๑. ตอนก่อนรับราชการ

พระสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญว่า “สุนทรภู่” นั้น เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาเช้า ๒ โมง (ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙) มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ ได้ผูกดวงชาตาของสุนทรภู่ไว้ดังนี้

ดวงชาตาท่านสุนทรภู่


จะต้องอธิบายความนอกเรื่องประวัติ เผื่อผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องดวงชาตาแทรกลงตรงนี้ก่อน อันการทำดวงชาตานั้น คือจัดจำจักรราศีที่สถิตของดวงอาทิตย์ และดาวพระเคราะห์ ต่าง ๆ ในขณะเวลาเกิดเป็นวิธีมีมาเก่าแก่แต่ดึกดำบรรพ์[๑] ดวงชาตามีที่ใช้ในกิจการหลายอย่าง คือ อย่างหนึ่ง ถ้าจะกำหนดเวลาฤกษ์ยามทำการให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ใด โหรย่อมเอาดวงชาตาของผู้นั้นมาสอบสวนเลือกเวลาอันพระเคราะห์โคจรสู่จักรราศี ซึ่งต้องตำราว่าเป็นสิริมงคลแก่ชาตาของผู้นั้น กำหนดเป็นเวลามงคลฤกษ์ เป็นต้นว่าฤกษ์ยกกองทัพก็ต้องหาเวลาที่เป็นสิริแก่แม่ทัพ ฤกษ์ปลูกเรือนก็ต้องหาเวลาที่เป็นสิริแก่เจ้าของเรือน ฤกษ์โกนจุกก็ต้องหาเวลาให้เป็นสิริแก่เด็กที่จะโกนจุก ฉะนี้เป็นตัวอย่าง อีกอย่างหนึ่งดวงชาตามีที่ใช้ในการพยากรณ์ดีร้ายอันจะพึงมีแก่ตัวบุคคล เพราะเชื่อถือกันมาว่า เมื่อพระเคราะห์โคจรเข้าสู่จักรราศีเช่นนั้น ๆ มักเกิดความดีหรือความชั่วแก่ผู้มีชาตาเช่นนั้นๆ เป็นต้นว่า พระเคราะห์ราหูเข้าสู่ราศีอันเป็นลัคนาของผู้ใด ว่าผู้นั้นมักจะไม่มีความสุขจนกว่าพระเคราะห์ราหูจะพ้นจักรราศีนั้นไป ดังนี้เป็นตัวอย่าง อาศัยความเชื่อในข้อนี้ จึงมีวิธีขับสอบดวงชาตาหาความรู้ว่าเคราะห์ดีและเคราะห์ร้ายประการใด ยังมีความเชื่อถือกันมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่งว่า ดวงชาตาของผู้ใดอาจจะส่อให้รู้ได้ว่า บุคคลผู้นั้นจะดีหรือชั่ว และที่สุดจะมีอายุยืนหรืออายุสั้น ความเชื่ออย่างที่ว่านี้เกิดแต่เอาดวงชาตาของผู้ที่มีเรื่องประวัติอันปรากฏว่าเป็นคนดีหรือคนชั่วในอดีตกาล มาเป็นหลักสำหรับเทียบเคียง[๒] กับดวงชาตาที่จะพยากรณ์ ถ้าเห็นคล้ายคลึงกับดวงชาตาตัวอย่างข้างฝ่ายคนดี ก็พยากรณ์ว่าจะดี ถ้าไปคล้ายคลึงกับดวงชาตาของข้างฝ่ายพวกชั่ว ก็พยากรณ์ว่าจะชั่วเป็นเค้าความ ผู้ที่นิยมพยากรณ์อย่างว่านี้ เมื่อเห็นใครเป็นคนทรงคุณหรือให้โทษอย่างวิสามัญ มักสืบวันและเวลาเกิดของผู้นั้น ผูกดวงชาตาลงตำราไว้เป็นตัวอย่าง ลำหรับใช้เปรียบเทียบในการพยากรณ์ ดวงชาตาของบุคคลต่าง ๆ ทั้งข้างดี และข้างชั่วจึงมีอยู่ในตำรา[๓]เป็นอันมาก และมักมีคำจดบอกไว้ว่า เป็นผู้มีคุณหรือมีโทษอย่างนั้น ๆ ด้วย

