- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
๏ จะกล่าวเรื่องเมืองผลึกเมื่อศึกหยุด | สินสมุทรครองวังรั้งรักษา |
ถึงเดือนยี่ปีขาลพระมารดา | องค์มณฑาเสด็จสวรรคครรไล |
พระญาติวงศ์พงศาทั้งข้าเฝ้า | กำสรดเศร้าแซ่ซ้องร่ำร้องไห้ |
หน่อกษัตริย์จัดโกศแก้วประไพ | เชิญศพใส่ไว้ปราสาทกั้นราชวัติ |
ฉัตรเงินทองรองเรืองเครื่องประดับ | มีสำหรับยศอย่างนางกษัตริย์ |
นิมนต์มุนีที่บำเพ็งบวชเคร่งครัด | มาสวดมนต์ปรนนิบัติตามศรัทธา |
แล้วแต่งสารการศพสวรรคต | ตามกำหนดจดวันชันษา |
ให้เสนีที่ชำนาญการพูดจา | ไปลังกาทูลสนองทั้งสององค์ |
เสนาในได้หนังสือถือรับสั่ง | ลงที่นั่งกำปั่นสุวรรณหงส์ |
พร้อมต้นหนคนประจำเป็นลำทรง | ออกอ่าวตรงข้ามฝั่งไปลังกา |
ขึ้นเฝ้าสุดสาครบวรนาถ | ถวายพระราชสารสมเด็จพระเชษฐา |
พระอ่านแจ้งแข็งขืนกลืนน้ำตา | พาเสนาผู้ถือหนังสือไป |
ถึงอารามสามองค์ที่ทรงพรต | น้อมประณตทูลแจ้งแถลงไข |
เหมือนเรื่องความตามสวรรคครรไล | แล้วอ่านให้ทราบความตามคดี ฯ |
๏ ในสาราว่าพระหน่อวรนาถ | บังคมบาทบงกชบทศรี |
ด้วยแรกเริ่มเดิมพระอัยกี | หาฉันนี้ไปเฝ้าพร้อมเผ่าพงศ์ |
ทรงขาวผ่องยองใยสไบเฉียง | ตรัสสั่งเสียงแจ่มใสไม่ใหลหลง |
ฝากสุรางค์นางนาฏพระญาติวงศ์ | ว่าพระองค์นั้นถึงสวรรคต |
แจกเงินทองของประทานวงศ์วานพร้อม | ทั้งเตี้ยค่อมข้าหลวงทั้งปวงหมด |
แล้วอวยชัยให้พระองค์ซึ่งทรงพรต | เป็นดาบสบวชจำเริญอยู่เนิ่นนาน |
แล้วเข้าที่ตีสามยามสงัด | ตื่นบรรทมประนมหัตถ์อธิษฐาน |
พอนาทีตีสิบเอ็ดสำเร็จการ | พระนิพพานนิ่งสนิทเหมือนนิทรา ฯ |
๏ ทั้งสามองค์ปลงเห็นเป็นสำเร็จ | ท่านสิ้นเสร็จชาติทุกข์ถึงสุขา |
แล้วถือพัดขัดสมาธิ์มาติกา | ได้พร้อมพรั่งทั้งวัณฬาสุมาลี |
ครั้นจบสวดตรวจน้ำร่ำอุทิศ | เป็นนักสิทธ์อยากใคร่พบซากศพผี |
เห็นสมควรชวนสองดาบสินี | เข้ากุฎีห่มดองครองเครื่องพรต |
ชฎากลีบจีบเฉลิมเสริมพระเศียร | หนังสือเฉวียนวระชาตามดาบส |
เสร็จทั้งสามตามกันลงบรรพต | ถือพัดป้องจ้องจดบทจร ฯ |
๏ ฝ่ายหน่อนาถราธนาพระดาบส | ขึ้นทรงรถเนาวรัตน์ประภัสสร |
เข้าดงเดินเนินผาพนาดร | ประทับรอนแรมทางมากลางดง |
ไม่เข้าวังลังกาไปท่าน้ำ | แล้วลงลำกำปั่นสุวรรณหงส์ |
ออกร่องน้ำท่ามกลางตัดทางตรง | พอพลบลงลมแดงดั่งแสงเพลิง |
ดูมืดกลุ้มคลุ้มคลื่นเสียงครืนครั่น | โดนกำปั่นหันระเหิดเตลิดเหลิง |
ใบขาดแตกแฉกฉีกเป็นปีกเปิง | น้ำเข้าเจิ่งดาดฟ้าคงคาเค็ม |
คนจะยืนขึ้นก็ล้มด้วยลมคลื่น | เหลือจะฝืนฝ่าข้ามไปตามเข็ม |
สุดสังเกตเขตแดนจะแล่นเล็ม | ด้วยลมเค็มตึงใบลดไม่ทัน |
ต้องเอามีดกรีดแหวะแฉละโล่ง | ให้เปล่าโปร่งปลดห่วงที่ควงขัน |
ไม่เห็นหนมนมืดเป็นหมอกควัน | ตีกำปั่นไปทิศอาคเนย์ |
พวกต้นหนคนงานซมซานซบ | คลื่นกระทบกระแทกป่วนให้หวนเห |
ลมไม่หยุดรุดไปในทะเล | ออกมเหสระตินสายสินธู |
ไปสามเดือนเหมือนหนึ่งเหาะสิ้นเกาะแก่ง | จนสุดแสงสุริเยนทร์เห็นรุบหรู่ |
เป็นขอบจักรวาลาตำราครู | ไม่เห็นสูริยันดวงจันทรา |
เห็นเงื้อมเงาเขาขวางกีดกางกั้น | ชื่อละเมาะเกาะกัลปังหา |
กว้างร้อยโยชน์โขดนิลเหมือนศิลา | เป็นที่อารักษ์อยู่แต่บูราณ |
พวกจีนจามพราหมณ์ทั้งฝรั่งแขก | เรือมาแตกที่ทะเลเทวฐาน |
