- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าชวาอาณาเขต | เธอตรองเหตุคาดในใจบาทหลวง |
แกเป็นคนหมอความข้างลามลวง | จำจะท้วงดูสักครั้งฟังคดี |
แล้วจึ่งว่าถ้าเช่นนั้นดั่งมั่นหมาย | การอุบายยังไม่เห็นเหมือนเช่นผี |
ที่จะมาหลอกลวงดูท่วงที | อันข้านี้ตรองไม่เห็นอย่างเจรจา ฯ |
๏ บาทหลวงฟังถ่มน้ำลายว่าอ้ายโง่ | มึงชาติโคชาติแขกแปลกภาษา |
ดีแต่ไม่กินหมูดูหูตา | หาปัญญาสักเท่าเล็นไม่เห็นมี |
ได้แต่ข้างกินแพะกับแกะไก่ | ยัดเข้าไปพลามพลามใช้หามผี |
ชะมาช่วยเขยขวัญขยันดี | อ้ายแขกตี้พูดจาไม่น่าฟัง |
กูติดว่าเป็นผู้ใหญ่ได้ปรึกษา | มิรู้หน้าโง่ผีตาขี้ถัง |
ชอบแต่กวาดฝุ่นฝอยคอยระวัง | เขาจะนั่งเปื้อนกันขนเอาไป |
เองพูดจาสารพัดขัดจังหวะ | แกเอะอะเดือดด่าไม่ปราศรัย |
ชอบแต่ให้เขยถองลองดูใจ | มันจะไปฟ้องหาว่าด่าทอ |
เฮ้ยอ้ายเจ้ามังคลาสานุศิษย์ | จะชอบผิดปรับไหมไฉนหนอ |
อ้ายคนโง่เองอย่างดกดต้นคอ | ถองอ้ายพ่อตาเล่นถึงเป็นความ |
มันจะฟ้องหาเองอย่าเกรงพรั่น | ผิดก็ท่านทำมะรงเขาคงถาม |
อ้ายพ่อตาเช่นนี้ไม่มีความ | แขกส่ำสามท้าวรายามึงอย่ากลัว |
แกแค้นเคืองเรื่องราวที่กล่าวขัด | นั่งอึดอัดคิดกำจัดใคร่ตัดหัว |
แล้วลุกเข้าไปในห้องให้หมองมัว | ปะคนชั่วสารพัดพูดขัดใจ |
แล้วเรียกพระมังคลาสานุศิษย์ | เองจงคิดผันแปรคิดแก้ไข |
อ้ายแขกพ่อตาเองไม่เกรงใจ | พูดพิไรสารพัดทั้งขัดคอ |
แม้นนานไปอ้ายนี่ทีจะบิด | เหมือนงูพิษเป็นศัตรูคงสู้หมอ |
มิกำจัดเสียให้ห่างจะขวางคอ | เกิดหลักตอขึ้นเปล่าเปล่าไม่เข้ายา |
แต่แรกกูดูเหมือนเป็นผู้ใหญ่ | ก็ไว้ใจมันทุกสิ่งจริงจริงหวา |
มิรู้โง่สิ้นอย่างใช่ช้างงา | มันชาติกามิใช่หงส์อย่าหลงเลย ฯ |
๏ ฝ่ายมังคลาว่าเขามาเป็นเพื่อนยาก | สู้ลำบากอุดหนุนเจ้าคุณเอ๋ย |
เขาก็มีบุญคุณได้คุ้นเคย | จะให้เขยไล่พ่อตาก็น่าชัง |
แกเดือดด่าว่าอ้ายนี่มาพูดแก้ | ทำกอแกโกโรพูดโอหัง |
ยกความชอบให้แก่มันดันทุรัง | จะไปนั่งเกรงใจมำไมมี |
ช่างหัวมันเป็นไรกับอ้ายแขก | อ้ายพวกแปลกศาสนาฆ่าฤๅษี |
ไม่บาปดอกหนาหวาใครฆ่าตี | แม้นมึงมิไล่ไปกูไม่ฟัง |
แกด่าเปรี้ยงเสียงอึงคะนึงก้อง | ออกจากห้องตึกใหญ่ดั่งใจหวัง |
ตวาดก้องร้องเปรี้ยงขึ้นเสียงดัง | กูนึกหวังว่าจะดีมีปัญญา |
มิรู้ว่ามันเคอะดูเปรอะประ | จริงจริงวะอยู่ไม่ได้ไปเสียหวา |
จะมานั่งกองขัดตัดตำรา | ล้างปัญญากูไปหมดต้องอดโซ |
จงกลับไปบ้านเมืองให้เรืองยศ | อ้ายชาติมดมักหวานดาลโทโส |
จะมาทำเอาแต่จิตอิศโร | พูดโยโสสารพัดขัดอารมณ์ ฯ |
๏ ท้าวรายาแค้นคำแต่จำจิต | นั่งกรดกริชเสียบรุมกันทุ่มถม |
ฟังวาจาก็ไม่น่าสมาคม | มันโสมมหยาบคายหลายประการ |
แล้วลุกจากตึกใหญ่ไปข้างล่าง | พร้อมขุนนางน้อยใหญ่ได้สงสาร |