ที่ดวงชาตาของสุนทรภู่มีอยู่ในตำราดวงชาตานั้น คงเป็นเพราะผู้พยากรณ์แต่ก่อนเห็นว่า สุนทรภู่ทรงคุณสมบัติในกระบวนแต่งกลอนเป็นอย่างวิเศษ นับว่าเป็นวิสามัญบุรุษผู้หนึ่ง แต่จดจำคำอธิบายแถมไว้ข้างใต้ดวงชาตาว่า “สุนทรภู่อาลักษณ์ขี้เมา” ดังนี้ด้วย หมายความว่า เป็นผู้ทรงทั้งความดีและความชั่วระคนปนกัน. อันเป็นความจริงตามเรื่องประวัติของสุนทรภู่

สกุลวงศ์ของสุนทรภู่ บิดามารดาจะชื่อใดไม่ปรากฏ ๆ แต่ว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ[๔] ในเขตอำเภอเมืองแกลง แขวงจังหวัดระยอง ฝ่ายมารดาเป็นชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วได้ ๔ ปี แล้วบิดากับมารดาหย่ากัน บิดากลับออกไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง ฝายมารดาได้สามีใหม่มีลูกหญิงอีก ๒ คน ชื่อฉิมคนหนึ่ง ชื่อนิ่มคนหนึ่ง แล้วได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าจงกล) เพราะฉะนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก

การศึกษาของสุนทรภู่ ความที่กล่าวในนิราศเมืองสุพรรณ มีเป็นเค้าเงื่อนดูเหมือนจะได้เล่าเรียนในสำนักวัดชีปะขาว[๕] (ซึ่งพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๔ ว่า วัดศรีสุดาราม) ที่ริมคลองบางกอกน้อย รู้หนังสือทำการเสมียนได้ ได้เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน แต่อุปนิสัยไม่ชอบทำการงานอย่างอื่น นอกจากแต่งบทกลอน สันทัดถึงบอกดอกสร้อยสักวาได้แต่รุ่นหนุ่ม แล้วกลับมาอยู่ที่พระราชวังหลังอย่างเดิม เห็นจะเป็นเพราะที่เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนนั่นเอง ชวนให้คะนองจนทำความเกิดขึ้น ด้วยไปลอบลักรักใคร่กับผู้หญิงข้างในคนหนึ่งชื่อจัน ถูกกริ้วต้องเวรจำทั้งชายหญิง แต่เวลานั้น กรมพระราชวังหลังใกล้จะทิวงคตอยู่แล้ว ติดเวรจำอยู่ไม่ช้านัก ทำนองจะพ้นโทษเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตใน พ.ศ. ๒๓๔๙ สุนทรภู่จึงออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลงซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่เมื่อไปคราวนี้[๖]

พิเคราะห์เรื่องราวที่ปรากฏในนิราศ ประกอบกับศักราชปีเกิดของสุนทรภู่ ดูเหมือนเมื่อแต่งนิราศเมืองแกลงอายุจะราวสัก ๒๑ ปี กล่าวในนิราศว่า มีศิษย์ติดตามไปด้วย ๒ คน ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ในเวลานั้นสุนทรภู่ทำนองจะมีชื่อเสียงในการแต่งบทกลอนอยู่แล้วจึงมีผู้ฝากตัวเป็นศิษย์ น่าจะมีหนังสือเรื่องอื่นที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ก่อนนิราศเมืองแกลง ลองพิเคราะห์ดูหนังสือกลอนของสุนทรภู่ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ เห็นมีเค้าเงื่อนในทางสำนวนว่าจะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลง แต่เรื่องโคบุตรเรื่องเดียว มีคำขึ้นต้นว่า

“ แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมตกันสืบมา ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง จึงสำแดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน”

ดังนี้ สำนวนดูเหมือนจะแต่งถวายเจ้าวังหลังองค์ใดองค์หนึ่งเป็นหนังสือ ๘ เล่ม สมุดไทย จะแต่งในคราวเดียวกันทั้งนั้นหรือแต่งเป็นหลายครั้งหลายคราว ข้อนี้ทราบไม่ได้ ๆ แต่ว่าแต่งค้างอยู่ไม่หมดเรื่อง กลอนเรื่องอื่นของสุนทรภู่ดูสำนวนเป็นชั้นหลังเรื่องโคบุตรทั้งนั้น

สุนทรภู่ไปเมืองแกลงคราวนั้น ออกจากกรุงเทพฯ ในเดือน ๗ ไปเรือประทุน ศิษย์แจวไป ๒ คน กับมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางช่วยแจวอีกคนหนึ่ง ไปทางคลองสำโรงและคลองศีรษะจระเข้ ออกปากน้ำบางมังกง[๗]ไปขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี แล้วเดินบกต่อไป

ความในนิราศตอนไปในคลอง สุนทรภู่อธิบายคำเก่าไว้แห่งหนึ่งว่า

“คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง เขาว่าลิงจองหองมันพองขน”