อารักษ์ช่วยด้วยฤทธิ์พิสดาร | สืบลูกหลานเหล่ากอต่อต่อมา ฯ |
๏ พวกหญิงชายฝ่ายชนทะเลนั้น | อยู่เขตแคว้นแดนกัลปังหา |
เมื่อลงน้ำดำว่ายคล้ายคล้ายปลา | ไม่นุ่งผ้านุ่งแต่ใบไม้กำบัง |
เป็นหัวพริกหยกแดงเรี่ยวแรงมาก | ตัวเหมือนกลากเกลื้อนปลิวลอกผิวหนัง |
บ้างอยู่บกตกกล้าทำนาปรัง | บ้างอยู่ฝั่งสาชลล้วนคนทะเล |
ทำสุมทุมพุ่มไม้อยู่ในป่า | เสียงพูดจาว้าโว้ปะโหรปะเหร |
จะแปลภาษามนุษย์สุดคะเน | มันเที่ยวเร่รายกันขุดมันกลอย |
บ้างลงน้ำดำหากุ้งปลาได้ | เอาเผาไฟกินอยู่ทั้งปูหอย |
มีลูกเต้าเหล่าเด็กเล็กเล็กน้อย | ลงว่ายลอยเล่นน้ำด้วยชำนาญ |
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์อยู่ตามเพื่อน | ปลูกเหย้าเรือนตามทะเลเทวฐาน |
ด้วยกว้างขวางอยู่หว่างจักรวาล | เป็นกิ่งก้านซ้อนซับสลับกัน |
มีลูกงอกออกที่รากหลากประหลาด | แดงดั่งชาดกลมกลิ่นดั่งดินถนัน |
ลูกลอยฟูอยู่ในน้ำของสำคัญ | คือลูกกัลปังหาในวารี |
กินเข้าไปใจชื้นระรื่นกลิ่น | ตัวก็สิ้นโรคาเป็นราศี |
ที่เกาะนั้นบรรดาเป็นนารี | ใครอยากมีผัวก็ไปไหว้เทวา |
เทพไทให้เห็นเช่นมนุษย์ | รูปงามสุดสมเล่ห์เสนหา |
ครั้นลูกมีสีเหมือนนิลดั่งจินดา | ท่านเทวาพาไปในคีริน |
กินลูกกัลปังหาเป็นอาหาร | อยู่สถานถ้ำทองในห้องหิน |
พี่สาวสองน้องชายกายเหมือนนิล | ล้วนหอมกลิ่นมังสาเหมือนมาลี |
เกิดเรียงปีพี่น้องสองสังเขป | ชื่อนางเทพเทพินนิลกัณฐี |
อนุชาอายุสิบสี่ปี | ชื่อเจ้าตรีพลำมีกำลัง |
รู้ภาษามนุษย์สุดประเทศ | ด้วยเทเวศร์แกมกับคนมนต์ดลขลัง |
รู้สึกลับคลับคล้ายกายกำบัง | นุ่งห่มหนังนาคราชผุดผาดงาม |
วันนั้นออกจากถ้ำว่ายน้ำเล่น | เห็นปลาเผ่นขึ้นหลังได้ทั้งสาม |
จะขับซ้ายย้ายขวาปลาไปตาม | ด้วยมีความรู้ฤทธิ์วิทยา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยในกำปั่น | เห็นเงื้อมเงาเขากัลปังหา |
ฝูงปลาใหญ่ในน้ำว่ายคล่ำมา | ทั้งซ้ายขวาหน้าหลังดั่งคีรี |
พวกฝรั่งนั่งยืนยิงปืนสู้ | มันยิ่งพรูกันมาอีกไม่หลีกหนี |
กดกำปั่นนั้นจนเปลี้ยจะเสียที | จึ่งหยิบปี่เป่าเสียงสำเนียงดัง |
ฝูงปลาใหญ่ได้ยินลืมกินเหยื่อ | ที่หนุนเรือเคลื่อนคล้อยกลับถอยหลัง |
ขึ้นลอยล่องฟ่องฟูเงี้ยหูฟัง | วิเวกวังเวงแว่วแจ้วจับใจ |
เสียงฉอดฉ่ำร่ำว่าเทพารักษ์ | ซึ่งสำนักเนินผาชลาไหล |
ขอเชิญช่วยด้วยเถิดพระเลิศไกร | ให้พ้นภัยฝูงปลาในวารี |
แล้วเป่าบวงสรวงถวายฉุยฉายเอ๋ย | เชิญชมเชยจันทร์จำรัสรัศมี |
ดารากรร่อนเร่ในเมฆี | จะช่วยชี้ชมดาวสาวสาวเอย |
ไม่มีคู่อยู่เดียวเปล่าเปลี่ยวอก | ไม่เหมือนกกกอดพระทองนะน้องเอ๋ย |
จะชมอื่นคืนกลับลิบลับเลย | ไม่เหมือนเชยโฉมน้องประคองเคียง |
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด | เสียงฉอดฉอดเฉื่อยฉ่ำด้วยน้ำเสียง |
ก้องกังวานหวานแว่วแจ้วจำเรียง | ส่งสำเนียงนิ้วเอกวังเวกใจ ฯ |
๏ ฝ่ายนางเทพเทพินนิลกัณฐี | ทั้งเจ้าตรีพลำเล่นน้ำไหล |
ยินสำเนียงเสียงเพราะเสนาะใน | จับจิตใจเจียนจะหลับนั่งตรับฟัง |
เห็นกำปั่นนั้นแล้วแจ้วแจ้วจอด | เสียงฉอดฉอดพลอดสัมผัสประหวัดหวัง |
จึงขับปลามาในน้ำด้วยกำลัง | พูดภาษาฝรั่งร้องถามไป |
นี่แน่คนบนลำเรือกำปั่น | ท่านพากันมาแต่หนตำบลไหน |