พระเทวสินธุ์ยินคำให้รำคาญ | จึ่งว่าหลานก็ไม่อยู่จะสู้ไป |
แต่จะทูลบิตุรงค์ผู้ทรงเดช | จะโปรดเกศโองการสถานไหน |
จะมานั่งเจ็บช้ำระกำใจ | หลานจะไปด้วยกันดั่งสัญญา |
แล้วพระหน่อเทวสินธุ์นรินทร์ราช | แลเห็นบาทหลวงแสนแค้นนักหนา |
เป็นจนจิตคิดว่าครูบิดา | หาไม่ฆ่าเสียให้ตายวายชีวัน |
มันชาติคนเกเรเดรฉาน | จึ่งเกิดการวุ่นไปทั้งไอศวรรย์ |
พลางลุกไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | ทูลรำพันลาไปอยู่ในเรือ |
แม้นขุกเข็ญจึ่งจะกลับมารับรบ | ช่วยสมทบชิงชัยข้างฝ่ายเหนือ |
ทั้งเจ้าตาจะทูลลาลงไปเรือ | ต้องหนีเสือเสียสักครั้งไปฝั่งชล ฯ |
๏ พระมังคลาว่าพ่อก็จนจิต | เหลือจะคิดสารพัดจะขัดสน |
แกไม่ฟังเสียงมนุษย์เห็นสุดจน | ต้องสู้ทนลำบากต้องยากเย็น |
ด้วยจนใจไกเป็นครูแต่อยู่นี่ | ครั้นจะมิทำตามก็ยามเข็ญ |
แกตั้งกองแช่งด่าน้ำตากระเด็น | มิได้เว้นวันหลังตั้งแต่มา |
เจ้าจะไปตามใจเถิดลูกรัก | แต่ไปพักอยู่ที่เกาะคอยเสาะหา |
จงยับยั้งฟังการด่านชลา | แม้นพลาดท่าก็จะได้ไปด้วยกัน ฯ |
๏ พระเทวสินธุ์กราบก้มบังคมทราบ | ค่อยลีลาศลงไปรีบผายผัน |
พอสุริยนสนธยาเกือบสายัณห์ | ก็ชวนกันสามองค์ไปลงเรือ |
ท้าวรายาพาพระหน่อวรนาถ | กับอำมาตย์รีบไปมิได้เหลือ |
แต่บรรดามาด้วยกันเคยจานเจือ | กลับไปเรือมิได้อยู่ทุกผู้คน ฯ |
๏ ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส | สังฆราชว้าเหว่ระเหระหน |
เห็นพวกแขกหายไปทั้งไพร่พล | ต้องอั้นอ้นอยู่ในใจไม่สบาย |
หวนรำลึกนึกได้เพราะไล่เขา | คนบางเบาเต็มทีทั้งหนีหาย |
ฉวยข้าศึกชุลมุนมาวุ่นวาย | แล้วเรียกนายกองฝรั่งมาสงคราม |
เองรักษาหน้าที่อย่าหนีหลบ | กระบวนรบตรวจให้เสร็จอย่าเข็ดขาม |
คิดล้อมวงจงระวังให้นั่งยาม | เอาเพลิงตามไว้ทุกช่องคอยป้องกัน |
พอรุ่งเช้าเอาหญ้าขึ้นมาไว้ | กูจะได้ผูกพยนต์พลขันธ์ |
ครั้นสั่งเสร็จจวนจะศึกขึ้นตึกพลัน | ให้หวั่นหวั่นวิญญาณ์ยิ่งอาวรณ์ |
เข้าห้องหับจับตำราออกมาคลี่ | ดูแผนที่ลังกาหน้าสิงขร |
ถิ่นประเทศเขตแคว้นแดนนคร | เห็นทางจรที่จะรับกองทัพไทย |
แกว่าเหวยมังคลาเข้ามานี่ | กูจะชี้แถวทางหว่างไศล |
เข้ากกพระมเหสีดีแก่ใจ | มาจะได้คิดอ่านเอาบ้านเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | ฟังครูบาทหลวงรู้คันหูเหือง |
แต่นิ่งนั่งตรองตรึกให้นึกเคือง | ไม่ได้เรื่องแกจะทำเอาตามใจ |
แต่จนจิตเพราะเป็นศิษย์จึงต้องนิ่ง | แม้นท้วงติงแกก็ด่าไม่ปราศรัย |
จะพูดจาว่าขานประการใด | แกก็ไม่อยากเชื่อเหลือระอา |
แล้วลุกเข้าไปหาเวลาดึก | ที่ในตึกน้อมคำนับรับเจ้าขา |
บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยมังคลา | อ้ายพ่อตาไปเมืองมันเคืองใจ |
