- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
๏ จะกลับกล่าวราวเรื่องพระสังฆราช | แกอาฆาตพวกไทยดั่งไม้ขอน |
มาทุ่มทับอกใจให้อาวรณ์ | จะนั่งนอนไม่เป็นสุขทุกทิวา |
จึงเรียกบาทหลางดาวิดศิษย์ผู้ใหญ่ | เข้ามาใกล้ตรองตรึกพลางปรึกษา |
กูจะใช้ให้เอ็งไปลังกา | ฟังกิจจาแยบคายร้ายหรือดี |
ยังตั้งมั่นแข็งแรงหรือหย่อนฤทธิ์ | จะได้คิดรบพุ่งเอากรุงศรี |
เองจงไปพูดลวงดูท่วงที | ว่ากูนี้ให้บาทหลวงมาทวงเมือง |
มันจะว่าอย่างไรแก้ไขตอบ | ตามระบอบว่าให้รู้ถึงหูเหือง |
ให้มันไปบอกเล่าแก่เจ้าเมือง | ว่าบทเบื้องแต่บุรมบุราณการ |
ของฝรั่งทั้งสิ้นแผ่นดินเกาะ | พูดให้เหมาะตามหลักอย่าหักหาญ |
ถึงมันพูดเกะกะอย่าระราน | ฟังอาการแข็งอ่อนค่อยผ่อนปรน |
แล้วเร่งรีบกลับมาเหมือนว่าขาน | ได้คิดการรบสู้ดูอีกหน |
แกพาศิษย์รีบรัดไปบัดดล | แจ้งยุบลแก่ท้าวเจ้าพารา |
จะขอเรือสักลำกำปั่นใหญ่ | จะใช้ให้ดาวิดผู้ศิษย์หา |
ไปประเทศเขตแคว้นแดนลังกา | ดูพาราเป็นอย่างไรไม่สบาย |
เสียเวียงวังเสียทั้งวาสนา | อ้ายไทยมารวบริบเอาฉิบหาย |
จะใช้ไปดูแยบยลกลอุบาย | แม้นสมหมายชวนกันตีบุรีคืน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวโรมพัฒน์เขาสัตย์ซื่อ | ด้วยนับถือทั่วจังหวัดไม่ขัดขืน |
จึงตรัสสั่งเสนาว่ามะรืน | เร่งจัดปืนผาใส่ในเภตรา |
ทั้งต้นหนคนใช้ในกำปั่น | เจ้าคุณท่านจะให้ไปในมหา |
สาคเรศเขตแคว้นแดนลังกา | ทั้งข้าวปลาเครื่องเสบียงของเลี้ยงคน |
ตำมะหงงผู้รับสั่งมานั่งหมาย | ให้จับจ่ายปืนแขกมาแบกขน |
บรรทุกลำเรือใหญ่พร้อมไพร่พล | บ้างแบกขนของไปใส่เภตรา |
บาทหลวงเฒ่าดีใจกลับไปตึก | สมที่นึกมุ่งมาดปรารถนา |
ให้ดาวิดศิษย์ผู้ใหญ่รีบไคลคลา | ลงนาวาใช้ใบไปมินาน |
ข้ามมหาสาคโรชโลสินธุ์ | ลมก็กินใบจัดแล่นฉัดฉาน |
สั่งให้คอยดูเข็มเต็มชำนาญ | สิบทิวารก็กระทั่งอ่าวลังกา |
ถอนสมอรอราอยู่หน้าป้อม | สะพรั่งพร้อมพลไพร่ทั้งซ้ายขวา |
เรือตระเวนตามฝั่งเกาะลังกา | แล่นออกมาเห็นกำปั่นหน้าสันดอน |
จึงรอราซาใบเข้าไปถาม | พวกแขกล่ามบอกว่าครูผู้สั่งสอน |
คือบาทหลวงดาวิดจิตอาวรณ์ | เที่ยวสั่งสอนศาสนาในสามัญ |
เรือตระเวนไต่ถามได้ความชัด | ก็รีบรัดกลับไปที่ขมีขมัน |
เอาข้อความขึ้นไปแจ้งแถลงพลัน | แก่ตัวท่านเสนาเมืองสาคร |
ว่ากำปั่นพวกแขกแปลกภาษา | ฝรั่งมาเป็นครูผู้สั่งสอน |
มาทอดอยู่ตรงท่าหน้าสันดอน | นามกรดาวิดจิตจำนง |
จะสั่งสอนศาสนาว่าด้วยโลก | จะดับโศกนรชนพวกคนหลง |
ขุนด่านแจ้งแต่งบอกไปโดยจง | ทูลพระองค์เจ้าบุรินทร์ปิ่นลังกา |
พวกคนใช้รีบเข้าไปยังสถาน | ทูลพระผ่านธิบดินทร์ปิ่นมหา |
กษัตริย์เจ้าจอมวังกรุงลังกา | ให้ทราบฝ่าบาทบงสุ์ผู้ทรงชัย ฯ |
๏ กษัตริย์สุดสาครบวรนาถ | ตรัสประภาษแก่เจ้าท่าชลาไหล |
มันเป็นคนเจ้าสำนวนพูดกวนใจ | ครั้นจะให้มันเข้ามาในธานี |
ก็จะพูดยั่วยวนกวนโทโส | ทำโกโรอวดรู้พูดสูสี |
พระจึงสั่งกรมท่าอย่าช้าที | ไปรับที่เมืองด่านชานนคร |
เขาจะมาว่าขานสถานไหน | รีบลงไปฟังกระทู้ผู้มาสอน |
หรือจะมาว่าขานการนคร | อันบทกลอนเขามันเปรื่องที่เรื่องการ ฯ |
๏ ขุนเสนีที่จะไปการรับสั่ง | ก็ถอยหลังมาเรียกคนพหลทหาร |
ขึ้นขี่ขับมิ่งม้าอาชาชาญ | ลงไปด่านปากน้ำที่สำคัญ |
แล้วจัดแจงแต่งที่ตึกทำใหม่ | ตั้งโต๊ะใหญ่เก้าอี้ดีขยัน |
ตั้งคนโทถ้วยน้ำของสำคัญ | ให้จัดสรรรับรองล้วนของดี |
แล้วแต่งเรือเอกชัยฝีพายพร้อม | เรือแห่ห้อมคู่หน้าดาดผ้าสี |
รีบไปถึงกำปั่นด้วยทันที | ขุนเสนีก็ขึ้นไปในเภตรา |
บาทหลวงว่ามานั่งบนเก้าอี้ | สูบบุหรี่ให้สบายก่อนนายขา |
แล้วจะได้ขึ้นไปสนทนา | กับมหาอำมาตย์ข้าราชการ |
แล้วเรียกพวกคนใช้ในกำปั่น | มาพร้อมกันสี่คนเหมือนพลทหาร |
สำหรับตามขึ้นไปได้ใช้การ | ลุกลนลานรีบตรงมาลงเรือ |
กับบาทหลวงพร้อมกันมิทันช้า | ขุนเสนาเร่งให้พายไปฝ่ายเหนือ |
