- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงครั้นตรู่สุริย์ใส |
ให้เข้าฝั่งไปกระทั่งถึงเวียงชัย | กำปั่นใบแต่ที่มาสักห้าพัน |
คนสำหรับนับแสนแน่นอเนก | ทหารเอกกำกับเป็นทัพขัน |
เข้าทอดท่าหน้าปากน้ำที่สำคัญ | แล้วให้ลั่นปืนใหญ่เอาใบลง |
ทอดสมอรอเรียงเคียงขนาน | ปิดทางด่านกักเรือที่เหลือหลง |
แล้วสั่งพวกเกณฑ์หัดจัตุรงค์ | ให้ยกตรงตีด่านชานบุรี |
บาทหลวงไล่ไพร่พลขึ้นบนป้อม | ทหารล้อมอยู่ด่านชานกรุงศรี |
พวกชาวเมืองขึ้นเชิงเทินเนินบุรี | แล้วให้ตีกลองศึกเสียงครึกโครม |
ประจุปืนน้อยใหญ่ใส่ดินหู | ข้างพวกหมู่ข้าศึกวิ่งฮึกโหม |
ยกค่ายตั้งบังปืนเสียงครื้นโครม | ชาวเมืองโหมโห่พลันให้ลั่นปืน |
พวกข้าศึกฮึกหาญถือขวานหมู | ฟันประตูด่านหน้าไม่ฝ่าฝืน |
ชาวเมืองพุ่งแหลนหลาวทั้งง้าวปืน | ฝรั่งยืนต่อแย้งแทงด้วยตรี |
บ้างล้มตายก่ายกองทั้งสองฝ่าย | จนสุริย์ฉายแสงกล้าในราศี |
บาทหลวงเร่งมังคลาอย่าช้าที | ให้ขึ้นตีเอาชัยให้ได้การ |
แกเร่งรัดจัดไพร่ไล่พหล | ให้เพิ่มคนศักดาที่กล้าหาญ |
แล้วแต่งตัวขึ้นม้าอาชาชาญ | ศิษย์อาจารย์ท้าวภุเกศขึ้นเขตแดน |
ยกพหลพลเภตราสิบห้าหมื่น | ทหารปืนดาบง้าวทั้งหลาวแหลน |
เครื่องอาวุธต่างต่างทั้งดั้งแพน | ยกมาแน่นเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าเจ้าพระยารักษาด่าน | เห็นทหารคึกคักมานักหนา |
จึ่งสั่งพวกม้าใช้ให้ไคลคลา | ไปพารากราบทูลมูลความ |
เหลือกำลังครั้งนี้เห็นหนักแน่น | นับหมื่นแสนผู้คนมากล้นหลาม |
ขอกองทัพรีบมาอย่าช้าความ | ให้เร่งตามลงมาอย่าช้าที |
เหลือกำลังวังชาข้าพเจ้า | จงโปรดเกล้าอย่างประณตบทศรี |
แม้นช้านักเมืองด่านชานบุรี | จะเสียทีข้าศึกเหมือนตรึกตรอง |
พวกม้าใช้รีบไปยังนิเวศน์ | นำเอาเหตุเข้าประมูลทูลฉลอง |
พร้อมเสนาข้าเฝ้าทูลละออง | ทูลสนองเรื่องราวแก่ท้าวไท ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครบวรนาถ | ฟังอำมาตย์ทูลสารแล้วขานไข |
ให้เร่งรัดจัดพลสกลไกร | เราจะไปเมืองด่านชานชลา |
วันนั้นพร้อมเสวกาเจ้าวาโหม | ทูลประโลมขอคำนับรับอาสา |
เชิญพระจอมนครินทร์ปิ่นประชา | อยู่พาราอย่าเพ่อเสร็จเสด็จจร |
ข้าพเจ้าจะไปรับเป็นทัพหน้า | แม้นเหลือบ่าจึงจะแจ้งแห่งอักษร |
มากราบทูลมูลเหตุจึงเสร็จจร | สุดสาครกรุงกษัตริย์จึงตรัสพลัน |
ว่าดูราวาโหมผู้เพื่อนยาก | สู้กรำกรากมาในป่าพนาสัณฑ์ |
เราจะไปรับรบสมทบกัน | ได้ผ่อนผันโดยปัญญาได้หารือ |
พระตรัสสั่งเสนาที่กล้าแข็ง | เร่งจัดแจงกองทัพเคยนับถือ |
เกณฑ์พหลพลศึกเคยฝึกปรือ | มีฝีมือเร่งเอาเข้ากระบวน |
ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขึ้นปรางค์มาศที่ประทมภิรมย์สงวน |
พระนึกถึงความฝันให้รัญจวน | โหรคำนวณทายทิศไม่ผิดเลย |
พระตรัสเรียกเสาวคนธ์วิมลสมร | เป็นการร้อนเต็มทีเจ้าพี่เอ๋ย |
มาเกิดศึกขึ้นนะแม้นละเลย | เขาจะเย้ยเราได้ต้องไคลคลา |
พลางแต่งองค์ทรงเครื่องพิชัยยุทธ์ | เหน็บอาวุธพริ้งพรายทั้งซ้ายขวา |
พระหัตถ์กุมไม้เท้าของเจ้าตา | ทรงมาลาหนังหมีล้วนสีดำ |
