- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
๏ แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์ | |
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์ | ผ่านสมบัติรัตนานามธานี |
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์ | ภูเขาโขดเป็นกำแพงบุรีศรี |
สะพรึบพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี | ชาวบุรีหรรษาสถาวร |
มีเอกองค์นงลักษณ์อัครราช | พระนางนาฏนามปทุมเกสร |
สนมนางแสนสุรางคนิกร | ดังกินนรน่ารักลักขณา |
มีโอรสสององค์ล้วนทรงลักษณ์ | ประไพพักตร์เพียงเทพเลขา |
ชื่ออภัยมณีเป็นพี่ยา | พึ่งแรกรุ่นชันษาสิบห้าปี |
อันกุมารศรีสุวรรณนั้นเป็นน้อง | เนื้อดังทองนพคุณจำรูญศรี |
พึ่งโสกันต์ชันษาสิบสามปี | พระชนนีรักใคร่ดังนัยนา |
สมเด็จท้าวบิตุรงค์ดำรงราชย์ | แสนสวาทลูกน้อยเสน่หา |
จะเสกสองครองสมบัติขัตติยา | แต่วิชาสิ่งใดไม่ชำนาญ |
จึงดำรัสเรียกพระโอรสราช | มาริมอาสน์แท่นสุวรรณแล้วบรรหาร |
พ่อจะแจ้งเจ้าจงจำคำโบราณ | อันชายชาญเชื้อกษัตริย์ขัตติยา |
ย่อมพากเพียรเรียนไสยศาสตร์เวท | สิ่งวิเศษสืบเสาะแสวงหา |
ได้ป้องกันอันตรายนครา | ตามกษัตริย์ขัตติยาอย่างโบราณ |
พระลูกรักจักสืบวงศ์กษัตริย์ | จงรีบรัดเสาะแสวงแห่งสถาน |
หาทิศาปาโมกข์ชำนาญชาญ | เป็นอาจารย์พากเพียรเรียนวิชา ฯ |
๏ บัดนั้นพี่น้องสองกษัตริย์ | ประนมหัตถ์อภิวันท์ด้วยหรรษา |
จึงทูลความตามจิตเจตนา | ลูกคิดมาจะประมาณก็นานครัน |
หวังแสวงไปตำแหน่งสำนักปราชญ์ | ซึ่งรู้สาตราเวทวิเศษขยัน |
ก็สมจิตเหมือนลูกคิดทุกคืนวัน | พอแสงจันทร์แจ่มฟ้าจะลาจร |
แล้วก้มกราบบิตุราชมาตุรงค์ | ทั้งสององค์ลูบหลังแล้วสั่งสอน |
จะเดินทางกลางป่าพนาดร | จงผันผ่อนตรึกจำคำโบราณ |
จะพูดจาสารพัดบำหยัดยั้ง | จนลุกนั่งน้ำท่ากระยาหาร |
แม้นหลับนอนผ่อนพ้นที่ภัยพาล | อดบันดาลโกรธขึ้งจึงสบาย |
พระพี่น้องสององค์ทรงสดับ | เคารพรับบังคมด้วยสมหมาย |
พระเชษฐาบัญชาชวนน้องชาย | มาสรงสายสาคเรศบนเตียงรอง |
แล้วแต่งองค์สอดทรงเครื่องกษัตริย์ | เนาวรัตน์เรืองศรีไม่มีสอง |
แล้วลีลามาสถิตบนแท่นทอง | จนย่ำฆ้องสุริยนสนธยา |
จึงชวนกันจรจรัลจากสถาน | ออกทวารเบื้องบูรพทิศา |
ศศิธรจรแจ้งกระจ่างตา | ทั้งสองราเดินเรียงมาเคียงกัน ฯ |
๏ ล่วงตำบลชนบทไปหลายบ้าน | เข้าดอนด่านแดนไพรพอไก่ขัน |
เสียงเสือกวางกลางเนินพนมวัน | ให้หวั่นหวั่นวังเวงหวาดฤทัย |
จนแสงทองรองเรืองอร่ามฟ้า | พระสุริยาเยื้องเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
คณานกเริงร้องคะนองไพร | เสียงเรไรจักจั่นสนั่นเนิน |
ทั้งสององค์เหนื่อยอ่อนเข้าผ่อนพัก | หยุดสำนักลำเนาภูเขาเขิน |
ครั้นหายเหนื่อยเมื่อยล้าอุตสาห์เดิน | พิศเพลินมิ่งไม้ในไพรวัน |
บ้างผลิดอกออกผลพวงระย้า | ปีบจำปาสุกรมนมสวรรค์ |