เพราะตัวกูด่าว่าอุลามก | มันโกหกพูดจาอีท่าไหน |
เพราะขี้ขลาดลาดเลากูเข้าใจ | ถึงมันไปเสียสักพันไม่พรั่นพรึง |
อยู่ก็พูดเปล่าเปล่าไม่เข้าหู | มันสู่รู้หมายว่าเราไม่เท่าถึง |
ชาติอ้ายพวกแขกพาลสันดานดึง | กูรู้ถึงตับไตหัวใจมัน |
พลางว่ากับมังคลาลานุศิษย์ | เองช่วยคิดกำกับเป็นทัพขัน |
ยกไปทางหลังเขาเจ้าประจัน | อย่าให้มันรู้ตัวทั่วนคร |
ต่อจวนค่ำย่ำแสงพระสุริยง | อัสดงเย็นพยับลับสิงขร |
จึ่งค่อยเคลื่อนโยธาพลากร | จากสิงขรแดนเขาเข้าในดง |
คิดจัดแจงแต่งพยนต์พลรบ | ไว้สมทบชายรุกขาป่าระหง |
กับทหารเกณฑ์หัดจัตุรงค์ | ให้ล้อมวงไปในป่าดาประดัง |
แกคิดการราญรอนไม่นอนหลับ | จะยกทัพรีบไปดังใจหวัง |
จนไก่ขันแจ้วเจื้อยระเรื่อยดัง | เสนาะวังเวงใจในไพรวัน |
จวนจะใกล้รุ่งรางกระจ่างฟ้า | พระจันทราลับไม้ในไพรสัณฑ์ |
บาทหลวงลุกจากห้องมองดูพลัน | เห็นตะวันส่องหล้านภาดล |
สั่งให้พวกเสนาเอาหญ้ามัด | แล้วเสกซัดประน้ำถึงสามหน |
หญ้าก็ไม่กลายกลับเป็นรูปคน | ให้อั้นอ้นอกใจไม่สบาย |
เป็นเหตุด้วยสิ่งใดไฉนหนอ | แล้วเสกต่อร่ำบ่นไปจนสาย |
ทั้งฟ่อนหญ้าที่ลำดับไม่กลับกลาย | แกยักย้ายร่ำไปก็ไม่เป็น |
ยิ่งเสียใจไม่สบายจนกายสั่น | ให้นึกพรั่นตรองตรึกนึกไม่เห็น |
เป็นเหลือรู้กูเอ๋ยไม่เคยเป็น | ราวกับเช่นเด็กอ่อนพึ่งสอนคลาน |
อันพยนต์มนต์เวทวิเศษขลัง | ทำทุกครั่งมิได้คลาดทั้งอาจหาญ |
ลงนั่งหอบบอบช้ำแสนรำคาญ | จะคิดการแก้ไขไฉนดี |
โอ้ตัวกูผู้เป็นพระสังฆราช | ได้ชี้ขาดศาสนาเป็นราศี |
พวกฝรั่งทั้งจังหวัดปัถพี | ก็ยินดีที่ในกูอยู่ทุกคน |
แต่ครั้งนี้ทำอะไรไม่ประสิทธิ์ | นึกก็ผิดใจจริงนิ่งฉงน |
ชะรอยอ้ายมังคลามันพาคน | สาละวนกาลีมีเข้ามา |
เป็นเมียมิ่งจริงแท้แน่เหมือนคิด | จึงเสียพิธีแท้แน่นักหนา |
ฉุนพิโรธโกรธแค้นแน่นอุรา | แกลุกมาบนตึกเสียงครึกโครม |
ว่าฮ้าเฮ้ยมังคลาสานุศิษย์ | เองมาติดไฟคึกไว้ฮึกโหม |
เอาหม่อมเมียมาเคล้าประเล้าประโลม | ราวกับโคมแดงสีรวีวรรณ |
จนมนต์ดลคาถาวิชาหมด | เพราะกลิ่นรสมเหสีดีขยัน |
จนความรู้วิชาสารพัน | ไม่เป็นอันที่จะทำระยำไป |
เสกพยนต์มนตราขึ้นห้าหมื่น | ก็กลับคืนไปเป็นหญ้าน่าสงสัย |
แต่นั่งบ่นมนต์ภาวนาไป | ก็มิได้เป็นคนเหลือทนทาน |
แม้นมิพามเหเสือไปเรือเสีย | จะคลอเคลียนางอนงค์ไว้จงผลาญ |
อันความรู้กูก็เห็นไม่เป็นการ | คงบันดาลเสื่อมสิ้นเหมือนกินบอน |
อันผู้หญิงกับวิชาเหมือนยาพิษ | เอาไว้ชิดแอบอิงดั่งสิงขร |
คงหักพับทับทุ่มตะลุมบอน | เป็นแน่นอนเหมือนหนึ่งคำกูรำพัน |
เร่งเอาไปเสียวันนี้จะกรีทัพ | ไปรบรับตีต้อนคิดผ่อนผัน |
จะขืนเอานางเอกไว้เสกกัน | กูจะฟันมิให้เหลือเป็นเหยื่อกา ฯ |
๏ ป่างพระหน่อธิบดินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ให้อั้นอัดนิ่งฟังนึกกังขา |