ถึงเมืองด่านชานสมุทรให้หยุดเรือ | เชิญขึ้นเหนือรถารีบคลาไคล |
เข้าประตูเมืองด่านชานสมุทร | แล้วยั้งหยุดรถเรียงเคียงไสว |
เสนาพาดาวิดขึ้นบันได | เข้าตึกใหญ่ท่านเสนีผู้ปรีชา |
มาคำนับจับมือเชิญไปนั่ง | ที่โต๊ะตั้งเก้าอี้ที่ปรึกษา |
ราชการบ้านเมืองเรื่องนานา | ตั้งน้ำชากล้วยขนมทั้งนมเนย |
แล้วเชิญให้กินอยู่ดูจริต | มันจะคิดอย่างไรมั่งฟังเฉลย |
บาทหลวงพูดชักทำเนียบมาเปรียบเปรย | ว่าเราเคยอยู่ลังกามาช้านาน |
เมื่อเสียเมืองเรื่องหลังเรายังเด็ก | เดินสารเจ๊กเขาไปไกลสถาน |
ครั้นโตใหญ่ไปเที่ยวหาพระอาจารย์ | ท่านโองการบวชให้มาหลายปี |
เป็นบาทหลวงล่วงรู้ในศาสนา | จึงเที่ยวมาสอนสั่งทางวิถี |
ในประเทศเขตแคว้นแดนบุรี | การชั่วดีให้ระงับเร่งกลับใจ |
คนทุกวันชั้นนี้มีแต่โลภ | หลงละโมบทุจริตผิดวิสัย |
คิดรวบรุมคุมเหงไม่เกรงใจ | ให้เที่ยวไปทุกประเทศเขตนคร |
อันตัวเรามาเดี๋ยวนี้มีธุระ | มิใช่จะนึกหวังมาสั่งสอน |
พระสังฆราชผู้เป็นใหญ่ให้เราจร | มาว่าขานการนครเรื่องร้อนรน |
แต่เดิมทีเป็นที่ตั้งสอนศาสนา | พวกไทยมาแย่งชิงเอาสิงหล |
เพราะนางละเวงทำชั่วจึ่งมัวมน | เอาสิงหลยกให้ไทยไล่วัดวา |
จนเริศร้างห่างไปไกลสถาน | เสียวงศ์วานเสียชาติศาสนา |
ท่านเร่งไปบอกกล่าวเจ้าพารา | อย่าอยู่ช้านานไปภัยจะมี |
พระเป็นเจ้าทำนายไว้พอครบ | เร่งหลีกหลบจากแผ่นดินถิ่นวิถี |
พระสังฆราชใช้เรามาว่าโดยดี | ถ้าแม้นมิเชื่อฟังท่านสั่งมา |
เร่งจัดแจงป้อมค่ายไว้ให้มั่น | ได้เล่นกันวุ่นวายหนานายหนา |
จะดึงดื้ออยู่ในวังกรุงลังกา | ทั้งเจ้าข้าจะต้องวิ่งเป็นสิงคลี |
เสนาใหญ่ได้ฟังนั่งหัวเราะ | ลังกาเกาะก่อนก็ลือว่าถือผี |
แต่เดี๋ยวนี้เป็นของไทยมิได้มี | ท่านพาทีน่ากลัวหนังหัวพอง |
ผีอ้ายเฒ่าเจ้ากรรมมันทำวุ่น | จนเกิดขุ่นเจ้านายพึ่งวายหมอง |
ประเดี๋ยวนี้ผีจะมาหาไม้พลอง | ต้องรับรองไกล่เกลี่ยเสียกบาล |
เราจะไปทูลท้าวเจ้านิเวศน์ | ให้ทราบเหตุเรื่องราวท่านกล่าวขาน |
จะได้จัดแจงไปพ้นภัยพาล | หาถิ่นฐานอยู่ใหม่ดั่งใจปอง ฯ |
๏ เจ้าบาทหลวงดาวิดเรียกศิษย์หา | คำนับลาขุนนางพลางสนอง |
ถ้าแม้นท่านจะสงสัยในทำนอง | ขอเชิญลองลงไปในเภตรา |
ขุนเสนีรับคำต่างคำนับ | บาทหลวงกลับไปกำปั่นหวั่นนักหนา |
ฟังเขาพูดมิได้พรั่นตันอุรา | ตัวเรามาตั้งกระทู้ดูทำนอง |
เขากลับว่าอาจารย์เป็นผีสาง | ต้องเริศร้างไปแต่ตัวจนมัวหมอง |
ใช้มาหลอกเขาก็รู้ดูทำนอง | เหลือจะตรองไม่เห็นท่าจะราวี |
ด้วยปึกแผ่นแน่นหนาถึงมารบ | ที่หลีกหลบเขาก็ใหญ่ทางไล่หนี |
เขาตั้งมั่นกันศัตรูหมู่ไพรี | จะมาตีเห็นไม่ได้ดังใจจง |
แต่อาจารย์ท่านจะใคร่ได้มาอยู่ | พิเคราะห์ดูเห็นไม่สมอารมณ์ประสงค์ |
จำจะไปแจ้งความโดยตามตรง | อย่าให้หลงคิดหวังเมืองลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่มารับกับบาทหลวง | ตามกระทรวงเช่นกับผู้มาสู่หา |
ด้วยมิได้ไปเฝ้าเจ้าพารา | ต่างพูดจาข้อคำนำยุบล |
ก็กลับไปทูลองค์พระทรงภพ | ตั้งแต่ต้นจนจบอนุสนธิ์ |
ป่างพระปิ่นนคเรศเกศสกล | ภูวดลดำรัสตรัสภิปราย |
ให้มันมาห้าแสนทั้งแดนแขก | ตีให้แตกกลับไปดั่งใจหมาย |
แต่อ้ายเฒ่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย | มารบหลายหนยับกลับไปเอง |
ไม่สิ้นมาดปรารถนาลังกาเกาะ | อ้ายเจ้าเคราะห์คนหลงนี้โฉงเฉง |
รู้วิชามากมายมีหลายเพลง | เที่ยวข่มเหงบุกรุกไปทุกแดน |
เมื่อแต่ครั้งมังคลาเป็นสานุศิษย์ | มันก็คิดให้ลำบากได้ยากแสน |
ต้องพลัดพรากจากนิเวศน์เสียเขตแดน | ทั้งแตกแตนพ่อแม่ไปแต่ตัว |
เพราะหลงลมอ้ายเฒ่าอ้ายเจ้าเล่ห์ | มันถ่ายเทแทบจะแยกแตกเมียผัว |
จนมังคลาหนีปลอดได้รอดตัว | เล่นเอาขรัวอ่อนฤทธิ์เที่ยวติดตาม |
วิสัยชาติบาทหลวงแล้วยั่วศึก | ยังหาญฮึกยักลำคนซ้ำสาม |
เข้าที่ไหนพาให้เขาเกิดความ | จนลุกลามไม่รู้สิ้นเพราะดิ้นรน |
พระตรัสพลางทางว่าอย่าปรารภ | คิดสมทบเล่นเจ้าครูดูอีกหน |
