- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
๏ ฝ่ายกษัตริย์รายาชวาฉวี | ครั้นฤกษ์ดีเสด็จท่าชลาสินธุ์ |
สามกษัตริย์เสด็จออกนอกบุรินทร์ | พระเทวสินธุ์ตามตรงมาลงเรือ |
พวกพหลพลชวาบรรดาแขก | บ้างขนแบกของตามกันหลามเหลือ |
ทั้งไก่แพะเอาไปที่ในเรือ | ทั้งข้าวเกลือของเสวยทั้งเนยนม |
บรรทุกใส่ในกำปั่นทุกชั้นช่อง | ที่ในห้องคนประจำทำขนม |
บ้างต้มแกงแต่งตบครบอุดม | พวกสนมน้อยน้อยคอยอยู่งาน |
ครั้นได้ฤกษ์เลิกโห่ขึ้นสามครั้ง | ปืนประดังยิงเรียงเสียงประสาน |
ท้าวเสด็จลงกำปั่นมิทันนาน | พวกคนงานถอนสมอขันช่อใบ |
ออกกำปั่นครั่นครื้นสักหมื่นเศษ | แล่นสังเกตแถวถิ่นกระสินธุ์ใส |
ออกน้ำเขียวทางทะเลว้าเหว่ใจ | แล่นไปในสาคโรชโลธร |
ชมมัจฉาปลาใหญ่ขึ้นว่ายคล่ำ | บ้างผุดดำโตยิ่งกว่าสิงขร |
นางสาวสาวชาววังบ้างนั่งนอน | ชมสิงขรเกาะแก่งทุกแห่งไป |
แล้วพูดจาว่ากันภาษาแขก | ถ้าเรือแตกเราจะด้นไปหนไหน |
ลางคนว่าน่าเบื่อเหลืออาลัย | บ้างบ่นไปเพราะว่ากลัวจนตัวงอ |
ที่วิงเวียนเหียนรากอยากแต่น้ำ | ร้องว่ากรรมเอ๋ยจะไปข้างไหนหนอ |
รู้อย่างนี้มิมาน้ำตาคลอ | บ่นถึงพ่อถึงแม่ออกแซ่ไป |
คิดว่าจะมาเป็นสุขสนุกสนาน | ให้รำคาญในอุราน้ำตาไหล |
ไม่รู้เลยว่าลำบากยากหัวใจ | มิหาไม่จะสู้จ้างเขาต่างตัว |
วิสัยหญิงใจอ่อนนอนไม่หลับ | ถึงจนทรัพย์เต็มประดาคิดหาผัว |
ได้หูหนวกตาบอดคงรอดตัว | ไม่ยักกลัวมีท้องจะดองยา |
กินให้หายบาดแผลพอแก้ทุกข์ | ค่อยเป็นสุขจริงแท้หนอแม่ขา |
ดีกว่าต้องมาเรือเหลือระอา | สู้ก้มหน้ากัดฟันจนบรรลัย |
พวกสาวสาวชาววังนั่งกำสรด | ทรวงระทดแทบจะพาเลือดตาไหล |
จนพลบค่ำย่ำสุริโยทัย | ให้หวั่นไหวทรวงโศกวิโยคครวญ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าชวาอาณาเขต | ทอดพระเนตรเหล่าอนงค์ทรงพระสรวล |
บ้างโงกเหงาเมาคลื่นยืนเซซวน | ทั้งปั่นป่วนซบเซาบ้างหาวนอน |
พอคลื่นเงียบเรียบร้อยค่อยเป็นสุข | บรรเทาทุกข์ที่ในทรวงดวงสมร |
เรือก็แล่นเลยมาในสาคร | พระจันทรแจ่มฟ้านภาลัย |
ท้าวรายาเสด็จออกนอกบาหลี | นั่งเก้าอี้พร้อมพหลพลไสว |
ท้าวดำรัสตรัสสั่งเสนาใน | ให้แล่นไปตามกันดั่งสัญญา ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อเทวสินธุ์นรินทร์ราช | ล่วงลีลาศไปพลันด้วยหรรษา |
นำกำปั่นไทท้าวเจ้าชวา | เป็นทัพหน้าตรวจพหลพลนิกร |
ทั้งเช้าค่ำร่ำไปมิให้หยุด | ก็รีบรุดข้ามละเมาะเกาะสิงขร |
ไปเดือนครึ่งเกือบจะถึงเขตนคร | เป็นการร้อนรีบไปใกล้พารา |
กำพลเพชรนครังครั้งยายเฒ่า | ไม่มีเจ้าเป็นแต่ผู้อยู่รักษา |
คอยโฉมยงองค์กษัตริย์ขัตติยา | จะกลับมาครองประเทศเขตกำพล |
ก็หายไปหลายปีไม่มีสุข | ไปรบรุกแว่นแคว้นแดนสิงหล |
อยู่แต่พวกเสนาประชาชน | เพชรกำพลร้างกษัตริย์ขัตติยา |
พอเรือพระเทวสินธุ์สามกษัตริย์ | มาแออัดจอดรายหลายภาษา |
พวกชาวด่านชาญสมุทรสุดปัญญา | ไม่รู้ว่าวงศ์ท้าวเจ้านคร |
คิดว่าเป็นข้าศึกมาฮึกฮัก | ไม่ประจักษ์ใช้เสมียนเขียนอักษร |
ให้ม้าเร็วรีบไปในนคร | เป็นการร้อนศึกมาติดธานี |
แต่กำปั่นคั่งคับมานับร้อย | คนใช้สอยบรรดากะลาสี |
