- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
๏ ฝ่ายบทเบื้องเรื่องนี้ขอยกก่อน | จะกล่าวย้อนถึงโจรป่าพนาสณฑ์ |
อยู่เขตแคว้นแดนชวาริมสาชล | เที่ยวตีปล้นแต่บรรดาลูกค้าเรือ |
ได้สินทรัพย์นับถังสร้างกำปั่น | แล้วชวนกันแล่นไปข้างใต้เหนือ |
มีปืนใหญ่ไว้ประจำทุกลำเรือ | ทหารเสือเล่าก็มีถึงสี่พัน |
แต่กำปั่นนั้นมีถึงสี่ร้อย | เที่ยวแล่นลอยไปทุกแห่งเพราะแข็งขัน |
แต่ล้วนพวกแขกดำทุกลำมัน | ตัวนายนั้นชื่อคุลาปะตาวี |
ปะสำเภกเภตราเที่ยวค้าขาย | มันแล่นรายล้อมไว้มิให้หนี |
ขึ้นเก็บเอาสินค้าบรรดามี | แม้นต่อตีมันก็ฆ่าชีวาวาย |
กำเริบจิตคิดเข้าตีตามเมืองเกาะ | ทุกละเมาะมันเที่ยวริบเอาฉิบหาย |
เป็นโจรใหญ่อยู่ในน้ำตามสบาย | เที่ยวแล่นรายสืบข่าวทุกอ่าวไป ฯ |
๏ เมื่อวันหนึ่งนายโจรเผอิญเจ็บ | ให้เมื่อยเหน็บจับสั่นจิตหวั่นไหว |
โภชนาอาหารประการใด | กินไม่ได้ข้าวปลาสารพัน |
หมอให้กินหยูกยาสารพัด | ไม่บำบัดโรคาก็อาสัญ |
ฝ่ายพวกโจรแต่บรรดาทั้งห้าพัน | มาพร้อมกันถ้วนทั่วทุกตัวนาย |
ทำการศพนายใหญ่เอาไปฝัง | ที่ขอบฝั่งวังวนชลสาย |
ครั้นเสร็จสรรพยับยั้งจะตั้งนาย | แทนผู้ตายจะได้ว่าคนห้าพัน |
แต่บรรดานายรองทั้งสองร้อย | มานั่งคอยทั้งพหลพลขันธ์ |
ใครเป็นนายก็จะยอมลงพร้อมกัน | ไม่เดียดฉันท์จะได้ไปในคงคา ฯ |
๏ ฝ่ายเสมียนที่สำหรับเก็บทรัพย์สิน | เป็นเชื้อจีนพวกหมาเก๊าเข้าภาษา |
มาเข้ารีตแขกดำเรียนตำรา | ดูฤกษ์พาดีร้ายบอกนายโจร |
จะตีเรือเหนือใต้คอยให้ข่าว | รู้ดูดาวแจ้งใจคล้ายกับโหร |
จึงลุกมาว่ากล่าวแก่เหล่าโจร | เราเป็นโหรรู้สิ้นอย่ากินใจ |
แต่บรรดามาพร้อมอยู่ที่นี่ | ใครจะมีปัญญาอัชฌาสัย |
เราเห็นอยู่แต่มะหุดวุฒิไกร | ควรจะให้เป็นใหญ่ด้วยใจดี |
ทั้งแกล้วกล้าสามารถฉลาดเฉลียว | เคยท่องเที่ยวรู้หนทางกลางวิถี |
แล้วเป็นผู้รู้วิชาปัญญาดี | ควรเป็นที่นายใหญ่ได้ใช้การ |
ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรอย่าได้นิ่ง | ไม่เห็นจริงอย่างไรเร่งไขขาน |
แม้นเห็นชอบแล้วคำนับเร่งกราบกราน | อย่านิ่งนานจะได้สั่งให้ตั้งพลัน ฯ |
๏ ฝ่ายพวกโจรเห็นพร้อมยอมคำนับ | จึงว่ากับวุฒิไกรใจมหันต์ |
จะขอสาบานตัวทั่วหน้ากัน | ทำการนั้นมิได้คิดชีวิตเลย ฯ |
๏ ฝ่ายเสมียนหยิบกระบี่ที่ผู้ใหญ่ | มาส่งให้ถือเชิดให้เปิดเผย |
