแล้วใจหาย |
ไม่เห็นองค์นางพระยาเสนานาย | จึ่งภิปรายทูลถามด้วยความแคลง |
อันพระยอดเยาว์วิมลไปหนไหน | จึงมิได้เสด็จมาข้ายังแหนง |
หรือกริ้วโกรธโทษทัณฑ์ฉันยังแคลง | ขอพระองค์จงแจ้งแสดงความ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาปัญญาฉลาด | กับสังฆราชตรึกไตรฟังไต่ถาม |
จึงเอื้อนอรรถตรัสบอกออกเนื้อความ | เมื่อเราข้ามฟากฝั่งไปลังกา |
ทำสงครามสามเดือนไม่เคลื่อนคลาด | กับหมู่ญาติเผ่าพงศ์พวกวงศา |
เกิดวิบัติขัดขวางกลางชลา | เพราะนัดดาลักพระขรรค์จึงอันตราย |
ทัพก็แตกแยกย้ายพลัดพรายหมด | นางกำสรดเศร้าใจมิใคร่หาย |
เราจึ่งเข้าปรนนิบัติไม่คลาดคลาย | นางภิปรายปราศรัยเป็นไมตรี |
ให้เราผู้ลูกเลี้ยงเคียงถนอม | นางยินยอมในเล่ห์มเหสี |
ตามประสงค์ตรงเสน่ห์ประเวณี | จึ่งได้มีบุตรตามกันสามองค์ |
แล้วพระนางวางวายทิวงคต | เธอเปลื้องปลดไปสวรรค์อันประสงค์ |
ฝากกุมารหน่อเนื้อในเชื้อวงศ์ | ให้ดำรงมนเทียรวิเชียรพราย |
เทวสินธุ์ผู้พี่นี่แน่ท่าน | ถัดไปนั่นน้องกลางเหมือนอย่างหมาย |
ให้ชื่อเทพจินดาดาราราย | นั่นน้องชายราเมศวิเศษครัน |
เราจึ่งพามาอยู่ในเมืองนี้ | เพราะบุญมีมากเหลือเชื้อสวรรค์ |
นางไปอยู่สถานวิมานจันทร์ | ชื่อนาควันเทวบุตรเหมือนภุชงค์ ฯ |
๏ พวกขุนนางต่างทราบเนื้อความสิ้น | ว่านางปิ่นอิศราพระยาหงส์ |
สิ้นประยูรสูญชีวิตถึงปลิดปลง | แล้วทูลองค์มังคลาเจ้าธานี |
คืนประเทศเขตขอบกำพลเพชร | เชิญเสด็จไปบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ราษฎรร้อนใจเพราะไม่มี | เจ้าบุรีป้องกันสวรรยา |
จะขอเชิญหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ | ผ่านสมบัติไอศวรรย์ให้หรรษา |
ทั้งจะได้ปกเกล้าชาวประชา | พระมังคลารับคำจะทำตาม |
จึ่งปรึกษาสังฆราชท่านบาทหลวง | ถูกกระทรวงหรือไม่ขอไต่ถาม |
พระคุณเห็นเป็นไฉนจะได้ตาม | ด้วยเป็นความไกลตาต้องหารือ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงห่วงทรัพย์ที่เมืองนั้น | คิดผ่อนผันกันไปไม่ได้หรือ |
เอาลูกชายครองเมืองให้เลื่องลือ | เจ้าที่ชื่อเทวสินธุ์อยู่กินแทน |
เทพจินดาน้องที่สองนั้น | รับพระบัณฑูรเล่าได้เฝ้าแหน |
เป็นฝ่ายหน้าว่าราชการแทน | อยู่เขตแดนวังหน้าริมสาคร |
แต่ราเมศน้องชายเป็นฝ่ายหลัง | ให้ไปตั้งอยู่ที่ท้ายชายสิงขร |
เร่งแต่งงานการภิเษกสยุมพร | ครองนครเป็นกษัตริย์สวัสดี |