ก็นับหมื่นปืนฝรั่งแต่อย่างดี | มาทอดที่ปากน้ำเหลือกำลัง ฯ |
๏ ขุนนางใหญ่ได้แจ้งแห่งหนังสือ | ที่คนถือส่งให้ดังใจหวัง |
สั่งให้เกณฑ์ชาวป้อมพวกล้อมวัง | รีบไปยังเมืองด่านชานชลา |
ทั้งปืนหลักลากไปใส่บนป้อม | ทหารพร้อมเร่งร้นพลอาสา |
ให้ยกหนุนเนื่องออกนอกพารา | ไปรับข้าศึกไว้ดังใจปอง |
แล้วแบ่งพลคนละหมื่นถือปืนผา | เครื่องสาตราทวนง้าวเรียกเจ้าของ |
กรมของใครให้ตรวจตามหมวดกอง | ให้ได้สองหมื่นทั่วทุกตัวนาย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระจอมเทวสินธุ์ | หน่อนรินทร์ตรัสสั่งคนทั้งหลาย |
ให้ไปบอกเสนาบรรดานาย | อย่าวุ่นวายไปมิใช่พวกไพรี |
เราก็เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ | ในจังหวัดนคเรศบุรีศรี |
เป็นโอรสทศมิตรคิดภักดี | พระเทวีกฤษณานิคาลัย |
เองไปแจ้งแห่งขุนนางในเมืองด่าน | แต่โดยการจริงแจ้งแถลงไข |
ให้รีบลงมารับกูฉับไว | จะขึ้นไปถิ่นฐานชมบ้านเมือง |
พวกคนใช้รีบไปลงเรือช่วง | ครรไลล่วงถึงท่าพอฟ้าเหลือง |
ครั้นเช้าตรู่สุริยาถึงหน้าเมือง | ขึ้นแจ้งเรื่องกับขุนด่านชานชลา |
ว่าพระหน่อวรนาถราชบุตร | ประเสริฐสุดที่ในวงศ์เผ่าพงศา |
มิใช่เรืออื่นไกลหาไหนมา | เป็นบุตรานางเฒ่าเจ้าแผ่นดิน ฯ |
๏ ขุนนางได้แจ้งเรื่องแต่เบื้องหลัง | ข้อรับสั่งชื่นชมสมถวิล |
ว่าหน่อเนื้อเชื้อเหล่าเจ้าแผ่นดิน | พากันยินดีกลับกองทัพชัย |
แล้วจัดแจงแต่งเรือลงไปรับ | น้อมคำนับบอกกันเสียงหวั่นไหว |
ลำที่นั่งดั้งกันเป็นหลั่นไป | เชิญท้าวไทรายาเข้ามาวัง |
กษัตริย์สามตามเข้าไปในนิเวศน์ | ถิ่นประเทศเสร็จสมอารมณ์หวัง |
พวกเสนาข้าไทที่ในวัง | มาพร้อมพรั่งดีใจใครจะปาน |
ทั้งพระวงศ์พงศาคณาญาติ | มาปราสาทรจนามุกดาหาร |
ทูลแถลงแจ้งคำที่รำคาญ | ว่าพระผ่านนคราบิดาเธอ |
ยกพหลพลไกรไปกำปั่น | กับด้วยท่านฝรั่งครูผู้เสนอ |
ว่าจะไปลังกาพาราเธอ | บาทหลวงเออรับพากันคลาไคล |
ถ้วนกำหนดสามปีมิได้ข่าว | ที่เรื่องราวร้อนเย็นเป็นไฉน |
จัดกำปั่นแต่บรรดาเสนาใน | ใช้ให้ไปเล่าก็หายไม่ได้ความ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมเทวสินธุ์นรินทร์รัช | โองการตรัสปราศรัยแล้วไต่ถาม |
ว่าตัวเราก็จะคิดไปติดตาม | ท่านแจ้งความอยู่หรือไรในลังกา |
ว่าผู้ใดใครครองอาณาเขต | ท่านรู้เหตอยู่หรือไม่อย่างไรหนา |
จงเล่าไปให้ประจักษ์ช่วยชักพา | ไปลังกาตามองค์พระทรงธรรม์ |
เสวกาว่าทูลละอองบาท | โอรสราชพระอภัยครองไอศวรรย์ |
สุดสาครสุริย์วงศ์พระทรงธรรม์ | เธอครองขัณฑเสมาในธานี |
พระทรงทราบเรื่องต้นแต่หนหลัง | จึงตรัสสั่งเสนาบดีศรี |
ให้เร่งเตรียมพวกพหลแลมนตรี | วันพรุ่งนี้เราจะไปดั่งใจจง |
แล้วเชิญท้าวรายาเจ้าตาเลี้ยง | มานั่งเคียงชื่นชมสมประสงค์ |
แล้วปรึกษาพาทีกันสี่องค์ | ตามประสงค์ที่จะไปในลังกา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าชวาอาณาจักร | ว่าหลานรักร่วมชีวังอย่ากังขา |
พ่อไปไหนไปด้วยกันไม่ฉันทา | อย่าได้ปรารมภ์ไปใจพะวง |
อันตัวตาเป็นผู้ใหญ่คงไปด้วย | เป็นเพื่อนม้วยเหมือนดังจิตคิดประสงค์ |
ถึงยากเย็นเป็นตายวายชีวง | ตาก็คงช่วยกันเหมือนสัญญา |