พระอภัยมณีศรีสุวรรณ | ต่างชิงกันเก็บพลางตามทางมา |
พระพี่เก็บกาหลงส่งให้น้อง | เดินประคองเคียงกันด้วยหรรษา |
พระน้องเก็บมะลุลีให้พี่ยา | ทั้งสองราเดินดมแล้วชมเชย |
เห็นมะม่วงพวงผลพึ่งสุกห่าม | ทำไม้ง่ามน้อยน้อยสอยเสวย |
อร่อยหวานปานเปรียบรสนมเนย | อิ่มแล้วเลยล่วงทางมากลางดง |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาทิพากร | สำนักนอนเนินผาป่าระหง |
ทั้งสองแสนเหนื่อยยากลำบากองค์ | บาทบงสุ์บวมบอบระบมตรม |
พระเชษฐาอาลัยถึงไอศวรรย์ | กับกำนัลน้อยน้อยนางสนม |
น้องคะนึงถึงพี่เลี้ยงแลนางนม | กับบรมบิตุเรศพระมารดา ฯ |
๏ สิบห้าวันดั้นเดินในไพรสณฑ์ | ถึงตำบลบ้านหนึ่งใหญ่หนักหนา |
เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา | มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน |
อาจารย์หนึ่งชำนาญในการยุทธ์ | ถึงอาวุธซัดมาดั่งห่าฝน |
รำกระบองป้องกันกายสกนธ์ | รักษาตนมิให้ต้องคมศัสตรา |
อาจารย์หนึ่งชำนาญในการปี่ | ทั้งดีดสีแสนเสนาะเพราะหนักหนา |
ผู้ใดฟังวังเวงในวิญญาณ์ | เคลิ้มนิทราลืมกายดังวายปราณ |
อันสองท่านราชครูนั้นอยู่ตึก | จดจารึกอักขราไว้หน้าบ้าน |
เป็นข้อความตามมีวิชาการ | แสนชำนาญเลิศลบภพไตร |
แม้ผู้ใดใครจะเรียนวิชามั่ง | จงอ่านหนังสือแจ้งแถลงไข |
ถ้ามีทองแสนตำลึงมาถึงใจ | จึงจะได้ศึกษาวิชาการ ฯ |
๏ วันนั้นพระอภัยมณีศรีสุวรรณ | จรจรัลเข้ามาถึงหน้าบ้าน |
เห็นลิขิตปิดไว้กับใบทวาร | พระทรงอ่านแจ้งจิตในกิจจา |
อันท่านครูอยู่ตึกตำแหน่งนี้ | ฝีปากปี่เป่าเสนาะเพราะหนักหนา |
จึงดำรัสตรัสแก่พระน้องยา | อันวิชาสิ่งนี้พี่ชอบใจ |
แต่เที่ยวดูเสียให้รู้ทั้งย่านบ้าน | ท่านอาจารย์ยังจะมีอยู่ที่ไหน |
ตรัสพลางย่างเยื้องครรไลไป | ถึงตึกใหญ่ที่ครูอยู่สำนัก |
เห็นแผ่นผาจารึกลายลิขิต | เข้ายืนชิดอ่านดูรู้ประจักษ์ |
ท่านอาจารย์การกระบองก็คล่องนัก | ได้ทองหนักแสนตำลึงจึงได้เรียน |
จึงบัญชาว่ากับพระน้องแก้ว | พ่อเห็นแล้วหรือที่ลายลิขิตเขียน |
สองอาจารย์ปานดวงแก้ววิเชียร | เจ้ารักเรียนที่ท่านอาจารย์ใด |
อนุชาว่าการกลศึก | น้องนี้นึกรักมาแต่ไหนไหน |
ถ้าเรียนรู้รำกระบองได้ว่องไว | จะชิงชัยข้าศึกไม่นึกเกรง |
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่ | วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง |
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง | หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง |
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก | ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง |
แต่ขัดสนจนจิตคิดประวิง | ด้วยทรัพย์สิ่งหนึ่งนี้ไม่มีมา ฯ |
๏ ศรีสุวรรณปัญญาฉลาดแหลม | จึงยิ้มแย้มเยื้อนตอบพระเชษฐา |