นี่มันใช้สายมาดูก็รู้กล | อันแยบยลเสือเฒ่าพอเข้าใจ |
พระตรัสว่าอย่าไปกล่าวจะยาวยืด | จะหวานจืดร้อนเย็นเป็นวิสัย |
เขาจะมาว่าขานประการใด | เราอย่าไปตอบต่อข้อคดี |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จขึ้นจากอาสน์ | ขุนอำมาตย์บังคมก้มเกศี |
ไปสั่งพวกเมืองด่านชานบุรี | คอยฟังข่าวเอาคดีแล้วรีบมา ฯ |
๏ ฝ่ายดาวิดคิดเห็นไม่เป็นผล | ดูเล่ห์กลปึกแผ่นยังแน่นหนา |
อันเราเปรียบเหมือนทูตมาพูดจา | ไม่เห็นท่าทางไหนจะได้เมือง |
จำจะต้องกลับไปในวันนี้ | จะเซ้าซี้เขาก็รู้เบื่อหูเหือง |
ซึ่งจะมารบราญตีบ้านเมือง | ก็เห็นเรื่องที่จะยับอัปรา |
แล้วลุกออกจากห้องมาร้องสั่ง | พวกสะพรั่งไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ให้ถอนสมอช่อใบใช้เภตรา | ในเวลานี้จะกลับเร่งจับการ |
ต้นหนให้ถอนสมออย่ารอรั้ง | พร้อมสะพรั่งถ้วนทั่วตัวทหาร |
ออกแล่นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำไปสำราญ | จากเมืองด่านสิงหลพ้นสันดอน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนคราเมืองวายุภักษ์ | กษัตริย์ศักดิ์สุริย์วงศ์พระทรงศร |
พลางทูลองค์เชษฐาสุดสาคร | จะทุกข์ร้อนไปทำไมกับไพรี |
อันพาราวายุภักษ์เคยหักหาญ | มีอาจารย์ทำได้ในวิถี |
ให้เรือติดมาไม่ได้ในนที | เพราะวารีแข็งกระด้างอย่างศิลา |
พวกไพรีมีมาไม่ใคร่ขาด | จนขยาดเกรงกลัวทั่วทิศา |
อันเขตแดนวายุภักษ์นครา | ไม่มีข้าศึกศัตรูแต่บูราณ |
ขอพระองค์อย่าวิตกยกธุระ | ไว้ข้าจะต่อสู้หมู่ทหาร |
จะลาไปนคราพาอาจารย์ | มาคิดการเป่าปัดกำจัดภัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระสุดสาครถาวรสวัสดิ์ | ฟังกษัตริย์เกี่ยวดองค่อยผ่องใส |
จึ่งตรัสว่าถ้ากระนั้นจงรีบไป | อย่านอนใจแก่ศัตรูหมู่อรินทร์ |
กษัตราทูลลาพระทรงเดช | กลับนิเวศน์โดยหวังดั่งถวิล |
ให้ภัทวงศ์อยู่กับองค์พระภูมินทร์ | ในนครินทร์เวียงวังเกาะลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายพระปิ่นกษัตราเมืองวายุภักษ์ | พระทรงศักดิ์รีบไปในมหา |
วิถีแถวทะเลลมยมนา | ถ้วนสิบห้าวันเข้าอ่าวนคร ฯ |
๏ ฝ่ายดาวิดศิษย์พระสังฆราช | ล่วงลีลาศมาทางหว่างสิงขร |
บรรลุถึงโรมพัฒน์ตัดสันดอน | เข้านครทอดท่าหน้าบูรินทร์ |
แล้วขึ้นจากกำปั่นมิทันช้า | เดินไปหาอาจารย์ใหญ่ดั่งใจถวิล |
แล้วแจ้งความตามที่ไปทวงบุรินทร์ | ประเทศถิ่นนครังกรุงลังกา |
อีตาเฒ่าได้ฟังยิ่งคั่งแค้น | ชะแง้แหงนอยู่เป็นครู่ดูเวหา |
พระเยซูอยู่ที่ไหนจึงไม่มา | ช่วยศิษย์หากำจัดพวกศัตรู |
แกโกรธเกรี้ยวเคี้ยวเหงือกดังออดออด | เหมือนหอกสอดเข้ามาแยงแทงรูหู |
นัยน์ตาโตเท่ากำปั้นหันมาดู | ตะคอกขู่ดาวิดคิดอย่างไร |
ที่สอนสั่งหวังว่าแทนตาหู | ไยมิขู่ให้มันกลัวหัวไถล |
ถึงพลาดท่ามันจะมาทำไมใคร | นิสัยไพร่เช่นอ้ายนี่ดีแต่กิน |
มิใช่ชาติทองคำอ้ายซ้ำเสือก | แกขบเหงือกด่าไปดั่งใจถวิล |
ใช้ให้ไปหลอกลวงทวงแผ่นดิน | เห็นจะสิ้นปัญญาทำตาปรอย |
แต่ฝูงสัตว์เกเรเดรัจฉาน | ยังเที่ยวคลานหาที่อยู่เช่นปูหอย |
นี่มนุษย์เจียวหนาหวาทำตาปรอย | เห็นใช้สอยกันไม่ได้ใช่ไก่ชน |
แกบ่นพลางทางไปหาไทท้าว | เจ้าแดนด้าวนคเรศแจ้งเหตุผล |
เชิญท่านช่วยด้วยสักครั้งที่กังวล | ตีสิงหลให้วินาศดาษดา |
ด้วยแรกเริ่มเดิมทีมีแต่ครั้ง | พระเยซูผู้ตั้งศาสนา |
บังคับให้จอมกษัตริย์ขัตติยา | เจ้าลังกามาแต่ครั้งตั้งนคร |
แล้วแบ่งปันถิ่นประเทศเขตอาวาส | มีสังฆราชเป็นที่ครูผู้สั่งสอน |
สืบกันมาแต่ครั้งตั้งนคร | ก็ถาวรทั่วจังหวัดปัถพี |
เดี๋ยวนี้ไทยมาริบเอาเป็นเจ้าของ | ฝรั่งต้องซุกซนเที่ยวด้นหนี |
ข้าขอบุญเจ้าจังหวัดปัถพี | ช่วยต่อตีให้มันยับอัปรา |
จะได้ลือชื่อไปทั้งแปดทิศ | ประจามิตรก็จะกลัวทั่วทิศา |
ทั้งจะได้กุศลผลผลา | เป็นที่ตั้งศาสนาเหมือนมาเดิม |
