- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลมิ่ง | เป็นยอดหญิงเจนศึกไม่นึกขาม |
นางแปลงองค์ทรงสำอางเหมือนอย่างพราหมณ์ | กับคนตามพันร้อยแล่นลอยไป |
ถึงน้ำเขียวเดี่ยวโดดโขยดคลื่น | เสียงครืนครืนโตเท่าภูเขาใหญ่ |
ทุกเช้าเย็นเห็นแต่เมฆวิเวกใจ | นางอยู่ในฉากฉายท้ายเภตรา |
เผยพระแกลแลเหลียวให้เปลี่ยวจิต | ดูทั่วทิศล้วนทะเลกับเวหา |
หวนรำลึกตรึกตรองถึงน้องยา | พระบิดามารดรจะร้อนทรวง |
ต้องเสียงานการวิวาห์จะว้าวุ่น | คงเคืองขุ่นไปทั้งในวังหลวง |
อีกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งปวง | จะเหงาง่วงเงียบเชียบยะเยียบเย็น |
โอ้ยามนี้มีแต่จะแลลับ | มิได้กลับพานพบประสบเห็น |
วิบากกรรมจำพรากกระดากกระเด็น | จะบวชเป็นดาบสสู้อดออม |
นางโศกาอาดูรพูนเทวษ | ได้เดือนเศษโศกซูบจนรูปผอม |
พวกพี่เลี้ยงเคียงบัลลังก์อยู่พรั่งพร้อม | บดยาหอมให้เสวยเชยชโลม |
แล้วชวนตีปี่พาทย์ระนาดฆ้อง | บ้างรับร้องรวยรื่นให้ชื่นโฉม |
จนเข้าเขตพาราวาหุโลม | ทางขึ้นโรมวิสัยเมืองใหญ่พราหมณ์ |
เห็นเกาะเพลิงเริงแรงแสงสว่าง | ลุกอยู่กลางเกาะเองน่าเกรงขาม |
ตีนสิงขรล่อนโล่งพลุ่งโพลงพลาม | ยาวสักสามสิบเส้นล้วนเป็นไฟ |
จึงดูแดนแผนที่มีหนังสือ | ว่าเกาะชื่อชุมเพลิงเชิงไศล |
มีเรื่องราวกล่าวแถลงให้แจ้งใจ | ว่าเกาะใหญ่พระยานาคมีมากมาย |
ขึ้นพ่นพิษฤทธิ์เริงดังเพลิงพลุ่ง | เป็นควันฟุ้งฟ้าดินสิ้นทั้งหลาย |
ถูกเทวาสารพัดสิงสัตว์ตาย | พระนาราย์รู้เรื่องเปลื้องอาดูร |
มาปิดปล่องช่องชะวากที่นาคผุด | ถอนพิษภุชงค์ร้ายให้หายสูญ |
เหลือเปลวปล่งตรงปล่องเหมือนกองกูณฑ์ | เป็นไฟฟูนสักเท่าเขาคิริน ฯ |
๏ นางอ่านดูรู้โฉลกโลกเชษฐ์ | ที่เขาเขตขวางแควกระแสสินธุ์ |
ว่าไหลมาแต่สวรรค์ชั้นพระอินทร์ | ผู้ใดกินแก้บาปอาบก็ดี |
ตายจะได้ไปกำเนิดเกิดสวรรค์ | ลำน้ำนั้นมาแต่หน้าพาราณสี |
พวกถือไสยในจังหวัดปถพี | เอาซากผีนั้นมาทิ้งทั้งหญิงชาย |
ด้วยเชื่อฟังหนังสือตามถือไสย | จะให้ไปเกิดสวรรค์เหมือนมั่นหมาย |
นางอ่านดูรู้เรื่องว่าเมืองร้าย | จะเข้าฝ่ายฝั่งชลาขึ้นธานี |
จึงแปลงองค์ทรงหนังเฉียงอังสา | มุ่นชฎาจุณเจิมเฉลิมศรี |
สมาทานถือศีลครองอินทรีย์ | เป็นฤๅษีทรงพรตดูงดงาม |
เปลี่ยนชื่อพระอัคนีมีสง่า | นำพวกข้าโดยเสด็จไม่เข็ดขาม |
ทั้งหญิงชายแปลงกายเป็นชีพราหมณ์ | ต่างเปลี่ยนนามบวชทั่วทุกตัวมี |
ให้บอกกล่าวว่าเราชาวกบิลพัสดุ์ | เที่ยวโปรดสัตว์ตามจริตกิจฤๅษี |
แล้วนางนึกตรึกตราถึงธานี | แม้พระพี่รู้ความจะตามทัน |
จึงทำตามความรู้ของครูเฒ่า | เขียนสำเภาอักขราเป็นอาถรรพณ์ |
บริกรรมซ้ำเสกปลุกเลขยันต์ | เอาเรือนั้นลอยลงในคงคา |
ใครตามเห็นเป็นสำเภาที่เราขี่ | ให้พระพี่ลดเลี้ยวเที่ยวหลงหา |
แล้วสั่งให้นายท้ายบ่ายเภตรา | เข้าอ่าววาหุโลมแล่นดูแดนไตร |
เห็นปากน้ำทำป้อมคร่อมภูเขา | จำเพาะเข้าออกเดินเนินไศล |
แลพิลึกตึกกว้านสำราญใจ | เข้าจอดใกล้เมืองด่านชานบุรี |
สังเกตดูผู้คนบนตลิ่ง | ทั้งชายหญิงโพกผมนุ่งห่มสี |
ส่วนเครื่องขาวเจ้านายฝ่ายผู้ดี | พวกเสนีทุกตำแหน่งแต่งทั้งนั้น |
แต่ไพร่นายฝ่ายทหารชาญกำแหง | ใส่เสื้อแสงสีดำล้วนล่ำสัน |
ด้วยห้ามปรามตามแพนกให้แปลกกัน | สีหมอกนั้นเป็นของคนพลเรือน |
ล้วนเสื้อกลีบจีบนุ่งคาดพุงทับ | ไม่สลับสีไหนก็ให้เหมือน |
เห็นเรือจอดทอดท่าลงมาเยือน | ดูเดินเกลื่อนตามตลิ่งทั้งหญิงชาย |
นายด่านใหญ่ให้ล่ามถามไปว่า | เรือนี้มารบหรือมาซื้อขาย |
ฝ่ายขอเฝ้าเหล่าข้าบรรดาชาย | จึงอุบายบอกเหล่าชาวบุรี |
อันพวกเราชาวบุรินทร์กบิลพัสดุ์ | รักษาสัตย์ศีลถือเป็นฤๅษี |
เที่ยวประโยชน์โปรดสัตว์ในปถพี | ไม่คิดที่รบสู้กับผู้ใด |
ซึ่งมานี้มีกิจคิดประสงค์ | จะธุดงค์เที่ยวไปชมโรมวิสัย |
แล้วถามล่ามตามประสงค์จำนงใน | นี่เมืองใดใครเป็นเจ้าชาวพารา ฯ |
๏ ฝ่ายล่ามบอกออกอรรถกระจัดแจ้ง | อันเขตแขวงโรมวิสัยไกลหนักหนา |