ภิเษกสามตามวงศ์ดำรงภพ | ขจรจบเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
เสร็จภิเษกเอกฉัตรสวัสดี | บรรดาที่คนเก่าอย่าเอาไป |
แล้วพระองค์ทรงสั่งการภิเษก | เสนาเอกรับสั่งนั่งไสว |
เร่งบาดหมายทุกตำแหน่งให้แจ้งใจ | เร่งทำในเจ็ดวันเหมือนสัญญา ฯ |
๏ พอสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์แท่นสุวรรณด้วยหรรษา |
พนักงานจัดแจงแต่งพารา | สี่ปรางค์ปราจะภิเษกเป็นเอกองค์ |
ตั้งพิธีสี่เสาเพดานดาด | ผ้าขาวลาดสุจหนี่แต่งที่สรง |
ราชวัติฉัตรสุวรรณให้กั้นองค์ | พระเต้าสรงสังข์กลศรดวารี |
ทิพย์ปทุมธารากระยาสนาน | ตั้งเครื่องอานอย่างเอกภิเษกศรี |
แว่นสุวรรณขันถมยาราชาวดี | พานพระศรีพระแสงทรงอลงกรณ์ |
บายศรีแก้วแวววับประดับเพชร | มงกุฎเก็จเนาวรัตน์ประภัสสร |
เศวตฉัตรพัดโบกแลจามร | พระแสงศรเสโล่โตมรา |
แล้วสำเร็จเสร็จเรื่องพิธีพร้อม | ทูลพระจอมจักรพงศ์พระวงศา |
วันสี่ค่ำกำหนดจะราชา | ภิเษกสามกุมาราครองธานี ฯ |
๏ ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นพิภพ | คิดปรารภที่จะกลับซึ่งกรุงศรี |
เสด็จออกพระโรงคัลอัญชลี | พร้อมทั้งสี่โหราประชากร |
ให้จุดเทียนเวียนแว่นวิเชียรรัตน์ | ตามกษัตริย์อิศโรสโมสร |
ประโคมแซ่แตรสังข์ทั้งแตรงอน | ประสานซ้อนเสียงดังกังสดาล |
มโหระทึกกึกก้องกลองวิลาศ | ทั้งพิณพาทย์จำเรียงเสียงประสาน |
โปรยดอกไม้เงินทองของตระการ | พนักงานทูลถวายฝ่ายกำนัล |
สรงสหัสธารามณฑาภิเษก | มอบเศวกระฉัตรชัยไอศวรรย์ |
แล้วอวยพรหน่อนเรศครองเขตคัน | เป็นจอมจรรโลงลบจบสกล |
ให้อายุเจ้ายืนหมื่นพรรษา | จงวัฒนาในสมบัติพิพัฒน์ผล |
บำรุงประชาราษฎรคิดผ่อนปรน | อย่าให้คนเดือดร้อนเหมือนก่อนมา |
พระเทวสินธุ์จินดาทั้งราเมศ | ครองประเทศไอศวรรย์ให้หรรษา |
พ่อกับท่านสังฆราชจะคลาดคลา | ไปพาราดับร้อนให้ผ่อนเย็น |
ไม่ช้านักจักมาพาราเจ้า | แต่เมืองเก่าเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ |
แม้นมิไปไหนนครจะหย่อนเย็น | ก็จำเป็นไปจำไคลคลา ฯ |
๏ พระเทวสินธุ์ยินคำที่ร่ำสอน | ขอรับพรวางไว้ในเกศา |
ทั้งสามองค์ทรงสะอื้นกลืนน้ำตา | พระมังคลากอดบุตรสุดอาลัย |
พ่อจำเป็นจำพรากไปจากเจ้า | อย่าโศกเศร้าหม่นหมองจงผ่องใส |
พวกคนดีมีวิชาเสนาใน | พ่อก็ให้อยู่กับเจ้าถึงเก้าพัน |
ถึงศัตรูหมู่ปัจจามาทุกทิศ | มันคุมคิดเขาคงฆ่าให้อาสัญ |
อย่าทุกข์ร้อนสอนสั่งระวังกัน | ครองเขตขัณฑเสมาพาราเรา ฯ |