แต่จนใจเพราะว่าไกเป็นครูบา | จะพูดจาก็ไม่ได้ให้รัญจวน |
เหมือนน้ำท่วมริมฝีปากมันยากแท้ | ไม่ถูกแผลเจ้าประคุณก็หุนหวน |
ต้องจำเป็นจำไปแต่ใคร่ครวญ | ให้อักอ่วนอารมณ์อยู่นมนาน ฯ |
๏ บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยเจ้าคนเอก | อย่าโหยกเหยกยืดยาวให้ร้าวฉาน |
กูจะได้ทำมหาวิชาการ | พาอีกาลกิณีไปที่เรือ |
แล้วให้พวกบ่าวไพร่เอาไปส่ง | อีบุษบงรีบไปข้างฝ่ายเหนือ |
ไปบ้านเมืองของเขาให้เถาเครือ | เอาแต่เรือน้อยน้อยสักร้อยลำ |
เมื่อสำเร็จราชการให้ฐานถิ่น | สมถวิลรับมาชุบอุปถัมภ์ |
แต่เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้ไปเหมือนคำ | ที่กูร่ำพรรณนาว่ากับมึง |
ค่ำจงพานางเมียไปเสียหวา | แล้วกลับมากับบ่าวเช้าให้ถึง |
เหมือนคำกูสั่งเสียกับเมียมึง | จะโกรธขึ้งสักเท่าไรกูไม่ฟัง ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอิศเรศ | ชำเลืองเนตรดูยุพินถวิลหวัง |
จะพลัดพรากจากนุชสุดกำลัง | ยิ่งแค้นคั่งขัดใจไม่สบาย |
กลับเข้าห้องหมองจิตคิดวิตก | ระกำอกดังจะแยกแตกสลาย |
อาจารย์เราเจ้ากรรมทำวุ่นวาย | เห็นสุดหมายสารพัดอัดอารมณ์ |
ตระกองนุชบุษบงอนงค์สมร | ดั่งสิงขรใครรุมมาทุ่มถม |
กันแสงพลางทางสะท้อนถอนอารมณ์ | ให้เตรียมตรมในอุรายิ่งอาดูร ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงทรงกันแสงแถลงถ้อย | น้องบุญน้อยขอลาปิ่นบดินทร์สูร |
มิขอไปเห็นวงศ์พงศ์ประยูร | ฉันจะทูลลาตายในคงคา |
เพราะมีกรรมจำพรากจากพระบาท | ไหนจะอาจครองชีวังสืบสังขาร์ |
แม้นพาน้องลงไปในเภตรา | โปรดเข่นฆ่าเสียให้ตายวายชีวง |
น้องเป็นคนชั่วช้าอุลามก | ท่านหยิบยกด่ากระจุยเป็นผุยผง |
แม้นอยู่ไปอายทหารชาญณรงค์ | ยุพยงทูลฉลองยิ่งหมองมัว ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ให้แค้นบาทหลวงกล่าวราวกับหัว |
จะขาดจากเลือดเนื้อเหลือแต่ตัว | แม้นมิกลัวบาปกรรมจะทำลอง |
ให้สาสมกับอารมณ์แกก่อเหตุ | ให้อาเพศหมกมุ่นที่ขุ่นหมอง |
ทำเอาตามใจจิตไม่คิดตรอง | ตั้งแต่ต้องแตกทัพมายับเยิน |
ก็หลายครั้งตั้งแต่จากลังกาเกาะ | มีแต่เคราะห์พาให้ตกระหกระเหิน |
ตั้งแต่ตามถ้อยคำไม่จำเริญ | มีแต่เยินยับไปแทบวายปราณ |
มาได้คู่สู่สมภิรมย์รส | ก็ปรากฏปึกแผ่นเป็นแก่นสาร |
แกมิให้มีสุขทุกวันวาร | ได้อยู่นานไม่ช้าถึงห้าปี |
ระทวยทอดกอดมิตรจิตสลด | แสนกำสรดทั้งสองยิ่งหมองศรี |
จนจวนย่ำสุริยาใกล้ราตรี | บาทหลวงตีฆ้องระฆังกังสดาล |
แล้วออกจากตึกใหญ่เรียกไพร่พร้อม | มาซักซ้อมตามหมวดตรวจทหาร |
แล้วร้องสั่งมังคลาปรีชาชาญ | เวลาการจวนจะไปเร่งไคลคลา |
เอาคนหญิงจัญไรลงไปเสีย | เป็นขาดผัวขาดเมียกันหนาหวา |
