- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
๏ ฝ่ายตาเฒ่าสังฆราชพระบาทหลวง | ให้แล่นล่วงเลียบมหาชลาสินธุ์ |
ถึงเมืองไหนให้เข้าอ่าวบุรินทร์ | ประเทศถิ่นแต่บรรดาชายสาคร |
เอาเรื่องราวศาสนาเที่ยวว่ากล่าว | ทุกแดนด้าวขึ้นไปตั้งแต่สั่งสอน |
แต่เกลี้ยกล่อมได้เสร็จเจ็ดนคร | ทำเหมือนก่อนคิดแต่การข้างมารยา |
แม้นเมืองไหนเขาไม่รับไม่นับถือ | แกเขียนชื่อแช่งชักไว้หนักหนา |
ทำเป็นธงปักไว้ชายคงคา | ใครไปมาจะได้ดูให้รู้การ |
แล้วใช้ใบไปทางข้างพายัพ | แกบังคับต้นหนพลทหาร |
ให้แล่นล่องหาในท้องชโลธาร | กำหนดนานตั้งแต่มาถึงห้าปี ฯ |
๏ จะขอกล่าวราวเรื่องเมืองโรมพัฒน์ | เจ้าจังหวัดแขกเทศเชื้อเศรษฐี |
เป็นเมืองใหญ่ในจังหวัดปัถพี | เขามั่งมีมั่งคั่งทั้งนคร |
ทุกประทศเขตขัณฑ์ย่อมครั่นคร้าม | ปรากฏนามโกสัยมไหสร |
มเหสีงามขำล้ำกินนร | นามกรบุษบันกัลยา |
มีบุตรีศรีสำอางดังนางหงส์ | ชื่อบุษบงทรงเทพเลขา |
พึ่งแรกรุ่นผิวผ่องดั่งทองทา | ชันษาได้สิบสี่ปีมะแม |
ท้าวโกสัยบิตุเรศเกศกษัตริย์ | ให้เลือกจัดหญิงสำอางดั่งดวงแข |
เป็นพี่เลี้ยงเคียงคู่คอยดูแล | จัดเอาแต่ลูกผู้ดีมีตระกูล |
ไว้ถนอมกล่อมเกล้าเยาวลักษณ์ | ให้สมรักสมใคร่เจ้าไอศูรย์ |
ให้อยู่ปรางค์สร้างใหม่อันไพบูลย์ | พร้อมประยูรญาติวงศ์ดำรงวัง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงไปดั่งใจหวัง |
อยู่ในท้ายบาหลีมู่ลี่บัง | ชวนกันนั่งดูตำราปรึกษากัน |
คิดจะไปตีลังกาให้ปรากฏ | เฉลิมยศเอาให้ได้ไอศวรรย์ |
เคยเป็นใหญ่ในนิเวศน์ขอบเขตคัน | คนทั้งนั้นเลื่องลือนับถือกู |
มาตกอับยับเยินต้องเหินห่าง | เที่ยวอยู่กลางสาครจนอ่อนหู |
แกนั่งตรึกนอนตรองหาช่องคู | พระเยซูช่วยดำรงให้คงคืน |
จะได้ตั้งศาสนาให้ผาสุก | บรรเทาทุกข์ในอุราไม่ฝ่าฝืน |
จะกำจัดไพรีตีเอาคืน | จับแต่พื้นเผ่าพงศ์วงศ์อภัย |
มาฆ่าเสียมิให้เหลือเอาเนื้อเลือด | มาฉะเชือดทิ้งให้กาไม่ปราศรัย |
ได้สมกับที่มันทำกูช้ำใจ | เอาให้ได้เมืองลังกาเหมือนอาวรณ์ |
เรือก็แล่นมาในทางกลางสมุทร | ไม่ยั้งหยุดเลียบมาข้างหว่างสิงขร |
ลมก็ส่งตรงไปใกล้นคร | เห็นสันดอนโรมพัฒน์สวัสดี |
ฝ่ายต้นหนคนท้ายก็บ่ายเข้า | พอรุ่งเช้าเรียกหากะลาสี |
ได้ซาใบทอดท่าหน้าบุรี | เสียงอึงมี่ทอดสมอลดช่อใบ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายเรือตระเวนเห็นกำปั่น | ก็ชวนกันแล่นมาถามตามสงสัย |
ท่านมาจากเมืองบ้านสถานใด | หรือจะไปค้าขายในบุรินทร์ ฯ |
๏ พวกชวาส่งภาษาบอกให้รู้ | ว่าท่านครูพระฝรั่งหวังถวิล |
ไปเที่ยวสอนศาสนาทุกธานินทร์ | ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฏนาม |
ด้วยเมตตาการุญถึงบุญบาป | ไม่หยามหยาบโฉงเฉงอย่าเกรงขาม |
เที่ยวไปสอนศาสนาพยายาม | เพราะมีความเวทนาในสามัญ ฯ |
๏ เรือตระเวนแจ้งความที่ถามไต่ | ก็รีบไปแจ้งคดีขมีขมัน |
กับนายด่านกรมท่าเสนาพลัน | ว่ากำปั่นพระฝรั่งเมืองลังกา |
ข้าพเจ้าออกไปถามได้ความชัด | มาโปรดสัตว์แสดงเหตุเทศนา |
ให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา | ไม่ปรารถนาเงินทองของผู้ใด |
นายด่านฟังสั่งเสมียนให้เขียนบอก | แล้วคัดลอกความลงไม่สงสัย |
ประทับตราพร้อมกันในทันใด | เรียกมาใช้สั่งกำชับรับไปพลัน |
แล้วรีบรัดอัสดงให้ถอนถีบ | พลางเร่งรีบเข้าไปถึงไอศวรรย์ |
เอาส่งให้กรมท่าเสนาพลัน | บอกสำคัญทูลท้าวเจ้านคร ฯ |
๏ เสนารับเรื่องราวเข้านิเวศน์ | คอยปิ่นเกศจะถวายลายอักษร |
ฝ่ายจอมเจ้านครินทร์ปิ่นนคร | เสด็จจรจากมนเทียรวิเชียรพราย |
ออกพระโรงท่ามกลางขุนนางพร้อม | ประณตน้อมคลี่สารอ่านถวาย |
ให้ทราบเรื่องเบื้องต้นไปจนปลาย | โดยภิปรายพระฝรั่งเมืองลังกา ฯ |
๏ ท้าวโกสัยสุริย์วงศ์ทรงสดับ | จึงตรัสกับเสนีที่ปรึกษา |
เขาลือว่าพวกฝรั่งเมืองลังกา | ใครคบหามันไว้ไม่ได้การ |
แต่จะมายับยั้งก็ชั่งเถิด | อย่าให้เกิดอื้อฉาวจะร้าวฉาน |
มันชาติคนงอแงเหมือนแหพาน | ไม่ต้องการจะให้ยากลำบากคน |
ก็รู้อยู่ว่ามันเบียนเป็นเสี้ยนหนาม | จะคุกคามเล่าก็เห็นไม่เป็นผล |
อันพวกพ้องมันจะมีสักกี่คน | จะมาปล้นเมืองบ้านสถานใด |
เราไม่กลัวฝรั่งสังฆราช | มีอำนาจไกรเกรียงสักเพียงไหน |
คงจะรู้แยบยลในกลไก | จะลงไปฟังดูให้รู้การ |
ท้าวจึงสั่งเสวกาพฤฒามาตย์ | ให้หมายบาดพวกพหลพลทหาร |
ทั้งรถรัดอัสดรกุญชรชาญ | จงเตรียมการไว้แต่เช้าเราจะไป |
สนทนากับฝรั่งสังฆราช | ดูโอกาสกิริยาอัชฌาสัย |
ที่เมืองด่านธารท่าชลาลัย | เสนาในน้อมคำนับรับโองการ ฯ |
๏ ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขึ้นปราสาทรจนามุกดาหาร |
ขุนเสนาทุกตำแหน่งไปแต่งการ | เตรียมทหารถ้วนทั่วทุกตัวคน |
ครั้นเช้าตรู่สุริโยวโรกาส | ก็ยุรยาตรกระบวนบกยกพหล |
จัตุรงค์เสนาพลางพล | ถึงตำบลเมืองด่านชานบุรี |
หยุดประทับพลับพลาที่หน้าป้อม | ขุนนางพร้อมน้อมประณตบทศรี |
บาทหลวงรู้ว่าท่านท้าวเจ้าบุรี | ก็ยินดีออกมารับคำนับพลาง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | จึงถามไต่ผ่อนผัดไม่ขัดขวาง |
ตามประเพณีนครแต่ก่อนปาง | โดยเยี่ยงอย่างทางความตามโบราณ |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าอุบายเหมือนควายเชื่อง | ทำเซื่องเซื่องผันผ่อนพูดอ่อนหวาน |
แต่ใจจิตคิดไม่เว้นจะเล่นงาน | เห็นอาการเขายังตั้งระวังตัว |