คำนี้เองเป็นมูลที่ด่ากันว่า “จองหองพองขน” คือเปรียบเอาลงเป็นลิง ยังหาเคยพบใครอธิบายไว้ในที่อื่นไม่

เมื่อสุนทรภู่ลงไปถึงเมืองระยอง คนขี้ยาที่ทำหน้าที่นำทางไปถึงบ้านก็หลบเสีย แต่นั้นสุนทรภู่ต้องพยายามถามหนทางตามพวกชาวบ้าน เดินต่อไปจนถึงวัดที่บิดาบวช อยู่ ณ เมืองแกลง กล่าวในนิราศว่า เวลานั้นบิดาบวชมาได้ ๒๐ พรรษา ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าบิดา8กับมารดาเห็นจะพรากกันตั้งแต่สุนทรภู่ยังเป็นเด็กเล็กทีเดียว และน้องสาว ๒ คนนั้นต่างบิดากับสุนทรภู่ ในนิราศกล่าวความอีกข้อหนึ่งว่า บิดาที่บวชอยู่ “เป็นฐานานุประเทศอธิบดี จอมกษัตริย์โปรดปรานประทานนาม เจ้าอารามอรัญธรรมรังสี” ดังนี้ สันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นฐานานุกรมของพระครูธรรมรังสี เจ้าคณะเมืองแกลง มิใช่ได้เป็นตำแหน่งพระครูเอง[๘] ที่สุนทรภู่ออกไปหาบิดาบางทีจะคิดออกไปบวช ด้วยเวลานั้นอายุครบอุปสมบท และจะล้างอัปมงคลที่ต้องถูกจำจองด้วยก็เป็นได้ แต่หาได้บวชไม่เพราะไปอยู่ได้หน่อยหนึ่งก็ป่วยเป็นไข้ป่า อาการแทบถึงประดาตาย รักษาพยาบาลกันอยู่กว่าเดือนจึงหาย พอหายก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือน ๙ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปถึงเมืองแกลงคราวนั้นราว ๓ เดือน

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ เมื่อกลับจากเมืองแกลงแล้วมีอยู่ในเรื่องนิราศพระบาทว่า มาเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสพระองค์น้อยของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดระฆัง[๙] แต่ตัวสุนทรภู่อยู่ที่พระราชวังหลังและได้หญิงชื่อจันที่เคยเกิดความนั้นเป็นภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง จะยกประทาน ด้วยปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่าเมื่อสุนทรภู่มีบุตร เจ้าครอกข้างในรับเข้าไปทรงเลี้ยงดู แต่เมื่อได้นางจันเป็นภรรยาแล้ว อยู่ด้วยกันเป็นปรกติไม่เท่าใดเห็นจะเป็นเพราะสุนทรภู่จับเป็นคนขี้เมาในตอนนี้ ถึงปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๕๐) ภรรยาก็โกรธ สุนทรภู่ได้แสดงความไว้ข้างต้นนิราศพระบาทว่า

“ แสนอาลัยใจหายไม่วายห่วง  
ดังศรศักดิ์ปักซ้ำระกำทรวง เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่ แต่เดือนยี่จนย่างเจ้าเดือนสาม
จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร ไปมัสการรอยบาทพระศาสดา” ดังนี้

เมื่อสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระพุทธบาท คราวที่แต่งนิราศ ไม่ได้ลงเรือลำทรง อาศัยไปในเรือมหาดเล็กที่ตามเสด็จ ต้องพายเรือไปเอง กล่าวความอันนี้ไว้ในนิราศเมื่อถึงท่าเรือว่า

“พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขา ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี
ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี แต่โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย
อุระเรียมเกรียมกรมอารมณ์ร้อน ระอาอ่อนอกใจมิใคร่หาย
แลตลิ่งวังหน้านัยน์ตาพราย หัวไหล่ตายตึงยอกตลอดตัว”

ครั้นขึ้นเดินบก จะเป็นด้วยสุนทรภู่ไปเมาเหล้าหรืออย่างไร ถูกเขาแกล้งให้ขึ้นขี่คอช้างตัวบ่มมันที่ต้องให้นำไปข้างหน้า กล่าวไว้ในนิราศว่า

“ทั้งสองข้างท่านวางล้วนช้างดั้ง ระยะหลังมหาดเล็กนั้นเหลือหลาย
แต่ตัวพี่นี้จำเพาะเป็นเคราะห์ร้าย ต้องขึ้นพลายนำทางช้างน้ำมัน
เพื่อนเขาแกล้งตบมือกระพือผัด ช้างสะบัดพลัดไปในไพรสัณฑ์
ผงะหงายคนท้ายเขาคว้าทัน โอ้แม่จันเจียนจะไม่เห็นใจจริง
นึกจะโจนจากช้างลงกลางเถื่อน คิดอายเพื่อนเขาจะเย้ยว่าใจหญิง
แต่ตึงเศียรเวียนหน้านัยน์ตาวิง เอาขอพิงพาดตักมาตามทาง”