รีบเอาไปชายทะเลลงเภตรา | อย่าอยู่ช้าไปทีเดียวประเดี๋ยวนี้ |
เอารถรัตน์จัดหาพาไปส่ง | นางอนงค์เกเรมเหสี |
จะได้เกิดพิพัฒน์สวัสดี | เหมือนเสียผีเสียสางปัดรางควาน |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอดิศร | เรียกสมรบุษบงยอดสงสาร |
มาขึ้นรถเทียมม้าอาชาชาญ | ออกจากด่านแนวเขาเจ้าประจัน ฯ |
๏ บาทหลวงแกตบมืออือคราวนี้ | กำจัดอีหญิงร้ายให้ผายผัน |
พ้นไปจากเขตแคว้นแดนอรัญ | ตั้งแต่วันนี้ไปคงได้การ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลามาในรถ | โศกกำสรดเสียพระทัยให้สงสาร |
พลางประโลมโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | นางกราบกรานอยู่กับบาทเพียงขาดใจ |
พระเล้าโลมโฉมเฉลาอย่าเร่าร้อน | พี่ไม่จรจากมิตรพิสมัย |
แม่อย่าทรงกันแสงจงแข็งใจ | เรารีบไปให้ถึงยังฝั่งชลา |
ไปอยู่ลำกำปั่นอย่าหวั่นหวาด | แกไม่อาจดั้นด้นเที่ยวค้นหา |
เราไปอยู่เสียในเกาะถึงเสาะมา | ที่จะหาพบเราเจ้าอย่าแคลง |
อันเกาะนี้ลี้ลับไปยับยั้ง | ที่กำบังทะเลแคบไปแอบแฝง |
อย่าให้คนรู้เค้าเขาจะแคลง | เราบอกแจ้งว่าจะให้ไปบุรินทร์ |
แต่ตัวพี่จะกลับไปไม่อยู่ช้า | จะหนีมาเหมือนหนึ่งจิตคิดถวิล |
รีบไปเถิดแก้วตาอย่าราคิน | พลางเร่งสินธพมาถึงท่าลง |
แล้วเรียกพวกเรือน้อยที่คอยรับ | ลงประทับรับไปดั่งใจประสงค์ |
พระพาโฉมวรนุชบุษบง | แล่นไปลงกำปั่นใหญ่ในกลางคืน |
ถึงท่านท้าวโกสัยก็ไม่รู้ | สังเกตดูมรรคาเหลือฝ่าฝืน |
ที่ปากช่องเขาชันกันลูกปืน | มาสักหมื่นสักพันไม่พรั่นพรึง |
ให้แล่นไปถึงอ่าวพอเช้าตรู่ | ตรงเข้าอยู่เสียข้างในเอาใบขึง |
ทั้งร้อยลำตามกันไปมิได้อึง | เข้าทอดถึงเชิงผาหน้าคีริน |
พระสั่งนุชบุษบงอนงค์สมร | จงวายร้อนเถิดจะสมอารมณ์ถวิล |
สั่งพี่เลี้ยงกนิษฐายุพาพิน | กว่าจะสิ้นสุริยนสนธยา |
จงระวังนุชนางสำอางโฉม | ค่อยเล้าโลมมิ่งมิตรกนิษฐา |
เราจะต้องกลับหลังไปลังกา | ไม่อยู่ช้าอย่าให้น้องเจ้าหมองมล |
จำจะรีบย้อนหลังไปฟังข่าว | ที่เรื่องราวเป็นอย่างไรให้ฉงน |
ได้ประจักษ์หลักหลายอุบายคน | ดูเหตุผลเสียให้สิ้นลิ้นอาจารย์ |
พลางรีบลงเรือน้อยค่อยลอยล่อง | มาในท้องสาคเรศประเทศสถาน |
มาถึงท่าทรงม้าควบทะยาน | พวกทหารแห่ไปเขาเจ้าประจัน |
พระรีบเร่งอาชาม้าที่นั่ง | ไม่หยุดยั้งรีบไปในไพรสัณฑ์ |
มาพักเดียวถึงเขาเจ้าประจัน | พอตะวันแสงส่องสักสองโมง ฯ |
๏ บาทหลวงนั่งตั้งเสกพยนต์หญ้า | แล้วสูบยาขึ้นสองชั้นควันโขมง |
ร่ายพระเวทคาถานัยน์ตาโพลง | เอาเชือกโยงหุ่นหญ้าผ้าพยนต์ |
แล้วโอมอ่านคาถาทั้งห้าบท | เสกน้ำรดโปรยปรอยดั่งฝอยฝน |
บริกรรมทำเลขเสกด้วยมนต์ | ร้อยแปดหนตามตำราพระอาจารย์ |
ถึงสามครั้งตั้งแต่ทำไม่สำเร็จ | นึกเอน็จอนาถใจหลายสถาน |