แม้นนานไปพลาดท่าเหมือนปลานก | จะคอยฉกให้ถนัดจับตัดหัว |
ถึงจะดีมาอย่างไรกูไม่กลัว | ได้พันพัวเข้าเมื่อไรแล้วไม่ฟัง |
การอุบายหลายอย่างในทางหลอก | ทั้งในนอกคิดไว้เหมือนใจหวัง |
แม้นไม่ดิ้นอยู่กับที่กูมิฟัง | ให้เหมือนตังคิดตัวทั่วนคร ฯ |
๏ แล้วไถลเถ่ถามตามประสงค์ | ซึ่งจำนงในบพิตรอดิศร |
หมายจะพึ่งองค์ท้าวเจ้านคร | พอวายร้อนจึ่งจะลาท่านคลาไคล |
อยู่เวียงวังลังกาอาณาเขต | ก็เกิดเหตุรบกันสนั่นไหว |
อันตัวเราเล่าเป็นพระสละใจ | จึ่งเที่ยวไปพยายามตามสบาย |
ประเทศใดเป็นสุขไม่ทุกข์ร้อน | อาศัยนอนตามจนไม่ขวนขวาย |
แต่พอถือศาสนาพาสบาย | ไม่วุ่นวายป่วยการขี้คร้านฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | จึงถามไต่เรื่องต้นแต่หนหลัง |
บาทหลวงแจ้งเรื่องราวเล่าให้ฟัง | มาแต่ครั้งอุศเรนเจนณรงค์ |
เอาความหลังครั้งนั้นมาเล่าแจ้ง | แกแถลงเรื่องความตามประสงค์ |
จึ่งละถิ่นเที่ยวไปดั่งใจจง | แต่เวียนวงไปมาก็ช้านาน |
จนถึงเมืองท้าวไทเหมือนใจหวัง | ขอยับยั้งพอเป็นสุขทั้งลูกหลาน |
พอสบายใจจิตคิดรำคาญ | ไม่ช้านานก็จะลาท่านคลาไคล ฯ |
๏ ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นพิภพ | ขจรจบอิศโรท้าวโกสัย |
ฟังบาทหลวงเล่าแถลงแจ้งพระทัย | เรื่องที่ในเมืองลังกาเกิดราวี |
เห็นจะเป็นความฉลาดเจ้าบาทหลวง | คิดล่อลวงให้เขารบแล้วหลบหนี |
คงจะเป็นแยบยลคนอัปรีย์ | แล้วไพล่หนีซอกซอนสัญจรมา |
เป็นเที่ยงแท้แน่จิตไม่ผิดนึก | มันยั่วศึกก็เพราะจิตริษยา |
ครั้นจะไล่มิให้อยู่ในพารา | จะเป็นข้าศึกไปในบุรินทร์ |
จึ่งปราศรัยไกล่เกลี่ยเสียให้หาย | อย่าวุ่นวายที่ในจิตคิดถวิล |
เชิญท่านอยู่เถิดหนาอย่าราคิน | ในแผ่นดินโรมพัฒน์สวัสดี |
บาทหลวงตอบขอบคุณการุญรัก | ขอหยุดพักพึ่งพาเป็นราศี |
เพราะท้าวไทกรุณาทั้งปรานี | ก็เป็นที่รักใคร่ใครจะปาน ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้านิเวศน์ประเทศถิ่น | จึงสั่งสิ้นเสวกาโยธาหาญ |
ให้ตกแต่งตึกใหญ่ให้ตระการ | พระอาจารย์จะได้อยู่ช่วยดูแล |
เอาใจใส่อย่าให้ขัดจัดให้พร้อม | ขุนนางน้อมคอยรับสั่งฟังกระแส |
มาจัดแจงที่อยู่คอยดูแล | ตามกระแสรับสั่งไม่รั้งรอ |
ทั้งอาหารหวานคาวดังท้าวสั่ง | ก็แต่งตั้งเอาไปใส่ไว้บนหอ |
ตั้งน้ำฉันใช้มีไว้พอ | กับมดหมอคอยรักษาพยาบาล ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราก็ลากลับ | มาประทับยังปราสาทราชฐาน |
พร้อมสพรั่งทั้งเจ้าจอมหม่อมอยู่งาน | แสนสำราญสุขเกษมเปรมฤทัย ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงค่อยสบายคลายวิตก | เหมือนหยิบยกเขาเขินเนินไศล |
ขึ้นอยู่บนตึกฝรั่งแกตั้งใจ | คิดจะใคร่กำจัดกษัตรา |
จึงเรียกพระมังคลานราราช | มานั่งอาสน์ตรองตรึกแล้วปรึกษา |
กูจะคิดกำจัดกษัตรา | เอาพาราเป็นของเราทั้งข้าวเกลือ |
พวกพหลพลไพร่ในจังหวัด | เราคิดตัดเอาให้ได้ทั้งใต้เหนือ |
รีบไปเอาเงินทองของในเรือ | ทั้งผ้าเสื้อจะได้ให้พวกไพร่พล |
เอาแจกจ่ายให้ปันทุกวันหวัง | ให้พร้อมพรั่งถ้วนทั่วตัวพหล |
แต่อย่าให้สงสัยทั้งไพร่พล | คิดเป็นกลอุบายให้ตายใจ |
แล้วให้คนรีบไปในกำปั่น | ขนแพรพรรณเงินทองสิบสองไห |
แล้วเขียนหนังสือพลันด้วยทันใด | ให้แจกไปกับเหล่าชาวประชา |
กับเชิญท่านขุนนางผู้ใหญ่ด้วย | ว่าเราอวยพรไปให้นักหนา |
เป็นวันใหญ่ในฝรั่งข้างลังกา | ขอเชิญมาเลี้ยงกันเป็นวันดี |
พอเสร็จสรรพประทับตราพระราหู | ให้มีผู้ถือไปในกรุงศรี |
แจกบรรดาไพร่พลพวกมนตรี | เชิญไปที่เมืองด่านชานชลา |
กับทั้งท้าวเจ้ามิ่งมไหสวรรย์ | ด้วยเป็นวันใหญ่ยิ่งจริงนักหนา |
ครั้นแจกทั่วเสร็จสรรพแล้วกลับมา | แจ้งกิจจาบาทหลวงทันท่วงที |
แกจึงให้จัดแจงแต่งข้าวของ | ทั้งเงินทองพลอยเพชรไว้เจ็ดสี |
ทั้งกระบี่ลงยาราชาวดี | หมวกตุ้มปี่อย่างฝรั่งข้างลังกา |
แกจัดไว้จะได้ให้สำหรับยศ | ให้ปรากฏสมมาดปรารถนา |
จะถวายไทท้าวเจ้าพารา | ได้ลือชาเกียรติยศปรากฏไป |
ถึงวันนัดจัดเสร็จสำเร็จนึก | แล้วตรองตรึกเรื่องความตามวิสัย |
ให้ตั้งโต๊ะหวานคาวแต่เช้าไป | เครื่องเป็ดไก่อักโขล้วนโอชา ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราเสนาพร้อม | ก็ห้อมล้อมแห่แหนมาแน่นหนา |
ถึงสถานเขตแคว้นแดนชวา | บาทหลวงมาต้อนรับคำนับพลัน |
แล้วเชิญท้าวเจ้าพารามาบนตึก | เสียงครื้นครึกปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เชิญเสวยเครื่องอานทั้งหวานมัน | ขุนนางนั้นเลี้ยงดูทุกผู้คน |
แล้วถวายสิ่งของล้วนทองเพชร | แจกให้เสร็จถ้วนทั่วตัวพหล |
ทั้งขุนนางพวกไพร่ให้ทุกคน | พวกคนจนเงินผ้าบรรดามี ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | จึงถามไต่เรื่องความตามวิถี |
ท่านเที่ยวไปไกลประเทศเขตบุรี | สักกี่ปีจงแถลงให้แจ้งความ |
บาทหลวงยกเรื่องต้นแต่หนหลัง | เล่าให้ฟังดั่งพระองค์ประสงค์ถาม |
แล้วทูลขออยู่ที่บุรีราม | สักสองสามปีจะลาท่านคลาไคล |
พอยับยั้งสั่งสอนพวกศิษย์หา | แล้วจะลาจากประเทศเขตไศล |
เที่ยวไปตามยมนาคงคาลัย | ตามวิสัยเพศพันธุ์ดั่งสัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้ามิ่งมไหสวรรย์ | ก็ผ่อนผันตามความปรารถนา |
ว่าสุดแท้แต่ท่านไม่ฉันทา | จงตรึกตราตรองความตามสบาย |
อันเมืองด่านธารท่าชลาสินธุ์ | ที่พื้นดินเปล่ามากอยู่หลากหลาย |