เมื่อตะกี้นี้สำเนียงเสียงอะไร | ใครทำไมไพเราะเสนาะดี ฯ |
๏ พระอภัยได้ฟังดูทั้งสิ้น | ผิวเหมือนนิลนวลละอองผุดผ่องศรี |
งามทั้งสามทรามรุ่นดรุณี | มาเที่ยวที่ท้องทะเลหรือเทวา |
จึ่งปราศรัยไพเราะเสนาะสนอง | เหมือนพี่น้องน่ารักนั้นหนักหนา |
เชิญขึ้นลำกำปั่นจำนรรจา | ที่สงกาก็จะเล่าให้เจ้าฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายสามองค์ทรงฟังสังรเสริญ | ทั้งเชื้อเชิญชื่นชมด้วยสมหวัง |
จึ่งขึ้นลำกำปั่นนั่งบัลลังก์ | มุนีนั่งทั้งสามบอกตามตรง |
เป่าที่เรือเมื่อตะกี้นั่นปี่แก้ว | ให้ดูแล้วปลอบถามตามประสงค์ |
ดูรูปร่างช่างงามทั้งสามองค์ | เป็นเชื้อวงศ์เทวาหรือมานุษย์ |
อยู่สำนักหลักแหล่งตำแหน่งไหน | มาเที่ยวในคงคงมหาสมุทร |
ล้วนน่ารักศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรุทร | ขอเชิญสุดสวาทเล่าให้เข้าใจ |
อันตัวเราเจ้านายฝ่ายฝรั่ง | ครองเมืองลังกาจิตคิดเลื่อมใส |
ละสมบัติวัตถาไม่อาลัย | ไปอยู่ไพรสร้างสมพรหมจรรย์ |
เป็นฤๅษีมีศีลทั้งกินบวช | จะไปสวดศพเขาให้ไปสวรรค์ |
ออกจากฝั่งลังกาสลาตัน | ตีกำปั่นมาในน้ำถึงสามเดือน |
ทั้งเชือกเสาเพลาใบตีไปหมด | ทุกข์ระทดท้อใจใครจะเหมือน |
ถิ่นประเทศเขตขัณฑ์ก็ฟั่นเฟือน | มาลอยเลื่อนกลางทะเลว้าเหว่ใจ |
ขอถามความสามองค์เจ้าจงแจ้ง | นี่ตำแหน่งแขวงเขตประเทศไหน |
ที่แลเลื่อมเงื้อมเงาเขาอะไร | เหมือนต้นไม้ในทะเลเทียมเมฆิน ฯ |
๏ พี่น้องนั่งฟังคำที่ร่ำถาม | จึงบอกสามพระฤๅษีที่มีศีล |
ข้านี้คือชื่อเทพเทพิน | น้องชื่อนิลกัณฐีตรีพลำ |
อันประเทศเขตแขวงตำแหน่งนี้ | ไม่เห็นรวีดาวเดือนเหมือนจะค่ำ |
แลเขม้นเห็นแจ้งเพราะแสงน้ำ | ที่ดูดำดั่งหนึ่งนิลศิลา |
มิใช่เขาเงาไม้สูงใหญ่นั้น | คือมณฑลต้นกัลปังหา |
เป็นคีรีที่สถิตท่านบิดา | สิ้นสุธาท่ามกลางหว่างจักรวาล |
พวกเสียเรือเหลือตายทั้งชายหญิง | อาศัยสิงสิขรินทร์เป็นถิ่นฐาน |
เหมือนเรือท่านฉันก็เห็นไม่เป็นการ | น่าสงสารท่านฤๅษีจะมีภัย |
จงเลื่อนลากำปั่นไปวันนี้ | ริมคีรีที่บิดาได้อาศัย |
ไปหรือจ๊ะพระฤๅษีหรือมิไป | พระอภัยภิญโญโมทนา |
ทั้งสามองค์ทรงช่วยฉันด้วยเถิด | จะได้เกิดการบุญคุณหนักหนา |
ทั้งสามรับกลับนั่งบนหลังปลา | รุนกำปั่นเข้ามาหน้าคีรี |
แกล้งขึ้นเขาเข้าในห้องช่องสิงขร | บอกบิดรดั่งได้ถามสามฤๅษี |
ฝ่ายเทพไทให้เห็นเป็นอินทรีย์ | เรียกมุนีขึ้นมานั่งหลังบรรพต |
แล้วปราศรัยไต่ถามสามมนุษย์ | ซึ่งบอกบุตรของเราว่าเป็นดาบส |
เหาะเหินได้ไปสวรรค์ชั้นโสฬส | หรือปรากฏยศถาในสามัญ ฯ |
๏ พระมุนีมีประโยชน์โปรดเทเวศร์ | จึงตรัสเทศนาคำธรรมขันธ์ |
ประนมหัตถ์ขัดสมาธิ์ขึ้นสองชั้น | แล้วรำพันพจนาตามบาลี |
จะกำเนิดเกิดกายทั้งชายหญิง | ตายแล้วกลิ้งกลิ่นเหม็นกลับเป็นผี |
ถึงเทพบุตรครุฑาวาสุกรี | ก็ย่อมมีทุกข์โศกมีโรคภัย |
ไม่พ้นพระอนิจจังยังไม่ลุ | ถึงอายุยืนยงอสงไขย |
เหมือนแผ่นดินถิ่นทะเลเมรุไกร | เพลิงประลัยมาทำลายก็วายปราณ |
เป็นนิสัยไตรภพจบจังหวัด | ย่อมเวียนว่ายในวัฏสงสาร |
ที่พ้นทุกข์สุขโขมโหฬาร | คือนิพพานพูนสวัสดิ์วัฒนา |
เหมือนหลับใหลไม่ฝันนั้นเป็นสุข | ตื่นแล้วทุกข์ผูกพันเพราะตัณหา |
เราเล็งเห็นเป็นวิบัติแล้วศรัทธา | ถือศีลห้าเหตุจะใคร่ไปนิพพาน |