ไปแต่นี้ปีเศษเขตอาณา | ถึงเมืองวาหุโลมนี้สิ้นที่แดน |
อันเมืองกลางทางไปทั้งใหญ่น้อย | ก็นับร้อยพลโจษนับโกฏิแสน |
นับถือผู้รู้ไตรเพททุกเขตแคว้น | บูชาแทนเทวดาเป็นอาจารย์ |
ทั้งถือพระอาทิตย์อิศเรศ | เป็นดวงเนตรในแผ่นดินทุกถิ่นฐาน |
ทรงสัตย์ธรรม์กรุณาเวลากาล | มาโปรดปรานส่องแสงให้แรงมี |
ครั้นพระกลับหลับสบายทั้งชายหญิง | พระคุณยิ่งได้พำนักเป็นศักดิ์ศรี |
หนึ่งผู้รู้ไตรเพทวิเศษดี | เรียนบาลีโลกสิ้นทั้งดินฟ้า |
ใครเจ็บป่วยช่วยระงับให้ดับโรค | ถึงเคราะห์โศกสิ่งไรก็ไปหา |
ท่านดูแลแน่เหมือนเช่นเห็นแก่ตา | ให้รู้ว่าเป็นตายร้ายหรือดี |
ทั้งฤกษ์พาฟ้าฝนบนสวรรค์ | มีสูรย์จันทร์แจ้งสิ้นถิ่นวิถี |
เป็นที่พึ่งจึงว่าครูความรู้ดี | ก็ฤๅษีเชี่ยวชาญประการใด |
ซึ่งเที่ยวมาว่าประโยชน์จะโปรดสัตว์ | ให้แก้วเก้าเนาวรัตน์หรือไฉน |
หรือจะรับดับโศกดับโรคภัย | ซึ่งจะให้เป็นประโยชน์เที่ยวโปรดปราน ฯ |
๏ ฝ่ายฤๅษีพี่เลี้ยงออกเถียงล่าม | ซึ่งคนความรู้ตำราเหมือนว่าขาน |
ไม่ควรหลงสรรเสริญให้เกินการ | เป็นเดรฉานวิชาเที่ยวหากิน |
อันเราถือฤๅษีนั้นดีสุด | เป็นภูมิพุทธวิชารักษาศิล |
อันแก้วแหวนแสนทรัพย์นับเหมือนดิน | มีแล้วสิ้นเสียเปล่าไม่เข้าการ |
อันกุศลผลผลาอานิสงส์ | จะช่วยส่งเป็นสมบัติพัสถาน |
ใครถือธรรมจำศิลอภิญญาณ | ถึงนิพพานพูนสวัสดิ์อยู่อัตรา |
แม้จะใคร่ได้สดับรับโอวาท | ทำธรรมาสน์พุทธเพทเทศนา |
จะให้ศิลภิญโญในโลกา | ที่คิดสารพัดได้ดังใจปอง ฯ |
๏ ฝ่ายล่ามว่าถ้ากระนั้นขยันยิ่ง | ใคร่ฟังสิ่งซึ่งว่าดีไม่มีสอง |
แล้วกลับมาหน้าค่ายบอกนายกอง | ทั้งพวกพ้องพูดจาปรึกษากัน |
อันฤๅษีดีอย่างไรเราไม่รู้ | จะลองดูให้เห็นจริงเป็นทุกสิ่งสรรพ์ |
จึงจัดแจงแต่งธรรมาสน์อาสน์สุวรรณ | แล้วชวนกันหามมาหน้าประตู |
ทั้งเทียนธูปบุปผาสารพัด | มาตั้งจัดแจงไว้ทั้งไก่หมู |
ที่พวกพ้องของใครบอกให้รู้ | ไปฟังผู้วิเศษท่านเทศน์ธรรม์ |
ศีลฤๅษีที่จะให้ผู้ใดรับ | ดีกว่าทรัพย์สินยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
บรรดาเหล่าชาวบ้านเมืองด่านนั้น | ต่างสำคัญว่าเป็นของที่ต้องการ |
บ้างแบกกระบุงถุงไถ้ไปใส่ศิล | มาพร้อมสิ้นซ้ายขวาแน่นหน้าฉาน |
แล้วล่ามตรงลงเภตราว่าอาจารย์ | นิมนต์ท่านเทศน์ธรรม์เหมือนสัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายนงลักษณ์อัคนีฤๅษีเอก | อดิเรกรู้ธรรมคำสิกขา |
คิดประโยชน์โปรดทมิฬดังจินดา | จึงครองผ้าผูกคาดราดประคต |
ชฎากลีบจีบเวียนกระเสียนพระศก | พัดขนนกป้องหน้าอย่างดาบส |
พวกฤๅษีพี่เลี้ยงเคียงประณต | ขึ้นเดินทางกางพระกลดไปบดบัง |
เณรพี่น้องสองกะเทยที่เคยใช้ | ต่างถือไม้เท้าย่ามเดินตามหลัง |
ถึงหน้าป้อมพร้อมกันที่บัลลังก์ | นางขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์อาสน์โอฬาร์ |
พวกข้าเฝ้าเหล่าฤๅษีพระพี่เลี้ยง | อยู่ข้างเคียงเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
พระอัคนีมีพัดป้องพักตรา | สำรวมท่ารักษาพรตดาบสนี ฯ |
๏ ฝ่ายพวกฟังทั้งสิ้นทมิฬหมด | ไม่ประณตนับถือพระฤๅษี |
ต่างดูของมองเขม้นไม่เห็นมี | บ้างพาทีไต่ถามตามสงกา |
ศีลฤๅษีที่เอามาว่าจะให้ | อยู่ที่ไหนไม่เห็นเขม้นหา |
ต่างเข้าไปใกล้ธรรมาสน์ดาษดา | จะดูหน้าว่าฤๅษีมีสิ่งใด |
ศิษย์ฤๅษีพี่เลี้ยงเคียงธรรมาสน์ | ต่างตวาดว่าห้ามปรามไม่ไหว |
จึงบอกความตามภาษาว่าผู้ใด | จะใคร่ได้ศีลมั่งก็นั่งลง |
แล้วองค์พระอัคนีผู้มีพรต | บอกกำหนดศีลห้าอานิสงส์ |
ผู้ใดฟังทั้งหมดเมื่อปลดปลง | บุญจะส่งไปสวรรค์ชั้นวิมาน |
ไม่มีโรคโศกทุกข์กินสุกดิบ | เสวยทิพย์โอชากระยาหาร |
อุส่าห์สร้างทางกุศลผลทาน | ถึงนิพพานผาสุกไปทุกวัน |
พอจบคำสำเร็จเป็นเสร็จสิ้น | พวกทมิฬหัวเราะเยาะเย้ยหยัน |
ว่าศีลมีขี้ปดหมดทั้งนั้น | ลวงให้กันเอากระบุงถุงย่ามมา |
เมื่อเทศน์ไปไม่เห็นเหมือนเช่นเทศน์ | ถือผิดเพศฤๅษีนี่มุสา |
เที่ยวลวงล่อพอได้กินสินบูชา | หรือหมายมาเมืองนี้จะตีชิง |
