๒. ตอนรับราชการ

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้นมีคำเล่ากันมาว่า เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทร ต้องถูกชำระนั้น สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่า เป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี[๑] ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมื่อยังเป็นหนุ่มคะนองว่า ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชร[๒] เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง และบางทีพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลีย จะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวนหาตัวผู้ทิ้งหนังสือคราวนั้นเอง จึงเลยทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เอาตัวมารับราชการเป็นอาลักษณ์ มูลเหตุที่สุนทรภู่จะเข้ารับราชการหาปรากฏเรื่องเป็นอย่างอื่นไม่[๓]

เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว มีเรื่องเล่ากันมาถึงที่สุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ว่า ในสมัยนั้นกำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละครกันมา กล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า

“เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา”

ต่อนี้ถึงบทหนุมานว่า

“บัดนั้น วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัถพี ขุนกระบี่ก็โจนลงมา”

พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติว่า บทเก่าตรงนี้กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขได้นานนัก นางสีดาจะต้องตายเสียแล้ว บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ จึงคิดจะให้หนุมานเข้าแก้ได้โดยรวดเร็ว แต่งบทนางสีดาว่า

“จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”

ต่อไปนี้เกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษา ไม่มีใครสามารถแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงทรงลองดำรัสสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อไปว่า

“ชายหนึ่งผูกศออรไท แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย”

ดังนี้ก็ชอบพระราชหฤทัย ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่คราวนี้ครั้งหนึ่ง ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ ๒ นั้น เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นแล้วให้เอาบทไปซ้อมละครเสียก่อน ถ้าบทยังขัดกับกระบวนเล่นละคร ก็ต้องแก้ไขบทไปจนกว่าละครจะเล่นได้สะดวก จึงเอาเป็นใช้ได้ บทที่สุนทรภู่แต่งถวายครั้งนั้นเข้ากับกระบวนเล่นได้สะดวกดีด้วยจึงได้โปรดฯ

อีกครั้งหนึ่ง เล่ากันมาว่า เมื่อแต่งบทเรื่องรามเกียรติ์ต่อมาถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

“รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ”

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับเป็นรถใหญ่โตถึงปานนั้นยังไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ต่อ สุนทรภู่ต่อว่า

“นทีตีฟองนองระลอก คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”

เล่ากันว่าโปรดนัก แต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ทรงปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหาร[๔]ในกรมพระอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ที่ใต้ท่าช้าง[๕]และมีตำแหน่งเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาส ก็โปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน[๖]

แต่การที่สุนทรภู่ได้เป็นขุนนางและได้มีตำแหน่งรับราชการใกล้ชิดติดพระองค์เช่นนั้น ไม่สามารถจะคุ้มความทุกข์ยากได้ทีเดียว เหตุด้วยสุนทรภู่ยังเสพสุราไม่ทิ้งได้ เมื่อเป็นขุนสุนทรโวหารแล้วครั้งหนึ่งกำลังเมาสุรา ไปหามารดา มารดาว่ากล่าว กลับขู่เข็ญมารดา ขณะนั้นมีญาติผู้ใหญ่จะเป็นลุงหรือน้าคนหนึ่งเข้าไปห้ามปราม สุนทรภู่ทุบตีเอาบาดเจ็บถึงสาหัส เขาทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาก็ถูกกริ้ว มีรับสั่งให้เอาตัวไปจำไว้ ณ คุก เรื่องสุนทรภู่ติดคุก มีเค้าเงื่อนปรากฏแต่งไว้ในเสภา พรรณนาถึงลักษณะติดคุกตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผนว่า

“ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้ ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ”

มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณี เมื่ออยู่ในคุกคราวนั้น ข้อนี้ก็เห็นจะจริง[๗] มีเค้าเงื่อนอยู่ในเสภา ตอนที่สุนทรภู่แต่งว่าถึงขุนแผนติดคุกนั้นว่า

“อยู่เปล่าเปล่าเล่าก็จนพ้นกำลัง อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย
ไห้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย
ใบละบาทคาดได้โดยง่ายดาย แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป”

สุนทรภู่คงคิดแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น ขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่ อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ บอกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติที่คุณพุ่มแต่ง

สุนทรภู่จะติดคุกอยู่ช้านานเท่าใดมิได้ปรากฏ เล่ากันแต่ถึงเหตุที่จะพ้นโทษว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดติดขัด ไม่มีผู้ใดจะต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับสั่งให้ไปเบิกตัวสุนทรภู่มาจากคุก สุนทรภู่ต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พ้นโทษ กลับมารับราชการตามเดิม มาถึงตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ขึ้นต้นว่า

“สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน”[๘]