จงสร้างสมตึกรามตามสบาย | ที่หาดทรายธารท่าริมสาคร |
เชิญท่านอยู่ให้เป็นสุขสนุกสนาน | ในเมืองด่านชายตลิ่งริมสิงขร |
ท้าวสั่งเสร็จแล้วเสด็จบทจร | กลับนครคืนหลังเข้าวังใน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | กับสังฆราชตรึกตรองด้วยผ่องใส |
คิดสร้างสมตึกรามตามแต่ใจ | ไม่มีใครกีดขวางคิดจ้างคน |
ไปทำที่หน้าด่านสำราญรื่น | ในภูมิพื้นทั่วจังหวัดไม่ขัดสน |
เอาเงินทองแจกอาณาประชาชน | ทั้งก่อขนแล้วเสร็จในเจ็ดเดือน |
ทำกำแพงด้วยศิลาหนาสองศอก | ทางเข้าออกแน่นดีไม่มีเหมือน |
กั้นเป็นขอบรอบเขาตั้งเหย้าเรือน | ดูกล่นเกลื่อนแน่นหนาริมท่าธาร ฯ |
๏ แล้วสำเร็จเสร็จสรรพขึ้นยับยั้ง | เรียกว่าวังชายหาดราชฐาน |
บาทหลวงกับสานุศิษย์ตั้งคิดการ | จะคอยผลาญไทท้าวเจ้าบุรินทร์ |
เอาเงินทองแจกจ่ายสิ้นหลายแสน | ไม่หวงแหนแจกไพร่ดังใจถวิล |
คนรักใคร่ไปมาเป็นอาจิณ | ทั้งตัดสินความเขาเอาแต่จริง |
คนระบือลือชาเห็นปรากฏ | เฉลิมยศลือดีดั่งผีสิง |
ทั้งซื่อตรงคงสัตย์สันทัดจริง | พวกชายหญิงทั่วนครไม่ร้อนรน |
ด้วยอำนาจบาทหลวงแกล่วงรู้ | เปรียบเหมือนผู้ทำนาจะหาผล |
ช่วยตัดสินความอาณาประชาชน | ที่ขัดสนแจกจ่ายทั้งให้ปัน |
คนนับถือลือเลื่องทั้งเปรื่องปราด | ประชาราษฎร์อิ่มเอมเกษมสันต์ |
ทั้งไพร่นายหลายหมื่นพื้นฉกรรจ์ | ก็ผูกพันรักใคร่เป็นไมตรี |
ด้วยเห็นว่าซื่อตรงต่างปลงจิต | เข้าเป็นศิษย์รักใคร่ไม่หน่ายหนี |
กิตติศัพท์ลือไปในบุรี | ทราบถึงที่ไทท้าวเจ้านคร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ขัดพระทัยพวกฝรั่งมาสั่งสอน |
จนผู้คนไพร่ฟ้าประชากร | ทั่วนครฟังข่าวทุกเช้าเย็น |
แม้นนานไปอ้ายนี่จะมียศ | เป็นขบถเหมือนอย่างจิตกูคิดเห็น |
จึงจะต้องดับร้อนให้ผ่อนเย็น | อย่าให้เป็นศึกเสือเหลือรำคาญ |
จึงตรัสสั่งเสนามหาอำมาตย์ | เอ็งไปไล่สังฆราชพวกอาจหาญ |
อย่ามาอยู่แปดปนเป็นคนพาล | ในสถานบ้านช่องเป็นของกู |
แม้นมันพูดดื้อดึงเองจึงกลับ | มาเกณฑ์ทัพออกไปต้อนให้อ่อนหู |
จะขัดขวางอย่างไรออกไปดู | ฟังให้รู้แยบยลอ้ายคนโกง ฯ |
๏ ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์บัลลังก์ที่นั่งโถง |
ขุนเสนารีบออกนอกพระโรง | พอบ่ายโมงไปถึงด่านชานชลา |
เห็นบาทหลวงเดินวนอยู่บนตึก | แล้วจารึกหนังสือปิดบอกศิษย์หา |
ให้เล่าเรียนเขียนอ่านการวิชา | ในตำราอังกฤษไม่ปิดบัง ฯ |
๏ ฝ่ายเสนีที่ออกมาพระยาใช้ | ก็ขึ้นไปบนตึกเหมือนนึกหวัง |
บาทหลวงเชิญให้ไปที่มูลี่บัง | แล้วก็นั่งลงคำนับพลางจับมือ |
จึงปราศรัยไต่ถามตามประสงค์ | ตัวท่านลงมาทำไมไฉนหรือ |
เจ้าแผ่นดินใช้มาให้หารือ | หรือท่านถือรับสั่งมาอย่างไร |
หรือเที่ยวมาหาสู่ขอรู้กิจ | อย่าปกปิดเชิญแจ้งแถลงไข |
หรือขัดข้องต้องประสงค์ที่ตรงใด | จงเล่าไปให้กระจ่างอย่าพรางกัน |
ฝ่ายเสนาข้าทูลละอองบาท | ที่หมายมาดมาแต่ก่อนต้องผ่อนผัน |
ดูแยบคายไม่เห็นจริงทุกสิ่งอัน | ที่เชิงชั้นก็ไม่เห็นเช่นเขาทูล |
แล้วเสแสร้งแกล้งว่าเรามาเยี่ยม | โดยธรรมเนียมรักใคร่มิให้สูญ |
ท่านผู้เรืองเปรื่องปราดชาติตระกูล | จงเพิ่มพูนภิญโญในโลกา ฯ |
๏ บาทหลวงฟังสังรเสริญเจริญยศ | เห็นหมดจดเที่ยงแท้แน่นักหนา |
แล้วก็ดูท่วงทีกิริยา | เห็นจะมาโดยซื่อไม่ดื้อดึง |
แล้วเชิญให้เสนาขึ้นมานั่ง | ที่โต๊ะตั้งเลี้ยงดูแกรู้ถึง |
เสนาใส่เหล้าเข้มพอเต็มตึง | บางหลวงจึงปราศรัยทั้งให้ปัน |
ของต่างต่างอย่างดีมีสำหรับ | พอสมกับเสนีที่ขยัน |
กับทั้งพวกบ่าวไพร่ก็ให้ปัน | คนทั้งนั้นรักใคร่เห็นใจดี ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาเมื่อจะลาบาทหลวงกลับ | ยืนคำนับพูดละเมียดพอเสียดสี |
ว่าตัวท่านจะอยู่ไปตรองให้ดี | แล้วเสนีกลับหลังเข้าวังใน |
ทูลแถลงแจ้งความตามได้เห็น | ที่จะเป็นเหมือนเขาว่าข้าสงสัย |
ไม่เห็นจัดแจงการสถานใด | เห็นแต่ให้สานุศิษย์คิดเล่าเรียน |
ถ้าแม้นเป็นเช่นเขาว่าคงปรากฏ | การขบถมันคงคิดสถิตเสถียร |
แล้วจะคิดส่อเสียดข้างเบียดเบียน | คงจะเพียรฝึกทหารข้างราญรอน |
ทั้งอาวุธสาตราคงหาไว้ | พลไพร่สารพัดจะหัดสอน |
วิสัยจะคิดการข้างราญรอน | คงจะต้อนพวกพลสกลไกร ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นพิภพ | ที่ปรารภค่อยคลายหายสงสัย |
จึงตรัสกับพวกมหาเสนาใน | อย่าไว้ใจพระฝรั่งพวกลังกา |
ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | ขึ้นจากอาสน์แท่นสุวรรณด้วยหรรษา |
เข้าในวังยังที่ศรีไสยา | พร้อมบรรดานางเสนอบำเรอราย |
บ้างขับร้องลองซอประสานเสียง | เพราะสำเนียงบรรเลงเพลงถวาย |
มโหรีขับเรื่อยเฉื่อยสบาย | ท้าวภิปรายปราศรัยในอนงค์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชชาติฝรั่ง | แต่นอนนั่งตรองตรึกนึกประสงค์ |
จะลวงพวกตระกูลประยูรวงศ์ | กับทั้งองค์ไทท้าวเจ้าแผ่นดิน |
จึงร่ายมนต์คาถาทำกาสัก | เป็นรูปยักษ์ขึ้นดั่งจิตคิดถวิล |
ถือเหล็กแดงเหาะไปในบุรินทร์ | ร้องจะกินชาวพารามาแต่ไกล |
ไม่รู้หรือกูคือมหายักษ์ | อยู่สำนักในมหาชลาไหล |
กูเป็นพวกอินทราสุราลัย | ไหนท้าวไทที่เป็นเจ้าชาวนคร |
รีบออกมาหาสู่จะดูหน้า | อย่านิ่งช้าจงมาฟังเราสั่งสอน |
แม้นมิมากูจะเข้าเผานคร | อย่านิ่งนอนกอดเมียจะเสียเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ตกพระทัยเสด็จออกมาเห็นฟ้าเหลือง |