อาญาสิทธิ์ปราบปรามไปตามเคย | เสร็จแล้วเลยเลี้ยงดูทุกผู้คน |
เป็นเยี่ยงอย่างตั้งนายแล้วอย่างนี้ | ประสงค์ที่ไปข้างหน้าจะหาผล |
มันนับถือว่าเป็นงานการมงคล | แล้วต่างคนต่างตรงไปลงเรือ ฯ |
๏ พอฤกษ์ดีคลี่ใบขึ้นใส่รอก | ให้เร่งออกรีบไปข้างฝ่ายเหนือ |
เครื่องอาวุธเตรียมประจำทุกลำเรือ | ทหารเสือโห่เร้าจะเอาชัย |
แต่แล่นมาห้าเดือนไม่หยุดยั้ง | ดูเกาะฝั่งตามมหาชลาไหล |
ต้นหนส่องกล้องสว่างดูทางไป | จนเกือบใกล้รมจักรนัครินทร์ |
พอขาดข้าวเครื่องเสบียงเลี้ยงทหาร | เห็นถิ่นฐานสมจิตคิดถวิล |
จำจะเข้ารบราเอาธานินทร์ | ตีแต่ถิ่นปากน้ำทำเสบียง |
ถึงปากอ่าวเราไปรายกันทอด | เมื่อเรือจอดด้วยกันมากห้ามปากเสียง |
ไม่อื้ออึงปราบปรามห้ามสำเนียง | คอยฟังเสียงเล่าลืออย่าอื้ออึง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายด่านเมืองปากน้ำ | เวลาค่ำใช้ใบแล่นไปถึง |
พบกำปั่นจอดสล้างพลางรำพึง | แล่นไปถึงสั่งล่ามให้ถามพลัน |
ว่าเรือมาทอดอยู่นี่ดีหรือร้าย | จงภิปรายตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
โจรได้ฟังคั่งใจร้องไปพลัน | มาถามกันว่ากระไรไม่ใช่นาย |
เร่งกลับไปรักษาอาณาเขต | ถิ่นประเทศกูจะริบให้ฉิบหาย |
อย่าอยู่ช้าถ้ารู้ถึงตัวนาย | เองจะตายเสียเปล่าเปล่าไม่เข้ายา |
เรือตระเวนรีบมาหานายด่าน | จึ่งแจ้งการสิ้นฟังไม่กังขา |
มันท้าทายหลายลิ้นสิ้นตำรา | ฟังพูดจาหยาบคายหลายประการ ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าพระยารักษาสมุทร | ให้รีบรุดออกไปในราชฐาน |
ว่าข้าศึกจะมาล้อมป้อมปราการ | เรือประมาณห้าร้อยลอยประดัง ฯ |
๏ ขุนนางทราบราวเรื่องเมืองปากน้ำ | แล้วจึงนำเข้าไปดั่งใจหวัง |
ทูลท่านท้าวทศวงศ์ดำรงวัง | ใท้ทราบยังบาทาฝ่าธุลี ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นพิภพ | คิดปรารภเศร้าหมองไม่ผ่องศรี |
จึ่งตรัสเรียกพระนัดดามาพาที | ว่าไพรีมาประชิดติดบุรินทร์ |
เจ้าจงเกณฑ์จัตุรงค์ลงไปปราบ | ให้ราบคาบเสี้ยนหนามตามถวิล |
จงไปตั้งคอยรับทัพทมิฬ | ให้ไพรินย่อยยับอัปรา |
ครั้นสั่งเสร็จท้าวเสด็จยุรยาตร | ขึ้นปราสาทข้างในแล้วให้หา |
มเหสีกับบุตรีเกษรา | ให้ขึ้นมาตรัสแถลงแจ้งเนื้อความ |
นางพระยายิ่งวิตกตบอกผลุง | มาเกิดยุ่งทัพศึกให้นึกขาม |