ประนมหัตถ์พัทยาเทพารักษ์ | สิทธิศักดิ์จงช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ข้าถือสัตย์วัจนังเหมือนยังคำ | แล้วบริกรรมคาถามหามนต์ |
เสด็จออกข้างหน้าเสนากลาด | ระดาดาษพร้อมพรั่งทั้งพหล |
ครั้นฤกษ์ดีคลี่คลายขยายพล | เดินเกลื่อนกล่นจากเมืองแน่นเนืองไป |
ข้างทัพหน้าวาหุโลมประโคมฆ้อง | เสียงกึกก้องธรณินแผ่นดินไหว |
จัตุรงค์โยธาเสนาใน | ก็ยกไปตามทางกลางบุรินทร์ ฯ |
๏ ป่างพระจอมจักรพงศ์องค์กษัตริย์ | ทรงกัณฐัศว์ม้ามังกรอาวรณ์ถวิล |
ให้คั่งแค้นพวกศัตรูหมู่ไพริน | ไม่รู้สิ้นศึกเสือเหลือระอา |
พลางเร่งทัพขับพหลพลทหาร | เกือบถึงด่านพลางก็ตรึกพระปรึกษา |
แก่เสนาธิบดีผู้ปรีชา | เร่งให้ม้าเร็วไวไปก่อนเรา |
ดูท่าทางกองทัพจะรับสู้ | เปิดประตูข้างข้างริมหว่างเขา |
จะได้ปล่อยพวกพหลพลของเรา | ให้รีบเข้าไปข้างหน้ารักษาทาง |
สุริยงลงลับพยับย่ำ | จะใกล้ค่ำสุริยันพอจันทร์สาง |
ครั้นม้าใช้ไปถึงบ้านที่ย่านกลาง | อันหนทางยังอีกกึ่งตะบึงไป |
พอได้ยินเสียงปืนดังครื้นครั่น | พิลึกลั่นโลกาสุธาไหว |
พลางรีบเร่งตีม้าให้คลาไคล | ครั้นเกือบใกล้เขตแคว้นแดนนคร |
พอม้าใช้ในเมืองวิ่งควบขับ | ตีสำทับออกจากด่านชานสิงขร |
มาปะพวกม้าใช้ในนคร | เป็นการร้อนจะเสียด่านชานบุรี |
แล้วทูลว่าพระองค์ดำรงภพ | ให้สมทบคอยพหลพลกรุงศรี |
แล้วรีบเร่งตีม้าไม่ช้าที | จนถึงที่ทัพใหญ่เข้าไปพลัน |
เข้าทูลองค์พงศ์กษัตริย์ให้จัดทัพ | นายด่านรับกับพหลพลขันธ์ |
เหลือกำลังครั้งนี้ทีสำคัญ | พระทรงธรรม์จงแจ้งแห่งเนื้อความ ฯ |
๏ ป่างกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงสดับ | เร่งให้ขับพวกทหารชาญสนาม |
ไม่รอรั้งตั้งหน้าพยายาม | รีบไปตามม้าใช้ในกลางคืน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงขี่ม้าเข้าฝ่าฝืน |
เร่งพหลพลทหารชำนาญปืน | ทั้งสี่หมื่นให้ประสมระดมกัน |
พาดบันไดไล่คนขึ้นบนป้อม | ทหารพร้อมยิงแย้งด้วยแข็งขัน |
พวกชาวด่านสู้รบหลบไม่ทัน | พัลวันวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาทหลวง | เห็นได้ท่วงทีไล่พวกไพร่หนี |
ฟันประตูกรูกราวเข้าบุรี | สั่งให้ตีกลองสัญญาพลากร |
เมืองด่านแตกแยกย้ายพลัดพรายวุ่น | ชุลมุนอุ้มลูกแบกฟูกหมอน |
บ้างหอบมุ้งรุงรังทั้งที่นอน | แม่ลูกอ่อนวิ่งเบียดกระเดียดเปล |
ทั้งผ้าอ้อมน้อยใหญ่ส่งให้ผัว | แล้วแหกรั้ววิ่งนุงออกยุ่งเก๋ |
พวกป่วยไข้โกโรเดินโซเซ | เที่ยวหันเหหอบรวนทั้งครวญคราง |
ที่เสียตาเมียพาไปแอบรก | เอาเสื่อปกซุ่มซ่อนลงนอนขวาง |
นางเมียหนีไปแต่ตัวเจ้าผัวคราง | มันทิ้งขว้างเสียให้ตายวายชีวา |
พวกฝรั่งยกเข้าตั้งยังเมืองด่าน | แล้วคิดการผูกพยนต์มนต์คาถา |
เอาหญ้าทำรูปคงเป่ามนตรา | ให้ถืออาวุธไว้ใช้เหมือนคน |
ล้อมจนรอบขอบเขตเมืองปากน้ำ | ยืนประจำตามตำแหน่งทุกแห่งหน |
เว้นแต่ไม่พูดจาภาษาคน | เที่ยวเวียนวนเดินรอบขอบกำแพง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายทัพลังกาครั้นมาถึง | เห็นอื้ออึงล้วนทหารชาญกำแหง |
ทั้งฟืนไฟในเมืองรุ่งเรืองแดง | ก็รู้แจ้งว่าเสียด่านชานชลา ฯ |
๏ ป่างพระจอมนัคเรศเกศกษัตริย์ | โองการตรัสสั่งพหลพลอาสา |