คือปาณาอทินนาไม่ฆ่าสัตว์ | ไม่นิยมสมบัติพัสถาน |
บทสามว่ากาเมมิจฉาจาร | ผัวเมียท่านชายหญิงไม่ชิงเชย |
ที่มุสาวาทีมิได้ปด | สุรารสเมรัยมิได้เสวย |
คือศีลห้าสิ่งใดไม่เปรียบเลย | จะได้เชยชมพระนฤพาน |
จึงถือศีลกินบวชสวดกุศล | ผู้ใดนิมนต์ปรนนิบัติอัธิษฐาน |
คนผู้นั้นครั้นดับขันธสันดาน | ได้วิมานเมืองฟ้าสุราลัย |
วิสัชนามาก็ครบจบศีลห้า | จงอุตส่าห์อย่าให้เสื่อมที่เลื่อมใส |
สละสลัดตัดบ่วงที่ห่วงใย | จึงจะได้ไปถึงที่นีรพาน ฯ |
๏ เทพไทไหว้ว่าสาธุสะ | คำของพระมั่นแม่นเป็นแก่นสาร |
จะถือศีลจินตนาสมาทาน | ต่างกราบกรานเกรงบุญพระมุนี |
ส่วนสามองค์ปลงใจเลื่อมใสพร้อม | ประณตน้อมนับถือพระฤๅษี |
ขอพากเพียรเรียนสิกขาทั้งบาลี | พระมุนีไปไหนจะไปตาม |
พระอภัยได้สดับรับจะสอน | พลางอวยพรเทพพ่อของทั้งสาม |
เขาจะเพียรเรียนสิกขาพยายาม | จงโปรดตามใจให้เหมือนใจจง |
เทพารักษ์ภักดีมุนีนาถ | อนุญาตยอมตามความประสงค์ |
แล้วลาพระละกายหายรูปทรง | ต่างดำรงรักษาสมาทาน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงนามสามฤๅษี | อยู่คิรีที่ทะเลเทวฐาน |
ส่วนสองนางต่างถามสามกุมาร | ดูชั้นชานภูผานั้นน่าชม |
เหมือนมณฑลต้นกัลปังหา | โตใหญ่กว่าโยชน์ตั้งครั้งประถม |
อยากจะใคร่ไปเดินเนินพนม | นำไปชมเชิงชานสำราญใจ ฯ |
๏ ฝ่ายนารีพี่สาวทูลดาวบส | บนบรรพตพระดำเนินเดินไม่ไหว |
ขึ้นบนบ่าข้าจะเชิญเที่ยวเดินไป | เห็นพร้อมใจกับพระน้องทั้งสองรา |
ตรีพลำกำลังดั่งสิงหะ | แบกองค์พระอภัยเดินไปหน้า |
นางเทพินยินดีมีศรัทธา | กราบสุมาลีก้มประนมนิ้ว |
ค่อยสอดกรช้อนพระองค์ให้ทรงนง | ประคองทั้งสองพระเพลาแบกเบาหวิว |
กัณฐีช้อนวัณฬาแบกพาปลิว | ไปตามทิวไม้ร่มพนมเนิน ฯ |
๏ ภูเขานั้นอันคนอื่นจะขึ้นยาก | เชิงชะวากวุ้งเวิ้งเป็นเพิงเผิน |
ฤๅษีพับเพียบงามสามองค์เดิน | ชมโตรกเตริ่นตรวยโตรกชะโงกชะง้ำ |
บ้างงุ้มเงื้อมเลื่อมเหลือบเหมือนเคลือบขลับ | บ้างวาบวับวามแสงดูแดงก่ำ |
บ้างเหมือนแม้นแท่นแท่งดังแกล้งทำ | มีธารล้ำน้ำพุโปรยปรุปรอย |
ลางแห่งเห็นเย็นเยียบเงียบสงัด | เป็นน้ำหยัดหยดเหยาะเผาะเผาะผอย |
มีต้นไม้ใหญ่ยิ่งก้านกิ่งช้อย | ฝักเหมือนนกหกห้อยย้อยระย้า |
เป็นรอกแตแลเห็นเป็นต่างต่าง | มีทุกอย่างสารพัดสัตว์ปักษา |
โตสักร้อยอ้อมเศษสังเกตตา | สูงสักห้าสิบเส้นพึ่งเห็นมี |
ข้างโคนโตโปปุ่มเปลือกหุ้มอยู่ | เหมือนเม่นหมูงูเนื้อเหมือนเสือหมี |
เหมือนสิงโตโคถึกมฤคี | พระมุนีพินิจพิจารณา |
แต่ก้มเงยเลยดูเป็นครู่พัก | มีแต่ฝักไม่มีใบใหญ่หนักหนา |
จึงตรัสถามสามองค์ด้วยสงกา | กุมารารู้บ้างหรือไม้ชื่อไร ฯ |
๏ นางเทพินนิลกัณฐีตรีพลำ | ต่างตอบคำทูลแจ้งแถลงไข |
แต่ก่อนกาลท่านบิดาบอกข้าไว้ | ชื่อต้นไม้สัตบรรณบนบรรพต |
ครั้นฝักแก่กระแตกระรอกก็ออกสิ้น | แตกทุกฝักปักษิณบินไปหมด |
ที่โคนตุ่มปุ่มโป่งตะโคงคด | ถึงกำหนดสามปีจะมีตัว |
ปุ่มเปลือกแตกแยกแยะแพะแกะกระโดด | เขย่งโขยดโดนกันมันคันหัว |
ทั้งสิงห์เสือเนื้อทรายแรดควายวัว | เที่ยวไปทั่วเขตป่าพนาดร |
แล้วพาเดินเนินโขดขึ้นโสดสุด | ยืนยั้งหยุดยอดกิ่งบนสิงขร |
ชมมหาสาคโรชโลธร | ล้วนนาคีมีหงอนสลอนลอย |
