- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
๏ จะกล่าวผู้รู้วิชากับวายุพัฒน์ | คิดฝึกหัดปลูกฝังกันทั้งสอง |
อยู่เมืองเซ็นเป็นหมอดูรู้ทำนอง | ได้เงินทองของกำนัลทุกวันไป |
เจ้าเมืองเซ็นเป็นทมิฬชื่อกบิลละ | ลักษณะเหมือนกระบี่ตามวิสัย |
นุ่งห่มดำน้ำเกลี้ยงทั้งเวียงชัย | ผมนั้นไว้ไปล่เหมือนลิงทั้งหญิงชาย |
ชาวลังกาฝรั่งชังภาษา | จึงมิได้ไปมาไม่ค้าขาย |
เกิดเงินทองท้องถิ่นที่ดินทราย | ทำได้ง่ายได้สบายซื้อจ่ายกิน |
ถึงเมียเขาเล่าถ้าตัวผัวไม่อยู่ | ลอบเล่นชู้ก็ได้ดังใจถวิล |
มีบ้านช่องนองเนืองเมืองทมิฬ | ทำด้วยหินศิลาทั้งธานี |
เหนือเมืองนั้นวันหนึ่งไปถึงถ้ำ | มียักษ์ดำโตตาหน้าเหมือนหมี |
ในเรื่องราวกล่าวคำว่าสามปี | มันมาที่เมืองทมิฬเที่ยวกินคน |
ชาวเมืองเซ็นเห็นตัวต่างกลัวยักษ์ | วิ่งคึกคักเข้าไปแฝงทุกแห่งหน |
เจ้าเมืองกบิลละเหลือประจญ | เอาตัวคนโทษออกไปส่งให้ยักษ์ |
มันฉวยฉีกซีกโครงโก้งโค้งเคี้ยว | กระดูกกระเดี้ยวเหนี่ยวแย่งขาแข้งหัก |
ล้วงตับไตไส้พุงพุ่งทะลัก | สองมือควักกลืนกินแลบลิ้นหลาม |
ไม่อิ่มท้องมองหาหูตากลอก | เข้าตามตรอกออกตามทางกลางสนาม |
เห็นชายหญิงวิ่งไขว่มันไล่ตาม | เดินคำรามเวียนรอบขอบกำแพง ฯ |
๏ พอเวลาวายุพัฒน์ไปเที่ยวเล่น | กลับมาเห็นยักษ์กลัวยืนตัวแข็ง |
มันเข้าใกล้ได้กลิ่นก็สิ้นแรง | ล้มตะแคงคุกคลานซมซานไป |
ด้วยหน่อนาถชาติเชื้อผีเสื้อร้าย | ยักษ์ผีพรายเข็ดขามตามวิสัย |
เห็นซบหน้าวายุพัฒน์คิดขัดใจ | ฉวยเอาไม้ไล่ตีมันหนีตัว |
เสียงยักษ์ร้องก้องอึงเหมือนหนึ่งอูฐ | นอนกลิ้งทูตพูดไม่ออกเกลือกกลอกหัว |
มือประนมก้มกราบด้วยหลาบกลัว | พระจิกหัวยักษ์ลากกระชากมา |
ถึงตึกเช่าเข้าดูประตูปิด | ด้วยคนคิดเข็ดยักษ์กลัวหนักหนา |
พระเงื้อไม้ให้มันหมอบยอบกายา | อยู่ตรงหน้าตึกนิ่งไม่ติงกาย |
แล้วเรียกครูสุริยันครั้นมาเห็น | รู้ว่าเป็นบุญของศิษย์เหมือนคิดหมาย |
พวกชาวบ้านร้านตลาดไม่อาจกราย | เห็นยักษ์ร้ายร้องบอกกันออกอึง |
สุริยันนั้นเอาโซ่โตถนัด | วายุพัฒน์มัดแน่นผูกแขนขึง |
จะฆ่าฟันมันก็ยากต้องตรากตรึง | ให้มันถึงที่ตายวอดวายปราณ ฯ |
๏ ฝ่ายนางผีเสื้อเนื้อเป็นหินสิ้นไฟธาตุ | เป็นปิศาจชาติยักษ์ยังรักหลาน |
สำแดงกายกรายมาหน้ากุมาร | จึงแจ้งการก่อนเก่าเล่าให้ฟัง |