ทั้งทัพหน้าทัพหนุนขุนเสนา | แต่บรรดาหมื่นขุนทั้งมุลนาย |
พอรุ่งเช้าเราจะแยกเข้าแหกด่าน | จัดทหารไว้ให้ทันจะผันผาย |
เข้าหักโหมโจมไล่ให้กระจาย | คิดอุบายล่อลวงดูท่วงที |
พระสั่งให้รอราโยธาทัพ | อย่านอนหลับในระวางหว่างวีถี |
ทั้งฟืนไฟจงระงับดับให้ดี | อย่าให้มีแสงสว่างกระจ่างตา |
แต่งผู้คนพลไพร่ไว้ให้พร้อม | จะยกอ้อมชิงแดนให้แน่นหนา |
พอเช้าตรู่กรูกราวเข้าประดา | ชิงพาราเอาให้ได้ดั่งใจปอง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายด่านเมื่อเมืองเสีย | ทั้งลูกเมียวิ่งวนเที่ยวขนของ |
ฝรั่งไล่คลุกคลีหนีลงคลอง | ทั้งเงินทองใส่กระบุงพะรุงพะรัง |
ท่านผู้หญิงห่มมุ้งหิ้วถุงเบี้ย | ทั้งผัวเมียสั่นงกดังตกถัง |
ลงวิ่งฉุยลุยน้ำเหลือกำลัง | กลัวฝรั่งมันจะฆ่าปรึกษาเมีย |
เราขึ้นฝั่งยั้งหยุดแล้วขุดหลุม | เอาหญ้าคลุมซ่อนตัวอย่างตั้วเหีย |
พลางขึ้นฝั่งระวังตัวทั้งผัวเมีย | ค่อยแคะเขี่ยขุดหลุมพอหุ้มตัว |
ลงไปนอนคุดคู้เหมือนหนูพุก | ไม่มีสุขอ่อนเปลี้ยทั้งเมียผัว |
สวดนโมตาแฉะที่แพะกลัว | ทั้งเมียผัวบ่นภาวนาไป ฯ |
๏ จะกล่าวกลับทัพสุดสาครราช | ภาณุมาศรุ่งรางสว่างไข |
ให้ยกพวกหมู่ทหารอันชาญชัย | ทั้งคบไฟโห่ร้องก้องสำเนียง |
ยิงปืนผาหน้าไม้ทั้งใหญ่น้อย | โยธาพลอยโห่ลั่นสนั่นเสียง |
ทั้งทัพหน้าทัพหลังกองข้างเคียง | ระดมเสียงปืนลั่นสนั่นดัง ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงเกณฑ์ไพร่ให้ขึ้นป้อม | ทหารพร้อมโยธาทั้งหน้าหลัง |
ให้ปล่อยปืนครื้นครั่นสนั่นดัง | พวกฝรั่งยืนจ้องช่องเสมา |
หลอมตะกั่วคั่วทรายน้ำมันสาด | คนขยาดล้มตายวายสังขาร์ |
หุ่นพยนต์ยืนแย้งแกว่งสาตรา | จะเข่นฆ่ามันไม่ตายวายชีวี ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงเปรมเกษมศรี |
เห็นพหลพลไพร่นั้นได้ที | เร่งให้ตีกลองรบสมทบพล |
เรียกโยธาห้าหมื่นถือปืนผา | ยิงประดาพร้อมเสร็จดังเม็ดฝน |
ทหารไทยเหลือกำลังประทังทน | ก็แตกย่นย่อยยับอัปรา ฯ |
๏ ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ให้แค้นขัดเคืองจิตพวกมิจฉา |
จึงเอื้อนอรรถตรัสสั่งขุนเสนา | ให้รั้งราพวกพลสกลไกร |
จึงปรึกษาวาโหมผู้เรืองฤทธิ์ | ท่านจะคิดหักหาญสถานไหน |
จะรบราฆ่าฟันไม่บรรลัย | ราวกับได้พรประสิทธิ์พระอิศรา ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาวาโหมประโลมสนอง | ข้าตรึกตรองเห็นจริตผิดนักหนา |
แล้วไม่มีสำเนียงเสียงพูดจา | พวกที่มาล้อมรอบขอบกำแพง |
แล้วไม่เห็นกินอยู่ดูจริต | ข้าเพ่งพิศนึกอางขนางแหนง |
เป็นจนใจหลายอย่างให้คลางแคลง | มิได้แจ้งเหตุผลเป็นจนมัน ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครบวรนาถ | ตรัสประภาษเห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จึงปรึกษาขุนพหลคนสำคัญ | ว่าตัวท่านเล่าก็ดีมีกำลัง |
ทั้งวิชาสามารถเป็นชาติเชื้อ | เปรียบเหมือนเสือรีบไปเหมือนใจหวัง |
สะกดทัพจับคนริมวนวัง | จงกำบังตัวไปให้ได้การ |
จับเอาคนล้อมรอบขอบจังหวัด | เอาเชือกมัดตัวมาที่หน้าฉาน |
ท่านรีบไปในเย็นให้เป็นการ | อย่านิ่งนานศึกเสือจะเหลือมือ |