บ้างว่าดูผู้สำแดงจะแปลงเพศ | เสียงสังเกตรูปร่างเหมือนอย่างหญิง |
เข้าเหยียบย่านบ้านไหนจัญไรจริง | ขุดดินทิ้งเสียในวนชลธาร |
ไม่นับถือฤๅษีพวกชีป่า | ไม่ขายค้าขอกินทุกถิ่นฐาน |
เราขับไล่ไปเสียอย่าให้ช้าการ | เสียกบาลให้เสียเจียวประเดี๋ยวนี้ ฯ |
๏ ฝ่ายดาบสอดจิตด้วยคิดบาป | มันหยามหยาบก็ทำเมินลุกเดินหนี |
ชาวด่านเตรียมเสียมพร้าตะกร้ามี | คอยขุดที่รอยเท้าทุกก้าวไป |
พวกศิษย์หาดาบสเหลืออดกลั้น | มันกระชั้นชิดนักต่างผลักไส |
แกล้งแยกย้ายรายเที่ยวลดเลี้ยวไป | หมายจะให้ตามขุดจนสุดแรง ฯ |
๏ ฝ่ายนายด่านพาลจะดุมุโมโห | ว่าคนโซเที่ยวเล่นจะเป็นแขนง |
ให้บ่าวไพร่ไล่ลัดสกัดแสกง | ใครขัดแข็งฆ่าฟันให้บรรลัย |
พวกทมิฬยินนายทั้งชายหญิง | พากันวิ่งคึกคักไล่ผลักไส |
ฝ่ายฤๅษีที่ไม่เคร่งเก่งสุดใจ | ตีด้วยไม้เท้ามันรุมฟันแทง |
พวกโยธาสานุศิษย์ไม่คิดบาป | ชิงหอกดาบโดดฟันด้วยขันแข็ง |
ทมิฬตายวายวางลงกลางแปลง | ต่างพลัดแพลงวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี |
ขุนด่านไล่ไพร่พลที่บนป้อม | ลงพรักพร้อมนายไพร่ไล่ฤๅษี |
ฝ่ายโฉมยงนงลักษณ์พระอัคนี | เห็นเสียทีถอยมาริมสาชล ฯ |
๏ ฝ่ายนายไพร่ในสำเภาเห็นชาวด่าน | ไล่รอนราญรบรับกันสับสน |
ฉวยศัสตราสำหรับตัวทั่วทุกคน | วิ่งขึ้นบนบกมาช่วยราวี |
ต่างแกว่งกลอกหอกดาบกำซาบศร | เข้าราญรอนรับมือทั้งฤๅษี |
ฝ่ายทหารด่านสมุทรก็สุดดี | ปะทะตีแทงฟันกระชั้นชิด |
บ้างพุ่งซัดศัสตราพวกการะเวก | ล้วนตัวเอกหลบเลี่ยงพลาดเพลี่ยงผิด |
กลับไล่เหล่าชาวด่านผลาญชีวิต | ต่อไม่ติดแตกพลัดกระจัดกระจาย |
พวกชีพราหมณ์ตามฆ่าโยธาหาญ | เข้าในด่านได้สมอารมณ์หมาย |
โห่สนั่นฟันทมิฬลงดิ้นตาย | แต่ตัวนายคงกระพันประจัญรบ |
รุมแทงฟันมันไม่ไหวจึงใช้หญิง | เอาศรยิงปากปุทะลุสลบ |
จับนายได้ไพร่หมอบลงนอบนบ | ไม่สู้รบรับแพ้ขอแต่ตัว |
พวกฤๅษีชีพราหมณ์คุกคามขู่ | ใครรบสู้ขืนขัดจะตัดหัว |
แม้ไม่สู้กูไม่ฆ่าดอกอย่ากลัว | แล้วหามตัวนายด่านขึ้นศาลกลาง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีกับพี่เลี้ยง | เข้าอยู่เพียงตึกโถงที่โรงขวาง |
พวกเหลือตายนายมุลหมื่นขุนนาง | บ้างหลบบ้างเข้าหาเป็นข้าไท |
พอจวนเย็นเห็นแต่คนแก่เฒ่า | ถือไม้เท้าจดจ้องเดินร้องไห้ |
พวกชีพราหมณ์ถามว่าท่านมาไย | ต่างกราบไหว้ว่าจะมาหาเจ้านาย |
จะห้ามปรามตามอย่างแต่ปางก่อน | ราษฎรจะได้พึ่งเหมือนหนึ่งหมาย |
แม้มิโปรดโทษปากผิดมากมาย | ก็ยอมตายแต่จะห้ามดูตามบุญ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีรู้ทีศึก | ฉลาดลึกหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
เห็นคนแก่แซ่มาก็การุญ | จะเอาบุญบทจรไปต้อนรับ |
เชิญผู้เฒ่าเก้าคนขึ้นบนศาล | นั่งสำราญเรียงกันเป็นอันดับ |
แล้วตรัสห้ามปรามว่าอย่าคำนับ | จะพูดกับดีฉานประการใด ฯ |
๏ ฝ่ายผู้เฒ่าเหล่าทมิฬได้ยินตรัส | โสมมัสนึกว่าดีจะมีไหน |
แต่รูปร่างอย่างหญิงนึกกริ่งใจ | พวกผู้ใหญ่ยิ่งรักพระอัคนี |
ต่างทูลว่าข้าพเจ้าคนเฒ่าแก่ | ยังก็แต่จะตายกลายเป็นผี |
เห็นทหารท่านมาไล่ฆ่าตี | ชาวบุรีใหญ่น้อยก็พลอยตาย |
จึงอุส่าห์มาห้ามตามขนบ | ธรรมเนียมรบเมืองได้เหมือนใจหมาย |
แม้ครองแคว้นแดนด้าวเป็นเจ้านาย | คนทั้งหลายก็จะมาเป็นข้าไท |
ถ้าจะเอาข้าวของเงินทองนาก | ก็ได้มากเหมือนจินดาอัชฌาสัย |
จะฆ่าตีชีวันให้บรรลัย | นั้นเห็นไม่เป็นประโยชน์จงโปรดปราน |
ซึ่งปรารถนามาห้ามปรามทั้งนี้ | เพราะปรานีหนุ่มสาวชาวลูกหลาน |
แม้จะเอาข้าวของที่ต้องการ | กระหม่อมฉานจะไปป่าวชาวพารา ฯ |
๏ พระอัคนีดีใจปราศรัยสนอง | อันเงินทองถือขาดไม่ปรารถนา |
เมื่อเดิมทีมีธรรมาสน์ไปราธนา | จึงขึ้นมาเทศน์ธรรม์ให้มันฟัง |
ไม่นับถือฤๅษีแล้วมิหนำ | ขับไล่ซ้ำว่าคนโซทำโอหัง |
ให้ขุดรอยน้อยหรือทำแต่ลำพัง | ลูกศิษย์ทั้งปวงแค้นจึงแทนทด |