เป็นปล่องนาคมากมายขึ้นว่ายคล่ำ | บางพ่นน้ำพลุ่งพลุ่งฟูฟุ้งฝอย |
ล้วนยาวเฟื้อยเลื้อยลายเลื่อมพรายพรอย | ทั้งใหญ่น้อยลอยเลี้ยวกอดเกี่ยวพัน |
อินทรีฉาบถาบถาร่อนราปีก | ฉวยโฉบฉีกนาคราชเผ่นผาดผัน |
ครุฑก็ลากนาคจิกเหยียบหยิกยัน | เวียระวันว้าว่อนราร่อนลอย |
แลบนสูงฝูงคนทะเลเล่า | เล็กเล็กเท่ามดไรไต่ร่อยร่อย |
กำปั่นยาวเก้าเส้นเห็นน้อยน้อย | เท่ากิ่งก้อยลอยอยู่ท่าหน้าคีรี |
แล้วลงเนินเดินในดงไม้ร้อง | เสียงแซ่ซ้องเอื้อยอ้อเหมือนซอสี |
รู้หุบใบไกวกิ่งเป็นสิงคลี | ดอกมันมีวันเดียวก็เหี่ยวโรย |
ลูกพฤกษาหน้านั้นดูเหมือนผู้หญิง | ใครหักกิ่งร้องกรีดหวาดหวีดโหวย |
เถาวัลย์มีที่ในถิ่นร้องดิ้นโดย | เรียกขานโวยเฮฮาภาษาไม้ |
มีพร้อมพรักผักหญ้าในป่านั้น | ใครเด็ดฟันฉะเชือดเป็นเลือดไหล |
เสียงกู่ก้องร้องเรียกกันเพรียกไพร | ตามวิสัยไม้ผลักขอบจักรวาล ฯ |
๏ ครั้นเย็นพยับกลับมาหน้าสิงขร | ประทับร้อนริมทะเลเทวฐาน |
คนที่เขาเข้าเป็นศิษย์สิทธาจารย์ | มากประมาณพันเศษหลายเพศพรรณ |
พระฤๅษีดีใจปราศรัยถาม | ถึงชื่อนามนัคเรศขอบเขตขัณฑ์ |
สามิภักดิ์จักได้ไปด้วยกัน | แต่กำปั่นเล็กไปจะไม่สบาย |
มีท่อนกัลปังหาที่ท่าน้ำ | เจ้าตรีพลำว่าจะทำกำปั่นถวาย |
เรียกไพร่พลคนทะเลมามากมาย | มอบให้นายฝรั่งชาวลังกา |
เครื่องมือเล่าเอาเหล็กดีตีทั้งนั้น | ขุดถากทำกำปั่นกัลปังหา |
กำลังกลางกว้างเส้นกับสิบวา | โดยยาวห้าเส้นครึ่งอากึ่งทำ |
ท้องลึกห้าสิบวาหนาสองศอก | บ้างขุดตอกตึงตังไปยังค่ำ |
ลากกิ่งกัลปังหานั้นมาทำ | เสาประจำสามเสาทั้งเพลาใบ |
แล้วสำเร็จเจ็ดเดือนเลื่อนออกอู่ | ลอยลำฟูฟ่องดีจะมีไหน |
ขัดเงาวาวราวกับแก้วดูแววไว | ข้างหน้าใส่รูปครุฑยุดนาคา |
กราบสองข้างช่างสลักรูปเงาะแขก | ขัดดาบแบกหอกยืนถือปืนผา |
มีลวดลายท้ายที่นั่งทำหลังคา | ล้วนแต่กัลปังหามีฝาบัง ฯ |
๏ ถึงเดือนสี่มีลมพัดซัดขึ้นเหนือ | กำปั่นใหญ่ให้เป็นเรือพระที่นั่ง |
ลำที่ไปใส่ลำเลียงเสบียงกรัง | กับคนทั้งตามมานั้นสักพันคน |
ต่อเรือใช้ไม้ระกำลำละเส้น | ทำเหมือนเช่นเรือสลักไม่ขัดสน |
ยี่สิบลำสำหรับเมื่ออับจน | เลือกเอาคนเหล่านั้นไปพันปลาย |
ลมไม่มีตีกระเชียงเสบียงให้ | จะได้ใช้ตักน้ำท่ามาถวาย |
สามกุมารท่านฤๅษีอยู่ที่ท้าย | แสนสบายบัลลังก์ที่นั่งนอน |
จะออกลำกำปั่นกัลปังหา | เป่าปี่ลาเทพเจ้าเขาสิงขร |
สั่งสำเนียงเสียงเอกวิเวกวอน | เจริญพรภูมิทะเลทุกเทวา |
บริบูรณ์พูนสุขทุกทุกสิ่ง | ทั้งมณฑลต้นกิ่งกัลปังหา |
ได้ยินทุกรุกขเทพฉายา | ยืนเยี่ยมหน้าให้เห็นเหมือนเช่นเคย |
แล้วร้องช่วยอวยชัยไปเป็นสุข | อย่ามีทุกข์ร่อนเร่ระเหระหน |
พอลมมีดีใจใช้ใบบน | หมายมณฑลทิศพายัพแล่นลับเลย ฯ |
๏ ทั้งสามองค์ทรงนั่งให้วังเวก | เอกเขนกแหงนนิ่งอิงเขนย |
ขอเดชะพระพายช่วยชายเชย | มารำเพยพัดส่งให้ตรงไป |
เป่าทุ้มปี่มิให้คนไพร่พลหลับ | พอให้จับจำเรียงส่งเสียงใส |
กำปั่นทรงหงส์บัลลังก์ทั้งเรือใช้ | สำราญใจไปด้วยกันทุกวันคืน |
พระคงคาสาธุพายุเงียบ | คลื่นราบเรียบลมเรื่อยแล่นเฉื่อยชื่น |
มาเดือนหนึ่งจึงค่อยสร่างนภางค์พื้น | ในกลางคืนแลเขม้นพอเห็นดาว |
เดือนตะวันนั้นไม่เห็นเป็นแต่แสง | แดดไม่แข็งคนทั้งหลายไม่หายหนาว |
