- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | พอหายง่วงสมจิตคิดถวิล |
ครั้นสุริยงส่งฟ้าเห็นธานินทร์ | สมถวิลเห็นปากน้ำที่สำคัญ |
แกยินดีปรีดิ์เปรมเกษมสุข | บรรเทาทุกข์วายวิโยคที่โศกศัลย์ |
สั่งล้าต้าต้นหนคนสำคัญ | เองชวนกันสืบดูให้รู้ความ |
เอาล่ามแขกมลายูที่รู้พูด | จัดเป็นทูตปะใครได้ไต่ถาม |
จงคิดอ่านไปแสวงให้แจ้งความ | จัดเอาตามคนดีมีปัญญา |
ลงเรือน้อยลอยไปในนิเวศน์ | ถิ่นประเทคที่สถิตเมืองมิจฉา |
ตีกระเชียงเร่งให้กันไคลคลา | เข้าที่ท่าเมืองด่านชานบุรี ฯ |
๏ พวกปากน้ำให้ล่ามออกถามไต่ | ทั้งนายไพร่พวกที่มากะลาสี |
จงแจ้งความตามข้อคดีมี | ท่านมานี้จะประสงค์ที่ตรงไร |
หรือจะมาค้าขายทั้งนายบ่าว | จงบอกเล่าไปให้แจ้งแถลงไข |
หรือจะมีราชการสถานใด | เร่งบอกไปโดยคำอย่าอำความ ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพลคนในเภตราน้อย | พลางตอบถ้อยแล้วก็เล่าตามเขาถาม |
ข้าพลัดบ้านเมืองแปลกเป็นแขกจาม | หวังจะข้ามฟากฝั่งไปลังกา |
เกิดพายุเรือแตกต้องแยกย้าย | ทั้งพลัดพรายเผ่าพงศ์พวกวงศา |
ได้อาศัยพระฝรั่งเมืองลังกา | เขาเอามาใช้เป็นล่ามได้สามปี |
เขาเที่ยวสอนศาสนาเอามาด้วย | หวังจะช่วยดับทุกข์ให้สุขี |
เที่ยวไปทุกพาราเพราะปรานี | เอาความดีสอนให้ในสันดาน |
แต่เที่ยวนี้ขัดเสบียงจะเลี้ยงไพร่ | ท่านจึงใช้ให้เที่ยวหาซึ่งอาหาร |
มิใช่พวกทรชนเป็นคนพาล | ขอนายด่านแจ้งคำดั่งรำพัน |
ขุนเสนาว่ากระนั้นท่านอยู่นี่ | เราจะมีบอกเข้าไปไอศวรรย์ |
ให้กราบทูลแต่พระองค์ผู้ทรงธรรม์ | จะผ่อนผันโปรดปรานสถานใด |
แล้วสั่งให้พวกเสมียนเขียนหนังสือ | แล้วรีบถือเข้าไปแจ้งแถลงไข |
แก่ขุนนางกรมท่าเสนาใน | ให้ทูลไทเจ้าแผ่นดินปิ่นสกล ฯ |
๏ ฝ่ายคนใช้รีบไปยังนิเวศน์ | นำเอาเหตุเข้าไปแจ้งแห่งนุสนธิ์ |
กับหนังสือบอกกล่าวเล่ายุบล | ส่งให้คนที่กำกับสำหรับทูล |
ขุนนางพวกกรมท่าพาเข้าเฝ้า | แล้วทูลเจ้านครินทร์บดินทร์สูร |
ตามคดีเรื่องราวเป็นเค้ามูล | นเรนทร์สูรสั่งมหาเสนาใน |
ให้คลี่บอกออกอ่านเป็นการร้อน | ขุนอักษรจึ่งแจ้งแถลงไข |
หนังสือบอกนายด่านอันชาญชัย | จงทราบใต้บาทาฝ่าธุลี |
ว่าบัดนี้แขกชวากับฝาหรั่ง | มายับยั้งอยู่นอกด่านชานกรุงศรี |
ว่ามาแต่สิงหลเป็นคนดี | รู้แผนที่ต่างต่างทั้งวิชา |
แต่ผู้รู้ยังอยู่เรือกำปั่น | จะชวนกันเที่ยวสอนศาสนา |
ทั้งดูแม่นแผนที่มีตำรา | การดินฟ้าหลายอย่างทางทะเล ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ฟังคดีเห็นควรทำสรวลเส |
จะใคร่ปะพระฝรั่งอย่างคะเน | ฟังลิ้นเล่ห์ดูปัญญาวิชาชาย |
แม้นจริงจังดังกล่าวเข้าไปรับ | เร่งกำชับอย่าให้ทันตะวันสาย |
หรือจะเป็นแยบยลกลอุบาย | เสนานายพวกผู้ใหญ่เร่งไคลคลา |
ครั้นส่งเสร็จพระเสด็จเข้าไสยาสน์ | พวกอำมาตย์พร้อมกันต่างหรรษา |
จะใคร่เห็นคนดีมีวิชา | จัดนาวาสี่ลำตามกันไป |
ลงเรือเร็วรีบมาถึงหน้าด่าน | จัดทหารเกณฑ์แห่แลไสว |
ออกปากน้ำนำพลสกลไกร | รีบออกไปถึงกำปั่นด้วยทันที ฯ |
๏ ฝ่ายตาเฒ่าบาทหลวงแกง่วงหงอย | แต่นั่งคอยพวกชวากะลาสี |
จะใคร่ฟังแยบคายร้ายหรือดี | พอเห็นสี่เสนามาถึงเรือ |
แกดีใจสั่งให้ชักธงรับ | เหมือนคำนับภักดีอารีเหลือ |
แล้วไปเชิญเสวกามาบนเรือ | ให้นั่งเหนือเก้าอี้ที่ขุนนาง |
แล้วเรียกท้าวโกสัยไพร่ทั้งหลาย | กับบ่าวนายสารพัดไม่ขัดขวาง |
กับพวกล่ามรู้ภาษาดูท่าทาง | ฟังขุนนางเขาจะมาว่ากระไร ฯ |
๏ ฝ่ายอำมาตย์มาตยาปตาหวี | ขึ้นเก้าอี้พูดจาพลางปราศรัย |
ว่าดูราท่านผู้ปราชญ์ฉลาดใน | คัมภีร์ไสยต่างต่างอย่างบุราณ |
รับสั่งใช้ให้มาเชิญขึ้นไปเฝ้า | พระจอมเจ้านคเรศเขตสถาน |