แม้นเขยอยู่จะได้สู้ศึกสงคราม | พยายามปราบอมิตรไม่คิดเกรง |
แน่ะท่านตาว่ากระไรภัยมาถึง | มานั่งอึ้งดั่งเขาเกาะเห็นเหมาะเหมง |
ใจของตาดีแต่รักข้างนักเลง | ท่าโฉงเฉงเกี้ยวชู้ไม่รู้วาย |
เห็นอีสาวเข้าไม่ได้ใจริกริก | กระซ้อกระซิกเพราะตัณหาพาฉิบหาย |
นี่บ้านเมืองเคืองขุ่นเกิดวุ่นวาย | จะยักย้ายตรองการสถานใด ฯ |
๏ ท้าวทศวงศ์ทรงฟังมเหสี | ว่ายายนี่ค่อยว่าไม่ปราศรัย |
อย่าวิตกไปเลยหนาข้าจะไป | คอยชิงชัยรบรับกับทมิฬ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ | ภาณุมาศเยี่ยมโพยมสมถวิล |
เร่งเรือรบเข้ามาหน้าบุรินทร์ | พร้อมกันสิ้นสี่ร้อยลอยประดัง |
ลากปืนใหญ่ขึ้นจังกาทั้งหน้าท้าย | ให้ตั้งรายกันประดาทั้งหน้าหลัง |
จะตีด่านสาชลริมวนวัง | พร้อมสะพรั่งแต่ล้วนโจรโผนลำพอง |
ข้างฝ่ายพวกตาพระยารักษาด่าน | เกณฑ์ทหารพลฉกรรจ์ได้พันสอง |
ให้ขึ้นป้อมขัดตาทัพไว้รับรอง | ปืนจุกช่องลากไปใส่เสมา |
ทั้งปืนใหญ่ลากขนขึ้นบนป้อม | ทหารล้อมยืนรายทั้งซ้ายขวา |
พอพวกโจรถึงกระทั่งฝั่งชลา | ส่งภาษาบอกกล่าวชาวนคร |
ว่านายกูผู้เป็นใหญ่ในไตรจักร | จะมาหักเอาด่านชานสิงขร |
แม้นรบสู้กูมิฟังทั้งนคร | ถ้าโอนอ่อนโดยดีมิเป็นไร |
แม้นดึงดื้อถือดีมีมานะ | จะจับฉะคอเชือดให้เลือดไหล |
แล้วร้องเร่งพวกทหารอันชาญชัย | ยิงปืนใหญ่ที่ประจำทุกลำเรือ |
เสียงตูมตึงผึงผางถูกข้างป้อม | ชาวเมืองพร้อมยิงลงไปทั้งใต้เหนือ |
ถูกเชือกเสาเพลาใบที่ในเรือ | ทหารเสือขึ้นบกยกเข้าตี |
ล้อมปราการด่านใต้ริมชายหาด | ดูเกลื่อนกลาดทั้งชวากะลาสี |
ล้อมกำแพงแซงกันมาจะราวี | ชาวบุรีคั่วทรายปรายลงไป |
มันมีโล่บังกายทรายไม่ถูก | กันทั้งลูกปืนสาดพลาดไถล |
ชาวพาราราญรอนจนอ่อนใจ | มันตัดไม้เกลื่อนกลาดพาดกำแพง |
ปีนขึ้นได้ไล่คนที่บนป้อม | มันพรักพร้อมใจกันล้วนขันแข็ง |
ตีเอาด่านได้พลันไล่ฟันแทง | ใครต่อแย้งมันก็ฆ่าชีวาวัง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในบุรีเร่งกรีทัพ | มาคั่งคับแสนยาทั้งหน้าหลัง |
พระกฤษณาทรงพระยาพลายจำบัง | ออกจากวังรีบเดินดำเนินพล |
มาเกือบกึ่งถึงทางเมืองปากน้ำ | หนังสือซ้ำบอกแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ว่าเสียด่านวานนี้ไม่มีคน | พากันร่นย่อยยับอัปรา |