ตั้งแต่เช้าจนเย็นไม่เป็นการ | แสนรำคาญเคืองใจไม่สบาย |
พอเห็นพระมังคลาสานุศิษย์ | แกน้อยจิตแค้นใจมิใคร่หาย |
แล้วพูดเป็นแยบยลกลอุบาย | กูดูกายผอมซูบผิดรูปทรง |
พาเอาเมียไปส่งลงกำปั่น | ยังพัวพันโดยนิยมสมประสงค์ |
เองด่วนกลับมาไยในไพรพง | นางอนงค์จะเปล่าเศร้าอุรา |
แกควักค้อนงอนงดประชดศิษย์ | ด้วยดวงจิตเป็นทางข้างอิจฉา |
จะหยิบผิดให้จงได้ในปัญญา | พาโลด่าปรับโทษให้ทดแทน |
ถ้าอ้ายนี่หลบไปที่ไหนเล่า | สองอ้ายเฒ่าคงจะไปให้กูแขวน |
พาลูกเขยดั้นด้นไปพ้นแดน | เห็นแม่นมั่นเหมือนกูคิดไม่ผิดคำ |
ด้วยพลั้งไปนึกไม่ได้ถึงอ้ายแขก | เมื่อแต่แรกพูดไปมากถลากถลำ |
ครั้นจะกลับฝ่าฝืนพูดคืนคำ | อายกับน้ำใจตัวได้ชั่วเกิน |
ต้องคิดพูดเปรียบปรายกับอ้ายเขย | ไปตามเลยที่วิตกระหกระเหิน |
คิดผันแปรแก้กลไปตามเกิน | เหมือนว่าวเหินหาวค้างกลางอัมพร ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลาปรีชาฉลาด | ฟังครูบาทหลวงยิ่งกว่าสิงขร |
มาทุ่มทับในอุราให้อาวรณ์ | ราวกับนอนอยู่ที่เพลิงอันเริงแรง |
ทั้งถ้อยคำที่แกร่ำพิไรกล่าว | มันรานร้าวไปเสียสิ้นเขากินแหนง |
จำจะถามดูบ้างฟังสำแดง | เจ้าคุณแคลงเมียข้าว่าไม่ดี |
เข้ามาอยู่ในเขตประเทศถิ่น | เป็นมลทินสารพัดจะบัดสี |
แล้วก็เป็นหญิงชั่วตัวอัปรีย์ | เสียพิธีเสียเดชทั้งเวทมนตร์ |
ก็ขับไล่ไปเสียสิ้นจากถิ่นที่ | ประเดี๋ยวนี้ในจังหวัดพิพัฒน์ผล |
ค่อยปราดเปรื่องเรืองพระเดชข้างเวทมนตร์ | ผ้าพยนต์ผูกไว้คงได้การ |
หรือยังไม่ได้ทำให้สำเร็จ | กลเม็ดมากมายหลายสถาน |
ข้าพเจ้ารีบไปมิให้นาน | มาฟังการจะได้รับกองทัพไทย ฯ |
๏ บาทหลวงฟังนั่งอึ้งตะลึงคิด | อ้ายนี้ผิดพูดจาไม่ปราศรัย |
ทำคารมข่มเหงไม่เกรงใจ | มิด่าให้รู้สึกสำนึกตัว |
แม้นนานไปไหนกูจะว่ากล่าว | มันจะก้าวเหยียบหลังกระทั่งหัว |
นิสัยศิษย์จะข่มเหงไม่เกรงกลัว | จะไว้ชั่วลือชาในสามัญ |
แล้วจึ่งว่าฮ้าเฮ้ยอย่าเพ่ยก่อน | พูดแคะค่อนสารพัดจะจัดสรร |
เองจะมาดูถูกคิดผูกพัน | กูรู้ทันมึงดอกบอกจริงจริง |
อันตัวกูก็เป็นพระมึงจะว่า | มิใช่ข้าพึ่งบุญในคุณหญิง |
จะมาพูดเกเรประเวประวิง | ทำแอบอิงเยาะหยันจำนรรจา |
กูก็เป็นอาจารย์ช่วยการศึก | มึงตรองตรึกยับยั้งบ้างสิหวา |
เองแค้นเคืองเรื่องอีเมียกับพ่อตา | ดูสีหน้าก็รู้ทุกผู้คน |
อันตัวกูผู้ถือศาสนา | เพราะเมตตาหยาบใจจะให้ผล |
กลับมาพูดหลอกล่อทรชน | มึงเป็นคนทุจริตคิดไม่ดี |
จะสวดให้พระเป็นเจ้ามาเอาโทษ | ให้สิ้นโคตรย่อยยับดั่งสับสี |
คงจะให้ผลมึงจนถึงดี | เพราะมึงดีกว่ากูผู้อาจารย์ |
พระเยซูผู้ทรงศาสนา | จะลงมาฟังเอาช่วยเผาผลาญ |
อ้ายนี้ล้างศาสนาทำสาธารณ์ | จงบันดาลให้มันตกนรกพลัน |
ไม่สัตย์ซื่อชื่อเสียงจงจดไว้ | แล้วจงใช้ทูตที่เปรื่องเมืองสวรรค์ |