จะขอเป็นศิษย์หาพยาบาล | พระอาจารย์ฝ่ายฝรั่งข้างลังกา ฯ |
๏ บาทหลวงนึกในใจว่าอ้ายนี่ | คงเสียทีกูแท้แน่นักหนา |
จะได้เป็นกำลังเหมือนหลังมา | ตีลังกาแก้แค้นเอาแดนดาว |
จึ่งให้ล่ามส่งภาษาว่าพระเดช | เจ้านิเวศน์ซื่อตรงเหมือนธงขาว |
พระคุณล้ำเขตแคว้นทั่วแดนดาว | สมเป็นเจ้าจอมจังหวัดปัถพี |
ไปสิท่านตัวเราอยากเฝ้าแหน | ชมเขตแดนท่านรู้จักเป็นศักดิ์ศรี |
จะได้พึ่งบุญญาบารมี | ไว้เป็นที่เจ้านายจนวายปราณ ฯ |
๏ ขุนนางฟังสังฆราชฉลาดเหลือ | สมเป็นเชื้อปราชญ์นักไม่หักหาญ |
ควรจะเชิญเข้าไปเฝ้าเล่าอาการ | พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิทยา |
ข้าพเจ้าเอาเรือมาคอยรับ | เครื่องสำหรับพร้อมหมดตามยศถา |
บาทหลวงแกดีใจลุกไคลคลา | ลงนาวารีบไปในบุรินทร์ |
กับพวกศิษย์ชิดเชื้อสำหรับใช้ | พากันไปโดยนิยมสมถวิล |
เรือประทับถึงท่าหน้าบุรินทร์ | พร้อมกันสิ้นแห่ไปในนคร |
ครั่นถึงที่ศาลาหน้านิเวศน์ | พวกวิเสทคั่งคับสลับสลอน |
คอยเลี้ยงดูอยู่มิให้อนาทร | พอแก้ร้อนเหนื่อยมาทั้งข้าไท |
ครั้นสำเร็จขุนเสนาพาเข้าเฝ้า | ให้นั่งเก้าอี้ทองอันผ่องใส |
บาทหลวงเฒ่าเจ้ามายาจึ่งว่าไป | สักเมื่อไรจะได้เฝ้าเจ้าแผ่นดิน |
ขุนนางว่าเวลาจวนจะออก | จะมีบอกเข้าไปหนาอย่าถวิล |
พลางสั่งพวกเสนาในธานินทร์ | ว่าพระปิ่นนคเรศนิเวศน์วัง |
เสด็จออกมาบอกให้เรารู้ | จะเชิญผู้วิเศษไปดั่งใจหวัง |
เข้าเฝ้าองค์ทรงชัยที่ในวัง | ตามรับสั่งพระนรินทร์ปิ่นประชา ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายไทท้าวเจ้าพิภพ | เธอปรารภจะใคร่รู้ดูศาสนา |
พอสี่โมงห้าบาทท้าวยาตรา | ออกข้างหน้าไต่ถามความบุรินทร์ |
พวกเสนาตำมะหงงตรงเข้าเฝ้า | พลางก้มเกล้าทูลความตามถวิล |
พวกพหลพลไพร่ในแผ่นดิน | เป็นสุขสิ้นทั้งนครไม่ร้อนรน |
ก้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โองการตรัสสั่งทั่วตัวพหล |
อย่าข่มเหงไพร่ฟ้าประชาชน | มีกังวลเข้ามาฟ้องร้องฎีกา |
จะตัดสินตามบททศพิธ | ใครชอบผิดฉันใดไม่มุสา |
จะตัดสินให้เป็นธรรม์ไม่ฉันทา | ขุนเสนาตื้นลึกช่วยตรึกตรอง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายกรมท่าเสนาใหญ่ | คลานเข้าไปจึ่งประมูลทูลฉลอง |
พวกลังกามาเฝ้าทูลละออง | จะปรองดองโปรดปรานประการใด |
ก้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โองการตรัสว่าให้หามาปราศรัย |
เป็นคนดีมีวิชามาแต่ไกล | รีบออกไปรับเขาเข้ามาวัง |
เสวกาข้าทูลละอองบาท | ก็รับราชกิจไปดั่งใจหวัง |
ออกไปเชิญพวกลังกาเข้ามาวัง | ให้ขึ้นนั่งบนรถบทจร |
มีเกณฑ์แห่อย่างสำหรับเคยรับทูต | ทั้งลาอูฐอัดแอแลสลอน |
ทั้งธงเทียวเขียวแดงแย่งมังกร | เดินสลอนคับคั่งตั้งกระบวน |
บาทหลวงเฒ่านั่งรถไว้ยศอย่าง | มาตามทางกรุ้มกริ่มพลางยิ้มสรวล |
ไปถึงวังกูจะตั้งตีสำนวน | แล้วจะชวนเข้ารีตเหมือนคิดปอง |
ทำไมกับอ้ายแขกที่แปลกเพศ | คงสมเจตนาเราที่เศร้าหมอง |
จะพูดหลอกชอกใช้ในทำนอง | ให้มันตรองแทบตายไล่ไม่ทัน |
พอกระบวนมากระทั่งยังนิเวศน์ | เข้าในเขตกรุงไกรไอศวรรย์ |
บาทหลวงจึงเรียกล่ามมาถามพลัน | ถึงเขตคันเมื่อจะเฝ้าเจ้านคร |
อันเยี่ยงอย่างเขาอย่างไรกูไม่รู้ | เองเป็นครูผิดพลั้งช่วยสั่งสอน |
เพราะกูอยู่เหินห่างต่างนคร | จะเย็นร้อนเค็มหวานสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาว่าท่านอันเมืองนี้ | ไพร่ผู้ดีมิได้ห้ามตามวิสัย |
อย่าช้าเลยมาเรารีบเข้าไป | ในกรุงไกรเฝ้าท้าวเจ้าบุรินทร์ |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าเล่ห์ลงจากรถ | พร้อมกันหมดสมหวังดังถวิล |