จะรบรับขับขันประจัญสู้ | ตาก็รู้กลศึกได้ปรึกษา |
ทั้งสามองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา | จึ่งวันทาทูลแถลงแจ้งคดี |
ซึ่งพระองค์ทรงฤทธิ์คิดพันผูก | เหมือนหลานลูกของพระคุณอุ่นเกศี |
หลานจะขอพึ่งพาฝ่าธุลี | ไว้เป็นที่อัยกาเหมือนวาจัง |
ข้าทั้งสามกำพร้าอนาโถ | ท้าวเหมือนโพใบคลุมพอคุ้มขัง |
ขอพึ่งบุญกรุณาเหมือนวาจัง | เป็นที่หวังสืบวงศ์พงศ์ประยูร |
ท้าวรายาชื่นชมโสมนัส | พ่อซื่อสัตย์รักใคร่มิได้สูญ |
ทั้งสมนามสมเนื้อเชื้อตระกูล | เธอเพิ่มพูนประดิพัทธ์สวัสดี |
สามกษัตริย์เข้าในที่ไสยาสน์ | บนปรางค์มาศแท่นจำรัสรัศมี |
กับไทท้าวเจ้าชวาในธานี | ต่างเปรมปรีดิ์รักกันไม่ฉันทา ฯ |
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองส่องอากาศ | พวกอำมาตย์พร้อมพหลพลอาสา |
มาเตรียมคอยหน่อกษัตริย์ขัตติยา | แต่บรรดาเสนีที่จะไป ฯ |
๏ ป่างพระจอมเทวสินธุ์นรินทร์ราช | ตื่นไสยาสน์กับสองสนองไข |
จึ่งเชิญองค์ท้าวชวาให้คลาไคล | เสด็จไปพระที่นั่งบัลลังก์ทอง |
พร้อมทหารขานโห่จะเอาฤกษ์ | เสียงเอิกเกริกคั่งคับทัพทั้งสอง |
ยิงปืนใหญ่เตรียมตรวจทุกหมวดกอง | แล้วลั่นฆ้องชักใบขึ้นใส่เรียว |
พร้อมกำปั่นพันร้อยออกลอยแล่น | ไปตามแผนที่ประจำออกน้ำเขียว |
ทั้งเรือรบเรือแห่แลเป็นเกลียว | คงคาเชี่ยวลมเฉื่อยเรื่อยสบาย |
ตามละเมาะเกาะแก่งทุกแห่งหน | ไปตามวนวารินกระสินธุ์สาย |
ทั้งเต่าหอยลอยกลาดริมหาดทราย | ที่ตัวลายพรอยพร้อยลอยเป็นแพ |
หอยอีรมนมนางสล้างสลอน | เกิดกับก้อนหินรายชายกระแส |
บ้างเป็นสีต่างต่างเหมือนอย่างแล | จะนับแต่ฝูงหอยกว่าร้อยพัน |
ทั้งปูเปี้ยวเขียวขาววิ่งกราวหาด | ดูประหลาดไม่มีหัวตัวมันขัน |
มีตาติดกับกระดองอยู่สองอัน | สืบพันธุ์ตั้งร้อยไม่น้อยเลย |
พอมีไข่กินผัวของตัวหมด | ทรยศสิ้นประตูเจียวปูเอ๋ย |
สัตว์จัญไรแพศยาไม่น่าเชย | แล้วก็เลยลอยแพไปแต่ตัว |
เปรียบเหมือนหญิงทรลักษณ์อกุศล | ทำเล่ห์กลมารยาคิดฆ่าผัว |
อันบาปกรรมเป็นอย่างไรมันไม่กลัว | ไว้ความชั่วน่าชังเหมือนอย่างปู |
ฝูงแมงดาน่าดูตัวผู้เกาะ | เที่ยวว่ายเสาะพาจรจนอ่อนหู |
ไปหาเหยื่อเผื่อกันกตัญญู | พิเคราะห์ดูเหมือนคนจนปัญญา |
ทั้งเกียจคร้านมึนตึงพึ่งผู้หญิง | ได้แอบอิงพิงปากยากหนักหนา |
พวกมนุษย์เมียแช่งเหมือนแมงดา | ทำแต่ตาปรอยปรอยคอยจะกิน |
อันฝูงสัตว์ปฏิสนธ์ที่บนหาด | ดูประหลาดมากมายชายกระสินธุ์ |
เอากำเนิดเกิดที่หาดดูดาษดิน | ไม่รู้สิ้นหลายอย่างต่างต่างกัน ฯ |
๏ สามพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ให้แล่นลัดสิงขรค่อยผ่อนผัน |
สั่งล้าต้าต้นหนคนสำคัญ | ให้พวกกันคอยประจำหยั่งน้ำดู |
เอาแผนที่คลี่ดูให้รู้ทิศ | อย่าให้ผิดทางจรจะอ่อนหู |
ด้วยไม่เคยถิ่นประเทศสังเกตดู | เป็นแต่รู้ยังไม่ได้เคยไปมา |
พระสุริยาลงลับพยับฝน | ก็มัวมนมืดมิดทุกทิศา |
จวนจะค่ำย่ำแสงพระสุริยา | ลมสลาตันตั้งฝั่งทะเล |
เป็นคลื่นใหญในกระสินธุ์ทุกถิ่นที่ | ลมก็ตีท้ายกำปั่นป่วนหันเห |
พวกต้นหนคนชำนาญการทะเล | คิดถ่ายเทเรือหมดให้ลดใบ |