ธำมรงค์เรือนมณีมีราคา | จะคิดค่าควรแสนตำลึงทอง |
พอบูชาอาจารย์เอาต่างทรัพย์ | เห็นจะรับสอนสั่งเราทั้งสอง |
อันตัวน้องนี้จะอยู่ด้วยครูกระบอง | หัดให้คล่องเชี่ยวชาญชำนาญดี |
ขอพระองค์จงเสด็จไปท้ายบ้าน | อยู่ศึกษาอาจารย์ข้างดีดสี |
ครั้นเสร็จสมปรารถนาไม่ช้าที | จะตามพี่ไปหาที่อาจารย์ |
พระอภัยได้คิดถึงคำน้อง | ต่างยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
เข้าหยุดยั้งสั่งเสียกันเสร็จการ | กลับไปหาอาจารย์ดังใจนึก |
ศรีสุวรรณกุมารชาญฉลาด | ยุรยาตรเยื้องย่างมาข้างตึก |
เห็นภูมิฐานเคหาโอฬารึก | ทั้งที่ฝึกสอนสานุศิษย์มี |
มองเขม้นเห็นพราหมณ์พฤฒาเฒ่า | กระหมวดเกล้าเอนหลังนั่งเก้าอี้ |
ดูรูปร่างอย่างเยี่ยงพระโยคี | กระบองสี่ศอกวางไว้ข้างกาย |
ก็แจ้งว่าอาจารย์เจ้าของตึก | เห็นสมนึกเหมือนจิตที่คิดหมาย |
กระทั่งไอให้เสียงเป็นแยบคาย | แล้วก้มกายเข้าไปหาท่านอาจารย์ ฯ |
๏ ฝ่ายพราหมณ์พรหมโบราณอาจารย์เฒ่า | เป็นพงศ์เผ่าพฤฒามหาศาล |
ชำเลืองเนตรแลดูเห็นกุมาร | สีสัณฐานผุดผ่องดังทองทา |
ดูแน่งน้อยรูปร่างเหมือนอย่างหุ่น | พึ่งแรกรุ่นน่ารักเป็นนักหนา |
อร่ามเรืองเครื่องประดับระยับตา | ก็รู้ว่ากษัตริย์ขัตติย์วงศ์ |
จึงขยดลดเลื่อนลงนั่งใกล้ | แล้วถามไถ่ข้อความตามประสงค์ |
มีธุระอะไรในใจจง | เจ้าจึงตรงมาหาจงว่าไป ฯ |
๏ หน่อกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ทรงสดับ | น้อมคำนับเล่าแจ้งแถลงไข |
พระบิดาข้าบำรุงซึ่งกรุงไกร | บัญชาให้เที่ยวหาวิชาการ |
จึงดั้นเดินเนินป่ามาถึงนี่ | พอเห็นมีอักขราอยู่หน้าบ้าน |
รู้ว่าท่านพฤฒาเป็นอาจารย์ | ขอประทานพากเพียรเรียนวิชา |
แต่โปรดเกล้าคราวมาข้ายากแค้น | อันทองแสนตำลึงนั้นไม่ทันหา |
ธำมรงค์เรือนมณีฉันมีมา | ตีราคาควรแสนตำลึงทอง |
แล้วถอดแหวนวงน้อยที่ก้อยขวา | ให้พฤฒาทดแทนคุณสนอง |
ตาพราหมณ์เฒ่าเอาสำลีประชีรอง | ขอดประคองไว้ในผมให้สมควร |
แล้วไต่ถามนามวงศ์ถึงพงศา | สนทนาปรีดิ์เปรมเกษมสรวล |
อยู่เคหาตาพราหมณ์ไม่ลามลวน | ครั้นค่ำชวนหน่อไทเข้าไสยา |
ถึงยามดึกฝึกสอนในการยุทธ์ | เพลงอาวุธดาบดั้งให้ตั้งท่า |
กระบองกระบี่ถี่ถ้วนทุกวิชา | ค่อยศึกษาตั้งใจจะให้ดี ฯ |
๏ ฝ่ายเชษฐามาถึงที่ท้ายบ้าน | ก็เข้าหาอาจารย์ที่ดีดสี |
เอาธำมรงค์ทรงนิ้วดัชนี | ให้พราหมณ์ตีค่าแสนตำลึงทอง ฯ |
๏ ฝ่ายครูเฒ่าพินทพราหมณ์รามราช | แสนสวาทรักใคร่มิได้หมอง |
ให้ข้าไทใช้สอยคอยประคอง | เข้าในห้องหัดเพลงบรรเลงพิณ |
แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่ | ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น |
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน | ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง |
ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิตถาร | พระกุมารได้สมอารมณ์หวัง |
สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง | จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล |
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ | จะรบรับสารพัดให้ขัดสน |
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน | ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ |
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส | เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร |
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ | จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง |
แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง | ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง |
อวยพรพลางทางหยิบธำมรงค์ | คืนให้องค์กุมาราแล้วว่าพลัน |
ซึ่งดนตรีตีค่าไว้ถึงแสน | เพราะหวงแหนกำชับไว้ขับขัน |
ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ | จะป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา |
ต่อกษัตริย์เศรษฐีที่มีทรัพย์ | มาคำนับจึงได้ดังปรารถนา |
จงคืนเข้าบุรีรักษ์นครา | ให้ชื่นจิตพระบิดาแลมารดร ฯ |
๏ หน่อกษัตริย์โสมนัสด้วยสมนึก | จดจารึกคำท่านอาจารย์สอน |
พิไรร่ำอำลาด้วยอาวรณ์ | แล้วบทจรจากบ้านอาจารย์ตน ฯ |
๏ ฝ่ายว่านฤบดีศรีสุวรรณ | ก็เข้มขันกลศึกที่ฝึกฝน |
ทั้งโล่เขนเจนจัดหัดประจญ | ในการกลอาวุธสุดทำนอง |
จนหมดสิ้นความรู้ท่านครูเฒ่า | จึงเรียกเจ้าเข้านั่งสองต่อสอง |
เลือกล้วนเหล็กมะลุลีตีกระบอง | ให้เป็นของคู่หัตถ์กษัตรา |
ทั้งธำมรงค์วงนั้นก็คืนให้ | แถลงไขข้อความตามปริศนา |
เหมือนอาจารย์คนนั้นที่พรรณนา | แล้วพฤฒาอวยชัยไปจงดี |
หน่อกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงสดับ | น้อมคำนับปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ครรไลลาอาจารย์จรลี | ตามวิถีแถวทางถนนมา |
พอมาพบพี่ชายที่ท้ายบ้าน | สองสำราญสรวลสันต์แล้วหรรษา |
ต่างเล่าความตามที่เรียนรู้วิชา | แล้วพี่พาน้องเดินดำเนินไป |
ออกจากบ้านจันตคามข้ามทิวทุ่ง | หมายตรงกรุงรัตนาเข้าป่าใหญ่ |
สิบห้าวันบรรลุถึงเวียงชัย | พอท้าวไทสุทัศน์กษัตรา |
ออกแท่นทองท้องพระโรงจำรูญศรี | แสนเสนีเฝ้าแหนอยู่แน่นหนา |
พระพี่น้องสององค์ก็ตรงมา | เฝ้าบิดาที่ท้องพระโรงชัย ฯ |
๏ กรุงกษัตริย์สุริย์วงศ์พระทรงยศ | เห็นโอรสยินดีจะมีไหน |
เรียกมานั่งข้างแท่นทองประไพ | แล้วถามไถ่ทุกข์ยากเมื่อจากวัง |
หนึ่งพี่น้องสองเสาะแสวงหา | ได้วิชาเสร็จสมอารมณ์หวัง |
หรือปลอดเปล่าเล่าให้บิดาฟัง | พ่อนี้นั่งคอยท่าทุกราตรี ฯ |
๏ พระพี่น้องสององค์ทรงสวัสดิ์ | ประสานหัตถ์น้อมประณตบทศรี |
พระเชษฐาทูลแถลงแจ้งคดี | ลูกเรียนกลดนตรีชำนาญชาญ |