ความที่ว่าสงสัยเร่งไปสอบ | เอาความชอบไว้สักครั้งอย่างเราถือ |
อาสาเราเจ้าแผ่นดินให้สิ้นมือ | จงไว้ชื่อเถิดสักครั้งจึ่งบังควร ฯ |
๏ ฝ่ายกองหนุนขุนพหลเรียกพลรบ | มาสมทบตามระบอบจะสอบสวน |
ค่อยด้อมมองย่องไปเร่งใคร่ครวญ | ดูกระบวนข้าศึกเร่งตรึกตรอง |
แอบเข้าไปใกล้เคียงฟังเสียงเงียบ | ไม่กรอบเกรียบยืนดูอยู่ทั้งสอง |
แล้วแลเล็งเพ่งพิศผิดทำนอง | จึงทำร้องเป็นนกวิหคบิน |
หุ่นพยนต์นิ่งเฉยไม่เงยแหงน | ทำแต่แขนแกว่งกวักคล้ายปักษิณ |
ก็ถอยทัพกลับมาพ้นธานินทร์ | มาถึงถิ่นที่ประทับแล้วกราบทูล |
ว่าข้าแต่พระองค์ทรงพิภพ | เหมือนปรารภแห่งพระปิ่นบดินทร์สูร |
มิใช่คนจริงจังดังข้าทูล | เห็นเค้ามูลมันก็ผิดจริตคน ฯ |
๏ ป่างพระปิ่นนคราลังกาทวีป | ให้คนรีบเร็วไวไปสิงหล |
เชิญท่านครูผู้วิเศษข้างเวทมนตร์ | ด้วยเป็นคนมาแต่ครั้งรบลังกา |
เป็นศิษย์พระโลกเชษฐ์พระเวทหนัก | ชื่อครูจักราศีดีนักหนา |
เป็นเชื้อพราหมณ์สยามภูรู้วิชา | ได้ตำราของอาจารย์มานานนม |
เอาม้าใช้ไปรับมาดับร้อน | ได้ผันผ่อนเสียเหมือนอย่างป่างประถม |
พวกม้าใช้ได้ฟังกราบบังคม | ก็ควบกลมรีบมายังธานี |
บอกแก่ท่านจักราว่ารับสั่ง | ให้ไปยังกองทัพช่วยขับผี |
ฝ่ายท่านครูรู้แจ้งแห่งคดี | ออกมาที่นอกชานชำนาญมนต์ |
แล้วยกเมฆตามตำรามหาเวท | ก็แจ้งเหตุในมหาโกลาหล |
รู้วิสัยไตรเพทข้างเวทมนตร์ | ผ้าพยนต์เป็นแท้แน่แก่ใจ |
จึงว่ากับม้าใช้ไปเถิดเจ้า | อย่าคอยเราเลยไปแจ้งแถลงไข |
อันตัวเราเล่าไม่ช้าจะคลาไคล | พลางลุกไปที่ในห้องหยิบของดี |
ใส่เข้าปากเดินกลมดังลมพัด | แล้วรีบรัดไปประณตบทศรี |
ไปถึงก่อนมิ่งม้าพวกพาชี | พระภูมีตรัสถามเนื้อความพลัน |
ว่าดูราอาจารย์ตัวท่านนี้ | มาถึงก่อนพาชีดีขยัน |
ช่วยแก้ไขประจามิตรที่ติดพัน | แต่รบกันฆ่าไม่ตายวายชีวา |
ยกไปตีทีไรก็ย่อยยับ | คนตายนับพันหมื่นต้องปืนผา |
เราสงสัยไม่แจ้งแคลงวิญญาณ์ | เชิญท่านมาช่วยกำราบปราบทมิฬ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูจักราปรีชาเฉลย | อย่ารบเลยเหมือนเอาไข่ไปใส่หิน |
มันฆ่าตายเสียเปล่าเปล่าชาวบุรินทร์ | ข้าแจ้งสิ้นมิใช่คนเป็นมนต์มัน |
นี่แหละเรียกผ้าพยนต์ใช่คนผู้ | ใครรบสู้มันก็ฆ่าให้อาสัญ |
อันมนต์เวทวิทยาสารพัน | มันผูกพันฟ่อนหญ้าด้วยอาคม ฯ |
๏ ป่างพระองค์ผู้ดำรงนคเรศ | ครั้นทราบเหตุกับที่เป็นก็เห็นสม |
เชิญท่านแก้วิทยาแลอาคม | ที่เตรียมตรมในอุราประชากร ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูจักราปรีชาฉลาด | จึงทูลบาทบพิตรอดิศร |
ขออาสาไทท้าวเจ้านคร | คิดผันผ่อนแก้พยนต์ด้วยมนตรา |
พระดำรัสตรัสว่าอย่าช้านัก | คิดหาญหักเปลื้องปลิดพวกมิจฉา |
อาจารย์เฒ่าได้สดับรับบัญชา | จึงออกมาตั้งศาลการพลี |
แล้วบวรสรวงเทพไทในไตรจักร | ที่สำนักในลังกาทุกราศี |
แล้วแต่งตั้งสารพัดเครื่องบัดพลี | เข้านั่งที่อ่านเวทวิเศษมนต์ |
เป็นพยุพัดมาในอากาศ | ทั้งฝนสาดเสียงฟ้าโกลาหล |
ทะเลใหญ่เป็นระลอกกระฉอกชล | สุธาดลไหวหวั่นสนั่นดัง |
เป็นน้ำนองก้องกึกพิลึกลั่น | เสียงสนั่นคลื่นระลอกกระฉอกขัง |