ตั้งบวงสรวงเทพไทในสมุทร | ฤทธิรุทรเขาเขินเนินไศล |
ขอเชิญช่วยคุ้มอุบัทว์กำจัดภัย | ทางจะไปลังกาให้ถาวร |
พอขาดคำคลื่นลมระดมหาย | คนทั้งหลายเหล่าทหารชาญสมร |
ด้วยได้ความสุขาในสาคร | ศศิธรแจ่มกระจ่างดั่งกลางวัน |
เมฆพยับอับฟ้าในอากาศ | ก็เกลื่อนกลาดแจ่มสว่างทางสวรรค์ |
นภากาศแจ่มแจ้งด้วยแสงจันทร์ | เรือกำปั่นแล่นไปในคงคา |
สามกษัตริย์ทัศนาเวหาหาว | แสงเดือนดาวส่องสว่างกลางเวหา |
พระจึ่งเชิญท่านท้าวเจ้าชวา | เสด็จมาในที่นั่งบัลลังก์ทอง |
แล้วปรึกษาว่าองค์พระทรงฤทธิ์ | เห็นชอบผิดโปรดบ้างที่หมางหมอง |
จะไปยังลังกาตรึกตราตรอง | โดยทำนองพระจะเห็นเป็นอย่างไร |
ถ้าแม้นว่ารบพุ่งกันยุ่งยิ่ง | เราจะนิ่งดูแลคิดแก้ไข |
หรือจะเข้าโรมรันประการใด | ขอพระอัยกาตรองให้ต้องตาม |
ประเพณีที่ในเนื้อเชื้อกษัตริย์ | ไม่แจ้งอรรถข้อไรได้ไต่ถาม |
อย่าให้เสียเกียรติยศพองดงาม | ให้ต้องตามเรื่องในอัยการ ฯ |
๏ ท้าวรายาว่าพ่อหน่อกษัตริย์ | ตาจะจัดแจงให้หลายสถาน |
อย่าเป็นทุกข์ร้อนไปให้รำคาญ | จากสถานกำพลเพชรได้เจ็ดวัน |
พอเช้าตรู่สุริยงเธอส่งแสง | กระจ่างแจ้งพื้นนภางค์ทางสวรรค์ |
พวกพหลพลทหารชำนาญครัน | จัดเลี้ยงกันเสพอาหารทั้งหวานคาว |
เกือบจะใกล้เกาะมหากาลวาต | ผิดประหลาดหลากใจให้แต่หนาว |
ใช่ฤดูน้ำค้างตกพร่างพราว | เป็นลมว่าวพัดกล้าต้องซาใบ |
พวกต้นหนคนการสะท้านทั่ว | เป็นหมอกมัวในมหาชลาไหล |
เรือที่แล่นตามกันเป็นหลั่นไป | เห็นไรไรเกาะขวางกลางชลา |
อันเกาะนี้โตใหญ่มิใช่น้อย | ที่เขาปล่อยท้าวละมานนานนักหนา |
หมดทั้งพวกพร้อมกันแต่บรรดา | มรณาด้วยกันหมดเพราะอดตาย |
เป็นผีดิบเกลื่อนกล่นอยู่บนเกาะ | เที่ยวละเมาะตามแผ่นดินกระสินธุ์สาย |
แม้นกำปั่นใครซัดแลพลัดพราย | มาถึงชายเกาะนี้มันดีใจ |
ตะโกนก้องร้องเรียกกันมาพร้อม | เข้าห้อมล้อมเรือแน่นแล่นไม่ไหว |
มันฉุดคร่าเชือกเสายุดเพลาใบ | ไปไม่ได้ติดตายเสียหลายลำ |
มันสูบเลือดกินเล่นเป็นอาหาร | ท้าวละมานพวกผีถลีถลำ |
แต่กลางวันมันขยาดไม่อาจทำ | แม้นพลบค่ำยืนเด่นให้เห็นตัว |
แต่กินคนมานานประมาณแสน | ทุกด้าวแดนเข็ดขยั้นออกสั่นหัว |
แม้นเรือซัดพลัดเข้าจอดไม่รอดตัว | ลูกค้ากลัวความขยาดไม่อาจเดิน ฯ |
๏ ฝ่ายกำปั่นเทวสินธุ์นรินทร์ราช | พอภาณุมาศลับเงาภูเขาเขิน |
แล่นมาถึงเกาะใหญ่ริมชายเนิน | ให้หนาวเกินกับฤดูทุกผู้คน |
แต่บรรดากำปั่นสักพันเศษ | ผิดสังเกตแต่ในจิตคิดฉงน |
ลมก็คล่องว่องไวติดใบบน | แล่นไม่พ้นชายหาดประหลาดใจ |
พวกล้าต้าต้นหนคนทั้งนั้น | ปรึกษากันหลากจิตคิดสงสัย |
จะเกิดเหตุเภทพาลประการใด | จึ่งทูลไทสามกษัตริย์ขัตติยา |
กับไทท้าวเจ้าพาราชวาฉวี | เหตุจะมีแม่นแท้แน่นักหนา |
ทั้งหนาวเนื้อเหลือทนพ้นปัญญา | อันเภตราอยู่กับที่แล่นมิเดิน |
ลมก็ดีชักใบขึ้นใส่พร้อม | จะแล่นอ้อมไปก็ตกกระหกระเหิน |
ดูเหมือนคนฉุดไว้ริมชายเนิน | จะขอเขิญอารักษ์อันศักดา |
มาถามเหตุเภทภัยให้ประจักษ์ | จะได้ทักทายไปในทิศา |
สามพระองค์ทรงฟังทั้งพระยา | เจ้าชวาเห็นพร้อมยอมด้วยกัน |
แล้วให้ตั้งบายศรีที่บวงสรวง | ตามกระทรวงสารพัดเร่งจัดสรร |