เมื่อไปพักอยู่ที่ริมบริเวณวัดพระพุทธบาท สุนทรภู่กล่าวในนิราศว่าไปเที่ยวทางเขาขาด พบ (พระองค์) เจ้าสามเณรองค์ ๑ กั้นพระกลดหักทองขวางเสด็จมาทางนั้น พิเคราะห์ตามศักราชเห็นว่าจะเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพราะเวลานั้น ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่แล้ว กล่าวความอีกแห่งหนึ่งว่า

“พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย”

คือพระยาพระคลัง (กุน) ซึ่งได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ หานายบุญยังนายโรงละครนอกที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้สร้างวัดละครทำในจังหวัดธนบุรีนั้นไปเล่นละครฉลองศาลาที่ท่านสร้างขึ้นใหม่ในลานพระพุทธบาท อาศัยเค้าเงื่อนที่มีดังได้กล่าวมา สันนิษฐานว่าหนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ที่ปรากฏอยู่ เป็นของแต่งในรัชกาลที่ ๑ เมื่อก่อนสุนทรภู่เข้ารับราชการ ๓ เรื่อง คือเรื่องโคบุตรเรื่อง ๑ นิราศเมืองแกลงเรื่อง ๑ นิราศพระบาทเรื่อง ๑[๑๐] ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสุนทรภู่เข้ารับราชการแล้วเห็นจะไม่มีโอกาสไปทางไกล จึงไม่ปรากฏว่าแต่งนิราศเรื่องใดอีกจนตลอดรัชกาล



[๑] พวกโหรในกรมโหรหลวงแต่โบราณกาลมา ย่อมมีหน้าที่สำคัญเป็นงานประจำปีอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องทำปฏิทินเรียกว่าปฏิทินโหร โหรต้องทำกันหลายคน แล้วเอามารวมกัน เมื่อถูกต้องตรงกันก็แล้วทุกคน จึงจะจดลงเป็นปฏิทินสำหรับใช้ในปีนั้นต่อไป ส่วนสำคัญของปฏิทินโหร ก็คือบอกว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แลดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ได้โคจรหรือสถิตอยู่ในจักรราศีไหน ณ วันใด เดือนใดบ้าง เช่น ณ เวลาแห่งสุนทรภู่เกิดนั้น พระพฤหัสบดี (๕) อยู่ราศีเมษ อาทิตย์ (๑) จันทร์ (๒) พุธ (๔) ทั้ง ๓ พระเคราะห์นี้รวมอยู่ในราศีเมถุน อังคาร (๓) แลศุกร์ (๖) ต่างอยู่ในราศีกรกฎ ทั้ง ๒ พระเคราะห์ เสาร์ (๗) และราหู (๘) อยู่ในราศีมังกรด้วยกัน และจักรราศีนอกจากนี้ที่ว่างๆ อยู่นั้นไม่มีพระเคราะห์อะไรสถิตอยู่เลย ตัวอักษรที่คล้ายตัว ส ซึ่งอยู่ในจักรราศีอันเดียวกันกับอังคารและศุกร์นั้นเป็นหน้าที่ของโหรผู้ผูกดวงชาตาสุนทรภู่จะต้องคำนวณเอาจากเวลาเกิดเป็นเกณฑ์ เรียกว่า ลัคนา เป็นสิ่งสำคัญในการทำนายทายทักมาก ถ้าไม่รู้เวลาเกิด ก็คำนวณลัคนาไม่ได้และเป็นเหตุให้ทายอะไรไม่ได้ด้วย ในดวงสุนทรภู่นี้เรียกว่า “ลัคนาอยู่ในราศีกรกฎ ในสมัยสุนทรภู่เกิดนั้น ในปฏิทินโหรไม่ปรากฏพระเกตุ (๙) และมฤตยู (๐) ทั้งนี้เพราะพระเคราะห์ทั้งสองนี้เพิ่งจะมานิยมกันในเมื่อราวรัชกาลที่ ๔ - ธนิต อยู่โพธิ์

[๒] เรียกว่า “ดวงประเทียบ” ธนิต อยู่โพธิ์

[๓] ผู้ศึกษาในทางโหราศาสตร์ ย่อมใส่ใจเสาะหาดวงประเทียบจดกันในสมุดคนละมาก ๆ และยิ่งมากก็ยิ่งดี ทั้งได้เก็บรักษากันเป็นสิ่งหวงแหนนัก - ธนิต อยู่โพธิ์