แล้วชวนกันเข้าเฝ้าเจ้าบุรินทร์ | ท้าวทมิฬปราศรัยเป็นใจความ |
ว่าข้าแต่ท่านผู้ปราชญ์ชาติฝรั่ง | เที่ยวสอนสั่งเป็นไฉนขอไต่ถาม |
จะประสงค์สิ่งไรในใจความ | จึงเที่ยวข้ามเขตแดนแล่นเข้ามา |
หรือประโยชน์ทรัพย์สินถิ่นประเทศ | จงแจ้งเหตุให้ฟังที่กังขา |
หรืออยากเป็นจอมวังอหังการ์ | ตีพาราครอบครองเป็นของตน |
จึงตั้งเพียรพยายามข้ามสมุทร | ไม่ยั้งหยุดเสาะแสวงทุกแห่งหน |
หรือเรือซัดขัดขวางในกลางชล | จึงต้องวนเวียนมาพาราเรา ฯ |
๏ บาทหลวงว่าข้าแต่ท้าวเจ้าพิภพ | ไม่ปรารภที่จะปองเอาของเขา |
อันประเทศเขตแคว้นแดนของเรา | ข้าจะเล่าให้ท่านฟังตั้งแต่เดิม |
มีข้าศึกเมืองผลึกมาตั้งรบ | ต้องหลีกหลบข้าศึกมันฮึกเหิม |
หลายพารามากระหน่ำทั้งซ้ำเติม | เจ้าเมืองเดิมนั้นเป็นหญิงออกชิงชัย |
มันก็กลับเอาเป็นเมียเสียทั้งนั้น | จะป้องกันเหลือจะคิดผิดวิสัย |
เหลือลำบากยากเย็นมันเป็นไทย | คนที่ในลังกาบรรดามี |
ก็แตกซ่านเซ็นไปไม่เป็นสุข | มันไล่รุกเข่นฆ่าต้องล่าหนี |
เรารอดตัวด้วยปัญญาวิชามี | ด้วยเป็นที่สังฆราชเหมือนชาติทอง |
ถึงตกตมจมดินไม่สิ้นสี | อันราคีจะมาปนไม่หม่นหมอง |
คงสุกใสงดงามเพราะนามทอง | ต้องละอองสักเท่าไรก็ไม่มัว |
ข้าแต่ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | วิชามีไม่ต้องซุ่มเดินคลุมหัว |
ตกไปไหนไม่มีช้ำถึงคล้ำมัว | ก็เพราะตัวศักดิ์สิทธิ์วิทยา ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีเห็นปรีดิ์ปราชญ์ | แหนงประหลาดนิ่งฟังไม่กังขา |
จึ่งว่าท่านเป็นคนดีมีวิชา | ทั้งปัญญาพูดเพราะเสนาะความ |
ข้าพเจ้าเยาว์ยังกำลังอ่อน | ขอฝึกสอนอย่างศิษย์อย่าคิดขาม |
ท่านจงช่วยแนะนำจะทำตาม | ให้สมความปรารถนาของอาจารย์ ฯ |
๏ บาทหลวงยิ้มอิ่มใจดั่งได้แก้ว | ตายกูแล้วอ้ายนี่หลงในสงสาร |
จะล่อลวงหน่วงไปให้ได้การ | เอาให้คลานอยู่เหมือนเต่าเฝ้าคันนา |
แล้วจึงว่าข้าแต่ท้าวเจ้าพิภพ | อย่าปรารภเลยคงสมปรารถนา |
แม้นศึกเสือเหนือใต้สิ่งใดมา | จะอาสาคิดประจญรณรงค์ ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โสมนัสรื่นเริงละเลิงหลง |
จึ่งว่าท่านดีพร้อมไม่อ้อมวง | พูดก็ตรงสมเป็นปราชญ์ฉลาดดี |
ขอเชิญท่านยับยั้งอยู่สั่งสอน | ในนครพาราปตาหวี |
จะได้พึ่งบุญญาบารมี | ได้เป็นที่อุดหนุนกรุณัง ฯ |
๏ บาทหลวงยิ้มอิ่มใจได้โอกาส | คงสิทธิ์ขาดสมจิตเหมือนคิดหวัง |
เอาให้เชื่องเหมือนกับไก่อยู่ในรัง | แม้สมหวังก็จะได้ไปลังกา |
แต่จะตั้งสั่งสอนค่อยผ่อนผัน | เอาให้มันซื่อตรงเหมือนวงศา |
จะได้จิกหัวใช้ไปลังกา | ตีพาราตามประสงค์ให้คงคืน |
แล้วมันก็เป็นใหญ่ไพร่ก็พร้อม | คงยินยอมสารพัดไม่ขัดขืน |
จะได้เป็นที่หวังให้ยั่งยืน | แกชมชื่นในอารมณ์เพราะสมปอง ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ให้จัดที่ประเสบันบนชั้นสอง |
ให้บาทหลวงขึ้นอาศัยดั่งใจปอง | ประคับประคองหวังจะเพียรเรียนวิชา |
บาทหลวงเฒ่าค่อยสบายวายวิโยค | บรรเทาโศกได้ยั้งเป็นฝั่งฝา |
ให้ฉุนแค้นแสนเคืองมังคลา | มันชั่วช้าเพราะอีเมียจึ่งเสียคน |
กูอุดหนุนกรุณามาแต่ย่อม | สู้โอบอ้อมจงรักหมายภักษ์ผล |
กลับเป็นงูสู้หมอทรชน | จำจะค้นคว้าไปให้ได้ตัว |
แม้นดื้อดึงเหมือนแต่ก่อนมิหย่อนหา | จะจับฆ่าฟันเสียทั้งเมียผัว |
ถ้าแม้นมันรู้สึกสำนึกตัว | ที่ทำชั่วมาแต่ก่อนคิดผ่อนปรน |
แม้นดึงดั้อถือดีมิมาง้อ | จะยกข้อขึ้นแถลงแจ้งนุสนธิ์ |
ให้ท้าวกุลามาลียกรี้พล | ตามไปปล้นจับตัวทั้งผัวเมีย |
แกตรองตรึกนึกพลางทางเรียกหา | พวกล้าต้ารีบไปอย่าให้เสีย |
เสาะแสวงตามตัวอ้ายผัวเมีย | พบแล้วเกลี้ยกล่อมไว้ทั้งไพร่พล |