ให้เห็นมือฤๅษีที่มีศิล | พวกทมิฬมาดหมายกลับตายหมด |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองแลเครื่องยศ | เราสร้างพรตมิได้ปองเอาของใคร |
ท่านมาห้ามปรามนี้ก็ดีนัก | จงประจักษ์จริงแจ้งแถลงไข |
ช่วยบอกเล่าให้เขารู้ว่าผู้ใด | ไม่สู้ไม่ฆ่าฟันทำอันตราย |
จงกลับมาหากินตามถิ่นฐาน | ให้สำราญไร่นาที่ค้าขาย |
เราจะยั้งรั้งรออยู่พอสบาย | ให้เหือดหายเมื่อยล้าจะลาไป |
ประการหนึ่งซึ่งเราถือเป็นฤๅษี | ใครเห็นดีโดยจริงจงทิ้งไสย |
มาถือพุทธสุดดีไม่มีภัย | อาวุธไม่ต้องตนเป็นมลทิน |
ใครรักมีฝีมือเหมือนฤๅษี | มาที่นี่เราจะได้ช่วยให้ศิล |
นางแกล้งสั่งหวังจะให้ใจทมิฬ | นิยมยินยอมสมัครมาภักดี ฯ |
๏ ฝ่ายผู้เฒ่าเก้าคนทุพพลภาพ | ต่างก้มกราบนับถือพระฤๅษี |
แล้วลามาว่ากล่าวชาวบุรี | ให้ภักดีดาบสถือพรตธรรม์ ฯ |
๏ พอเวลาราตรียังมีเด็ก | ลูกเล็กเล็กชายหญิงวิ่งถลัน |
มาศาลกลางทางว่าพ่อข้านั่น | ใครแทงฟันสักเท่าไรก็ไม่ตาย |
พวกฤๅษีมีฤทธิ์คิดไฉน | จึงฆ่าได้ให้ตระกูลเราสูญหาย |
เราพี่น้องสองบุตรนี้สุดอาย | จะตามตายแต่ขอพบศพบิดา ฯ |
๏ พระอัคนีมีจิตคิดสงสาร | ด้วยกุมารพูดความตามประสา |
ดูพี่น้องผ่องพักตร์ลักขณา | เห็นแปลกตากว่าทมิฬสิ้นทั้งนั้น |
จึงเรียกหามาใกล้ซักไซ้ถาม | ได้ข้อความตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
บุตรหญิงชายนายด่านชาญฉกรรจ์ | พี่สาวนั้นได้สิบเอ็ดน้องเจ็ดปี |
ให้นึกเห็นเช่นกับองค์ของนงลักษณ์ | เคยเคียงพักตร์กับพระน้องทั้งสองศรี |
คิดจะใคร่ได้เป็นลูกผูกไมตรี | จึงพาทีทำเป็นว่าน่าเสียดาย |
มาตามศพพบพ่อจะขอม้วย | เราจะช่วยชุบชีวิตเหมือนคิดหมาย |
ให้พ่อฟื้นคืนรอดไม่วอดวาย | จะถือฝ่ายพุทธหรืออย่าดื้อดึง ฯ |
๏ สองเด็กว่าถ้าแม้เป็นให้เห็นแน่ | ท่านดีแท้ใครจะเปรียบประเทียบถึง |
ถึงเลือดเนื้อเมื่อจะเอาข้าเจ้าจึง | จะเถือทึ้งแทนคุณกรุณา |
จะนับถือฤๅษีผู้วิเศษ | จะฟังเทศน์ถือพุทธไม่มุสา |
ถ้าชุบขึ้นคืนชีวิตให้บิดา | จะเป็นข้าพระฤๅษีทั้งพี่น้อง ฯ |
๏ พระอัคนีดีใจจะได้ลูก | เปรียบเหมือนผูกพ่อไว้มิให้หมอง |
เป็นแยบยลกลศึกนางตรึกตรอง | นายด่านต้องศรซบสลบไป |
จะเสกทำน้ำมนต์ให้คนเห็น | ว่าชุบเป็นมั่นคงไม่สงสัย |
จะลือชาปรากฏยศไกร | จึงสั่งให้สานุศิษย์ตั้งพิธี |
ชุมนุมนั่งบังศพจะกลบเหตุ | ให้ลับเนตรพี่น้องทั้งสองศรี |
แล้วโฉมยงนงลักษณ์พระอัคนี | เสกวารีพรมพรำนั้นร่ำไป |
ฤๅษีหมอขอเฝ้าแฝงเข้านวด | ที่เจ็บปวดบาดแผลปิดแก้ไข |
พิมเสนรอพอชื่นมื่นฤทัย | นายด่านได้สมประดีค่อยมีแรง |
เห็นลูกยามานั่งอยู่ทั้งสอง | ให้พวกพ้องข้าศึกให้นึกแหนง |
เรียกมาใกล้ไต่ถามดูตามแคลง | ครั้นรู้แจ้งใจจิตให้คิดคุณ |
หมอบคำนับกลับถือพระฤๅษี | น้ำใจดีจริงเจียวไม่เฉียวฉุน |
ชุบให้มีชีวาเพราะการุญ | ขอบพระคุณควรเชื่อเห็นเหลือดี |
จะทิ้งชาติศาสนาข้างวาหุ | ขอสาธุถือศิลพระชินศรี |
อันพี่น้องสองราบุตรข้านี้ | แม่ไม่มีอุปถัมภ์เป็นกำพร้า |
ถวายไว้ในพระองค์จงช่วยบวช | ให้รู้สวดศักราชพระศาสนา |
ทั้งข้านี้มิได้ขัดอัธยา | พระสิทธาสั่งสอนจะผ่อนตาม ฯ |
๏ พระอัคนีปรีชาว่าสาธุ | เห็นจะลุละบาปที่หยาบหยาม |
จึงปราศรัยให้พรสั่งสอนความ | แล้วไต่ถามถึงประเทศของเขตคัน ฯ |
๏ นายด่านเล่าว่าเจ้าวาหุโลมราช | กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์มักกะสัน |
เลี้ยงนกไก่ไว้กินสิ้นทั้งนั้น | สารพันสัตว์ที่มีปีกบิน |
อันกุ้งปลาสาครเรียกหนอนน้ำ | ไม่กรายกล้ำเกลียดคิดพินิจสถิล |
ทั้งสัตว์อื่นหมื่นแสนในแดนดิน | ก็ไม่กินกินแต่ไข่เป็ดไก่นก |
เอาขนไว้ใส่ประดับสำหรับแต่ง | หมวกเสื้อแสงสวมตนขนวิหค |
แต่องค์ท้าวเจ้าเมืองมีเครื่องยก | เหมือนรูปนกสวมองค์ออกสงคราม |
บินไปได้ไกลเป็นร้อยเส้นเศษ | ปราบประเทศร้อยเอ็ดย่อมเข็ดขาม |
ชนบทจรดเขตประเทศพราหมณ์ | นิคมคามรายรอบเป็นขอบคัน |
ข้าอยู่ด่านชานสมุทรเป็นสุดถิ่น | คุมทมิฬหมื่นเศษเฝ้าเขตขัณฑ์ |
ขึ้นไปนี้มีเมืองเนื่องเนื่องกัน | ยี่สิบวันถึงพาราวาหุโลม |