เป็นเปลวไฟพวยพุ่งดูรุ่งเรือง | ทั่วทั้งเมืองแสงกระจ่างดั่งกลางวัน |
เห็นยักษาลอยมาบนอากาศ | ผิดประหลาดไม่รู้ที่ผ่อนผัน |
จึงกล่าวคำร่ำว่าสารพัน | พระองค์สั่นรัวรัวกลัวจะตาย |
แล้วจึงว่าข้าแต่มหายักษ์ | อย่าเพ่อหักหาญไปให้ฉิบหาย |
เป็นเหตุผลต้นเรื่องเคืองระคาย | จงภิปรายให้กระจ่างในทางความ ฯ |
๏ ยักษ์พยนต์มนต์เวทวิเศษขลัง | ขึ้นเสียงดังกู่ก้องแล้วร้องถาม |
รู้หรือไม่ว่าพระองค์ผู้ทรงนาม | เสด็จตามมาแต่ฝั่งข้างลังกา |
ผู้มีบุญพูนสวัสดิ์กษัตริย์ชาติ | มีอำนาจเรืองฤทธิ์ทุกทิศา |
ทรงพระนามธิบดินทร์ปิ่นประชา | พระมังคลาจอมเจิมเฉลิมวงศ์ |
มาอยู่ยังวังใหม่ที่ท้ายด่าน | จงแจ้งการที่ในใจอย่าใหลหลง |
ท่านรีบไปอ่อนน้อมยอมพระองค์ | จะได้คงอยู่ถิ่นบุรินทร์ตัว |
แม้นมิไปในรุ่งวันพรุ่งนี้ | พระศุลีจะให้เรามาเอาหัว |
แล้วแผลงอิทธฤทธิ์ไกรไฟรอบตัว | พระยากลัวขวัญหนีไม่มีใจ |
แล้วรับคำร่ำว่าท่านอย่าวุ่น | ผู้มีบุญแม้นอยู่หนตำบลไหน |
เราจะไปสู่หาเป็นข้าไท | แม้นมิไปเหมือนหนึ่งว่าจึงฆ่าตี ฯ |
๏ ฝ่ายยักษ์ร้ายกลายกลับเป็นเทเวศร์ | สำแดงเดชเหาะไปในวิถี |
ท้าวโกสัยแจ้งความตามคดี | กลับเข้าที่ข้างในศรีไสยา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองคมิ่งมเหสี | เห็นสามีหมองมัวกลัวนักหนา |
นางจึงทูลมูลคดีด้วยปรีชา | พระอย่าปรารมภ์ไปไม่เป็นการ |
ถึงบุญหนักจักทำไมเหมือนไก่แก้ว | เราเอาแร้วดักไว้ในสถาน |
คงติดบ่วงมั่นคงจะลงคลาน | น้องเห็นการคงจะดีไม่มีภัย |
อันบุตรีของเราเล่าก็รุ่น | ผู้มีบุญเห็นจะหลงอย่าสงสัย |
ไปอ่อนน้อมยอมตนพอพ้นภัย | คงจะได้ความสบายหลายประการ ฯ |
๏ ฝ่ายทรงฤทธิ์อิศโรท้าวโกสัย | ฟังอรไททูลแจ้งแถลงสาร |
ค่อยบรรเทาเร่าร้อนผ่อนสำราญ | ด้วยเห็นการจริงสิ้นเธอยินดี |
ควรแล้วน้องตรองความนี้งามนัก | ไม่เสียศักดิ์เสียสง่าเสียราศี |
เขาก็เป็นกษัตราครองธานี | แล้วก็มีบุญมากได้ฝากกาย |
เป็นเขยเราเหมือนเจ้าว่าจะปรากฏ | เฉลิมยศในตระกูลไม่สูญหาย |
พอรุ่งแจ้งแสงตะวันพรรณราย | เราผันผายพาธิดาจากธานี |
ขึ้นรถทองป้องปิดให้มิดเม้น | เหมือนไปเล่นตามกระบวนที่สวนศรี |
แล้วเข้าที่ไสยาในราตรี | พระภูมีกลัวภัยหลายประการ ฯ |
๏ พอรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | พระจากอาสน์รจนามุกดาหาร |
บอกขุนนางทางสั่งพนักงาน | ให้เตรียมการโยธาจะคลาไคล |
ไปเมืองด่านธารท่าชลาสินธุ์ | พระภูมินทร์หม่นหมองไม่ผ่องใส |
แต่จำเป็นจำเสร็จเสด็จไป | แล้วสั่งให้เตรียมรถบทจร |
ครั้นสั่งเสร็จท้าวเสด็จยุรยาตร | ขึ้นปราสาทเนาวรัตน์ประภัสสร |
จึงตรัสเรียกมเหสีมีสุนทร | ว่าดูก่อนอัคเรศเกศสุรางค์ |
เจ้าจงไปพาบุตรีศรีสวัสดิ์ | อย่าให้ขัดเคืองข้องจะหมองหมาง |
ค่อยเล้าโลมโฉมสมรแต่ก่อนปาง | อย่าให้หมางหมองช้ำในน้ำใจ ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มิ่งมเหสี | อัญชลีเข้าในห้องร้องปราศรัย |
เรียกพระนุชบุตรีพิรี้พิไร | แม่มาไปเที่ยวด่านชานชลา ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุษบงอนงค์นาฏ | อภิวาททูลพลันด้วยหรรษา |
อยากจะใคร่ไปเที่ยวชมยมนา | พระมารดาบอกพลางนางสำรวล |
ดีพระทัยที่จะได้ไปเมืองด่าน | ไม่แจ้งการลุ่มหลงทรงพระสรวล |
แล้วกวดเกล้าเมาฬีฉวีนวล | นางชักชวนพี่เลี้ยงเคียงประคอง |
ไม่รู้เรื่องเคืองขุ่นที่วุ่นฉาว | คิดว่าท้าวเธอจะพาไปหาของ |
เก็บกรวดทรายชายน้ำในลำคลอง | นางสนองชนนีด้วยดีใจ |
เสด็จจากแท่นทองห้องสถิต | สำราญจิตชื่นชอบอัชฌาสัย |
ตามเสด็จชนนีด้วยดีใจ | มาเฝ้าไทเทวฤทธิ์พระบิดร ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทเจ้าพาราเห็นหน้าบุตร | ยิ่งแสนสุดโศกเศร้าเท่าสิงขร |
แต่แข็งขืนยุรยาตรลีลาศจร | สะท้อนถอนฤทัยไม่สบาย |
แต่จำเป็นจำไปพระทัยท้าว | ให้โศกเศร้าร้อนอยู่ไม่รู้หาย |
มาทรงรถเรืองศรีมณีพราย | ให้ผันผายจตุรงค์ลงไปพลัน ฯ |
๏ ถึงเมืองด่านชานท่าชลาสินธุ์ | เจ้าบุรินทร์โกสัยไอศวรรย์ |
ให้หยุดยั้งรั้งราโยธาพลัน | พร้อมกำนัลมเหสีบุตรีเธอ |
ลงจากรถบทจรอาวรณ์หวัง | จึ่งยับยั้งให้คนใช้ไปเสนอ |
บาทหลวงรู้อิ่มเอมทั้งเปรมเปรอ | จึงว่าเออเราจะไปเชิญให้มา |
แล้วชวนองค์มังคลานราราช | ลงจากอาสน์พร้อมกันด้วยหรรษา |
ไปต้อนรับองค์ท้าวเจ้าพารา | เชิญขึ้นมาตึกตั้งจึ่งบังควร |
เขาเป็นจอมนครินทร์ปิ่นกษัตริย์ | อย่าให้ขัดเคืองใจค่อยไต่สวน |
ควรจะอ่อนผ่อนใจคิดใคร่ครวญ | ฟังสำนวนจะเป็นการสถานใด |
ก็กลัวฤทธิ์เราแล้วไม่แคล้วดอก | แต่อย่าออกตัวนักมักสงสัย |
ค่อยลูบคลำทำการให้หวานใจ | พลางรีบไปเชิญท้าวเจ้านคร |
บาทหลวงไปถึงคำนับจับพระหัตถ์ | กรุงกษัตริย์อิศโรสโมสร |
เชิญเสด็จเสร็จเข้าในนคร | ขึ้นบรรจถรณ์เรืองอร่ามทั้งสามองค์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | เห็นนุชนาฏชื่นชมสมประสงค์ |
ชำเลืองเนตรสบพระนุชบุษบง | ราวกับองค์นางฟ้าสุราลัย |
แต่เห็นหญิงมาทุกแดนไม่แม้นเหมือน | จนจิตเฟือนแทบจะชิดพิสมัย |
จึงวันทาเจ้าประเทศข้างเพศไทย | ทั้งทรามวัยนางกษัตริย์สวัสดี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ชนนีนาฏ | สอนให้ราชธิดามารศรี |
ถวายบังคมคัลอัญชลี | กษัตริย์ศรีมังคลาปรีชาชาญ |
แล้วว่าฉันทั้งสามตามมาเฝ้า | จะขอเข้าจงรักสมัครสมาน |