และกล่าวในกลอนตอนปลายเมื่อก่อนจบว่า

“ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก ดังนี้เรียกเรื่องสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์ แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้ หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสาพิภักดิ์ ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย”[๙] ดังนี้

ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน[๑๐]มีสำนวนสุนทรภู่แต่งตอนหนึ่งตั้งแต่พลายงามเกิด ไปจนพลายงามถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สำนวนตั้งใจประจงแต่งดีหนักหนา บทเสภาตอนนี้สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลที่ ๒[๑๑] ด้วยกล่าวความตอนพลายงามอยู่กับจมื่นศรีว่า

“ครานั้นพลายงามทรามสวาท แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน
อยู่บ้านท่านหมื่นศรียินดีครัน ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน
เธอเข้าเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาสัย
ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบไป ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช”

ต่อมาอีกแห่งหนึ่งกล่าวถึงบทสมเด็จพระพันวสา

“ครานั้นสมเด็จพระพันวสา เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้ กลับเข้าไปในแท่นที่ศรีไสยาฯ”

เรื่องประวัติเมื่อตอนที่สุนทรภู่เป็นกวีที่ทรงปรึกษา ยังมีเรื่องเกร็ดเล่ากันมาอีกหลายอย่าง เรื่องหนึ่งว่า สุนทรภู่คุยว่าสำนวนกลอนที่จะเเต่งให้เป็นคำปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่เช่นตัวถึงจะแต่งได้ บ่งความว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็แต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไกรทอง เพื่อพิสูจน์ให้ปรากฏว่า ถึงเจ้านายจะทรงแต่งกลอนให้เป็นคำปากตลาดก็อาจทรงได้ อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ทรงแบ่งตอนนางบุษบาเล่นธารเมื่อท้าวดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่ง เมื่อทรงแต่งแล้วถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งวานสุนทรภู่อ่านตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่เเล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกันถึงบทแห่งหนึ่งว่า

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”[๑๒]

สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า “ลูกปรารถนาอะไร” พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงแก้ว่า

“ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”

ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งปรามาสอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒

ในระยะเวลาที่สุนทรภู่รับราชการอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้น มีบุตร ๒ คน บุตรชายคนใหญ่ชื่อพัด ดูเหมือนภรรยาที่ชื่อจันจะเป็นมารดา ต่อมาสุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม เป็นเจ้าชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ[๑๓] จะเป็นด้วยเหตุที่ได้ภรรยาใหม่ หรือด้วยเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ภรรยาที่ชื่อจันนั้น ลงท้ายหย่ากันกับสุนทรภู่ แล้วไปมีสามีใหม่ ความข้อนี้สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณเป็นโคลง ๒ บทว่า

๏ ยลย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์ เเจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิมฯ
๏ เสียดายสายสวาทโอ้ อาวรณ์
รักพี่มีโทษกรณ์ กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง แตกฟ้าผ่าสลายฯ

ส่วนภรรยาที่ชื่อนิ่มนั้น พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย[๑๔] เจ้าครอกข้างในฯ จึงรับบุตรของสุนทรภู่ไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังหลังทั้ง ๒ คน นอกจากภรรยาชื่อจันกับชื่อนิ่ม ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว สุนทรภู่ก็ยังมีคู่รักระบุชื่อไว้ในนิราศอีกหลายคน ว่าเป็นภรรยาบ้างเป็นชู้บ้าง แต่มิได้ปรากฏว่าอยู่กับใครยืดยาวสักคนเดียว[๑๕]



[๑] นิราศเมืองเพชรบุรี นี้

ธนิต อยู่โพธิ์ ว่า สุนทรภู่แต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๓๙๒

ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ ในรัชกาลที่ ๓ ขณะบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม แล้วรับอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปหาสิ่งของที่เพชรบุรี

พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ ขณะเป็นภิกษุจำพรรษาที่วัดราชบุรณะ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๒] สุนทรภู่คงกลับจากเมืองเพชรมาอยู่กรุงเทพฯ ราวเดือน ๔ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๖ เพราะกล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชรว่า “แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย” เห็นจะไม่ใช่เนื่องด้วยบัตรสนเท่ห์ – ธนิต อยู่โพธิ์