อีกเดือนครึ่งจึงเห็นจันทร์ตะวันวาว | ถึงเกาะคังคาวโขดเขาสำเภาทลาย |
ถนนขวางกลางสมุทรเสมอน้ำ | ไปยังค่ำก็ไม่สิ้นเนินหินหาย |
สำเภาเกยเลยค้างคนวางวาย | คังคาวร้ายมันก็บินมากินคน |
สำเภาเป็นเช่นกับหินสิ้นทั้งนั้น | ดูเรียงรันไปตามแนวแถวถนน |
เหมือนโขดเขาเสาสล้างอยู่กลางชล | ไกลเขตคนเขานั้นอยู่ข้างบูรพา |
เป็นถิ่นที่ปีศาจร้ายกาจสุด | เห็นคนผุดล้อมรายทั้งซ้ายขวา |
จะพลิกคว่ำลำทรงตรงเข้ามา | กลับกลัวกัลปังหาสง่ามี |
แต่พวกพลคนทะเลที่เรือใช้ | ไม่ตกใจโจนลงน้ำลงปล้ำผี |
ถือสาตราพร้ามีดทั้งกริชตรี | ไล่ฆ่าผีปีศาจเที่ยวฟาดฟัน |
พวกลำทรงหงส์ที่นั่งคนทั้งหลาย | ช่วยรบรายยิงปืนเสียงครื้นครั่น |
ปีศาจสางต่างมัวด้วยกลัวควัน | ก็กลับอันตรธานหนีพล่านไป |
แต่คังคาวราวกับพ้อมปีกกรอมกว้าง | ดูเกลื่อนกลางเวหาถลาไถล |
พวกกำปั่นฟันแทงแกว่งคบไฟ | มันเฉี่ยวได้คนทะเลขึ้นเมฆา |
บ้างอกฉีกปีกขาดตายกลาดเกลื่อน | ยังพวกเพื่อนมาเป็นยืดมืดเวหา |
เหลือสู้รบหลบลงไปในดาดฟ้า | บ้างเข้าฝาท้ายบังนั่งประชุม |
ทั้งพวกพลคนทะเลลงในน้ำ | ป้างแอบกำปั่นไปไม้กระทุ่ม |
ล่มเรือใช้ไม้ระกำลงคว่ำคลุม | คนเข้าซุ้มเสียทั้งสิ้นมันบินคอย |
คังคาวตามสามคืนนับหมื่นแสน | จนสิ้นแดนเดือนดับจึงกลับถอย |
คนทะเลนั้นก็หายไปหลายร้อย | ยังเหลือน้อยกว่าพันตามกันมา ฯ |
๏ ถึงเจ็ดเดือนเฟือนแดนดูแผนที่ | ก็ไม่มีที่จะหวังเห็นฝั่งฝา |
ไม่มีเรือเหนือใต้ในคงคา | ทุกเช้าเย็นเห็นแต่ฟ้าปลากับน้ำ |
พระอภัยได้สามกุมารน้อย | อยู่ใช้สอยค่อยชื่นทุกคืนค่ำ |
สอนเทพินนิลกัณฐีตรีพลำ | ให้รู้ธรรมทศพิธไม่ปิดบัง |
สามพระองค์ทรงรักพระนักสิทธ์ | อยู่ใกล้ชิดชื่นชมด้วยสมหวัง |
เมื่อเข้าที่ศรีสุวรรณบัลลังก์ | อุตส่าห์นั่งนวดฟั้นให้บรรทม |
ทั้งวัณฬานารีบุตรีน้อย | ให้ใช้สอยสุจริตสนิทสนม |
ถึงดำนิลกลิ่นก็รื่นชื่นอารมณ์ | ต่างเชยชมเหมือนพงศ์ในวงศ์วาน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสินสมุทรสุดสงสัย | ตั้งแต่ใช้ให้อำมาตย์ถือราชสาร |
ไปฟากฝั่งลังกาก็ช้านาน | คอยประมาณสามเดือนไม่เคลื่อนคลา |
จึงแต่งเรือเร็วใช้ไปไต่ถาม | ก็ว่าสามพระองค์ทรงสิกขา |
เสด็จจากฟากฝั่งเกาะลังกา | ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด |
สินสมุทรสุดสลดกำสรดเศร้า | หาโหรเฒ่าเข้ามาถามตามสงสัย |
หรือเรือซัดขัดขวางเป็นอย่างไร | จะสูญไปหรือจะมาถึงธานี ฯ |
๏ โหรชำระพระเคราะห์เฉพาะร้าย | แต่ข้างปลายลาภเลิศประเสริฐศรี |
จะกราบทูลมูลความตามคดี | พระตกที่พิเภกอสุรา |
ต้องขับไล่ได้พระรามเป็นที่พึ่ง | ยังไม่ถึงชีวังสิ้นสังขาร์ |
เมื่อปลายมือรื้อสำราญผ่านลังกา | สามปีครึ่งจึ่งจะมาถึงธานี ฯ |
๏ สินสมุทรสุดเศร้าเปลี่ยวเปล่าจิต | รำคาญคิดขุ่นข้องมัวหมองศรี |
จึงตรัสสั่งเสนาอย่าช้าที | จัดเรือยี่สิบลำที่กำลัง |
ให้แยกย้ายรายไปทั้งใต้เหนือ | เที่ยวถามเรือลูกค้าแขกฝาหรั่ง |
ถึงการะเวกแวะเข้าเล่าให้ฟัง | กราบทูลทั้งรมจักรนัครา ฯ |
๏ อำมาตย์รับอภิวาทหน่อกษัตริย์ | บ้างเร่งจัดกองตระเวนเกณฑ์อาสา |
ยี่สิบลำกำปั่นแต่บรรดา | เที่ยวติดตามถามหาในวารี |
สุดสาครอ่อนจิตคิดฉงน | ทั้งเสาวคนธ์หม่นหมองทั้งสองศรี |
