๕. ตอนสิ้นเคราะห์

สุนทรภู่จะตกยากอยู่สักกี่ปี ข้อนี้ไม่ทราบชัด ปรากฏแต่ว่าพ้นทุกข์ยากด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรานีโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิม ซึ่งเป็นที่เสด็จประทับในสมัยนั้น และต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามากอีกพระองค์หนึ่ง ทรงอุปการะด้วยเหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจะทรงอุปการะสุนทรภู่นั้นกล่าวกันว่าเดิมได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี (ชะรอยจะได้หนังสือมรดกของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โดยเป็นอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากัน) ชอบพระหฤทัย ทรงเห็นว่าเรื่องที่แต่งไว้ยังค้างอยู่ จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงต่อไป สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีมาได้ ๔๙ เล่มสมุดไทยหมายจะจบเพียงพระอภัยมณีออกบวช (ความตั้งใจของสุนทรภู่เห็นได้ชัดในหนังสือที่แต่งนั้น) แต่กรมหมื่นอัปสรฯ มีรับสั่งให้แต่งต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้สุนทรภู่จึงต้องคิดเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องออกไปจนจบต่อเล่มที่ ๙๔ แต่พิเคราะห์ดูเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังสำนวนไม่ใช่ของสุนทรภู่คนเดียว เล่ากันว่ากรมหมื่นอัปสรฯ มีรับสั่งให้แต่งถวายเดือนละเล่ม ถ้าเช่นนั้นจริงก็จะเป็นด้วยสุนทรภู่เบื่อ หรือถูกเวลามีกิจติดขัดแต่งเองไม่ทัน จึงวานหาศิษย์ให้ช่วยแต่งก็จะเป็นได้ นอกจากเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่เเต่งเรื่องสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง หนังสือนั้นจึงขึ้นต้นว่า “ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง” ดังนี้ แต่แต่งค้างเพียง ๑๕ เล่มสมุดไทย ชะรอยจะหยุดเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๘๘[๑]

ในระยะเวลาเมื่อสุนทรภู่อยู่ในอุปการะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหมื่นอัปสรฯ นั้น ได้ไปพระปฐมเจดีย์[๒] จึงแต่งนิราศพระประธม[๓]อีกเรื่องหนึ่ง ไปคราวนี้บุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน สังเกตสำนวนในนิราศเห็นได้ว่าแต่งโดยใจคอชื่นบานกว่าเมื่อแต่งนิราศพระเเท่นดงรัง กล่าวถึงประวัติในเรื่องนิราศพระประธมนี้ว่า แตกกับภรรยาคนที่ชื่อม่วง และกล่าวกลอนตอนแผ่ส่วนกุศลท้ายนิราศ มีครวญถึงพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า

“แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน กรวดวารินรดคำทำอักษร
ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร ถึงบิดรมารดาครูอาจารย์
ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จสู่บุรีนีฤพาน เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน
สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก น้ำตาตกตายน้อยสักร้อยหน
ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน”

ต่อนี้กล่าวถวายพระพรถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ว่า

“ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์ ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา
จึงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา ชนมาหมื่นแสนอย่าเเค้นเคือง”

ต่อมาเห็นจะเป็นเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สุนทรภู่ทูลรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของต้องพระประสงค์ที่เมืองเพชรบุรี แต่จะเป็นของสิ่งใดหาปรากฏไม่ ได้แต่งนิราศเมืองเพชรบุรี[๔]อีกเรื่องหนึ่ง เป็นนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่ นับถือกันว่าแต่งดีถึงนิราศภูเขาทองอันเป็นอย่างยอดเยี่ยมในนิราศของสุนทรภู่ กล่าวความไว้ในกลอนข้างตอนต้นว่า

“อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นหวาน
ลงนาวาหน้าวัด[๕]นมัสการ อธิษฐานถึงพระคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา”

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ ที่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ว่า มีบุตรน้อยไปด้วยอีกคนหนึ่งชื่อนิล ชะรอยจะเป็นลูกมีกับภรรยาที่ชื่อม่วง บุตรคนใหญ่ที่ชื่อพัดนั้นก็ไปด้วย ถึงตอนนี้เป็นหนุ่มแล้ว แต่บุตรที่ชื่อตาบไม่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ อนึ่งในเวลาเมื่อสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีคราวนี้ เป็นเวลาอยู่ตัวคนเดียวไม่มีภรรยา ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในนิราศหลายแห่ง มักจะว่าน่าฟัง จะคัดมาพอเป็นตัวอย่าง

“ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ”

อีกแห่งหนึ่งว่า

“โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
ช่างเป็นไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้ ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง
จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง เป็นแต่พึ่งวาสนาพอพาใจ”

ตรงเมื่อถึงอ่าวยี่สาน ว่าด้วยหอยจุ๊บแจง เอาคำเห่เด็กของเก่ามาแต่งเป็นกลอนก็ว่าดี

“โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผงฤทธิ์เขาปลิดมา กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งช้างงวงช้างงาออกมากิน ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก”

ถึงรัชกาลที่ ๔ พอพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งสุนทรภู่ให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร คงใช้ราชทินนามตามที่ได้พระราชทานเมื่อรัชกาลที่ ๒ เวลานั้นสุนทรภู่อายุได้ ๖๖ ปี