เป็นข้าไทของพระองค์เชื้อวงศ์วาน | ทั้งเมืองบ้านก็ถวายดั่งใจปอง ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงแกเห็นนางสำอางพักตร์ | ดูน่ารักล้ำสตรีไม่มีสอง |
ตะลึงเล็งเปล่งปลั่งทั้งนวลละออง | จะหาสองเห็นไม่ได้ในชมพู |
แม้นเราหนุ่มปะเช่นนี้แล้วมิบวช | คงจะกวดเอาให้สิ้นเหมือนดินหู |
นี่มันแก่เกินกาลเจียวหลานกู | เห็นสุดรู้สุดฤทธิ์จะคิดตรอง |
จำจะให้มังคลาสานุศิษย์ | ได้ร่วมชิดเชยชมประสมสอง |
เหมือนยอดเพชรเจ็ดกะรัตคงจัดทอง | ไว้รับรองให้จงได้ไม่เสียงาม ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ให้หวนหวาดเสียวในฤทัยหวาม |
พอสบเนตรกษัตราสง่างาม | ให้มีความเสน่หาทั้งปรานี |
ด้วยเคยคู่สู่สร้างแต่ปางก่อน | สายสมรจึ่งไม่อางขนางหนี |
เผอิญให้ประดิพัทธ์สวัสดี | ทั้งเปรมปรีดิ์ในทำนองทั้งสองรา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ให้หวั่นหวาดที่ในเล่ห์เสน่หา |
พลางขวยเขินเมินพักตร์ไม่พูดจา | ในอุราร้อนเริงดั่งเพลิงรุม ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราจะลากลับ | ให้ทรวงคับมุ่นหมกดั่งตกหลุม |
แล้วจึ่งว่าอกข้านี้ร้อนรุม | เปรียบเหมือนสุมอัคคีไว้สี่กอง |
เชิญพระองค์ไปดำรงอาณาจักร | เป็นที่รักในพระองค์ดำรงสนอง |
ฉันจะได้พึ่งพาฝ่าละออง | ดั่งจิตปองที่ประสงค์จำนงมา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลาปรีชาฉลาด | เห็นสมมาดที่ในเล่ห์เสน่หา |
จึ่งโลมเล้าท้าวไทให้ไคลคลา | ด้วยวาจาเจือจานทั้งหวานมัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ก็ลาไปจากที่ขมีขมัน |
กลับเข้าวังยังประเทศขอบเขตคัน | พร้อมกำนัลเสวกาพลากร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | กับครูบาทหลวงตั้งแต่สั่งสอน |
การวิธีที่จะเข้าเอานคร | อย่าให้ร้อนใจอาณาประชาชน |
คิดเล้าโลมโฉมฉายสายสวาท | ให้นุชนาฏจงรักเป็นภักษ์ผล |
วันนี้บ่ายชายแสงพระสุริยน | จะจรดลเข้าไปหาบิดานาง |
เองพูดจาโอนอ่อนแล้วย้อนขอ | ให้ท้าวพ่อประดิพัทธ์อย่าขัดขวาง |
การข้างหน้ามากมายยังหลายทาง | แม้นได้นางแล้วคงสมอารมณ์เรา |
แล้วสอนเวทวิทยามหาเสน่ห์ | อุปเท่ห์ผูกในน้ำใจเขา |
เองรีบไปในสถานคิดการเรา | เอาแต่บ่าวที่ไว้ใจไปพอควร ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาสานุศิษย์ | สมคิดที่ในเล่ห์พลางเสสรวล |
มาขึ้นรถอย่างฝรั่งตั้งกระบวน | เวลาจวนรีบไปในบุรินทร์ |
ถึงประทับยับยั้งอยู่ข้างนอก | เสนาออกมารับไปดั่งใจถวิล |
แล้วเข้าไปทูลท้าวเจ้าบุรินทร์ | พระภูมินทร์เสด็จมารับประคับประคอง |
เข้าในวังสั่งมิ่งมเหสี | ให้แต่งที่เครื่องกษัตริย์จัดข้าวของ |
ทั้งหวานคาวจัดสรรใส่จานทอง | เอาโต๊ะทองลงยาราชาวดี |
มาเตรียมตั้งยังแท่นสุวรรณรัตน์ | นางกษัตริย์เรียกเหล่านางสาวศรี |
ให้เตรียมคอนปรนนิบัติทั้งพัดวี | แล้วเทพีเสด็จมาชลากลาง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มังคลาราช | อภิวาทนางกษัตริย์ไม่ขัดขวาง |
กับไทท้าวเจ้านครเหมือนก่อนปาง | นึกเสียอย่างว่าเป็นเขยเลยบังคม |
สองกษัตริย์รักใคร่ปราศรัยทัก | ดูน่ารักทั้งจิตสนิทสนม |
ทั้งท่วงทีกิริยาก็น่าชม | เห็นขำคมพริ้งพร้อมละม่อมละไม ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบดินทร์ปิ่นกษัตริย์ | สนองอรรถนางพระยาอัชฌาสัย |
ขอเป็นบุตรสุจริตเหมือนจิตใจ | สนองใต้บาทาฝ่าธุลี ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | เชิญเข้าไปปรางค์ทองละอองศรี |
แล้วเรียกองค์นงนุชพระบุตรี | มาอัญชลีองค์กษัตริย์ขัตติยา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | ให้หวั่นหวาดในจิตกนิษฐา |
แต่ความอายเหลือล้นคณนา | ลุกออกมาจากแท่นแสนรำคาญ |
พอสบเนตรมังคลานราราช | อภิวาทร้อนเริงดั่งเพลิงผลาญ |
ทั้งความรักความอายหลายประการ | เยาวมาลย์นิ่งนั่งฟังสุนทร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | เชิญหน่อไทนฤบาลชาญสมร |
ให้เสวยโภชนาอันถาวร | สั่งบังอรบุษบงนางนงเยาว์ |
ไปตั้งเครื่องพระกระยาสุธาโภชน์ | ด้วยประโยชน์ฝากตัวเพราะกลัวเขา |
เป็นจนจิตคิดความตามสำเนา | แม้นมิเอาน้ำรดไม่หมดเปลว |
ตามกุศลผลบุญของลูกรัก | จะหาญหักแม้นมิลงก็คงเหลว |
ธรรมดาอัคคีย่อมมีเปลว | ถึงจะเหลวไม่มีงานก็ตามที ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | ขึ้นนั่งอาสน์ตรงหน้ามารศรี |
เสวยพลางทางถวิลด้วยยินดี | พระบุตรีปรนนิบัติจัดประจง |
พวกสำหรับขับขานประสานเสียง | ส่งสำเนียงสมตระกูลประยูรหงส์ |
เสวยพลางทางพิศพินิจทรง | หาอนงค์ใดเปรียบไม่เทียบทัน |
แต่ดูนางนารีที่ได้เห็น | ไม่เหมือนเช่นนุชเจ้าสาวสวรรค์ |
จะพิศไหนก็วิไลวิลาวัณย์ | สุดจะกลั้นความรักหนักอุรา |
เสวยพลางทางตะลึงคะนึงโฉม | แทบจะโลมมิ่งมิตรกนิษฐา |
ให้เสียวซาบวาบหวามในวิญญาณ์ | เสน่หาแสนถวิลให้ดิ้นโดย |
ไม่เป็นอันเสวยก็เลยอิ่ม | อุระปิ้มจะทำลายไม่วายโหย |
ลงกอดกรถอนจิตทั้งอิดโรย | ระกำโกยแสนวิตกหนออกเรา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | แจ้งพระทัยในจิตจริตเขา |
จึงกระซิบมเหสีบุตรีเรา | เห็นจะเอาตัวรอดเพราะถอดโกลน |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองคงเป็นสุข | คิดดับยุคดับเข็ญที่เผ่นโผน |
เหมือนเพลิงติดคิดระงับดับด้วยโคลน | จะลุกโชนไปอย่างไรเห็นไม่มี |