ศรีสุวรรณนั้นเรียนในการยุทธ์ | เพลงอาวุธเข้มแข็งกำแหงหาญ |
ทั้งสองสิ่งยิ่งยวดวิชาการ | ใครจะปานเปรียบได้นั้นไม่มี ฯ |
๏ ท้าวสุทัศน์ฟังอรรถโอรสราช | บรมนาถขัดข้องให้หมองศรี |
โกรธกระทืบบาทาแล้วพาที | อย่าอวดดีเลยกูไม่พอใจฟัง |
อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง | เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง |
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง | มันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ |
อันวิชาอาวุธแลโล่เขน | ชอบแต่เกณฑ์ศึกเสือเชื้อทหาร |
เป็นกษัตริย์จักรพรรดิพิสดาร | มาเรียนการเช่นนั้นด้วยอันใด |
ลูกกาลีมีแต่จะขายหน้า | ช่างชั่วช้าทุจริตผิดวิสัย |
จะให้อยู่เวียงวังก็จังไร | ชอบมาไสคอส่งเสียจากเมือง |
ไปเที่ยวเล่นเป็นปีแล้วมิสา | มาพูดจาให้กูคันหูเหือง |
พระพิโรธโกรธตรัสด้วยขัดเคือง | แล้วย่างเยื้องจากบัลลังก์เข้าวังใน ฯ |
๏ แสนสงสารพี่น้องสองกษัตริย์ | บิดาตรัสโกรธาไม่ปราศรัย |
อัปยศอดสูเสนาใน | ทั้งน้อยใจผินหน้าปรึกษากัน |
พระเชษฐาว่าโอ้พ่อเพื่อนยาก | สู้ลำบากบุกป่าพนาสัณฑ์ |
มาถึงวังยังไม่ถึงสักครึ่งวัน | ยังไม่ทันทดลองทั้งสองคน |
พระกริ้วกราดคาดโทษว่าโฉดเขลา | พี่กับเจ้านี้ก็เห็นไม่เป็นผล |
อยู่ก็อายไพร่ฟ้าประชาชน | ผิดก็ด้นดั้นไปในไพรวัน |
แล้วสวมสอดกอดน้องประคองหัตถ์ | สองกษัตริย์โศกทรงกันแสงศัลย์ |
พระอภัยมณีศรีสุวรรณ | ก็พากันซวนซบสลบไป |
ฝ่ายมหาเสนาพฤฒามาตย์ | เห็นหน่อนาถนิ่งแน่เข้าแก้ไข |
ทั้งสองตื่นฟื้นกายระกำใจ | ชลนัยน์แนวนองทั้งสององค์ ฯ |
๏ พระเชษฐาว่ากรรมแล้วน้องเอ๋ย | อย่าอยู่เลยเรามาไปไพรระหง |
มิทันสั่งอำมาตย์ญาติวงศ์ | ทั้งสององค์ออกจากจังหวัดวัง |
พระพี่ชายชวนเดินดำเนินหน้า | อนุชาโฉมงามมาตามหลัง |
พระออกนอกนคราเข้าป่ารัง | ครั้นเหนื่อยนั่งสนทนาปรึกษากัน |
อันตัวเราพี่น้องทั้งสองนี้ | ไม่มีที่พึ่งใครในไพรสัณฑ์ |
ทั้งโภชนาอาหารกันดารครัน | ยังนับวันก็แต่กายจะวายปราณ ฯ |
๏ พระอนุชาว่าพี่นี้ขี้ขลาด | เป็นชายชาติช้างงาไม่กล้าหาญ |
แม้นชีวันยังไม่บรรลัยลาญ | ก็เซซานซอกซอนสัญจรไป |
เผื่อพบพานบ้านเมืองที่ไหนมั่ง | พอประทังกายาอยู่อาศัย |
มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร | ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี ฯ |
๏ พระเชษฐาว่าจริงแล้วน้องรัก | เจ้าแหลมหลักตักเตือนสติพี่ |
กระนั้นแต่งองค์ไปทำไมมี | ให้เป็นที่กังขาประชาชน |
เราปลอมแปลงแต่งกายเป็นชายไพร่ | เหมือนยากไร้แรมทางมากลางหน |
สองกษัตริย์ตรัสคิดเห็นชอบกล | จึงปลดเปลื้องเครื่องต้นออกจากกาย |
เอาภูษาผ้าห่มห่อกระหวัด | แล้วคาดรัดเอวไว้มิให้หาย |
ศรีสุวรรณนั้นคุมกระบองกราย | พระพี่ชายถือปี่แล้วลีลา |