ขอพระองค์ยับยั้งตั้งอยู่นี่ | พวกไพรีเรี่ยวแรงแข็งนักหนา |
ทูลแล้วรีบเข้าไปในพารา | เอากิจจาทูลท้าวเจ้านคร ฯ |
๏ สมเด็จท้าวทศวงศ์ทรงสดับ | ให้คั่งคับในจิตดั่งพิษศร |
จึ่งสั่งพวกเสนาพลากร | เราจะจรลงไปรับทัพทมิฬ |
เกณฑ์กระบวนจัตุรงค์เคยยงยุทธ์ | เครื่องอาวุธดั้งดาบปืนคาบหิน |
เร่งผูกช้างมาบรรทุกทั้งลูกดิน | ให้พร้อมสิ้นเช้าตรู่กูจะไป |
แล้วจึงสั่งเสนาพวกข้าเฝ้า | เฮ้ยออเจ้ารีบไปแจ้งแถลงไข |
แก่สามพราหมณ์ทุกนครอย่านอนใจ | ว่าพวกไพรีมาชิดติดบุรินทร์ ฯ |
๏ ขุนนางรับอภิวันท์แล้วผันผาย | มาเขียนหมายตามรับสั่งดั่งถวิล |
ให้ม้าใช้ไปถึงพราหมณ์สามบุรินทร์ | ประเทศถิ่นบอกให้ทั่วทุกตัวนาย |
ครั้นสั่งเสร็จท้าวเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์นพรัตน์จำรัสฉาย |
ขุนเสนาเตรียมพหลพลนิกาย | ตามบาดหมายครบถ้วนกระบวนแซง ฯ |
๏ จะกล่าวข้างทรงฤทธิ์พระกฤษณา | พร้อมบรรดาพวกทหารชาญกำแหง |
ให้ตั้งค่ายยับยั้งอยู่กลางแปลง | แล้วจัดแจงจะออกรบสมทบพล |
ทหารปืนยืนสะพรั่งทั้งดั้งดาบ | ศรกำซาบหอกง้าวเหล่าพหล |
จัดเอาพวกจัตุรงค์ทั้งคงทน | พร้อมพหลโห่เร้าจะเอาชัย |
พระแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองระยับ | ตาบประดับพลอยแดงสุกแสงใส |
พาหุรัดเรืองรองทองอุไร | แล้วสอดใส่สังวาลทรงอลงกรณ์ |
เจียระบาดคาดปักเป็นรูปครุฑ | ใส่มงกุฎเนาวรัตน์ประภัสสร |
ฉลององค์พื้นแดงแย่งมังกร | กรรเจียกจรธำมรงค์อลงการ์ |
เหน็บกระบี่สีสลับประดับเพชร | แต่ละเม็ดพลอยพรายทั้งซ้ายขวา |
ทรงพระแสงของ้าวแวววาวตา | ขึ้นพระยาพลายจำบังที่นั่งทรง |
พอฤกษ์ดีคลี่คลายขยายทัพ | เดินคั่งคับทิวทวนกระบวนหงส์ |
ไปถึงด่านชาญสมุทรให้หยุดธง | เอาปักลงโห่ร้องก้องสำเนียง ฯ |
๏ ฝ่ายพวกโจรเตรียมถ้วนกระบวนทัพ | ออกตั้งรับตีกลองกึกก้องเสียง |
ให้ทหารชำนาญปืนออกยืนเรียง | หอกคู่เคียงคั่งคับทัพทมิฬ |
ทั้งสองข้างต่างยิงปืนคาบชุด | อุตลุดกึกก้องท้องกระสินธุ์ |
นายโจรใหญ่ใส่หมวกประดับนิล | ถือกะวินขัดกระบี่ขี่อาชา |
เร่งพหลพลขันธ์เข้าบรรจบ | ตีตลบเข้าไปทั้งซ้ายขวา |
ข้างพวกไทยได้ทีตีประดา | จนถึงอาวุธสั้นเข้าฟันแทง |
ยิงปืนตับคับคั่งไม่ยั้งหยุด | อุตลุดรบกันด้วยขันแข็ง |
ทั้งสองข้างตายกลาดเลือดสาดแดง | พวกแขกแทงไทยฟันประจัญบาน ฯ |