อันตัวกูผู้เป็นย่าวายุพัฒน์ | เองอย่ามัดผูกยักษ์อย่ากักขัง |
จงกล่อมเกลี้ยงไว้ใช้กำลัง | ให้ตามหลังดั่งหนึ่งว่าเป็นข้าคน |
กูอยู่ด้วยช่วยเองอย่าเกรงยักษ์ | เรียกหลานรักไปที่ข้างหว่างถนน |
สอนประสิทธิ์ฤทธิเดชให้เวทมนตร์ | บอกแยบยลกลอุบายแล้วหายไป ฯ |
๏ วายุพัฒน์มัสการสงสารย่า | ชลนาแนวนองนั่งร้องไห้ |
แล้วกลืนกลั้นกันแสงคิดแข็งใจ | นึกจำได้เวทมนตร์ดลวิชา |
ไปแก้มัดอสุรินให้กินน้ำ | บริกรรมรังควานอ่านคาถา |
เผอิญยักษ์รักใคร่ไม่ไคลคลา | รู้พูดจาสารภาพก้มกราบกราน |
วายุพัฒน์จัดให้เป็ดไก่หมู | ให้ยักษ์รู้อยู่กินเป็นถิ่นฐาน |
อ้ายยักษ์ยิ้มอิ่มหนำนั่งสำราญ | ฝ่ายอาจารย์จึ่งว่ากับวายุพัฒน์ |
ซึ่งท่านย่ามาช่วยสอนอวยพรให้ | เจ้าจะได้ใช้ทหารผ่านสมบัติ |
เมื่อครั้งปู่สู้กับยายต่างพรายพลัด | นางหลงลัดหลีกทางไปกลางไพร |
ให้ย่องตอดยอดทหารออกต้านต่อ | ปู่กับพ่อก็ไม่หาญผลาญมันได้ |
จึงสงบรบพุ่งทั้งกรุงไกร | นั่งเล่าให้ฟังความตามเอ็นดู ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าประเทศเคยเข็ดยักษ์ | เสียงคึกคักยักษ์ร้องกึกก้องหู |
สักครู่หนึ่งจึงเห็นชายนายประตู | ทูลว่าผู้หนึ่งหนุ่มเดินดุ่มมา |
อ้ายยักษ์โถมโจมจับเข้ารับรบ | มันกลับกลบซบเสือกเกลือกเกศา |
เข้าจิกผมก้มตัวกลัวศักดา | เดี๋ยวนี้พาเอาอ้ายยักษ์มากักไว้ |
พระยินดีปรีดาสั่งข้าเฝ้า | ไปหาเขาเล่าให้แจ้งแถลงไข |
เชิญมาหาสักหน่อยอย่าน้อยใจ | เราจะได้ให้ลูกสาวเป็นเจ้านาย |
ฝ่ายเสนีดีใจไปเป็นหมู่ | ถึงตึกอยู่หน่อนาถเหมือนมาดหมาย |
เห็นยักษ์หมอบยอบตัวต่างกลัวตาย | บ้างว่านายยึดยักษ์ไว้สักที |
ฉันจะได้ไปหาพูดจาด้วย | มันจะฉวยฉีกเนื้อเหมือนเสือหมี |
สุริยันนั้นว่าไม่เป็นไรมี | เราอยู่นี่แล้วเข้ามาเถิดอย่ากลัว |
พวกขุนนางต่างขยับแล้วกลับถอย | ยึดไว้หน่อยเถิดพ่อคุณพ่อทูนหัว |
พระหน่อไทไปรับยักษ์กลับตัว | ขุนนางกลัวล้มลุกลงคลุกคลาน |
แล้วบอกความถามไต่คนไหนหนุ่ม | ที่จับกุมยักษาแกล้วกล้าหาญ |
ให้เชิญไปในพระโรงพระโองการ | จะประทานพระธิดาด้วยปรานี ฯ |
๏ ฝ่ายสุริยันนั้นจึงว่าวายุพัฒน์ | จับมาหัดฝึกไว้มิให้หนี |
ได้ใช้สอยค่อยแข็งเรี่ยวแรงมี | เมื่อไปไหนจะได้ขี่มันนี้ไป |
ซึ่งพระองค์ทรงเมตตาวายุพัฒน์ | ไม่ข้องขัดวาสนาอัชฌาสัย |