เอาคนทรงลงมานั่งตั้งภิวันท์ | บนก้นขันสาครร้องวอนไป |
แล้วจุดธูปเทียนบูชากระยาสังเวย | ทั้งนมเนยตามประเภทข้างเพทไสย |
เราขอเขิญเทวาสุราลัย | ที่อยู่ในเขาเขินเนินคีรี |
มาเข้าทรงจะได้ถามเนื้อความท่าน | ทุกฉ้อชั้นบรรพตาในราศี |
ที่เหตุผลหนหลังอย่างคดี | ขอภูมีรับสรวงเข้าบวงบน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงผีปีศาจที่อาจหาญ | คือท้าวละมานรู้แจ้งแห่งนุสนธิ์ |
ว่าเขาตั้งเครื่องสรวงทั้งบวงบน | วิ่งเข้าคนทรงสั่นยิงฟันพลาง |
แล้วเหลือกตาว่าออเจ้าคนเหล่านี้ | ลุกขึ้นชี้มือด่านัยน์ตาขวาง |
ไม่รู้จักกูหรือไรในหนทาง | กูจะล้างชีวันให้บรรลัย |
อันตัวกูผู้เป็นเจ้าเกาะเหล่านี้ | เองมานี่จะไปหนตำบลไหน |
จงบอกความตามจริงทุกสิ่งไป | กูนี้ไซร้เป็นเจ้าของท้องทะเล |
เองเรียกมาว่ากระไรจะไต่ถาม | จงแจ้งความจริงไปอย่าไพล่เผล |
ท้าวปีศาจนึกนิยมสมคะเน | จะคิดเพทุบายกินให้สิ้นเชิง ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าชวาอาณาเขต | เธอแจ้งเหตุปีศาจเชื่อดูเหลือเหลิง |
จำจะหาให้มันกินจนสิ้นเชิง | พอรื่นเริงแล้วจะได้ไล่เอาความ |
จึงวอนว่าข้าแต่เจ้าของเกาะ | ช่วยสงเคราะห์ทางจะไปขอไต่ถาม |
เอ็นดูเถิดชี้ให้จะไปตาม | ให้สมความปรารถนาข้าทั้งปวง |
แล้วท้าวไทให้ยกเอาเครื่องเซ่น | สัตว์ที่เป็นต่างต่างมาวางสรวง |
ทั้งเหล้าเข้มของกินสิ้นทั้งปวง | มาบวงสรวงท้าวละมานให้ท่านกิน ฯ |
๏ ฝ่ายปีศาจเห็นไก่น้ำลายหยด | ด้วยความอดชื่นชมสมถวิล |
แล้วจับไหใส่สุราออกมาริน | ยกขึ้นกินกลอกหน้านัยน์ตาวาว |
มือหนึ่งจับไก่ดิบหยิบกระชาก | เอาใส่ปากเคี้ยวเหยอทั้งเรอหาว |
จับเอาแพะฉีกเชือดเลือดออกพราว | แลบลิ้นยาวเลียดูดพูดออกอึง |
เรียกให้พวกบริวารทหารผี | มาอึงมี่บนเภตราตาถลึง |
ไม่เห็นตัวเป็นแต่เสียงสำเนียงอึง | กินของซึ่งตั้งไว้หายไปพลัน |
ทั้งแพะแกะไก่เหล้ากับข้าวของ | ก็บกพร่องหมดเลี่ยนล่อนเชี่ยนขัน |
กระดูกกระเดี้ยวเคี้ยวป่นไม่ทนฟัน | แต่เสียงมันได้ยินสิ้นทุกคน |
อันพวกมันที่มาไม่ปรากฏ | ดูเหมือนปดกันเล่นไม่เห็นหน |
เป็นแต่อ้ายคนทรงเดินวงวน | แล้วขึ้นบนเก้าอี้นั่งชี้มือ |
ท้าวรายาสามกษัตริย์จึ่งตรัสถาม | มันแจ้งความมาแต่หลังจะฟังหรือ |
เมื่อครั้งนางวัณฬามาหารือ | จัดทูตถือสารไปให้แก่เรา |
กับรูปวาดให้เรามาอาสาศึก | แม้นสมนึกหวังใจจะได้เขา |
จึ่งยกพวกพลละมานทหารเรา | ไปเมืองเขาขึ้นประจบสมทบกัน |
ยังมิได้รบพุ่งกรุงผลึก | เวลาดึกฟังปี่ดีขยัน |
ก็ระงับหลับใหลไปด้วยกัน | มันจับพันธนาได้เอาใส่กรง |
แล้วก็เอามาไว้ในเกาะนี้ | สิ้นชีวีแหลกกระจุยเป็นผุยผง |
เพราะอดอยากกรากตายอยู่ในกรง | อ้ายคนทรงเล่าไปที่ในเรือ |
ว่าดูราฝรั่งทั้งออแขก | เองจะแยกไปข้างใต้หรือฝ่ายเหนือ |
กูขอบใจเองให้เหล้าทั้งข้าวเกลือ | อีกเนื้อเบื้อแกะไก่ให้กูกิน |
หาไม่จะล่มกำปั่นทั้งพันเศษ | ให้อาเพศแตกจมสมถวิล |
แล้วจะได้ฉะเชือดสูบเลือดกิน | เอาให้สิ้นแต่บรรดามาด้วยกัน |
นี้พวกเองอ่อนน้อมมายอมเลี้ยง | ไม่ทุ่มเถียงรบสู้เป็นคู่ขัน |
จงเซ่นกูอยู่อีกสักสามวัน | จะให้ปันของวิเศษทั้งเวทมนตร์ |