แล้วรีบใช้ให้ไปปตาหวี | กูจะกรีธาทัพกับพหล |
ไปว่ากล่าวโดยดีทั้งรี้พล | ให้มันจนถ้อยคำในสำนวน ฯ |
๏ พวกล้าต้าลากลับไปเรือใหญ่ | จึงเรียกไพร่มาหมอบแล้วสอบสวน |
ใครจะอยู่จะไปเร่งใคร่ครวญ | ตามกระบวนที่จะไปในทะเล |
แล้วจัดเรือสองลำล้วนกำปั่น | ให้ผ่อนผันแยกกันเที่ยวหันเห |
แล่นไปตามเกาะรายชายทะเล | เที่ยวเตร็จเตร่เสาะแสวงทุกแห่งไป ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | ออกอำมาตย์หมอบเรียงเคียงไสว |
พร้อมพหลโยธาเสนาใน | บำรุงไทธิบดินทร์ปิ่นนคร |
ป่างพระปิ่นมังคลานรารัตน์ | โองการตรัสเหล่าทหารชาญสมร |
ให้รักษาหน้าด่านชานนคร | เร่งฝึกสอนช้างม้าให้กล้าปืน |
แล้วเกณฑ์พวกจัตุรงค์ลงกำปั่น | ให้รายกันแล่นลัดอย่าขัดขืน |
เที่ยวตระเวนรายประจำทุกค่ำคืน | เอาแต่พื้นเกณฑ์หัดจัดชำนาญ |
เผื่อจะมีข้าศึกมาฮึกโหม | คอยกระโจมตีตัดจัดทหาร |
เข้ายิงแย้งแทงฟันประจัญบาน | รักษาด่านปากน้ำที่สำคัญ |
แล้วจึงตั้งโอรสสามพระองค์ | ให้ดำรงกรุงไกรไอศวรรย์ |
สืบกษัตริย์ขัตติเยศครองเขตคัน | พระแบ่งปันนคราให้ถาวร ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | ค่อยสร่างทรวงกินอยู่เป็นครูสอน |
คนนับถือลือทั่วทั้งนคร | ตั้งฝึกสอนเพทุบายหลายประการ |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ตั้งเป็นที่นักปราชญ์ในราชฐาน |
ยกเมืองขึ้นส่วยสาให้อาจารย์ | มากประมาณมิใช่น้อยร้อยตำบล |
ทั้งสิทธิ์ขาดราชกิจแลผิดชอบ | กษัตริย์มอบสารพัดไม่ขัดสน |
คิดจะตั้งตัวใหญ่ตามใจตน | แกเป็นคนโลภมากอยากข้างดี |
แล้วฉุนแค้นมังคลาสานุศิษย์ | ถ้าแม้นติดตามกูมาปตาหวี |
คงจะคิดฆ่าอ้ายท้าวเจ้าบุรี | อยู่สักปีหนึ่งก็เห็นจะเป็นการ |
มันก็คงจะเป็นใหญ่ในไตรจักร | ประเสริฐศักดิ์อิสรามหาศาล |
เพราะมัวหลงไปกับเมียจึ่งเสียการ | จะว่าขานสักเท่าไรก็ไม่ฟัง |
พาอีแม่รักดุเหว่าไปเข้ารก | มันคิดวกอ้อมวงจนลงถัง |
เพราะเป็นคนทุจริตจึ่งติดตัง | มันไม่ฟังคำกูผู้อาจารย์ |
แกตรองตรึก็นึกแค้นแม้นไปพบ | กูจะตบปากให้ช้ำเพราะคำขาน |
มันหยาบช้าว่ากูผู้อาจารย์ | จะเล่นงานเสียให้อ่อนหย่อนฝีมือ |
เสียแรงกูอุปถัมภ์นำสนอง | ประคับประคองมาจนใหญ่มันไม่ถือ |
ควรหรือหาทรชนแต่ต้นมือ | สิ้นนับถือคุณกูผู้ประคอง |
ทรลักษณ์อกตัญญูตาแท้ | พูดตอแหลหนีไปให้ใจหมอง |
จนเสียทัพอับอายหลายทำนอง | แกเข้าห้องแค้นใจไม่สบาย ฯ |
๏ จะกล่าวลำกำปั่นที่เที่ยวเสาะ | ตามแก่งเกาะทะเลวนชลสาย |
พลางปรึกษาหมื่นขุนพวกมุลนาย | จะยักย้ายแล่นไปทางไหนดี |
แม้พบปะเภตราเขามาบ้าง | จะได้ฟังข่าวไปในวิถี |
จำจะแล่นไปดูตามบูรี | เผื่อจะมีเภตรามาสักลำ |
ได้สืบข่าวราวเรื่องทุกเมืองบ้าน | ระยะย่านแรกมาหน้าไหหลำ |
ปรึกษากันยินยอมพร้อมทั้งลำ | ให้หยั่งน้ำเข้าฝั่งอย่ารั้งรอ |
พวกล้าต้าต้นหนคนทั้งหลาย | ฟังนายท้ายโยนดิ่งทิ้งสมอ |
กะเข้าไปชายฝั่งได้รั้งรอ | ตั้งเข็มต่อบูรพาดูท่าทาง |
หยิบแผนที่คลี่ดูตามอู่อ่าว | จะแล่นก้าวลมจัดยังขัดขวาง |
พอพลบค่ำย่ำเย็นไม่เห็นทาง | ต่อเดือนสางจึงค่อยไปในทะเล |
ต้นหนสั่งบังคับให้ทอดสู้ | หยั่งไม่รู้เพราะกำปั่นยังหันเห |
ควรจะทอดจอดอยู่ดูคะเน | พวกในเภตราฟังเขาสั่งการ |
ทิ้งสมอรอราเวลาพลบ | จุดไต้คบหุงหากระยาหาร |
ฝ่ายล้าต้าต้นหนล้วนคนงาน | เสพอาหารอิ่มหนำทั้งลำเรือ |
พอเดือนเด่นเห็นทางสว่างไสว | ให้กางใบแล่นติดไปทิศเหนือ |
พวกไต้ก๋งคนงานชำนาญเรือ | ไปข้างเหนือลมจัดสะบัดใบ |
สามวันครึ่งถึงอ่าวกำพลเพชร | เห็นเรือเจ็ดลำทอดจอดไสว |
ให้รอเรียงเคียงถามนามเวียงชัย | พอเข้าใกล้พวกรู้จักพลางทักกัน |