แต่หนุ่มนักจักเข้าเฝ้าไม่เข้าใจ | จะพาไปได้ช่วยทูลมูลิกา |
แล้วจัดแจงแต่งงามเป็นพราหมณ์เทศ | ให้ผิดเพศพวกสิงหลภาษา |
สุริยันนั้นว่าเจ้าเหล่าเสนา | จงนำหน้าพาไปเข้าในวัง |
วายุพัฒน์ตรัสเรียกรากโษสบอก | มันแบกออกเดินวามไปตามหลัง |
ดูสูงเทิ่งเบิ่งหน้าละล้าละลัง | ชาวเมืองทั้งปวงวิ่งเป็นสิงคลี |
พวกขุนนางต่างห้ามปรามทั้งหลาย | ยักษ์ไม่ร้ายชายหญิงอย่าวิ่งหนี |
ยิ่งห้ามยิ่งวิ่งล้มไม่สมประดี | จนถึงที่แถวทิมริมปราการ |
พระลงจากรากโษสเอื้อนโอษฐ์สั่ง | เองหยุดยั้งคอยท่าที่หน้าฉาน |
ฝ่ายเสนาพาเข้าไปในพระลาน | แล้วกราบกรานทูลแถลงแจ้งคดี |
หนุ่มคนนี้ที่ปราบกำราบยักษ์ | มันกลัวนักรักใคร่มิได้หนี |
ดูชิดเชื้อเมื่อพามาเดี๋ยวนี้ | เธอก็ขี่ยักษ์มาอยู่หน้าวัง ฯ |
๏ ท้าวทมิฬยินดีว่าวิเศษ | เป็นพราหมณ์เทศเวทมนตร์ดลจึ่งขลัง |
พลางเรียกมาหน้าสุวรรณบัลลังก์ | แล้วว่ายังหนุ่มน้อยแช่มช้อยชด |
เราจะใคร่ให้ลูกช่วยปลูกฝัง | เป็นที่ตั้งวังหน้าให้ปรากฏ |
ช่วยว่าขานการเมืองรุ่งเรืองยศ | หรือโอรสเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร |
๏ พระนบนอบตอบความตามทำเนียบ | พระคุณเปรียบดินฟ้าจะหาไหน |
ซึ่งออกโอษฐ์โปรดปรานประการใด | จะรับใส่เศียรสิ้นด้วยยินดี |
พระฟังตอบชอบชื่นไม่ขืนขัด | จึงให้จัดปรางค์มาศปราสาทศรี |
ยานุมาศราชรถพระกลดมี | ประทานที่วังหน้าให้ถาวร |
แล้วองค์ท้าวเข้าในที่ไสยาสน์ | ตรัสเรียกราชเทวีศรีสมร |
มาปรึกษาว่าบุตรีศศิธร | ได้ฝึกสอนชันษาสิบห้าปี |
จะยกให้ฝ่ายหน้าวายุพัฒน์ | สืบกษัตริย์อัติเรกภิเษกศรี |
ดูน่าชมสมกันขยันดี | ให้บุตรีมียศปรากฏไป |
ศศิธรผ่อนตามความรับสั่ง | จะปลูกฝังพระธิดาบัญชาไฉน |
สุดแท้แต่จะประสงค์จำนงใจ | ตามพระทัยไม่ขัดพระอัชฌา ฯ |
๏ ท้าวทมิฬยินดีเป็นที่ยิ่ง | ถนอมมิ่งเมียขวัญด้วยหรรษา |
เหมือนอย่างเคยเชยชมภิรมยา | แสนสนิทนิทราในราตรี |
ครั้นรุ่งตื่นฟื้นองค์สรงสนาน | ออกที่นั่งสั่งการภิเษกศรี |
ให้จัดแจงแต่งโรงราชพิธี | ประเพณีที่จะสมภิรมย์รัก |
อันเมืองเซ็นเป็นคู่ได้สู่ขอ | ฝ่ายแม่พ่อก็อุ้มนางไปวางตัก |
ชายกอดแอบแนบชิดจุมพิตพักตร์ | ให้คนเห็นเป็นว่ารักด้วยภักดี |
จึ่งตีฆ้องกลองประโคมเมื่อโลมเล้า | แล้วจึงเอาเจ้าบ่าวอุ้มสาวศรี |