คิดถึงพระชนกชนนี | แต่งเรือยี่สิบให้เที่ยวไปตาม |
พวกฝรั่งลังกาพาราผลึก | ออกแล่นลึกแลเห็นใครก็ไต่ถาม |
แขกฝรั่งอังกฤษมุหงิดพราหมณ์ | ไม่ได้ความมาดูข้างบูรพา |
อรอบหรุ่มรุมวิสัยไซร้สุหรัด | โรมพัฒน์กาหลังมังกะหล่า |
เมืองมัดชะกะละเงาะเกาะชวา | บ้างไปการะเวกทูลมูลความ |
ไปประเทศเขตระแงะต้องแวะเข้า | กราบทูลท้าวรมจักรตรัสซักถาม |
ครั้นรู้ชัดจัดเรือใช้ให้ไปตาม | ถึงจีนจามจบจังหวัดปัถพี ฯ |
๏ จะกล่าวจีนถิ่นทะเลชื่อเจเจี๋ยว | มีแรงเรี่ยวร้ายเหลือเหมือนเสือหมี |
อยู่เรือใหญ่ไม้ชำฉาในวารี | ยาวสักยี่สิบเส้นมันเป็นนาย |
มีเรือตามสามร้อยเที่ยวลอยล่อง | จับพวกพ้องเภตราเที่ยวค้าขาย |
ได้ข้าวของทองนากมีมากมาย | อยู่สุดปรายแดนจีนมีสินทรัพย์ |
พอเห็นเรือพระอภัยในสมุทร | ทั้งเรือครุฑเรือหงส์ธงสำหรับ |
เรือเล็กมียี่สิบลำสองสำรับ | ให้หยุดยับยั้งอยู่จะดูเรือ |
ทั้งเรือตามสามร้อยลอยสล้าง | สะกัดทางที่จะไปทั้งใต้เหนือ |
ถือทวนยาวง้าวขวานกระหง่านเงื้อ | ล้วนใส่เสื้อเกราะทั่วทุกตัวคน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงสวัสดิ์ถือสัตย์ศีล | เห็นโจรจีนล้อมสกัดคิดขัดสน |
จะหลบหลีกแล่นไปเห็นไม่พ้น | จึงขึ้นบนครุฑาร้องพาที |
ท่านทั้งหลายนายไพร่ผู้ใหญ่น้อย | จงโปรดปล่อยเรานี้ถือเป็นฤๅษี |
พวกเรือแตกแขกฝรั่งไม่มั่งมี | มาทั้งนี้แต่ล้วนจนคนเข็ญใจ |
จงเอาบุญคุณพระจะได้ลุ | สืบอายุยืนยงอสงไขย |
รูปบิณฑบาตญาติโยมทั้งปวงไป | จงโปรดให้หนทางอย่าขวางเรือ |
เจเจี๋ยวอ้ายนายใหญ่ร้องไอย่า | สั่งโยธาถือขวานทหารเสือ |
ไม่มีทรัพย์จับเอาของข้าวเกลือ | ต่างเงือดเงื้อง้าวขวานทะยานยืน ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งลังกาล้วนกล้าศึก | ทั้งพวกผลึกกรูมาจับฟ้าฝืน |
เห็นโจรใกล้ไม่ถอยต่างปล่อยปืน | บ้างออกยืนรบรับขยับคอย |
พอเรือโดนโจรจีนปีนกำปั่น | ถูกแทงฟันหันหกตกผอยผอย |
ยิงปืนรายหลายตับตายนับร้อย | ต่างราถอยหลีกทางออกห่างกัน |
เรือครุฑทรงตรงเรียงเข้าเคียงชิด | ผูกพวนติดแปดเปลาะชะเนาะขัน |
เรือเล็กพร้อมล้อมรอบเป็นขอบคัน | คอยช่วยกันรบรับสู้กับโจร ฯ |
๏ คนทะเลลงน้ำดำไม่ผุด | ผ้าผ่อนหลุดยุดเรือจีนปีนเผ่นโผน |
แย่งอาวุธฉุดชิงเหมือนลิงโลน | ฆ่าพวกโจรจีนตายลงก่ายกัน |
ที่ยังเหลือเรือตามมาหลามหลัง | เสียงตึงตังตามปืนเสียงครื้นครั่น |
ด้วยเดชะพระกุมารเชี่ยวชาญครัน | เป่าลมกันปืนลูกไม่ถูกคน |
ถึงสิบวันสิบคืนเกิดคลื่นกล้า | พัดเภตรากลอกกลับอยู่สับสน |
เรือโจรแตกแยกย้ายตามสายชล | ทั้งเรือคนทะเลหายไปหลายลำ |
แต่ลำทรงหงส์ทองฟูฟ่องคลื่น | สิ้นเสียงปืนเงียบสงบพอพลบค่ำ |
เป็นลมกล้ามาทางบูรพ์พัดหนุนน้ำ | ทั้งคลื่นซ้ำส่งมาเจ็ดราตรี |
ยิ่งเร็วรี่รีบแล่นเข้าแดนเทศ | เป็นขอบเขตกะเลหวังรุ่งรังสี |
เห็นเขาเอกเมฆพัดในนัทที | ดูแผนที่มีแจ้งตำแหน่งทาง ฯ |
๏ พวกต้นหนคนท้ายสบายจิต | สังเกตทิศทางสันทัดไปขัดขวาง |
ไม่เข้าแดนแล่นร่ำมาท่ามกลาง | พบขุนนางพวกตามสามพารา |
ต่างปราศรัยไต่ถามไปตามเรื่อง | ทั้งสามเมืองเศร้าสร้อยละห้อยหา |
ต่างได้ความสามฤๅษีชุลีลา | ไปพาราแจ้งข่าวทูลเจ้านาย |
แต่ลำทรงตรงเข้าอ่าวผลึก | อึกทึกชื่นชมด้วยสมหมาย |