๏ ฝ่ายมะหุดวุฒิไกรเอาไฟกรด | สาดไปรดพวกไทยไล่ประหาร |
ถูกแขนขาไหม้ป่นเหลือทนทาน | พวกทหารล้มตายลงหลายพัน |
พอเย็นย่ำสนธยาต่างล่าทัพ | พากันกลับเข้าค่ายรีบผายผัน |
โจรก็เข้าอยู่ในด่านสำราญครัน | ปรึกษากันที่จะรับกองทัพไทย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงฤทธิ์กฤษณา | เสียบรรดาพลขันธ์ให้หวั่นไหว |
จะคิดอ่านป้องกันน้ำมันไฟ | จึงสั่งให้แต่บรรดาเสนานาย |
มาปรึกษาหารือใครรู้บ้าง | แก้ในทางเรื่องไฟเสียให้หาย |
ใครจะมีแยบยลกลอุบาย | ทั้งไพร่นายอย่าได้พรางเอารางวัล |
ไม่มีใครที่จะรับดับไฟกรด | ให้ระทดพวกพหลพลขันธ์ |
ถึงใครมีมนต์เวทวิเศษครัน | จะป้องกันดับไฟเห็นไม่มี |
แต่ปรึกษาหารือกันจนดึก | เห็นข้าศึกจะทำยับดั่งสับสี |
จะกำเริบโรมรุกมาทุกที | เห็นบุรีเราจะป่นไม่ทนทาน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในบุรินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ครั้นไตรตรัสสุริยาออกหน้าฉาน |
แต่งพระองค์ทรงเครื่องอลังการ | พร้อมทหารยกออกนอกบุรินทร์ |
พระเสด็จทรงรถาเทียมม้าต้น | ดำเนินพลลงไปท่าชลาสินธุ์ |
ยิงปืนใหญ่ก้องกังวานสะท้านดิน | ประโคมพิณพาทย์แตรแซ่สำเนียง |
เดินกระบวนทวนธงเครื่องยงยุทธ์ | ได้นามครุฑโห่ร้องกึกก้องเสียง |
พวกกองหลังคุมพหลขนเสบียง | เดินเรียบเรียงตามกันเป็นหลั่นไป |
ถึงค่ายใหญ่ใกล้ปราการชานสมุทร | ก็ยั้งหยุดพลขันธ์เสียงหวั่นไหว |
พระกฤษณามาเชิญเสด็จไป | เข้าค่ายในกราบทูลประมูลความ |
ว่าไพรีมีชัยเพราะไฟกรด | มันสาดรดทิ้งขว้างกลางสนาม |
ถูกเสื้อผ้าเกิดเป็นไฟเที่ยวไหม้ลาม | ติดไปตามเนื้อตัวทั่วทั้งกาย |
เอาน้ำดับกลับลุกขึ้นรุ่งโรจน์ | เป็นแสงโชติทำอย่างไรก็ไม่หาย |
เหลือกำลังทั้งพหลพลนิกาย | พากันตายย่อยยับลงนับพัน ฯ |
๏ ท้าวทศวงศ์ทรงฟังให้สังเวช | ผิดสังเกตกว่าแต่ก่อนจงผ่อนผัน |
จำจะคิดรับรองคอยป้องกัน | อย่าเพ่อหวั่นหวาดใจทั้งไพร่พล ฯ |
๏ ฝ่ายพวกโจรยกมาถึงหน้าค่าย | ร้องเข้าไปบอกให้แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
เฮ้ยใครเป็นตัวนายทั้งไพร่พล | จงรีบร้นออกมารบอย่าหลบกัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงฤทธิ์กฤษณา | สั่งบรรดาพวกพหลพลขันธ์ |
ให้แต่งกายรับรองคอยป้องกัน | ยกให้ทันมันมาท้าจะราวี |