เดินเวียนวนจนรอบขอบพิธี | พาไปที่ที่จะอยู่เป็นคู่กัน |
แล้วเผ่าพงศ์วงศ์วานเพื่อนบ้านช่อง | เอาสิ่งของทองคำไปทำขวัญ |
โรงพิธีนี้ก็สร้างทำอย่างนั้น | ตั้งแท่นกั้นชั้นฉัตรจำรัสเรือง |
ถึงวันฤกษ์เบิกอรุณหมื่นขุนพร้อม | ทั้งเจ้าจอมหม่อมในวังมาตั้งเครื่อง |
พวกชาวบ้านร้านช่องมานองเนือง | ด้วยนับถือลือเลื่องทั้งเมืองเซ็น |
มาคอยดูอยู่ก็มากอยากใคร่รู้ | เสกสมสู่คู่เชยไม่เคยเห็น |
คนเดินหลามตามทางไม่ว่างเว้น | ได้ฤกษ์เย็นย่ำฆ้องบ่ายสองโมง ฯ |
๏ วายุพัฒน์จัดองค์ทรงเครื่องต้น | ขึ้นนั่งบนเบาะรองแท่นทองโถง |
คนดูชมคมคายเหมือนนายโรง | บ้างร้องชะต๊ะโต๋งโหน่งหยิบโหย่งครัน |
ฝ่ายองค์อัครเทวีศรีสมร | แต่งศศิธรบุตรีผ่องศรีสรรพ์ |
ด้วยข้างหน้าพานเรศตามเพศพันธุ์ | ทรงน้ำกลั่นกันโขนงให้โก่งค้อม |
ทั้งสองแก้มแต้มจันทร์กระแจะลูบ | เมื่อส่งตัวผัวจะจูบจะได้หอม |
ใส่เสื้อทองรองนวมให้กรวมกรอม | ผ้าห่มห้อมหุ้มเฉลียงเฉวียงองค์ |
ท้าวกบิลยินดีเป็นที่สุด | ประคองบุตรสุดสงวนนวลหง |
พร้อมสุรางค์นางนาฏพระญาติวงศ์ | อุ้มไปส่งโรงราชพิธี ฯ |
๏ เจ้าบ่าวท้าวค่อยวางลงกลางตัก | นางก้มพักตร์ผัวประโลมกอดโฉมศรี |
พระจูบปรางนางข้างละสามที | พวกดนตรีปี่พาทย์ฆาตประโคม |
โห่สนั่นลั่นฆ้องเสียงก้องกึก | มโหระทึกครึกครึ้มกระหึมโหม |
ดูนางบ้างว่างามทรามประโลม | บ้างชมโฉมชายงามว่าพราหมณ์ดี |
ครั้นสำเร็จเสร็จภิเษกเอกฉัตร | วายุพัฒน์อุ้มธิดามารศรี |
เดินเวียนรอบขอบมณฑลพิธี | แล้วไปที่แท่นทองห้องมนเทียร |
ค่อยวางนางกลางสุวรรณบรรจถรณ์ | นางศศิธรนอบนบหมอบซบเศียร |
พระแลเล็งเพ่งพิศสะอิดสะเอียน | ดูเพี้ยนเพี้ยนพานเรศเวทนา |
เนตรก็กลมผมไว้ทั้งใบหู | ปลายแหลมชูดูสกนธ์ขนนักหนา |
เสียดายเหลือเชื้อชาติราชธิดา | แต่ไม่น่าแนบชิดสนิทใน |
จึงเสแสร้งแกล้งว่าเวลานี้ | ในใจพี่ริ้วริ้วหวิวหวิวไหว |
แล้วเอนองค์ลงสะท้อนถอนฤทัย | นางตกใจไหว้กราบไม่หยาบคาย |
เป็นไรพระประทมหรือลมจับ | จะให้รับหมอมาทำยาถวาย |
อยู่งานนวดปวดที่ไหนจะได้คลาย | พลางต้องกายหมายว่าเป็นสามี |
พระห้ามปรามตามกระบวนอย่ากวนหมอ | เจ็บไม่พอหนักหนาดอกมารศรี |
อย่านวดเลยเคยเป็นอยู่เช่นนี้ | แล้วทำทีหิวระหวยระทวยองค์ |
ด้วยได้เมียเสียใจมิได้ชื่น | สู้กลั้นกลืนขืนจิตคิดประสงค์ |