หน่อนรินทร์สินสมุทรสุดสบาย | มาถวายบังคมก้มกราบกราน |
ทางปราศรัยไต่ถามได้ความเสร็จ | เชิญเสด็จขึ้นปราสาทราชฐาน |
บรรดาเหล่าเผ่าพงศ์พระวงศ์วาน | มากราบกรานพร้อมสิ้นด้วยยินดี ฯ |
๏ สามนักสิทธ์พิจารณาศพ | สวดมนต์จบมาติกาชักผ้าผี |
ปลงอนิจจังบังสุกุลตามมุนี | ตรวจวารีแบ่งบุญกรุณา |
ส่วนสุวรรณมาลีฤๅษีสินธิ์ | ปลงอนิจทุกขังเห็นสังขาร์ |
ไม่เศร้าโศกโลกกรรมธรรมดา | อันเกิดมาแล้วก็ตายสูญหายไป ฯ |
๏ พวกวงศาข้าเฝ้าสาวสนม | ชวนกันชมพระพี่น้องผุดผ่องใส |
ดำก็จริงพริ้งพร้อมละม่อมละไม | ต่างกราบไหว้นับถือเลื่องลือชา |
พวกชาวบ้านร้านถิ่นสิ้นทั้งนั้น | มาชมรำกำปั่นกัลปังหา |
เป็นแท่งเดียวเจียวดั่งนิลจินดา | ต่างซ้องสาธุทั่วทุกตัวคน |
บรรดาเหล่าชาวทะเลพลัดเผลไพล่ | ต่างพลัดไปเขตแขวงทุกแห่งหน |
ทั้งทิศใต้ชายน้ำทุกตำบล | จึ่งมีคนทะเลอยู่ทุกบูรี ฯ |
๏ พระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ทั้งพระหัสไชยกับพระมเหสี |
ทั้งเวียงวังลังกาสามธานี | ต่างยินดีด้วยพระองค์คงพารา |
ต่างจัดแจงแต่งสลุบเรือกำปั่น | ของช่วยศพครบครันเลือกสรรค์หา |
โหมดตาดต่วนล้วนแต่ดีมีราคา | ใส่เรือห้าสิบงามทั้งสามเมือง |
พระอนุชาพาบุตรกับนุชนาฏ | ลงเรือราชสีห์ทรงปักธงเหลือง |
ทหารแห่แซ่ซ้องมานองเนือง | ออกจากเมืองแล่นมาในสาคร |
พระหัสไชยไม่มีวงศ์เผ่าพงศา | กับสร้อยสุวรรณจันทร์สุดาดวงสมร |
ลงทรงเรือพระพี่นั่งลำมังกร | ทหารแห่แลสลอนสล้างมา |
หน่อนรินทร์ปิ่นเกล้าเจ้าสิงหล | กับนงเยาว์เสาวคนธ์ขนิษฐา |
ตั้งกระบวนล้วนฝรั่งเมืองลังกา | ตั้งแห่แหนแน่นมาในวารี ฯ |
๏ ซึ่งกล่าวความสามเมืองมาช่วยศพ | ต่างนอบนบนับถือพระฤๅษี |
ต่างคำนับรับกันอัญชุลี | ต่างน้องพี่เผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน |
ด้วยมากมายหลายองค์วงศ์กษัตริย์ | สถิตรัตน์ปรางค์ปราสาทราชฐาน |
หน่อนรินทร์สินสมุทรเป็นแม่งาน | คิดทำเมรุเกณฑ์งานการระดม |
หมายไปทั่วหัวเมืองมาเนืองแน่น | นับหมื่นแสนสามพารามาประสม |
บ้างฉุดลากถากเสากล่อมเกลากลม | ทุกหมู่กรมสมทบทำครบครัน |
เมื่ออยู่วังพรั่งพร้อมพงศ์กษัตริย์ | ปรนนิบัติพระสิทธาเวลาฉัน |
ต่างนบนอบหมอบเมียงเลี้ยงนักธรรม์ | ศรีสุวรรณเอ็นดูสามกุมาร |
จึงเรียกหามาให้นั่งใกล้ชิด | แล้วเพ่งพิศผิวพรรณในสัณฐาน |
พลางตรัสชมสมทรงสมวงศ์วาน | ได้ลูกหลานเช่นนี้แล้วดีนัก |
ตรีพลำนวลเนื้อเหลือหวนหอม | พลางโอบอ้อมอุ้มขึ้นวางไว้กลางตัก |
ประคองแอบแนบชิดจุมพิตพักตร์ | ล้วนน่ารักรูปโฉมประโลมใจ ฯ |
๏ สามกุมารกรานกราบล้วนราบเรียบ | หมอบพับเพียบทูลว่าอัชฌาสัย |
พระการุญคุณลบภพไตร | จะรับใส่เศียรสิ้นด้วยยินดี |
ฝ่ายพระกฤษณานุชารุ่น | เกิดต่างท้องน้องอรุณรัศมี |
ชื่อเทวัญชันษาสิบห้าปี | น้องสาวมีคมขำชื่ออัมพวัน |
ตามบิดามาเฝ้าพระดาวบส | ทั้งโอรสบุตรีทรงศรีสรรพ์ |
กับสามองค์วงศ์เทวาพูดจากัน | ดูผิวพรรณผ่องศรีมณีนิล |
ล้วนรุ่นราวคราวเดียวเสียวเสียวจิต | ให้หวิดหวิดไหวไหวฤทัยถวิล |
ฝ่ายพี่ชายหมายเสน่ห์นางเทพิน | น้องรักนิลกัณฐีด้วยปีเดียว |
เจ้าตรีพลำเห็นอัมพวาน้อย | เนตรชม้อยช้อยดูประเดียวประเดี๋ยว |
จนฉันแล้วแคล้วคลาดลีลาศเลี้ยว | ต่างเหลียวเหลียวแลหาด้วยอาวรณ์ ฯ |