เป็นธาราสาชลดั่งวนวัง | ท่วมกระทั่งค่ายคูประตูเมือง |
ชอุ่มชอ่ำคล้ำฟ้าเวหาหาว | ทั้งเดือนดาวอับสีไม่มีเหลือง |
ก็มืดมัวทั่วเขตประเทศเมือง | ไม่รู้เรื่องเกิดหนาวทั้งหาวนอน |
พยนต์หญ้าที่รักษาอยู่ชั้นนอก | คลื่นกระฉอกลอยกลิ้งไปพิงขอน |
ที่ในด่านโงกหงับบ้างหลับนอน | แผ่นดินดอนหวั่นไหวดังไกวเปล ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นผิดประหลาดอนาถนัก | ไม่ประจักษ์ชวนกันเที่ยวหันเห |
ทั้งมืดมนอนธกาลเดินซานเซ | นึกคะเนเห็นจะมีคนดีมา |
ทำไมจักรู้แน่ได้แก้ไข | จุดฟืนไฟก็ไม่ติดผิดนักหนา |
แล้วมืดค่ำสุริยนสนธยา | จะไปมาก็ไม่เห็นเป็นแต่ลม |
แล้วมิหนำซ้ำฝนก็ตกหนัก | จะหาญหักเอาชัยเห็นไม่สม |
จำจะคิดถ่ายเทด้วยเล่ห์ลม | คงจะสมปรารถนาไม่ช้านาน |
แต่วันนี้ฝนฟ้าในอากาศ | ยังไม่ขาดมืดมัวทั่วสถาน |
เป็นจนใจไม่รู้แห่งจะแจ้งการ | แกคิดอ่านทางอุบายไว้หลายกล ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายจักราพฤฒาเฒ่า | จึงก้มเกล้าทูลแถลงแจ้งนุสนธิ์ |
ให้ทหารคนดีที่ชอบกล | ไปลักพยนต์ที่มันล้อมป้อมกำแพง |
มาดูให้เห็นจริงที่กริ่งจิต | ที่มันคิดผูกพันไว้ขันแข็ง |
กำลังฝนมนต์คาถาพระอย่าแคลง | ไม่ต่อแย้งสิ้นเขตสิ้นเวทมนตร์ |
พระจึ่งตรัสเรียกหาเจ้าวาโหม | เมืองวาหุโลมอาสาข้าสักหน |
ไปเอาหญ้าที่เราเห็นเป็นพยนต์ | กำลังมนต์ครูแกแน่ในใจ |
เจ้าวาโหมโสมนัสจัดปีกหาง | บินไปทางอากาศกลาดไสว |
ถลาลงรับรองด้วยว่องไว | พยนต์ไล่ฟาดฟันประจัญบาน |
แต่ต้องเวทของครูสู้ไม่ได้ | ก็บรรลัยล้มวินาศไม่อาจหาญ |
พวกวาโหมหิ้วมาหน้าพระลาน | ทูลพระผ่านนคราเจ้าธานี ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครบวรนาถ | จึ่งประภาษแก่ทหารชาญชัยศรี |
จงรีบไปช่วยกันขนโยนนที | อย่าอึงมี่ไม่ให้รู้ถึงหูมัน |
พวกทหารชาญณรงค์เคยยงยุทธ์ | ก็รีบรุดพลนิกรค่อยผ่อนผัน |
กำลังฝนคนณรงค์คงกระพัน | ก็ช่วยกันรีบไปมิได้กลัว |
ด้วยว่าครูผู้วิเศษแจ้งเหตุผล | รู้ทุกคนหาหนังขึ้นบังหัว |
ถึงฝนตกสักเท่าไรก็ไม่กลัว | จะมืดมัวสักเท่าไรรีบไปพลัน |
ถึงหุ่นมนต์โยนทิ้งเสียจนหมด | แล้วเดินลดเลี้ยวป่าพนาสัณฑ์ |
รีบกลับมาเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | หมดด้วยกันทูลท้าวเจ้าบุรินทร์ ฯ |
๏ ป่างพระสุดสาครอาวรณ์หวัง | จึงตรัสสั่งโดยในพระทัยถวิล |
เวลาเช้าเราจะเข้าตีธานินทร์ | ให้พร้อมสิ้นแต่บรรดาเสนานาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงหาวหนาวใจหาย |
มิได้แจ้งเหตุผลกลอุบาย | แต่นึกหมายว่าคนดีคงมีมา |
แม้นเช้าตรู่สุริยงก็คงรู้ | พิเคราะห์ดูที่ในจิตผิดนักหวา |
มันหนาวเกินฟ้าฝนพ้นตำรา | ทั้งกายาก็เป็นเหน็บเจ็บระบม |
จะคิดแก้แผลไรไฉนหนอ | ก็เป็นข้อจนใจไหนจะสม |
เพราะเกิดความร้าวรานมานานนม | เห็นไม่สมคิดไว้ในใจปอง |
แกนิ่งนึกตรึกตราขึ้นมาได้ | จำจะให้คนเก่าจัดข้าวของ |
ไปให้ทันจะใคร่รู้ดูทำนอง | อันสิ่งของกับหนังสือให้ถือไป |
พลางเขียนสารเสร็จสมอารมณ์นึก | แต่ยังดึกฝนพรำเป็นน้ำไหล |
ถ้าเช้าตรู่สุริโยอโณทัย | จึงจะให้เสนาไปหามัน |