มาจิกหัวคนประมาทฉกาจฉกรรจ์ | ไปลงทัณฑกรรมไว้ให้มันกลัว |
ค่ำวันนี้กูจะสวดให้ท่านทราบ | จะได้ปราบมึงเสียทั้งเมียผัว |
มึงอย่าพักทำวุ่นให้ขุ่นมัว | จะดีชั่วค่ำวันนี้ดีละมึง |
แล้วอย่าร้องเรียกกูให้ชูช่วย | จะเจ็บป่วยอย่างไรอย่าให้ถึง |
เองก็มีที่ถืออย่าอื้ออึง | กลับไปพึ่งบุญเมียเสียเถิดเอ็ง |
แล้วออกจากศาลใหญ่เข้าในตึก | อึกทึกปากโป้งพูดโฉงเฉง |
อ้ายนี่มันพาลจะตื่นทำครื้นเครง | ต้องตามเพลงของมันกันสำนวน ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ให้แค้นขัดพระทัยมุ่นนึกหุนหวน |
จำจะคิดข้อคัดตัดสำนวน | เวลาจวนพลบค่ำจะย่ำเย็น |
เข้าในห้องตรองเขียนหนังสือลับ | แล้วก็พับไว้มิให้ผู้ใดเห็น |
พอพลบค่ำน้ำค้างลงเยือกเย็น | เดือนก็เด่นดวงกระจ่างสว่างตา |
พระเผยแกลแลดูดารารัตน์ | หวนประหวัดถึงมิตรกนิษฐา |
ไม่เห็นพักตร์พุ่มพวงดวงผกา | ในอุราร้อนรุ่มดั่งสุมเพลิง |
ป่านนี้นุชบุษบงอนงค์สมร | จะแสนร้อนอุระเจ้าดั่งว่าวเหลิง |
เพราะครูเราเจ้ากรรมแกทำเชิง | จนเปิดเปิงพลัดพรากไปจากกัน |
จะอยู่ไปไหนเลยจะมีสุข | อันความทุกข์ถึงจะได้ไอศวรรย์ |
เป็นมนุษย์เกิดมาในสามัญ | จะหวงกันหนักหน่วงเป็นห่วงไย |
ก็เพราะมิตรชิดเชยที่เคยชื่น | จะเริงรื่นก็เพราะรักหักไม่ไหว |
นี่แกล้งพรากจากเมียเสียน้ำใจ | จะอยู่ไปเล่าก็เห็นไม่เป็นการ |
เขาย่อมว่าเหมือนกับราวหม้อข้าวแตก | จะมาแบกตุ่มไหใส่ข้าวสาร |
เอาอะไรหุงต้มนั่งซมซาน | ไม่เป็นการแล้วหนอเรามาเมามัว |
พอเที่ยงคืนก็จะไปเสียให้พ้น | จะนั่งทนให้เอาพร้ามาผ่าหัว |
แทบจะตายหลายครั้งไม่ตั้งตัว | อันดีชั่วตามกรรมได้ทำมา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระสังฆราชท่านบาทหลวง | ลงนั่งง่วงถอนใจใหญ่อยู่ในฝา |
ให้ฉุนเคืองเรื่องพระมังคลา | มันพูดจาทิ่มตำให้ช้ำใจ |
อายกับพวกขุนนางข้างฝรั่ง | ให้แค้นคั่งดังใครเชือดให้เลือดไหล |
จำจะคิดเป็นอุบายให้ตายใจ | พูดแก้ไขเสียให้พ้นคนนินทา |
แล้วจึ่งเรียกมังคลามาปราศรัย | กินโต๊ะใหญ่ด้วยกันให้หรรษา |
กับขุนนางข้างฝรั่งพวกลังกา | ทั้งเหล้ายาเป็ดไก่ยกใส่จาน |
อีกเนยนมขนมปังมาตั้งพร้อม | ขึ้นนั่งล้อมมุลนายฝ่ายทหาร |
พระมังคลาลุกมามิทันนาน | ทำอาการเหมือนแต่ก่อนค่อยผ่อนปรน |
มิให้จับกิริยาอัชฌาสัย | เคยอย่างไรสารพัดไม่ขัดสน |
ความในจิตมิให้แหนงระแวงวน | ก็นั่งทนไว้ในใจลุกไคลคลา ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นชื่นแช่มดูแจ่มใส | เห็นจะไม่ห่วงผู้หญิงดอกจริงหนา |
แกจึ่งยกขวดใหญ่ใส่สุรา | ให้มังคลากับขุนนางกินอย่างเคย |
แล้วกินเครื่องกับแกล้มแกมกับเหล้า | พอมึนเมาพร้อมพรั่งแล้วนั่งเฉย |
บาทหลวงจึ่งปราศรัยภิปรายเปรย | เหมือนอย่างเคยเลี้ยงทุกครั้งแต่หลังมา |