บ้างถามไต่ได้ข่าวเป็นราวเรื่อง | มาอยู่เมืองวายวิโยคที่โศกศัลย์ |
พลางไต่ถามถึงพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | มาเขตคันนคราค่อยถาวร |
หรือมีทุกข์ขุกเข็ญเป็นไฉน | ชาวเวียงชัยภิญโญสโมสร |
สุขเกษมเปรมปราสถาวร | ไม่เดือดร้อนหมดด้วยกันหรือฉันใด ฯ |
๏ พวกกำปั่นกองตระเวนจึงบอกเล่า | พระจอมเจ้ามังคลาอัชฌาสัย |
เธอโอบอ้อมไพร่พลสกลไกร | ทั้งรักใคร่พวกอาณาประชาชน |
แล้วชวนว่ามาไปเฝ้าเจ้านิเวศน์ | พึ่งพระเดชสารพัดไม่ขัดสน |
ไปทูลไทธิบดินทร์ปิ่นสกล | นำยุบลเข้าไปแจ้งแสดงการ |
พวกที่มาดีใจจะไปเฝ้า | ชวนกันเข้าในนิเวศน์เขตสถาน |
ขึ้นไปยังพระโรงรัตน์ชัชวาล | พอพระผ่านภพไกรเธอไคลคลา |
ออกที่นั่งรจนามุกดาหาร | ดำรัสการแก่ขุนนางทั้งซ้ายขวา |
พอเสนีคนเก่าคลานเข้ามา | พระมังคลาตรัสถามเนื้อความพลัน |
ว่าดูก่อนเสนาท่านมาถึง | เราคะนึงที่ในใจทั้งใฝ่ฝัน |
เป็นหลายเดือนมิได้พบประสบกัน | หรือด้นดั้นไปถึงเขตประเทศใด ฯ |
๏เสวกาฝาหรั่งได้ฟังตรัส | โสมนัสทูลแจ้งแถลงไข |
เมื่อเรือซัดพลัดพรายกระจายไป | พายุใหญ่ตีมาถึงห้าวัน |
ซัดไปเข้าเมืองชวาปตาหวี | ประเดี๋ยวนี้อยู่ในไอศวรรย์ |
บาทหลวงเป็นครูใหญ่ได้รางวัล | เจ้าเมืองนั้นนับถือลือขจร |
ได้สิทธิ์ขาดราชกิจสนิทสนอง | ได้ข้าวของตึกอยู่เป็นครูสอน |
เจ้านิเวศน์เขตแคว้นแดนนคร | ให้ฝึกสอนทั้งอาณาประชาชน |
ประเดี๋ยวนี้ใช้ข้ามาเที่ยวเสาะ | ตามละเมาะเกาะแก่งทุกแห่งหน |
ให้รู้ข่าวภูวไนยทั้งไพร่พล | จรดลไปอยู่แห่งตำแหน่งใด |
แม้นรู้แจ้งแกจะแต่งกระบวนทัพ | มาตามจับเอาพระองค์อย่าสงสัย |
แกสั่งว่ามาปะให้รีบไป | อย่าบอกให้รู้ตัวกลัวจะแคลง |
แต่ตัวข้ามาพบแล้วไม่กลับ | จะอยู่กับเจ้านายมิได้แหนง |
จงทราบใต้บาทาอย่าระแวง | ดั่งข้าแจ้งเรื่องความตามที่ทูล ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | ฟังอำมาตย์ทราบสิ้นบดินทร์สูร |
จึงตรัสกับเสวกาที่มาทูล | จะอนุกูลอย่าวิตกในอกใจ |
อย่าว่าแต่พาราปตาหวี | มันจะดีมากมูลสักปูนไหน |
ถึงสังฆราชจะมาทำให้หนำใจ | เราก็ไม่นึกพรั่นหวั่นอุรา |
ท่านจงใช้ให้เรือไปบอกข่าว | แจ้งเรื่องราวจริงจังอย่ากังขา |
ให้เขายกไพร่พลพหลมา | ร้อยพาราก็ไม่กลัวช่างหัวมัน |
อันเมืองนี้ใครมาตีต้องแตกยับ | มิต้องกลับคืนไปไอศวรรย์ |
ไม่พักต้องรบราถึงฆ่าฟัน | ด้วยเหล็กนั้นกายสิทธิ์ฤทธิรงค์ |
ใครมาอยู่ดูตัวจึงแดงก่ำ | แต่ถูกน้ำตายกระจุยเป็นผุยผง |
แรกเรามาแทบชีวีจะปลดปลง | รอดด้วยองค์นางพระยาเจ้าธานี |
บอกอุบายหลายอย่างทางที่แก้ | เพราะว่าแร่กายสิทธ์คือฤทธิ์ผี |
ท่านเร่งไปบอกเขามารบราวี | จะดูดีท้าวพระยากับอาจารย์ ฯ |
๏ ขุนเสนีรับคำพระดำรัส | ลาไปจัดเภตราโยธาหาญ |
ชวนกันรีบลงไปมิได้นาน | พลางตรวจการเภตราเร่งคลาไคล |
พอลมตีคลี่ไปขึ้นใส่รอก | ให้แล่นออกจากท่าชลาไหล |
เอาเข็มตั้งทางแผนให้แล่นไป | หมายกรุงไกรปตาหวีที่สำคัญ |
สิบทิวามากระทั่งยังนิเวศน์ | ถึงประเทศกรุงไกรไอศวรรย์ |
ขึ้นไปแจ้งกิจจาสารพัน | บาทหลวงนั้นอิ่มเอมเปรมอุรา |
เข้าไปทูลเจ้าชวาอาณาจักร | หมายจะหักเอาให้สมปรารถนา |
จะกรีทัพไปจับอ้ายมังคลา | ดูน้ำหน้าลูกศิษย์มันคิดโกง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | พอออกที่บัลลังก์ที่นั่งโถง |
บาทหลวงเฒ่าเข้าไปในพระโรง | ทำเดินโคลงยักย้ายหลายกระบวน |
ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โสมนัสอิ่มเอมเกษมสรวล |
เชิญให้นั่งแท่นสุวรรณอันสมควร | ตามกระบวนน้อมคำนับรับอาจารย์ |