คงมอดม้วยอยู่กับถิ่นเพราะสิ้นเชื้อ | ถึงจะเหลือก็คงดับระงับสี |
เจ้าไปเชิญเข้าในห้องทองมณี | ให้สองศรีสมถวิลจินตนา ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ชนนีนาฏ | อภิวาททรงธรรม์ด้วยหรรษา |
ไปเชิญองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา | ให้เข้ามาห้องทองทั้งสององค์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศร์เกศกษัตริย์ | โสมนัสรื่นเริงละเลิงหลง |
กับบิตุเรศชนนีทั้งสี่องค์ | เสด็จทรงเยื้องย่างเข้าปรางค์ทอง |
แล้วมอบมิ่งราชัยไอศวรรย์ | จงช่วยกันครองวังอยู่ทั้งสอง |
ขอมอบให้เป็นสิทธิ์ดั่งจิตปอง | พ่อจงครองนคราให้ถาวร |
ขอฝากนุชบุษบงอนงค์นาฏ | แม้นพลั้งพลาดผิดบ้างช่วยสั่งสอน |
จงชุบเลี้ยงเที่ยงแท้อย่าแง่งอน | พระภูธรโปรดข้าได้ปรานี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มังคลาราช | รับโอวาทท่านท้าวเจ้ากรุงศรี |
จึ่งตอบรสพจนาแล้วพาที | ท่านปรานีแล้วก็คิดเหมือนบิดร |
ถ้าผิดพลั้งครั้งไรจงได้โปรด | ประทานโทษกรุณังช่วยสั่งสอน |
เชิญพระองค์ทรงยั้งยังนคร | เหมือนแต่ก่อนเก่ามาในธานี |
ลูกขอเป็นเกือกทองฉลองบาท | ทั้งสองราชจงบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ถ้าแม้นมีพวกปัจจามายายี | จะต่อตีรับรองฉลองคุณ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมอิศโรท้าวโกสัย | ดีพระทัยชื่นสุดช่วยอุดหนุน |
แล้วชวนองค์นางพระยาเพราะการุญ | พ่อจงคุ้นเคยกันฉันจะลา |
แล้วเยื้องย่างพลางออกมานอกห้อง | กษัตริย์สองผูกพันด้วยหรรษา |
ฝ่ายบุษบงนงคราญเจ้ามารยา | ถอยออกมาเสียให้ห่างเพราะนางอาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศร์เกศกษัตริย์ | กอดกระหวัดพลางประโลมนางโฉมฉาย |
นางพลิกผลักยักเยื้องเคืองระคาย | จึ่งภิปรายกล่าวคำพลางรำพัน |
นี่พระแกล้งจะมาทำให้ช้ำจิต | ดังกรดกริชจะมาฆ่าให้อาสัญ |
จงวางน้องเสียเถิดองค์พระทรงธรรม์ | อย่าให้ฉันอายสุรางค์ในปรางค์ทอง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มังคลาราช | พจนารถตอบไปมิให้หมอง |
พี่รักเจ้าเท่าชีวิตอย่าคิดปอง | ขอเชิญน้องปรานีด้วยพี่ยา |
สู้แล่นล่องมาในท้องมหรณพ | จนมาพบมิ่งมิตรกนิษฐา |
เป็นกุศลดลจิตให้คิดมา | ถึงพาราโรมพัฒน์สวัสดี |
เพราะไทท้าวเทวาชักมาให้ | พี่จึงได้พานพบประสบศรี |
ขอเสียเถิดแก้วตาอย่าราคี | ยุพินพี่ผินมาอย่าจาบัลย์ ฯ |
๏ อันเรื่องราวหญิงชายก็หลายหลาก | จะกล่าวมากไปก็เบื่อเหลือกระสัน |
ขอตัดรอนเรื่องเกี้ยวที่เกี่ยวพัน | แต่อัศจรรย์จะต้องมีเป็นที่ฟัง |
พลางกุมกรช้อนนางขึ้นวางแท่น | ก็เหมือนแม้นทิพรสกำหนดหวัง |
นางป้องปัดร้องว่าดูน่าชัง | พระจะตั้งเคี่ยวเข็ญเหมือนเป็นนาย |
หรือเชื่อฤทธิ์วิทยามาข่มเหง | ไม่กลัวเกรงพระจะริบให้ฉิบหาย |
ขอผัดผ่อนหย่อนตามความสบาย | อย่าให้อายเสนาประชาชน |
พระเชยปรางทางว่านิจจาน้อง | อย่าเคืองข้องตัดรักเด็ดภักษ์ผล |
พลางประคองต้องเต้าเสาวคนธ์ | ดั่งอุบลเผยกลีบรีบจะบาน |
นุชนาฏหวาดหวั่นกระสันเสียว | ทั้งบิดเบี้ยวเบือนไปหลายสถาน |
พระคลึงเคล้าเย้ายวนชวนสำราญ | ฤดีดาลเดือดดิ้นถวิลครวญ |
สนิทแนบแอบเคล้าเสาวรส | ดอกไม้สดต้องระบุพยุหวน |
ระเหยกลิ่นฟุ้งฟูเรณูนวล | พระพายชวนเชยช่อละออออง |
สายสมรผ่อนตามความประสงค์ | ทั้งสององค์เชยชิดสนิทสนอง |
พิรุณโรยโปรยปรายกระจายฟอง | สุนีร้องเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงคำรน |
พยุพยับอับฟ้าเวหาหาว | ทั้งเดือนดาวมืดกลุ้มคลุ้มเวหน |
ทะเลลมยมนาในสาชล | อลวนตีฟองก้องกังวาน |
มัติมิงคล์กลิ้งเกลือกชลาสินธุ์ | ขึ้นโดดดิ้นเล่นระลอกกระฉอกฉาน |
ท้องทะเลเหราทั้งปลาวาฬ | แข่งขนานว่ายวนชลธี |
เขาพระเมรุเอนเอียงเพียงจะคว่ำ | ในเถื่อนถ้ำแสงสว่างกระจ่างสี |
เป็นเปลวเพลิงเริงแรงแสงอัคคี | ราชสีห์โลดโผนโจนทะยาน |
นรสิงห์สิงหนัศฉวัดเฉวียน | เที่ยววนเวียนวิ่งไปในไพรสาณฑ์ |
ทุกประเทศเขตขอบจักรวาล | สะเทือนสะท้านไหวหวั่นสนั่นดง ฯ |
๏ สองภิรมย์สมสวาทในอาสน์รัตน์ | ประดิพัทธ์รักใคร่จนใหลหลง |
ไม่ออกจากแท่นสุวรรณอันบรรจง | ทั้งบุษบงมังคลาก็กว่าเดือน |
นางหลงลืมปลื้มใจไม่ไกลอาสน์ | แสนสวาทรักใคร่ใครจะเหมือน |
พระก็หลงปลงจิตไม่บิดเบือน | เปรียบเหมือนเดือนเด่นหงายสบายใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | แต่นั่งง่วงคอยศิษย์คิดสงสัย |
หรือจะเกิดเหตุการณ์สถานใด | จึ่งหายไปไม่ออกมาเห็นช้านาน |
จำจะขียนหนังสือไปสื่อข่าว | ในเรื่องราวว่าไปหลายสถาน |
ครั้นเสร็จสรรพเรียกคนมาลนลาน | เอาเรื่องสารส่งให้ไปในวัง |
เร่งเอาไปให้มังคลาราช | แกสั่งขาดรีบไปดังใจหวัง |
เป็นการร้อนหนักอยู่กูจะฟัง | เข้าไปยังพาราอย่าช้าที ฯ |
๏ ฝ่ายคนใช้ไปถึงวังสั่งอำมาตย์ | แล้วส่งราชสารให้ในวิถี |
ถวายพระมังคลาอย่าช้าที | จะอยู่นี่คอยฟังรับสั่งความ |
เสวกาข้าทูลละอองบาท | พลางรับราชสารไปแล้วไต่ถาม |
ว่าท่านจะคอยอยู่ให้รู้ความ | หรือจะตามเราไปถึงในวัง |
พวกคนใช้แจ้งความตามนุสนธิ์ | เราใช่คนใช้ชิดสนิทหวัง |
จะคอยท่าท่านอยู่ประตูวัง | ได้รับสั่งก็จะลาท่านคลาไคล ฯ |
๏ เสนารับสารศรีขมีขมัน | สั่งให้ท่านเถ้าแก่ทูลแก้ไข |
หลวงแม่เจ้าท้าวนางพวกข้างใน | รับเข้าไปส่งถวายข้างท้ายปรางค์ ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | รับกระดาษครูไว้ฤทัยหมาง |