พรุ่งนี้เช้ามึงขึ้นไปที่ในเกาะ | ช่วยกันเจาะของเอาไปจะให้ผล |
คือจินดาที่ประสงค์ทั้งคงทน | สำหรับตนแทงฟันไม่บรรลัย |
เรียกว่าเพชรเจ็ดสีมณีโชติ | อยู่บนโขดเขาเขินเนินไศล |
แม้นรบศึกเอาแกว่งเป็นแสงไฟ | เองเอาไปคงกระพันกันไพรี ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ได้แจ้งอรรถปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
แล้วพากันนั่งยามตามอัคคี | อยู่ตามที่ในกำปั่นทั้งพันลำ |
ที่หนาวเหน็บเจ็บเบาบรรเทาหาย | ค่อยสบายผีช่วยชุบอุปถัมภ์ |
พอแสงจันทร์แจ่มกระจ่างน้ำค้างพรำ | เรไรร่ำเฉื่อยเสนาะบนเกาะเกียน |
จังหรีดเรื่อยเอื่อยเสียงสำเนียงแจ้ว | วิเวกแว่วฝูงสัตว์ฉวัดเฉวียน |
จักจั่นหวั่นหวาดดาษเดียร | ฝูงกะเรียนร่อนร้องก้องกังวาน |
ดุเหว่าแว่วแจ้วเจื้อยระเรื่อยร้อง | ประสานซ้องบรรเลงวังเวงหวาน |
สกุณากาสักในคัคนานต์ | ไก่ประสานขานขันสนั่นครวญ |
สุมาลัยไขกลิ่นระรินรส | ดอกไม้สดบานพร้อมทั้งหอมหวน |
กลิ่นตลบอบฟูเรณูนวล | พระพายหวนหอมฟุ้งจรุงใจ |
เสียงปีศาจครื้นครั่นสนั่นเกาะ | บ้างกระเดาะปากเดินบนเนินไศล |
ที่กู่ก้องร้องเรียกกันเพรียกไป | บนเขาใหญ่ดินกลาดบนหาดทราย |
ฝีโป่งป่ามาประชุมกันกลุ้มเกลื่อน | ตะโกนเพื่อนกู่กันให้ผันผาย |
เที่ยวเก็บหอยลอยกลาดบนหาดทราย | ทั้งภูตพรายดาษดาริมสาชล |
แต่ล้วนพวกผีดิบสักสิบแสน | อเนกแน่นร้ายแรงทุกแห่งหน |
เห็นแต่เงาหรุบหรู่คล้ายผู้คน | ที่เดินบ่นพึมพำตามทะเล |
เขาย่อมเรียกอธิบายว่าพรายน้ำ | มันยึดลำกำปั่นให้หันเห |
สีเหมือนไฟลอยล่องท้องทะเล | สมคะเนบินขึ้นเพลาเสากระโดง |
มิใช่พวกอื่นไกลอ้ายเหล่านี้ | คือว่าผีเกาะใหญ่ที่ตายโหง |
แม้นมันขึ้นไปได้ปลายกระโดง | เรือก็โคลงจมไปเสียหลายลำ |
คือปีศาจชายเขาอ้ายเหล่านี้ | มันเป็นผีอดอยากถลากถลำ |
คอยเรือลงตรงกรูเข้าจู่ทำ | ยึดเอาลำเรือไว้บ้างป่ายปีน |
ที่เขารู้ติดไฟขนไก่เผา | แล้วก็เอาดาบฟาดขาดเป็นสีน |
พวกที่มาแต่ลำพังฝรั่งจีน | เห็นมันปีนขึ้นไปเอาไฟลน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระเทวสินธุ์นรินทร์รัช | ดึกสงัดจันทร์กระจ่างกลางเวหน |
น้ำค้างย้อยพรอยพรายดังสายชล | พระพายฝนมืดอับพยับโพยม |
ดารากรอ่อนแสงเข้าแฝงเมฆ | แสนวิเวกยามดึกเสียงฮึกโหม |
จวนจะแจ้งแสงทองส่องโพยม | พระทรงโฉมพลิกฟื้นตื่นไสยา |
เชิญท้าวไทอัยการเจ้าตาเลี้ยง | มานั่งเคียงตรองตรึกพลางปรึกษา |
พอรุ่งแจ้งแสงสว่างกระจ่างตา | เราจะพาขึ้นไปบนชายเนิน |
หาแก้วเก็จเพชรดีมณีโชติ | ที่บนโขดลำเนาภูเขาเขิน |
ไปตั้งศาลอารักษ์แล้วชักเชิญ | เจ้าที่เนินโขดเขาท้าวละมาน |
แล้วสั่งเหล่าพวกพหลพลไพร่ | ให้ตัดไม้เชิงเขาทำเสาศาล |
เครื่องบวงสรวงเป็ดไก่จัดใส่จาน | ทั้งคาวหวานเหล้ายาหาขึ้นไป |
อีกโคแพะแกะเป็นได้เซ่นวัก | อย่าช้านักแต่พอตรู่สุริย์ใส |
เสนารับอัภิวันท์ด้วยทันใด | มาเรียกไพร่พร้อมทั่วทุกตัวคน |
ขึ้นตัดไม้ไผ่เกลาทำเสาศาล | ดาดเพดานเสร็จไปให้ไพร่ขน |
ตั้งของกินเครื่องสรวงจะบวงบน | ช่วยกันขนมาพร้อมหอมขจร |
เจ้าพวกผีวุ่นวายน้ำลายหยด | เลียบบรรพตบ้างก็วิ่งบนสิงขร |