เจ้าพาราถูกยอหัวร่อร่า | ฟังอีตาเฒ่ามันพูดสุดจะเหิม |
แกเห็นเชื่อถ้อยคำทั้งซ้ำเติม | คอยส่งเสริมที่ให้ไปลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราจึ่งว่าขาน | ขอรับภารธุระดั่งที่กังขา |
เสียแรงท่านได้มาอยู่เป็นครูบา | จะไปตีลังกาฉลองคุณ |
บาทหลวงเฒ่าดีใจดั่งได้เหาะ | เห็นสิ้นเคราะห์แล้วหนะกูมีผู้หนุน |
ที่หน้าจ๋อยสร้อยเศร้าง่วงเหงางุน | กลับเฉียวฉุนชื่นบานสำราญกาย |
คำนับลาเจ้านิเวศน์เขตจังหวัด | กลับไปวัดชื่นชมด้วยสมหมาย |
เรียกดาวิดมาช่วยคิดการอุบาย | สมที่หมายท่านท้าวเจ้าบุรินทร์ |
รับธุระจะไปตีบุรีให้ | สบายใจดั่งนิยมสมถวิล |
กูเข้าไปสนทนาในธานินทร์ | ด้วยเล่ห์ลิ้นไม่สู้ยากลำบากใจ |
เขาย่อมว่าพูดดีเป็นศรีศักดิ์ | คงได้ภักษ์ได้ผลมาล้นไหล |
เหมือนน้ำขึ้นเรือพายสบายใจ | เข้าที่ไหนได้ที่นั่นดั่งพรรณนา |
แม้นตัวกูไปเองแล้วที่ไหน | คงสมใจมุ่งมาดปรารถนา |
จะปลิ้นปลอกหลอกลวงทวงพารา | ด้วยมารยาต่างต่างทางสำนวน |
ไม่ต้องยากแก่พหลพลไพร่ | เอาบาทใหญ่ขู่ให้กลมดั่งลมหวน |
นี่ปากมึงมันเป็นไพร่ไม่ใคร่ครวญ | พูดด้วนด้วนเขาจะกลัวตัวมึงไย |
ธรรมดาพระฝรั่งตั้งอำนาจ | ให้เปรื่องปราชญ์ชี้แจงแถลงไข |
ให้มันเห็นทันตาอย่าว่าใคร | พูดใกล้ไกลเวียนวนริมขนตา |
จะขู่เข็ญให้มันเห็นอย่างปืนใหญ่ | ยิงออกไปถูกดิ้นสิ้นสังขาร์ |
แม้นเองพูดให้มันเห็นเช่นวาจา | อ้ายเสนาก็คงกลัวหนังหัวพอง |
แกพรรณนาว่าไปตามใจคิด | เจ้าดาวิดนบนอบไม่ตอบสนอง |
แม้นจะเถียงก็จะด่าทำตาพอง | แกพูดคล่องข้างจะได้นิสัยคน |
นึกในใจไปรบก็คงยับ | ถึงยกทัพไปก็เห็นไม่เป็นผล |
จะไปลองถ่ายเทด้วยเล่ห์กล | เขาก็คนมิใช่เต่าเอาแต่ใจ |
แต่ต้องทนให้แกด่าเหมือนข้าครอก | แม้นดาบหอกนั่นแลจนทนไม่ไหว |
เป็นแต่ลมพัดบ้างช่างเป็นไร | ถึงไหนไหนก็เป็นครูทำหูตึง |
แก่พ่นพร่ำร่ำไปมิใคร่หลับ | จนเดือนดับเพราะโกโรโมโหหึง |
ด้วยจิตเป็นอันธพาลสันดานดึง | คิดรำพึงแต่จะทำการย่ำยี ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์โรมพัฒน์ | สั่งให้จัดกำปั่นรบทั้งหลบหนี |
เกณฑ์หัวเมืองแขกชวาทุกธานี | จะไปตีลังกาให้อาจารย์ |
กำปั่นไฟใหญ่น้อยห้าร้อยเศษ | คนในเขตโรมพัฒน์จัดทหาร |
สิบห้าหมื่นพื้นฉกรรจ์อันชำนาญ | ถือหอกขวานเหน็บกริชฤทธิรณ |
พร้อมปืนผาหน้าไม้ทั้งดั้งดาบ | ศรกำซาบกะเลหวังตั้งพหล |
เรือกระเชียงเรียงรายทั้งไพร่พล | สั่งให้ขนลูกดินสิ้นทุกลำ |
เครื่องเสบียงข้าวปลากระยาหาร | ทั้งคาวหวานบรรทุกที่คนมี่สำ |
ทั้งไก่แกะแพะเอาไปใส่ทุกลำ | คนประจำทุกหมวดเร่งตรวจตรา |
กำปั่นใหญ่จัดให้พระสังฆราช | กับพวกบาทหลวงดาวิดพวกศิษย์หา |
ท่านท้าวไทไปด้วยกันตามสัญญา | แต่งเภตราแล้วเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าสังฆราชพระบาทหลวง | แกอิ่มทรวงปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
ตื่นจากที่ดีใจใครจะปาน | รีบลนลานลงกำปั่นด้วยทันที |
กับท่านท้าวเจ้าพาราเสนาพร้อม | เรือแวดล้อมล้วนบรรดาชวาฉวี |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าตำราหาฤกษ์ดี | ไปนั่งที่ท้ายเภตราดูท่าทาง |
แดดพยับอับฟ้าเวหาหน | พื้นอำพนเรื่อแดงส่องแสงสาง |
แกให้ยิงปืนใหญ่ชักใบกาง | แล่นสล้างตามกันจากสันดอน |
โห่กระหึมครึ้มครวญแต่ล้วนแขก | เอาฤกษ์แรกออกชะวากปากสิงขร |
พ้นนิเวศน์เขตแคว้นแดนนคร | ชโลธรไหลเรื่อยแล่นเฉื่อยไป ฯ |
๏ จะกลับกล่าวเจ้าพาราวายุภักษ์ | กษัตริย์ศักดิ์จอมนิเวศน์ข้างเพทไสย |
ให้หาครูรู้วิชาพาเอาไป | ยังกรุงไกรลังกาสี่ห้าคน |
แต่ล้วนถือวิทยาวิชาขลัง | ลงที่นั่งใช้ใบไปสิงหล |
ได้ลมคล่องล่องมาในสาชล | ถึงสิงหลตั้งแต่มาสิบห้าวัน |
กษัตริย์สุดสาครถาวรสวัสดิ์ | โสมนัสวายวิโยคที่โศกศัลย์ |
ได้ครูเมืองเกี่ยวดองมาป้องกัน | พระทรงธรรม์ทักถามตามสงกา |