เจ้าบุรีมีบุตรสุดวิเศษ | รู้พระเวทวิทยาชื่อวาโหม |
บิดาใช้ให้ไปยอมอ่อนน้อมโน้ม | ถึงเมืองโรมวิสัยได้วิชา |
เข้าสิบสี่ปีถ้วนอ้วนเป็นพ้อม | จะเป็นจอมสุริย์วงศ์สืบพงศา |
ซึ่งธุระพระฤๅษีจะลีลา | ไปพาราโรมวิสัยทางไกลครัน |
จะบอกกล่าวราวเรื่องไปเมืองหลวง | ตามกระทรวงทูลเหตุเจ้าเขตขัณฑ์ |
ขอเบิกด่านท่านให้เสร็จทั้งเจ็ดชั้น | ได้ผายผันไปตามความสบาย ฯ |
๏ พระอัคนีชี้ชอบว่าขอบจิต | ท่านช่วยคิดให้เราสมอารมณ์หมาย |
ได้เบิกทางอย่างว่าจะลานาย | พลางภิปรายปราศรัยเป็นไมตรี |
ดึกหนักหนาพาบุตรไปหยุดยั้ง | แล้วตรัสสั่งพี่น้องทั้งสองศรี |
เมื่อคิดถึงจึงลาจรลี | ลงไปที่เภตราพูดจากัน ฯ |
๏ นายด่านว่าข้านิมนต์อยู่บนศาล | ให้สำราญรับครองเครื่องของฉัน |
จะว่ากล่าวเหล่าทมิฬสิ้นทั้งนั้น | มาฟังธรรม์เทศนาตามบาลี |
แล้วจัดแจงแต่งศาลเพดานดาด | ปูเสื่อสาดอาสนะพระฤๅษี |
จุดโคมเวียนเทียนประทีปให้ดิบดี | ลาไปที่หลับนอนผ่อนสบาย |
ครั้นรุ่งเช้าป่าวร้องทำของเลี้ยง | มาพร้อมเพรียงชาวบ้านคาวหวานถวาย |
ชมฤๅษีดีจริงทั้งหญิงชาย | ด้วยคนตายชุบเป็นเห็นแก่ตา |
ต่างถือธรรมจำศิลทั้งกินบวช | อุส่าห์สวดศักราชศาสนา |
บุตรหญิงชายนายด่านพานศรัทธา | ถือศีลห้าอยู่กับพระอัคนี ฯ |
๏ ฝ่ายทหารด่านแตกเมื่อแรกรบ | ที่หลีกหลบเหล่าชายพลัดพรายหนี |
เที่ยวบอกเล่าเจ้าเมืองเอกโทตรี | ว่าโจรตีด่านได้นายใหญ่ตาย |
ต่างบอกข่าวราวเรื่องไปเมืองหลวง | ด่านทั้งปวงเกณฑ์ตรวจทุกหมวดหมาย |
จะยกไปหลายทัพจับโจรร้าย | พอพวกนายด่านถือหนังสือมา |
ผิดสำเหนียกเรียกเอาสำเนาอ่าน | ขอเบิกด่านว่าฤๅษีดีหนักหนา |
เนื้อความกลับทัพยั้งหยุดรั้งรา | รีบส่งม้าใช้ถือหนังสือไป |
ถึงพาราวาหุโลมขึ้นกรมท่า | หาเสนาตามตำแหน่งแถลงไข |
พวกขุนนางต่างซักประจักษ์ใจ | พาเข้าไปเตรียมเฝ้าเจ้าบุรี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าวาหุโลมราช | กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์กินปักษี |
พระชันษาห้าสิบพอดิบพอดี | ทั้งพ่วงพีผิวดำดังน้ำรัก |
พระเนตรแดงแสงปลั่งเหมือนดังชาด | บรมนาถหนวดรกลงปรกตัก |
มีเขี้ยวงอกออกพอเห็นว่าเป็นยักษ์ | ยี่สิบนักขาดำดังน้ำนิล |
เกศานั้นพันกลุ่มเป็นปุ่มเปาะ | เหมือนผมเงาะเหลืองหงอกดอกกระถิน |
ผ่านประเทศเขตเขาชาวบุรินทร์ | อยู่ตึกหินทำผนังและหลังคา |
ให้เวียงวังตั้งตึกพิลึกสลับ | ล้วนปรุงปรับแน่นแฟ้นด้วยแผ่นผา |
ปราสาทศรีที่สถิตอิศรา | ล้วนศิลาเลื่อมลายพรายโพยม |
อยู่ด้วยพระมเหสีมีโอรส | เฉลิมยศฝ่ายหน้าชื่อวาโหม |
กษัตริย์สองครองพาราวาหุโลม | เป็นสุขโสมนัสาทั้งธานี |
ครั้งรุ่งเช้าเจ้าเมืองทรงเครื่องต้น | ใส่เสื้อขนนกประดับสลับสี |
ใส่หมวกหงอนวิหคนกอินทรี | แล้วหน็บตรีคทาธรถือศรทรง |
ครั้นสรรพเสร็จเสด็จออกมานอกห้อง | สอดฉลองบาทอย่างงอนหางหงส์ |
นางเชิญเครื่องเยื้องย่องจ้องประจง | ตามพระองค์ออกอำมาตย์นั่งอาสน์ทอง ฯ |
๏ โอรสาข้าเฝ้าก้มเกล้ากราบ | ศิโรราบตรับฟังรับสั่งสนอง |
เสนาทูลมูลความตามทำนอง | หนังสือสองฉบับบอกกลอกกลับกลาย |
แล้วอ่านความตามเรื่องเจ้าเมืองด่าน | ส่งทหารมาให้ถามความทั้งหลาย |
ว่าฤๅษีตีด่านสังหารนาย | ให้ล้มตายตัวจึงหนีรอดชีวา |
หัวเมืองรายฝ่ายใต้จะไปจับ | เกณฑ์กองทัพเมืองละหมื่นล้วนปืนผา |
ประเดี๋ยวนี้มีผู้ถือหนังสือมา | เนื้อความว่านายด่านชานชลธี |
บอกธุระพระนักธรรม์สักพันเศษ | ทั่วประเทศนับถือเรียกฤๅษี |
ทรงเวทมนตร์คนตายวายชีวี | ช่วยชุบชีวิตรอดไม่วอดวาย |
จะไปโรมวิสัยให้หม่อมฉาน | ขอเบิกด่านเดินไปดังใจหมาย |
แม้ฤๅษีมีพรตประทษร้าย | ขอถวายชีวิตข้าฝ่าธุลี ฯ |
๏ พระทราบเรื่องเคืองขัดตรัสประภาษ | มันสามารถมีหนังสือรับฤๅษี |
สรรเสริญเกินสังเกตอันเหตุนี้ | เห็นท่วงทีถ่ายเททำเล่ห์กล |
ที่รบราฆ่าฟันมันไม่บอก | ทำย้อนยอกแยบคายเป็นสายสน |
มันเชื่อถือฤๅษีว่ามีมนต์ | จะปลอมปล้นเมืองเราเป็นเจ้านาย |