ให้ง่วงเหงาเศร้าซูบทั้งรูปทรง | ไม่แต่งองค์สรงเสวยเลยนิทรา ฯ |
๏ ฝ่ายสุริยันนั้นอยู่ตึกช่วยฝึกยักษ์ | หลายวันนักไม่เห็นศิษย์คิดกังขา |
จึงบังเงาเข้าไปห้องไสยา | เห็นพระวายุพัฒน์นั้นนิ่งบรรทม |
อยู่องค์เดียวเปลี่ยวจิตเห็นผิดอย่าง | ไม่เห็นนางลูกท้าวสาวสนม |
ดูผิดรูปซูบผอมเหมือนตรอมตรม | ปลุกประทมไต่ถามตามสงกา |
พระเป็นไรไม่ออกนั่งบัลลังก์อาสน์ | ไม่ประภาษราชการนานนักหนา |
ดูเผือดผิวหิวโหยเห็นโรยรา | หรือโรคาขัดขวางเป็นอย่างไร ฯ |
๏ พระฟังครูสุริยันให้อั้นอัด | สุดจะขัดตรัสแจ้งแถลงไข |
เหมือนมืดสิ้นดินฟ้าสุราลัย | ไม่เหมือนจิตคิดไว้สุดใจจริง |
เมื่อแรกเริ่มเดิมว่าธิดาราช | ก็หมายมาดคาดว่าเลิศประเสริฐหญิง |
มาพลิกไพล่ได้นางเหมือนอย่างลิง | จะแอบอิงพิงเบียดก็เกลียดอาย |
ประเดี๋ยวนี้วิตกอกจะแตก | เหมือนจะแทรกดินไปเสียให้หาย |
เขาว่ามีเมียผิดคิดจนตาย | ต้องอับอายขายหน้าระอาใจ |
ครูหัวร่อพ่อคิดให้ผิดอย่าง | เหมือนลิงค่างอย่างนี้หาที่ไหน |
แต่ก่อนเคยเชยโฉมประโลมใจ | ก็กลับไกลมิได้อยู่เป็นคู่ครอง |
เดี๋ยวนี้พ่อก็ไม่มีที่จะเห็น | เที่ยวซ่อนเร้นเย็นเช้าโศกเศร้าหมอง |
ได้ลูกสาวเจ้าเมืองรุ่งเรืองรอง | เหมือนเรือคล่องล่องน้ำลอยลำฟู |
ถึงธิดาน่าเกลียดมีเกียรติยศ | ได้ลือชาปรากฏไม่อดสู |
แต่รูปร่างอย่างย่าไม่น่าดู | ปู่ไปอยู่คู่คงสืบวงศ์วาน |
จนเกิดพ่อประเสริฐมาเกิดเจ้า | เดี๋ยวนี้เล่าย่าก็มารักษาหลาน |
อย่ารังเกียจเกลียดเมียจะเสียการ | จงคิดอ่านหว่านพืชให้ยืดยืน |
การทั้งปวงเราข้างหน้ามากกว่าหลัง | คิดถึงวังลังกาอุตส่าห์ฝืน |
ถึงฝาดฝืดจืดเค็มที่เต็มกลืน | อย่าคายคืนขืนข้ามไปตามเกิน |
ถ้าเสียเมียเสียเกลือเนื้อจะเน่า | การของเราเล่าจะค้างเพราะห่างเหิน |
ถึงลิงค่างช่างเถิดพ่อพอเพลิดเพลิน | อย่างหมางเมินเขินขามไปตามจน ฯ |
๏ พระนิ่งนั่งฟังครูค่อยรู้สึก | คิดตรองตรึกนึกเห็นจะเป็นผล |
จึ่งว่าฉันฟั่นเฟือนเหมือนมืดมน | ค่อยเห็นหนทางนำจะจำจร |
สุริยันครั้นเห็นรับกลับไปตึก | พระนั่งนึกตรึกคำที่ร่ำสอน |
พอโพล้เพล้เทวีศศิธร | มาอ้อนวอนให้เสวยเครื่องเนยนม |
พระตรัสตอบขอบจิตขนิษฐ์น้อง | พี่กินของอื่นอื่นก็ขื่นขม |
ต้องเหินห่างวางเว้นเพราะเป็นลม | ขอเชยชมโฉมหอมถนอมนวล |