ค่อนดั้นเดินเนินพนมพนาเวศ | สีขเรศห้วยธารละหานผา |
ครั้นค่ำค้างกลางวันก็ไคลคลา | กินผลาผลไม้ในดงดอน |
แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ | ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร |
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลธร | ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง |
ค่อยย่างเหยียบเลียบริมทะเลลึก | ถึงร่มพฤกษาไทรดังใจหวัง |
ทั้งสองราล้าเลื่อยเหนื่อยกำลัง | ลงหยุดนั่งนอนเล่นเย็นสบาย ฯ |
๏ จะจับบทบุตรพราหมณ์สามมาณพ | ได้มาพบคบกันเล่นเป็นสหาย |
คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย | มีแยบคายชำนาญในการกล |
เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้ | แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน |
คนหนึ่งมีวิชาชื่อสานน | ร้องเรียกฝนลมได้ดังใจจง |
คนหนึ่งนั้นมีนามพราหมณ์วิเชียร | เที่ยวร่ำเรียนสงครามตามประสงค์ |
ถือธนูสู้ศึกนึกทะนง | หมายจะปลงชีวาปัจจามิตร |
ธนูนั้นลั่นทีละเจ็ดลูก | หมายให้ถูกที่ตรงไหนก็ไม่ผิด |
ล้วนแรกรุ่นร่วมรู้คู่ชีวิต | เคยไปเล่นเป็นนิจที่เนินทราย |
พอแดดร่มลมตกลงชายเขา | ขึ้นสำเภายนต์ใหญ่ดังใจหมาย |
ออกจากบ้านอ่านมนต์เรียกพระพาย | แสนสบายบุกป่ามาบนดิน |
ถึงทะเลเล่นตรงลงในน้ำ | เที่ยงลอยลำเล่นมหาชลาสินธุ์ |
มาใกล้ไทรสาขาริมวาริน | ก็ได้ยินสุรเสียงสำเนียงคน |
เห็นพี่น้องสององค์ล้วนทรงโฉม | งามประโลมหลากจิตคิดฉงน |
ทอดสมอรอราเภตรายนต์ | ทั้งสามคนขึ้นเดินบนเนินทราย |
เข้ามาใกล้ไทรทองสองกษัตริย์ | โสมนัสถามไถ่ดังใจหมาย |
ว่าดูรามาณพทั้งสองนาย | เจ้าเพื่อนชายชื่อไรไปไหนมา |
หรือเดินดงหลงทางมาต่างบ้าน | จงแจ้งการณ์ให้เราฟังที่กังขา |
แม้นไม่มี่พี่น้องญาติกา | เราจะพาไปไว้เรือนเป็นเพื่อนกัน ฯ |
๏ พระฟังความถามทักเห็นรักใคร่ | จึงขานไขความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
เราชื่ออภัยมณีศรีสุวรรณ | เป็นพงศ์พันธุ์จักรพรรดิสวัสดี |
ไปร่ำเรียนวิชาที่อาจารย์ | ตำบลบ้านจันตคามพนาศรี |
อันตัวเรานี้ชำนาญการดนตรี | น้องเรานี้ก็ชำนาญการศัสตรา |
พระบิตุเรศขับไล่มิให้อยู่ | ว่าเรียนรู้ต่ำชาติวาสนา |
เราพี่น้องสองคนจึงซนมา | หวังจะหาแห่งครูผู้ชำนาญ |
ด้วยจะใคร่ไต่ถามตามสงสัย | วิชาใดจึงจะดีให้วิตถาร |
ที่สมศักดิ์จักรพรรดิพิสดาร | จะคิดอ่านเรียนร่ำเอาตำรา |
อันตัวเจ้าเผ่าพราหมณ์สามมาณพ | ได้มาพบกันวันนี้ดีหนักหนา |
ท่านทั้งสามนามใดไปไหนมา | จงเมตตาบอกเล่าให้เข้าใจ ฯ |
๏ ดรุณพราหมณ์สามคนได้แจ้งอรรถ | ว่ากษัตริย์สุริย์วงศ์ไม่สงสัย |
ประณตนั่งบังคมขออภัย | พระอย่าได้ถือความข้าสามคน |
ซึ่งพระองค์สงสัยจึงไต่ถาม | จะทูลความให้แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ข้าชื่อวิเชียรโมราเจ้าสานน | ทั้งสามคนคู่ชีวิตเป็นมิตรกัน |