แล้วจึงสั่งสนทนาสาธุสะ | ถือว่าพระอาจารย์แม่นเป็นแก่นสาร |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าตำราปรีชาชาญ | เห็นเป็นการจริงแท้ไม่แชเชือน |
นึกในใจอ้ายนี่ดีเหมือนหนู | จะจูงหูเอาไปใช้ให้ได้เหมือน |
ขี่มันเล่นต่างเต่าใช้เฝ้าเรือน | เห็นไม่เชือนแชดื้อดูซื่อตรง |
แล้วจึงว่าข้าแต่ท้าวเจ้าพิภพ | เราปรารภจะให้ชมสมประสงค์ |
จะให้ยกพวกพหลไปรณรงค์ | เสด็จลงกำปั่นไปอย่าได้ยั้ง |
ยกไปตั้งกำพลเพชรประเทศถิ่น | สมถวิลคงได้สมอารมณ์หวัง |
สตรีงามมีอยู่องค์ดำรงวัง | ทั้งเปล่งปลั่งชันษาสิบห้าปี |
เป็นน้องสาวเจ้าเมืองเรืองระหง | ชื่อบุษบงขาวผ่องละอองศรี |
งามจริตกิริยาล้ำนารี | ควรเป็นศรีพระนครขจรขจาย |
แม้นท้าวไปได้ยลวิมลพักตร์ | จะแสนรักดวงอุบลวิมลฉาย |
ทั้งนิเวศน์เขตแคว้นแสนสบาย | คนทั้งหลายมั่งคั่งทั้งแผ่นดิน |
ท้าวกุลามาลีปรีชาปราชญ์ | ฟังสังฆราชชื่นชมสมถวิล |
อันสมบัติกษัตราทุกธานินทร์ | เราไม่จินตนาปองเอาของใคร |
แต่หญิงงามจะต้องตามไปสู่ขอ | แก่แม่พ่อน้าป้าอัชฌาสัย |
เราไม่คิดโกงเกงข่มเหงใคร | สมบัติในปตาหวีมีอุดม |
ที่จะให้ไปตีบุรีเขา | สมบัติเราของดีก็มีถม |
แต่สตรีที่ท่านว่าเราปรารมภ์ | อยากได้ชมนางงามตามทำนอง ฯ |
๏ บาทหลวงว่าอย่าปรารมภ์คงสมคิด | จะให้ชิดเชยชมประสมสอง |
จำจะยกพลไปดั่งใจปอง | จัดเป็นกองทัพใหญ่เราใช้เรือ |
แต่งพหลพลไพร่ให้ครบถ้วน | ทั้งง้าวทวนผู้คนให้ล้นเหลือ |
เอาปืนใหญ่ใส่ประจำทุกลำเรือ | ข้าวกับเกลือเครื่องเสบียงไปเลี้ยงพล |
ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โสมนัสดีใจไม่ฉงน |
อยากจะได้หญิงสาวชาวกำพล | จึงสั่งมนตรีพลันมิทันนาน |
ให้จัดลำกำปั่นสักพันร้อย | ไปเตรียมคอยพร้อมพรั่งทั้งทหาร |
พรุ่งนี้เช้าเราจะพาพระอาจารย์ | อย่านิ่งนานจัดสรรกำปั่นทรง |
ขุนเสนามาสั่งให้บาดหมาย | ทั้งขวาซ้ายแต่งกำปั่นสุวรรณหงส์ |
เบิกเข้มขาบอย่างใหม่ทำใบธง | ที่ปากหงส์ห้อยพู่ดูวิไล |
แล้วสำเร็จจัตุรงค์ลงกำปั่น | มาพร้อมกันรายทอดจอดไสว |
คอยรับท้าวเจ้าพาราจะคลาไคล | เสร็จแต่ในสองยามตามโองการ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ขึ้นจากที่แท่นสุวรรณแล้วบรรหาร |
ว่าข้าแต่ท่านครูผู้อาจารย์ | ไปสำราญหลับนอนผ่อนอารมณ์ |
แล้วเสด็จเข้าข้างในที่ไสยาสน์ | อีตาบาทหลวงเห็นชิดสนิทสนม |
คราวนี้เห็นได้ลังกาอย่าปรารมภ์ | อ้ายนี่งมหลงผู้หญิงจริงจริงเจียว |
พรากอีเมียมังคลาเอามาให้ | จะได้ใช้ตีลังกาให้หน้าเขียว |
จะอุบายเอาด้วยลมให้กลมเกลียว | คิดแก้เกี้ยวมังคลาให้ตาลอย |
มันหลงเมียเสียสัตย์ตัดกูเสีย | พรากอีเมียมันสิหนาให้หน้าจ๋อย |
คิดยักย้ายให้อ้ายแขกจะแยกลอย | ทำให้ม่อยอยู่กับที่ดั่งตีปลา |
ความคิดกูผู้เป็นสังฆราช | ยังเปรื่องปราดไวว่องคล่องนักหนา |
ต้องจำคิดผ่อนผันด้วยปัญญา | เอาลังกาให้จนได้เหมือนใจปอง |
แกนึกยิ้มอิ่มใจดั่งได้แก้ว | คงผ่องแผ้วแก้จนที่หม่นหมอง |
หลอกอ้ายแขกให้จงได้ดั่งใจปอง | แกตรึกตรองหลายอย่างทางอุบาย ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ครั้นสุริย์ศรีจวนจะแจ้งส่องแสงฉาย |
โกกิลากาเมียงบินเรียงราย | ดุเหว่าลายร้องขานประสานดัง |
สุมาลีคลี่คลายขยายรส | บุปผาสดส่งกลิ่นถวิลหวัง |
เธอพลิกฟื้นตื่นจากแท่นบัลลังก์ | จึงตรัสสั่งมเหสีทั้งสี่นาง |
พี่จะไปเมืองกำพลอย่าหม่นหมอง | จงปรองดองกันไว้อย่าได้หมาง |
อยู่ด้วยกันให้จงดีทั้งสี่นาง | เธอสั่งพลางแต่งองค์อลงกรณ์ |
ทรงภูษาแย่งยกกระหนกเทศ | พลอยวิเศษเนาวรัตน์ประภัสสร |
ฉลององค์ตาดแดงแย่งมังกร | ปั้นเหน่งซ้อนคาดทับแสงวับวาว |
ใส่หมวกดำกำมะหยี่สีสลับ | กระจ่างจับเครื่องมณีล้วนสีขาว |