พวกพหลพลทหารชำนาญรบ | มิได้หลบข้าศึกไม่นึกหนี |
พลางร่ายเวทวิทยาวิชามี | ล้วนคนดีสารพัดทั้งจัดเจน ฯ |
๏ ฝ่ายทรงฤทธิ์กฤษณาทรงม้าต้น | ยกพหลพร้อมพรั่งทั้งดั้งเขน |
เกณฑ์กองปืนมาบรรจบครบทุกเวร | ทั้งโล่เขนหอกง้าวทั้งหลาวทวน |
พอฤกษ์ดีคลี่คลายขยายทัพ | ยกออกรับรบกันกลมดั่งลมหวน |
โจรก็ทำยักย้ายหลายกระบวน | เห็นจวบจวนหมุนวิ่งทั้งอัคคี |
น้ำมันไฟไหม้พหลพลรบ | ทหารหลบแอบอิงบ้างวิ่งหนี |
ที่กำลังรบรับทัพทวี | เปลวอัคคีไหม้ตายลงก่ายกอง |
พอเวลาสายัณห์ตะวันพลบ | ต่างเลิกรบกลับไปค่ายทั้งสอง |
แขกกระหยิ่มยิ้มในน้ำใจปอง | มันตรึกตรองแต่จะเข้าเอาบุรินทร์ ฯ |
๏ จะกล่าวพราหมณ์สามนายได้หนังสือ | แล้วกลับรื้อร้อนในใจถวิล |
ว่าข้าศึกมาประชิดติดบุรินทร์ | ประเทศถิ่นรมจักรนัครา |
ทั้งสามนายใจร้อนดั่งศรพิษ | มาปักจิตเหมือนชีวังจะสังขาร์ |
พลางเกณฑ์พลคนละพันสั่งภรรยา | แล้วขึ้นม้ารีบมาพบประสบกัน |
ทั้งสามนายเร่งพหลพลทหาร | มาถึงด่านนคเรศขอบเขตขัณฑ์ |
ได้ทราบความว่าพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | จากเขตขัณฑ์ไปตั้งรับทัพทมิฬ |
ทั้งสามพราหมณ์รีบตามไปเมืองด่าน | เฝ้าพระผ่านภพไกรดั่งใจถวิล |
ป่างพระองค์ทรงจังหวัดปัถพิน | จึงผันผินเบือนพักตร์มาทักพราหมณ์ |
แล้วตรัสเล่าราวเรื่องพวกโจรแขก | เมืองด่านแตกเกิดยุ่งกรุงสยาม |
นัดดายกจัตุรงค์ออกสงคราม | ก็ได้ความอัปรามาทุกที |
เสียพหลพลไพร่ตายออกกลาด | ถูกมันสาดน้ำมันไฟตายเป็นผี |
เหลือแก้ไขในฤทธิ์พิษอัคคี | ยกออกตีครั้งไรตายเป็นเบือ |
ถึงเวลามารบมิได้เว้น | ราวกะเช่นเสือป่ามันกล้าเหลือ |
ทั้งพูดจาหยาบคายไอ้นายเรือ | คล้ายผีเสื้อเช่นเขาว่านัยน์ตาแดง ฯ |
๏ เจ้าพราหมณ์ฟังบังคมบรมนาถ | ทูลว่าชาติแขกชวามักกล้าแข็ง |
แต่จะดูกำลังรบกลางแปลง | จะต่อแย้งทำการสถานใด |
เจ้าโมราสานนพราหมณ์วิเชียร | เคยเล่าเรียนไตรเวทข้างเพทไสย |
จำจะดูท่าทางมันอย่างไร | ขอแก้ไขตามตำราพระอาจารย์ ฯ |
๏ ท้าวทศวงศ์ทรงฟังค่อยสร่างทุกข์ | จึงสั่งมุขมนตรีสี่ทหาร |
เร่งกะเกณฑ์พลขันธ์ให้ทันการ | ออกรอนราญรบสู้ดูอีกที |
เชิญเจ้าพราหมณ์สามนายไปกำกับ | จะได้รับแก้ไขในวิถี |
ถ้าแม้นได้ฤกษ์พาเวลาดี | จึ่งค่อยกรีธาทัพออกรับรอง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ | มีอำนาจถือดีไม่มีสอง |