ฝ่ายท่านท้าวเจ้าประเทศเขตนคร | เสด็จจรจากบัลลังก์ที่นั่งทรง |
สามพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ก็รีบรัดขึ้นมาตามความประสงค์ |
ถึงเชิงผาแล้วให้หาเจ้าคนทรง | มานั่งตรงหน้าศาลตั้งการพลี |
จึงเชิญท้าวเจ้าละมานที่ย่านเกาะ | แล้วก็เคาะรำมะนาเรียกหาผี |
ปีศาจแว่วแก้วหูรู้คดี | ก็เดินรี่แฝงเงาเข้าคนทรง |
อ้ายแขกสั่นรันรำล้มคว่ำหงาย | มือตะกายตีนตะกุยพลางคุ้ยผง |
จึงลุกขึ้นยืนฟังแล้วนั่งลง | อ้ายคนทรงพูดพลางทางครางครวญ |
แล้วจึงว่าฮ้าฮ้ายอ้ายเหล่านี้ | ใจมึงดีมีคุณไม่หุนหวน |
เพราะมันถือซื่อแท้ไม่แปรปรวน | กูจะชวนมึงไปให้ของดี |
ท้าวรายาว่าเชิญรับเครื่องเซ่น | จะได้เป็นที่รักเป็นศักดิ์ศรี |
โดยประสงค์จงใจเป็นไมตรี | ได้เป็นที่คำนับรับประทาน ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวผีปีศาจเป็นชาติยักษ์ | หัวร่อคักปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
จึงเรียกพวกบ่าวไพร่มิได้นาน | มาล้อมศาลกินเล่นไม่เห็นตัว |
ได้ยินแต่เสียงพูดกับดูดปาก | กำลังอยากเคี้ยวขยอกนั่งกลอกหัว |
กินแกะไก่ไม่เหลือทั้งเนื้อวัว | พลางยิ้มหัวอิ่มเอมเกษมใจ |
แล้วลุกขึ้นยืนหยัดดัดต้นขา | กูจะพาไปแจ้งแถลงไข |
ดูของดีชี้แจงให้แจ้งใจ | เองมาไวเร็วหวาอย่าช้าที |
แม้นแดดกล้าเอาไม่ได้เป็นไฟร้อน | ที่สิงขรกายสิทธิ์ล้วนฤทธิ์ผี |
เป็นสีแสงแดงรอบขอบคีรี | ไม่เห็นที่มันอยู่เคืองหูตา |
แล้วลุกเดินนำไปข้างท้ายเขา | พลางบอกเล่าเวทมนตร์ดลคาถา |
แล้วไปชี้ที่เพชรเม็ดจินดา | ท้าวรายาให้เจาะจำเพาะรอย |
ด้วยว่าแขกนั้นชำนาญในการเพชร | แต่ละเม็ดชั่วดีเพราะมีฝอย |
รู้ตำรามากมายเคยขายพลอย | ถึงเล็กน้อยรู้แท้ไม่แชเชือน |
แต่แก้วเก็จเพชรนี้เป็นที่ยิ่ง | จะหาสิ่งใดเทียบเปรียบไม่เหมือน |
พอเจาะเข้าเขาใหญ่ไหวสะเทือน | แผ่นดินเลื่อนลั่นโห่เป็นโกลา |
พยุพยับอับฟ้าโกลาหล | เป็นหมอกมนมืดมิดทุกทิศา |
ด้วยอำนาจของดีมีราคา | ดวงจินดาของคู่ผู้มีบุญ |
พอลุกจากเพิงผาหน้าบรรพต | ก็ปรากฏแสงสลับดั่งทรัพย์หนุน |
สว่างช่วงดวงมณีเพชรมีคุณ | สำหรับบุญเทวสินธุ์นรินทร |
โตเท่าผลมะปรางทองละอองศรี | น้ำมณีเรืองจำรัสประภัสสร |
สามกษัตริย์ยินดีชุลีกร | จึงวิงวอนผีท้าวเจ้าละมาน |
ว่าข้าแต่ท่านท้าวผู้เจ้าเกาะ | ท่านสงเคราะห์พันผูกดั่งลูกหลาน |
พระคุณล้ำดินฟ้าสุธาธาร | ข้อรำคาญท่านมีจงชี้แจง |
ข้าพเจ้าขอสนองที่ข้องขัด | จะปรนนิบัติตามประสงค์จงแถลง |
ขอเชิญท่านบอกกล่าวเล่าแสดง | จะชี้แจงรับรองสนองคุณ ฯ |
๏ อ้ายคนทรงจึ่งว่าถ้าเช่นนั้น | จงช่วยกันทำกุฏิ์พออุดหนุน |
เอาศพฝังครั้งนี้จะมีคุณ | แล้วทำบุญส่งไปให้แก่เรา |
จึงจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ | ประเสริฐสุดไปให้สิ้นจากถิ่นเขา |
อันซากศพพวกพ้องพี่น้องเรา | อยู่หลังเขามันเอาใส่ไว้ในกรง |
เพราะมันขังทั้งหลายตายด้วยอด | แม้นปล่อยปลดเปลื้องธุระอย่างประสงค์ |
เอากระดูกขุดออกเสียนอกกรง | นั้นแหละคงพ้นทุกข์เป็นสุขใจ |
อ้ายคนทรงพาตรงไปหลังเขา | แล้วว่าเจ้าดูแลช่วยแก้ไข |