๏ ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | กับสังฆราชจากสถานพิมานเฉลา |
เฉลิมเลิศหลายสีมณีเพรา | กับฝูงเหล่าแขกชวาประชากร |
ลงกำปั่นสุวรรณหงส์มีธงปัก | ท้ายสลักเรืองไรรูปไกรสร |
ที่นั่งทองห้องท้ายลายมังกร | จอดสลอนใต้เหนือล้วนเรือไฟ |
พวกเสนาข้าทูลละอองบาท | เดียรดาษพร้อมพรั่งนั่งไสว |
นายกำปั่นหันระยางให้กางใบ | บ้างติดไฟไขสลักให้จักรเดิน |
ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องกลองสนั่น | ออกกำปั่นจากเกาะดั่งเหาะเทิน |
ชมมัจฉาปลาใหญ่พอใจเพลิน | แล้วรีบเดินเรือมาในสาคร |
กำปั่นตามข้ามมหาสาคเรศ | พ้นประเทศเหล่าละเมาะเกาะสิงขร |
เย็นพยับอับแสงทินกร | พระจันทร์จรแจ่มฟ้านภาลัย |
บาทหลวงเรียกมังคลามาข้างนอก | แล้วชี้บอกดวงดาวขาวไสว |
โรหิณีสีแดงดั่งแสงไฟ | ดาวลูกไก่ตรงหน้าดาวพาชี |
ตำราเรียกฤกษ์สามตามตำหรับ | แม้นเคียงกับจันทราร่วมราศี |
พวกโจรจะกล้าแข็งแรงราวี | เจ้าบุรีราษฎรมักร้อนรน |
ตรงมือชี้นี่แน่ดาวมิคเศียร | เองจงเรียนจำไว้หนาอย่าฉงน |
แม้นร่วมราศีศุกร์มักทุกข์ทน | บังเกิดฝนแล้งไปลูกไม้แพง |
โน่นดาวลูกไก่ใกล้กันกับดาวฆะ | ต้องชนะข้าศึกอย่านึกแหนง |
พลางบอกกล่าวเล่าคดีแล้วชี้แจง | ตามตำแหน่งโหรทายร้ายแลดี |
พอเดือนดับลับฟ้าเวหาหน | เป็นหมอกมนมืดมัวทั่ววิถี |
จวนจะแจ้งแสงอุทัยในนที | ลมก็มีริ้วริ้วติดทิวธง |
ระลอกลั่นครั่นครื้นเป็นคลื่นซัด | พลางแล่นลัดเรือบัลลังก์ที่นั่งหงส์ |
ทั้งเรือตามสามกระบวนปักทวนธง | พวกไต้ก๋งตั้งเข็มเต็มชำนาญ |
หมายประเทศเขตแดนตามแผนที่ | ออกแล่นรี่ไปตามทางหว่างอิสาน |
ชมมหาสาคโรชโลธาร | ตามถิ่นฐานมีละเมาะเป็นเกาะเกียน |
พวกเรือแตกแปลกภาษาขึ้นอาศัย | มีพุ่มไม้หลายหลากดั่งฉากเขียน |
ทั้งกรวดทรายชายหาดดาษเดียร | ดูราบเลี่ยนพรายพร้อยมีหอยปู |
ข้ามชะวากปากอ่าวกบิลพัสดุ์ | แหลมสุหรัดพวกทมิฬไม่กินหมู |
ใกล้ประเทศเขตชวามลายู | ต้นหนดูแผนที่ต่างดีใจ |
อีกวันครึ่งก็จะถึงสำปันหนา | พวกชวาบอกกันเสียงหวั่นไหว |
เกีอบจะถึงถิ่นฐานสำราญใจ | จะได้ไปหาเมียนั่งเคลียคลอ |
กูจากไปสามเดือนแท้แม่อีหนู | จะเล่นชู้หรือกระไรไฉนหนอ |
แม้นถึงเรือนเพื่อนกูคงรู้คอ | ถองให้พ่อตาดูกูไม่ฟัง |
ที่ลางคนบ่นว่าถ้าเช่นนั้น | ชกให้ท่านตาเฒ่านั่งเกาหลัง |
ถึงแม่ยายพายผู้กูไม่ฟัง | ผิดกูนั่งคัดข้อขึ้นต่อเรียน ฯ |