คิดจะทำการศึกนั่งตรึกตรอง | เรียกโจรรองมาปรึกษาหาอุบาย |
ใครจะเห็นเป็นอย่างไรให้เร่งว่า | จวนเวลาสุริยันตะวันฉาย |
จึงว่าข้าไม่เห็นทางข้างอุบาย | สุดแต่นายกล่าวคำจะทำตาม ฯ |
๏ ฝ่ายมะหุดวุฒิไกรลุกไปสั่ง | ให้เร่งตั้งกระบวนไว้ในสนาม |
ได้ฤกษ์ดีเราจะตีตัดสงคราม | แล้วจะข้ามทุ่งไปเผาค่ายดู |
จะรบรับทัพไทยด้วยไฟกรด | เผาให้หมดทั้งแผ่นดินพวกกินหมู |
พวกพหลพลชวามลายู | ถือหอกคู่เตรียมการจะราญรอน |
ใส่เสื้อดำกำมะหลิดเหน็บกริชสั้น | ถือกั้นหยั่นยืนเรียงเคียงสลอน |
พร้อมสะพรั่งทั้งพหลพลนิกร | อัสดรผูกไว้เสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายนายโจรแต่งกายกรายกระบี่ | มาขึ้นขี่ม้าดำนำทหาร |
ยกพหลพลไกรอันชัยชาญ | ออกจากด่านเมืองท่าชลาลัย |
โห่สนั่นครั่นครื้นยิงปืนตับ | เดินคั่งคับธงทิวปลิวไสว |
ถึงที่รบหยุดพหลพลไกร | ไอ้นายใหญ่นึกหวังอหังการ |
ให้ร้องว่าท้าทายเป็นหลายอย่าง | พูดต่างต่างอิศโรตามโวหาร |
ทั้งหยาบคายร้ายกาจเพราะชาติพาล | มันว่าขานประสาโจรโลนลำพอง ฯ |
๏ จะกล่าวกลับทัพไทยเตรียมไว้พร้อม | ให้ยกอ้อมออกไปรับทัพทั้งสอง |
เจ้าพราหมณ์คอยดูตรวจทุกหมวดกอง | คอยรับรองดูกำลังระวังภัย |
พระกฤษณาทรงม้าเป็นแม่ทัพ | พราหมณ์กำกับดูแลคอยแก้ไข |
ทหารโห่ครึกครื้นยิงปืนไฟ | โห่เอาชัยฆ้องลั่นสนั่นดัง |
พวกทัพหน้ากล้าหาญเข้าราญรบ | เร่งกระทบตีประดาทั้งหน้าหลัง |
โจรก็เร่งโยธาดาประดัง | บ้างแกว่งทั้งอาวุธยุทธนา |
ชาวบุรีพุ่งหลาวเอาง้าวฟาด | พวกโจรสาดไฟแรงถูกแข้งขา |
น้ำมันกรดรุ่งโรจน์โชตินา | ถูกบรรดาพวกทหารล้มซานเซ |
ติดผ้าเสื้อเหลือทนเที่ยววนวิ่ง | บ้างล้อมกลิ้งทับกันวิ่งหันเห |
พระกฤษณาเห็นกระบวนเที่ยวรวนเร | เดินโซเซซานซบสลบไป |
พระชักม้าถาโถมเข้าโจมจับ | นายโจรรับกระบี่ฟาดพลาดไถล |
พระกฤษณากวัดแกว่งพระแสงไป | เข้าชิงชัยรับรองทั้งป้องกัน |
พระกฤษณากล้าหาญในการรบ | เลี้ยวตลบต่อแย้งด้วยแข็งขัน |
โจรสามารถอาจองคงกระพัน | แต่รบกันก็จนหย่อนอ่อนกำลัง |
โจรขยับขับม้าออกมาห่าง | แล้วก็ขว้างน้ำมันไฟดั่งใจหวัง |
ถูกกายกรร้อนรนพ้นกำลัง | ม้าที่นั่งเล่าก็ไฟติดไหม้พอง |
สลบลงที่ทางกลางสนาม | ทั้งสามพราหมณ์ชักม้าพาผยอง |
เข้ารบรับแก้ไขในทำนอง | ไอ้โจรร้องวิ่งเข้าไปเอาไฟโยน |