จึงตรัสขู่ผู้ถือหนังสือถาม | ได้ข้อความว่าทมิฬสิ้นทั้งหลาย |
ถือฤๅษีผีสิงทั้งหญิงชาย | จึ่งสั่งฝ่ายกรมท่าเสนาใน |
จงบอกเรื่องเมืองตะวันด่านชั้นสาม | ไปปราบปรามด่านมหาชลาไหล |
อ้ายนายด่านมารยาสองหน้าไป | ฆ่าเสียให้สิ้นโคตรตามโทษทัณฑ์ |
ทั้งฤๅษีชีไพรอย่าให้เหลือ | จะเป็นเชื้อช่วยกันฆ่าให้อาสัญ |
ครั้นสั่งเสร็จเสด็จจากอาสน์สุวรรณ | เข้าสู่บรรทมแท่นแสนสบาย ฯ |
๏ ฝ่ายเสนามานั่งสั่งเสมียน | ให้เร่งเขียนข้อรับสั่งสิ้นทั้งหลาย |
ฝ่ายม้าใช้ได้ตรากราบลานาย | ขึ้นม้ารายไปทุกเมืองแจ้งเรื่องความ ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาราหูคนผู้เฒ่า | ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตะวันด่านชั้นสาม |
รู้เวทมนตร์ทนคงเคยสงคราม | ครั้นทราบความตามรับสั่งไม่รั้งรา |
เกณฑ์ทหารบาญชีสิบสี่หมื่น | ถือหอกปืนปีกซ้ายทั้งฝ่ายขวา |
บ้างถือทวนล้วนแต่ดีขี่อูฐลา | แต่ตัวราหูขี่สัตว์กิเลน |
สูงกว่าม้าลางามสักสามศอก | แม้ขับออกควบวิ่งเหมือนจิ้งเหลน |
หน้าเหมือนคนกลศึกได้ฝึกเจน | แล้วกะเกณฑ์เกวียนลำเลียงเสบียงพล |
ครั้นเสร็จสรรพทัพบกยกทหาร | จากเมืองด่านออกเดินตามเนินถนน |
ค่ำที่ไหนให้ชาวบ้านย่านตำบล | เลี้ยงไพร่พลพวกทหารทุกย่านมา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอัคนีอยู่ที่ด่าน | พวกชาวบ้านปรนนิบัติหัดภาษา |
จนพูดเป็นเช่นทมิฬเหมือนจินดา | คอยรอท่าผู้ถือหนังสือไป |
ขอเบิกด่านท่านจะให้หรือไม่หนอ | จะได้ต่อขึ้นไปชมโรมวิสัย |
ทุกเช้าค่ำรำพึงคะนึงใน | ตั้งพระทัยแต่จะหนีพระพี่ยา |
บุตรนายกองสองคนอยู่ปรนนิบัติ | คอยนวดพัดวีถวายทั้งซ้ายขวา |
นางให้นามตามสนิทชื่อธิดา | น้องชื่อว่าโอรสยศไกร |
พวกศิษย์หาพากันเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง | ต่างพาดพิงผูกมิตรพิสมัย |
บ้างลวงหลอกบอกสิกขาประสาใจ | ที่บวชใหม่กินแต่งาถั่วสาคู |
พวกบวชเก่าเข้ากระดูกรู้ผูกศิล | ตามจะกินเป็ดไก่นกไข่หมู |
พวกชาวด่านพานซื่อเชื่อถือครู | ขอเรียนรู้รักฤๅษีผู้ปรีชา |
แต่ยับยั้งฟังข่าวเจ้าประเทศ | สองเดือนเศษจนสนิทกับศิษยหา |
พอเบี่ยงบ่ายนายด่านลนลานมา | บอกว่าม้าใช้ถือหนังสือไป |
ขอเบิกด่านท่านว่าเป็นขบถ | แกล้งเลี้ยวลดลวงพระองค์คิดสงสัย |
ให้ทัพบกยกมาคนม้าใช้ | ลอบหนีได้มาแถลงแจ้งคดี |
ว่าราหูผู้เฒ่าจะเอาโทษ | ให้สิ้นโคตรคนที่ถือพระฤๅษี |
เป็นเคราะห์กรรมจำตายวายชีวี | พระมุนีจะคิดอ่านประการใด ฯ |
๏ ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์รู้กลศึก | ฉลาดลึกแหลมปัญญาอัชฌาสัย |
จึงเสแสร้งแกล้งตอบว่าขอบใจ | ที่รักใคร่เจ้านายสู้วายปราณ |
แต่ตัวดีมิได้ผิดเขาคิดโกรธ | จะฆ่าโคตรพลอยถูกทั้งลูกหลาน |
ไม่ไต่ถามความสัตย์ปฏิญาณ | ผิดโบราณเรื่องราวท้าวพระยา |
อนึ่งเล่าเราก็ถือเป็นฤๅษี | ไม่ฆ่าตีชีวิตริษยา |
จะต่อสู้ดูฝีมือให้ลือชา | คิดรักษาครอบครัวอย่ากลัวมัน |
ทำไมกับทัพทมิฬเหมือนริ้นล่อง | มาเข้ากองไฟฟ้าจะอาสัญ |
นายด่านนั่งฟังยุพลอยดุดัน | จริงกระนั้นคุณว่าไม่น่าตาย |
ไม่ไต่ถามความจริงมากริ่งโกรธ | จะลงโทษถึงขบถผิดกฎหมาย |
น่าน้อยใจไม่เอาเป็นเจ้านาย | ขอสู้ตายอยู่กับเท้าของเจ้าคุณ |
ทหารเราชาวบุรีก็มีอยู่ | จะรบสู้กันจนสิ้นดินกระสุน |
ด้วยสัตย์ซื่อถือพระเดชะบุญ | ข้าคิดอุ่นใจตัวไม่กลัวมัน |
แล้วกราบลามาเที่ยวตรวจหมวดทหาร | ป้อมปราการกำกับกันขับขัน |
ชุดไฟฟืนปืนผาสารพัน | ตระเตรียมกันพร้อมพรั่งระวังภัย ฯ |
๏ ฝ่ายราหูแม่ทัพกับทหาร | มาถึงด่านแดนมหาชลาไหล |
ให้ตั้งค่ายรายเรียงเคียงกันไป | ปักธงไชยเมืองตะวันเป็นสัญญา |
แล้วตัวขี่กิเลนไม่เกณฑ์แห่ | ให้ตามแต่สี่นายเคียงซ้ายขวา |
จากกองทัพขับกิเลนเผ่นโผนมา | ถึงตรงหน้าป้อมปืนหยุดยืนดู |
ให้พวกพ้องร้องเรียกนายด่านใหญ่ | เยี่ยมออกไปพูดจากับราหู |
จึงแจ้งความตามรับสั่งตั้งกระทู้ | ตัวเป็นผู้รั้งเมืองย่อมเลื่องลือ |