แล้วตรัสชวนบุษบงอนงค์นาง | เสด็จเข้าปรางค์คลี่สารออกอ่านพลัน ฯ |
๏ หนังสือกูผู้เป็นสังฆราช | ได้ชี้ขาดสอนสั่งทางสวรรค์ |
มาถึงเอ็งผู้เป็นศิษย์ที่ติดพัน | มาด้วยกันยากแค้นแสนกันดาร |
ก็หวังใจว่าได้เป็นเพื่อนเข็ญ | ที่ร้อนเย็นอยู่กับใจหลายสถาน |
จะมาหลงอยู่กับหญิงแล้วทิ้งการ | นอนสำราญอยู่กับเมียนั่งเคลียคลอ |
หรือจะทิ้งศาสนาข้างฝาหรั่ง | เอ็งจึงตั้งเวียนเฝ้าแต่เข้าหอ |
ที่เจ็บอายหายหมดเมียกดคอ | หรือติดตอต้องขัวเหมือนอย่างลิง |
อันทุกข์สุขยุคเข็ญเป็นไฉน | ช่างกระไรนั่งรอคลอผู้หญิง |
เอ็งจะมาใช้ปากเหมือนทากปลิง | เข้าเกาะนิ่งตามสบายหมายว่างาม |
เร่งออกไปแล้วจะได้คิดแก้แค้น | ไปตอบแทนเสียให้เตียนที่เสี้ยนหนาม |
หรือว่าเอ็งจะไม่ออกเร่งบอกความ | จะอยู่ตามสบายใจเพราะได้เมีย |
สมประโยชน์ร้อยอย่างคือนางแก้ว | มันเลิศแล้วเหลือดีไม่มีเสีย |
ชะเจ้าสังกะตังเกาะหลังเมีย | พลอยกูเสียรางวัลขัดอารมณ์ ฯ |
๏ พอจบเรื่องหนังสือรื้อเป็นทุกข์ | ไม่มีสุขเหมือนหนึ่งเอาภูเขาถม |
ถอนฤทัยเคืองขัดอัดอารมณ์ | ให้เตรียมตรมที่ในอกดั่งตกเลน |
จึงจะต้องเขียนทำเป็นคำตอบ | แต่พอชอบใจชุ่มเหมือนพุ่มเสน |
พลางจำลองลายพระหัตถ์ล้วนจัดเจน | ให้นางเวรนำไปให้ขุนนาง |
แล้วรับสั่งว่าเอาไปให้บาทหลวง | ตามกระทรวงสารพัดไม่ขัดขวาง |
พวกข้างในนำมาศาลากลาง | ฝ่ายขุนนางรับไปดั่งใจปอง |
เรียกคนใช้ไปให้พระฝรั่ง | เล่าให้ฟังเรื่องประมูลทูลฉลอง |
แล้วส่งหนังสือให้เหมือนใจปอง | ตามทำนองเสร็จสรรพแล้วกลับมา ฯ |
๏ ฝ่ายคนใช้ได้หนังสือถืออักษร | ก็รีบร้อนไปพลันด้วยหรรษา |
ตรงเข้าไปในด่านชานชลา | แจ้งกิจจาความหลังที่สั่งพลัน ฯ |
๏ บาทหลวงฉีกสาราออกมาอ่าน | ตามเรื่องสารข้อคดีขมีขมัน |
พระมังคลาสานุศิษย์คิดทุกวัน | แต่นางนั้นป่วยไปไม่สบาย |
ครั้นจะกลับออกมาก็น่าเกลียด | จะเสียเกียรติยศตนต้องขวนขวาย |
ช่วยรักษาพาใจพอให้คลาย | จะยักย้ายออกไปแจ้งแห่งคดี |
อันเรื่องหลังที่ลังกาอาณาจักร | ขอหยุดพักแต่พอเลื่อนเดือนดิถี |
เชิญเจ้าคุณจงแจ้งแห่งคดี | ฤดูนี้ฝนฟ้าน่าคะนึง ฯ |
๏ บาทหลวงฟังหนังสือร้องอือแน่ | มาตอแหลหมายว่ากูรู้ไม่ถึง |
อ้ายนี่หลังทรงเขาเฝ้าเคล้าคลึง | ไปนอนขึงอยู่ด้วยกันเป็นมั่นคง |
แล้วพูดจาว่าเป็นคนปรนนิบัติ | อ้ายนี่ขัดขวางเชิงละเลิงหลง |
อีเมียชักบังเหียนให้เวียนวง | อ้ายนี่หลงเป็นแท้แน่แล้วเอง |
จำจะต้องทำไถลเข้าไปเยี่ยม | ตามธรรมเนียมสงเคราะห์ให้เหมาะเหมง |
จับตอแหลแผลดำดูตามเพลง | อ้ายนักเลงหลงเมียให้เสียที |
แล้วแกเรียกคนใช้เหวยใครอยู่ | พรุ่งนี้กูจะเข้าไปในกรุงศรี |
ไปเฝ้าท้าวเจ้าพาราอย่าช้าที | ตามไปที่ในวังฟังเนื้อความ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | กับนุชนาฏมิได้หมางระคางขาม |
ดังได้ฝานเวียงสวรรค์วิมานงาม | ทุกโมงยามมิได้ห่างนางอนงค์ |
ดังทิพรสจดเจือเหลือจะชื่น | สำราญรื่นเชยชิดพิศวง |
มิได้ร้างห่างนุชบุษนง | ทั้งสององค์เพลิดเพลินเจริญใจ |
สถิตแท่นแว่นฟ้าในปราสาท | ดูผุดผาดเล็งแลดั่งแขไข |
ดั่งสุริยันจันทรอ่อนละไม | ร่วมฤทัยเดียวกันไม่ฉันทา |
พระทรงโฉมโลมเล้าเฝ้าเคล้าเคล้น | ถนอมเฟ้นเหมือนแมงผึ้งคลึงบุปผา |
ไม่รู้จางห่างขวัญกัลยา | พระมังคลาคิดอาวรณ์ร้อนฤทัย |
ถึงถ้อยคำสังฆราชพระบาทหลวง | ให้หงิมง่วงอ่อนอุราแล้วปราศรัย |
กับโฉมนุชบุษบงด้วยจงใจ | เพราะรักใคร่หวังถนอมเป็นจอมเจิม |
จึงว่าแน่นุชเจ้าลำเพาพักตร์ | ขอฝากรักกับอนงค์ช่วยส่งเสริม |
เดี๋ยวนี้ครูจะมาทำทั้งซ้ำเติม | เหมือนกับเหิมโหมไฟให้ไหม้ทรวง |
มีหนังสือตัดพ้อมาต่อว่า | ในอุราหนักเท่าภูเขาหลวง |
พี่ตอบความไปว่าสุดาดวง | เจ้าพุ่มพวงยังเป็นไข้ไม่สบาย |
ก็เห็นว่าจะมาเยือนแม่เพื่อนยาก | พี่กระดากใจอยู่ไม่รู้หาย |
เจ้าจงทำแสร้งเสเพทุบาย | คิดแยบคายเหมือนเป็นไข้มาหลายวัน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงทรงสนอง | น้องขอรองมุลิกาจนอาสัญ |
สุดแท้แต่พระองค์ผู้ทรงธรรม์ | จะผ่อนผันอย่างไรจะได้ตาม |
พระโฉมยงทรงสอนสมรมิ่ง | ไว้ทุกสิ่งแม่อย่าหมางระคางขาม |
ให้เห็นจริงสารพัดตัดเนื้อความ | คงมาตามแม่นแล้วไม่แคล้วเลย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | ให้เหงาง่วงนั่งเอกเขนกเฉย |
ลงตรองตรึกนึกแค้นแต่แหงนเงย | เมื่อไรเลยจะสว่างกระจ่างตา |
จะเข้าไปในนิเวศน์ประเทศถิ่น | แกแสนจินตนาจิตข้างอิจฉา |
นั่งตรอกตรึกนึกเรื่องเมืองลังกา | จนสุริยาส่องแสงแจ้งอัมพร |
จะใคร่ปะมังคลาสานุศิษย์ | มันไปติดเสียในวังไม่ฟังสอน |
ปะผู้หญิงรูปงามมาตามวอน | อันความร้อนที่ในใจมันไม่แล |
ไปหลงอยู่กับผู้หญิงเหมือนปลิงเกาะ | เข้าฉอเลาะเคียงข้างไม่ห่างแห |
จำจะไปให้รู้ได้ดูแล | จะเชือนแชเผลไพล่กูไม่ฟัง |
พลางเรียกเหล่าคนใช้ที่ในตึก | อึกทึกเดินหลามไปตามหลัง |
แกขึ้นรถลายกระหนกกระจกบัง | รีบไปยังกรุงไกรดั่งใจปอง |
ครั้นถึงวังสั่งให้เข้าไปบอก | ยั้งอยู่นอกสั่งให้ไปฉลอง |
เสนารับราชกิจดั่งจิตปอง | ไปสนองท่านข้างในให้ไปทูล ฯ |
๏ ฝ่ายเถ้าแก่รับคดีที่เขาสั่ง | ไปทูลยังหน่อนรินทร์บดินทร์สูร |
พระทรงฟังเสวกาให้อาดูร | อันเค้ามูลแกคงพรากให้จากกัน |
จำจะไปเชิญมาบนปราสาท | ให้นุชนาฏดับร้อนช่วยผ่อนผัน |