ถูกวิเชียรโมราม้าที่ขี่ | ก็วิ่งรี่โลดเต้นทั้งเผ่นโผน |
เหลือกำลังร้อนเริงด้วยเพลิงโชน | วิ่งลงโคลนดิ้นหรบสลบไป |
แต่สานนนั้นไฟมิได้ต้อง | นิ่งตรึกตรองผันแปรคิดแก้ไข |
พระสุริยงเย็นพยับลงลับไพร | ต่างเลิกไปมิได้รบพอพลบลง |
พวกที่กลับไปค่ายทูลไขขาน | ว่าพระหลานถูกอัคคีมีพิษสง |
ทั้งอาชาม้าที่นั่งบัลลังก์ทรง | สลบลงทั้งทหารชำนาญปืน |
กับสามพราหมณ์ตามไปก็ถูกด้วย | เห็นจะม้วยชีวาไม่ฝ่าฝืน |
เหลือแต่พราหมณ์สานนเป็นคนยืน | ไม่ถูกปืนถูกไฟพวกไพรี ฯ |
๏ สมเด็จท้าวทศวงศ์ได้ทรงทราบ | ดั่งเอาดาบเข้ามาฟันบั่นเกศี |
เห็นบ้านเมืองจะได้แก่ไพรี | ไม่รู้ที่ตรองการสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายสานนเข้าไปเฝ้าเล่าแถลง | ทูลชี้แจงขอพระองค์อย่าสงสัย |
ข้าตรองตรึกนึกเหมือนอย่างเมื่อครั้งไป | รบที่ในเมืองผลึกนึกขึ้นมา |
อ้ายจีนตั๋งมันก็ใช้ไฟอย่างนี้ | ต้องบัดพลีขอฝนมนต์คาถา |
ให้ตกต้องเย็นใจในอุรา | ขออาสาแก้ไขไฟน้ำมัน ฯ |
๏ ท้าวทศวงศ์ทรงฟังจึงสั่งว่า | ตามวิชาครูสอนเร่งผ่อนผัน |
ช่วยแก้ไขให้ตลอดรอดชีวัน | แต่พวกบรรดาไปถูกไฟฟอน |
พระตรัสว่าข้าก็จะไปด้วย | จะได้ช่วยกันระวังช่วยสั่งสอน |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จบทจร | กับนิกรเสนาพร้อมสานน |
ไปถึงที่ท่าข้ามสนามรบ | เห็นแต่ศพนอนกราดดาดถนน |
ท้าวจึงหยุดเสนาพลาพล | พราหมณ์สานนตั้งศาลการบูชา |
แล้วบวงสรวงเทพไทในสวรรค์ | ที่ในชั้นดาวดึงส์ไตรตรึงสา |
เข้ามณฑลบริกรรมตามตำรา | ประเดี๋ยวฟ้าครางครึมกระหึมครวญ |
มหาเมฆตั้งมาในอากาศ | ด้วยอำนาจอาคมเป็นลมหวน |
ฝนก็โรยโปรยต้องละอองนวล | สุนีครวญน้ำนองท้องสุธา |
พวกที่ถูกไฟกรดหมดทั้งนั้น | ก็พากันพลิกฟื้นตื่นผวา |
พร้อมทั้งหมดปลดปลอดรอดชีวา | พระกฤษณาสองพราหมณ์พ้นความตาย |
ทั้งอาชาม้าที่นั่งสิ้นทั้งนั้น | ไม่ดับขันธ์ไฟดับระงับหาย |
ได้ความสุขทุกข์ร้อนผ่อนสบาย | ทั้งเจ้านายมาประนมบังคมคัล ฯ |
๏ ท้าวทศวงศ์ยินดีเป็นที่สุด | พระทรงภุชปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ชวนนัดดาสามพราหมณ์ตามจรัล | มาตั้งมั่นอยู่ในค่ายทั้งไพร่พล |
ถึงเวลามารบมิได้ขาด | ไม่พลั้งพลาดตีตลบรบด้วยฝน |
พราหมณ์วิเชียรโมราเจ้าสานน | เข้ามณฑลโดยตำราวิชาการ ฯ |