[๔] ฉันท์ ขำวิไล มีความเห็นว่า เชื้อสายของสุนทรภู่ เดิมเป็นขุนนางหรือคหบดีชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพมาในรุ่นปู่ของสุนทรภู่เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก มาตามสายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คงมีตำแหน่งหน้าที่ราชการในสมัยกรุงธนบุรี บิดาของสุนทรภู่คงติดตามปู่มาอยู่ที่กรุงธนบุรีแล้วมาพบกับมารดาของสุนทรภู่ ซึ่งคงอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่คงมาทางสายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มารดาคงให้กำเนิดสุนทรภู่ในถิ่นที่อยู่แถววังหลัง

พ.ณ ประมวญมารค เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๙ ว่า เชื้อสายของสุนทรภู่มาจากเมืองแกลงเช่นกัน บิดาของสุนทรภู่เป็นขุนนางอยู่ในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรีสังหาร หรือชื่อเดิม นายพลับ (ทั้งนี้โดยได้ข้อมูลจากเรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งอ้างว่าได้มาจากคำบอกเล่าของนายพัด บุตรชายคนโตของสุนทรภู่)

ธวัช ปุณโณทก กล่าวไว้ในเรื่อง “เค้นคอค้านคำ” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ว่า สุนทรภู่เป็นชาวเมืองแกลงที่เกี่ยวข้องกับเมืองเพชรบุรี ครอบครัวของท่านคงมาอยู่ที่เมืองแกลงตั้งแต่รุ่นปู่ย่า หรือก่อนหน้านั้น

ล้อม เพ็งแก้ว เสนอไว้ในเอกสารประกอบการประชุมเรื่อง “นิราชเมืองเพชรของสุนทรภู่” (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙) ว่า บรรพชนของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ทั้งนี้โดยอ้างว่าได้พบข้อความที่เป็นหลักฐานดังกล่าว จากต้นฉบับสมุดไทยนิราศเมืองเพชรบุรี ในหอสมุดแห่งชาติ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๕] ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่ได้เรียนตามวัดใกล้เคียงพระราชวังหลัง เช่น วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) วัดบางว้าน้อย (วัดอัมรินทราราม) หรือในสำนักพระราชวังหลัง ต่อรุ่นหนุ่มแล้วจึงไปเป็นครูสอนเสมียนอยู่ที่วัดชีปะขาว – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๖] กรมพระราชวังหลัง ทิวงคตเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปลาย พ.ศ. ๒๓๔๙ สุนทรภู่ออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง เมื่อราวเดือน ๗ พ.ศ. ๒๓๕๐ กลับจากเมืองแกลงเมื่อเดือน ๙ และแต่งนิราศเมืองแกลงในคราวนี้ – ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล และ พ.ณ ประมวญมารค มีความเห็นว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองแกลง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ เช่นกัน – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่แต่งโคบุตรเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑ - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๗] เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “บางปะกง” สันนิษฐานชื่อเดิมเห็นจะเรียกว่า บางมังกง เช่นสุนทรภู่เรียกด้วยคำว่า “มังกง” เป็นชื่อปลาอย่างหนึ่ง แต่คำว่า ปะกง นั้น แปลไม่ได้ความอย่างไร บางทีจะย่อสั้นมาแค่บางปลา (มัง) กง ก็เป็นได้ – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๘] ฉันท์ ขำวิไล ว่า เป็น พระครูธรรมรังษี เจ้าคณะแขวงอำเภอเมืองแกลง และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่า

ธวัช ปุณโณทก ในบทความเรื่อง “เค้นคอค้านคำ” ศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๗ ฉบับ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ว่า เป็น พระอารัญธรรมรังษี - กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๙] กล่าวกันมาว่า เพราะเป็นพระองค์เจ้าองค์แรกที่ประสูติแต่ประดิษฐานพระราชวงศ์นี้ จึงได้พระนามว่า ปฐมวงศ์ แต่ทรงผนวชอยู่ตลอดพระชนมายุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๑๐] เข้าใจว่าสุนทรภู่คงจะได้เริ่มหาอาชีพในทางเป็นผู้นอกบทละครในตอนนี้บ้างแล้ว เช่นกล่าวในนิราศสุพรรณซึ่งแต่งเป็นโคลงว่า

บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า พี่อ้างรางวัลฯ

เข้าใจว่า อ้างถึงเคยนอกบทละครโรงนายบุญยัง - ธนิต อยู่โพธิ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