แกจึ่งสั่งคนใช้ให้จัดหา | ทั้งแพรผ้าอย่างยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
อีกพลอยเพชรเม็ดมุกดามีค่าครัน | จะกำนัลอ้ายคนร้ายให้ตายใจ |
แล้วลงนั่งกอดเข่าหนาวสะท้าน | เก็บมุ้งม่านผ้าเสื้อห่มเหื่อไหล |
ตัวยังสั่นเทาเทาหนาวในใจ | ราวกับไข้จับทั่วทุกตัวคน |
ด้วยอำนาจมนต์เวทวิเศษขลัง | บาทหลวงนั่งหนาวเย็นทุกเส้นขน |
ให้เมื่อยเหน็บเจ็บเนื้อเห็นเหลือทน | เล่นเอาจนความคิดดั่งพิษงู |
ยิ่งผิงไฟก็ยิ่งหนาวราวกับยุ | เสียงจุจุพิงหมอนจนอ่อนหู |
จนปัญญาที่จะตรองหาช่องคู | พิเคราะห์ดูก็เห็นผิดคิดอาวรณ์ |
ตั้งแต่ทำกลศึกมาลึกซึ้ง | แกรำพึงคับคั่งดังสิงขร |
มาทับทุ่มในอุราให้อาวรณ์ | แต่จะนอนก็ไม่หลับมันคับใจ |
พวกที่นั่งตั้งกองทุกช่องด่าน | หนาวสะท้านพากันบ่นทนไม่ไหว |
จะไปอยู่สุขเกษมเปรมหัวใจ | ก็ยังไม่สมคิดในจิตปอง |
เพราะอ้ายเฒ่าสังฆราชชาติอังกฤษ | มันช่างคิดพาเจ้าให้เศร้าหมอง |
จนพวกเราหนาวล้นจนขนพอง | เห็นจะต้องหนีมันเป็นมั่นคง |
พลางปรึกษาหารือกันซุบซิบ | หนีให้ลิบเข้าในไพรระหง |
ไปซุกตายเสียข้างหน้าตามป่าดง | แต่คิดสงสารเจ้าเมื่อคราวจน |
แม้นลำพังอ้ายนี่กูมิอยู่ | เป็นสิ้นรู้สารพัดจะขัดสน |
มันพาให้ลำบากแสนยากจน | เห็นเหลือทนเต็มประดายิ่งอาวรณ์ ฯ |
๏ จะกล่าวข้างลังกาอาณาจักร | ก็พร้อมพรักทวยหาญชาญสมร |
ทั้งทัพหลังทัพหน้าแสนยากร | สุริย์จรไขสีรวิวรรณ |
ประจุสมัยเกือบจะได้เวลาฤกษ์ | เอิกเกริกคั่งคับล้วนทัพขัน |
ทั้งครูจักรราศีชุลีคัล | มาพร้อมกันคลายเวทวิเศษมนต์ |
ห้ามมหาวลาหกที่ตกคล้ำ | ให้ขาดน้ำธาราที่ห่าฝน |
ทั้งเมฆตั้งบังแสงพระสุริยน | นภาดลก็สว่างกระจ่างตา |
ที่หนาวเหน็บเจ็บจุกที่ยุคเข็ญ | ค่อยวายเว้นเบาใจไพร่นักหนา |
บาทหลวงค่อยคลายใจในอุรา | เรียกมังคลาสานุศิษย์มาคิดกล |
การอุบายที่จะให้หนังสือสาร | ไปว่าขานตามกระทู้ดูสักหน |
แล้วจะคิดถ่ายเทด้วยเล่ห์กล | ให้มันจนความคิดเหมือนติดกรง |
เขาย่อมว่าข้าศึกแม้นฮึกหาญ | เอาของหวานส่งให้คงใหลหลง |
ถึงสี่ตีนจริงนะหวาอย่าทะนง | คงล้มลงด้วยประสาทจึ่งกวาดครัว |
แม้นสมคิดจะทำให้สมแค้น | จะตอบแทนวงศ์กษัตริย์จับตัดหัว |
ยกไว้แต่แม่เอ็งต้องเกรงกลัว | จะลือชั่วฉาวไปมันไม่ดี |
นอกกว่านั้นจริงหนะหวาฆ่าให้หมด | พวกขบถเอาให้ยับเหมือนสับสี |
จะไว้มันทำไมพวกไพรี | ให้สมที่เคืองแค้นแน่นอุรา |
แล้วเรียกคนใช้ชิดมาคิดอ่าน | เอ็งเอาสารนี้ออกไปไวไวหวา |
กับเครื่องใช้อย่างดีมีราคา | ให้เสนาที่ประจำมันนำไป |
ให้แก่เจ้านคราลังกาทวีป | แล้วเอ็งรีบกลับมาด่านดั่งขานไข |
แม้นมันจะว่าขานประการใด | เอ็งอย่าได้พูดจาเหมือนวาจัง |
ทำไม่รู้ดูแต่คนพลไพร่ | จะมาไปตรึกตราทั้งหน้าหลัง |
แม้นไปถึงพวกศัตรูดูระวัง | อย่าให้พลั้งพลาดไปแก่ไพรี |
พวกม้าใช้ได้สารกับสิ่งของ | โดยทำนองหมายมุ่งไปกรุงศรี |
ออกประตูรีบมาไม่ช้าที | เห็นอึงมี่ผู้คนขนสาตรา |
ทั้งอาวุธน้อยใหญ่นายทหาร | มาประมาณสิบหมื่นพร้อมปืนผา |
ต่างนั่งอยู่เกลื่อนกลาดดาษดา | รีบเข้ามาโดยทำนองแล้วร้องไป |
ว่าดูราพวกพหลพลทหาร | เราถือสารมาจะแจ้งแถลงไข |