ท่านชุบเลี้ยงเพียงนี้มีเครื่องยศ | เป็นขบถเจ้านายไม่อายหรือ |
เหมือนแมลงเม่าเข้าในกองไฟฮือ | เราผู้ถือรับสั่งมาครั้งนี้ |
จะไกล่เกลี่ยเสียให้นายค่อยหายผิด | อย่าควรคิดนับถือพวกฤๅษี |
เร่งเปิดรับทัพเราเข้าบุรี | จะพ้นที่โทษทัณฑ์ไม่บรรลัย ฯ |
๏ ฝ่ายนายด่านหาญศึกไม่นึกพรั่น | จึงผ่อนผันพูดจาอัชฌาสัย |
เรานับถือฤๅษีเพียงนี้ไซร้ | ผิดอย่างไรหนักหนาจะฆ่าฟัน |
ท่านผู้รู้ผู้วิเศษเที่ยวเทศน์โปรด | เป็นประโยชน์ที่จะได้ไปสวรรค์ |
ไม่ถามไต่ไล่เลียงให้เที่ยงธรรม์ | ต้องจำกันตัวไว้มิให้ตาย |
ถ้าท่านจะอนุกูลช่วยทูลเรื่อง | ที่ขัดเคืองแค้นเดือดให้เหือดหาย |
เราจะได้ไปเฝ้าถึงเจ้านาย | อย่าทำร้ายกันเลยกลับกองทัพไป ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาราหูคนผู้เฒ่า | จึงว่าเจ้านี้คิดผิดวิสัย |
ตัวเป็นข้าถ้าไม่สู้กับภูวไนย | ควรขึ้นไปทูลความแต่ตามตรง |
จะนิ่งอยู่ดูเหมือนเช่นเป็นขบถ | จะตายหมดเหมือนอย่างเบื่อไม่เหลือหลง |
ฟังเราว่าถ้าจะเข้าเฝ้าพระองค์ | จะช่วยส่งไปให้สมอารมณ์ปอง ฯ |
๏ ฝ่ายนายด่านพาลจะซื่อด้วยถือสัตย์ | กลัวเคืองขัดคิดชอบตอบสนอง |
ท่านร่ำว่าปรานีเหมือนพี่น้อง | ขอตรึกตรองสักเวลาปรึกษากัน |
แล้วไปหาดาบสประณตนั่ง | เล่าให้ฟังตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ท่านราหูผู้เฒ่าเจ้าเมืองตะวัน | เป็นมิตรกันมาแต่ก่อนช่วยผ่อนปรน |
ข้าจะใคร่ไปเฝ้าเจ้าเมืองหลวง | เห็นได้ท่วงทีถวายฝ่ายกุศล |
ถึงฆ่าตีชีวิตให้ปลิดชนม์ | ก็ตายคนเดียวได้เป็นไรมี |
อันลูกหลานว่านเครือในเชื้อสาย | ขอถวายไว้ธุระพระฤๅษี |
ช่วยรักษาอย่าให้ตายวายชีวี | วันพรุ่งนี้ข้าจะลาพระคลาไคล ฯ |
๏ พระอัคนีปรีชาเห็นอาเพศ | สมสังเกตยินดีจะมีไหน |
พลางจับยามความก็เห็นไม่เป็นไร | จึงเกลี่ยไกล่แกล้งว่าเจ้ากล้าดี |
เป็นคนซื่อถือสัตย์จะขัดไว้ | ก็มิใช่เป็นจริตกิจฤๅษี |
จะไปเฝ้าเราไม่ห้ามดอกตามที | แต่ให้มีแยบคายคิดรายคน |
เข้าปลอมอยู่บุรีละยี่สิบ | ค่อยซุบซิบสังเกตดูเหตุผล |
แล้วบอกให้นายด่านรู้การกล | ถึงอับจนก็จะได้แก้ไขกัน |
ลูกศิษย์เราเล่าจะให้ปลอมไปด้วย | จะได้ช่วยสั่งสอนคิดผ่อนผัน |
ท่านไปเฝ้าหากมิโปรดต้องโทษทัณฑ์ | จงคิดกันกับคนใช้ที่ไปตาม |
นายด่านว่าสาธุสะคุณพระช่วย | จะรอดด้วยกลเม็ดไม่เข็ดขาม |
แล้วเรียกบ่าวเหล่าสนิทมาคิดความ | ให้ปลอมตามขึ้นไปอยู่ทุกบูรี ฯ |
๏ จัดสำเร็จเสร็จสรรพกลับไปสั่ง | ให้คนทั้งปวงถือพระฤๅษี |
ฝ่ายโฉมยงนงลักษณ์พระอัคนี | เขียนบาลีให้กะเทยที่เคยใช้ |
ปลอมไปด้วยฉวยฉุกมีทุกข์ร้อน | เอาอักษรดูแลคิดแก้ไข |
ทหารดีที่สำหรับกำกับไป | นางสอนให้รู้ทั่วทุกตัวคน |
ต่างจัดแจงแปลงกายตามนายด่าน | พวกทหารร้อยเศษรู้เหตุผล |
พอรุ่งสายนายใหญ่นำไพร่พล | ต่างแบกขนของออกนอกประตู |
ตรงไปค่ายนายทัพผู้รับสั่ง | คำนับนั่งพูดจากับราหู |
ข้าคนซื่อถือมั่นกตัญญู | ไม่รบสู้จะไปเฝ้าเจ้าชีวิต |
ทูลให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ | ท่านช่วยโปรดผ่อนปรนให้พ้นผิด |
แม้ปลดปลอดรอดตายไม่วายคิด | พระคุณติดก็จะต้องสนองคุณ ฯ |
๏ ฝ่ายราหูผู้เฒ่าคนเจ้าเล่ห์ | สมคะเนหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
จะยกไว้ไม่ฆ่าด้วยการุญ | ช่วยทำคุณขังกรงบอกส่งไป |
เป็นขบถลดละก็จะผิด | อย่าน้อยจิตเจ้าเลยกรรมจะทำไฉน |
จะกริ้วโกรธโปรดปรานประการใด | เราจะได้รอทัพอยู่ตรับฟัง |
แล้วสั่งให้ไพร่จำตัวนายด่าน | ห้าประการมั่นคงใส่กรงขัง |
ทหารตามสามร้อยคอยระวัง | ทั้งบอกหนังสือสำหรับกำกับไป |
พวกทหารด่านสมุทรเดินสุดท้าย | ทำตามนายหาบหามตามวิสัย |
เขาส่งตัวหัวเมืองเนื่องเนื่องไป | พวกบ่าวไพร่ปลอมเข้าอยู่ทุกบูรี |
ยี่สิบวันบรรลุถึงเมืองหลวง | ส่งกระทรวงกรมท่าเจ้าภาษี |
กราบทูลท้าวเจ้าจังหวัดปถพี | เหมือนคำที่นายด่านให้การมา |
ซึ่งนับถือฤๅษีผู้วิเศษ | ทรงไตรเพทเวทมนตร์ดลคาถา |