สามกษัตริย์ท้าวชวาพากันไป | ทั้งพลไพร่เสนาประชาชน |
เห็นกรงเหล็กเรียงรายอยู่ท้ายเกาะ | บังหักเดาะช่วยกันแย่งทุกแห่งหน |
เอาขวานฟันกรงประลัยทั้งไพร่พล | ช่วยกันขนซากศพบ้างกลบดิน |
แล้วปักไม้เป็นหลังคาเอาผ้าคาด | พวกปีศาจชื่นชมสมถวิล |
บ้างพ้นทุกข์สุขาไปหากิน | บ้างก็สิ้นกรรมตนทนทรมาน ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวผีที่เข้าคนทรงนั้น | เดินเหียนหันอิ่มเอมเกษมสานต์ |
แล้วว่าท่านเหล่านี้ปรีชาชาญ | ช่วยรำคาญเราได้ดังใจปอง |
จงกลับไปเภตราทั้งข้าเจ้า | อยู่จะหนาวมัวมนรีบขนของ |
รีบใช้ใบไปเหมือนนึกที่ตรึกตรอง | อยู่จะต้องติดชลในวนวัง |
อันตัวเรานี้หนาจะลาแล้ว | ไปจากแถวถิ่นนี้พ้นที่ขัง |
เป็นสิ้นกรรมพัวพ้นอนันตัง | คนทรงนั่งผีออกไปนอกกาย ฯ |
๏ สามกษัตริย์ท้าวชวาพาพหล | จรดลรีบไปดั่งใจหมาย |
ลงกำปั่นพร้อมข้าเสนานาย | ให้ผันผายจากที่ด้วยปรีดิ์เปรม |
เรือที่นั่งดั้งกันเป็นหลั่นลด | แล่นไปหมดสิ้นทุกข์สุขเกษม |
ไม่ขัดขวางนทียิ่งปรีดิ์เปรม | พระอิ่มเอมด้วยจินดาค่าบุรินทร์ |
แล่นกำปั่นบรรดาโยธาหาญ | แสนสำราญใช้ใบในกระสินธุ์ |
ชมหมู่สัตว์มัจฉาฝูงนาคินทร์ | บ้างโดดดิ้นในมหาสาคโร |
ฝูงมังกรคาบแก้วแววสว่าง | บ้างฟาดหางเรียงรายบ้างว่ายโผ |
ที่เลื้อยไล่ในมหาสาคโร | ตัวโตโตมิใช่น้อยนับร้อยพัน |
ฝูงเหราน่ากลัวหัวเป็นเขา | บ้างว่ายเคล้าแว้งวัดสะพัดผัน |
ฝูงเงือกงูดูงามเลื้อยตามกัน | บ้างดำดั้นผุดพ่นชลธี |
พวกม้าน้ำทำท่าเหมือนม้าเผ่น | ขึ้นโดดเต้นในกระสินธุ์ถิ่นวิถี |
ฝูงช้างน้ำดำด้นชลธี | พระภูมีสามกษัตริย์ทัศนา |
เรือก็แล่นใบสล้างมากลางหน | พอสุริยนลับไปในเวหา |
ศศิธรจรกระจ่างกลางนภา | ดวงดาราพรอยพร่างน้ำค้างพรม |
พวกพหลพลไพร่ในกำปั่น | เกษมสันต์พร้อมกันสิ้นกินขนม |
เจ้าพวกคิดถึงเมียเสียอารมณ์ | ลงนั่งตรมตรอมอุรานัยน์ตาปรอย |
เพื่อนเขากินข้าวปลาค่อยผาสุก | ตัวเป็นทุกข์เต็มประดานั่งหน้าจ๋อย |
โอ้ป่านนี้เมียเราเขาจะคอย | คิดก็น้อยใจนายหลายประการ |
ไม่พอที่จะลำบากต้องจากถิ่น | ให้เมียดิ้นวุ่นวายหลายสถาน |
นึกละห้อยน้อยจิตคิดรำคาญ | แม้นจ้างวานใครเสียได้กูไม่มา |
เมื่อไรเลยจะได้กลับไปดับร้อน | เมียจะนอนโดยดิ้นถวิลหา |
เป็นจำใจจำจนพ้นปัญญา | เวทนามาในเรือเห็นเหลือจน |
แม้นทางป่ากูจะหนีไปลี้ลับ | แล้วจะกลับเดินไปในไพรสณฑ์ |
ถึงมุลนายเขาจะรู้ก็สู้ทน | ผิดก็ขวนขวายทรัพย์ไว้รับรอง |
แต่บรรดาเมียมีคิดหนีหมด | แสนรันทดไม่บรรเทาที่เศร้าหมอง |
นั่งกอดเข่าเร่าร้อนบ้างนอนตรอง | บ้างเข้าห้องโงกหงับลงสับเงา |
เรือก็แล่นลมพัดปัดตะโพก | ขย่อนโขยกเต็มใบลมชายเขา |
ไม่ขัดขวางทางไปในสำเภา | ทั้งน้ำข้าวเครื่องเสบียงพอเลี้ยงพล |
ก็เกือบถึงมรรคาลังกาทวีป | พลางแล่นรีบเร็วรัดไม่ขัดสน |
พวกเรือไฟไขสลักใช้จักรกล | ให้รีบร้นข้ามฝั่งไปลังกา |
ด้วยอำนาจแก้วเก็จเพชรรัตน์ | สว่างชัดรุ้งร่วงช่วงเวหา |
ถึงพลบค่ำย่ำแสงพระสุริยา | เรือที่มาเห็นสว่างดั่งกลางวัน |
ด้วยอำนาจจินดามหาวิเศษ | สำแดงเดชฤทธีดีขยัน |
บรรดาเรือมาประชุมทั้งคุ้มกัน | สารพันโรคาไม่ยายี ฯ |