แสวงหาตั้งเพียรเพื่อเรียนรู้ | ได้เป็นคู่ศึกษาวิชาขยัน |
ได้รู้เรียกลมฝนคือคนนั้น | ข้าแข็งขันยิงธนูสู้ไพริน |
ยิงออกไปได้ทีละเจ็ดลูก | จะให้ถูกตรงไหนก็ได้สิ้น |
คนนั้นผูกเรือยนต์แล่นบนดิน | อยู่บ้านอินทคามทั้งสามคน |
ซึ่งองค์พระอนุชาเรียนอาวุธ | เข้ายงยุทธ์ข้าก็เห็นจะเป็นผล |
แต่ดนตรีนี้ดูไม่ชอบกล | ข้าแสนสนเท่ห์ในน้ำใจจริง |
ดนตรีมีคุณที่ข้อไหน | หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง |
ยังสงสัยในจิตคิดประวิง | จงแจ้งจริงให้กระจ่างสว่างใจ ฯ |
๏ พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม | จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข |
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป | ย้อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ |
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช | จตุบาทกลางป่าพนาสินฑ์ |
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน | ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา |
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ | อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา |
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ | จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง |
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้ | เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง |
พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง | สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ ฯ |
๏ ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย | ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย |
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย | จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย |
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม | ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย |
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย | ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน |
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง | สำเนียงเพียงการเวกกังวานหวาน |
หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล | ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป |
ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่ | ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับใหล |
พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ | เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทราย ฯ |