พลางแนบเน้นเคล้นเคล้าทั้งเศร้าซูบ | ประจงจูบลูบต้องประคองสงวน |
นางพรายพริ้มยิ้มเยือนเบือนกระบวน | พระประชวรหวนหักจะหนักไป ฯ |
๏ พระว่ารู้อยู่ว่ารักนั้นหนักยิ่ง | แม่ยอดหญิงมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว |
พลางสวมสอดกอดน้องทำนองใน | ตามวิสัยในแผ่นดินสิ้นทั้งปวง |
ประเวณีมิได้มีใครสั่งสอน | นางศศิธรอ่อนตามไม่ห้ามหวง |
เหมือนมาลีคลี่คลายขยายดวง | ไม่มีด้วงแลงแล่นต่อแตนตอม |
แต่แมงภู่รู้รสอตส่าห์แทรก | บ้างว่ายแหวกกลีบเผยระเหยหอม |
เหมือนเช่นชายหมายหญิงต่างยิงยอม | ไม่อดออมอิ่มหนำแสนสำราญ ฯ |
๏ เมื่อแรกเริ่มเดิมเกลียดครั้นเสียดสี | กลับเป็นดีที่ถนอมเหมือนหอมหวาน |
ทั้งชายหญิงสิ่งสังวาสชาติน้ำตาล | ใครพบพานกล้ำกลืนกลับชื่นใจ |
หญิงเมืองเซ็นเช่นลิงก็จริงอยู่ | ใครสมสู่คู่คงลุ่มหลงใหล |
ลืมลังกานารีรูปวิไล | ต้องติดใจสาวสาวชาวเมืองเซ็น |
เป็นวิสัยในมนุษย์บุรุษเอ๋ย | ไม่แคล้วเลยเคยคบได้พบเห็น |
ถึงรูปชั่วตัวดำมันจำเป็น | เว้นแต่เช่นเป็นกะเทยละเลยรัก |
เหมือนเรื่องราวกล่าวว่าวายุพัฒน์ | ได้สมบัติบุตรีเป็นศรีศักดิ์ |
ตั้งตึกใหญ่ให้ครูอยู่กับยักษ์ | ค่อยรู้จักภาษาพูดจากัน |
ให้มีคนปรนนิบัติซื้อสัตว์ไว้ | ตามวิสัยอ้ายยักษ์มักกระสัน |
อูฐควายม้าลาวัวตัวละวัน | เนื้อทรายสมันหมูหมีต้องสี่ตัว |
มันกินดิบหยิบเชือดสูบเลือดสด | กระดูกกระเดี้ยวเคี้ยวหมดทั้งหางหัว |
เดินปะปนคนทั้งหลายค่อยคลายกลัว | มันแต่งตัวตามเขาชาวเมืองเซ็น ฯ |
๏ ฝ่ายวายุพัฒน์จัดแก้วแววสว่าง | แกะรูปร่างนางผีเสื้อเหมือนเมื่อเห็น |
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนนางเหมือนอย่างเป็น | ไว้ยอดเช่นชื่อวัปะหามาลาทรง |
แม้นแปลเป็นคำไทยพวกไพร่พลอด | ว่าไว้ยอดหมวกตามความประสงค์ |
ทั้งเครื่องบวงสรวงย่าเชิญมาลง | สิงรูปทรงจงประจำให้สำราญ ฯ |
๏ ฝ่ายผีเสื้อเมื่อเขาบวงสรวงก็รู้ | มาสิงสู่ยอดมาลารักษาหลาน |
ถึงเวลาวายุพัฒน์มัสการ | ก็บันดาลดั่งหนึ่งเช่นเป็นมนุษย์ |
ดูพรายพริ้มยิ้มแย้มแจ่มกระจ่าง | เหมือนเยื้องย่างอยู่ที่หินกระสินธุ์สมุทร |
เป็นเงางอกออกด้วยจิตฤทธิรุทร | ยังไม่สุดสิ้นอายุอสุริน |
วายุพัฒน์จัดทหารชำนาญศึก | ด้วยตรองตรึกนึกคิดเป็นนิจสิน |
ได้ไพร่นายร้ายกาจชาติทมิฬ | ท้าวกบิลอวยให้เหมือนใจปอง ฯ |