หนังสือสุนทรภู่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีปรากฏ ๒ เรื่อง คือบทละครเรื่องอภัยนุราช[๖] แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัว เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ เรื่องหนึ่ง กับเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้แต่งอีกเรื่องหนึ่ง เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย นอกจากนี้ยังมีบทเห่สำหรับกล่อมเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ กล่าวกันว่าบทเห่[๗]เรื่องจับระบำกับบทเห่เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณีและเรื่องโคบุตรเป็นของสุนทรภู่แต่ง บทเห่เหล่านี้จะแต่งเมื่อใด ดูโอกาสที่สุนทรภู่จะเเต่งมีอยู่ ๓ คราว คือแต่งสำหรับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณคราวหนึ่ง หรือสำหรับกล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คราวหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็แต่งถวายสำหรับกล่อมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คราวหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็แต่งถวายสำหรับกล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดี เมื่อในรัชกาลที่ ๔ บทเห่กล่อมของสุนทรภู่ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั่วทั้งพระราชวังจนตลอดรัชกาล

ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เป็นที่พระสุนทรโวหาร รับราชการอยู่ ๕ ปี ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีอายุได้ ๗๐ ปี[๘]



[๑] เข้าใจว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งเรื่องสิงหไตรภพ ตอนต้น ๆ (ถวาย ๙ เล่ม สมุดไทย) ขึ้นก่อนนี้ และแต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้จากสำนวนการประพันธ์ดังบันทึกข้างต้น แต่ตอนท้ายๆ อาจแต่งต่อในตอนหลังและในตอนหลังๆ นี้บางทีจะแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ – ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล เห็นว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งสิงหไตรภพ ตั้งแต่อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี มาแต่งต่อเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ แต่งถวายกรมหลวงพิทักษ์มนตรีในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๕ – ๒๓๖๓ ก่อนเข้ารับราชการ และเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้รัชกาลที่ ๒ ทรงทราบความสามารถของสุนทรภู่

พ.ณ ประมวญมารค เสนอว่ามีผู้เล่าว่า สุนทรภู่แต่งสิงหไตรภพประชันกับบทละครเรื่องไกรทองของรัชกาลที่ ๒ พิจารณากลอนตอนต้นเรื่อง มีลีลาเพลงยาวปนอยู่มาก คงแต่งในรัชกาลที่ ๒ และแต่งภายหลังเรื่องลักษณวงศ์ ส่วนตอนหลังๆ นับแต่สมุดไทยต้นฉบับเล่มที่ ๑๒ ลีลาเป็นกลอนอ่าน คงแต่งภายหลังเรื่องพระอภัยมณี – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๒] เข้าใจว่า ไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ออกเรือเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สุนทรภู่เห็นจะเพิ่งสึกออกจากพระในปีนี้ ธนิต อยู่โพธิ์

[๓] ธนิต อยู่โพธิ์ และ ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งเมื่อไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ในปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ส่วน พ.ณ ประมวญมารค ว่า แต่งในปีฉลูก่อนสึก – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๔] ธนิต อยู่โพธิ์ ว่า แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๘ – ๒๓๙๒

ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ ในรัชกาลที่ ๓ ขณะบวชเป็นภิกษุอยู่วัดอรุณราชวราราม แล้วอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปขอสิ่งของแทนความรักจากลูกสาวขุนแพ่งที่เพชรบุรี

พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ คราวไปเมืองเพชรบุรี ขณะนั้นบวชจำพรรษาอยู่วัดราชบุรณะ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๕] วัดอรุณฯ ริมพระราชวังเดิม – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๖] ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่คงใช้ให้ศิษย์แต่งบทละครเรื่องอภัยนุราช แล้วตรวจแก้ให้ เมื่อมีโอกาสจึงถวายพระองค์เจ้าดวงประภา หรือถ้าสุนทรภู่แต่งเอง ก็คงแต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๕ – ๒๓๙๓

พ.ณ ประมวญมารค อ้างว่า ในพระนิพนธ์คำนำเรื่องเทพวิไล ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่าบทละครเรื่องอภัยนุราชนี้ พระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) บุตรพระยามณเฑียรบาล (บัว) แต่งขึ้นและพระยาเสนาภูเบศร์คงเป็นศิษย์ของสุนทรภู่ แต่งแล้วคงขอให้สุนทรภู่ตรวจแก้ให้ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๗] พ.ณ ประมวญมารค ว่าบทเห่กล่อมเรื่องจับระบำ เรื่องกากี และเรื่องโคบุตรแต่งในรัชกาลที่ ๒ ส่วนเห่เรื่องพระอภัยมณีสันนิษฐานว่า แต่งเมื่อสึกแล้ว หรือแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำหรับกล่อมบรรทมหม่อมเจ้าโสมนัส ธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อภายหลังพระธิดาประสูติได้ไม่ถึงปี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพผู้เป็นป้าทรงรับไปเลี้ยง – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๘] มีบางท่านบอกว่าผู้สืบสกุลของสุนทรภู่ต่อมา ใช้นามสกุลว่า “ภู่เรือหงษ์” – ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สุนทรภู่ถึงแก่กรรม ณ บ้านที่ตนได้รับพระราชทาน อยู่ที่บริเวณพระบวรราชวัง (วังหน้า) และศพคงได้รัลพระราชทานเพลิงที่วัดสระเกศ หรือวัดสุวรรณารามวัดใดวัดหนึ่ง

พ.ณ ประมวลมารค มีความเห็นเพิ่มเติมว่าในรัชกาลที่ ๔ สุนทรภู่ไปอาศัยอยู่ที่บ้าน พระยามณเฑียรบาล (บัว) ซึ่งอยู่ใกล้เขตพระราชวังเดิมธนบุรี ด้านหลังตกคลองวัดท้ายตลาด และสุนทรภู่อยู่ที่บ้านหลังนี้จนกระทั่งถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