เจ้าพูดจาพาทีให้ดีครัน | คงจะผันผ่อนแก้ที่แผลแคลง ฯ |
๏ แล้วสั่งนุชบุษบงเจ้าจงช่วย | แก้พี่ด้วยให้แกสิ้นที่กินแหนง |
อย่าให้สงสัยจิตคิดระแวง | จะเคลือบแคลงจับปดที่คดโกง |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จยูรยาตร | จากปราสาทออกบัลลังก์ที่นั่งโถง |
พร้อมเสนาแน่นนองท้องพระโรง | พอสองโมงเธอก็ออกนอกบุรี |
ตำรวจแห่แลสล้างกลางถนน | ห้ามผู้คนมาในกลางหว่างวิถี |
บาทหลวงเฒ่าเห็นศิษย์คิดยินดี | ว่าครั้งนี้สมคะเนทั้งเล่ห์กล |
เห็นจะได้ไปลังกาปราบข้าศึก | คงสมนึกที่จะชิงเอาสิงหล |
แต่อ้ายนี่มันจะหลงพะวงวน | ด้วยเป็นคนรักใคร่ที่ในเมีย |
จำจะต้องขู่เข็ญให้เห็นทุกข์ | มันได้สุขแล้วเฉยละเลยเสีย |
อย่าให้จิตมันพะวงไปหลงเมีย | พรากกันเสียให้มันจนแต่ต้นมือ ฯ |
๏ พอมังคลามาคำนับแกจับหัตถ์ | แล้วพูดตัดโดยความตามหนังสือ |
ว่าตัวเอ็งชั่วช้าไม่หารือ | มานิ่งดื้ออยู่กับหญิงทิ้งอาจารย์ |
อยู่สนุกแต่ผู้เดียวไม่เหลียวหลัง | ให้กูตั้งคอยท่าไม่ว่าขาน |
หรือเห็นดีเป็นไฉนจงให้การ | มาอยู่นานจนต้องตามถึงสามเดือน |
หรือไม่คิดที่จะไปอย่างไรหวา | ช่างชั่วช้าเหลือใจใครจะเหมือน |
หรือพบหญิงจริงหวานัยน์ตาเฟือน | พลอยให้เพื่อนกันนั่งตั้งแต่คอย ฯ |
๏ พระมังคลาว่าจริงทุกสิ่งสิ้น | ได้อยู่กินเชยชิดเพราะติดสอย |
ด้วยว่าเรามาพักเหมือนหลักลอย | ได้ติดสอยเจ้าคุณกรุณา |
เดี๋ยวนี้นางจับไข้ไม่เป็นสุข | ประเดี๋ยวจุกประเดี๋ยวชักต้องรักษา |
ครั้นจะทอดทิ้งไว้ไม่นำพา | ดูก็น่าเกลียดจ้านรำคาญจริง |
แล้วมาอยู่ใหม่ใหม่จะไปเสีย | ด้วยเป็นเมียละไว้น้ำใจหญิง |
จะดิ้นโดยโหยไห้ใจประวิง | ว่าทอดทิ้งเสียได้ไม่อินัง |
ขอเชิญท่านเข้าไปในจังหวัด | ช่วยเป่าปัดโรคภัยเหมือนใจหวัง |
แล้วจะได้ชมเขตนิเวศน์วัง | เชิญไปยังปรางค์ปราให้ถาวร |
บาทหลวงยิ้มอิ่มใจไปสิหวา | เองจงพาไปพบสบสมร |
ครั้นพูดจาพากันไปในนคร | บทจรรีบไปในมนเทียร |
บาทหลวงเดินตามไปในจังหวัด | ดูเขาจัดแจงไว้ล้วนลายเขียน |
ทั้งเพลิดเพลินเดินตรงไม่วงเวียน | ขึ้นมนเทียรนั่งบนแท่นแสนสบาย |
เขาจัดแจงแต่งโต๊ะไว้คอยรับ | เป็นคำนับอย่างฝรั่งตั้งถวาย |
บาทหลวงคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย | แกมุ่งหมายแต่จะทำเอาตามใจ ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | เชิญให้บาทหลวงไปห้องอันผ่องใส |
ให้นั่งแท่นเรืองรองทองประไพ | แล้วเรียกให้บุษบงอนงค์นาง |
มาคำนับสังฆราชพระบาทหลวง | ฝ่ายพุ่มพวงนุชน้องให้หมองหมาง |
ทำอิดโรยโหยหวนแล้วครวญคราง | ค่อยค่อยย่างมาคำนับรับอาจารย์ ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงไม่ชำนาญในการหญิง | คิดว่าจริงแกจึ่งว่าน่าสงสาร |
แล้วว่ากับมังคลาปรีชาชาญ | พยาบาลเสียให้หายวายอาวรณ์ |
แล้วแกบอกหยูกยาข้างฝาหรั่ง | เองจงตั้งใจดูเหมือนกูสอน |
รีบรักษาเสียให้หายวายอาวรณ์ | ที่การร้อนจะได้ไปดังใจจง |
อันเจ็บไข้ถึงจะไปก็เป็นห่วง | มันหนักทรวงหนักใจมักใหลหลง |
แต่ก่อนกูมิได้รู้ว่าโฉมยง | บุษบงเจ็บมากวิบากจริง |
เป็นคราวเคราะห์มาจำเพาะประจวบแท้ | เองเร่งแก้เสียให้หายสวายสวิง |
จะได้ยึดเขาเป็นหลักพอพักพิง | อย่านอนนิ่งรีบรักษาพยาบาล ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | ได้โอกาสปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
แล้วเชิญสังฆราชาผู้อาจารย์ | มารับประทานโต๊ะตั้งล้วนอย่างดี ฯ |
๏ บาทหลวงนั่งยังที่เก้าอี้อาสน์ | กับนุชนาฏปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
พวกกล่อมขับจับไม้มโหรี | ประสานสีซอเสียงสำเนียงครวญ |
บาทหลวงฟังนั่งรินกินบาหรั่น | พลางพูดกันอิ่มเอมเกษมสรวล |
จนเวลาสายัณห์ตะวันจวน | ก็รีบด่วนกลับไปด่านชานชลา ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมมังคลานราราช | กับนุชนาฏร่วมจิตกนิษฐา |
พอบาทหลวงออกไปไกลพารา | ก็เปรมปราเริงรื่นชื่นอารมณ์ |
ลงตรองตรึกนึกไปเหมือนไม้โกร๋น | สิ้นรากโคนเกือบจะหมดที่รสขม |
ไปรบรับกับเขาราวกับลม | พัดเรือจมบ่อยบ่อยตั้งร้อยพัน |
ไม่ต้องการที่จะไปให้ลำบาก | เป็นสิ้นอยากที่จะไปไอศวรรย์ |
แต่อาจารย์แกยังคิดจะติดพัน | ไม่เว้นวันตรึกตรองหาช่องคู |
พระตรัสกับโฉมยงอนงค์นาฏ | ท่านสังฆราชสั่งสอนจนอ่อนหู |
แทบจะตายหลายครั้งเพราะฟังครู | เห็นสุดรู้สุดฤทธิ์จะคิดตรอง |
ทั้งพ่อแม่โกรธขึ้งจึงต้องเที่ยว | สันโดษเดี่ยวทุกข์ทนต้องหม่นหมอง |
แต่จนใจไม่รู้ที่จะปรองดอง | เล่าให้น้องนุชฟังแต่หลังมา |
อันตัวพี่นี้ไม่อยากจะจากเจ้า | โฉมเฉลาเยาวยอดเสน่หา |
พลางประคองต้องเต้าเต็มอุรา | นางพูดจาทูลฉลองทำนองใน |
พระโปรดเกล้าคราวนี้เป็นที่ยิ่ง | น้องเห็นจริงไม่พะวงซึ่งสงสัย |
ขอสนองมุลิกาเป็นข้าไท | พระไปไหนน้องขอตามยามกันดาร |
ให้ใช้สอยคอยรับสั่งฟังกระแส | สุดแท้แต่จะรับสั่งดั่งบรรหาร |
ตามแต่ภูวไนยจะใช้การ | ไม่เกียจคร้านบิดเบือนไม่เชือนแช ฯ |
๏ พระกุมกรช้อนมิตรสถิตอาสน์ | แสนสวาทนุชนางไม่ห่างแห |
ดั่งทิพรสในสวรรค์ไม่ผันแปร | มาเผื่อแผ่ซาบซ่านทั้งหวานมัน |
สุมาลีคลี่คลายขยายเสา | วรสเร้าหอมหวนชวนกระสัน |
สนอมสนิทติดต้องของสำคัญ | ดั่งเจือจันทน์รสรื่นยิ่งชื่นเชย |
ภุมรินบินเฝ้าเคล้าเกสร | ละอองอ่อนเรณูฟูระเหย |
พระพายป่วนหวนประทิ่นกลิ่นรำเพย | ตระกองเกยรับขวัญให้บรรทม ฯ |