จะสู้รบไพรีมีโอกาส | ด้วยอำนาจอย่างไรไฉนหนา |
ทั้งสี่พราหมณ์ทูลตามความสงกา | ถึงศึกมาขับเคี่ยวที่เรี่ยวแรง |
จะทำให้วารินกระสินธุ์สมุทร | แข็งประดุจดั่งแก้วพรายแพร้วแสง |
ถึงจะเดินก็ไม่ได้เป็นไฟแดง | ทั้งร้อนแรงเท้าลอกถึงปอกพัง |
ถึงเป็นนกบินมาในอากาศ | ให้เกลื่อนกลาดตรงเข้ามาแล้วอย่าหวัง |
ว่าชีวิตจะตลอดรอดไปรัง | เหมือนหนึ่งดั่งทูลองค์พระทรงธรรม์ |
อันเมืองข้าร้อยปีไม่มีศึก | มาหาญฮึกรบสู้เป็นคู่ขัน |
ด้วยความรู้ครูผู้ใหญ่ท่านให้ปัน | สำหรับกันนคราให้ถาวร |
พระทรงฟังสังรเสริญครูทั้งสี่ | ช่วยปราบพวกไพรีให้หลุดถอน |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จบทจร | กับภูธรเกี่ยวดองเข้าห้องปรางค์ ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | แกอิ่มทรวงสมปองที่หมองหมาง |
ยกทัพใหญ่มาในวิถีทาง | พร้อมขุนนางเจ้าพาราปรึกษากัน |
ที่บนท้ายบาหลีเก้าอี้ตั้ง | ชวนกันนั่งปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เจ้าดาวิดเคียงข้างไม่ห่างกัน | ดูขอบขัณฑ์เขตแคว้นทุกแดนเมือง |
สุริยงลงลับพยับฟ้า | ดวงดาราแจ่มกระจ่างสว่างเหลือง |
พลางจุดโคมดาษแดงแสงประเทือง | เรือก็เนื่องแล่นตามกันหลามมา |
ได้เดือนครึ่งถึงหน้าพาราสุหรัด | แล้วข้ามตัดอ่าวปากน้ำสำปันหนา |
อีกวันครึ่งก็จะถึงเขตลังกา | ต่างรอรารวมรอมให้พร้อมมูล |
เรือตระเวนเมืองลังกาอาณาเขต | คอยฟังเหตุแล่นไปจากไอศูรย์ |
เห็นกำปั่นหลายหลากมามากมูล | ผิดตระกูลกะลาสีมิใช่ไทย |
พลางแล่นลัดตัดมาถึงหน้าด่าน | เอาข้อการขึ้นไปแจ้งแถลงไข |
กับนายมุลขุนสมุทรวุฒิไกร | กำปั่นใบกำปั่นรบสมทบกัน |
มารอราอยู่หน้าเกาะสุหรัด | ริมจังหวัดกรุงไกรไอศวรรย์ |
วิถีทางจะมาถึงอีกกึ่งวัน | ขุนด่านนั้นให้เสมียนเขียนถ้อยคำ |
แล้วพับใส่ในผนึกจารึกนอก | เป็นใบบอกอักขราเลขาขำ |
ประทับตราดวงใหญ่ไว้ประจำ | ใช้คนนำเข้าไปในนคร |
ครั้นถึงตรงส่งให้เสนารับ | ฉีกฉบับออกอ่านสารอักษร |
พอพระจอมนคเรศเกศนคร | เสด็จจรออกที่นั่งบัลลังก์พราย |
ขุนนางนำคำอักษรเมืองปากน้ำ | คำนับนำอ่านประมูลทูลถวาย |
พระทราบสิ้นแล้วเฉลยเปรยภิปราย | เห็นดีร้ายพระฝรั่งพวกจังฑาล |
พระตรัสพลางทางสั่งพราหมณ์ทั้งสี่ | กับเสนีพลไกรไพร่ทหาร |
รีบลงไปเร็วพลันให้ทันการ | ที่เมืองด่านปากน้ำดั่งคำนึง |
พรุ่งนี้เช้าเราจึงจะกรีทัพ | ไปตั้งรับเร่งไปจงให้ถึง |
พระสั่งเสร็จตรองตรึกนึกคะนึง | แล้วรำพึงเหตุผลแต่ต้นปลาย |
พวกเสนาพาพราหมณ์ผู้วิเศษ | จากนิเวศน์พร้อมกันรีบผันผาย |
กับผู้คนตามกันไปทั้งไพร่นาย | ลงเรือพายถึงปากน้ำที่สำคัญ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านพราหมณ์ผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | ไปดูเขตสันดอนสิงขรขัน |
ตรงปากอ่าวยาวใหญ่แลไกลครัน | จะป้องกันที่ตรงนี้แล้วชี้แจง |
จึ่งบอกกับเสวกาพวกข้าเฝ้า | ท่านเกณฑ์เหล่าพลขันธ์ให้สานแผง |
แล้ววงไว้ตามทางที่กลางแปลง | เอาผ้าแดงทำธงปักลงกลาง |
กับไม้ลำทำเป็นแพพอพวกข้า | ทั้งหญ้าคาร้อยยอดเอาทอดขวาง |
เครื่องบวงสรวงเทพไทใส่ในกลาง | เชือกระยางแพไว้ในนที |
ขุนนางรับกลับมาหาไปเสร็จ | พร้อมสำเร็จขนไปทั้งบายศรี |
กับของข้าวสารพัดเครื่องบัดพลี | ลงไปที่ตามสั่งแล้วตั้งการ |
ผู้วิเศษทั้งสี่พลีสรวง | แล้วบนบวงเทพไทในสถาน |
แล้วลงแพพร้อมกันมิทันนาน | อ่านโองการโบกธงอัดคงคา |
สาดข้าวสารหว่านไปในสมุทร | แล้วก็จุดเทียนธูปเครื่องบุปผา |
ประนมมือพร้อมกันวันทนา | เสียงคงคาลั่นดังก้องกังวาน |
สะเทือนท้องสาคโรชโลสินธุ์ | สายวารินคลื่นซัดเสียงฉัดฉาน |
ฝูงกระโห้โลมากุมภาพาล | จากสถานถอยไปตามสายชล |
น้ำก็แข็งเป็นแผ่นทั้งแน่นหนา | ถึงช้างม้าเดินได้ไม่ขัดสน |
แต่ร้อนเหมือนเปลวไฟในสายชล | รอบสิงหลสิบโยชน์เป็นโขดคัน |
ทั้งสี่พราหมณ์กลับมาขึ้นอาศัย | บนป้อมใหญ่ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