ถือเช็ดหน้าเหน็บตรีกระบี่ยาว | ล้วนเพชรพราวพลอยประดับระยับตา |
แล้วเสด็จแท่นที่มณีอาสน์ | เรียกครูบาทหลวงพลางทางปรึกษา |
ได้ฤกษ์ดีสักกี่บาทจะยาตรา | ไปเภตรายามใดท่านให้พร ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเจ้าตำราว่าสักครู่ | จะขอดูเมฆจำรัสประภัสสร |
แกลุกเดินออกมามองช่องบัญชร | พอทินกรสูงเผ่นขึ้นเด่นดวง |
เมฆก็ตั้งดังตำราท้องอากาศ | ตาสังฆราชรู้ตำหรับฉบับหลวง |
จึ่งเรียกร้องไพร่พลคนทั้งปวง | อย่าให้ล่วงฤกษ์พาเวลาดี |
แล้วเชิญท้าวเจ้าประเทศเสด็จนั่ง | เหนือบัลลังก์รถทองละอองศรี |
ให้เร่งรีบยกพลทั้งมนตรี | สารถีขับม้าอาชาชาญ |
เดินกระบวนทวนธงตรงไปอ่าว | บ้างโห่ฉาวฆ้องดังระฆังขาน |
ถึงประทับรอราอาชาชาญ | หยุดที่ด่านท่าสำนักตำหนักแพ |
แล้วเสร็จลงเรือกำปั่นสุวรรณหงส์ | ให้โบกธงออกไปชายกระแส |
แล้วตีกลองฆ้องระฆังกระทั่งแตร | กำปั่นแห่กำปั่นรบขึ้นครบครัน |
ถอนสมอช่อใบขึ้นใส่รอก | ให้แล่นออกตามตำหรับเป็นทัพขันธ์ |
พอมีลมพัดกล้าสลาตัน | ออกกำปั่นพวกพหลพลทมิฬ |
ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | ชมฝูงสัตว์ในมหาชลาสินธุ์ |
ฝูงกระโห่โลมาในวาริน | บ้างโดดดิ้นลอยล่องท้องสินธู |
ฉนากฉลามตามกันไล่ฟันคลื่น | แลเป็นพื้นเหราทั้งปลาหมู |
ตะเพียนทองล่องไล่ในสินธู | ตามเงือกงูเล่นหางกลางทะเล |
ฝูงช้างน้ำดำด้นพ่นน้ำฟุ้ง | ทั้งกั้งกุ้งหลายพันธุ์ว่ายหันเห |
ฝูงพิมพาพากันท่องท้องทะเล | เที่ยวว่ายเหหาเหยื่อเหลือประมาณ |
อันฝูงสัตว์มัจฉาทั้งปลาหอย | มิใช่น้อยมากมายหลายสถาน |
จะพรรณนามากมายหลายประการ | บทบุราณว่าไว้ในนที |
อันฝูงสัตว์ปฏิสนธิ์ในชลสาย | ก็มากมายในห้องท้องวิถี |
ทะเลลมยมนาในวารี | ก็เหลือที่จะรู้ชัดสัตว์แลนาม |
พอสุริยงลงลับพยับฝน | ก็มืดมนมัวมิดทิศทั้งสาม |
เกิดพายุฟ้าคะนองร้องคำราม | ต้นหนข้ามเรือที่นั่งบัลลังก์ทรง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | สถิตที่ท้ายบัลลังก์ที่นั่งหงส์ |
กับบาทหลวงร่วมคิดดั่งจิตจง | ท้าวเธอปลงเชื่อใจมิได้แคลง |
นึกขยิ่มอิ่มใจในผู้หญิง | หมายว่าจริงตรองตรึกไม่นึกแหนง |
บาทหลวงเฒ่าเจ้ากรรมมันสำแดง | คิดจัดแจงเขียนรูปนุชบุษบง |
แล้วโรยยาทากระดาษที่วาดเขียน | ไม่ผิดเพี้ยนพระอภัยเมื่อใหลหลง |
ติดยาแฝดแปดปนระคนลง | หยิบไปส่งให้กับท้าวเจ้าบุรินทร์ |
ว่านี่แน่รูปนางข้าร่างเขียน | ไม่ผิดเพี้ยนดูเถิดหนาอย่าถวิล |
คลี่กระดาษวาดทรงองค์ยุพิน | ให้ท้าวทมิฬดูพลางที่กลางเรือ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าพาราปตาหวี | เห็นรูปศรีเสาวลักษณ์ให้รักเหลือ |
ต้องยาแฝดแปดปนระคนเจือ | ดูไม่เบื่อน่ารักลักขณา |
กระนี้หรือพวกพ้องจึ่งต้องหวง | ราวกับดวงจันทร์เพ็งเปล่งนักหนา |
ฉวยกระดาษเข้าในห้องทองไสยา | พอกลิ่นยาแฝดฟุ้งจรุงใจ |
ให้เคลิ้มเคล้นเห็นเหมือนนางพลางถนอม | ยิ่งหวนหอมปลื้มจิตพิสมัย |
กำลังยาวาบวับเข้าจับใจ | ให้เสียวในทรวงถวิลกลิ่นอุบล |
หลงพูดพึมงึมงำคลำกระดาษ | ด้วยอำนาจคุณยาดั่งห่าฝน |
มาถูกต้องกรกายเหมือนสายชล | ด้วยระคนฤทธิ์ผีมีกำลัง |
เล่นเอาลืมสี่นางสำอางพักตร์ | เป็นสิ้นรักสิ้นฤทธิ์ไม่คิดหวัง |
แล้วนึกหวนครวญจิตให้คิดชัง | พลางนอนนั่งดูกระดาษเพียงขาดใจ ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นกิริยาว่าอ้ายนี่ | ดูท่วงทีจะพะวงเห็นหลงใหล |
จำจะคิดถ่ายถอนที่อ่อนใจ | ลุกเข้าไปท้ายบาหลีที่ประทม |
เห็นออท้าวเจ้าพาราคว้ากระดาษ | เอารูปวาดเชยชิดสนิทสนม |
นึกในใจอ้ายนี่อยู่กูทั้งกลม | จะเป่าลมให้รู้สึกได้ตรึกตรอง |