ซากอสุภชุบเป็นเห็นแก่ตา | จึงอุส่าห์นอบน้อมเกลี้ยกล่อมไว้ |
เป็นอาจารย์บ้านเมืองเรืองพระยศ | จะขบถมุลิกานั้นหาไม่ |
กราบทูลความตามจริงทุกสิ่งไป | หวังจะให้เป็นประโยชน์ช่วยโปรดปราน ฯ |
๏ จอมกษัตริย์ตรัสว่าข้านอกเจ้า | ชาติโฉดเฉาชาวทะเลเดรฉาน |
ช่างเชื่อถือฤๅษีพวกชีพาล | มาให้การสรรเสริญจนเกินดี |
ใช้อุบายหมายว่ากูไม่รู้เท่า | จะให้เข้ารีตถือพวกฤๅษี |
อันวิสัยในจังหวัดปถพี | จะชุบชีวีเป็นไม่เห็นใคร |
อันฤๅษีมีแต่พระสยมภุ์ | ตระกูลพรหมวาโหมโรมวิสัย |
รู้ชุบคนสนชีวิตถอดจิตใจ | อายุได้อยู่ยืนนับหมื่นพัน |
นี่แกล้งบอกหลอกเจ้าข้าวนอกหม้อ | กูไม่ขอคบฆ่าให้อาสัญ |
ตระเวนไปให้รอบขอบเขตคัน | อย่าให้มันดูเยี่ยงทั้งเวียงชัย |
ให้ราหูผู้เป็นนายฝ่ายทหาร | จับชาวด่านแดนมหาชลาไหล |
ที่นับถือฤๅษีมีเท่าไร | ฆ่าเสียให้สิ้นเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ มนตรีรับอภิวาทมาบาดหมาย | ตำแหน่งนายเพชฌฆาตอันอาจหาญ |
ถือดาบแดงแซงสลอนนครบาล | เอานายด่านปากน้ำมาจำจอง |
ติดคาคอข้อมือใส่ขื่อเล็ก | สายโซ่เหล็กล่ามรั้งไว้ทั้งสอง |
พวกตรวจตรัดพัศดีเดินตีฆ้อง | สอนให้ร้องโทษทัณฑ์ที่พันพัว |
ใครอย่าดูเยี่ยงข้าคนขบถ | คิดเลี้ยวลดลวงกษัตริย์ให้ตัดหัว |
นายด่านหมายตายแท้สุดแก้ตัว | ถึงนึกกลัวก็ต้องเฉยไม่เวยวาย ฯ |
๏ ฝ่ายมาลามาลัยไพร่ชาวด่าน | เห็นเกินการแก้ไขก็ใจหาย |
ฉีกหนังสือฤๅษีออกคลี่คลาย | ได้แยบคายเข้าไปอยู่แทรกผู้คุม |
บอกอุบายนายด่านเป็นการลับ | นายด่านกลับกล้าใจเหมือนไฟสุม |
เห็นชายหญิงวิ่งพรูมาดูชุม | พอผู้คุมตีฆ้องแกล้งร้องอึง |
เดิมให้หามาเฝ้ากลับเอาโทษ | ไม่มีโจทก์จับจะฆ่าใส่คาขึง |
รู้กระนี้มิมาเป็นข้ามึง | จะดื้อดึงชิงเอาทั้งด้าวแดน |
แม้รบสู้กูจะต่อให้พ่อลูก | จับไปผูกพันธนาตัดขาแขน |
ถึงกูตายฝ่ายลูกจะผูกแค้น | มาทดแทนทารกรรมให้หนำใจ |
จงบอกกล่าวเจ้ามึงให้พึงรู้ | แม้กูสู้หรือน้ำหน้าจะฆ่าได้ |
แม้ฤๅษีตีบ้านด่านวันใด | เจ้าเมืองใหญ่ญาติวงศ์เป็นผงคลี |
ว่าจริงจริงหญิงชายอยู่ภายหลัง | จงเชื่อฟังนับถือพระฤๅษี |
แล้วร้องว่าฆ่าเสียเจียวประเดี๋ยวนี้ | พวกกูมีจะได้มาคอยฆ่ามึง |
พวกผู้คุมรุมตีมิให้ว่า | แกล้งเหวี่ยงคาตบปากแล้วลากขึง |
แต่ชายหญิงวิ่งฮือเสียงอื้ออึง | จนทราบถึงองค์ท้าวเจ้านคร ฯ |
๏ เจ้าพาราวาหุโลมเหงื่อโซมหน้า | มันหยาบช้าแค้นจิตดังพิษศร |
แม้ฆ่าตายฝ่ายอำมาตย์ราษฎร | จะขอดค่อนว่ามันมาแล้วฆ่าฟัน |
จะปล่อยไปให้มันสู้ดูสักพัก | ให้เห็นศักดาเดชทุกเขตขัณฑ์ |
จึงจับมาฆ่าเสียลูกเมียมัน | ให้พร้อมกันกับฤๅษีพวกชีไพร |
ดำริพลางทางหาเข้ามาขู่ | มึงจะสู้ฝีมือกูหรือไฉน |
ยังไม่ฆ่าถ้ากูจะปล่อยไป | กลัวจะไม่ต่อตีจะหนีกู ฯ |
๏ นายด่านเห็นเป็นต่อหัวร่อร่า | ให้เหมือนว่าแต่สักหนจะบนหมู |
อย่าพักเย้ยเลยถ้าปล่อยจงคอยดู | แม้ไม่สู้ภูวไนยมิใช่ชาย |
กลัวแต่พระจะไม่แน่พูดแต่ปาก | หรือจะอยากให้เราริบให้ฉิบหาย |
สิบห้าวันนั้นจะมาฆ่าให้ตาย | แกล้งท้าทายจะให้ถอดรอดชีวี ฯ |
๏ ท้าวเคืองขัดตรัสว่าแม้ฆ่าเสีย | พวกลูกเมียมันจะอพยพหนี |
จะปล่อยไปให้มันสู้จะดูดี | แล้วให้มีธงหนังสือให้ถือไป |
ว่าโปรดให้นายด่านคิดการขบถ | ไม่ห้ามหมดเมืองแขวงตำแหน่งไหน |
จะเข้าด้วยนายด่านประการใด | ให้ตามไปเป็นขบถหมดทั้งนั้น |
แล้วเอาตรามาประทับคำรับสั่ง | อย่ากักขังเข่นฆ่าให้อาสัญ |
แล้วปลดเปลื้องเครื่องพิฆาตราชทัณฑ์ | ธงสำคัญส่งไปให้รีบไคลคลา ฯ |
๏ นายด่านรับจับธงเดินตรงออก | แกล้งโบกบอกหญิงชายทั้งซ้ายขวา |
เราจะไปให้ผู้รู้วิชา | มาเข่นฆ่าโคตรท้าวเจ้าบุรี |
ใครเจ็บแค้นแม้นจะเข้ากับเราด้วย | จงชูช่วยรบพุ่งในกรุงศรี |
จะสิ้นสูญบุญท้าวแล้วคราวนี้ | ใครต่อตีตายเปล่าไม่เข้าการ |
แล้วโบกธงตรงออกนอกเมืองหลวง | คนทั้งปวงรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน |
ฝ่ายมาลามาลัยใจสำราญ | คุมทหารปลอมอยู่ในบูรี ฯ |