พวกเมืองด่านแต่งสำรับไว้ฉับพลัน | เลี้ยงดูท่านพราหมณ์พิธีทั้งสี่คน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมธิบดินทร์ปิ่นกษัตริย์ | แจ่มจำรัสรุ่งสางกลางเวหน |
สองกษัตริย์อ่าองค์แล้วสรงชล | ทรงเครื่องต้นสำหรับออกทัพชัย |
กับพระหน่อภัทวงศ์องค์ลูกเขย | มาคอยท้าวอยู่ที่เกยอันผ่องใส |
ตามเสด็จสองพระองค์ผู้ทรงชัย | เสนาในตรวจพหลรณรงค์ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์สองพระองค์ขึ้นทรงรถ | พร้อมกันหมดหน่อนาถราชหงส์ |
ยกกองทัพขับพหลรณรงค์ | ก็รีบตรงไปปากน้ำที่สำคัญ |
ถึงพลับพลาหน้าเชิงเทินบนเนินป้อม | ทหารพร้อมทุกหมู่ล้วนคู่ขัน |
ทั้งสี่พราหมณ์เฝ้าเรียงอยู่เคียงกัน | พระทรงธรรม์ตรัสถามตามอาวรณ์ |
พราหมณ์ประนมก้มกราบสองกษัตริย์ | ข้าไปจัดแจงกระทั่งฝั่งสิงขร |
ขอเชิญเสด็จเสร็จไปในสันดอน | ประทับร้อนทอดพระเนตรตามเขตแดน |
สองพระองค์ลงจากพลับพลาสี | พวกมนตรีเซ็งแซ่รีบแห่แหน |
ถึงปากอ่าวเจ้านิเวศน์เห็นเขตแดน | เสด็จบนแท่นศิลาที่หน้าเนิน |
เห็นวารีที่แข็งแดงไปรอบ | ตามเขตขอบคล้ายลำเนาภูเขาเขิน |
จึงตรัสถามพราหมณ์พฤฒาว่าจะเดิน | ไปตามเนินน้ำเห็นเป็นอย่างไร |
พราหมณ์ประมูลทูลฉลองสองกษัตริย์ | ด้วยร้อนจัดเหลือล้นทนไม่ไหว |
แล้วมีพิษเรี่ยวแรงกว่าแสงไฟ | ไปไม่ได้ดอกพระองค์อย่าสงกา |
พระยินดีปรีดาว่าเช่นนี้ | ถึงไพรีหมื่นแสนมาแน่นหนา |
เว้นแต่เหาะเหินได้ในนภา | ถึงจะมาก็เห็นยากลำบากกาย |
ทั้งสี่พราหมณ์ทูลว่าถึงจะเหาะ | จะจงเจาะเห็นไม่ได้ดั่งใจหมาย |
คงจะทำเวทมนตร์กลอุบาย | คิดยักย้ายมิให้มาถึงธานินทร์ |
พระทรงฟังสังรเสริญพราหมณ์ทั้งสี่ | วิชาดีทำได้ดั่งใจถวิล |
มิเสียแรงเป็นครูท้าวเจ้าบุรินทร์ | พระตรัสสิ้นมาประทับยังพลับพลา ฯ |
๏ จะกลับกล่าวราวเรื่องพระบาทหลวง | แต่แล่นล่วงมาในทางกลางมหา |
ข้ามละเมาะเกาะแก่งตำแหน่งมา | จวนจะถึงลังกาเวลาเย็น |
พร้อมกระบวนถ้วนทุกลำเรือกำปั่น | สลาตันตั้งมาฟ้าเหมือนเสน |
ตีกำปั่นหันไปหัวท้ายเบน | ต้นหนเจนจัดตำราให้ซาใบ |
พอเย็นย่ำคล้ำฟ้าบนอากาศ | น้ำค้างสาดเยือกเย็นกระเซ็นใส |
เดือนก็ขึ้นรางรางเห็นทางไป | แล่นมาใกล้นคเรศเขตลังกา |
ทอดสมอรอราตามหน้าเกาะ | บ้างตีเกราะครึกครื้นยิงปืนผา |
พอรุ่งเช้าจึ่งจะเข้าตีพารา | ต่างตรวจตราเรือรบสมทบพล |
พอแลไปหน้าอ่าวเห็นขาวช่วง | เป็นรุ้งร่วงแดงวับจับเวหน |
แล้วเรียกกันให้มาดูทุกผู้คน | ออกเกลื่อนกล่นเต็มไปในเภตรา ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงอยู่ในห้องจึ่งร้องถาม | เขาบอกความให้ฟังนึกกังขา |
เอ๊ะชะรอยคนดีจะมีมา | ทำวิชาเป็นแท้แน่แก่ใจ |
ลุกจากห้องร้องว่าภาษาแขก | กูนึกแหลกประหลาดจิตคิดสงสัย |
ของเช่นนี้แต่ก่อนร่อนชะไร | ก็ยังไม่เคยเห็นเหมือนเช่นนี้ |
แกจึ่งว่าเช้าตรู่ดูให้แน่ | จะคิดแก้เวทมนตร์คนหรือผี |
แล้วเรียกศิษย์มาพลันในทันที | ตำรามีต่างต่างข้างที่นอน |
หยิบมาดูกูจะบอกให้ไปแก้ | นั่งดูแลตามตำราครูบาสอน |
กับดาวิดศิษย์ผู้ใหญ่มิได้นอน | จนทินกรส่องสีรวีวรรณ |
ลุกออกมาจากห้องมองเขม้น | พอแลเห็นน้ำแดงดูแข็งขัน |
แกหยิบเอาหยูกยาสารพัน | ทั้งน้ำกลั่นต่างต่างอย่างที่เคย |
ให้ดาวิดศิษย์ลงกำปั่นน้อย | แล้วล่องลอยไปดูตามครูเฉลย |
เห็นน้ำแดงแข็งเช่นนี้ยังมิเคย | แล้วก็เลยไปข้างหน้าเอายาปราย |
น้ำที่แข็งก็ยิ่งแดงเหมือนเพลิงลุก | ยิ่งแล่นรุกเข้าไปร้อนใจหาย |
แต่บรรดายาเอาไปทั้งไพร่นาย | ช่วยกันปรายโปรยลงในคงคา |
น้ำก็เฉยเลยแห้งแข็งเป็นควาก | ถอยออกจากหน้าสันดอนชะง่อนผา |
ไปแจ้งกับครูเฒ่าเจ้าตำรา | สิ้นหยูกยาที่เอาไปแก้ไม่ฟัง |
บาทหลวงว่าถ้ากระนั้นเอาปืนใหญ่ | ยิงเข้าไปตามลำที่น้ำขัง |
แต่เขาเขินเนินแยกยังแตกพัง | แกจึ่งสั่งสารวัตรให้ยัดปืน |