[๓] ฉันท์ ขำวิไล เสนอความเห็นว่า สุนทรภู่เข้ารับราชการ พ.ศ. ๒๓๖๓ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทราบชื่อเสียงจากงานประพันธ์ จึงรับสั่งให้หาตัวเข้ารับราชการ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๔] กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร อ้างไว้ในเอกสารประกอบการแสดงนิทรรศการรำลึกถึงสุนทรภู่ว่า เรื่องบรรดาศักดิ์ของสุนทรภู่นี้ มีหลักฐานปรากฎในคำฟ้อง ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องนายทิม สุขยางค์ แต่งนิราศหนองคาย กล่าวหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยาฯ อ้างไว้ในตอนหนึ่ง เรียกสุนทรภู่ว่า “หลวงสุนทรภู่” จึงสันนิษฐานว่า ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่คงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งผู้เรียบเรียงประวัติของท่านภายหลังไม่ทราบเรื่องนี้ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๕] ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๖] ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๗] เข้าใจว่า คงจะได้แต่งหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นขายเป็นอาชีพจริง แต่คงไม่ใช่เรื่องพระอภัยมณี เพราะเรื่องพระอภัยมณีนั้นเข้าใจว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งในรัชกาลที่ ๓ โปรดดูเรื่อง “ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี” ในกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี เล่ม ๔ - ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล ว่า เข้าใจว่าเริ่มตั้งโครงเรื่องและลงมือแต่งบ้างในรัชกาลที่ ๒ นับแต่ พ.ศ. ๒๓๖๓ เป็นต้นมา จนปลายรัชกาลที่ ๓ และคงจะไม่ได้แต่งติดต่อกัน

พ.ณ ประมวญมารค ว่า เริ่มแต่งตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ส่วนที่ว่าแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ คงแต่งต่อหลังจาก พ.ศ. ๒๓๗๙ และเห็นว่าสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มิใช่แต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ-กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๘] เรื่องสวัสดิรักษานี้ เข้าใจว่าคงจะแต่งขึ้นถวายระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔ - ๒๓๖๗) ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต - ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๕ - ๒๓๖๗

พ.ณ ประมวญมารค ว่า แต่งถวายกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ขณะทรงผนวชเป็นสามเณรกับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๙] อนึ่งเข้าใจว่า สุนทรภู่คงจะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไตรภพตอนต้น ๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย เพราะมีคำกล่าวไว้ในเรื่องรำพันพิลาปของสุนทรภู่เอง เมื่อพูดถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่เรียกเป็นพระนามแฝงว่า พระสิงหไตรภพ และเมื่อพิจารณาสำนวนกลอนในเรื่องพระสิงหไตรภพตอนต้น ๆ กับในเรื่องพระอภัยมณี จะเห็นได้ว่าพระสิงหไตรภพนั้น สำนวนโวหารการประพันธ์ตอนต้น ๆ เป็นการเริ่มลองมื่อไว้ อันทำให้โวหารการประพันธ์ในเรื่องพระอภัยมณีเพราะพริ้งขึ้นมาก - ธนิต อยู่โพธิ์

[๑๐] ฉบับหอพระสมุดฯ เล่ม ๒ ตอนที่ ๒๔ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๑๑] ธนิต อยู่โพธิ์ และ พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ เช่นกัน ส่วน ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔ - ๒๓๖๗ เมื่อออกจากคุกแล้ว - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๑๒] ความวรรคหลังมักกล่าวกันว่า “ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว” ข้าพเจ้าว่าคงเป็นคำ “ปลา” มิใช่ “ว่าย” - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๑๓] นายพัดกับนายตาบอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ทั้งสองคน นายตาบเป็นกวีตามบิดา มีสำนวนแต่งเพลงยาวปรากฏอยู่ – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๑๔] นิราศพระประธมซึ่งสุนทรภู่แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๘๕ ว่า “เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี” เข้าใจว่าคงจะตายราว พ.ศ. ๒๓๗๖ – ธนิต อยู่โพธิ์

[๑๕] เกี่ยวกับภรรยาและบุตรของสุนทรภู่นี้

ธนิต อยู่โพธิ์ เห็นตรงกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และว่า นิ่มคงจะตายราว พ.ศ. ๒๓๗๖

ฉันท์ ขำวิไล เห็นเช่นเดียวกัน แต่เพิ่มเติมว่า ภรรยาที่ชื่อนิ่มเป็นสาเหตุให้แม่จันโกรธและหย่าร้างกับสุนทรภู่ หนูตาบ บุตรที่เกิดกับนิ่ม เกิดราว พ.ศ. ๒๓๖๕ ภายหลังตาบได้เป็นมหาดเล็กพระเจ้าลูกเธอในพระบวรราชวัง ส่วนบุตรที่เกิดกับม่วงนั้น ชื่อว่า หนูน้อย เกิดประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๐ - ๒๓๘๑ และสุนทรภู่ยังมีบุตรบุญธรรมอีก ๒ คน ชื่อ กลั่น และชุบ

ล้อม เพ็งแก้ว เสนอความเห็นว่า หม่อมบุนนาคเคยตกแต่ง “สาวปรางทอง” ให้เป็นภรรยาสุนทรภู่ อย่างเปิดเผยอีกคนหนึ่ง และว่าเมื่อสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในพ.ศ. ๒๓๕๙ ไม่ได้พาแม่จันไปด้วย – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