แล้วแกสั่งว่าพรุ่งนี้จะมีฤกษ์ | กูจะเบิกทัพค่ายยกไปหวา |
เร่งกะเกณฑ์พลขันธ์ดั่งบัญชา | ขุนเสนาทุกตำแหน่งเร่งแต่งพล |
อ้ายมังคลากำกับเป็นทัพหนุน | จัดหมื่นขุนเตรียมให้ทั่วตัวพหล |
ใครขาดฆ่าเสียให้ตายให้วายชนม์ | ตีให้จนถึงกระทั่งกรุงลังกา |
แกสั่งเสร็จมึนเมาลุกเข้าห้อง | ลงนอนตรองฤกษ์ยามตามภาษา |
ข้างอังกฤษคิดจะทำตามตำรา | ใช้ปัญญาโดยตำรับฉบับครู ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์มังคลาราช | เห็นครูบาทหลวงนอนดูอ่อนหู |
เอากระดาษที่ลิขิตปิดประตู | มาที่อยู่จัดแจงแต่งสกนธ์ |
เหน็บกระบี่ฝักดำประจำมั่น | ถือปืนสั้นเรียกบ่าวเหล่าพหล |
ที่ร่วมใจไคลคลาสี่ห้าคน | แล้วรีบร้นเดินตรงมาลงเรือ |
ให้ชักใบใส่รอกออกกำปั่น | สลาตันพัดส่งตรงไปเหนือ |
พอห้าทุ่มถึงเกาะจำเพาะเรือ | เข้าข้างเหนือน้ำได้สบายบาน |
ค่อยลอยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำถึงลำใหญ่ | ตรงขึ้นไปปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
ฝ่ายพี่เลี้ยงโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | ต่างชื่นบานอิ่มเอมเกษมใจ ฯ |
๏ ป่างพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | โสมนัสปรีดาแล้วปราศรัย |
ถามถึงมิตรกนิษฐาสุมาลัย | เสด็จไปห้องนางพลางประโลม ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุษบงอนงค์นาฏ | นางกราบบาททูลองค์พระทรงโฉม |
แม้นดาวเคลื่อนเดือนดับพยับโพยม | พระทรงโฉมมิได้กลับไปนับวัน |
น้องก็ไม่ขออยู่จะสู้ม้วย | ใครจะช่วยดับวิโยคที่โศกศัลย์ |
พลางซบพักตร์ลงกับตักพระทรงธรรม์ | นางร่ำกันแสงสะอื้นกลืนน้ำตา |
พระรับขวัญขวัญอ่อนสมรมิ่ง | พี่ไม่ทิ้งดวงจิตกนิษฐา |
ประคองกอดยุพยงองค์พะงา | ขึ้นบนบาหลีพลางทางสุนทร |
จันทร์กระจ่างกลางฟ้าเวหาหน | ต้องสกนธ์กายาสุดาสมร |
ลมพระพายชายช่ออรชร | หอมเกสรเสาวคนธ์สุมณฑา |
พลางแนบนุชบุษบงอนงค์นาฏ | แสนสวาทจุมพิตกนิษฐา |
ถนอมแนบแอบขวัญกัลยา | ร่วมไสยาเดือนหงายสบายใจ |
พายุหวนป่วนปั่นเป็นคลื่นคลั่ง | กระทบฝั่งสิขรินแผ่นดินไหว |
ทั้งท้องธารละหานเหวเป็นเปลวไฟ | เมรุไกรอ่อนเอนระเนนเอียง |
พิรุณโรยโปรยปรายเป็นสายสาด | สุนีฟาดฉาดฉานประสานเสียง |
ฝูงมัจฉาปลาร้ายขึ้นว่ายเรียง | เป็นคู่เคียงฟาดหางกลางสินธู |
เมขลาแบแก้วแววสว่าง | อสูรขว้างขวานลั่นสนั่นหู |
วิชาธรนักสิทธ์ปิดประตู | นอนไม่รู้สึกกายดั่งวายชนม์ |
สองภิรมย์สมรักสมัครสมาน | ดั่งได้ผ่านเมืองฟ้าเวหาหน |
จนเที่ยงคืนชื่นสำราญบานกมล | ที่ห้องบนท้ายบาหลีทั้งปรีดิ์เปรม |
ค่อยเสื่อมสร่างบางเบาบรรเทาทุกข์ | เกษมสุขสองราหน้าเป็นเหม |
ถนอมแนบเนื้อนิ่มยิ่งอิ่มเอม | สองเกษมสุขสมภิรมยา ฯ |