ยิงไปดูตามร่องสักสองโหล | ลูกโตโตดินที่แรงแม้นแข็งขืน |
ต้องล่าทัพกลับไปในกลางคืน | ถ้าแม้นฟื้นเหลวได้ครรไลจร |
พวกปืนใหญ่ใส่ดินประจุเสร็จ | แล้วสำเร็จยืนเรียงเคียงสลอน |
กรอดดินหูซูซุดจุดไฟฟอน | เสียงสะท้อนสะท้านดังเสียงตังตึง |
ไม่ไหวติงยิงเปล่าเหมือนเป่าเล่น | ลุกไปเต้นอยู่ไกลไกลไปไม่ถึง |
ด้วยอำนาจท่านพฤฒาอย่าคะนึง | ยิ่งไม่ถึงธารท่าหน้าสันดอน ฯ |
๏ ฝ่ายสององค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | ทรงกัณฐัศว์เสด็จมาหน้าสิงขร |
ทั้งรี้พลเสนาประชากร | พร้อมนิกรดาษดามาประชุม ฯ |
๏ ฝ่ายสังฆราชบาทหลวงลงง่วงเหงา | ให้โศกเศร้าร้อนใจดั่งไฟสุม |
ระอาอ่อนถอนใจใหญ่ให้ประชุม | เรือชุมนุมกองทัพกลับนคร |
มีความรู้สู้เขาก็ไม่ได้ | แกแค้นใจราวกะถูกซึ่งลูกศร |
ทั้งตัวแก่เกินการจะราญรอน | สิ้นอาวรณ์เวียงวังเกาะลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราโรมพัฒน์ | ให้รีบรัดตัดข้ามสำปันหนา |
ถิ่นประเทศเขตแคว้นแดนพารา | แต่บรรดาเรือรบสมทบกัน |
ชักเพลาใบใส่เสาแล่นก้าวเฉียง | ออกแล่นเรียงข้ามไปไอศวรรย์ |
สองเดือนครึ่งลุถึงนิเวศน์พลัน | แล้วพากันเข้าวังทั้งอาจารย์ ฯ |
๏ จะกล่าวข้างลังกาอาณาจักร | พระปิ่นปักอิศรามหาสถาน |
เลิกพหลพลไกรอันชัยชาญ | กลับสถานเปรมปราสถาวร |
ตกรางวัลท่านพราหมณ์ผู้วิเศษ | อันเรืองเวทมนตร์ประสิทธิ์ดั่งพิษศร |
ทั้งเงินทองของวัตถาเครื่องอาภรณ์ | เจ้านครโปรดปรานประทานพราหมณ์ |
เราขอบใจได้ท่านมาดับยุค | พอมีสุขใจทหารชาญสนาม |
แล้วไม่ต้องตรากตรำทำสงคราม | ให้ลุกลามเหนื่อยยากลำบากใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนคราวายุภักษ์ | เสด็จสำนักปราสาททองอันผ่องใส |
มาอยู่สามเดือนตราจะลาไป | ยังกรุงไกรวายุภักษ์นัครา |
ครั้นรุ่งเช้าท้าวเสด็จยุรยาตร | ไปเฝ้าบาทบทเรศพระเชษฐา |
ทูลลาองค์ทรงเดชเกศลังกา | กลับพาราจะตั้งงานการพิธี |
ราชาภิเษกเอกฉัตรภัทวงศ์ | ให้ดำรงนครินทร์ถิ่นวิถี |
เป็นฝ่ายหน้าว่าขานการบุรี | ทั้งองค์ศรีสุณิสาขอลาจร |
ไปพาราข้าบาทเหมือนมาดหมาย | ให้สืบสายภิญโญสโมสร |
ป่างพระองค์ทรงภุชสุดสาคร | สั่งนิกรจัดแจงแต่งเภตรา |
กับอนงค์องค์มิ่งมเหสี | ให้เลือกสรรสตรีมียศถา |
ล้วนลูกขุนลูกหมื่นพื้นโสภา | สักร้อยนารีให้ไปใช้การ |
ทั้งข้าวของทองเงินสำหรับยศ | ให้ครบหมดจะได้ใช้ไปสถาน |
ทั้งเถ้าแก่สำหรับบังคับงาน | คนจัดจ้านตอแหลแลแง่งอน |
อย่าให้ไปขายหน้าจะมาถึง | มันดื้อดึงว่ายากพวกปากหนอน |
จะไปก่อการลำบากหญิงปากบอน | มันจะร้อนมาถึงนายขายหน้าตา |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จขึ้นจากอาสน์ | สองนางนาฏเลือกสรรกันนักหนา |
ตามรับสั่งองค์ท้าวเจ้าลังกา | พร้อมบรรดาของข้าวจะเอาไป ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีผู้รับสั่งมาตั้งขน | เรียกผู้คนแบกหามตามไสว |
บรรทุกลำกำปั่นด้วยทันใด | พลไกรลงประจำในลำทรง |
ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส | สองนางนาฏรัญจวนถึงนวลหง |
จำจะไปสอนธิดาแล้วอ่าองค์ | เสด็จตรงไปปราสาทค่อยนาดกราย |
เข้าในห้องสองสถิตบนอาสน์รัตน์ | หน่อกษัตริย์บังคมนางโฉมฉาย |
พระบุตรีนบนอบแล้วยอบกาย | ทางถวายอภิวันท์อัญชุลี |
ทั้งสองนางพลางสอนสมรมิ่ง | แม่ยอดหญิงนึกว่าเป็นทาสี |
จะไปอยู่พารากับสามี | อันราคีอย่าให้เคืองในเรื่องราว |
อย่างหวงหึงขึ้งเคียดทำเดียดฉันท์ | แก่สุรางค์นางกำนัลที่สาวสาว |
รักษาตัวอย่าให้มีราคีคาว | จะแตกร้าวรานกันเพราะฉันทา |
อย่าคบคนสอพลอทรลักษณ์ | มันจะชักชวนจิตริษยา |
รักษาตัวอย่าให้ผัวเจ้าโกรธา | จงอุตส่าห์ตั้งใจไว้ให้ดี |
แม้นผัวทุกข์ปลุกปลื้มให้ลืมทุกข์ | ถ้ามีสุขก็อย่าเปรมเกษมศรี |
อย่าทำยศให้มันเหลืออย่าเชื่อดี | ไม่ควรที่ก็อย่าควรทำลวนลาม |
อันเชื้อหงส์เล่าก็คงเป็นหงส์เหิน | แม้นบินเกินเวหนคนมักหยาม |