กับสิ่งของเครื่องคำนับมารับไป | ถวายไทเจ้าจังหวัดปัถพิน |
ฝ่ายทหารจึ่งว่ากับม้าใช้ | เราจะไปบอกขุนนางอย่างถวิล |
ให้กราบทูลมูลความตามระบิล | เจ้าแผ่นดินโปรดมาจะพาจร |
แล้วรีบไปแจ้งคดีขุนนางใหญ่ | เข้าทูลไทบพิตรอดิศร |
ว่าฝรั่งถือสารการนคร | จะเย็นร้อนราชการสถานใด ฯ |
๏ ป่างพระองค์ผู้ดำรงอาณาเขต | ครั้นทราบเหตุให้พะวงคิดสงสัย |
จึ่งตรัสกับพวกมหาเสนาใน | จงเร่งไปรับมันมาอย่าช้าที |
เราก็รู้มารยาแห่งข้าศึก | แต่ตรองตรึกที่ในการแห่งสารศรี |
ครั้นมิรับมันเข้ามาจะฆ่าตี | ก็เป็นที่น่าชังไม่บังควร |
แล้วจะให้รู้แจ้งที่แห่งเหตุ | โดยสังเกตข้อไรได้ไต่สวน |
ฟังคารมมันดูรู้กระบวน | การที่ควรจะได้ทำเป็นตำรา ฯ |
๏ ขุนนางรับกลับมาถึงม้าใช้ | รับเข้าไปทูลแถลงแห่งเลขา |
พระสั่งให้พวกฝรั่งในลังกา | เอาสาราอ่านถวายเป็นใจความ ฯ |
๏ ว่าหนังสือมังคลานราราช | เป็นหน่อนาถปิ่นลังกาภาษาสยาม |
ด้วยรบกันมั่นหมายเสียดายนาม | ทำสงครามกันมานานชิงบ้านเมือง |
ไม่พอที่พวกอาณาประชาราษฎร์ | มาวินาศรบสู้อ่อนหูเหือง |
เพราะช่วงชิงถิ่นฐานเขตบ้านเมือง | จนขุ่นเคืองเพราะข่มเหงไม่เกรงใจ |
อันลังกาตาลุงบำรุงราษฎร์ | จนถึงมาตุรงค์แจ้งแถลงไข |
เพราะบิดามาดำรงเป็นวงศ์ไทย | เธอก็ไปบรรชิตใช่กิจการ |
ทวีปวังลังกาอาณาเขต | ถิ่นประเทศควรจะได้ในลูกหลาน |
สืบตระกูลเผ่าพงศ์ตามวงศ์วาน | จึ่งควรการโดยเล่ห์ประเพณี |
นี่จะมาครอบครองเอาของเขา | ไม่อายเราผู้เป็นน้องให้หมองศรี |
ริบเอาตามปรารถนาไล่ราวี | เก็บธานีเป็นของตัวทั้งผัวเมีย |
มิใช่พี่ร่วมท้องน้องในไส้ | ดีแก่ใจไว้ตัวอย่างตั้วเหีย |
ให้เจ้าของพลัดพรากจากลูกเมีย | ทำให้เสียวงศ์ญาติขาดตระกูล |
เป็นผู้ใหญ่ในเชื้อนับเนื้อไข | ไม่อายใจตัดญาติให้ขาดสูญ |
นี่เยี่ยงอย่างปางใดในตระกูล | อันเค้ามูลแต่บุราณสถานใด |
จงชี้แจงมาให้แจ้งที่อย่างเยี่ยง | จะได้เลี่ยงหลีกไปหาที่อาศัย |
หรือเวียงวังลังกามาแต่ไร | เป็นของไทยตั้งอยู่แต่บูราณ |
แม้นมิยอมให้เราผู้เจ้าของ | ก็จะต้องรบราเหมือนว่าขาน |
กว่าชีวาข้าจะตายทำลายลาญ | พอจบสารพระก็สั่งให้รั้งรอ |
อย่าเพ่อยกไพร่พหลพลทหาร | จะตอบสารที่มันว่านักหนาหนอ |
เป็นผู้ใหญ่เหมือนหนึ่งก้างมาขวางคอ | ต้องรีรอไว้ให้สิ้นการนินทา |
พระจึ่งสั่งพวกเสมียนให้เขียนตอบ | โดยระบอบการกิจพวกมิจฉา |
พอเสร็จสรรพพับผนิดแล้วปิดตรา | สั่งให้ม้าใช้รับรีบกลับไป ฯ |
๏ จะกล่าวถึงหน่อนาถกับบาทหลวง | ค่อยหายง่วงที่ในจิตคิดสงสัย |
จึ่งชวนพระมังคลาให้คลาไคล | เดินขึ้นไปบนเชิงเทินเนินกำแพง |
เที่ยวตรวจตราผ้าพยนต์ก็หายหมด | แสนสลดนึกอางขนางแหนง |
ประหลาดจิตผิดอย่างให้คลางแคลง | มิได้แจ้งเหตุผลจนปัญญา |
อันคนดีในชมพูมิรู้สิ้น | ประเทศถิ่นอยู่ที่ไหนอย่างไรหวา |
มันชักนำเอามาไว้ในลังกา | แกคิดมาเสียใจกระไรเลย |
ลงกอดเข่าเศร้าจิตคิดวิตก | ระกำอกเต็มประดานิจจาเอ๋ย |
พอม้าใช้กลับหลังมายังเคย | เอาสารเลยส่งให้ดั่งใจจง ฯ |
๏ แกคลี่อ่านสารองค์พงศ์กษัตริย์ | เจ้าจังหวัดในตระกูลประยูรหงส์ |
สุดสาครจอมเจิมเฉลิมวงศ์ | ซึ่งดำรงนครังเกาะลังกา |