แล้วเสกพัดปัดลมให้เย็นเฉื่อย | แต่เรื่อยเรื่อยจับใจพอหายหมอง |
แล้วนั่งลงเรียกไปดังใจปอง | อย่าหม่นหมองเลยคงได้ดังใจจง |
ท้าวกุลามาลีลืมสติ | ลงนั่งมิพูดพลั้งกำลังหลง |
จึงว่าเชิญน้องนุชบุษบง | ไยอนงค์มานั่งไม่บังควร |
ขอเชิญเจ้าเนาในที่ไสยาสน์ | อย่าหวั่นหวาดพี่จะรองประคองสงวน |
แล้วกุมกรสังฆราชว่านาฏนวล | ฤทัยป่วนที่ในเล่ห์ประเวณี ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นหมกมุ่นให้ขุ่นหมอง | แล้วจึ่งร้องว่าเราใช่สาวศรี |
อย่าเคลิ้มไคล้ใช่อนงค์องค์นารี | พลางไล่ผีกำกับสำหรับยา |
ท้าวทมิฬยินเสียงบาทหลวงถาม | ให้มีความขายพักตร์เป็นนักหนา |
แล้วหักจิตคิดว่าใครหาไหนมา | เป็นครูบาจะได้อายทำไมมี |
พลางพูดเก้อเออเจ้าคุณมาถึงไหน | ยังใกล้ไกลแถวทางกลางวิถี |
บาทหลวงว่าอ่อนใจทำไมมี | ไม่ช้าทีคงสมอารมณ์ปอง |
อันเมืองกำพลเพชรอีกเจ็ดโยชน์ | เห็นเกาะโดดคือปากอ่าวอย่าเศร้าหมอง |
แม้ลมดีดั่งนึกที่ตรึกตรอง | อีกสักสองสามวันเหมือนสัญญา ฯ |
๏ ท้าวกุลามาลีศรีสวัสดิ์ | โสมนัสดั่งเห็นมิตรกนิษฐา |
พลางฟังคำตาเฒ่าเจ้าตำรา | เชิญพระอาจารย์ช่วยด้วยเถิดคุณ |
สมความคิดข้าพเจ้าเช่นเขาว่า | แต่ใต้หล้าชั้นมนุษย์จะอุดหนุน |
เว้นแต่ของเบื้องบนจนแล้วคุณ | ไม่มีบุญเหลือจะไปในนภดล |
แต่พื้นดินถิ่นประเทศเขตสถาน | จะต้องการในจังหวัดไม่ขัดสน |
จะฉลองคุณท่านเหมือนทานบน | ที่ร้อนรนจะช่วยดับระงับภัย ฯ |
๏ บาทหลวงยิ้มอิ่มเอมเกษมสุข | เหมือนทิ้งทุกข์จากอกสักหกไห |
อ้ายนี้เจ้าตัณหามันพาไป | จะลวงไอ้มังคลาให้พาเมีย |
มาให้มันดูแลอีแม่รัก | แล้วจะหักหาญไว้ให้ได้เสีย |
แม้ดึงดื้อถือตัวทั้งผัวเมีย | จะฆ่าเสียให้มันตายวายชีวง |
ยกเอาเมียให้อ้ายแขกแปลกภาษา | ก็เห็นว่าจะได้สมอารมณ์ประสงค์ |
ใช้ไปตีลังกาบุกป่าดง | อ้ายนี้คงใช้ได้เห็นไม่เชือน |
บาทหลวงว่าอย่าวิตกจะยกให้ | กูว่าไว้แม้นเองไปมิได้เหมือน |
ถ้ามิได้สมคิดจะบิดเบีอน | พูดแชเชือนยกเข้าเอาบุรี |
แกชวนออกนอกห้องได้ตรองตรึก | ที่ตื้นลึกเรียนให้รู้ดูวิถี |
ได้หญิงงามสมประสงค์คงจะดี | ไม่เสียทีเจ้าชู้คำบูราณ |
เขาย่อมว่าอยู่ทุกแห่งเหมือนแมงภู่ | ก็ย่อมรู้กำพืดที่จืดหวาน |
จะมานั่งอยู่ในห้องไม่ต้องการ | ไปคิดอ่านดูทางกลางทะเล |
ท้าวกุลามาลียินดีเหลือ | เพราะว่าเชื่อสารพันไม่หันเห |
ลุกออกจากแท่นทองตรองคะเน | ฟังลิ้นเล่ห์พระอาจารย์เจ้ามารยา |
ด้วยเชื่อถือมิได้แหนงระแวงจิต | เห็นสมคิดท่านการุญบุญนักหนา |
แล้วไปนั่งยังแท่นท้ายเภตรา | กับท่านอาจารย์ครูพลางดูดาว |
บาทหลวงชี้นี่แน่ทิศกำพลเพชร | ตรงดาวเม็ดน้ำมณีมีสีขาว |
ที่ดวงแดงแสงสว่างกระจ่างพราว | คือปากอ่าวรมจักรนัครา |
ที่สีเหลืองเรืองโรจน์ดูโชติช่วง | ขึ้นเด่นดวงสูงสว่างกลางเวหา |
คือฉวากปากอ่าวเมืองลังกา | ตรงดาวม้าแหลมสุหรัดถัดออกไป |
ข้างขวามือชื่อดาวประกายพรึก | อ่าวผลึกมั่นคงอย่าสงสัย |
แกชี้บอกอ่าวเมืองเนื่องกันไป | ตามที่ในแผ่นที่คลี่ให้ดู ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าพาราปตาหวี | ไม่ยินดีครูสอนนึกอ่อนหู |
เฝ้าแต่เปิดรูปเขียนออกเวียนดู | บาทหลวงรู้แยบคายหลายประการ |
อ้ายนี่จับดวงจิตติดกระดูก | เห็นพันผูกวุ่นวายหลายสถาน |
ลงนั่งเซาเหงางึมซึมอยู่นาน | คงเป็นการกูแล้วไม่แคล้วเลย |
เรือก็แล่นใบสล้างมากลางหน | ทั้งไพร่พลมากมายสบายเฉย |
ไม่มัวเมารากทนเพราะคนเคย | ต่างเฉยเมยนั่งมองร้องละคร |
สองเดือนครึ่งก็พอถึงกำพลเพชร | พร้อมกันเสร็จคั่งคับสลับสลอน |
ทั้งไพร่นายฝ่ายพหลพลนิกร | จอดสลอนแลลิ่วเป็นทิวไป ฯ |