จะพูดจาก็พอควรอย่าลวนลาม | มักเสียนามเสียเนื้อในเชื้อวงศ์ |
คำของแม่แต่เท่านี้นะลูกรัก | ประเสริฐศักดิ์ในประยูรสกูลหงส์ |
อย่าลืมคำจำไว้ในใจจง | จะยืนยงชันษาสถาพร |
นางสอนพลางทางฝากกับเขยขวัญ | จงครองกันให้เป็นสุขสโมสร |
พระรับรสพจนาแล้วว่าวอน | พระมารดรอย่าเป็นห่วงถึงดวงใจ |
ลูกรักเหมือนเพื่อนชีวิตไม่คิดแหนง | ใช่จะแสร้งทูลพระองค์อย่าสงสัย |
จะถนอมจอมขวัญจนบรรลัย | ไม่ขอไกลจากขนิษฐ์ดั่งจิตปอง |
นางฟังคำซ้ำแสนสวาทนัก | ด้วยเขยรักร่ำประมูลทูลฉลอง |
นางอวยชัยให้พ่อสมอารมณ์ปอง | จงผุดผ่องภิญโญมโหฬาร |
ให้แคล้วคลาดศัตรูหมู่มิจฉา | จงวัฒนาอิ่มเอมเกษมศานต์ |
ทั้งโรคันอันตรายอย่าแผ้วพาน | ให้สำราญเรืองฤทธิ์อิศรา |
พระรับพรนงคราญแล้วกรานกราบ | ศิโรราบอภิวันท์ด้วยหรรษา |
สุลาลีเสาวคนธ์สุมณฑา | ก็ลุกลากลับหลังยังปรางค์ทอง |
ครั้งรุ่งรางส่างแสงแจ้งกระจ่าง | พวกขุนนางเร่งกันผันผยอง |
สารวัตรเที่ยวตรวจทุกหมวดกอง | คนที่ต้องเกณฑ์ไปในเภตรา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงไอศวรรย์ | จรจรัลออกที่นั่งสั่งให้หา |
พวกอำมาตย์เสนีผู้ปรีชา | ให้เตรียมราชรถาอย่าช้าที |
เครื่องเกณฑ์แห่แตรสังข์ทั้งพิณพาทย์ | กับพระราชยานทองอันผ่องศรี |
จะไปส่งอนุชาเจ้าธานี | ให้ถึงที่กำปั่นท่าสันดอน |
พวกเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | มาเตรียมการพร้อมพรั่งนั่งสลอน |
คอยพระจอมนครินทร์ปิ่นนคร | ฝ่ายภูธรสององค์ต่างสรงชล |
ผลัดภูษาอ่าองค์แล้วทรงเครื่อง | อร่ามเรืองแก้วเก้าวาวเวหน |
สรวมชฎากลีบเพชรเสด็จดล | เจ้าสิงหลทรงมงกุฎบุษย์น้ำทอง |
หน่อกษัตริย์ภัทวงศ์กับนงลักษณ์ | มาพร้อมพรักคอยบพิตรสนิทสนอง |
สองพระองค์เยื้องย่างจากปรางค์ทอง | ออกยังท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล |
ประทับอยู่ครู่หนึ่งจึ่งทรงรถ | มรกตรจนามุกดาหาร |
สารถีขับม้าอาชาชาญ | จากสถานนคเรศเขตลังกา |
ภัทวงศ์ทรงรถกับนุชนาฏ | ตามลีลาศไปยังฝั่งมหา |
กระบวนแห่แตรสังข์อลังการ์ | ไปถึงท่าเมืองสมุทรหยุดนิกร |
ต่างทูลลาเจ้าบุรินทร์ปิ่นสิงหล | ภูวดลบพิตรอดิศร |
พระอวยชัยให้สุขาสถาพร | ครองนครไปให้ยืนสักหมื่นปี |
กษัตราวายุภักษ์บังคมกราบ | ศิโรราบน้อมประณตบทศรี |
แล้วเสด็จลงกำปั่นด้วยทันที | พระบุตรีเขยขวัญต่างวันทา |
อภิวาทบาทบงสุ์พระทรงเดช | เธออวยชัยให้วิเศษหนาลูกหนา |
จงแคล้วคลาดศัตรูหมู่ปัจจา | จงวัฒนาในตระกูลประยูรวงศ์ |
สองพระองค์ทรงรับพระพรเสร็จ | แล้วเสด็จสู่บัลลังก์ที่นั่งหงส์ |
พอฤกษ์ดีคลี่ใบชักสายธง | ออกแล่นตรงทักษิณถิ่นพารา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศรามหากษัตริย์ | เจ้าจังหวัดธิบดินทร์ปิ่นมหา |
เธอส่งเสร็จแล้วเสด็จกลับพารา | ขึ้นปรางค์ปราถาวรเหมือนก่อนกาล |
ฝ่ายข้างลำกำปั่นก็แล่นล่อง | ไปในท้องวารินถิ่นสถาน |
สิบห้าวันถึงวังให้ตั้งการ | จะเสกราชกุมารผ่านบุรี |
เป็นอุปราชฝ่ายหน้าให้ว่าขาน | กึ่งสถานช่วยบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ให้โหราหาฤกษ์ตั้งพิธี | ตามคัมภีร์ไสยเวทวิเศษมนต์ |
แล้วจะเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ | เป็นเอกอัครเขยท้าวเจ้าสิงหล |
ได้ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน | จอมสกลจัดงานการวิวาห์ |
ทั้งโหรพราหมณ์พรั่งพร้อมน้อมประณต | ตามแบบบทจอมนรินทร์ปิ่นมหา |
เหมือนแต่หลังตั้งอุปราชา | ภิเษกองค์ขัตติยาวราพงศ์ |
ครั้นจะว่าตามกำหนดให้หมดเรื่อง | ที่บทเบื้องยาวไปไม่ประสงค์ |
จึ่งตัดรอนผ่อนไว้ในใจจง | ภิเษกองค์บุตรท้าวเจ้านคร |
ครบห้าวันการสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | เลียบมณฑลสุโขสโมสร |
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนนคร | ราษฎรผาสุกทุกทิวา ฯ |