มิใช่เราแย่งชิงเอาสิงหล | หรือลักปล้นอาจอิทธิ์ริษยา |
เมื่อแรกเริ่มเดิมเจ้ายังเยาว์มา | อันลังกาก็เป็นสิทธิ์อิศโร |
ก็ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์สุจริต | มาก่อกิจการชั่วยั่วโทโส |
แล้วมิหนำทำการพาลพาโล | จนใหญ่โตน้ำเนื้อก็เหลือทน |
ทั้งเผ่าพงศ์วงศาคณาญาติ | ต้องนิราศว้าเหว่ระเหระหน |
ทวีปวังลังกาประชาชน | ก็ยับย่นเต็มประดาทั้งธานี |
พระมาตุรงค์ปลงการประทานให้ | เราจึ่งได้อยู่บำรุงซึ่งกรุงศรี |
มิใช่อยากว่าขานการบุรี | พระชนนีโปรดเกล้าให้เราครอง |
เมื่ออยากได้ไปเฝ้าเล่าแถลง | ประจักษ์แจ้งแล้วประมูลทูลฉลอง |
อันโภไคยไอศูรย์ยังมูลมอง | เราไม่ต้องการดอกจะบอกความ |
อันกรุงไกรรัตนาของย่าปู่ | ก็มีอยู่นคราภาษาสยาม |
มิใช่เด็กอมมือจะรื้อความ | จะตะกลามอยากได้ปองครองบุรินทร์ |
ไปทูลบาทมาตุรงค์อนงค์นาฏ | เธออนุญาตเหมือนอย่างจิตคิดถวิล |
เชิญมาครองนคราในธานินทร์ | จะได้สิ้นรบพุ่งที่รุงรัง |
แม้นจะทำอย่างนี้ที่จะได้ | สมดั่งใจทุจริตอย่างคิดหวัง |
เราก็ชายถ้าแม้นวายชีวาวัง | ญาติก็ยังมีอยู่หลายผู้คน |
ท่านทั้งปวงล่วงไปเสียหมดสิ้น | นั่นแหละถิ่นแว่นแคว้นแดนสิงหล |
จึงจะได้สมคิดดั่งจิตตน | ที่จะปล้นเอาอย่างนี้เรามิกลัว |
อย่าถือใจว่าจะได้เมืองปากน้ำ | ที่ข้อคำพรรณนาก็น่าหัว |
อย่าได้นึกตรึกตรองว่าของตัว | จะดีชั่วหนหลังเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ครั้นจบสารแกยิ่งแค้นแสนพิโรธ | ใครนับโคตรนับวงศ์ที่ตรงไหน |
ถึงมังคลาร่วมพ่อต่อกันไป | กูมิให้นับญาติเป็นขาดวงศ์ |
หรือออเจ้ามังคลาสานุศิษย์ | จะใคร่คิดใยเยื่อในเชื้อหงส์ |
แต่ตัวกูสู้ตายวายชีวง | ไม่ขอตรงต่อมันดั่งสัญญา |
กับอ้ายพวกชั่วช้าประจามิตร | มันมาคิดล้างญาติศาสนา |
จนเสื่อมสิ้นเชื้อฝรั่งทั้งลังกา | ศาสนาพระยะโฮลงโซเซ |
เพราะแม่มึงเป็นสะพานเหมือนร้านผัก | ให้แฟงฟักขึ้นประสมไว้ถมเถ |
เป็นพืชพันธุ์ปะปนคนเสเพล | มันเกเรเสียแผลเพราะแม่มึง |
เจ้าตัณหาราคาเพราะหน้าด้าน | เอาแต่การโกโรโมโหหึง |
ไปเอาผัวของเขามาเคล้าคลึง | จนท้องปึ่งป่องหยอดเพราะทอดโกลน |
มันทำศึกยังไม่วายกลายเป็นผัว | แม่มึงชั่วเหมือนเช่นเขาเล่นโขน |
จนเกิดมึงมาทุกวันพรรค์อ้ายโจร | ต้องวิ่งโชนบุกป่าจนตาลาย |
กูคิดถึงความหลังแล้วคั่งแค้น | จะตอบแทนเสียให้สมอารมณ์หมาย |
แต่ตกไร้ได้ยากลำบากกาย | แทบจะวายชีวังเสียกลางชล |
บาทหลวงแค้นแหงนชะแง้จะแก้เผ็ด | แกพูดเสร็จมิได้ยั้งสั่งพหล |
จัตุรงค์เสนาพลาพล | ให้เร่งขนอาวุธยุทธนา |
ทั้งปืนใหญ่ในกำปั่นสักพันกระบอก | ปืนปลายหอกนับแสนมาแน่นหนา |
ทั้งเสน่าหลาวโล่โตมรา | เครื่องสาตราต่างต่างล้วนอย่างดี |
แล้วผูกหุ่นนับหมื่นยืนไสว | อยู่ที่ในเมืองด่านชานวิถี |
แล้วปลุกเสกหุ่นมนต์พยนต์ดี | ได้ท่วงทีจะได้รบสมทบกัน |
สั่งปลัดหัสเกนที่เจนจบ | ให้สมทบกำกับเป็นทัพขัน |
ให้ยกจากปากน้ำที่สำคัญ | พลางโห่ลั่นพร้อมทั่วทุกตัวคน |
ยิงปืนใหญ่ได้ฤกษ์ตีกลองศึก | เสียงครั่นครึกโยธาโกลาหล |
อเนกแน่นแสนยาพลาพล | ออกเกลื่อนกล่นยกออกนอกกำแพง ฯ |